- คำนำ
- คำชี้แจง
- คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก
- คำปรารภ
- GENERAL PREFACE
- พระราชประวัติพญาลิไทย
- สังเขปประวัติวรรณคดีไทย
- เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา
- คำแปล
- ความนำ
- บทนำ
- บทที่ ๑ แดนนรก
- บทที่ ๒ แดนของสัตว์เดรัจฉาน
- บทที่ ๓ แดนเปรต
- บทที่ ๔ แดนอสุรกาย
- บทที่ ๕ แดนมนุษย์
- บทที่ ๖ แดนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร
- บทที่ ๗ รูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๘ อรูปาวจรภูมิ
- บทที่ ๙ อวินิโภครูป
- บทที่ ๑๐ ความพินาศและการเกิดของโลก
- บทที่ ๑๑ นิพพาน
- อวสานพจน์
- ภาคผนวก ๑ คัมภีร์ที่กล่าวอ้างไว้ในไตรภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง)
- ภาคผนวก ๒ รายชื่อคัมภีร์ที่ผู้รจนาไตรภูมิใช้เป็นหนังสืออุเทศ
- ภาคผนวก ๓ แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๔ ภาพลายเส้นไตรภูมิ
- ภาคผนวก ๕ เส้นทางเดินพระอาทิตย์
- ภาคผนวก ๖ เนื้อหาสาระในแดนต่าง ๆ
- ภาคผนวก ๗ อธิบายเหตุแห่งมรณะ ๔
- ภาคผนวก ๘ ทศพิธราชธรรม
- บรรณานุกรม
- รายนามคณะทำงาน โครงการวรรณกรรมอาเซียน
บทนำ
สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดในภูมิสาม ภูมิสามนั้นคืออะไร ภูมิหนึ่งชื่อว่า กามภูมิ ภูมิสองชื่อว่ารูปภูมิ ภูมิสามชื่อว่าอรูปภูมิ
ในกามภูมินั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๑ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๒ ภูมิใหญ่ คือ อบายภูมิ ๔ และสุคติภูมิ ๗ อบายภูมิ ๔ นั้น ได้แก่ นรกภูมิ (ภูมิสัตว์นรก) ติรัจฉานภูมิ (ภูมิสัตว์เดรัจฉาน) เปรตวิสัยภูมิ (ภูมิของเปรต) อสุรกายภูมิ (ภูมิของอสูร) สุคติภูมิ ๗ ได้แก่ มนุสสภูมิ (ภูมิของมนุษย์) จาตุมหาราชิกาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) ตาวติงษาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดาวดึงส์) ยามาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นยามา) ดุสิตาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดุสิต) นิมมานรติภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นนิมมานรดี) ปรนิมิตวสวัตตีภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นปรนิมิตวสวัดดี)
ในรูปภูมิอันเป็นภูมิของพรหมนั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๖ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๔ ภูมิชั้นใหญ่ ๆ ดังนี้ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌานภูมิ ๗
ปฐมฌานภูมิ ๓ นั้นได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปาริสัชชา ภูมิชั้นพรหมปโรหิตา ภูมิชั้นมหาพรหมา
ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตาภา ภูมิชั้นพรหมอัปปมาณา ภูมิชั้นพรหมอาภัสสรา
ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตสุภา ภูมิชั้นพรหมอัปปาณสุภา ภูมิชั้นพรหมสุภกิณหา
จตุตฌานภูมิ ๗ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมเวหัปผลา ภูมิชั้นพรหมอสัญญีสัตตา ภูมิชั้นพรหมอวิหา ภูมิชั้นพรหมอตัปปา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสี ภูมิชั้นพรหมอกนิฏฐา
ตั้งแต่ภูมิชั้นพรหมอวิหาจนถึงพรหมอกนิฏฐา รวม ๕ ชั้น เรียกว่าปัญจสุทธาวาส
อรูปภูมินั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
ภูมิใหญ่ทั้ง ๓ ซึ่งแยกย่อยเป็น ๓๑ ภูมินี้ รวมเรียกว่าไตรภูมิ
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิ ๓๑ นี้ มีที่เกิดได้กี่ประการ มีที่เกิดได้ ๔ ประการ คือ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดขึ้นเอง
สัตว์ที่เกิดจากไข่ เป็นต้นว่า งู ไก่ นก ปลา สัตว์ที่เกิดจากครรภ์ เป็นสัตว์ที่เกิดจาก มดลูก มีรกหุ้มห่อ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์ที่เกิดจากไคล ได้แก่สัตว์ที่เกิดที่ใบไม้ ละอองเกสรดอกบัว หญ้าเน่า เนื้อเน่า และเหงื่อไคล เป็นต้นว่า หนอน แมลง บุ้ง ริ้น ยุง ปลา สัตว์ที่เกิดจากไข่ ครรภ์ และไคลดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อเกิดแล้วจะเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ส่วนการเกิดประการที่สี่คือเกิดเองนั้น เมื่อเกิดเป็นตัวแล้วจะมีลักษณะเติบใหญ่ทันที เป็นต้นว่า พรหม เทวดา และสัตว์นรก
ปฏิสนธิ (การถือกำเนิด) นั้นมี ๒๐ จำพวก ซึ่งจัดได้เป็น ๓ กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง คือ กามาพจร ปฏิสนธิ ๑๐ กลุ่มที่สอง คือ รูปาวจร ปฏิสนธิ ๖ กลุ่มที่สาม คือ อรูปาวจร ปฏิสนธิ ๔
กามาพจรปฏิสนธินั้น ได้แก่การกำเนิดของสัตว์ในกามภูมิ[๑] จำแนกออกได้เป็น ๑๐ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบาป อารมณ์ที่ไม่ดีพร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สองเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ อารมณ์ที่ดีพร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้าเกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หกเกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งครัดจริงจัง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมิสิ่งชักชวน พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เก้าเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สิบเกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม
รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ นั้น ได้แก่การเกิดของสัตว์ในรูปภูมิ จำแนกออกเป็น ๖ จำพวก คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวก และถือกำเนิดด้วยรูปอย่างเดียว ๑ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวกนั้น ได้แก่ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่สองเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาณ อันเกิดพร้อมด้วยความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่ห้าเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่หกเกิดด้วยรูปอย่างเดียว พรหมที่มีรูปร่างอันเรียกว่ารูปพรหมนั้น ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้
