๑. พระเจ้าเต้สุ่น

ในสมัยดึกดำบรรพ์ พระเจ้าอึ้งเต้ เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีนเมื่อปีชวดก่อนพุทธศักราช ๒๑๕๔ ปี สืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับมา ๓๔๐ ปี ถึงรัชชกาลพระเจ้าเต้เหงียว

พระเจ้าเต้เหงียวนั้น เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๖ เสด็จขี้นทรงราชย์ปีมะโรงก่อนพุทธศักราช ๑๘๑๔ ปี พระองค์พระราชสิริลักษณะบางประการแปลกกว่าคนสามัญ คือพระขนงของพระองค์ประกอบด้วยสีต่าง ๆ รวม ๘ สี อนึ่งพระองค์มีอำมาตย์ปรึกษาราชการชั้นผู้ใหญ่ ๔ คน ซึ่งเล่าเรียนรอบรู้ศิลปศาสตร มีสติปัญญาสามารถปฏิบัติราชกิจ ให้ดำเนินไปโดยชอบด้วยพระราชประสงค์ทุกประการ ทั้งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในความซื่อตรงจงรักภักดีตลอดมา อำมาตย์ทั้งสี่นั้นคือ ๑. งี่ต๋ง ๒. งี่ซก ๓. ฮั่วต๋ง ๔. ฮั่วซก

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอึ้งเต้สืบมาถึงรัชชกาลพระเจ้าเต้เหงียว บ้านเมืองสมบูรณ์พูนผล ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล เนื้อปลาธัญญาหารหาได้โดยสะดวก บรรดาราษฎรชายหญิงอยู่เย็นเป็นสุข แผ่นดินสงบราบคาบปราศจากข้าศึกศัตรูมารบกวน ก็แลสมัยนั้นนิยมใช้หนังสือคอเตาบุ๋น รูปอักษรคล้ายภาพลายเส้น การค้าขายยังไม่เจริญ เป็นแต่แลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องกินเครื่องใช้ต่อกันในบางคราว ทั้งยวดยานพาหนะสำหรับใช้ทางน้ำทางบก ก็มีแต่เรือโกลนและเกวียนซึ่งยังมิได้ตกแต่งประกอบให้งดงามเหมือนฝีมือช่างในสมัยต่อมา

พระเจ้าเต้เหงียวนั้นมีพระราชโอรสธิดาประสูติแต่พระอัครมเหสี ๓ องค์ คือพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงนามว่า ตังจู พระราชธิดาสององค์ทรงนามว่า ง่อหวงกับ นึงเอ็ง นอกนี้ยังมีพระโอรสที่ประสูติแต่พระสนมอีกเก้าองค์ บรรดาพระโอรสทุกองค์ล้วนทรงพระสติปัญญาน้อย พระทัยไม่หนักแน่น โทโสร้ายรุนแรงไม่รู้จักยับยั้ง พระเจ้าเต้เหงียวทรงพระวิตกในความผลุนผลันพลันแล่นของพระราชโอรสตังจูเป็นอันมาก จึ่งโปรดให้ช่างทำหมากรุกตามแบบที่ผู้เฒ่ากราบทูลแนะนำ ครั้นช่างทำหมากรุกสำเร็จแล้ว ก็พระราชทานให้พระราชโอรสทรงฝึกเล่นเป็นเครื่องระงับโทษะและเจริญความคิดให้สุขุมรอบคอบ

ครั้นอยู่ต่อมา เกิดอุทกภัยขึ้นในเมืองจีน ฝนตกหนักน้ำนองหลายตำบล ทั้งน้ำในทะเลก็หมุนขึ้นท่วมท้นไหลเข้าที่ลุ่ม ไร่นาเสียหายเป็นอันมาก ราษฎรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องพากันอพยพหนีน้ำไปอยู่ตามเชิงเขาและบนที่เนิน ที่หนีไม่พ้นถูกน้ำท่วมตามก็หลายหมู่ พระเจ้าเต้เหงียวทรงพระราชวิตกถึงความทุกข์ร้อนของอาณาประชาราษฎร โปรดให้อำมาตย์หนึ่งชื่อ เปะอิ๋ว รีบไปทำการระบายน้ำลงทะเล ให้น้ำลดลงโดยเร็ว เปะอิ๋วก็ไปทำการตามรับสั่ง แต่เปะอิ๋วเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมากกว่าราชการบ้านเมือง ไม่รีบร้อนทำการให้ลุล่วงสมตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเต้เหงียว ซึ่งไว้วางพระราชฤทัยให้ตนมาดำเนินการแทนพระองค์

ตั้งแต่โปรดให้เปะอิ๋วไปทำการระบายน้ำแล้ว พระเจ้าเต้เหงียวก็ยังไม่คลายพระราชวิตก ทรงรำพึงถึงพระราชบารมีของพระองค์ ชะรอยจะทรงบุญญานุภาพน้อย ไม่พอเพียงจะคุ้มครองอาณาประชาชนชาวเมืองทั้งปวงผู้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร ให้ประสพความสุขสำราญร่มเย็น ปราศจากความทุกข์ขกเข็ญภยันตรายต่าง ๆ อนึ่งพระราชโอรสที่จะสืบสนองครองราชสมบัติต่อไปเล่า ก็ทรงเบาความคิดอ่าน มีแต่พลุ่งพล่านเพราะโทโสเป็นเจ้าเรือน แม้นถึงคราวขึ้นครองราชย์ คงไม่สามารถทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุข น่าจะทำให้พลเมืองเดือดร้อนลำบาก มากกว่าที่จะปลูกเลี้ยงให้ผาสุกเป็นแน่ ถ้ากะไรจะต้องคิดอ่านสืบเสาะหาผู้มีปัญญาสามารถให้มาปกครองบ้านเมืองต่อไป คนทั้งหลายจะได้มีความสุขสมใจหวัง

พระเจ้าเต้เหงียวทรงเป็นห่วงการบ้านเมืองเกรงจะเกิดความระส่ำระสายเดือดร้อนแก่ราษฎร เพราะพระองค์ทรงรักใคร่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเช่นเดียวกับบิดารักบุตร แม้พระราชโอรสของพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่เมื่อทรงเล็งเห็นว่าพระราชโอรสจะไม่สามารถปกครองให้บ้านเมืองรุ่งเรืองได้ ก็ไม่โปรดที่จะให้พระราชโอรสเป็นพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์

ต่อมาวันหนึ่ง จึงทรงพระราชปรารภความข้อนั้นกับอำมาตย์ทั้งสี่ แล้วเสด็จออกประพาสหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อแสวงหานักปราชญ์ ที่สามารถจะคุ้มครองบ้านเมืองอาณาประชาชนให้ประสพความสุขสำราญสมดังพระราชมโนรถ ถ้าได้ดังกระแสพระราชดำริ ก็จะเวนราชสมบัติให้นักปราชญ์ผู้นั้นครอบครองแทนพระองค์อไป ก็แลนักปราชญ์ที่พระองค์ทรงพบปะแล้วหลายคน หากแต่ไม่ใช่ผู้มีลักษณะอันดีต้องด้วยพระราชประสงค์ บ้างก็เป็นผู้รักสันโดษไม่นิยมใยดีในราชสมบัติ ครั้นพระเจ้าเต้เหงียวเสด็จไปถึงเชิงเขาแห่งหนึ่ง ประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น และมีพระราชดำรัสถามอำมาตย์ผู้ใหญ่ ว่าใครเคยพบปะหรือรู้แน่ชัดว่ามีนักปราชญ์สำคัญ ที่ควรยกย่องให้ขึ้นครองราชย์บ้างหรือไม่ จึงงี่ต๋งอำมาตย์ใหญ่กราบทูลฉลองพระราชปุจฉาว่า นักปราชญ์ในทางความรู้โดยฉะเพาะนั้น ตนยังหาเคยพบปะวิสาสะคุ้นเคยไม่ แต่ที่ตำบลเอี้ยวฮือ มีมาณพน้อยผู้หนึ่งเป็นคนเคารพรักกตัญญูกตเวทีแก่บิดามารดาของตนยิ่งนัก

