บทที่ ๔ แดนอสุรกาย

สัตว์ในแดนอสุรกายมีการเกิดด้วยกำเนิด ๔ ประการ กล่าวคือ เกิดจากไข่ เกิดในน้ำ เกิดในไคล และเกิดผุดขึ้นเอง อสุรกายเหล่านี้มี ๒ จำพวก ได้แก่ กาลกัญชกาอสุรกาย และทิพยอสุรกาย

กาลกัญชกาอสุรกาย มีรูปร่างสูง ๑ คาพยุต หรือเท่ากับ ๒,๐๐๐ วา ผอมมาก ไม่มีเนื้อ และเลือดเลยแม้แต่น้อย ตัวเหมือนต้นไม้แห้ง ตาเล็กเท่าตาปู ตาอยู่เหนือกระหม่อม ปากเล็กเท่ารูเข็ม อยู่เหนือกระหม่อมเช่นเดียวกัน เวลาเห็นสิ่งใดและต้องการจะกินสิ่งนั้นจะปักหัวลง ยกเท้าขึ้นข้างบน จึงจะกินสิ่งนั้นได้ เขาถือสากไล่ตีกันตลอดเวลา

กาลกัญชกาอสุรกายนี้ไม่มีความสุขเลย ลำบากยากแค้นมากกว่าอสุรกายจำพวกอื่น กาลกัญชกาอสุรกายมี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งมีความทุกข์ยากยิ่งดังกล่าวแล้ว ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีรูปร่างสูง ๑ คาพยุต เช่นเดียวกัน แต่มีรูปร่างต่างกัน มีหน้าไม่งาม ท้องยาน ปากใหญ่ เล็บมือเล็บเท้ารี ขอบตาต่ำสูง หลังหัก จมูกเบี้ยว ใจกล้าหน้าเหี้ยม โกรธจัด โกรธง่าย ชอบทำลายเหมือนกาลกัญชกา อสุรกายเหล่านั้นมี ช้าง ม้า ข้า ทาส บริวาร รี้พลทแกล้วทหาร ณ บริเวณใต้เขาพระสุเมรุ โดยกว้างได้หมื่นโยชน์ ประกอบด้วยแผ่นทองคำงามเรืองรอง เป็นเมืองที่มีพระยาอสูรปกครองอยู่ นับจากโลกมนุษย์ถึงอสุรภพลึก ๘,๔๐๐ โยชน์ มีเมืองอสูรใหญ่ ๔ เมือง มีพระยาอสูรอยู่เมืองละ ๒ คน มีปราสาทราชมนเทียรประกอบด้วยทองและแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงทองประดับแก้วมีค่า มีปราการประตูเมือง ๑,๐๐๐ ประตู ประกอบและประดับแก้วมีค่า มีคูล้อมรอบ ลึกเท่าความสูงของต้นตาล กลางเมืองมีสระทอง มีดอกบัวเบญจพรรณ งามเรืองดั่งทองประดับแก้ว ๗ ประการ พระยาอสูรลงเล่นในสระดังเปรียบเหมือนนันทนโบกขรณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนั้นมีเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านใหญ่น้อยล้อมรอบ มีมหาสมุทรกลางเมืองทำให้เมืองชุ่มชื้น กลางอสูรพิภพมีต้นไม้ต้นหนึ่งมีมาตั้งแต่แรกเกิดโลกขึ้น ต้นไม้นั้นใหญ่เท่าต้นปาริชาตในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งแต่โคนต้นถึงค่าคบ สูง ๔๐ โยชน์ ตั้งแต่ค่าคบถึงยอด ลำต้นสูง ๔๐ โยชน์ มีตารอบต้น แต่ละตายาว ๔๐ โยชน์ ใต้ต้นไม้นั้นมีแผ่นหิน ๔ แผ่น อยู่รอบโคนต้นแคฝอยทั้ง ๔ ทิศ แผ่นหินนั้นกว้างยาวด้านละ ๓ โยชน์ วันดีคืนดีพระยาอสูรทั้งหลายก็จะไปเล่นสนุก ณ ที่นั้น อสูรเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ดีมาก มีปราสาทราชมนเทียรประดับด้วยเงินทองและแก้ว ๗ ประการ รุ่งเรืองงามยิ่งนัก แต่ยังน้อยกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นิดหนึ่ง

