ปเกียรณการมภ์

ประมาณ ๒ เดือนมาแล้ว ได้มีการเปิดท่อน้ำมันในประเทศอิราคและประเทศอื่นอีก ๔ ประเทศ ทำพิธีเป็นการใหญ่มาก ท่อน้ำมันที่เปิดใหม่นั้น เป็นท่อพาน้ำมันที่ได้จาก “ทุ่งน้ำมัน” ในประเทศอิราค (แอฟริกา) ไปถึงท่าทะเลเมดิเตอเรเนียน ขนาดยาวแห่งท่อใหญ่น้อยรวมถึง ๒๐๐๐ ไมล์

ที่เรียกว่า “ทุ่งน้ำมัน” นั้น เราจะเล่าเองตามที่เราเองเคยเห็นในประเทศอื่น เมื่อพูดว่า “ทุ่ง” ก็นึกถึงที่โล่งกว้างใหญ่ อย่างทุ่งนาซึ่งเป็นที่ปลูกข้าว เป็นต้น น้ำมันเป็นของอยู่ใต้ดิน ไม่ใช่งอกบนดิน การที่เรียกทุ่งน้ำมัน จึงอาจทำให้ฉงน ทุ่งน้ำมันนั้น คือที่ซึ่งมีแอ่งน้ำมันอยู่ใต้ดิน ในทุ่งหนึ่งมีบ่อหลายสิบบ่อ หรือหลายร้อยบ่อ ตามขนาดทุ่งใหญ่แลเล็ก บ่อหนึ่ง ๆ มีโครงเหล็กปลูกคร่อมปากบ่อ มีรอกแลปั้นจั่น สำหรับหย่อนลงและหย่อนขึ้น มีเครื่องเจาะสำหรับขุดบ่อให้ลึกลงไปทุกที และมีสูบสำหรับสูบน้ำมันขึ้น น้ำมันที่ขึ้นมาจากบ่อนั้น ข้นเหมือนโคลน เหม็นเหมือนกลิ่นน้ำมัน ก๊าด แต่เหม็นกว่าและกระหลบไปจนคนที่ไม่เคยอาจปวดหัวได้ น้ำมันที่ข้นเป็นโคลนนี้ ถ้าเอาใส่ชามแล้วเอาไส้จุ่มลงไป ก็จุดเป็นตะเกียงได้ เหมือนตะเกียงน้ำมันมะพร้าว กว่าจะทำให้น้ำมันโคลนเป็นน้ำมันเบนซินได้ ก็ต้องกลั่นกันหลายทอด นามันโคลนั้นทำให้เป็นสินค้าได้หลายอย่าง ตั้งแต่เทียนไขไปจนน้ำมันก๊าดและน้ำมันเบนซิน

ที่บ่อน้ำมันนั้น ถ้าไฟไหม้ก็แรงที่สุด เพราะดูดเอาน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใหม่ที่ปากท่อ ไหม้ไม่รู้แล้วรู้สิ้น และร้อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นในบริเวณบ่อน้ำมันจึงระวังไฟกวดขันนัก เราเคยถูกห้ามสูบบุหรี่แต่ยังไกล

โรงกลั่นน้ำมันเป็นที่ซึ่งมีอัคคีภัยมาก ต้องระวังที่สุด เพราะฉะนั้นต้องอยู่ไกลจากทุ่งน้ำมันอย่างน้อยก็หลายร้อยไมล์ และต้องอยู่กลางทุ่งห่างจากบ้านผู้เมืองคน จะเอาไว้ใกล้ ๆ เมืองไม่ได้ และต้องเลือกที่ตั้งซึ่งประมาณว่า ในภายหน้าบ้านเมืองจะไม่ขยับไปถึง ในพม่ามีบ่อน้ำมันฝังใต้ดินไปไกล ดูเหมือนกว่า ๓๐๐ ไมล์ (จำไม่ได้ถนัด) จึงถึงโรงกลั่น ซึ่งตั้งห่างบ้านเมืองออกไปเกือบถึงทะเล

๏ ๏ ๏

ส่วนท่อน้ำมันที่เปิดใหม่ในประเทศอิราคนั้น เป็นเพราะได้พบน้ำมันในประเทศนั้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๗ บ่อแรกมีน้ำมันไหลขึ้นมาถึงวันละ ๕๐๐๐ ตัน (บ่อน้ำมันนั้นเมื่อแรกเจาะลงไปถึง น้ำมันก็มักจะพุ่งขึ้นมาเป็นลำตาล แกซเต็มไปในอากาศ ถ้าระวังไม่ดี ก็ไฟไหม้เป็นเทียนนรก หรือถ้าไฟไม่ไหม ถ้าปิดไม่ดี น้ำมันก็ไหลไปหมด) ต่อนั้นมา ทดลองทราบได้ว่า ใต้ดินมีน้ำมันอีกมากมาย แต่อยู่ในที่ไกลนัก จึงต้องคิดเรื่องที่จะพาน้ำมันให้ไปถึงท่าทะเล เพื่อเรือจะได้ขนต่อไป ดังนี้ จึงต้องฝังท่อ ๒๐๐ ไมล์ ดังที่ว่า แลน้ำมันซึ่งเดินตามท่อนั้นกินเวลาถึง ๓๐ วัน จึงจะถึงปลายท่อข้างโน้น

พิธีที่อิราคพระเจ้าแผ่นดินเสด็จและเป็นผู้ทรงเปิด ได้เสด็จโดยเรือเหาะ และผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการประเทศต่าง ๆ ที่รับเชิญไปเป็นแขก เช่น เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ และพวกหัวหน้าปกครองในบ้านเมืองใกล้เคียง ซึ่งเป็นหัวเมืองของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น ก็ไปเรือเหาะบ้าง ไปรถไฟบ้าง ครั้นถึงเวลาพระเจ้าแผ่นดินอิราคก็ทรงหมุนจักรเล็กตัวหนึ่ง เครื่องจักรก็เดินกึกก้องในทันใด แล้วสูบน้ำมันส่งไปตามท่อ เมื่อน้ำมันออกเดินทางแล้ว พวกที่นั่นก็กินเลี้ยงแลอำนวยพรแก่กัน ครั้นเสร็จการเลี้ยงแล้ว พวกที่จะต้องไปในพิธีหน้าก็ขึ้นเรือเหาะไปถึงอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ไปถึงก่อนน้ำมันไปถึง แล้วทาพิธีเช่นกันอีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้ถึง ๕ ทอด น้ำมันจึงไปถึงท่าที่ฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน

๏ ๏ ๏

เรานำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อจะให้เห็นความใหญ่โตของน้ำมัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะให้ชื่อแก่ยุคเสียแล้ว ในเรื่องภาวของมนุษย์เคยมียุคศิลาเก่า ยุคศิลาใหม่และยุคทองแดง ฯลฯ แลเดี๋ยวนี้ออกจะเป็นยุคน้ำมัน เพราะดูเหมือนน้ำมันจะสำคัญกว่าอะไร ๆ ไปเสียทั้งนั้น

๏ ๏ ๏

ใต้พื้นดินสยามเรามีน้ำมันแน่นอน แต่จะมีนิดเดียวหรือมีมากพอที่ควรลงทุนทำนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าผู้ชำนาญตรวจได้ความว่ามีมาก เราก็ต้องระวังมากเหมือนกัน ถ้าทำไม่ดีจะเปลืองไปเปล่า ทั้งทรัพย์ใต้ดินและทรัพย์บนดิน

๏ ๏ ๏

ในเมืองอังกฤษเขามีตลาดนัดสำหรับอวดอุตสาหกรรมบริติช (British Industries Fair) ทุกปี แลที่ตลาดนัดปีนี้ (ค.ศ. ๑๙๓๕) เขาจัดให้มีแฟชชั่นเครื่องแต่งตัวชายในปัจจุบัน ชายจะได้เห็นเป็นครั้งแรก อย่างที่หญิงเคยเห็นมาไม่รู้จักเท่าไรต่อเท่าไรแล้ว ว่าเครื่องแต่งตัวของตนถูกต้องตามที่นิยมกันในสมัยนี้หรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้จัดตลาดนัดได้จัดแผนกแฟชชั่นชายนี้แล้ว ก็เชิญบุคคลบางคนไปดูก่อนเปิดให้คนดูทั่วไป อย่างละครซ้อมใหญ่ หลอดดาร์บีเป็นผู้ได้รับเชิญไปดูคนหนึ่ง แต่เมื่อดูแล้วท่านขุนนางผู้ใหญ่ผู้นั้น กลับมากล่าวว่า ท่านสบายใจมากที่ได้ทราบว่า ท่านยังอยู่ในแฟชชั่นเต็มที่ อยู่กลางมิใช่อยู่ตามขอบ แลท่านอยู่เช่นนั้นได้ ก็เพราะแต่งกายด้วยเครื่องเสื้อผ้าแบบเดียวกับที่ท่านเคยใช้ใน ค.ศ. ๑๙๐๖

คำที่ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ มีเกียรติและมีทรัพย์กล่าวเช่นนั้น หมายความว่าใน ๒๙ ปีนี้ ท่านไม่ได้เปลี่ยนแบบเสื้อผ้าของท่านเลย ความยั่งยืนของท่าน ผิดกับความยั่งยืนของสตรีมาก แต่ที่ท่านว่าไม่ได้เปลี่ยนนั้น ช่างตัดเสื้อของท่านคงจะกระซิบนินทาว่า ท่านไม่รู้ต่างหาก เป๋าเสื้อเดี๋ยวนี้ ก็อยู่ผิดที่กับเป๋าเสื้อแบบเก่า รูปคอเสื้อที่แบะลงไปก็ไม่เหมือนกัน ดุมก็ใช้เพียง ๒ ดุมแทน ๔ ดุมดังแต่ก่อน ก็ถ้าช่างตัดเสื้อปีนี้ตัดเสื้อให้เจ้าคุณตามแบบปีกลาย ก็จะเสมอกับหญิงใช้แบบสะเกิ๊ตเมื่อ ๒๕ ปีมาแล้ว อันที่จริง แบบเครื่องแต่งตัวชายในเมืองฝรั่งนั้น ก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน แต่เปลี่ยนเหมือนหอยคลาน เมื่อเทียบกับเครื่องแต่งตัวหญิง ซึ่งเปลี่ยนเหมือนกระต่ายโจน

๏ ๏ ๏

เมืองไทยเรา ถ้าพูดถึงชาวนา ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนช้ากว่าหอยคลานสักหน่อย แต่เดี๋ยวนี้เราแต่ง “แบบสากล” กันมาก เป็นการเปลี่ยนแฟชชั่นเร็วกว่าเมื่อหญิงชาวกรุงที่ยังไม่ชราเปลี่ยนจากนุ่งผ้า ไปนุ่งซิ่นเมื่อ ๑๓ ปีเศษมาแล้ว

๏ ๏ ๏

โทรเลขวันที่ ๒๑ เดือนนี้ ให้ข่าวเรื่องการทำไหมเทียมและแพรเทียม ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจำเริญรวดเร็วจนประมาณว่า ในปีนี้สินค้าชนิดนั้นรวมปีเดียวจะมีน้ำหนักถึง ๒๐๐ ล้านปอนด์ ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นอันออกหน้าโลก ในการทำสินค้าชนิดนี้ เพราะถึงแม้สหรัฐอเมริกาก็ไม่ทำได้มากมายถึงเพียงนั้น เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ นี้เอง ญี่ปุ่นยังทำไหมและแพรเทียมเพียง ๓๖ ล้านปอนด์ ครั้น ค.ศ. ๑๙๓๕ ขึ้นไป ๕ เท่า (๒๐๐ ล้านปอนด์) ใน ๕ ปี

๏ ๏ ๏

เมื่อก่อนมหาสงคราม การทำแพรเทียมยังทำไม่สำเร็จ ใช้ป่านบ้าง (ป่านชักว่าวเรานี่เอง) ใช้ด้ายชุบให้เป็นมันบ้าง แต่ไม่มีอะไรมาทำเส้นไหมให้คล้ายเส้นที่ตัวไหมทำได้ ตัวไหมทำไหมช้า แลภูมิประเทศที่เลี้ยงตัวไหมได้ ก็มิใช่ทุกแห่ง เราผู้ใช้แพรจึงต้องซื้อแพง ๆ

ครั้นในคราวสงคราม ทุกประเทศรีบร้นในการทำเครื่องมือสังหารกัน มีผู้หนึ่งทดลองวิธีการทำอาวุธ เผอิญไปพบวิธีทำเส้นไหมด้วยไม้ (พบเองโดยไม่ได้ตั้งใจหา) พ่นออกมาเป็นฝอยยาวเท่าไรก็ได้ พอแห้งก็เป็นเหมือนเส้นไหม ทำได้เร็วและถูกที่สุด จนบัดนี้เราอาจซื้อเสื้อเชิ๊ตแพร ๒ ตัวบาทก็ได้ กางเกงแพรตัวละบาทก็ได้

