บทที่ ๙ อวินิโภครูป

อนิจจลักษณะ

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในสามภพนี้ถึงจะมียศศักดิ์สมบัติเป็นเหมือนพระยามหาจักรพรรดิราช เหมือนพระอินทร์เจ้าแห่งดาวดึงส์ หรือเหมือนพระพรหม ก็ไม่ตั้งอยู่มั่นคงถาวรในยศศักดิ์สมบัตินั้นเลย ย่อมต้องพินาศพลัดพรากตายจากสมบัตินั้นไปทั้งสิ้น

ทั้งพระอินทร์ พระพรหม เมื่อหมดอายุแล้ว ก็ย่อมต้องท่องเที่ยววนเวียนไปมาในภพทั้ง ๓ นี้ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย บางครั้งไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ต้องทนทุกขเวทนามากมายนักหนา ไม่มีอะไรเที่ยงในสังสารวัฏนี้เลย

สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อหมดอายุในนรกนั้นแล้ว บางครั้งตายไปเกิดเป็นสัตว์นรกเหมือนเดิมอีก บางครั้งตายไปเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอสุรกาย ถ้าได้ทำบุญไว้บ้างในอดีต บางครั้งก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์กามาพจรภูมิ ๖ ชั้น หมู่สัตว์นรก ถ้าหมดอายุในนรกนั้นแล้วจะไปเกิดได้ในกามาพจรภูมิ ๑๑ ชั้นเท่านั้น จะไปเกิดในพรหม ๒๐ ชั้น มิได้เลย

ส่วนในเปรตวิสัย เมื่อหมดอายุในเปรตวิสัยนั้นแล้ว บางครั้งก็จะเกิดเป็นเปรตอีก บางครั้งไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางครั้งไปเกิดเป็นอสุรกาย ถ้าได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อน ก็เกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์โลก และเกิดเป็นเทพยดาในเทวดาภูมิดังกล่าวมาแล้ว จะไปเกิดที่อื่นมิได้เลย

สัตว์ที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตายจากชาติดิรัจฉานแล้ว บางครั้งเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานอีกก็มี บางครั้งไปตกนรกก็มี บางครั้งไปเกิดเป็นเปรตก็มี บางครั้งไปเกิดเป็นอสุรกายก็มี ถ้าได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนก็จะได้ไปเกิดในสุคติภูมิ ที่จะไปเกิดในภูมิอื่น เช่นพรหมทั้ง ๒๐ ชั้นนั้นมิได้เลย

อสุรกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งเกิดเป็นอสุรกายอีก บางครั้งไปตกนรก บางครั้งเกิดเป็นเปรต บางครั้งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งเกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นกามาพจรภูมิก็มี แต่จะไปเกิดเป็นพรหมมิได้เลย

หมู่สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์นี้ มี ๒ พวก พวกหนึ่ง ได้แก่ อันธปุถุชน คือ คนชั่ว คนมืด คนโง่ อีกพวกหนึ่ง ได้แก่ กัลยาณปุถุชน คือ คนดี คนงาม คนฉลาด

อันธปุถุชน เมื่อตายจากมนุษย์นี้ ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ ไปนรกหรือเป็นเปรต สัตว์ดิรัจฉาน และอสุรกาย ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนทุพพลภาพ รูปร่างอัปลักษณ์ น่าเกลียด น่าชัง เป็นคนชั่วช้าเลวทราม ไม่รู้จักเรื่องที่จะเป็นบุญเลย

กัลยาณปุถุชน เมื่อตายจากมนุษย์นี้แล้ว ไปเกิดในสวรรค์ก็มี ไปนิพพานก็มี แต่ไม่ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา เป็นมนุษย์นี้ย่อมไปเกิดได้เฉพาะใน ๒๖ ภูมิ[๑] เท่านั้น

เทวดาทั้งหลายที่เกิดในอกามาพจรภูมิ ๖ ชั้นนั้น เมื่อจุติจากเทวโลกแล้ว ถ้ายังมิได้บรรลุมรรคผล บางครั้งได้ไปเกิดในสวรรค์กามาพจร ๖ ชั้นนั้นอีก บางครั้งไปเกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ บางครั้งไปเกิดเป็นพรหมในรูปพรหม ๑๑ ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา เป็นต้น จนถึงชั้นอสัญญีสัตตาเป็นที่สุด บางครั้งได้ไปเกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น ไปเกิดแต่ใน ๒๖ ภูมิเท่านั้น ส่วนในรูปภูมิ ๕ ชั้น คือสุทธาวาส ๕ นั้น มิได้ไปเกิด

รูปพรหมที่มีจิตใจ ๑๐ ชั้น ต่ำกว่าชั้นอสัญญีสัตว์ลงมา ผู้ที่ได้มรรคผลแล้วจึงได้เกิด เมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งเกิดเป็นพรหมใน ๑๐ ชั้นนั้นอีก บางครั้งไปเกิดในอสัญญีภูมิซึ่งอยู่ชั้นเหนือขึ้นไป เป็นพรหมมีแต่รูปไม่มีจิตใจ บางครั้งไปเกิดในอรูปภูมิ ๔ ชั้น สูงขึ้นไปเป็นพรหมมีแต่จิตไม่มีรูป บางครั้งได้มาเกิดในสุคติภูมิอันมีสุขสมบัติ มิได้ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เลย ส่วนอสัญญีสัตตาพรหมนั้น เมื่อหมดอายุแล้วก็ลงมาเกิดในสุคติภูมิทั้ง ๗ ชั้นนี้ เสวยสุขสมบัติ มิได้ไปเกิดในภูมิอื่นที่สูงกว่านี้

อรูปพรหมในอรูปภูมิทั้ง ๔ ชั้นนั้นเมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งได้เกิดในอรูปภูมินี้อีก บางครั้งไปเกิดในอรูปภูมิชั้นสูงขึ้นไป บางครั้งลงมาเกิดในสุคติภูมิทั้ง ๗ ชั้น มิได้เกิดในอรูปพรหมชั้นต่ำ ไม่เกิดในรูปพรหมและไม่ลงไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เลย

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดใน ๓๑ ภูมิ ต้องหมุนเวียนไปมา ปฏิสนธิแล้วก็จุติตายไป แล้วก็เกิดอีก ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ขอให้ชาวโลกทั้งหลายได้รู้ไว้ด้วย

อย่าว่าแต่สัตว์ที่มีจิตใจจะต้องพินาศหมดไปเลย ถึงแม้ว่าแผ่นดิน ภูเขา น้ำ ถ้ำเถื่อนทั้งหลายที่มีแต่รูปไม่มีจิตใจ ก็ยังต้องพินาศไป ไม่เที่ยงไม่แท้สักสิ่งเลยเหมือนกัน

ภูเขาและแม่น้ำ

เขาพระสุเมรุสูงได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หนาได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กลมรอบปริมณฑลได้ ๒๕๐,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุราชนั้นเป็น บุพพวิเทหทวีป มีสีเป็นสีเงินได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศใต้เป็นชมพูทวีปที่เราอยู่อาศัยนี้ มีสีเป็นสีแก้วอินทนิลได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศตะวันตกเป็นอมรโคยานทวีป มีสีเป็นสีแก้วผลึกได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศเหนือเป็นอุตตรกุรุทวีป มีสีเป็นสีทองได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ บนยอดภูเขาพระสุเมรุราชนั้นมีปราสาทไพชยนต์ ตั้งอยู่กลางใจเมืองดาวดึงส์ กว้างได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์

ภายใต้เขาพระสุเมรุราชนั้นเป็นเมืองอสูร กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีเขา ๓ ลูก เหมือนก้อนเส้ารองรับเชิงเขาพระสุเมรุ ชื่อว่าเขาตรีกูฏ (เขา ๓ ยอด) แต่ละยอดสูง ๔,๐๐๐ โยชน์ ภายใต้เชิงเขาตรีกูฏนั้นเป็นแผ่นดินเมืองอสูร อยู่ระหว่างเขา ๓ ลูกนี้

