- คำนำ
- ๑. พระเจ้าเต้สุ่น
- ๒. เล่าไล่จื๊อ
- ๓. เจ็งชาม
- ๔. เมี่ยนจือเคียน
- ๕. จือหลู
- ๖. ทั่มจื๊อ
- ๗. พระเจ้าฮั่นบุ่นเต้
- ๘. ก้วยกื๊อ
- ๙. ฉั่วสุน
- ๑๐. เต็งหลัง
- ๑๑. กังเก๊ก
- ๑๒. เกียงซี
- ๑๓. ตังอ๎ย้ง
- ๑๔. อึ่งเฮียง
- ๑๕. เล็กเจ้ะ
- ๑๖. เฮ่งเพา
- ๑๗. เม่งจง
- ๑๘. เฮ่งเสียง
- ๑๙. นางเอี้ยเฮียง
- ๒๐. โง่วแม้
- ๒๑. ยูงิมหลู
- ๒๒. นางทั่งฮูหยิน
- ๒๓. จูซิ่วเชียง
- ๒๔. อึ้งเท่งเกียน
๑๙. นางเอี้ยเฮียง
ครั้งราชวงศ์จิ้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อเอี้ยเฮียง เป็นลูกสาวเอี้ยฮง ๆ เป็นชาวนาอัตคัดขัดสน ตั้งแต่นางเอี้ยเฮียงพูดได้เดินได้ก็เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย และมีนิสสัยแปลกกว่าเด็กอื่น ๆ คือไม่ชอบพูดจากับใคร ๆ คนอื่น ๆ นอกจากบิดามารดาสองคนเท่านั้น ถ้าบิดามารดาจะไปที่ไหน ๆ นางเอี้ยเฮียงก็มักร้องตามไปด้วยเสมอ เอี้ยฮงผัวเมียมีลูกคนเดียวฉะเพาะนางเอี้ยเฮียง เมื่อเห็นลูกของคนฉลาดเฉลียว ก็ยิ่งเพิ่มความรักใคร่เอ็นดูมากขึ้น ถ้าจะต้องไปที่ใด ๆ มักหาลูกไปด้วย หากไปกับบิดา นางเอี้ยเฮียงก็ชอบแต่งตัวเป็นชาย เมื่อจะไปกับมาดาจึงจะแต่งตัวเป็นหญิง อยู่มาจนอายุนางเอี้ยเฮียงได้สิบสี่ปีกำลังรุ่นสาว วันหนึ่งเอี้ยฮงไปไร่ นางเอี้ยเฮียงแต่งตัวเป็นนักรบไปกับบิดา พอถึงชวากเขาแห่งหนึ่ง มีเสือใหญ่ตัวหนึ่งโจนพรวดออกมาจะตะครุบ เอี้ยฮงตกใจล้มลง แต่นางเอี้ยเฮียงก้าวสะอึกไปป้องกันบิดาทันที เสือกะโดดมาถึงก็ถูกนางเอี้ยเฮียงค้ำคอจนเสือผงะยืนจังก้าอยู่ นางเอี้ยเฮียงได้ทีก็ผลักคอเสือจนสุดแรง เสือทานกำลังมิได้ต้องเบนหน้าถอยหลังไปหลายก้าว มีความโกรธร้องคำรามทำท่าจะกะโดดตะครุบอีก แต่นางเอี้ยเฮียงคอยคุมเชิงอยู่โดยมิได้ครั่นคร้ามเลย ตั้งท่าคอยรับมือกับเสืออย่างมีสง่า เสือเห็นทีจะไม่ได้การก็แผดเสียงสองสามครั้งแล้วกะโดดหนีเข้าชวากเขาหายไป ส่วนเอี้ยฮงยังล้มหมอบหมดสติ เพราะตกใจกลัวเสือเป็นกำลัง นางเอี้ยเฮียงลูกสาวอุตส่าห์นวดฟั้นแก้ไขจนบิดากลับฟื้นคืนสติดีแล้วจึงพากันกลับบ้าน เอี้ยฮงเล่าเรื่องเสือตะครุบตนให้ภรรยาฟัง พร้อมกับสรรเสริญลูกสาวว่าเป็นคนเข้มแข็งองอาจ สามารถต่อสู้กับเสือร้ายได้ แล้วให้ตรวจดูเนื้อตัวลูกสาวว่าจะถูกเขี้ยวเล็บของเสือที่ตรงไหนบ้างหรือไม่ ภรรยาก็จูงมือลูกสาวเข้าไปข้างใน ตรวจดูทั่วทั้งกายหาพบริ้วรอยสักแห่งหนึ่งไม่ เอี้ยฮงรู้ว่าลูกไม่มีบาดเจ็บเลย ก็ยิ่งดีใจนัก มารดานางเอี้ยเฮียงหาของมาเรียกขวัญสามีและรับขวัญบุตรีของตนตามธรรมเนียมคือทำนึ่งจิ๊ว ไข่หวานเจือเหล้ามาให้เอี้ยฮงและนางเอี้ยเฮียงกิน ธรรมเนียมเรียกขวัญด้วยไข่หวานเจือเหล้านี้ เป็นประเพณีเก่าสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
อยู่มาอีกวันหนึ่ง บังเอิญเอี้ยฮงไม่อยู่ นางเอี้ยเฮียงอยู่บ้านกับมารดาสองคนด้วยกัน ขณะนั้นมีหญิงแก่คนหนึ่งขาเป๋ เสื้อกางเกงขาดรุงรัง เดินทางมายืนอยู่ที่ประตูบ้าน นางเอี้ยเฮียงนั่งอยู่กับมารดาเหลียวไปแลเห็นหญิงชราคนนั้น จึงเดินออกไปดู หญิงแก่นน็นิ่งอยู่มิได้พูดจาประการใด นางเอี้ยเฮียงจึงถามว่า ยายเดินทางมาแต่ไหนมีธุระอันใดหรือ หญิงชราตอบว่า มาจากถิ่นไกล ไม่มีธุระอะไรดอก เดินมาทางนี้แลเห็นหลานแล้วก็นึกรัก จะขออยู่ด้วยได้ไหม นางเอี้ยเฮียงได้ฟังก็เกิดความสงสารหญิงชรานั้น จึงพูดว่า ฉันต้องบอกให้มารดาทราบก่าน ถ้ามารดาเห็นชอบจึงจะอยู่ด้วยได้ ว่าแล้วก็เข้าไปแจ้งแก่มารดาของตน และวิงวอนขอให้มารดารับหญิงชราไว้ด้วยความสงสาร ฝ่ายเอี้ยฮงกลับมาเห็นยายแก่ยืนอยู่ที่ริมประตูบ้านก็มีความสงสัย ครั้นเข้าไปในบ้านเห็นลูกสาวของตนกำลังวิงวอนแม่ เพื่อขอให้ยายแก่นั้นอยู่ด้วย ก็ยิ่งสงสัยหนัก จึงเรียกภรรยาและลูกสาวมายังประตู แล้วถามว่า ยายอยู่บ้านไหนเมืองไหน รู้จักลูกของฉันนานแล้วหรืออย่างไร หญิงชรานั้นตอบว่า ยายเป็นชาวป่าชาวดงมาเยี่ยมเยียนญาติมิตร ได้ยินคำเขาเล่าลือว่า บุตรท่านมีกำลังวังชาสู้เสือใหญ่ได้จึงสืบเสาะมาดูเนื้อดูตัวจักแข็งแรงสักปานใด เมื่อได้เห็นแล้วจึงรู้ว่าบุตรีของท่านมีลักษณะดี อายุยืนยาวนาน และให้นึกรักใคร่เหมือนลูกเหมือนหลาน จึงปรารถนาจะขออยู่ด้วย ถ้าท่านไม่รังเกียจ ยายอาศัยอยู่สักชั่วคราว เอี้ยฮงได้ฟังจึงคิดว่า ยายแก่คนนี้ถ้าพิเคราะห์ไม่แน่นอนก็อาจเข้าใจไปว่าเป็นคนขอทาน เมื่อได้เห็นกิริยาและได้ฟังถ้อยคำแล้วจึงจะรู้ว่าไม่ใช่คนขอทาน ลูกเราตั้งแต่สู้เสือแล้วมา มีคนมาสู่ขอหลายราย แต่เจ้าตัวไม่นิยมยินดีในการมีเย่าเรือน ตั้งใจจะอยู่เลี้ยงพ่อแม่ไปจนแก่เฒ่า ไม่ต้องการมีผัวเลย ชะรอยยายคนนี้จะไม่ใช่คนสามัญ ถ้าลองให้อยู่ด้วยจึงจะรู้ว่าเป็นคนชะนิดไหนแน่ คิดแล้วจึงว่า ยายรักลูกฉันจริงและไม่รังเกียจว่าฉันจน เต็มใจจะอยู่ด้วยก็ได้ หญิงชราพูดว่า อันความยากจนไร้ทรัพย์ และความมั่งมีเงินทองนั้นเป็นการไม่แน่นอน แท้ที่จริงความเจริญและความเสื่อมเป็นธรรมดาของโลก ย่อมมีอยู่ทั่วไป ความขัดสนของหลานนั้นยายรู้ตลอดแล้วหามีความรังเกียจไม่ นางเอี้ยเฮียงยืนฟังบิดาพูดกับหญิงชราขาเป๋และยอมให้หญิงชรานั้นอยู่ด้วยก็ดีใจ จึงจูงมือยายเข้าบ้าน หาข้าวปลาอาหารให้กิน และจัดที่นอนหมอนมุ้งให้หลับนอนตามสมควร
