รู้ใจคน

ในระหว่างมหาสงครามเกิด จะมีสไตรก์ในพวกคนงานบ่อถ่านหินประเทศเวลส์ (ในรัฐบาลอังกฤษ) ถ่านขุดในประเทศนั้น เป็นถ่านดีที่สุดในโลก สไตรก์นั้นถ้าเกิดแล้วก็จะแผ่กว้าง จะเกิดเสียหายใหญ่โต เพราะถ่านต้องใช้มากในสงคราม รัฐบาลอังกฤษร้อนใจมาก มิสเตอร์ลอยด์ยอชซึ่งเป็นชาวประเทศเวลส์เองติดราชการอื่นเต็มตัวอยู่ในลอนดอน จะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพวกบ่อถ่านก็ไม่ได้ จึงจัดเยนเนอราลสมัตส์ อรรคเสนาบดีแอฟริกาใต้ ซึ่งเวลานั้นอยู่ในลอนดอน ให้ไปพูดจาเอาใจ แลชี้แจงให้พวกบ่อถ่านฟังว่า หยุดงานไม่ได้ เพราะอาจทำให้เพลี่ยงพล้ำในสงคราม

ก่อนจะเดินทางไปประเทศเวลส์ เยนเนอราลสมัตต์ไปตามลอยด์ยอชว่าจะควรพูดกับพวกบ่อถ่านอย่างไร ลอยด์ยอชหนักใจมาก ไม่ทราบจะแนะให้พูดอย่างไร จึงจะถูกใจพวกบ่อถ่าน เป็นอันว่าเยนเนอราลสมัตส์จะต้องไปคิดพูดเอาเอง แต่ในเวลาที่นั่งสนทนากันนั้น เผอิญลอยด์ยอชกล่าวว่า ชาวประเทศเวลส์ร้องเพลงเก่งนัก ลอยด์ยอชไม่ได้คิดจะให้เยนเนอราลสมัตต์นำความข้อนั้นไปใช้ แต่เยนเนอราลสมัตส์จำใส่ใจไว้ ครั้นไปถึงบอถ่านหินก็ได้ประโยชน์มาก กล่าวตามสมุดของลอยด์ยอชเขียนเล่าไว้ดังนี้

เมื่อเยนเนอราลสมัตส์ไปถึงเวลส์แล้ว ก็นัดให้พวกคนงานบ่อถ่านหินมาประชุมพูดจากัน พวกนั้นมากันแน่นไปหมด แต่แสดงท่าทางโกรธเคือง ดูทีเหมือนจะดื้อไม่ยอมทำงาน เยอเนอราลสมัตส์ขึ้นต้นพูดว่า

“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศแอฟริกา ได้ยินลือกันไปถึงที่นั่นว่า ชาวประเทศเวลส์ร้องเพลงเก่งที่สุดในโลก ก่อนที่ข้าพเจ้าจะพูดถึงการงาน ข้าพเจ้าขอฟังท่านร้องเพลงชาติของท่านสักเพลงหนึ่ง”

พอเยนเนอราลสมัตส์พูดขาดคำ ก็มีผู้ตั้งต้นร้องเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง คนทั้งหลายก็รับ แล้วร้องตะเบ็งเสียงก้องไปจนหมดเพลง เพลงนั้นเรียกว่า “ถิ่นบรรพบุรุษของข้า”

ครั้นร้องเพลงจบแล้ว เยนเนอราลสมัตส์ ก็พูดต่อไปว่า “ข้าพเจ้าเห็นไม่จำเป็นจะต้องพูดกันมากในคืนนี้ ชาวประเทศของท่านกำลังเลี้ยงชีวิตอยู่ในสนามรบด้านตะวันตกหลายหมื่นคน แนวสนามรบนั้น ควรถือว่าอยู่ที่นี่เกือบเสมอกับอยู่ที่โน่น เพราะถ้าหลุดที่โน่นมาก็จะมาถึงที่นี่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทุกคนคงจะอยากป้องกัน “ถิ่นบรรพบุรุษ” ซึ่งท่านร้องเพลงจบลงเดี๋ยวนี้เอง”

รุ่งขึ้นพวกทำงานบ่อหินกลับไปทำงานทุกคน เป็นอันไม่ต้องวิตกว่าถ่านจะขาดมือในเวลาสงคราม

นายพันเอก บี.เค. แอสฟอร์ด เป็นแพทย์หนุ่มในคราวมหาสงคราม เขียนสมุดเล่มหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ในระหว่างสงคราม นายพันเอกแอสฟอร์ด ได้ไปประจำอยู่ในกองพยาบาลฝรั่งเศส ได้เห็นนายแพทยใหญ่ของฝรั่งเศสคนหนึ่ง รักษาคนไข้ที่ถูกบาดเจ็บด้วยอาวุธ แลได้ความรู้จากนายแพทย์ใหญ่คนนั้นหลายประการ เป็นต้นว่า คืนวันหนึ่ง นายพันเอกแอสฟอร์ดเข้าไปในห้องพักคนเจ็บ เห็นพลทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งรูปร่างใหญ่โตแข็งแรงกว่าคนธรรมดา แต่ถูกอาวุธมีบาดแผลร้ายกาจที่สุด มีหมอผู้ช่วยกำลังเตรียมแผลสำหรับผ่าตัด คนเจ็บเสียเลือดไปมาก จนสีหน้าขาวซีด ตาไม่มีแวว มือเย็นราวกับน้ำแข็ง ชีพจรเต้นนาทีละ ๑๘๐ แลเต้นเบาจนเกือบจะนับไม่ได้ อีกครู่หนึ่ง นายแพทย์ใหญ่เข้าไปในห้องนั้น จับดูชีพจรครู่เดียวก็ทิ้งมือคนไข้ลงอย่างไม่ไยดี แสดงสีหน้าโกรธที่สุด ด่าคนเจ็บว่า เป็นคนขี้ขลาด ไม่สมเป็นชาติผู้ชายฝรั่งเศส แลใช้คำด่าอย่างร้าย ๆ แทบทุกคำที่มีในภาษา ครั้นด่าจนสะใจแล้ว ก็ออกจากห้องเดินไปเสีย

