มหาภารตะ

คำนำ

ผู้อ่านของเราแทบทุกคน รู้จักชื่อคัมภีร์มหาภารตะ ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญในอินเดีย สำคัญในส่วนวรรณคดีด้วย ในส่วนศาสนาด้วย รามายณะอีกคัมภีร์หนึ่ง เป็นหนังสือสำคัญในอินเดียคู่กับมหาภารตะ ทั้งในส่วนวรรณคดีและในส่วนศาสนา ในภาษาไทยเรา มีหนังสือเรื่องรามายนะ คือ รามเกียรติ์ ซึ่งแต่งเป็นบทโขนและละครเกือบตลอดเรื่อง แต่งเป็นกลอนทั้งหมด จึงนับเป็นชั้นสูงในวรรณคดีของเรา

ส่วนมหาภารตะนั้น ที่เคยมีมาในภาษาไทยบ้างก็เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก่อนเราเคยรู้ชื่อหนังสือ แต่ไม่รู้เรื่อง ในรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้นำเอาเนื้อเรื่องแท้ ๆ ของมหาภารตะมาเขียนเล่าเป็นภาษาไทย ผู้เขียนเขียนจากฉบับอังกฤษ และฉบับอังกฤษนั้น เป็นฉบับซึ่งเล่า เนื้อเรื่อง รวมเป็นสมุดขนาดเล็กเล่มเดียวเท่านั้น หาใช่สมุดขนาดใหญ่กว่า ๑๐ เล่มเช่นคำแปลตัวจริงไม่ การนำเอาเนื้อเรื่องมาเล่าย่อ ๆ นั้น ย่อมจะต้องทิ้ง ฝอย ซึ่งไม่สำคัญในเนื้อเรื่อง แต่อันที่จริงน่าอ่าน เป็นต้นว่าเหตุใดจึงใช้ครุธ (ครุฑ) เป็นธงครุธพ่าห์ เหล่านี้มีในฝอยทั้งนั้น

อนึ่งการนำเอาเนื้อเรื่องมาเล่านั้น ไม่นำเอา “กลิ่นไอ” ของหนังสือเดิมมาด้วย การที่จะนำเอากลิ่นไอในหนังสือภาษาหนึ่ง มาสู่ภาษาอีกภาษาหนึ่งนั้นย่อมจะยาก ถ้ายิ่งภาษาเดิมเป็นโศลกด้วยแล้ว ก็ยิ่งยากหนักขึ้น ชาวสำนักของเราได้เพียรจะเอากลิ่นไอในมหาภารตะมาสู่ภาษาไทยนิดหน่อยในเรื่อง “นางเทวยานี” ซึ่งภายหลังถูกฉวยไป เปลี่ยนทั้งชื่อเรื่องและชื่อคนเขียน (ดูหัสการในประมวญมารคฉบับที่ ๑) นอกจากนั้น ดูเหมือนยังไม่มีใครเพียรทำเลย

ในที่นี้เราจะนำมหาภารตะมาให้ท่านอ่าน ในภาษาไทยพอรู้กลิ่นไอนิดหน่อย ไม่คิดจะทำให้ลึกซึ้ง เพราะเราจะเบื่อเขียนแลท่านจะเบื่ออ่าน แม้ทำเพียงเท่านี้ เราก็ได้ตัดฝอยเสียมาก

มหาภารตะ

เรื่องสงครามใหญ่ในภารตเทศ

กาลครั้งหนึ่ง ฤษีทั้งหลายประชุมทำพิธียัญอยู่ ณ ป่าในมิษ มีบุรุษผู้รอบรู้คนหนึ่ง เรียกกันว่าเสาติ เข้าไปกระทำความเคารพต่อที่ประชุม ฤษีทั้งหลายเชื้อเชิญให้เสาติพักผ่อนกายเป็นอันดีแล้ว ก็ขอให้เล่าว่าได้ไปในที่ต่าง ๆ ได้ยินแลเห็นอะไรบ้าง

เสาติตอบว่า ข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องมหาภารตะ ซึ่งฤษีกฤษณะไทวปายนะได้ประพันธ์ขึ้น แลซึ่งไวศ์มปายนะได้สวดจนจบในพิธีผลาญงูของพระชนเมชัยแล้ว ข้าพเจ้าได้เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนถึงตำบลสมันตปัญจกะซึ่งเป็นสนามรบระหว่างกษัตริย์วงศ์กุรแลบัณฑุในปางก่อน แล้วข้าพเจ้าจึงมาแสดงความเคารพต่อท่านในที่นี้

ฤษีทั้งหลายเชิญให้เสาติเล่าเรื่องมหาภารตะ เสาติจึงกล่าวนมัสการพระอีศาน แล้วเล่าว่า

เมื่อโลกนี้ยังเป็นที่มืดไปทั้งหมด หาแสงสว่างแม้แต่เล็กน้อยก็มิได้นั้น มีไข่ใหญ่ไข่หนึ่ง เรียกว่ามหาทิพย์ เป็นที่เกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย แลสิ่งแรกที่เกิดจากไข่นั้น ก็คือพระปิตามหะ (พระปู่) คือพระพรหมา ผู้เป็นประชาบดีต้น ต่อมาก็เกิดเทพยดาแลฤษีประชาบดี แลยักษ์ปีศาจทั้งปวง แล้วเกิดน้ำ เกิดสวรรค์ เกิดดิน เกิดอากาศ เกิดฟ้า แลเกิดทิศ เกิดปี เกิดฤดู เกิดเดือน เกิดปักษ์ แลเกิดวันคืน ตามลำดับ สิ่งอื่น ๆ ทั้งปวงก็เกิดต่อ ๆ มา

สิ่งทั้งหลายที่เกิดในโลกนี้ มีชีวิตก็ดี ไม่มีชีวิตก็ดี ย่อมเกิดในต้นยุค ครั้นถึงปลายยุค ก็สลายไปสิ้น ต่อขึ้นยุคใหม่ จึงจะเกิดใหม่ หมุนเวียนกันไปหาต้นแลปลายมิได้

ฤษีกฤษณะไทฺวปายนะบำเพ็ญพรตภาวนาแล้ว ได้เรียบเรียงพระเวทขึ้น จนได้ชื่อว่า วฺยาสะ ภายหลังได้ประพันธ์ตำนานบุญนี้จนสำเร็จ แต่เมื่อได้ประพันธ์แล้วก็มิรู้จะจดไว้เป็นเครื่องสั่งสอนศิษยต่อไปข้างหน้าอย่างไรได้ เพราะไม่มีเสมียนที่สามารถจะเขียนลงไว้ พระพรหมาทรงทราบ จึงเสด็จมาเฉพาะหน้าฤษีวฺยาสะ ๆ จึงทูลแสดงความขัดข้องต่อพระพรหมา ๆ ตรัสว่า เมื่อต้องการผู้เขียนจงรำลึกถึงพระคเณศขึ้นเถิด เท่านั้นแล้วพระพรหมาก็เสด็จอันตรธานไป

ครั้นพระพรหมาเสด็จกลับแล้ว วฺยาสะก็รำลึกถึงพระคเณศผู้เป็นวิฆเนศวร (ผู้เป็นใหญ่แก่ความขัดข้องทั้งหลาย) พระคเณศก็เสด็จมาเฉพาะหน้าวฺยาสะ ๆ กระทำการน้อมนอบแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทำลายความขัดข้อง (วิฆนะ) พระองค์จงเป็นเสมียนจดเรื่องภารตะ ซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้ในใจแล้วนั้นลงไว้เป็นฉบับเถิด”

พระคเณศตรัสตอบว่า “ข้าจะทำตามปรารถนาของท่าน แต่ให้มีข้อสัญญากันว่า ท่านต้องบอกให้ทันมือข้าเขียนมิให้ต้องยั้งเลย ตั้งแต่ต้นจนปลาย”

วฺยาสะทูลตอบว่า “เมื่อข้าพเจ้าบอกโศลกที่ไม่ทรงเข้าใจ พระองค์จงหยุดเขียน ถ้าทรงเข้าใจจึงเขียนเรื่อยไป”

พระวิฆเนศวร ทรงรับตกลงในข้อนี้แล้ว วฺยาสะก็ลงมือท่องโศลกให้พระวิฆเนศวรไม่หยุดพระหัตถ์ ต่อเมื่อวฺยาสะต้องการเวลาพัก จึงแกล้งผูกโศลกให้ยาก จนแม้พระคชานน (พระหน้าช้าง) ก็ไม่เข้าใจได้

การศึกษาคัมภีรภารตะนี้เป็นบุญอย่างยอด ผู้ใดอ่านด้วยความเลื่อมใส แม้เพียง ๑๒ นิ้ว ก็อาจล้างบาปได้สิ้นในกาลก่อน เทพยดาประชุมกันเทียบคัมภีร์ภารตะกับคัมภีร์พระเวท ได้เอาพระเวททั้งหมดขึ้นชั่งน้ำหนักกับภารตะ ภารตะหนักกว่าพระเวท จึงได้ชื่อว่า มหาภารตะแต่นั้นมา

ฤษีทั้งหลายถามว่า ตำบลที่เรียกสมันตปัญจกะนั้นมีเรื่องเล่าสืบกันมาอย่างไร

เสาติกล่าวว่า ในกาลโบราณปรศุราม ซึ่งอยู่ในสกุลพราหมณ์โกรธกษัตริย์ทั้งหลายว่าฆ่าบิดาตาย จึงสาบานจะฆ่ากษัตริย์ให้หมดเชื่อ แลได้ทำตามคำสาบาน จนกษัตริย์หมดโลกไปถึง “สาม ๗ ครั้ง” เลือดนองเป็นทะเลสาบ ๕ ทะเลสาบ ซึ่งได้ชื่อว่า สมันตปัญจกะ ต่อมาอีกยุคหนึ่ง ทัพวงศ์กุรุ แลทัพวงศ์บัณฑุได้ทำสงครามกันในสนามนั้น รวมทั้งทหารทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นจำนวนถึง ๑๘ อักเษาหิณี อักเษาหิณีหนึ่งมีทหารรถ ๒๑,๘๗๐ รถ ทหารช้าง ๒๑,๘๗๐ ช้าง ทหารราบ ๑๐๙,๐๐๕ คน ทหารม้า ๖๕,๖๑๐ ทั้ง ๒ ฝ่ายรวมถึง ๑๘ อักเษาหิณีนี้ รบกันอยู่ ๑๘ วัน จึงเสร็จการรบ

เสาติเล่าว่า

ครั้งหนึ่งพระชนเมชัยทรงทำพิธีบูชาอยู่ ณ ตำบลกุรุเกษตรพร้อมพระภาดาทั้ง ๓ องค์ มีลูกนางสรมา คือหมาสวรรค์ตัวหนึ่งมาในที่ทำการบูชา พระภาดาของพระชนเมชัยก็ไล่เตะตีลูกหมาได้ความเจ็บปวดหนีไปฟ้องแม่ นางสรมาได้ฟังก็ซักลูกว่า ไปทาผิดอันใดจึงถูกลงโทษ ลูกหมาตอบว่า ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้ลอบเข้ากินฆีที่ใช้ในการบูชา แม้แต่แลดูก็มิได้แล พระภาดาของพระชนเมชัยไล่ตีเล่นเป็นเครื่องสำราญเท่านั้นเอง นางสรมาได้ฟังดังนั้นก็โกรธยิ่งนัก จึงไปในที่ทำการบูชาแลกล่าวแก่พระชนเมชัยว่า “ท่านตีลูกข้าพเจ้าด้วยเหตุใด ลูกข้าพเจ้าหาได้ทำผิดประการใดไม่”

พระชนเมชัย แลพระภาดามิได้รับสั่งโต้ตอบกับหมาให้เสื่อมเกียรติ นางสรมายิ่งโกรธ จึงกล่าวว่า “ท่านตีลูกข้าพเจ้าเมื่อไม่มีเหตุควรตี ท่านจงได้รับทุกข์ เมื่อท่านไม่คิดว่าจะมีทุกข์”

พระชนเมชัยถูกหมาสวรรค์สาปดังนั้น ก็ทรงตกใจยิ่งนัก ครั้นเสร็จพิธีบูชาแล้ว ก็เสด็จเที่ยวแสวงหาปุโรหิตผู้มีความรู้จะแก้ให้ผลแห่งคำสาปของนางสรมาค่อยเบาลงบ้าง วันหนึ่งเสด็จไปในป่าพบอาศรมฤษีองค์หนึ่ง ฤษีนั้นมีบุตรซึ่งรอบรู้แลมีเดชมากเพราะตบะ พระชนเมชัยจึงเสด็จเข้าไปแสดงประสงค์ต่อฤษีผู้บิดาว่า “ข้าแต่ท่านผู้ที่ทรงตบะ ท่านจงยอมให้บุตรของท่านเป็นปุโรหิตของข้าพเจ้าเถิด”

ฤษีตอบว่า “ข้าแต่พระชนเมชัยมหากษัตริย์ บุตรข้าพเจ้าคนนี้รอบรู้พระเวท มีตบะอันกล้า แถมภักดีอย่างประเสริฐ แต่เป็นบุตรนางงู ซึ่งได้กลิ่นกามสรีระของข้าพเจ้า ถ้าพระองค์ทรงทำบาปไว้ แลถ้ามิใช่บาปต่อพระมหาเทพ (พระอิศวร) ไซร้ บุตรข้าพเจ้าอาจล้างบาปนั้นถวายได้ แต่เขาถือพรตข้อหนึ่ง คือถ้าพราหมณ์ขออะไรต่อเขา เขาต้องให้ทุกอย่าง ถ้าพระองค์ไม่ทรงรังเกียจพรตอันนี้ แลมีพระประสงค์จะได้บุตรข้าพเจ้าไปเป็นปุโรหิต ข้าพเจ้าก็อวยตามพระประสงค์”

พระชนเมชัยไม่ทรงรังเกียจพรตของบุตรฤษี จึงทรงตั้งให้เป็นปุโรหิตแลเสด็จคืนเข้าพระนคร

ในกาลนั้นมีฤษีอีกองค์หนึ่งมีศิษย์ ๓ คน ชื่อ อุปมันยุ ๑ ชื่ออรุณิ ๑ ชื่อเวท ๑

วันหนึ่งฤษีผู้เป็นอาจารย์ใช้อรุณิไปปิดทางน้ำซึ่งไหลออกจากนา อรุณิไปถึงที่น้ำรั่ว ก็เพียรตามปัญญาของตนที่จะปิดน้ำให้อยู่ ครั้นปิดไม่อยู่ก็คิดในใจว่า จะต้องเอาตัวทดน้ำ จึงจะทดได้ คิดดังนั้นแล้วก็ลงนอนขวางทางน้ำทดไว้ได้ตามคำสั่งอาจารย์

ฝ่ายอาจารย์ ครั้นเห็นอรุณิขาดหน้าไป ก็ถามศิษย์อีก ๒ คนว่า อรุณิหายไปไหน ศิษย์ทั้ง ๒ บอกว่า ตั้งแต่อาจารย์ใช้ไปปิดทางน้ำแล้วก็ยังไม่เห็นกลับมา อาจารย์จึงชวนศิษย์ทั้ง ๒ ตามอรุณิออกไปที่นา ตะโกนว่าอรุณิอยู่ไหน อรุณิอยู่ได้ยินอาจารย์เรียก ก็ขานแลลุกมาหาอาจารย์ทราบวิธีที่เอาตัวทดน้ำก็ชอบใจอวยพรให้เจริญสุขแลบริบูรณ์ด้วยความรู้ในพระเวทแลในธรรมศาสตร์ แล้วอนุญาตให้ออกจากสำนักอาจารย์กลับคืนไปยังภูมิลำเนาแห่งตน