การทำอาวุธในคราวสงครามให้ความรู้หลายอย่าง ซึ่งไปพบเข้าเอง

๏ ๏ ๏

ประเทศเราบางส่วนเลี้ยงตัวไหมกันมาแต่โบราณ แลเดี๋ยวนี้ก็ยังเลี้ยง ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ ได้เคยคิดจะบำรุงไหมให้เป็นสินค้าสำคัญขึ้นอย่างหนึ่ง มผู้ชำนาญการไหมมาจากอเมริกาคนหนึ่ง เป็นเลขานุการของสมาคมพ่อค้าไหมชื่ออะไรก็ลืมเสียแล้ว ผู้นั้นมาตามบ้านเมืองแถบนี้ เพื่อจะหาท่าทางบำรุงสินค้าไหมของโลก (พูดสั้น ๆ ก็คือว่าสมาคมของเขามีไหมไม่พอใช้ จึงต้องติดตามมาเสาะหาถึงที่นี่) ผู้นั้นบอกแก่ผู้เขียนปเกียรณการมภ์นี้ว่า บรรดาประเทศที่เลี้ยงไหมได้ ยังมิได้ทำให้เป็นพักเป็นผล อยู่แต่สยามประเทศเดียวเท่านั้น แต่ในตอนที่เขาบอกนั้น ความคิดที่จะบำรุงไหมในประเทศของเราได้เลิกล้มเสียแล้ว

ในตอนที่คิดจะทำจริง ๆ จัง ๆ นั้น เราได้ตั้งกรมไหมขึ้น มีเจ้ากรมปลัดกรม สมุห์บัญชีและใครต่อใครตามเคย ได้จ้างครูมาจากญี่ปุ่น และให้คนของเราไปเรียนที่เมืองญี่ปุ่นด้วย กรมไหมตั้งอยู่หลายปี กินเงินมากมาย และที่ทำไม่สำเร็จ ก็เพราะเงินจำนวนมากมายนั้นเอง ถ้าไม่มีเงินจำนวนมากนัก ก็น่าจะสำเร็จได้

๏ ๏ ๏

กรมค้าไหมครั้งนั้นทำการสำเร็จ ก็คงจะได้ทุนคืน แลได้กำไรไม่น้อย ก่อนเกิดสงคราม แต่ต่อมาบัดนี้เห็นเก้อ เพราะตัวไหมจะทาไหมให้สำเร็จ (แลถูก) เหมือนคนทำไม่ได้ ไหมจริง ๆ สมัยนี้ตายเหมือนม้าซึ่งมีเครื่องยนต์มาแทน

๏ ๏ ๏

หนังสือพิมพ์กรุงโตกิโย (ญี่ปุ่น) ฉบับหนึ่งชื่อ แตรนส์แปซิฟิค ลงเรื่องแปลก ซึ่งเรานำมาเล่าเพื่อให้เห็นว่าการฝึกหัดกำลังกาย ซึ่งคนโดยมากเห็นว่าเป็นของดี แต่ก็ยังมีคนสงสัยว่า มีทางชั่วบ้างนั้น เรื่องที่เล่านี้เป็นตัวอย่างซึ่งผู้มีความเห็นชนิดหลังอาจยกขึ้นอ้างได้

มีชายหนุ่มชาวกรุงโตกิโยคนหนึ่งชื่อ จูยูโอตา อายุ ๑๙ ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับประกาศนียบัตรยูยิตสู ว่าเป็นคนเก่งมาก ประกาศนียบัตรนั้น ทำให้โอตาเชื่อกำลังและความสามารถของตนยิ่งกว่าคนอื่น ๆ จึงกล่าวแก่พวกเพื่อนว่า จะแสดงให้ชนทั้งหลายเห็นความสามารถของตนโดยวิธีจับที่พบตามถนนในกรุงโตกิโยโยนให้ล้มลงเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ คน เมื่อได้กล่าวเช่นนี้แล้ว ก็เที่ยวด้อมอยู่ในที่มืดใกล้ ๆ บ้าน เมื่อใครผ่านมาไม่ทันรู้ตัว ก็ตรงเข้าจับเหวี่ยงให้ล้มลงด้วยความสามารถอย่างรุนแรง จนมีคนคนหนึ่งชื่ออุนเซอิโกบายาชิ ถูกทำให้ล้มแรงจนฟันหักไปถึง ๒ ซี่

น่าจะนึกว่า กว่านายโอตาจะเหวี่ยงให้คนล้มได้ถึง ๑,๐๐๐ คน ชาวกรุงโตกิโยก็จะคุ้มกับการถูกจับโยนเหมือนเปลือกส้ม แลท้องฟ้ายอดหญ้าในเวลากลางคืน ควรจะเกลื่อนไปด้วยคนเดินทาง ซึ่งถูกจับโยนขึ้นไม่ให้กลับลงมา แต่การมิได้เป็นเช่นนั้น นายโอตายังไม่ทันจับคนโยนได้ถึง ๑,๐๐๐ คน ก็เผอิญมีคนหนึ่งเดินมาตามถนน ผ่านที่ซึ่งนายโอตากำบังตนอยู่ในที่มืด นายโอตาก็โจนเข้าใส่ แต่ผู้นั้นเผอิญเป็นตำรวจลับ แต่เผอิญมิใช่แต่เป็นตำรวจลับเท่านั้น เป็นผู้ชำนาญยูยิตสูชั้นเลิศอยู่ในกรมตำรวจด้วย คราวนี้นายโอตาจับทำให้ล้มไม่ได้ กลับถูกทำล้มลงไปนอนลุกไม่ขึ้น แล้วก็ถูกพาไปเข้าห้องขัง ณ โรงตำรวจ การที่จะจับคนฟาดถึง ๑,๐๐๐ คนจึงยังหาสำเร็จไม่

๏ ๏ ๏

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีหญิงคนหนึ่งต้องคดีอยู่ในศาลใหญ่แห่งหนึ่งในอเมริกา กำลังถูกซักเป็นพยานยังไม่ทันเสร็จก็เกิดเป็นลมขึ้น เจ้าพนักงานศาลก็ถามพวกคนฟังว่า มีหมออยู่ในศาลบ้างหรือไม่ มีหมอวิ่งเข้าไปช่วยแก้ คือแพทย์พยาธิ ๔ คน แพทย์ผ่าตัด ๓ คน แพทย์รักษายาพิษ ๒ คน แพทย์ฟันคน ๑ แพทย์รักษาโรคทั่วไป ๓ คน แพทยผสมยา ๒ คน (ที่กล่าวนี้เป็นข่าวรอยเตอร์)

ข่าวกล่าวต่อไปว่า หญิงนั้นสักครู่หนึ่งก็หายเป็นลม ทำให้เป็นที่เห็นได้ว่า ไม่มีความหยิ่งรู้สึกความสำคัญของตนเองเต็มที่ ถ้าเป็นคนไว้ตัวดีก็คงจะไม่ฟื้นก่อนที่มีหมอนวดมาอีกคน ๑ หมอรักษาเล็บอีกคน ๑ อาจารย์ยูยิตสู คน ๑ สัตวแพทย์ ๒ คน แลสารวัตรัสาธารณสุขอย่างน้อยคน ๑

๏ ๏ ๏

คำว่า “โอ.เค.” เป็นคำใช้กันมาก แม้แสลงหูผู้ไม่ชอบฟังคำพูดอย่างไพร่ ก็เป็นคำซึ่งใช้สะดวก เพราะสั้นแลได้ความดี ใช้ได้ทั้งพูดแลเขียน ใช้เป็นคุณศัพท์ก็ได้ ใช้เป็นกิริยาศัพท์ก็ได้ จนไม่ว่าผู้ดีว่าไพร่ใช้กันไปหมด รวมทั้งในการค้าขายด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาองคมนตรีอังกฤษพิจารณาคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีคำว่า “ โอ.เค.” เป็นคำสำคัญอยู่ในสำนวนสภาองคมนตรีต้องตัดสินว่า คำนั้นมีความหมายหรือไม่ ถ้ามี ๆ อย่างไร ในที่สุดตัดสินว่า “โอ.เค.” มีความอย่างที่ผู้ใช้ใช้ แลตามที่คนโดยมากเข้าใจกัน

ถ้าจะพูดสั้น ๆ ก็คือว่า สภาองคมนตรีได้ โอ.เค. ศัพท์ โอ.เค. แล้ว ควรจะถือว่าคำนั้นได้รับเกียรติให้เป็นภาษาคน

๏ ๏ ๏

ชาติที่เป็นสมาชิกในสันนิบาตชาติ ถ้าจะลาออกต้องบอกล่วงหน้า ๒ ปีตามระเบียบ บัดนี้ประเทศปารากัวได้บอกล่วงหน้าแล้ว อ้างว่าสันนิบาตชาติดำเนินการให้ปารากัวเสียเปรียบโบลิเวีย คือประเทศปรปักษ์ ซึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ นี่เป็นตัวอย่างใหม่ที่สุดที่สันนิบาตชาติถูกหาว่าลำเอียง แลอาจไม่ใช่ตัวอย่างสุดท้าย

๏ ๏ ๏

ในเดือนมีนาคมตอนต้น รัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์ “กระดาษขาว” คือบันทึกชี้แจงเรื่องการเพิ่มอาวุธสำหรับป้องกันประเทศ แสดงความเห็นของรัฐบาลที่ว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มเงินงบประมาณสำหรับทหารบก ทหารเรือ แลทหารฟ้า ในบันทึกมีความ ๒ แห่ง ซึ่งทำให้เกิดการเกรียวกราวในเบอร์ลินแลปารีส แห่งหนึ่งกล่าวว่า การที่ประเทศเยอรมันย้อนสร้างอาวุธอีกนั้น ถ้าเป็นไปดังที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ซาลงแลไม่มีการควบคุม ก็คงจะเพิ่มความร้อนใจ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมันมีอยู่แล้ว จนเป็นเหตุน่าวิตกถึงความสงบของโลก อีกแห่งหนึ่งกล่าวถึงดินแดนบางตอนคนละฟากทะเลกับประเทศอังกฤษ ซึ่งเมื่อดูจากแง่การป้องกันภัยทางทะเลแลทางฟ้า ก็เป็นดินแดนซึ่งอังกฤษ ต้องใส่ใจว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อความปลอดภัยของตน

ความทั้ง ๒ ข้อนี้ เสนาบดีอังกฤษหลายคนได้กล่าวซ้ำ ๆ กันแล้วในสภาราษฎรอังกฤษ แต่กล่าวด้วยปาก เป็นคำคนพูด แต่บัดนี้เมื่อพิมพ์ลงในบันทึกก่อนกำหนดวันที่เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษจะไปเจรจาการเมืองที่กรุงเบอร์ลินในไม่กี่วัน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจในพวกเยอรมัน แลดีใจในพวกฝรั่งเศส

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง แฮร์ฮิตเล่อร์ บอกไปถึงเสนาบดีอังกฤษ ขอให้เลื่อนวันที่จะไปเบอร์ลิน เพราะแฮร์ฮิตเลอร์เป็นหวัด เสนาบดีอังกฤษกำหนดไว้ว่าจะไปตอนกลางเดือนก่อน ก็เป็นอันต้องเลื่อน

เมื่อตอนที่เยอรมันรับแคว้นซาร์กลับคืนเข้าอยู่ในประเทศนั้น แฮร์ฮิตเลอร์ได้ไปยืนพูดกรำฝนโดยไม่มีเสื้อคลุม ฝนตกหนักก็ทนยืนพูดอยู่จนจบ เป็นเวลานาน เปียกโชกหมด จึงไม่ประหลาดที่จะเป็นหวัด แต่กระนั้นคนเป็นอันมาก ยังชวนจะเข้าใจไปว่า ที่ขอให้เลื่อนก็เพราะคิดแค้นคำที่กล่าวในบันทึก “กระดาษขาว” ของอังกฤษ ที่แท้ก็คงเป็นหวัดจริง ๆ แต่เหตุประกอบกันก็ได้

๏ ๏ ๏

งบประมาณทหารที่รัฐบาลอังกฤษขอขึ้นนั้น ๑๐ ล้าน ๕ แสนปอนด์ ขึ้นให้ทหารเรือ ๓ ล้าน ๔ แสน ทหารบก ๔ ล้าน ทหารฟ้า ๓ ล้าน ถ้าคิดตามส่วนเงินที่ขึ้น ก็ขึ้นให้ทหารฟ้ามากที่สุด การเพิ่มกำลังทหารฟ้า ก็คือเพิ่มจำนวนเรือเหาะ การเพิ่มกำลังทหารบก คือจัดให้ทัพใช้เครื่องยนต์มากขึ้น แลการเพิ่มกำลังทัพเรือ ก็คือทำเพื่อป้องกันตามฝั่งให้มั่นขึ้น (รวมทั้งสิงคโปร์) แลการซ่อมแลการแก้เรือรบขนาดใหญ่ ให้เป็นเรืออย่างใหม่ขึ้น

เราอ่านเรื่องขึ้นงบประมาณทหารอังกฤษสองสามวันจากที่อานเรื่องประชุมการขึ้นงบประมาณกลาโหมในสภาผู้แทนราษฎรประเทศนี้

๏ ๏ ๏

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เซอร์ยอน ไซมอน เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ไปให้ปาฐกถาในปารีส ว่าด้วยปาลิเมนต์อังกฤษ พวกผู้ฟังมีอรรคมหาเสนาบดีฝรั่งเศส กับเสนาบดีอีก ๑๐ คน กับมีผู้อื่นๆ อีกเป็นอันมาก

เราอ่านข่าวแล้วก็นึกว่า อ้อ ! พวกเสนาบดีฝรั่งเศสที่ควรนับแล้วว่าเป็นผู้รู้ ก็ยังฟังปาฐกถาเพื่อได้ความรู้จากผู้อื่น เขาหาใช่พวก ตรัสรู้ ไม่

ในตอนหนึ่ง เซอร์ยอน ไซมอน กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดิน (อังกฤษ) พระองค์นี้ เหมือนพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ที่ล่วงไปแล้ว ในข้อที่ว่า แม้มิได้ทรงบังคับการเมือง ก็ทรงอานุภาพใหญ่หลวง เพราะความภักดีของคน