ต่อจากเขาพระสุเมรุออกไป มีแม่น้ำชื่อว่าสีทันดรสมุทร กั้นล้อมอยู่รอบด้าน กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดรมีภูเขายุคันธรล้อมรอบเขาพระสุเมรุอยู่ สูง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ หนา ๔๒,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๐๐๐,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขายุคันธรมีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๔๒,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๒๖๐,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดร มีภูเขาอิสินธรล้อมรอบ สูง ๒๑,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ หนา ๒๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๓๘๖,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขาอิสินธร มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๒๑,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๒๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๕๑๒,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดร มีภูเขากรวิก สูง ๑๐,๕๐๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๑๐,๕๐๐ โยชน์ หนา ๑๐,๕๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๕๗๕,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขากรวิก มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๑๐,๕๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๖๓๘,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดร มีภูเขาสุทัสสนะ สูง ๕,๒๕๐ โยชน์ จมลงไปในน้ำ ๕,๒๕๐ โยชน์ หนา ๕,๒๕๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๖๖๙,๕๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขาสุทัสสนะ มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๕,๒๕๐ โยชน์ ลึก ๕,๒๕๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๗๐๑,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขาเนมินธร มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๒,๖๒๕ โยชน์ ลึก ๒,๖๒๕ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๗๓๒,๕๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดรมีภูเขาวินันตกะ สูง ๑,๓๑๒ โยชน์ กับอีก ๔,๐๐๐ วา จมลงไปในน้ำ ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา หนา ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๔๐,๓๗๕ โยชน์ ต่อจากภูเขาวินันตกะ มีแม่น้ำสีทันดรล้อมรอบ กว้าง ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา ลึก ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๔๘,๒๕๐ โยชน์ ต่อจากแม่น้ำสีทันดรออกมา มีเขาอัสสกัณณะ สูง ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา จมน้ำลงไป ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา หนา ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๕๒,๑๘๗ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา

ต่อจากภูเขาอัสสกัณณะเป็นน้ำทะเล มีแผ่นดินใหญ่อยู่ทั้ง ๔ ด้าน กลางทะเลนั้นมีแผ่นดินเล็ก คือ เกาะอยู่รอบ ๆ ได้ ๒๐๐๐ เกาะ มีน้ำล้อมรอบแผ่นดินและภูเขา และมีเขาจักรวาลเป็นกำแพงล้อมรอบน้ำไว้

ตั้งแต่ภูเขาอัสสกัณณะออกไปถึงกำแพงจักรวาล กว้าง ๓๐ โยชน์ ๖,๐๐๐ วา เขากำแพงจักรวาลสูง ๘๒,๐๐๐ โยชน์ จมน้ำลงไป ๘๒,๐๐๐ โยชน์ หนา ๘๒,๐๐๐ โยชน์

พระอาทิตย์ พระจันทร์ นพเคราะห์ ดารากร

ตั้งแต่เขตกำแพงจักรวาลถึงเขายุคันธร ระหว่างกลางเป็นหนทางโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวนพเคราะห์ ดวงดาวทั้งหลายเที่ยวหมุนเวียนไปมาในทางวิถีที่ทำให้เรารู้ ปี เดือน วัน และรู้จักพยากรณ์เรื่องดีและร้ายได้

ตั้งแต่พื้นแผ่นดินที่เราอยู่นี้ขึ้นไปถึงดวงอาทิตย์ สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ๘,๐๐๐ วา ดวงจันทร์อยู่ต่ำกว่าดวงอาทิตย์ ๘,๐๐๐ วา ดวงอาทิตย์กว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา ดวงจันทร์กว้าง ๓๙๒,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๑๗๖,๐๐๐ วา

ตั้งแต่กำแพงเขาจักรวาลถึงเขายุคันธร มีทางเดินของดวงอาทิตย์อยู่ ๓ ทาง ทำให้เกิดฤดู ๓ ฤดู ได้แก่

โคณวิถี พระอาทิตย์โคจรชิดกำแพงจักรวาล ในเดือน ๑๒ – ๑ – ๒ – ๓ เป็นฤดูหนาว

อชวีถี พระอาทิตย์โคจรตรงกลาง ในเดือน ๔ – ๕ – ๖ – ๗ เป็นฤดูร้อน

นาควิถี พระอาทิตย์โคจรด้านทิศเหนือ ในเดือน ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ เป็นฤดูฝน

ในระหว่างโคณวีถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาค กว้างภาคละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ ภาคหนึ่งชื่อพาหิรกมณฑล อยู่ทางทิศใต้ ใกล้กำแพงจักรวาล ภาคสองชื่อ มัชฌิมมณฑล อยู่ตรงกลาง ภาคสามชื่ออุตตรมณฑล อยู่ทางทิศเหนือ ใกล้เขาพระสุเมรุ เมื่อพระอาทิตย์โคจรในโคณวิถีนั้น โคจรในพาหิรกมณฑล จะโคจรในมัชฌิมมณฑล ในเดือน ๑๒ เพียง ๑๕ วันเท่านั้น ไม่โคจรในอุตตรมณฑลเลย

อชวีถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาค ภาคละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชิดกำแพงจักรวาล ชื่อ พาหิรกมณฑล ภาคกลางชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีนั้น โคจรในมัชฌิมมณฑลตลอดเวลาจะโคจรในพาหิรกมณฑลเพียง ๑๕ วัน แม้ในยุตตรมณฑลก็จะโคจรในเดือน ๖ เพียง ๑๕ วัน เหมือนกัน

หลังจากเดือน ๗ ไป พระอาทิตย์จะโคจรทางนาควิถี กว้าง ๔๓๓,๗๓๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาค ภาคละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชื่อ พาหิรกมณฑล ภาคกลางชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในนาควิถีนั้น โคจรโนอุตตรมณฑลตลอดเวลา จะโคจรโนมัชฌิมมณฑลในเดือน ๑๐ ข้างแรมเพียง ๑๕ วัน และเดือน ๑๑ ตลอดเดือน ไม่โคจรในพาหิรกมณฑลเลย

มณฑลทั้งหลายที่กล่าวถึง หมายถึงมณฑลที่อยู่ในวิถีของตน ไม่ได้หมายถึงวิถีอื่น

วิถีทั้งสาม[๒] ที่หมู่ดาวฤกษ์โคจรนั้นยาว ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละวิถีนั้นมีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ คือ ดาวอุตตรภัทร เรวดี อัสสุนี ภรณี กฤติกา โรหิณี มิคสิระ อัทระ และปุนัพพสุ ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในอชวิถี

ดาวปุสสะ อัสเลสะ มาฆะ บุพพผลคุณะ อุตตรผลคุณะ หัสตะ จิตระ สวาติ และไพสาขะ ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในโคณวิถี

ดาวอนุราธะ เชษฐะ มูละ บุพพาสาฒะ อุตราสาฒะ ศรวณะ ธนิษฐะ ศตภิษช์ และบุพพภัทระ ดาวทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี ระหว่างดาวฤกษ์เหล่านั้น โคจรไกลกันดวงละ ๑ โยชน์

ดาวเหล่านี้เรียกว่า สัตตพีสนักษัตร (ดาวฤกษ์ ๒๗) มีมณฑลเรียงกันได้ ๒,๗๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละดวงมีวิมานแก้วเรียงรายอยู่ดังนี้

ดาวอัสสุนี มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวภรณี มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่ เหมือนก้อนเส้า ดาวกฤติกา มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวโรหิณี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่เหมือนพนม ดาวมิคสิระ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัทระ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวปุนัพพสุ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวปุสสะ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัสเลสะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกับอยู่ ดาวมาฆะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลัง เรียงกันอยู่ ดาวหัสตะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวจิตระ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวสวาติ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวไพสาขะ มีวิมานแก้ว ๖ หลังเป็นปริมณฑล ดาวอนุราธะ มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเชษฐะ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวมูละ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพาสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตราสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวศรวณะ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่ ดาวธนิษฐะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวศตภิษช์ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวบุพพภัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรภัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเรวดี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่

