- คำนำ
- คำชี้แจง
- คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก
- คำปรารภ
- GENERAL PREFACE
- พระราชประวัติพญาลิไทย
- สังเขปประวัติวรรณคดีไทย
- เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา
- คำแปล
- ความนำ
- บทนำ
- บทที่ ๑ แดนนรก
- บทที่ ๒ แดนของสัตว์เดรัจฉาน
- บทที่ ๓ แดนเปรต
- บทที่ ๔ แดนอสุรกาย
- บทที่ ๕ แดนมนุษย์
- บทที่ ๖ แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร
- บทที่ ๗ รูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๘ อรูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๙ อวินิโภครูป
- บทที่ ๑๐ ความพินาศและการเกิดของโลก
- บทที่ ๑๑ นิพพาน
- อวสานพจน์
- ภาคผนวก ๑ คัมภีร์ที่กล่าวอ้างไว้ในไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง)
- ภาคผนวก ๒ รายชื่อคัมภีร์ที่ผู้รจนาไตรภูมิใช้เป็นหนังสืออุเทศ
- ภาคผนวก ๓ แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๔ ภาพลายเส้นไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๕ เส้นทางเดินพระอาทิตย์
- ภาคผนวก ๖ เนื้อหาสาระในแดนต่าง ๆ
- ภาคผนวก ๗ อธิบายเหตุแห่งมรณะ ๔
- ภาคผนวก ๘ ทศพิธราชธรรม
- บรรณานุกรม
- รายนามคณะทำงาน โครงการวรรณกรรมอาเซียน
บทที่ ๗ รูปาวจรภูมิ
รูปพรหม ๑๖ ชั้น
พรหมทั้งหลายที่เกิดในรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนั้น ย่อมเกิดเป็นกายใหญ่ทันทีแต่เพียงอย่างเดียว และเอาปฏิสนธิ ๖ จำพวก คือ วิตก วิจารณ์ และอื่น ๆ ที่กล่าวแล้ว นับตั้งแต่สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดีขึ้นไปจนถึงพรหมโลกนั้น จะนับเป็นโยชน์หรือเป็นวาไม่ได้เลย เพราะว่าอยู่ไกลมาก แม้แต่พรหมชั้นล่างสุดที่ชื่อ พรหมปาริสัชชาภูมิ ลงมาจนถึงแผ่นดินนี้ก็ยังไกลมาก หากเอาศิลาก้อนหนึ่งขนาดเท่าปราสาทเหล็กที่ชื่อ โลหปราสาท ที่มีอยู่ในลังกาทวีปนั้น มาทิ้งทอดลงมาจากพรหมปาริสัชชานั้น โดยไม่ไปติดขัดอยู่ที่ไหนเลย ก็จะกินเวลาถึง ๔ เดือน จึงจะตกลงมาถึงแผ่นดิน นี่เป็นแต่เพียงพรหมชั้นต่ำสุด พรหมทั้ง ๒๐ ชั้นจะอยู่เหนือกันขึ้นไปตามลำดับ ๒๐ ชั้น อาณาเขตกว้างเท่าขอบเขตของกำแพงจักรวาล นอกจากนั้นยังมีปราสาทแก้ว และเครื่องประดับทั้งหลายงดงามยิ่งไปกว่าบรรดามีในสวรรค์ของเทวดาต่าง ๆ นับพันเท่า
พรหมชั้น ๑ ชื่อ พรหมปาริสัชชาภูมิ ชั้น ๒ ชื่อ พรหมปโรหิตา ชั้น ๓ ชื่อ มหาพรหมาภูมิ พราหมณ์และฤษีที่บำเพ็ญภาวนาจนได้ฌานที่ชื่อ ปฐมฌานในชั้นต่ำ ตลอดชีวิตนั้นเมื่อตายไปจะได้ไปเกิดในพรหมชั้นปาริสัชชาภูมิ มีอายุยืนได้หนึ่งในสามของกัลป์ ผู้ใดที่ได้ปฐมฌานชั้นปานกลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมที่ชื่อว่าพรหมปโรหิตาภูมิ เสวยสุขอยู่เป็นเวลาครึ่งหนึ่งของกัลป์ ส่วนผู้ใดได้ปฐมฌานชั้นสูงสุดตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมภูมิ เสวยสุขเป็นเวลาหนึ่งมหากัลป์ อายุของพรหมในชั้นนี้นับเป็นกัลป์ เมื่อไฟไหม้กัลป์เมื่อใดก็จะไหม้พรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้ด้วย