ส่วนอุปมันยุศิษย์อีกคนหนึ่งนั้น วันหนึ่งอาจารยสั่งให้ไปเลี้ยงวัว อุปมันยุก็ไปทำตามคำสั่ง ครั้นเวลาเย็นวัวกลับเข้าคอกแล้ว อุปมันยุกลับไปหาอาจารย์ ๆ เห็นศิษย์มีท่าทางอิ่มเอิบดี ก็ถามว่าไปได้อะไรกิน อุปมันยุตอบว่า “ข้าพเจ้าขอทานกิน”

อาจารย์ตอบว่า “เจ้ารับทานอันใด เจ้าควรต้องนำมาให้อาจารย์ก่อนจึงจะถูก”

อุปมันยุได้ฟังดังนั้นก็จำใส่ใจ ครั้นวันรุ่งขึ้นได้รับทานเท่าใด ก็นำไปให้อาจารย์หมด อาจารย์รับของเหล่านั้นไว้ มิได้แบ่งให้ศิษย์ ๆ ก็ออกไปเลี้ยงวัวอยู่จนเย็นจึงกลับไปหาอาจารย์ ๆ ถามว่า “วันนี้เจ้าทำอย่างไร จึงไม่มีอาการหิวโหยเลย”

อุปมันยุตอบว่า “ข้าพเจ้ารับทานมาส่งแก่ท่านหมดแล้ว ก็กลับไปเที่ยวขอเพื่อตัวข้าพเจ้าใหม่”

อาจารย์กล่าวว่า “เจ้าทำอย่างนั้นไม่ถูกเลย ทานที่เจ้าได้รับนั้น เจ้าควรนำมาให้อาจารย์ทั้งหมด ถ้ารับหลายครั้ง ก็ควรนำมาทุกครั้ง จะแบ่งว่าครั้งนี้ให้อาจารย์ ครั้งหน้าเป็นของตัวเองนั้นหาชอบไม่”

วันรุ่งขึ้นอุปมันยุได้รับทานเท่าไร ก็นำมาให้อาจารย์ทั้งหมด ครั้นเวลาเย็นเสร็จการเลี้ยงวัวแล้ว อาจารย์ถามว่า “วันนี้เจ้าได้อะไรกิน จึงไม่มีอาการอ่อนเพลียเลย”

อุปมันยุตอบ “วันนี้ข้าพเจ้ากินน้ำนมวัวเป็นอาหาร”

อาจารย์กล่าวว่า “เจ้ากินน้ำนมวัวด้วยมิได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้เจ้าของนั้นไม่ถูก”

วันรุ่งขึ้นเมื่ออุปมันยุกลับจากเลี้ยงวัว อาจารย์ก็ถามว่า “วันนี้เจ้าได้อะไรกินเล่า”

อุปมันยุตอบว่า “ลูกวัวดูดกินนมวัวแม่มีฟองตกออกมาจากปากมาก ข้าพเจ้ากินฟองนั้น”

อาจารย์กล่าวว่า “ลูกวัวเวทนาเจ้า จึงดูดนมแม่ให้เป็นฟองออกมามาก ที่เจ้ากินฟองนมนั้น ก็คือทำให้ลูกวัวกินไม่อิ่ม เพราะกรุณา เจ้าไม่ควรเป็นเหตุให้ลูกวัวกินอาหารไม่เต็มท้อง”

อุปมันยุได้ฟังคำอาจารย์ดังนั้นก็จนใจ จะขอทานกินก็ไม่ได้ กินน้ำนมวัวก็ไม่ได้ กินฟองน้ำนมวัวก็ไม่ได้ วันรุ่งขึ้นออกไปเลี้ยงวัววันยังค่ำ ทนความหิวไม่ได้ ก็เก็บกินใบไม้จากต้นอรรก (ไม้รัก) มีพิษทำให้ตามืด อุปมันยุเที่ยวคลำหาทางจะกลับบ้านก็ตกลงไปในบ่อ ครั้นเวลาค่ำ อาจารย์เห็นศิษย์หายไป ก็ออกเที่ยวร้องเรียกหา อุปมันยุได้ยินเสียงอาจารย์ ก็ตะโกนตอบว่า ตนตกอยู่ในบ่อ แล้วเล่าเหตุให้อาจารย์ฟังทุกประการ

อาจารย์ได้ฟังดังนั้นก็สอนว่า “เจ้าจงกล่าวสรรเสริญแลบูชาพระอัศวินทั้งคู่ ผู้เป็นหมอในหมู่เทพดา พระอัศวินจะทำให้ตาเจ้าสว่างได้”

อุปมันยุได้ฟังอาจารย์บอกดังนั้น ก็ท่องมนต์ในฤคเวท สรรเสริญพระอัศวิน ๆ เสด็จมาตรัสแก่อุปมันยุว่า “เรายินดีในความภักดีของเจ้า เราให้ขนมเจ้าอันหนึ่ง เจ้าจงกินขนมนี้”

อุปมันยุกล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ทั้งคู่ ข้าพเจ้าจะกินขนมเองนั้นมิได้ ข้าพเจ้าต้องให้แก่อาจารย์ จึงจะชอบ”

พระอัศวินตรัสว่า “อาจารย์ของเจ้าเคยเชิญเรา ๆ ได้ให้ขนมเช่นนี้แก่เขา แลเขาได้กินขนมเสียเอง หาได้นำไปให้อาจารย์ของเขาไม่ เจ้าจงทำตามอย่างอาจารย์ของเจ้าเถิด”

อุปมันยุตอบว่า “ขอพระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า ๆ จะกินขนมนี้ก่อนที่ได้นำไปให้อาจารย์นั้นไม่ได้”

พระอัศวินตรัสว่า “เรายินดีในความภักดี ซึ่งเจ้ามีต่ออาจารย์ของเจ้า อาจารย์ของเจ้ามีฟันเหล็ก เจ้าจงมีฟันทอง จงมีตาอันสว่างอย่างแต่ก่อน แลมีโชคลาภอันดี”

ครั้นพระอัศวินตรัสดังนั้นแล้ว ตาอุปมันยุก็หายมืด กลับเห็นได้ดีดังเก่า จึงไปเล่าความให้อาจารย์ฟังทุกประการ อาจารย์มีความยินดีให้พรแล้ว ก็อนุญาตให้กลับบ้านเดิมได้

ฝ่ายศิษย์คนที่ ๓ ซึ่งมีชื่อเวทนั้น อาจารย์สั่งว่า ให้อยู่รับใช้ในเรือน เขาก็ทำตามคำอาจารย์ แลรับใช้เป็นการหนักเหนือวัว ไม่ว่าเวลาร้อนหรือหนาว เวลาอิ่มหรือเวลาหิว ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เขาไม่รังเกียจการหนัก ตั้งใจรับใช้อาจารย์อยู่หลายปี จนได้ความรู้บริบูรณ์ เป็นที่พอใจอาจารย์ ๆ จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ครั้นกลับไปถึงบ้านเดิมแล้ว ก็สร้างบ้านอยู่เป็นพราหมณ์คฤหัสถ์ผู้มีความรู้กว้างขวาง จนพระชนเมชัยพระราชาแลพระเปาษยะพระราชา เคยเสด็จถึงบ้าน แลทรงตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์ทั้งสองพระองค์ ครั้งหนึ่งพราหมณ์เวทมีกิจจะไปจากเรือน จึงสั่งศิษย์คนหนึ่งชื่ออุตังกะให้เป็นผู้ดูแลรักษาบ้าน กระชับให้ทำการที่ควรทำทุกอย่าง ครั้นพราหมณ์ไปแล้วหลายวัน หญิงคนใช้ในบ้านพราหมณ์ จึงประชุมกันกล่าวแก่อุตังกะว่า “ดูก่อนอุตังกะ นางพราหมณีภรรยาอุปัชฌาย์ของท่านมีฤดูอยู่ในเวลา ซึ่งถ้าได้ร่วมรสก็คงจะตั้งครรภ์ แต่ในเวลานั้นอุปัชฌาย์ของท่านไม่อยู่ ท่านควรต้องเป็นผู้แทนอุปัชฌาย์ เพื่อให้การเป็นไปตามควร”

อุตังกะตอบว่า “ข้าทำการอันนั้นตามปรารถนาของเหล่าหญิงไม่ได้ อุปัชฌาย์ของข้าไม่ได้สั่งไว้ว่า ให้ทำทั้งสิ่งที่ควรแลไม่ควร”

อยมาไม่ช้าพราหมณ์เวทกลับมาถึงบ้าน ได้ทราบเรื่องก็มีความยินดีจึงเรียกศิษย์เข้าไปสรรเสริญแลอำนวยพร ทั้งอนุญาตว่า ถ้าจะออกจากสำนักคืนสู่บ้านเดิมของตน ก็ให้ไปเถิด ศิษย์ได้ฟังดังนั้น ก็คิดจะกลับบ้านของตน แต่ก่อนที่จะกลับนั้น ได้อ้อนวอนหลายครั้ง ขอให้อุปัชฌาย์กล่าวว่า มีปรารถนาอะไรบ้าง เพื่อจะได้จัดการแทนคุณให้สมใจ พราหมณ์เวทไม่ใคร่แจ้งปรารถนาให้ศิษย์ทราบ แต่ในที่สุดกล่าวว่า ให้ไปถามนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาดูเถิด นางแสดงปรารถนาอย่างไร ปรารถนาของนางนั้นก็คือปรารถนาของพราหมณ์

ครั้นอุตังกะไปถามนางพราหมณี ๆ ก็ตอบว่า “ท่านจงไปเฝ้าพระเปาษยะผู้เป็นพระราชา ขอประทานกุณฑลของพระมเหสี แลเมื่อได้แล้วจงมาที่นี่ อีกสี่วันเป็นวันกำหนดที่จะมีพราหมณ์มีเกียรติหลายนายมาเป็นแขกที่เรือนนี้ ข้าต้องการจะแต่งหูด้วยกุณฑลนั้น ถ้าท่านไปได้กุณฑลมาดังปรารถนา สวัสดีจงมีแก่ท่าน ถ้าท่านไม่ได้กุณฑลมาดังปรารถนา ท่านจะหวังความดีอะไรได้”

อุตังกะได้รับคำสั่งนั้น แล้วก็ลาอุปัชฌาย์ออกเดินทางไป กลางทางพบชายร่างใหญ่ ขี่วัวใหญ่ กล่าวแก่อุตังกะว่า “เจ้าจงกินอุจจาระวัวนี้”

อุตังกะเห็นว่า อุจจาระวัวไม่เป็นของพึงกัน เพราะไม่ใช่อาหาร แลไม่มีรสอร่อย แต่เมื่อแสดงอาการไม่เต็มใจกิน ชายนั้นก็กล่าวว่า “เจ้าจงกินปราศจากรังเกียจ แม้อุปัชฌาย์ของเจ้าก็ได้กินแล้ว”

อุตังกะเป็นคนว่าง่ายเชื่อง่าย ครั้นได้ยินดังนั้น ก็นั่งลงกินอุจจาระแลดื่มปัสสาวะวัว เมื่อกินสำเร็จ ก็ลุกยืนขึ้นล้างมือแล้วออกเดินทางไปจนถึงพระราชวัง พบพระเปายะกำลังเสด็จออกอยู่ อุตังกะจึงเข้าไปเฝ้าถวายพระพรแล้วทูลว่า “ข้าพเจ้ามาเฝ้าเป็นผู้ขอ พระองค์จงทรงพระกรุณาเถิด”

พระราชาตรัสว่า “ท่านจะขออะไรก็จงว่าไปเถิด”

อุตังกะทูลว่า “ข้าพเจ้าขอประทานกุณฑลของพระมเหสีไปให้อุปัชฌาย์เป็นทักษิณา”

พระราชาตรัสว่า “ท่านจงเข้าไปข้างในเฝ้า แลทูลพระมเหสีเถิด”

อุตะงกะได้ฟังตรัสดังนั้น ก็เข้าไปภายในพระราชมณเฑียร เที่ยวหาพระมเหสีไม่พบกกลับออกมาทูลพระเปาษยะว่า การพูดหลอกนั้น ไม่ควรแก่พระราชาเลย

พระราชาพระหฤทัยดีไม่กริ้ว ทรงตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตรัสว่า “ท่านจงนึกดูให้ดีก่อนว่า ท่านได้กินอาหารลามกมาบ้างหรือเปล่า พระมเหสีเป็นนางบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่สะอาด ไม่อาจเห็นพระองค์ได้”

อุตังกะทูลว่า เป็นความจริงที่ตนกินแล้ว มิได้ล้างกายให้สะอาด เพราะกำลังจะรีบเดินทาง จึงยืนล้างมือ ไม่ได้หยุดนั่งล้างมือให้เรียบร้อย พระราชาทรงทราบดังนั้น จึงตรัสให้มีผู้เอาน้ำมาให้ อุตังกะก็นั่งหันหน้าไปทางตะวันออก ล้างมือแลเท้าจนสะอาดแล้ว จิบน้ำไม่ให้มีเสียงดัง ๓ จิบ (น้ำนั้นปราศจากฟองแลตะกอนแลไม่เป็นน้ำอุ่น) แลจิบจำเพาะพอดีให้ไหลลงไปถึงท้อง แลล้างหน้า ๒ ครั้ง แลเอามือชุบน้ำเช็ดตาเช็ดหู ฯลฯ เป็นอันว่าสะอาดทั่วตัวแล้ว ก็เข้าไปภายในพระราชมณเฑียร ได้เห็นพระองค์พระมเหสี ก็ทูลขอกุณฑลที่ทรงอยู่นั้น พระมเหสีพระหฤทัยดี แลโปรดอุตังกะว่าเป็นคนดีก็ประทานตามปรารถนา แต่ทรงกำชับว่า “กุณฑลคู่นี้พญาตักษกะผู้เป็นเจ้าแห่งนาคอยากได้นัก ท่านได้ไปจงรักษาให้ดี อย่าให้พญาตักษกะเอาไปได้”

อุตังกะทูลรับกำชับแล้ว ก็กลับออกมาทูลลาพระราชากลับ พระราชามีรับสั่งให้เลี้ยงพราหมณ์ แต่ในเวลาที่เลี้ยงนั้น เกิดเหตุเพราะอาหารไม่สะอาด อุตังกะกับพระราชาต่างคนเกิดแช่งกันขึ้น แล้วอุตังกะก็ออกจากพระราชวังแลพระนครไป

ตามทางในเวลาร้อน อุตังกะไปพบสระน้ำแห่งหนึ่งก็หยุดชำระกาย เอากุณฑลวางไว้บนพื้นดิน มีคนขอทานคนหนึ่งสะกดรอยตามมาแต่ไกล ครั้นได้ทีก็ตรงเข้าหยิบกุณฑลได้วิ่งหนี อุตังกะชำระกายเสร็จ แลนมัสการพระผู้เป็นเจ้าแลอุปัชฌาย์แล้วก็วิ่งไล่ ครั้นไปทันก็จับตัวขโมยไว้ ขโมยกลายเป็นพญานาคลงรูหนีไปบาดาล

อุตังกะนึกได้ถึงคำพระมเหสี ทราบว่างูที่พากุณฑลลงรูไปนั้น คือตักษกะพญานาค ให้คิดโกรธเป็นกำลัง ก็เอาไม้มาขุดรูจะตามพญานาคลงไปบาดาล แต่การเอาไม้ขุดหลุมจะให้เป็นปล่องไปถึงบาดาลนั้น ไม่มีมนุษย์ใดจะทำได้ จึงต้องร้อนไปถึงพระอินทร์ พระอินทร์ตรัสให้วัชระถืออาวุธของพระองค์ลงมาช่วยอุตังกะ วัชระก็ลงมาสิงไม้ที่อุตังกะใช้ขุดดิน แล้วแทรกลงไปทำให้เป็นปล่องใหญ่ถึงบาดาล อุตังกะก็ตามวัชระลงไป ได้เห็นเมืองงามยิ่งนัก ทั้งได้เห็นหญิง ๒ คนพอทอผ้าผืนหนึ่งด้วยด้ายดำกับด้ายขาว เห็นล้อ ๆ หนึ่งมีกง ๑๒ กง มีเด็ก ๖ คนช่วยกันหมุนล้อนั้น กับเห็นชายคนหนึ่งขี่ม้าใหญ่แลงามยิ่งนัก อุตังกะก็นอบน้อมบูชาชายนั้นเป็นอันดี