พระเจ้าเต้เหงียวได้ฟังคำงี่ต๋งกราบทูลเล่าถึงมาณพน้อยในตำบลเอี้ยวฮือ ก็เข้าพระทัยว่าคงจะเป็นไต้สุ่น เพราะเคยทรงสดับคำบอกเล่าจากชาวบ้านตำบลใกล้เคียงมาก่อนแล้ว จึงตรัสประสานความกับคำของงี่ต๋งว่า คนกตัญญูกตเวทีนั้นแหละเป็นนักปราชญ์ที่ควรยกย่องนับถือ แม้ผู้อื่นบรรดาที่อยู่ในตระกูลสูง ๆ ก็จำต้องสรรเสริญ ไม่พึงดูแคลนนักปราชญ์นั้นเลย แล้วมีพระราชดำรัสให้งี่ต๋งกราบทูลเล่าเรื่องของมาณพนั้นต่อไป

งี่ต๋งจึงถวายคำนับแล้วกราบทูลเล่าว่า ที่ตำบลเอี้ยวฮือมีมาณพผู้หนึ่งชื่อต้งหัว ๆ เป็นบุตรกู่เซ่า ๆ เป็นบุตรเคี่ยวหงู ๆ เป็นบุตรกู่บ๊วง ๆ เป็นบุตรเก่งฆั่ง ๆ เป็นบุตรข๎ย้งเสี่ยน ๆ เป็นพระราชโอรสพระเจ้าจวนเต้ ๆ เป็นพระราชโอรสพระเจ้าอึ้งเต้ เมื่อนับตามลำดับมา ต้งหัวก็เป็นชั้นที่แปดของพระเจ้าอึ้งเต้นั้น ตั้งแต่ข๎ย้งเสี่ยนสืบมาจนถึงกู่เซ่า ทำแต่ไร่นาหาได้รับราชการงานเมืองไม่ กู่เซ่ามีภรรยาคนหนึ่งชื่ออ้กเต็งอยู่ด้วยกันเป็นสุขสืบมา

วันหนึ่งนางอ้กเต็งได้เห็นรัสมีรุ้งสีปลาด ให้รู้สึกซาบซ่านในใจ ครั้นต่อมาอิกวันหนึ่ง นางอ้กเต็งนอนพักกลางวันหลับไป ฝันว่ามีนกเชียกเผือกขนาดใหญ่ตัวหนึ่งบินโผมาเข้าท้อง นางก็ตกใจตื่นขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีครรภ์ เมื่อครบกำหนดทศมาสคลอดบุตรชายคนหนึ่งมีลักษณะเต้งถง ปรากฏอยู่ในดวงตา คือมีหัวตุ๊กตาข้างละสองหัว บิดามารดาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ต้งหัว

ตั้งแต่ต้งหัวรู้เดียงสาตลอดมา เป็นคนว่านอนสอนง่าย อัธยาศัยลมุนลม่อมอ่อนหวาน เมตตาปราณีประจำตัว เคารพยำเกรงบิดามารดาเป็นที่สุด คนทั้งหลายยกย่องสรรเสริญ เรียกว่า ไต้สุ่น ครั้นอยู่มานางอ้กเติงมารดาของไต้สุ่นถึงแก่กรรมลง ไต้สุ่นมีความเศร้าโศกถึงมารดา ร้องไห้คร่ำครวญจนสลบไปหลายครั้ง ภายหลังกู่เซ่าบิดาของไต้สุ่นมีภรรยาใหม่อีกคนหนึ่งชื่อนางหยิมนึ้ง ไต้สุ่นมีความอ่อนน้อมนางหยิมนึ้งผู้เป็นมารดาเลี้ยงเช่นเดียวกับมารดาของตนเอง แต่มารดาเลี้ยงเป็นคนริศยาแรงนัก คอยหาเรื่องยุยงกู่เซ่าผู้สามี ให้เกลียดชังไต้สุ่นเนือง ๆ จนบางครั้งไต้สุ่นถูกบิดาเฆี่ยนตีโดยสาเหตุเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนไต้สุ่นเป็นคนยั่งยืนในความกตัญญู มีความยำเกรงบิดามารดาอยู่เช่นเคย และคอยระวังไม่ทำการให้ผิดพลั้งเสียหาย ปรนนิบัติบิดามารดาตามหน้าที่ของบุตร เชื่อฟังทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ อยู่ในโอวาทคำเตือนทุกคราวมา

นางหยิมนึ้งมีบุตรหญิงคนหนึ่งชื่อขวยซิ้ว และมีบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่อเสียงยืน กู่เซ่ารักเสียงยืนบุตรคนใหม่ยิ่งกว่าไต้สุ่น และนางหยิมนึ้งก็หาสิ้นความเคียดแค้นในไต้สุ่นไม่ แต่ไต้สุ่นมิได้คำนึงถึงความเกลียดชังของบิดามารดา มีใจมั่นอยู่ในเมตตาเอ็นดูน้องทั้งสองคน โดยมิได้รังเกียจอย่างใดเลย เมื่อไต้สุ่นอายุย่างขึ้นยี่สิบปี พอถึงคราวอุทกภัยน้ำท่วมไร่นาบ้านช่องเสียหายหลายตำบล บิดาจึงให้ไต้สุ่นไปตั้งทำนาที่เชิงเขาเละซัว ไต้สุ่นก็ไปทำตามคำบิดาสั่ง แต่เมื่อนึกถึงว่าตนยังไม่สามารถให้บิดาได้รับความสุขสำราญ ก็เสียใจนัก เพราะมีเวรกรรมทำไว้อย่างไรจึงบรรดาลให้มาประสพยุคเข็ญไม่อาจหาเลี้ยงบิดาให้สมบูรณ์พูนสุขตลอดมา คิด ๆ แล้วก็ร้องไห้แทบจะสิ้นสมฤดี

