ลอกร่องน้ำสันดอน และ ขยายท่ากรุงเทพ ฯ

ท่านที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยตรัสปาฐกถาในสมาคมผู้แทนราษฎรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทรงตั้งเรื่องว่า “การติดตลาดโลกในสยาม ตามรายงานสันนิบาตชาติ จักให้คุณแก่เราอย่างไรในทางเศรษฐกิจ ?” เป็นเรื่องซึ่งผู้อ่านของเราคงจะสนใจฟังกันมาก เหตุว่า ถ้าทำสำเร็จไป ก็จะเป็นชิ้นใหญ่ในการบำรุงประเทศ เป็นชิ้นซึ่งมีลู่ทางจะทำให้ดีตามความเห็นของกรรมการผู้เชี่ยวชาญ แลจะเข้าชุดได้กับงานบำรุง เช่นรถไฟ ชลประทาน ทำทางเป็นต้น ท่านที่ปรึกษาทรงเมตตาให้หัวข้อปาฐกถามาแก่เรา แลอนุญาตให้ใช้ได้ ในเวลาตรัสท่านได้ชี้แจงด้วยวาจาบรรยายความตามหัวข้อนี้ออกไปเป็นอันมาก แต่ในที่นี้ท่านอนุญาตให้เราชี้แจงเพิ่มเติมตามความรู้ของเรา ผู้ได้เคยสนใจคิดแลสดับตรับฟังมานาน เพื่อให้ผู้อ่านของเราที่ไม่ได้ฟังท่านบรรยายด้วยวาจา เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นกว่าเพียงที่จะอ่านทราบได้จากหัวข้อซึ่งท่านวางไว้เป็นโครงปาฐกถาเท่านั้น

เราควรจะเล่าย้อนหลังไปสักหน่อยว่า การลอกร่องน้ำสันดอนให้ลึกแลกว้างพอให้เรือเดินทะเลใหญ่ ๆ เข้าออกได้สะดวกนั้น ย่อมเป็นปัญหาซึ่งคำนึงกันมาช้านานแล้ว แต่ว่าในสมัยก่อน มีวิตกกันว่า ถ้าทำร่องน้ำให้เรือใหญ่เดินได้สะดวก ก็จะเป็นชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ชักน้ำเข้าลึกในที่นี้ ได้แก่ปล่อยให้น้ำทะเลเข้ามาทำให้น้ำแม่น้ำกร่อยหนักขึ้นจนถึงเค็ม ชักศึกเข้าบ้าน ได้แก่การทำทางให้เรือรบข้าศึกเข้ามารุกรานได้ถนัด ดังที่ได้เคยมีมาแล้ว ในสมัยเก่าใช่แต่ไม่ทำร่องน้ำให้ลึกเท่านั้น ต้องมีโซ่ไว้ขึ้งขวางแม่น้ำด้วย ต่อมาความวิตกเรื่องข้าศึกเข้าบ้านนั้นหมดไป เพราะศึกสมัยใหม่อาจยิงปืนมาจากทะเลก็ได้ แลในบัดนี้อาจปล่อยลูกระเบิดลงมาจากฟ้าก็ได้ ส่วนเรื่องน้ำกร่อยนั้นยังเป็นข้อวิตกกันอยู่บ้างแม้ในเวลานี้ อนึ่ง ความยากที่มีมาคิดกันขึ้นใหม่ ก็คือเรื่องทุนที่จะต้องใช้ ซึ่งจะเป็นจำนวนเงินมาก ความยากข้อหลังนี้ แต่ก่อนไม่เคยได้ยินใครพูดถึง เพราะเมื่อวิตกชักศึกเข้าบ้านเสียแล้ว ก็ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นอีก

เมื่อได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็จะได้นำห้วข้อปาฐกถามากล่าวต่อไป แต่จะเล่าตามคำของปาฐกอีกชั้นหนึ่งว่า เดิมรัฐบาลสยามได้ขอต่อสันนิบาตชาติให้พิจารณาแลให้ความเห็นเรื่องการลอกสันดอนแลทำท่าเรือในกรุงเทพฯ สันนิบาตชาติได้ตั้งผู้เชี่ยวชาญ ๓ คน เป็นคนอังกฤษ ชำนาญในเรื่องกำลังคนหนึ่ง เป็นคนฮอลันดา ชำนาญในเรื่องการโยธาแลเครื่องอุปกรณ์คมนาคมคนหนึ่ง คนฝรั่งเศสชำนาญในเรื่องท่าเรือแลการเดินเรือทะเลคนหนึ่ง ๓ คนนี้ได้รับตั้งเป็นกรรมการสอบสวนพิจารณา แลเสนอรายงานตามความเห็นอันได้ใคร่ครวญละเอียดแล้ว ได้ลงมือทำงานแต่ต้น พ.ศ. ๒๔๗๖ คนหนึ่งได้เข้ามาสอบสวนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเราในกรุงเทพ ฯ เก็บรายงานที่สอบสวนได้ไปเสนอต่ออีก ๒ ท่าน แล้วพร้อมกันเขียนรายงานความเห็นเสนอต่อสันนิบาตชาติ ในต้น พ.ศ. ๒๔๗๗ แลสันนิบาตชาติได้ส่งต่อมายังรัฐบาลสยามในตอนนั้น คือรายงานซึ่งผู้ตรัสนำมากล่าวในปาฐกถาครั้งนี้ การที่รัฐบาลของเราขอให้สันนิบาตชาติช่วยทำทั้งนี้ เราเสียค่าใช้จ่ายให้รวมประมาณห้าหมื่นบาท

เมื่อวันที่ ๖ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลสยามได้ประกาศกฤษฎีกาสงวนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออกในอำเภอบ้านทวายแลพระโขนงไว้เป็นแปลงใหญ่ สำหรับขยายเมืองท่าซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกรุงเทพ ฯ การออกกฤษฎีกานี้แสดงว่า เราเห็นชอบตามรายงานของกรรมการสันนิบาตชาติบ้างแล้ว จึงได้ลงมือทำการอันเป็นบุพกิจของโครงการใหญ่ คือสงวนที่ดินไว้พลาง แต่นี้จะได้พิจารณาต่อไป ภายในเวลา ๕ ปีเป็นประมาณ

รายงานกรรมการสันนิบาตชาติที่กล่าวนี้ แบ่งเป็น ๔ ภาค และมีภาคผนวกอยู่ต่อท้ายด้วย เนื้อความในรายงานสรูปไว้เป็นใจความ ๒๐ ข้อดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. สยามมีเนื้อที่กว่า ๕ แสนตารางกิโลเมตร แลตั้งอยู่ในตอนร้อน มีแร่ พืชผลการเกษตรแลป่าไม้ แลสมบัติในน้ำเป็นสินค้า

ผู้ตรัสแนะให้ผู้ฟังดูแผนที่สยาม แลชี้แจงต่อไปว่า กึ่งหนึ่งของประเทศยังเป็นป่า มีเป็นไร่นาแลสวนเพียง ๖ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ นอกนั้นเป็นที่ว่าง เป็นเขาแลน้ำ มีชุมนุมชนอยู่กว่าร้อยแห่ง แต่ที่เป็นชุมนุมชนหมู่มากอยู่ในที่น้อยก็มีกรุงเทพ ฯ แห่งเดียว

ข้อ ๒. ถึงแม้ว่าสำมะโนครัวจะเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ ๗ ล้านใน พ.ศ. ๒๔๔๓ จนถึง ๑๒ ล้านครั้ง ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็จริง สยามก็ยังสามารถเพิ่มปริมาณแลค่าแห่งสินค้าขาออกขึ้นได้เป็นลำดับแลเป็นอันมาก

ผู้ตรัสได้กล่าวต่อจากความที่แสดงในหัวข้อรายงานข้อนี้ว่า กรรมการสันนิบาตชาติพูดถึงพลเมืองสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่สำมะโนครัวของเรายังเพิ่มต่อนั้นมาอีก แลในขณะนี้ เรามีพลเมืองประมาณ ๑๓ ล้าน ๒ แสน ก็คือว่าคนของเราได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวใน ๑๖ ปี หรือเกือบเท่า ปีละ ๒ เปอร์เซ็นต์ คำนวณ “ดอกทบต้น”

ความข้อนี้พูดให้ง่ายก็คือว่า แม้พลเมืองของเราเกิดมากขึ้น จนต้องมีอาหารแลเครื่องใช้ ๒ เท่าที่เคยต้องการก็จริง แต่ถึงคนเกิดมาก ก็ยังทำให้พอกินพอใช้ เพราะในจำนวนป่เท่ากันนั้น เครื่องกินเครื่องใช้ได้เกิดเพิ่มขึ้นกว่า ๒ เท่า ใช่แต่มีพอกินพอใช้เท่านั้น แม้ที่เหลือกินเหลือใช้ แลเคยขายไปต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน ถ้าจะกล่าวเปรียบครัวเรือนก็คือว่า ถ้าผัวเมียสองคนหากินจนเหลือกินเป็นสินค้าได้บ้างแล้ว ถ้าครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกสองคน แต่ทรัพย์ที่หามาได้ไม่เพิ่มขึ้น ครอบครัวนั้นจะจนลง แต่ถ้าหาได้เพิ่มขึ้นกว่า ๒ เท่าตัว จนมีขายมากกว่าแต่ก่อน ตามส่วนคนที่เกิด ครอบครัวนั้นก็จำเริญขึ้น ทั้งจำนวนคนแลทางหากิน ผู้ตรัสชี้แจงต่อไปในข้อ ๒ นี้ว่า การสำรวจเศรษฐกิจในประเทศเรา ได้เคยทำมา ๒ ครั้ง (ได้จ้างฝรั่งผู้ชำนาญมาทำเสริมขึ้น จากที่เราได้ทำกันไว้เองแล้วบ้าง) ตามรายงานการสำรวจเศรษฐกิจ ๒ ครั้งนี้ ปรากฏว่า พลเมืองของเรามีการอยู่กินดีกว่าพลเมืองในประเทศใกล้เคียง แต่มาในหมู่นี้ทรามลงไปสัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์จากแต่ก่อน ความข้อนี้ย่อมสนับสนุนข้อที่ว่า เราทำสินค้าได้เหลือกิน แลใช้จนแม้ว่าพลเมืองของเรามีมากปากมากท้องขึ้น ก็ยังมีสินค้าส่งไปขายต่างประเทศได้

แต่จำนวนพลเมืองนั้น ถ้าสักแต่ว่ามีจำนวนมากเท่านั้น ก็ไม่เป็นเครื่องน่าตื่นเต้นอะไร จะต้องเป็นพลเมืองมีคุณสมบัติดีด้วย จึงจะเป็นเครื่องควรปีติ ประเทศที่พลเมืองยัดเยียดกัน จนพ้นกำลังที่คนจะเลี้ยงได้นั้น ก็ย่อมจะไม่ดี ประเทศที่พลเมืองบางเกินไปก็ย่อมจะไม่ดี จำนวนพลเมืองเท่าไรจึงจะพอดีกับภูมิประเทศ ไม่แน่นกันขลัก ๆ เช่นจีนหรือญวน ไม่น้อยเกินไปจนกำลังของประเทศหย่อนไป มีจำนวนพอเหมาะที่จะอยู่กินได้อย่างบริบูรณ์นั้น ศัพท์ฝรั่งเรียกว่า Optimum Population ถ้าจะแปลว่าเป็นสำมะโนครัวเหมาะเลิศ ก็เห็นจะพอไปได้ ผู้ตรัสปาฐกถากล่าวว่า ปัญหาที่ว่าจำนวนพลเมืองของสยามเท่าไรจึงจะเหมาะเลิศนั้น เป็นข้อซึ่งรัฐบุรุษของเราน่าจะเอาใจใส่ไว้เสมอ

ข้อ ๓. ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ได้ลงทุนสร้างทางรถไฟ สิ้นเงินประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท อีกทั้งได้สร้างการชลประทานแลทางบกเป็นจำนวนเงินประมาณเกือบเท่ากัน ผลนั้นคือได้เปิดส่วนใหม่ ๆ ของประเทศ ออกทำการค้าติดต่อกับต่างประเทศ

เงินกู้จากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นจาก ๑ ล้านปอนด์ (๑๑ ล้านบาท) ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นเงิน ๑๒ ล้านครึ่ง (๑๓๗ ล้าน ๕ แสนบาท) ใน พ.ศ. ๒๔๖๗-๖๘ แลลดลงมา เหลือ ๑๑ ล้านปอนด์ (๑๒๑ ล้านบาท) ใน พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๔

ในเรื่องการทำรถไฟ ผู้ตรัสปาฐกถาได้นำตัวเลขในประเทศใกล้เคียงมาเทียบให้เห็นดังต่อไปนี้ วิธีเทียบคือ เอาจำนวนพลเมืองมาคำนวณตามจำนวนไมล์แห่งรถไฟ ว่าประเทศไหนมีพลเมืองเท่าไรต่อไมล์ วิธีคำนวณคือ เอาจำนวนไมล์แห่งรถไฟหารจำนวนพลเมือง

๑. มลายา มีพลเมือง ๓,๙๗๗ คนต่อไมล์รถไฟ

๒. ญี่ปุ่น มีพลเมือง ๔,๗๓๔ คนต่อไมล์รถไฟ

๓. สยาม มีพลเมือง ๖,๖๒๓ คนต่อไมล์รถไฟ

๔. ชะวา มีพลเมือง ๑๓,๐๙๔ คนต่อไมล์รถไฟ

๕. อินโดจีน มีพลเมือง ๑๔,๔๔๘ คนต่อไมล์รถไฟ

๖. ฟิลิปปิน มีพลเมือง ๑๔,๕๙๓ คนต่อไมล์รถไฟ

๗. จีน มีพลเมือง ๖๓,๒๑๔ คนต่อไมล์รถไฟ

ตามตัวเลขที่กล่าวมาข้างบนนี้ ประเทศมลายามีรถไฟมากเป็นที่หนึ่ง สยามเป็นที่สาม จีนเป็นที่โหล่ ผู้ตรัสนำตัวเลขเทียบรถไฟกับพลเมืองในสหรัฐอเมริกามาแสดงให้เห็นด้วยว่า ในประเทศนั้นมีรถไฟไมล์หนึ่งสำหรับพลเมือง ๔๗๑ คน

ส่วนการทำทางบก (ถนน) นั้น คำนวณโดยวิธีเดียวกันได้ตัวเลขดังนี้

๑. มลายา มีพลเมือง ๕ คนต่อไมล์ถนน

๒. ญี่ปุ่น มีพลเมือง ๘ คนต่อไมล์ถนน

๓. ฟิลิปปิน มีพลเมือง ๑๓ คนต่อไมล์ถนน

๔. อินโดจีน มีพลเมือง ๑๔ คนต่อไมล์ถนน

๕. ชะวา มีพลเมือง ๒๐ คนต่อไมล์ถนน

๖. จีน มีพลเมือง ๑๔๕ คนต่อไมล์ถนน

๗. สยาม มีพลเมือง ๒๒๕ คนต่อไมล์ถนน

ตัวเลขข้างบนนี้แสดงว่า มลายามั่งมีถนนเป็นหนึ่ง สยามเป็นที่โหล่ อนึ่ง ผู้ตรัสนำตัวเลขในสหรัฐอเมริกา มาแสดงเทียบด้วยว่า ในประเทศนั้นคน ๕ คน มีถนน ๔ ไมล์

ข้อที่สยามได้เปิดภาคใหม่ ๆ ของประเทศออกใช้เพาะปลูกแลทำทางให้ติดต่อกัน เพื่อค้าขายภายในประเทศ ตลอดไปจนออกต่างประเทศได้ เป็นจำนวนเงินที่จ่ายไป ประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท แต่เป็นหนี้ต่างประเทศเพียง ๑๒๑ ล้านบาทนั้น ก็เป็นข้อที่น่าสังเกตอยู่ทางหนึ่ง

แต่ปาฐกตรัสว่า การที่สยามมีรถไฟมากเป็นที่สามในพวกประเทศที่ใกล้เคียง แต่เป็นโหล่ไกลลิบลับในเรื่องทางบกนั้น ไม่น่าเป็นที่พอใจนัก เมื่อใดมีถนนพอ “ให้ชาวบ้านทุกคนขึ้นรถไฟไปซื้อเองขายเองที่ตลาด แลกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน” นัยหนึ่งมีถนนให้พอส่วนกับทางรถไฟ เมื่อนั้นแหละจึงจะเห็นได้แน่ว่า คนไทยถนัดทำมาค้าขาย กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ตามที่มีรถไฟเกินทางบกเหลือ ล้นไปเช่นนี้ ไม่เป็นที่ควรพอใจว่าดีแล้ว ถ้าพูดส่วนรัฐบาล จะได้เงินโดยทางตรงจากรถไฟ หรือได้โดยทางอ้อมจากทางบก ก็เป็นบาทแลสตางค์ไปเข้าคลังอย่างเดียวกัน

ในเรื่องชลประทาน อันเป็นการบำรุงอีกทางหนึ่ง ซึ่งจ่ายเงินไปแล้วเป็นอันมากนั้น ปาฐกขอยกไว้ยังไม่กล่าวในคราวนี้

ข้อ ๔. ข้าวนับเป็นสินค้าขาออกส่วนใหญ่ของสยาม ถัดลงมาก็คือไม้สักแลดีบุก ราคาของสินค้าขาออกชนิดอื่นเมื่อเทียบกับของประเทศเช่นเดียวกันแล้ว มีค่าน้อยกว่าของเขา

สินค้าขาเข้ามีหลายอย่าง แลโดยมากเป็นสินค้าสำเร็จรูป

ในข้อนี้ผู้ตรัสปาฐกถานำรายงานจากกองข่าวสาส์น การค้ากรมพาณิชย์ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม มาแสดงให้เห็นราคาสินค้าบางอย่างที่ขายในกรุงเทพฯ ผิดกับที่ขายในตลาดอื่น ๆ เป็นบัญชียืดยาว แต่เราจะนำมาชี้ให้เห็นผิดกันแต่บางชนิดสินค้าดังต่อไปนี้

ครั่งดิบ ราคาซื้อขายในกรุงเทพฯ หาบละ ๘ บาทถึง ๑๕ บาท ราคาซื้อขายที่ตลาดไซ่ง่อน หาบละ ๑๗ บาทถึง ๒๐ บาท

ปุยฝ้าย ซื้อขายในกรุงเทพ ฯ หาบละ ๒๖ บาท ไซ่ง่อนหาบละ ๓๔ บาทถึง ๓๘ บาท ย่างกุ้งหาบละ ๓๓ บาท

พริกไทยขาว กรุงเทพ ฯ หาบละ ๒๐ บาท ถึง ๒๕ บาท สิงคโปร์หาบละ ๒๐ บาท ไซ่ง่อนหาบละ ๔๐ บาท ถึง ๔๒ บาท

ปลาเค็ม กรุงเทพ ๆ หาบละ ๑ บาท ถึง ๒ บาท ไซ่ง่อนหาบละ ๑๒ บาทขึ้นไป

โค กรุงเทพ ฯ ตัวละ ๒๕ บาท ถึง ๓๐ บาท สิงคโปร์ตัวละ ๕๐ บาท ฮ่องกงตัวละ ๙๓ บาท

หมู กรุงเทพ ฯ หาบละ ๑๓ บาท ถึง ๑๔ บาท สิงคโปร์ ๒๕ บาท ฮ่องกง ๒๑ บาท ปีนัง ๑๗ บาท ไซ่ง่อน ๑๒ บาทถึง ๑๗ บาท

ปาฐกตรัสต่อไปว่า บางปีเราซื้อเครื่องบริโภคจากต่างประเทศ ถึง ๑ ใน ๔ ของสินค้าขาออกทั้งสิ้นของเรา บางปีก็ ๑ จากต่างประเทศ ถึง ๑ ใน ๔ ของสินค้าขาออกทั้งสิ้นของเรา บางปีก็ ๑ ใน ๕ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ของกินที่เราซื้อมานั้นประมาณ ๑ ใน ๓ แห่งราคาข้าวที่เราขายไป

ในการค้าขายกับต่างประเทศนั้น ยังมีข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่ง เรียกกันว่า “สินค้าดูไม่เห็น” ซึ่งแปลว่า เงินที่มีผู้ส่งออกไปต่างประเทศ โดยไม่มีสินค้าเข้ามาแลกเปลี่ยน เป็นต้นว่า ชาวต่างประเทศมาตั้งหากินอยู่ที่นี่ มั่งมีขึ้นก็ส่งเงินไปไว้เมืองของเขา หรือส่งไปเลี้ยงพ่อแม่ ฯลฯ เป็นต้น เงินที่ส่งไปดังนี้ ไม่มีใครทราบว่าจะเท่าไรแน่ แต่ปาฐกกล่าวว่า ถ้าปีละประมาณ ๓๐ ล้านบาท ถึง ๔๐ ล้านบาท ก็เห็นจะพอก้ำกึ่งกับดุลย์การค้าขายของเราในเวลานี้ แลถ้าเป็นเช่นนั้น ก็พอนับว่าเราเอาตัวรอดได้

ข้อ ๕. สินค้าของสยามส่วนมากผ่านทางท่าเรือพระนคร คือประมาณ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าขาออก แล ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าขาเข้า

ในข้อนี้ปาฐกกล่าวว่า สินค้าของเราซึ่งจำหน่ายไปต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพ ฯ นั้น คือ ดีบุก ยาง แลปศุสัตว์เป็นอันมาก ราคาสินค้าของเราที่ขายออกไปต่างประเทศนั้น คิดเฉลี่ยตกคนละ ๑๓๘ บาท แต่สินค้าขาเข้าคิดเฉลี่ยราคาตกตันละถึง ๓๖๕ บาท น้ำหนักสินค้าที่เราขาย ถูกกว่าน้ำหนักสินค้าที่เราซื้อเกือบสามเท่า ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า สินค้าที่ขายไปนั้น ๙๒ เปอร์เซนต์เป็นของมีน้ำหนักมากราคาน้อย แต่เมื่อเราขายของหนักอันราคาถูก แลซื้อของเบาอันราคาแพง เราก็เสียเปรียบ วิธีที่จะแก้ก็คือ คิดให้มีสินค้าสำคัญอย่างอื่นที่จะพอช่วยถ่วงน้ำหนักได้บ้าง

ข้อ ๖. ข้าวซึ่งเป็นส่วนมากของสินค้าขาออกนั้น โดยมากส่งออกไปจำหน่ายที่ตลาดในประเทศใกล้เคียง คือ ส่งไปฮ่องกง แลสิงคโปร์ถึง ๒ ใน ๓ แห่งข้าวทั้งหมดที่ไปต่างประเทศ เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว จึงถ่ายเรือส่งไปประเทศอื่นต่อไป ส่วนสินค้าที่เข้ามาสู่สยามนั้น โดยมากก็ต้องมาถ่ายเรือที่ฮ่องกงแลสิงคโปร์เหมือนกัน

ปาฐกกล่าวชี้แจงในข้อนี้ว่า ข้าวของเราที่ต้องผ่านฮ่องกงแลสิงคโปร์ไปนั้น ราคาตั้งแต่ ๗๐ ล้านบาทในบางปี ไปจนถึง ๑๓๐ ล้านบาทในบางปี ถ้าสมมติว่า สินค้าขาเข้าของเราผ่านฮ่องกงแลสิงคโปร์ปีละ ๑๐๐ ล้านบาทไซร้ ถ้ารวมสินค้าขาเข้าอีกปีละ ๗๐ ล้านบาท ถึงปีละ ๑๓๐ ล้านบาท เข้าด้วยกัน ก็คือว่า การค้าขายของเราต้องผ่านฮ่องกงแลสิงคโปร์ประมาณปีละ ๑๓๐ ล้านบาทถึง ๒๓๐ ล้านบาท

ข้อที่การค้าขายทั้งขาเข้าแลขาออกของเราต้องผ่านเมืองท่าทั้ง ๒ นั้น มีผลคือว่า เราต้องเสียค่าถ่ายเรือ ค่านายหน้า แลคนหลางอย่างอื่น ๆ เป็นอันมาก ถ้าประมาณที่ต้องเสียเช่นนี้เพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเงินซึ่งเราต้องส่งส่วยฮ่องกงแลสิงคโปร์ ปีละ ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒,๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่ตัวเลขนี้เป็นประมาณของผู้ตรัสปาฐกถา มิใช่ตัวเลขซึ่งกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้รายงาน (ซึ่งจะกล่าวถึงในภาค ๒) ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า วิสัยของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าประมาณรายได้ก็มักเอา ๒ หาร ถ้าจะประมาณรายจ่าย ก็มักเอา ๒ คูณ เพราะว่า ถ้าพลาดก็ไม่เกิดเสียหาย ซึ่งเป็นโทษมากนัก ถ้าประมาณว่าจะได้น้อย แต่ได้จริงมาก ประมาณว่าจะจ่ายมาก แต่จ่ายจริงน้อย ก็ย่อมเป็นการดี

อนึ่ง กรรมการผู้เชี่ยวชาญมิได้กล่าว แต่ปาฐกกล่าวว่า นอกจากที่เราต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางให้แก่คนกลางที่ฮ่องกงแลสิงคโปร์แล้ว ยังมีพ่อค้าบางพวกในที่นั้น ๆ เอาข้าวอื่นปนข้าวไทย แล้วปิดบ้ายว่า “ข้าวไทย” ด้วย

ข้อความปาฐกถาที่กล่าวตามข้างบนนี้ เป็นเพียงภาค ๑ แห่งรายงานกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสันนิบาตชาติ เราจะนำภาค ๒ ซึ่งว่าด้วยลักษณะแลความบกพร่องของท่ากรุงเทพ แลกิจการที่พึงกระทำเพื่อให้ดีขึ้นมากล่าวในตอนหน้าต่อไป

ข้อ ๗. ท่าเรือพระนครตั้งอยู่บนแม่น้ำสำคัญของสยาม ห่างจากปากน้ำ ๓๕ กิโลเมตร แลห่างจากทางเดินเรือสินค้าสายยุโรปกับเอเชียภาคตะวันออก ๖๐๐ ไมล์

ที่เรียกว่าท่าเรือนั้น คือแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพตอนบางรักแลบ้านทวายอันเป็นระยะซึ่งกำปั่นเดินทะเลมาส่งแลรับสินค้าอยู่ในเวลานี้ ที่ว่าไกล ๓๕ กิโลเมตรจากปากน้ำ หมายความว่า จากปากน้ำ ไม่ใช่จากเมืองสมุทรปราการ แลที่ว่าห่างจากทางเป็นสินค้าสายยุโรปกับเอเชียตะวันออก ๖๐๐ ไมล์นั้น คือไกลจากทางเรือเดินจากยุโรปข้ามมหาสมุทรอินเดีย ผ่านลังกามาตามช่องมละกาถึงสิงคโปร์แล้ว ตัดตรงไปญวน จีนและญี่ปุ่น กรุงเทพอยู่ในที่คอดเข้ามาจากสายนั้น ท่านปาฐกให้ผู้ฟังดูแผนที่ทางเดินสินค้าที่กล่าวนี้ และชี้ให้ดูว่า ฮ่องกงแลสิงคโปร์เป็นเหมือนรูจมูกของเรา ในเวลานี้เราต้องหายใจทางนั้น ถ้าเราทำทางหายใจใหม่ คือจัดทำท่ากรุงเทพ ให้ทางเดินสินค้าแวะเข้ามาทางนี้บ้าง เราก็ไม่ต้องอาศัยจมูกของคนอื่นหายใจ หรือถ้าจะยังต้องอาศัยอยู่บ้าง ก็ไม่ฝากชีวิตแก่เขาดังเดี๋ยวนี้