มณฑลพระอาทิตย์โคจรก็ได้ ๒,๗๐๐,๐๐๐ โยชน์ แม้จะโคจรในวิถีใด ๆ ก็ตาม มณฑลนั้นก็เท่ากันไม่ใหญ่ไม่น้อยเลย

ถ้าพระอาทิตย์โคจรในวิถีมณฑลชั้นในก็ใกล้เขาพระสุเมรุราชทางด้านบุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีป ถ้าโคจรในวิถีมณฑลชั้นนอกก็ใกล้กำแพงจักรวาลทางด้านชมพูทวีปและอุตตรกุรุทวีป เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลกลางในบุพพวิเทหทวีป เวลากลางวันนาน กลางคืนสั้น สว่างเร็ว กลางวัน ๑๘ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๒ นาทีจึงสว่าง ในอมรโคยานทวีป กลางคืนนาน กลางวันสั้น สว่างช้า มืดเร็ว กลางคืน ๑๘ นาทีจึงสว่าง กลางวัน ๑๒ นาทีจึงมืด ในชมพูทวีปและอุตตรกุรุทวีป กลางวันและกลางคืนเท่ากัน กลางวัน ๑๕ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๕ นาที จึงสว่าง

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลชั้นใน ในมณฑลชั้นนอก ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปหรือในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ก็ตาม ก็เหมือนกัน คือ กลางวันกับกลางคืนเท่ากันดังกล่าวมาแล้ว ในแผ่นดินบุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีปนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในโคณวิถี กลางวันนานกว่ากลางคืน เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่นานกว่าจะลับเขาพระสุเมรุราช ด้วยโคจรไปทางคด ถ้าพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราชเร็ว กลางคืนจะมากกว่ากลางวัน

ฉะนั้น ถึงพิจารณาดูในวิถีมณฑลทั้ง ๓ ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อกลางคืนมากกว่ากลางวัน จะสว่างช้า เมื่อกลางวันมากกว่ากลางคืนจะมืดช้า เช่นเดียวกัน บางคราวกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลเหล่านี้

เดือน ๘- ๙ เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วเดือนหนึ่ง ย่างเข้าเดือน ๘ ที่แท้นั้นพระอาทิตย์โคจรเหนือยอดเขายุคันธร ตอนเที่ยงวันเราจะเหยียบเงาหัวของเรา กลางวัน ๑๘ นาที กลางคืน ๑๒ นาที

หลังจากวันสงกรานต์ไปแล้ว จะโคจรถอยห่างออกจากเขายุคันธรเป็นทางไกลได้วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงวัน เมื่อเราดูเงาของเรา จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ครึ่งนิ้วมือ เมื่อถึง ๒ วัน พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธร ๑๕,๐๐๐ โยชน์ เมื่อเราดูเงาของเราในตอนเที่ยง จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ ๑ นิ้ว เมื่อถึง ๓ วัน ก็จะเคลื่อนห่างออกโดยลำดับ จนถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์ก็จะโคจรออกจากภูเขายุคันธรทุกวันโดยลำดับ เมื่อถึง ๑๕ วัน ไกลจากภูเขายุคันธรได้ ๑๑๒,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงเราดูเงาของเรา จะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๗ นิ้วครึ่ง ถอยห่างออกมาอีก ๒- ๓ วัน พอถึงเดือน ๙ ก็จะไกลจากเขายุคันธรได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ เราดูเงาของเราจะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

พอถึงเดือน ๑๐ พระอาทิตย์โคจรไกลยอดเขายุคันธรได้ ๔๕๐,๐๐๐ โยชน์ ถึงมณฑลชั้นกลางในนาควิถี ดูเงาของเราออกห่างจากตัวได้ ๒ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๖ นาที กลางคืน ๑๔ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ก่อนจะถึงเดือน ๗ พระอาทิตย์โคจรถอยกลับจากจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๑๒๖,๐๐๐ โยชน์ ถึงกลางอชวิถี เงาของเราก็จะถอยหลังกลับคืนเหนือ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ครั้นถึงเดือน ๘ พระอาทิตย์โคจรถึงยอดเขายุคันธรเหมือนเดิม ไกลจากเขาจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราไม่เห็นเลย เวลากลางวันนานได้ ๑๘ นาที กลางคืน ๑๒ นาที

ในวิถีทั้ง ๓ นั้น มีราศี ๑๒ ราศี[๓] คือ ราศีเมษ (แพะ) ราศีพฤษภ (โค) ราศีเมถุน (คนคู่) ราศีกรกฎ (ปู) ราศีสิงห์ (ราชสีห์) ราศีกันย์ (หญิงสาว) ราศีตุลย์ (คันชั่ง) ราศีพิจิก (แมลงป่อง) ราศีธนู (ธนู) ราศีมังกร (มังกร) ราศีกุมภ์ (หม้อ) ราศีมีน (ปลา)

ราศีที่นักษัตรหรือดวงดาวอยู่นี้กว้าง ๒๒,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน พระอาทิตย์โคจรไปในวิถีนั้น ๆ เคลื่อนไปได้วันละ ๗๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ นิ้วมือ โคจรเคลื่อนไปตามลำดับครบ ๓๐ วัน จึงจะพ้นราศีหนึ่ง ไกลได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ ฝ่าเท้า โคจรไปครบ ๑๒๐ วัน ไกล ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ จึงจะพ้นวิถี นับเป็นพ้นฤดูหนึ่ง

ฤดูมี ๓ คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนึ่งมี ๔ เดือน ๓ ฤดู (หรือ ๑๒ เดือน) เป็น ๑ ปี ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในโคณวิถีทางทิศใต้ ก็จะเป็นฤดูหนาว มี ๔ เดือนคือ เดือน ๑๒-๑-๒-๓ ถ้าพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นโคณวิถีวันใด วันนั้นก็เป็นวันพ้นฤดูหนาว หากย่างเข้าเดือน ๔ วันหนึ่ง พระอาทิตย์ก็จะโคจรถอยห่างออกจากกำแพงจักรวาลในวันนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีอยู่เหนือศีรษะของเรา เมื่อนั้นก็เป็นฤดูร้อน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๔- ๕- ๖- ๗ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นอชวิถีวันใด วันนั้นก็หมดฤดูร้อน ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในนาควิถีทางทิศเหนือ เมื่อนั้นก็เป็นฤดูฝน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๘- ๙- ๑๐- ๑๑ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นนาควิถี คือ โคจรจากราศีตุลมาสู่ราศีพิจิกถึงเดือน ๑๒ วันใด วันนั้นก็หมดฤดูฝน

ย่างเข้าเดือน ๘ วันหนึ่ง พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธรกลับคืนมาในวันนั้น พระอาทิตย์โคจรรอบเขาพระสุเมรุราชรอบหนึ่ง ก็พอครบขวบปีหนึ่ง จึงกลับมาสถิตที่เก่า ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ย่อมมีเพราะพระอาทิตย์สถิตในวิถีนั้น ๆ เมื่อพระอาทิตย์สถิตในโคณวิถี ย่อมหนาว แต่ยังมีร้อนบ้างเพราะวัวชอบร้อนและเย็น หากพระอาทิตย์สถิตในอชวิถี อากาศร้อน เพราะแพะไม่ชอบน้ำ เมื่อสถิตในนาควิถี มีฝนตก เพราะนาคชอบน้ำ