๏ ๏ ๏

เราตั้งศัพท์คำหนึ่งไว้ สำหรับใช้ในประมวลมารค เราไม่สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าท่านชอบใจ จะนำไปใช้ก็ได้

ความคิดของคนซึ่งเป็น อุบาย มี นัย กระนั้นกระนี้ ซึ่งมักเรียกกันในปัจจุบันว่า นโยบาย นั้น มิใช่จะนำมาแต่ความดีความงามอย่างเดียว ถ้าคิดไม่ดี อาจนำไปทาง อบาย คือความฉิบหายก็ได้ ถ้าเป็นดังนั้น นโยบาย ก็เป็น นยาบาย

๏ ๏ ๏

เมื่อคืนวันที่ ๑ เมษายน เราไปดูละคร ในสำนักแห่งหนึ่ง ซึ่งเล่นเป็นการสำเริงปีใหม่ ผู้ดูมีแต่พวกญาติและมิตร (แลพวกที่เข้าไปอาศัยยืนดูอยู่นอกโรง เพราะโรงละครเป็นของปลูกขึ้นในบริเวณว่าง มิใช่มีฝากำบังอย่างโรงละครเล่นเก็บเงิน)

ละครเรื่องหนึ่งเป็นละครพูด ซึ่งในบทมีคำคะนองสรรเสริญความ “โม้” อย่างเลิศลอย เราเองเคยยกยอคุณสมบัติชนิดนั้นมาหนักต่อหนัก จึงสนุกเมื่อได้ยินสดุดีโม้ในบทละคร

๏ ๏ ๏

เราไม่เคยอยู่ในกรรมการทำปทานุกรม ไม่เคยสืบค้นตำนานของศัพท์ “โม้” ทราบแต่ว่าเป็นคำเกิดใหม่ใน “แสลงพากย์”

ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า เมื่อท่านผู้หญิงโม้เป็นหัวหน้าหญิงโคราชออกช่วยรบขบถเวียงจันทน์นั้น “โม้” ยังหามีอัตถะเช่นที่ใช้ในบทละครไม่

๏ ๏ ๏

“แสลงพากย์” เป็นบ่อเกิดสำคัญแห่งหนึ่งของศัพท์ต่าง ๆ ที่ได้กำเนิดใหม่ ๆ ในภาษา เมื่อเร็ว ๆ นี้มีสมุดออกใหม่เล่มหนึ่งให้คำแสลงอเมริกัน ดูเหมือน ๑๓,๐๐๐ คำ มีคำแปลเป็นภาษาสุภาพ แลบอกตำนานของคำด้วย เราพึงเชื่อได้แน่ว่า ระหว่างที่รวบรวมแลพิมพ์สมุดอยู่นั้น คำแสลงได้เกิดใหม่อีกหลายพันคำ

๏ ๏ ๏

ชื่อท่านผู้หญิงโม้นั้น อาจเป็น “เม้า” ก็ได้ เพราะ รูปคำทั้ง ๒ นี้แน่ว่าเป็นคำเดียวกัน แต่เม้าแปลว่ากระไร เราก็ไม่รู้ นอกจาก “เม้าเค้า” ซึ่งมีในปทานุกรม

“โม้” ก็มีในปทานุกรม แปลว่า “เสียงเช่นเสียงเรียกสุนัข”

๏ ๏ ๏

“โม้” ที่เรากล่าวสดุดีอยู่นี้ คงจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสุนัข “อวดโม้” ไม่ใช่แปลว่าอวดให้สัตว์ชนิดนั้นฟัง เพราะนักโม้เขาคงจะไม่เห็นว่า คนฟังเป็นจตุบาทเห่าหอนทั้งสิ้น

๏ ๏ ๏

จางวางหร่ำใช่หรือไม่ใช่ (เราจำไม่ได้แน่ ถ้าไม่ใช่จางวางหร่ำ ก็คงจะเป็น น.ม.ส.) ที่เคยเขียนไว้ด้วยถ้อยคำอย่างอื่น แต่แปลเป็นความว่า การอวดโม้นั้นอวดให้หนัก ๆ ขึ้นเถิด ไม่ช้าคนอื่น ๆ ก็เชื่อว่าจริง แลเมื่อคนเชื่อกันมากแล้ว ในที่สุดตัวเองก็พลอยเชื่อไปด้วย

๏ ๏ ๏

เรารู้จักนักโม้หลายคนที่ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโต วิธีการอันนี้จะป่วยกล่าวไปใยในส่วนบุคคล แม้บริษัทขายสินค้าที่ใช้แทบทุกบริษัท บ้านเมืองก็เช่นกัน

๏ ๏ ๏

คำที่อังกฤษใช้ว่า โปรปะแคนดา (มาจากคำละติน ซึ่งใช้เดิมในศาสนาคริสเตียน นิกาย “สากล”) นั้น ถ้าจะแปลทื่อ ๆ ตามความที่ใช้กันเดี๋ยวนี้ ก็แปลว่าปั่นหัว ไม่ใช่ปั่นให้ไม่จริงเป็นจริง โดยมากมักจะพูดจริงๆ เพราะการปั่นหัวหลอกนั้น เมื่อเขาจับไม่ได้ ก็มีผลไม่เหมือนมุ่งหมาย นโยบายจึงอาจเป็น นยาบาย โดยประการที่กล่าวมาแล้ว

๏ ๏ ๏

“พระประธาน” ของรัสเซีย เยอรมัน แล อิตาลี

ในวัดในเมืองเรา ปูชนียวัตถุสำคัญที่สุด ก็คือพระพุทธรูปองค์ที่ตั้งเป็นประธานอยู่ในอุโบสถ วัดหรือโบสถ์ในศาสนาอื่นคงจะมีเทวรูป หรือไม้กางเขน หรือกองไฟเป็นพระประธานเช่นกัน ในคำสนาอิสลามเวลาสวดมนต์ต้องหันหน้าไปทางทิศหนึ่ง ซึ่งทำที่หมายไว้ในโบสถ์ ก็คือว่า สิ่งอยู่ในทิศนั้น เป็นพระประธาน

ประเทศใหญ่ ๆ ที่ปกครองอย่างดิกเตเตอร์ชิบ มีพระประธานของประเทศเพี้ยน ๆ กัน (ดิกเตเตอร์ชิบ คือ วิธีบงการเด็ดขาดไม่ให้ต่อล้อต่อเถียง หมู่นี้มักใช้กันว่าวิธีเผด็จการ แต่ เผด็จ แปลว่า ตัด ไม่เห็นจะถูกอย่างไรได้)

พระประธานของรัสเซียเรียกว่า “โปรลิแตเรียต” คือ “คนงานชั้นต่ำ” (คำนั้นมาจากภาษาละตินซึ่งใช้ในสมัยโรมันโบราณ เป็นคำเรียกพลเมืองชั้นที่ ๖ คือชั้นต่ำที่สุด ซึ่งรับใช้บ้านเมืองด้วยมีลูกเท่านั้น ไม่ถือกันว่ามีประโยชน์อย่างอื่นเลย)

พระประธานของเยอรมันคือ “ชาติเกิด” (หรือ “เลือด”) ที่เรียกว่าชาติเกิดนี้ มีตำนานมานาน เพราะชนชาติเยอรมันเกิดแลอยู่ในดินแดนต่าง ๆ กระจายกันมาก เป็นต้นว่า เยอรมันในออสเตรีย ในโบฮีเมีย ในแอฟริกา แลในอเมริกา คนเหล่านี้ย่อมมีชาติเกิดเหมือนกันทั้งนั้น

พระประธานของอิตาลีคือ “รัฐ” ซึ่งเราไม่ทราบ จะใช้คำไทยอย่างไรให้เข้าใจกันทันที แต่หมายความว่า ประชาชนทั้งมวลที่รวมอยู่ในความปกครองเดียวกัน

ผู้อ่านพึงสังเกตว่า พระประธานทั้ง ๓ ชนิดนี้เพี้ยนกัน พระประธานรัสเซีย ไม่รวมใครที่ไม่ใช่คนชั้นต่ำ พระประธานเยอรมันไม่รวมใครนอกชาติเกิด พระประธานอิตาลีไม่รวมใครนอกดินแดนหรือความปกครอง

วิธีการของรัสเซียเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า โบลเชวิสม์ (หรือคอมมูนิสต์) วิธีการของเยอรมันเรียกว่า นาซิส์ม วิธีการของอิตาลีเรียกว่า ฟาซิส์ม ทั้ง ๓ แบบ มีผู้บงการเด็ดขาด เช่น เลนิน (รัสเซีย) ฮิตเลอร์ (เยอรมัน) แลมุสโสลินี (อิตาลี) ซึ่งลอยโผล่ขึ้นจากความจลาจลป่วนปั่นในบ้านเมือง หรือเช่นสตาลิน (รัสเซีย) ซึ่งยึดเอาเครื่องจักร (คืออำนาจ) ปกครองไว้ภายหลัง

มีคำเก่าคำหนึ่ง ซึ่งรัสเซียให้ใจความใหม่อย่างเหมาะเจาะ คือคำซึ่งอังกฤษใช้ว่า ลิควิเดต แปลทำให้ละลายเป็นน้ำ ในเมืองเราถ้าลิควิเดตบริษัทค้าขาย เราใช้คำไทยว่า ชำระบัญชี จะเอาคำนั้นมาใช้ในที่นี้ก็พอได้

รัสเซียมีความมุ่งหมายที่จะเป็นยอดเยี่ยม คือจะสร้างรัฐที่ไม่มีระดับชั้นคน คือละลายระดับสูงให้เป็นน้ำ เหลือแต่ระดับต่ำ ที่จะให้เป็นดังนั้นได้ ก็ต้อง “ชำระบัญชี” ระดับที่อังกฤษเรียกว่าชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต่ำลงไป ที่ว่าชำระบัญชีนี้ ไม่ได้หมายความว่า ฆ่าเสียทั้งหมด เป็นแต่ใช้วิธีจัดให้กำลังทรัพย์แลกำลังทางสมาคมสิ้นไปโดยประการต่าง ๆ โดย “นโยบาย” ซึ่งเป็น “นยาบาย” ของผู้ถูกทำให้เป็นน้ำ

เยอรมันมีความมุ่งหมายจะสร้างรัฐของคนระดับชั้นกลาง แลทำโดยวิธีชำระบัญชีคนงานชั้นต่ำ แต่ไม่ชำระบัญชีคนงานเอง ทำแต่พวกหัวหน้าซึ่งมีความคิดไปทางแบบรัสเซียเท่านั้น วิธีนี้ทำให้เปลืองคนน้อยเข้า ส่วนพวกยิวในประเทศเยอรมันนั้น เกี่ยวในเรื่องชาติเกิด เพราะอยู่นอกพระประธาน จึงเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่ง

อิตาลมีความมุ่งหมายจะสร้างรัฐ ซึ่งทุกคนเป็นชิ้นหนึ่งในเครื่องจักรใหญ่ บุคคลเฉพาะตัวไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ต้องช่วยทำให้อิตาลีเป็นมหาศาลเท่านั้น ข้อที่เป็นอย่างไร จึงจะเรียกว่ามหาศาลนั้น มุสโสลินีเป็นผู้แปลผู้เดียว แลดูเหมือนจะหมายความว่า มีความผาสุกมั่งคั่ง มีเสียงในกิจการของโลก แลมเกียรติหนักศักดิ์ใหญ่มากที่สุดที่จะมีได้ แต่ไม่รวมความสูงศักดิ์ของชาติเกิด

ข้างบนนี้เราพยายามชี้แจงข้อความยาก ๆ อย่างสั้น ๆ โดยไม่แสดงความเห็นชอบเห็นผิดในทางใด แต่ถ้าทำให้ผู้อ่านของเราพอเข้าใจได้บ้าง ก็นับว่าโชคดี

ต่อไปในฉบับหน้า ๆ ถ้ามีเวลาเราจะลองเล่าให้ละเอียดออกไปอีก ที่ว่า “ถ้ามีเวลา” ก็เพราะเวลาของผู้เขียนมีน้อย แลการเก็บเรื่องชนิดนี้มาเขียนโดยระมัดระวังมิให้ผิดพลาดนั้น ย่อมกินเวลามาก แลทั้งคนอ่านส่วนมากกไม่ใส่ใจอ่านด้วย การที่จะเขียนข้อความชนิดนี้ให้เป็นกลาง ๆ นั้น มิใช่ของง่าย เพราะแม้แต่พูดเพียงที่มีหลักฐานควรเชื่อว่าจริง ก็อาจเห็นเป็นเจ้าข้างโน้นข้างนี้ไปได้

๏ ๏ ๏

เราจะลองให้ชาวประเทศต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์อเมริกัน (พิมพ์ที่กรุงนิวยอร์ค) ซึ่งออกเมื่อต้นเดือนก่อน แต่เพิ่งมาถึงกรุงเทพ ฯ

โวหารของหนังสือพิมพ์อเมริกัน แปลกกับโวหารหนังสืออังกฤษ เราจะลองเขียนโวหารอเมริกันลงเป็นภาษาไทย ผู้อ่านจะเข้าใจทันทีหรือไม่นั้นไม่แน่ แต่เมื่อคุ้นเข้าแล้ว ก็คงจะเหมือนกัน ผู้เคยคุ้นกับโวหารอังกฤษ เมื่อแรกอ่านโวหารอเมริกัน บางทีก็ฉงน ต้องอ่านซ้ำจึงเอาความได้

