หนังสือแลคำพูด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาผู้แทนราษฎรปรึกษาลงมติกันในเรื่องตัวสะกด คำว่าอาชญาหรืออาญา ซึ่งแต่ก่อนโดยมากเขียนอาญา แต่มาตอนหลังโดยมากเขียนอาชญานั้น ลงมติให้เขียนอาญากันใหม่

เราเปิดดูสมุดซึ่งถูกติมาก แต่อันที่จริงมีประโยชน์มากกว่ามีตำหนิหลายร้อยเท่า คือปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ สมุดนั้นมีคำอาญา แต่บอกว่าควรใช้อาชญา

๏ ๏ ๏

เราเป็นนักกลอน จึงเห็นชอบที่ควรใช้อาชญาในที่บางแห่ง เป็นต้นว่า “ไป่ลี้หนีราชอาชญา จักฆ่าหรือเฆี่ยนเจียนตาย” แตในที่บางแห่งก็จำต้องใช้อาญา ดังตัวอย่าง “นางจึงแจ้งแก่มารดา ว่าอาญาเมืองเรื่องใหญ่”

๏ ๏ ๏

สภาผู้แทนราษฎร ปรึกษาลงมติตัวสะกดที่จะเขียนลงในกฎหมายเท่านั้น มิใช่เพียรจะบังคับตัวสะกดทั่วไป ส่วนปทานุกรมนั้น เมื่อพิมพ์คราวหน้า ถ้าตัดคำว่า “ควรใช้อาชญา” ออกเสียแล้วเขียนอย่างอื่นแทนก็จะดี

๏ ๏ ๏

ในเรื่องตัวสะกดทั่วไป อาจกล่าวตามตำราได้ว่า คำหนึ่ง ๆ นั้น ตัวจริงของมันอยู่ที่สำเนียง ไม่ใช่อยู่ที่ตัวสะกด ตัวสะกดไม่ใช่คำ เป็นเครื่องหมายให้รู้สำเนียงเท่านั้นเอง สำเนียงคำอาจเปลี่ยนไปได้ตามเวลา แลตามภูมิประเทศ แลสำเนียงคำที่ใช้ในสมัยใดหรือที่ใด ก็คือตัวจริงของคำในสมัยนั้น แลที่นั้น

ตามที่เรากล่าวข้างบนนี้ เรานึกเป็นอังกฤษแล้วเอามาเขียนลงเป็นไทยสงสัยว่า จะยังไม่เข้าใจกันสนิท จึงอยากจะกล่าวซ้ำอีกว่า สำเนียงคือตัวคำ ตัวสะกดคือเครื่องหมายสำเนียง เท่านั้น

เมื่อกล่าวซ้ำเช่นนี้แล้ว ก็อยากจะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ซ้ำเป็นภาษาอังกฤษเสียเลยทีเดียว The Pronounciation actal There is Living form or forms of a word that is to say the word itself of which the spelling is only a symbolisation.

ที่กล่าวแจ่มแจ้งแล้วแน่ แต่เผื่อท่านจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ จะขอชักตัวอย่างให้เห็นอีกชั้นหนึ่ง

คำไทยมีคำหนึ่งว่า “สาน” แปลว่าเรือน ใช้เช่น สานเจ้า สานยุติธรรมเป็นต้น คำนี้สำเนียงว่า สาน ที่ออกมาจากปากผู้พูดนั้น คือตัวคำ ส่วนตัวสะกดสานก็ตามหรือศาลก็ตาม เป็นเครื่องหมายซึ่งเขียนไว้บนกระดาษเท่านั้น เราเก็บสำเนียงว่าสานไว้บนแผ่นกระดาษไม่ได้ แต่เราเขียนเครื่องหมายสานไว้ได้ เราจึงนัดกันว่า เมื่อเห็นสาน จงออกเสียงว่า สาน ฉะนี้

๏ ๏ ๏

สมัยนี้เราเก็บสำเนียงไว้บนแผ่นเสียงได้ แต่เก็บไม่ได้สะดวกเหมือนเก็บเครื่องหมาย (คือตัวหนังสือ) ไว้บนแผ่นกระดาษ เราจะใช้แผ่นเสียงแทนเขียนจดหมายไม่ได้อยู่เอง