ขณะนั้นบังเอิญมีช้างเชือกหนึ่ง เดินตรงมาหาไต้สุ่น คอยรับใช้ในการไถนา และมีนกเชียกอีกฝูงหนึ่ง มาช่วยไต้สุ่นเพาะปลูก คนทั้งหลายได้เห็นก็เกิดอัศจรรย์ใจ มีความเลื่อมใสนับถือไต้สุ่น ต่างบอกกล่าวชักชวนกันมาช่วยไต้สุ่นทำไร่ไถนาเป็นอันมาก ไต้สุ่นดีใจยิ่งนัก จัดแบ่งที่ทางให้คนเหล่านั้นอยูทำไร่ไถนา เป็นหมู่เป็นตอนตามสมควรแก่กำลัง ไร่นาก็บริบูรณ์ ไต้สุ่นเก็บเกี่ยวไปบำรุงบิดามารดาเสมอในเวลาว่างการไร่นา ไต้สุ่นพาคนทั้งหลายไปจับปลาที่บึงลุ่ยเจ็ก และทำถ้วยชามที่ห้อบิน ริมฝั่งแม่น้ำ โดยปกติไต้สุ่นเป็นคนนบนอบผู้ใหญ่ และเชื่อฟังคำชี้แจงของผู้มีความรู้ เมื่อผู้ใดแนะนำกิจการอื่นที่ดีกว่า ก็ยอมรับฟังด้วยความนับถือ ถ้าตนสามารถก็รีบลงมือทำการนั้น ๆ ไม่ท้อถอย อนึ่งไต้สุ่นเป็นคนกตัญญูและเคารพต่อความดีของผู้อื่น จึงชักนำคนทั้งหลายให้นิยมอยู่ในกตัญญู เอาใจใส่ปรนนิบัติบิดามารดาของตน ๆ ให้ได้ความสุขสำราญจนกว่าชีวิตหาไม่ มีเยื่อใยรักพี่น้องพงศ์พันธุ์ไม่ผิดกับรักตนเอง และรักมิตรสหายร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ทำการเป็นเหตุกินแหนงต่อกัน เมตตาปราณีคนทั่วไปทั้งชายหญิง ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือตามโอกาส ไต้สุ่นทำดีอยู่อย่างไร ก็ชักจูงคนอื่น ๆ ให้ทำอย่างนั้น ๆ บ้าง คนทั้งหลายจึงนิยมรักใคร่นับถือไต้สุ่น แม้อยู่ต่างถิ่นห่างไกลออกไป ก็สมัครมารวมอยู่ในตำบลเดียวกับไต้สุ่น จำนวนคนทวีมากขึ้น อพยพมาอยู่อุ่นหนาฝาคั่งจนเป็นแขวงใหญ่ และพร้อมกันยกย่องไต้สุ่นให้เป็นหัวหน้า เป็นผู้ใหญ่ดูแลทั่วไปในแขวงนั้นสืบมา

เมื่อพระเจ้าเต้เหงียวได้ทรงฟังเรื่องของไต้สุ่นจบลง ก็พอพระทัยมาก จึงมีพระราชดำรัสแก่งี่ต๋งว่า ตามเรื่องที่ท่านเล่ามานี้ปรากฏว่าไต้สุ่นเป็นคนดีนักหนา ข้าพเจ้าจะต้องทดลองให้รู้ตระหนักต่อไป ตรัสแล้วก็มีรับสั่งให้เตรียมการเดินทางกลับคืนไปยังพระนครเพ่งเอี๋ยง ซึ่งเป็นราชธานีในสมัยนั้น

วันหนึ่ง พระเจ้าเต้เหงียวมีรับสั่งให้งี่ต๋งไปเฝ้าโดยฉะเพาะเพื่อทรงหารือเรื่องไต้สุ่น ครั้นงี่ต๋งเข้าเฝ้า พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้าจะยกลูกสาวสองคนให้เป็นภรรยาไต้สุ่น ท่านจะเห็นประการใด งี่ต๋งก็เห็นชอบตามกระแสพระราชปรารภ จึงโปรดให้งี่ต๋งไปชี้แจงแก่ไต้สุ่น งี่ต๋งรับสั่งใส่เกล้า แล้วออกจากที่เฝ้ากลับมาบ้านของตน จัดแจงบ่าวไพร่เดินทางไปหาไต้สุ่น เมื่อถึงเขตต์ตำบลเอี้ยวฮือ พิเคราะห์ดูภูมิฐานบ้านเรือนไร่นา ต้องด้วยลักษณะแห่งความเจริญ เห็นผู้คนทำงานขยันขันแข็ง บ้างก็ร้องรำทำเพลงร่าเริงไม่ท้อถอย งี่ต๋งได้เห็นดังนั้นก็นึกชมอยู่ในใจว่า ไต้สุ่นเป็นคนฉลาดสามารถหางานให้คนทำ และรู้จักชี้แจงให้คนงานมีน้ำใจไม่เกียจคร้าน กิจการก็ลุล่วงสำเร็จเป็นผลดี มิช้ามินานตำบลเอี้ยวฮือก็สมบูรณ์พูนสุข คนทั้งหลายจึงนิยมนับถือไต้สุ่นยิ่งนัก

ขณะที่งี่ต๋งและบริวารหยุดยืนชมอยู่นั้น คนงานของไต้สุ่นเหลียวมาเห็นท่วงทีว่าจะเป็นขุนนางสำคัญเดินทางมา จึงหยุดงานเสียแล้วพิเคราะห์ดูบ้าง มีคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ใคร่จะรู้ความ จึงเข้าไปหาทำความเคารพ แล้วถามความประสงค์ ฝ่ายงี่ต๋งก็แจ้งให้ทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินให้คนเดินทางมาหาไต้สุ่น แต่ยังไม่ทราบว่าไต้สุ่นอยู่ที่ใด คนนั้นได้ทราบเรื่องแล้วรีบไปตามไต้สุ่นมาหา เมื่อไต้สุ่นกำลังเดินออกจากประตูตำบลนั้น งี่ต๋งแลเห็นแต่ไกล ก็พอสังเกตรู้ว่าคนที่เดินมากลางหมู่นั้นคงจะเป็นไต้สุ่น ขนาดสูงราวหกฟิต ท่าทางผึ่งผาย หน้าผากกว้าง จมูกคล้ายผลชมพู่ ปากกว้างคางโต นัยน์ตามีแววประกาย งี่ต๋งชมเพลินอยูก็พอดีไต้สุ่นมาถึง จึงคำนับซึ่งกันและกัน งี่ต๋งทักทายปราสัยพอสมควรแล้ว ไต้สุ่นก็เชิญงี่ต๋งให้ไปพักที่บ้านงี่ต๋ง เดินไปพลางสังเกตเคหสถานบ้านเรือนในย่านนั้น ปลูกอยู่เป็นแถวเป็นแนวได้ระยะน่าดู เป็นเครื่องพิสจน์ให้เห็นความฉลาดรอบคอบของไต้สุ่น ว่าเป็นคนรู้จักคิดอ่านการทุกอย่าง ทำได้ระเบียบเรียบร้อย เจริญตาเจริญใจของผู้ได้เห็นไม่เว้นแลย ครั้นถึงที่พักในบ้านไต้สุ่น เมื่อทุกคนลงนั่งพักทั่วกันแล้ว งี่ต๋งจึงบอกแก่ไต้สุ่นว่า พระเจ้าเต้เหงียวโปรดให้ข้าพเจ้ามาแจ้งแก่ท่านว่า พระองค์ทรงพอพระทัยในคุณความดีของท่านเป็นอันมาก ท่านจะมีแต่ความเจริญไม่ถดถอย จึงทรงพระกรุณาจะยกพระราชธิดาทั้งสององค์ให้เป็นภรรยาท่าน ไต้สุ่นได้ฟังดังนั้น ก็หันหน้าไปทางทิศที่เมืองหลวง คุกเข่าลงคำนับน้อมตรงไปยังพระเจ้าเต้เหงียวสามครั้ง ด้วยปลายปลื้มในความเอ็นดูของพระองค์ แล้วลุกขึ้นหันหน้ามาทางงี่ต๋งกล่าวว่า ตามที่พระเจ้าเต้เหงี่ยวทรงพระกรุณาแก่ข้าพเจ้านั้น เป็นพระคุณอันใหญ่หลวงสุดที่จะประมาณได้ แต่ข้าพเจ้าเป็นคนสกุลต่ำ ได้แต่ทำไร่ไถนาหาเลี้ยงบิดามารดา พอมีความสุขบ้างเล็กน้อย เพราะอาศัยพระบารมีของพระเจ้าเต้เหงียวคุ้มครองให้ร่มเย็นอยู่ จึงมีโอกาศทำมาหากินปราศจากอันตราย และก็ได้ความสุขพอสมสกุลอยู่แล้ว สติปัญญาของข้าพเจ้าไม่ยอดเยี่ยม จะมีบ้างก็น้อยนัก ไหนเลยข้าพเจ้าจะสามารถทะนบำรุงพระราชธิดาให้มีความสุขสมบูรณ์ได้ ข้อที่จะพระราชทานแก่ข้าพเจ้านั้น พระเดชพระคุณเหลือล้นแล้ว แต่เกรงว่าข้าพเจ้าจะทำการฉลองพระคุณมิตลอด จึงเป็นการจนใจจริงๆ งี่ต๋งจึงว่า อันที่จริงพระเจ้าเต้เหงียวทรงทราบตลอดแล้ว ว่าท่านเป็นคนสำคัญอย่างไร ทั้งมีเชื้อสายร่วมสกุลเดียวกับพระองค์ มีความกตัญญูกตเวทีแรงกล้า สมควรที่ที่คนทั้งหลายจะยกย่องนับถือท่าน และชายหนุ่มในสกุลอื่น ๆ ที่สูงศักดิ์เล่า บัดนี้จะหาคนดีเหมือนท่านก็หาไม่ได้ ทรงเห็นว่าท่านเป็นผู้สมควรกับพระราชธิดาแล้ว จึงโปรดให้ข้าพเจ้ามาบอกกับท่าน ขอให้ท่านจะเห็นแก่พระกรุณาของพระองค์ และรับสนองตามพระโองการเถิด ไต้สุ่นตอบว่า ตามที่ท่านพูดมาทั้งนี้ก็จริงแล้ว ข้าพเจ้ามั่นอยู่ในความกตัญญูกตเวทีอย่างท่านว่า เมื่อจะทำการใด ๆ ต้องปรึกษาหารือให้บิดามารดายินยอมก่อนจึงจะทำ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องนำความไปชี้แจงให้บิดามารดาทราบก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบพร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าจะนำความไปเรียนให้ท่านทราบต่อไป