พระอาทิตย์สถิตอยู่ในวิมานแก้วผลึก มีรัศมีส่องแสงสว่างเหมือนแก้วผลึกจึงร้อนแรงยิ่งนัก พระจันทร์สถิตอยู่ในวิมานเงินและวิมานแก้วมณี มีรัศมีส่องแสงเหมือนสีเงินและแก้วมณี จึงเยือกเย็นยิ่งนัก พระอาทิตย์ส่องแสงให้เห็นได้สองทวีปในทวีปหนึ่งเห็นได้เล็กน้อย มืดไปครึ่งหนึ่ง ที่เห็นได้เพราะรัศมีพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างไปไกลได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ที่มืดนั้น ๓๐ นาที ขวางรอบรัศมีพระอาทิตย์นั้น มีเงาทอดไปไกลได้ ๔๕,๐๐๐ โยชน์

เมื่อเวลาตะวันขึ้นในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ ตรงกับเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหทวีปเป็นเวลาตะวันตกในอุตตรกุรุทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยานทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในบุพพวิเทหทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอุตตรกุรุทวีป เป็นเวลาตะวันตกในอมรโคยานทวีป และเป็นเวลาเที่ยงวันในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอุตตรกุรุทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอมรโคยานทวีป เป็นเวลาตะวันตกในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ และเป็นเวลาเที่ยงคืนในบุพพวิเทหทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอมรโคยานทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เป็นเวลาตะวันตกในบุพพวีเทพทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอุตตรกุรุทวีป

เวลาสว่างและมืดมีอยู่ดังได้กล่าวมานี้

ที่เราเห็นว่าเป็นเวลาเดือนเพ็ญ คือขึ้น ๑๕ ค่ำ และเดือนดับ คือ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำนั้น ก็เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่ข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช และพระจันทร์ก็โคจรอยู่อีกข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช ไกลกันได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระจันทร์ส่องสว่างให้เห็นได้รอบวงกลม จึงเรียกว่า พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

แรม ๑ ค่ำ พระอาทิตย์เข้ามาสถิตอยู่ใกล้พระจันทร์ และพระจันทร์ก็โคจรเข้าไปใกล้พระอาทิตย์ ๑,๒๖๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์มากกว่าพระจันทร์ จึงบังรัศมีพระจันทร์หน่อยหนึ่งในส่วนด้านหน้าได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว เงาของวิมานพระจันทร์มาบังพระจันทร์เสียเอง จึงเห็นเป็นแหว่งข้างหนึ่ง เราจึงเห็นพระจันทร์ไม่กลมเหมือนจันทร์เพ็ญเต็มดวง เรียกว่า เดือนแรม ๑ ค่ำ

แรม ๒ ค่ำ พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ห่างไกลกันได้ ๑,๑๗๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ทอดมาบังพระจันทร์ จึงเห็นแหว่งมากกว่าเก่าถึง ๒,๒๖๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๒ ค่ำ

แรม ๓ ค่ำ พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ไกลกันได้ ๑,๐๘๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ยิ่งบังพระจันทร์มากยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงเห็นแหว่งมากยิ่งขึ้นได้ ๗๘,๓๙๙ วา ๓ ศอก ๓ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๓ ค่ำ

พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์โดยลำดับดังกล่าวมาแล้วจบถึงแรม ๑๔ ค่ำ พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์ ไกลกันเป็นระยะ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ เงาพระอาทิตย์ก็ยิ่งมาบังพระจันทร์ เห็นได้เพียงเสี้ยวน้อยนิดเดียวทางทิศตะวันออก เรียกว่า เดือนแรม ๑๔ ค่ำ

ครั้นถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์โคจรทับพระจันทร์ รัศมีพระอาทิตย์ส่องมาบังพระจันทร์มืดมิด มองไม่เห็นพระจันทร์เลย เรียกว่า เดือนดับ คือ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ

เมื่อเดือนขึ้นใหม่ ๑ ค่ำ พระอาทิตย์โคจรห่างจากจุดที่พระจันทร์ดับนั้นออกไปไกลได้ ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กนิดเดียวทางทิศตะวันออก ชนาดใหญ่ได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว

เดือนขึ้น ๒ ค่ำ พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๒๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างไปได้ ๒๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์ยิ่งใหญ่ขึ้นตามลำดับ เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว

เดือนขึ้น ๓ ค่ำ พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๓๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้ ๓๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็ยิ่งทวีใหญ่ขึ้นตามลำดับอย่างนั้นจนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ออกไปไกลถึง ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ เมื่อพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราช ก็มองเห็นพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

การที่พระจันทร์ถูกรัศมีพระอาทิตย์ไปบังนั้น เปรียบเหมือนโคมไฟดวงใหญ่กับโคมไฟดวงเล็ก พระอาทิตย์เปรียบเหมือนโคมไฟใหญ่มีน้ำมันและไส้ได้พันเท่า ส่วนพระจันทร์นั้นเล่า เหมือนโคมไฟดวงเล็กมีน้ำมันและไส้เพียงหนึ่งเท่า เมื่อจุดโคมไฟดวงเล็กตามไปในหนทางคืนเดือนมืด ก็ส่องแสงสว่างให้เห็นได้ เมื่อมีคนจุดโคมไฟดวงใหญ่ตามมาพบกันกลางทางก็กลายเป็นแสงสว่างของโคมไฟดวงใหญ่ไป ไม่เห็นแสงสว่างของโคมไฟดวงเล็กเลย พระจันทร์ส่องสว่างและมืดก็อย่างเดียวกัน

เมื่อพระจันทร์กับพระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้กันนั้น ดูเหมือนว่าพระอาทิตย์โคจรเร็วกว่าพระจันทร์ เมื่อโคจรโดยเวียนขวา พร้อมทั้งดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง ซึ่งอยู่ใน ๑๒ ราศี เป็นบริวารของพระอาทิตย์ ส่วนพระอาทิตย์และพระจันทร์เอง ทั้งราศี วัน เดือน เวียนขวาไปรอบเขาพระสุเมรุราช ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่เท่าเส้นผม

แต่ทว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์กับดาวนพเคราะห์ ๖ ดวง คือ ดาวพระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ ดาวพระเกตุโคจรโดยเวียนตามกันทางขวาไม่คลาดเคลื่อน พระอาทิตย์โคจรเร็วกว่าพระจันทร์วันละ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ ดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง โคจรเร็วกว่าพระอาทิตย์วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์

สัตว์ในทวีปทั้ง ๔ ในจักรวาลนี้ อาศัยพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรหมุนเวียนไปเช่นนี้ จึงทราบ วัน คืน เดือน ปี ได้

มนุษย์ที่อยู่ใน ๓ ทวีปโน้น นอนหันศีรษะไปทางเขาจักรวาล เอาปลายเท้าไปทางเขาพระสุเมรุราชเหมือนเรา เพื่อว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น คนมองดูพระอาทิตย์ยกมือขวาขึ้น มือขวาจะอยู่ทางเขาจักรวาล มือซ้ายอยู่ทางเขาพระสุเมรุราช ฉะนั้น คนจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เอาเท้าไปทางทิศเหนือด้วยเหตุนี้

แผ่นดิน ๔ ทวีป อยู่ ๔ ด้าน ของภูเขาพระสุเมรุราช คือ แผ่นดินบุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๑,๐๐๐ โยชน์ แผ่นดินอุตตรกุรุทวีปอยู่ทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๒,๐๐๐ โยชน์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แผ่นดินอมรโคยานทวีปอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๙,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๒,๐๐๐ โยชน์[๔] เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก แผ่นดินชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์

พื้นแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปนี้ มีแผ่นดินเล็กล้อมรอบเป็นบริวารทวีปละ ๕๐๐ ทวีปเล็กทั้ง ๔ ซึ่งอยู่ระหว่างกลางทวีปใหญ่ เรียกว่า สุวัณณทวีป[๕] กว้างทวีปละ ๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ

ชมพูทวีป ป่าหิมพานต์

แผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีปริมาณได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทั้งด้านยาวและด้านกว้างแยกออกเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าเขาพระหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นทะเล ๔,๐๐๐ โยชน์

ภูเขาหิมพานต์นั้นสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ กว้างใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้นมีต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำชื่อว่า สีทานที ต้นหว้านั้นมีขนาดใหญ่โอบรอบได้ ๑๔ โยชน์ ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงค่าคบสูงได้ ๕๐ โยชน์ ตั้งแต่ค่าคบขึ้นไปถึงยอดได้ ๕๐ โยชน์ และตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศตะวันออกมาถึงทิศตะวันตก มีระยะไกลถึง ๑,๐๐๐ โยชน์ ตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศเหนือจดทิศใต้ ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา ปริมาณปลายค่าคบโดยรอบปริมณฑลได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา

ดอกของต้นหว้านั้น มีลักษณะงามมีกลิ่นหอมยิ่งนักและมีผลใหญ่ ขนาดเท่ากลองใบใหญ่ มีรสหวานอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง ผลหว้านั้นเมื่อร่วงลงใส่ร่างกาย กายนั้นจะหอมดุจดังน้ำตคระ ดุจแก่นจันทน์ฉะนั้น ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปในเนื้อผลหว้าพอสุดแขนจึงจะถึงเมล็ดของหว้าได้ ฝูงนกที่จิกกินผลหว้านั้นมีขนาดใหญ่เท่าช้างสารก็มี ใหญ่เท่าเรือนก็มี ผลหว้านั้นร่วงหล่นตกลงทั่วบริเวณรอบ ๆ ต้น และผลที่เกิดตรงค่าคบด้านทิศเหนือซึ่งร่วงหล่นในท่าน้ำ ก็เป็นเหยื่อของฝูงปลาในที่นั้น ยางของผลหว้านั้นเมื่อร่วงหล่นลงกลายเป็นทองคำสุก ชื่อว่า ชมพูนุท

ถัดจากป่าไม้หว้านั้นไปเบื้องหน้า มีต้นมะขามป้อมซึ่งมีผลใหญ่มีรสอร่อย ถัดจากป่าไม้มะขามป้อมไปเป็นป่าสมอ ซึ่งมีผลหวานปานน้ำผึ้ง ถัดจากป่าสมอไปเบื้องหน้านั้นมีแม่น้ำใหญ่ ๗ สาย ต่อจากแม่น้ำไป มีป่าไม้หว้าซึ่งมีผลหวานปานน้ำผึ้ง หมู่ไม้นั้นบริเวณกว้างได้ ๔,๐๐๐ วา ถัดจากป่านั้น มีป่าไม้นารีผล ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงามยิ่งนัก เปรียบปานสาวรุ่นที่มีอายุได้ ๑๖ ปี เมื่อชายหนุ่มทั้งหลายได้มาพบเห็นก็มีใจเสน่หา ลุ่มหลงรักใคร่ ครั้นยามร่วงหล่นลงก็มีฝูงนกกลุ้มรุมกันจิกกิน เหมือนกับหมีกินผึ้ง และผ่านป่าไม้หมู่นั้นไปทางด้านทิศตะวันออกยาวรี ไปถึงแม่น้ำสมุทรทางด้านทิศตะวันตก และยาวรีไปถึงแม่น้ำใหญ่ ๗ สายนั้น โดยกว้างได้ ๑๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากแม่น้ำไปเบื้องหน้ามีป่าไม้ ๖ ป่า คือ ป่ากุรภะ ป่าโกรภะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโล และป่าไชยเยต

ป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ปลาเนื้อถ้าตายเองพวกเขาจึงจะกินกัน ป่าไม้นั้นมีเนื้อทรายจามรีอยู่มากมาย พวกเขาเอาหางจามรีมามุงเรือนกันอยู่อาศัย พวกเขาอยู่ในที่นั้นโดยไม่ต้องทำไรไถนาหาเลี้ยงชีพ ข้าวสาลีและถั่วก็งอกขึ้นได้เอง โดยที่พวกเขาไม่ต้องยุ่งยากลำบากกายและใจ ข้าวสาลีและถั่วนั้นกินมีรสหวานอร่อยปานน้ำผึ้ง ถัดจากป่านั้นไปมีป่าไม้มะขวิดตั้งอยู่ พรรณไม้ต่าง ๆ ที่มีในป่าหิมพานต์นั้นกินหวานมีรสอร่อยทุก ๆ อย่าง

ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันต์ สระกุณาละ สระมันทากินี และสระสีหปปาตะ

สระใหญ่ทั้ง ๗ นี้เท่ากัน ความกว้าง ลึก และมณฑลรอบเท่ากันทุกสระ คือ กว้าง ๔๓๒,๐๐๐ วา ลึก ๔๓๒,๐๐๐ วา มณฑลรอบ ๑,๒๙๖,๐๐๐ วา

สระอโนดาต มีเขา ๕ เทือกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตรกูฏ เขากาฬกูฏ เขาคันทมาทน์ และเขาไกรลาศ

ภูเขาทั้ง ๕ เทือกนี้ สูงเทือกละ ๒๐๐ โยชน์ เขาสุทัสสนะเป็นทอง ล้อมสระอโนดาตอยู่ดังกำแพง หนาได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา ล้อมสระดังปากกา เขาจิตรกูฏ เป็นแก้ว ๗ ประการ เขากาฬกูฏสีเขียวดังดอกอัญชัน เขาคันธมาทน์เป็นแก้วชื่อมสาลรัตนะ ข้างในเขานั้นเหมือนถั่วสะแตกแลถั่วราชมาษ พรรณไม้ที่เกิดในภูเขานั้น บางต้นรากหอม บางต้นแก่นหอม บางต้นยอดหอม บางต้นเปลือกหอม บางต้นลำต้นหอม บางต้นดอกหอม บางต้นผลหอม บางต้นใบหอม บางต้นยางหอม บางต้นหอมทุกอย่าง

อนึ่ง พรรณไม้หอมทั้ง ๑๐ หมู่ดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นยา และเครือเขาเถาวัลย์ที่เกิดบนภูเขาเทือกนี้ มีกลิ่นหอมทุกเมื่อไม่วายเลย จึงเรียกเขาเทือกนี้ว่าคันธมาทน์ เขาคันธมาทน์นี้เมื่อเดือนดับ จะรุ่งเรืองชัชวาลอยู่ดังถ่านเพลิง ถ้าเดือนเพ็ญรุ่งเรืองอยู่ดังไฟไหม้ป่าแลไหม้เมือง ณ เขาคันธมาทน์นั้น มีถ้ำเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ประตูถ้ำแก้วมีไม้ต้นหนึ่งชื่อ บัญชุสกะ สูงได้โยชน์หนึ่ง ใหญ่ได้โยชน์หนึ่ง มีดอกบานสะพรั่งทั้งในน้ำและบนบก ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีศาลาแก้วหลังหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปอยู่ในถ้ำนั้นเมื่อใด มีลมอันหนึ่งชื่อ สมาหรวาตะ พัดเอาดอกไม้เข้ามาไว้รอบเหนือแท่นแก้วที่มีในถ้ำนั้น เป็นเครื่องบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า และเมื่อดอกไม้เหี่ยวจะมีลมอันหนึ่งชื่อสัมมัชชนวาตะ มาพัดเอาดอกไม้เหี่ยวเหล่านั้นไปหมด แล้วลมสมาหรวาตะก็พัดเอาดอกไม้มาไว้ดังเดิม เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเช่นนั้นทุกครั้ง

เขาไกรลาศนั้นเป็นเงิน เขาเทือกนี้ใหญ่และสูงเท่ากัน ยื่นไปในสระอโนดาต ด้วยอานุภาพพญานาคราชและฝูงเทวดาที่บันดาลให้ฝนตก ณ สระอโนดาตนั้น ทั้งแม่น้ำใหญ่น้อย ที่ไหลมาแต่ห้วยและภูเขา ก็ไหลไปขังอยู่ในสระอโนดาตนั้น สระอโนดาตนั้นจึงไม่เหือดแห้งสักครั้งเดียว

