คำตัดสินของปารีส

(เรื่องเก่า)

เล่าตามเรื่องนิทานโบราณของยุโรป

ยูปีเตอร์ เป็นหัวหน้าเทวดาตามวรรณคดีกริ๊กและโรมันโบราณ ซึ่งเรียกชื่อ ยูปีเตอร์ ว่า โยฟ หรือเซอัซ Jowe or Zeus ด้วย ถ้าจะเทียบกับเทวดาอินเดีย ยูปีเตอร์ก็คือพระอินทร์ แต่เป็นพระอินทร์ในสมัยที่ยังไม่มีพระอิศวรและพระนารายณ์มาเป็นใหญ่กว่า ยูปีเตอร์เป็นประธานในเทวสภา ซึ่งมีสำนักอยู่บนเขาโอลิมปัส (เขียนตามสำเนียงอังกฤษ) มีอาวุธเหมือนวัชระของพระอินทร์ ถ้าขว้างก็เกิดฟ้าร้องแลทำให้ฝนตก อำนาจของยูปีเตอร์นั้น เทวดาทั้งหลายต้องนอบน้อม เว้นแต่เทพธิดา ๓ องค์พี่น้องที่เรียกว่า เฟตซ์ Fates กับอีกองค์หนึ่งคือ เด็สตินี Destiny รวมเป็น ๔ องค์ ที่ยูปีเตอร์บังคับไม่ได้ เทพธิดาเฟตซ์ ๓ องค์นั้นเป็นผู้ทอเส้นความเป็นความตาย เด็สตินีเป็นผู้บัญญัติว่าใครจะต้องเป็นอย่างไร

ยูปีเตอร์นั้น ถึงเป็นเทวดาไม่มีเวลาตาย ก็มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ มีสุขแลทุกข์ มียินดียินร้าย มีเกลียดมีรัก เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ยูปีเตอร์รักนางหนึ่งผู้เป็นธิดาพญาเงือก อยากจะได้นางเป็นชายาทั้ง ๆ ที่มีมเหสีแลชายาอื่นอยู่หลายองค์แล้ว แต่ก่อนที่จะชักชวนสู่ขอตกลงกันนั้น ยูปีเตอร์ไปปรึกษาเทวดาหมอดูเสียก่อน แลเทวดาหมอดูนั้นคือเทพธิดาเฟตซ์ทั้ง ๓ องค์ เพราะนอกจากนางเฟตซ์ทั้ง ๓ แล้ว ก็ไม่มีใครจะดูได้ นางเฟตซ์ทั้ง ๓ ให้คำทำนายว่า นางธิดาพญาเงือกนั้น จะมีบุตรซึ่งภายหน้าจะเลื่องชื่อลือนามเป็นใหญ่กว่าบิดา ยูปีเตอร์ได้ทราบก็รังเกียจ เพราะเธอเป็นหัวหน้าเทวดาทั้งหลาย ก็นับว่าเป็นใหญ่อยู่แล้ว จะมีบุตรเป็นใหญ่ยิ่งไปกว่าอย่างไรได้ การเป็นดังนี้ ยูปีเตอร์จึงเลิกความคิดที่จะได้ธิดาพญาเลือกเป็นชายา จึงบัญญัติให้นางนั้นแต่งงานกับท้าวพญามนุษย์องค์อื่น ซึ่งรักนางไม่สำเร็จมาช้านาน

แต่ที่ยูปีเตอร์บัญญัติเช่นนี้ นางไม่เต็มใจ เพราะนอกจากยูปีเตอร์เอง ก็ยังมี เนปจูน Neptune เทวดาเจ้าทะเลเคยรักนางอยู่อีกองค์หนึ่ง เมื่อได้เคยมีเทวดารักแล้ว นางก็ไม่เต็มใจจะแต่งงานกับมนุษย์ แม้มนุษย์นั้นเป็นเจ้าแผ่นดิน

