๒๑. ยูงิมหลู

ในระหว่างยุคล่ำปักเฉียว ที่เมืองล่ำฉี มีชายคนหนึ่งชื่อยูงิมหลู เป็นบุตรยูเอ๊กจื๊อ สกุลมั่งคั่ง ยูงิมหลูเป็นคนมีปัญญาเฉียบแหลมโดยกำเนิด บิดาจัดให้ไปเรียนหนังสือที่สำนักอาจารย์ ยูงิมหลูเคยปรนนิบัติบิดามารดาทุกเช้าค่ำ ครั้นต้องไปอยู่ด้วยอาจารย์ ไม่ได้ปรนนิบัติบิดามารดาก็เสียใจ ถึงถามอาจารย์ว่าข้าพเจ้ามาเล่าเรียนอยู่กับอาจารย์ แล้วไม่มิโอกาศได้ปรนนิบัติบิดามารดาก็เสียใจ และบิดามารดาเล่า เพราะเหตุที่ข้าพเจ้ามิได้ปรนนิบัติท่าน ๆ จะเกลียดชังข้าพเจ้าหรือไม่ อาจารย์ได้ฟังก็ว่า บิดาของเจ้านำมาฝากไว้ให้เล่าเรียนวิชา ถ้าเจ้าอุตสาหะเล่าเรียนไม่เกียจคร้าน บิดามารดาจะเกลียดชังเจ้าทำไม มีแต่จะรักใคร่เจ้ามากขึ้นเสียอีก ยูงิมหลูฟังดังนั้นก็เกิดความหมั่นที่จะเล่าเรียนอย่างเต็มที่ และเอาใจใส่ปรนนิบัติอาจารย์ดังบิดามารดา อาจารย์รักใคร่ยูงิมหลูมาก และชมเชยเนือง ๆ

กิจการบ้านเมืองยุคล่ำปักเฉียวครั้งนั้นเป็นคราวยุคเข็ญ ราษฎรเดือดร้อนระส่ำระสายยิ่งกว่ายุคสามก๊ก รัฐบาลใต้กับรัฐบาลเหนือทำสงครามกันทุกปี และยังมีการแย่งชิงราชสมบัติผลัดเปลี่ยนราชวงศ์บ่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ราชวงศ์พระเจ้าแผ่นดินในยุคล่ำปักเฉียวจึงมากมาย เวลารัชชกาลเพียง ๑๖๙ ปีมีถึง ๗ ราชวงศ์ แม้ว่าสมัยล่ำปักเฉียวบ้านเมืองเกิดทุกข์ขุกเข็ญ เป็นเหตุให้พลเมืองต้องเดือดร้อนก็จริง แต่เป็นยุคที่การศึกษาเริ่มจะรุ่งเรืองขึ้น ชาวจีนครั้งนั้นนับถือลัทธิศาสนาถึงสามประเภท คือ (๑) ต๋าวก่า ลักธิเต๋า (๒) ขงก่า ลัทธิขง (๓) ฮุดก่า พระพุทธศาสนา ลัทธิศาสนาน่าจะเป็นเหตุอันหนึ่งที่ช่วยชักจูงใจให้น่ารู้น่าเห็น ราษฎรจึงนิยมยินดีในการศึกษา ดูเหมือนจะเล่าเรียนเพื่อจงค้นคว้าหาเหตุผลแห่งลัทธิศาสนานั้นๆ สำหรับสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาให้สำเร็จประโยชน์สืบไป

ฝ่ายยูงิมหลูเล่าเรียนอยู่ที่สำนักอาจารย์ ไม่ช้านานก็สำเร็จการศึกษาในสมัยนั้น แล้วอำลาอาจารย์กลับไปอยู่บ้าน อุตส่าห์ปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความเอาใจใส่ เมื่อคนทั้งหลายทราบว่ายูงิมหลูเล่าเรียนจบวิชากลับมาแล้ว ต่างก็ให้บุตรหลานมาศึกษาวิชาอยู่ด้วยเป็นอันมาก

ฝ่ายยูเอ๊กจื๊อ เมื่อยูงิมหลูผู้บุตรเล่าเรียนเสร็จกลับมาแล้ว ในไม่ช้าก็ให้ยูงิมหลูไปทำราชการที่เมืองหลวง เพราะมีมิตรสหายเป็นขุนนางอยู่ที่เมืองหลวง เคยขอให้ยูเอ๊กจื๊อส่งบุตรไปทำราชการด้วย

