พระราชปุจฉาที่ ๓๑

ข้อ ๑ ว่าด้วยพระอรหันต์บางพวก ที่ได้เปนเอหิภิกขุ ทรงบาตรไตรจีวรเปนทิพก็มี ที่ไม่ได้ก็มี ที่แสวงหาไม่ได้จนนิพพานก็มี ท่านทั้ง ๓ จำพวกนี้ ได้ทำกุศลไว้แต่ปางก่อนอย่างไร

ข้อ ๒ มีในพระบาฬีว่า ถ้าบุรุษถวายไตรจีวรอานิสงส์จะได้เปนเอหิภิกขุ ถ้าสัตรีจะได้มหาลดาประสาท แลในสาสนานี้บางนางก็ได้มหาลดาประสาท บางนางก็ไม่ได้ ส่วนนางที่ไม่ได้นั้น ไม่ได้ถวายไตรจีวรไว้แต่ก่อนฤๅ

ข้อ ๓ ว่าด้วยนางภิกษุนี ได้เปนเอหิภิกษุนีมีบ้างฤๅไม่

ข้อ ๔ ว่าด้วยนางภิกษุนี จะมีพรรษาถึงร้อยก็ดี ถึงเปนพระอรหันต์แล้วก็ดี ยังต้องไหว้ภิกษุที่บวชใหม่ เพราะเหตุไร

----------------------------

๏ ครั้นหลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงวิเชียรปรีชา เอาคำวิสัชนาพระราชาคณะขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้หลวงอนุชิตพิทักษ์ไปนมัสการเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวง ด้วยพระผู้เปนเจ้าถวายพระพรวิสัชนาเข้ามาแต่ก่อน ว่าบุคคลได้ถวายไตรจีวรนั้น มีอานิสงส์จะให้ได้มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติต่างๆ ในระหว่างชาติเมื่อบารมีครบแสนกลัปแล้วก็ได้บวชเปนเอหิภิกขุ ลุพระอรหัตพร้อมไปด้วยบาตรไตรจีวร เครื่องทิพลอยมาในอากาศ ในที่สุดชาติทีเดียวนั้น ก็สมควรอยู่แล้ว แลพระอริยสาวกเจ้าเหล่า ซึ่งได้บวชเปนเอหิภิกขุลุพระอรหัตพวกละ ๕๐ พวกละ ๖๐ พวกละ ๑๐๐ พวกละ ๑๐๐๐ ก็มี นับหมื่นนับแสนในพระสาสนา ฝ่ายพระมหากัสสปก็เปนพระมหาเถรผู้เฒ่าเอตทัคคยิ่งในฝ่ายธุดงค์ พระอนุรุทธเถรยิ่งในฝ่ายทิพจักขุ พระอานนทเถระเจ้าเปนพระอนุชาธิราช ยิ่งในฝ่ายอุปถากแลพหูสูตร พระอุบาฬีเอตทัคคยิ่งในฝ่ายพระวินัย พระภัททิย พระกิมิล พระภัคคุ ก็เปนพระญาติในวงศ์สากยราช แลพระอรหันต์เจ้านอกนี้ก็เปนอันมาก แลท่านจำพวกนี้เหตุไฉนจึงไม่ได้ไตรจีวรเปนทิพลอยมาในอากาศ หาได้ถวายไตรจีวรไม่ฤๅจึงต้องแสวงหาผ้าบวชเล่า ถ้าได้ถวายไตรจีวรแล้วเหตุไฉนจึงไม่ได้ไตรจีวรอันเปนทิพเหมือนท่านทั้งปวง จึงต้องแสวงหาผ้ามนุษย์มาบวชฉนี้ อนึ่งพระอรหันต์บางจำพวก เอหิภิกขุ บาตรไตรจีวรอันเปนทิพลอยมาในอากาศนั้นก็ไม่ได้ แต่จะเที่ยวแสวงหาบาตรไตรจีวรมาบวชก็ไม่ได้จนนิพพาน แลท่านจำพวกนี้หาได้ถวายไตรจีวรไม่ฤๅ ท่านสามจำพวกนี้บำเพ็ญทานต่างกันอย่างไรจึงไม่เหมือนกัน ประการหนึ่งมีพระบาฬีไว้ว่า ถ้าบุรุษถวายไตรจีวรอานิสงส์จะได้เอหิภิกขุ ถ้าสัตรีจะได้มหาลดาประสาท แลในพระสาสนานี้ปรากฎว่าได้มหาลดาปราสาทแต่สามนาง คือนางวิสาขามหาอุบาสิกา แลนางมลิกาภรรยาพันธุลเสนา แลนางสุมนาธิดาเศรษฐีในเมืองพาราณสึ มีกำลังทรงมหาลดาประสาทได้ ในพระสาสนานี้ใช่จะมีสัตรีแต่สามคนหามิได้ พระมหาปชาบดีแลพระภิกษุนีทั้งปวงก็มีเปนอันมาก อุบาสิกาซึ่งศรัทธาในพระสาสนา จะนับจะคณนามิได้ ท่านเหล่านี้หาได้ถวายไตรจีวรเหมือนสามนางนั้นไม่ฤๅ จึงไม่ได้มหาลดาประสาทเล่า ประการหนึ่งถ้าเปนบุรุษได้อุปสมบทเปนพระภิกษุ เปนสัตรีได้อุปสมบทเปนนางพระภิกขุนี ส่วนบุรุษที่ได้ถวายไตรจีวรนั้นก็ได้เอหิภิกขุ แลพระภิกษุนีนั้นได้เปนเอหิภิกขุบ้างฤๅหามิได้ อนึ่งซึ่งว่าพระภิกขุนีมีอายุได้ร้อยพระวัสสา ถึงพระอรหัตตัดกิเลศแล้ว ว่าควรนมัสการภิกขุปุถุชนบวชใหม่ในวันเดียวนั้น ข้อนี้ยังวิมุติสงไสยด้วยว่าภิกขุเปนบุถุชนอายุก็น้อยวัสสาก็น้อยทั้งเปนโลกีมีกิเลศ แต่เพศเปนบุรุษชาย ฝ่ายพระภิกษุนีเปนสัตรีก็จริง แต่ทว่ายิ่งด้วยพระวัสสาแลอายุแล้วลุพระอรหัตทรงพระโลกุตรธรรม แลโลกุดรธรรมต่ำกว่าชาติบุถุชนฤๅสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่เอาธรรมเปนประมาณ เอาเพศบุรุษเปนประมาณกว่าสัตรีฤๅ พระภิกขุนีอรหันต์ต้องนมัสการภิกขุบุถุชนนั้น ขออาราธนาพระราชาคณะวิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๑