ตั้งแต่ให้หญิงชรามาอาศัยอยู่ต่อมา เอี้ยฮงก็คอยสังเกตดูทุกเวลา นอกจากท่าทางดุแล้วไม่เห็นกิริยาอย่างใดอื่นแปลกตาคนทั้งปวงก็สิ้นสงสัย โดยปกติหญิงชรานั้นอยู่บ้านสองสามวัน แล้วไปเที่ยวเสียวันหนึ่ง บางคราวกลับมาบางวันก็ค้างคืน เมื่อกลับมามักเอาเนื้อแห้งและน้ำผึ้งมาเสมอ การไปเที่ยวนั้นชอบไปในตำบลอื่นๆ ไม่ชอบคบค้าผู้ใด และไม่ชอบไปเที่ยวบ้านใคร ๆ ในตำบลนั้น บางวันก็ชวนนางเอี้ยเฮียงไปเที่ยวตามภูเขา แล้วสอนให้นางหัดเพลงอาวุธและเก็บเครื่องยาสำคัญมาทำยาเม็ดยาผง ถ้าผู้ใดป่วยไข้รู้ถึงหญิงชรานั้น ก็ให้นางเอี้ยเฮียงเอายาไปให้กินให้ทา ตามสมควรแก่ชะนิดของโรคภัยไข้เจ็บ คนเจ็บป่วยได้กินยาแล้วไม่นานก็หายเป็นปกติจนมีคำเล่าลือว่า หญิงชรานั้นเป็นหมอวิเศษ พวกที่ได้กินยาต่างเอาเงินทองมาให้เป็นการสมนาคุณ แต่หญิงชรานั้นหารับไม่ ถ้าเป็นข้าวเปลือกข้าวสารถั่วงาหรือเสื้อผ้าจึงให้นางเอี้ยเฮียงรับไว้บ้าง จนข้าวเปลือกข้าวสารถั่วงาเสื้อผ้าเหลือกินเหลือใช้ เอี้ยฮงขนไปขายแทบทุกวัน จนมีเงินทองมั่งคั่ง หญิงชรานั้นเห็นนางเอี้ยเฮียงไม่มีพี่น้องสืบแซ่ ก็นึกสงสารเอี้ยฮง อยู่มาวันหนึ่ง หญิงชรานั้นปรารภกับมารดานางเอี้ยเฮียงว่า บัดนี้ก็พอมีอันจะกินปลดเปลื้องกังวลการอาชีพลงได้มากแล้ว ถ้าท่านไม่มีความรังเกียจ ยอมให้บิดาเอี้ยเฮียงมีภรรยาน้อยอีกจะได้มีบุตรชายไว้สืบแซ่สืบสกุลต่อไป มารดานางเอี้ยเฮียงได้ฟังก็หัวเราะ แล้วพูดว่า ฉันไม่หึงหวงดอก ถ้าเป็นไปได้อย่างที่ว่า ก็คงจะดีอยู่ นางเอี้ยเฮียงได้ยินคำมารดาของตนยอมให้บิดามีภรรยาน้อยก็ดีใจนัก ด้วยหวังจะได้น้องชายไว้สืบแซ่ ตั้งแต่วันนั้นมาก็วิงวอนหญิงชราให้ช่วยหาภรรยาน้อยให้แก่บิดาของตน
อยู่มาวันหนึ่ง หญิงชรานั้นพาหญิงบาดเจ็บคนหนึ่งมาให้นางเอี้ยเฮียงรักษา แล้วตนก็เข้าไปนอน ฝ่ายมารดานางเอี้ยเฮียงเห็นหญิงชรานั้นพาผู้หญิงบ่ดเจ็บคนหนึ่งมาให้ลูกของตนรักษา ก็มาดูบ้าง เห็นหน้าตานางนั้นหมดจด แต่เสื้อกางเกงที่สรวมใส่เปื้อนเลือดและขาดรุ่งริ่ว จึงถามว่า นางชื่อใดอยู่บ้านไหน เป็นญาติกับหญิงชราที่พามาหรือ หญิงนั้นตอบว่า ฉันชื่อตันสี บ้านอยู่ทางทิศตะวันตกเมืองนี้มิได้เป็นญาติกับยายที่พามา เรื่องเดิมนั้นคือเมื่ออายุฉันได้ยี่สิบปี บิดามารดาจัดให้มีเย่าเรือนตามธรรมเนียม อยู่กินกับสามีจนมีบุตรชายคนหนึ่ง เมื่ออายุบุตรได้สามปี สามีกับบุตรก็ตายในปีเดียวพร้อมกัน ฉันต้องเป็นหม้ายอยู่ต่อมา จนเมื่อเดือนที่แล้วนี้พวกพ่อสื่อแม่สื่อชักให้มีสามี ฉันตกลงด้วยแล้ว เขาก็จัดการนำไปที่บ้านสามีใหม่ พอถึงชวากเขามีเสือใหญ่ตัวหนึ่งโดดออกไล่พ่อสื่อแม่สื่อ แล้วตะครุบตัวฉัน ขณะนั้นฉันตกใจและได้รับความเจ็บปวดจนหมดสติจึงไม่รู้ว่าไปถึงไหน ครั้นรู้สึกตัวลืมตาขึ้นจึงรู้ว่าที่นั่งพิงอยู่นั้นเป็ฯหินก้อนใหญ่ใต้เพิงผา เห็นหญิงชรากับชายหนุ่มสองคนนั่งพยาบาลอยู่ ชายหนุ่มคนหนึ่งพาฉันไปกินน้ำ แล้วหญิงชราผู้ใจดีจึงพามาที่นี่ มารดานางเอี้ยเฮียงได้ฟังคำบอกเล่าของนางตันสี ทั้งเห็นนางมีบาดเจ็บก็สงสาร จึงไปเอาเสื้อกางเกงมาให้เปลี่ยน ส่วนนางเอี้ยเฮียงเอายามาให้กินให้ทา และจัดแจงอาหารมาให้กินจนอิ่มหนำสำราญ ไม่กี่วันบาดแผลของนางตันสีที่ถูกเล็บเสือตะครุบ ก็หายเป็นปกติ นางตันสีเป็นคนขยันมาตั้งแต่เล็ก เมื่อบาดแผลของนางหายแล้วก็ไม่อยู่ดูดาย ช่วยทำการบ้านเรือนให้เรียบร้อย จนมารดาของนางเอี้ยเฮียงแทบไม่ต้องกังวล เอี้ยฮงและภรรยามีใจสงสารนางตันสีเป็นอันมาก
อยู่มาวันหนึ่ง หญิงชราบอกแก่นางเอี้ยเฮียงว่า พรุ่งนี้ถึงกำหนดฤกษ์งามยามดีแล้ว ยายจะส่งตัวนางตันสีให้เเก่อาปา หลานจงบอกตัวเหนียให้ทราบเสียด้วย นางเอี้ยเฮียงได้ฟังก็ดีใจรีบไปเล่าความเรื่องนี้ให้มารดาของตนทราบ ขณะที่หญิงชราพูดนั้นเอี้ยฮงนั่งอยู่ในที่ใกล้เคียง ได้ยินข้อความที่หญิงชราพูดตลอด ก็กะดากใจโดยที่ตนมีอายุมากกว่านางตันสีตั้งเท่าหนึ่ง แต่มิได้ว่าประการใด ฝ่ายมารดานางเอี้ยเฮียงไดฟังคำบอกเล่าของลูก ก็หัวเราะพลางพูดว่าดีแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเวลาค่ำ หญิงชราจัดให้นางตันสีหลับนอนกับเอี้ยฮง เป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม มารดาเอี้ยเฮียงกิพลอยชื่นชมยินดีด้วยมิได้มีความหึงหวงประการใดเลย กลับมีความเมตตาปราณีนางตันสียิ่งนัก โดยที่นางตันสีเป็นคนขยันหมั่นเอาใจใส่การบ้านเรือนปรนนิบัติสามีและตนมิต้องให้อนาทรร้อนใจ อยู่มาไม่ช้านานนางตันสีก็มีครรภ์ หญิงชราเห็นท้องนางตันสีโตใหญ่ทำการงานอุ้ยอ้ายก็หัวเราะ มารดานางเอี้ยเฮียงเห็นหญิงชรานั้นหัวเราะก็ถามว่า