คนตัวเหม็นเห็นน้ำสั่น

----------------------------

เขาเป็นช่างต่อโลงผี ตัวเหม็นยิ่งกว่าศพที่อยู่ในโลง เห็นคนหิ้วน้ำเดินเฉียดมาเป็นต้องกระโดดหนี เขาเป็นมิตรกับกลิ่นเหม็น แต่เกลียดน้ำราวกับว่ามันเป็นน้ำกรด ถ้าอาบน้ำได้ปีละสามหน สิงจะกลายเป็นราชสีห์ “อีตาผูกคนนี้ขี้เกียจอาบน้ำวายร้ายเลย...”

----------------------------

เมื่อเดินเฉียดเข้าไปใกล้ของเหม็น เขาเดินเรื่อยๆ อย่างสบาย แต่ถ้าเห็นบ่อน้ำ เขาจะเดินเลี่ยงไปทางอื่น และเดินหนีอย่างเร่งร้อนมาก เขาเคยเผ่นพรวดพราดเช่นเดียวกับแมวเห็นหมา ในเมื่อมีคนหิ้วถังน้ำหรือหาบน้ำเดินเฉียดมาใกล้ ๆ ตัว เขาไม่เคยถูกสุนัขบ้ากัด แต่เป็นโรคกลัวน้ำ เขาชอบอยู่ใกล้ของเหม็น แต่เกลียดน้ำเหมือนสุภาพสตรีเกลียดเมียน้อย!

ชาวบ้านแถวตรอกบ้านพานที่ต้องหาบน้ำจากถนนใหญ่เดินเข้าตรอก จะต้องรู้จักเขาทุกคน หากไม่รู้ชื่อ ก็ต้องรู้ว่าเดินสวนกับเขา เป็นคนๆ เดียวกับที่เคยโดดหนีทุกครั้ง และโดดอย่างรวดเร็วเมื่อบังเอิญไปพบกันเข้า นายสิบทหารม้าคนหนึ่งย้ายมาเช่าห้องแถวอยู่ในตรอกบ้านพาน ต้องจ้างเจ๊กหาบน้ำ เจ๊กคิดหาบละสามสลึง แพงเกินควรทนไม่ไหว จึงซื้อปีบมารองน้ำหิ้วเอาเอง วันหนึ่งนายสิบทหารม้าคนที่กล่าวหิ้วปีบน้ำเดินเข้ามาในตรอก พอดีสวนกับคนที่มองเห็นน้ำเป็นสิ่งที่น่าชังกว่าของเหม็น เขารู้สึกแปลกมากที่แกโดดหนีด้วยความกลัว ถึงกับถลาล้มก้นกระแทกหงายผลึงลงทันที!

พอลุกขึ้นได้ คนเกลียดน้ำก็ร้องด่าทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันจะมองหน้าดูให้ดีว่าเป็นใคร “อ้ายเจ๊กนี่วอนเสียแล้ว!” เขาคิดว่าคนหาบน้ำทุกคนที่ผ่านเข้าออกอยู่ในตรอกบ้านพานจะต้องเป็นเจ๊ก “มึงไม่มีตาหรือ-อ้ายห่า! จึงไม่รู้ว่ากูเดินมา”

“ไม่ใช่เจ๊กหรอกพี่ชาย” นายสิบทหารม้าตอบ พร้อมกับวางหาบน้ำลง ท่าทางเตรียมพร้อมคล้ายกับว่าจะชกหน้ากันเมื่อไรก็ได้ “ฉันเป็นไทยแท้ พ่อแม่ก็เป็นไทย ตาก็มีมองเห็นอยู่ทั้งสองข้าง ไม่ใช่คนตาบอดตาเบี้ยวอะไรหรอก พี่ชายเดินมาฉันก็มองเห็น แต่ความจริง พี่ชายมันตื่นสะดุ้งไปเองนี่หว่า!”

