- คำนำ
- ๑. พระเจ้าเต้สุ่น
- ๒. เล่าไล่จื๊อ
- ๓. เจ็งชาม
- ๔. เมี่ยนจือเคียน
- ๕. จือหลู
- ๖. ทั่มจื๊อ
- ๗. พระเจ้าฮั่นบุ่นเต้
- ๘. ก้วยกื๊อ
- ๙. ฉั่วสุน
- ๑๐. เต็งหลัง
- ๑๑. กังเก๊ก
- ๑๒. เกียงซี
- ๑๓. ตังอ๎ย้ง
- ๑๔. อึ่งเฮียง
- ๑๕. เล็กเจ้ะ
- ๑๖. เฮ่งเพา
- ๑๗. เม่งจง
- ๑๘. เฮ่งเสียง
- ๑๙. นางเอี้ยเฮียง
- ๒๐. โง่วแม้
- ๒๑. ยูงิมหลู
- ๒๒. นางทั่งฮูหยิน
- ๒๓. จูซิ่วเชียง
- ๒๔. อึ้งเท่งเกียน
๒๔. อึ้งเท่งเกียน
ครั้งราชวงศ์ซ้อง ที่เมืองหลวงมีชายคนหนึ่งชื่ออึ้งเท่งเกียนเป็นขุนนางตำแหน่งกือเซียหยิน ราชเลขานุการ อึ้งเท่งเกียนเป็นบุตรภรรยาน้อยของขุนนางที่เมืองหลวงคนหนึ่ง เมื่ออึ้งเท่งเกียนยังเป็นเด็กมีสติปัญญาเฉียบแหลม เล่าเรียนหนังสือรู้เร็วกว่าเด็กนักเรียนทั้งปวง อาจารย์และคนทั้งหลายยกย่องอึ้งเท่งเกียนว่าซิ่นถง (เทพบุตร)
การศึกษาหนังสือจีนตั้งแต่ครั้งโบราณสืบมาจนถึงสมัยราชวงศ์ซ้องนั้น ทางราชการตั้งกฎในการสอบไล่นักเรียน เริ่มใช้ตั้งแต่ครั้งราชวงศ์เจ้ยฮั่นเป็นต้นมา เรียกการสอบไล่ครั้งนั้นว่า ควยกะ สอบไล่ที่เมืองน้อยบ้าง ที่เมืองใหญ่บ้าง นักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่แคว้นเมืองใด ถึงเวลาสอบไล่ก็เข้าสอบที่เมืองนั้น ถ้านักเรียนคนใดสอบได้ทางราชการตั้งนักเรียนคนนั้นเป็นซิวจ๋าย แล้วพวกซิวจ๋ายต้องไปสอบไล่ที่เมืองใหญ่อีก หากซิวจ๋ายคนใดสอบไล่ได้แล้ว ทางราชการก็ตั้งซิวจ๋ายคนนั้นเป็นเฮาเหลียม ให้ไปทำราชการที่เมืองหลวง แต่ผู้ที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดานั้นไม่ต้องสอบไล่ ทางราชการต้องตั้งผู้นั้นเป็นเฮาเหลียม แท้จริงคำว่า เฮาเหลียม นี้เป็นความหมายถึงกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อนักเรียนสอบไล่ที่เมืองน้อยได้เป็นซิวจ๋าย และสอบไล่ที่เมืองใหญ่ได้เป็นเฮาเหลียมแล้ว ต้องไปสอบไล่ที่เมืองหลวงอีก ต่อสอบไล่เมืองหลวงได้แล้วทางราชการตั้งผู้นั้นให้เป็นจินสื่อบ้าง ให้เป็นจุ่นสื่อบ้าง ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ซ้อง การสอบไล่นักเรียนยังใช้แบบสมัยราชวงศ์ถังอยู่ แต่ถ้าผู้ใดสอบไล่ที่หน้าพระที่นั่งได้ ทางราชการตั้งผู้นั้นเป็นจอหงวน
ถึงคราวสอบไล่นักเรียน อึ้งเท่งเกียนเข้าสอบไล่ได้เป็นซิวจ๋ายแล้วสอบไล่ที่เมืองใหญ่ก็ได้เป็นเฮาเหลียม บิดาจะให้แต่งงานกับบุตรขุนนางที่เมืองหลวง อึ้งเท่งเกียนขอผลัดให้สอบไล่ได้เป็นจอหงวนก่อนแล้วจึงจะแต่งงานต่อไป บิดาก็เห็นชอบ ครั้นถึงเวลาสอบไล่ที่เมืองหลวง อึ้งเท่งเกียนเข้าสอบไล่ได้เป็นจินสื่อ เวลาจินสื่อทั้งหลายเข้าสอบไล่หน้าพระที่นั่ง