ขณะที่กำลังสนทนากันอยู่นั้น พอถึงเวลากลางวันคนครัวก็จัดอาหารมา ไต้สุ่นจึงเชื้อเชิญให้งี่ต๋งรับประทาน และเลี้ยงดูบ่าวไพร่ของงี่ต๋งให้อิ่มหนำสำราญทุกคน การรับประทานอาหารสมัยนั้นต้องนั่งบนเสื่อ เพราะยังไม่มีใครคิดทำโต๊ะเก้าอี้ใช้ เมื่อรับประทานทั่วกันแล้ว ถึงเวลาบ่ายงี่ต๋งก็ลาไต้สุ่นเดินทางกลับไปยังนครหลวง

เวลาเย็นภายหลังอาหารวันนั้น ไต้สุ่นทำการปรนนิบัติบิดามารดาตามเคย กู่เซ่าผู้เป็นบิดาถามไต้สุ่นว่า วันนี้มีขุนนางมาหาเจ้าด้วยราชการสิ่งใดหรือ ไต้สุ่นเล่าความที่งี่ต๋งเชิญกระแสรับสั่งของพระเจ้าเต้เหงียวมาแจ้งให้ตนทราบนั้นทุกประการ กู่เซ่าฟังแล้วนิ่งอยู่มิได้ว่าประการใด แต่มารดาเลี้ยงของไต้สุ่นมีใจริศยา ไม่ปรารถนาให้ไต้สุ่นได้กับพระราชธิดา เพราะเกรงว่าเมื่อได้แล้ว กู่เซ่าจะรักลูกสะใภ้ยิ่งกว่าลูกสาวของตน ครั้นจะบอกให้กู่เซ่าขัดขวางไต้สุ่นไว้ ไต้สุ่นก็ยังอยู่ฉะเพาะหน้า จึงนิ่งอยู่ก่อน ถ้ามีโอกาศจะยุยงภายหลัง

ฝ่ายงี่ต๋ง เมื่อเดินทางกลับไปแล้ว รุ่งขึ้นเวลาพระเจ้าเต้เหงียวเสด็จออกก็เข้าเฝ้ากราบทูลแถลงเรื่องที่ไปพบไต้สุ่นจนตลอด พระเจ้าเต้เหงียวจึ่งตรัสว่า ถ้ากู่เซ่าไม่เห็นชอบด้วย ไต้สุ่นก็คงไม่กล้ารับ การก็จะค้างไม่สมนึก จะต้องดำริหาวิธีใหม่ แล้วรีบจัดทำโดยไม่ต้องรอฟังคำตอบของไต้สุ่น จึงจะสมความตั้งใจ ครั้นอยู่มาถึงวันฤกษ์ดี ในปีฉลูก่อนพุทธศักราช ๑๗๔๕ ซึ่งเป็นปีที่เจ็ดสิบแห่งรัชชกาลพระเจ้าเต้เหงี่ยวนั้น พระองค์ให้อำมาตย?งสี่นายนำพระราชธิดาทั้งสององค์ ไปยังแม่น้ำอุยสุย แล้วตามตัวไต้สุ่นมารับพระราชธิดาไปอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม ไต้สุ่นไม่กล้าขัดขืนพระราชโองการ ก็ยอมรับพิธีอาวาหมงคล แม้กู่เซ่าบิดาของไต้สุ่นเมื่อได้ทราบว่าไต้สุ่นยอมรับพระราชธิดาเป็นภรรยาแล้ว ก็มิได้ว่าประการใดเพราะเกรงพระราชอาญา แต่เริ่มมีใจเกลียดชังไต้สุ่นกับพระราชธิดาทั้งสองนั้น ด้วยหลงเชื่อคำยุยงของภรรยา คนทั้งหลายจึ่งว่ากู่เซ่าตาบอด ซึ่งความจริงดวงตาทั้งสองหาบอดไม่ แต่เพราะเป็นคนหลงเชื่อภรรยา จนไม่รู้จักว่าไต้สุ่นบุตรของตนนั้นเป็นคนซื่อตรงอ่อนน้อม มีความกตัญญูอย่างยิ่งยวดเพียงไร เหมือนคนตาบอดมองไม่เห็นทางที่ตนเดินซึ่งราบรื่นดีอยู่แล้ว เดินไถลหลงทางอันดีเสีย

ฝ่ายไต้สุ่นหมั่นอบรมฝึกสอนภรรยาของตน ให้รอบรู้ขนบธรรมเนียม และเอาใจใส่ในการบ้านเรือนเป็นอย่างดี หมั่นปรนนิบัติบิดามารดาเป็นอาจิณ ด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พระราชธิดาทั้งสองซึ่งเป็นภรรยาไต้สุ่นนั้น เชื่อถ้อยฟังคำอยู่ในโอวาทของสามี พยายามปฏิบัติการทั้งปวงให้เรียบร้อยตลอดมา

ไต้สุ่นทำดีอย่างไรบ้าง ความก็ทราบถึงพระเจ้าเต้เหงียว พระองค์ทรงยินดียิ่งนัก การที่ไต้สุ่นเป็นคนดีและจัดการงานได้เรียบร้อยเจริญดีเป็นลำดับมานั้น เป็นอันสมดังพระทัยปรารถนา จึงโปรดให้ฮั่วต๋งอำมาตย์ผู้ใหญ่ นำพระโอรสเก้าองค์ที่ประสูติแต่พระสนมไปมอบให้อยู่ในปกครองของไต้สุ่น ฮั่วต๋งก็พาพระโอรสทั้งเก้านั้นไปยังบ้านไต้สุ่น และชี้แจงฝากฝังตามรับสั่งของพระเจ้าเต้เหงียวทุกประการ ไต้สุ่นก็รับไว้ด้วยความเคารพ ใช้ให้ทำกิจการทั่วไปทั้งหนักทั้งเบา และอบรมความประพฤติให้ประกอบด้วยมรรยาทอันดีงาม สั่งสอนให้รู้จักขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยชุมนุมชนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป พระราชธิดาและพระโอรสทั้งสิบเอ็ดองค์นั้น ล้วนมีความอ่อนน้อมนับถือไต้สุ่น เชื่อฟังคำสั่งสอนและกระทำตามจนสุดความสามารถตลอดมา