ยายหัวเราะเรื่องอะไรหรือ ธรรมดาไม่ว่าใคร ๆ เมื่อมีครรภ์ท้องก็ต้องใหญ่เหมือนกันทั้งนั้น หญิงชราว่า ลูกในท้องนางตันสีจะเป็นชายแต่ฝาแฝด เหตุดังนั้นยายจึงหัวเราะด้วยความพอใจ มารดานางเอี้ยเฮียงได้ฟังก็นิ่งอยู่ ตั้งแต่นั้นหญิงชรามักพานางเอี้ยเฮียงไปเที่ยวเขาแทบทุกวัน คราวหนึ่งนางเอี้ยเฮียงกำลังเที่ยวหาเก็บยาอยู่ ส่วนหญิงชราลงนั่งหลับตา นางเอี้ยเฮียงเห็นดังนั้นก็คิดว่าบางทียายจะเหน็ดเหนื่อยมาก จึงรีบเที่ยวหาเก็บยาต่อไปโดยเร็ว ทันใดนั้นหญิงชราก็ร้องบอกแก่นางเอี้ยเฮียงว่าจงรีบกลับไปบ้านเถิด นางตันสีจะคลอดลูก นางเอี้ยเฮียงได้ยืนดังนั้นรีบหอบเครื่องยาวิ่งมาถามว่า ยายจ๋า อาอี๋จะคลอดน้องวันนี้จริงหรือ หญิงชรารับรองว่าจริง แล้วเอาว่านยาใส่ตะกร้าให้นางเอี้ยเฮียงหาบมา
ครั้นสองคนมาถึงบ้าน เห็นเอี้ยฮงกำลังจัดการต้มน้ำวุ่นอยู่ หญิงชราร้องห้ามว่า อย่าให้นางตันสีกินน้ำร้อนเพราะหนังลูกในท้องจะพอง แล้วเอายาสดที่ได้มาจากป่าตำคั้นเอาน้ำเจือเหล้าให้นางตันสีกิน เนื่อนางตันสีได้กินยาแล้วไม่ช้าก็คลอดบุตรชายสองคน มารดานางเอี้ยเฮียงสรรเสริญหญิงชรานั้นว่าทำนายแม่นยำดังตาเห็น นางเอี้ยเฮียงก็เล่าเรื่องที่ตนไปเก็บยา และหญิงชราเตือนให้รีบกลับมาบ้านนั้น ให้มารดาฟังอีกเล่า มารดานางเอี้ยเฮียงจึงคิดว่า หญิงชราคนนี้ชะรอยจะเป็นผู้วิเศษเป็นแน่
เมื่อทารกทั้งสองครบเดือน ญาติพวกพ้องของเอี้ยฮงต่างเอาของมาแสดงความยินดีเอี้ยฮง และทำขวัญเด็กด้วยเป็นอันมาก และทุก ๆ คนที่มาต่างพากันคำนับหญิงชรานั้นด้วยความนับถือ เพราะได้เคยอาศัยหยูกยารักษาพยาบาลมาแต่ก่อน เอี้ยฮงเลี้ยงดูแขกเหลื่อให้เป็นสุขสำราญทั่วกัน แล้วแขกต่างก็อำลากลับไปบ้านของตน ๆ เอี้ยฮงขอให้หญิงชรานั้นขนานชื่อบุตรของตน หญิงชราหัวเราะแล้วพูดว่า ผู้พี่ควรให้ชื่อเอี้ยเส็ง ผู้น้องควรให้ชื่อเอี้ยสี ตั้งแต่นั้นมามารดานางเอี้ยเฮียงและนางตันสีช่วยกันเลี้ยงดูเด็กทั้งสองจนอายุเต็มขวบ วันหนึ่งหญิงชราบอกแก่เอี้ยฮงว่า ยายมาอยู่ด้วยหลานครบสามปีแล้ว จะขอลากลับไปบ้านวันนี้ ขอให้หลานอยู่จงดีเถิด นางเอี้ยเฮียงให้ยินดังนั้นก็ตกใจร้องให้ ซบลงที่เท้าหญิงชราพลางอ้อนวอนว่า ยายอย่าไปเลยอยู่กับหลานเถิด หญิงชราว่ากำหนดที่ยายมาอยู่ด้วยหลานสามปีนั้นครบแล้ว จะอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ เอี้ยฮงกับภรรยาทั้งสองได้ฟังก็ร้องไห้ต่างวิงวอนขอให้อยู่ต่อไปอีก แต่หญิงชรานิ่งอยู่ไม่ว่าประการใด แล้วเข้าห้องเปลื้องเสื้อกางเกงใหม่ออก เอาเสื้อกางเกงสำรับเก่าที่เคยสรวมใส่มานั้นสรวมแทนของใหม่ แล้วเดินออกจากห้องบอกให้นางเอี้ยเฮียงไปส่ง เอี้ยฮงเห็นหญิงชราสรวมใส่เสื้อกางเกงสำรับเก่าขาดรุงรังก็นึกได้ จึงห้ามภรรยาไม่ให้ร้องไห้ แล้วหาธูปเทียนมาจุดบูชา หญิงชราก็นั่งลงให้เอี้ยฮงผัวเมียสองคนทำพิธีไหว็แล้วก็ลุกเดินไป นางเอี้ยเฮียงเอาพลองที่ยายนั้นให้เป็นไม้คานหาบยา ถือเป็นคู่มือรีบเดินทางตามไป พอถึงป่าทึบแห่งหนึ่งเห็นชายหนุ่มสองคนเดินเข้ามา วางพลองลงแล้วคุกเข่าคำนับหญิงชรานั้น นางเอี้ยเฮียงจึงถอยออกไปพอห่าง ๆ หน่อย ส่วนหญิงชราพูดว่า เจ้าหนุ่มทั้งสองนี้เป็นลูกของยาย หลานอย่ารังเกียจเลยจงรู้จักกันไว้เถิด นางเอี้ยเฮ๊ยงก็เข้ามาใกล้แล้วต่างคำนับต่อกันและกันตามธรรมเนียม หญิงชราบอกแก่นางเอี้ยเฮียงว่า ลูกของยายทั้งสองนี้ชำนาญเพลงอาวุธ แต่ชอบเพลงพลองเหมือนหลานๆจงซ้อมฝีมือให้ยายดูสักครั้ง จะได้ชมเป็นขวัญตาของยายในยามเมื่อจะจากกันไปคราวนี้ ยายจะได้ดูให้เป็นที่สบายใจ ว่าแล้วหญิงชราก็พาลูกหลานไปถึงชวากเขาแห่งหนึ่งเป็นลานกว้างขวางดีจึงกล่าวว่า เจ้าทั้งสามจงลองซ้อมฝีมือกันที่นี่ นางเอี้ยเฮียงได้ฟังดังนั้นก็จัดแจงเปลื้องเสื้อกางเกงหญิงชั้นนอกออกคงไว้แต่เสื้อกางเกงชายแบบนักรบ แล้วควงพลองโดดออกไปยืนคุมเชิงอยู่ ฝ่ายชายหนุ่มคนเล็กก็ควงพลองเข้าล่อให้นางไล่ นางก็ไล่โดยความระมัดระวังแล้วล่อให้ชายหนุ่มเป็นฝ่ายตีบ้าง ชายหนุ่มเห็นเป็นทีตีลงเต็มแรงแต่หาถูกนางไม่ ต่างผัดผันสู้กันอย่างว่องไวเป็นช้านาน จนชายหนุ่มเหงื่อตกอ่อนเพลียลงก็ควงพลองถอยห่างไป ชายหนุ่มผู้พี่ยืนดูอยู่ข้างหญิงชรา เห็นน้องชายถอยออกมาก็กรากเข้าตีนางเอี้ยเฮียงด้วยความว่องไว แต่นางปัดป้องปะทะโดยฉับพลัน แล้วกลับรุกเอาชายคนใหญ่รับแทบไม่ทันจวนจะเสียที รีบควงพลองผละออกไปยืนอยู่ข้างหญิงชราตามเดิม หญิงชราหัวเราะด้วยเสียงอันดัง พลางสรรเสริญนางเอี้ยเฮียงว่า เพลงพลองของหลานเราจะหาผู้ต้านทานได้ยากนัก แล้วถามว่า หลานรู้ไหมว่ายายเป็นใคร นางเอี้ยเฮียงตอบว่าไม่ทราบ หญิงชราจึงว่ายายคือเสือที่ตะครุบบิดาของหลานเมื่อปีนั้น หลานยังจำได้มิใช่หรือ เดิมยายเป็นเสือรุ่นถือศีลกินบวชอยู่กว่าสองร้อยปี กรรมปางหลังบรรดาลให้ยายรักใคร่พระยาเสือโคร่งจนเป็นผัวเมียกัน ในที่สุดมีลูกคือเจ้าสองคนนี้ แล้วพระยาเสือโคร่งก็จากยายไปเสีย ทั้งนี้เป็นโดยบุพเพสันนิวาสซึ่งมีต่อกันมาเพียงเท่านั้น ตั้งแต่นั้นมายายต้องเที่ยวจับคนไปให้ลูกกินเสมอ เมื่อวันยายตะครุบบิดาของหลานนั้น ยายทานกำลังหลานไม่ได้ มีความแค้นใจคิดจะจับเอาไปทั้งสองคน แต่เมื่อพิเคราะห์ดูจึงรู้ว่า ความกตัญญูกตเวทีของหลานแรงกล้ามาก จึงบรรดาลให้ยายอ่อนกำลังลงจนถอยกลับ อีกประการหนึ่งในชาติปางก่อนเคยช่วยเหลือกันมาด้วย ยายจึงหายโกรธและแปลงเพสไปอยู่สอนเพลงอาวุธแก่หลาน และแนะนำตำรายาที่สำคัญให้แก่หลานด้วย บัดนี้สมควรแก่เวลาแล้วขอให้หลานจงอยู่ดีเถิด พอสิ้นคำหญิงชรากับชายหนุ่มก็หายไป เห็นแต่เสือใหญ่สามตัวยืนแยกเขี้ยวคำรามอยู่ นางเอี้ยเฮียงเห็นดังนั้นก็ไม่ตกใจ เพราะทราบจากคำบอกเล่าของหญิงชรานั้นก่อนแล้ว จึงคุกเข่าลงคำนับตรงหน้าแม่เสือด้วยความเคารพ แม่เสือส่งเสียงคำรามพลางดมผมของนางเอี้ยเฮียงแล้วแผดเสียงสามครั้งพาเสือหนุ่มโดดเข้าป่าหายไป นางเอี้ยเฮียงเห็นแม่เสือพาเสือหนุ่มทั้งสองไปแล้ว ตนก็รีบเดินทางกลับมาบ้าน เล่าความทั้งปวงให้บิดามารดาทราบจนตลอด เอี้ยฮงว่า บิดานึกสงสัยมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่คิดไปไม่ถึงว่าจะเป็นเสือ จึงเอาธูปเทียนมาจุดบูชากลางแจ้ง แล้วให้ช่างเขียนวาดรูปหญิงชรานั้นไว้บูชาสืบมา
ตั้งแต่หญิงชราจากไปแล้ว นางเอี้ยเฮียงหมั่นถือศีลกินเจบำเพ็ญเพียรตามวิธีระงับใจให้สงบ ที่หญิงชรานั้นเคยสั่งสอนไว้เเต่ก่อน และในยามว่างก็เที่ยวรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยเช่นเดียวกับหนหลัง ขณะนั้นอายุเอี้ยฮงเข้าเรือนหกสิบ อายุมารดาของนางเอี้ยเฮียงก็กว่าห้าสิบแล้ว มีเรือกสวนไร่นาข้าทาษชายหญิงบริบูรณ์ เพราะมีผู้นำทรัพย์สิ่งของมาสนองคุณนางเอี้ยเฮียงซึ่งช่วยรักษาพยาบาล เอี้ยฮงจึงร่ำรวยเป็นลำดับมา ผู้ที่นางเอี้ยเฮียงให้ยารักษาเจ็บไข้ยังคงนำเอาข้าวเปลือกข้างสารถั่วงาเสื้อผ้ามาให้เยี่ยงแต่ก่อน บางคนใคร่จะแสดงความเคารพหญิงชราซึ่งเป็นครูของนางเอี้ยเฮียง มารดานางเอี้ยเฮียงจึงเล่าเรื่องหญิงชรานั้นให้คนทั้งหลายฟังจนตลอด คนทั้งหลายได้ฟังก็พากันพิศวง และเพิ่มความนับถือนางเอี้ยเฮียงยิ่งขึ้น จนกิติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการ ๆ แต่งให้คนเที่ยวสืบสวนเขาความเท็จจริงในข่าวเล่าลือนั้น แต่เอี้ยฮงผัวเมียเลื่อมใสในการที่ลูกสาวของตนถือศีลกินเจ จึงนิยมถือศีลกินเจด้วย กิจการบ้านเรือนทั้งสิ้นมารดานางเอี้ยเฮียงก็มอบให้นางตันสีดูแล ลูกแฝดของนางตันสีนั้น มารดานางเอี้ยเฮียงเลี้ยงดูรักใคร่เป็นดังลูกในอุทรของตนเอง ฝ่ายคนใช้ของเจ้าเมืองสืบสวนได้เรื่องราวนางเอี้ยเฮียงตลอด ก็กลับไปแจ้งให้เจ้าเมืองทราบ เจ้าเมืองจึงทำหนังสือยกย่องนางเอี้ยเฮียงที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา บอกไปยังเมืองหลวง ในไม่ช้าเจ้าเมืองได้รับหนังสือเมืองหลวง ประกาศยกย่องเกียรติคุณนางเอี้ยเฮียงไปยังหัวเมืองต่างๆ แล้วเชิญหนังสือพระราชโองการและของหลวงไปพระราชทานให้นางเอี้ยเฮียง บังเอิญวันนั้นนางเอี้ยเฮียงไปดูไข้ที่บ้านใกล้เรือนเคียง ครั้นเจ้าเมืองมาถึงเอี้ยฮงตั้งโต๊ะบูชาและให้คนไปตามลูกสาวมาโดยเร็ว เมื่อนางเอี้ยเฮียงมาถึงก็กระทำคำนับเจ้าเมืองแล้วยืนอยู่ข้างบิดา เอี้ยฮงแจ้งแก่เจ้าเมืองว่า คนนี้คือนางเอี้ยเฮียงบุตรีข้าพเจ้า เจ้าเมืองพิเคราะห์ดูรูปโฉมนางเอี้ยเฮียง ซึ่งเวลานั้นมีอายุประมาณสามสิบปีบริบูรณ์ หน้าผากกว้างคางยาวใหญ่ หน้าก็ขาวเป็นนวลใย แก้มยุ้ยเป็นพวง ปากแดงดังทาชาด คิ้วตาหูจมูกต้องด้วยลักษณะคนอายุยืน แล้วถามถึงเรื่องหญิงชราที่มาอาศัยอยู่ ได้สอนวิชาศิลปศาสตรอะไรให้บ้าง นางเอี้ยเฮียงเล่าให้เจ้าเมืองฟังตามความจริงทุกประการ เจ้าเมืองก็ชมเชยนางเอี้ยเฮียงว่ามีความกตัญญูกตเวทีมั่นคงไม่คิดแก่ชีวิต แล้วอ่านประกาศพระราชโองการและมอบของพระราชทานให้ นางเอี้ยเฮียงก้มลงคำนับรับหนังสือประกาศพระราชโองการ และสิ่งของที่พระราชทานแล้ว เจ้าเมืองขอให้นางรำเพลงอาวุธให้ดู เอี้ยฮงจึงบอกลูกสาวให้รำเพลงอาวุธให้เจ้าเมืองชม โดยที่ตนเองก็ยังไม่เคยได้เห็นนางรำ จึงใคร่จะดูบ้างเหมือนกัน