ชายขี่มาถามว่า “เจ้ามีประสงค์อะไร”

อุตังกะตอบว่า “ข้าพเจ้าจะขอให้นาคทั้งหลายต้องกลัวอำนาจข้าพเจ้า”

ชายนั้นตอบว่า “เจ้าจงเป่าเข้าที่ตัวม้านี้เถิด”

อุตังกะได้ฟังดังนั้น ก็เป่าเข้าที่ตัวม้า เกิดเป็นเพลิงหลายพันเปลวออกจากทวารแลขุมขนทั้งหลายในตัวม้า ไฟร้อนเริงจวนจะไหม้เมืองนาคอยู่แล้ว ต่อพญาตักษกะตกใจ ถือกุณฑลมาคืนให้อุตังกะ ไฟจึงสงบ ขณะนั้นอุตังกะคำนึงในใจว่า วันนี้ถึงกำหนดที่นางพราหมณีจะใช้กุณฑล ตนยังอยู่ถึงเมืองนาค ทำไฉนจึงจะนำกุณฑลไปให้นางได้ทันกำหนด ทันใดนั้นชายขี่ม้ากล่าวว่า “ถ้าเจ้าต้องการจะรีบกลับไปเมืองมนุษย์ เจ้าจงขึ้นบนหลังม้านี้เถิด”

พออุตังกะขึ้นนั่งบนหลังม้า ม้าก็พามาถึงบ้านพราหมณ์ผู้เป็นอุปัชฌาย์ในพริบตาเดียว ครั้นมาถึงอุตังกะก็นำกุณฑลเข้าไปให้นางพราหมณี ได้รับสรรเสริญแลคำอวยพรแล้ว ก็ออกมาหาอุปัชฌาย์เล่าความให้ฟังทุกประการ แลขอให้อุปัชฌาย์อธิบายให้ทราบ

พราหมณ์เวทชี้แจงว่า “นาง ๒ นางซึ่งเจ้าเห็นทอผ้าอยู่นั้น คือนางธาดา ๑ นางวิธาดา ๑ ด้ายดำแลด้ายขาวซึ่งทอผ้าอยู่นั้น ด้ายดำคือกลางคืน ด้ายขาวคือกลางวัน ล้อ ๑๒ กงซึ่งเด็ก ๖ คนหันอยู่นั้น คือปี ๑๒ เดือน เด็ก ๖ คน คือฤดูทั้ง ๖ ชายที่อยู่กับม้าคือพระปรชันยะ (เจ้าฝน) ม้าคือพระอัคนี วัวใหญ่คือไอราวัต ผู้ขี่วัวคือพระอินทร์ อุจจาระวัวคืออมฤต แลเพราะเจ้าได้กินอมฤต เจ้าจึงคงชีวิตรอดมาจากเมืองนาคได้ การที่เจ้าได้กุณฑลคืนมานี้ ก็เพราะพระอินทร์ทรงกรุณา เจ้าเป็นผู้ประพฤติดีทุกประการ ถ้าจะกลับไปที่อยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ก็ตามอัธยาศัยเถิด”

อุตังกะได้รับอนุญาตดังนั้น ก็ลาอุปัชฌาย์ไปจากสำนัก ให้คิดโกรธพญาตักษกะเป็นกำลัง จึงรีบเดินทางไปกรุงหัสดินปุระ เข้าเฝ้าทูลพระชนเมชัยพระราชาว่า “ข้าแต่พระราชา ตักษกะพญานาคนั้น ได้ฆ่าพระราชบิดาแห่งพระองค์ ขอพระองค์จงทำพิธีผลาญงูเสียให้สิ้นเชิง เป็นเครื่องแก้แค้นแทนพระราชบิดา”

พระชนเมชัยได้ทรงฟัง ก็ตรัสถามความเก่าเรื่องพระราชบิดาสวรรคต อำมาตย์ทั้งหลายเล่าถวายต่อหน้าอุตังกะ ครั้นได้ทรงทราบก็กริ้วเป็นกำลัง ยิ่งทรงทราบเรื่องละเอียด ก็เหมือนมีใครเอาเนยใสเทลงไปในกองเพลิง จึงโปรดให้ตั้งพิธีผลาญงูด้วยเหตุนั้น

ฤษีทั้งหลายขอให้เสาติเล่าถึงเผ่าพันธุ์พระภฤคุพรหม ฤษีประชาบดี เสาติจึงเล่าว่า

พระภฤคุเป็นบุตรพระพรหมาเกิดแต่ไฟ ซึ่งใช้ในพิธีบูชาพระวรุณ พระภฤคุมีภรรยาชื่อนางปุโลมามีครรภ์แล้ว พระภฤคุมีกิจธุระไปยังท่าน้ำ มีรากษสตนหนึ่งชื่อปุโลมาที่อาศรมของพระภฤค นางปุโลมาเห็นแขกมาถึงก็ต้อนรับเป็นอันดี รากษสเห็นนางก็เกิดรักเป็นกำลัง มิอาจอดกลั้นความเสนหาไว้ได้ อนึ่ง เมื่อนางยังมิได้เป็นภรรยาพระภฤคุนั้น บิดาของนางได้ยกนางให้แก่รากษสตนนี้ แล้วเอากลับมายกให้พระภฤคุภายหลัง การเป็นดังนี้ รากษสมีความโกรธ คิดใคร่แก้แค้นอยู่แล้ว ครั้นมาพบนางมีลักษณะงามน่ารักทุกประการ ความเสนหาก็กำเริบ คิดจะพานางไปเสียจากอาศรม จึงเข้าไปในห้อง ซึ่งไว้เพลิงบูชา ถามพระอัคนีว่า “ดูก่อนพระอัคนี ท่านจงบอกข้าพเจ้าว่า นางนี้เป็นเมียของใคร”

พระอัคนีอ้ำอึ้งไม่กล้าบอก เพราะเกรงเดชพระภฤคุ รากษสจึงกล่าวต่อไปว่า “นางนี้บิดาได้เคยยกให้แก่ข้าพเจ้าก่อน แล้วไปยกให้ภฤคุภายหลัง ข้าพเจ้าถือว่านางเป็นภรรยาของข้าพเจ้า ซึ่งพระภฤคุมาแย่งไป บัดนี้ ข้าพเจ้ามาพบนางอยู่คนเดียวในอาศรมนี้ก็จะพาไปเสีย ท่านจงบอกข้าพเจ้าที่ถูกนั้นนางเป็นเมียของใครแน่”

พระอัคนีตอบว่า “ดูก่อนรากษส นางปุโลมานี้ บิดาได้ยกให้เป็นคู่หมั้นกับท่านก่อนก็จริง แต่ท่านหาได้รับนางไปเป็นภรรยาตามวิธีที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ไม่ ภายหลังบิดานางยกนางให้พระภฤคุ แลพระภฤคุได้รับนางเป็นภรรยา ตามลักษณะวิวาหะต่อหน้าข้าพเจ้าเป็นพยาน”

ปุโลมะรากษสได้ฟังพระอัคนีตอบดังนั้นแล้ว ก็แปลงกายเป็นหมูใหญ่ตระหวัดนางขึ้นหลังรีบพาไปสู่สำนักแห่งตน ฝ่ายบุตรพระภฤคุซึ่งอยู่ในครรภ์เห็นดังนั้น เกิดความโกรธเป็นกำลัง ก็เคลื่อนตัวออกจากครรภ์มารดาตกอยู่กับดิน จึงได้ชื่อว่า จฺยาวน ฝ่ายรากษส เมื่อเห็นทารกตกออกมาจากครรภ์มารดามีแสงสว่างเหมือนพระอาทิตย์ ก็ตกใจ ปล่อยนางโลมาตกลงยังดิน ตัวรากษสเองถูกไฟไหม้เป็นจุณไป นางปุโลมากร้องไห้อุ้มลูกเดินจะกลับอาศรม พระพรหมาทรงทราบ ก็เสด็จลงมาปลอบโยนนางผู้เป็นสะใภ้เป็นอันดี แลน้ำตาซึ่งตกจากเนตรนางนั้น ก็กลายเป็นแม่น้ำไปตามทางที่นางเดิน พระพรหมาจึงให้ชื่อแม่น้ำนั้นว่าวธุสรา

ฝ่ายพระภฤคุกลับมาถึงอาศรมได้เห็นภรรยากับบุตรที่เกิดใหม่แลทราบเหตุที่เกิดแล้วก็โกรธเป็นกำลัง จึงถามนางว่า “ใครเป็นผู้บอกรากษสว่านางเป็นเมียข้า มันจะทราบเองนั้นไม่ได้”

นางปุโลมาตอบว่า “รากษสถามพระเพลิง ๆ เธอบอก”

พระภฤคุได้ฟังดังนั้น ก็โกรธพระเพลิงเป็นกำลัง จึงสาปพระเพลิงให้ผู้กินสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสิ่งสะอาดหรือโสโครก

พระอัคนีได้ฟังสาบก็โกรธ ถามว่า “ท่านสาปข้าพเจ้าด้วยเหตุใด รากษสถามข้าพเจ้า ๆ ก็บอกแต่โดยจริง มิได้กล่าวหลีกเลี่ยงความเป็นธรรมเลย ธรรมดาพยานที่รู้ความจริง ถ้ากล่าวความไม่จริง ก็ได้บาปเป็นทุกข์ถอยหลังไป ๗ ชั่วโคตร แลข้างหน้าอีก ๗ ชั่วโคตร การที่ท่านสาปข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าจะสาปท่านแก้แค้นบ้างก็ได้ แต่ท่านเป็นพราหมณ์ คือชนจำพวกที่ข้าพเจ้าไม่สาป ท่านจึงเป็นผู้ได้เปรียบข้าพเจ้า”

พระอัคนีมีความแค้นตรึกตรองอยู่ช้านาน ก็ไม่สิ้นความมัวหมองในใจ จึงถอนองค์จากที่ทั้งปวงในโลก เทพดาแลมนุษย์ก็ได้ความเดือดร้อนทั่วหน้ากัน เพราะไม่มีไฟกระทำการบูชา ไม่มีจะใช้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไปแลเพื่อความสุขทุกชนิด

ฤษีทั้งหลายจึงประชุมพากันไปยังที่ชุมนุมเทพดา กล่าวแสดงทุกข์ที่ขาดการบูชาแลพิธีทั้งปวง ขอให้เทพดาซึ่งได้ทุกข์อย่างเดียวกันช่วยกันคิดแก้ไข เทพดาแลฤษีทั้งหลายก็พากันไปเฝ้าพระปู่ (พระพรหมา) ทูลว่าพระเพลิงถูกพระภฤคุสาปให้กินสิ่งทั้งปวงไม่ว่าสะอาดหรือโสโครก พระเพลิงนั้นเป็นปากของเทพดา เป็นผู้กินเครื่องเซ่นทั้งหลายซึ่งผู้เซ่นทิ้งลงในไฟ แลเทพดาทั้งหลายได้กินเครื่องเซ่นต่อเมื่อพระเพลิงทำให้ไหม้ไปแล้ว เหตุฉะนั้นพระเพลิงจะกินของโสโครกอย่างไรได้

พระปู่ทรงทราบเหตุดังนั้น ก็ตรดให้เชิญพระอัคนีไปเฝ้า แล้วตรัสปลอบโยนเป็นอันดีว่า “ดูกรพระเพลิง ท่านเป็นเจ้าแห่งการบูชา ท่านจะละทิ้งกิจการทั้งหลายเสียกระไรได้ ท่านเป็นผู้ประเสริฐไม่จำเป็นเลยที่จะกินของโสโครก เปลวของท่านเป็นส่วนหนึ่งในกายของท่าน แลเป็นส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น เมื่อเปลวของท่านได้กินอันใด ก็นับว่าท่านได้กินอันนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจงใช้เปลวเป็นผู้กินของทั้งปวง แลสิ่งใดที่เปลวของท่านได้กินแล้ว สิ่งนั้นจงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ทั้งสิ้น แม้สิ่งโสโครกก็ให้เป็นสิ่งสะอาด เพราะเปลวของท่านกิน เราให้พรแก่ท่านดังนี้”

พระเพลิงได้รับพรดังนั้น ก็ทูลลาพระปู่แบ่งภาคไปอยู่ในที่ทั้งปวงตามเดิม เทพดา ฤษีแลชนทั้งปวง ก็ได้คืนความสุขทั่วหน้ากัน

เสาติกล่าวต่อไปว่า

พระภฤคุมีลูกชื่อจฺยาวน ๆ มีลูกกับนางสุกันยาชื่อ ปรมติ ๆ มีลูกกับนางฆฤตาจิชื่อรุรุ รุรุมีลูกกับนางปรมัทวราชื่อคันกะ

ในกาลก่อนมีฤษีองค์หนึ่งชื่อสถูโลเกศ ตั้งอาศรมอยู่แทบฝั่งแม่น้ำ ครั้งนั้นนางอัจฉราชื่อเมนกามีครรภ์กับพญาคนธรรพ์ ก็ลงจากฟ้ามาที่ฝั่งน้ำใกล้อาศรมฤษี สถูโลเกศคลอดบุตรีทิ้งไว้ ฤษีเก็บทารกไปเลี้ยงประคับประคองเป็นอันดี จนนางจำเริญวัยใหญ่ขึ้น แต่เพราะเหตุเป็นลูกนางอัจฉรา จึงเป็นหญิงงามหาที่เปรียบมิได้ นางนี้ได้ชื่อว่า ปรมัทวรา

ฝ่ายฤษีรุรุเหลนพระภฤคุได้เห็นนางปรมัทวรา ก็เกิดเสน่หา จึงบอกแก่บิดาให้ไปกล่าวสู่ขอตกลงกันกำหนดการวิวาหะ ครั้นอีกสองสามวันจะถึงวันงาน นางเดินไปเหยียบงูร้าย งูกัดนางพิษซ่านไปทั่วกาย นางก็ขาดใจตายล้มอยู่กลางดิน ชนทั้งหลายทราบเหตุ ต่างก็พากันมาช่วยแก้ไข แลเศร้าโศกอยู่รอบศพนาง ส่วนรุรุนั้นเข้าป่าไปเที่ยวร้องไห้รำพันอยู่คนเดียว จนมีเทวทูตลงมาจากสวรรค์ กล่าวว่า “ดูกร รุรุท่านจะมารำพันเศร้าโศกอยู่ฉะนี้หาประโยชน์มิได้ ลูกพ่อคนธรรพ์แม่อัจฉราคนนี้ สิ้นอายุแล้ว จะคืนชีวิตมาไม่ได้ เว้นแต่ท่านจะทาตามที่เทพดาบัญญัติไว้เพราะเรื่องนี้คือ ให้อายุของท่านแก่นางครึ่งหนึ่ง นางจึงจะคืนชีวิตมาได้

รุรุได้ฟังก็ยินดียอมให้อายุแก่นางครึ่งหนึ่งในทันที พญาคนธรรพ์กับเทวทูตก็พากันไปเฝ้าธรรมราชา (พระยม) ทูลว่า “ข้าแต่ธรรมราชา ขอพระองค์จึงโปรดให้นางปรมัทวรารับอายุครึ่งหนึ่งจากฤษรุรุ แลให้นางคืนชีวิตขึ้นเถิด”