๏ อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ขอพระราชทานถวายพระพรวิสัชนา ซึ่งพระราชปุจฉาว่า บุรุษได้ถวายไตรจีวรนั้น ผลอานิสงส์จะให้ได้เปนเอหิภิกขุลุพระอรหัต พร้อมไปด้วยบาตรไตรจีวรลอยมาแต่อากาศในที่สุดชาติ แลพระอริยสาวกเจ้าบางเหล่าก็ได้เอหิภิกขุ บางเหล่าก็ไม่ได้ ทรงพระวิมุติสงไสยว่าพระมหากัสสปเถร พระอานนท์ พระอนุรุทธ พระภัททิย พระภัคคุ พระกิมิล พระอุบาฬี พระอริยเจ้าเหล่านี้ ล้วนพระอสีติมหาสาวกยกเอตทัคคละองค์ๆ พระสาวกเจ้านอกนี้ก็มีมาก ซึ่งไม่ได้เปนเอหิภิกขุนั้นแต่ก่อนไม่ได้ถวายไตรจีวรฤๅนั้น

แก้ข้อที่ ๑

๏ ข้อนี้อาตมภาพเห็นโดยพระบาฬี ในสาราตถทิปนีแลคัมภีร์สารสังคหะว่า “โย หิ จีวราทิเก อฏปริกฺขาเร วา ฯ ล ฯ ปตฺถนํ เปติ” อธิบายว่า ประเวณีท่านผู้ปราถนาเปนพระอริยสาวกแล้ว แลในระหว่างสร้างบารมีแสนกลัปก็ย่อมจะได้ถวายไตรจีวร แลซึ่งจะได้เปนเอหิภิกขุแลมิได้นั้น จะต่างกันด้วยปราถนาแลมิได้ปราถนา ที่ไม่ได้เปนเอหิภิกขุ ทรงไตรจีวรอันเปนทิพนั้น เหตุเมื่อแรกตั้งมูลปนิธานปราถนา มิได้รักใคร่พอใจในเอหิภิกขุ ได้ปราถนาแต่ที่ฐานันดรเอตทัคคยิ่งในธรรมอันใดอันหนึ่ง ตามซึ่งได้เห็นได้พอใจนั้น ครั้นสร้างบารมีมาครบแสนกลัปสุดพระชาติ ก็ได้แต่ที่เอตทัคคยิ่งในฐานันดรตามอุปนิไสยที่ตนรักใคร่ปราถนาไว้นั้น ฝ่ายที่ท่านได้ทั้งที่เอตทัคคแลเอหิภิกขุนั้น เหตุว่าเมื่อแรกตั้งมูลปนิธานปราถนานั้น ท่านได้ออกวาจาปราถนาไว้ ในที่เอตทัคคแลที่เอหิภิกขุนั้นแต่เดิมมา ครั้นบารมีครบแล้ว ก็ได้สำเร็จมโนรถปราถนาทั้งสองสถาน อนึ่งที่เอหิภิกขุนี้เปนที่อัจฉริย เปนอัศจรรย์มิได้ด้วยง่าย เหตุว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าจะโปรดพระอริยสาวกพระองค์ใดย่อมดูวาศนา เห็นอานิสงส์ไตรจีวร แลอุปนิไสยปราถนาควรจะได้แล้ว จึงเหยียดพระกรเบื้องขวาออกจากกลีบจีวร ตรัสเรียกด้วยพระบาฬีว่า “เอหิภิกขุ พฺรหฺมจริยํ จรถ” แต่พอขาดพระพุทธฎีกา ผมเพศหนวดเคราเครื่องฆราวาศก็อันตรธานหาย กลายเปนเพศพระสมณะทันใด บาตรไตรจีวรก็ลอยมาแต่อากาศ สวมสอดประดับพระองค์ทรงเพศเปนภิกขุ ดุจหนึ่งพระมหาเถรได้ ๖๐๐ พรรษาในขณะนั้น จึงว่าที่เอหิภิกขุเปนอัศจรรย์ดังนี้ เฉภาะได้ด้วยปราถนา ซึ่งพระบรมโพธิสัตวเจ้าสร้างพระบารมีมิได้ปราถนาอินทร์พรหมบรมจักร ปราถนาแต่พระโพธิญาณ แลพระองค์ได้เปนทั้งอินทร์พรหมบรมจักรอันบมิพักปราถนาก็ดี เมื่อพระองค์เสด็จโดยวิถีมรคาทางพระโพธิญาณแล้ว ก็ย่อมได้เสวยภิรมย์ชมสรรพสมบัติอินทร์พรหมบรมจักรทุกประการ ด้วยเปนวิไสยหน่อพุทธางกูรบริบูรณ์ไปด้วยพระบารมีมากสุดที่จะพรรณา อันจะเอาวิไสยสาวกมาเปรียบด้วยโพธิสัตววิไสยนั้นไม่ได้ ไม่ควร อันที่เอหิภิกขุจะได้ตามมรคากลางทางแห่งพระอริยสาวกเจ้าหามิได้ ต่อเมื่อใดสุดพระชาติ แล้วปราถนาไว้จึงจะได้ ไม่ปราถนาก็ไม่ได้ บางพระองค์ได้พระอรหัตแล้ว บาตรไตรจีวรทิพสำหรับเอหิภิกขุก็ไม่ได้ ต้องไปเที่ยวแสวงหามาจะบวชก็ไม่ได้จนนิพพานนั้น ทั้งนี้ด้วยกำลังอกุศลกรรมได้ทำไว้จึงมิได้ไตรจีวรจนนิพพาน ดุจหนึ่งพระทารุจิรกะ เดิมเปนคฤหัสถ์นุ่งผ้าเปลือกไม้สำคัญตัวว่าเปนอรหันต์ ครั้นท้าวมหาพรหมผู้เปนสหายมาให้สติก็ตกใจได้สมปฤดี จึงมาด้วยกำลังศรัทธาสิ้นมรคา ๑๒๐ โยชน์ สู่สำนักนิ์สมเด็จพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาลุพระอรหัตแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นอุปนิไสยไม่ได้ปราถนาเปนเอหิภิกขุ จึงไม่บวชให้เปนเอหิภิกขุ แล้วตรัสให้ไปแสวงหาผ้า พระทารุจิรกะไปเที่ยวหาผ้าก็ไม่ได้ ด้วยผลกรรมโลภเจตนาฆ่าแพศยาเสีย ชิงเอาทรัพย์เครื่องประดับเปนอทินนาทาน แพศยามาเกิดเปนโค ชนพระทารุจิรกะถึงแก่กาลกิริยานิพพานที่กองหยากเยื่อ จึงไม่ได้เอหิภิกขุไตรจีวรถ้าทิพแลผ้ามนุษย์จนนิพพาน เพราะผลกรรมดังพรรณามานี้