นางเอี้ยเฮียงเห็นว่าบิดาอนุญาตให้ทำตามคำขอร้องของเจ้าเมือง จึงคำนับเจ้าเมืองแล้วเข้าไปในห้อง แต่งตัวเป็นชายถือพลองคู่มือออกมายืนผึ่งผายอยู่ตรงหน้าเจ้าเมือง ๆ เห็นชายหนุ่มถือพลองเดินองอาจออกมายืนอยู่ตรงหน้า ท่าทางกล้าหาญูมีสง่าดังพยัคฆ์ร้ายคอยจับเนื้อ ก็จำไม่ได้ว่าเป็นคนเดียวกับนางเอี้ยเฮียงบุตรีเอี้ยฮง จึงถามเอี้ยฮงว่า ชายหนุ่มคนนี้ก็เป็นบุตรของท่านเหมือนกันหรือ รูปทรงผึ่งผายท่าทางองอาจดังพระยาเสือโคร่ง สมควรเป็นนายทหารเอกยิ่งนัก เอี้ยฮงยิ้มแล้วตอบว่า ชายหนุ่มคนนี้คือนางเอี้ยเฮียงบุตรข้าพเจ้า แล้วจึงบอกให้นางเอี้ยเฮียงรำเพลงอาวุธให้เจ้าเมืองดู นางคำนับเจ้าเมืองอีกครั้งหนึ่งแล้วโดดออกไปรำเพลงครูและท่าต่าง ๆ พลางควงพลองแสดงท่าหนีทีไล่โดดไปโดดมาอย่างรวดเร็ว จนเจ้าเมืองและผู้ที่ดูตาลายแทบไม่เห็นคนและพลอง เห็นแต่สีขาว ๆ พรายตายิ่งนักต่างพิศวงอยู่ เมื่อนางรำจบเพลงแล้วเข้ามาคำนับเจ้าเมืองและยืนอยู่ตรงหน้า เจ้าเมืองกำลังพิศวงเต็มที่ ทั้งกะทบลมซึ่งนางกะโดดผันตัวเข้ามา ก็สะดุ้งผงะหงายตกใจจวนลมลง ครั้นได้สติรู้สึกตัวแล้วก็สรรเสริญฝีมือนางเอี้ยเฮียงว่า เป็นคนเข้มแข็ง อาจสู้คนตั้งร้อยตั้งพันก็ได้ จึงพูดขอร้องว่า ถ้าข้าพเจ้าจะให้ลูกหลานมาเป็นศิษย์ขอฝึกหัดเพลงอาวุธบ้างจะได้ไหม นางเอี้ยเฮียงว่า ข้าพเจ้าชอบสอนแต่หญิง ไม่อยากสอนให้ผู้ชาย เพราะเหตุว่า ผู้ชายมักใจบาปหยายช้า ชอบทำเวรกรรมต่าง ๆ เวรที่ศิษย์ไปก่อกระทำไว้นั้นคงจะต่อเนื่องถึงครูอาจารย์ด้วยเป็นแน่ ทั้งเพลงตะบองที่ข้าพเจ้ารำให้ท่านชมเมื่อตะกี้นี้นั้นเล่า หญิงชราผู้สอนได้กำชับไว้เป็นมั่นเหมาะว่า เพลงตะบองของผู้วิเศษซึ่งเป็นครูฌ้อปาอ๋อง ครั้งปลายราชวงศ์ฉินซึ่งสอนให้แล้วนั้น เจ้าอย่าสอนให้ผู้ใดอีกเลย ยอนให้สอนแต่เพลงอาวุธต่าง ๆ ซึ่งมิใช่พลองเท่านั้น เจ้าเมืองได้ฟังคำนางเอี้ยเฮียงจึงกล่าวว่า ลูกหญิงของข้าพเจ้ายังมีอีกคนหนึ่งไม่มีเย่าเรือน ชอบหัดเพลงอาวุธมาตั้งแต่น้อย ข้าพเจ้าได้หาครูมาสอนให้บ้างแล้ว แต่ยังรู้น้อยนัก จะให้มาเป็นศิษย์ในสำนักท่าน ขอท่านช่วยเป็นธุระสอนให้ด้วยเถิด นางเอี้ยเฮียงว่า ข้าพเจ้ายินดีสอนให้โกวเหนียพอเป็นเครื่องตอบแทนคุณที่ท่านช่วยยกย่องข้าพเจ้าไปยังเมืองหลวง เมื่อสนทนากันพอสมควรแล้วเจ้าเมืองก็ลากลับ
ตั้งแต่วันนั้นมา คนทั้งหลายจึงรู้ว่า นางเอี้ยเฮียงฝีมือเข้มแข็ง ก็พากันยำเกรงยิ่งขึ้น วันหนึ่งนางสอนน้องชายทั้งสองให้หัดมวยอยู่ที่หลังบ้าน สาวใช้มาบอกว่าบิดาเรียกให้ไปต้อนรับเจ้าเมือง นางก็รีบออกมาคำนับเจ้าเมือง แลไปเห็นนายทหารหนุ่มคนหนึ่งถือทวนยืนอยู่ข้างเก้าอี้นั้น เมื่อพิเคราะห์ดูก็รู้ว่าเป็นหญิงจึงอมยิ้มอยู่ในหน้า เจ้าเมืองเห็นกิริยานางเอี้ยเฮียงดังนั้นจึงว่า ลูกหญิงข้าพเจ้าคนนี้แม้ไปที่ใด ๆ มักชอบแต่งตัวเป็นชายเสมอ ข้าพเจ้านำมามอบให้เป็นศิษย์ท่านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอท่านช่วยสอนเพลงอาวุธให้ด้วย นางเอี้ยเฮียงพูดกับลูกสาวเจ้าเมืองนั้นว่า โกวเหนียลองรำทวนให้ข้าพเจ้าดูก่อนสักหน่อย เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นเพลงทวนสำนักใด นางโกวเหนียได้ฟังก็นึกฉุนขึ้นมา คิดว่านางคนนี้พูดจาโอหังหมิ่นประมาทถึงครูบาอาจารย์เรา ฝีมือมันจะเข้มแข็งสักปานใด ถ้าไม่เกรงบิดาแล้วจะได้เห็นฝีมือกันเดี๋ยวนี้ ฝ่ายเจ้าเมืองเหลียวมาเห็นหน้าลูกสาวเฝื่อน ๆ ก็รู้ว่าคงจะมีความโกรธเพราะเบาความ จึงรีบชี้แจงให้ฟังว่า ท่านผู้นี้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดามาก นิยมการถือศีลกินเจบำเพ็ญเพียรทางจิตต์ใจนานมาแล้ว ลูกควรแสดงความเคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ต่อไป นางโกวเหนียได้ฟังดังนี้จึงรู้ว่า นางเอี้ยเฮียงคนสำคัญนั้น คือหญิงที่ยืนอยู่นี้ ก็คลายความโกรธลง แล้ววางทวนเดินเข้ามาคำนับนางเอี้ยเฮียง ๆ ก็คำนับตอบพลางพูดว่า โกวเหนียอย่าหาว่าข้าพเจ้าดูถูกดูแคลนเลย จงรำเพลงที่ฝึกหัดมาให้ข้าพเจ้าดูเถิด จึงจะทราบว่าฝีมือท่านเข้มแข็งสักเพียงใด นางโกวเหนียได้ฟังก็คำนับแล้วไปหยิบเอาทวนโดดไปยืนอยู่กลางสนาม ยกทวนขึ้นคำนับบิดาและคำนับครูแล้วรำเพลงครูและท่าต่าง ๆ อย่างแคล่วคล่อง นางเอี้ยเฮียงยืนยิ้มดูอยู่ เมื่อนางโกวเหนียรำเพลงทวนจบแล้ว ก็คำนับอีกครั้งหนึ่ง จึงเดินไปยืนอยู่ข้างบิดาตามเดิมโดยฉับไว เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่เหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใดเลย เจ้าเมืองถามว่า เพลงทวนของลูกหญิงที่รำนี้ท่านเห็นเป็นประการใด นางเอี้ยเฮียงตอบว่า เพลงทวนที่โกวเหนียรำนั้น ครูสอนให้ข้าพเจ้ารำเป็นคั่นต้น และว่าเป็นแบบเพลงทวนลี้โป้ครั้งสามก๊ก แต่โกวเหนียยังฝึกหัดไม่ชำนาญทีเดียว ถ้าหัดจนชำนิชำนาญดีแล้ว อาจสามารถต่อสู้คนมากได้ ฝีมือยังไม่เข้มแข็ง ถึงชั้นผู้วิเศษซึ่งเป็นครูของฌ้อปาอ๋อง ข้าพเจ้าจะรำให้ดูบ้าง ว่าแล้วนางก็เข้าไปในห้องเปลื้องเครื่องแต่งกายแบบหญิงออกเสีย แต่งเป็นชาย สรวมเกราะนวมถือทวนที่ครูให้ไว้ ออกมายืนคำนับเจ้าเมืองอยู่ตรงหน้า นางโกวเหนียเห็นดังนั้นก็คิดว่า คนนี้ท่าทางองอาจสมกับคำบิดายกย่องจริง ขณะนั้นพวกบ้านใกล้เรือนเคียงรู้ข่าวก็ชวนกันมายืนชมฝีมืออยู่มากมาย ต่างออกปากชมเชยนางเอี้ยเฮียงว่า ถ้านางเป็นชายคงจะได้เป็นนายทหารเอกรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่
