- คำของผู้รวบรวม
- คำนำของสำนักพิมพ์
- ๑. กลถอนกล
- ๒. แข่งอูฐในประเทศสุด่าน
- ๓. กลแก้กัน
- ๔. หนังสือแลคำพูด
- ๕. สักรวามืด
- ๖. แบ่งทรัพย์กัน
- ๗. ป้าเกตกับกวีนวิกตอเรีย
- ๘. คุกใหม่ของอเมริกา
- ๙. ยุคน้ำมัน
- ๑๐. เทศบาลเกาะหิน ใน พ.ศ. ๒๔๙๘
- ๑๑. รู้ใจคน
- ๑๒. พระมเหสีพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
- ๑๓. เรื่องเศรษฐีพิษณุโลก
- ๑๔. มหาภารตะ
- ๑๕. หัสการ
- ๑๖. ปเกียรณการมภ์
- ๑๗. วิธีของหัวหน้าคน
- ๑๘. เรื่องของกองสอดแนมที่กรุงปารีส
- ๑๙.การค้าทาสในเวลานี้
- ๒๐. คำตัดสินของปารีส
- ๒๑. ลอกร่องน้ำสันดอน และ ขยายท่ากรุงเทพ ฯ
- ๒๒. เรื่องแจวเรือจ้าง
พระมเหสีพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
๑เมื่อเจ้าชายหลุยส์นโปเลียน ภายหลังคือพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ได้ทอดพระเนตรเห็นนางงามชาวประเทศสเปญ ทรงนามว่ายูเยนีเดอร์มองติโย เป็นครั้งแรก ก็ทรงเสน่หาลุ่มหลงเป็นกำลัง แต่ไม่ได้ตั้งพระทัยว่าจะเชิญให้เป็นเจ้าสาวทำการมงคลกันอย่างเจ้า ด้วยขณะนั้นนโปเลียนที่ ๓ (เมื่อยังเป็นเจ้าชายหลุยส์นโปเลียน) กำลังจะหาชายาที่เป็นเจ้าหญิงในราชสกุลใด ๆ ในประเทศยุโรป แต่เจ้าฝรั่งเศสองค์นี้ชรอยจะเป็นที่รังเกียจทั่วทุกราชสำนัก พระเจ้าแผ่นดินต่าง ๆ พากันแสดงความเสียพระทัยที่ติดโน่นขัดนี้ ไม่อาจรับเจ้าชายหลุยส์นโปเลียนไว้เป็นเขยได้ และการที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ หันไปตกลงทำการอภิเษกกับนางยูเยนี เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๓ นั้น ก็คงจะเป็นด้วยขัดเคืองที่ไม่หาเจ้าหญิงในราชสำนักใดได้ หากว่าจะมีเหตุอันใดอีก ความข้อนี้ก็คงจะเป็นหนึ่ง ในหมู่
ในเวลาที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทำการอภิเษกกับนางยูเยนีเดอร์มองติโย (เค้าน์เตส ออฟ เตบา) นั้น ได้เสวยราชย์เป็นเอมเปอเรอร์แล้วได้ประมาณเดือนเศษ ราษฎรชาวเมืองพากันนิยมพระมเหสีที่อภิเษกใหม่ ด้วยในวันอภิเษกนั้น ชาวกรุงปารีสเรี่ยไรกันจัดหาสร้อยคอไข่มุกอย่างวิเศษเป็นของถวาย พระมเหสีไม่ทรงรับ รับสั่งว่า ขอให้ใช้ราคาสร้อยคอนั้น ในการแจกจ่ายในเหล่าคนจนเถิด การที่ไม่ทรงรับของถวายนี้ ราษฎรพากันเห็นชอบว่า พระมเหสีพระทัยบุญ แลถึงต่อ ๆ มาภายหลัง การที่ทรงบริจาคทานอยู่เสมอนั้น ก็เป็นข้อที่ทำให้ราษฎรรักเสมอมา
ครั้นอภิเษกได้แล้วไม่ช้า พระมเหสีก็ทรงนำในการรื่นเริงต่าง ๆ การประชุมสโมสรคราวนี้ คงสนุกกว่า แลเป็นการใหญ่กว่าคราวก่อนเสมอไป ตั้งต้นปีจนปลายปี การครึกครื้นเช่นนี้มีไม่หยุด แลการที่พระมเหสีทรงทำทานแก่ราษฎรคนจนบ้างเล็กน้อยเป็นคราว ๆ เป็นเครื่องแลกความสนุกต่าง ๆ ในพระราชฐานนั้น ถ้าจะเทียบตามส่วนก็ยังน้อยนัก แต่ข้อนี้ราษฎรในเวลานั้นหารู้สึกไม่
