พระราชปุจฉาที่ ๓๕

ว่าเหตุไฉนจึงไม่นับพระพิมพาไว้ในพุทธสหจร แลเหตุไฉนจึงยกว่ายิ่งฝ่ายมหาอภิญญา เฉภาะมีแต่ ๔ องค์ คือพระอรรคสาวกซ้าย พระอรรคสาวกขวา พระพิมพา พระพากุลเถร เท่านั้น แลเหตุไฉนจึงจัดพระบารมี พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร ว่าแสนกัลป เหมือนพระอสีติสาวก แลปรกติสาวกเล่า

----------------------------

๏ พระราชปุจฉาข้อหนึ่งว่า แต่ฝ่ายพระพุทธบุตรนั้นเห็นติดพันยืดยาวมากับพระองค์ด้วยกัน ส่วนภริยากับพุทธบุตรนั้นคู่กัน ครั้นกลับชาติในสูตรอันใดในชาดกอันใด บุตรนั้นได้เปนพระราหุล ภรรยาได้มาเปนพระพิมพา เปนคู่สร้างพระบารมีอยู่ฉนี้ เหตุไฉนจึ่งยกว่าเปนพุทธสหจรจาริกแต่ ๖ จำพวก ไม่นับภรรยาเข้าด้วย ฤๅว่าหามีสตรีภาพผู้ใดปราถนาเปนพุทธภริยาไม่ ถ้าไม่มีสัตรีปราถนาแล้วทำไฉนจะได้ภรรยาบำเพ็ญภริยาบริจาค จะได้เกิดพุทธบุตรในชาติที่สุดเล่า จึงจะเห็นพุทธบุตรแล้วจะได้ปลงปัญญาสังเวช เสด็จออกคู่บรรพชาตามธรรมดาพุทธประเพณี ประการหนึ่งในพระธรรมเทศนา ว่าพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายสร้างบารมีมาเท่าไรก็ระฦกชาติได้เท่านั้น แล้วมาสรรเสริญมหาอภิญญาว่าในพระพุทธสาสนานี้ จะได้มีพระสาวกยกยิ่งในฝ่ายอภิญญาโดยมากหามิได้ เฉภาะมีแต่ ๔ พระองค์คือพระอรรคสาวกซ้าย พระอรรคสาวกขวา พระพิมพา พระพากุลเถร เหตุว่าท่านทั้ง ๔ พระองค์นี้ มีปัญญาระฦกชาติได้อสงไขยแสนกัลปเสมอกัน ส่วนพระพากุลเถร ระฦกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัลปเสมอพระอรรคสาวกซ้าย เสมอพระอรรคสาวกขวา ยิ่งกว่าพระอสีติสาวกซึ่งบารมีแสนกัลปเล่า ฝ่ายพระพิมพาเจ้าระฦกชาติได้อสงไขยแสนกัลปนั้น ได้มหาอภิญญา แล้วเปนคู่สร้างบารมีมากับด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้บำเพ็ญภริยาบริจาค ได้สดับตรับฟังมาฉนี้มากมายหลายสูตรหลายนิทาน จึงสำเร็จแก่พระโพธิญาณ เหตุไฉนจึงไม่จัดพระพิมพาเข้าไว้ในพุทธสหจรจาริกด้วยเล่า แลซึ่งพระพิมพานี้จะเปนบารมีเท่าใด ฝ่ายพระพุทธบุตรเล่า ก็เปนคู่สร้างติดกันมาเหมือนกันกับพระพิมพา ประการหนึ่งพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา ท่านทั้งสองพระองค์นี้ก็เปนที่เจดียฐานอันใหญ่หลวงมหิมา เมื่อพระองค์ยังแสวงหาพระโพธิญาณสร้างพระบารมีอยู่นั้น ก็ย่อมมาปฏิสนธิ ในครรภ์พระสิริมหามายาพุทธบิดา พุทธมารดา ทั้งสองพระองค์นี้ จะนับชาติกัลปมิได้ แทบประหนึ่งว่าทุกสูตรทุกนิทาน เมื่อยืดยาวติดพันกันมาดังนี้ ถึงมาทว่าพระองค์จะไปปฏิสนธิในครรภ์ผู้อื่นก็เปนอันน้อยนักหนา เหตุไฉนจึงจัดพระบารมีพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร ว่าแสนกัลปเหมือนพระอสีติสาวก พระปรกติสาวกเล่า ให้พระราชาคณะวิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๕

