พระราชปุจฉาที่ ๒๕

ข้อ ๑ ในพระบาฬี ว่า คนกระทำบาปในชาติก่อน ครั้นมาเกิดชาดนี้ จึงบันดาลให้กายวิปริตไปต่าง ๆ คือ มือด้วนเท้ากุดเปนต้น ก็ผู้ซึ่งมีศรัทธาจะบวชในพระสาสนาแต่มีกายวิปริต เช่นลิ้นคับปาก ไม่สามารถจะว่าอักขระให้ชัดได้ พระสงฆ์ไม่ยอมให้บวชนั้น จะว่าเพราะบาปอันใด

ข้อ ๒ ว่าคนแก่ฟันหัก ก็คงจะว่าอักขระไม่ชัด เหตุใฉนจึงว่าบรรพชาอุปสมบทได้

ข้อ ๓ ว่าด้วยทารกซึ่งพอจะเปิบเข้าแลขับกาได้ ก็คงจะยังพูดไม่ชัด เหตุไฉนจึงว่าบรรพชาเปนสามเณรได้

ข้อ ๔ ว่าด้วยสามเณรภิกษุลาวเขมรจีนญวนชาวเหนือ บรรดาที่ว่าอักขระไม่ชัด ว่าไม่เปนภิกษุสามเณรนั้น จะเรียกว่าเปนอันใด แลเธอเหล่านั้นจะมีโทษบาปกรรมอย่างไร