แก้ข้อ ๒

ข้อซึ่งสัตรีได้ถวายไตรจีวรแล้ว ผลอานิสงส์เมื่อสุดชาติจะให้ได้มหาลดาประสาท แลมหาลดาประสาทนั้น ปรากฎว่าเฉภาะได้แต่สามนาง ฝ่ายพระมหาปชาบดี แลพระภิกขุนีนอกนั้น แลสัตรีทั้งหลายก็มากนักหนา ย่อมมีศรัทธาได้ถวายไตรจีวรแต่ก่อน ไฉนจึงไม่ได้มหาลดาประสาทเล่า ข้อนี้อาตมภาพเห็นเปนใหญ่ด้วยปราถนาแลมิได้ปราถนา อุประมาดุจหนึ่งที่เอหิภิกขุทรงบาตรไตรจีวรเปนทิพนั้น ฝ่ายนางวิสาขา นางมลิกา นางธิดาเศรษฐี เมื่อแรกตั้งมูลปนิธานปราถนานั้นรักใคร่พอใจมหาลดาประสาท จึงตั้งปราถนาไว้ ครั้นครบบารมีสุดชาติ จึงมีกำลังได้ทรงมหาลดาประสาท ฝ่ายสัตรีนอกนั้นถึงมีศรัทธาได้ถวายไตรจีวรไว้มากน้อยเท่าใดไม่ได้ปราถนา จึงไม่ได้มหาลดาประสาท ได้แต่สมบัติพัศฐานวัตถาลังการสิ่งอื่นไป

แก้ข้อ ๓

แลฝ่ายนางพระภิกขุนี จะได้เอหิภิกขุบรรพชา เอหิภิกขุอุปสมบทในพระสาสนานั้น จะมีอย่างธรรมเนียมในพระสาสนาหามิได้