นี้เป็นตัวอย่างโวหารหนังสือพิมพ์อเมริกันดังกล่าวนั้น :-

เร่าร้อนที่จะได้ตัวผู้บงการเด็ดขาด (ดิกเตเตอร์) แบบฟาซิสม์ (แบบอิตาลี) เมื่อสัปดาหะก่อน พวกปารีสแดงแลชมภู ๖๐๐๐ คนได้ไปกันล้นหลามที่สถานตะวันออก (ชื่อสถานีรถไฟในปารีส) แล ๑๐๐ คนได้ถูกจับในที่นั้น โดยคำสั่งของอรรคเสนาบดี ฟลันแด็ง

“เราจะจัดการระวังภัยอย่างที่เราไม่ได้จัดในคราวที่พระเจ้าอาเลกซันเดอร์ ประเทศยูโกสลาเวียถูกทำร้ายถึงสิ้นพระชนม์” พนักงานชั้นสูงคนหนึ่งในกรมตำรวจฝรั่งเศสพูดรับดังนี้

ผลอย่างหนึ่งของการระวังภัยที่ว่านั้น ก็คือว่า ผู้บงการเด็ดขาดแบบฟาซิสม์คือผู้ใส่แว่นตาแลนับถือพระเจ้าอย่างแน่นแฟ้น ประมุขของประเทศออสเตรีย ดอกเตอร์คุรฺตซุสนิค (ชื่อท่านผู้นี้เราไม่รู้จะเขียนหนังสือไทยอย่างไรจึงจะถูก) ผู้ไปถึงปารีสหาได้หยุดที่สถานที่ออกชื่อนั้นไม่ รถไฟของชาวออสเตรียผู้นั้น พอเข้าไปในกำแพงปารีส ก็ชิงหยุดเสียที่สถานีเล็กแห่งหนึ่ง บนชานสถานีนั้น อรรคเสนาบดีฟลันแด็งสูงยืนอยู่กับเสนาบดีต่างประเทศลาวัลเตี้ย ทั้ง ๒ คอยรับอย่างยิ้มแย้ม ประมุขชุดนิคโจนออกกับเสนาบดีต่างประเทศกิริยาเศร้า ทั้ง ๔ คนขึ้นรถยนต์รูปเปรียวที่คอยอยู่รีบขับผ่านปารีส พาประมุขชุสนิคไปฝากเก็บไว้ที่โฮเต็ลคริลลองอันตกแต่งมาก ระหว่างนั้นพวกตำรวจผู้มีขันตีทำให้พวกแดงและชมภูซึ่งถูกหลอกไปแจจรรกันอยู่ที่สถานีตะวันออกนั้น ไม่เกิดความง่วงได้

๏ ๏ ๏

การที่ประมุขของประเทศออสเตรียไปปารีสแล้วก็เลยไปลอนดอนนั้น กล่าวตามหนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับนั้นว่า เป็นเครื่องหมายให้เห็นความมุ่งมาดของมหาประเทศที่จะมิให้ออสเตรียตกไปในครอบงำของลัทธินาซี (วิธีบงการเด็ดขาดแบบที่ใช้ในประเทศเยอรมัน) ความมุ่งมาดนี้ได้บันทึกแล้วในกรุงโรม ระหว่างมุสโสลินีกับเสนาบดีต่างประเทศของฝรั่งเศส (มกราคม) แล้ว บันทึกอีกครั้งหนึ่งในกรุงลอนดอนระหว่างเสนาบดีต่างประเทศของฝรั่งเศสกับผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ (กุมภาพันธ์)

ดังนี้ เมื่อประมุขชุสนิคไปปารีสก็ไม่มีอะไรต้องทำ นอกจากสวมสายสะพายออสเตรียให้พวกฝรั่งเศส แลรับสายสะพายฝรั่งเศสเป็นเครื่องตอบแทน แต่ในการที่จะไปสวมและรับสวมสายสะพายเช่นนี้ จะขึ้นรถไปไหน ก็ต้องมีจักรยานยนต์แซงซ้ายขวา คนในจักรยานมือเกาะอยู่กับปืน ตาดูซ้ายแลขวาแทบจะไม่กระพริบเลย

๏ ๏ ๏

ดิกเตเตอร์สตาลินแห่งรัสเซียกล่าวให้เป็นที่เข้าใจกันในต่างประเทศ ว่ารัสเซียจะงดพยายามแผ่ลัทธิคอมมูนิสต์ให้คลุมทั่วไปในโลก ก็เป็นที่ทำให้หายใจคล่องกันเข้าบ้าง แต่ต่อมาเมื่อคนโตในรัฐบาลรัสเซียพูดเปิดโปง ทำให้กลับหวั่นกันไปอีก ผู้นั้นเป็นประธานกองโฆษณาของรัสเซีย แลกล่าวว่า อำนาจโซเวียตต้องตั้งมั่นทั่วโลกเสียก่อน จึงจะเรียกได้ว่าอำนาจนั้นสำเร็จ “อำนาจโซเวียตมีขึ้น ก็เพื่อจะตั้งทั่วโลก ประเทศของเรา (รัสเซีย) จะเป็นกองประจัญบานของโปรลิแตรเลียตแห่งโลก เราจะลงต่อสู้ต่อไป ในฐานที่เป็นดิกเตเตอร์แห่งโปรลิแตเลียต เพื่อให้เกิดเรโวลูชั่นโลก” (โปรลิแตเลียตคืออะไรดูปเกียรณการมภ์ ในประมวญมารคฉบับก่อน)

แต่ศัพท์ว่า ดิกเตเตอร์นั้นเป็นศัพท์ซึ่งไม่ค่อยถูกหูคน ท่านประธานกองโฆษณาจึงรีบอธิบายต่อไปว่า เมื่อโลกเป็นสีแดงหมดแล้ว พวกคอมมูนิสต์ผู้มีชัยก็ไม่จำเป็นจะต้องดิกเตต จะจัดการบ้านเมืองโดยไม่ต้องมีเครื่องจักรปกครอง

หนังสือพิมพ์อเมริกันแถมว่า การปกครองเช่นว่านั้น คือ อานรรคี (ซึ่งแปลตามศัพท์ว่าไม่มีรัฐบาล หมายความว่า จลาจล ป่วนปั่นกันไปหมด)

๏ ๏ ๏

เราเคยให้ข่าวประเทศปารากัวลาออกจากสันนิบาตชาติ แต่ยังไม่ได้เล่าเหตุ ปารากัวกับโบลิเวียเป็นประเทศติดต่อกันอยู่ในอเมริกาใต้ เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติทั้งคู่ แลทำสงครามกันทั้ง ๆ ที่อยู่ในสันนิบาตชาติ นักเรียนการสงครามเคยคอยดูกันว่า ทัพซึ่งมีปืนใหญ่น้อยด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แลจะต้องแพ้ชนะกันด้วยวิธีเดินทัพนั้น จะแพ้ชนะกันอย่างไร ต่อมาก็คอยดูกันอีกว่าสันนิบาตชาติจะทำอย่างไรกับประเทศสมาชิก ๒ ประเทศซึ่งทำสงครามกันเอง

ในเดือนธันวาคม สันนิบาตชาติได้บังคับประเทศทั้ง ๒ ให้เลิกสงคราม แลให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสิน โบลิเวียเป็นประเทศเพลี่ยงพล้ำในสงคราม ก็ยอมทันที แต่ปารากัวซึ่งเป็นฝ่ายได้ทีไม่ยอม จนสิ้นเวลาที่สันนิบาตชาติกำหนดว่าต้องทำตามคำสั่ง เมื่อเป็นดังนี้ ถ้าพูดตามสัญญา ก็คือว่า ประเทศทั้งหลายที่อยู่ในสันนิบาตชาติ ประเทศ ๑๕ ประเทศ จึงสั่งห้ามมิให้ขายอาวุธให้แก่ปารากัว แต่ไม่ห้ามการขายให้โบลิเวีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศปารากัวก็โต้ทันที เอาอย่างประเทศญี่ปุ่นแลประเทศเยอรมัน คือบอกล่วงหน้าลาออกจากสันนิบาตชาติ

๏ ๏ ๏

ในเมืองหลวงของประเทศชิเลมีคำสั่งออกให้กรมตำรวจว่า ถ้าเห็นหญิงกับชายไปอยู่ด้วยกันสองต่อสองในสวนสาธารณะ ก็ให้ตำรวจเมียงเข้าไปโดยมิกระตกกระตาก เมื่อถึงก็ยื่นก๊าดให้ใบหนึ่ง มีหนังสื่อว่า “เชิญท่านยับยั้งเสน่หาไว้แต่พอควร”

๏ สักรวา ภาษาพรหมอมไว้มาก

คำยาก ๆ เผยอแพร่ออกแหล่หลาย

บัณฑิตโต นโย....เลโหบาย

กลาภิปราย ปรัชญา กรรมาธิการ

สมบูรณาญาสิทธิ์ประดิษฐ์ศัพท์

เหลือจะรับจดจำคำบรรหาร

ขอพระปู่ผู้อุดมพรหมญาณ

อย่ารุกรานความเขลาพวกเราเอย ฯ

๏ ๏ ๏

ข่าวที่แซ่โลกที่สุดเวลานี้ก็คือการเพิ่มกำลังกองทัพของประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรป ประเทศเล็ก ๆ ก็เพิ่มเหมือนกัน แต่ไม่แซ่มากเหมือนประเทศใหญ่

เมื่อวันศุกร์ วันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม ฝรั่งเศสเปลี่ยนบทบัญญัติในกฎหมายเกณฑ์ทหาร เพิ่มเวลาให้พวกที่ถูกเกณฑ์เมษายนต้องเป็นทหารอยู่ ๑๘ เดือน (แต่ก่อน ๑๒ เดือน) ให้พวกที่ถูกเกณฑ์ตุลาคมหน้าอยู่ ๒ ปี การที่เพิ่มเวลาให้คนต้องอยู่เป็นทหารนานเข้าเช่นนี้ ไม่ใช่จะทำให้กองทัพฝรั่งเศสมีทหารมากขึ้น อธิบายว่าเป็นการเพียรจะรักษากำลังให้คงตามเดิม ถ้าไม่เพิ่มเวลา กำลังกองทัพฝรั่งเศสก็จะลดลงไปอีกมาก เพราะเหตุว่า ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖ (หน้า) กับ ค.ศ. ๑๙๔๐ จะมีคนถึงอายุเกณฑ์เป็นทหารน้อยลงกว่าแต่ก่อนประมาณครึ่งหนึ่ง (แต่ก่อนเคยเกณฑ์คนได้ปีละ ๒๔๐,๐๐๐ คน ตั้งแต่ปีหน้าไปจะเกณฑ์ได้ราว ๑๒๐,๐๐๐ คนเท่านั้น) ที่เป็นดังนี้ เพราะเด็กที่เกิดในปีสงครามจะถึงกำหนดอายุถูกเกณฑ์เป็นทหารในปีหน้า แต่ในที่สงครามนั้น พลเมืองเกิดน้อยกว่าปีปกติ จึงมีคนที่จะเกณฑ์ได้ในปีหน้าน้อย ความข้อนี้ ในประเทศฝรั่งเศสหนักใจกันมาหลายปี ได้เพียรชักชวนทหารที่หมดเวลาเกณฑ์แล้ว ให้อยู่ไปอีกก็ไม่สำเร็จ แม้จะยอมอยู่บ้างก็น้อยนัก

๏ ๏ ๏

ส่วนประเทศเยอรมัน ซึ่งได้ลาออกจากสันนิบาตชาติแล้วนั้น ได้ประกาศสร้างทัพบกใหม่ ทัพบกเยอรมันนั้น สัญญาที่เซ็นกันเมื่อเลิกสงครามจำกัดว่า ให้มีทหารได้เพียง ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่บัดนี้เยอรมันประกาศว่า จะมีทหาร ๓๖ ดิวิชั่น ซึ่งผู้ส่งข่าวทหารของหนังสือ “ไตมส์” (ลอนดอน) ประมาณว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน แลกองทัพบก ซึ่งมีทหารประจำการ ๖๐๐,๐๐๐ คน ในเวลาไม่มีศึกนั้น นอกจากรัสเซียแล้ว ก็ไม่มีประเทศไหนจะมีได้ ถ้าประเทศฝรั่งเศสเรียกคนที่พอจะเข้าเป็นทหารได้ ให้เข้าประจำกองทัพทุกคน แลให้อยู่คนละ ๒ ปี ก็ไม่ได้คนมากเท่านั้น

เยอรมันอธิบายว่า ในตะวันออกของเยอรมัน มีประเทศใหญ่ (คือรัสเซียซึ่งอาจเป็นศัตรูสงครามเมื่อไรก็ได้ เยอรมันมีหน้าที่จะป้องกันตนเองมีให้กองทัพคอมมูนิสม์เข้าย่ำยี แลในการป้องกันตนเองนั้น ย่อมเป็นการป้องกันยุโรปทั่วไปด้วย เพราะประเทศเยอรมันเป็นด่านหน้า ถ้าทัพคอมมูนิส์มตีด่านหน้าเข้ามาได้แล้ว ก็จะร้อนถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรปด้วยกันทั้งนั้น

๏ ๏ ๏

การเพิ่มกำลังทัพเยอรมันนั้น ทำโดยวิธีกลับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารกันใหม่ และวันเสาร์ วันที่ ๑๖ มีนาคม คือวันที่ประกาศนั้น ยกย่องว่าเป็นวันได้คืนมา ซึ่งเกียรติและอิสระ จึงแสดงความยินดีรื่นเริงกันมาก

