คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก

วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิ” นี้ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งนี้เพราะประชาชนชาวไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดตามคติทางพุทธศาสนา นักปราชญ์ในอดีตจึงได้เรียบเรียงเรื่อง “ไตรภูมิ” ขึ้นไว้เป็นมรดกวรรณคดีสำคัญของชาติ

หนังสือเรื่อง “ไตรภูมิ” ที่ปรากฏเป็นที่รู้จักในปัจจุบันมีหลายสำนวน คือ

๑. ไตรภูมิพระร่วง หรือไตรภูมิกถา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่พญาลิไทย พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๘

เรื่องไตรภูมิสำนวนสมัยกรุงสุโขทัยนี้ ไม่ปรากฏว่ามีต้นฉบับเดิมครั้งกรุงสุโขทัยตกทอดมาถึงปัจจุบัน ต้นฉบับที่นำมาใช้พิมพ์เผยแพร่นั้น คือต้นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ (วัดกลางวรวิหาร) ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จึงได้จารเรื่องไตรภูมิไว้ในใบลาน ๓๐ ผูก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เรียกชื่อว่า “ไตรภูมิพระร่วง” ต่อมานายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้แนะนำนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ[๑] เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์[๒] จัดหาผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบชำระปรับปรุงข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนที่ยังมีอยู่ และนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ได้มอบให้นายพิทูร มลิวัลย์ เปรียญธรรมประโยค ๙ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประจำแผนก กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีพุทธศาสนาตรวจสอบชำระ โดยให้รักษาของเดิมไว้ให้มากที่สุด เมื่อตรวจสอบชำระเสร็จแล้ว ต่อมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗, ๒๕๒๕ และ ๒๕๒๖ ตามลำดับ

๒. ไตรภูมิโลกวินิจฉัย คือ ไตรภูมิสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งขึ้นเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เป็นหนังสือจบ ๑ ยังไม่สมบูรณ์ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๔๕ โปรดให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัยให้จบความ ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้นายพิทูร มลิวัลย์ แปล เรียบเรียง ตรวจสอบชำระไตรภูมิโลกวินิจฉัยจากต้นฉบับหนังสือใบลาน และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้จัดพิมพ์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ออกเผยแพร่ แบ่งออกเป็น ๓ เล่ม

๓. นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาพไตรภูมิเก็บรักษาไวในหอสมุดแห่งชาติอีกหลายเล่ม ได้แก่ ไตรภูมิภาษาเขมร แผนที่ไตรภูมิโลกสัณฐานสมัยอยุธยา แผนที่ไตรภูมิสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี แผนที่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย และไตรภูมิโลกวินิจฉัย โดยเฉพาะสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรีนั้น กรมศิลปากร โดยหอสมุดแห่งชาติได้อนุญาตให้คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่เป็นครั้งแรกแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔

เรื่อง “ไตรภูมิ” เป็นวรรณคดีที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดในประวัติวรรณคดีไทยยุคสุโขทัย เป็นวรรณคดีที่แสดงปรัชญาแห่งบวรพุทธศาสนาอย่างชัดเจนลึกซึ้ง เนื่องด้วยเป็นผลงานประพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าข้อปรัชญาอย่างละเอียด โดยอาศัยคัมภีร์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๐ คัมภีร์ มีเนื้อความกล่าวถึง จักรวาลวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ ชีววิทยา ความคิดความเชื่อในทางพุทธศาสนา ซึ่งหลักธรรมสำคัญคือ การละเว้นความชั่ว ประกอบกรรมดี

วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิ” นี้ นอกจากจะเป็นผลงานที่มีอรรถรสสูง มีถ้อยคำสำนวนภาษาไพเราะงดงามประณีตอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพและอารยธรรมความเจริญของไทยในด้านอักษรศาสตร์มานับแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้ว ยังพร้อมไปด้วยคุณค่าในด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ โดยที่วรรณคดีเรื่องนี้มีกำเนิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อันเป็นระยะแรกก่อตั้งราชอาณาจักรไทย บ้านเมืองต้องการพลังและแนวทางที่จะสร้างสรรค์ความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชนพร้อมกับสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ความเป็นชาติ ดังนั้น จึงย่อมจะต้องมีการสร้างอุดมการณ์ให้ประชาชนในชาติใฝ่ในคุณธรรม มีจิตใจรักสงบ มีความสามัคคีปรองดอง มีความสำนึกในผิดชอบชั่วดี มุ่งประกอบแต่กุศลกรรมและมีความมุ่งมั่นแน่นแฟ้นในคุณงามความดี ซึ่งได้เป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วไปในโลกแล้วว่า เครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ความสงบสุขในหมู่ประชาชนในชาติก็คือ กฎหมายและศาสนา

เชื่อกันว่า “ไตรภูมิ” หรือไตรภูมิกถา ซึ่งเป็นวรรณคดีพุทธศาสนานี้ ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วเป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อการดำรงขีวิตของปวงชน มีอิทธิพลต่อรากฐานการปกครอง การเมือง และวัฒนธรรมของชาติ โดยได้ปลูกฝังอุดมการณ์ ความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว และนำทางปวงชนให้มีจิตใจยึดมั่นในความดีงามและใฝ่ในสันติ

