เทศบาลเกาะหิน ใน พ.ศ. ๒๔๙๘

ตุลาคม ๒๔๙๗

นางสาวเริงระบำ “หยุดงานเมษายนหน้า คุณจะไปไหนค๊ะ”

นายสำนักเลิศ “ยังไม่ทราบ ทราบแต่ว่าไม่ใช่เกาะหิน”

นางสาวเริงระบำ “นั่นซีคะ ใคร ๆ ก็ว่าเบื่อเกาะหินกันหมด”

๏ ๏ ๏

นายกิฬารักษ์ “เมษายนไปชลบุรีกันไหม สนามกอล์ฟใหม่ได้ยินว่าดีนัก”

นายโกฟาดุลย์ “จะสู้สนามบ้านเพได้รึ เอาไว้ตอนปลายปีถึงค่อยทำใจดีกว่า แต่ยังไง ๆ ก็ไม่ไปเกาะหินแน่”

๏ ๏ ๏

นางสาวฉวีวัฒน์ “เมื่อคืนที่เต้นรำ โจษกันถึงชายทะเล ดูใคร ๆ ก็ไม่ไปเกาะหินกันเลย เมษายนหน้า ถ้าเราไปเกาะหิน ก็เห็นจะเหงาแย่ คุณแม่ทราบไหมค๊ะ ว่าเราจะไปไหน”

คุณหญิง “เห็นคุณพ่อพูดถึงสนามคลีที่บ้านปืนอยู่ บางทีจะอยากไปบ้านปืนกระมัง”

นางสาวฉวีวัฒน์ “ดิฉันได้ยินว่า เกาะหลักจะมีแสดงตำนานเรื่องตาม่องล่าย เพราะตาม่องล่ายแกนอนคอยให้แสดงมานานแล้ว ยังขัดข้องอยู่ก็แต่ที่ชะอำแย่งเอาเจ้าลายไปไว้เสีย เกาะหลักอาจสร้างเขาเจ้าลายสมมติขึ้นได้ แต่ชะอำก็มีสิทธิสร้างเขาม่องล่ายสมมติขึ้นได้เหมือนกัน เทศบาลทั้ง ๒ ฝ่าย จะตกลงกันอย่างไรยังไม่ทราบ”

คุณหญิง “ดูพวกเทศบาลชายทะเลแย่งคนเที่ยวกันจริงเทียว ที่จัดการเหล่านั้นขึ้น ก็เพื่อจะล่อให้เราไปเท่านั้นเอง”

นางสาวฉวีวัฒน์ “แน่ละซีคะ คนไปชายทะเลไม่ได้ไปมือเปล่า เอาเงินไปจ่ายด้วยกันทุกคน คนยิ่งไปมาก รายได้ของท้องที่ก็ยิ่งมาก ที่โจษกันที่เต้นรำเมื่อคืน ก็เพราะพวกเทศบาลชายทะเลกำลังคิดเตรียมการกันเนิ่น ๆ ทั้งนั้น ที่เกาะหินไม่มีใครคิดจะไป เพราะว่าเทศบาลที่นั่นต้วมเตี้ยมนัก”