ครั้นพระเจ้าเต้เหงียวทรงทราบว่า ไต้สุ่นปกครองพระราชธิดาและพระโอรสของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุข และเชื่อถ้อยฟังคำไต้สุ่นทุกคน ก็ทรงแน่พระทัยว่าไต้สุ่นคงจะสามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงรับสั่งให้งี่ซกสร้างเมืองขึ้นที่ริมแม่น้ำอุยสุยเมืองหนึ่ง ขนานนามว่าเมืองอิวหงอ โปรดให้ไต้สุ่นพระราชบุตรเขยมาครองเมืองนั้น

ไต้สุ่นรับบิดามารดาและน้องชายน้องหญิงมาอยู่กันพร้อมหน้า แม้จะได้รับ ยกย่องให้เป็นเจ้าเมือง ปกครองอาณาประชาราษฎรเป็นจำนวนมาก และมีความสุขสมบูรณ์พรั่งพรูทุกประการ แต่ไต้สุ่นก็หาได้ฟุ้งเฟ้อไปตามเหตุการณ์ไม่ คงเอาใจใส่ปฏิบัติบิดามารดาตามวิสัยบุตรที่ดี มีความเคารพนบนอบนับถือถ้อยคำบิดามารดาสม่ำเสมอ

วันหนึ่งมีผู้เฒ่ามาหาไต้สุ่น บอกมนต์สำคัญให้ เมื่อไต้สุ่นรับไว้ท่องจำได้แล้ว ท่านผู้เฒ่านั้นก็หายไป ไต้สุ่นจึ่งรู้ว่าเป็นเทพดาจำแลงมา ด้วยหวังสงเคราะห์ตน

ฝ่ายน้องชายของไต้สุ่น ที่เป็นบุตรมารดาเลี้ยง ซึ่งบิดาขนานนามว่าเสียงยืนนั้น เป็นคนละโมบมักได้ มีน้ำใจริศยาเช่นเดียวกับมารดาของตน สมกับคำของคนโบราณมักพูดกันบ่อย ๆ ว่า เชื่อไม่ทิ้วแถว แนวไม่ทิ้งถิ่น เสียงยืนเห็นว่าไต้สุ่นมีสมบัติมากมาย ถ้าไต้สุ่นตายลงเมื่อใด ทรัพย์สมบัติคงจะตกทอดถึงตอน จึงอ้อนวอนให้มารดายุยงให้กู่เซ่าคิดร้ายต่อไต้สุ่น ส่วนไต้สุ่น ตั้งแต่ได้มนต์วิเศษจากท่านผู้เฒ่า ก็อุตสาห์ภาวนาทุกเช้าค่ำ สติปัญญาก็เพิ่มพูลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อยู่มาวันหนึ่งกู่เซ่าเรียกหาไต้สุ่นไปสั่งว่า จงตรวจดูยุ้งฉางให้ทั่ว เพราะเข้าเขตต์ฤดูฝน ถ้าหลังคารั่วฝนตกลงมาจะเป็นอันตรายแก่เข้าเปลือกเข้าสาร ไต้สุ่นได้ฟังดังนั้นมิได้เฉลียวใจ รีบเปลี่ยนเครื่องแต่ตัวเตรียมจะปีนขึ้นตรวจบนหลังคาแงทั้งปวงตามคำสั่งของบิดา ฝ่ายภรรยาไต้สุ่นเห็นผิดสังเกตก็ไต่ถามสามีว่า ช่างก็มี เหตุใดท่านไม่ใช้เขาให้ขึ้นไปสำรวจซ่อมแซมเล่า การที่ท่านจะด่วนขึ้นไปนั้น ไม่ระแวงต่อเหตุการณ์ร้ายดีบ้างหรือ ธรรมดาการขึ้นบนที่สูงต้องเอาอย่างนกจะได้ปลอดภัย ไต้สุ่นจึงว่า เมื่อบิดาใช้แล้วต้องไปทำ ไม่จำต้องคำนึงถึงเหตุร้าย ต่อเมื่อเตือนให้ระวังตัวตามหน้าที่ของคนขึ้นบนที่สูงก็ชอบแล้ว สมควรทำตามด้วยเหมือนกัน ไต้สุ่นก็นำก้วยเล้ยขึ้นไปด้วย ขณะปีนขึ้นไปยังไม่ทันถึงบนหลังคา กู่เซ่าและเสียงยืนสองคนพ่อลูกแอบคอยท่วงทีอยู่ เห็นไต้สุ่นขึ้นไปสูงแล้ว ก็จุดไฟเผายุ้งไฟไหม้ลุกลามเปลวพลุ่งขึ้น ไต้สุ่นเห็นดังนั้นจึงรีบปีนขึ้นไปถึงบนหลังคาแล้วผูกก้วยเล้ยที่แขน ทำเป็นปีกทั้งสองข้าง กระโดดบินถลาลงพิ้นดินรอดพ้นอันตรายอย่างหวุดหวิด เสียงยืนเห็นไต้สุ่นพ้นภัย จึงอ้อนวอนกู่เซ่าให้คิดทำร้ายอย่างอื่นต่อไปอีก ส่วนไต้สุ่นแม้จะประสพเหตุร้ายมาแล้วก็มิได้ปริปากพูดให้บิดามารดาฟัง เพราะเกรงว่าจะทำให้บิดามารดาตกใจโดยไม่สมควร