พระธรรมราชาประทานอนุญาต นางปรมัทวรา ก็ฟื้นขึ้นเหมือนตื่นจากหลับ รุรุแลฤษีทั้งหลายก็มีความยินดี แลจัดการวิวาหะตามธรรมเนียม บ่าวสาวทั้งคู่ก็อยู่ด้วยกันเป็นสุขด้วยความรัก แต่รุรุสาบานว่า ถ้าพบงูจะฆ่าให้หมด

วันหนึ่ง ฤษีรุรุเข้าไปในป่าใหญ่ พบงูตัวหนึ่งเป็นงูชนิดชื่อทุนทุภะ รุรุก็เงื่อไม้ขึ้นจะตี งูตกใจเป็นกำลังร้องว่า “ข้าพเจ้ามิได้ทำร้ายท่าน ท่านจะฆ่าข้าพเจ้าด้วยเหตุใด”

ฤษีรุรุตอบว่า “เมียข้าเป็นที่รักของข้าอย่างยอด งูตัวหนึ่งกัดเมียข้าตาย ข้าจึงสาบานจะฆ่างูทุกตัวที่ข้าได้พบ แลจะฆ่าเจ้าในบัดนี้”

งูทุนทุภะตอบว่า “งูมีหลายชนิด มีพิษบ้างไม่มีพิษบ้าง อย่างข้าพเจ้าเป็นงูไม่มีพิษ ไม่ทำร้ายใคร ท่านอย่าฆ่าข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องให้ท่านฟัง”

รุรุสัญญาว่าจะไม่ฆ่างู งูก็เล่าว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนที่ถูกพราหมณ์แช่งให้เป็นงู เพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นพราหมณ์มีตบะกล้า ครั้งหนึ่งเขานั่งทำตบะอยู่ ข้าพเจ้าเอาหญ้ามาทำเป็นงูล้อเขา ๆ ตกใจกลัวจนสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นก็โกรธ สาปให้ข้าพเจ้าเป็นงูไม่มีพิษ เหมือนงูหญ้าที่ข้าพเจ้าทำหลอกเขา ข้าพเจ้าตกใจเป็นกำลัง เพราะทราบว่าเขามีตบะกล้า คำสาปของเขาย่อมจะเป็นไปจริงดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงอ้อนวอนให้เขาถอนคำสาป ในที่สุดเขาเกิดสงสารกล่าวว่า คำสาปนั้นถอนไม่ได้ แต่จะให้บรรเทาลง ว่าเมื่อข้าพเจ้าได้พบฤษีรุรุ เมื่อนั้นให้ข้าพเจ้าคืนเพศเป็นคนอย่างเก่า บัดนี้ข้าพเจ้าได้พบท่าน แลท่านไม่ฆ่าข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะคืนเพศเดิม”

พูดเท่านี้แล้วงูทุนทุกะก็กลายเป็นคน แล้วกล่าวแก่รุรุว่า “ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ท่านเป็นพราหมณ์ทรงคุณดีทุกประการ หาควรทำลายชีวิตสัตว์ไม่ การทำลายชีวิตสัตว์เป็นกิจของคนมีชาติเป็นกษัตริย์ ท่านเป็นพราหมณ์ ควรทำตรงกันข้าม เหมือนเช่นพระชนเมชัย ผู้เป็นมหากษัตริย์ได้ทำพิธีผลาญงู แลฤษีอัสติกผู้มีชาติเป็นพราหมณ์ ได้แก้ไขช่วยชีวิตงูไว้ได้”

รุรุถามว่า “เหตุใดพระชนเมชัยจึงทำพิธีผลาญงู แลได้ทรงผลาญด้วยวิธีใด อนึ่งฤษีอัสติกเป็นอะไรและได้ช่วยงูด้วยวิธีอย่างใด”

ชายนั้นตอบว่า “ท่านอาจรู้เรื่องได้จากคัมภีร์พราหมณะ” พูดเท่านั้นแล้วก็หายไป

๏ ๏ ๏

ชุมนุมฤษีถามว่า “พระชนเมชัยกริ้วงูทั้งหลายแลโปรดให้ตั้งพิธีทำลายด้วยเหตุใด พระองค์เป็นพระราชบุตรของพระราชาองค์ใด มีเรื่องเล่าสืบกันมาอย่างไร อนึ่งฤษีอัสติกเป็นอะไร เหตุใดจึงมาช่วยงู”

เสาติกล่าวว่า

ท่านทั้งหลายจงฟังเรื่อง ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้ว อาจล้างบาปได้ ครั้งหนึ่งมีพรหมจารีองค์หนึ่งชื่อ ชรัตการุ เป็นฤษีมีเดชเสมอประชาบดี เธอทำตบะอยู่เป็นนิตย์ แลเป็นผู้ตัดกามตัณหาได้สนิท ฤษีองค์นี้ประพฤติตัวเป็นผู้ไม่มีที่อาศัย เป็นผู้เที่ยวไปจนค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น วันหนึ่งชรัตการุเที่ยวไปพบปู่แลบิดาของตนซึ่งตายไปแล้วห้อยหัวอยู่ในเหว มีเชือกผูกเท้าแขวนอยู่ แลเชือกนั้นมีหนูกัดกร่อนเข้าไปทุกที ชรัตการุเห็นดังนั้นจึงเข้าไปถามว่า “ท่านทั้งหลายคือใคร เหตุใดจึงมาห้อยหัวอยู่ดังนี้”

ปู่แลบิดาตอบว่า “เราเป็นฤษี ซึ่งต้องมาห้อยหัวจนจะตกจมลงไปในดิน ทั้งนี้ก็เพราะจะสิ้นเผ่าพันธุ์อยู่แล้ว เรามีเทือกเถาอยู่ในโลกมนุษย์คนหนึ่ง ชื่อชรัตการุ แต่เขาเป็นผู้เห็นแก่ตัวเองคนเดียว ถือพรตไม่มีเมีย แลจะไม่มีลูกสืบสกุลต่อไป เราเป็นปู่แลบิดาจึงได้บาป เพราะเขาทำให้สิ้นเชื้อ ท่านเป็นอะไรจึงเอาใจใส่มาไต่ถามเรา ประหนึ่งเป็นผู้มีไมตรี

ชรัตการุได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าคือชรัตการุ ผู้เป็นบุตรหลานของท่าน ขอท่านจงกล่าวให้ข้าพเจ้าทราบว่า ข้าพเจ้าควรทำอย่างไร จึงจะแก้ท่านให้พ้นทุกข์ได้”

ปู่แลบิดาตอบว่า “การอันใดเป็นเหตุให้เจ้าจะได้บุตร เจ้าจงทำการอันนั้น เมื่อเจ้ามีบุตรแล้ว เจ้าจะทำคุณแก่ปู่แลบิดา ซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว เสมอกับเป็นบุญแก่ตัวเจ้าเอง บุญอันเกิดแก่การบำเพ็ญตบะเช่นเจ้าทำอยู่ในเวลานี้ หาเสมอกับบุญแห่งการมีบุตรไม่ เจ้าจงมีเมียแลมีลูก เพื่อประโยชน์แก่เราทั้งหลายเถิด”

ชรัตการุตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เป็นปู่แลบิดา ข้าพเจ้าจะไม่มีเมียเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าเอง แต่ข้าพเจ้าจะยอมมีเมีย เพื่อประโยชน์แก่ท่าน แต่ข้าพเจ้าจะต้องหานางซึ่งมีชื่อเหมือนข้าพเจ้า แลผู้ปกครองยอมยกให้แก่ข้าพเจ้าเป็นทาน ไม่เรียกทรัพย์เป็นค่าแลก ข้าพเจ้าเป็นคนจน ใครจะให้บุตรีแก่ข้าพเจ้าเล่า ถึงจะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะเพียรหาเมีย เพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย

ชรัตการุกล่าวแก่ปูแลบิดาดังนั้นแล้ว ก็ออกเที่ยวหาเมีย แต่หาไม่ได้อยู่ช้านาน เพราะจะหานางอย่างที่กล่าวนั้นยาก วันหนึ่งชรัตการุเที่ยวไปในป่า รำลึกถึงคำปู่แลบิดาขึ้นได้ ก็ออกปากขอภรรยาขึ้นในป่า ซึ่งตนอยู่คนเดียว ขณะนั้นวาสุกิพญานาค มาสำแดงตัวต่อหน้าชรัตการุ แล้วบอกยกนางนาคผู้เป็นน้องให้เป็นภรรยา ชรัตการุนึกขึ้นได้ถึงเรื่องชื่อ จึงถามว่า “น้องสาวของท่านชื่อไร”

พญาวาสุกีตอบว่า “น้องสาวของข้าพเจ้าชื่อเดียวกับท่าน ข้าพเจ้าสงวนนางไว้สำหรับให้ท่าน ท่านจงรับนางเป็นภรรยาเถิด”

ฤษีชรัตการุทราบดังนั้นก็ยินดี จึงรับนางงามผู้น้องของพญาวาสุกิเป็นภรรยา

การที่พญาวาสุกิยกน้องสาวให้ชรัตการุเช่นนี้ ก็เพราะมีเหตุมาแต่เดิม คือนางผู้เป็นมารดาแห่งนาคทั้งหลายได้เคยโกรธ แลสาปบุตรหลานไว้ว่า ให้เทพดาผู้มีผมเป็นสารถี (คือพระเพลิง) เผานาคทั้งปวงเสียให้สิ้น ในเวลาพระชนเมชัยตั้งพิธีผลาญงูในภายหน้า พญาวาสุกิกลัวสาปของมารดา จึงสงวนน้องสาวไว้ยกให้ฤษีชรัตการุ เพื่อให้บรรเทาผลแห่งคำสาปได้บ้าง

ฝ่ายฤษีชรัตการุนั้น เมื่อได้นางนาคเป็นภรรยา ก็เกิดบุตรซึ่งได้นามว่าอัสติก เป็นฤษีมีเดชมาก เป็นผู้รอบรู้ทั้งพระเวทแลเวทางค์ แลเป็นผู้ซึ่งได้ปล่อยให้ปู่แลบิดาพ้นทุกข์ได้ ต่อมาภายหลัง เมื่อพระชนเมชัยตั้งพิธีผลาญงูนั้น อัสติกได้ช่วยให้ญาติของตนคืองู (นาค) เป็นอันมากรอดชีวิตอยู่ได้

ชุมนุมฤษีกล่าวว่า “ท่านจงเล่าเรื่องฤษีอัสติกซึ่งเราใคร่ฟังยิ่งนัก”

เสาติกล่าวว่า

ในกุฤตยุค (ซึ่งเรียกว่ายุคทองคำ) พระทักษะประชาบดีมีธิดางาม ๒ องค์ ชื่อนางกทฺรุนางหนึ่ง นางวินตานางหนึ่ง เป็นภรรยาของพระกศฺยปผู้เป็นพรหมฤษีทั้งสองนาง พระกศฺยปมีเสนหานางทั้งสอง จึงกล่าวสัญญาว่า จะให้พรนางละพรหนึ่ง จะประสงค์อะไรก็ให้ขอเถิด นางทั้ง ๒ ได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี นางกทฺรุจึงขอมีลูกเป็นนาค ๑๐๐๐ ตัว มีเดชเสมอกันทั้งหมด นางวินตาขอมีลูก 5 คน ซึ่งมีกำลัง มีขนาด แลมีเดชยิ่งลูกทั้ง ๑๐๐๐ ของนางกทฺรุ พระกศฺยปอวยพรแก่นางทั้ง ๒ แล้ว ก็ไปจำพรตอยู่ในป่า

ฝ่ายนางทั้ง ๒ ครั้นได้รับพรแล้วช้านาน นางกทฺรุก็คลอดไข่ออกมา ๑๐๐๐ ฟอง นางวินตา ๒ ฟอง สาวใช้ของนางทั้ง ๒ ก็เก็บไปรักษาไว้ในที่อบอุ่น ครั้นเวลานั้นไปแล้ว ๕๐๐ ปี ไข่ทั้ง ๑๐๐๐ ฟองของนางกทฺรุก็ออกเป็นนาค ๑๐๐๐ ตัว แต่ไข่ ๒ ฟองของนางวินตานั้นยังเฉยอยู่ นางวินตาใจเร็ว แลอิจฉานางผู้เป็นภคินีว่ามีลูกก่อน แลใคร่จะมีลูกบ้าง ก็ต่อยไข่ของตนเองออกดูฟองหนึ่ง เห็นบุตรเพิ่งเกิดได้ครึ่งตัว เบื้องบนตั้งแต่หัวลงมาเกิดแล้วบริบูรณ์ถึงเอว เบื้องบั้นเอวลงไป ยังหาเกิดไม่ ฝ่ายบุตรเมื่อออกมาจากไข่แล้ว ก็โกรธยิ่งนัก กล่าวสาปมารดาว่า “เมื่อนางผู้เป็นแม่แห่งข้าได้ต่อยไข่ก่อนกำหนด จนข้ามีกายเกิดแล้วแต่เพียงครึ่งเดียว แลเหตุที่ต่อยไข่ ก็เพราะเหตุอิจฉาลูกนางกทฺรุฉะนี้ มารดาจงเป็นทาสีรับใช้นางกทฺรุ ตามคำสาปของข้า แต่ถ้ามารดาคอยอีก ๕๐๐๐ ปี ไม่ต่อย ไข่อีกฟองหนึ่งก่อนกำหนดนั้น ลูกในไข่คือน้องของข้าจะเป็นผู้ปลดมารดาจากความเป็นทาสีได้ มารดาจงรักษาไข่อีกฟองหนึ่งนั้นไว้ให้ดีเถิด”

บุตรครึ่งตัวของนางวินตานี้คืออรุณ แลเมื่ออรุณได้สาปมารดานี้แล้ว ก็เหาะขึ้นฟ้าไปเป็นสารถีของพระอาทิตย์ในเวลาเช้า คนจึงเห็นแสงอรุณก่อนเห็นแดดตราบเท่าทุกวันนี้

ครั้นเวลาล่วงไปอีก ๕๐๐๐ ปี พญาครุฑก็เกิดจากไข่อีกฟองหนึ่งของนางวินตา

เสาติเล่าต่อไปว่า

ในตอนนั้น ๒ นางพี่น้องคือนางกทฺรุกับนางวินตาได้เห็นอุไจศฺรพ คือม้าสวรรค์เดินเข้ามาใกล้ ม้านั้นเป็นม้าซึ่งเทพดาย่อมบูชาเป็นมณีในหมู่ม้า แลขึ้นมาจากน้ำ เมื่อครั้งกวนทะเลอันเป็นเกษียรสมุทร

ชุมนุมฤษีถามว่า “การกวนทะเลนั้นกวนเพื่ออะไร แลม้าตัวนั้นขึ้นมาจากทะเลอย่างไร”

เสาติเล่าว่า

มีเขาใหญ่เขาหนึ่งชื่อเมรุ เป็นใหญ่กว่าเขาทั้งหลาย มีแสงสว่างซึ่งทำให้แสงพระอาทิตย์กระจายไป เป็นที่สำราญของเทพดาแลคนธรรพ์ทั้งปวง เป็นที่อยู่แห่งโอสถทั้งหลาย แลเป็นที่ซึ่งคนทำบาปไม่อาจไปถึงได้

ครั้งหนึ่งเทพดาทั้งหลายประชุมกันบนยอดเขานี้ หารือกันถึงเรื่องใคร่ได้อมฤต คือน้ำซึ่งได้ดื่มแล้ว ผู้ดื่มไม่มีเวลาตาย ขณะนั้นพระนารายณ์เสด็จมากล่าวว่า “ท่านจงช่วยกันกวนสมุทรทั้งเทพดาแลอสูร แลท่านจะได้อมฤตแลทรัพย์ต่าง ๆ อันหาค่ามิได้”