พฤศจิกายน ๒๔๙๗

รายงานประชุมเทศบาลเกาะหิน

ประธาน “ท่านทั้งหลายย่อมทราบแล้วว่า บ่อเกิดแห่งรายได้แห่งเราก็คือทะเล ทะเลให้รายได้แก่เรา เพราะปลาเป็นสินค้าสำคัญของถิ่นนี้นั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะทะเลให้โอโซนอันเป็นโอสถ โอสถคือโอโซนย่อมพาซึ่งบุคคลเหนื่อยงานผู้แสวงความสดชื่น อนึ่งทะเลเป็นอย่างอาบน้ำใหญ่ สะอาดกว่าอ่างที่ราชกรีธาสโมสรในกรุงเทพฯ ไม่ต้องพะวงว่า ใครจะพาเชื้อโรคผิวหนัง ตาแดง ฯลฯ มาปล่อยไว้ แลทั้งมีหาดทรายขาวสะอาดกว่างทรายบางบัวทอง อาจสร้างค่ายคูประตูหอรบได้สนุกกว่าก่อพระทรายในลานวัด ในน้ำมีแมงกระพรุนนานาวรรณอันบุคคลพึงพิศวง มีงูหลายสิบอย่าง ซึ่งถ้ากัดคนก็ตาย แต่บุคคลไม่พึงให้กัด เพราะอาจลอยเรือดูได้ในน้ำใสอันเห็นลงไปลึก ส่วนบนหาดนั้นเล่า ก็มีปูลมอันไวไม่เหมือนลม แต่ไวกว่ามือบุคคลโดยมากที่พยายาม แลมีก้ามอันไวด้วย กลางคืนเวลาเดือนหงายแจ่ม ถ้าคอยดูในที่กำบัง ก็อาจได้เห็นเสือลายตลับไล่จับปูเหล่านั้นเป็นอาหารว่าง เพลินกว่าดูละครสัตว์ในกระโจมผ้าใบเป็นอันมาก

ความสามารถของทะเลในการชักจูงให้คนมาเที่ยวนั้น มีมานานแล้ว แท้จริงมีมานานกว่ามนุษย์ แลมนุษย์ดั้งเดิมก็มีชาติมาจากสัตว์ที่ขึ้นมาจากทะเลนั้นเอง พูดตามความรู้วิทยาศาสตร์ ถ้าถอยหลังไปไม่กี่แสนปี สัตวซึ่งเป็นต้นเค้าของมนุษย์ ก็ยังมีสำนักอยู่ในทะเล แต่ถ้าพูดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสร้างหรือเรื่องพวกพรหมลงมากินง้วนดิน ก็ไปอีกทางหนึ่ง

แม้มนุษย์เป็นเทือกเถาของสัตวที่ขึ้นมาจากทะเลเช่นว่านั้นก็จริง แต่ในสมัยนี้ มีคนเป็นอันมาก ซึ่งเมื่อถึงวันหยุดงาน ก็ไม่ไปทะเลเพื่อทะเล ถ้าไปก็ไปเพื่อเหตุอื่น เช่นเพื่อยิงสัตว์บก เพื่อกอล์ฟ และเพื่อเฟลิตเป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างย่อมหาได้ในที่อื่น ๆ เท่าๆกัน เหตุฉะนี้เทศบาลชายทะเล จึงต้องจัดการชักจูงให้คนมาเที่ยวโดยอุบายนานัปการ เช่นเกาะหลักหรือชะอำจะแสดงตำนานตาม่องล่าย ในฤดูคนเที่ยวคือเมษายนหน้านี้เป็นต้น”

ขุนพัฒนโภคพานิช “ผมเห็นว่า”

ประธาน “ช้าก่อนท่านขุน ให้ผมพูดเสียให้จบก่อน”

ขุนพัฒน์ “ขอรับ ขอรับ ขอโทษ ขอรับ”

ประธาน “ เทศบาลท้องที่ชายทะเลอื่น ๆ กำลังเตรียมการเพื่อจะแย่งคนเที่ยวโดยอุบายต่าง ๆ เราที่เกาะหินนี้ ออกจะได้ชื่อว่าต้วมเตี้ยมอยู่สักหน่อย ถ้าเรานิ่งเฉยอยู่ เมษายนหน้านี้ มีคนมาน้อย รายได้ของเราก็จะตกต่ำที่สุด พวกเราที่นั่งประชุมกันอยู่นี้ บางคนเคยอยู่ในกรรมการเทศบาลชุดก่อนก็จริง แต่เราจะยอมสารภาพว่า กรรมการชุดก่อนเพลียมาก ถ้าเราไม่คิดแก้ตัวปีนี้ ก็จะเลยโซมใหญ่ ผมเห็นว่าเราจะทำอะไรใหม่ ก็จะต้องทำให้ดีกว่าของใหม่ ๆ ที่เทศบาลอื่น ๆ ทำ เพราะเราอยู่ล้าหลัง ถ้าทำไม่ดีกว่า ก็ไล่หลังเขาไม่ทัน เราจะต้องช่วยกันคิดแลตรึกตรองให้รอบคอบ”

นายอินธน์ พานิช “ผมเห็นทาง ๆ หนึ่งที่คิดว่าจะทำได้ดี คือว่า....”