แก้ข้อ ๔

อนึ่งซึ่งว่านางภิกขุนีได้ร้อยพระวัสสาถึงพระอรหัตแล้วต้องไหว้นบเคารพภิกขุบวชใหม่ในวันเดียวนั้น ข้อนี้มีพระบาฬีในคัมภีร์ปาจิตติยในคัมภีร์จุลวัคค เปนพระพุทธฎีกาว่า “วสฺสสตุปสมฺปนฺนาย ภิกฺขุนิยา ตทหุปสมฺปนฺนสฺส ภิกขุโน อภิวาทนํ ปจฺจุปฏฺฐานํ ฯ ล ฯ กตฺตพฺพํ” อธิบายว่า นางภิกขุนีอันอุปสมบทได้ร้อยพระวัสสา พึงกระทำอภิวาทนกรรม คือนมัสการกราบด้วยปัญจางคประดิษฐไหว้พระภิกขุอันพึงอุปสมบทในวันนั้น อันว่าธรรมสิ่งนี้ชื่อครุธรรมเปนปฐม ควรที่นางภิกขุนีทั้งปวงพึงประพฤติตาม อย่าพึงล่วงตราบเท่าสิ้นชีวิตรเปนกำหนด ในคัมภีร์ทุติยสามนต์ว่า ภิกขุนีขะไปพบภิกขุเข้าในที่ใดที่หนึ่ง คือภายในบ้านก็ดี ภายนอกบ้านก็ดี ภายในอารามก็ดี ภายนอกอารามก็ดี จะพบกันในกลางถนนหนทางก็ดี ภิกขุนีนั้นพึงไหว้กราบภิกษุก่อนแล้วจึงควรไป อนึ่งจะพบเข้าในที่คับคั่งจวนเสด็จพระมหากษัตริย์ ราชบุรุษไล่คนให้ขยายจากทางเสด็จวุ่นวายอยู่ก็ดี อนึ่งจะพบกันเข้าในเพลาฝนตก ต่างคนต่างก็จะเร็วเข้าหาที่ร่มนั้นก็ดี จะพบกันเข้าในที่เปนโคลนเปือกตมก็ดี อนึ่งจะพบกันในที่ช้างร้ายม้าร้ายเปนต้นไล่ติดตามมา ต่างคนต่างก็จะหนีให้พ้นภัยนั้นก็ดี นางภิกขุนีก็จำไหว้กราบภิกขุก่อนแล้วจึงควรไป แลข้อซึ่งพระพุทธฎีกาตรัสว่าภิกขุนีได้ร้อยพระวัสสา พึงไหว้นบเคารพภิกขุอันบวชใหม่ในวันนั้นก็ดี ให้ภิกขุนีพึงประพฤติตาม อย่าพึงล่วงตราบเท่าสิ้นชีวิตรนั้นก็ดี พระพุทธฎีกาทั้งสองข้อนี้ เปนทัฬหิกรรมแน่นแฟ้นมั่นคงนักเปนนิราวเสสขาดอยู่แต่ระหว่างเดียว สุดแท้แต่บวชเปนภิกขุนี แล้วถึงจะเปนบุถุชนอยู่ก็ดี จะเปนพระอริยเจ้าเปนพระขีณาสพเจ้าก็ดี ก็พึงไหว้ภิกขุอันบวชใหม่ในวันนั้น อนึ่งท่านบมิได้ว่าบวชในวันนั้น บวชได้ร้อยพระวัสสาอุสาหะปรนิบัติตราบเท่าสิ้นชีวิตร ทั้งสามคำนี้แม้นบมิได้ว่าเลย พระพุทธฎีกานี้ก็จะเปนสาวเสสพอจะคลายขึ้นเปนหลายระหว่างได้ อนึ่งครุธรรมอันพระพุทธองค์บัญญัตินี้ เปนที่ปราถนาแลเคารพยำเกรงยิ่งนักแห่งนางภิกขุนี เปรียบดังน้ำอำมฤตย์รดชำระกายสัตรีภาพ อภิเศกสัตรีภาพนั้นขึ้นเปนนางภิกขุนีได้เหมือนจตุตถกรรมวาจา ครั้งเมื่อสมเด็จพระปชาบดีทรงบรรพชานั้น พระพุทธองค์เจ้าพระราชทานครุธรรมนี้ให้เปนอุปสมบท สมเด็จพระปชาบดีได้อุปสมบทสมด้วยพระไทยประสงค์แล้ว ทรงพระปรีดาปราโมชยิ่งนัก เปรียบดังได้น้ำอำมฤตย์มาโสรจสรง ครั้นนานมาสมเด็จพระปชาบดีภิกขุนี