- คำนำ
- อธิบายประเพณีพระราชปุจฉา
- พระราชปุจฉาที่ ๑๗
- พระราชปุจฉาที่ ๑๘
- พระราชปุจฉาที่ ๑๙
- พระราชปุจฉาที่ ๒๐
- พระราชปุจฉาที่ ๒๑
- พระราชปุจฉาที่ ๒๒
- พระราชปุจฉาที่ ๒๓
- พระราชปุจฉาที่ ๒๔
- พระราชปุจฉาที่ ๒๕
- พระราชปุจฉาที่ ๒๖
- พระราชปุจฉาที่ ๒๗
- พระราชปุจฉาที่ ๒๘
- พระราชปุจฉาที่ ๒๙
- พระราชปุจฉาที่ ๓๐
- พระราชปุจฉาที่ ๓๑
- พระราชปุจฉาที่ ๓๒
- พระราชปุจฉาที่ ๓๓
- พระราชปุจฉาที่ ๓๔
- พระราชปุจฉาที่ ๓๕
- พระราชปุจฉาที่ ๓๖
- พระราชปุจฉาที่ ๓๗
- พระราชปุจฉาที่ ๓๘
- พระราชปุจฉาที่ ๓๙
พระราชปุจฉาที่ ๑๙
ข้อ ๑ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งปรับไหมจากผู้ลักของสงฆ์ ทรัพย์นั้นจะควรทำประการใดจึงจะพ้นโทษ
ข้อ ๒ ว่าด้วยสัตวนรกที่กำหนดอายุด้วยพุทธันดร ถ้าพุทธันดรยาวออกไป สัตวนั้นจะมิต้องทนทุกข์มากไปฤา
----------------------------
๏ ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ข้าพระพุทธเจ้ามานมัสการเผดียงถามพระคุณผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ด้วยมีบทพระอัยการในอาณาจักรไว้สำหรับแผ่นดินว่า มาตราหนึ่งผู้ร้ายลักทรัพย์สิ่งของๆพระของสงฆ์ เปนต้นว่าแก้วแหวนเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณทรัพย์สิ่งใดๆ ก็ดี อันท่านอุทิศไว้ให้เปนของพระของสงฆ์ แลผู้ร้ายลักเอาไปขายจับได้ให้ลงโทษเสมอลักพระราชทรัพย์ ท่านให้ขึ้นขาหย่างประจานอย่าให้คนดูเยี่ยงกัน แลให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ให้ตัดมือเสียให้ไหมจตุรคูณ จะได้มีบทว่าทรัพย์ที่ปรับนั้นจะให้แก่ผู้ใดจะทำประการใดก็มิได้ว่า ครั้นจะไว้ในฆราวาศก็เห็นจะเปนโทษด้วยทรัพย์นั้นติดพันในมูลความเปนสงฆ์อยู่จะให้เอาไปเปนสังฆบูชา สงฆ์จะบริโภคนั้นยังจะบริสุทธิ์ฤๅไม่บริสุทธิ์ ด้วยเหตุว่าทรัพย์นั้นเกิดแต่วิหิงษาเบียดเบียฬ ปรับไหมให้เขาเสียทรัพย์สิ่งของ จะเปนสุทธาชีวิตฝ่ายสงฆ์บริโภคฤๅ เนื้อความข้อนี้สงไสยอยู่ จะคิดอ่านเอาทรัพย์นั้นไปทำเปนประการใด จึงจะพ้นโทษ ฝ่ายข้างธรรมจักรนั้นมีบทว่าผู้ลักของพระพุทธของพระธรรมของพระสงฆ์นั้น โทษได้ทนทุกขเวทนาในนรกแล้วขึ้นมาเปนเปรตถึง ๓ พุทธันดร แผ่นดินอันใดพระเจ้ามาตรัสสองพระองค์จึงเรียกว่าพุทธันดรหนึ่ง ถ้าตรัส ๓ พระองค์เปนสองพุทธันดร