๓. เจ็งชาม

ครั้งราชวงศ์จิวสมัยชุนชิวในระหว่างรัชชกาลพระเจ้าจิวเพ่งอ๋อง ถึงรัชชกาลพระเจ้าจิวอุยเลียดอ๋อง ประมาณก่อนพุทธศักราช ๑๖๖ ปีถึงพุทธศักราช ๑๑๙ ปี ที่เมืองลู มีชายคนหนึ่งชื่อเจ็งชาม เป็นบุตรเจ็งเตี๊ยม เจ็งชามเป็นศิษย์ขงจื๊อ โดยเหตุที่เจ็งเตี๋ยมบิดาเจ็งชามเป็นชาวนา ต้องทำไร่ไถนาเป็นอาชีพ ระหว่างที่เจ็งชามเล่าเรียนหนังสือ ต้องหาเวลาช่วยบิดาทำนาด้วย ครั้งหนึ่งบิดาใช้เจ็งชามให้ย้ายพันธุ์ฟัก เจ็งชามขุดฟักเผลอไปถูกรากใหญ่ขาด บิดามีความโกรธมาก จึงเฆี่ยนตีเจ็งชามอย่างสาหัสปางตาย ฝ่ายเจ็งชามเมื่อถูกทำโทษหนัก เกรงว่ามารดาได้ทราบเรื่องแล้วจะเสียใจจึงอดกลั้นต่อความเจ็บปวด พยายามดีดพิณด้วยความร่าเริงเพื่อให้มารดาทราบว่า ที่ตนถูกบิดาตีนั้นไม่เจ็บปวดมากมายนัก

ครั้นขงจื๊อได้ทราบความก็สั่งศิษย์ทั้งหลายว่า ถ้าเจ็งชามมาจงห้ามเสียอย่าให้เข้าในเขตต์ศึกษาสถาน เพราะเจ็งชามไม่มีความกตัญญูกตเวทีถึงขนาดถูกบิดาตีเพียงเล็กน้อยจึงทนให้ตี หากถูกตีมากก็จะแสร้งทำเป็นสลบ ที่เขาขับเพลงเล่นนั้นเป็นการเยาะเย้ยบิดาแท้ๆ เจ็งชามทำทั้งนี้ไม่สมกับความประพฤติของผู้มีกตัญญูกตเวที ฝ่ายเจ็งชามได้ยินว่าอาจารย์ติเตียนความประพฤติของตน ก็ไปหาอาจารย์ ขออภัยในการที่ตนบรรเลงเพลงพิณ และเล่าเรื่องให้ฟังทุกประการ อยู่มาวันหนึ่งเจ็งชามไปหาฟืน พะเอินมีแขกมาหา แต่บิดาไม่อยู่ มารดามิรู้ที่จะรับรองแขกเหรื่อประการใด ได้แต่ตั้งตาคอยลูกอยู่ช้านานก็ยังไม่เห็นกลับมา จึงกัดนิ้วมือของตนจนเลือดไหล ฝ่ายเจ็งชามกำลังหาฟืนให้รู้สึกเจ็บในอกมาก นึกคะเนว่าบางทีจะเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นมั่นคง จึงบันดาลให้เจ็บเช่นนี้ คิดแล้วก็วางฟืนลงรีบกลับมาบ้าน คุกเข่าลงคำนับมารดาแล้วถามว่ามีเหตุอันใดหรือ มารดาว่าแขกมาหาบิดาของเจ้า แต่เจ้าก็ไม่อยู่บ้านกำลังไปหาฟืน แขกต้องคอยอยู่นาน แม่ไม่รู้ที่จะรับรองสถานใด จึงกัดนิ้วมือเพื่อให้เจ้ารู้สึกแล้วจะได้รีบกลับมาโดยเร็ว บัดนี้แขกก็กลับไปเสียแล้ว เจ็งชามได้ทราบเรื่องรีบไปหาว่านยาพอกมือให้เเก่มารดาโดยด่วน เมื่อความทราบไปถึงขงจื๊อผู้เป็นอาจารย์เจ็งชาม ขงจื๊อก็สรรเสริญเจ็งชามว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวทีอย่างแน่แท้

ครั้นต่อมาไม่นาน บิดามารดาของเจ็งชามถึงแก่กรรมลงโดยลำดับกัน เจ็งชามร้องไห้เศร้าโศกตามวิสัยปุถุชน จนถึงกับสลบไปหลายครั้ง พวกญาติมิตรมาช่วยเจ็งชาม ๆ ทำศพตามธรรมเนียมจนครบกำหนดจึงกลับบ้าน และอุตส่าห์ไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมที่อาจารย์อีก ปัญญาของเจ็งชามทึบไม่เฉียบแหลมคมคาย แต่อาศัยความหมั่นบากบั่นศึกษายิ่งกว่าบรรดาศิษย์ทั้งปวง ขงจื๊อผู้เป็นอาจารย์เคยติและสรรเสริญว่าเจ็งชามปัญญาทึบจริงแต่ก็หมั่นเรียนจริง เจ็งชามอยู่ศึกษาวิชาด้วยขงจื๊อจนสิ้นกำมือของอาจารย์ ครั้นเมื่อขงจื๊อถึงแก่กรรมลงแล้ว พวกศิษย์ทั้งสามพันคนก็มีความยำเกรงเคารพนับถือเจ็งชาม ยกย่องเจ็งชามเป็นผู้แทนขงจื๊อ เจ็งชามตั้งใจสั่งสอนศิษย์ทั้งหลายสืบต่อมา และได้แต่งหนังสือสองจบ คือไต้ฮักจบหนึ่ง เฮาเกียจบหนึ่ง หนังสือไต้ฮักว่าด้วยความประพฤติและลักษณะการปกครองบ้านเมือง หนังสือเฮาเกียว่าด้วยความกตัญญูกตเวทีแด่บิดามารดา คนชั้นหลัง ๆ ยกย่องเจ็งชามว่า จงเสี่ย คือผู้ดำรงในคุณธรรมน่านับถือยิ่งนัก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