คำนำ

รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และมอบนโยบายให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดกิจกรรมและการประชุมสัมมนาทางวิชาการสืบเนื่องมาโดยลำดับ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ นี้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กำหนดจัดการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เรื่อง “คติไตรภูมิ : อิทธิพลต่อวิถีสังคมไทย” ระหว่างวันที่ ๒๘ - ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕

คติไตรภูมิ โดยเฉพาะจากหนังสือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” มีบทบาทและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ อย่างสูง ทั้งทางด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม คีตกรรม ตลอดจนประเพณีในราชสำนักและประเพณีพื้นบ้านทั่วไป คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว จึงเสนอหลักการให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ประมวลต้นฉบับเรื่องไตรภูมิมาจัดพิมพ์ จำนวน ๓ เล่ม ได้แก่

๑. ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติได้ประกาศยกย่องหนังสือ “ไตรภูมิกถา” เป็นวรรณคดีดีเด่นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากหนังสือดังกล่าวมีสำนวนโวหารที่ดีเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทย ประกอบกับคติเรื่องไตรภูมิมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวไทยสืบเนื่องถึงปัจจุบัน การจัดพิมพ์ครั้งนี้ นักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ตรวจสอบชำระต้นฉบับจากหนังสือคัมภีร์ใบลาน เพื่อความสมบูรณ์ถูกต้อง

๒. ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ ของโครงการวรรณกรรมอาเซียน เป็นการเรียบเรียงถอดความเรื่องไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทยออกเป็นสำนวนที่อ่านเข้าใจง่าย แทนสำนวนเดิมที่มีมากว่า ๖๐๐ ปี โดยเคยพิมพ์รวมไว้ในหนังสือชุดวรรณกรรม อาเซียน (Anthology of ASEAN Literature VOLUME 1b)

๓. ไตรภูมิฉบับท้องถิ่น เป็นการรวมพิมพ์เรื่องไตรภูมิที่เป็นสำนวนของแต่ละท้องถิ่น คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อเผยแพร่เป็นครั้งแรก

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือชุดไตรภูมินี้ จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พฤษภาคม ๒๕๕๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