ผู้ตรัสทรงชี้แจงต่อไปว่า การโฆษณาโดยสุจริตนั้น ย่อมจะกล่าวไว้ไม่มีอำพราง จึงควรบอกออกมาตรง ๆ เสียแต่ชั้นแรกว่า ถ้าเราจะขยายท่าของเราออกไปเต็มที่ แลเราจะมีทางหายใจของเราเองแล้วก็ตาม แต่สินค้าขาออกของเรา ก็จะไม่เท่าเทียมกับไซ่ง่อนหรือสิงคโปร์ได้ เพราะว่าทางทะเลที่ตัดออกจากร่องมา ๖๐๐ ไมล์นั้น ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ในตัว ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราจะจัดการเพื่อให้เราได้อาศัยตัวเราเองนั้นพอได้ แต่จะจัดให้การค้าขายของประเทศอื่นต้องอาศัยเรานั้นไม่ได้

ข้อ ๘. คมนาคมในประเทศมีลักษณะดี แลมีการไปมาทางน้ำแลทางรถไฟให้ติดต่อกันได้ทั่วไป

ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยานั้น นอกจากตัวแม่น้ำเอง ยังมีคลองติดต่อกับแม่น้ำอื่น แลยังมีคลองแยกจากคลองไปมาถึงแม่น้ำใหญ่ได้ทั่ว ๆ ไป ทางน้ำเหล่านั้น ย่อมเป็นทางพาสินค้ามาสู่ท่าเรือทะเลได้สะดวกแลเปลืองโสหุ้ยน้อยเพราะการขนสินค้าทางน้ำย่อมจะถูกกว่าทางบกเสมอ ผู้ตรัสกล่าวว่า ในเวลานี้ทางน้ำของเราบางสายตื้น จนเรือเดินไม่ได้ เราปล่อยให้ของดีของเราที่มีอยู่แล้วทรุดโทรมไป ในภายหน้าคงจะต้องจัดให้คนที่ตั้งแต่ก่อน ตามส่วนที่ต้องการ

ส่วนรถไฟนั้น เรามีแล้วประมาณ ๓๐๐๐ กิโลเมตร ฝ่ายเหนือมีปลายทางที่เชียงใหม่ ผ่านกรุงเทพไปถึงปลายทางในปักษ์ใต้ แลมีสายอื่นอีก ๒ สาย คือสายตะวันออกสายหนึ่ง สายตะวันออกเฉียงเหนือสายหนึ่ง

ปาฐกตรัสว่า รถไฟของเรามีพอแล้ว แต่เรายังเป็นโหล่ในเรื่องทางบก (ถนน) อันจะเปิดภูมิประเทศอีกมาก ให้ไปมาค้าขายได้ ยิ่งในอิสานยิ่งจะต้องมีทางบกเพิ่มขึ้นอีกมาก จึงจะนำความเจริญไปสู่ภาคนั้น แลนำผลแห่งความจำเริญของภาคนั้นไปสู่ภาคอื่น ๆ

แต่ผู้ตรัสมีข้อยกเว้นจากค่าที่กล่าวแล้วในเรื่องรถไฟว่า ที่ว่ามีพอแล้วนั้นมีพอทุกสาย เว้นแต่สายขอนแก่นอุดร ซึ่งเดี๋ยวนี้ทำไปทิ้งไว้ในอากาศหรือจะกล่าวอีกอย่างก็เหมือนถนนปลายต้นไปไหนไม่ได้ รถไฟสายขอนแก่นอุดรนี้ ต้องต่อถึงหนองคาย จึงจะได้ประโยชน์ ถ้าไม่ทำดังนั้นก็ไม่คุ้มโสหุ้ยทั้งสาย ผู้ตรัสกล่าวเปรียบว่า ถ้าเราลอกสันดอนปากน้ำ แต่ปล่อยให้มีรถไฟทางต้นนั้น กระแสคมนาคมอยู่ทางเหนือ ก็เสมอกับลอกสันดอนเก่าไปสร้างสันดอนใหม่ไว้ในภาคอื่นแห่งประเทศของเรา แต่ทรงยืนยันความเห็นในเรื่องรถไฟนี้ว่า เมื่อได้สร้างต่อสายขอนแก่น-อุดรไปถึงหนองคายแล้ว ก็ไม่ควรจะสร้างรถไฟอีกเลยในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า

ข้อ ๙. ลักษณะธรรมดาของแม่น้ำ ตั้งแต่ปากน้ำถึงกรุงเทพ ใช้ได้สำหรับเรือเดินสมุทร แต่น้ำที่สันดอนตื่นแลเวลาน้ำขึ้น เรือกินน้ำลึก ๑๒ ฟุตครึ่งจนถึง ๑๔ ฟุต ตามฤดูกาลไม่สามารถผ่านได้

การไปมาค้าขายทางนาระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองใน ๆ เข้าไป ควรนับได้ว่าเวลานี้มีแม่น้ำลำคลองพอใช้ แต่มีที่ตื้นเขินแลจะต้องซ่อมหรือทำเพิ่มบ้าง จึงจะใช้ได้ดี แต่ทางเดินค้าขายออกทะเลนั้น ยังบกพร่องอยู่มาก

แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากน้ำขึ้นมาถึงกรุงเทพกว้างแลลึกพอที่กำปั่นเดินทะเลขนาดใหญ่พอประมาณจะเดินขึ้นลงได้สะดวก แต่ปากแห่งแม่น้ำมีสันดอนขวางอยู่ ที่สันดอนนี้น้ำตื้น กำปั่นขนาดใหญ่แล่นข้ามไม่ได้ นอกปากแม่น้ำออกไปมีที่ตื้น ๒ ข้างรูปเหมือนเกือกม้า เมื่อน้ำลงงวดก็แห้งเขินอยู่พ้นน้ำ เกือกม้านี้แม่น้ำแลลมทำให้เกิด แลเป็นโคลนดินเหนียวกับทรายละเอียดผสมกัน

หว่างดอนเขิน ๒ ข้างนั้น มีร่องตื้น ๆ ๓ ร่อง ร่องลึกที่สุดใช้เป็นทางเรือเดิน เป็นร่องซึ่งไม่ค่อยจะย้ายที่แลไม่ค่อยจะเปลี่ยนความลึก สันดอนที่ตรงนั้น เวลาน้ำขึ้น เรือที่กินน้ำ ๑๒ ฟุตครึ่งเดินข้ามได้ทุกวัน ถ้าน้ำมากเรือกินน้ำ ๑๔ ฟุตครึ่งข้ามได้ แต่เรือกินน้ำลึกกว่านั้นข้ามไม่ได้

เพราะเหตุที่มีสันดอนขวางอยู่เช่นนี้ การไปมาค้าขายทางทะเลจึงทำได้แต่โดยวิธี ๒ อย่าง คือ

(๑) ใช้เรือขนาดย่อม ซึ่งแม้เมื่อบรรทุกเต็มที่แล้ว ก็ยังข้ามสันดอนได้ในคราวน้ำ เรือขนาดนี้เดินทะเลไปเมืองไกลไม่ได้

(๒) ใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น อาจเดินทะเลไปไกลหน่อยก็ได้ เรือขนาดนั้นบรรทุกในกรุงเทพเต็มที่ไม่ได้ ต้องบรรทุกประมาณครึ่งเดียว เพื่อไม่ให้เรือกินน้ำลึกเกินที่จะข้ามสันดอนได้ เมื่อบรรทุกสินค้าครึ่งเดียวแล่นออกนอกแม่น้ำไปแล้ว ก็ไปทอดสมอคอยอยู่ที่เกาะสีชัง ใช้เรือลำเลียงพาสินค้าไปบรรทุกให้เต็มลำ ณ ที่นั้น เรือลำเลียงนี้ต้องมีเรือไฟลากไปจากกรุงเทพ

สินค้าขาออกของสยามคิดถัวประมาณปีละ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ตัน ขาเข้าเพียง ๔๔๐,๐๐๐ ต้น เพราะฉะนั้นเรือที่บรรทุกสินค้าไปจากสยามมักจะบรรทุกเต็มลำ ขามาบรรทุกหน่อยเดียวเท่านั้น ขามาเรือจึงเข้ามาส่งสินค้าในแม่น้ำได้ ไม่ต้องถ่ายลำที่เกาะสีชัง(เว้นน้ำตาล) เหตุฉะนี้การลำเลียงที่เกาะสีชังจึงต้องทำแต่สินค้าขาออกแทบทั้งสิ้น คือว่าสินค้าขาออกฝ่ายเดียวที่ต้องแพงขึ้น เพราะโสหุ้ยค่าลำเลียง สินค้าขาออกเสียเปรียบสินค้าขาเข้าในส่วนนี้ สินค้าขาออกส่วนมากจากนา โสหุ้ยค่าลำเลียงจึงตกอยู่แก่ชาวนาเป็นพื้น ปาฐกจึงกล่าวว่าสันดอนเป็นเครื่องจองจำเสรีภาพของชาวนา

แต่ถ้าใช้กำปั่นขนาดเล็กซึ่งเมื่อบรรทุกเต็มที่แล้ว ก็ยังข้ามสันดอนได้ ก็ทุ่นค่าลำเลียงที่เกาะสีชัง แต่ไปเสียทางอื่น คือว่าเรือขนาดเล็กไปได้เพียงฮ่องกงแลสิงคโปร์ ต้องไปถ่ายสินค้าลงกำปั่นใหญ่อีกตอนหนึ่ง เสียโสหุ้ยมากขึ้น ทำให้ต้องขายสินค้าขึ้นราคาไปอีก

การเสียโสหุ้ยที่ฮ่องกงแลสิงคโปร์นั้น ถึงแม้สินค้าขาเข้าของเราก็ต้องเสียบางส่วน

การที่จะคำนวณว่า โสหุ้ยค่าถ่ายลำที่ฮ่องกงแลสิงคโปร์ตกแก่สินค้าขาออกแลขาเข้าของเราโดยส่วนอย่างไรนั้น คำนวณให้แน่ไม่ได้ แต่น้ำหนักสินค้าขาออกสูงกว่าน้ำหนักสินค้าขาเข้ามาก จึงควรเชื่อว่า การเสียโสหุ้ยถ่ายลำเรือนั้น สินค้าขาออกเป็นผู้เสียมากกว่าสินค้าขาเข้า รวมความลงว่า สันดอนให้โทษแก่สินค้าขาออกเป็นส่วนใหญ่ การเป็นเช่นนี้ ย่อมจะเป็นเหตุร้ายแก่ความจำเริญทางเศรษฐกิจของประเทศ สินค้าขาออกส่วนมาก (คือข้าว) เป็นของมีน้ำหนักมากแต่ราคาต่ำ เมื่อต้องเสียโสหุ้ยมากขึ้น ก็ยิ่งเสียเปรียบสินค้าขาเข้า ซึ่งเป็นของมีน้ำหนักน้อยแต่ราคาสูง

อนึ่ง การที่สินค้าขาออกต้องขึ้นราคา เพราะโสหุ้ยเช่นนี้ ย่อมทำให้สยามซื้อสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ได้น้อยเข้า เป็นทางเสียอีกส่วนหนึ่ง เพราะความสามารถซื้อย่อมช่วยความสามารถขาย เหตุว่าถ้าเราขายฝ่ายเดียว ไม่ซื้อเขาบ้าง ผู้ซื้อก็ไม่ชอบ อาจย้ายไปซื้อสินค้าอย่างเดียวกันของผู้อื่น ซึ่งซื้อสินค้าของเขา ผู้ซื้อผู้ขายต้องถ้อยทีถ้อยเอาใจกัน ถ้านายดำกับนายแดงขายข้าว นายม่วงขายแกง แลถ้านายดำซื้อแกงของนายม่วง ๆ ก็คงจะซื้อข้าวจากนายดำ ไม่ซื้อจากนายแดงผู้ซื้อแกงที่อื่นหรือไม่ซื้อเลย

คำชี้แจงในตอนนี้ เป็นคำที่เรากล่าวให้ผู้อ่านของเราเข้าใจง่ายขึ้น ปาฐกมีเวลาตรัสเพียงชั่วโมงเดียว จะชี้แจงจ้ำจี้จ้ำไชอย่างเราก็ไม่มีเวลา แลท่านตรัสให้สมาคมหมู่หนึ่งฟัง ผิดกับเขียนชี้แจงแก่ผู้อ่านจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเข้าใจง่ายแลเข้าใจยาก ท่านจึงชี้แจงแต่พอควรแก่เวลาแลบริษัท โดยกาลัญญและปริสัญญ ไม่เยิ่นเย้ออย่างเราเขียน เรามีหน้ากระดาษไม่มีจำกัด จึงพยายามจะชี้แจงให้มากหน่อย แต่มิได้ออกนอกวงความของปาฐกถาไป

ข้อ ๑๐. ท่าเรือพระนครไม่มีเครื่องอุปกรณ์ดี ไม่มีเขื่อนเทียบเรือ โรงพักสินค้า คลังสินค้าสาธารณะ แลเครื่องจักรสำหรับยกขนสินค้า ไม่มีทางรถไฟติดต่อกับเรือกำปั่นได้โดยตรง จึงต้องมีการขนถ่ายกันหลายทอดอย่าง สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ปาฐกตรัสว่า “ขณะนี้นับว่า ท่าเรือของบุคคล ๗ ในพระนคร รับสินค้าขาเข้าเดือนละ ๕-๕ หมื่นต้น แต่สามารถรับสินค้าได้ ๘ หมื่นตัน เป็นอันว่าที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวนี้ใส่ความทั้งสิ้นหรือ แต่สถิติเช่นนี้ ย่อมลวงเราได้ง่าย”

