พระราชปุจฉาที่ ๒๒

ข้อ ๑ ว่าด้วยคนใบ้หนวกจะอุปสมบทได้ฤๅไม่

ข้อ ๒ ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศจะอุปสมบทได้ฤๅไม่

ข้อ ๓ ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระเสียงเบาดังเสียงกา จะสวดปาติโมกข์ รับพระไตรสรณาคมน์ บรรพชา ควรฤๅไม่

ข้อ ๔ ว่าด้วยคนพูดไม่ชัด จะดีกว่า คนใบ้ บอด หนวก ฤๅไม่ แลจะบรรพชาอุปสมบทได้ฤๅไม่

ข้อ ๕ ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศ แลเจ้านาคมีอาพาธ ๕ ประการ แล้วกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี จะมิเปนมุสาฤๅ จะอุปสมบทเปนภิกขุได้ฤๅไม่

ข้อ ๖ ว่าด้วยพระอุปัชฌาย์ กรรมวาจา เจ้าตัวผู้บวช จะสำคัญสิ่งไรจึงจะรู้ว่าอักขระบริบูรณ์

----------------------------

ครั้นหลวงวิเชียรปรีชา หลวงเมธาธิบดี นำเอาเรื่องราววิสัชนาพระราชาคณะ มากราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้หลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรีชา ไปเผดียงถามพระราชาคณะว่า พระคุณเจ้าทั้งปวงถวายวิสัชนามาในกิจบรรพชาอุปสมบทโดยพุทธบัญญัตติไว้ว่า บุคคล ๑๑ จำพวกมีกะเทยเปนต้นห้ามบรรพชาอุปสมบท แลคน ๒ จำพวกคือคนมีอายุยังมิครบ ๒๐ ปี ภิกขุต้องปาราชิก ๑ สองจำพวกนี้ห้ามแต่อุปสมบท มีกำหนดหามอุปสมบทขาดแต่ ๑๓ จำพวก แลคน ๓๒ จำพวก มีคนมือด้วนเปนต้น แลคนผู้เดียวเปนทั้งใบ้, บอด, หนวก. เปนที่สุดว่าบวชเข้าเปนสามเณรภิกษุได้อยู่ แลคนบริบูรณ์ด้วยอาการ ๓๒ ครบ ปากก็เจรจาได้ หูก็ไม่หนัก จักษุก็เห็น แต่พูดภาษาไม่ชัด ว่าอักขระวิปลาศผิดเพี้ยน เอา ระ เปน ละ เอา ฉะ เปน สะ จะมิดีกว่าคนเปนใบ้บอดหนวกทั้ง ๓ ประการ แลอันตรายิกธรรมอิกฤๅ อย่าว่าแต่คนเดียวเปนทั้ง ใบ้, บอด, หนวก, เลย มาตรว่าเปนใบ้อย่างเดียว หนวกกำเนิดอย่างเดียว ก็เห็นว่าหาบรรพชาได้ไม่ ถึงว่าจักษุเห็นเจรจาได้ จักษุเห็นหูได้ยินก็ดี เห็นว่าชั่วกว่าคนที่ว่าอักขระวิปลาศอิก ซึ่งว่าคนเปนใบ้, บอด, หนวก, สิกลับว่าบวชได้นั้น พระอุปัชฌาย์ กรรมวาจา เจ้าตัวผู้บวช แลสำคัญสิ่งไร จึงจะรู้ว่าอักขระบริบูรณ์ไม่วิปลาศเปนบรรพาชาอุปสมบทเล่าทรงพระวิมุติสงไสยนัก ทรงพระราชดำริเห็นด้วยพระปัญญาว่า คนใบ้, บอด, หนวก. เหล่านี้บวชไม่ได้ถ่ายเดียว ถึงว่าบวชได้จริงก็ดี พระสงฆ์องค์ใดจะรู้สำคัญไปเทสนาบัติด้วย ก็จะมิต้องอาบัติทุกกฎ ปาจิตติย์ ถุลลัจจัย สํฆาทิเสส ทุกเวลา จะมิเปนอาจิณกรรมโทษใหญ่ไปฤๅ อันพระพุทธฎีกาจะให้สัตวเปนโทษดังนี้ไม่มี จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ราชบัณฑิตค้นหาพระบาฬีได้ในคัมภีร์จุลคันถีว่า “เตน โข สมเยน ฯ ล ฯ อาทิกมฺมิกํ สนฺธาย” โดยเนื้อความวินัยบัญญัติว่า ใบ้อันเจรจามิออกแท้นั้นภิกษุอย่าพึงบวชให้ ถ้าภิกษุบวชคนใบ้แท้ภิกษุนั้นต้องอาบัติ แลใบ้ผู้บวชนั้นมิเปนภิกษุบรรพชา เพราะเหตุกรรมวาจาจะถามอุปัชฌาย์ท่านชื่อไร ใบ้นั้นมิอาจพูดออกบอกว่าอุปัชฌาย์ชื่อนั้น จึงมิเปนภิกษุบรรพชา เหตุหาอุปัชฌาย์มิได้ ซึ่งคำว่าใบ้ผู้บวชเปนภิกษุบรรพชาได้อยู่ เพราะเหตุกรรมวาจาว่าข้างเดียวนั้น คำอันนี้อย่าพึงถือเอาเปนคำแรกหามีพุทธบัญญัติไม่ เมื่อมีพระบาฬีในคัมภีร์จุลคันถีมั่นคงอยู่ว่า ใบ้แท้บวชไม่ได้ฉนี้ เหตุไฉนพระคุณทั้งปวงจึงว่าคนใบ้, บอด, หนวก เหล่านี้บวชได้เล่า แลข้อซึ่งว่าอักขระมิชัดกลับว่าบวชไม่ได้อิกเล่า แล้วก็หาต้องในบทห้ามบรรพชาอุปสมบท ๑๓ จำพวกนั้นไม่ ประการหนึ่งซึ่งว่าอักขระวิปลาศดังนี้ ถึงเมื่ออุปสมบทพระกรรมกาจาก็หาได้ถามด้วยอักขระวิปลาศไม่ ถามแต่กุฎฐัง ปมเปา กลากเกลื้อน ริศิดวง บ้าหมูดังนี้ ฝ่ายกุลบุตรผู้บวชก็ปฏิเสธว่ามิได้ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาก็บวชให้จึงเปนสงฆ์แล้ว พระคุณเจ้าทั้งปวงมาว่าคนเปนกุฎฐัง ปมเปา กลากเกลื้อน ริศิดวง บ้าหมู บวชได้ เมื่อจะบวชๆ อย่างอื่นฤๅ ถ้าไม่บวชอย่างอื่นบวชเหมือนกัน นาคปฏิเสธจะมิอยู่ในระหว่างมุสาฤๅ พระกรรมวาจาหาถามด้วยเปนกลากเกลื้อนอันตรายิกธรรมไม่ฤๅ ส่วนซึ่งว่าแต่อักขระวิปลาศ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาก็มิได้ถามกลับว่าบวชไม่ได้ ชั่วกว่าคนเหล่าเปนออันตรายิกธรรม ใบ้, บอด, หนวก. อิกฤๅ แลอักขระซึ่งกุลบุตรว่าวิปลาศ คือเอา ระ เปน ละ เอา ฉะ เปน สะ นั้นเปนแต่วิปลาศอักขระในเสสวรรค์ มิได้วิปลาศในอักขระ ๒๕ ตัว อันจัดเปนธนิตสิถิลอันต้องด้วยอักขระวิบัติ ๔ ที่ห้ามบรรพชาอุปสมบทนั้นไม่ แลซึ่งมีสูตร โทธสฺสจ ว่า เอา ระ เปน ละ เอา ยะ เปน ชะ เอา วะ เปน พะ มีอยู่ฉนี้ จะจัดเข้าเปนบรรพชาอุปสมบทหาได้ไม่ฤๅ สูตรนี้จะจำเภาะใช้ได้แต่ที่ไหน ฤๅว่าสูตรโทธสฺส จ แลคัมภีร์จุลคันถีนี้เอามิได้ให้พระคุณทั้งปวงชำระเสีย อนึ่งเมื่อพระอุทายีสวดพระปาติโมกข์มีเสียงเบาไปดุจหนึ่งเสียงกาบมิชัดในธนิตสถิลครุลหุนั้น พระสงฆ์ทั้งปวงกราบทูลแด่สมเด็จพระมหากรุณา ๆ มีพระพุทธฎีกาตรัสว่าพระอุทายีมีศรัทธา อุสาหะตั้งใจจะสวดสำแดงให้ถูกอักขระอักษรในพระปาติโมกข์อยู่ แต่หากกล่าวมีเสียงดุจหนึ่งเสียงแห่งกา ว่าบมิชัดธนิตสถิลครุลหุนั้นหาโทษมิได้ แลเมื่อแรกพระอุทายีบวชบรรพชานั้นภาษาสำเนียงบริสุทธิ์อยู่ ว่าอักขระอักษรในพระไตรสรณคมน์หาผิดเพี้ยนวิปลาศไม่ฤๅ จึงไม่สงไสยในกิจบรรพชาอุปสมบท ฤๅว่าเมื่อแรกบวชบรรพชานั้นมีเสียงภาษาบริสุทธิ์อยู่ หาผิดเพี้ยนในอักขระอักษรไม่ ต่อเมื่อบวชแล้วจึงมีเสียงเปนเสียงกาว่าสวดพระปาติโมกข์ จึงไม่ชัดธนิตสิถิลครุลหุ พระสงฆ์จึงกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าประการใด ให้พระราชาคณะทั้งปวงวิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๒

อาตมาภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระพนรัต พระธรรมไตรโลก พระพิมลธรรม พระพุฒาจารย์ พระธรรมกิติ พระธรรมมุนี พระธรรมเจดีย์ พระเทพมุนี พระวินัยรักขิต พระเทพกระวี พระพุทธโฆษา พระญาณสมโพธิ พระโพธิวงษ์ พระราชกระวี พระพรหมมุนี พระราชมุนี พระญาณสิทธิ พระเทพโมฬี พระญาณโพธิ พระสุเมธใหญ่ พระธรรมโฆษา ๒๒ รูป ได้รับพระราชทานฟังพระราชปุจฉาแล้วมิได้ประมาทอุส่าห์ค้นดูในคัมภีร์พระวินัยต่างๆ ปรึกษาพร้อมกัน

แก้ข้อ ๑

เห็นโดยพระคัมภีร์พระมหาวัคเปนพุทธบัญญัติยืนอยู่ว่า “อนฺธพธิโร ภิกฺขเว น ปพฺพาเชตพฺโพ” ดูกรสงฆ์ทั้งปวง บุคคลเปนใบ้, หนวก, มิควรจะเรียกให้บรรพชาอุปสมบท ถ้าสงฆ์ให้บรรพชาอุปสมบทคนเปนใบ้, หนวก, ผู้เปนอุปัชฌาย์กรรมวาจาแลสงฆ์หัตถบาส ก็ต้องโทษสิ้นทั้งนั้น แต่บุคคลเปนใบ้, หนวก. นั้นเปนภิกษุภาวะอยู่ พระบาฬีอันนี้เปนปฐมบัญญัติ จำเดิมเต่นั้นมาพระอริยสงฆ์สาวกเคารพในพระพุทธบัญญัติ ก็มิได้ให้อุปสมบทแก่คนอันเปนใบ้หนวก จำเดิมแต่นั้นมาพระอรรถกถาจารย์ผู้รู้พุทธาธิบายอันนั้น จึงตั้งไว้ซึ่งคัมภีร์คันถีบทตามพุทธาธิบายว่า “น ภิกฺขเว ฯ ล ฯ อาปตฺติทุกฺกฏสสาติ ปฺาเปติ น ปพฺพาเชตพฺโพ” มีพุทธบัญญัติว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง บุทคลเปนใบ้พูดมิออกอย่าพึงให้บรรพชาเปนสามเณร เหตุภาวะเปนใบ้นั้นจะรับพระไตรสรณคมน์มิได้นั้น ถ้าใบ้คนใดอาจสามารถจะรับพระไตรสรณคมน์ได้ก็พึงให้บรรพชาเปนสามเณร อนึ่งใบ้กล่าววจีเภทมิได้ จะอุปสมบทมิได้ เหตุว่าจะขออุปัชฌาย์ว่า “อุปชฺฌาโย เม” มิได้ เหตุดังนั้นใบ้นั้นจะบวชเปนภิกษุมิได้เจริญ หนึ่งบาฬีในคันถีบทว่า “เอกโต สุทฺธิโต ภิกฺขุ ปพฺพชา รุหติ อิทํ อาทิกมฺมิกํ สนฺธาย วุตฺตนฺติ จุลฺคนฺถีปเท วุตฺตํ” แปลว่าคนเปนใบ้พูดมิออกจะบวชเปนภิกษุ ๆ เจริญอยู่ เหตุอุปสมบทกรรมนั้นเปนเอกโตสุทธิ คำอันนี้อาไศรยด้วยคำเปนอาทิกัมมิกะ อนึ่งบุคคลเปนหนวกมิได้ยินศัพท์ทั้งปวงจะบวชเปนสามเณรมิได้เจริญ เหตุภาวะมิได้ยินศัพท์แห่งพระไตรสรณคมน์ อนึ่งคนผู้เดียวเปนใบ้บอดหนวก จะบรรพชาเปนสามเณรนั้นมิได้เจริญ เหตุภาวะเปนอภัพพบุคคล วินิจฉัยมาทั้งนี้ตามคัมภีร์คันถีบท