เทพดาได้ฟังดังนั้น จึงพากันไป ณ เขามันทร อันเป็นเขาสูงจากดิน ๑๑,๐๐๐ โยชน์ ลึกลงไปในดิน ๑๑,๐๐๐ โยชน์ เทพดาทั้งหลายช่วยกันจะถอนเขามันทรขึ้นจากดิน แต่ถอนไม่ขึ้น จึงพากันไปเฝ้าพระวิษณุแลพระพรหมซึ่งประทับอยู่ในที่เดียวกันในเวลานั้น เทพดาทูลพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๒ องค์ว่า ขอพระองค์จึงโปรดให้ถอนเขามันทรขึ้นจากดินได้ตามปรารถนา แลเพื่อประโยชน์แก่เราเถิด”

พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๒ องค์ตรัสอวยตามพระพิษณุ จึงมีรับสั่งให้อนันตนาคราชเป็นผู้ถอนเขาขึ้นจากดิน พญาอนันตะทำตามคำสั่งพระผู้เป็นเจ้า เขามันทรก็หลุดขึ้นจากดินพร้อมทั้งต้นไม้แลสัตว์ทั้งปวงที่อยู่บนเขานั้น เทพดาทั้งหลายกับพญาอนันตะก็ยกเขาลงไปริมทะเล แลกล่าวแก่พระสมุทรว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมกันมาในที่นี้ เพื่อจะกวนท่านเอาอมฤต”

พระสมุทรตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้จะได้ส่วนแห่งอมฤตด้วย" แลอาจทนให้ท่านกวนได้ เชิญท่านกวนตามปรารถนา”

เทพดาแลทานพก็พากันไปยังพญาเต่าแลกล่าวว่า “เชิญท่านเป็นผู้รองเขามันทร เพื่อได้กวนทะเลเอกอมฤต”

พญาเต่ายอมตามเทพดากล่าว เทพดามีพระอินทร์เป็นหัวหน้า จึงวางเขามันทรลงบนหลังพญาเต่า ใช้เขามันทรเป็นหลัก ใช้พญาวาสุกิเป็นสายเอาพญาวาสุกิพันรอบเขามันทร เทพดาถือข้างหาง อสูรถือข้างหัว ชักพญาวาสุกิไปมา เขามันทรกหมุนกวนทะเลมีเสียงกึกก้อง สัตว์เป็นอันมากตายเพราะเขาทับ ต้นไม้ใหญ่ก็โค่นทับกัน เพราะเขาหมุนเวียนไปมาเกิดเป็นไฟไหม้ขึ้น แลไหม้สัตว์ต่าง ๆ ตายเป็นอันมาก จนพระอินทร์ต้องทำให้ฝนตกลงมาดับไฟ ยางไม้ต่าง ๆ ก็ตกจากต้นไม้แลไหลลงทะเล เขาก็กวนไปมาจนน้ำทะเลเป็นฆี (คือเนยใส) แต่อมฤตก็หาผุดขึ้นมาไม่ เทพดาจึงพากันไปเฝ้าพระพรหมาทูลว่า ได้กวนทะเลจนสิ้นแรงแล้ว อมฤตก็ยังไม่ผุดขึ้นมา ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดให้สำเร็จ นอกจากพระนารายณ์จะช่วยไซร้เทพดาแลทานพทั้งปวง ไม่อาจทำให้อมฤตผุดได้

พระพรหมาทูลพระนารายณ์ว่า “พระองค์จงให้กำลังแก่พวกนี้ เพื่อให้ทำการสำเร็จประสงค์”

พระนารายณ์ตรัสว่า “ข้าให้กำลังแก่ท่านทั้งหลาย ท่านจงกลับไปกวนทะเลอีกเถิด”

เทพดาได้รับพรพระนารายณ์ดังนั้น ก็กลับมีกำลังยิ่งกว่าเก่า จึงกลับไปช่วยกันกวนทะเล จนพระจันทร์ผุดขึ้นมาองค์หนึ่งแล้ว พระลักษมีทรงนั่งบนดอกบัวสีนิลเสด็จผุดขึ้น แล้วนางสุราเทวี (เหล้า) ผุดขึ้น แล้วม้าทิพย์ชื่ออุไจศฺรพผุดขึ้น แล้วมณีชื่อเกาสฺตุภะ ซึ่งพระนารายณ์ทรงบนพระอุระนั้นก็ผุดขึ้น

ต่อนั้นมา ธันวันตริผู้เป็นหมอเทพดาผุดขึ้น ในมือเชิญหม้อขาวซึ่งใส่อมฤต

ต่อมาช้างใหญ่คือไอราวัตก็ผุดขึ้น และพระอินทร์ทรงยึดไว้เป็นพาหนะ

ต่อนั้นมายาพิษชื่อกาลกูฎผุดขึ้น พิษนั้นกระจายไปทั่วโลก ประหนึ่งไฟซึ่งมีควันเป็นพิษ โลกทั้ง ๓ จะเป็นอันตรายลง พระพรหมาจึงเชิญพระอิศวรให้ทรงกลืนพิษนั้นเสีย พระอิศวรยอมตาม ก็ทรงกลืนพิษกาลกูฎเข้าไปจนพระศอมีสีคล้ำ จึงได้พระนามว่า นิลกัณฐะแต่นั้นมา

ฝ่ายพวกแทตย์ทานพและอสูรทั้งหลาย เมื่อเห็นอมฤตผุดขึ้นมาจากทะเลแล้ว ก็พากันเข้าต่อสู้กับพวกเทพดา เพื่อจะแย่งอมฤต แลทั้งจะแย่งพระลักษมีด้วย พระนารายณ์ทรงเห็นดังนั้น ก็จำแลงพระองค์เป็นนางงามยิ่งล้น อสูรทั้งหลายได้เห็นก็ลุ่มหลง ยอมให้นางงามรับอมฤตไป เทพดาทั้งหลายก็พากันตามพระนารายณ์ไปรับแบ่งอมฤตมาดื่มทั่วกัน

ในขณะที่เทพดากำลังดื่มอมฤตอยู่นั้น มีอสูรตนหนึ่งเป็นทานพชื่อราหูแปลงเป็นเทพดาเข้าไปดื่มอมฤตบ้าง ขณะนั้นพระจันทร์แลพระอาทิตย์จำได้ว่าราหูปลอมเป็นเทพดาเข้าไปดื่มอมฤต จึงร้องประกาศขึ้น ในขณะที่อมฤตเพิ่งลงไปถึงลำคอราหู พระนารายณ์ได้ทรงยิน ก็ขว้างจักรไปในทันที จักรตัดราหูขาดตรงคอ เศียรซึ่งได้รับอมฤตแล้วนั้น ก็ลอยขึ้นบนฟ้า กายซึ่งอมฤตยังไม่ลงไปถึงก็ตกลงยังดิน ทำให้ป่าและเขากระเทือนทั่วไป พระราหูแลพระจันทร์กับพระอาทิตย์ จึงเป็นอริต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ แลพระราหูย่อมกลืนพระจันทร์และพระอาทิตย์ทุกครั้งที่ได้ช่องจะทำได้

ต่อนี้มาเทพดาแลอสูรก็รบกันเป็นการใหญ่ พระนารายณ์เสด็จมาช่วยเทพดา ทรงใช้จักรชื่อสุทัศนฆ่าอสูรล้มตายลงเป็นอันมาก ในที่สุดเหล่าอสูรก็แตกพ่ายแทรกแผ่นดินไปบ้าง ลงทะเลไปบ้าง

ครั้นเสร็จสุราสุรสงครามแล้ว เทพดาก็เชิญอมฤตซึ่งเหลืออยู่นั้นไปรักษาไว้เป็นอันดี

เสาติเล่าต่อไปว่า

ข้าพเจ้าได้เล่าแล้วถึงการกวนทะเลในกาลก่อน แลม้าชื่ออุไจศฺรพได้ขึ้นมาจากทะเลในครั้งนั้น

ส่วนนางกทฺรุ กับนางวินตานั้นเมื่อได้เห็นม้าก็กล่าวพนันกัน นางกทฺรุกล่าวก่อนว่า “ม้านั้นสีอะไร”

นางวินตากล่าวว่า “ม้านั้นสีขาวบริสุทธิ์ ก็นางผู้ภคินีแห่งข้านึกว่าสีอะไรเล่า”

นางกทฺรุกล่าวว่า “ข้าเห็นว่าม้าตัวนั้นหางดำ มาเราจะพนันกันว่า ใครกล่าวถูกผู้นั้นเป็นนาย ผู้กล่าวผิดยอมเป็นทาสีรับใช้”

นางวินตารับพนันแล้ว สองนางก็กลับไปที่อยู่ นัดกันว่าวันรุ่งจึงจะตรวจให้ละเอียด

ฝ่ายนางกทฺรุอยากจะชนะพนัน แลเกรงจะต้องเป็นทาสี จึงเรียกบุตรทั้ง ๑๐๐๐ มาสั่งว่า จงไปแปลงเป็นหางของม้าอุไจศฺรพแลทำให้หางม้าดำไปเสีย บุตรทั้ง ๑๐๐๐ กล่าวทัดทานว่าไม่สุจริต นางโกรธจึงสาปบุตรว่า “เพราะเจ้าขืนคำของแม่ ต่อไปข้างหน้า เมื่อพระชนเมชัยทำพิธีผลาญงูนั้น พระเพลิงจงเผาเจ้าให้เป็นจุณไปทั้งสิ้น”

นางกทฺรุสาปบุตรดังนี้ พระปู่ (พระพรหมา) ได้ยินก็ทรงตินางว่ามีใจบาป แต่ทรงดำริว่า นาคคืองูทั้งหลายเกิดมากเหลือประมาณ ต่างตัวมีพิษมาก คงจะเป็นภัยแก่เหล่าชนหาที่สุดมิได้ เพราะฉะนั้นการที่ถูกมารดาสาปนั้นก็สมควรแล้ว พระปู่ทรงดำริเช่นนี้ จึงตรัสเรียกพระกศฺยปไปเล้าโลมเป็นอันดี แลประทานพรให้มีความรู้แก้ยาพิษได้

เสาติกล่าวต่อไปว่า

ครั้นคืนล่วงไปแล้ว พี่น้องสองนางคือนางกทฺรุ แลนางวินตาผู้ได้พนันกันไว้ก็พากันไปตรวจดูม้าอุไจศฺรพที่ฝั่งทะเล แต่ในตอนกลางคืนนั้น นาคผู้เป็นบุตรแห่งนางกทฺรุ หารือเห็นพร้อมกันว่า ควรต้องยอมทำตามคำสั่งมารดา ครั้นนางกทฺรุแลนางวินตาไปตรวจดูม้าในตอนเช้า ก็พบขนดำอยู่ในหางเป็นอันมาก นางวินตาจึงต้องเป็นทาสรับใช้นางกทฺรุตามคำพนัน

ต่อมาเมื่อถึงกำหนด พญาครุฑก็ออกจากไข่ ทำให้เกิดแสงสว่างไปทุกทิศ แลเป็นนกซึ่งจำแลงกายได้ตามปรารถนา จะไปไหนไปถึงได้ในทันใด เมื่อต้องการกำลังเท่าใดก็เรียกได้

พอออกจากไข่ พญาครุฑซึ่งใหญ่อยู่แล้ว ก็เบ่งกายให้ใหญ่ยิ่งขึ้น แล้วบินขึ้นบนฟ้า มีแสงเหมือนเปลวไฟวามไปในอากาศ เทพดาทั้งหลายไม่ทราบเหตุ ก็ตกใจเป็นกำลัง จึงพากันไปหาพระเพลิง กล่าวแก่พระเพลิงว่า “ข้าแต่พระอัคนี ขอท่านอย่าขยายกายของท่านออกไปอีกเลย มิฉะนั้นพวกเราจะไหม้สิ้น ท่านเหาะอยู่โน่น แลมีเปลวซึ่งไม่มีใครจะทนได้”

พระเพลิงตอบว่า “ ก้อนไฟที่เหาะอยู่ในฟ้านั้นคือพญาครุฑ หาใช่ข้าพเจ้าไม่ พญาครุฑเป็นบุตรพระกศฺยปพรหมฤษีแลนางวินตา เป็นศัตรูของนาคแลเป็นอริต่อแทตย์ แลรากษส แลเป็นผู้ทำดีต่อเทพดา ท่านอย่าตกใจไปเลย มาเราจะพาไปหาพญาครุฑด้วยกันเถิด”

เทพดาได้ฟังดั่งนั้น ก็ไปหาพญาครุฑพร้อมทั้งเหล่าฤษีด้วย ครั้นไปถึงก็ล้อมกันอยู่ห่าง ๆ แล้วกล่าวบูชาพญาครุฑ แลวิงวอนว่า “ข้าแต่พญานก ท่านเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย ท่านมีกายเป็นไฟอันร้อน ทำให้โลกร้อนเหมือนทองคำที่ละลายแล้ว ท่านจงมีกรุณาแก่เรา หย่อนกายของท่านให้เล็กลงบ้างเถิด”

พญาครุฑได้ฟังคำเทพดาวิงวอนดังนั้น ก็ลดกายให้เล็กลง โลกทั้งหลายจึงกลับได้สุข เพราะบรรเทาความร้อน ครั้นลดกายลงแล้ว พญาครุฑวางพี่ชายคืออรุณบนหลังแล้ว บินข้ามทะเลจากที่อยู่แห่งบิดาไปสู่ที่อยู่แห่งมารดา แล้วจึงพาอรุณไปไว้ในทิศตะวันออก เพื่อป้องกันมิให้พระอาทิตย์เผาโลก

ชุมนุมฤษีถาม “พระอาทิตย์โกรธอะไร จึงจะเผาโลก”

เสาติเล่าว่า

ตั้งแต่พระราหูปลอมเข้าไปดื่มอมฤต แลพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ประกาศให้เทพดาทราบ จนพระนารายณ์ขว้างจักรตัดคอพระราหู เป็นเหตุให้พระราหูแลพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นอริกันแลกันแล้ว พระราหูก็เพียรอมพระอาทิตย์ร่ำไป จนพระอาทิตย์โกรธหนักกล่าวว่า “ข้าได้ทำคุณแก่เทพดาทั้งปวง โดยที่ได้ประกาศให้ทราบว่า ราหูลอบเข้าไปดื่มอมฤต ราหูโกรธข้าเพราะเหตุนั้น แลมาอมข้า เทพดาทั้งหลายนิ่งดูได้ไม่มีใครเจ็บร้อนแทนข้าเลย ข้าจะเผาโลกทั้ง ๓ เสียด้วยความแค้น”

พระอาทิตย์ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ไปทางทิศตะวันตก แล้วลงมือเบ่งความร้อนไปในโลกจนรู้สึกทั่วกันแต่ตอนกลางคืน ฤษีทั้งหลายตกใจ ก็พากันไปหาเทพดา ๆ กับฤษีก็พากันไปเฝ้าพระปู่ทูลว่า “ความร้อนเกิดขึ้นเช่นนี้ ขอพระองค์จงโปรดแก้ไขเพื่อความสุขแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย พระอาทิตย์ยังมิทันจะขึ้น ก็ร้อนถึงเพียงนี้เสียแล้ว เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าโลกคงจะไหม้หมด”

พระพรหมตรัสว่า “ข้าได้เตรียมแก้ไว้แล้ว บุตรพระกศฺยปคืออรุณนั้นมีกายใหญ่มาก ให้อรุณนั่งหน้ารถเป็นสารถีพระอาทิตย์ อรุณอาจดูดความร้อนแห่งแสงพระอาทิตย์เข้าไว้ในตัว เพื่อความสุขแก่ ๓ โลกได้”

อรุณได้ฟังตรัสพระพรหมา ก็ไปทำตามสั่ง แลอรุณไปเป็นสารถีของพระอาทิตย์ด้วยประการที่เล่ามานี้

