- คำนำ
- คำชี้แจง
- คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก
- คำปรารภ
- GENERAL PREFACE
- พระราชประวัติพญาลิไทย
- สังเขปประวัติวรรณคดีไทย
- เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา
- คำแปล
- ความนำ
- บทนำ
- บทที่ ๑ แดนนรก
- บทที่ ๒ แดนของสัตว์เดรัจฉาน
- บทที่ ๓ แดนเปรต
- บทที่ ๔ แดนอสุรกาย
- บทที่ ๕ แดนมนุษย์
- บทที่ ๖ แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร
- บทที่ ๗ รูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๘ อรูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๙ อวินิโภครูป
- บทที่ ๑๐ ความพินาศและการเกิดของโลก
- บทที่ ๑๑ นิพพาน
- อวสานพจน์
- ภาคผนวก ๑ คัมภีร์ที่กล่าวอ้างไว้ในไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง)
- ภาคผนวก ๒ รายชื่อคัมภีร์ที่ผู้รจนาไตรภูมิใช้เป็นหนังสืออุเทศ
- ภาคผนวก ๓ แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๔ ภาพลายเส้นไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๕ เส้นทางเดินพระอาทิตย์
- ภาคผนวก ๖ เนื้อหาสาระในแดนต่าง ๆ
- ภาคผนวก ๗ อธิบายเหตุแห่งมรณะ ๔
- ภาคผนวก ๘ ทศพิธราชธรรม
- บรรณานุกรม
- รายนามคณะทำงาน โครงการวรรณกรรมอาเซียน
นรกใหญ่
บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทำบาปด้วย กาย วาจา ใจ ดังกล่าวแล้ว ย่อมได้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งมีนรก เป็นต้น และนรกใหญ่ ๘ ขุม อยู่ภายใต้แผ่นดินซึ่งเราอยู่นี้ เป็นชั้น ๆ ถัดกันลงไป ชั้นล่างสุดคือ อวีจีนรก ชั้นบนสุดคือ สัญชีพนรก
นรกขุมที่หนึ่ง ชื่อว่าสัญชีพ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๙ ล้านปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๕๐๐ ปีในสัญชีพนรกจึงเท่ากับล้านหกแสนล้านสองหมื่นปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่สอง ชื่อว่ากาหสุตตะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑,๐๐๐ ปี ในกาฬสุตตนรก เทียบเท่ากับ ๑๒,๖๙๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่สาม ชื่อว่าสังฆาฏะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๒,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๑๔๕,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๒,๐๐๐ ปีในสังฆาฏนรกจึงเท่ากับ ๑๐๓,๖๘๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่สี่ ชื่อโรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๔,๐๐๐ ปีในโรรุวนรกนี้จึงเท่ากับ ๘๒,๙๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่ห้า ชื่อมหาโรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๘,๐๐๐ ปีในมหาโรรุวนรกนี้จึงเทียบเท่ากับ ๖,๖๓๕,๕๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่หก ชื่อว่าตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๙,๒๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีในตาปนรกนีจงเทียบเท่ากับ ๕๓,๐๘๔,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่เจ็ด ชื่อมหาตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนมากนัก จะนับเป็นปีเดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้กี่งกัลป์