พระอาทิตย์และพระจันทร์ โคจรไปทางซ้ายทางขวาสระอโนดาต จึงจะส่องสว่างถึงสระอโนดาตนั้นได้ หากส่องไปทางตรง ๆ ก็ไม่สามารถส่องสว่างไปถึงสระอโนดาตได้เลย น้ำในสระอโนดาตนั้นใสงามนักหนา เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า สระอโนดาต

สระอโนดาตนั้นมี ๔ ท่า ท่าที่ลงอาบน้ำมีบันไดทองประดับด้วยแก้ว มีพื้นศิลาแก้วรองภายใต้รอบ ๆ เกลี้ยงเกลาเสมองาม น้ำนั้นใสงามนักหนา แลเห็นตัวปลาภายใต้น้ำได้ น้ำนั้นใสงามดังแก้วผลึก ท่าน้ำท่าหนึ่งเทวบุตรลงอาบ ท่าน้ำท่าหนึ่งเทวธิดาลงอาบ ท่าหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าลงอาบ ท่าหนึ่งฤษีสิทธิวิชาธรลงอาบ ทางเข้าสระอโนดาตมี ๔ ทิศใหญ่ ทางเข้าทิศหนึ่งดุจดังหน้าสิงห์ ทิศหนึ่งดุจดังหน้าช้าง ทิศหนึ่งดุจดังหน้าม้า ทิศหนึ่งดุจดังหน้าวัว น้ำสระอโนดาตที่ไหลออกมาทางปากวัว ริมฝั่งน้ำนั้นมีวัวมาก น้ำที่ไหลออกมานั้นก็จะไหลไปทางทิศตะวันออก ไหลเวียนล้อมรอบสระอโนดาตแล้วจึงไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลลงมหาสมุทร น้ำที่ไหลออกทางทิศเหนือเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ไหลไปข้างหน้าแล้วมาบรรจบกันดังเดิม หลังจากนั้นก็ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือออกไปถึงมหาสมุทร น้ำอันไหลออกทางทิศตะวันตกเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ แล้วจึงไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลออกมหาสมุทร น้ำอันไหลออกทางด้านทิศใต้ ไหลเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ได้แก่ อาวัฏฏคงคา กว้าง ๔,๐๐๐ วา ที่ไหลไปทางทิศใต้ไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อกัณหคงคา ไหลไปจดภูเขาเทือกหนึ่งแล้วพุ่งขึ้นเบื้องบนได้ ๖๐ โยชน์ เป็นวงกลมได้ ๖,๐๐๐ วา ชื่ออากาศคงคา ไหลตกลงเหนือหินแผ่นหนึ่ง ชื่อติยังคฬหปาสาณ เป็นสระใหญ่สระหนึ่ง ๕๐ โยชน์ ชื่อติยังคฬโบกขรณี น้ำไหลเซาะฝั่งน้ำติยังคฬโบกขรณีออกไปจากศิลาไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อพหลคงคา น้ำนั้นไหลกระทบหินไปไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่ออุมังคคงคา และไหลไปจดเทือกเขาเทือกหนึ่ง ชื่อพิชฌนติรัจฉานบรรพต พุ่งขึ้นเหนือแผ่นดิน เกิดเป็นแม่น้ำ ๕ สาย ดุจนิ้วมือ เรียกว่า ปัญจมหานที กล่าวคือ สาย ๑ ชื่อคงคา สาย ๑ ชื่อยมุนา สาย ๑ ชื่อจิรวดี สาย ๑ ชื่อมหี สาย ๑ ชื่อสรภู

แม่น้ำนั้นไหลมาในเมืองมนุษย์และไหลออกมหาสมุทร ในแม่น้ำนั้นมีสระใหญ่ทุกสายกว้าง ๔,๒๓๒,๐๐๐ วา สระเหล่านั้นมีน้ำไม่เหือดแห้งเลย และน้ำนั้นใสงาม กว้าง ๒๐๐,๐๐๐ วา นอกจากน้ำมีบัวขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากบัวขาวมามีบัวแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา เท่ากันกับบัวขาว นอกจากบัวแดงมีดอกโกมุทขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากโกมุทขาวมีเหล่าโกมุทแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าโกมุทแดง มีเหล่าอุบลขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลขาว มีเหล่าอุบลเขียว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลเขียวแล้ว มีป่าข้าวสาลีขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าข้าวสาลีขาวแล้ว มีป่าข้าวสาลีแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา บอกจากป่าข้าวสาลีแดงแล้ว มีป่าแตงชะแลง (แตงร้าน) มีลูกโตเท่าไหใหญ่ กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าแตงชะแลงแล้ว มีป่าแตงไทย กว้าง ๔๐๐๐ วา นอกจากป่าแตงไทยแล้ว มีป่าอ้อยลำต้นเท่าต้นหมาก กว้าง ๔๐๐๐ วา นอกจากป่าอ้อยแล้ว มีป่ากล้วยผลเท่างาช้างสาร กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ากล้วยแล้วมีป่าขนุนลูกใหญ่เท่าตุ่มอันจุน้ำไต้ ๖๐ กระออม กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าขนุนแล้วก็มีป่ามะม่วง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ามะม่วงแล้วก็มีป่ามะขวิด กว้าง ๔,๐๐๐ วา แลสรรพผลไม้น้อยใหญ่ทุกชนิด ย่อมมีรสเลิศหนักหนา

สระฉัททันต์นั้นมีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๖ เทือกด้วยกัน ภูเขาเทือกหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะต่างกันดังนี้คือ เทือกที่ ๑ ล้วนไปด้วยทองคำ เทือกที่ ๒ ล้วนไปด้วยแก้ว เทือกที่ ๓ ล้วนไปด้วยสีเขียวคล้ายดอกอัญขัน เทือกที่ ๔ ล้วนไปด้วยแก้วผลึก เทือกที่ ๕ ล้วนไปด้วยชาติหิงคุ เทือกที่ ๖ ล้วนไปด้วยแก้วมรกต เทือกที่ ๗ ล้วนไปด้วยแก้วไพฑูรย์

เมื่อพระยาช้างฉัททันต์คชสารโพธิสัตว์เกิดนั้น แผ่นดินแห่งนั้นเป็นทองคำ และที่แห่งนั้นมีแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีพื้นที่สูงได้ ๕ ศอก กว้าง ๕๐ ศอก มีสระพังทอง ๒ สระ สระหนึ่งมีน้ำใส สะอาดและหอม สถานที่แห่งนั้นยังตั้งอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อช้างเผือกใดเกิดในตระกูลฉัททันต์ ช้างเชือกนั้นจะเป็นพระยาช้างในที่นั้น เป็นช้างที่มีลักษณะขาวงามยิ่งนัก อุปมาดังสังข์ที่ท่านขัดให้งาม ใหญ่สูงได้ ๘๘ ศอก และยาว ๑๖๐ ศอก ตลอดลำตัวจนถึงฝ่าตีนแดงงามดังชาติหิงคุและน้ำครั่งสด ช้างนั้นเมื่อเติบใหญ่เป็นช้างสารขึ้นมีกำลังมหาศาลหาตัวเปรียบเสมอมิได้ งวงช้างนั้นขาวใสดังหยวกกล้วย โดยยาวเรียวได้ ๕๘ ศอก งาทั้งคู่งามงอบดุจปล้องเงินที่ท่านใส่ปล้องทอง หนา ๑๕ ศอก ยาว ๓๐ ศอก มีสีสันพรรณรายอยู่ถึง ๖ สีด้วยกัน คือ สีเหลืองเหมือนทองคำ สีดำเหมือนปีกแมลงทับ สีแดงเหมือนชาติหิงคุและน้ำครั่งสด สีขาวเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว สีหม่นเหมือนเงิน สีเขียวเหมือนดอกอินทนิล