ประธาน “ผมก็เห็นทางอยู่บ้างแล้ว แต่คุณจะแสดงความคิดของคุณก่อนก็ได้ จะได้มีทางเลือกหลาย ๆ ทาง”

นายอินธน์ “ผมคิดว่าควรจัดให้มีนางเงือกขึ้นที่ก้อนหิน ซึ่งโผล่น้ำอยู่ห่างฝั่งไม่กี่มากน้อย ดูจากหาดทรายเห็นได้ถนัด ให้เงือกขึ้นเวลาน้ำลง หินโผล่มาก ๆ ขึ้นมานั่งหวีผมส่องกระจก สะบัดหางแลทำกิริยาต่าง ๆ ซึ่งนางเงือกย่อมจะทำ”

หมื่นวาลุการักษ์ (กำนัน) “คุณอินธน์คิดดี ผมเห็นด้วย ลูกสาวผมว่ายน้ำได้นาน ๆ แลดำทนที่สุด เป็นเสมียนอยู่ห้างมัจฉาพานิช ทำบัญชีปลามานานแล้ว ย่อมจะเข้าใจหน้าที่นางเงือกได้ดี”

นายชาลาชีพ “ต่างว่าลูกสาวท่านกำนันกำลังเป็นเงือกอยู่ที่ก้อนหิน เผื่อคนลงเรือเข้าไปดูใกล้ ๆ จะทำอย่างไร”

หมื่นวาลุการักษ์ “ก็ต้องดำน้ำหนีไปแอบหินก้อนอื่น ลูกสาวผมดำน้ำทน คุณอย่าวิตก”

นายชาลาชีพ “เผื่อเขาเอาแหไปทอดล่ะ”

นายอินธน์ “ต้องปรึกษาสมาคมสงเคราะห์สัตว์ ขอให้สงเคราะห์เราสักหน่อย”

นายชาลาชีพ “เราจะอยู่นอกวงงานของสมาคมนั้นกระมัง คุณ”

นายอินธน์ “คือขอให้ช่วยแนะนำว่า สัตว์ไม่มีภัย แลหายาก เมื่อได้คำแนะนาแล้ว เราก็ออกข้อบังคับห้ามจับนางเงือก และปักเสาเขตไม่ให้เรือเข้าไปใกล้หินหมู่นั้น”

เลขานุการ (พลิกดูบันทึก) “ผมมีบันทึกว่าบ่อแขมประกาศแล้วว่า นางเงือกจะขึ้นที่นั่นเดือนเมษายน”

ประธาน “ถ้าอย่างนั้น เราต้องปิดฉากนางเงือก ใครมีความคิดเห็นอย่างอื่นอีกบ้าง”

นายอินธน์ “ทำสวนโครำจะเป็นอย่างไรขอรับ”

ขุนพัฒน์ “เข้าที ข้างบ้านผมในกรุงเทพ ฯ เขาเลี้ยงวัวมีวัวตัวหนึ่งงามเหลือเกิน ถ้าหัดให้รำได้ก็คงจะดีเป็นแน่”

นายอินธน์ “เวลาโครำโดดจากหน้าผานี้ไปหน้าผาโน้นน่าดูนัก น้อยคนจะเคยเห็น ถ้าสวนโครำของเรากั้นเขต มีหน้าผาให้มันโดดได้คนคงจะไปดูมาก”

ขุนพัฒน์ “รำแล้วยังต้องโดดด้วยหรือคุณ วัวตัวที่ผมว่าถึงจะหัดให้รำได้ ก็เห็นจะโดดหน้าผาไม่ไหว ตัวมันหนักนัก”

นายอินธน์ “ผมพูดถึงโครำต่างหากล่ะท่านขุน”

ขุนพัฒน์ “ผมก็พูดถึงโคน่ะซีคุณ แต่มันยังรำไม่เป็น”

เลขานุการ “สวนโครำก็เห็นจะขัดข้อง เทศบาลเขาเต่าสั่งหาโครำอยู่แล้ว ยังไม่ทราบว่าจะทำอะไรแน่”