นรกขุมที่แปด ชื่ออวีจี สัตว์ที่เกิดในนรกนี้มีอายุยืนยิ่งนัก จะนับเป็นปีเดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้หนึ่งกัลป์
นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ แต่ละขุมมี ๔ มุม และมีประตูประจำทั้ง ๔ ทิศ พื้นเป็นเหล็กแดง มีฝาบิดข้างบนเป็นเหล็กแดงเช่นกัน มีเนื้อที่กว้างและสูงเท่ากันเป็นรูปสีเหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยาว ๑๐๐ โยชน์ และ ๑ โยชน์เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา ส่วนหนาของผนัง ๔ ด้าน พื้นและเพดานส่วนละ ๙ โยชน์ ในนรกไม่มีที่ว่างเปล่า เต็มไปด้วยฝูงสัตว์นรกซึ่งเบียดเสียดกันอยู่เต็มพื้นที่ ไฟนรกลุกโชนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับไหม้ คุกรุ่นอยู่ตลอดกัลป์ บาปกรรมของสัตว์นรกลุกขึ้นเป็นไฟเผาภายในตัวบุคคลนั้นราวกับเป็นฟืนซึ่งไม่เคยดับเลย นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ ล้อมรอบด้วยนรกบ่าว ๑๖ ขุม ด้านละ ๔ ขุม นอกจากนี้นรกบ่าวยังแบ่งย่อยเป็นนรกเล็ก เรียกว่ายมโลกอีก ๔๐ ขุม นรกบ่าวมีความกว้าง ๑๐ โยชน์ ทั้งนรกบ่าวและนรกใหญ่ รวมทั้งสิ้นได้ ๔๔๖ ขุม[๑] ในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนั้นไม่มียมบาล แต่นรกบ่าวและนรกเล็กมียมบาลอยู่ด้วย นรกบ่าวที่มียมบาลอยู่นั้นเรียกชื่อว่าอุสุทนรก
ยมบาลทั้งหลายนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย่ได้ทำทั้งบาปและบุญ ดังนั้นเมื่อตายจึงได้ไปเกิดในนรกเป็นเวลา ๑๕ วัน ถูกยมบาลอื่น ๆ ฟัน แทง ตลอด ๑๕ วันนั้น ต่อจากนั้นก็ได้กลับเป็นยมบาลอีก ๑๕ วัน วนเวียนไปมาเช่นนี้เป็นเวลานานมาก จนกว่าจะสิ้นบาปที่ได้เคยกระทำไว้ เป็นเหมือนเปรตจำพวกหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าวิมานเปรตนั้น บางตนกลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดา บางตนกลางวันเป็นเทวดา กลางคืนเป็นเปรต บางตนข้างขึ้นเป็นเปรต ข้างแรมเป็นเทวดา บางตนข้างขึ้นเป็นเทวดา ข้างแรมเป็นเปรต จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมที่เคยทำ เปรตและยมบาลดังกล่าวแล้วนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือวนเวียนเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นยมบาลบ้าง เมื่อสิ้นบาปกรรมแล้วจึงจะเกิดเป็นยมบาลอย่างเดียว แต่บางตนเมื่อสิ้นบาปกรรมแล้วก็มิได้เกิดเป็นยมบาล แต่ตายไปเกิด ณ ที่แห่งอื่น