----------------------------

๏ ครั้นหลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรึชา เอาคำวิสัชนาพระราชาคณะขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้หลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรีชา ไปเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวง ว่าคนมือด้วนเท้ากุดเปนอาพาธ ๕ ประการ คือเปนเรื้อนกุฎฐังปมเปากลากริศิดวงมองคร่อทั้งนี้ เกิดแต่อกุศลอันตนได้ตัดมือตัดเท้าท่าน แลการกระทำปาณาติบาตแต่ชาติก่อน ไปตกในนรกแล้วมาเกิดเปนมนุษย์ ยังไม่สิ้นเศษบาป จึงให้มือด้วนท้าวกุกเปนโรคต่าง ๆ มีโรคเรื้อนเปนต้น แลคนเปนใบ้เปนหนวกนั้น เกิดแต่อกุศลอันตนกระทำอันตรายแก่ผู้ฟังพระธรรมเทศนาแต่ปางก่อน ไปตกนรกแล้วมาเกิดเปนมนุษย์นั้น จึงให้เปนใบ้หนวกดังนี้ แลคนเสียจักษุนั้น เพราะผลกรรมอันตนกระทำจักษุสัตวทั้งปวงให้บอดแต่ในกาลก่อน ผลกรรมนั้นจึงได้แก่อาตมา แลคนเปนบ้าเสียจริตนั้น เพราะผลอันตนเสพสุรายาเมา แลทำให้ท่านผู้อื่นเสียสมปฤดีสติอารมณ์แต่ชาติก่อน ไปตกนรกแล้วมาเกิดเปนมนุษย์ จึงได้เสวยผลเวทนาให้เปนบ้าเสียจริตไป แลบรรดาคนเปนโรคาพาธดังนี้ ได้สดับตรับฟังว่าเกิดแต่อกุศล โทษบาปกรรมดังพรรณนามานี้แล้ว แต่คนลิ้นคับปากพูดมิชัดว่าอักขระมิถูกนั้น แต่ก่อนได้ทำบาปกรรมเกิดด้วยอกุศลโทษใหญ่สิ่งใด จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าโปรดมิได้ ไม่ให้บรรพชาอุปสมบทบวชในพระสาสนา ถ้าจะว่าเหล่าคนพูดภาษาไม่ชัดว่าเปนโทษเพราะเศษบาปแล้ว ก็เห็นว่าคนเหล่านั้นมากกว่าคนพูดภาษาชัด นับด้วยโกฎิอสงไขยอิก แลประเทศอื่นเห็นเปนคนสัตวบาปเสียสิ้น แต่ประเทศนี้แลเปนคนดีมีบุญทุกคน ประการหนึ่งซึ่งพระคุณเจ้าทั้งปวง ว่าในกิจพระวินัยนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าจะได้เอาศรัทธาปัญญาอุสาหะความเพียรแห่งสัตว์เปนประมาณหามิได้ เอาอักขรบทพยัญชนะครุลหุสิถิลธนิตฐานกรณ์เปนประมาณ ฝ่ายคนแก่ชราแต่พอสุผ้าย้อมผ้าได้ พระคุณก็ว่าบวชขึ้นเปนบรรพชาอุปสมบทอยู่ แลคนชราถึงเพียงนี้ทันตาจะมีบริบูรณ์ที่ไหน เห็นฟันจะยังเหลืออยู่บ้าง สิ้นทีเดียวบ้างอย่างนี้นี่ เห็นว่าคนชราว่าอักขรบทพยัญชนะครุลหุสิถิลธนิตฐานกรณ์นั้น ถูกด้วยบทบังคับในพระวินัยอยู่ฤๅ จึงว่าบวชขึ้นเปนบรรพชาอุปสมบท อนึ่งคนชราทุพลภาพกับคนจมูกด้วนปากขาดนั้น จะว่าอักขรในนาสิกชะแลโอฐขะอันเกิดแต่จะมูกแลเกิดแต่ปากนั้นก็ไม่ได้ไม่ชัด แล้วก็นับอยู่ในคนห้าม ๓๒ จำพวกจะบวชได้ประการใด อนึ่งคนเปนใบ้ บอด หนวก กับพวก ๓๒ นั้น เดิมว่าบวชได้แล้วว่าไม่ได้ เมื่อว่าบวชไม่ได้ไม่ขึ้นไม่เปนสิ้นด้วยกันแล้ว ๆ จะมาหลีกเอาแต่คนชราทุพลภาพอันอยู่ในพวกห้ามนั้น ว่าบวชเปนบรรพชาอุปสมบทฉันใดเล่า ประการหนึ่งเดิมว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตพระสรณคม์บรรพชาสามเณร โดยที่สุดแก่กุลบุตรทารกเด็กน้อยแต่พอจะเปีบเข้ากินเองได้ด้วยมือขวา แลทิ้งกาด้วยมือช้ายให้กาบินขึ้นไปได้ดังนั้น ก็พึงบวชให้เถิด แลอันทารกเหล่านี้ ถ้าจะประมาณอายุแต่ ๓ ขวบ ๔ ขวบก็เห็นพูดยังไม่ชัดยังไม่ถูกถ้วนอักขรอักษร ยังทรงพระมหากรุณาโปรดให้รับพระสรณคมน์บวชบรรพชาเปนสามเณรได้ แลเมื่อจะมีพระพุทธฎีกาห้ามบรรพชาแก่ทารกเหล่านั้น ใช่จะห้ามด้วยว่าพูดไม่ชัดว่าอักษรไม่ถูกถ้วนนั้นหามิได้ เปนเหตุด้วยเปนทารกน้อย ครั้นบวชแล้วก็อดอาหารล่วงเวลามิได้ ร้องให้กินขนมกินเข้า แลถ่ายอุจาระปัสสาวะหาความละอายมิได้ จึงห้ามบรรพชาเพราะเหตุนี้ แลทารกซึ่งว่าอักขรไม่ถูกถ้วนถนัด แต่มีบุพพเจตนาศรัทธาจะบวชแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงอนุเคราะห์บวชให้ไม่ห้ามบรรพชา มีอยู่ฉนี้ เหตุไฉนพระผู้เปนเจ้าจึงว่าคนพูดภาษาไม่ชัด ว่าอักขรผิดเพี้ยนนั้นบวชไม่เปนบรรพชาสามเณรเล่า แลซึ่งทรงพระกรุณาอนุญาตบรรพชาแก่ทารกดังนี้ มิใช่พระพุทธฎีกาฤๅ ประการหนึ่งพระคุณจะวิสัชนาพิพากษาว่า ถึงบุคคลจะมีศรัทธาอุสาหะจะบวชสักเท่าใด ๆ ก็ดี ถ้าว่าอักขรไม่ชัดไม่ถูกแล้ว ก็ไม่เปนสามเณรภิกษุเลย ฝ่ายสามเณรภิกษุลาวแลจีนญวนเขมรชาวเหนือประเทศต่าง ๆ ทั้งปวงบรรดาภาษาไม่ชัดว่าอักขรเอา ระ เปนละ เอาฉะ เปน สะ นั้นนับด้วยร้อยพันหมื่นแสนล้านโกฏิ เจ้ากูก็ตามคติอาจารย์ท่านผู้เฒ่าผู้แก่แต่โบราณกาลก่อนสืบ ๆ มาช้านานนักหนา สำคัญว่าเปนสามเณรภิกษุอยู่ แลพระผู้เปนเจ้าทั้งปวงมาว่าหาเปนสามเณรเปนภิกษุไม่ พระผู้เปนเจ้าจะเรียกเจ้ากูว่าเปนอันใด จะว่าเปนคนนุ่งผ้าเหลืองฤๅ ถ้าเปนคนนุ่งผ้าเหลืองแล้ว ก็จะมิเปนไถยสังวาศลักเพศโทษใหญ่ไปฤๅ อันคนลักเพศนี้ ต้องในบทห้ามบรรพชาอุปสมบทพระผู้เปนเจ้าเอาเจ้ากูมาสึกเสียบวชให้ใหม่นั้น จะบวชขึ้นเปนบรรพชาอุปสมบทฉันใดเล่า อนึ่งเจ้ากูบวชมาแต่ก่อน เมื่อไม่เปนแลเจ้ากูถือสัตย์ว่าเปนภิกษุสามเณรองค์ละ ๔๐ วัสสา ๕๐ วัสสา ๖๐ วัสสา อาจิณกรรมดังนี้ บาปโทษจะมีอย่างไร จะเอาบาปกรรมไว้ที่ไหน หรือหาบาปโทษไม่ประการใด ให้พระราชาคณะพิพากษา วิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๕

