ความนำ

เรื่องไตรภูมิกถานี้แต่งขึ้นเมื่อใด แต่งขึ้นเมื่อปีระกา ศักราช ๒๓ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพฤหัส[๑] พญาลิไทยทรงริเริ่มพระราชนิพนธ์ขึ้น พญาลิไทยเป็นโอรสพญาเลลิไทย ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย พญาลิไทยเป็นราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระอัยยกาเจ้าพญาลิไทย เมื่อทรงราชย์ ณ เมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี ได้ทรงเริ่มแต่งไตรภูมิกถา เหตุใดจึงทรงนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น เหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นก็เพื่อจะนำคำสอนในพระอภิธรรมของพระพุทธเจ้ามาเทศนาถวายพระราชชนนี และเพื่อเผยแพร่พระธรรมให้เจริญรุ่งเรือง

เนื้อเรื่องไตรภูมิกถา พญาลิไทยทรงเก็บความจากคัมภีร์ใดบ้าง ทรงเก็บความจากคัมภีร์พระอรรถกถาจตุราคม อรรถกถาฎีกาพระอภิธรรมาวดาร พระอภิธรรมสังคหะ พระสุมังคลาลาสินี พระปปัญจสูทนี พระสารัตถปกาสินี พระมโนรถปูรณี พระสีนัตถปกาสินี พระอรรถกถาฎีกาพระวินัย พระธรรมบท พระมหาวัคค์ พระธรรมมหากถา พระมธุรัตถวิลาสินี พระธรรมชาดก พระชินาลังการ พระสารัตถทีปนี พระพุทธวงศ์ พระสารสังคหะ พระมิลินทปัญหา พระปาเลยยะ พระมหานิพาน พระอนาคตวงศ์ พระจริยาปิฎก พระโลกปัญญัติติ พระมหากัลป์ พระอรุณวตี พระสมันตปาสาทิกา พระวิสุทธิมัคค์ พระลักษณาภิธรรม พระอนุฎีกาหิงธรรม พระสารีริกพินิจฉัย พระโลกุปปัตติ ทรงรวบรวมเนื้อความพระธรรมเหล่านี้มาผสมผสานใหม่ ให้ชื่อว่า “ไตรภูมิกถา”

เหตุใดพญาลิไทยผู้เป็นพระมหากษัตริย์จึงทรงพระราชนิพนธ์พระคัมภีร์ไตรภูมิกถานี้ได้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก และได้ทรงศึกษาจากสำนักพระสงฆ์ที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง พระอาจารย์องค์แรกคือ พระมหาเถรมุนีพงศ์ ต่อจากนั้นทรงเล่าเรียนจากพระอโนมทัสสี พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรสิทธัตถเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทะ นอกจากนี้ทรงเล่าเรียนจากราชบัณฑิตสองท่าน คือ อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิต และยังได้ทรงเล่าเรียนโดยการติดต่อทางพระราชสาสน์กับพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์ ณ เมืองหริภุญไชย์

ผู้ใดปรารถนาบรรลุสวรรค์นิพาน จงสดับฟังไตรภูมิกถาด้วยความตั้งใจจริงอย่าได้ประมาท เพื่อว่าจะได้พบพระศรีอารยเจ้า เมื่อจะลงมาโปรดแก่ผู้รู้ทั้งหลายในโลกนี้



[๑] ตรงกับจุลศักราช ๗๐๗ หรือพุทธศักราช ๑๘๘๘

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