โดนตอกหน้าจังเข้าให้ คล้ายผู้พูดจะคอยเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน คนกลัวน้ำจึงไม่ตอบ ได้แต่บ่นพึมพำแล้วปัดฝุ่นตามเสื้อกางเกง พลางเดินคอเอียงก้าวเท้าสวบ ๆ หลีกไปอย่างรวดเร็ว เขาชำเลืองดูหน้านายสิบทหารม้าแล้วยักคิ้ว

เขาไม่กลัวคน แต่กลัวน้ำที่อยู่ในปีบ เขามองดูมันราวกับว่าเป็นน้ำกรดที่อาจจะกระฉอกมาเข้าตา

เมื่อคนกลัวน้ำเดินเลี่ยงไปด้วยอารมณ์อันหงุดหงิดแล้ว นายสิบทหารม้าที่ออกมาช่วยเมียหาบน้ำก็ยังไม่หายโกรธ “อ้ายแก่นี่กวนเอาเรื่องโว้ย!” เขาพูดพลางทำหน้าพยักเพยิด และมองยิ้ม ๆ ไปทางเพื่อนชาวห้องแถวทั้งสองฟาก “นี่ดีแต่กูเอาตีนลั่นกุญแจไว้- กูน่ะมันถอดเขี้ยวเล็บเสียแล้วนา-พั่ดธ่อ!”

แม่ชีแก่คนหนึ่งมาเยี่ยมญาติ กำลังนั่งเคี้ยวหมากหยับๆ อยู่หน้าห้องแถวในตรอกบ้านพาน เป็นผู้ประสบเหตุโดยตลอด แม่ชีแก่คนนี้มีรกรากเดิมอยู่ในตรอกบ้านพาน เคยรู้จักคนกลัวน้ำดี นึกสงสารจึงพูดกับนายสิบทหารม้าเป็นเชิงห้ามปรามว่า

“ขอเสียทีเถิดพ่อคุณเอ๊ย! ไปเอาเรื่องเอาราวกับอีตาผูกคนกลัวน้ำเสียเวลาเปล่า ๆ เขารู้กันทั้งนั้นว่าแกเกลียดน้ำ พอเห็นใครหาบน้ำเฉียดมาเป็นต้องโดดหนี”

“แต่มันมองหน้าผม มันจะเอาเรื่อง”

“ไม่ใช่ยังงั้นหรอกพ่อ แกไม่ได้มองหน้าพ่อหลานชายหรอก แกกลัวน้ำในปีบจะกระฉอกถูกตัวแกน่ะ” แม่ชีอธิบายแล้วต่อจากนั้น เหตุการณ์ที่กำลังจะลุกเป็นไฟก็สงบลง

ตาผูกคนกลัวน้ำ ไม่ใช่คนที่มีความสำคัญอย่างใดสำหรับคนเป็น แต่ต้องนับว่ามีประโยชน์มากสำหรับคนตาย เพราะแกมีอาชีพเป็นช่างไม้รับจ้างต่อโลงใส่ศพ ครั้นจะว่าแกไม่มีประโยชน์สำหรับคนเป็นเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะคนเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่คือลูกเมียของคนตายจะต้องมาจ้างแกต่อโลง และถ้าแกคิดราคาถูกพอสมควรก็ย่อมเป็นประโยชน์ไม่น้อย สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โบราณว่า ‘คนตายขายคนเป็น’ แต่ถ้าเกิดมีใครตายขึ้น แล้วญาติของผู้ตายจะมาหาตาผูก คนตายก็อาจไม่ขาย คนเป็นในส่วนที่จะต้องใช้จ่ายเป็นค่าต่อโลงดังกล่าวนี้