แก้ข้อ ๒

อนึ่งซึ่งทรงพระวิมุติสงไสยในสามเณรบรรพชา อันรับพระไตรสรณคมน์ผิดเพี้ยนอักขระตัวหนึ่งว่าเปนตัวหนึ่งเปนที่สงไสยอยู เหตุว่ากล่าวไว้ในอรรถกถาว่า “อุปสมฺปทา เอกโต สุทฺธิยา วตฺตติ สามเณร ปพพฺพชา อุภโตสุทฺธิยา วตฺตติ” เนื้อความว่าภิกขุจะให้อุปสมบท จงกล่าวกรรมวาจาให้บริสุทธิ์ ถ้าจะให้บรรพชาเปนสามเณร พึ่งกล่าวพระไตรสรณคมน์ให้บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายอาจารย์แลศิษย์ เหตุดังนั้นถ้าสงฆ์จะให้อุปสมบท พึงให้เว้นซึ่งโทษในญัตติแลกรรมวาจา คือผิดเพี้ยนบทอักขระพยัญชนะแลกรรมจึงเปนธรรม อนึ่งจะให้บรรพชาเปนสามเณรพึงกล่าวพระไตรสรณคมน์ ให้เปนอุภโตสุทธิให้บริบูรณ์ทั้งฝ่ายศิษย์แลอาจารย์ยังพระไตรสรณคมน์ให้บริบูรณ์ ด้วยพยัญชนะฐานกรณ์ มีพุอักขระแลธํอักขระเปนต้นจึงจะควร ถ้าจะกล่าวมิได้บริบูรณ์แต่ฝ่ายศิษย์ แลอาจารย์บรรพชาแลอุปสมบทกันนั้น มิควรเลย แลซึ่งศิษย์แลอาจารย์กล่าวให้ผิดอักขระพระไตรสรณคมน์แล้ว แลนักปราชญ์จะพิพากษาตามคัมภีร์มูล ว่าอาเทศได้นั้น อาตมาภาพรู้ไม่ถึง ขอพระราชทานอภัย อนึ่งถ้าจะอนุญาตให้อาเทศตัวหนึ่งเปนตัวหนึ่ง ในพระไตรสรณคมน์ครั้งนี้ ปัจฉิมาชนตาชนมาภายหลังจะอาเทศอักขระในพระไตรสรณคมน์ต่างๆ กันตามชอบใจเห็นไม่ควร อนึ่งมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอุปเสน ว่าสิกขาบทอันพระตถาคตบัญญัติแล้วอย่าถอนเสีย สิกขาบทอันใดยังมิได้บัญญัติอย่าบัญญัติเอาเองจะเปนโทษ