ทรงพระปริวิตก คิดเกรงว่าสัตรีภาพอันจะบวชในภายหลังจะนินทาได้ ว่าควรฤๅเราบวชก่อนได้หลายพระวัสสาแล้วสิยังมาไหว้ภิกษุอันบวชในครู่เดียวอิกเล่า สมเด็จพระปชาบดีคิดเกรงปรัปปวาทดังนี้แล้ว จึงเข้าไปกราบทูลขออาราธนาจะให้ครุธรรมนั้นคลายขึ้นว่าขอให้ภิกขุภิกขุนีนมัสการโดยลำดับพระวัสสา พระพุทธองค์เจ้าจะได้อนุญาตหามิได้ ตรัสตระหน่ำซ้ำลงคงเดิมไว้อิกครั้งหนึ่งเปนสองครั้งด้วยกันเหตุใด เหตุด้วยครุธรรมนี้เปนน้ำอำมฤตย์ แลเปนที่เคารพยำเกรงนับถือยิ่งนัก นางภิกขุนีทั้งหลายบมิพึงล่วง อันพระพุทธฎีกาตรัสบัญญัติสิ่งใดแล้ว อันจะล่วงพระพุทธบัญญัติบ้างนั้นแต่ภิกขุภิกขุนีอันเปนบุถุชนนั้นอิก ภิกขุภิกขุนีอันเปนขีณาสพนั้น บมิได้ล่วงเลยเปนอันขาดทีเดียว อาตมภาพทั้งปวงพิจารณาเห็นอธิบายในคัมภีร์ทั้งหลาย คือปาจิตติย จุลวัคค สามนต สาราตถ ดังนี้แล้ว จึงปฤกษาพร้อมกันว่า นางภิกขุนีขีณาสพก็พึงนมัสการภิกขุอันบวชใหม่ในวันนั้น เหตุว่าภูมิแห่งบุรุษเปนใหญ่มีกำลังคุณมาก เปนที่ตั้งแห่งพระสาสนาให้วัฒนาการจำเริญสืบไปได้ อันภูมิสัตรีถึงจะมีบุญญาธิการสักเท่าใด จะได้เปนพระอรหันต์ก็ดี มีกำลังคุณน้อยมิได้เปนที่ตั้งแห่งพระสาสนา เหตุฉนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าจึงมิได้อนุญาตให้นางภิกขุนีให้โอวาทสั่งสอนแก่ภิกขุ อนุญาตให้ภิกขุให้โอวาทสั่งสอนแก่นางภิกขุนี แลพระองค์อนุญาตบรรพชาอนุญาตอุปสมบทแก่นางภิกขุนีก็ดี สำเร็จด้วยอุภโตสงฆ์ในสำนักนิ์ภิกขุ พระภิกขุจะได้บรรพชาจะได้อุปสมบทสำเร็จในสำนักนิ์นางภิกขุนีหามิได้ แลนางภิกขุนีมิได้เปนที่ตั้งแห่งพระสาสนา อุประมาดังนางโคคาวีทั้งหลายหมื่นหนึ่งก็ดี แสนหนึ่งก็ดี ถ้าหาโคผู้แต่ตัวหนึ่งอยู่บมิได้ นางโคทั้งหลายมิอาจยังขีรธาราโครสแลพืชผลให้บังเกิดสืบไปได้ แลนางโคอาไศรยโคผู้จึงมีขีรธาราโครสพืชผลปรากฎวัฒนาการออกไปสำหรับโลกต่างๆ นั้นฉันใด นางภิกขุนีทั้งหลายถึงมีวาศนาบารมีได้มรรคผลธรรมวิเศษประการใดก็ดี ถ้ามิได้อาไศรยภิกขุสงฆ์แล้ว กิจแห่งนางภิกขุนีทั้งปวงมิได้สำเร็จเลย เหตุฉนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติสิกขาบทแห่งนางภิกขุนีด้วยครุธรรมไว้เปนกิจวินัยสิกขา ให้นางภิกขุนีไหว้ภิกษุสืบๆ มา เหตุกิจในพระวินัยมิได้เอาพระโลกุดรเปนใหญ่เอาวินัยสิกขาบทเปนใหญ่ เพราะพระวินัยเปนอายุพระสาสนา ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