ครั้นอยู่มาไม่นาน บ่อน้ำหลังบ้านแห้งขอดลง กู่เซ่าจึงบอกให้ไต้สุ่นลงไปลอกก้นบ่อ ไต้สุ่นก็ไปเตรียมตัวจะทำตามคำของบิดาสั่ง ฝ่ายภรรยาจึงเตือนว่า เมื่อท่านจะลงบ่อควรเอาอย่างงูจึงจะพ้นภัย แล้วนำเอาเสื้อกางเกงสีต่าง ๆ กับเชือกใหญ่เส้นหนึ่งมามอบให้ไต้สุ่น ๆ รับเอาเสื้อกางเกงสวมทับเป็นชั้นนอก และนำเชือกเส้นนั้นไปด้วย เมื่อไปถึงริมบ่อเหลือบไปเห็นเสียงยืนแอบอยู่ ไต้สุ่นนึกสงสัยแต่มิได้ถามว่ากะไร รีบเอาเชือกผูกกับต้นไม้ริมบ่อแล้วทิ้งชายเชือกนั้นลงในบ่อ ค่อย ๆ ห้อยโหนลงบ่อตามเส้นเชือกนั้น พอลงถึงก้นบ่อก็ถอดเสื้อกางเกงสีต่าง ๆ ที่ตนสรวมใส่อยู่นั้นออกกองไว้ แล้วกลับเหนี่ยวเชือกสาวขึ้นมาข้างบน ฝ่ายเสียงยืนไปนั่งแอบอยู่ทางหนึ่ง เห็นไต้สุ่นลงไปก้นบ่อก็ดีใจ เดินไปปากบ่อก้มลงมองดูเห็นเสื้อกางเกงกองไว้ทางหนึ่ง ก็สำคัญว่าไต้สุ่นคงยังทำการลอกก้นบ่ออยู่ จึงรีบไปหาบดินและหินมาทิ้งถมลงในบ่อ จนบ่อตื้นขึ้นมา ก็เข้าใจว่าไต้สุ่นคงตายเพราะถูกดินและหินทับเป็นแน่แล้ว ตนก็กลับไปแจ้งให้มารดาทราบด้วยความดีใจ ครั้นเมื่อเดินเลียบไปริมจวนของไต้สุ่น มองเห็นไต้สุ่นกำลังซ้อมพิณอยู่กับภรรยา เสียงยืนก็ตลึงแทบสิ้นสติ ฝ่ายไต้สุ่นเมื่อเหลือบมาเห็นเสียงยืนตลึงอยู่ ก็ทักทายปราสัยโดยปกติ ดังว่ามิได้เกิดเรื่องอะไรเลย เสียงยืนได้ฟังน้ำคำทักทายของไต้สุ่น ก็เกิดสำนึกตนเห็นความใจดีของพี่ชาย ซึ่งแม้จะถูกลวงไปฆ่าถึงสองครั้งก็ไม่โกรธ ชะรอยจะมีเทวดาคุ้มครองรักษาเป็นมั่นคง สมกับคำว่า เมื่อคิดทำร้ายใครถ้าดินฟ้าอากาศไม่อำนวย ก็ทำไม่สำเร็จ หากดินฟ้าอากาศจะลงโทษผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงพ้นไปได้ เมื่อเช่นนี้ ถ้าเรายังจะคิดทำร้ายพี่เราต่อไปอีก ดินฟ้าอากาศก็คงจะลงโทษเราเป็นแท้ ครั้นเสียงยืนได้สำนึกว่าตนผิด ก็กลับใจยอมเคารพนบนอบไต้สุ่นและพระราชธิดาเป็นอันดี แล้วกลับไปเล่าเรื่องไต้สุ่นให้บิดาทราบ และสารภาพว่าตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่คิดร้ายพี่ชายอีกแล้ว จะเคารพนบนอบเท่ากับบิดามารดาทุกวัน เทพดาจึงจะคุ้มครองรักษาข้าพเจ้า กู่เซ่าได้ฟังคำของเสียงยืนก็นิ่งอยู่ ตั้งแต่วันนั้นมา เสียงยืนเคารพนบนอบไต้สุ่นและพระราชธิดาเสมอ จนมารดาเลี้ยงพลอยคลายความริศยาไม่ยุยงสามี กู่เซ่าก็หายเกลียดชังลูกชายลูกสะใภ้ ซ้ำมีความชื่นชมยินดีในการที่ไต้สุ่นเป็นพระราชบุตรเขยพระเจ้าแผ่นดิน พระราชธิดาทั้งสองก็ถ่อมยศถ่อมศักดิ์ปรนนิบัติบิดามารดาของสามีไม่ให้อนาทรร้อนใจ

ฝ่ายพระเจ้าเต้เหงียว ตั้งแต่มอบเมืองใหม่ให้พระราชบุตรเขยปกครองแล้ว ทรงคอยฟังข่าวคราวอยู่เสมอ เมื่อทรงทราบว่าไต้สุ่นเอาความกตัญญูกตเวทีเปลื้องปลดความอิจฉาริศยาของมารดาเลี้ยง และความงมงายของบิดา จนนิสัยใจคอของบิดามารดาเปลี่ยนแปลงเป็นตรงกันข้าม รู้จักรักใคร่ลูกเต้าสม่ำเสมอไม่ลำเอียง และเอาความเมตตาปราณีผจญต่อการใจบาปหยาบช้าของเสียงยืนผู้น้อง จนเสียงยืนนิยมยินดีเคารพนับถือโอวาทของไต้สุ่นผู้พี่ยิ่งนัก จึงรับสั่งแก่อำมาตย์ทั้งสี่ว่า ไต้สุ่นมีความกตัญญูกตเวทีใหญ่หลวงไม่มีผู้ใดเทียมทัน สติปัญญาก็ลึกซึ้งจะหาผู้เสมอเหมือนยากนัก สมควรดูแลบ้านเมืองทำนุบำรุงราษฎรให้เป็นสุข แล้วรับสั่งกะฮั่วซกว่า ท่านจงไปตามไต้สุ่นมาเถิด ข้าพเจ้าจะแต่งตั้งให้เป็นขุนนางช่วยดูแลบ้านเมือง ฮั่วซกรับพระโองการแล้วรีบเดินทางไปยังเมืองอิวหงอ แจ้งความให้ไต้สุ่นทราบตามรับสั่งของพระเจ้าเต้เหงียวทุกประการ ไต้สุ่นก็ลาบิดามารดา และสั่งเสียภรรยาทั้งสองให้ปรนนิบัติบิดามารดาดูแลน้องหญิงน้องชายอย่าให้เดือดร้อน แล้วตนก็ออกเดินทางพร้อมด้วยพระโอรสของพระเจ้าเต้เหงียว ที่โปรดให้มาอยู่ศึกษาการงานและประเพณี ทั้งบริวารที่ติดตามมาแต่ตำบลเอี้ยวฮือไปยังพระนครเพ่งเฮี๋ยง ไต้สุ่นมาตามทางสังเกตเห็นบ้านช่องท้องถิ่นร้างเพราะถูกน้ำท่วมโดยมาก ก็คิดแต่ในใจว่า หากได้ทำการระบายน้ำลงทะเลไปให้เสร็จ ราษฎรจึงจะเป็นสุข ครั้นถึงนครหลวงเข้าเฝ้าพระเจ้าเต้เหงียว ๆ ทรงทักทาย ปราสัยพอสมควร แล้วทรงตั้งไต้สุ่นให้เป็นซีถูอำมาตย์ผู้ใหญ่ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการแผ่นดิน เมื่อไต้สุ่นเป็นซีถูแล้ว จึงกราบทูลพระเจ้าเต้เหงียวขอตั้งแต่งขุนนางช่วยทำราชการสืบไป พระเจ้าเต้เหงียวก็ทรงอนุญาตให้ตามความประสงค์ ไต้สุ่นจึงถอดขุนนางผู้ใหญ่ที่ใจบาปหยาบช้าหลายคน บางทีเนรเทศทั้งสกุลให้อพยพกันไปอยู่ปลายเขตต์ปลายแดน แล้วเลือกตั้งผู้มีสติปัญญาสามารถ เป็นขุนนางช่วยดูแลบ้านเมือง กิจการสิ่งใดที่ขุนนางทั้งปวงไม่สามารถพิเคราะห์ให้ลุล่วงไปได้ ไต้สุ่นก็พิจารณาด้วยปรีชาอันเที่ยงธรรมของตนเสร็จไปทุกเรื่องทุกข้อ แล้วทูลลาพระเจ้าเต้เหงียวไปตรวจตามหัวเมืองดูแลสุขทุกข์ของราษฎร พระเจ้าเต้เหงียวรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งปวงไปส่งไต้สุ่นจนเลยชานพระนคร

ไต้สุ่นยกรี้พลไปถึงบ้านใดเมืองใด ก็ดูแลสอบสวนสุขทุกข์ของราษฎร ถ้าเมืองใดกระด้างกระเดื่อง ก็แต่งทูตให้ไปเจรจาว่ากล่าว เจ้าบ้านผ่านเมืองอ่อนน้อมโดยดีก็ให้โอวาทตามสมควรแก่ทางการ ชี้แจงถึงแยบคายในการทำนุบำรุงคุ้มครองอาณาประชาราษฎร หากเมืองใดไม่เชื่อฟังถ้อยคำ แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง ก็ให้นายทัพนายกองยกกำลังทหารไปปราบจนได้ไชยชำนะ แล้วเลือกเฟ้นบุตรหลานของเจ้าเมืองนั้น ๆ ที่มีปัญญาพอจะรักษาการได้ ก็ให้ครอบครองบ้านเมืองสืบแซ่สืบสกุลต่อไป