พระมเหสีองค์นี้เป็นหญิงซื่อต่อพระราชสามีในทางประพฤติ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่เว้นข้อที่แกล้งทำให้ชายหลงรัก บางคราวในการเต้นรำทรงสวมหน้ากาก ปล่อยให้ชายหนุ่มแสดงความรักต่อพระองค์ทั้งโดยกิริยาแลวาจา คืนวันหนึ่ง มีชายหนุ่มหลงเกินประมาณถึงอ้อนวอนขอดู “หน้างามที่ซ่อนอยู่หลังหน้ากากกำมะหยี่น่าเกลียดนั้น” พระมเหสีรับสั่งตอบว่า “พรุ่งนี้ฉันจะให้ท่านเห็นหน้า เวลาบ่าย ๓ โมงตรง ท่านจงไปคอยอยู่ริมทะเลสาปในบัวเตอร์โบลอยน์ ฉันจะไปในรถแลนดอเปิดประทุน จะยกผ้าเช็ดหน้าไปเช็ดริมฝีปาก ๒ ครั้ง เป็นสัญญาให้ท่านรู้จัก”
รุ่งขึ้นเวลาบ่าย ๓ โมง พระมเหสีทรงรถที่นั่งอย่างยศศักดิ์ สารถีขี่ไปบนหลังม้าตามแบบรถที่นั่งในเวลาพิธี ครั้นขับผ่านชายหนุ่มที่ยืนคอยอยู่ริมทะเลสาบ ก็ยกผ้าซับพระพักตร์ขึ้นทำสัญญาตามนัด ฝ่ายชายหนุ่ม เมื่อทราบว่านางงามเมื่อคืนคือพระมเหสี ก็คงจะอยากฆ่าตัวตาย แต่ข้อนั้นไม่ปรากฏในจดหมายเหตุฉบับใด
ในพระราชฐานพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสสมัยนั้น พระมเหสีมีอำนาจเต็ม พระราชสามีทรงครั่นคร้าม เกรงพระโทสะของพระมเหสีเป็นที่สุด ถึงเป็นที่กล่าวกันว่าพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เต็มพระทัยจะจุดไฟให้ติดทั่วสี่มุมยุโรป ยิ่งกว่าที่ต้องวิวาทกับพระมเหสีของพระองค์
ครั้งหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๗ มีราชการสำคัญ ต้องเรียกประชุมเสนาบดีต่อหน้าที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้ปิดความไม่ให้พระมเหสีทรงทราบ ด้วยเกรงว่า ถ้าพระมเหสีทรงทราบเสด็จไปประทับในที่ประชุมด้วย ก็จะทำให้พวกเสนาบดีมีความหวั่นเกรงอำนาจพระมเหสี ถึงออกความเห็นผิดเพี้ยนไปจากที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระดำริเห็นชอบ ด้วยในราชการเรื่องนั้น ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสี หาทรงพระดำริต้องกันไม่
ฝ่ายพระมเหสีเมื่อได้ข่าวว่า ที่ประชุมลับเช่นนั้น ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง เสด็จหมุนเข้าไปในห้องประชุม ทหารยามที่ได้รับคำสั่งไม่ให้ใครเข้า เมื่อเห็นพระมเหสีเสด็จไป ก็วางหอกปลายปืนขวางทางลงไว้จะไม่ให้เสด็จ พระมเหสีไม่ทรงฟัง ก็เสด็จข้ามหอกปลายปืนไป ตรงเข้าเปิดประตูห้องประชุม ผลุนผลันเข้าไปโดยมิได้ยับยั้ง ในเวลานั้นพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ กำลังประทับเป็นประธานที่ประชุมอยู่ พระมาลาทรงอยู่บนพระเศียร พระมเหสีเมื่อเข้าไปถึงในห้อง ก็ตรงเข้าไปที่เก้าอี้ประทับ พระหัตถ์ตบพระมาลาพระเจ้าแผ่นดินกระเด็นจากพระเศียร ตกลงไปอยู่กลางพื้น และเมื่อได้ทำละเมิดเช่นนั้นแล้ว พระมเหสีก็ไม่ได้รับสั่งอะไร หันกลับออกจากห้องประชุมไป แล้วเรียกนางพนักงานคนหนึ่งให้ตามเสด็จออกจากราชวัง เช่ารถขับไปสถานี ขึ้นรถไฟไปถึงเมืองท่า ก็หนีข้ามฟากไปประเทศอังกฤษ ตรงไปเฝ้าพักอยู่กับกวีนวิกตอเรีย
ฝ่ายในราชสำนักฝรั่งเศส เมื่อเกิดเหตุขึ้นเช่นนี้ ก็ต้องคิดว่านหาอุบายปิดบังความ ไม่ให้ทราบกันเป็นที่แพร่หลาย นางพนักงานคนหนึ่งที่รูปคล้ายพระมเหสี ต้องแต่งตัวปลอมขึ้นรถพระที่นั่งขับไปสถานี ประชาชนเป็นที่เข้าใจกันว่า พระมเหสีเสด็จในรถนั้น จะไปเยี่ยมพระราชินีในประเทศอังกฤษ