เมืองทางทิศตะวันออกมีพระยาอสูร ๒ ตน ตนหนึ่งชื่อ เวปจิตราสูร[๑] ซึ่งเป็นพระยาของอสูรทั้งหลายในบุรพวิเทหทวีปนั้น เมืองทางทิศใต้มีพระยาอสูร ๒ ตน คือ อสัพพระและสุลิ พระยาอสูรทั้งสองเป็นพระยาของอสูรทั้งหลายในชมพูทวีป เมืองทางทิศตะวันตกมีพระยาอสูร ๒ ตน คือ เวราสูรและบริกาสูร เป็นพระยาของอสูรทั้งหลายในอมรโคยานทวีป เมืองทางทิศเหนือ มีพระยาอสูร ๒ ตน คือ พรหมหัตและราหู เป็นพระยาของอสูรทั้งหลายในอุตตรกรุทวีป

พระยาอสูรราหูนั้นมีอำนาจและกำลังมาก กล้าหาญกว่าพระยาอสูรทั้งหลาย กายใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ สูง ๔,๘๐๐ โยชน์ รอบศีรษะใหญ่ ๙๐๐ โยชน์ หัวเข่ากว้าง ๑,๒๐๐ โยชน์ กว้างข้างละ ๖๐๐ โยชน์ หน้าผากกว้าง ๓๐๐ โยชน์ จมูกยาว ๓๐๐ โยชน์ หว่างคิ้วและหว่างตากว้าง ๕๐ โยชน์ หัวคิ้วถึงหางคิ้วยาว ๒๐๐ โยชน์ หัวตาถึงหางตายาว ๒๐๐ โยชน์ ปากกว้าง ๒๐๐ โยชน์ ลึก ๓๐๐ โยชน์ ฝ่ามือกว้าง ๒๐๐ โยชน์ ขนเท้าขนมือและขนยาว ๓๐ โยชน์ วันเดือนเพ็ญพระจันทร์งาม และวันเดือนดับพระอาทิตย์งาม ราหูเห็นพระอาทิตย์และพระจันทร์งามเช่นนั้นก็มีใจริษยา จึงขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดเขายุคันธร คอยพระอาทิตย์ซึ่งอยู่ในปราสาทในเกวียนทองซึ่งเป็นพาหนะ ประดับด้วยแก้วอินทนิลมีรัศมีพันหนึ่งงามมาก มีม้าสินธพพันหนึ่งลากเกวียนทองนั้นลอยไปในอากาศ เลียบรอบเขาพระสุเมรุไปในระดับเสมอยอดเขายุคันธร พระจันทร์อยู่ในปราสาทในเกวียนแก้วมณี มีม้าสินธพ ๕๐๐ ตัว ลากไปในอากาศในระดับต่ำกว่าแนวพระอาทิตย์โยชน์หนึ่ง เลียบรอบเขาพระสุเมรุ ดาษดาไปด้วยดาวทั้งหลาย ครั้นลอยไปถึงที่ราหูคอยอยู่ บางครั้งราหูจะอ้าปากอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ บางครั้งจะเอานิ้วมือบังไว้ บางครั้งเอาไว้ใต้คาง บางครั้งเอาไว้ใต้รักแร้ เมื่อราหูกระทำอย่างนั้น รัศมีพระอาทิตย์ก็ดี พระจันทร์ก็ดี จะหมองไม่งดงาม และคนทั้งหลายจะกล่าวว่าเกิดสุริยคราสและจันทรคราส

จะกล่าวถึงพระพุทธศากยมุนีโคดมของเราทั้งหลาย เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ ยังไม่เสด็จเข้าสู่นิพพาน ครั้งหนึ่งพระองค์ประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหารอันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในเมืองสาวัตถี ครั้นถึงวันเพ็ญวันหนึ่งเกิดจันทรคราส พระจันทร์เทพบุตรก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้าจึงนมัสการพระพุทธเจ้า และกล่าวว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยความเพียร ข้าขอกวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาค พระองค์พ้นจากกิเลสทั้งปวง บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับอันตรายเดือดร้อนทรมานนักหนา ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าฯ และโปรดช่วยปลงทุกข์ให้แก่ข้าฯ ด้วยเถิด ในกาลนั้นพระสัพพัญญูเจ้าผู้รู้แจ้งสรรพสิ่งในโลกทรงทราบเรื่องดังนั้นก็มีใจกรุณาแก่พระจันทร์เทพบุตร จึงตรัสแก่อสูรราหูด้วยพระคาถาดังนี้