แม่น้ำทั้ง ๒ ฟากมากไปด้วยสำนักค้าขายแลขนสินค้า มีเป็นต้นว่า ออฟฟิศ โรงเก็บสินค้าซึ่งปิดมิดชิด โรงโถง โรงสีข้าว โรงเลื่อย อู่ทำแลซ่อมเรือล้วนแต่เป็นของบุคคล หรือบริษัท ซึ่งสร้างขึ้นปราศจากกฎเกณฑ์อันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วแต่ใครจะทำที่ไหนอย่างไรก็ทำขึ้น

ตั้งแต่สะพานพระพุทธยอดฟ้าลงไปประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นที่ทอดสมอเรือเดินทะเล แต่ที่ใช้มากก็คือตอนที่ทำจากสะพานลงไปภายใน ๔ กิโลเมตร แม่นตอนที่แคบ ก็ใช้ได้แต่เรือขนาดย่อม ตอนล่างลงไปกว้าง เรือขนาดเขื่องทอดสมอได้

ตามแม่น้ำมีท่าของบุคคลหรือบริษัทหลายท่า ซึ่งเรือเข้าจอดเทียบฝั่งได้ แต่ยาวพอลำหนึ่งหรือ ๒ ลำเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเขื่อนของโรงสีข้าวแลโรงสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรือเล็กเข้าจอดเทียบได้ทีละลำ แต่ถึงเรือเล็กก็จอดยาก เพราะที่ยาวไม่พอ อีกประการหนึ่งโรงสินค้าแลโรงสีข้าวนั้น มักจะสร้างทางแหลม (ไม่ใช่ท้องคุ้ง) ของแม่น้ำ เพราะฉะนั้น น้ำริมฝั่งที่หน้าเขื่อนมักจะตื้นในคราวน้ำลง

การขนสินค้าขึ้นจากเรือ หรือขนลงบรรทุกเรือนั้น มักจะทำกลางน้ำในที่ซึ่งเรือทอดสมออยู่ คือว่าต้องใช้เรือเล็กขนรับแลส่ง เหตุฉะนี้ประมาณกึ่งหนึ่งของสินค้า จึงต้องขนกันต้อง ๒-๓ กลับ

ข้าวเปลือกทั้งหมด ซึ่งมากรุงเทพนั้น มาทางน้ำประมาณ ๕ ใน ๖ ส่วนขนส่งถึงโรงสีได้ โดยวิธีที่นับว่าพอใช้ เรือข้าวมาทางแม่น้ำแล้วคอยอยู่ตอนเหนือมีเรือไฟไปจูงมาส่งถึงโรงสีทีเดียว

ส่วนข้าวที่มาทางรถไฟนั้น เมื่อมาถึงสถานี ก็ต้องขนลงเรือไปส่งโรงสี บางทีก็ขนลงเรือทีเดียว บางทีก็ต้องพักไว้ในฉางของกรมรถไฟก่อน การที่เป็นดังนี้ ก็เพราะไม่มีโรงสีใด ที่มีทางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณโรงสี การขนข้าวทางรถไฟจึงต้องมีการขนทางเรือเพิ่มด้วย ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า การสีข้าวนั้น ถ้าสีที่บ้านนอก แล้วขนข้าวสารทางรถไฟมาส่งลงเรือทีเดียว แม้จะต้องใช้เรือลำเลียง เพราะรถไฟไปยังไม่ถึงท่าเรือจอดเทียบฝั่งก็ยังจะทุ่นโสหุ้ยลงไปมาก ที่เขาชี้ให้เห็นดังนี้ เราไม่มีคำเถียง นอกจากว่า ยังทำไปไม่ได้

ท่ากรุงเทพไม่มีเครื่องจักรประจำท่า ที่ว่าเครื่องจักรนั้น คือเครื่องขนสินค้า ซึ่งไม่ต้องใช้แรงคน เช่นรอกกว้านเป็นต้น การที่ไม่มีเครื่องจักรประจำท่านี้เป็นเพราะเหตุ ๓ ประการ ประการที่ ๑ เพราะการขนสินค้าขึ้นเรือลงเรือนั้น ใช้เครื่องจักรรอกกว้านซึ่งมีประจำเรืออยู่แล้ว ประการที่ ๒ ค่าแรงกุลีถูก ประการที่ ๓ สำนักค้าขายมีเป็นอันมากที่เป็นสำนักเล็ก ๆ ของบุคคลหรือบริษัท จึงไม่เป็นไปในทางที่จะให้เกิดเครื่องจักรประจำท่าขึ้น

การที่จะคำนวณว่า ความบกพร่องของท่าแลความไม่มีเครื่องจักรประจำท่าทำให้เสื่อมประโยชน์ไปเป็นจำนวนเงินประมาณเท่าใดนั้น คำนวณยากกว่าคำนวณการเสื่อมประโยชน์เพราะสันดอนตื้น แต่กล่าวได้ว่าสินค้าขาออกแลขาเข้าทั้งหมดนั้น ประมาณครึ่งหนึ่ง ต้องขนสองทอดหรือสามทอด แทนที่จะขนทอดเดียว ดังที่ทำกันในเมืองท่าที่ไม่บกพร่อง แลมีเครื่องมือดี การที่ต้องขนสองทอดสามทอดนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีเครื่องจักรมาแทนแรงกุลี ถ้าขนแต่ทอดเดียว ก็จะทุ่นเงินเข้าไปประมาณปีละ ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้ามีเครื่องจักรอย่างใหม่ ๆ ที่เหมาะกับสินค้ามาแทนแรงกุลีด้วย ก็จะทุ่นเงินเข้าไปอย่างน้อยปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (นี้ประมาณของกรรมการผู้เชี่ยวชาญ)

ความเสียหายอันเกิดเพราะมีเครื่องมือสำหรับท่าไม่พอแก่การนี้ มิใช่จะจำกัดอยู่เพียงที่เปลืองโสหุ้ยเกินจำเป็นเท่านั้นหามิได้ ยังมีเสียหายทางอ้อมที่กีดกั้นความจำเริญทางเศรษฐกิจด้วย ความจำเริญทางนั้น ย่อมเกิดจากการค้าขายที่ทำได้มากแลดี แต่ถ้าสินค้าออกจากผู้ทำแล้วต้องเสียโสหุ้ยมาก จึงจะไปถึงผู้ใช้ โสหุ้ยก็ย่อมจะถ่วงสินค้าไปในตัว

ปาฐกตรัสแถมว่า การที่รถไฟหลวง ยังไม่เชื่อมกับโรงงานหรือเรือกำปั่นเพื่อประหยัดค่าขนสินค้านั้น ทำให้ต้องเพิ่มค่าโสหุ้ย เป็นเหตุให้สินค้าขาออกต้องเสียเปรียบ เพราะราคาต่ำลงไป จนจะทนแทบไม่ไหว กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า กำไรที่ขายได้ไม่คุ้มโสหุ้ยที่เสียไป อนึ่ง การนำเรือเข้าเทียบท่าของบุคคล (แลบริษัท) นั้น ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ศุลกากร เมื่อมีท่าแลโรงเก็บสินค้าซึ่งรัฐบาลทำไว้ ที่แปลกกันก็แต่เพียงว่า ค่าธรรมเนียมนั้น ๆ เวลานี้เป็นผลประโยชนของผู้อื่น ไม่เป็นเงินเข้าคลัง

ปาฐกสรูปความในข้อนี้ว่า พระเสื้อเมืองครองสยาม แต่พระกางเกงเมืองครองจมูกแลปอด

ข้อ ๑๑. ความตื้นที่สันดอน แลวิธีการของท่าเรืออันบกพร่อง เป็นเหตุให้ค่าขนส่งทางทะเลแพง แลเป็นเหตุให้ขาดเรือประจำทางที่ติดต่อโดยตรงกับบรรดาตลาดต่างประเทศ

ข้อที่ไม่มีเรือเดินจากกรุงเทพพาสินค้าของสยามตรงไปถึงประเทศที่เป็นตลาดจริงๆ (ไม่ใช่เพียงเป็นด่านให้ผ่านไปเช่น ฮ่องกงแลสิงคโปร์) นั้น ย่อมจำกัดสินค้าไทยไว้ไม่ให้เกิดได้มาก เรือเดินตรงถึงตลาดเช่นที่ว่านี้หากนาน ๆ จะมีสักลำหนึ่งก็ไม่พอ จะต้องมีเสมอจึงจะเกิดประโยชน์เต็มที่ การขนสินค้าของเราส่งไปประเทศไกล ๆ นั้น แพงกว่าการขนสินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือพม่าแลอินโดจีนเป็นต้น พม่าแลอินโดจีนเป็นคู่แข่งกับเราในเรื่องสินค้าข้าว แต่เราเสียเปรียบเพราะโสหุ้ยของเราแพงกว่าของเขา แลเหตุที่เสียเปรียบ ก็เพราะเรามีเครื่องใช้แลความสะดวกสู้เขาไม่ได้นั่นเอง สมมติว่า ข้าวของเขากับข้าวของเราดีเสมอกัน สมมติว่า ราคาข้าวเปลือกซื้อในนาของเขา เท่ากับราคาข้าวเปลือกซื้อในนาของเรา สมมติว่าราคาข้าวสารของเขากับข้าวสารของเราขายได้ในยุโรปราคาเท่ากัน แต่โสหุ้ยของเราค่าส่งข้าวไปยุโรปสูงกว่าโสหุ้ยของเขาฉะนี้ เราจะทำอย่างไร เราต้องขายข้าวสารของเราในยุโรปให้ราคาสูงขึ้น (ซึ่งจะไม่มีใครซื้อ) หรือเราจะต้องซื้อข้าวเปลือกในนาให้ราคาต่ำลง การเป็นเช่นนี้ก็ใครเล่าเป็นผู้รับบาปส่วนมาก ถ้าไม่ใช่ชาวนา

ทั้งนี้เป็นเพราะสินค้าขาออกของเราต้องเพิ่มโสหุ้ยค่าลำเลียงไปลงกำปั่นใหญ่ที่เกาะสีชัง หรือเพราะเราใช้เรือขนาดเล็ก ที่ไปได้ไกลกเพียงฮ่องกงและสิงคโปร์ และต้องไปถ่ายลำลงเรือใหญ่ที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง

ข้อที่โสหุ้ยค่าขนส่งของเราสูง และเราไม่มีเรือเดินทางไกลมารับสินค้าของเรานั้น มีผลซึ่งเห็นได้เมื่อเทียบสถิติพยากรณ์สินค้าขาออกของประเทศที่คล้ายกับของเรา และเทียบสินค้าชนิดเดียวกัน ถ้าเทียบเช่นนี้จะเห็นความ ๒ ข้อคือ ข้อ ๑. การขายสินค้าราคาถูกของเราเช่นข้าวนั้น ตลาดไกล ๆ ไม่สำคัญ ประเทศอื่น ๆ ตลาดไกลสำคัญกว่า พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าข้าวของเขาขายในยุโรปและบ้านเมืองไกล ๆ ได้ดีกว่าข้าวของเรา และที่เป็นเช่นนั้น หาใช่ว่าข้าวของเราเลวกว่าของเขาไม่ เรามีสินค้าอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งน้ำหนักน้อยแต่ราคาสูง แต่ก็ขายสู้เขาไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะของ ๆ เราเลว ที่จริงเป็นเพราะการขนส่งของเราไม่สะดวกและถูกพอจะเทียบกับเขาได้ เมื่อการเป็นเช่นนี้ ก็คือว่าเราจะขายมากกว่าซื้อ หรือซื้อมากกว่าขายในปีไหน ๆ (ที่เรียกว่าดุลย์การค้าหรือเครดิตบาลันซ์) ก็แล้วแต่สินค้าอย่างเดียวคือข้าว ซึ่งเป็นสินค้าราคาถูก ต้องขายมากจึงไม่เสียเปรียบดุลย์การค้า

ปาฐกถากล่าวในข้อนี้ว่า “ตราบใดเราไม่พิพากษาเด็ดขาดลงไปในคดีระหว่างสยามโจทก์กับสันดอนจำเลย เราก็จะต้องงมงายขายข้าวเสียเปรียบเขาอยู่ฝ่ายเดียว เพราะข้าวของเราจะไปไกลก็ไม่ค่อยได้ ยิ่งกว่านั้น ที่เราคิดส่งเสริมการเกษตรและเศรษฐกิจอย่างอื่นอยู่ทุกวันนี้ เป็นการไร้ประโยชน์ เพราะการเพาะปลูกทำผลเกินต้องการ ซึ่งไม่มีใครซื้อ เป็นการเสียแรงเปล่า”

ข้อ ๑๒ ผลแห่งความเสียหายซึ่งสยามได้รับอยู่ทุกปีนั้น ประมาณได้ดังนี้คือ :-

ก. เสียทางตรงและทางอ้อมในการถ่ายเรือที่เกาะสีชัง ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท

ข. เสียในการใช้เรือขนาดย่อมบรรทุกสินค้าซึ่งต้องถ่ายเรือที่ฮ่องกงกับสิงคโปร์ ๑,๐๒๕,๐๐๐ บาท

๑. เสียตัวเงินคำนวณได้ เพราะทางเข้าท่าไม่ลึกพอ ๒,๗๒๕,๐๐๐ บาท

๒. เสียตัวเงินคำนวณได้ เพราะท่าเรือเองบกพร่อง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

