- คำของผู้รวบรวม
- คำนำของสำนักพิมพ์
- ๑. กลถอนกล
- ๒. แข่งอูฐในประเทศสุด่าน
- ๓. กลแก้กัน
- ๔. หนังสือแลคำพูด
- ๕. สักรวามืด
- ๖. แบ่งทรัพย์กัน
- ๗. ป้าเกตกับกวีนวิกตอเรีย
- ๘. คุกใหม่ของอเมริกา
- ๙. ยุคน้ำมัน
- ๑๐. เทศบาลเกาะหิน ใน พ.ศ. ๒๔๙๘
- ๑๑. รู้ใจคน
- ๑๒. พระมเหสีพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
- ๑๓. เรื่องเศรษฐีพิษณุโลก
- ๑๔. มหาภารตะ
- ๑๕. หัสการ
- ๑๖. ปเกียรณการมภ์
- ๑๗. วิธีของหัวหน้าคน
- ๑๘. เรื่องของกองสอดแนมที่กรุงปารีส
- ๑๙.การค้าทาสในเวลานี้
- ๒๐. คำตัดสินของปารีส
- ๒๑. ลอกร่องน้ำสันดอน และ ขยายท่ากรุงเทพ ฯ
- ๒๒. เรื่องแจวเรือจ้าง
หัสการ
จำเดิมแต่ประเทศสเปญได้เปลี่ยนการปกครองบ้านเมือง จนพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปตั้งสำนักและภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศแล้ว ก็ควรเข้าใจว่า คำพูดอังกฤษที่ว่า “สร้างวังป้อมในสเปญ” นั้นคงจะมิได้ใช้กันมากดังแต่ก่อน
๏ ๏ ๏
และเมื่อการออกหวยสลากของเราน้อยลงไปแล้วในบัดนี้ การฝันถึงสมบัติอมรินทร์ ก็คงจะลด ลงไปเช่นกัน
การที่เป็นเช่นนี้ก็ดี เพราะเราเองก็เคยฝันสิ้นครั้งละหลาย ๆ บาท
๏ ๏ ๏
ในเมืองฝรั่งสมัยนี้เกิดมีแฟซชั่นหญิงสักรูปภาพที่ตัว ก็เป็นทางดีอย่างหนึ่งที่มีศิลปวัตถุติดไปกับตน โดยไม่ต้องเสียโสหุ้ยค่าขน
อนึ่ง หญิงโดยมากชอบเป็นผู้เอวบาง ถ้าอ้วนก็ยอมอดอาหาร กินยาแลทำอะไรบ้างก็ไม่ทราบ เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง นี้ก็เป็นแฟซชั่นอีกอย่างหนึ่ง
แฟซชั่นทั้ง ๒ นี้ไม่สามัคคีกัน เป็นต้นว่า เมื่อแม่อ้วนสักรูปภาพงาม ๆ ไว้กับตัวแล้ว ครั้นกลับรูปร่างอ้อนแอ้น รูปภาพก็จะยับเยินยู่ยี่ไปหมด
๏ ๏ ๏
เอดิสันเป็นช่างประดิษฐ์อยู่ในชุดเอกของโลก คนมีศรัทธาเชื่อถือมาก
เมื่อเอดิสันมีอายุยืนมากแล้วก็กล่าวว่า ใครจะเป็นคนปราศจากความเจ็บไข้แลมีอายุยืน ก็ต้องทำงานมาก ๆ
เขาว่า เดี๋ยวนี้คนเชื่อถือเอดิสันน้อยลงไป
๏ ๏ ๏
ผู้ใหญ่ท่านเล่าว่า เมื่อก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณนั้น ใครมีอะไรที่ควรฝังได้ก็เอาไปช่วยเพื่อให้ฝังลงไปในรากพระปรางค์ ได้บุญแรง เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพระสถูปองค์นั้น
เราอยากให้มีการสร้างพระปรางค์กันอีก เพื่อจะได้แนะนำเพื่อนบ้านของเราคนหนึ่ง ให้ส่งเครื่องรับวิทยุดังก้องของเขาไปทำบุญ
๏ ๏ ๏
นักปราชญ์วิทยาศาสตร์บอกเราว่า ดวงตะวันจะอยู่ไปได้อีกหมื่นห้าพันล้านปี เราคิดว่า ถ้าแดดจัดเหมือนวันนี้บ่อย ๆ บางทีตะวันจะสิ้นฤทธิ์ก่อนกำหนดที่ว่า
๏ ๏ ๏