ประธาน “ปิดฉากโครำอีก อีเก้งล่ะ”

เลขานุการ “เทศบาลหัวหินเตรียมทำสวนอีเก้ง กั้นบริเวณใหญ่ไว้ในป่า ใครจะเข้าไปยิงอีเก้ง ต้องเสียค่าผ่านประตู แลให้มีลูกปืนลูกเดียว”

นายชาลาชีพ “เอ๊ เอาอีเก้งมาแต่ไหนหวาดไหว ค่าผ่านประตูเท่าไรคุณ”

เลขานุการ “ได้ยินว่า คิดราคาขึ้นไปแลลงตามจำนวนอีเก้งที่มีในสวน ต้นฤดูมีอีเก้งหลายตัว ก็คิดค่าผ่านประตูมาก อีเก้งเหลือน้อย ก็ลดค่าผ่านประตูลงไป เมื่อไม่มีอีเก้งเหลือเลย ก็คิดค่าผ่านประตูบาทเดียว”

ประธาน “ทีนี้เชิญฟังความคิดของผมบ้าง นาคทะเลคุณจะเห็นอย่างไร”

นายอินธน์ “คืออย่างไรขอรับ นาคทะเล”

ประธาน “นาคทะเล คืองูน้ำโตเท่าลำตาล ซึ่งบางทีชาวเรือเดินทะเลเห็นโผล่ขึ้นมาจากน้ำ บางทีก็เห็นว่ายไปหลังน้ำ หมู่นี้ถึงแก่เห็นจากบนบกก็บ่อย ๆ เช่นเมื่อไม่กี่เดือนนี้ มีผู้ยืนยันว่า เห็นจากฝั่งฝรั่งเศส ทำนองเดียวกับที่คนหลายคนกล่าวว่า เห็นสัตว์น้ำใหญ่ที่ลอคเน็สส์ในสกอตแลนด์”

นายอินธน์ “เห็นเวลาไหนขอรับ”

ประธาน “ไม่ใช่เห็นเมื่อกลับจากโรงเหล้าอย่างที่คุณนึกดอกน่า นาคทะเลนั้น อันที่จริงคนเดินทะเลเห็นอยู่เสมอ ๆ แต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะไม่มีใครเชื่อ ผมก็เคยดู”

นายอินธน์ “คืออย่างไรขอรับ”

ประธาน “คือมีผู้ชี้ให้ดู ผมก็ดู แต่ไม่เห็น เขาว่ามันจมไปเสียแล้ว”

นายอินธน์ “ก็เราจะทำอย่างไรเล่าขอรับ จึงจะได้นาคทะเลมาสักตัวหนึ่ง”

ประธาน “นาคทะเลอย่างที่ผมนึกนี้ มันคนละอย่าง เพื่อนหนุ่มของผมคนหนึ่ง เพิ่งกลับมาจากอเมริกา บอกว่าห้างอะไรผมจำชื่อไม่ได้ ทำนาคทะเลขาย ถ้าเราซื้อมาได้สักตัวหนึ่ง เราก็เอาไปจมไว้ในทะเล มีสายไฟฟ้าล่ามมาถึงฝั่ง ซ่อนให้มิดชิด คนอยู่บนฝั่ง อาจทำให้มันชูหัวเป็นลำตาลขึ้นมาจากน้ำก็ได้ ทำให้ร้องก็ได้ ด้วยวิธีเปิดแลปิดสวิทส์อยู่บนฝั่งทั้งนั้น ถ้าจัดอย่างนี้ก็ไม่ต้องกลัวเรือจะเข้าไปดูใกล้ ๆ หรือกลัวใครจะไปทอดแห มีแต่จะกลัวกันลานไปเท่านั้นเอง ผมนึกว่า ถ้าเขาทำขายจริงดังว่า แลเราลงทุนสั่งเข้ามาเงียบ ๆ ก่อนเมษายนหน้า เมื่อถึงคราวประกาศให้ดี พวกเที่ยวตามชายทะเลก็คงจะมานี่หมด นางเงือกที่บ่อแขม ตำนานตาม่องล่ายที่เกาะหลักหรือชะอำ สวนโครำที่เขาเต่า สวนอีเก้งที่หัวหินก็จะเก้อตามกันไปหมด”