ไกลขึ้นไปอีกมากก็จะถึงพรหมอีก ๓ ชั้น คือ ปริตตาภูมิ อัปปมาณาภูมิ และ อาภัสสราภูมิ รวมเรียกว่า ทุติยฌานภูมิ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่สำเร็จทุติยฌานชั้นต่ำจนตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นปริตตาภูมิ มีอายุได้ ๒ มหากัลป์ ผู้ใดสำเร็จทุติยฌานภูมิชั้นปานกลางจนตลอดชีวิต ตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาณาภูมิ มีอายุยืนได้ ๔ มหากัลป์ ส่วนผู้ที่สำเร็จทุติยฌานภูมิชั้นสูงสุด ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอาภัสสราภูมิ มีอายุยืนได้มหากัลป์ เมื่อเกิดไฟไหม้กัลป์แล้ว น้ำก็ท่วมอาภัสสราพรหมภูมิด้วย
ถัดขึ้นไปอีกไกลนักหนาก็จะถึงพรหมอีก ๓ ชั้น คือ ปริตตาสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ รวมเรียกว่า ตติยฌานภูมิ เทวดาหรือมนุษย์ใดได้ตติยฌานในชั้นต่ำ เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปริตตาสุภาภูมิ มีอายุยืน ๑๖ มหากัลป์ ผู้ใดได้ตติยฌานในชั้นกลางจนตลอดชีวิต ตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาณาสุภาภูมิ มีอายุยืนได้ ๓๒ มหากัลป์ ส่วนผู้ใดได้ตติยฌานชั้นสูงสุดจนตลอดชีวิต ตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นสุภกิณหาภูมิ มีอายุยืน ๖๔ กัลป์ เมื่อน้ำท่วมแล้วมีลม ๕ อย่าง พัดพาทำลายพรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้จนหมดลมนั้นจึงจะหยุด
จากนั้นขึ้นไปอีกไกลมากจะถึงพรหมอีก ๒ ชั้น คือ เวหัปผลาภูมิและอสัญญีภูมิ เรียกว่า จตุตถฌานภูมิ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่บรรลุจตุตถฌานชั้นสูงสุดจนตลอดชั่วชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นเวหัปผลาภูมิ มีอายุยืนถึง ๔๐๐ มหากัลป์ ผู้ใดถึงจตุตถฌานด้วยความมั่นคงและไม่มีลูกมีเมีย รวมทั้งเขารำพึงในใจว่า อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่ไปทนทุกขเวทนาอยู่ในจตุราบายด้วย โยนิ ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ก็เป็นเพราะมีใจรู้รำพึงมาก มีใจรัก มีใจเกลียดชัง เมื่อใดใจนี้หายไปจากตนไม่รู้รำพึงมาก ไม่รู้รักรู้เกลียด เมื่อนั้นก็จะดียิ่ง เขารำพึงเช่นนี้แล้วก็ปรารถนาเช่นนี้ คือขออย่ามีลูกมีเมียหรือมีใจเลย เขาพร่ำภาวนาเช่นนี้ว่า ขอจงอย่ามีสัญญาภาวนาอยู่ตลอดชั่วชีวิตเขา เมื่อตายไปก็ไปเกิดในพรหมชั้นอสัญญีภูมิ พรหมในชั้นนี้มีกายสูง ๙๖,๐๐๐ วา ไม่มีใจแม้แต่นิดเดียว หน้าตาผิวพรรณเหมือนรูปพระปฏิมาทองคำที่ช่างขัดไว้ใหม่ งดงามมาก หากผู้ใดนั่งอยู่และตายไป ก็จะไปเกิดเป็นพรหมในอิริยาบถนั่งไปจนสิ้นอายุพรหม ผู้ใดยืนอยู่แล้วตายไป ก็จะไปเกิดเป็นพรหมในอิริยาบถยืนในพรหมโลก