บังเอิญอึ้งเท่งเกียนป่วยเสียไม่ได้เข้าสอบไล่จึงไม่ได้เป็นจอหงวน เมื่อหายป่วยแล้วบิดาเร่งให้แต่งงาน อึ้งเท่งเกียนเป็นคนมีกตัญญูอ่อนน้อมบิดาอยู่เป็นเนืองนิจ ก็ไม่คิดที่จะขัดใจบิดา ถึงวันฤกษ์งามยามดีบิดาจัดแจงแต่งงานอึ้งเท่งเกียนกับคู่มั่น เป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม แล้วอึ้งเท่งเกียนเข้ารับราชการอยู่ที่เมืองหลวง ในไม่ช้าก็ได้เป็นนายอำเภอไท้หัว เวลาไปเป็นนายอำเภออึ้งเท่งเกียนขอรับมารดาไปอยู่ด้วย เพื่อตนจะได้มีโอกาศปรนนิบัติสนองคุณ บิดาก็อนุญาตให้ไปตามประสงค์ อึ้งเท่งเกียนไปเป็นนายอำเภอ พยายามทะนุบำรุงอาณาประชาราษฎรทั่วถึง ชำระถ้อยความก็เที่ยงตรง ราษฎรเคารพนับถือยิ่งนัก
ครั้นราชการบ้านเมืองดำเนินมาถึงรัชชสมัยพระเจ้าซ้องเตียดจง องค์ที่ ๗ ระหว่างพุทธศักราช ๑๖๒๙ ถึง ๑๖๔๓ พระเจ้าซ้องเตียดจงมีรับสั่งให้อึ้งเท่งเกียนไปทำราชการที่เมืองหลวง เมื่ออึ้งเท่งเกียนทำราชการที่เมืองหลวงแล้ว ได้เป็นตำแหน่งก่าจือหนึ่ง หัวหน้ากองอาลักษณ์ และกองชำระพงศาวดารรัชชกาลพระเจ้าซ้องซิ่นจง ครั้นอยู่ต่อมาทรงเลื่อนให้เป็นตูจักหนึง หัวหน้ากองรักษาพงศารดารเมื่อร้อยกรองพงศาวดารรัชชกาลพระเจ้าซ้องซนจงเสร็จแล้ว โปรดให้เลื่อนอึ้งเท่งเกียนเป็นราชเลขานุการ แต่อึ้งเท่งเกียนเป็นคนหนักอยู่ในความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก แม้เมื่อยังเป็นเด็กเคยล้างถังอุจจาระของมารดามาอย่างไร ถึงแม้เป็นราชเลขานุการแล้วก็ยังเทล้างถังอุจจาระของมารดาอยู่เสมอเป็นนิจ
ฝ่ายเจียงตุง ฉั่วเปียน ขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสองคน เห็นพระเช้าซ้องเตียดจงโปรดปรานอึ้งเท่งเกียนมาก ก็นึกริศยา เกรงไปว่าพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้อึ้งเท่งเกียนรับตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ ต่างก็คอยหาช่องโอกาศ จะให้อึ้งเท่งเกียนไปเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองห่างไกลเมืองหลวงออกไปเสีย อยู่ต่อมาถึงเสียวเสี่ย ศักราช ตั้งแต่ปีจอถึงปีฉลูระหว่างพุทธศักราช ๑๖๓๗ ถึง ๑๖๔๐ เจ้าเมืองงักงิวถึงแก่กรรม ทางราชการกำลังเลือกเฟ้นหาผู้ไปเป็นเจ้าเมืองอยู่ ฝ่ายเจียงตุงได้ช่องจึงกราบทูลพระเจ้าซ้องเตียดจง ขอให้อึ้งเท่งเกียนไปเป็นเจ้าเมือง พระเจ้าซ้องเตียดจงเข้าพระทัยว่า เจียงตุงกราบทูลแนะด้วยสุจริตใจ ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงตั้งอึ้งเท่งเกียนให้ไปเป็นเจ้าเมืองงักจิว อึ้งเท่งเกียนมอบหมายการงานให้แก่เจ้าพนักงานคนใหม่เรียบร้อยแล้ว ออกเดินทางไปพร้อมกับมารดาและบุตรภรรยาข้าทาษชายหญิง