ถ้าตรัสสี่พระองค์เปนสามพุทธันดร ถ้าตรัสห้าพระองค์เปนสี่พุทธันดร ซึ่งแผ่นดินพระเจ้ามาตรัสแต่พระองค์เดียวนั้น ว่างห่างกันร้อยแผ่นดินพันแผ่นดินอสงไขยแผ่นดินพระเจ้าจึงมาตรัส ก็เปนว่างเหมือนกันดังนี้จะเรียกว่าพุทธันดรฤๅมิใช่พุทธันดร ถ้ามิใช่พุทธันดร แผ่นดินอันใดพระเจ้ามาตรัสแต่พระองค์เดียวนั้น แผ่นดินอันนั้น พระสาสนาอันนั้น พระองค์จะตรัสพระธรรมเทศนาว่า ไม่มีพุทธันดรเหมือนพระเจ้ามาตรัสสองพระองค์ สามพระองค์ สี่พระองค์ ห้าพระองค์นั้นฤๅ ถ้าดังนั้นสัตวซึ่งทำโทษผิดในลักของสงฆ์ จะเอาสิ่งอันใดมาเปนกำหนดโทษ ถ้าพุทธันดรยาวออกไป สัตวมิต้องทนทุกขเวทนามากออกไปฤๅ ขยให้พระคุณวิสัชนาให้แจ้งทั้งสองข้อ จะได้เปนหลักเปนคติสำหรับแผ่นดินสืบไป
แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๙
๏ สมเด็จพระสังฆราช พระพิมลธรรม พระพุทธโฆษา พระธรรมโฆษา พระปรากรม พระธรรมกิติ พระญาณสมโพธิ พระนิกรม พระสุเมธใหญ่ พระญาณสิทธิ ๑๐ รูป ปฤกษาเห็นพร้อมกัน
แก้ข้อ ๑
ตามพระบาฬีในพระวินัยในข้อซึ่งว่าผู้ร้ายลักของพระของสงฆ์จับผู้ร้ายได้ปรับไหมเปนจตุรคูณ แลทรัพย์นั้นจะเอาไปกระทำเปนประการใดนั้น ข้อนี้เปนฝ่ายอาชญาจักรอยู่แล้ว แลฝ่ายพุทธจักรนี้จะมีปรับเปนจตุรคูณนั้นหามิได้ มีบทแต่ว่ามูลทรัพย์นั้น เปนของพระรัตนไตรย ผู้ร้ายลักเอาทรัพย์นั้นไปทายกจับผู้ร้ายได้รู้ว่าเปนของพระรัตนไตรย ทายกนั้นก็เอาของนั้นบูชาถวายไว้แก่พระรัตนไตรย ตามมูลทรัพย์น้อยมาก จะเอาไปทำการอื่นนั้นไม่ควร แลบัดนี้ทรัพย์เปนจตุรคูณออกไป แล้วตามเจตนาพระเจ้าแผ่นดิน จะเอาไปบูชาพระรัตนไตรยนั้นก็ควร แลอาตมาภาพทั้งปวงจะถวายพรไปด้วยทรัพย์อันปรับเปนจตุรคูณนั้น จะให้เอาไปทำสิ่งใดๆ ไม่ควรด้วยกิจ
แก้ข้อ ๒
แลข้อซึ่งพุทธันดรนั้นมีการพระบาฬีว่า พุทธันดรนั้นจะเท่ากันหามิได้ แลซึ่งว่าผู้กระทำผิดไปตกนรกพุทธันดรหนึ่ง สองพุทธันดรนั้นจะเหมือนกันทุกคนหามิได้ ลางคนก็เสวยทุกขเวทนาช้าบ้างเร็วบ้างกรรมเปนประมาณอายุ ถ้ากลัปอันใดสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสองค์หนึ่ง กลัปนั้นหาพุทธันดรมิได้ ผู้กระทำผิดไปตกอบายภูมิทั้ง ๔ นั้นมีกรรมเปนประมาณอายุซึ่งช้าเร็วนั้นนับด้วยอันตรกลัป แลซึ่งร้อยกลัปพันกลัปอสงไขยกลัป มิได้มีพระพุทธเจ้ามาตรัส จะว่าเปนพุทธันดรดังกลัปอันเดียวนั้นหามิได้ ขอถวายพระพร ๚