นอกจากนี้วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิ” ยังมีบทบาทและมิอิทธิพลต่อสัมพันธภาพระหว่างศิลปวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ อย่างสูง ทั้งในด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรีกรรม ตลอดจนประเพณีสำคัญ ทั้งประเพณีในราชสำนักและประเพณีพื้นบ้านทั่วไป จะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ และภาพจิตรกรรมในสมุดไทยหรือหนังสือใบลาน ศิลปินซึ่งเป็นโปราณาจารย์ได้ใช้แนวความคิดและเรื่องราวจาก “ไตรภูมิ” มาสร้างสรรค์งานศิลปะ งานจิตรกรรม ประติมากรรม เป็นจำนวนมาก การสร้างวัด มีโบสถ์ วิหาร พัทธสีมา ระเบียงคด การสร้างปราสาทราชวังเป็นชั้นในชั้นนอก การสร้างพระเมรุมาศเป็นลักษณะเขาพระสุเมรุ เหล่านี้ล้วนเป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางแนวความคิดจากวรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิ” ทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น ความเชื่อและอุดมการณ์จาก “ไตรภูมิ” อันมีความหมายว่า จักรวาล ประกอบขึ้นด้วย ภูมิทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และภูมิ ก็คือที่อยู่อาศัยของสัตว์โลกนี้ ยังเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางในประเทศในภูมิภาคเอเชียเกือบทุกประเทศ เช่น ญี่ปุน จีน เกาหลี พม่า อินเดีย ฯลฯ อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ เมื่อคณะกรรมการประสานงานฝ่ายไทยว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศของอาเซียน (The Committee on Culture and Information (COCI) of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)) ได้รับมติจากการประชุม ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔ ตกลงว่าประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติอาเซียน จะร่วมมือกับดำเนินการโครงการรวมวรรณกรรมอาเซียน (Anthology of ASEAN Literature) ซึ่งประเทศพิลิปปินส์เป็นผู้เสนอโครงการ โดยกำหนดให้แต่ละประเทศพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมที่มีคุณค่าตามลำดับ และจัดแปลวรรณกรรมที่คัดเลือกแล้วเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อจัดพิมพ์รวมชุดวรรณกรรมอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดี และแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและลักษณะประจำชาติ และคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานประจำชาติขึ้นเพื่อให้ดำเนินงานตามข้อตกลงดังกล่าว คณะทำงานฯ จึงได้คัดเลือกแปล “ไตรภูมิกถา” สำนวนที่เชื่อว่าพญาลิไทย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ และให้ใช้ฉบับพิมพ์ที่นายพิทูร มลิวัลย์ ตรวจสอบชำระและกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นฉบับ

ต่อมาในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการวรรณกรรมอาเซียนครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสมาชิกหลายประเทศได้เสนอว่า นอกจากจะแปลวรรณกรรมออกเป็นภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้าใจอันดี และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติอาเซียนแล้ว สมควรจัดแปลหรือถ่ายทอดวรรณกรรมที่คัดเลือกแล้ว ออกเป็นภาษาประจำชาติ หรือภาษาทางการของแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีในหมู่ประชาชนในชาติของตนด้วย ทั้งนี้เพราะประเทศสมาชิกหลายประเทศมีภาษาใช้ในการสื่อสารมากกว่า ๑ ภาษา แต่เนื่องจากประเทศไทยเรานั้นใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติภาษาเดียวในการสื่อสารทั่วประเทศ ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนของประเทศไทย จึงเสนอขออนุมัติเรียบเรียงถอดความวรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิกถา” ออกเป็นฉบับสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายแทน ทั้งนี้ เพราะวรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิกถา” นี้มีอายุเก่าแก่เกือบ ๗๐๐ ปี แม้จะมีถ้อยคำสำนวนภาษางดงามประณีต แต่ก็อ่านเข้าใจยากสำหรับคนไทยในสมัยปัจจุบัน ข้อเสนอดังกล่าวได้รับอนุมัติ คณะทำงานฝ่ายไทยจึงขอความร่วมมือกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้มอบหมายนักภาษาโบราณเรียบเรียงถอดความ “ไตรภูมิกถา” และนำออกพิมพ์เผยแพร่ เรียกว่า ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ (Modernized Version) รวมไว้ในหนังสือชุดวรรณกรรมอาเซียน เป็น “Anthology of ASEAN Literature : Volume 1b”

คณะทำงานฝ่ายไทยขอขอบคุณสมาคมประชาชาติอาเซียน และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ โดยเฉพาะคณะกรรมการว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศของอาเซียน (The Committee on Culture and Information (COCI)) ที่ได้สนับสนุนโครงการดังกล่าวให้สำเร็จผล เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและความเข้าใจอันดีในระหว่างประเทศสมาชิกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ถนนสามเสน

กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐

โทร. ๒๘๑๐๒๖๓

๓๐ เมษายน ๒๕๒๘



[๑] ปัจจุบันคือ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

[๒] เปลี่ยนเป็นสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