สีทั้ง ๖ นี้ ย่อมเปล่งรัศมีฉายฉวัดเฉวียนรอบ ๆ ตัวพระยาช้างนั้นทุก ๆ ขณะมิได้ขาด ช้างนั้นมีอานุภาพมากสามารถเหาะเหินไปในอากาศได้ พร้อมด้วยฝูงบริวารประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ซึ่งมีลักษณะใหญ่และสูงเช่นเดียวกัน และช้างเหล่านั้นอาศัยอยู่ที่เชิงเขาหิมพานต์ เหนือแผ่นแก้วไพฑูรย์ที่อยู่บนแท่นทอง ซึ่งมีอยู่ที่บริเวณสระฉัททันต์นั้น และสระนั้นเป็นที่ลงอาบน้ำและที่เล่นแห่งพระยาช้างฉัททันต์นั้นในกลางสระฉัททันต์นั้น มีน้ำเย็นใสสะอาดเต็มเปี่ยมอยู่ทุกขณะไม่เหือดแห้ง มีปริมณฑลโดยรอบได้ ๖๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากน้ำนั้นออกมาข้างบอกมีผักตบลอยอยู่เวียนรอบ ๆ หนาได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นมา มีป่านิลุบล ซึ่งมีดอกผลิบานงดงามอยู่รอบ ๆ สระนั้นได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่านิลุบลนั้นมามีดอกรัตตุบลขึ้นอยู่รอบ ๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่ารัตตุบลนั้นมามีป่าดอกเสตุบลขึ้นอยู่รอบได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่า เสตุบลออกมาเป็นป่าดอกจงกลนีขึ้นอยู่รอบ ๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าจงกลนีนั้นออกมา มีป่าบัวแดงขึ้นอยู่รอบ ๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวแดงนั้นออกมา มีบัวขาวขึ้นอยู่รอบ ๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวขาวนั้นออกมา มีดอกโกมุทขึ้นอยู่รอบกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา

ดอกบัวทั้ง ๗ ชนิดนั้นอยู่ชิดกัน ดูสวยสดงดงามตระการตา ถัดจากบัวทั้ง ๗ นั้นออกมา มีดอกผักตบขึ้นอยู่รอบ ๆ หนาและกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นออกมาถึงขอบฝั่งมีน้ำเพียงท้องช้าง น้ำในที่นั้นใสสะอาด ไม่มีกลิ่นเหมีน มีข้าวสาลีที่เกิดเองต้นต่ำ ๆ ออกรวงงามยิ่งนัก โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากข้าวสาลีนั้นออกมามีป่าไม้ใหญ่ทั้งหลาย งอกขึ้นตั้งอยู่เรียงรายรอบสระฉัททันต์ มีผลดกงดงามยิ่ง ถัดจากป่าไม้หมู่นั้นออกมา มีถั่วหลายชนิดเกี่ยวพันลำไม้ขึ้นไป ถัดจากป่าถั่วนั้นไป มีป่าฟักและแฟงแตงเต้ามีผลเท่าไห ถัดจากนั้นมีป่าอ้อยเกิดขึ้นมีลำใหญ่เท่าลำหมาก ถัดจากป่าอ้อยเป็นป่ากล้วย เกิดขึ้นมากมายหลายพรรณ มีผลใหญ่เท่างาช้าง มีรสหอมหวาน ถัดจากป่ากล้วยนั้น เป็นป่าไม้รังมีดอกสะพรั่งดูล้นกิ่ง ถัดจากป่าไม้รังนั้น มีป่าขนุนลูกเท่ากลองขนาดใหญ่ ถัดจากป่าขนุนมีป่ามะขามมีรสหวานดังน้ำผึ้งและน้ำตาล ถัดจากป่ามะขามมีป่ามะขวิด ถัดจากป่ามะขวิดมีป่าใหญ่ ประดับด้วยต้นไม้มากมายหลายพรรณ ถัดจากป่านั้นมีไม้ซาง หมู่ไม้ทั้งหลายนานาพรรณนั้น เป็นเครื่องประดับตกแต่งสระฉัททันต์นั้นให้สวยงาม

ภูเขา[๖] ๗ เทือก ที่ล้อมรอบสระฉัททันต์นั้น มีชื่อดังนี้ สุวรรณรัตนบรรณพต สูง ๕๖,๐๐๐ วา สัพพมณิบรรพต สูง ๔๘,๐๐๐ วา จุฬสุวรรณบรรพต สูง ๔๐,๐๐๐ วา มหาอุทกบรรพต สูง ๓๒,๐๐๐ วา จุลอุทกบรรพต สูง ๒๔,๐๐๐ วา มหากาลบรรพต สูง ๑๖,๐๐๐ วา จุลกาลบรรพต สูง ๘,๐๐๐ วา

ภูเขาสุวรรณรัตนบรรพตนั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขาทั้งหลาย มีลักษณะเป็นเรือนทอง มีเงารัศมีเปล่งออกจรดในสระฉัททันต์นั้นดูเรืองแสงงาม ดุจดังแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น

เมื่อถึงเดือน ๔ และเดือน ๕ ช้างทั้งหลายจะพากันบ่ายหน้าไปที่ท่าน้ำแล้วอาบน้ำในสระฉัททันต์นั้น อันมีอยู่ในป่าหิมพานต์ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีไม้ประคำต้นหนึ่งอยู่ที่นั้น มีร่มเงาร่มเย็นสบาย ต้นไม้นั้นใหญ่ถึง ๔,๐๐๐ วา สูงตั้งแต่ดินจบถึงค่าคบได้ ๔๖,๐๐๐ วา ตั้งแต่ค่าคบถึงปลายยอดได้ ๘๔,๐๐๐ วา มีค่าคบใหญ่ ๔ ค่าคบ โดยยื่นออกไปในทิศต่าง ๆ ได้ ๔๘,๐๐๐ วา โดยรอบปริมณฑลรอบกิ่งไม้นั้นได้ ๒๘๘,๐๐๐ วา

พระยาช้างนั้นเล่นอยู่ใต้ร่มต้นไม้นั้น พร้อมด้วยโขลงช้างทั้งหลายที่เป็นบริวาร เมื่อถึง เวลาที่พระยาช้างนั้นลงอาบน้ำ โขลงช้างพังทั้งหลายต่างพากันมาขัดสีฉวีวรรณ อาบน้ำให้แก่พระยาช้างนั้น ครั้นหมดจดขาวผ่องดังสังข์แล้วก็ขึ้นไปอยู่ใต้ร่มไม้ประคำอย่างเก่า แล้วหมู่โขลงช้างพลายช้างพังทั้งหลาย จึงลงอาบเล่นต่อในภายหลัง บางเชือกพ่นน้ำเล่นไปทางซ้ายและขวา บางเชือกก็เอางาแทงดินเล่น บางเชือกก็มุดดำหัวเล่นตามสบาย ครั้นอาบน้ำเสร็จแล้ว บางเชือกก็เอารากบัวบ้าง เอาฝักบัวบ้าง เอาดอกบัวบ้าง เอาข้าวสารสาลีบ้าง เอาแตงเต้าผลเท่าไหบ้าง เอาอ้อยลำงามเท่าลำหมากบ้าง เอาเครือกล้วยผลใหญ่เท่างาช้างบ้าง เอาขนุนมีผลใหญ่เท่ากลองบ้าง เอามะขวิดบ้าง เอามะม่วงบ้าง เอามะขามบ้าง เอาดอกรังซึ่งสะพรั่งไปทั้งกิ่งหักถือมา ยกชูเหนือหัวแล้วเอาเข้าไปเฝ้าไปถวายแก่พระยาช้างทุกวันมิได้ขาด