รวม ๑ และ ๒ อันเป็นเงินคำนวณได้ ๓,๗๒๕,๐๐๐ บาท

๓. สันนิษฐานว่าเสียทางอ้อมไม่น้อยกว่าปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ตามข้างบนนี้ ข้อที่หมาย ก. มีอธิบายว่าใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง ๒๔๗๕ ได้ใช้เรือลำเลียงขนสินค้าขาออกจากกรุงเทพไปขึ้นกำปั่นที่เกาะสีชังเป็นน้ำหนักสินค้า ๒,๗๔๓,๘๖๗ ตัน ค่าลำเลียงวันละ ๒ บาท ๓๐ สตางค์ จำนวนเงินซึ่งเสียไปเป็นค่าเลียงสินค้า ขาออก ไปเกาะสีชังประมาณถัวราวปีละ ๑,๒๕๐,๐๐๐ บาท

ใน ๕ ปีเดียวกันนี้ ( พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕) ได้ลำเลียงสินค้า ขาเข้า จากเรือใหญ่ที่เกาะสีชังเข้ามากรุงเทพเป็นน้ำหนัก ๕๐,๐๐๐ ตัน คิดค่าลำเลียงต้นหนึ่งตั้งแต่ ๓ บาท ถึง ๕ บาท ประมาณเป็นเงินค่าถัวปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ดังนี้ การที่ต้องลำเลียงที่เกาะสีชังนั้น ประมาณเงินที่เสียไปได้แน่นอนปีละ ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่ยังมีอย่างอื่นอีกที่ประมาณไม่ได้ คือว่าการขนสินค้าขึ้นและลงเรือลำเลียงที่ทะเล ย่อมจะกินเวลามากกว่าในกรุงเทพ ในกรุงเทพอาจทำได้เร็ว ๒ เท่า ๓ เท่าที่ทากลางทะเล และนอกจากการเปลืองเวลา ยังมีการเปลืองอย่างอื่นด้วย ประมาณว่า ความเปลืองเช่นนี้ อย่างน้อยตันละ ๕๐ สตางค์ จึงเป็นเงินที่เปลืองไปในส่วนสินค้าออกปีละ ๒๗๕,๐๐๐ บาท ในส่วนสินค้าขาเข้า ๒๕,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวม ๓๐๐,๐๐๐ บาทนี้เข้ากับ ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่จำแนกไว้ข้างบนก็ได้จำนวน ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ดังที่กล่าวไว้ในข้อ ก. เงินที่เปลืองไปตามจำนวนนี้ ส่วนมากไปตกหนักแก่ชาวนา

ส่วนข้อ ข. นั้น พูดตามธรรมดา การบรรทุกสินค้าในเรือใหญ่ ค่าระวางย่อมถูกกว่าบรรทุกในเรือเล็ก เพราะฉะนั้นการใช้เรือขนาดย่อม ก็ย่อมถ่วงการค้าลงไป ถ้าน้ำสันดอนลึกกว่าเดี๋ยวนี้ เรือกำปั่นที่จะมากรุงเทพ ก็คงจะมีขนาดเท่า ๆ กับเรือที่ไปตามเมืองท่าอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง ค่าระวางก็จะถูกลง ประมาณว่าค่าระวางที่เสียอยู่เวลานี้ แพงเกินไปปีละ ๒๒๕,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีโสหุ้ยที่ต้องเสียในการถ่ายสินค้าจากเรือเล็กไปลงเรือใหญ่ และจากเรือใหญ่มาลงเรือเล็กที่ฮ่องกงและสิงคโปร์อีกชั้นหนึ่ง ถ้าเรือกำปั่นขนาดใหญ่เดินข้ามสันดอนมาได้ ก็จะมีเรือขนาดใหญ่เดินตรงมากรุงเทพ ไม่ต้องเสียโสหุ้ยที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ คือค่าแรงและค่าเช่าค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น การที่จะประมาณว่า ถ้ามีเรือขนาดใหญ่เดินตรงมากรุงเทพ ปริมาณแห่งสินค้าที่จะต้องผ่านฮ่องกงและสิงคโปร์จะลดลงไปเท่าใดนั้น ประมาณให้แน่ไม่ได้ แต่ถ้าประมาณว่าสินค้าขาออกที่ต้องผ่าน ๒ เมืองนั้นจะลดลงไป ๑ ใน ๓ และสินค้าขาเข้าจะลดลงไปตามส่วนเดียวกัน ก็คงจะไม่ผิด หรือถ้าผิดก็ผิดข้างที่น้อยไป

ถ้าประมาณว่า การถ่ายสินค้าที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ตันละ ๒ บาท ก็ควรประมาณต่อไปว่าโสหุ้ยซึ่งถ้าสันดอนลึกพอก็จะทุ่นเข้าไปได้นั้น เป็นเงินปีละ ๘๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับ ๒๒๕,๐๐๐ บาท ที่กล่าวไว้ข้างบน จึงเป็นจำนวน ๑,๐๒๕,๐๐๐ บาท ที่แสดงไว้ในข้อ ข.

๑. ในข้อ ก. และข้อ ข. นั้น รวมกันเป็นจำนวนเงินที่หมายเลข ๑ คือว่า โสหุ้ยที่เปลืองไปเปล่า เพราะสันดอนสึกไม่พอ เป็นจำนวน ๒,๘๒๕,๐๐๐ บาท

๒. ใต้ข้อ ๑๐. แห่งปาฐกถาได้กล่าวไว้แล้วว่า ถ้าขนสินค้าแต่ทอดเดียว ไม่ขนตั้ง ๒ ทอด ๓ ทอด ก็จะทุ่นเงินเข้าไปประมาณปีละ ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้ามีเครื่องมือประจำท่าใช้อย่างไม่บกพร่อง ก็จะทุ่นเข้าไปอีกประมาณหยาบ ๆ ว่า การที่ต้องขนสินค้า ๒ ทอด ๓ ทอด และการมีเครื่องมือประจำท่าไม่เทียมหน้าเมืองท่าอื่น ๆ นี้ ทำให้เปลืองเงินไปโดยไม่จำเป็นปีละ ๒ ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

๓. นอกจากนี้พึงรำลึกว่า ข้อที่โสหุ้ยค่าขนแพงเกินไปนั้น ย่อมจำกัดชนิดสินค้าซึ่งจะส่งออกไปจำหน่ายนอกประเทศได้ และทั้งจำกัดปริมาณแห่งสินค้าที่ส่งอยู่ในเวลานี้ด้วย แม้ข้าวซึ่งเป็นสินค้าใหญ่ของเรา ก็คงจะส่งไปจำหน่ายได้มากขึ้น ในเมื่อโสหุ้ยค่าส่งน้อยลง ถ้าคิดว่าสินค้าที่ส่งไปขายอยู่แล้วเช่นข้าว ไม้สัก และแร่ต่าง ๆ ก็จะมากขึ้น และสินค้าที่เวลานี้ยังส่งไปไม่ได้ ก็จะส่งได้ฉะนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า ท่างได้ที่ควรจะได้แต่ไม่ได้นั้น เป็นจำนวนเงินปีละหลายล้านบาท อาจประมาณได้ว่า ความเสียหายในเรื่องขายได้น้อยกว่าที่ควรขายได้นี้ปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

จำนวนเงินที่กล่าวข้างบนนี้ แม้จะเป็นจำนวนมาก ๆ ก็เป็นรายประมาณที่กำหนดแต่พอควร ถ้าจะปรากฏในภายหน้าว่าพลาด ก็คงจะพลาดในทางที่ต่ำเกินไป เงินที่เปลืองไปเปล่า ๆ ปีละมาก ๆ เช่นนี้ ถ้าจะรวมกันเข้าถอยหลังไปนาน ๆ ปี ก็คงจะพอเทียบกันได้กับเงินทุนทั้งหมดที่ลงไปในการสร้างรถไฟทั่วประเทศ

ข้อ “๑๓. การลอกร่องสันดอน พอให้เรือกินน้ำ ๒๓ ฟีต ผ่านได้ในเวลาน้ำขึ้น จักให้ผลทันทีถึง ๑,๖๗๐,๐๐๐ บาท และผลประโยชน์ที่จะได้รับในทางอ้อมจักเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท

“เมื่อเทียบความลึกของน้ำที่สันดอน พอให้เรือกินน้ำ ๒๘ ฟีต ผ่านได้ในเวลาน้ำขึ้นแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้โดยทางตรงถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท และผลประโยชน์ทางอ้อมก็คงจะได้มากขึ้นเป็นลำดับ จนถึง ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท”

(ผลประโยชน์ที่จะได้โดยทางตรง เมื่อลอกร่องน้ำสันดอนให้เรือกินน้ำ ๒๘ ฟีตเดินได้นั้น เราได้เห็นในหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับว่า ๒๕๐,๐๐๐ ซึ่งตกไป ๐ เพราะพิมพ์ผิด เราเกรงจะพากันเข้าใจผิด จึงช่วยบอกแก้ ผู้อ่านที่รู้จักสังเกต คงจะสังเกตแล้วว่า กรรมการผู้เชี่ยวชาญประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดังที่เราพิมพ์ไว้ข้างบนนี้)

การที่จะลอกร่องสันดอนให้เรือขนาดเขื่องเดินเข้าออกได้สะดวกและทั้งมีเครื่องใช้ประจำท่าให้ครบครันนั้น จะต้องลงทุนมาก แต่ทุนที่จะต้องลง ย่อมจะต้องกำหนดมิให้เกินส่วนแห่งผลประโยชน์ที่ประมาณว่าจะได้ เพราะฉะนั้นในการประมาณรายจ่ายนั้น กรรมการผู้เชี่ยวชาญจึงประมาณรายได้เทียบกันไปทีเดียว

ปัญหาข้อต้นที่จะต้องตัดสินก็คือว่า จะต้องลอกร่องสันดอนให้ลึกเพียงใด จึงจะตัดความจำเป็นที่ต้องลำเลียงสินค้าที่เกาะสีชังได้เป็นส่วนมาก กรรมการได้รับรายงานจากสมาคมพ่อค้าในกรุงเทพว่า สินค้าซึ่งส่งไปต่างประเทศนั้น ถ้าคิดโดยค่าลำเลียงที่เกาะสีชังก็ได้ความดังนี้

ก. สินค้าข้าวนี้ไปฮ่องกง ต้องลำเลียงที่เกาะสีชังเป็นโสหุ้ยค่าลำเลียง คิดถัวหลายปี ตกเป็นปีละ ๔๒๕,๐๐๐ บาท

ข. สินค้าข้าวไปสิงคโปร์ ต้องลำเลียงที่เกาะสีชังเป็นโสหุ้ยค่าลำเลียง คิดถัวหลายปีตกเป็นปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ค. สินค้าข้าวไปญี่ปุ่น ต้องลำเลียงที่เกาะสีชังเป็นโสหุ้ยค่าลำเลียง คิดถัวหลายปีตกเป็นปีละ ๑๕๗,๕๐๐ บาท

ง. สินค้าข้าวไปชวาและเมืองขึ้นของฮอลันดา ต้องลำเลียงที่เกาะสีชัง เป็นโสหุ้ยค่าลำเลียงคิดถัวหลายปี ตกเป็นปีละ ๘๐,๐๐๐ บาท

จ. สินค้าข้าวไปยุโรป ต้องลำเลียงที่เกาะสีชัง เป็นโสหุ้ยค่าลำเลียง คิดถัวหลายปีตกเป็นปีละ ๑๓๒,๕๐๐ บาท

ฉ. สินค้าข้าวไปเว็สต์อินดีส์และอเมริกาใต้ ต้องลำเลียงที่เกาะสีชัง เป็นโสหุ้ยค่าลำเลียง คิดถัวหลายปี ตกเป็นปีละ ๑๗๕,๐๐๐ บาท

ช. สินค้าข้าวไปประเทศอื่น ต้องลำเลียงที่เกาะสีชัง เป็นโสหุ้ยค่าลำเลียงคิดถัวหลายปี ตกเป็นปีละ ๘๘,๐๐๐ บาท

ก. ข้าวที่ไปฮ่องกงนั้น บรรทุกเรือขนาด ๒๐๐๐ ถึง ๓๕๐๐ ตันเมตริก เมื่อบรรทุกเต็มที่แล้วกินนา ๑๖ ฟีตถึง ๒๓ ฟีต เรือเหล่านี้บรรทุกสินค้าในกรุงเทพ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ บรรทุกที่เกาะสีชัง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

ข. ข้าวไปสิงคโปร์ โดยมากบรรทุกเรือขนาด ๑๐๐๐ ถึง ๒๐๐๐ ตันเมตริก มักจะบรรทุก ๘๕ เปอร์เซ็นต์ในกรุงเทพ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ที่เกาะสีชัง เรือขนาดเล็กก็บรรทุกในกรุงเทพจนเต็มลำ เรือขนาดใหญ่ก็ไปบรรทุกเต็มที่เกาะสีชัง

ค. และ ง. ข้าวไปญี่ปุ่นและเมืองขึ้นของฮอลันดา มักจะบรรทุกเรือ ๓๐๐๐ ถึง ๖๐๐๐ ตัน ซึ่งเมื่อบรรทุกแล้วกินน้ำ ๒๓ ถึง ๒๘ ฟีต

จ. และ ฉ. ข้าวไปยุโรปและเว็สต์อินดีส์ไปเรือ ๔๐๐๐ ถึง ๘๐๐๐ ตัน เมื่อบรรทุกแล้วเรือกินน้ำ ๒๖ ถึง ๒๘ ฟีต นาน ๆ ก็มีเรือ ๑๐,๐๐๐ ตันเมตริกมารับบรรทุกบ้าง เรือขนาดนี้ เมื่อบรรทุกแล้ว กินน้ำ ๓๑ ฟีต