ฝ่ายเปะอิ๋วที่พระเจ้าเต้เหงียวแต่งให้ไปทำการระบายน้ำลงทะเลนั้น มีรี้พลหลายหมวดหลายกองเป็นกำลังมากอยู่ เมื่อทำการระบายน้ำไม่สำเร็จไม่กลับมารายงาน ณ เมืองหลวง เปะอิ๋วยกพลไปถึงตำบลหนึ่ง เห็นภูมิฐานกว้างขวางพอสร้างบ้านเมืองได้ ก็สร้างเมื่องขึ้นที่ตำบลนั้น แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าครอบครอง เมื่อทราบข่าวว่าซีถูไต้สุ่นเที่ยวตรวจตราหัวเมืองต่าง ๆ แทนพระเจ้าเต้เหงียว เดินทางมาใกล้เขตต์แดนตนก็คิดไม่อ่อนน้อมยอมลงแก่ไต้สุ่น เปะอิ๋วมีบุตรชายคนหนึ่งชื่ออู๊ เมื่ออู๊ทราบว่าบิดาของตนจะไม่ยอมอ่อนน้อมต่อไต้สุ่น ก็เห็นว่าไม่ถูกธรรมเนียม จึงวิงวอนบิดาขอให้อ่อนน้อมต่อไต้สุ่นผู้แทนพระเจ้าเต้เหงียวตามประเพณีราชการ แต่เปะอิ๋วโกรธนักกลับให้ขุนนางเอาตัวไปคุมขังไว้ แล้วตระเตรียมทะแกล้วทหารรักษาบ้านเมืองอย่างแข็งแรง ครั้นไต้สุ่นยกรี้พลมาถึงไม่เห็นเปะอิ๋วออกต้อนรับ ก็สั่งให้หยุดพลตั้งค่ายพักอยู่ และแต่งทูตให้ไปเจรจาว่ากล่าวแต่โดยดี เปะอิ๋วไม่ให้เปิดประตูรับทูต เมื่อทูตกลับมาแจ้งให้ไต้สุ่นทราบแล้ว ไต้สุ่นจึงคิดว่าเปะอิ๋วเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ มีรับสั่งให้ทำการระบายน้ำ ควรหรือหลบมาตั้งบ้านเมืองอยู่ตำบลนี้ และยังจะคิดอ่านต่อสู้ขัดขวางเราอีกด้วย ชะรอยเปะอิ๋วเห็นเราเพิ่งมาถึง รี้พลยังอิดโรย ดีร้ายค่ำวันนี้คงยกออกมาปล้นค่ายเป็นแน่ จึงสั่งให้นายทัพนายกองแยกย้ายกันซุ่มคุมเชิงอยู่ พอถึงเวลาดึกเปะอิ๋วยกทหารออกมาหมายจะปล้นค่ายดังที่ไต้สุ่นคาดไว้ กองทหารของไต้สุ่นที่ซุ่มอยู่ เห็นได้ทีก็ระดมตีพร้อมกันทั้งสี่ด้าน กองทัพเปะอิ๋วแตกพ่ายพลทหารล้มตายเป็นอันมาก ตัวเปะอิ๋วก็ตายในที่รบ ทหารที่เหลือตายต่างหนีกระจัดพรัดพรายไป รุ่งขึ้นเวลาเช้าขุนนางที่เปะอิ๋วมอบหมายให้เป็นผู้กำกับควบคุมอู๊บุตรของเปะอิ๋วไว้นั้นได้พร้อมใจกับผู้เฒ่าผู้แก่นำอู๊ออกมาขอขมาโทษต่อไต้สุ่น ๆ แสดงความเคารพนบนอบแด่ผู้เฒ่าผู้แก่ตามสมควร และต้อนรับอู๊ตามรรรมเนียม เห็นรูปร่างอู๋สูงใหญ่ผึ่งผายมีสง่า ก็สอบถามวิชาความรู้ อู๊ชี้แจงไปตามที่ตนได้เล่าเรียนมาทุกประการ และยังได้แสดงความคิดอ่านอย่างอื่น ๆ อันเนื่องในวิธีปกครองอีก ไต้สุ่นเห็นว่าอู๊มีสติปัญญาเฉียบแหลมความรู้ความสามารถก็พอใช้ จึงยินดีมอบเมืองให้อู๊ปกครองไปพลาง จนกว่าจะได้ทูลพระเจ้าเต้เหงียว สุดแต่จะโปรดประการใด ไต้สุ่นเดินทางไปตรวจหัวเมืองอื่น ๆ จนทั่วถึงแล้วกลับคืนมายังพระนครหลวง รายงานการตรวจหัวเมืองกราบทูลแก่พระเจ้าเต้เหงียวทุกประการ และขอให้ตั้งอู๊เป็นขุนนางทำราชการแทนเปะอิ๋วผู้บิดา พระเจ้าเต้เหงียวก็ทรงเห็นชอบ ไต้สุ่นจึงทำหนังสือแจ้งไปถึงอู๊ตามธรรมเนียม

ตั้งแต่ไต้สุ่นเป็นซีถูทำราชการมา ดินฟ้าอากาศเป็นปกติ ลมและฝนก็พัดตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข พระเจ้าเต้เหงียวพอพระทัยยิ่งนัก และพระองค์ก็ทรงชราใคร่จะมอบราชสมบัติให้แก่ไต้สุ่น จึงทรงปรึกษาอำมาตย์ทั้งสี่นาย ๆ ก็เห็นชอบตามพระราชดำริ ถึงวันฤกษ์งามยามดีขุนนางทั้งปวงเฝ้าแหนอยู่พร้อมแล้ว พระเจ้าเต้เหงียวตรัสเรียกไต้สุ่นมาหน้าพระที่นั่ง แล้วประทานเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์และตราแผ่นดิน ทั้งพระแสงกระบี่พระแสงเกาทัณฑ์ ให้แก่ซีถูไต้สุ่น เป็นการเวนราชสมบบัติตามราชประเพณี แต่ไต้สุ่นกลับถวายคืนขอทำราชการเพียงตำแหน่งซีถูสนองพระเดชพระคุณสืบไป พระเจ้าเต้เหงียวทรงเห็นว่าไต้สุ่นไม่ยอมรับราชสมบัติจริง ๆ ก็รับสั่งให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ประกาศตั้งไต้สุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ แล้วเสด็จขึ้น เมื่อไต้สุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์แล้ว ก็แสวงหาผู้มีสติปัญญามาชุบเลี้ยงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางที่ปรึกษาหลายคน