ผู้รู้วิชาตัวแมลงบอกว่า แมลงชนิดหนึ่งอาจอยู่ในเมล็ดพริกไทยได้ตลอดชีวิต ถ้าท่านได้อ่านปเกียรณการมภ์ ฉบับที่ ๒๐ ท่านก็อาจนึกว่า แมลงชนิดนั้นบางตัวคงจะตกอยู่ในความอุตลุดในหมู่นี้
๏ ๏ ๏
อังกฤษมีคำพูดว่า “พายุในถ้วยน้ำชา” เราประหลาดใจที่ในหมู่นี้ไม่เคยพบหนังสือพิมพ์อังกฤษ ใช้คำว่า “พายุในขวดพริกไทย” เลย พายุในที่นั้นเห็นจะร้ายกว่าพายุในทะเลทราย ก็นับว่าเป็นการดีที่ขวดพริกไทยเป็นของเล็ก
จะเป็นด้วยขนาดของขวดพริกไทยกระมัง พายุในขวดพริกไทย (ซึ่งพัดพริกไทยราคาถึง ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท) จึงมิได้รู้สึกมาถึงเมืองไทย แม้เราปลูกพริกได้ดี
๏ ๏ ๏
๑“ในสมัยกรุงโรมโบราณนับมาถึงเดี๋ยวนี้ได้ ๑๘๕๐ ปีเศษ มีมหากษัตริย์องค์หนึ่งทรงนามท้าวไตตัส ทรงฉายาว่า ที่รักของสกลโลก มีคำกล่าวสืบกันมาจนบัดนี้ว่า วันใดมิได้ทรงประกอบการเป็นคุณประโยชน์ วันนั้นก่อนเข้าบรรทมมักตรัสว่า “ข้าได้เสียวันไปเปล่า ๆ อีกวันหนึ่งแล้ว”
คำที่ท้าวไตตัสตรัสนั้น เป็นคำที่ทุกคนควรกล่าวเข้านอนทุกคืนที่ยังไม่ได้สั่งซื้อประมวญมารค
๏ ๏ ๏
สถิติพยากรณ์ของสหรัฐอเมริกาแสดงว่า ในประเทศนั้น อุตสาหกรรมที่มั่งมีที่สุด ก็คือการทำเครื่องกระป๋อง
ท้องย่อมเรียกให้ทรัพย์เกิดเสมอ อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของเรา (ปลูกข้าว) ก็สำหรับท้องนี่เอง
๏ ๏ ๏
“ขึ้นต้นแต่เบื้องล่างเสมอ” นั่นเป็นภาษิต ซึ่งพ่อค้าเศรษฐีสอนผู้จะแรกเริ่มทำการงาน
แต่ควรจะมีคำต่อหว่างวงเล็บว่า “เว้นแต่การหัดว่ายน้ำ”
๏ ๏ ๏
เราเคยอ่านในหนังสือว่าคนในประเทศรัสเซียไว้หนวดกันมาก เพราะมีดโกนซึ่งรัฐบาลโซเวียตจัดหาจำหน่ายให้แก่ประชาชนนั้น โกนหนวดไม่เข้า
แต่บัดนี้ได้อ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า คนในรัสเซียพวกที่ไม่ค่อยเจ็บไข้นั้น ความลับแห่งนิราพาธ ก็คือการไว้หนวดนี้เอง
เรานึกว่า ถ้าการไว้หนวดเป็นความลับแห่งนิราพาธ นัยหนึ่งเหตุแห่งความไม่เจ็บป่วย ความลับก็เป็นความลับอยู่ไม่นาน พอหนวดยาวขึ้นหน่อย ใคร ๆ ก็เห็นหมด
๏ ๏ ๏
ในมณฑลเป็บโปรคไชร์ในประเทศอังกฤษ มีชายแก่คนหนึ่งตายเมื่ออายุ ๑๐๒ ปี แกอยู่ในที่เดี่ยวโดด จนเพิ่งเคยเห็นรถยนต์เป็นครั้งแรกก่อนตาย ๒ วันเท่านั้น เราอุตส่าห์สืบก็ยังไม่ทราบว่า แกตายเพราะเห็นรถยนต์ช้าไปหรือไม่ใช่
๏ ๏ ๏
แม่เฒ่าที่อยู่ใกล้สำนักงานของเรา ถามว่า ถ้าตาแก่อายุ ๑๐๒ ปีนั้นยังไม่เคยเห็นรถยนต์ ก็คงจะยังไม่ตายหรือ เราตอบไม่แน่ ถ้าตายทันที อาจไม่เห็นรถที่ชนก็ได้
๏ ๏ ๏
การแปลหัสการเช่นนี้ เรากริ่งใจเกรงท่านจะหาว่าดูถูก
๏ ๏ ๏
ถูกกับผิดเป็นของตรงกันข้าม แต่ถ้าดูถูกกับดูผิด จะว่าตรงกันข้ามก็ไม่เชิง
-
๑. ประมวญมารค หน้า ๕ ฉบับที่ ๒๓ ปีที่ ๒ วันศุกร์ ที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ↩