เมืองพระยายมราชนั้นมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล ล้อมรอบด้วยประตูนรก ๔ ด้าน พระยายมราชเป็นผู้ทรงธรรมยิ่งนัก พิจารณาคดีด้วยความซื่อสัตย์และชอบธรรมทุกกาลทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปเฝ้าพระยายมราชก่อน และพระยายมราชก็จะถามผู้นั้นว่า ผู้ตายได้เคยทำบาปหรือบุญอย่างใดบ้าง จงคิดดู และให้กล่าวตามความสัตย์จริง ในขณะเดียวกันก็มีเทพยดา ๔ องค์ องค์หนึ่งถือบัญชีซึ่งจดบุญและบาปของคนทั้งหลายไว้ ผู้ใดทำบุญ เทพยดาก็เขียนชื่อผู้นั้นไว้ในแผ่นทองคำแล้วทูนศีรษะถวายพระยายมราช เมื่อพระยายมราชรับไปแล้วก็จบเหนือพระเศียรแล้วแสดงการสาธุอนุโมทนายินดีด้วย ทรงวางแผ่นทองคำไว้บนแท่นทองซึ่งประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีรัศมีงดงาม ส่วนผู้ที่กระทำบาป เทพยดาก็จดลงบนแผ่นหนังหมา เมื่อพระยายมราชถามผู้ที่ตายว่าได้เคยทำบุญสิ่งใดบ้าง ผู้นั้นก็จะสามารถรำลึกได้ด้วยอำนาจบุญ สามารถทูลตอบแก่พระยายมราชว่า ตนได้เคยกระทำบุญและธรรมไว้อย่างใดบ้าง เทพยดาผู้ถือบัญชีก็นำบัญชีนั้นมาตรวจสอบตามที่จดไว้ในแผ่นทองคำ ก็พบว่าถูกต้องตามที่เจ้าตัวได้กล่าวไว้ พระยายมราชก็มีบัญชาให้ผู้นั้นขึ้นสู่สวรรค์ สถิต ณ วิมานทอง ประดับด้วย แก้ว ๗ ประการ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เสวยอาหารทิพย์ มีแต่ความสุข ถ้าผู้ใดทำบาปไว้ เมื่อหวนคิดถึงบาปของตนก็ไม่สามารถบอกได้ เทพยดาจึงนำบัญชีแผ่นหนังหมามาอ่านให้ฟัง เมื่อผู้ทำบาปได้ฟังแล้วก็สารภาพว่าได้ทำบาปเช่นนั้นจริง พระยายมราชจึงสั่งให้ยมบาลนำตัวผู้นั้นไปลงโทษตามควรแก่บาปและกรรมที่หนักหรือเบานั้น และควรตกนรกในขุมใดตามแต่บาปหนักหรือเบา ความทุกขเวทนาที่ผู้ทำบาปได้รับนั้นมีมากจนมิสามารถบรรยายได้ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาป เทพยดาก็จะชั่งส่วนบุญและบาปดูทั้งสองอย่าง ถ้าบุญหนักกว่าบาปก็ให้ไปขึ้นสวรรค์ก่อน ภายหลังจึงกลับมาใช้บาปของตนในเมืองนรก ถ้าส่วนที่เป็นบาปหนักกว่าก็ส่งให้ไปตกนรก ภายหลังจึงมาเสวยบุญในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาปเท่า ๆ กันนั้น พระยายมราชและเทพยดาที่ถือบัญชีก็จะสั่งให้เป็นยมบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์เช่นเดียวกับเทพยดา ต่อจากนั้นก็ให้ตกนรก ๑๕ วัน จนกว่าจะสิ้นบาปที่กระทำไว้
ส่วนผู้ใดที่เกิดมาโดยไม่รู้จักบาปและบุญ ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่รู้จักให้ทาน ตระหนี่ เมื่อผู้อื่นจะให้ทานก็ขัดขวาง ไม่รู้จักรักพี่น้อง ไม่มีความเมตตากรุณา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจ้าของมิได้ให้ เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ลอบรักภรรยาผู้อื่น พูดจาเหลาะแหละ กล่าวร้ายส่อเสียดเบียดเบียนผู้อื่น กล่าวสบประมาทผู้อื่น กล่าวคำหยาบช้าบาดใจผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บอาย กล่าวคำเท็จไร้สาระอันเป็นดิรัจฉานกถา เสพสุราเมามาย ไม่เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ นักบวช ผู้ทรงศีล ครูอาจารย์ ผู้ใดที่ทำบาปดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดในนรกขุมใหญ่ ๘ ขุมดังกล่าว ได้รับความเจ็บปวด ทนทุกขเวทนามากนัก มิอาจจะบรรยายได้
[๑] จำนวน ๔๕๖ ขุม ได้แก่นรกใหญ่ ๘ ชุม อุสุทนรก ๑๒๘ ขุม และยมโลก ๓๒๐ ขุม (๘ x ๑๖ = ๑๒๘ ; ๘ x ๔๐ = ๓๒๐ ; ๘ + ๑๒๘ + ๓๒๐ = ๔๕๖)