ตถาคตํ อรหนฺตํ                            จนฺทิมา สรณํ คโต

ราหุ จนฺทํ ปมุฺจสฺสุ                     พุทธา โลกานุกมฺปกาติ

“ดูก่อนราหู พระจันทร์เทพบุตรยอมรับพระตถาคต อรหันต์เป็นที่พึ่งแล้ว ตถาขอให้ราหูจงปล่อยพระจันทร์เทพบุตรเสียเถิด เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีพระกรุณาอนุเคราะห์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย”

ครั้นอสูรราหูได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสดังนั้นจึงปล่อยพระจันทร์เทพบุตร แล้วรีบหนีไปหาพระยาไพจิตราสูร ราหูตกใจมากขนลุกขนพอง จึงยืนอยู่ในที่หนึ่ง ไพจิตราสูรจึงถามราหูว่า ดังนี้ “ดูก่อนราหู ท่านเป็นอะไร ทำไมจึงวางพระจันทร์เทพบุตรและรีบหนีมา มายืนตกใจกลัว มากดังนี้”

ราหูตอบไพจิตราสูรว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้ากลัวคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสจึงปล่อยพระจันทร์เพราะเหตุนั้น ถ้าข้าไม่ปล่อยพระจันทร์เทพบุตร ศีรษะข้าพเจ้าจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง แม้ว่าศีรษะไม่แตก ไม่ถึงแก่ความตาย มีชีวิตอยู่แต่ก็หาความสงบมิได้”

กาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหารอันเป็นอารามที่อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีสร้างถวายในเมืองสาวัตถี ในวันเข้าพรรษาเกิดสุริยคราส สุริยเทพบุตรสะดุ้งตกใจกลัวมาก ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยความเพียร พระองค์ทรงพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความทุกข์เดือดร้อนยิ่ง ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”

พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งสรรพสิ่งในโลก ทรงทราบเรื่องทั้งปวงแล้วทรงพระกรุณาแก่พระสุริยเทพบุตร จึงตรัสกับราหูว่า “ดูก่อนอสุรินทราหู สุริยเทพบุตรนี้ได้ระลึกถึงตถาคตผู้บำบัดกิเลสทั้งปวงเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรเสีย เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ดูก่อนราหู พระอาทิตย์มีรัศมีรุ่งเรืองและบรรเทาความมืดมนอนรการทั้งหลาย ดูก่อนราหู ท่านอย่าได้กลืนพระอาทิตย์เทพบุตร จงรีบปล่อยพระอาทิตย์ เทพบุตรผู้นับถือตถาคตเป็นที่พึ่งเสียเถิด”

ครั้นราหูได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสดังนั้น จึงปล่อยพระอาทิตย์เทพบุตร แล้ววิ่งไปหาพระไพจิตราสูร ราหูมีใจสะดุ้งกลัวมากขนลุกหนังหัวพอง แล้วยืนอยู่ที่สมควรข้างหนึ่ง พระไพจิตราสูรจึงตรัสถามราหูว่า “ดูก่อนอสุรินทราหู เพราะเหตุใดท่านจึงปล่อยพระอาทิตย์เทพบุตรเสีย และวิ่งมาด้วยความสะดุ้งหวาดกลัวมาก และมายืนอยู่ดังนี้” ราหูจึงทูลตอบพระไพจิตราสูรว่า “ข้าแต่มหาราช บัดนี้ข้ากลัวพระดำรัสพระพุทธเจ้าจึงปล่อยพระอาทิตย์เทพบุตรเสีย หากข้าไม่ปล่อยพระอาทิตย์เทพบุตร ศีรษะข้าพเจ้าจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง หากข้าไม่ตายยังมีชีวิตอยู่ ข้าจะมีความสุขได้อย่างไร” ราหูมีอำนาจมาก เป็นพระยาของเหล่าทิพยอสุรกายที่อยู่ทิศเหนือ เป็นใหญ่กว่าพวกกาลกัญชกาสูรทั้งสองจำพวกดังกล่าวมา

จบบทที่ ๔ เรื่อง สัตว์ในแดนอสุรกาย โดยสังเขปเพียงเท่านี้

แดนทั้ง ๔ คือ แดนนรก แดนสัตว์เดียรฉาน แดนเปรต และแดนอสูร

แดนทั้ง ๔ รวม เรียกว่า จตุราบายภูมิ หรือทุคติภูมิ แดนทั้ง ๔ นี้ ถ้ารวมกับแดนมนุษย์ และฉกามาพจรภูมิ นับเนื่องเข้าด้วยกันแล้ว อยู่ในกามภูมิ



[๑] อีกตนหนึ่งชื่อ สุจิตติอสูร

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