ยูงิมหลูทำราชการอยู่ที่เมืองหลวงมิช้ามินานก็ได้เป็นเพียนเหล็ง ตำแหน่งปลัดอำเภออยู่ที่อำเภอหนึ่ง ยูงิมหลูชำระถ้อยความราษฎรโดยความเที่ยงธรรม ราษฎรมีความเคารพนับถือยูงิมหลูเป็นอันมาก มีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง คือท้องที่อำเภอนั้นมีป่าดงมาก เสือร้ายชุมนัก มักออกเที่ยวกัดผู้คนและกินวัวกินม้าเสมอ ปลายแดนอำเภอนั้นมีแม่น้ำใหญ่ ฝั่งตรงข้ามเป็นชายแดนอำเภอลิ่มจู ตั้งแต่ยูงิมหลูไปเป็นปลัดอำเภอ มีคนเห็นเสือว่ายข้ามน้ำไปอยู่ฟากฝั่งโน้นเนือง ๆ จนในที่สุดท้องที่อำเภอนี้ไม่มีเสืออยู่เลย ถึงกับมีคำกลางว่า การที่เสือดุร้ายว่ายข้ามน้ำหนีไปนั้น เพราะเดชะแห่งความกตัญญูกตเวทีอันแรงกล้าของยูงิมหลูประการหนึ่ง และเพราะความที่ยูงิมหลูมีเมตตาปราณีแก่ราษฎร กับทั้งมีความเที่ยงตรงในหน้าที่ ไม่เอนเอียงไปทางอยุตติธรรมเลย เทพดาดินฟ้าอากาศจึงดลบรรดาลให้เสือร้ายหนีไปหมด ข่าวเลื่องลืออันนี้ทราบไปถึงพระเจ้าแผ่นดินล่ำฉี ๆ ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก แล้วโปรดให้ย้ายยูงิมหลูไปเป็นชังเล่งเหล็ง ตำแหน่งนายอำเภอชังเหล็ง ยูงิมหลูเป็นนายอำเภอชังเหล็งครั้งนั้น โจรผู้ร้ายสงบราบคาบ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินโดยสะดวกสบาย อยู่มาวันหนึ่ง ยูงิมหลูกำลังชำระความอยู่ เกิดความสะเทือนใจจนตัวสั่นเหงื่อไหลโซมกายน่าอัศจรรย์ เมื่อความตกใจค่อยคลายลงแล้ว ยูงิมหลูหวนไปคิดถึงทางบ้าน นึกเอะใจขึ้นมาบางทีบิดาคงจะป่วยเจ็บเป็นแน่ จึงสังหรณ์ให้เห็นเหตุประจักษ์ชัดดังนี้ คิดแล้วก็ทำหนังสือลาให้ม้าใช้ถือไปเมืองหลวงและมอบหมายการงานให้แก่ปลัดอำเภอและเสมียนพนักงาน แล้วยูงิมหลูรีบกลับไป พอถึงบ้านก็เห็นบิดาป่วยหนักอยู่แล้ว มีความเสียใจเป็นอันมาก ถามอาการต่อหมอ ๆ บอกว่าอาการป่วยของบิดาท่านครั้งนี้มากนัก เมื่อใคร่จะทราบอาการป่วยให้แน่ชัดว่าจะมากน้อยอย่างไรแน่ ต้องชิมอุจจาระ ถ้ารสอุจจาระเค็มก็ยังพอจะรักษาได้หากอุจจาระรสหวานเป็นหมดหนทางที่จะเยี่ยวยาทีเดียว ยูงิมหลูได้ฟังดังนั้นก็ไม่มีความรังเกียจประการใดเลย เอาอุจจาระของบิดามาชิมดูมีรสหวานก็วิตกยิ่งนัก แต่นิ่งเสียไม่บอกเล่าให้ผู้ใดทราบเรื่องด้วยเกรงว่าลูกหลานทั้งปวงจะเสียใจ ต่อมาไม่ช้ายูเอ๊กจื๊อก็ถึงแก่กรรม บรรดาลูกหลานต่างก็ร้องไห้คิดถึงทุกคน เฉพาะยูงิมหลูร้องไห้เศร้าโศกยิ่งกว่าใครหมด เพราะความรักบิดาเสมอกับชีวติของตน ครั้นคลายความโศกลงแล้ว ยูงิมหลูกับญาติพวกพ้องช่วยกันจัดการศพยูเอ๊กจื๊อตามธรรมเนียม

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินตั้งให้ยูงิมหลูไปเป็นเจ้าเมืองจ๊วกกุ๋นเสฉวน ครั้นต่อมาที่นครหลวงเกิดศึกกลางเมือง พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ล่ำฉีต้องสละราชสมบัติให้แก่เซียวเอี๋ยน ๆ ตั้งตัวเป็นพระเจ้าล่ำเหลียงบู๊เต้ ครองราชย์สมบัติ ณ ปีมะเมียพุทธศักราช ๑๐๔๕ แล้วเรียกยูงิมหลูไปรับราชการที่เมืองหลวง โดยที่พระเจ้าล่ำเหลียงบู๊เต้ทรบนับถือยูงิมหลูมาแต่ก่อนแล้ว ยูงิมหลูทำราชการอยู่ที่นครหลวง มีความชอบได้เลื่อนตำแหน่งหลายครั้ง จนถึงตำแหน่งซัวเขียเซียซี่เป็นขุนนางสูงศักดิ ยูงิมหลูทำราชการสืบมาจนอายุราวเจ็ดสิบปีจึงถึงแก่กรรม ได้รับความสมบูรณ์พูนสุขตลอดอายุ นับว่าเป็นผลอันเนื่องมาแต่ที่ยูงิมหลูมั่นคงในความกตัญญูกตเวทีไม่เสื่อมถอย รักบิดามารดาอย่างยิ่งยวด เคารพนับถือปรนนิบัติด้วยความเต็มใจ หวังที่จะให้ท่านทั้งสองมีความสุขสบาย ด้วยความรู้สึกเท่ากับปรนปรือชีวิตของตนเอง จึงเป็นผู้ที่ควรได้รับความสรรเสริญอยู่ชั่วฟ้าและดิน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