เสาติเล่าต่อไปว่า

เมื่อนกใหญ่ซึ่งมีกำลังแลความสามารถยอดยิ่ง คือพญาครุฑบินข้ามสมุทรไปหานางวินตาผู้เป็นมารดานั้น นางอยู่ในความเป็นทาสีรับใช้นางกทฺรุผู้ภคินีแลผู้นาย วันหนึ่ง นางกทฺรุกล่าวแก่นางวินตาต่อหน้านกบุตรว่า “ข้าจะใคร่ไปเที่ยวในเมืองนาคซึ่งอยู่ใต้ทะเลกลางสมุทร นางจงพาข้าไปยังที่นั้น”

นางวินตายินกล่าวดังนั้น ก็แบกนางกทฺรุขึ้นบ่า ให้พญาครุฑแบกนาคทั้งหลายผู้บุตรนางกทฺรุขึ้นหลังพาไป พญาครุฑก็บินทยานขึ้นฟ้าแลบินสูงใกล้พระอาทิตย์ จนนาคที่อยู่บนหลังนั้น ได้ความร้อนสลบไปสิ้น นางกทฺรุเห็นบุตรัสลบไป ก็กล่าววิงวอนพระอินทร์ (เป็นคำ ๑๒ โศลกครึ่ง) พระอินทร์ทรงกรุณา ก็โปรดให้เมฆสีนิลมาลอยบังอยู่ในฟ้า แลตรัสให้เมฆปล่อยฝนลงมาเยือกเย็นทั่วไป ฝูงนาคซึ่งสลบอยู่บนหลังพญาครุฑก็ฟื้นขึ้นแลได้ความสำราญ มิช้าก็ถึงเกาะ ๆ หนึ่งซึ่งอยู่กลางสมุทร ครุฑกับนาคแลมารดาทั้ง ๒ นางก็หยุดพักแลเที่ยวเล่นบนเกาะ อันเป็นที่สนุกจะหาเปรียบมิได้ นาคทั้งหลายเที่ยวเล่นจนทั่วเกาะแล้ว ก็กล่าวแก่พญาครุฑว่า “ท่านจงพาเราไปยังเกาะอื่นซึ่งมีน้ำสะอาด ท่านเคยบินไปในฟ้า คงจะได้เคยพบเกาะเช่นนั้น”

พญาครุฑได้ฟังนาคกล่าวก็ฉงนใจ จึงไปหามารดา ถามว่า “ข้าพเจ้าต้องรับใช้นาคเหล่านี้เพราะเหตุไร”

นางวินตาเล่าให้บุตรฟังว่า “แม่นี้เป็นทาสีของนางกทฺรุ เพราะแพ้พนันในเรื่องขนขาวแลดำในหางม้าอุไรศฺรพ การที่แพ้ก็เพราะนาคผู้ลูกนางกทฺรุจำแลงเป็นขนดำเข้าไปแทรกอยู่ในหางม้า แม่แลลูกจึงต้องเป็นบ่าวรับใช้เขาด้วยประการฉะนี้”

พญาครุฑได้ฟังมารดากล่าวดังนั้น ก็เสียใจยิ่งนัก จึงกลับหาเหล่านาคถามว่า “ข้าจะทำอย่างไร แม่แลตัวข้าจึงจะพ้นจากความเป็นทาสได้ ถ้าท่านบอกแก่ชาว่าจะทำอย่างไรจึงจะพ้นได้ ข้าก็จะทำตาม”

นาคตอบว่า “ถ้าท่านไปแย่งเอาอมฤตมาให้เราได้ เราจะปล่อยท่านแลมารดาให้พ้นทาส”

พญาครุฑได้ฟังดังนั้น ก็ไปบอกมารดาแล้วกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไปแย่งอมฤตจากเทพดามาถ่ายความเป็นทาสของเรา แต่ก่อนที่จะทำเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าจำต้องมีอาหารกินให้เต็มอิ่มเสียก่อน มารดาจงบอกข้าพเจ้าว่า มีอะไรบ้างที่ข้าพเจ้าจะกินได้เต็มอิ่ม”

นางวินตาตอบว่า “กลางมหาสมุทรมีชนพวกหนึ่งชื่อนิษาท เจ้าจงไปกินคนพวกนั้นจนอิ่มแล้ว จึงไปพาอมฤตมาเถิด กินอาหารของเจ้าครั้งนี้ เจ้าต้องระวังอย่ากินพราหมณ์เข้าไปเป็นอันขาด เพราะการฆ่าพราหมณ์บาปนัก พราหมณ์ในเวลาโกรธนั้น มีเดชเหมือนไฟ แลมีพิษยิ่งคมอาวุธที่อาบยา เจ้าจงระวังอย่ากินพราหมณ์เป็นอันขาด

พญาครุฑถามว่า “ข้าพเจ้าจะรู้จักพราหมณ์ได้ด้วยประการใด”

นางวินตาตอบว่า “ถ้าเจ้ากินคนเข้าไปแลเขาบาดคอเจ้าเหมือนเบ็ดเกี่ยวภาคในแห่งปลา แลไหม้คอเจ้าเหมือนกลิ่นถ่านติดไฟ แลเมื่อลงไปถึงกระเพาะแล้วก็ไม่ละลายฉะนี้ เจ้าจงทราบว่า ได้กลืนพราหมณ์เข้าไปแล้ว”

นางวินตากล่าวสั่งสอนแลให้พรบุตรแล้ว พญาครุฑก็ลามารดาบินขึ้นฟ้า ไม่ช้าก็ถึงที่อยู่แห่งพวกนิษาท บินร่อนอยู่บนฟ้าพลางกระพือปีกให้ฝนกระหลบไปในอากาศ แล้วดูดน้ำทะเลขึ้นไป ทำให้เกิดกระเทือนสนั่นหวั่นไหว พวกนิษาทตกใจ ก็วิ่งแตกตื่นกันไปมา ไม่เห็นลู่ทางอันใด พญาครุฑก็อ้าปากขวางทางไว้ พวกนิษาทก็วิ่งเข้าไปในปากมีจำนวนมิรู้กี่พันคน ขณะมีพราหมณ์คนหนึ่งกับภรรยาวิ่งปั่นป่วนไปกับคนอื่น ๆ ก็เข้าปากพญาครุฑไปด้วย พญาครุฑรู้สึกเหมือนกลืนถ่านติดไฟเข้าไปไหม้คอ รู้ว่าได้กลืนพราหมณ์เข้าไปแล้ว จึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้มีกำเนิดสองชั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้กลืนท่านเข้าไปแล้ว ท่านจงกลับออกมาตามทางปาก ซึ่งข้าพเจ้าให้นี้เถิด เพราะข้าพเจ้าไม่ฆ่าพราหมณ์ แม้จำพวกที่ทาบาป”

พราหมณ์กล่าวว่า “ภรรยาข้าพเจ้าเป็นนิษาท ท่านจงอนุญาตให้ออกด้วย”

พญาครุฑตอบว่า “ออกมาเถิด ข้าพเจ้ารู้ได้ด้วยความร้อนในกระเพาะว่า ท่านไม่ละลายเหมือนอาหารอื่น”

ครั้นพราหมณ์แลภรรยากลับออกมาจากปาก แลกล่าวสรรเสริญพญาครุฑแล้ว พญาครุฑก็บินขึ้นบนอากาศ พอพบพระกศฺยปผู้บิดา พระกศฺยปก็เรียกให้พญาครุฑหยุด แล้วถามว่า “ลูกเอ๋ย เจ้ามีสุขอยู่หรือ เจ้ามีอาหารกินพออิ่มหรือไม่”

บุตรตอบว่า “ข้าพเจ้าแลมารดาไม่มีความเจ็บป่วยประการใด แต่ข้าพเจ้าไม่มีอาหารพออิ่ม ความสุขจึงไม่เต็มที่ วันนี้ข้าพเจ้าจะไปแย่งอมฤตมาให้นาคเพื่อถ่ายความเป็นทาสของมารดาแลของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าต้องกินให้อิ่มเสียก่อน จึงจะไปแย่งได้สำเร็จ มารดาสอนให้ข้าพเจ้าไปกินพวกนิษาท ข้าพเจ้าก็ได้ไปกินแล้ว แต่ยังไม่อิ่ม ขอท่านผู้เป็นบิดาจงให้ข้าพเจ้าทราบอาหารอื่น ซึ่งข้าพเจ้าจะกินได้จนอิ่ม แลมีกำลังพอไปแย่งอมฤตได้”

พระกศฺยปตอบว่า “เจ้าจงดูลงไปยังแผ่นดินข้างนี้ เห็นแผ่นน้ำใหญ่ซึ่งเป็นทะเลสาบบุญ แม้เทพดาก็บรรลือเกียรติแห่งทะเลสาบนั้น ที่ทะเลสาบมีช้างใหญ่ตัวหนึ่งกับเต่าใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นอริกัน ในกาลก่อนมีฤษี ๒ องค์ เป็นพี่น้องกัน ฤษีทั้ง ๒ นั้น วิวาทกันด้วยการแบ่งสมบัติแลด้วยความโลภ ในที่สุดต่างคนสาปกันให้เป็นช้างแลเป็นเต่า ต่างคนก็เป็นไปตามสาป สัตว์ทั้ง ๒ ถือตัวว่ามีกำลังกล้า ก็ต่อสู้กันอยู่เนืองนิตย์ เจ้าจงดูเถิด ช้างใหญ่กำลังเดินมาที่ฝั่งทะเลสาบ แลร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง เต่าใหญ่อยู่ในน้ำได้ยินเสียงช้างก็ผุดขึ้นมา ทำให้น้ำเป็นคลื่น แลเข้าต่อสู้หมายฆ่าชีวิตซึ่งกันแลกัน ช้างนั้นสูง ๖ โยชน์ วัดโอบตัวโดยรอบถึง ๑๒ โยชน์ เต่านั้นสูง ๓ โยชน์ วัดโอบตัว ๑๐ โยชน์ เจ้าจงกินสัตว์ทั้ง ๒ นั้น เพื่อจะได้มีกำลังไปแย่งอมฤตได้ การที่เจ้าจะไปรบแลแย่งอมฤตจากเทพดาครั้งนี้ พระเวททั้ง ๓ แลสิ่งประเสริฐทั้งปวง จงให้กำลังแก่เจ้าให้สมปรารถนา”

พญานกได้รับคำสอนแลคำอวยพรจากบิดาแล้ว ก็บินขึ้นบนอากาศ มิช้าถึงทะเลสาบ ซึ่งช้างใหญ่แลเต่าใหญ่กำลังต่อสู้กันอยู่ พญานกก็ถาลงจากฟ้าจับสัตว์ทั้ง ๒ ในกรงเล็บข้างละตัว แล้วบินกลับขึ้นบนฟ้า เที่ยวหาที่จะเกาะกินอาหาร ต้นไม้ทั้งหลายเห็นก็ตกใจกลัวนกใหญ่จะเกาะ นกเห็นต้นไม้กลัวก็บินเลยไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ต้นไม้กล่าวแก่นกว่า “ท่านจงเกาะบนกิ่งยาว ๑๐๐ โยชน์นี้ของข้าพเจ้า จะได้กินช้างแลเต่านั้น”

พญาครุฑได้ฟังดังนั้น ก็เกาะลงบนกิ่งไม้ใหญ่ กิ่งไม้ทนน้ำหนักไม่ได้ก็หักจากต้น พญานกเอาปากคาบกิ่งไม้ไว้มิให้ตกถึงดิน เพราะกิ่งไม้นั้นมีฤษีจำพวกพาลิขิลยะห้อยหัวจำพรตอยู่เป็นอันมาก พญาครุฑนึกในใจว่า ถ้าเราปล่อยให้กิ่งไม้ตกถึงดิน ฤษีเหล่านั้นก็จะคอหักตายหมด เราจำเป็นต้องหิ้วกิ่งไม้ไว้ก่อน

ฝ่ายเหล่าฤษีเห็นพญานกทำดังนั้น ก็กล่าวสรรเสริญ แลตั้งชื่อพญานกว่า “เพราะนกใหญ่นี้พาเอาสิ่งที่มีน้ำหนักมากบินขึ้นบนฟ้าได้ นกจงได้ชื่อว่าครุฑ” (ผู้พาน้ำหนักมากไปได้)

ส่วนพญานกนั้น เมื่อหาที่เกาะไม่ได้ ก็บินไปที่เขาคันธมาทน์ เพื่อจะถามพระกศฺยป ๆ เห็นบุตรไปถึงจึงกล่าวว่า “เจ้าจงระวังให้ดี ฤษีวาลิขิลยะ หมู่นี้ใช้แสงพระอาทิตย์เป็นอาหาร ถ้าโกรธก็อาจเผาเจ้าให้ไหม้เป็นผงไปได้”

พระกศฺยปกล่าวดังนั้นแล้ว ก็กล่าวแก่เหล่าฤษีว่า “พญานกนี้เกิดมาเพื่อประโยชน์แก่ชนทั้งหลาย เวลานี้กำลังเพียรจะทำการใหญ่ ท่านจงอนุญาตให้ทำเถิด”

เหล่าฤษีวาลิขิลยะได้ฟังพระกศฺยปกล่าวดังนั้น ต่างก็ปล่อยตัวจากกิ่งไม้ไปทำตบะอยู่ยังเขาหิมาลัย พญานกปากยังคาบกิ่งไม้อยู่ จึงถามพระกศฺยปว่า จะควรเอากิ่งไม้ไปทิ้งลงที่ไหน ซึ่งจะไม่เป็นภัยแก่คน เพราะไม่มีมนุษย์อยู่ พระกศฺยปบอกตำแหน่งเขา ๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีคนอยู่ แลไม่มีใครจะไปถึงได้ แม้ด้วยความคิด พญานกจึงบินคาบกิ่งไม้ไปยังเขานั้น ทิ้งกิ่งไม้ลงบนเขา ทำให้กระเทือนทั่วไปทั้งโลกแล้วก็เกาะบนยอดเขานั้น กินช้างแลเต่าหมดแล้ว ก็บินจะไปต่อสู้กับหมู่เทพดา

ส่วนในเทพดานั้น เกิดลางร้ายต่าง ๆ วัชระของพระอินทร์ก็ลุกขึ้นเป็นไฟเพราะความกลัว อาวุธของพระวสุ พระรุทระ พระอาทิตย์ พระมรุตแลของเทพดาอื่น ๆ ก็เกิดต่อสู้กันขึ้นเอง มาลัยซึ่งเทพดาทรงอันเป็นดอกไม้ซึ่งมิรู้เหี่ยว ก็เหี่ยวแห้งไป ฝนก็ตกเป็นเลือด ทั้งลางร้ายอย่างอื่น ๆ ก็เกิดหลายอย่าง

พระอินทร์ทรงเห็นดังนั้น ก็เกิดวิตก จึงเสด็จไปหาพระพฤหัสบดีถามว่า “ลางร้ายเหล่านี้เกิดเพราะเหตุใด ข้าพเจ้าคิดไม่เห็นเลยว่า มีใครจะเป็นศัตรูมาทำร้ายเราได้”

พระพฤหัสบดีตอบว่า “เพราะท่านประมาทจึงจะเกิดเหตุ เหล่าฤษีวาลิขิลยะ ทำตบะกล้าจนเป็นภัยแก่ท่าน แต่จะมีนกใหญ่ซึ่งเป็นบุตรพระกศฺยปแลนางวินตามาแย่งอมฤตจากท่าน นกนั้นมีกำลังแลมีเดชยอดยิ่ง จะทำอะไรแม้ที่ไม่มีใครทำได้ก็ทำได้”

พระอินทร์ทราบดังนั้น ก็กลับไปตรัสกำชับเทพดาทั้งปวง ให้ช่วยรักษาอมฤต พระอินทร์เองทรงคุมวัชระคอยอยู่ในที่ใกล้ เทพดาอื่น ๆ ก็แต่งเครื่องรบถืออาวุธล้อมรักษาอมฤตอยู่พร้อมหน้ากัน