๏ อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ทั้งปวงปรึกษาเห็นพร้อมกัน ขอพระราชทานถวายพระพรวิสัชนา ด้วยพระราชปุจฉาว่าด้วยคนมือด้วนเท้ากุด แลเรื้อน กุฏฐัง ปมเปา กลาก ริศิดวง มองคร่อ ใบ้ บ้า บอด หนวก นั้น เกิดแต่อกุศลอันตนได้ทำต่าง ๆ ดุจหนึ่งได้ทรงสดับตรับฟังนั้น ก็สมควรด้วยพระธรรมเทศนาแล้ว

แก้ข้อ ๑

แต่ซึ่งบุคคลลิ้นคับปากพูดไม่ชัดนั้น มีพระบาฬีว่าเกิดแต่อกุศลอันตนกล่าววจีทุจริต ๔ คือมุสาวาท สัมผัปปลาปวาท เปสุญวาท ผรุสวาท ไปตกในนรกแล้วมาเกิดเปนมนุษย์ เศษบาปตามมาจึงให้เจรจามิชัดลิ้นคับปากว่ากล่าวอักขระอักษรมิได้สละสลวย แลพูดเจรจามิชัดว่าอักขระอักษรมิถูกนั้น ใช่ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าจะไม่โปรดหามิได้ โปรดตามวาสนาบารมีแห่งสัตว์ทั้งปวงมิได้เลือกหน้า แต่ว่าพระพุทธประเวณีบัญญัติไว้ ในกิจบรรพชาอุปสมบทเฉภาะให้อักขรอักษรถูกในมคธภาษาในกิจบรรพชาอุปสมบท จึงบวชให้เปนสามเณรภิกษุในพระสาสนา ถ้าว่าไม่ถูกก็บวชไม่ได้ ซึ่งผู้นั้นไม่ได้บวชแล้วก็ได้รับพระราชทานศีลทานมรรคผล พ้นทุกข์ในฆราวาศได้อยู่ ซึ่งผู้เจรจาไม่ชัดตามประเทศภาษาต่าง ๆ นั้นจะพิพากษาว่าเปนโทษด้วยเศษบาปนั้นหามิได้ ด้วยเปนวิไสยประเทศภาษาเจรจาฉนั้นเอง ต่อเมื่อได้เอาฝึกสอนให้ว่ามคธภาษาหนักหนาแล้วว่าไม่ได้ เปนทุพจชาติสอนยากแท้ จึ่งว่าเปนโทษด้วยเศษบาปมีมุสาวาทเปนต้น