ฝ่ายนางเอี้ยเฮียงกระโดดออกไปกลางสนาม ห่างเจ้าเมืองราวห้าวา แสดงท่าเพลงครูและเพลงต่าง ๆ อีกหลายแบบ ถึงท่ากระโดดก็ควงทวนโดดสูงเป็นท่าหนี ถึงท่าแทงก็ควงทวนแทงด้วยทีไล่ โดดไปโดดมาสูงบ้างต่ำบ้างอย่างรวดเร็วที่สุด จนตาคนทั้งหลายพรายไปแทบสังเกตไม่เห็นนางและคันทวน เมื่อรำเพลงทวนพอสมควรแล้ว นางก็หยุดรีบเดินมายืนนิ่งอยู่ตรงหน้าเจ้าเมือง ๆ เคยเห็นนางรำตะบองมาครั้งหนึ่งแล้วจึงไม่ตกใจดังคราวก่อน แต่นางโกวเหนียนั้นพิศวงจนตลึงแลแทบไม่กระพริบนัยน์ตา ต่อได้ยินด้ามทวนนางเอี้ยเฮียงกะทุ้งพื้นลงโดยแรงจึงรู้ตัว ทันใดนั้นนางก็วางทวนตรงเข้าไปคำนับนางเอี้ยเฮียงพลางกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นคนอ่อนสติปัญญา ทั้งกำลังก็ไม่แข็งแรง ขอเป็นสานุศิษย์ท่านผู้วิเศษไปจนกว่าชีวิตหาไม่ โปรดกรุณาช่วยสั่งสอนข้าพเจ้าด้วยเถิด นางเอี้ยเฮียงเห็นดังนั้นก็วางทวนย่อตัวลงคำนับตอบ แล้วจับมือนางโกวเหนียให้ยืนขึ้น พลางกล่าวว่า แชแชอ่ายแชแช เฮาหั่นหลินเฮาหั่น เจ้าเมืองเห็นลูกสาวเคารพนบนอบนางเอี้ยเฮียงดังนั้นจึงคิดว่า ลูกของเรายังไม่เคยอ่อนน้อมผู้ใดเช่นนี้เลย ชะรอยคนทั้งสองจะเคยอุปการะกันมาแต่ปางก่อน ลูกเราจึงยอมเป็นศิษย์โดยเร็ว แล้วกล่าวคำสรรเสริญฝีมือนางเอี้ยเฮียงว่า เข้มแข็งยากที่จะหาผู้ต้านทานได้ พอนางตันสีจัดหาอาหารเสร็จ ให้คนใช้ยกมาตั้งไว้สองที่ คือคาวที่หนึ่ง เจที่หนึ่ง เอี้ยฮงเชิญเจ้าเมืองกินอาหาร เจ้าเมืองก็เรียกเอี้ยฮงให้ร่วมกินพร้อมกัน เอี้ยฮงว่าข้าพเจ้ากินเจเหมือนลูกมาหลายปีแล้ว เจ้าเมืองว่าลูกหญิงข้าพเจ้าก็ชอบกินเจเหมือนกัน นางเอี้ยเฮียงได้ฟังว่าโกวเหนียกินเจก็ดีใจ จึงจูงมือนางโกวเหนียมากินอาหารเจโต๊ะเดียวกัน เมื่อกินอิ่มหนำสำราญสนทนากันพอสมควรแล้ว เจ้าเมืองก็ฝากฝังนางโกวเหนียกับนางเอี้ยเฮียงแล้วลากลับไป
ฝ่ายนางโกวเหนีย ตั้งแต่มาอยู่ด้วยอาจารย์ ก็พยายามฝึกหัดเพลงทวนทุกเช้าค่ำ นางเอี้ยเฮียงยินดีสอนให้ทุกเพลงไม่ปิดบัง แม้นางเอี้ยเฮียง เมื่อไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา ก็แต่งตัวอยู่ในแบบผู้ถือศีลกินเจ ส่วนนางโกวเหนียแต่งเป็นชายไปด้วยเสมอ นางโกวเหนียเห็นอาจารย์รักษาศีลกินเจเคร่งครัด ก็ใคร่จะบำเพ็ญเช่นนั้นบ้าง จึงขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำวิธีบำเพ็ญให้แก่ตน นางเอี้ยเฮียงก็สอนให้ตลอดด้วยความพอใจ
อยู่มาวันหนึ่ง นางเอี้ยเฮียงบอกแก่นางโกวเหนียว่าการบำเพ็ญเพียรที่เขาว่าสำเร็จเป็นเซียนไม่แก่ไม่ตายนั้น ไม่จริงเลย เหตุว่าสรรพสิ่งทั้งปวงอุบัติเป็นรูปขึ้นแล้ว จำต้องแตกดับทำลายไปสิ้น จะหาผู้ใดที่เกิดมาแล้วไม่ตายนั้นไม่มี ผู้ที่บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นเซียนนั้น ชอบอยู่แต่ที่สงัด ไม่ชอบอยู่ปะปนในหมู่บ้าน เมื่อผู้ใดสามารถบำเพ็ญไปจนไม่นิยมรูปเสียงกลิ่นรส เพิกถอนความอาลัยใยดีเสียได้ กินแต่อาหารทิพคือลมที่เข้าออกตามร่างกายเท่านั้น ร่างกายจะสามารถทนทานอยูได้ตั้งพันปี นี่แหละที่คนทั้งหลายยกย่องว่าเป็นเซียน แต่ในที่สุดรูปร่างที่ทนทานอยู่นั้นก็แตกดับเหมือนกัน การที่ท่านบำเพ็ญตามวิธีที่ข้าพเจ้าสอนให้นั้น ดูทางหนึ่งก็น่าเห็นว่า ท่านหยั่งถึงผลแห่งการบำเพ็ญแล้ว แต่เมื่อดูอีกทางหนึ่งก็เห็นว่า คล้าย ๆ กับยังไม่เห็นผลแห่งการบำเพ็ญแม้แต่น้อย ทั้งนี้ด้วยเหตุใด เหตุด้วยท่านยังนิยมรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ เมื่อเช่นนั้นท่านจะบำเพ็ญไปใยให้ป่วยการเปล่า นางโกงเหนียได้ฟังดังนั้นจึงว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะแต่งแบบผู้ถือศีลกินเจเหมือนอาจารย์ละ นางเอี้ยเฮียงกล่าวว่า ถ้าสมัครแต่งกายตามแบบแล้ว และใจไม่ยินดีด้วยรูปเสียงกลิ่นรส จึงจะเป็นประโยชน์แท้จริง ผิยังเป็นห่วงในรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ก็ป่วยการอีกนั่นแหละ ดังคำเขาว่า ผู้ที่ใจไม่ดีวิงวอนเทวดาขอให้ช่วย เทวดาจะช่วยเขาดังฤา นางโกวเหนียได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็หัดระงับใจให้แน่วแน่ในความสงบ หากจะไป ณ ที่ใด ๆ ก็แต่งตามแบบคนกินเจเสมอ
ฝ่ายเจ้าเมือง ตั้งแต่ให้บุตรีไปเล่าเรียนศิลปศาสตรด้วยนางเอี้ยเฮียง ก็หมั่นไปมาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด นางโกวเหนียเรียนเพลงอาวุธอยู่สามปี ก็มีความเชี่ยวชาญในเพลงทวนมากอยู่ ถ้าจะเทียบกับผู้ชำนาญเพลงทวนทั่วไปนอกจากอาจารย์ของตนแล้ว จะหาผู้มีฝีมือเข้มแข็งเทียมทันโดยยาก นางเอี้ยเฮียงเห็นศิษย์สามารถกระทำใจมิให้ฟุ้งสร่าน พยายามสกดให้สงบอยู่ได้ สมควรหยุดยั้งเพลงทวนแล้ว อยู่มาวันหนึ่งจึงบอกแก่นางโกวเหนืยว่า คนเราทุกคนผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี โลหิตของบิดามารดาเป็นกำเนิดร่างกายของเรา โดยเหตุนี้ผู้เป็นบุตรจึงจำต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา แม้นผูู้ใดมีความกตัญญูกตเวทีมั่นคง เทพดาก็คุ้มครองสร้องสารุการคอยพิทักษ์ รักษาส่งเสริมให้ผู้นั้นจำเริญรุ่งเรือง หากผู้ใดเป็นคนอกตัญญูลบหลู่คุณบิดามารดาไซ้ เทพดาก็จะสาปสรรให้ผู้นั้นได้ความลำบาก หาความสุขสำราญมิได้ บัดนี้เพลงทวนของท่านที่ข้าพเจ้าสอนให้ ก็นับว่ายอดเยี่ยมอยู่แล้ว ควรกลับไปปรนนิบัติบิดามารดาจึงจะสมกับที่เป็นศิษย์ข้าพเจ้า นางโกวเหนียได้ฟังก็เห็นชอบด้วย แต่ยังไม่ใคร่จะจากอาจารย์ นางเอี้ยเฮียงจึงว่า ท่านจงไปปรนนิบัติบิดามารดาของท่านเถิด อย่ากังวลถึงข้าพเจ้าให้มากเกินไปเลย นางโกวเหนียได้ยินอาจารย์เตือนมาถึงคำนี้ก็ร้องไห้ จึงไปอำลาเอี้ยฮงและนางตั้วเหนียนางตันสีทั้งสามคน แล้วมาคำนับลานางเอี้ยเฮียงผู้เป็นอาจารย์ พลางถามด้วยความอาลัยว่า วันข้างหน้าต่อไปข้าพเจ้าจะได้อยู่ในสำนักเดียวกับอาจารย์อีกหรือไม่ นางเอี้ยเฮียงได้ฟังก็หลับตานิ่งอยู่สักครู่ แล้วบอกว่าบุรพกรรมของเราทั้งสองยังไม่สิ้นสุด ท่านอย่าวิตกเลย ไปจงดีเถิด นางโกวเหนียได้ฟังก็ดีใจนัก จึงเข้าไปในห้องถือทวนคู่มือออกมาแล้ว คุกเข่าลงคำนับสามครั้งด้วยความนับถืออย่างสนิท อำลาอาจารย์กลับไปบ้านของตน
ฝ่ายเอี้ยเส็งเอี้ยสีสองคนพี่น้อง บิดาส่งไปให้เล่าเรียนหนังสือที่สำนักอาจารย์ในตำบลเดียวกับบ้านอยู่นั้น เช้าไปเย็นกลับทุกวัน นางเอี้ยเฮียงเห็นน้องทั้งสองรุ่นหนุ่มสมควรหัดเพลงอาวุธไว้ป้องกันตัว จึงสอนน้องทั้งสองให้หัดมวยเป็นคั่นต้น ขณะนั้นเอี้ยฮงอายุกว่าเจ็ดสิบปี และนางตั้วเหนียขายก็กว่าหกสิบปีแล้ว โรคชราเบียดเบียฬเอี้ยฮงและภรรยาเสมอ ๆ ในไม่ช้าเอี้ยฮงก็ถึงแก่กรรม ลูกเมียสังฆญาติร้องไห้เศร้าโศกคิดถึงเป็นนักหนา เพราะเอี้ยฮงใจคอโอบอ้อมอารี ทั้งเอื้อเฟื้อแก่พวกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นการสม่ำเสมอ ไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อย ครั้นคนทั้งหลายวายโศกแล้ว นางเอี้ยเฮียงจัดการศพตั้งไว้ ณ ห้องโถงทำการเส้นไหว้ตามธรรมเนียมไม่ขาด นางตั้วเหนียออด ๆ แอดด้วยโรคชรา ครั้นถูกความเศร้าโศกกระทบกระเทือนก็ทำให้โรคกำเริบ นางเอี้ยเฮียงหาหมอมารักษาอย่างกวดขัน แต่อาการโรคหาคลายลงไม่ ในที่สุดนางตั้วเหนียก็ถึงแก่กรรมในเดือนเดียวกับสามี นางตันสีและนางเอี้ยเฮียงพร้อมทั้งเอี้ยเส็งเอี้ยสีสี่คนต่างร้องไห้คิดถึงนางตั้วเหนีย แต่นางตันสีนั้นร้องไห้กลิ้งเกลือกจนสลบไปหลายครั้ง เพราะมีความเศร้าโศกเสียใจอย่างลึกซึ้ง อันเนื่องมาจากเหตุที่นางตันสีมีความเคารพนับถือและรักใคร่นางตั้วเหนียสนิทมากจึงมีความอาลัยอย่างยวดยิ่ง เมื่อค่อยคลายโศกลงแล้ว นางเอี้ยเฮียงกับญาติก็ร่วมกันจัดการศพตั้งเคียงกับศพบิดาในห้องเดียวกันนั้น
ฝ่ายเจ้าเมืองได้ทราบข่าวว่า เอี้ยฮงกับภรรยาถึงแก่กรรมก็เล่าให้นางโกวเหนียฟัง และพูดว่า เอี้ยฮงเป็นคนซื่อตรงอยู่ในหมู่บ้านนั้นคนหนึ่ง ผัวเมียตายในเดือนเดียวกันดังนี้น่าสงสารนัก นางโกวเหนียรู้เรื่องก็ร้องไห้คิดถึงนางตั้วเหนีย เจ้าเมืองมิได้นิ่งนอนใจรีบสั่งให้คนใช้จัดหาเครื่องเส้นไหว้ แล้วพร้อมด้วยบุตรีขึ้นขี่ม้าไปยังบ้านเอี้ยฮง นางเอี้ยเฮียงออกมาต้อนรับเป็นอันดี นางโกวเหนียลงจากหลังม้าแสดงความเคารพต่ออาจารย์ของตนอย่างอ่อนน้อม แล้วนั่งอยู่ในที่อันควร นางเอี้ยเฮียงรับเครื่องเส้นไหว้จากเจ้าเมืองเชิญไปตั้งที่หน้าศพ เจ้าเมืองกับบุตรีเข้าไปจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ศพทั้งสองตามประเพณี ขณะนั้นนางเอี้ยเฮียงกับน้องชายยืนอยู่ข้างศพ เจ้าเมืองเห็นชายหนุ่มสองคนที่ยืนอยู่นั้นรูปทรงผึ่งผายมีสง่า จึงถามนางเอี้ยเฮียงว่า ชายหนุ่มทั้งสองนั้นคือใคร นางเอี้ยเฮียงตอบว่าเป็นน้องของข้าพเจ้าที่เกิดแต่มารดาเลี้ยง แล้วเชิญเจ้าเมืองไปพักที่ห้องรับแขก เจ้าเมืยงเรียกสองคนพี่น้องเข้ามาใกล้ พิเคราะห์ดูตลอดแล้วว่าแก่นางเอี้ยเฮียงว่า น้องของท่านสองคนนี้รูปร่างดังพิมพ์เดียวกัน ลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ยากที่จะทราบว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง นางเอี้ยเฮียงว่า น้องของข้าพเจ้านี้ฝาแฝดเกิดยามเดียวกัน คนนั้นชื่อเอี้ยเส็ง เป็นพี่ คนนี้ชื่อเอี้ยสี เป็นน้อง แล้วก็เล่าเรื่องครูพานางตันสีมาจากป่า เจ้าเมืองกล่าวว่าครูผู้วิเศษนั้น รู้ว่านางตันสีจะมีลูกดีจึงพามาให้บิดาท่าน วันหน้าต่อไปน้องชายของท่านคงจะได้เป็นขุนนางเชิดชูสกุลเป็นแท้ เมื่อสนทนากันพอสมควรแล้ว เจ้าเมืองและนางโกวเหนียก็ลากลับไป
ฝ่ายนางเอี้ยเฮียง ส่งเจ้าเมืองและนาโกวเหนียกลับไปแล้ว ก็ทำการเส้นไหว้บิดามารดาต่อมาจนครบร้อยวัน แล้วเชิญศพบิดามารดาไปฝังหลุมเดียวกัน ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อการไว้ทุกข์ของแซ่เอี๋ยครบสามปี นางเอี้ยเฮียงกับมารดาเลี้ยงและน้องทั้งสอง ก็เส้นไหว้บิดามารดาเป็นการปลดทุกข์ตามประเพณีอีกครั้งหนึ่ง