ความรู้สึกเช่นนั้น คงจะเป็นความรู้สึกจริง ๆ ซึ่งเราท่านพอเข้าใจได้ เพราะประเทศเยอรมันคงจะถือว่า ถูกกดขี่มาช้านาน แลถูกมัดมือมัดอื่นไม่ให้ป้องกันตัวได้

๏ ๏ ๏

แต่การเพิ่มกำลังทัพเยอรมันคราวนี้รู้ล่วงหน้ากันบ้าง ความตื่นเต้นในยุโรปจึงเบาหน่อย ประเทศที่วิตกมากก็คือรัสเซียกับโปแลนด์ แลฝรั่งเศสติเตียนเยอรมันด้วยเสียงดังกว่าประเทศอื่น แต่ประเทศที่เกี่ยวข้องทันทีนั้นก็คืออังกฤษ เพราะอังกฤษจะส่งเสนาบดีไปเจรจาเรื่องนี้อยู่แล้ว อังกฤษจึงส่งโน๊ตไปถึงเยอรมันเมื่อวันจันทร์ กล่าวทักท้วงข้อที่เยอรมันชิงประกาศเสียก่อน แลถามว่ามีเหตุที่จะต้องเลื่อน (เลิก) กำหนดที่เสนาบดีอังกฤษจะไปเบอรลินหรือ เยอรมันตอบว่าไม่มีเลย

โน๊ตที่อังกฤษมีไปนั้นทำให้ฝรั่งเศสวิตก แต่ภายหลังตกลงกันว่าเสนาบดีอังกฤษจะพบกับผู้แทนฝรั่งเศสกับผู้แทนอิตาลีเสียก่อน (พบกันในปารีส) แล้วจึงจะเลยไปเบอร์ลิน

ฝรั่งเศสส่งโน๊ตไปถึงสันนิบาตชาติ (ซึ่งบัดนี้เยอรมันมิได้เป็นสมาชิก) ว่าเยอรมันประพฤติผิดสัญญาในการที่เพิ่มกำลังทหาร อนึ่ง ทั้งฝรั่งเศสแลอิตาลีได้ส่งคำทักท้วงไปยังเบอร์ลินด้วย

๏ ๏ ๏

วิธีรุกรานในคราวสงครามที่กลัวกันมากในเวลานี้ก็คือ ใช้ทหารฟ้าไปทิ้งลูกแตกให้คนตาย แลบ้านเมืองทลาย ยังไม่ปรากฏว่า มีวิธีจะป้องกันได้แน่นอน ได้แต่ให้พวกตนเอาลูกแตกไปทิ้งบ้าง ซึ่งเป็นการสาดน้ำลดกันเท่านั้น

เวลานี้รัฐบาลอังกฤษตั้งพวกอาจารย์วิทยาศาสตร์เป็นกรรมการ หาทางแก้ภัยมาทางฟ้า อรรคเสนาบดีกล่าวว่า รัฐบาลไม่ยอมเชื่อว่า ไม่มีทางจะป้องกันได้ แต่คนโดยมากยังโคลงหัวกันอยู่

ส่วนการทิ้งลูกแตกเป็นแก๊สนั้น เคยกลัวกันมาก แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่กลัวกันแล้ว เพราะผู้ชี้แจงเหตุผลให้ทราบว่า แก๊สทิ้งจากฟ้าทำอันตรายบ้านเมืองผู้คนไม่ได้ดังที่เคยกลัวกันนั้นเลย เราได้อ่านหนังสือของอาจารย์ที่เคมบรีชบอกว่า ต่อไปภายหน้ายังไม่รู้แน่ แต่เดี๋ยวนี้จะไม่มีใครทิ้งลูกแตกแก๊ส เพราะไม่คุ้มโสหุ้ย

การที่ได้ยินว่า การทิ้งแก๊สจากฟ้า จะไปทำร้ายผู้คนพลเมืองลงไปเหมือนเอาไฟคลอกมดนี้ ก็ทำให้โล่งใจไปอย่างหนึ่ง

๏ ๏ ๏

ศัพท์ใหม่ ท่านโปรดสังเกตได้ว่า เราตั้งศัพท์ใหม่ศัพท์หนึ่งว่า “อนามิศ” ตรงกับที่มักใช้กันว่า “สมัครเล่น” ภาษาอังกฤษว่า อเมเจอร์

เมื่อจะตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่น ผู้อยู่ในคณะของเราได้รับชวนให้หาคำใช้แทนอเมเจอร์ ซึ่งหมายความว่า เล่นหรือทำโดยไม่มีค่าจ้างหรือได้ทรัพย์เป็นค่าตอบแทน เรานึกไม่ทันก็ไม่ได้แนะศัพท์ไปให้ แต่มีผู้อื่นเสนอคำว่าสมัครเล่นก็เลยใช้ต่อมา

เราไม่รักคำนั้นมาแต่แรก แต่จะคัดค้านก็ไม่ได้ เพราะเราเองก็ไม่มีคำไหนมาเสนอให้ดีกว่า แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เรานึกได้ว่า การรับจ้างเล่นหรือทำอะไรนั้น ก็คือทำเพื่อ อามิศ ถ้าทำโดยไม่ต้องการอามิศ ก็เป็น อนามิศ คำนั้นจึงเหมาะที่จะใช้แทนคำอังกฤษว่าอเมเจอร์ แลเราจะใช้คำนี้โดยอัตถะเช่นนี้ในหนังสือของเราต่อไป เริ่มด้วยปเกียรณการมภ์นี้ ดังท่านจะเห็นเมื่ออ่านไปจนเกือบจบ

ศัพท์ที่เรานำมาใช้นี้ จะเขียนอนามิสก็ถูก เขียนอนามิษก็ถูก แต่เราเขียนอนามิศ คือสะกดตามแบบเก่าของไทย ไม่ใช่มคธหรือสํสกฤต

๏ ๏ ๏

กว่า ๑๐ ปีมาแล้ว กาวะนาของแคว้นเป็นซิลเวเนีย (สหรัฐอเมริกา) ชื่อปินซอต เป็นผู้มีกรุณาแก่นักโทษในคุก แลเป็นผู้รักหมา วันหนึ่ง การะนาปินซอตนึกขึ้นมาว่า คนที่เบื่อหน่ายชีวิตของตนอยู่ในคุกนั้น ถ้ามีหมาเป็นเพื่อนก็อาจบันเทาความเดือดร้อนได้บ้าง ถ้ารักแลมีเมตตาต่อหมา ก็อาจเปลี่ยนความโหดร้าย กลับเป็นผู้ประพฤติดีไปได้

กาวะนาปินซอตนึกดังนี้ จึงส่งหมาตัวหนึ่งเข้าไปไว้ในคุก นักโทษหลายคนได้ความสบายใจจากหมา ซึ่งเป็นเพื่อนดีของคน แลหมาตัวนั้นก็อยู่ในคุกหลายปี เป็นประโยชน์สมตามที่กาวะนาปินซอตตั้งใจ

ต่อมามีคนหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง เป็นผู้ชำนาญพูดเปล่า ๆ ปลี้ ๆ เขียนลงหนังสือพิมพ์ว่า หมาตัวนั้นกัดแมวตาย จึงถูกตัดสินจำคุก โดยความผิดฐานที่นักเรียนในเมืองเราสมัยนี้มักใช้ “ฆาตกรรม” (ไม่ชอบใช้ว่า “ฆ่า” ซึ่งเป็นคำไทยง่ายเกินไป) ความบทนั้นพอลงพิมพ์ไปรายหนึ่ง หนังสือพิมพ์อื่น ๆ ก็คัดลงต่อ ๆ กันไป แต้มนิดเติมหน่อยจนกระจายทั่วไปหมด (กาวะนาปินซอตกล่าวว่า “ทั่วโลก”) มีผู้เขียนจดหมายไปถึงกาวะนาปินซอต จากในอเมริกาแลนอกอเมริกา กล่าวติเตียนความดุร้ายเหี้ยมโหด ที่ตัดสินลงโทษสัตว์ดิรัจฉานซึ่งไม่รู้กฎหมายของมนุษย์ ที่มันกัดแมวตาย ก็เป็นธรรมดาของสัตว์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กัน จะถืออย่างเดียวกับคนฆ่ากันเองหาได้ไม่ (เราเขียนว่า “ฆ่ากันเอง” ผิดไป “ควรว่าทำการฆาตกรรมกันเอง” จึงจะถูกตามภาษาไทยที่เขียนกันสมัยนี้) จดหมายเช่นนี้ กาวะนาปินซอตได้รับจากที่ใกล้ก่อนแล้วได้รับจากที่ไกล ๆ ออกไป แลได้รับอยู่ตลอดเวลาที่เป็นกาวะนา

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การที่จะไล่ความผิดให้ทันนั้นยากนัก

๏ ๏ ๏

เรื่องอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องปดคนละอย่าง เศรษฐีใหญ่อเมริกันคนหนึ่ง ชื่อวิลเลียม เฮนรีแวนเดอบิลต์ เป็นหัวหน้าบริษัทรถไฟหลายบริษัท เมื่อตายมีทรัพย์มรดกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญทอง ครั้งหนึ่งท่านผู้นั้นไปกรุงชิกาโกทางรถไฟ ใช้รถซึ่งมีไว้พิเศษ กินนอนอยู่ในนั้นเสร็จ เมื่อไปถึงที่ก็ปลดรถคันพิเศษจากขบวนรถไฟ ไสไปแอบไว้ ณ ทางหลีก รถนั้นมีห้องนอน ห้องกินข้าว ห้องรับแขก แลความสะดวกอื่น ๆ พร้อม ตอนเย็นเวลากินข้าว แวนเดอบิลต์กำลังกินข้าวกับเพื่อนที่ไปหาที่รถไฟ ก็มีผู้แทนหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งบุกรุกเข้าไปถึงโต๊ะกินข้าว แวนเดอบิลต์ถามว่า “ท่านคงสังเกตแล้วกระมังว่า ข้าพเจ้ายังไมว่าง”

ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ข้าพเจ้าขออินเตอวิวกับท่าน”

แวนเดอบิลต์ “ท่านก็เห็นแล้วว่า ข้าพเจ้ากำลังกินข้าวอยู่ แลกำลังเลี้ยงเพื่อนอยู่ด้วย ถ้าท่านต้องการอินเตอวิว ก็เชิญท่านนั่งคอยอยู่ท้ายรถข้างโน้น ข้าพเจ้ากินข้าว แล้วจะพูดกับท่าน”

ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ข้าพเจ้าไม่มีเวลาคอย จะต้องรีบไปออฟฟิศให้ทันหนังสือพิมพ์ออก สาธารณชน..”

แวนเดอบิลต์ยั้งโมโหไว้ไม่อยู่ ก็ระเบิดออกไปว่า “แดมน์ สาธารณชน เอ็งลงจากรถไปเดี๋ยวนี้”

ผู้แทนหนังสือพิมพ์ตะลีตะลานลงจากรถก่อนถูกช่วยให้ลง รีบไปสำนักงานหนังสือ “เดลีนิวส์” เล่าเรื่องให้ บรรณาธิการฟัง เพื่อจะขายเรื่องที่ไปพูดกับแวนเดอบิลต์ ยกคำว่า “แดมน์ สาธารณชน” เป็นที่ตั้ง บรรณาธิการเอ็ดเอาว่า ไปยั่วให้เขาเกิดโมโห แล้วจะเอาคำของเขามาใช้เป็นโทษแก่เขานั้น เป็นทางไม่มีศีลธรรมใช้ไม่ได้ ผู้นั้นก้มหน้าออกจากสำนักงาน “เดลีนิวส์” ไป อีกประเดี๋ยวไปถึงสำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ทีนี้ไม่เล่าเรื่องจริง เล่าแต่เพียงว่า แวนเดอบิลต์พูดว่า “แดมน์สาธารณชน” เท่านั้น คราวนี้ขายได้

คำว่า “แดมน์ สาธารณชน” นั้น ต่อมามีผู้นำไปกล่าวบ่อย ๆ ว่า เป็นคำของเศรษฐีใหญ่ดูหมิ่นสาธารณชน ว่าเป็นเหมือนฝุ่นใต้ส้นเกือก แต่ข้อที่ผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้าไปยั่วโมโหเวลากินข้าวนั้นไม่พูดถึงเลย

๏ ๏ ๏

ผู้ที่เป็นตัวลครดี เข้าใจกันว่า คือผู้ที่ทำบทถูกต้องตามที่ผู้แต่งบทตั้งใจไว้ ถ้าผู้แต่งบทสำหรับตัวลครที่รู้จัก แลเคยสังเกตกิริยาอาการ บทก็มักจะเหมาะกับตัวลครมากขึ้น

แต่ถ้าสัตว์ดิรัจฉานเป็นตัวลคร บางทีมันก็ไม่ทำตามบท ที่ผู้แต่งตั้งใจให้มันทำ เป็นต้นว่าในลครเรื่องสั้นชื่อ (แปลว่า) “ลูกหมา” ซึ่งนักเรียนเมืองอังกฤษเล่นที่โรงโขนหลวงเมื่อเร็ว ๆ นี้ หมาจะต้องกินไส้กรอกขยอกลงไปโดยเร็วจึงจะถูกบท แต่อ้ายตัวที่เป็นตัวลคร มันกัดไส้กรอกกินช้า ๆ ซึ่งไม่ถูกบทเลย ทำให้มนุษย์ที่เป็นตัวลครลำบาก เพราะไม่มีบทจะพูด หรือทำอะไรก่อนหมากินไส้กรอกหมดอัน ทั้งนี้เป็นด้วยลครที่เล่นคืนนั้นเป็นลคร “อนามิศ” และไม่มีเวลาซ้อมมาก แม้จะซ้อมมนุษย์ก็ไม่ค่อยทันอยู่แล้ว จะซ้อมหมาด้วยก็ไม่ไหว (แลเวลาที่เล่นลครนั้นหมามันไม่ค่อยหิวด้วย)

