วิธีของหัวหน้าคน

ได้ยินกล่าวกันว่า ห้องทำงานของซินยอ มุสโสลินีเป็นห้องยาวแคบ โต๊ะของมุสโสลินีตั้งอยู่ปลายห้อง ตรงข้ามกับทางเข้า ผู้จะเข้าไปหาต้องเดินไกลจึงจะถึงโต๊ะ ที่ใช้ห้องยาวแลตั้งโต๊ะปลายห้องเช่นนี้ ไม่ใช่เพื่อจะรักษาตัว เพราะเกรงคนเข้าไปทำร้าย แต่กล่าวกันว่า คนที่เข้าไปหามักจะ ประหม่า เมื่อโผล่เข้าไปในห้อง กว่าจะเดินเข้าไปถึงโต๊ะ ก็มักลืมคำที่เตรียมเข้าไปจะพูด ในที่สุด มีอะไรจะพูดก็พูดออกมาวุ่น ๆ ไม่มีถ้อยคำเป็นเครื่องประดับ เป็นการเสียเวลาน้อยเข้า

สตาลินผู้บงการประเทศรัสเซียใช้แบบเดียวกับมุสโสลินีอย่างหนึ่ง คือว่าเมื่อเจ้าหน้าที่นำเรื่องเข้าไปเสนอขอคำสั่ง ก็ถามเสียก่อนว่า เจ้าหน้าที่เห็นอย่างไร ธรรมดาผู้บงการประเทศ ย่อมจะคล่องในการมีความเห็น เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกถามว่าเห็นอย่างไร ก็ทราบว่านายของตามความเห็นแล้ว บางคนก็พยายามเคารพความเห็นนาย เพื่อตัวเองจะได้ออกความเห็นให้เหมือน แต่ก็เดาถูกบ้างผิดบ้าง ไม่ช้านายก็จับแววได้ วิธีนี้เขาว่ามุสโสลินีเอามาจากหนังสือ อิล ปรินซิป ซึ่งนักปราชญ์อิตาเลียนแต่งไว้หลายร้อยปีแล้ว แต่สตาลินนั้นนัยว่าวิธีนี้ “เกิดในบัณฑิต”

๏ ๏ ๏

เรื่องนี้เป็นเรื่อง ติโอดอร์รุซเว็ลต์ กับตาฟต์ ซึ่งเป็นเปรซิเด็นต์ของสหรัฐอเมริกาทั้ง ๒ คน แต่เป็นคนละคราว

ครั้งหนึ่งรุซเว็ลต์ไปในแคว้นวิยอมิง มีคนมาคอยพบเป็นแถวยาว เข้าไปจับมือด้วยทีละคน ล้วนแต่เป็นพวกยินดีต่อรุซเว็ลต์ทั้งนั้น ธรรมดาเมื่อไปในที่แปลกแลมีคนแปลกหน้ามาหามากมายเช่นนั้น การที่จะทักทายว่ากระไรเป็นของแสนยาก เพราะคนเก่าไป คนใหม่มาอยู่แทบทุกนาที เปรซิเด็นต์ต้องจับมือด้วยแลปราศรัยตามแต่จะคิดออก เป็นกลอนสดทั้งนั้น ถ้าไม่รู้จักแลไม่รู้จักทักว่ากระไรก็จับมือว่าสบายตี หรือเพียงแต่ยิ้มแสดงไมตรีเท่านั้นเอง

มีนักเขียนหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเป็นผู้รู้จักคนในแถบนั้นมาก ผู้นี้ยืนอยู่ข้างรุซเว็ลต์ คอยกระซิบบอกให้รู้ตัวว่า คนไหนที่เดินเข้าแถวเข้ามาใกล้จะถึงเป็นคนสำคัญ

นักเขียน “คนหนวดครึ้มที่มานั่นเป็นคนภักดีต่อท่านมาก ท่านคงจำได้”

รุซเว็ลต์ “จำไม่ได้”

นักเขียน “เคยไปกินข้าวกลางวันกับท่านที่ไวต์เฮ้าส์ (ชื่อบ้านเปรซิเด็นต์) ชื่อวัตซัน”

รุซเว็ลต์ “เป็นอันรู้จัก มีลูกกี่คน”

นักเขียน “มี ๕ คน อ้อ, มี ๖ คน เพิ่งออกใหม่คนหนึ่ง เมื่อสองสามวันนี้เอง”

อีกประเดี๋ยวเดียววัตซันก็เข้าไปถึง รุซเว็ลต์ยื่นมือ ๒ มือไปจับมือวัตซันสั่น “ดีใจจริงที่พบท่านวันนี้ ฉันจะไม่ลืมชั่วโมงที่เราคุยด้วยกันที่วอชิงตันวันนั้น ลูกสบายอยู่ทั้ง ๕ คนหรือ อ้อ, ประเดี๋ยว ขอโทษ ผิดไป ๖ คน มีใหม่อีกคนหนึ่ง”

วัตซันเป็นผู้มีคนนับหน้าถือตาอยู่ในแคว้นนั้น เคยภักดีต่อรุซเว็ลต์มาแล้ว ตั้งแต่วันนั้นก็เลยบูชา

ต่อนั้นมานักเขียนหนังสือพิมพ์คนเดียวกันไปกับเปรซิเดนต์ตาฟต์ในที่อีกแห่งหนึ่ง มีการรับแขกแลมีแขกมาจับมือกับเปรซิเด็นต์เรียงเป็นแถวยาวตามเคย ครั้นมีคนหนึ่งเข้ามาใกล้ นักเขียนหนังสือพิมพ์ก็กระซิบว่า “คนผมพริกไทยกับเกลือนั้น เป็นคนนับถือท่านมาก ท่านคงจะจำหน้าได้”

ตาฟต์ “จำไม่ได้ ชื่อไร”

นักเขียนกระซิบบอกชื่อ แต่เปรซิเด็นต์กระซิบตอบว่า นึกหน้าไม่ออก

ครั้นผู้นั้นเข้าไปใกล้ เปรซิเด็นต์ตาฟต์ก็จับมือโดยอัธยาศัยอันดีแล้วว่า “เขาบอกฉันว่า ฉันควรจำท่านได้ แต่นึกไม่ออกเลย”

ผู้นับถือผู้นั้นเลิกนับถือเปรซิเด็นต์ตาฟต์แต่วันนั้นมา

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๖ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