แก้ข้อ ๒

ข้อซึ่งว่าคนแก่ชราทุพลภาพมิทันตาบ้างก็ดี หามิได้ก็ดี คนจมูกด้วนปากขาดก็ดี ถ้าแลว่าอักขรอักษรถูกตัว แลมิถิลธนิตครุลหุบริบูรณ์ดีอยู่แล้วก็บวชได้ ถ้าว่าไม่ชัดไม่ถูกก็บวชไม่ได้ อันซึ่งว่าคนชราว่าฐานอักขรอักษรขาดในที่เกิดแต่ฟันมิได้บริบูรณ์นั้น ก็บวชเปนภิกษุได้อยู่ เปนแต่บรรพชาโทษ ๆ แต่อุปัชฌาย์อาจารย์คณะสงฆ์ต้องอาบัติ แลซึ่งถวายพระพรเข้าไปว่า เปนพุทธวิไสยบวชได้แต่ก่อน ทุกวันนี้บวชไม่ได้นั้น แต่คนใบ้ ๑ ใบ้บอด ๑ ใบ้หนวก ๑ ใบ้บอดหนวก ๑ หนวกบอดเปนภิกษุได้อยู่ สุดแต่ว่าพระสรณคมน์ได้ก็บวชได้ เปนโทษแต่คณะสงฆ์

แก้ข้อ ๓

ข้อซึ่งว่าสมเด็จพระพุทธเจ้า อนุญาตพระไตรสรณคมน์ บรรพชาแก่ทารกแต่พอขับกาได้นั้น คือทารกอันขับกาได้เองหาผู้สอนมิได้ พอสั่งสอนให้ว่าพระไตรสรณคมน์ถูกต้องอักษรให้บริบูรณ์ได้ ก็บรรพชาบวชเปนสามเณรได้ ใช่ทารกอ่อนว่าอักษรไม่ชัดนั้น จะทรงพระกรุณาให้บรรพชาหามิได้

แก้ข้อ ๔

ข้อซึ่งว่าสามเณรภิกขุลาว เขมร จีน ญวน ชาวเหนือ ประเทศต่างๆ บวชกันด้วยอักขรอักษรมิชัดตามภาษานั้น อาตมาภาพทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันตามวาระพระบาฬีในพระวินัยว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา มีพระพุทธฎีกาโปรดอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยมคธภาษา ครั้นผู้ใดมาบวชในประเทศนี้แล้ว ก็ฝึกสอนให้ว่าอักขรให้ถูกมคธภาษาจึงบวชให้ ถ้าไม่ถูกก็ไม่บวชให้ อันพระสงฆ์ลาวเขมรบวชกันมา เปนบรรพชาอุปสมบทสมมติกันตามประเทศภาษา ซึ่งอาตมภาพทั้งปวงจะพิพากษาว่าเปนแลมิเปนก็ดี จะเรียกชื่อว่าเจ้ากูว่าเปนอันใดก็ดี เหลือสติปัญญาพ้นวิไสยที่จะตัดสินได้ ถึงว่าไม่เปนบรรพชาอุปสมบทก็ดี แลถือกันว่าเปนสามเณรภิกขุนับวัสสาอยู่เท่าใดใดก็ดี จะได้มีโทษในไถยสังวาศลักเพศหามิได้ เหตุมีเจตนาจะบวช และมีผู้สมมติให้ ไม่นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์เอาเอง ผู้นั้นสำคัญตัวว่าเปนภิกษุอยู่ หาเปนโทษอาจิณกรรมไม่ ถ้าจะบวชใหม่บรรพชาอุปสมบทนั้นก็ขึ้นอยู่ เหตุฉนี้ อาตมภาพทั้งปวงส่งไสยในกิจบรรพชาอุปสมบทแลวัตรปรนิบัติฟั่นเฟือนต่างๆ แห่งพระสงฆ์ลาวจึงให้สึกออกให้บวชใหม่ จะได้มีสมานสังวาศกระทำสังฆกรรมด้วยกันให้บริบูรณ์สืบไป ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