๏ อาตมภาพทั้งปวงถวายวิสัชนาแต่ก่อนว่า ท่าน ๘ จำพวกสร้างบารมีมากน้อยกว่ากัน ก็สำเร็จความปราถนาสิ้น ส่วนภรรยากับพุทธบุตรนั้นติดพันเปนคู่สร้างบารมีมาด้วยกัน ข้อนี้อาตมภาพขอพระราชทานถวายพระพร ด้วยพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตรกับพระพิมพานี้ เป็นคู่สร้างบารมีพุทธสหจรด้วยกัน แลซึ่งมิได้ยกพุทธภริยาขึ้นว่า เหตุด้วยว่าพุทธบุตรแล้ว พระพิมพาก็เปนอันว่าสำเร็จแล้วกับพระพุทธบุตรด้วยกัน เพราะพระพิมพากับพระราหุลเนื่องกัน ดุจหนึ่งพระบาฬีในคำภีร์สัทสารว่า “สวจฺฉกา คาวี” เนื้อความว่าโคแม่ลูกอยู่ด้วยกัน แลบุคคลจูงเอาลูกโคมา แม่โคก็ตามมาเอง ถ้าจูงแม่โคไป ลูกโคก็ตามไปเอง ถ้ามิดังนั้นดุจหนึ่งว่าพระมหากระษัตริย์เสด็จมาพวกพลโยธาทั้งปวงไม่พักว่า ก็พึงรู้ตามเสด็จห้อมล้อมพระมหากระษัตริย์มา ฉันใดก็ดี พระพิมพา พระราหุล ก็เปนสหจร นัยมีอุประไมยดังแม่โค ลูกโค แลพระมหากระษัตริย์นั้น เหตุฉนี้ท่านผู้มีปัญญาพึ่งรู้เถิดว่า พระพิมพานับในท่าน ๘ จำพวกด้วยแล้ว ซึ่งจะจัดเปนท่าน ๙ จำพวกนั้น หาอรรถกถาบาฬีไม่ มีแต่ ๘ จำพวก แลพระพิมพาเปนที่พุทธภริยานี้กำหนดแสนกัลปเท่ากับพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร อนึ่งพระบาฬีในคัมภีร์พระพิมพานิพพาน พระพิมพาเจ้าระฦกนำมาษมาแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า ว่าครั้งเมื่อสาสนาพระพรหมเทวสัมพุทธเจ้านั้น พระบรมโพธิสัตวเปนพระยาธรรมราชา พระพิมพาเปนนางสุนทราเทวี ได้ให้พระเนตรเปนทานแก่อินทรพฤฒาจารย์คนละข้าง แลพระยาธรรมาปราถนาพระโพธิญาณ ถ้าจะนับบารมีพระพิมพาแต่พระสาสนานี้ไปเปน ๒๐ อสงไขยแสนกัลป อนึ่งเมื่อสาสนาพระทีปังกรสัมพุทธเจ้านั้น พระบรมโพธิสัตวเปนพระสุเมธดาบศ พระพิมพาเปนนางสุมิดากุมารีได้ถวายดอกบัว ๙ ดอกแก่สมเด็จพระทีปังกรเจ้า แล้วตั้งปณิธานปราถนาว่า “อยํ ตาปโส อนาคเต มม สามิโก ภเวยฺยาติ” ว่าพระสุเมธดาบศองค์นี้จะได้ตรัสแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลภายน่า ข้าพระองค์ขอเปนบาทบริจาพระองค์ไปกว่าจะสำเร็จแก่พระโพธิญาณพระสุเมธดาบศได้ยินนางสุมิดาปราถนา ออกวาจาห้ามว่า ท่านอย่าปราถนาเราไม่พอใจ สมเด็จพระทีปังกรสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่าดาบศอย่าห้าม ด้วยเปนธรรมดาประเวณี พระบรมโพธิสัตวผู้ปราถนาพระโพธิญาณ ย่อมอาไศรยบุตรภริยาเปนคู่สร้างบารมี จึงได้บำเพ็ญบุตรบริจาค บำเพ็ญภริยาบริจาค สำเร็จพระโพธิญาณ ถ้าจะนับแต่พระสาสนานี้ไปเปนบารมีพระพิมพา ๔ อสงไขยแสนกัลป ถึงมาทว่าพระพิมพาบำเพ็ญพระบารมีมาแต่ ๒๐ อสงไขยแสนกัลปก็ดี พระอรรถกถาจารย์จะกำหนดว่า เปนบารมีที่พุทธภริยา ๒ อสงไขย ๔ อสงไขยก็หามิได้ กำหนดเปนมั่นไว้ว่าที่สุดภริยานั้นแสนกัลปก็สำเร็จปราถนาเสมอพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา แม้นถึงว่าพุทธบิดา พุทธมารดา เปนพุทธสหจรสร้างบารมีมากับด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้า นับกัลปเท่าใดๆ ก็ดี ใช่จะได้พบกันทุกชาติหามิได้ ใน ๒๐ อสงไขยนั้นพบกันบ้างไม่พบกันบ้าง มาในแสนกัลปนั้นพบกันมากไม่พบกันน้อย ถึงกระนั้นก็ดี กำหนดบารมีแต่แสนกัลป ครั้นกำหนดบารมีให้ยิ่งเกินกว่าแสนกัลปขึ้นไปไม่ควร ด้วยภูมิพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธภริยา พระพุทธบุตรนี้ต่ำกว่าพุทธภูมิต่ำกว่าปัจเจกภูมิ ต่ำกว่าอรรคสาวกภูมิ พอเสมอกันกับพระอสีติสาวกภูมิ พระปรกติสาวกภูมิ ด้วยว่าท่านทั้ง ๔ นี้ สร้างบารมีโดยต่ำที่สุดแต่แสนกัลปก็ได้สำเร็จปราถนา ถ้าบำเพ็ญมามากนับด้วยกัลปอสงไขยประการใด ด้วยอุปนิสัยรักใคร่ติดพันกันมาก็ดี ยิ่งดียิ่งควร จะได้ห้ามหามิได้ ประการหนึ่งซึ่งข้อว่าพระพากุลเถรระฦกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัลป เสมอพระอรรคสาวกซ้าย พระอรรคสาวกขวา ยิ่งกว่าพระอสีติสาวกทั้งนั้น ไฉนจึงจัดไว้ในพวกพระอสีติมหาสาวกเล่า ทั้งนี้เพราะพระพากุลเถร ได้ตั้งปราถนาแต่ที่เอตทัคค ให้ยิ่งในฝ่ายหาโรคมิได้ ในสาสนาพระปทุมุดรพร้อมกันกับพระอสีติสาวกทั้งปวง จะได้ปราถนาเปนที่เสมอพระอรรคสาวกหามิได้ เหตุฉนี้จึงจะยกบารมีพระพากุลเถร เปนคู่เคียงกับพระอรรคสาวกซ้ายขวานั้นมิได้ ใช่วิสัยพระอรรคสาวกจะมี ๓ พระองค์นั้นมิได้ จึงจัดที่พระพากุลเถรไว้ในพระอสิติมหาสาวกแล้ว ยกว่าเปนมหาอภิญญา เหตุว่าพระปัญญามาระฦกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัลป แลระฦกชาติได้อสงไขยแสนกัลปนี้สำหรับที่มหาอภิญญา ที่ระฦกชาติได้น้อยกว่าไขยแสนกัลป จะได้นับว่าเปนมหาอภิญญาหามิได้ อนึ่งจะได้เฉภาะพระอริยสาวกองค์ใดก็หามิได้ สุตแต่พระอรรคสาวกองค์ใดระฦกชาติได้อสงไขยแสนกัลปก็นับว่าเปนมหาอภิญญา แต่ทว่าธรรมดาพระพุทธสาสนาพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะได้มีพระอริยสาวกยิ่งในฝ่ายอภิญญาหามิได้ เฉภาะมีมหาอภิญญาแต่ ๔ พระองค์ จึงจัดได้พระอรรคสาวกซ้ายขวา กับพระพิมพา พระพากุลเถร ระฦกชาติได้อสงไขยแสนกัลปเสมอกัน จึงจัดยกเปนมหาอภิญญา ๔ ยิ่งกว่าอภิญญาพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น อาตมภาพทั้งปวงขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