๏ ๏ ๏

ในตอนปลายปีที่แล้วมานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ได้มีลครอนามิศเล่นหลายรายเพื่อจะเก็บเงินบำรุงโน่นบำรุงนี่ ได้เงินมากบ้างน้อยบ้าง

มีผู้กล่าวแก่เราว่า ลครพูดเมืองเรายังไกลกับเมืองฝรั่งมากนัก เมื่อไรจะเล่นให้ถึงเขาได้ เราชี้แจงความเห็นของเราว่า ถ้าบทลครดี ๆ ที่เขียนขึ้นเรื่องหนึ่งได้เล่นให้คนดูติด ๆ กันทุกคนตลอดปีหนึ่งไซร้ เรารับประกันว่า คนเขียนบทอย่างเอกจะมี แลตัวลครอย่างเอกก็จะเกิดเหมือนกัน ในเมืองฝรั่งบทลครดี ๆ ที่เขาแต่งขึ้น เมื่อเจ้าของลครเลือกนำออกเล่น แลซ้อมตัวลครดีแล้ว ก็เล่นอยู่ได้ตั้งปี มีคนดูแน่น ๆ โรงทุกคน ผู้สามารถแต่งบทและผู้สามารถเป็นตัวลคร ก็หันไปแต่งแลเล่นเป็นทางหากิน ลครก็ดีขึ้นได้

การแต่งบทลครเรื่องหนึ่งนั้นกินแรงไม่น้อย เมื่อแต่งขึ้นแล้ว ยังต้องกังวลในการซ้อมอีกเล่า เอทำตลอดไปแล้ว ลครก็ได้ออกโรงครั้งเดียวหรือสองครั้งเท่านั้นเอง เหตุนี้ลครพูดของเรา จึงเป็นลครอนามิศ จะเอาจริงเอาจังไม่ได้ (ที่พูดนี้พูดเฉพาะลครชั้นที่เล่นที่โรงโขนหลวงเท่านั้น)

๏ ๏ ๏

ที่นึ้กลับย้อนไปพูดถึงสัตว์ดิรัจฉานเป็นตัวลครว่า ตัวลครชนิดนั้นมีบ่อย ๆ ในหนังภาพยนตร์ แลสัตว์ที่เป็นตัวลครไม่ดี เพราะไม่ทำตามที่เจ้าของบทตั้งใจนั้นบางทีกลับเป็นดีใหญ่ เป็นต้นว่าในหนังเรียกชื่อเรื่องว่า “ในตะวันออกแห่งบอเนียว” นั้นตัวนายโรงเอกกำลังเล่นกับจระเข้ตามบท แต่จระเข้ตัวหนึ่งเล่นนอกบท ไพล่ปีนขึ้นไปในเรือที่นายโรงเอกอยู่ นายโรงเอกตกใจขวัญหนีแต่ไม่สิ้นสติ ฉวยได้พายเล่มใหญ่ตีจระเข้ตะบมลงไปกลางหลัง จนจระเข้ลงน้ำหนีไป หนังท่อนนั้นเป็นหนังดี เพราะจระเข้เล่นนอกบท

ในหนัง “ทาร์ซาน” สิงโตตัวเมียตัวหนึ่งปีนไล่คนขึ้นไปบนต้นไม้ เจ้าของบทไม่ได้คิดไว้อย่างนั้น เพราะธรรมดาสิงโตไม่ปีนต้นไม้ แต่ตัวนั้นมันขัดขืนตำราสัตวศาสตร์ หนังตรงนั้นก็ดี เพราะสิงโตเล่นนอกบทเหมือนกัน

หนังอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “เจ้าป่า” เจ้าของบทเขียนไว้ว่า สิงโตฆ่าวัวตาย แต่ครั้นทำคอกปล่อยสิงโตกับวัวเข้าไปจะให้มันฆ่ากัน อ้ายวัวกลับชนแลขวิดสิงโตกระเด็นออกไปนอกคอก ปล่อยสิงโตตัวอื่นเข้าไปก็กระเด็นหรือโดดหนีไปอีก สิงโตถึง ๗ ตัวก็ต้องข้ามคอกไปทีละตัวทุกตัว มาถึงตอนนี้วัวถูกสิงโตกัดแลตนเป็นแผลเลือดโซมหลายแห่ง ถ่ายรูปไม่งามก็ต้องเปลี่ยนเอาวัวตัวใหม่ อ้ายตัวใหม่ขวิดโยนสิงโตออกนอกคอกอีก ๕ ตัว เลยทำให้เกิดสงสัยว่า ที่เรียกสิงโตว่าเจ้าป่านั้น ชรอยจะผิดไปเสียแล้ว ในหนังเรื่องนั้น สิงโตไม่ได้ฆ่าวัวจนแล้วจนรอด

๏ ๏ ๏

สีต่าง ๆ นั้น ถ้าเอาเรียงติดกัน ก็ทำให้เห็นขนาดกว้างยาวผิดกับความจริงไปได้ เป็นต้นว่าธง ของฝรั่งเศส ใช้ผ้าน้ำเงิน ๓๐ ส่วน ผ้าขาว ๓๓ ส่วน ผ้าแดง ๓๒ ส่วน เมื่อเย็บต่อกันเข้าก็เห็นเป็น ๓ ส่วนเท่ากัน ถ้าตัดผ้าให้เท่ากันจริง ๆ จะไม่เห็นเช่นนั้น

๏ ๏ ๏

สภาราษฎร (ปาลิเมนต์) อังกฤษ สมาชิกนั่งสวมหมวกตลอดเวลาประชุม ต่อเมื่อลุกขึ้นพูด หรือเมื่อจะเดินเข้าออกจึงถอดหมวก พูดย่อ ๆ ถ้านั่งต้องสวมหมวก ถ้ายืน หรือเดินต้องถอดหมวก ประเพณีของเขาเป็นเช่นนั้น

๏ ๏ ๏

เมื่อคืน (คืนก่อนวันที่เขียนนี้ ไม่ใช่วันออกประมวญมารค) ได้ยินวิทยุกระจายเสียงมาจากลอนดอน เล่าถึงประชุมปาลิเมนต์อังกฤษเรื่อง เยอรมันจัดกองทัพใหม่ทั้ง ๓ แผนก คือ ทัพฟ้า ทัพบก ทัพเรือ ดูเป็นเรื่องวิตกกันอยู่มาก แต่กว่าหนังสือของเราจะออกก็คงจะมีโทรเลขมา แลผู้อ่านที่สนใจ ก็คงจะอ่านก่อนได้อ่านหนังสือนี้

๏ ๏ ๏

เราใคร่ย้อนไปเล่าความเก่ากว่าเดือนขึ้นไป ซึ่งไม่เป็นข่าวเพราะไม่สด แต่อาจช่วยให้เข้าใจรูปการได้บ้าง ผู้อ่านของเราย่อมทราบแล้วว่า เมื่อเสนาบดีอังกฤษสองคน ได้ไปเจรจากับแฮร์ฮิตเลอร์ประมุขเยอรมันแล้ว คนหนึ่งคือมิสเตอร์อีเด็น (เสนาบดีมุรธาธรอังกฤษ) ได้เลยไปเจรจากับมิสเตอรสตาลินประมุขรัสเซีย ถ้าฟังเผิน ๆ ก็ได้ความว่า ความมุ่งหมายของอังกฤษกับเยอรมันไม่ลงรอยกัน แต่อังกฤษกับรัสเซียพอลงรอยกันได้ แต่ถ้าจะคิดให้ลึกลงไป ก็ทำให้เห็นว่า คำที่ฮิตเลอร์พูดนั้น พูดหมดถ้อยกระทงความ คือว่าที่อังกฤษคิดจะป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม ด้วยวิธีเข้าชื่อกันเป็นคำมั่นสัญญาว่า ถ้าใครขืนแตกคอจะช่วยกัน “เล่นงาน” นั้น เยอรมันไม่เห็นว่าจะสำเร็จ สตาลินพูดไม่หมดถอยกระทงความ คือว่า ถ้าตกลงกันจริงจังตามวิธีของอังกฤษก็เห็นด้วย แต่ต้องแล้วแต่โปลิซของโปแลนด์อีกชั้นหนึ่ง

ฮิตเลอร์แสดงความวิตกเกรงความรุกรานของคอมมูนิสม์รัสเซีย ยกข้อนี้เป็นข้อที่ว่าต้องเตรียมกำลังไว้ป้องกัน ฝ่ายรัสเซียก็ตัวสั่นกลัวเยอรมันจะเข้ารุกราน แต่อันที่จริงเยอรมันจะเข้าตีรัสเซียไม่ได้ นอกจากโปแลนด์จะเข้าด้วย เพราะแดนเยอรมันกับรัสเซียไม่ติดต่อกัน ต้องผ่านโปแลนด์จึงจะถึงตัวกันได้ ตำแหน่งของโปแลนด์สำคัญยิ่งไปกว่าเบลเยี่ยมในคราวมหาสงครามที่แล้วมา เพราะเยอรมันกับฝรั่งเศสมีแดนต่อแดนกัน แม้ไม่ผ่านเบลเยี่ยมก็ทำสงครามกันได้ ระหว่างเยอรมันกับรัสเซียไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าจะถึงตัวกันได้ ก็ต้องผ่านโปแลนด์ทุกที

๏ ๏ ๏

ส่วนประเทศโปแลนด์นั้น ที่เราจะเชื่อว่า จะยอมถูกลากเข้าสงครามง่าย ๆ ก็เหลือเชื่อ ควรเห็นว่านอกจากถูกบังคับแล้ว ก็คงไม่ต้องเข้าข้างไหน แต่โปแลนด์มีประเทศใหญ่กระหนาบอยู่ ๒ ข้าง คือเยอรมันข้างหนึ่ง รัสเซียข้างหนึ่ง จึงต้องระวังนักหนา เยอรมันก็ดี รัสเซียก็ดี ถ้าพลาดพลั้งก็อาจได้แผลใหญ่ ๆ แต่โปแลนด์นั้นอาจละเอียดทีเดียว โปแลนด์เพิ่งตั้งประเทศขึ้นได้ภายหลังมหาสงครามที่แล้วมานี้เอง ถ้าโชคร้ายมีมาอีก ก็อาจไปอยู่ในประเทศอื่น ๆ สิ้นอิสระไปอีกได้ คือว่าถ้าเสียท่าก็น่ากลัวจะตายเลย

๏ ๏ ๏

ประเทศที่อยู่ในกระหนาบดังนี้ มีอีกประเทศหนึ่งคือออสเตรีย อันอยู่ระหว่างเยอรมันกับอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศมีกำลังมากทั้ง ๒ ประเทศ เยอรมันกับอิตาลี ไม่มีแดนต่อแดนกัน ถ้าเกิดวิวาทกันขึ้น ก็ต้องผ่านแดนออสเตรีย ปอลิซีสำคัญของอิตาลีเวลานี้ ก็คือระวังไม่ให้ออสเตรียตกไปในมือเยอรมัน

๏ ๏ ๏

สยามของเราอยู่ระหว่างฝรั่งเศสด้านตะวันออกกับอังกฤษด้านตะวันตก ถ้าใช้ศัพท์รถยนต์ก็คือ “กันชน” ถ้าฝรั่งเศสกับอังกฤษรบกันขึ้นเมื่อไร เราจะตกในที่ยาก แต่ฝรั่งเศสกับอังกฤษเป็นมิตรกันมา ๓๐ ปีแล้ว แลไม่มีท่าทางว่าจะวิวาทกันด้วยอาวุธไปชั่วกาลนาน คนรุ่นก่อน ถ้าได้ยินว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสมีไมตรีต่อกัน ก็อาจนึกว่าเป็นการพักเหนื่อยของคู่สงคราม ซึ่งวิวาทกันเป็นทอด ๆ มาตั้ง ๑๐๐๐ ปี แต่คนในสมัยนี้ จำต้องเห็นว่า ๒ ประเทศนั้นจะมีไมตรีจิตกันไปยืด ไม่จำเป็นจะเป็นด้วยรักกัน ที่แท้เป็นด้วยถ้าขืนรบกันขึ้น ก็คือต่างฝ่ายต่างเชือดคอตนเอง (จะใช้คำตามภาษาหนังสือไทยสมัยใหม่ต้องว่า “ทำการอัตตวินิบาตกรรม”)

๏ ๏ ๏

ในเวลานี้ ฝรั่งเศสจะเหาะจากฝั่งฝรั่งเศสข้ามทะเลไปถึงลอนดอนได้ใน ๓๐ นาที อังกฤษจะเหาะไปถึงปารีสได้ใน ๕๐ นาที ในระหว่างมหาสงคราม เยอรมันได้ใช้เรือเหาะเอาลูกแตกไปทิ้งในประเทศอังกฤษ รวมทั้งหมดหนัก ๓๐๐ ตัน เมื่อ ๙ ปีมาแล้ว กระทรวงทหารฟ้าอังกฤษคำนวณว่า ถ้าฝรั่งเศสเอาลูกแตกไปทิ้งในประเทศอังกฤษ จะทิ้งได้วันละ ๓๐๐ ตัน เท่าเยอรมันทิ้งตลอดเวลาสงคราม มาวันนี้คำนวณว่า จะเพิ่มขึ้นกว่านั้นอีกประมาณ ๒ เท่า พูดสั้น ๆ ฝรั่งเศสจะทิ้งลูกแตกใส่อังกฤษได้วันละประมาณ ๑๐๐๐ ตัน แลทัพฟ้าอังกฤษ ก็จะทิ้งใส่ฝรั่งเศสได้เท่า ๆ กัน