เครื่องเทียบข้อความที่กล่าวนี้ ซึ่งจะทำให้เห็นชัดขึ้นอีก ก็คือเพลงดนตรี ต่างว่าเพลงสีนวลเขียนเป็นโน๊ตซอไว้ ผู้สีซอดูโน๊ตแล้วสีออกมาเป็นเพลงสีนวลฉะนี้ ซอไม่ใช่เพลง โน๊ตก็ไม่ใช่เพลง เพลงคือเสียงที่ออกมาจากซอ ถ้าเทียบกับคำพูด ซอคือปากคน โน๊ตคือหนังสือ แลเสียงที่ออกมาจากปากนั้นแหละคือตัวจริงของคำ

๏ ๏ ๏

เมื่อได้ชี้แจงซับซ้อนเช่นนี้แล้ว ท่านก็คงจะเข้าใจได้ว่า ที่ว่าตัวจริงของคำคือเสียงที่ออกมาจากปาก ตัวหนังสือแลตัวสะกดเป็นเพียงเครื่องหมายให้ออกเสียงนั้น หมายความอย่างไร

ถ้าพิจารณาทางนี้ ตัวสะกดก็สำคัญน้อยเข้า ท่านจะเขียนเครื่องหมายว่า สานเจ้า ก็ตาม หรือศาลเจ้าก็ตามใจ ถ้าออกเสียงว่า สานเจ้า แล้ว ก็ได้ตัวจริงของค่า ๒ คำนั้น

๏ ๏ ๏

สำเนียงคือตัวจริงของคำนั้นเปลี่ยนได้ มิใช่ว่าไม่เปลี่ยน เป็นต้นคำว่า “เพี้ย” (พญา) เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น พระยา ไปโดยมาก ในสมัยนี้ ถ้าเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาว่า เพี้ย ก็เห็นจะโกรธ

แต่ความเปลี่ยนของสำเนียงคำนั้นนาน ๆ จะเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนทีละร้อยละพัน แลเปลี่ยนถี่เหมือนตัวสะกด นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะถ้าเปลี่ยนสำเนียงคำ ก็มักทำให้คนฟังสำคัญผิด แต่การเปลี่ยนตัวสะกด เป็นเหมือนเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว จะนุ่งผ้าแล้วเปลี่ยนไปนุ่งกางเกงฝรั่ง แล้วย้อนมานั่งผ้าอีก หรือจะย้ายไปนุ่งโสร่งอย่างแขกมลายูก็ตาม ก็ยังจำหน้ากันได้

๏ ๏ ๏

การเปลี่ยนตัวสะกดนั้น บางทีเราก็เปลี่ยนเพราะรู้ บางทีก็เปลี่ยนเพราะโง่ การเปลี่ยน สาน เป็น ศาล นั้น เปลี่ยนเมื่อไรก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่า เมื่อแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้ายังไม่ได้เปลี่ยน เห็นได้ที่ท่านเขียนไว้ว่า “ลูกขุน ณ สานหลวง ลูกขุน ณ ศาลา” เป็นต้น เหตุที่เปลี่ยนนั้น เพราะไม่รู้ว่า สาน เป็นคำไทย แลเปลี่ยนโดยคติที่ว่า สิ่งไรเราไม่รู้ สิ่งนั้นผิดหมด เราไม่รู้คำไทยเก่าของเราเอง คือ สาน เราก็บัญญัติว่าผิด ต้องเข้าหาทางที่เรารู้ คือเอาคำไทยไปยกให้เป็นคำแขก เรารู้ว่าคำสํสกฤตมีว่า ศาลา เรานึกว่า สาน ก็คือ ศาลา นั่นเอง ต้องเปลี่ยนเขียนเป็น ศาล จึงจะถูกตามรูปศัพท์ที่มาจากสํสกฤต การที่แก้ไปเช่นนี้ แสดงว่าเราไม่รู้จริงทั้ง ๒ ภาษา ภาษาไทยก็ไม่รู้จริง เพราะไม่รู้คำไทยแท้ ๆ ของเรา และสํสกฤตก็ไม่รู้จริง เพราะในภาษานั้น ศาลา ต้องมีสระอาต่อตัวล ถ้าตัดสระอาออกเสีย เหลือแต่ศาล ก็แปลว่า เรือนไม่ได้ ต้องแปลว่า ต้นรัง หรือถ้าจะแปลให้ใกล้เรือนเข้าไปหน่อย ก็พอแปลได้ว่า รั้ว ซึ่งยังไม่ใช่เรือนอยู่นั่นเอง

ที่เราเขียนตามข้างบนนี้ ก็เป็นแต่เพียงบ่นเท่านั้นเอง อันที่จริงจะเขียน ศาล หรือ สาน ก็เป็นเครื่องหมายให้ออกสำเนียงว่า สาน เท่านั้น

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๔ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