คนเก่า ๆ ในตรอกบ้านพานรู้ดีว่า วันหนึ่งไม่ตัวเองก็ต้องเป็นญาติของตัว ที่จะต้องไปตบประตูสังกะสีเรียกตาผูก บางคนเป็นผู้หญิงสวย ตัดผมเซตลอนงามตา เคยเห็นเดินเคียงอยู่กับนายทหารในตรอกบ้านพานบ่อยๆ เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้ก็ยังเดินควงแขนกันอยู่ ผัวถือกระเป๋าให้เมีย ส่วนเมียเดินออกหน้าหิ้วชะลอมลูกเงาะเตรียมจะมากินกันกับเพื่อน ๆ ในวันอาทิตย์ แต่เมื่อสองสามวันต่อมา ผู้หญิงรูปสวยเมียคุณร้อยโทผู้อยู่ในวัยหนุ่มนั้นก็ต้องมาเคาะประตูเรียกตาผูก หล่อนพูดพลางร้องไห้พลาง น้ำตาไหลแข่งกันลื่นลงเป็นทาง ปรากฏอยู่ที่แก้มทั้งสอง

“ลุงช่วยต่อโลงให้ฉันทีเถอะ เจ๊กมันคิดฉันแพงมากนัก คุณเสีย ๆ แล้ว ญาติของคุณก็อยู่หัวเมือง ส่วนตัวฉันเองก็มีแต่น้อง ๆ ไม่มีญาติผู้ใหญ่”

ด้วยราคาเท่าใด ตาผูกคนกลัวน้ำไม่ได้พูด “คร้าบ ผมจะต่อให้เสร็จในเย็นวันนี้” แกตอบหน้าตาเคร่งขรึมเหมือนเช่นเคย “งานด่วนผมจะต้องไปเรียกลูกมือมาช่วยอีกคนหนึ่ง”

“แล้วลุงอย่าคิดฉันแพงนะ ฉันไม่มีเงิน” เสียงแจ๋ว ๆ แต่แผ่วเบายังคงผ่านหูตาผูกอยู่เรื่อย ๆ “ฉันพูดไม่อายหรอก คุณไม่ได้เก็บเงินไว้เลย มีแต่แหวนกับสายสร้อย เพิ่งปลดเข้าโรงจำนำไปเมื่อเช้านี้เอง”

ตาผูกคนกลัวน้ำรีบสวมกางเกงเผ่นปร๋อออกไปจากบ้านทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สวมเสื้อชั้นใน มีคนพูดกันว่า แกผอมจนซี่โครงบานเหมือนศพที่ถูกแร้งจิกเอาเนื้อไปกินเสียหมด แต่ไม่รู้จักตายสักที ส่วนคนอ้วน ๆ เดินองอาจ หน้าตายิ้มแย้ม พูดเสียงดังกลับตายไปก่อน แกต้องต่อโลงให้ทุกที คนผอมกลับต่อโลงใส่คนอ้วน มันเป็นเรื่องน่าคิดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ตาผูกเดินอย่างรวดเร็ว ตรงไปที่ร้านขายไม้แถวสะพานเทเวศร์ เลือกเอาแต่ร้านที่คุ้นเคยกัน คิดราคาตรงไปตรงมา ขึ้นตามขึ้น ลงตามลง เมื่อบอกขนาดความยาวสั้น กะตัวเนื้อไม้ให้ผู้ขายทราบแล้ว เขาจะนำราคาไม้กลับมาเสนอต่อผู้สั่งจ้างเสียก่อน “คุณจะเลือกไม้อะไรก็ได้ ไม้ยางหรือไม้สัก แต่สำหรับใจผมถ้าจะประหยัดเงินกันละก้อ ควรจะเลือกไม้ยาง เจ๊กบอกผมว่าราคาไม้ยางถูก เพราะฝรั่งไม่ซื้อ พ่อค้าส่งนอกไม่ได้”

เขาเล่าและชี้แจงเหตุผลอย่าถ้วนถี่ ส่วนผู้จ้างก็จะถามว่า “ค่าแรงลุงคิดเท่าไหร่ล่ะ?”

“นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอกครับ สุดแท้แต่จะให้ก็ได้ ถ้ามีน้อยให้ผมน้อย ผมก็คิดเสียว่าได้ร่วมทำบุญด้วย” ตาผูกคนกลัวน้ำมักจะตอบเช่นนี้ แล้วเขาก็มิได้คิดค่าแรงอย่างหน้าเลือดเหมือนช่างไม้ในระหว่างสงครามทั้งหลาย คนที่มาจ้างต่อโลงบางรายคิดค่าแรงให้เขาเพียง ๑๐ บาทเท่านั้น ค่าไม้ ๒๐ กว่าบาท ราว ๆ ๓๐ กว่าบาทก็พอจะต่อโลงไม้ยางใส่ศพได้ หากไปซื้อโลงที่เจ๊กต่อไว้ขาย ในสมัยที่แพงที่สุดก็ยังซื้อกันมาตั้งร้อยสองร้อยบาท

“ผมรับจ้างบางครั้งขาดทุน” ตาผูกช่างต่อโลงบอกกับข้าพเจ้า “ต้องคิดค่าจ้างให้ลูกมือที่ต้องไปตามเขามาเป็นการด่วนในราคาพิเศษ พวกอ้ายเตี้ย (เขาหมายถึงญี่ปุ่น) มันทำเสียพิธีหมด แต่ก่อนลูกมือขั้นดีทำงานอยู่กับผม ได้วันละสองบาท พออ้ายเตี้ยมา มันไปต่อเรือกันหมด เพราะอ้ายเตี้ยมันกล้าจ้างวันละสิบถึงสิบห้าบาท”

คนกลัวน้ำเล่าว่า การต่อโลงใส่ศพเป็นอาชีพในการกุศลประกอบกันไป เขาจะไม่คิดแพงเป็นอันขาด “จะไปเอาอะไรกับคนตายเล่าครับคุณ” เขาพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงหนักแน่นเป็นอุดมคติ “อ้ายคนที่ตายก็ตายไปแล้ว อ้ายที่ยังอยู่ก็หมดหนทาง เหลือเงินอยู่นิดหน่อยแทนที่จะเอาไว้ซื้อขนมให้ลูกกินกลับต้องเอาไปซื้อโลงแพง ๆ ใส่ศพให้มีหน้ามีตา จะเอาเกียรติกันก็ตรงที่ถึงวันตายนี่แหละ แต่ก่อนจะตายก็มักจะไม่ค่อยนึกถึงเกียรติกันเลย”

ชาวบ้านแถวตรอกบ้านพานไม่ค่อยจะยินดีคบหาวิสาสะกับเขา เพราะย่อมเป็นธรรมดาที่ผ้าขี้ริ้วจะต้องไม่ค่อยมีคนอยากจับ ถ้าจะจับก็ต้องมีหวังว่าจะเอาเช็ดพื้นเท่านั้น ตาผูกเป็นคนกลัวน้ำ แกไม่ต้องการให้น้ำมาถูกต้องตัวแก จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องอบตัวเองไว้ด้วยกลิ่นเหม็นจนเป็นที่รังเกียจ

“เหม็นสาบยิ่งกว่าแร้งลงเสียอีก” แม่ค้าข้าวโพดเผาที่อยู่ในตรอกเดียวกันพูด เมื่อเห็นตาผูกเดินผ่านไป

“แต่แกเป็นคนใจดีน่านับถือนะแม่ผ่อง” หญิงร่างท้วมคนที่มานั่งรอซื้อข้าวโพดกล่าวขึ้นบ้าง

“แต่ถึงจะใจดีอย่างไร ถ้าตัวเหม็นละก้อ ฉันเป็นไม่ขอเข้าใกล้ มันคอยแต่จะคลื่นเหียนรากแตกรากแตนเสียเรื่อย”

“เขาว่าอีตาผูกคนนี้ขี้เกียจอาบน้ำวายร้ายเลย เหม็นสาบยิ่งกว่าตัวตุ่น เหม็นโขงยิ่งกว่าอ้ายเข้ ปีหนึ่งเขาว่าแกอาบน้ำเพียงสามหน”