อรูปาวจรรูปปฏิสนธิ ๔ ได้แก่การเกิดของสัตว์ในอรูปภูมิ คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของอรูปฌาน ๔ จำพวก ได้แก่ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน ที่กำหนดอากาศอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สองเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะไม่มีอะไร ๆ แม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะที่มีสัญญาละเอียดยิ่ง จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่เป็นอารมณ์ พรหมทั้งหลายที่หารูปมิได้ ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิจิต ๔ อย่างนี้
ปฏิสนธิใน ๓ ภูมิ คือ กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐ รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ และอรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ จึงรวมเป็นปฏิสนธิ ๒๐
สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมินรกนั้น เกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียว คือ พอเกิดขึ้นมาก็มีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเปรต ภูมิสัตว์เดรัจฉาน และในภูมิของอสุรกาย มีลักษณะในการเกิดเช่นเดียวกัน คือมีจิตเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย
สรรพสัตว์ในภูมิเดรัจฉาน ภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย ทั้ง ๓ ภูมินี้เกิดด้วยกำเนิด ๔ อย่าง บางครั้งเกิดจากไข่ บางครั้งจากครรภ์ จากไคล หรือเกิดผุดขึ้น มีจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย
สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิได้ทั้ง ๑๐ อย่าง (กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐) ถ้าเป็นคนมีบุญถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๙ อย่าง แลคนที่มีบาปและพวกเทวดาชั้นต่ำ ถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลแห่งอกุศลที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี
ผู้รู้หลักเหตุผล ผู้มีสติปัญญา ผู้รู้บุญและบาป และผู้รู้ธรรม เป็นต้นว่า พระโพธิสัตว์ ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๘ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สองเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยสิ่งชักจูง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้าเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หก กิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมิสิ่งชักจูง มีความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ดเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปดเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม
สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเทวดา ๖ ชั้น เรียกว่าฉกามาพจร ซึ่งเริ่มด้วยชั้นจาตุมหาราชิกา นั้นเกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียวคือ เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยปฏิสนธิทั้ง ๘ จำพวกดังกล่าวแล้ว การกล่าวถึงกามาพจรปฏิสนธิ ๑๐ จำพวก และกำเนิด ๔ ในกายภูมิจบลงเพียงเท่านี้
ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นแรกนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายใหญ่โตในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานเพียงเล็กน้อยก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปาริสัชชา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลางก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปโรหิตา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหม ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้คือ ปฐมฌานภูมิ
ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สองนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานเพียงเล็กน้อยก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปริตตาภูมิ หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลางก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาฌาน และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมากจะไปเกิดในพรหมชั้นอาภัสสรา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้คือ ทุติยฌานภูมิ
ผู้เป็นพรหมฌานภูมิชั้นที่สามนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานเพียงลางเลือนก็จะได้ไปเกิดในพรหมชั้นปริตตสภา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลางก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาณสภา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมากก็จะไปเกิดในพรหมชั้นสุภกิณหา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้คือ ตติยฌานภูมิ
ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สี่นั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ และจะได้ไปเกิดในพรหมโลก ชั้นเวหัปผลา และชั้นสุทธาวาส ๕ อันเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีและพระอรหันต์ อันได้แก่ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ส่วนพรหมชั้นอสัญญีสัตตาภูมิเกิดด้วยรูปปฏิสนธิอย่างเดียว ปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้ชื่อว่ารูปาวจรปฏิสนธิ
ผู้เป็นพรหมในอรูปาวจรภูมิ ๔ ชั้น ซึ่งเป็นปัญจมฌานภูมินั้น เมื่อเกิดในชั้นอากาสานัญจายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งความว่างเปล่า หรืออากาศเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้นวิญญาณัญจายตนะ ก็ไม่มีรูปกายเช่นกัน เกิดด้วยจิตเพ่งวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้นอากิญจัญญายตนะไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งภาวะไม่มีอะไรแม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตซึ่งเพ่งภาวะ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งสิ้น ๓๑ ภูมิ ซึ่งจัดอยู่ในไตรภูมิ