ฝ่ายอู๊ได้รับหนังสือไต้สุ่นทราบความตลอดแล้ว ก็มอบรี้พลให้ญาติผู้ใหญ่และขุนนางที่สามารถ ช่วยกันดูแลแทนชั่วคราว ส่วนตนเลือกชายฉกรรจ์ที่เข้มแข็งได้หลายสิบคน แล้วรีบเดินทางไปยังเมืองหลวง ไต้สุ่นต้อนรับอู๊ด้วยความยินดี จัดบ้านเรือนที่พักให้อยู่เป็นสุข แล้วนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเต้เหงียวให้ทรงทราบเรื่องอู๊นั้นทุกประการ รุ่งเช้าพระเจ้าเต้เหงียวเสด็จออกขุนนาง ไต้สุ่นนำอู๊เข้าเฝ้าพระเจ้าเต้เหงียวเห็นรูปร่างอู๊ผึ่งผายสูงราวเก้าฟุต หน้าผากกว้างคางใหญ่หลังนูนเหนือนหลังเต่า ต้องด้วยลักษณะอาชาไนย จะต้องมีสารถีพิเศษควบคุมขับขี่ ก็พลันไปได้โดยเร็วลุล่วงถึงที่ประสงค์ จึงทรงตั้งอู๊ให้เป็นซีคงอำมาตย์ผู้ใหญ่ แล้วโปรดให้ไปทำการระบายน้ำถ่ายโทษบิดา อู๊รับพระโองการแล้วกะเกณฑ์รี้พลออกไปทำการระบายน้ำอยู่หลายปี อู๊มีสติปัญญาลึกซึ้งตั้งใจทำราชการด้วยความอดทนยิ่งนัก การระบายน้ำครั้งนั้น อู๊คุมรี้พลทำการผ่านบ่านเมืองของตนไปมาหลายครั้ง โดยตรงไปตรงมาไม่แวะเยือนญาติมิตรให้เสียเวลาราชการเลย เมื่อระบายน้ำเสร็จกลับไปถึงเมืองหลวงแล้ว อู๊รายงานแก่ไต้สุ่นว่า สกุลใหญ่ทั้งหลายที่มีเขตต์แดนก็มี ที่ยังไม่มีเขตต์แดนก็มี ถ้าแบ่งปันเขตต์แดนให้เป็นส่วนสัดกันแล้ว การทะเลาะวิวาทก็จะเบาบางลง แล้วเอาแผนที่ซึ่งตนทำขึ้นใหม่ให้ไต้สุ่นพิจารณาประกอบเรื่อง ไต้สุ่นพินิจพิเคราะห์ดูแผนที่เห็นตรงกับแบบที่ตนได้ทำเมื่อครั้งออกไปตรวจหัวเมือง ก็มีความพอใจและเห็นชอบด้วความคิดนั้น ถึงเวลาเฝ้าพระเจ้าเต้เหงียว ไต้สุ่นทูลรายงานและถวายแผนที่ พระเจ้าเต้เหงียวทรงตรวจดูตลอดแล้วรับสั่งว่า ความคิดท่านทั้งสองต้องกันดีนักหนา จนแบ่งเป็นเขตต์แดนให้สกุลต่าง ๆ เสียจึ่งจะเรียบร้อย แล้วประทานคืนแผนที่ทั้งสองแผ่นให้แก่ไต้สุ่น ๆ ถวายคำนับรับแผนที่กลับจากที่เฝ้า มอบให้แก่อู๊ ให้ไปจัดการปันเขตต์แดนดังที่กะไว้นั้น อู๊ตระเตรียมรี้พลพร้อมแล้วลาไต้สุ่นยกไปทำการนั้น ๆ จนสุดความสามารถของตน มิได้ย่อท่อต่อความเหนื่อยยากเลย

ฝ่ายพระเจ้าเต้หงียว ตั้งแต่โปรดให้ไต้สุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการมาหลายปี ทรงเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น ราษฎรทำมาหากินเป็นปึกแผ่นอยู่ตามภูมิลำเนาด้วยความผาสุก ก็ดีพระทัยนัก แต่พระโรคชราเบียดเบียนพระองค์เสมอ ไม่ช้านานก็เสด็จสวรรคต ไต้สุ่นจึงเชิญตังจูผู้เป็นพระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ ตังจูไม่ยอมรับราชสมบัติ กลับพร้อมใจด้วยขุนนางทั้งปวง เชิญไต้สุ่นครองราชสมบัติแต่ตามพระโองการของพระราชบิดา ฝ่ายไต้สุ่นก็หารับไม่ ตังจูกับขุนนางพร้อมทั้งราษฎรช่วยกันวิงวอนหลายครั้งหลายหน ไต้สุ่นจึงยอมรับครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเต้สุ่น ณ ปีจอก่อนพุทธศักราช ๑๗๑๒ ปี แล้วทรงตั้งพระนางง่อหวงเป็นพระมเหษีฝ่ายขวา พระนางนึงเอ็งเป็นพระมเหษีฝ่ายซ้าย และถวายเมืองอิวหงอแก่พระบิดาให้ครอบครองสืบไป

พระเจ้าเต้สุนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติครั้งนั้น ประสพโชคสามประการ คือ อากาศโชค มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ภูมิโชค ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ บ้านเมืองผาสุกสวัสดี นิกรโชค เหล่าสกุลใหญ่สกุลน้อยทั้งปวงชื่นชมยินดีด้วยกันทั้งสิ้น

พระเจ้าเต้เหงียวและพระเจ้าเต้สุ่นทั้งสองพระองค์นั้น เป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์ต่อ ๆ มา ต่างพากันยกย่องพระเกียรติคุณว่า ทั้งสององค์ทรงสามารถทำนุบำรุงบ้านเมืองให้รุ่งเรือง ทรงดำรงอยู่ในราชธรรมยั่งยืนยิ่งนัก

ฝ่ายซีคงอู๊ ยกกองเดินทางไปถึงเขาโซงชัว หยุดพักรี้พลแล้วให้ม้าใช้ไปตามผู้ใหญ่สกุลต่าง ๆ มาชุมนุมแบ่งปันดินแดน กำหนดเขตต์เป็นเมืองใหญ่เก้าเมือง คือ (๑) เมืองเจี๋ยนจิว (๒) เมืองกีจิว (๓) เมืองแชจิว (๔) เมืองชื่อจิว (๕) เมืองอื๋อจิว (๖) เมืองเก็งจิว (๗) เมืองเอียงจิว (๘) เมืองอ๎ยงจิว (๙) เมืองเลี่ยงจิว จะให้บรรดาสกุลใหญ่ครอบครองเมืองเหล่านั้น จึงพาผู้ใหญ่สกุลต่าง ๆ ไปยังนครหลวง นำเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยและถวายบรรณาการ แด่พระเจ้าเต้สุ่น ๆ ทรงทักทายปราสัยอู๊และผู้ใหญ่ทุกสกุลพอสมควรแล้วเสด็จขึ้น ผู้ใหญ่สกุลต่าง ๆ ต่างอำลาอู๊กลับไปยังบ้านเมือง ต่อมาพระเจ้าเต้สุ่นมีรับสั่งให้อู๊สร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่ง อู๊ก็ตระเตรียมกองกำลังยกไปเที่ยวตรวจดูไชยภูมิถึงตำบลพูปั๊ง เห็นภูมิฐานสมควรสร้างพระนคร จึงรีบทำแผนที่ส่งไปถวายพระเจ้าเต้สุ่น ณ เมืองหลวง พระเจ้าเต้สุ่นได้ทอดพระเนตรแผนที่นั้นแล้ว ก็ทรงโปรดตามความคิดของอู๊ทุกประการ มีรับสั่งให้อู๊ดำเนินงานสร้างต่อไปจนกว่าสำเร็จ อู๊ก็ลงมือทำการก่อสร้าง ณ ตำบลนั้นจนสำเร็จเป็นเมืองใหญ่ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว พระเจ้าเต้สุ่นพร้อมด้วยพระมเหษีเสด็จโดยพยุหะยาตราไปประทับที่เมืองนั้นและขนานนามเมืองว่า พระนครพูปั๋ง ต่อมานักพงศาวดารยกย่องนครนั้นว่าง่อโตว คือพระนครของตระกูลหงอ ส่วนพระนครเพ่งเอี๋ยงนั้น พระเจ้าเต้สุ่นโปรดให้พระราชโอรสของพระเจ้าเต้เหงียวครอบครองสืบต่อไป เชื้อสายของพระเจ้าเต้สุ่นสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้มีหลายสกุลคือ สกุลหงอ สกุลตัน สกุลโอ๋ว สกุลคู หากจะประมาณจำนวนคนทั้งสี่สกุลที่แยกย้ายกันอยู่ในเมืองจีนนั้นเห็นจะกว่าสิบล้านคน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