ชุมนุมฤษีถามว่า “พระอินทร์ทำผิดข้อใด แลที่พระพฤหัสบดีกล่าวว่า ประมาทนั้น ประมาทอย่างไร เหตุใดครุฑจึงเกิดเพราะเหล่าฤษีวาลิขิลยะทำตบะ เหตุใดพระกศฺยปจึงมีลูกเป็นพญานกมีความสามารถถึงเพียงนั้น

เสาติกล่าวว่า

ครั้งหนึ่งพระกศฺยปพรหมฤษีประชาบดี ทำการบูชาเพื่อจะได้ลูก พระกศฺยปมอบให้พระอินทร์แลเหล่าฤษีวาลิขิลยะเป็นผู้หาขึ้นมาเติมในกองไฟตลอดเวลาพิธี พระอินทร์มีกำลังมาก ก็ถือฟืนมาเป็นอันมาก มีน้ำหนักเสมอภูเขา มาตามทาง พระอินทรพบเหล่าฤษีวาลิขิลยะตัวเล็กเตี้ยเท่าหัวแม่มือ ช่วยกันมาหามฟืนมาได้นิดเดียว เมื่อตกลงในรอยเท้าโค ก็ขึ้นไม่ใคร่ได้ พระอินทร์เห็นดังนั้นก็หัวเราะเยาะ แล้วข้ามหัวเหล่าฤษีนั้นไป เหล่าฤษีโกรธเป็นกำลัง ก็ตั้งทำตบะ เพื่อจะให้เกิดพระอินทร์ใหม่อีกองค์หนึ่ง มีเดชยิ่งที่เปรียบ แลให้เป็นที่เกรงขามทั่วไป จนถึงพระอินทร์ที่มีอยู่แล้ว ก็ต้องหวาดหวั่น

ฝ่ายพระอินทร์เมื่อได้ทราบว่า เหล่าฤษีวาลิขิลยะทำตบะโดยประสงค์เช่นนั้น ก็ตกใจไปหาพระกศฺยปขอให้ช่วย พระกศฺยปทราบเรื่องตลอดแล้ว ก็ไปยังที่ทำตบะของเหล่าฤษีวาลิขิลยะแลกล่าวชี้แจงว่า พระอินทร์นั้น เป็นผู้ซึ่งพระพรหมาตั้งให้ครองโลกทั้ง ๓ แลการที่จะให้เกิดพระอินทร์ขึ้นอีก ก็คือทำให้คำของพระพรหมาเสื่อมไป เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้มีพระอินทร์อีกองค์หนึ่ง ก็ให้มีพระอินทร์ซึ่งมีชาติเป็นนก เป็นพระอินทร์นกเถิด

เหล่าฤษีวาลิขิลยะตอบว่า “ข้าแต่พระกศฺยป พวกเราทำตบะเพื่อจะให้เกิดพระอินทร์อีกองค์หนึ่ง แลทั้งเพื่อจะให้ท่านมีบุตรด้วย ขอท่านจงรับประโยชน์แต่บุญอันพวกเราทำแล้ว แลยังการให้เป็นไปตามปรารถนาของท่านเถิด”

ในตอนเดียวกันนั้น นางวินตาผู้ภรรยาพระกศฺยปขอบุตรต่อสามี พระกศฺยปให้พร ให้นางมีบุตรดังเล่ามาในเบื้องนั้นแล้ว

เสาติเล่าต่อไปว่า

ส่วนการรบแย่งอมฤตครั้งนั้น เหล่าเทพดาเตรียมต่อสู้พร้อมแล้ว ไม่ช้าพญานกก็ไปถึง เหล่าเทพดาเห็นพญานกมาแต่ไกล ก็ตกใจอลหม่านจนเกิดรบสู้กันขึ้นในพวกเดียวกัน ฝ่ายพญาครุฑครั้นบินไปถึง ก็เข้ากระพือปีกพัดให้ฝุ่นกระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าทำร้ายเหล่าเทพดาด้วยเล็บด้วยปากแลด้วยปีก จนเทพดาได้ความเจ็บปวดสิ้นฤทธิ์ไปเป็นอันมาก ฝ่ายพระอินทร์เมื่อเห็นฝุ่นกระหลบไปจนไม่เห็นตัวศัตรู ก็ตรัสแก่พระพายว่า “ท่านจงพัดให้ฝุ่นกระจายไปโดยเร็วเถิด”

พระพายได้ยินพระอินทร์ตรัสดังนั้น ก็พัดพาฝุ่นไปหมด เหล่าเทพดาเห็นตัวพญานก ก็พากันเข้าต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ พญานกรบสู้ด้วยอาวุธซึ่งมีอยู่ในตัว คือเล็บแลปากแลปีก เทพดาทั้งหลายสู้ไม่ได้ ก็หนีไปตามทิศต่าง ๆ

ฝ่ายพญานก ครั้นเทพดาเปิดทางให้แล้ว ก็ตรงเข้าไปยังที่เก็บอมฤตเห็นเพลิงกองล้อมอยู่รอบ เพลิงนั้นมีเปลวร้อนเหมือนจะไหม้พระอาทิตย์ให้เป็นผงไปได้ พญาครุฑเห็นดังนั้น ก็จำแลงกายเป็นนกใหญ่ มีปากเก้าสิบเก้าสิบ (๘๑๐๐) ปาก แล้วบินไปอมน้ำในแม่น้ำ ซึ่งมีจำนวนเท่าจำนวนปาก กลับมาดับไฟที่ล้อมรอบอมฤตอยู่นั้นได้ ครั้นไฟดับแล้ว พญานกก็แปลงกายเป็นนกสีทองตรงเข้าไปจะถือเอาอมฤต พบจักร ๆ หนึ่ง ซึ่งคมเหลือหาที่เปรียบ จักรนั้นหมุนอยู่มิได้หยุด แลย่อมจะติดกายผู้พยายามจะลักอมฤตให้ขาดไปได้ พญานกเห็นดังนั้น ก็แปลงเป็นนกตัว เล็กที่สุด แล้วโจนลอดช่องซึ่งเห็นในจักรนั้น เข้าไปได้ด้วยความเร็ว ครั้นลอดพ้นจักรไปแล้ว ยังพบนาค ๒ ตัว มีแสงเหมือนแสงไฟ มีลิ้นเหมือนฟ้าแลบ พ่นไฟพิษออกจากปาก แลมีตาอันไม่กระพริบ ผู้ใดเข้าไปให้นาคทั้ง ๒ เห็นได้ด้วยตา ผู้นั้นก็ย่อมจะเสียชีวิตไปในทันที ฝ่ายพญาครุฑเมื่อเข้าไปพบนาค ก็กระพือปีกให้เกิดฝุ่นเข้าตานาคทั้ง ๒ แล้วเข้าฉีกนาคเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยไป

ครั้นสิ้นผู้รักษาแล้ว พญาครุฑก็เข้าถือเอาอมฤต แลพาบินขึ้นบนอากาศ แต่หาได้ดื่มอมฤตนั้นไม่ พญานกบินไปตามทางพบพระนารายณ์ ๆ ตรัสสรรเสริญพญานกว่า ฝืนใจตนได้ไม่กลืนอมฤต จึงรับสั่งว่าจะประทานพรแก่พญานก เมื่ออยากได้อะไรก็ให้ขอเถิด

พญาครุฑทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าขออยู่สูงกว่าพระองค์ ขอเป็นผู้ไม่มีเวลาตาย แลไม่มีเวลาเจ็บ แม้มิได้กินอมฤต”

พระนารายณ์ประทานพรแก่พญาครุฑตามประสงค์แล้ว พญาครุฑกลับทูลพระนารายณ์ว่า “ข้าพเจ้าจะถวายพรแก่พระองค์พรหนึ่ง”

พระนารายณ์ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้พร คือยอมเป็นพาหนะของข้า แลข้าให้ท่านอยู่ที่เสาธงของข้า เพื่อท่านจะอยู่สูงกว่าข้าได้ตามประสงค์”

เมื่อเสร็จให้แลรับพรกันดังนั้นแล้ว พญานกก็ทูลลา พระนารายณ์บินต่อไป ความเร็วของนกเย้ยความเร็วของลมในอากาศ ขณะนั้นพระอินทร์ตามมาเอาวัชระขว้างถูกกายพญานก พญานกหยุดพูดแก่พระอินทร์ว่า “ข้าพเจ้าถูกอาวุธของท่านไม่เจ็บปวดประการใด แต่ข้าพเจ้านับถืออาวุธของท่านแลนับถือท่าน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ายอมให้ขนร่วงไปขนหนึ่ง”

พญานกพูดดังนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้ขนตกลงดินขนหนึ่ง ชนทั้งหลายได้เห็นขนอันงาม จึงกล่าวแก่กันว่า นกนี้จงมีชื่อว่า “สุบรรณ” เพราะขนงามนัก พญาครุฑจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า สุบรรณ ด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายพระอินทร์เมื่อเห็นดังนั้น ก็ตรัสแก่พญาครุฑว่า “เราทั้ง ๒ จงมีไมตรีแก่กันแต่นี้ไป แต่ท่านจงบอกแก่ข้าว่า กำลังของท่านนั้นมีที่สุดเพียงไหน”

พญาครุฑตอบว่า “ท่านกับข้าพเจ้าจงเป็นมิตรกันตามปรารถนาของท่าน ส่วนกำลังของข้าพเจ้านั้น การอวดตัวเองเป็นสิ่งซึ่งนักปราชญ์ย่อมติเตียน แต่เราทั้ง ๒ เป็นผู้มีไมตรีต่อกันแล้ว ข้าพเจ้าจะบอกท่านตามตรงว่า ขนของข้าขนเดียวอาจยกโลกนี้ขึ้นได้ แลข้าพเจ้าอาจพาโลกทั้ง ๓ ไปได้ตามปรารถนา”

พระอินทร์ตรัสว่า “คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นคำจริงทุกประการ สิ่งใดที่ไม่มีผู้ทำได้ ท่านก็อาจทำได้ บัดนี้ท่านกับข้าพเจ้ามีไมตรีต่อกันแล้ว แต่ท่านไม่มีที่ใช้อมฤต ท่านจงคืนมาให้ข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าเหล่านาค ซึ่งท่านจะนำเอาอมฤตไปให้นั้น จะเป็นศัตรูปองร้ายเราเป็นแน่”

พญาครุฑตอบว่า “ข้าพเจ้าจต้องนำเอาอมฤตนี้ไปให้แก่ฝูงนาคเพื่อรักษาความสัตย์ แต่ไม่จำเป็นจะให้นาคได้กินอมฤตนี้ เชิญท่านตามข้าพเจ้ามาแลเมื่อข้าพเจ้าวางอมฤตลงให้นาคแล้ว ท่านจงหยิบกลับไปเสีย อย่าให้ได้ทันถูกต้องได้”

พระอินทร์ตรัสว่า “ข้าพเจ้ายินดีในคำที่ท่านกล่าวนี้ แลจะให้พรแก่ท่านพรหนึ่ง ท่านมีประสงค์อะไรจงกล่าวเถิด”

พญาครุฑตอบว่า “ข้าพเจ้ามีอำนาจจะทำสิ่งใดได้ตามปรารถนาทุกสิ่งแล้วก็จริง แต่เมื่อท่านมีกรุณาจะให้พรข้าพเจ้า ๆ ก็ขอรับเอาด้วยความเคารพ ท่านจงอำนวยให้นาคเป็นอาหารของข้าพเจ้าเถิด”

ครั้นพระอินทร์อวยพรตามพญาครุฑประสงค์แล้ว ก็ไปเฝ้าพระนารายณ์ทูลความให้ทรงทราบ พระนารายณ์ทรงเห็นชอบ พระอินทร์ก็ทูลลาออกตามพญาครุฑไป

ฝ่ายพญานกเมื่อสนทนากับพระอินทร์แล้ว ก็รีบบินไปโดยเร็ว จนถึงที่ซึ่งฝูงนาคคอยอยู่ พญานกจึงกล่าวแก่ฝูงนาคว่า “ข้าได้น้ำอมฤตมานี่แล้ว แลจะวางลงบนที่ซึ่งมีหญ้าคารองอยู่นี้ ท่านทั้งหลายจงชำระกายให้สะอาดแล้วจึงกินอมฤต แลจงยอมให้มารดาของข้าพ้นเป็นทาสีแต่เดี๋ยวนี้”

ฝูงนาคได้เห็นอมฤตก็มีความยินดีแลกล่าวยินยอมให้นางวินตาพ้นทาส แล้วพากันอาบน้ำชำระกาย เพื่อจะกลับมากินอมฤต แต่ในขณะนั้นพระอินทร์ได้ตามมายกหม้ออมฤตกลับคืนไปเสียแล้ว ฝูงนาคกลับมาไม่เห็นหม้ออมฤต ก็พากันเลียหญ้าคาซึ่งเป็นที่รองหม้อ หญ้าคาบาดลิ้นนาค งูทั้งหลายจึงมีลิ้นผ่าเป็นซ่อมจนทุกวันนี้ ส่วนหญ้าคานั้น เพราะเหตุได้รองหม้ออมฤต จึงนับถือกันว่าเป็นหญ้าบุญ ใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ ตลอดมาจนเวลาปัจจุบัน

เรื่องพญานกนี้ ผู้ใดฟังโดยเคารพก็ดี ผู้ใดอ่านในที่ประชุมพราหมณ์ก็ดี ผู้นั้นย่อมจะได้ไปสวรรค์ ไปทางคลาดแคล้วได้

ชุมนุมฤษีถามว่า “เมื่อนางกทฺรุได้สาปนาคผู้เป็นบุตรแล้ว นาคได้ทำอย่างไรต่อไปบ้าง”

เสาติเล่าว่า

พญานาคตัวที่ผู้ชื่อเศษะนั้น เมื่อถูกสาปพร้อมกับน้องทั้งหลายแล้วก็ทิ้งพวกไปทำตบะอย่างเรี่ยวแรง จนพระพรหมาเสด็จมาถามว่า มีประสงค์อะไร

พญาเศษะทูลว่า “ น้องข้าพเจ้าทั้งหลายมีใจบาป ข้าพเจ้าไม่อยากอยู่ด้วย ขอพระองค์จงประทานอนุญาต และโปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีใจบุญ ไม่มีเวลาเปลี่ยนแปลง”

พระพรหมาตรัสตอบว่า “ข้าให้พรแก่ท่านตามประสงค์ แลขอตั้งให้ท่านเป็นผู้รองแผ่นดินนี้ไว้มิให้กระเทือนหวั่นไหวดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ท่านจงลงไปใต้แผ่นดิน ตามทางซึ่งนางธรณีจะแหวกให้นั้นเถิด”

พญาเศษะ อีกนามหนึ่งคือพญาอนันตะรับรับสั่งพระปู่แล้ว ก็ลงไปแบกแผ่นดินไว้แต่นั้นมา

เสาติเล่าต่อไปว่า

ฝ่ายพญาวาสุกิ ผู้เป็นน้องถัดพญาอนันตะนั้น เมื่อได้ฟังคำสาปมารดาแล้ว ก็ตรึกตรองจะหาทางแก้ไขบรรเทาคำแช่ง จึงนัดให้น้องชายทั้งหลายมาประชุมกันปรึกษาหาวิธีป้องกันมิให้พระชนเมชัยทำพิธีผลาญงูในภายหน้า

น้องชายบางคนกล่าวว่า “เราจงแปลงกายเป็นฤษี เข้าไปทูลพระชนเมชัยอย่าให้ตั้งพิธีอันนั้น”

บางคนกล่าวว่า “เราจะแปลงกายเป็นบุรุษมีปัญญา เข้าไปรับราชการเป็นมนตรี ซึ่งพระราชาทรงไว้วางพระราชหฤทัยแล้วช่วยกันทูลทัดทานด้วยอุบายต่าง ๆ มิให้ทรงทำพิธีผลาญงู”