ไม่กะพริบตาหวั่นติงใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่รับรู้ใดทั้งสิ้น ในปราสาทแก้วของพรหมนั้นกว้างขวางมาก มีดอกไม้ของหอมทั้งหลายอันประเลริฐอยู่ตลอดเวลาที่พรหมสถิตอยู่ ดอกไม้นั้นไม่มีเหี่ยวแห้ง ของหอมต่าง ๆ ก็ไม่มีวันหมดกลิ่นหอมเลย ดอกไม้ต่าง ๆ ก็จะประดับอยู่เรียงรายราวกับมีผู้จัดแต่งอยู่รอบวิมานของพรหม จำนวนของพรหมในชั้นนี้มีมากมายไม่รู้กี่ล้านกี่โกฏิ มีอายุยืนได้ ๕๐๐ มหากัลป์ เมื่อใดพรหมเหล่านี้จะสิ้นอายุ พรหมที่ได้ทำบุญมาก่อน เมื่อก่อนจะสิ้นชีวิตจิตใจก็จะกลับคืนมาสู่ร่างตามเดิมเช่นคนทั่ว ๆ ไป แล้วจึงไปเกิดตามผลบุญและบาปที่ทำไว้ เพราะยังไปไม่ถึงนิพพาน
จากนั้นขึ้นไปอีกไกลมากจะถึงพรหมอีก ๕ ชั้น คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ เรียกรวมว่า ปัญจสุทธาวาส นับเป็นจตุตถฌานภูมิ ผู้ใดได้สำเร็จจตุตถฌาน หรือปัญจมฌานก็ดี จนตลอดชั่วชีวิตตายไปก็จะได้ไปเกิดในพรหม ๕ ชั้นที่ชื่อปัญจสุทธาวาสนี้
แล้วจะไม่เกิดมาเป็นคนในมนุษย์โลกอีกเลย หากว่าสิ้นอายุจากพรหมโลกแล้ว จะเข้าถึงนิพพานเลย อายุของพรหมในอวิหาภูมินั้นยืนได้ ๑,๐๐๐ มหากัลป์ อายุพรหมในอตัปปายืนได้ ๒,๐๐๐ มหากัลป์ พรหมในสุทัสสาอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ มหากัลป์ อายุพรหมในชั้นสุหัสสียืนได้ ๘,๐๐๐ มหากัลป์ และอายุพรหมในชั้นอกนิฏฐายืนได้ ๑๖,๐๐๐ มหากัลป์
พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้ เรียกว่า โสฬสรูปพรหม อันเป็นที่อยู่ของพรหมทั้งหลายอันมีรูปพรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นเพศชาย จะมิพรหมเพศหญิงแบบเทพธิดาในสวรรค์ชั้นต่ำลงมาก็หาไม่ได้ แต่พรหมที่อยู่ในชั้นอสัญญีนั้นเป็นแต่รูปอยู่เช่นนั้น ไม่เคลื่อนไหวเลยแม้แต่น้อย ส่วนพรหมในชั้นอื่น ๆ อีก ๑๕ ชั้น เคลื่อนไหว มีตาไว้ดู หูไว้ฟัง มีจมูกไว้หายใจเข้าออก แต่ไม่มีความรู้สึกถึงกลิ่นหอมหรือเหม็น มีลิ้นไว้พูดจาแต่ไม่รู้รสเปรี้ยว หวาน เผ็ด จืด หรือเค็ม เนื้อตัวของพรหมนั้นแม้นว่าจับต้องก็จะไม่รู้สึกเจ็บแต่ประการใด ไม่เสวยข้าว น้ำ ได้แต่นั่งฌานสมาบัติ ไม่ยินดีที่จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น หน้าตาเนื้อตัวของพรหมนั้นเกลี้ยงเกลางดงาม รุ่งเรืองกว่าพระจันทร์ พระอาทิตย์เป็นพันเท่า แม้แต่มือของพรหมเพียงมือเดียวก็ให้แสงเรืองไปทั่วจักรวาลได้ถึงหมื่นจักรวาล พระพรหมทั้งหลายมีปราสาทแก้วและปราสาททอง มีอาสน์ทิพย์ ม่านและเพดานเป็นทิพย์ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ งดงามยิ่งกว่าวิมานของเทวดาในชั้นต่ำได้พันเท่า มีเกศเกล้างดงาม มีชฎาทุกองค์ งามยิ่งนัก รูปร่างของพรหมก็งดงามมาก ไม่ว่าจะเป็นหัวเข่าก็ดี แขนก็ดี ต่อกันกลมกลึงงามมาก มองไม่เห็นรอยต่อ พรหมทั้งหลายนั้นไม่มีอวัยวะภายในตนแม้แต่น้อย และไม่มีลามกอาจมใด ๆ เลย
พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนั้น ไม่มีพรหมเพศหญิงแม้แต่องค์เดียว แม้แต่เพียงเหมือนเพศหญิงก็ไม่มีเลย พรหมทั้งหลายไม่มีใจรักใคร่ในผู้หญิงแม้แต่น้อย ไม่มีการขับร้องฟ้อนรำหรือเล่นดนตรีแต่อย่างใด บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ อริยวิหาร บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ ทิพยวิหาร บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ พรหมวิหาร พรหมทั้งหลายในอกนิฎฐพรหมนั้น เมื่อใดที่พระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเสด็จออกผนวช พรหมนั้นจะเอาผ้าไตรจีวรและเครื่องบริขารลงมาจากพรหมโลกไกลโพ้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เจ้า พระโพธิสัตว์ทรงรับเอาไตรจีวรจากพรหมแล้วทรงไตรจีวรนั้น ทรงถอดผ้าขาวที่พระองค์ทรงอยู่ออกจากพระกายแล้วยื่นให้พรหมนั้น ซึ่งรับเอาขึ้นไปไว้ที่อกนิฏฐพรหม แล้วเนรมิตเป็นพระเจดีย์แก้วครอบผอบแก้วใสงามนั้น พระเจดีย์สูง ๙๖,๐๐๐ วา มีพระนามว่า ทุสเจดีย์ พรหมทั้งหลายย่อมเคารพบูชาปฏิบัติพระเจดีย์วันละ ๗ แสนองค์มิได้ขาด
พรหม ๑๖ ชั้นนี้ เมื่อไฟไหม้แผ่นดินนี้แล้ว พรหมจะเสด็จลงมาดูดอกบัวที่เกิดในแผ่นดินนี้ แล้วจึงเอาบาตร จีวร เครื่องอัฎฐบริขาร ๘ สิ่งที่อยู่ในดอกบัวนั้น คือ ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ บาตร ผ้าประคด มีดโกน เข็มเย็บผ้า ผ้ากรองน้ำ พรหมรับเอาอัฏฐบริขารนี้ขึ้นไปไว้ที่อกนิฏฐพรหม ยามเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกผนวชเมื่อใด พรหมจึงจะนำลงมาถวาย กัลป์ใดมีพระพุทธเจ้าหนึ่งพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัวขึ้นหนึ่งดอก เรียกกัลป์นี้ว่า สารกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าสองพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัว ๒ ดอก เรียกว่า มัณฑกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัวขึ้น ๓ ดอก เรียกว่า วรกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ก็จะเกิดดอกบัว ๔ ดอก เรียกกัลป์นี้ว่า สารมัณฑกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัว ๕ ดอก เรียกว่า ภัททกัลป์ กัลป์ใดจะไม่มีพระพุทธเจ้ามาเกิดเลย กัลป์นั้นเรียกว่า สุญญกัลป์ ในหนึ่งกัลป์จะมีพระพุทธเจ้ามาเกิดได้สูงสุดเพียง ๕ พระองค์เท่านั้น มากกว่านี้ไม่มี และเครื่องอัฎฐบริขารอันเกิดมีในดอกบัวนั้น ก็เกิดขึ้นมาเองเพราะบารมีของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ผู้ที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกนั้น ทำบุญธรรมอย่างไรจึงได้ไปเกิดเช่นนั้น ผู้ใดก็ดีแม้นว่าได้ทำบุญบวชเป็นพระรักษาศีลได้เท่าไรก็ดี แต่ไม่ได้ฌานที่จะทำให้สามารถเดินไปในอากาศหรือดำดินได้ จะไม่ได้เกิดในพรหมโลกเป็นอันขาด ผู้ใดเจริญภาวนาฌานจนตลอดชั่วชีวิต จึงจะได้ไปเกิดในพรหมโลก เมื่อภาวนาจะให้บรรลุได้ฌานนั้นย่อมกระทำดังนี้ คือ ภิกษุเจ้าที่เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็ดี