อยู่ต่อมาอายุของเอี้ยเส็งเอี้ยสีได้ยี่สิบปี นางเอี้ยเฮียงเห็นว่าน้องทั้งสองเติบใหญ่สมควรมีเย่าเรือน ก็จัดการสู่ขอลูกสาวของผู้ที่มีฐานะพอสมกันสองคน แต่งงานให้เป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม แต่เอี้ยเส็งเอี้ยสีสองคนพี่น้องเป็นคนรู้หลักนักปราชญ์ ทั้งมีความกตัญญูกตเวทีแรงกล้า และเคารพนับถือนางเอี้ยเฮียงผู้พี่ยิ่งนัก มีผู้มาขอเล่าเรียนหนังสือด้วยเอี้ยเส็งเอี้ยสีด้วยเป็นอันมาก นางตันสีเห็นลูกสะใภ้ทั้งสองคนทำการงานขยันขันแข็ง รู้จักการบ้านเรือนรอบคอบ ก็มอบหมายให้ช่วยกันดูแลสืบไป แล้วนางตั้งใจถือศีลกินเจไม่กังวลด้วยกิจอื่น ๆ เลย
เช้าวันหนึ่ง นางตันสียังไม่เห็นนางเอี้ยเฮียงออกมา ก็คิดว่านางคงจะยังไม่ตื่นนอน ครั้นต่อมาลองเข้าไปดูในห้อง ก็ไม่เห็นนางเอี้ยเฮียง ทั้งเครื่องแต้งกายและตะบองคู่มือก็หายไปด้วย จึงเดินไปดูที่โต๊ะเขียนหนังสือ มองเห็นหนังสือสามซองวางไว้ก็นึกเอะใจ หนังสือที่หน้าซองฉบับหนึ่งบอกคำนับลามารดา อีกฉบับหนึ่งถึงนางโกวเหนียศิษย์ที่รัก อีกฉบับหนึ่งถึงน้องทั้งสองคน นางตันสีให้คนใช้รีบไปตามเอี้ยเส็งเอี้ยสีมาแล้ว ฉีกผนึกซองหนังสือของตนออกอ่านความว่า เมื่อคืนที่แล้วนี้ครูผู้วิเศษมาบอกข้าพเจ้าว่า กิจการทั้งปวงที่เป็นหน้าที่ซึ่งคนชาวบ้านทั่วไปพึงทำนั้น นับว่าได้ทำถูกต้องเสร็จสิ้นแล้ว ให้ข้าพเจ้ารีบไปบำเพ็ญธรรมให้ถึงชั้นอุกฤษฐ์จึงจะเป็นสุขเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจำต้องขอลามารดาไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่เขาแห่งหนึ่ง ตามคำแนะนำของครู ขอมารดาจงอยู่ดีอย่าวิตกถึงข้าพเจ้าเลย เมื่อนางตันสีอ่านจบก็ร้องไห้คิดถึงนางเอี้ยเฮียงเป็นอันมาก ส่วนพี่น้องทั้งสองคนรีบฉีกผลึกศองหนังสือที่ถึงตนออกอ่านความว่า ถึงน้องทั้งสอง พี่ลาไปกับครูผู้วิเศษครั้งนี้ เพราะครบกำหนดตามที่ครูเคยบอกไว้ว่าต่อมาอีกยี่สิบปีครูจะมารับ บัดนี้ถึงกำหนดแล้วท่านมารับพี่ไป น้องทั้งสองจงอยู่ดีอย่าวิตกถึงพี่เลย น้องทั้งสองมีความรู้ตามหลักธรรมดาอยู่แล้ว พี่ไม่ต้องตักเตือนอะไรอีก อนึ่งน้องช่วยเอาหนังสืออีกฉบับหนึ่งถือไปให้นางโกงเหนียด้วย น้องชายทั้งสองอ่านจบก็ร้องไห้คิดถึงพี่สาว ฝ่ายนางตันสีส่างโศกแล้วจึงเตือนลูกชายทั้งสองให้รีบถือหนังสือไปยังจวนเจ้าเมือง ขณะนั้นเจ้าเมืองกำลังชำระความราษฏรอยู่ สองพี่น้องไปถึงจวนแล้ว ต้องรอจนเจ้าเมืองชำระความเสร็จ จึงส่งหนังสือให้แก่นักการนำไปเสนอเจ้าเมือง ๆ เห็นหนังสือที่หลังซองถึงลูกสาว ก็รู้ว่าเป็นหนังสือของนางเอี้ยเฮียง จึงถามถึงผู้ถือหนังสือ นักการว่าเขาทั้งสองคนคอยอยู่ข้างนอก เจ้าเมืองก็ออกมาต้อนรับเชิญสองพี่น้องเข้าไปในจวน
ขณะนั้นนางโกวเหนียอ่านหนังสืออึ้งเท่งเกียอยู่ในห้อง เห็นบิดาพาชายหนุ่มมาก็สงสัยจึงออกมาดู ชายทั้งสองเห็นนางโกวเหนียก็ย่อตัวคำนับด้วยความเคารพ พลางน้ำตาไหลเพราะใจหวนคิดถึงพี่สาวของตน นางโกวเหนียเห็นเอี้ยเส็งเอี้ยสีร้องไห้ก็นึกเอะใจ พอบิดาส่งจดหมายให้พร้อมกับพูดว่า อาจารย์ของลูกให้น้องชายถือมาให้ นางโกวเหนิยรีบฉีกผนึกออกอ่านดูความว่า ถึงศิษย์ที่รัก ด้วยเมื่อคืนที่แล้วนี้ ครูผู้วิเศษมารับข้าพเจ้าไปเพื่อให้บำเพ็ญธรรมอย่างสูง จึงเขียนแจ้งมาลา ขอท่านอยู่จงดี อย่าวิตกถึงข้าพเจ้าเลย อุตส่าห์ปรนนิบัติบิดามารดาอย่าให้อนาทร เทพดาและมนุษย์ทั้งปวงจะสรรเสริญท่านไม่ขาด วันข้างหน้าต่อไปเราคงจะได้พบกัน ขอให้บิดามารดาของท่านทั้งสองพร้อมทั้งตัวท่านด้วย จงอยู่ผาสุกทุกเมื่อเถิด นางโกวเหนียอ่านจบแล้วก็ร้องไห้คิดถึงนางเอี้ยเฮียงยิ่งนักเพราะไม่ได้พบปะกันมานาน พอรู้ข่าวก็มาจากไปอย่างที่จะไม่มีวันพบกันอีก พอคนใช้จัดสุราอาหารพร้อมเสร็จ เจ้าเมืองเชิญเอี้ยเส็งและเอี้ยสีเสพสุราอาหาร ในระหว่างที่รับประทานอยู่นั้น เจ้าเมืองถามถึงความรู้วิชาการที่สองคนพี่น้องเล่าเรียนมา พี่น้องสองคนก็อธิบายทางพลเรือนและการทหารให้ฟังจนตลอด เจ้าเมืองกล่าวว่าสติปัญญาท่านทั้งสองสมควรยกย่องว่า เพียบพร้อมไปด้วยวิชาการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนไม่บกพร่อง น่าจะเป็นขุนนางทำนุบำรุงแผ่นดินให้ปรากฏชื่อเสียง เอี้ยเส็งชี้แจงว่าข้าพเจ้าทั้งสองนี้เมื่อทำหน้าที่ของบุตรเสร็จแล้วจึงจะเข้ารับราชการ เจ้าเมืองว่าท่านมีเจตนาแน่วแน่ดังนี้เป็นการสมควรนัก มิเสียทีที่เป็นน้องนางเอี้ยเฮียงครั้นเสพสุราอาหารเสร็จแล้ว เอี้ยเส็งเอี้ยสีก็คำนับลาเจ้าเมืองและนางโกวเหนียกลับไปบ้าน เจ้าเมืองให้ช่างจำหลักรูปนางเอี้ยเฮียงในแผ่นสิลา แล้วสร้างศาลาประดิษฐานรูปนั้นไว้ให้คนทั้งหลายสักการบูชา ต่อไปเจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว นางโกวเหนียก็ไปบำเพ็ญเพียรอยู่กับนางเอี้ยเฮียง ฝ่ายนางตันสีถึงแก่กรรมแล้ว เอี้ยเส็งเอี้ยสีสองคนพี่น้องไปทำราชการที่เมืองหลวง ได้เป็นขุนนางแห่งราชวงศ์จิ้น แซ่เอี๋ยจำเริญรุ่งเรืองต่อมาโดยลำดับ ทั้งนี้ควรนับว่าเพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นมูลเค้าแห่งความเจริญอันแท้จริง.