จากเมืองหลวงไปยังเมืองงักจิวราษฎรเมืองนั้นมีความเคารพนับถืออึ้งเท่งเกียน ด้วยทราบว่าอึ้งเท่งเกียนเป็นขุนนางผู้ใหญ่มาจากเมืองหลวง ทั้งเป็นผู้หนักแน่นอยู่ในกตัญญูกตเวทียิ่งนัก อึงเท่งเกียนเป็นเจ้าเมืองงักจิวครั้งนั้น โจรผู้ร้ายเกรงขามต่างละทิ้งพยศร้ายกลับเข้ามาทำมาหากินตามภูมิลำเนาเดิมก็มีมาก บ้านเมืองสงบราบคาบ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข
ฝ่ายฉั่วเปียนนั้นเป็นคนสอพลอ คิดแข่งกับเจียงตุงอยู่เสมอ เมื่อเห็นอึ้งเท่งเกียนต้องไปอยู่ห่างไกลพระเจ้าแผ่นดินเพราะความคิดเจียงตุง ก็หาอุบายกราบทูลพระเจ้าซ้องเตียดจง ใส่ร้ายอึ้งเท่งเกียนในข้ออื่น ๆ อีกหลายครั้งหลายหน จนพระเจ้าซ้องเตียดจงหลงเชื่อฟัง ถึงกับโปรดให้ลดตำแหน่งอึ้งเท่งเกียนลงจากชั้นเจ้าเมือง ให้ไปเป็นลีจิวเปียดเก่ ที่ปรึกษาเจ้าเมืองลีจิว เมื่ออึ้งเท่งเกียนได้รับหนังสือรับสั่ง ก็มอบหมายการงานให้แก่กรมการเมืองแล้ว จัดส่งมารดาและบุตรภรรยาไปอยู่บ้านเดิม ณ เมืองหลวง ส่วนตนเดินทางไปเป็นที่ปรึกษาเจ้าเมืองลีจิว เจ้าเมืองลีจิวมีความเคารพนับถืออึ้งเท่งเกียนเป็นชั้นครูอาจารย์ อยู่ต่อมาเจ้าเมืองได้รับหนังสือเมืองหลวง สั่งให้เนรเทศอึ้งเท่งเกียนไปอยู่ภายในความคุมขังที่เมืองงิมจิว เจ้าเมืองพูดกับอึ้งเท่งเกียนว่าข้าพเจ้าสงสารท่านนัก แม้จักขัดขืนไม่ส่งท่านไปตามคำสั่ง ก็เกรงเจียงตุนฉั่วเปียนจะหาเหตุใส่ร้าย อึ้งเท่งเกียนได้ฟังถ้อยคำของเจ้าเมืองก็มีความขอบใจเป็นนักหนา จึงกล่าวว่าตามที่ท่านหวังดีต่อข้าพเจ้านั้นเป็นพระคุณยิ่งนัก แต่เมื่อมีคำสั่งมาแล้วก็ขอท่านจงส่งข้าพเจ้าไปตามคำสั่งเถิด อย่ากังวลด้วยข้าพเจ้าเลย ถ้าชักช้าอยู่ภัยจะมาถึงท่าน ข้าพเจ้าขอลาท่านไปในวันนี้ ท่านอยู่จงดีเถิด เจ้าเมืองทำหนังสือให้พนักงานส่งอึ้งเท่งเกียนไปยังเมืองงิมจิว เมื่อมอบตัวอึ้งเท่งเกียนให้แก่เจ้าเมืองงิมจิวแล้ว พนักงานก็กลับไป ฝ่ายเจ้าเมืองงิมจิวจัดที่ให้อึ้งเท่งเกียนพักอาศัยพอสมควร เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าอึ้งเท่งเกียนอยู่ในที่คุมขังแล่ว ต่อมาไม่นานเจ้าเมืองได้รับหนังสือเมืองหลวงอีก ว่าให้เนรเทศอึ้งเท่งเกียนไปคุมขังไว้ที่เมืองยงจิว เจ้าเมืองสงสารอึ้งเท่งเกียนมาก เพราะเห็นว่าเจ้าเมืองยงจิวเป็นพรรคพวกของยงจิว แต่อึ้งเท่งเกียนหามีความวิตกไม่ กลับเตือนเจ้าเมืองให้รีบส่งตัวไปเมืองยงจิวโดยเร็ว เจ้าเมืองก็ทำหนังสือให้พนักงานส่งอึ้งเท่งเกียนไปยังเมืองยงจิว