ฤๅษีผู้มีศีลก็ดี นั่งสมาธิภาวนาจำเริญกรรมฐานว่า “ปฐวีกสิณํ” ทั้งกลางวันกลางคืน และกำจัดปัญจนิวรณ์ คือ ความพอใจรักใคร่ในกาม ความปองร้ายผู้อื่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลไม่ตกลงใจ แล้วจึงประกอบด้วยฌาน ๕ ประการ คือ ความตรึกตรอง ความพิจารณา ความปลื้มใจ ความสุข และความเป็นผู้มีอารมณ์เดียว แล้วจึงจักได้ฌาน ๕ ประการ คือ รู้จักแสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้จักจิตของผู้อื่น และรู้จักระลึกชาติได้ เหล่านี้เป็นสภาวะบุญที่ได้เจริญฌานในโลกนี้ แล้วจึงจะได้ไปเกิดในรูปพรหม ๑๕ ชั้น ยกเว้น อสัญญีพรหม เมื่อเกิดนั้น มีรูปเกิดเพียง ๒๓ รูปทีเดียว ไม่มีรูปเกิดถึง ๒๘ รูป เช่นเทวดาที่เกิดเป็นกามภูมิ เมื่อพรหมเกิดมีรูปเกิด ๒๓ รูป แต่ไม่มีรูปเกิดอีก ๕ รูป ๕ รูปนั้นคืออะไร ได้แก่ ฆานรูป รูปอันรู้จักกลิ่นหอมและเหม็น ชิวหารูป รูปอันรู้รสอาหารที่กิน กายรูป รูปอันรู้สึกเจ็บปวด อิตถีภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือนผู้หญิง ปุริสภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือนผู้ชาย เมื่อเกิดก็จะมีชีวิตรูป ๔ รูป คือ รูปที่รักษาตา รูปที่รักษาหู รูปที่รักษาใจ และรูปที่รักษาเสียง
พรหมที่เกิดในชั้นอสัญญีนั้น ย่อมเกิดเป็นรูปเหมือนพรหมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว แต่รูปนั้นจะมี ๑๗ จำพวก ได้แก่อะไรบ้าง ได้แก่ สุทธัฏฐกรูป ๘ ชีวิตรูป ๑ อากาสรูป ๑ วิการรูป ๓ ลักษณะรูป ๔ รวมกันได้ ๑๗ จำพวก โดยมีชีวิตรูปอันเดียวอยู่ในสุทธัฏฐกรูป
พรหมทั้งหลายที่มีจิตภาวนาเจริญฌานนั้น ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นเพื่อนของจิตมาตกแต่งอีกให้เป็นกุศล เจตสิกนี้มีเท่าใด มี ๒๒ จำพวก อันได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อถือบุญธรรมทุกเมื่อ สติ ความระลึกได้ไม่ลืมบุญธรรมเลย ความรู้ละอายไม่ประมาท ความเกรงกลัวต่อบาป ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ไม่เคียดแค้นไม่ริษยา การกระทำสิ่งใดด้วยใจเป็นกลาง กระทำสิ่งใดมีตน ประกอบด้วยสภาวธรรม ความมีใจเห็นสภาวธรรม มีกายเบาตามธรรม ความมีใจเบาตามสภาวธรรม ความมีกายอ่อนตามธรรม ความมีใจอันอ่อนตามสภาวธรรม ความมีกายอันควรแก่สภาวะและธรรมทั้งหลาย ความมีใจอันควรแก่สภาวธรรมทั้งหลาย ความมีกายคล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีใจอันคล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีกายซึ่งตรงต่อธรรม ความมีจิตซื่อตรงต่อธรรม ความมีใจเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ความมีใจพลอยยินดีต่อสัตว์ทั้งหลาย และความมีปัญญายิ่งกว่าอินทรีย์ทั้งหลาย รวมเจตสิกได้ ๒๒ จำพวก เหล่านี้เป็นเพื่อนของจิตใจ แทนอาหารของรูปพรหมทั้งหลาย กล่าวถึงพรหมทั้งหลายอันมีรูปชื่อ รูปาวจรภูมิ นับเป็นบทที่ ๗ โดยสังเขป แต่เพียงเท่านี้