ในรถไฟเดียวกัน มีราชทูตส่วนพระองค์คนหนึ่งไปด้วย มีหน้าที่ไปขอเชิญพระมเหสีเสด็จกลับ ส่วนพระมเหสีเมื่อมีเวลาตรึกตรองแล้ว ก็คงจะเสียพระทัยที่กระทำละเมิดต่อพระราชสามีเหลือเกิน ไม่ช้าก็เสด็จกลับยังราชสำนักฝรั่งเศส ตามคำเชื้อเชิญของราชทูต แต่จะได้เสด็จกลับด้วยมีสัญญาคำมั่นประการใด พงศาวดารหากล่าวไว้ไม่
แต่ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ใช่ว่าพระเจ้านโปเลี่ยนที่ ๓ กับพระมเหสีจะไม่ทรงเสน่หากันอย่างผัว ๆ เมีย ๆ ก็หามิได้ ในเวลาที่พระทัยเรียบร้อย บางทีก็มีผู้เห็นพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีทรงพระดำเนินสองต่อสองในบัวเดอร์โบลอยน์ อย่างคู่ผัวตัวเมียธรรมดา ดูราวกับจะไม่เคยมีข้อขุ่นเคืองต่อกัน
ครั้นพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จับประชวรพระโรคยิ่งกำเริบขึ้น อำนาจพระมเหสีก็ยิ่งมากขึ้น ราชการข้อใดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงระมัดระวังเกรงจะเป็นเหตุ ราชการข้อนั้นพระมเหสียิ่งรีบทำให้เป็นเหตุ ดังซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยมากว่าพระมเหสีเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นกับประเทศปรัสเซีย (เยอรมัน) เป็นต้น
การที่พระมเหสีทรงคิดการเร่งให้เกิดสงครามขึ้นเช่นนี้ ก็ด้วยเข้าพระทัยว่า ถ้าทำสงครามชนะ วงศ์นโปเลียนก็จะยึดรากแน่นหนา ได้เป็นเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสต่อไปชั่วกาลนาน ถ้าไม่เช่นนั้นจะยืนอยู่เพียงใด หรือจะล้มเมื่อใด ก็ทราบไม่ได้ ครั้นเมื่อทรงจัดการเร่งร้อนให้สงครามเกิดขึ้นแล้ว ยังเอาพระทัยใส่ในวิธีดำเนินการกองทัพให้ต้องเปลี่ยนแปลงเลวลงไป กว่าวิธีที่กำหนดไว้แต่เดิมอีกเล่า
ครั้นสงครามเสียทีแก่ข้าศึก จนราษฎรชาวปารีสกลับเป็นขบถต่อวงศ์เจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว พระมเหสีก็ปลอมพระองค์หนีข้ามไปอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ต่อมาจนสิ้นพระชนม์
เมื่อรีปับลิคฝรั่งเศสตั้งลงเป็นหลักยึดแน่นแล้ว พระมเหสีพระเจ้านโปเลี่ยนที่ ๓ องค์นี้ ได้เสด็จข้ามจากเกาะอังกฤษไปกรุงปารีสหลายครั้ง แต่ก็เป็นราษฎรคนหนึ่งเท่านั้น มีเรื่องว่า ครั้งหนึ่งในสวนที่เคยเป็นสวนหลวงสำหรับพระมเหสีเคยทรงประพาสอยู่เสมอ ๆ นั้น เมื่อเสด็จเข้าไปเที่ยวอย่างราษฎรในตอนหลัง โดยจะลืมพระองค์หรืออย่างไร จึงจะไปทรงเก็บดอกไม้เข้า ผู้เฝ้าเห็นดังนั้นก็ห้ามอย่างดุดันว่า เก็บไม่ได้ ข้อนี้น่าจะทำให้เป็นที่เหี่ยวใจจริง ๆ ส่วนที่ตนเคยเป็นเจ้าของแท้ ๆ จนชั้นจะเก็บดอกไม้ดอกเดียวก็ไม่ได้ ชาวฝรั่งเศสแต่ก่อนจนชั้นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังอาจตบให้พระมาลากระเด็นลงได้จากพระเศียร มาบัดนี้จนชั้นอายไพร่คนเฝ้าสวน มันยังขู่ว่าไม่ให้เก็บดอกไม้
-
๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๒๗ หน้า ๑๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ↩