- คำนำ
- คำชี้แจง
- คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก
- คำปรารภ
- GENERAL PREFACE
- พระราชประวัติพญาลิไทย
- สังเขปประวัติวรรณคดีไทย
- เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา
- คำแปล
- ความนำ
- บทนำ
- บทที่ ๑ แดนนรก
- บทที่ ๒ แดนของสัตว์เดรัจฉาน
- บทที่ ๓ แดนเปรต
- บทที่ ๔ แดนอสุรกาย
- บทที่ ๕ แดนมนุษย์
- บทที่ ๖ แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร
- บทที่ ๗ รูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๘ อรูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๙ อวินิโภครูป
- บทที่ ๑๐ ความพินาศและการเกิดของโลก
- บทที่ ๑๑ นิพพาน
- อวสานพจน์
- ภาคผนวก ๑ คัมภีร์ที่กล่าวอ้างไว้ในไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง)
- ภาคผนวก ๒ รายชื่อคัมภีร์ที่ผู้รจนาไตรภูมิใช้เป็นหนังสืออุเทศ
- ภาคผนวก ๓ แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๔ ภาพลายเส้นไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๕ เส้นทางเดินพระอาทิตย์
- ภาคผนวก ๖ เนื้อหาสาระในแดนต่าง ๆ
- ภาคผนวก ๗ อธิบายเหตุแห่งมรณะ ๔
- ภาคผนวก ๘ ทศพิธราชธรรม
- บรรณานุกรม
- รายนามคณะทำงาน โครงการวรรณกรรมอาเซียน
โลกันตนรก
โลกันตนรกตั้งอยู่ระหว่างจักรวาลทั้ง ๓ เปรียบเหมือนนำกงล้อเกวียน ๓ ล้อมาวางชิดกัน ช่องว่างระหว่างล้อทั้ง ๓ คือที่ตั้งของโลกันตนรก หรือเปรียบเหมือนนำบาตร ๓ ใบมาวางคว่ำไว้ให้ชิดกัน ช่องว่างระหว่างบาตรนั้นคือที่ตั้งของโลกันตนรก นรกนี้กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ ความยาวไม่สามารถวัดได้ มีคูลึกและยาว มีความลึกที่หยั่งไม่ได้ เบื้องบนไม่มีฝาปิด เบื้องล่างมีน้ำรองรับแผ่นดินเป็นพื้น เบื้องบนนั้นเป็นปล่องสูงขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ไม่มีวิมานเทพยดา ในโลกันตนรกนี้มีแต่ความมืดมนยิ่งนัก สัตว์ที่เกิดในโลกันตนรกนี้มองไม่เห็นอะไรเลยราวกับหลับตาในคืนเดือนมืด แม้ว่าแสงดาวแสงเดือนและแสงตะวันจะส่องสว่างให้แก่คนทั้ง ๔ ทวีปให้มองเห็นได้ แต่ก็ไม่สามารถจะส่องให้เห็นในโลกันตนรกได้ ทั้งนี้เพราะเดือนและตะวัน ซึ่งมีแสงสว่างนั้นส่องได้ในระยะไกลเพียงยอดเขายุคันธรเท่านั้น ไม่สามารถส่องสว่างเลยเขตกำแพงจักรวาลไปได้ โลกันตนรกนั้นตั้งอยู่นอกกำแพงจักรวาล ดังนั้นแสงสว่างจึงส่องไปไม่ถึง แต่ถ้ามีปรากฏการณ์ ๕ ประการต่อไปนี้เกิดขึ้น จึงจะมีแสงสว่างในโลกันตนรก คือ ประการแรก เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ประการที่ ๒ เวลาที่พระโพธิสัตว์ออกจากครรภ์พระมารดา ประการที่ ๓ เวลาที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้ ประการที่ ๔ เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระธรรม ประการที่ ๕ เวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เมื่อสัตว์ในโลกันตนรกแลเห็นกันแล้ว ต่างก็คิดว่าแต่ก่อนเคยอยู่ตัวเดียว ณ ที่นี้ ไม่รู้ว่ามีคนมากมายอยู่ในนรกที่ร้ายนี้ด้วย แต่ช่วงที่สัตว์นรกแลเห็นกันนั้นสั้นมากเปรียบดังชั่วระยะดีดนิ้ว (ลัดนิ้วมือ) หรือราวกับชั่วฟ้าแลบ และรวดเร็วเท่ากับช่วงกล่าวคำว่า “อันใด ๆ” พอกล่าวได้เท่านั้นแสงสว่างนั้น ก็กลับมืดดังเดิม ช่วงที่แสงสว่างอยู่นานที่สุด คือเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา
ผู้ใดประทุษร้ายบิดามารดา นักบวช ครูอาจารย์ ผู้มีศีล และยุยงสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อตายไปก็จะเกิดในโลกันตนรกนี้ สัตว์ในนรกนี้ร่างกายสูงใหญ่ถึง ๖,๐๐๐ วา เล็บมือเล็บเท้านี้ เกาะที่แห่งใดก็จะติดกับที่แห่งนั้น สัตว์นรกนี้ใช้เล็บเกาะกำแพงจักรวาล ห้อยโหนโยนตัวเหมือนค้างคาว มีความหิวโหยอย่างเหลือประมาณ ครั้นปีนป่ายไปหาอาหารก็จะถูกต้องมือของกันและกันคิดว่าเป็นอาหาร ต่างก็ดีใจจึงกัดกินกันและกัน ต่างใช้มือตะครุบและรัดกันเพื่อกินเป็นอาหาร จนตกลงในน้ำซึ่งรองรับแผ่นดินไว้ ขณะที่ตกลงไปในน้ำนั้นเหมือนผลไม้ใหญ่หล่นน้ำซึ่งแสงแดด ไม่เคยส่องถึงเลย ดังนั้นน้ำจะเย็นยะเยือกเป็นที่สุด พอตกลงไปในน้ำแล้วครู่เดียวร่างกายก็เปื่อยยุ่ยราวกับก้อนอุจจาระตกลงในน้ำ เมื่อสัตว์นรกนี้ตายแล้วก็กลับเป็นตัวตนขึ้นอีก ปีนขึ้นไปเกาะกำแพงจักรวาลด้านนอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับทุกขเวทนาเป็นเวลานานชั่วพุทธันดรกัลป์หนึ่ง[๑]