แก้ข้อ ๓

อนึ่งซึ่งพระราชดำริห์สงไสยในนิทานพระอุทายีนั้น แลเมื่อพระอุทายีจะสวดสำแดงปาติโมกข์ครั้งนั้น พระอุทายีมีความวิตกว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกขุจะสำแดงพระปาติโมกข์นั้น จะพึงยังสงฆ์ให้ได้ยินด้วยเสียงอันดังคล่องสละสลวย บัดนี้อาตมาภาพมีเสียงดุจหนึ่งเสียงกาจะปรนิบัติประการใด จึงบอกความวิตกแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์จึงกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้า ๆ จึงตรัสอนุญาตว่าดูกรสงฆ์ทั้งปวง ถ้าภิกขุองค์ใดเสียงมิได้คล่องเบาไป แลเพียรพยายามว่าอาตมาจะอุสาหะสวดแสดงพระปาติโมกข์ให้พระสงฆ์ได้ยินทั่วกัน เมื่อเพียรพยายามดังนี้ แม้นถึงสวดขัดไม่คล่องเบาไปก็หาอาบัติมิได้แล เมื่อพระอุทายีจะสำแดงพระปาติโมกข์ก็ดี จะว่าพระไตรสรณคมน์บรรพชาก็ดี จะได้ผิดอักขระอักษรหามิได้ แต่ทว่าเสียงนั้นดุจเสียงกาว่าอักขระอักษรเบาไปไม่คล่องสละสลวย พระอุทายีมีศรัทธาอุสาหะเพียรพยายามแล้วก็หาโทษมิได้

แก้ข้อ ๔

ข้อนี้พระบาฬีว่า “สามเณรปพพชา ปน อุภโต สุทฺธิยา วตฺตติ โน เอกโตปิ สุทฺธิยา” เนื้อความว่าบุคคลมีอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์แต่ว่าเจรจาภาษาไม่ชัดเพี้ยนอักขระนั้นดีกว่าบุคคลอันเปนใบ้ บอด หนวก เหตุว่าคนอาการ ๓๒ บริบูรณ์ แต่อักขระวิปลาศนั้นยังจะสอนได้อยู่ จะได้ทั้งบรรพชาอุปสมบท ปรนิบัติตามกิจสมณะในพระสาสนา ฝ่ายคนใบ้ บอด, หนวก, นั้นชั่วกว่าคนเจรจาไม่ชัด เหตุว่าไม่ได้บรรพชา เปนอภัพพบุคคล คำซึ่งว่าใบ้, บอด, หนวก, บวชได้นั้น พระอุปัชฌาย์กรรมวาจาหาได้ให้ผู้นั้นว่าอักขระตัวใดตัวหนึ่งไม่ ไม่ได้ว่าพระไตรสรณคมน์เลย เปนภิกขุขึ้นด้วยอานุภาพญัตติจตุตถกรรมแลอำนาจพระสงฆ์ปกตัตพร้อมด้วยพัทธสีมาบริบูรณ์ครั้งเดียวนั้น แต่ว่าพระสงฆ์ผู้บวชให้นั้นต้องอาบัติ พระเจ้ารู้แล้วจึงห้ามมิให้บวช เหตุว่าผู้จะปรนิบัติในกิจพระสมณะมิได้ในพระสาสนา ตั้งแต่วันนั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงผู้จะให้บรรพชาอุปสมบท ก็มิได้ล่วงพุทธบัญญัติบวช ใบ้, บอด, หนวก ผู้ใดผู้หนึ่งหามิได้

