คำปรารภ

(คำแปล)

หนังสือรวมวรรณกรรมอาเซียนนี้เป็นผลงานตามโครงการวรรณกรรมอาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้เสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมและสนเทศ แห่งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในการประชุมครั้งที่ ๕ ที่กรุงมนิลา ระหว่างวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๕๒๘ และที่ประชุมมีมติให้รับโครงการดังกล่าวไว้ดำเนินการ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนวัฒนธรรม ต่อมาคณะกรรมการถาวร (Standing Committee) ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสูงสุดขององค์การนี้ก็ได้รับรองโครงการนี้ในการประชุมครั้งที่ ๔ ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๕

ได้มีการประชุมเตรียมการที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๕ ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประเทศละ ๓ คน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของประเทศไปร่วมประชุม ที่ประชุมได้อภิปรายปรึกษาและกำหนดขอบเขตแนวทางการดำเนินงาน มีสาระสำคัญกล่าวว่า

“ให้คณะทำงานแห่งชาติพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมเพื่อรวมไว้ในหนังสือรวมวรรณกรรมนี้ โดยพิจารณาคุณค่าทางวรรณศิลป์และลำดับอายุหรือสมัยแห่งวรรณกรรม ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะร่วมมือประสานงานกัน ในกรณีที่งานวรรณกรรมของประเทศทั้งสามคาบเกี่ยวซ้ำซ้อนกันโดยเฉพาะ เกี่ยวกับวรรณกรรมมาเลย์”

งานรวมวรรณกรรมนี้จะเป็นการเริ่มการศึกษาวรรณกรรมประจำชาติของประเทศสมาชิกอย่างมีหลักเกณฑ์เป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากยุคสมัยหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคณะทำงานของแต่ละประเทศจะกลั่นกรองสืบค้นหาวรรณกรรมอันมีคุณค่ามารวมไว้ เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมอาเซียน ด้วยเหตุนี้ในวรรณกรรมอาเซียนชุดแรกซึ่งจะประกอบด้วยหนังสือ ๕ เล่ม จากแต่ละประเทศ ๆ ละ ๑ เล่ม ประเทศอินโดนีเซียจึงเลือก วรรณกรรมมุขปาฐะ หรือวรรณกรรมที่เล่าต่อ ๆ กันมา โดยเก็บรวบรวมจากท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีภาษาแตกต่างกันของอินโดนีเซีย และวรรณกรรมมุขปาฐะนี้อินโดนีเซียถือว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญของชาติ

ประเทศมาเลเซียจะเสนอรวมงานที่ตัดตอนมาจากวรรณคดีมรดกของชาติและนิทานพื้นบ้าน ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งร่ำรวยของมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ ของตน

ประเทศฟิลิปปินส์นั้นได้คัดเลือกรวบรวมวรรณกรรมจำพวกมหากาพย์จากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ในจำนวนมหากาพย์ที่รู้จักแพร่หลายจำนวน ๑๐๐ มหากาพย์นั้น ห้ามหากาพย์ได้คัดมาจากหนังสือต่าง ๆ คือ Aliguyon ของ Ifugao, Lamang ของ Illocanos, Labaw Donggon ของ Sulods, Agyu ของ Manobos และ Sandayo ของ Suban-ons

ประเทศไทยเลือกวรรณคดีมรดกเรื่อง “ไตรภูมิกถา - ภูมิทั้งสาม อันเป็นที่อยู่ของสัตว์โลก” วรรณคดีพุทธศาสนาเรื่องแรกของสมัยสุโขทัยซึ่งพญาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นรากฐานแห่งลักษณะความเป็นไทยซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนประเทศสิงคโปร์นั้น เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และสังคมค่อนข้างซับซ้อน จึงจะคัดเลือกวรรณกรรมทุกเล่ม โดยพิจารณารูปแบบตามระยะยุคสมัย และโดยถือหลักให้วรรณกรรมที่คัดเลือกสามารถสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการที่ชัดเจนที่สุดของวรรณกรรมทั้ง ๔ ภาษาที่เป็นภาษาทางการของประเทศสิงคโปร์ และวรรณกรรมเล่มแรกในชุดนี้จะเป็นกวีนิพนธ์

วรรณกรรมอาเซียนเล่มแรกนี้ นับว่าเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะรวบรวมและเผยแพร่ผลงานอันมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ของอาเซียนให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และคาดว่าจะดำเนินการได้เต็มตามโครงการรวม ๕ เล่ม ผลงานแปลวรรณกรรมเรื่องแรกเป็นภาษาประจำชาติต่าง ๆ ตามที่ที่ประชุมเตรียมการได้เสนอไว้นั้น จะได้รับการจัดพิมพ์ในปีหน้า และเป็นที่คาดหวังว่า วรรณกรรมอาเซียนเล่มที่สองจะติดตามมาใน พ.ศ. ๒๕๒๘

หมายเหตุ : คำนำนี้ได้ยกร่างขี้นในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญครั้งที่ ๑ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ สำหรับให้ตีพิมพ์เป็นคำนำของวรรณกรรมเล่มแรกที่คัดเลือกขึ้นแปล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