บางคนกล่าวว่า “เราควรลอบกัดคนทั้งหลาย ซึ่งมีความรู้สามารถทำพิธีผลาญงูได้”

บางคนกล่าวว่า “เราจะเป็นฝนตกดับไฟบูชายัญให้เสียพิธี หรือไปด้วยกันให้มาก ตรงเข้ากัดคนทั้งหลาย ซึ่งมาประชุมทำพิธีให้แตกตื่นไปสิ้น”

บางคนกล่าวว่า “เมื่อพระชนเมชัยเสด็จลงสรงในแม่น้ำ เราจะกุมพระองค์พาลงไปขังไว้ยังเมืองนาค หรือทำลายพระชนม์เสีย”

เมื่อน้องทั้งหลายได้แสดงความเห็นต่างกันดังกล่าวนี้แล้ว พญาวาสุกิจึงตอบว่า “ความเห็นที่กล่าวนี้คงจะทำไม่สำเร็จ มาเราจะไปหารือพระกศฺยปผู้บิดาเราเถิด”

ขณะนั้นนาคอีกคนหนึ่งชื่อเวลปัตรกล่าวแก่พญาวาสุกิว่า “พิธีผลาญงูนั้น ไม่ใช่พิธีที่จะกีดกั้นได้ แลพระชนเมชัยก็ไม่ใช่พระราชา ซึ่งเราทำอุบายขัดขืน แต่ข้าพเจ้าทราบทางที่จะทำให้คำแช่งของมารดาแบ่งเบาลงบ้าง คือข้าพเจ้าแอบได้ยินเหล่าเทพดาเข้าไปทูลถามพระพรหมาในเรื่องนี้ว่า “เหตุใดทรงเห็นชอบในคำสาปของนางผู้เป็นมารดาเรา พระปู่ตรัสตอบว่า นาคเกิดมากเหลือประมาณ บางตัวดุร้ายไม่มีที่สุด แลมีใจบาปเป็นอันยิ่ง เหตุฉะนั้น จึงควรถูกทำลายเสียบ้าง ส่วนนาคที่ไม่มีใจบาปนั้น มีทางแก้ไว้แล้ว คือจะมีฤษีชื่อชรัตการุได้นางนาคชื่อเดียวกันเป็นภรรยา มีบุตรเป็นฤษีมีเดชมากชื่ออัสติก แลฤษีอัสติกนี้จะเป็นผู้ช่วยนาคผู้ประพฤติดีให้รอดได้ พระปู่ได้ตรัสไว้ดังซึ่งข้าพเจ้าได้ยินมานี้ ขอท่านผู้เป็นใหญ่ในหมู่นาคจงยกนางผู้น้องให้เป็นภรรยาฤษีชรัตการุผู้เที่ยวเตร็จเตร่หาเมียอยู่ในป่า เพื่อประโยชน์แก่เราทั้งปวง”

ชุมนุมฤษีกล่าวว่า “ท่านจงเล่าว่า ฤษีอัสติกเกิดอย่างไร”

เสาติกล่าวว่า

เมื่อพญาวาสุกิแลนาคทั้งปวงประชุมปรึกษากันตกลงจะยกนางนาคให้เป็นภรรยาฤษีชรัตการุแล้ว เวลาก็ล่วงไปช้านาน ระหว่างนั้น ฤษีชรัตการุบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์เที่ยวเตรจเตร่อยู่ในป่า

ในเวลามีพระราชาทรงศักดิ์ใหญ่ ทรงนามพระปริกษิต เป็นราชโอรสพระอภินันยุ แลราชนัดดาของพระอรชุน วันหนึ่งพระปริกษิตเสด็จเที่ยวยิ่งสัตว์ป่า พบกวางตัวหนึ่งก็ทรงยิ่งด้วยศร กวางต้องอาวุธแล้วก็หนีเข้าป่า พระราชาก็เสด็จตามรอยกวางเข้าไป มิช้ากวางก็หนีพ้นไปได้ พระราชาองค์นี้ เมื่อทรงแผลงศรต้องสัตว์ตัวใด สัตว์นั้นก็ไม่ค่อยรอดชีวิตไปได้ แต่การที่กวางถูกศรทรง แลหนีไปได้ครั้งนี้ ก็แสดงว่า พระราชาใกล้จะสวรรคตอยู่แล้ว

ฝ่ายพระปริกษิตทรงตามกวางเข้าไปในป่าไม่ทันกวาง พบฤษีองค์หนึ่งกำลังกินฟองไหลออกจากปากลูกวัวซึ่งดูดนมแม่ พระราชาจึงเสด็จเข้าไปตรัสแก่ฤษีว่า “ข้าพเจ้าพระปริกษิตผู้เป็นพระราชาได้ยิงธนูถูกกวางแล้วกวางหนีเข้ามาในป่าทางนี้ ท่านได้เห็นกวางนั้นไปทางไหน จงบอกให้ข้าพเจ้าทราบ”

ฝ่ายฤษีผู้นั้น เมื่อได้ยินพระราชาตรัสถามก็นิ่งมิได้ตอบประการใด เพราะเป็นผู้พรตไม่พูด พระราชากริ้วก็เอาธนูเขี่ยศพงูซึ่งอยู่ในที่ใกล้มาข้างตัวฤษีแล้วเอาขึ้นพันไว้ที่คอ ฤษีก็นิ่งให้ทำแลมิได้กล่าวคำดีหรือคำชั่วประการใดเลย พระปริกษิตทรงเห็นดังนั้น ก็รู้สึกพระองค์ว่าทำผิด หายกริ้วฤษีแลเสด็จกลับคืนพระนคร ส่วนฤษีนั้น แม้นเป็นผู้มีเดชมาก ก็มิได้สาปพระราชา เพราะทราบว่า พระปริกษิตเป็นเจ้าแผ่นดิน ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยเที่ยงธรรม

แต่ฤษีองค์นั้น มีบุตรเป็นฤษีมีเดชเหมือนกัน แลเป็นผู้มีใจวู่วามยิ่งนัก ฤษีบุตรนี้ชื่อ ศฤงคี มีเพื่อนชื่อกฤศะ วันหนึ่งกฤศะทราบเรื่องพระปริกษัตเอาศพงูพันคอฤษีบิดาศฤงคี จึงเล่าเรื่องให้ศฤงคีฟังเป็นเชิงเย้า ศฤงคีโกรธเป็นกำลังก็สาปว่า ให้พระปริกษิตสิ้นพระชนม์ใน ๗ วันด้วยพิษงู คือตักษกะพญานาค ครั้นสาปแล้วก็ไปหาบิดาเห็นศพงูยังพันคออยู่ก็ยิ่งโกรธ จึงเล่าคำสาปให้บิดาทราบ

ฤษีสมิกะผู้บิดาได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวแก่บุตรว่า “เจ้าทำดังนั้นไม่ชอบ เราอยู่แว่นแคว้นของพระราชา พระองค์ก็ทรงปกครองดี เราจึงได้ความสุข หากพระองค์ทำพลาดพลั้งบ้างก็ไม่ควรสาป การที่เราบำเพ็ญพรตตบะอยู่ได้ ก็เพราะอารักขาของพระราชา มิฉะนั้นจะมีผู้รบกวนเรามิให้ทำตบะได้สะดวก อนึ่งการทำพิธีบูชานั้น ก็สำเร็จได้ด้วยพระราชาทรงครอบงำแลเทพดาทั้งหลาย ย่อมยินดีต่อการกระทำบูชาของเราแลอำนวยให้ฝนตกเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย พระมนูตรัสไว้ว่า “พระราชานั้นเสมอกับพราหมณ์ผู้รู้เวทสิบคน” เพราะฉะนั้นไม่ควรผู้ใดจะสาปพระราชาเป็นอันขาด เจ้าเป็นผู้มีเดชมาก แลคำสาปของเจ้าคงจะเป็นไปตามกล่าวก็จริง แต่เจ้ายังเป็นเด็กมีใจวู่วามยิ่งนัก ต่อไปเจ้าจงสงบใจลงเสียบ้าง ส่วนคำสาปของเจ้าครั้งนี้ ข้าจะให้ศิษย์ไปทูลพระราชาให้ทรงทราบ เป็นการสนองคุณเล็กน้อยตามควรจะทำได้”

ฤษีสมิกะกล่าวดังนั้นแล้ว ก็ให้ศิษย์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าทูลความต่อพระราชา ศิษย์ลาอาจารย์เข้าไปยังกรุงหัสดินปุระเข้าเฝ้าพระปริกษิตทูลว่า “ข้าแต่พระราชา ฤษีสมิกะซึ่งพระองค์เอาศพงูพันคอในขณะที่กำลังถือพรตไม่พูดอยู่นั้น หาได้ถือโทษพระองค์ไม่ แต่ฤษีศฤงคีผู้บุตรนั้นโกรธพระองค์นัก จึงสาปให้พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยพิษตักษกะพญานาค ครั้นฤษีสมิกะผู้บิดาได้ทราบก็ร้อนใจ จึงให้ข้าพเจ้ามาทูลให้ทรงทราบ

พระปริกษิตพระราชาทรงรำลึกเหตุขึ้นได้ แลเมื่อทรงทราบว่า ฤษีไม่ทูลตอบ เพราะกำลังถือพรตไม่พูด ก็ทรงเสียใจยิ่งนัก ครั้นศิษย์ฤษีทูลลาไปแล้ว ก็ตรัสเรียกข้าราชการทั้งปวงเข้ามาประชุมปรึกษาการรักษาพระองค์ตรัสให้สร้างปราสาทขึ้นบนเสาสูง เสด็จขึ้นประทับอยู่บนนั้น แล้วให้พราหมณ์ผู้ชำนาญมนต์แลแพทย์ผู้ชำนาญยามาล้อมระวังอยู่รอบปราสาท ไม่มีคนหรือสัตว์ชนิดใด นอกจากคนสนิทจะเข้าไปใกล้พระองค์พระราชาได้

ฝ่ายพระกศฺยปทราบเหตุก็จะรีบมายังกรุงหัสดินปุระ เพื่อจะรักษาพระราชาให้พ้นพิษพญานาค วันนั้นเป็นวันคำรบเจ็ด พระกศฺยปพบพญาตักษกะกลางทาง พญาตักษกะจำแลงกายเป็นพราหมณ์ เข้าไปแสดงความเคารพต่อพระกศฺยปแล้วถามว่า “ท่านจะไปไหน จึงแสดงกิริยารีบร้อนถึงเพียงนี้”

พระกศฺยปไม่ทันสงสัยกล่าวตอบว่า “ตักษกะพญานาคจะกัดพระปริกษิตวันนี้ ข้าจะรีบไปรักษาพระราชาให้รอดจากพิษพญานาค”

พญาตักษกะกล่าวว่า “ข้าพเจ้านี้เองคือพญานาค เมื่อข้าพเจ้ากัดใครแล้ว ท่านจะรักษาให้รอดความตายนั้นไม่ได้”

พระกศฺยปตอบว่า “ข้าพเจ้ามีวิชารักษาพิษท่านได้ แลจะไปรักษาพระราชาซึ่งท่านจะกัด

พญาตักษกะกล่าวว่า “ถ้าท่านอาจรักษาผู้ที่ข้าพเจ้ากัดแล้วให้คงชีวิตอยู่ได้ ท่านจงรักษาตนไม้นี้ ซึ่งข้าพเจ้าจะกัดให้ไหม้เป็นถ่านไปด้วยพิษของข้าพเจ้า”

พระกศฺยปกล่าวว่า “ถ้าท่านอยากจะทดลองความรู้ของข้าพเจ้า จงกัดต้นไม้เข้าเถิด” พญานาคได้ฟังดังนั้น ก็กัดต้นไม้ใหญ่ซึ่งอยู่ริมทาง อำนาจพิษพญานาคทำต้นไม้ลุกเป็นไฟไหม้ลงทั้งต้น พระกศฺยปเห็นดังนั้น ก็ใช้วิชาอันได้รับรู้จากพระพรหมา แก้ต้นไม้ให้คืนดีดังเก่า

พญาตักษกะกล่าวว่า “การที่ท่านจะไปรักษาพระราชาครั้งนี้ เพราะหมายจะได้ทรัพย์หรือ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าจะให้ทรัพย์แก่ท่าน ยิ่งกว่าพระราชาอาจประทานให้ อนึ่ง พระราชาถูกสาปให้ข้าพเจ้ากัด ผู้สาปเป็นผู้มีอำนาจเพราะตบะ ไม่มีผู้ใดจะแก้คำสาปให้เปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งพระราชาก็ถึงกำหนดสิ้นชนมายุแล้ว ท่านจะไปแก้พิษข้าพเจ้าเพื่อประโยชน์อันใดเล่า”

พระกศฺยปได้ฟังดังนั้น ก็เล็งญาณเห็นจริงตามคำพญานาคว่า ชนมายุพระปริกษิตถึงขัยเสียแล้ว พระกศฺยปจึงคืนไปที่อยู่

ฝ่ายพญาตักษกะเมื่อพระกศฺยปกลับไปแล้ว จึงเรียกบริวารนาคมาสั่งว่า ให้ปลอมเป็นพราหมณ์นำผลไม้ หญ้าคา แลน้ำไปถวายพระราชา บริวารนาคก็ทำตามคำสั่งพญานาค พระปริกษิตทรงทราบว่า พราหมณ์นำของไปถวาย ก็ตรัสให้เบิกพราหมณ์เข้าเฝ้า แลทรงรับรองตามควร ครั้นพราหมณ์ถวายของแล้ว ก็ทูลลากลับ พระราชาจึงตรัสแก่มนตรี ซึ่งอยู่ในที่เฝ้าว่า “ท่านกับเรามาช่วยกันกินผลไม้ ซึ่งพราหมณ์นำมาถวายนี้เถิด”

ตรัสดังนั้นแล้ว พระราชาก็ทรงหยิบผลไม้ผลหนึ่งขึ้นผ่า พบหนอนตัวหนึ่งซึ่งพญาตักษกะจำแลงซ่อนอยู่ในผลไม้ พระราชาจึงตรัสแก่มนตรีว่า “กำหนดเจ็ดวันก็สิ้นลงในเวลานี้แล้ว เราจะให้หนอนตัวนี้กัดเรา เพื่อให้คำสาปของฤษีเป็นไปจริง ว่าเราได้ถูกกัด แต่เมื่อหนอนไม่มีพิษแลพ้นเจ็ดวันไปแล้วก็นับว่าคำสาปไม่มีผลสมหมาย”

มนตรีที่เฝ้าอยู่ได้ยินตรัสดังนั้น ก็เผอิญเห็นชอบไปด้วย พระราชาทรงวางหนอนลงบนพระเศียร หนอนกลายเป็นรูปพญาตักษกะพันพระศอพระราชาแล้วกัดคายพิษไว้ในพระองค์ พิษนั้นทำให้ปราสาทไหม้ขึ้นทั้งหลัง พระราชาสิ้นพระชนม์อยู่ในปราสาทนั้น พญาตักษกะก็เหาะหนีไป

เมื่อพระปริกษิตพระราชบิดาเสด็จสู่สวรรค์แล้ว ชนทั้งหลายก็ยกพระชนเมชัยพระราชบุตรขึ้นทรงราชย์สนองพระองค์พระราชบิดาต่อมา

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๑ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกรที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  2. ๒. ปรศุราม แปลว่า รามผู้ถือขวานเป็นอาวุธ หนังสือรามเกียรติ์เรียกรามสูร กล่าวว่าเป็น ยักษ์ แต่ตามเรื่องแขกว่า เป็นคนแลเป็นพราหมณ์ กล่าวว่าเป็นคนหนึ่งใน ๗ คนที่เป็น จิรชีวิน (คนอายุยืน) แลยังมีชีวิตทำตบะอยู่บนเขา มเหนทร ตราบเท่าเวลานี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