เมื่อได้ตัวเลขดังนี้แล้ว ก็ควรลงความเห็นได้ว่า ถ้าลอกร่องน้ำสันดอนให้ลึก ๒๓ ฟีต เรือขนาดเขื่องก็จะเข้ามารับและส่งสินค้าได้ถึงกรุงเทพ และจะตัดการลำเลียงที่เกาะสีชังลงได้มาก ข้าวที่ไปฮ่องกงและสิงคโปร์จะบรรทุกเต็มที่ได้ในกรุงเทพ ข้าวไปญี่ปุ่นและเมืองขึ้นของฮอลันดา ส่วนมากก็จะไม่ต้องไปลำเลียงที่เกาะสีชัง และถึงเรือที่เดินไปประเทศไกล ก็จะต้องลำเลียงน้อยเข้า การเป็นดังนี้ จึงควรประมาณได้ว่า การลำเลียงที่เกาะสีชังจะลดลงได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ คือทุ่นเงินเข้าไปปีละ ๑,๑๒๐,๐๐๐ บาท จำนวนนี้ต้องลบค่าเรือบรรทุกข้าวไปส่งลงกำปั่นในกรุงเทพ ๑๙๐,๐๐๐ บาท และบวกค่าเสียหายทางอ้อมที่เกาะสีชัง ๒๔๐,๐๐๐ บาท ได้ผลเป็นเงินที่จะทุ่นได้ปีละ ๑,๑๗๐,๐๐๐ บาท

เมื่อได้ทำทางเข้าให้สะดวกเช่นนี้แล้ว ทางได้ก็จะไม่เกิดเพียงแต่ที่ลดการลำเลียงที่เกาะสีชังอย่างเดียว เรือที่เดินตรงจากกรุงเทพถึงประเทศไกล ๆ ก็จะมีมา เป็นต้นว่า การถ่ายลำที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็จะลดลงได้ ประมาณเลา ๆ ว่าลดลงครึ่งหนึ่ง คือปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินที่ทุ่นค่าโสหุ้ยลงไปทางเกาะสีชังเป็นปีละ ๑,๖๗๐,๐๐๐ บาท

อนึ่ง เมื่อเรือขนาดเขื่องเดินเข้ามาถึงกรุงเทพได้ เรือเหล่านั้นเป็นเรือเดินไปประเทศไกล สินค้าของเราซึ่งไม่เคยออกได้ เพราะโสหุ้ยแพงนัก ก็จะออกได้ และสินค้าที่ออกอยู่แล้ว ก็จะเปิดตลาดกว้างออกไปอีก

การเช่นว่านี้ย่อมจะเป็นไปทีละน้อยช้า ๆ จะประมาณรายได้สูงนัก ก็จะเป็นการหลอกตัวเอง จึงควรประมาณเพียงครึ่งเดียวของเลข ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่กล่าวเมื่อตะกี้คือว่า รายได้ซึ่งจะเกิดทางอ้อมนั้นประมาณปีละ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมความในปัญหาเพียงนี้ว่า ถ้าลอกร่องสันดอนให้ลึกถึง ๒๓ ฟีต ในคราวน้ำขึ้น จะทุ่นเงินเข้าไปปีละ ๑,๖๗๐,๐๐๐ บาทโดยทางตรง และจะมีทางอ้อมอีก ซึ่งควรประมาณได้ว่า ในปีข้างหน้า ๆ ต่อไปจะเป็นเงินปีละ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท

ปัญหาชั้นที่ ๒ ว่า จะต้องทำให้ร่องสันดอนลึกเท่าใด จึงจะตัดความจำเป็นที่จะต้องลำเลียงที่เกาะสีชังได้จนแทบจะไม่มีเหลือเลย

ปัญหานี้จะตอบได้ตามตัวเลขที่แสดงข้างบนมาแล้วว่า ในคราวน้ำขึ้นจะต้องลึกพอแต่เรือกินน้ำ ๓๑ ฟีต

แต่ควรจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าร่องน้ำเพียง ๒๘ ฟีต ก็จะพอสำหรับ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าขาออก และสำหรับสินค้าขาเข้าทั้งหมด เพราะเรือที่กินน้ำกว่า ๒๘ ฟีตนั้น นาน ๆ จะมีมาให้ต้องลำเลียงที่เกาะสีชังสักครั้งหนึ่ง ถ้าร่องน้ำลึก ๒๘ ฟีต ทางได้โดยตรงซึ่งคำนวณไว้ข้างบนนั้นจะได้หมด และทางได้ทางอ้อมก็จะได้เกือบหมดเหมือนกัน คือว่าจะทุ่นค่าลำเลียงที่เกาะสีชังปีละ ๑,๔๗๕,๐๐๐ บาท ทุ่นค่าที่ไม่ต้องถ่ายเรือที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ปีละ ๑,๐๒๕,๐๐๐ บาท รวม ๒ อย่างเป็นปีละ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท และเพิ่มปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นรายได้ทางอ้อมอีกส่วนหนึ่ง

แต่การที่จะทำให้ท่ากรุงเทพเข้าออกง่ายขึ้นนั้น คงจะทำให้เรือของบริษัทที่ไม่เคยเดินไปมากับกรุงเทพ เพราะฉะนั้นในที่สุด ก็จะต้องทำร่องให้ลึกถึง ๓๑ หรือ ๓๓ ฟีต และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท่าเรือกรุงเทพจะเป็นท่าใหญ่ท่า1หนึ่งในโลก

ผู้ตรัสปาฐกถากล่าวต่อท้ายว่า เมื่อท่ากรุงเทพเข้าออกได้สะดวกเช่นนี้แล้ว สยามจะเป็นที่สำคัญ สำหรับเรือใหญ่ ๆ ที่พานักเที่ยวไปรอบโลก ทำให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองอีกส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างประเทศคานาดาให้เห็นว่า ประเทศนั้นเป็นประเทศซึ่งทำงานเพาะปลูกเป็นส่วนมากอย่างเดียวกับเรา แต่คานาดามีรายได้จากนักท่องเที่ยวในปีหนึ่ง ๆ มากกว่าค่าแห่งสินค้าขาออกทั้งหมด (รายได้จากนักท่องเที่ยวปีละ ๒๑๒ ล้านเหรียญ ค่าแห่งสินค้าขาออกปีละ ๒๐๔ ล้านเหรียญ)

ข้อ ๑๔. “ท่าเรือควรจะมีเขื่อนหรือท่าเทียบให้ติดต่อกับทางรถไฟได้ มีโรงพักสินค้าพร้อมด้วยเครื่องจักรยกขนและคลังสินค้าสาธารณะ อนึ่ง ควรสงวนที่ไว้ในคราวเดียวกันนี้สำหรับการทา การค้าและอุตสาหกรรม”

“ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้าทำเสร็จดังกล่าวนี้ประมาณปีละ ๑ ล้านบาท”

แม่น้ำระหว่างกรุงเทพกับปากแม่น้ำ เป็นทางเรือขึ้นล่องได้ดี ในชั้นต้นฝั่งแม่น้ำทั้ง ๒ ข้าง ยังไม่ต้องทำอะไรมาก ต่อเมื่อร่องน้ำสันดอนลึกเกิน ๒๖ ฟีตไปแล้ว จึงจะต้องใช้เรือขุดในแม่น้ำและต้องก่อเขื่อน หรือกำแพงบังคับสายน้ำ เพื่อรักษาฝั่งบางตอน

ส่วนท่าเรือนั้น ข้อบกพร่องที่สำคัญเวลานี้ก็คือ ไม่มีความติดต่อระหว่างรถไฟกับท่าเทียบกำปั่น ทำให้ต้องขนสินค้าจากรถไฟลงเรือเล็กไปขึ้นเรือใหญ่ การที่จะแก้ข้อนี้ก็คือทำเขื่อนท่าจอดเรือให้กำปั่นเขื่องเข้าเทียบได้ แต่ให้มีทางรถไฟแยกลงไปหา มีโรงสินค้า และเครื่องจักรสำหรับขนสินค้าขึ้นลงด้วย การเตรียมพร้อมเช่นนี้ ถ้าไม่คิดธรรมเนียมค่าทำสูงเกินไป ก็จะทำให้โสหุ้ยการขนสินค้าจากรถไฟไปลงเรือใหญ่และจากเรือใหญ่ไปขึ้นรถไฟต่ำลงมาก

อนึ่งถ้ามีท่าเรือเช่นที่กล่าวนี้ ก็จะเป็นทางบังคับค่าธรรมเนียมท่าเรือไปรเวต (ของบุคคลหรือบริษัท) มิให้เรียกสูงเกินไป

ส่วนการสีข้าวนั้น ในเวลานี้ยังมีแต่โรงสีเล็ก ๆ ซึ่งถ้าจะมีทำและเครื่องมือดี ๆ ก็ไม่คุ้มกัน และการขนข้าวเปลือกไปถึงโรงสี และการขนข้าวสารไปลงเรือใหญ่ก็คงจะต้องใช้เรือเล็กขนส่งต่อไปอีก เมื่อใดมีโรงสีขนาดใหญ่สำหรับข้าวสารส่งขึ้นรถไฟมาลงกำปั่นทีเดียว เมื่อนั้นท่าเรือที่ตั้งโครงการนี้ จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ การมีโรงสีเล็ก ๆ มากโรงนั้น เมื่อรวมโสหุ้ยเข้า โสหุ้ยก็ย่อมจะสูงกว่ามีโรงสีใหญ่ ๆ น้อยโรง จึงควรคาดล่วงหน้าได้ว่า เมื่อมีเรือใหญ่ ๆ มาจอดท่ากรุงเทพได้สะดวกแล้ว โรงสีใหญ่ ๆ ก็จะเกิดมีมากขึ้น

ผู้ตรัสปาฐกถา กล่าวสรูปประโยชนฺตามหัวข้อ ๆ นี้ว่า

“ท่าเรือสาธารณะให้ความยุติธรรมแก่ปวงชนเพราะป้องกัน

๑. การโกงค่าท่าและค่าเก็บสินค้า

๒. การหลีกเลี่ยงด้านภาษี

๓. การแทรกแซงของคนกลางอันไม่จำเป็น

ท่าเรือใหม่นี้เปิดช่องให้เห็นทิวการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศชาติหลายทาง เช่น

๑. การปรับปรุงการขนส่งและรวบรวมข้าว (“โครงการฉางไซโล”) อีกทั้งพืชผลอย่างอื่น ๆ

๒. โรงสีซึ่งจะมีข้าวชนิดดี ๆ ส่งไปขายในต่างประเทศ

๓. อุตสาหกรรมเนื่องมาแต่การเพาะปลูกเช่นทำอัลกอฮอล์ กลูโคส แป้งซักผ้า เป็นต้น”

ภาคที่ ๒ รายงานกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสันนิบาตชาติหมดเพียงนี้ ต่อไปเป็นภาค ๓

ข้อ ๑๕. การเบิกร่องที่สันดอนเป็นวิธีเหมาะที่สุด อันจะให้เรือกำปั่นกินน้ำลึกเข้าสู่ท่าเรือพระนครได้ จะดูจากแง่ไหนก็ตาม วิธีนี้ดีกว่าสร้างคลองจากทะเล แลจะดีกว่าสร้างท่าเรือริมฝั่งทะเลเป็นอันมาก

การที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำสันดอนตื้นๆจนเรือกินน้ำลึกเข้าออกไม่สะดวก เป็นเหตุกีดกั้นการค้าขายและความเจริญของประเทศโดยนัยที่แสดงมาแล้วนั้น มีวิธีที่จะทำได้อยู่ ๓ ทางคือ

ก. ทำให้ร่องสันดอนลึกพอแก่การ

ข. ขุดคลองลึกและกว้างให้กำปั่นขนาดใหญ่เดินได้ ปลายหนึ่งออกทะเล ปลายหนึ่งออกแม่น้ำ มีประตูน้ำตรงปลายที่ออกแม่น้ำ

ค. ทำเมืองท่าใหม่ที่ฝั่งทะเล พ้นเขตที่ตื้นออกไป มีติดต่อกับกรุงเทพด้วยรถไฟ ถนนและทางน้ำ

การที่จะเลือกว่าในวิธีทั้ง ๓ วิธีใดจะดีกว่ากันนั้น มีทางดำริดังนี้

วิธี ข. และ ค.คือขุดคลองใหญ่หรือสร้างเมืองท่าใหม่นั้น ไม่ทำให้ต้องแก้สันดอน แต่ ข. กับ ค. ผิดกันเป็นข้อสำคัญ คือว่า ถ้าใช้วิธี ข. คือขุดคลอง กำปั่นใหญ่ก็มาถึงกรุงเทพ ใช้กรุงเทพเป็นท่าได้

แต่ถ้าใช้วิธี ค. คือทำเมืองท่าใหม่ กรุงเทพก็จะเลิกเป็นเมืองท่า เมืองใหม่จะแย่งกรุงเทพ กรุงเทพจะร้างการค้าขายไปทีละน้อย ๆ และของดีที่มีอยู่แล้วคือลำแม่น้ำ จะไม่ได้ใช้อะไร ความคิดเรื่องสร้างเมืองท่าใหม่นี้ได้เคยคิดกันมานานแล้ว คือคิดจะสร้างที่ศรีราชา ข้อที่ไม่ได้ทำอะไรลงไปนั้น เป็นการดี เพราะการสร้างอ่าวใหม่และทำทางติดต่อให้สมกับที่จะเปิดสยามให้เป็นตลาดโลกนั้น ย่อมจะเป็นงานใหญ่โต ซึ่งถ้าพลาดจะเกิดความเสียหายมาก ถ้าจะเลิกกรุงเทพไปใช้ศรีราชา ก็จะต้องคิดผังเมืองกันใหม่ เพราะแยกเมืองท่าออกต่างหากจากเมืองหลวงอันเป็นทำเลการค้า (ซึ่งปาฐกใช้ว่า “ระบบดาวพระเคราะห์) จะทำให้ลักษณะการค้าและขนส่งในทุกวันนี้กลับหน้ามือเป็นหลังมือไปหมด เหตุฉะนี้ ถ้าคิดทำให้ง่าย ๆ คือลอกร่องน้ำสันดอนสำเร็จได้ ก็ควรสละความคิดเรื่องสร้างเมืองท่าที่ศรีราชา (หรือที่อื่น ๆ)