พูดตามที่เห็นได้ในปัจจุบัน อังกฤษกับฝรั่งเศส จะไม่ทำสงครามกันด้วยประการฉะนี้

๏ ๏ ๏

ในคราวที่เซอร์ยอนไซมอนเสนาบดีอังกฤษ เจรจากับแฮร์ฮิตเลอร์ประมุขเยอรมันนั้น เกิดมีคำเล่าลือกันว่า แฮร์ฮิตเลอร์พูดจนเซอร์ยอนไซมอนคอแห้งไปกับที่

แต่ผู้รู้ความจริง เขาว่าไม่จริง เซอร์ยอนไซมอนก็พูดมาก จนฮิตเลอร์ต้องฟังจนคอแห้งเหมือนกัน

๏ ๏ ๏

เราได้ฟังทางวิทยุเมื่อแฮร์ฮิตเลอร์พูดในวันที่รับแคว้นซาร์คืนไปเป็นแดนเยอรมัน คือวันที่ฮิตเลอร์ยืนกรำฝนพูดนเป็นหวัด เราฟังพูดคืนนั้น คอเราไม่ทันแห้ง ฟังอยู่ไม่นาน ก็ย้ายไปฟังที่อื่น ซึ่งเราฟังเข้าใจ

๏ ๏ ๏

เราใคร่หัดแต่งหนังสือตามสำนวนไทยแบบใหม่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้กันมาก จึงลองดูนิดหน่อยว่า จะไปไหวหรือไม่ไหว คำตัวจิ๋วในวงเล็บเป็นคำอธิบายสำหรับให้ผู้อ่านของเราที่ยังโง่พอเข้าใจได้: -

โดยที่สภาพการณ์แห่งย่อมปฏิวัติไปทั้งกลางวันแลรัตติกาล (แปลว่าโลกหมุนทั้งวันแลคืน) เฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศตะวันออกไกล (แปลว่าประเทศในเอเชียภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ไกลจากเมืองฝรั่ง ฝรั่งเขาจึงว่าไกล ไม่ใช่ไกลจากเมืองไทย แต่ไทยเราก็ชอบว่าไกลไปด้วย) ก็ทำการปฏิวัติ เนื่องแต่ปฏิวัติแห่งโลก (แปลว่าก็หมุนไปกับโลก)

สำหรับประเทศซึ่งรูปการณ์เปรียบเสมือนหนึ่งการแสดงลครซ้ำประวัติศาสตร์ (ตรงนี้แปลยาก) ได้อิทธิพลแลวัฒนธรรมจากอารยะประเทศ ทั้งที่เป็นอิทธิพลเลวแลวัฒนธรรมขี้ริ้ว แลอิทธิพลดีแลวัฒนธรรมงาม (แปลยากหนักขึ้น) อันประชาชาติแลประเทศชาติ (แปลยากอีก) แลชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ เท่าที่สำหรับสภาพ...

เราหัดเขียนคัดสำนวนตนเองจะให้ “ทันสมัย” มาได้เพียงนี้ ก็ต้องขอหยุดที กว่าจะได้ความว่า จะเขียนว่ากระไรก็นานนัก เหตุไม่ชำนาญ

๏ ๏ ๏

เมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีข่าวโทรเลขมาจากเกาะฟิลลิปปินว่า ได้มีขบถเกิดรบราฆ่าฟันกันใหญ่โต เป็นเหตุเพราะรัฐธรรมนูญที่จะได้ใหม่ มีชมรมการเมืองพวกหนึ่งเป็นพวกใจเร็ว มีความเห็นขัดขวางรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นไว้แล้ว แลจะโหวตกันทั่วทั้งประเทศ ในวันที่ ๑๑ เดือนนี้ (เราเขียนหนังสือนก่อนวันที่ ๑๑)

การรบได้กระจายไปหลายมณฑลแลหลายตำบล ถึงแก่กั้นสนามเพลาะต่อสู้กัน แลพวกขบถชิงเอาศาลารัฐบาลได้ในที่บางแห่ง แต่ตำรวจ (ซึ่งในที่สุดต้องมีทหารไปช่วย) กลับแย่งคืนได้ ในประเทศบ้านนอก พวกชาวบ้านถืออาวุธคุมกันเป็นหมู่เป็นเหล่ายกไปโน่นมานี่ เพื่อจะชักชวนราษฎรให้เข้าด้วย ในเวลาที่เกิดเหตุนี้ กาวะนาก็ไม่อยู่ นายกของสภาร่างกฎหมายก็ไม่อยู่ แทนกาวะนาที่กำลังออกเที่ยวตรวจการ แลนายพลผู้บัญชาการทหารก็ไปเมืองจีน ดูเป็นเวลาเหมาะที่จะเกิดเหตุ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ไม่อยู่กันเป็นอันมาก

๏ ๏ ๏

เราได้อ่านข่าวโทรเลขดังนี้แล้ว ก็อยากจะย้อนนำเรื่องถอยหลังไป ๒-๓ เดือนกลับมาเล่า

ในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้วมา สภาร่างกฎหมายในฟิลลิปปินได้ร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ แลจะนำไปเสนอรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้อนุญาต การลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีผู้ทำชอบกล คือให้หมอใช้มีดขีดที่แขนจนเลือดไหล แล้วเอาเลือดตัวเองมาเซ็นชื่อแทนหมึก

ต่อนั้นมาก็มีผู้แทนฟิลลิปปิน ๖ นายพาร่างรัฐธรรมนูญไปอเมริกา เพื่อให้เปรสิเด็นต์รูสเว็ลต์เซ็น ท่านเปรสิเด็นต์ก็ได้ใช้หมึกธรรมดาลงนาม แสดงว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้น สหรัฐอเมริกาเห็นชอบด้วยแล้ว

ดังนี้ ปัญหาเรื่องอิสระของฟิลลิปปิน ก็เป็นอันจะได้ถึงมือพลเมืองในเกาะนั้น พลเมืองจะต้องลงมติกันว่า จะรับใช้รัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ ภายในปีนี้ คงจะได้ตั้งฟิลลิปปินเป็นประเทศอิสระอยู่ในเครือของสหรัฐอเมริกา ถ้าได้ปกครองกันรูปนี้เรียบร้อยไปถึง ค.ศ. ๑๙๔๖ ก็จะตั้งเป็นริปับลิกเลยทีเดียว ความลำบากของข้อที่จะเป็นอิสระเต็มที่นี้ มีสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งผู้เป็นพ่อค้าต้องนึกถึงก่อนผู้อื่น คือว่า เวลานี้เป็นเมืองขึ้นแก่อเมริกา ก็ส่งสินค้าไปขายได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า เมื่อเป็นอิสระขึ้น ก็จะต้องเสียภาษีสินค้าที่ส่งไปอเมริกา แลการเสียตลาดซึ่งเคยส่งของไปขายโดยไม่ต้องเสียภาษีนั้น อาจเป็นความเสียซึ่งตีราคาเป็นเงินปีละมาก ๆ

พวกที่คิดขบถถึงฆ่าฟันกันตายในต้นเดือนนี้ เป็นพวกที่ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญตามรูปที่นำออกให้ชาวเมืองลงมติ ต้องการเป็นรีปับลิกทันทีทีเดียว

๏ ๏ ๏

เราชาวกรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้ ถ้าเทียบกับชาวกรุงเทพ ฯ เมื่อยี่สิบปีมาแล้ว ก็เสมอกับว่า ไม่รู้จักฝุ่น กรุงเทพ ฯ เคยถูกฝรั่งเรียกว่า เมืองมีฝุ่นมากที่สุดในทวีปเอเชีย แต่ฝรั่งที่กล่าวดังนั้น หาเคยไปเมืองต่าง ๆ ในเอเชียมากกว่าเมืองสองเมืองไม่ เราเคยเห็นเมืองในทวีปเอเซียหลายสิบเมือง ซึ่งฝุ่นในหน้าแล้งร้ายกาจ ในกรุงใหญ่กรุงหนึ่ง ถ้าออกไปนอกบ้านชั่วโมงหนึ่งกลับมา ก็ต้องเปลี่ยนคอเสื้อเชิ้ต ใหม่ ถ้าล้างหน้าล้างมือก็ดำไปทั้งอ่าง ในกรุงหนึ่ง โฮเต็ลต้องปิดหมด เพราะทนฝุ่นไม่ไหว ไม่มีใครไปเมืองนั้น พวกที่อยู่ก็จำเป็นต้องอยู่ทั้งนั้น ในที่บางแห่งฝุ่นไม่เหมือนฝุ่นที่เรารู้จัก มันเป็นฝุ่นซึ่งเมื่อปลิวขึ้นไปจากดินแล้ว ก็ไปลอยกระหลบอยู่นาน ไม่ตกกลับลงดิน แลไม่มีลมพัดให้กระจาย ไปในเมืองนั้นถ้าไม่มีลม ก็ไม่มีไปหลายเดือน ใบไม้ไม่กระดิก

๏ ๏ ๏

แต่ฝุ่นในบ้านเมืองใกล้เคียง แพ้ฝุ่นในอเมริกาหมด หนังสือพิมพอเมริกาฉบับหนึ่ง เรียกพายุฝุ่นใหญ่ของเขาว่า “ดินในฟ้า” เพราะฝุ่นก็คือดินซึ่งปลิวขึ้นไปนั่นเอง

ในปีก่อนบางแคว้นแห่งสหรัฐอเมริกา เดือดร้อนมากด้วยฝนแล้ง ครั้นถึงเดือนมีนาคมที่แลวมานี้ ภูมิประเทศที่อยู่บก คือห่างทะเลแลห่างแม่น้ำใหญ่เกิดพายุฝุ่นกระหลบไปหมด ต้องจุดตะเกียงกลางวัน แลเที่ยงวันก็มืดเหมือนเที่ยงคืน ตามบ้านปิดประตูหน้าต่างแล้วไม่พอ ต้องเอาผ้าเปียกแขวนรับฝุ่น ซึ่งปลิวไปเหมือนหิมะตก แลเป็นเช่นนั้นทั่วแคว้นถึง ๔ แคว้น แลเป็นอยู่ ๔ วัน ๔ คืนในที่บางแห่ง จนถึง ๗ วัน ๗ คืนในที่บางแห่ง

ในระหว่างนั้น ตรวจประกาศอย่าให้คนออกจากบ้านนอกจากที่จำเป็นจริงๆ แต่เมื่อออกไป ก็ต้องผูกผ้าปิดจมูกปิดปาก ตำรวจห้ามรถยนต์ไม่ให้เดินตามถนน รถไฟก็ต้องหยุด เรือเหาะก็เหาะไม่ได้ โรงเรียนและร้านต้องปิดหมด มีคนเป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะเข้าปอดเป็นอันมาก

แต่ปัญหาซึ่งเมื่อพายุฝุ่นหมดแล้ว ก็ยังไม่แล้วนั่นคือว่า การทำนาในที่เหล่านั้นเสียไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ข้อนี้ทำให้เสนาบดีกระทรวงกสิกรรมเดือดร้อน เพราะว่าถ้าเดือนมีนาคมยังเป็นถึงเช่นนั้น เดือนกรกฎาคมจะเป็นอย่างไรบ้าง

อเมริกาเคยทำนาได้ข้าวสาลีมากเกินไป ถึงแก่ต้องให้ชาวนาลดการทำนาลง แต่บัดนี้ตรงกันข้าม รัฐบาลต้องออกคำสั่งว่า ชาวนาที่เซ็นสัญญาว่า จะลดการทำนาลงนั้น ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา แลเงินที่จะจ่ายให้ชาวนาทดแทนการที่ลดทำนาลงไป กำหนดไว้ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้าน เหรียญนั้นให้จ่ายตามกำหนด

๏ ๏ ๏

ประเพณีโบลเชวิก (คอมมูนิสต์) ในรัสเซียเคยห้ามไม่ให้เปิดเผยความเสียหายของรถไฟ แต่ปีนี้หัวหน้ารถไฟคนใหม่ เปลี่ยนประเพณี แลได้ประกาศเปิดเผยว่า ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ได้มีแอกซิเด็นต์รถไฟของโซเวียตรัสเซีย ๖๒,๐๐๐ ราย เสียรถพ่วง ๔,๕๐๐ คัน รถจักรชำรุด ๗,๐๐๐ คน (เห็นจะหมายความว่าครั้ง) รถพ่วงชำรุด ๖๐,๐๐๐ คน ทรัพย์เสียไป ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ รูเบอล คนตายหลายร้อยคน หนังสือพิมพ์ในรัสเซียฉบับหนึ่ง (Pravda) กล่าวว่าโปลิซีเก่าที่ซ่อนความเสียหายบนทางรถไฟนั้นผิด

