พระราชปุจฉาที่ ๒๓

ว่าด้วยพระฯ โปรดแต่คนใบ้, บอด, หนวก. แลคนเปนอันตรายยิกธรรมดอกฤๅ แลคนที่ว่าอักขระวิปลาศนั้น โทษมีประการใดจึงไม่โปรด ถ้าดัดแปลงสั่งสอนมิได้ แล้วจะสวดญัตติให้เปนภิกษุทีเดียวเหมือนคนใบ้, บอด, หนวก. นั้นจะได้ฤๅไม่

----------------------------

ครั้นหลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรีชา นำเอาคำวิสัชนาพระราชาคณะเข้ากราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้หลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรีชา ไปเผดียงถามพระราชาคณะว่า พระคุณเจ้าทั้งปวงถวายวิสัชนาว่า คนเปนใบ้, บอด, หนวก. นั้นห้ามบรรพชา ไม่พักรับพระไตรสรณคมน์เลย พระอุปัชฌาย์ กรรมวาจา สวดให้เปนภิกษุที่เดียวได้ เหล่าคนเปนอันตรายิกธรรมก็ว่าบวชได้หาเปนมุสาไม่ ซึ่งทรงพระกรุณาอนุญาตไว้ทั้งนี้ด้วยจะอนุเคราะห์โปรดสัตวให้ได้อุปสมบทในพระสาสนาจะได้เปนอุปนิสัยปัจจัยแก่มรรคผล ธรรมวิเศษ สืบไปนั้นก็ควรนักหนา แต่ทว่าสมเด็จพระมหากรุณาเจ้าโปรดแต่คนใบ้, บอด, หนวก. และคนเปนอันตรายิกธรรมดอกฤๅ แลคนซึ่งว่าอักขระวิปลาศจำพวกนี้ โทษมีเปนประการใดจึงไม่โปรด ถ้าดัดแปลงสั่งสอนมิได้แล้ว อย่าให้รับพระไตรสรณคมน์เลย จะสวดญัตติจตุตถกรรมให้เปนภิกขุทีเดียวเหมือนหนึ่งคนใบ้, บอด, หนวก. นั้นจะได้ฤๅมิได้ประการใด ให้พระคุณทั้งปวงวิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๓

อาตมาภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ขอพระราชทานถวายพระพรวิสัชนาด้วย คนใบ้, บอด, หนวก. ห้ามบรรพชาไม่พักรับพระไตรสรณคมน์เลย สวตญัตติจตุตถกรรมเปนภิกษุทีเดียวนั้น ใช่จะมีสืบมาทุกวันนี้หามิได้ มีครั้งเดียวเปนอาทิกัมมิกก่อนพุทธบัญญัติ สมเด็จพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสห้ามเปนขึ้นแต่พอเปนเหตุ ให้สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าตรัสบัญญัติห้ามแล้ว จำเดิมแต่นั้นมาจะได้มีพระอรหันตาขีณาสพพระอสีติสาวกปกติสาวก พระสงฆ์เจ้าเหล่าใดบวชให้ใบ้, บอด, หนวก. ด้วยกิริยานิ่งไม่รับพระไตรสรณคมน์เลย สวดให้เปนภิกษุทีเดียวนั้นหามิได้เปนอันขาดทีเดียว พระสงฆ์จะบรรพชาสามเณรรูปใด ก็อาไศรยพระไตรสรณคมน์ จะให้อุปสมบทภิกขุรูปใดก็อาไศรยพระไตรสรณคมน์ ถ้าพระไตรสรณคมน์บริบูรณ์แล้วก็เปนบรรพชาอุปสมบท ถ้าพระไตรสรณคมน์ไม่บริบูรณ์ ก็ไม่เปนบรรพชาอุปสมบท เหตุนี้พระบาฬีในคัมภีร์มหาวรรคนี้ “เอกสฏฐี โลเก อรหนฺโต โหนติ ฯ ล ฯ อนุชานามิ ภิกฺขเว ฯ ล ฯ ปพฺพชฺชํ อุปสมฺปทนฺติ” เนื้อความว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว ก็อนุญาตพระราชทานเอหิภิกขุบรรพชา แลอุปสมบทแก่พระอรหันต์ ๖๐ พระองค์แล้ว ลำดับนั้นมาจึงมีพระพุทธฎีกาอนุญาตพระราชทานพระไตรสรณคมน์ เปนบรรพชาอุปสมบทกรรม บวชกุลบุตรเปนภิกขุภาวะในพระสาสนา ลำดับมาจึงอนุญาตพระราชทานญัตติจตุตถกรรมสวดประกาศสงฆ์ ๔ ครั้ง จบจึงเปนภิกขุอุปสมบท แลบรรพชากรรม อุปสมบทกรรม ญัตติจตุตถกรรมก็ดี ก็ล้วนอาไศรยพระไตรสรณคมน์เปนเค้าเปนมูลมา เหตุฉนั้นคติอาจารย์แต่โบราณทำสืบๆ กันมา จึงกำชับกันทั้งอาจารย์ผู้จะให้แลศิษย์ผู้จะรับพระไตรสรณคมน์นั้น ให้ถูกบทพยัญชนะ ถูกอักขระฐานกรณ์ จึงเปนบรรพชาอุปสมบทกรรมบริบูรณ์ ซึ่งบุคคลว่าอักขระวิปลาศสั่งสอนไม่ได้แล้ว ให้นิ่งเสียสวดญัตติจตุตถกรรมเปนภิกขุทีเดียวนั้น อาตมาภาพ ค้นหาพระบาฬีอรรถกถาบรรดามีในพระวินัยบัญญัติมิได้พบเลย เหตุมีแต่แรกปฐมบัญญัติตรัสเปนพระพุทธวิไสยให้เปนเหตุห้ามแต่ครั้งเดียว ซึ่งสาวกวิไสยแลสมมติสงฆ์ทุกวันนี้ จะกระทำอย่างพระพุทธวิไสยนั้นไม่ควร ซึ่งบุคคลว่าอักขระวิปลาศมาจะได้ชั่วต่ำช้ากว่าเปนใบ้, บอด, หนวก. แลคนเปนอันตรายิกธรรมหามิได้ เหตุจะอุส่าห์สั่งสอนไปก็จะได้อยู่ แลคนว่าอักขระวิปลาศอยู่ไม่ถูก จะพิพากษาว่าศรัทธาอุสาหะอยู่แล้วหากว่าไม่ได้ ให้บรรพชาอุปสมบทเถิด คือ คำพิพากษานี้ก็เปนคำเบาไม่ต้องด้วยกิจพระวินัย ถ้าคำโจทย์เฉลยกันในพระวินัยแม้นคำใดเปนคำลหุเปนคำเบาให้ยกไว้ คำใดเปนคำครุคำหนัก ควรพระวินัยธรจะถือเอาคำหนักนั้นพิพากษาปรนิบัติสืบไป ซึ่งจะพิพากษาว่าอักขระไม่ถูกแล้ว ให้นิ่งเสียสวดบวชเปนภิกขุเถิดนั้นเห็นหย่อนเห็นเบา มิรู้ที่จะยุดพระอรรถกถาบาฬีเยี่ยงอย่างในสถานที่ใด กลัวจะทำเปนทิฏฐานุคติฟั่นเฟืยนสืบไป ก็จะเปนโทษใหญ่ในอนาคต ควรมิควรขอพระราชทานอภัย ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