การเป็นดังนี้ ยูปีเตอร์จึงให้สัญญาแก่นางว่า ถ้ ยอมแต่งงานกับท้าวพญาองค์นั้น ยูปีเตอร์จะเสด็จมาเป็นแขกในงานวิวาหะ และจะเชิญเทพบุตรเทพธิดาอื่นมาด้วย ธิดาพญาเงือกยินดีที่จะได้เทวดามาเป็นแขกในงาน จึงตกลงเป็นอันรับแต่งงานตามที่ยูปีเตอร์กะให้

ครั้นถึงวันกำหนดงาน ยูปีเตอร์กับเทวดาทั้งหลายก็ไปสู่ถ้ำกัลปังหาของพญาเงือก อันเป็นที่แต่งงาน นั่งในที่อันควรแล้ว ต่างก็ดื่มเมรัยเต็ม ๆ ถ้วยให้พรบ่าวสาว คือ เมรัยซึ่งแบคคัส Bacchus เทพดาผู้เป็นเจ้าแห่งน้ำเมานำไปให้แก่เจ้าสาว แขกแลเจ้าของงานกำลังสนุกร่าเริงกันอยู่ ก็มีแขกผู้ไม่ได้รับเชิญผู้หนึ่งไปถึง แขกนั้นคือเทพธิดาผู้เป็นเจ้าแห่งความร้าวฉาน เทพธิดาองค์นี้ผมเป็นงู เค้าหน้าเปรียบเสมอความเปรี้ยวมีโทโสร้ายที่สุด ซึ่งไม่ได้รับเชิญเพราะเหตุนั้น การที่ไม่ได้รับเชิญนี้ ทำให้เทพธิดานั้นโกรธ แต่ต้องการจะแก้แค้นโดยวิธีที่จะทำให้เกิดร้าวฉานกันขึ้นในพวกแขก นางจึงเข้าไปยืนหน้าบึ้งอยู่ในสมาคมครู่หนึ่ง แล้วเอาผลแอ๊ปเปิลทองคำทิ้งลงไปกลางโต๊ะแล้วก็ไป พวกที่ประชุมกันอยู่เห็นดังนั้น ก็หยิบผลแอ๊ปเปิลขึ้นดู เห็นคำ จารึกว่า “ให้นางงามที่สุด” (คำอังกฤษที่ใช้ว่า แอ๊ปเปิลความร้าวฉาน The Apple of Discord นั้น เป็นคำที่ใช้เนื่องมาจากนิทานนี้)

เมื่อผลแอ๊ปเปิลทองคำมีมาเป็นของให้แก่นางงามที่สุดเช่นนี้ นางทั้งหลายที่อยู่ในชุมนุม ก็ต่างองค์ต่างยืนยันว่าควรจะให้แก่ตน แต่เมื่อโต้เถียงกันขึ้น เทพดาทั้งหลายก็ถอนคำไปทีละองค์ ๆ ไปทีละองค์ ๆ เหลืออยู่เพียง ๓ องค์ คือนางยูโน Juno มเหสียูปีเตอร์องค์หนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า เพราะนางเป็นใหญ่กว่าเทพดาทั้งหลาย จึงมีสิทธิจะได้ผลไม้ทองคำยิ่งกว่าองค์อื่น ๆ นางมิเนอร์วา Minerva เทพธิดาผู้เป็นเจ้าแห่งปัญญา กล่าวว่า ความงามแห่งปัญญาแลความรู้ย่อมประเสริฐกว่าความงามภายนอก นางวีนัส Venus เทพธิดาผู้เป็นเจ้าแห่งความงาม ยิ้มแลถามว่า ใครจะงามยิ่งกว่าเจ้าแห่งความงามไปได้

เทพธิดาทั้ง ๓ องค์โต้เถียงไม่ยอมกัน ในที่สุดขอให้ที่ประชุมตัดสินว่า องค์ไหนควรได้แอ๊ปเปิลทองคำผลนั้น พวกที่อยู่ในชุมนุมไม่มีใครรับเป็นผู้ตัดสิน เพราะถ้าจะให้แอ๊ปเปิลแก่เทพธิดาองค์ใด อีก ๒ องค์ก็จะเป็นอริแก่ผู้ตัดสิน การเป็นดังนี้ เทพธิดาที่ประชุมกันอยู่นั้น จึงพร้อมกันกล่าวแก่นางทั้ง ๓ ว่า จงนำผลแอ๊ปเปิลไปให้ปารีสตัดสินเถิด เพราะถึงปารีสจะเป็นเพียงคนเลี้ยงแกะก็จริง แต่ราชบุตรของท้าวเปรียม Priam แลนางเฮคิวบา Hecuba คือเจ้าแผ่นดินแลมเหสีผู้ครองกรุงตรอย (ในเอเชียไมนอร์)