“ถ้าอาบน้ำปีละสามหนละก้อ ลิงจะกลายเป็นราชสีห์ได้ มันไม่ถึงสามหนน่ะซีหล่อนเอ๊ย! ปีไหนอาบน้ำสามหน จะต้องว่าอาบน้ำตั้งปีละสามหนทีเดียว”

ตาผูกแห่งตรอกบ้านพานคนนี้ ชาวบ้านเคยพูดกันว่า ตัวเหม็นยิ่งกว่าศพที่จะเข้าไปอยู่ในโลงของเขาเสียอีก

คนที่เคยพูดว่า รังเกียจตาผูกคนกลัวน้ำนั้น ความจริงทุกคนไม่ได้รังเกียจตัวเขาเลย แต่รังเกียจ ‘กลิ่น’ ของเขา ส่วนตาผูกเมื่อแว่วว่าใครพูดถึงตัวในทางที่ไม่ค่อยดี โดยอ้างถึงกลิ่นเหม็น เขาจะพูดทันทีว่า “เกิดมาเป็นคน มันก็ต้องเหม็นอยู่ด้วยกันทุกรูปทุกนามละเว้ย! ก้ออ้ายพวกที่มาจ้างกูต่อโลงทั้ง ๆ ที่มันว่าตัวกูเหม็นนั่นน่ะ มันไม่ใช่เพราะเรื่องเหม็นหรือ?” เขาหัวเราะเหอ ๆ แล้วก็พูดต่อไป “มันกำลังจะลงไปนอนเหม็นอยู่ในโลงกันแล้ว ไม่พ่อก็ต้องเป็นปู่ของมัน ไม่ใช่ผัวก็ต้องเมีย ถ้าไม่ใช่เมียก็ต้องลูก ไม่มีใครตัวหอมอยู่ได้ทุกวี่วันหรอกเฮ้ย! ใครอยู่ค้ำฟ้าได้ ตัวมันจึงจะหอมจริง แต่ถ้ามันอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ตัวมันก็ต้องเหม็น”

นักเลงดีคนหนึ่ง เป็นเด็กหนุ่ม หน้าตาคมคาย บ้านอยู่ใกล้ ๆ กับตาผูกคนกลัวน้ำ ได้ยินตาผูกพูดชักรำคาญ ก็ย้อนเอาบ้างว่า “จริงของตะแกว่า เกิดเป็นคนมันก็ต้องเหม็นทั้งนั้น แต่อ้ายเหม็นเมื่อลงไปอยู่ในโลง กับเหม็นเมื่อยังเป็นคนเป็นๆ อยู่ มันผิดกัน คนเป็น ๆ เขาไม่ค่อยจะเหม็นกันหรอก”

เด็กหนุ่มพูดเหน็บแนมเอาแต่พอแสบ ๆ แต่คนกลัวน้ำของเรามิได้ยอมจำนนในการโต้ตอบเสียดแทงกันด้วยลิ้นสองนิ้วแล้ว เขาไม่เคยกลัวใคร แต่ถ้าเป็นการยั่วโทสะเพื่อหาเหตุเข้าวิวาทชกต่อยกันแล้ว เขามักจะหลีกเลี่ยงและไม่ยอมข้องแวะด้วยเลย

“อ้ายที่ตัวมันหอม แต่ชอบตอหลดตอแหล หากินทางมิจฉาชีพหลอกลวงน่ะ มันไม่ยิ่งไปกว่าตัวเหม็นหรือ เจ้าลูกไก่เอ๊ย?” เขาเรียกเด็กหนุ่มคู่โต้คารมของเขาว่า ‘ไอ้ลูกไก่อ่อน’ เป็นคำดูถูกกลาย ๆ คล้ายกับว่า เจ้าน่ะมันเพิ่งลืมตามองเห็นโลกยังไม่กี่วัน ไม่ควรกำแหงมาทุ่มเถียงลองลิ้นลบเหลี่ยมผู้ใหญ่ ดูมันเกินตัวไปมาก