ขุนพัฒน์ “ผมยังมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง จะต้องลงทุนมากหรือน้อยยังไม่ทราบ แต่ดูเหมือนจะดีกว่านาคทะเลชนิดที่คุณว่า เพราะเป็นของจริง คือว่าที่วัดศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งบนเขาในแดนธิเบต หลวงจีนองค์หนึ่งมีวิชาเรียกมังกรได้ เรียกเอามาเลี้ยงไว้หลายตัวจนเกิดลูกหลาน สมัยนี้เศรษฐกิจตกต่ำ ถึงแม้บนเขาสูงก็ต่ำ ได้ทราบว่าแม้เศรษฐกิจของสูงก็ต่ำลง ถ้าจะขอซื้อมังกรสักตัวหนึ่งก็ได้”

ประธาน “ท่านขุนพูดถึงสัตว์หายใจเป็นไฟ สี่เล็บบ้างห้าเล็บบ้าง ชนิดที่อยู่บนอ่างเคลือบใช่ไหม”

ขุนพัฒน์ “นั่นแหละขอรับ แต่ว่าผิดกันบ้างที่ลวดลายละเอียด ตัวจริงไม่งามเหมือนรูปเขียน แล้วผิดกันสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือมังกรบนอ่างเคลือบเหาะได้ มังกรตัวจริงเหาะไม่ได้ ไม่เที่ยวเกะกะบนฟ้ากีดเรือเหาะ”

ประธาน “ก็เรื่องหายใจเป็นไฟละ มิไหม้บ้านเรือนหมดหรือ”

ขุนพัฒน์ “ ได้ยินว่าไม่รู้ร้อนขอรับ ถ้าให้หายใจรดไข่ก็ตั้ง ๑๐ นาทีจึงจะเป็นยางตูม”

ประธาน “แต่มันเป็นมังกรชาติภูเขา นี่เราอยู่ทะเล จะเป็นประโยชน์อะไรล่ะ”

ขุนพัฒน์ “ธรรมดามังกรมันชอบทะเลเสมอขอรับ ประเทศธิเบตอยู่บนเขาสูงไม่มีทะเล มันก็อยู่ได้ แต่ถ้ามีทะเลมันชอบมากกว่า”

ประธาน “ฉันยังหนักใจ จะต้องทำกรงใส่มันหรืออย่างไร แล้วจะเอาอาหารที่ไหนให้มันกินหวาดไหว”

ขุนพัฒน์ “ไม่ต้องวิตกขอรับ ไม่ต้องมีกรง ไม่ต้องจัดอาหารให้มันกิน ปล่อยมันลงทะเล มันก็จับปลากินเอง เราต้องปล่อยมันลงทะเล เพราะเหตุ ๒ อย่าง เพื่อให้มันหาอาหารกินเองอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะมันเป็นสัตว์เมืองหนาว มาอยู่เมืองเราทนร้อนไม่ได้ ก็น่ากลัวจะตาย หรือถ้าไม่เช่นนั้น ความร้อนแห่งอากาศของเราอาจเข้าไปช่วยความร้อนแห่งไฟในตัวของมันให้แรงขึ้น เคยต้มไข่ยางตูมใน ๑๐ นาที มาอยู่นี่จะไหม้ไข่หมด เลยเปลืองไข่เปล่า ๆ ก็เป็นได้ เพราะเหตุดังนั้น จึงต้องปล่อยให้มันอยู่ในทะเล”

ประธาน “ปล่อยมังกรลงทะเล ก็เหมือนปล่อยเสือเข้าป่าไม่ใช่หรือท่านขุน”

ขุนพัฒน์ “ก็เหมือนกันขอรับ แต่เรามีความรู้พิเศษ มีเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ได้ คือว่า เราสั่งซื้อมังกรที่เขาฝึกจนติดฝิ่นแล้ว พอถึงเวลากระหายฝิ่น มันก็ต้องมาหาเราทุกวัน เราต้องเตรียมฝิ่นไว้ให้ถูกเวลาของมันเสมอ ถ้าวันไหนมันอาละวาด เราก็ไม่ให้ฝิ่น เป็นวิธีบังคับให้มีสัมมาคารวะไปในตัว”