ค. ส่วนความคิดที่จะขุดคลองใหญ่ ตั้งแต่ทะเลมาถึงแม่น้ำนั้น ผิดกับการทำเมืองท่าใหม่ โดยข้อที่ว่าไม่ต้องทิ้งกรุงเทพให้ว่างอยู่เปล่าๆ แต่ก็ยังไม่เหมือนกับการลอกสันดอน โดยเหตุที่จะได้ชี้แจงต่อไป

ความคิดเรื่องขุดคลองใหญ่นี้ ได้เกิดมีขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงได้ประกาศกฤษฎีกาสงวนที่ดินในปีนั้น คลองที่คิดกันในคราวนั้น จะออกทะเลที่แหลมฟ้าผ่าผ่านไร่นาและที่ว่างมาออกแม่น้ำเหนือสมุทรปราการขึ้นมา

การคิดขุดคลองใหญ่นี้ จะทำก็ทำได้ แต่ว่า

(๑) การเดินเรือใหญ่เข้าออก และขึ้นลงตามลำคลองย่อมจะไม่สะดวกเท่าแม่น้ำ

(๒) จะต้องทำประตูน้ำขนาดใหญ่ ๒ ประตูใกล้ ๆ กัน (ประมาณราคาตั้ง ๓๐ ล้านบาท)

(๓) จะต้องทำเครื่องช่วยต่าง ๆ คือที่ทอดสมอ ท่ายื่นออกไปนอกร่องน้ำ แอ่งลึกและใหญ่ พอให้เรือโต ๆ กลับลำและหลีกกันได้ เสมอกับเป็นอ่าวอีกแห่งหนึ่งเป็นต้น

(๔) จะต้องทำร่องน้ำใหม่ที่ตอนปลายคลองไปถึงทะเลลึก

(๕) จะต้องจ่ายเงินอีกประมาณ ๔๐ ล้านบาท และจะไม่ได้ประโยชน์จนกว่าจะทำสำเร็จ ไม่ใช่ทำไปได้ไปอย่างลอกร่องสันดอน

รวมความว่าการขุดคลองจากทะเลมาถึงแม่น้ำ ให้กำปั่นขนาดใหญ่ไปมาได้นั้นขัดข้อง เพราะลงทุนมากนัก และทั้งเป็นของที่ทำยากโดยทางวิชา ควรต้องสละเสีย

ก. เมื่อสละทั้งวิธี ข. และวิธี ค. ดังนี้แล้ว ก็ยังมีแต่วิธี ก. คือทำรองน้ำสันดอนให้กำปั่นขนาดใหญ่เดินได้ และกรรมการผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้วิธีนี้

ที่ตื้นที่สันดอนนั้นเป็นรูปคล้ายพัดด้ามจิ้วขวางปากแม่น้ำ มีร่องน้ำเล็กไปทางตะวันออกร่องหนึ่ง ไปทางตะวันตกร่องหนึ่ง มีร่องใหญ่อยู่กลาง ร่องกลางนี้เป็นร่องที่กำปั่นเดินทะเลใช้อยู่ในเวลานี้ เป็นร่องลึกกว่าอีก ๒ ร่อง และความลึกคงที่อยู่เสมอ ตอนรูปพัดด้ามจิ้วนั้นเป็นทรายและตะกอน ซึ่งเกิดเพราะกระแสน้ำและกำลังลม

การที่จะทำให้ร่องน้ำสันดอนลึกนั้น มีอยู่ ๒ วิธี สองวิธีนี้ถ้าพูดตามตัวอย่างที่ทำกันมาในประเทศอื่น ๆ ก็ใช้วิธีเดียวไม่ค่อยสำเร็จ มักจะต้องใช้ร่วมกันทั้ง ๒ วิธี แต่ร่องน้ำสันดอนของเรานี้มีลักษณะได้เปรียบ อาจใช้วิธีเดียวก่อนก็ได้

สองวิธีนั้นคือ วิธี ๑. ก่อเขื่อนและรอที่เป็นกองถาวรบังคับกระแสน้ำให้ลอกร่องสันดอนเอง วิธี ๒ ใช้เรือขุด

วิธี ๑. นั้นจะลอกร่องตื้นให้ลึกลงไปโดยเร็วไม่ค่อยได้ ต้องใช้เรือขุด ๆ (วิธี ๒) เสียก่อน แล้วใช้วิธี ๑ รักษาความลึกไว้ แต่ถึงกระนั้น ก็คงจะต้องใช้เรือขุดช่วยอยู่เสมอ ๆ

ถ้าจะพูดกลาง ๆ การใช้เรือขุด (วิธี ๒) ย่อมง่ายกว่าการก่อเขื่อน รอ ฯลฯ ถาวร การก่อเขื่อน รอ ฯลฯ นี้ จำต้องศึกษาจดจำกิริยาอาการของแม่น้ำอยู่หลาย ๆ ปี จึงจะกำหนดได้ว่าควรก่อเขื่อนที่ไหน ทำรอที่ไหน ถ้าทำผิดที่หรือผิดทาง ก็เสียเปล่า ส่วนการใช้เรือขุดนั้นลงมือได้เร็ว ได้ประโยชน์เกือบจะทันที และถ้าจะพลาดบ้างก็ทำไปเปลี่ยนไปได้

กรรมการผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ลอกร่องสันดอนเป็น ๒ ขั้น ขั้นต้นให้ทำร่องให้ลึกเพียง ๒๓ ฟีต ขั้นที่ ๒ จึงทำอีกให้ลึกจนถึง ๒๘ ฟีต

การขั้นต้นนั้นให้ใช้เรือขุด เมื่อขุดแล้วจะเกิดประโยชน์ทันที เพราะเมื่อเรือกินน้ำ ๒๓ ฟีต ผ่านเข้าออกได้แล้วก็เห็นผล ดังกล่าวแล้วในข้อต้น ๆ

เมื่อทำขั้นที่ ๑ (๒๓ ฟีต) แล้วก็ให้ใช้เวลาตรวจตราพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อน จึงทำขั้นที่ ๒

การทำขั้นที่ ๒ คือลอกร่องน้ำให้ลึกลงไปอีก ๕ ฟีต นั้นยากกว่าขั้นที่ ๑ จำเป็นจะต้องใช้เรือขุด ขุดให้ลึกลงก่อน และจะต้องใช้เรือขุดนั้นเอง รักษาความลึกไว้ต่อไป คือว่าจะใช้วิธี ๑ อย่างเดียวไม่ได้

แต่มีข้อที่จะต้องเอามาคำนึง ๒ ข้อ การขุดและรักษาความลึกของร่องน้ำไว้ด้วยเรือขุดอย่างเดียวนั้น เมื่อร่องลึกลงไป โสหุ้ยก็ต้องขึ้น แต่ค่าโสหุ้ยที่ขึ้นนั้น ถ้าคิดตามส่วนความลึก โสหุ้ยก็ทวีขึ้นไปเร็วกว่าความลึกมาก อีกประการหนึ่ง การทำเขื่อนและรอที่จะบังคับกระแสน้ำให้ช่วยรักษาความลึกไว้นั้น ถ้าใช้แบบซึ่งไม่แพงนักก็คงจะช่วยลดทุนได้บ้าง แต่ข้อหลังนี้จะต้องคอยตรวจตราพิจารณาเมื่อได้ทำขั้นต้นแล้ว

รวมความในข้อนี้ว่า ทำ ๒๓ ฟีตก่อน ทำแล้วก็ใช้ไปทีเดียว แล้วจึงทำอีก ๕ ฟีตทีหลัง การที่จะทำอีก ๕ ฟีตนั้น ช้า ๆ หน่อยจึงจะดี เพราะยังมีเวลาตรวจตรานาน ๆ ก็ยิ่งได้ความรู้ขึ้น

ข้อ ๑๖. การลอกร่องสันดอนจะไม่ทำให้น้ำในแม่น้ำเค็มจนรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นผู้ได้เสียในการเกษตร (คือชาวสวนธนบุรีเป็นต้น) จะไม่ต้องเดือดร้อนเลย

ปัญหาเรื่องลอกสันดอนได้ทำให้เกิดความร้อนใจกันว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะกร่อยจัดขึ้น และจะทำให้การเพาะปลูก ๒ ฝั่งแม่น้ำเสียไป ถ้าน้ำในแม่น้ำกร่อยมากขึ้นจริง ความเสียหายก็จะมีมาก แต่กรรมการผู้เชี่ยวชาญได้แสดงโดยทางวิชาและอ้างตัวอย่างในแม่น้ำอื่น ๆ ที่ควรเทียบกันได้ให้เห็นว่า ถึงลอกสันดอนแล้ว ก็ไม่มีผลผิดกับเดี๋ยวนี้ในเรื่องน้ำกร่อย เพราะน้ำเค็มที่อาจเข้ามาได้อีกบ้าง เพราะร่องลึกลงไปนั้น มีส่วนน้อยนัก

คำอธิบายของกรรมการผู้เชี่ยวชาญเหตุผลในข้อนี้ยืดยาวมาก แต่สรุปความลงได้ว่าน้ำกร่อยมากและน้อยนั้นเป็นเพราะเหตุ ๓ ประการ ประการที่ ๑ คือน้ำจืดหลากมาจากเหนือมากหรือน้อย ประการที่ ๒ น้ำทะเลเข้ามามากหรือน้อย ประการที่ ๓ แม่น้ำตรงไหนจะกร่อยมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ใกล้หรือไกลจากทะเล

ถ้าเหตุทั้ง ๔ ประการที่กล่าวต่อไปนี้เผอิญมีมาประจวบพร้อมกันทั้งหมด น้ำก็กร่อยมาก เหตุ ๔ ประการ คือ

๑) แม่น้ำเป็นตอนที่อยู่ใกล้ปากน้ำ

๒) ปีนั้นฝนแล้ง น้ำจืดมีน้อย

๓) น้ำทะเลกำลังขึ้นเต็มที่

๔) ลมตีขึ้นมาจากทะเลอย่างแรง

เหตุ ๔ ประการนี้ นาน ๆ จะเผอิญมาพร้อมกันเข้าสักครั้งหนึ่ง

แต่กรรมการผู้เชี่ยวชาญกำชับว่า ต้องอย่าปล่อยให้กระแสน้ำกัดคลองปากลัดพังกว้างและลึกลงไปเป็นอันขาด มิฉะนั้นน้ำเค็มจะขึ้นสูงขึ้นไปอีกตั้ง ๒๐ กิโลเมตร เรื่องคลองปากลัดนี้ต้องระวังให้มาก

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๓ นาย รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า การลอกร่องน้ำให้ลึกลงไปนั้น จะไม่เป็นผลให้น้ำในแม่น้ำที่ไหลขึ้นลงผิดไปจากเดี๋ยวนี้กี่มากน้อย เพราะฉะนั้นความกร่อยของน้ำ ก็จะไม่ผิดไปจนถึงจะรู้สึกได้

อนึ่ง ในเรื่องนี้ได้มีผู้แทนราษฎรนายหนึ่ง ถามกรรมการผู้เชี่ยวชาญคนที่เข้ามาตรวจเก็บความรู้ในกรุงเทพอยู่หลายเดือน ผู้เชี่ยวชาญชี้แจงเป็นใจความซึ่งเราขออธิบายยืดออกไปตามโวหารของเราว่า เหตุที่ไม่ต้องวิตกว่าน้ำในแม่น้ำจะกร่อยยิ่งขึ้นนั้น ชี้ให้เห็นได้ง่าย ๆ ๒ ประการ ประการที่ ๑ ธรรมดาน้ำยอมไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ นัยหนึ่งว่าน้ำย่อมไหลไปสู่ระดับเดียวกัน ถ้าระดับเสมอกันอยู่แล้ว ก็ไม่ไหลไปหากันอีก เปรียบเหมือนน้ำในคูเดียวกัน ระดับปลายคูข้างโน้นเสมอกับปลายคูข้างนี้ น้ำในคูก็ย่อมจะนิ่ง ถ้าจะเอาจอกไปลอยที่ปลายคูข้างนี้ จอกก็จะลอยอยู่กับที่ ไม่ลอยไปปลายคูข้างโน้น เพราะน้ำไม่ไหล แต่ถ้าทำทำนบขวางคูและไขน้ำเข้าทางคูปลายหนึ่ง (ต่างว่าปลายด้านเหนือ) น้ำปลายเหนือมีระดับสูงขึ้น ก็จะไหลข้ามคูไปปลายใต้ ถ้าระดับน้ำปลายเหนือสูงมาก และทางที่จะไหลผ่านทำนบไม่สะดวกพอ ถ้าทำนบไม่แน่นหนา น้ำก็จะเซาะทำทางไหลไปลงระดับเดียวกันจนได้

ลักษณะน้ำในคูที่ชี้แจงมานี้ฉันใด ลักษณะของน้ำที่นอกปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาก็ฉันนั้น ระดับน้ำตั้งแต่เกาะสีชังเข้ามาจนถึงสันดอน และตั้งแต่สันดอนเข้ามาในแม่น้ำ เป็นระดับเดียวกันเหมือนน้ำในคู ระดับน้ำทะเลไม่ได้สูงกว่าระดับในแม่น้ำ สันดอนจะตื้นหรือลึกก็เท่ากัน เพราะไม่ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนไปได้ เปรียบเหมือนคูซึ่งนำมาเทียบเมื่อตะกี้ ถ้าจะขุดกลางคูให้ลึกลงไปอีก หรือทำให้ตื้นขึ้นมา ระดับน้ำปลายคู ๒ ข้างก็ยังเสมอกัน และน้ำก็จะนิ่งอยู่นั่นเอง