ตรงนี้จะต้องย้อนไปกล่าวเรื่องของปารีสว่า เนื่องนางเฮคิวบามเหสีท้าวเปรียมจะมีพระโอรสองค์ที่สองนั้น นางทรงฝันว่า คลอดบุตรออกมาเป็นดุ้นไฟ ซึ่งมีเปลวแลบเลียไปทั่วทั้งกรุง ครั้นนำความฝันไปบูชาถามเทวดา ก็ได้รับคำทำนายว่า ราชบุตรในครรภ์นั้น เมื่อโตขึ้นจะเป็นเหตุให้ราชสกุลวินาศและเสียบ้านเสียเมืองแก่ข้าศึก ทั้งนี้ เมื่อราชบุตรคลอดออกมา ก็ประทานมอบไปกับคนเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ให้พาไปทิ้งเสียบนยอดเขา คนเลี้ยงแกะทำตามสั่ง แต่ต่อไปอีกห้าวันไปพบทารกยังไม่ตาย เพราะมีหมีมาให้นมกิน คนเลี้ยงเห็นประหลาด จึงอุ้มทารกกลับไปบ้าน เลี้ยงไว้จนเติบโตเป็นชายหนุ่มรูปร่างละสวยที่สุด ให้ชื่อปารีสแลมอบให้ช่วยดูแลฝูงแกะอยู่บนเขานั้น

เทพธิดาทั้ง ๓ องค์ไปให้ปารีสตัดสิน นางมิเนอร์วาไปก่อน แต่งเครื่องเกราะทองคำ อันมีแสงเป็นรัศมีงดงาม เมื่อไปถึงก็ติดสินบนปารีสว่า ถ้าให้แอ๊ปเปิลแก่นาง นางจะอำนวยให้ปารีสเป็นผู้มีปัญญาเลิศ

นางยูโนแต่งเครื่องยศอย่างมเหสีเจ้าสวรรค์ ไปถึงก็กระซิบให้สัญญาแก่ปารีสว่า จะให้ทรัพย์แลอำนาจไม่มีที่สุด

แต่รูปกายแลเครื่องแต่งอย่างวิเศษกับสินบนของเทพธิดาทั้งสององค์นั้น พอนางวีนัสไปถึง ปารีสก็ลืมหมด นางวีนัสไม่แต่งองค์ด้วยเสื้อเกราะทองหรือเสื้อผ้าอันสมยศ ใช้เครื่องทรงเกลี้ยง ๆ คาดสายรัดองค์สายเดียว นางฟ้าองค์นี้ประณีตในการแต่งกายง่าย ๆ เกลี้ยง ๆ ดังกวีกล่าวไว้ว่า

“Venus obt with anxious care

Adjusted twice a single hair”

เมื่อนางวีนัสไปถึงที่ซึ่งปารีสอยู่ ก็ประหม่าเกรงความไม่สำเร็จ แต่เมียงเข้าไปจนใกล้ แล้วสัญญาว่า ถ้าปารีสตัดสินให้ผลไม้ทองคำแก่นาง นางจะจัดให้ได้เมียงามเสมอความงามของนาง

เมื่อได้ฟังดังนั้น จะเป็นด้วยนางฟ้าองค์นี้งามกว่าองค์อื่น หรือเป็นด้วยอยากได้สินบนเมียงามมากกว่าปัญญาแลอำนาจก็ตาม ปารีสตัดสินให้แอ๊ปเปิลทองคำแก่นางวีนัสทันที เลยทำให้นางมีเนอร์วากับนางยูโนเป็นอริแก่ปารีส แลเกลียดกรุงตรอย จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๑ หน้า ๑๒ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