ณ จอมเขาไกรลาศนั้นมีเมืองหนึ่งล้วนไปด้วยเงินและทอง มีหมู่นางกินรีอาศัยอยู่ที่เมืองนั้น บ้านเมืองนั้นมีความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ คล้ายเมืองดาวดึงส์สวรรค์ชั้นทิพย์ และเมืองนั้นเป็นที่ประทับของพระปรเมศวรเจ้า

ภูเขาชื่อว่า จิตรกูฏ นั้น มีคูหาทองคำอยู่แห่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อครั้งเป็นพระยาหงส์ธตรฐราชเจ้า ก็อาศัยอยู่ในคูหาทองคำนั้น มีฝูงหงส์ทองประมาณ ๙ หมื่นตัวเป็นบริวารรับใช้ เหมือนดังโขลงช้างสาร ๘๐,๐๐๐ เชือก เป็นบริวารรับใช้พระยาช้างชื่อ ฉัททันต์ นั้น

แผ่นดินชมพูทวีปนี้มีบริเวณที่เป็นน้ำ ๓ โกฏิ ๒ ล้านวา เป็นป่าและภูเขาหิมพานต์ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ วา ส่วนที่มนุษย์อยู่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ฝ่ายในเรียกว่า มัชฌิมประเทศ ฝ่ายนอกเรียกว่า ปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีบ้าน[๗] ชื่อว่า กชังคละ อยู่ในทิศตะวันออก บ้านนี้มีต้นรังอยู่ต้นหนึ่ง ภายในตั้งแต่ต้นรังนั้นเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ ภายนอกจากไม้รังนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำชื่อว่า สัลลวตี ถัดจากแม่น้ำนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันตกมีบ้านพราหมณ์ชื่อว่า ถูนคาม ถัดจากบ้านพราหมณ์นั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศเหนือมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า อุสีรธชะ[๘] ถัดจากภูเขาลูกนั้นออกไป เป็นปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีบริเวณโดยรีได้ ๓,๐๐๐ โยชน์ และโดยกว้างได้ ๒๕ โยชน์ โดยปริมณฑลรอบรวมได้ ๑๑,๐๐๐ โยชน์ ในมัชฌิมประเทศนั้นมีเมืองใหญ่ ๆ ๑๖ เมือง เมื่อพระพรหมและเทพยดาทั้งหลายสิ้นอายุขัยแล้ว ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตขีณาสพ พระยาจักรพรรดิราช พราหมณ์และฤษี เศรษฐีผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้เหมือนกัน ในทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแผ่นดินชมพูทวีปนั้นมีลักษณะดุจดังทูบเกวียน คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ จึงมีดวงหน้าละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น แผ่นดินในอุตตรกุรุทวีปนั้นมีพื้นที่เป็นที่เหลี่ยม โดยรีและกว้างได้เท่ากัน คือ ๘,๐๐๐ โยชน์ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนั้น จึงมีดวงหน้าเป็นสี่เหลี่ยม ละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น

แผ่นดินในบุรพวิเทหทวีป มีบริเวณกว้างได้ ๘,๐๐๐ โยชน์ และกลมดุจดังพระจันทร์ในวันเพ็ญ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนี้ จึงมีดวงหน้ากลมคล้ายแผ่นดินนั้น

บริเวณแผ่นดินก็ดี แม่น้ำก็ดี ป่าเขาลำเนาไพรดังกล่าวมาแล้ว ที่ไม่มีจิต ไม่มีชีวิตก็ดี โดยรูปธรรมก็มีแต่วินิโภครูป ๘ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม รูป กลิ่น รส เสียง เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแปรเปลี่ยนสภาพไป ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนเที่ยงแท้ได้เลย ไม่ต้องกล่าวถึงหมู่สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตวิญญาณ ท่านทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของร่างกาย แล้วจงรำลึกฝึกใจใฝ่บำเพ็ญบุญกุศลให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา เพื่อพาตนไปสู่พระอมตมหานิพพานอันปราศจากทุกข์ ปราศจากโศก ปราศจากโรคภัย ไม่มีความแก่ ไม่มีความวิบัติฉิบหาย ตลอดกาล

บทที่ ๙ เรื่องอวินิโภครูป มีโดยสังเขปเท่านี้



[๑] กามภูมิ ๑๑ รูปภูมิ ๑๑ อรูปภูมิ ๔

[๒] วิถีทั้งสาม มีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ ดังนี้

๑. อัสสุนี (อัศวินี ดาวม้า, คอม้า หางหนู)

๒. ภรณี (ก้อนเส้า, แม่ไก่)

๓. กฤติกา (ลูกไก่, ธงสามเหลี่ยมมีหางเรียวยาว)

๔. โรหิณี (คางหมู, จมูกม้า, ไม้ค้ำเกวียน)

๕. มิคสิระ (หัวเนี้อ, หัวเต่า)

๖. อัทระ (อารทรา ดาวตาสำเภา, ฉัตร)

๗. ปุนัพพสุ (สำเภาทอง, เรือชัย, หัวสำเภา)

๘. เรวดี (ปลาตะเพียน, หญิงมีครรภ์)

๙. อุตตรภัทร (ไม้เท้า, ราชสีห์ตัวผู้)

ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้ โคจรในอชวิถี

๑. ปุสสะ (บุษยะ สมอสำเภา, ปุยฝ้าย, พวงดอกไม้)

๒. อัสเลสะ (อาศเลษา เรือน, แขนคู้พ้อม)

๓. มาฆะ (มฆา งูตัวผู้, วานร, งอนไถ)

๔. บุพพผลคุณะ (บุรพผลคุณี งูตัวเมีย, แรดตัวผู้)

๕. อุตตรผลคุณะ (อุตตรผลคุณี ดาว, จุดไฟ)

๖. หัสตะ (ศอกคู้, ฝ่ามือ, เหนียงสัตว์)

๗. จิตระ (จิตรา ตาจระเข้, ต่อมน้ำ, ไต้เพพาน)

๘. สวาติ (ช้างพัง, ดวงแก้ว, กระออมน้ำ)

๙. พาสาขะ (วิศาขา, วิสาขะ คันฉัตร, แขนนาง)

ทั้ง ๙ หมู่นี้ โคจรในโคณวิถี

๑. อนุราธะ (อนุราธา ประจำฉัตร, ธนูหม้าไม้, หงอนนาค)

๒. เชษฐะ (เชษฐา ช้างใหญ่, งาช้าง, คอนาค)

๓. มูละ (ช้างน้อย, สะดือนาค)

๔. บุพพาสาฒะ (บุรพาษาฒ สัปคับช้าง, ช้างพลาย, ปากนก)

๕. อุตราสาฒะ (อุตตราษาฒ แตรงอน, ครุฑ, ช้างพัง)

๖. ศรวณะ (หลักชัย, หามศพ, โลง)

๗. ธนิษฐะ (ธนิษฐา ไข่, กา)

๘. ศตภิษช์ (ศตภิษัช พิมพ์ทอง, มังกร)

๙. บุพพภัทระ (บุรพภัทระ หัวเนื้อทราย, ราชสีห์ตัวผู้)

ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี

[๓] เกิดจากการสังเกตดาวเห็นเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ

[๔] น่าจะเป็น ๑๑,๐๐๐ โยชน์

[๕] ดูติรัจฉานโยนิกถา และโลกบัญญัติ ตอนว่าด้วยทวีปทั้ง ๔ ในหนังสือเรื่อง จักรวาลทีปนี

[๖] ชื่อภูเขาทั้ง ๗ นี้กล่าวไว้ในสารัตถสังคหะแปลเล่ม ๓ หน้า ๑๓๘๓ มีชื่อต่างไปจากนี้

[๗] คำว่าบ้าน ในที่นี้หมายถึง หมู่บ้าน

[๘] วินย มหาวคฺค เล่ม ๕ หน้า ๓๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