เป็นธรรมดาของผู้มีความกตัญญูกตเวทีมั่นอยู่ในบิดามารดาและผู้มีพระคุณ เทพดาดินฟ้าอากาศย่อมคุ้มครองรักษา แม้จะต้องตกระกำลำบากระหกระเหินไปในที่คับแค้น ก็ไม่เดือดร้อนมากนัก มิวันใดวันหนึ่งคงมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูให้พ้นจากความกรากกรำนั้นได้ ถึงทางบ้านเมืองก็ยกย่องคนจำพวกนี้ว่า เป็นผู้มีเกียรติกว่าคนสามัญ ครั้นอยู่ต่อมาไม่นาน พระเจ้าซ้องเตียดจงสวรรคต จึงฮ่วงไทจี๊อกิ้ด ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าซ้องฮุยจง องค์ที่ ๘ เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๖๔๔
วันหนึ่งพระเจ้าซ้องฮุยจงทรงรำลึกถึงอึ้งเท่งเกียน เพราะเป็นที่คุ้นเคยแต่ก่อนมา จึงรับสั่งถามขุนนางผู้ใหญ่ว่า อึ้งเท่งเกียนเป็นเจ้าเมืองอยู่เมืองใด มีผู้กราบทูลว่า อึ้งเท่งเกียนถูกเนรเทศไปคุมขังไว้ที่เมืองยงจิว พระเจ้าซ้องฮุยจงได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่ ต่อมาจึงโปรดให้อึ้งเท่งเกียนพ้นโทษ และโปรดให้ไปเป็นเจ้าเมืองไท้เพ่งจิว ฝ่ายเสนาบดีกราบทูลว่า เมืองไท้เพ่งจิวมีเจ้าเมืองอยู่แล้ว ที่โปรดให้อึ้งเท่งเกียนไปเป็นเจ้าเมืองอีกนั้น เมืองเดียวมีเจ้าเมืองสองคน แบบธรรมเนียมปกครองยังไม่เคยมี พระเจ้าซ้องฮุยจงรับสั่งว่าอึ้งเท่งเกียนเป็นคนกตัญญูกตเวที ความข้อนี้ใครๆ ย่อมทราบกันทั่วทั้งเมืองหลวง การที่เราให้อึ้งเท่งเกียนเป็นเจ้าเมืองไท้เพ่งจิว ซึ่งเป็นเมืองบริบูรณ์นั้น คือให้เป็นบำเหน็จรางวัลแก่บุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีอันแน่นแฟ้น เพื่อเป็นการชดเชยแก่อึ้งเท่งเกียนในการที่ต้องระหกระเหินตรากตรำลำบาก ส่วนเจ้าเมืองคนเก่านั้น เรียกเข้ามาทำราชการในเมืองหลวงเสียเถิด ครั้นรับสั่งสิ้นเรื่องก็เสด็จขึ้น
เจ้าเมืองยงจิวนั้น แม้เป็นพรรคพวกฉั่วเปียนก็จริง แต่เคารพนับถืออึ้งเท่งเกียน ในส่วนมีความกตัญญูกตเวที จึงไม่คุมขังให้อึ้งเท่งเกียนได้รับความลำบาก
อยู่มาวันหนึ่ง อึ้งเท่งเกียนจับพิณขึ้นจะบรรเลง พอดีเจ้าเมืองกรมการมาถึง อึ้งเท่งเกียนเชิญเจ้าเมืองกรมการไปในที่พัก แล้วเจ้าเมืองอ่านพระราชโองการปล่อยอึ้งเท่งเกียนให้พ้นโทษ และโปรดให้ไปเป็นเจ้าเมืองไท้เพ่งจิว อึ้งเท่งเกียนคุกเข่าลงคำนับพระราชโองการแล้วเจ้าเมืองยืนตราตั้งให้เเละกล่าวว่า ขอให้ท่านดำรงอยู่โดยสวัสดีจนตลอดอายุขัยเถิด อึ้งเท่งเกียนรับตราตั้งและตอบเจ้าเมืองพอสมควร แล้วเจ้าเมืองถามอึ้งเท่งเกียนว่า จะเดินทางไปทางบกหรือทางเรือ ถ้าไปทางบกประมาณ ๒๐ วันก็ถึงเมืองไท้เพ่งจิว แต่หนทางกันดารนัก ไปทางเรือราวเดือนกว่าจึงจะถึงแต่เป็นทางสะดวก อึ้งเท่งเกียนบอกว่าแล้วแต่ท่านจะเห็นสมควรเถิด ข้าพเจ้าพร้อมที่จะไปทุกทาง เจ้าเมืองก็ให้คนใช้ไปสั่งพนักงานเรือหลวง ให้เตรียมเรือไว้ให้พร้อม แล้วเชิญอึ้งเท่งเกียนไปพักอยู่ที่บ้านพักขุนนาง และชักชวนกรมการร่วมใจกันเลี้ยงส่งแสดงความยินดีแก่อึ้งเท่งเกียน ในการที่อึ้งเท่งเกียนจะได้ไปเป็นเจ้าเมืองนั้น เมื่อพนักงานเรือเตรียมเรือเสร็จพร้อมแล้ว อึ้งเท่งเกียนก็อำลาเจ้าเมืองกรมการออกเรือไปยังเมืองไท้เพ่งจิว