“คนตัวเหม็น มันก็เหม็นแต่ตัว” เขาพูดต่อไป “ที่พ่อเจ้าคว้าเงินหลวงเข้าสี่หมื่น ต้องไปนอนอยู่ในตะรางนั่นน่ะ มันไม่ใช่เรื่องคนตัวหอมหรอกรึ? คนตัวหอมก็ต้องให้มันหอมทั้งข้างนอกข้างใน หอมแต่นอกในเหม็นอย่างพ่อเจ้าน่ะมันไม่ดี”

เด็กหนุ่มได้ฟังก็ชักอารมณ์ร้อน เปิดประตูบ้านปัง โดดออกไปร้องท้าทายให้ตาผูกคนกลัวน้ำออกไปกระแทกหน้ากัน ตาผูกเผ่นลงเรือนไปที่ประตูบ้าน รวดเร็วเหมือนเมื่อครั้งกระโดดหนีคนหาบน้ำ เมียของเขากำลังนั่งโขลกน้ำพริกแกงส้มฝักแคอยู่ในครัว พอรู้เรื่องก็ละมือวางสาก ผลุงรีบวิ่งตามหลังผัวลงเรือนไปเพื่อจะห้าม หล่อนนึกในใจว่า ผัวเราวันนี้ชักจะยังไงๆ เสียแล้ว เมื่อก่อนไม่เคยเห็นสู้คน มีแต่หนี วันนี้อ้ายหนุ่มมันจี้ถูกจุดเข้าถึงกับวิ่งปร๋อโดดลงเรือนจะไปรับมือกับมันเชียวหรือ? หล่อนคิดประหลาดอยู่ในใจ เพราะผัวของตัวมีความเก่งอยู่ทางกลิ่นตัวเหม็น ไม่ใช่เก่งที่การทำหมัดมวย อีกประการหนึ่งร่างกายที่ผ่ายผอม เนื้อหดเข้าไปอยู่ใต้กระดูกถ้าอ้ายหนุ่มมันเกลียดขี้หน้าขึ้นมา เพียงเอามือซ้ายผลักเบา ๆ ก็จะหงายหลังลงไปนอนอย่างไม่เป็นท่า

แต่ความคิดของเมียตาผูกเป็นความคิดที่มองการณ์ไกลมาก ตาผูกไม่ได้วิ่งไปเปิดประตู แต่เขาวิ่งไปดูว่า ประตูบ้านปิดสนิทลงกลอนเรียบร้อยแล้ว หรือว่ามันยังแง้มอยู่ ไม่เป็นการแสดงว่าปลอดภัยสำหรับตัวเขาเอง

คนกลัวน้ำได้ยินเด็กหนุ่มร้องว่า “กูไม่กลัวหรอก เฮ้ย! เกิดมาเป็นคนตายหนเดียว”

เขาเงียบกริบอยู่ภายในประตูบ้าน คนกลัวน้ำไม่ปริปากตอบโต้คารมอย่างใดต่อไปอีก เขาเพียงแต่บ่นพึมพำอยู่คนเดียวว่า “ไม่กลัวตาย มันพูดทำไมว่าไม่กลัวตาย? เป็นคนมันต้องกลัวตายอยู่วันยังค่ำ อ้ายความตายต่างหากที่ไม่กลัวคน”

อีกสามวันล่วงพ้นไป ตาผูกกำลังลับสิ่วของแกอยู่ใต้ถุนเรือนแต่เช้าตรู่ ตั้งแต่พระอาทิตย์เพิ่งจะโผล่ขึ้นมารำไร แกได้ยินเสียงคนเดินมาหยุดที่หน้าประตูสังกะสีและเริ่มตบอย่างรัวถี่

“บ๊ะ! นี่มันตบประตูบ้านภาษาหมาอะไรกัน? ตึงตังโครมครามราวกับพ่อแม่มันจะตาย” คนกลัวน้ำบ่น วางสิ่วไว้ข้างหินลับมีด แล้วเดินไปเปิดประตูออก