๏ ๏ ๏

ถ้ามีผู้ถามท่าน แลท่านเต็มใจจะตอบ ว่าในบรรดามนุษย์นับล้านไม่ถ้วนที่เคยเกิดแลตายไปในโลก หรือยังไม่ตายก็ดี ถ้าจะระบุชื่อคน ๓ คนที่ท่านเห็นว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุด ตลอดพงศาวดารโลก ท่านจะระบุชื่อใครบ้าง ฉะนี้ ท่านคงจะอึ้งอยู่ครู่หนึ่งหรืออึ้งอยู่หลายวันตามนิสัยของท่าน แล้วก็ระบุชื่อ ๓ ชื่อ ซึ่งคงจะไม่ตรงกันทุกชื่อกับชื่อที่มีผู้ระบุที่เมืองจีน หรือในยุโรป หรือที่เมืองติ๊บบักตู ที่เป็นดังนี้ ถ้าจะพูดอย่างหนึ่ง ก็ว่าแล้วแต่ความเห็น แต่เรานึกว่าความรู้สำคัญกว่า เป็นต้นว่าคนที่เมืองจีนคงจะยกขงจื๊อขึ้นเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในสาม คนอื่นอาจจะระบุชื่อ มะหะหมัด เปลโต คาลมากซ์เป็นต้น คนในติบบั๊กตูอาจระบุชื่อที่เราไม่เคยได้ยินเลย

๏ ๏ ๏

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอช. จี. เว็ลส์ เขียนระบุชื่อ ๓ คน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นคนสำคัญที่สุดตลอดพงศาวดารโลก เขาเล่าว่า ๑๓ ปีมาแล้ว มีผู้ขอให้เขาระบุนามคนสำคัญที่สุด ๖ คน เขาก็ทำตาม แต่มาเดี๋ยวนี้ชื่อ ๖ ชื่อนั้น เขายังเห็นสำคัญเลิศอยู่เพียง ๓ ชื่อ อีก ๓ ชื่อดูด้อยไปกว่าที่เขาเห็นแต่ก่อน เขายืนยันว่า คนสำคัญเลิศตลอดพงศาวดารโลก มีจำเพาะ ๓ คน นอกนั้นอยู่คนละชั้น เข้าระดับกันไม่ได้

คน ๓ คนนั้นคือ พระเยซู พระพุทธเจ้า และ อริสโตเตอล

๏ ๏ ๏

เอช. จี. เวลส์ ไม่เรียกตัวว่าคริสเตียน เป็นฝรั่งซึ่งไม่อยู่ในศาสนานั้น เขาเป็นนักพงศาวดาร นึกเห็นพระเยซูเป็นคน เหมือนช่างเขียนย่อมจะเขียนพระเยซูเป็นรูปคน ฉะนั้น ในประเทศที่คนถือศาสนาคริสเตียน มีคนนับล้านไม่ถ้วนที่นับถือพระเยซูว่าสูงยิ่งกว่ามนุษย์ แต่นักพงศาวดารเห็นเช่นนั้นไม่ได้ เห็นได้แต่เพียงว่า ถ้าพิจารณาพงศาวดารโลกตลอดมา นามพระเยซูก็เด่นอยู่นามหนึ่ง นักพงศาวดารสมัยโรมันไม่กล่าวนามพระเยซูเลย ก็คือว่า ในสมัยที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่นั้น พงศาวดารไม่รับรู้ แต่มาป่านนี้ ๑๙๐๐ ปีเศษแล้ว นามนั้นกลับเป็นนามเด่น

พระพุทธเจ้าก็เป็นคนเช่นกัน แต่ได้สอนคำสนาก่อนพระเยซูเกือบ ๕๐๐ ปี สอนคล้ายกัน แต่บางอย่างสอนแจ่มแจ้งกว่า (นั่นเป็นคำ เอช. จี. เวลส์ว่า)

อาริสโตเตอลเป็นนักปราชญกรี๊กโบราณก่อนพระพุทธเจ้า เขาว่าเป็นชื่อเด่นระดับเดียวกับชื่อพระเยซูแลชื่อพระพุทธเจ้า ท่านผู้นั้นเป็นผู้สอนว่า เมื่อได้ความรู้มาแล้ว ให้จำแนกตามเหล่าความรู้ แลแยกส่วนผสมให้ได้ความว่ามีอะไรเป็นชิ้นบ้าง อารีสโตเตอลเป็นคนแรก ที่ทำให้คนช่วยกันคิด เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราช แลเจ้าแผ่นดินมีอำนาจพระองค์นั้นทรงอุปถัมภ์ให้เก็บความรู้มาจำแนกตามเหล่า แลแยกส่วนผสมได้ คราวหนึ่ง อารีสโตเตอลมีคนใต้บังคับตั้ง ๑๐๐๐ คน แยกกันอยู่ทั่วไปในเอเชียแลกรีซ เก็บความรู้ส่งไปแหล่งกลาง

๏ ๏ ๏

เรานำเอาชื่อทั้ง ๓ นั้นมากล่าวว่าเป็นชื่อคนสำคัญเลิศ ๓ คน ตามความเห็นของเอช. จี. เวลล์ เรานึกว่าพวกเราที่ไม่มีความคิดเป็นเขาเป็นเราในทางศาสนา คงจะเห็นด้วยว่า พระพุทธเจ้ากับพระเยซูเป็นบุคคลสำคัญเลิศในพงศวดารโลกจริง ๆ แต่อารีสโตเตอลนั้น เราในเมืองไทยไม่ค่อยจะรู้จัก เราโดยมากคงจะอยู่กลาง ๆ ไม่ เห็นด้วย หรือไม่ ไม่เห็นด้วย กับเอช. จี. เวลส์

๏ ๏ ๏

ข้อที่เราต้องการจะชี้นั้นคือว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็เอาความรู้นั้นมาสั่งสอนเป็นความรู้ ซึ่งทรงคิดได้เองพระองค์เดียว ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเก็บข้อความส่ำสมถวายความรู้ที่ทรงสั่งสอน เป็นความรู้ซึ่งมีพร้อมเสร็จอยู่ในพระองค์ ไม่ต้องพึ่งอำนาจวาสนาใครเลย ฉันใดพระพุทธเจ้าในข้อนี้ ฉันนั้นพระเยซู

แต่อารีสโตเตอลนั้นคนละอย่าง ท่านผู้นั้นเป็นผู้ก่อกำเนิดวิชาการเมืองแลวิชาศาสตร์หลายชนิด แลสืบความรู้ที่นำมาสั่งสอนได้ด้วยความช่วยเหลือของพระมหากษัตริย์ การสืบความรู้นั้น แต่สักแต่ว่ามีปัญญา ไม่มีอุปถัมภกก็สืบไปไม่ไหว แลอุปถัมภกนั้น นอกจากช่วยให้ได้ความรู้แล้ว ยังช่วยให้มีทางใช้ความรู้ต่อไปด้วย

๏ ๏ ๏

ถ้าจะพูดข้อนี้ให้แจ่มแจ้ง ควรจะยกเรื่องศิลปเป็นตัวอย่าง ศิลปในที่นี้ หมายถึงฝีมือช่างชนิดต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีแลลคร (ซึ่งนับเนื่องในศิลปทั้งสองอย่าง)

ศิลปจะรุ่งเรืองได้ ก็ต้องมีอุปถัมภก ธรรมดาผู้มีนิสัยแลสามารถเป็นช่าง ต่างว่าเป็นช่างเขียน ก็อาจเขียนรูปไว้เล่น ๒-๓ รูป เพื่อความพอใจของตน เมื่อเขียนได้ ๒-๓ รูปแล้วก็พอ ไม่เขียนอีก หรือถ้าเขียนอีกก็ไม่มาก เพราะไม่มีใครหรืออะไรบังคับ ช่างวรรณคดีก็เช่นเดียวกัน ต่างว่าเป็นคนชอบแต่งโคลงแลฉันท์ หรือวรรณคดีชนิดอื่นก็ตาม เมื่อได้แต่งเล่นจนพอใจตนแล้ว ก็หยุดอยู่เพียงนั้นเอง ไม่มีเหตุที่จะแต่งทำไมอีก แม้ความมีชื่อเสียงเมื่อรู้ว่ามีแน่นแฟ้นแล้ว ก็ไม่ต้องการอีก

แต่ถ้ามีอุปถัมภก ส่งเสริมให้ทำ บังคับให้ทำ ใส่ตรางให้ทา รางวัลให้ทำ ยอให้ทำ แลจ้างให้ทำ ช่างต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีแลละคร ก็ทำต่อไปตามความสามารถ แลเมื่อศิลปแพร่หลาย ศิลปก็ย่อมจะรุ่งเรืองคือดีขึ้น

๏ ๏ ๏

อุปถัมภกควรจะกล่าวได้ว่า มีสองชนิด กล่าวเปรียบว่า เป็นอุปถัมภกจากฟ้าชนิดหนึ่ง อุปถัมภกจากดินชนิดหนึ่ง

อุปถัมภกจากฟ้า ได้แก่ผู้อุดหนุนซึ่งทิ้งความส่งเสริมลงมาจากเบื้องสูง เช่นราชูปถัมภก คือพระมหากษัตริย์ทรงเลี้ยงผู้มีความสามารถไว้ใช้ พระราชทานยศบรรดาศักดิ์เบี้ยหวัดเงินเดือน ตลอดจนจัดให้รวมกันเป็นหมู่เป็นกรม เช่นกรมช่างต่าง ๆ ที่เคยมีแต่ก่อน พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ฝีมือช่างมากที่สุดในบ้านเมือง มีงานให้ช่างทำมากกว่าใคร ๆ ทั้งหลาย ช่างหลวงจึงเป็นช่างดีที่สุด ที่พูดมานี้เป็นส่วนเมืองไทย ในกาลที่คนสมัยใหม่มักว่ากันว่ายังไม่มี “อารยธรรม” มาแตะต้อง แต่อันที่จริงในประเทศตะวันตก พระมหากษัตริย์แลผู้มีบรรดาศักดิ์อุปถัมภ์การช่างเช่นเดียวกันทั้งนั้น พระเจ้าออกัสตัส ซีซาร์ (กรุงโรมโบราณ) ทรงเลี้ยงฮอเรส์ (จินตกวี) เหมือนพระนารายณ์มหาราช ทรงเลี้ยงพระมหาราชครูแลศรีปราชญ์ แลเช่นเดียวกับพระพุทธเลิศหล้ามีกวีแวดล้อมพระองค์ ที่กล่าวนี้คืออุปถัมภกจากฟ้า

ส่วนอุปถัมภกจากดินนั้น คือการส่งเสริมซึ่งการช่าง หรือผู้เป็นช่างได้รับจากระดับเดียวกับที่ตนยืน ไม่ใช่หย่อนลงมาให้จากฟ้า ตัวอย่างบ้านเมืองที่จะยกให้เห็นได้ ก็คือ อเมริกาซึ่งไม่มีฟ้าจะหย่อนอุปถัมภ์ลงมาให้ เพราะอุปถัมภ์ต้องมาจากดิน แลมาจากเนื้อที่กว้างใหญ่ พูดสั้น ๆ ก็คือว่า ประชุมชนทั่ว ๆ ไปในบ้านเมืองของเขาอุปถัมภ์การช่างโดยวิธีซื้อวัตถุหรือสิ่งที่ทำขึ้น ช่างเขียนเขียนรูปภาพออกมาก็มีคนซื้อ ช่างทำอะไรดี ทำสิ่งนั้นออกมา ก็ขายได้มาก ๆ แลช่างแต่งหนังสือ ถ้าเป็นหนังสือชั้นดี ก็ขายได้เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสน ไม่ใช่จำนวนสิบหรือจำนวนร้อยอย่างในเมืองเรา แลราคาก็หา ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ไม่

ในเมืองฝรั่งสมัยโบราณ อุปถัมภ์การช่างมาจากฟ้าทั้งนั้น สมัยนี้อุปถัมภ์มาจากดินแทบทั้งหมด มีมาจากฟ้าบ้างก็น้อย แต่อุปถัมภ์จากดินของเขานั้น คิดเป็นจำนวนเงินมากจนบำรุงศิลปให้ตั้งมั่นแลเจริญไปได้ ข้อสำคัญก็เพราะคนของเขามีจำนวนมาก ที่มี “คัลเจอร์” ได้ฝึกปรือแล้วให้มีน้ำใจรู้จักของดีของงาม แลเมื่อเป็นเช่นนั้น ศิลปในบ้านเมืองของเขาก็งอกงามได้

๏ ๏ ๏

ในเมืองเราสมัยนี้ อุปถัมภ์จากฟ้าจะเทียบกับโบราณไม่ได้ แต่มิใช่ความผิดของฟ้า เป็นเพราะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาในโลก อย่างที่อุปถัมภ์จากฟ้าในประเทศอื่น ๆ ก็เลิก หรือโรยไปหมดแล้ว ส่วนอุปถัมภ์จากดินนั้น ในเมืองเรายังไม่มีเป็นล่ำเป็นสัน พอจะให้ศิลปเฉิดฉายได้ ที่แท้เป็นไปตามระดับคัลเจอร์ของพวกเรานั่นเอง พูดสั้น ๆ ข้อที่ศิลปในประเทศใดได้รับอุปถัมภ์จากดินมากหรือน้อยนั้น เป็นเครื่องวัดความเจริญใน “คัลเจอร์” ของคนในประเทศนั้น

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๑ หน้า ๔๙ ปีที่ ๑ ศุกรที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๗๗

  2. ๒. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๒ หน้า ๔๙ ปีที่ ๑ วันศุกร ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

  3. ๓. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๓ หน้า ๕๐ ปีที่ ๒ วันศุกรที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  4. ๔. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๔ หน้า ๔๙ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  5. ๕. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๕ หน้า ๕๒ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙

  6. ๖. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๖ หน้า ๔๖ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  7. ๗. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๘ หน้า ๕๑ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  8. ๘. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๙ หน้า ๕๑ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๗๘

  9. ๙. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๐ หน้า ๕๐ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