ฝ่ายเจ้าเมืองไท้เพ่งจิว ได้รับหนังสือเมืองหลวงสั่งให้มอบหมายการงานให้อึ้งเท่งเกียนผู้จะมาเป็นเจ้าเมือง และให้ตนกลับไปทำราชการ ณ เมืองหลวง จึงพร้อมด้วยกรมการรีบเร่งชำระสะสางถ้อยความราษฎรที่คั่งค้างให้เสร็จสิ้นไป เพราะเกรงว่าอึ้งเท่งเกียนจะติเตียนและตำหนิโทษบอกไปยังเมืองหลวง
ฝ่ายอึ้งเท่งเกียนเดินทางรอนแรมผ่านเมืองใหญ่น้อยหลายเมืองเป็นเวลา กว่าเดือนก็ลุถึงเมืองไท้เพ่งจิวตามประสงค์ เมื่อเจ้าเมืองกรมการทราบว่าอึ้งเท่งเกียนมาถึง ก็เชิญให้พักอยู่ที่บ้านพักขุนนาง จัดสุราอาหารมาต้อนรับเลี้ยงดูด้วยความยินดี อึ้งเท่งเกียนได้รับการต้อนรับของเจ้าเมืองกรมการตามธรรมเนียมแล้ว เจ้าเมืองก็ลากลับ ครั้นเวลารุ่งเช้า เมื่อคนทั้งหลายกินอาหารแล้ว เจ้าเมืองคนเก่าก็มอบหมายการงานทั้งปวงให้แก่อึ้งเท่งเกียนตามระเบียบ แล้วพาครอบครัวไปพักที่บ้านพักขุนนาง อึ้งเท่งเกียนรับงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำหนังสือถึงเจ้าเมืองยงจิว มอบให้พนักงานเรือถือกลับไป ส่วนเจ้าเมืองคนเก่าเมื่อเสร็จการมอบหมายแล้วอำลาอึ้งเท่งเกียนพาครอบครัวเดินทางไปเมืองหลวง เมื่ออึ้งเท่งเกียนส่งเจ้าเมืองคนเก่าเดินทางไปแล้ว ตนก็ตรวจตราราชการงานเก่า เห็นเรียบร้อยดีก็ทำหนังสือกราบทูลสนองพระกรุณาแด่พระเจ้าซ้องฮุยจง ที่ทรงพระเมตตาให้พ้นโทษ และโปรดตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไท้เพ่งจิวด้วยนั้น แล้วทำหนังสือถึงภรรยาให้พาบุตรมายังเมืองไท้เพ่งจิว มอบให้เอ๊กไส่พนักงานเกินหนังสือราชการถือไปยังเมืองหลวง
การที่อึ้งเท่งเกียนมีหนังสือไปถึงภรรยา ไม่มีไปถึงบิดามารดาก่อนนั้น เพราะเหตุที่บิดามารดาถึงแก่กรรมเสียแล้ว ในระหว่างที่อึ้งเท่งเกียนถูกฉั่วเปียนแอบอ้างรับสั่งเนรเทศ เมื่ออึ้งเท่งเกียนได้ทราบข่าวว่าบิดามารดาถึงแก่กรรม ก็โศกเศร้าเสียใจ ไว้ทุกข์เพื่อบิดามารดาจนครบเวลาสามปีเต็ม แต่ครั้งยังต้องอยู่ในที่คุมขังนั้นแล้ว
ฝ่ายภรรยาอึ้งเท่งเกียน ก็พาลูกเต้าบ่าวไพร่เดินทางไปหาอึ้งเท่งเกียน ต่อมาอึ้งเท่งเกียนย้ายไปเป็นเจ้าเนืองงี่จิว ชาวเมืองนั้นก็ดีใจนักหนา ถึงกับมีการมหรสพสมโภชท่านเจ้าเมือง อึ้งเท่งเกียนอยู่มาจนอายแปดสิบปีจึงถึงแก่กรรม บุตรหลานได้เป็นขุนนางสืบสกุลหลายชั่วคน เพราะอาศัยความดีคือที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อกันเป็นเค้ามา.