ประธาน “เราจะได้ฝิ่นที่ไหนมาให้มันกินหวาดไหวล่ะท่านขุน รายได้จะไม่คุ้มโสหุ้ยกระมัง”

ขุนพัฒน์ “ ได้ยินว่าฝิ่นไม่ต้องมากขอรับ แล้วว่าปนใบกระท่อมก็ได้”

ประธาน “ท่วงทีก็ชอบกล ผมเข้าใจตามที่ท่านขุนเล่าว่า เวลาที่มังกรอยู่ในทะเล เราจะบังคับให้มันโผล่หัวเมื่อไร ให้ว่ายน้ำผ่านตรงไหน หรือห้ามไม่ให้ร้องก้องจนปลุกให้ตื่นเวลา ๓ ยามนั้นไม่ได้ แต่มันอาจไปโผล่ที่หัวหิน เขาเต่า ชะอำ หรือข้ามไปศรีราชาก็ได้ เงินรายได้ของเราจะเกิดมาก ในเวลาที่มันขึ้นมากินฝิ่น พวกเที่ยวชายทะเล ถ้าอยากจะดูมังกรต้องมาที่นี่ จึงรู้แน่ว่าจะได้เห็น ถ้าไปที่อื่นจะได้เห็นหรือไม่ได้เห็นก็ไม่แน่ พวกที่มาที่นี่ถ้านั่งอยู่ตามเฉลียงโฮเต็ลหรือตามหาดทราย หรือที่ไหนก็ตาม ได้เห็นมังกรว่ายน้ำในทะเล เท่านี้ก็คุ้มค่ามาแล้ว ถ้าได้ดูมังกรกินฝิ่นด้วย ก็ได้เปรียบเกินไป เพราะฉะนั้นเราต้องขายตั๋วเก็บเงินอีกชั้นหนึ่ง เราต้องกั้นรั้วให้มิดชิด เปิดด้านทะเลไว้ให้มันขึ้นลง วางอ่างฝิ่นไว้กลาง มีที่ให้คนนั่งดูรอบ เห็นจะต้องมีลวดตาข่ายกั้นให้คนดูอยู่นอกลวด มิฉะนั้นคนขี้ขลาดจะไม่ซื้อตั๋วเข้าไปดู ถ้าไม่มีลวดคั่น จึงแม้ลวดจะไม่แข็งแรง คนดูก็รู้สึกเหมือนว่า มังกรอยู่ในกรง คนดูอยู่นอกกรง”

นายชาลาชีพ “ผมนึกว่ารั้วมิดชิดนั้น ต้องชักปีกกายื่นลงไปในทะเลทำนองเพนียด เพื่อจะกันไม่ให้คนไม่ซื้อตั๋วไปคอยอยู่ที่ชายหาด”

ประธาน “ถูกแล้ว เราจะต้องคิดละเอียดกันอีกมาก แต่เรื่องนี้ที่ประชุมเห็นอย่างไร ก็ต้องลงมติกันเสียชั้นหนึ่งก่อน

นายอินธน์ “ผมเสนอว่า ควรขอให้ท่านขุนพัฒน์เขียนจดหมายไปสืบมาให้แน่นอนจากธิเบตว่า ราคามังกรเท่าไร ค่าส่งเท่าไร การเลี้ยงดูต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนนาคทะเลนั้น ขอให้ประธานจัดการสืบให้ทราบอย่างเดียวกัน เมื่อทราบถ้วนถี่แล้ว จึงปรึกษากันใหม่”

ประธาน “ นายอินธน์เสนอญัตติอย่างนั้นหรือ ใครรับรอง อ้อ นายชาลาชีพรับรอง ใครเห็นชอบตามญัตติโปรดยกมือ ดีแล้ว เป็นอันเห็นชอบพร้อมกันหมด

เลิกประชุม

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๙ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