หญิงอายุราว ๕๐ ปีกว่า ๆ ยืนอยู่ตรงนั้น พอเห็นหน้าตาผูกก็ร้องไห้โฮ

“ถ้าจะมีคนตายในตรอกนี้อีกแล้ว” เขาคิดในใจ “ไม้ต่อโลงกำลังขึ้นราคาเสียด้วย เวลาจะตายมันรอไม่ได้ แต่ถ้ารอได้ไปตายเอาอีกสองเดือนข้างหน้าก็จะดี ราคาไม้คงถูกลงอีกตั้งครึ่ง”

เป็นความจริงอย่างคนกลัวน้ำคิด เขายังไม่ทันถามว่า มีธุระอะไรหรือ? ร้องไห้ทำไม? หญิงคนนั้นก็พูดขึ้นก่อนว่า “เจ้าหนานตายเสียแล้ว”

‘เจ้าหนาน' คือนายสนาน เด็กหนุ่มที่มาทะเลาะทุ่มเถียงกับเขาอยู่เมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ เด็กหนุ่มกำลังคะนองคนนั้นเคยพูดว่าไม่กลัวตาย เกิดเป็นคนต้องไม่กลัวตาย เพราะตายได้หนเดียว แต่บัดนี้เขาตายเสียแล้วหรือ? มันเป็นเรื่องน่าอนาถใจเหลือเกิน!

“ตายเสียแล้วหรือครับ?” เขาถามเสียงอ่อนลง เป็นเสียงที่แผ่วเบาจนเกือบไม่ได้ยิน “ตายเมื่อไหร่ครับ? แกเป็นอะไรตาย?”

“เป็นโรคไส้ตัน ไปผ่าตัดช้าไป ตายเสียตั้งแต่เมื่อตี ๕ วันนี้เอง เขาเป็นหลานของฉัน มันกำพร้า พ่อแม่ก็ไม่มี”

เขาเพียงแต่นิ่งฟังอยู่เฉยๆ

“นายผูกช่วยต่อโลงให้ฉันทีเถอะนะ” เป็นเสียงหญิงคนนั้น แล้วคนกลัวน้ำก็ได้ยินเสียงกระซิบกระซาบต่อไปอีก “อย่าคิดให้แพงนัก เอาไม้ยางต่อก็ได้ เราเป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน”

ในเรื่องการต่อโลง ตาผูกคิดว่าเป็นงานที่เกี่ยวแก่บุญกุศลอยู่ด้วย เขารีบรับคำทันที “ผมจะรีบไปถามราคาไม้ที่โรงขายไม้กระดานเสียก่อน” เขาพูด ไม่ได้นึกถึงเรื่องที่เด็กหนุ่มเคยมาชวนวิวาทนั้นเลย เขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าคนหนุ่มคนแก่ ไม่ว่าคนดีคนชั่ว มันก็ต้องลงโลงไปด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ยิ้มแย้มกันไปด่าทอทะเลาะวิวาทกันไป เมื่อตายแล้วมันก็หมดเรื่องกันที

เมื่อหญิงที่มาจ้างต่อโลงกลับไปแล้ว ตาผูกก็บอกเมียของแกว่า “อ้ายหลานชายที่มันมาท้าตีกับฉันตายเสียแล้ว ตกลงมันเหม็นก่อนฉัน มันหนีความเหม็นไม่พ้น พุทโธ่เอ๋ย--!”