ในเรื่องระดับน้ำทะเลกับแม่น้ำที่กล่าวนี้ ที่ทราบก็เพราะได้วัดสอบจนไม่มีที่สงสัย แต่ยังมีพยานอีกข้อหนึ่ง ซึ่งยกตัวอย่างทำนบในคูมาให้เห็น คือว่าถ้าระดับน้ำข้างหนึ่งสูงน้ำคงจะเซาะทำนบหรือหาทางไหลไปหากันให้จนได้ สันดอนเป็นโคลนปนทราย ถ้าระดับน้ำทะเลสูงกว่าแม่น้ำ น้ำก็จะเบิกร่องให้กว้างได้ง่าย ๆ ด้วยกำลังน้ำนั้นเอง ที่สันดอนอยู่ได้ ก็เพราะระดับน้ำทั้งข้างนอกและข้างในเสมอกัน จึงกล่าวได้ว่าสันดอนไม่ได้กันน้ำกร่อย หากมันไม่กร่อยเอง

(ผู้เชี่ยวชาญชี้แจงแก่ผู้แทนราษฎรมีใจความอย่างข้างบนนี้ แต่วิธีอธิบาย ก. ข. นโม อย่างเยิ่นเย้อนั้นเป็นของประมวญมารค)

ข้อ ๑๗. งานซึ่งจะทำในชั้นแรก ได้แก่การลอกร่องน้ำที่ผ่านสันดอนให้ลึกลงไป ๕ เมตร เพื่อให้เรือกินน้ำ ๒๓ ฟีตผ่านได้ในเวลาน้ำสูง

การใช้วิธีขุดลอกนี้ จะลงมือทำได้เร็วเมื่อตกลงจะทำ และควรให้เสร็จภายในเวลา ๒ ปี วิธีนี้ให้ประโยชน์ยิ่งกว่าการลอกพร้อมกันไปกับการสร้างสิ่งถาวรสำหรับปรับกระแสน้ำ

ในขณะทำการลอก หรือถ้าทำได้ก่อนก็ยิ่งดี ควรลงมือทำการสังเกตและสอบสวนเพื่อทราบว่า การสร้างสิ่งถาวรนั้น จักควรทำได้สักเพียงใด จึงจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขุดชั้นที่ ๒ และการบำรุงรักษาต่อไป

ร่องน้ำที่จะลอกตามข้อ ๑๗ นี้ ก้นกว้าง ๑๐๐ เมตร ลาด ๑ ใน ๑๕ จะกินเวลาประมาณ ๒ ปีจึงจะลอกเสร็จ ถ้าทำให้ลึก ๒๘ ฟิตจะกินเวลา ๔ ปี ผู้ตรัสปาฐกถากล่าวแถมว่า ดินและทรายที่ลอกขึ้นมาจากร่องสันตอนนั้น ต่อไปภายหน้า อาจนำมาใช้ในกรุงเทพ แก้ปัญหาเรื่องยุงได้ ดินและทรายที่จะลอกขึ้นมา ในขั้นต้นที่ทำให้ร่องลึกเพียง ๒๓ ฟีตนั้น จะมากถึง ๕,๔๐๐,๐๐๐ เมตรคิวบิค แล้วต่อไปก็จะต้องลอกดินและทรายขึ้นมาประมาณปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ เมตรคิวบิค เมื่อลอกร่องลึกลงไปอีก ดินและทรายที่ลอกขึ้นมา ก็ย่อมจะมากขึ้นเป็นธรรมดา

ปาฐกแนะนำว่า การสังเกตตรวจตราเก็บความรู้ไว้เพื่อจะทำต่อไปนั้น ควรรีบลงมือทำโดยเร็ว เพราะว่างานอันนี้จะทำได้ก็เฉพาะหน้าแล้ง คือตอนปลายปีและต้นปีเท่านั้น

ข้อ ๑๘. การลอกร่องน้ำสันดอนให้เต็มตามกำหนดการ โดยเบิกร่องน้ำลงไป ๖.๕ เมตร ใต้ระดับศูนย์แห่งอุทกศาสตร์ เพื่อให้เรือกินน้ำ ๒๘ ฟีตผ่านได้ขณะน้ำขึ้นสูง จะเป็นค่าใช้ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท และค่าขุดซ่อมเพื่อบำรุงต่อไปประมาณปีละ ๘๓๕,๐๐๐ บาท

กิจการซึ่งจะทำให้สำเร็จไปในชั้นแรกนั้น รวมค่าลอกร่องน้ำสันดอนลงไป ๕ เมตร ใต้ระดับศูนย์อุทกศาสตร์ เพื่อให้เรือกินน้ำ ๒๐ ฟีตเดินได้ จะตกอยู่ในราว ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และค่าขุดซ่อมเพื่อบำรุงอีกปีละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท

การลอกร่องน้ำนั้น อาจทำได้ ๒ ทางคือ จ้างเหมาให้ผู้อื่นทำอย่างหนึ่ง รัฐบาลทำเองอย่างหนึ่ง ถ้าจ้างเหมาให้ผู้อื่นทำ ก็ควรจะยอมตามใจผู้เหมาว่าจะเลือกใช้เครื่องมือแบบไหน และแม้วิธีทำก็ควรจะปล่อยให้คิดเองได้บ้าง แต่ถ้ารัฐบาลทำเอง ก็จำเป็นจะต้องเลือกเครื่องขุดชนิดที่เหมาะแก่แม่น้ำและสันดอนจริง ๆ เพื่อจะมิต้องลงทุนเกินจำเป็น เรือขุดเป็นของแพง ถ้ารัฐบาลตกลงจะทำเอง ก็ควรหาทางยืมมาลองใช้ดูก่อน

โสหุ้ยในการลอกร่องน้ำนั้นประมาณคิวบิคเมตรละ ๓๓ สตางค์

ขั้นต้น การลอกร่องน้ำให้เรือกินน้ำ ๒๓ ฟีต ประมาณเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ขั้นที่ ๒ ลอกให้ลึกลงไปอีก ๕ ฟีต ประมาณเงินอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

รวม ๒ ขั้นเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ถ้าลอกร่องน้ำถึง ๒๓ ฟีตแล้วยังไม่ทำต่อไปจะเสียโสหุ้ยที่ค่ารักษาความลึกไว้เป็นเงินปีละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท

ถ้าลึกถึง ๒๘ ฟีตแล้วโสหุ้ยปีละ ๘๐๐,๐๐๐ บาท

ถ้ากู้เงินมาทำ สมมติว่าดอกเบี้ย ๗ เปอร์เซ็นต์ และถ้าทำเพียงขั้นต้นก่อน ค่าโสหุ้ยรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินกันไว้ส่งคืนต้น ประมาณปีละ ๖๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าทำขั้นที่ ๒ ประมาณปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท

เงินซึ่งประมาณไว้นี้ รวมไปถึงค่าทำเขื่อน รอ ฯลฯ อย่างเบา (คือทำด้วยไม้) ด้วย

ข้อ ๑๙. ในการปรับปรุงท่าเรือพระนครได้ดียิ่งขึ้นไปนั้น ควรรวมการก่อสร้างเขื่อน เทียบเรือยาว ๑๐๐๐ เมตร พร้อมด้วยเครื่องยกขนสินค้า โรงพักสินค้า คลังสินค้า ชานชลาเก็บของและหลีกรถไฟด้วย

ในชั้นแรกควรสร้างอุปกรณ์ ทั้งนี้แต่เพียงครึ่งหนึ่งก่อน

แต่ที่ดินริมแม่น้ำที่เรือเดินสมุทรอาจเทียบเข้าได้นั้น จักต้องเวนคืนเพื่อประโยชน์ของท่าเรือและอุตสาหกรรม

เงินซึ่งจะต้องจ่ายไปในการนี้ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (๑๘,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ทอง) แต่จักต้องการสำหรับใช้จ่ายในงานชั้นต้นเพียงครึ่งเดียว การเลือกทำเขื่อนและท่าเรือนั้น จะต้องทำฟากคุ้งของแม่น้ำ และเลือกที่ซึ่งยาวตรง กฤษฎีกาสงวนที่ดินลงวันที่ ๖ สิงหาคม ย่อมแสดงให้เห็นว่า ที่ดินซึ่งจะใช้ในการทำท่าเรือจอด โรงสินค้า ฯลฯ นั้น ย่อมจะอยู่ภายในเขตที่กำหนดไว้ในแผนที่นั้นแล้ว

ข้อ ๒๐. ตามกำหนดการทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายในการลอกร่องน้ำสันดอนให้ลึก ๖.๕ เมตร พร้อมด้วยทำเลอุตสาหกรรม คิดเป็นเงินประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (๓๐,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ทอง) และต้องการค่าใช้จ่ายในงานชั้นแรกแต่เพียงครึ่งหนึ่งก่อน

ค่าบำรุงรักษาร่องน้ำสันดอน เมื่อเสร็จตามกำหนดการแล้วจะตกในราว ๘๓๕,๐๐๐ บาท (๑,๒๕๐,๐๐๐ พรังค์ทอง)

ความในข้อนี้ว่าตามโครงการที่แนะนำนี้ ประมาณราคาที่จะทำ ๓ อย่าง คือลอกร่องสันดอนให้ลึก ๒๘ ฟีต อย่าง ๑ สร้างเขื่อนเทียบเรือยาว ๑๐๐๐ เมตร รวมทั้งเครื่องใช้สำหรับขนสินค้าขึ้นลง และโรงไว้สินค้า และต่อทางรถไฟเข้าไปหาท่าอย่าง ๑ เตรียมไว้สำหรับจะเป็นทำเลโรงงานอุตสาหกรรมอย่าง ๑ รวมทั้งหมดประมาณทุนที่จะลง ๒๐ ล้านบาท

ที่ว่า ๒๐ ล้านบาทนี้ คือทุนที่จะต้องใช้ตลอดไปจนสำเร็จตามขั้นที่ ๒ ที่กล่าวในเบื้องต้น แต่กรรมการแนะนำให้ทำเพียงขั้นที่ ๒ ก่อน และทุนที่จะต้องใช้ในการทำขั้นที่ ๑ นี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของทุนที่จะต้องใช้ เพื่อทำให้ตลอดไปจนสำเร็จตามขั้นที่ ๒

การรักษาความลึกของร่องน้ำไว้ในเมื่อได้ทำเต็มตามคั่นที่ ๒ แล้วนั้น ประมาณปีละ ๘๓๕,๐๐๐ บาท

ทุนทั้งหมดที่จะต้องใช้ คือ ๒๐ ล้านบาทนั้น เมื่อถึงคราวทำ ก็อาจเปลี่ยนออกได้เป็นเวลา ๕ ปีถึง ๖ ปี หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้

เมื่อชี้แจงตลอดตามหัวข้อทั้ง ๒๐ ข้อที่จำแนกมานี้แล้ว ผู้ตรัสปาฐกถากล่าวในสุดท้ายว่า ตามโครงการซึ่งสันนิบาตชาติทำให้แก่เรานี้ เป็นวิธีที่ให้ไทยผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินสยามใช้สิทธิที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน “ติดตลาดโลกขึ้นในสยาม”

การที่เราคิดทำนี้ เป็นการช่วยตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชนชาติอื่นซึ่งมาลงทุนไว้ในบ้านเรา ไม่พึงระแวงว่าจะถูกบุกรุกเข้าแย่ง เพราะท่าเรือใหม่จะไม่ประชันกับท่าเรือเก่า ๆ ซึ่งมีแล้วในเวลานี้ แท้จริงท่าเรือเก่าก็ย่อมจะได้ประโยชนยิ่งขึ้นจากการที่เข้าออกปากน้ำได้สะดวก แต่คงจะได้เพียงที่ขนาดยาวและความสะดวกของท่านั้น ๆ จะให้ได้ เป็นต้นว่าถ้าเรือขนาดใหญ่เดินเข้ามาในแม่น้ำเรือใหญ่จะจอดท่าเล็ก ก็ไม่สะดวกอยู่เอง

ส่วนที่พูดถึงท่าและอุตสาหกรรมในที่ใหม่ คือที่ใกล้ ๆ ท่าเรือนั้น ก็ย่อมจะเป็นไปทีละน้อย แต่คงจะมีมาเอง

การจัดท่าเรือใหม่นี้ จะให้ประโยชน์แก่ผู้ทำให้สินค้าเกิดคือชาวนาเป็นต้น ตลอดถึงพ่อค้าและผู้ขนส่งทั่วหน้ากัน แต่จะกล่าวว่าประโยชน์จะเกิดแก่ชนส่วนไหน เท่าใด ก็กล่าวแน่ไม่ได้ เป็นต้นว่าชาวนาอาจได้ประโยชน์มากน้อยตามคราวที่ราคาข้าวขึ้นและลงในตลาดโลก

ในเวลานี้ชาวเรายังไม่สู้สันทัดในการค้าขาย แต่เมื่อจัดให้การค้าขายเจริญขึ้นโดยประการที่กล่าวในรายงานนี้แล้ว ประโยชน์ก็ย่อมจะเกิดแก่ราษฎรของเราทุกส่วน ราษฎรอาจมีทรัพย์พอที่จะซื้อของได้มากขึ้น และถูกลง เป็นความสุขในการอยู่กิน และอาจขายพืชผลได้มากขึ้น และได้ราคาดีกว่าที่ได้อยู่เดี๋ยวนี้

ปาฐกตรัสในที่สุดว่า “ในสุดท้ายนี้ยังมีแต่จะขอชักชวนให้เราท่านใส่ใจไว้ว่า โครงการนี้เป็นโครงการของชาติ เราควรสามัคคีกันเอาใจช่วยให้สำเร็จ หากเรานึกว่าเราจะต้องเสียสละบ้าง ก็ขอแนะนำให้ทำด้วยความชื่นตาชื่นใจเถิด ตามจริงจะไม่ต้องเสียสละอะไรเลย นอกจากความเข้าใจผิดนิดเดียวเท่านั้น”

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๔ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