แก้ข้อ ๕

ข้อนี้อาตมาภาพทั้งปวงปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า ซึ่งพระกรรมวาจามิได้ถามด้วยอักขระวิปลาศในพระไตรสรณคมน์นั้น เหตุว่าอาจารย์ผู้ให้พระไตรสรณคมน์ชำระบริสุทธิ์เปนบรรพชาสามเณรบริบูรณ์ดีอยู่แล้ว พระกรรมวาจาผู้จะให้อุปสมบท จึงมิได้ถามซ้ำด้วยพระไตรสรณคมน์ ก็ถามอันตรายิกธรรมเปนกิจอุปสมบทต่อไป ตามพระพุทธฎีกาพุทธานุญาต อนึ่งซึ่งเปนคนอาพาธ ๕ ประการมีกุฎฐังปมเปาเปนต้น ก็บวชด้วยพระบาฬีถามแลสวดอันเดียวกัน จะได้บวชอย่างอื่นหามิได้ แลผู้เปนอาพาธ ๕ ประการอยู่แล้ว เมื่อพระกรรมวาจาถาม ปฏิเสธว่าหามิได้ พระสงฆ์ทั้งปวงก็เข้าใจว่าบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ให้อุปสมบทจนเสร็จผู้บวชนั้นก็เปนภิกษุภาวะอยู่ ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งปวง ถ้ารู้เห็นว่าเปนอาพาธก็ต้องอาบัติ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นก็หาอาบัติมิได้ อนึ่งซึ่งผู้บวชเปนอาพาธแลปฏิเสธว่าหามิได้นั้นจะเปนองค์มุสาหามิได้ เปนคำว่าตามกิจพุทธบัญญัติดังพระบาฬีถามว่า “อนุฺาโตสิ มาตาปิตูหิ” ผู้บวชนั้นบิดามารดาตายแต่ก่อนแล้ว ครั้นถามว่าบิดามารดาท่านอนุญาตแล้วฤๅ รับว่า “อามภนฺเต” อนุญาตแล้ว คำนั้นก็ไม่เปนมุสา คำอื่นๆ ที่ปฏิเสธนั้นก็หาโทษมิได้เหมือนกัน คำทั้งนี้เปนพุทธานุญาตตามพุทธวิไสยสมเด็จพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มา ถ้าต้องอยู่ในระหว่างโทษมุสาวาทแล้ว พระพุทธเจ้าจะอนุญาตให้สัตวเปนโทษนั้นหามิได้ ทรงพระกรุณาอนุญาตไว้ทั้งนี้ ด้วยจะอนุเคราะห์โปรดสัตวให้ได้อุปสมบทในพระสาสนา จะได้เปนอุปนิไสยแก่มรรคผลธรรมวิเศษสืบไป เหตุว่าสัตวเกิดมาจะเว้นจากอาพาธเปนอันน้อยนัก จึงอนุญาตไว้ดังนี้ ดุจหนึ่งพระพุทธฎีกาตรัสพระธรรมเทศนามีหลายประการ ด้วยพุทธาธิบายฉลาดในที่จะโปรดสัตว ครั้นพระองค์ตรัสเทศนาในพระสูตรบัญญัติว่าเปนมนุษย์ เทวดา ชาย หญิง มิได้มี ๆ แต่ขันธอายัตนะธาตุ แลพระพุทธฎีกาทั้งสองไม่ต้องกันดังนี้ จะเปนมุสาวาทหามิได้ ตรัสพระธรรมเทศนาเพื่อจะอนุเคราะห์แก่สัตวจะให้ได้มรรคผลพ้นทุกข์เปนประมาณ

แก้ข้อ ๖

อาตมาภาพทั้งปวงได้รับพระราชทานฟังพระราชปุจฉา เกิดวิมุติสงไสยนักว่าเมื่อแรกจะบวชคนใบ้, บอด หนวก. นั้นจะทำอย่างไร ค้นหาพระบาฬีพระวินัยบรรดามี พระพุทธฎีกาบัญญัติในกิจบรรพชาอุปสมบทนั้น จะได้เนื้อความว่าเมื่อแรกจะเข้าไปบรรพชา แลสงฆ์จะบวชให้นั้นจะทำเปนประการใด เมื่อว่าเปนสงฆ์แล้วพระอุปัชฌาย์กรรมวาจาเจ้าตัวจะสำคัญอย่างไร บวชแล้วจะปฏิบัติในสมณกิจมีพินทุอธิฐานผ้าแลเทศนาบัติเปนต้นนั้นอย่างไร ก็มิได้พบพระบาฬีในคัมภีร์อันใดอันหนึ่งเลยเปนอันขาด ซึ่งว่า ใบ้, บอด, หนวก. บวชได้นั้น ถ้ามิใช่พระพุทธฎีกาก็จะไม่เห็นด้วย อันพระพุทธฎีกาจะบัญญัติไว้ให้สัตวเปนโทษนั้นหามิได้ อันพระพุทธวิไสยแล้วหาที่สุดมิได้ มิควรเปนก็เปนได้ อาตมาภาพทั้งปวงถวายวิสัชนาฉลองพระเดชพระคุณทั้งนี้ สิ้นกำลังสติปัญญาซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่สำนักครูปเทศาจารย์ ควรมิควรอาตมาภาพทั้งปวงผู้มีสติปัญญาน้อย ขอพระราชทานอภัย ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