แล้วคนกลัวน้ำก็รีบจัดการต่อโลงใส่ศพให้ด้วยราคาถูก ตามปรกติเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยเงินที่ได้จากการต่อโลง แต่เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการต่อตู้กับข้าวขาย หากเป็นเวลาที่กำลังต่อตู้กับข้าวอยู่ แต่มีคนมาจ้างต่อโลง แม้จะเป็นรายได้ที่น้อยกว่า เขาก็จะวางมือหันมาต่อโลงทันที

แม่ซิ้มในตรอกบ้านพานคนหนึ่ง มีอาชีพในทางหาบน้ำประปาส่งตามบ้าน เวลาหาบน้ำเดินสวนกับตาผูก เห็นเขาโดดหนีก็หัวเราะชอบใจ และพูดเสียดสีเชิงล้อเลียนบ่อย ๆ แต่เมื่อลูกของแม่ซิ้มตาย ก็ต้องมาจ้างเขาต่อโลง แม่ซิ้มไม่กล้าไปซื้อโลงที่พวกจีนทำไว้ขาย เพราะแพงมากนัก และไม่ยอมคิดเป็นการร่วมกุศล

“มาหาอั๊วทำไม?” เขาถาม เพราะเคยนึกเคือง ๆ อยู่

“อั๊วมาจ้างลื้อต่อโลง” แม่ซิ้มตอบ “เขาว่าลื้อใจดี ไม่คิดแพง”

“ใจอั๊วน่ะดีหรอก แต่ตัวอั๊วเหม็น” ตาผูกตอบเรื่อยๆ “เวลาเดินเฉียด เขาว่าอั๊วเหม็นฉิบหาย แต่เวลาเขาจะใช้ถึงตัวเหม็นเป็นแร้งลงมันก็ทนกันได้”

เขาพูดเสียดสีเอานิดหน่อย แล้วก็กลับรู้สึกตัวรีบรับคำและก็รีบต่อโลงให้ คิดเอาแต่เพียงไม่ถึงต้องชักเนื้อ

เขาเป็นคนมีน้ำใจงาม แต่กลิ่นตัวเท่านั้นที่ทำให้เป็นที่น่ารังเกียจ วันหนึ่งเขาพาเมียไปดูลิเกเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ “ยาขอบ” ที่วิกนายหอมหวล บางลำภู เนื่องจากกลิ่นตัวเหม็นรุนแรงนัก คนที่นั่งดูลิเกอยู่ใกล้ ๆ ทั้งข้างหน้าข้างหลังจึงลุกหนี แม่ค้าขายลูกเงาะคนหนึ่ง ปากคอจัดจ้าน หล่อนทนกลิ่นตาผูกไม่ไหว ก็มองหน้าเอาแล้วพูดแดกให้ว่า “แม่ไม่ได้ตีตั๋วมาดมกลิ่นหมาเน่าในวิก เหม็นยังกะคนขี้ราด!”

อีกคนหนึ่งเป็นแม่ปะแหร็ด เมียคนขับรถราง หล่อนพูดแล้วก็คายชานหมาก ทำท่าสะอิดสะเอียน “เอ๊ะ! นี้ใครเอาเต่ามาปล่อยไว้ในวิกนะหล่อน เต่ามันขี้เหม็นยังกะกลิ่นตัวของอ้ายคนที่ชื่อตาผูก”

คนกลัวน้ำของเราเป็นคนที่มองเห็นน้ำไม่ได้ เขาจะเป็นโรคสั่นขึ้นมาทั้งเนื้อทั้งตัวในทันทีที่จำเป็นต้องอาบน้ำ และเมื่ออาบน้ำแล้วเป็นต้องรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัวไปตั้งสามวัน เมียของเขาไม่เคยรู้ว่าเขาเป็นโรคอะไร แต่ชาวบ้านรู้ดีว่าตาผูกอาบน้ำปีหนึ่งตั้งสามหน ถ้าเมียไม่อ้อนวอนกันจริง ๆ แล้ว ตะแกจะไม่ยอมอาบน้ำเป็นอันขาด

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีคนไปเคาะประตูบ้านตาผูกอีก ปรากฏว่าเป็นเมียนายสิบทหารม้าคนที่เคยทะเลาะกับเขา

“ช่วยต่อโลงให้ฉันทีเถอะลุง พี่ฉันตายเสียแล้ว” หญิงสาวคนนั้นบอก

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