ข้าพเจ้าประหลาดใจเต็มทน ก็เดินตามนายแพทย์ใหญ่ไปอีกห้องหนึ่ง นายแพทย์ใหญ่พยักหน้าเรียกข้าพเจ้าเข้าไปใกล้แล้วกระซิบบอกว่า “ ท่านจงกลับไปตรวจดูชีพจรคนไข้ที่ข้าพเจ้าด่าเมื่อตะกี้ แล้วกลับมาบอกข้าพเจ้าว่า เวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง”

ข้าพเจ้ากลับเข้าไปในห้องคนเจ็บ พบคนไข้กำลังคำราม อุตส่าห์เอาศอกยันยกตัวขึ้นครึ่ง ๆ มือกำหมัดยื่นไปทางประตูที่นายแพทยใหญ่เดินออกไป แลว่า “ขอให้กูหายขึ้นหน่อยเถิดมึง” ข้าพเจ้าเข้าไปปลอบให้นอนลงแล้วตรวจชีพจรเห็นผิดกันไปจนไม่น่าเชื่อ เพราะเวลานี้เดินเพียงนาทีละ ๑๒๐ ตุบเท่านั้น ข้าพเจ้ากลับไปรายงานต่อนายแพทย์ใหญ่ นายแพทย์ใหญ่บอกว่า ให้พาเข้าไปห้องผ่าตัดเถิด

การผ่าตัดคนเจ็บคนนั้นสำเร็จเรียบร้อยดี

ความคิดของคนโดยมาก คิดว่ากิจการของบริษัทซึ่งแผ่กว้างทั่ว ๆ ไปในโลกนั้น หัวหน้าคงจะเป็นคนนั่งอยู่ที่โต๊ะใหญ่ในออฟฟิศงดงาม มีรายงานมาจากทิศานุทิศวางซ้อนกันสูงอยู่บนโต๊ะ ต้องเซ็นหนังสือไม่รู้กี่ร้อยต่อกี่ร้อย ต้องออกคำสั่งแลมประชุมแทบวันยังค่ำ

แต่มิสเตอร์เฮนรี่ ฟอร์ด (เจ้าของรถฟอร์ด) มิได้เป็นเช่นนั้น มีออฟฟิศจริง มีโต๊ะจริง แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีใครเคยเห็นมิสเตอร์ฟอร์ดใช้ออฟฟิศแลโต๊ะอย่างที่คนโดยมากเข้าใจเลย ครั้งหลังที่ข้าพเจ้าได้เห็นมิสเตอร์ฟอร์ดนั่งอยู่ที่โต๊ะนั้น โต๊ะเต็มไปด้วยหีบตุ๊กตาซ้อนกันสูง จดหมายที่มิสเตอร์ฟอร์ดเขียนด้วยมือตนเอง มีแต่จดหมายถึงเด็ก ๆ ในวันเกิดของเด็กเหล่านั้น ส่วนรายงานนั้นไม่อ่านเลย เพราะรู้เรื่องเสียก่อนแล้วทั้งนั้น ถ้าจะสั่งให้ใครทำอะไร ก็ไม่ออกคำสั่ง เดินไปถึงคนที่จะเป็นผู้ทำทีเดียว เพื่อจะได้ฟังความเห็นผู้ทำด้วย บางทีไปถึง ๒ หน ถ้ามิสเตอร์ฟอร์ดเห็นควรจะทำอะไร แลผู้ทำยังไม่ได้ทำ มิสเตอร์ฟอร์ดก็มักจะย้ายไปให้คนอื่นทำงานนั้น

เราพึงสังเกตว่า มิสเตอร์ฟอร์ดไม่เรียกใครไปหาที่ออฟฟิศ ตัวมิสเตอร์ฟอร์ดเอง ไปหาผู้ทำเสมอ มีอธิบายว่า ถ้าไปเอง อะไรเป็นอย่างไรก็ได้เห็น ถ้านั่งอยู่ที่โต๊ะในออฟฟิศแล้วเรียกคนมาถาม คนที่เรียกมานั้น ก็บอกได้แต่เพียงที่รู้ ถ้าไปดูเองอาจเห็นสิ่งที่ผู้นั้นไม่รู้ก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง การที่ไปเองนั้น ทำให้ทุ่นเวลาเข้า เพราะท่านจะออกจากห้องของคนอื่นได้เร็วกว่าที่จะไล่คนอื่นออกจากห้องของท่าน

มิสเตอร์ฟอร์ดประมาณความสามารถของผู้รับใช้สูงกว่าผู้รับใช้ประมาณความสามารถของตัวเอง จึงเป็นการทำให้คนงานเจริญขึ้น ที่มิสเตอรฟอร์ดทำเช่นนี้เป็นไปดังที่กวีเอมเมอสันกล่าวว่า “เพื่อนดีนั้นคือผู้บันดาลให้เราทำสิ่งที่เราควรทำได้ แต่เราไม่ทำ เพราะนึกว่าทำไม่ได้” (นี้เป็นคำพูดกระจายเสียงทางวิทยุของเลขานุการของมิสเตอร์ฟอร์ด)

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๙ หน้า ๑๒ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