บทที่ ๔
วันอาทิตย์นั้น น้ารวงรัตน์ น้ารื่นกับดิฉัน ไปลงเรือที่จะไปเที่ยวร่วมกับคณะของกฤตที่ท่าเรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสามคนไปถึง กฤตอยู่ในเรือซึ่งจอดเทียบท่าอยู่แล้ว มีการแนะนำให้รู้จักกันในบรรดาผู้ที่จะร่วมคณะไปด้วยกัน แล้วเมื่อได้รอผู้ที่มาช้าอยู่พอสมควรแล้ว ก็ออกเรือไปหลังเวลาที่กำหนดไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ตามธรรมดาของการไปเที่ยวกันเป็นคณะ
วันนั้นอากาศปลอดโปร่ง ไม่ทำให้กังวลว่าฝนจะตก กฤตพอใจมาก ในเรือนั้นมีคนไปด้วยกันทั้งหมด ๒๐ คนพอดี ไม่นับนายท้ายและลูกเรือสองคน มีผู้หญิงไปด้วยกันทั้งหมด ๗ คน รวมทั้งน้ารวงรัตน์น้ารื่นและดิฉัน สองคนเป็นชาวต่างประเทศ อเมริกันหนึ่ง อินเดียหนึ่ง พูดภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยอย่างใดทั้งสิ้นก็อาจว่าได้ ไปกับสามีซึ่งทำราชการติดต่อกับกฤตมาก หญิงอเมริกันเป็นคนเฉย ชอบฟังแต่ไม่ชอบคุย นอกจากจะถูกไถ่ถามเป็นงานเป็นการ ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเสมียน และอีกคนหนึ่งเป็นข้าราชการประจำแผนกในส่วนราชการของกฤต
นอกนั้นผู้ที่ร่วมไปด้วยกันเป็นชาย นอกจากชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุมกับกฤต ก็มีคนไทยเป็นเพื่อนที่ไปคุ้นเคยกับกฤตระหว่างไปศึกษาต่างประเทศ ยกเว้นคนเดียวที่เคยเป็นเพื่อนนักเรียนตั้งแต่สมัยอยู่โรงเรียนมัธยม ผู้นี้กฤตตั้งอกตั้งใจให้ดิฉันรู้จักมากกว่าคนอื่น ๆ เขาแนะนำว่า “คุณลูกแก้ว นี่เพื่อนเก่าของผม ชาวบ้านนอกด้วยกัน พัฒนะกับผมไม่ได้พบกันเกือบ ๑๐ ปี ได้พบกันตอนมีประชุมคราวนี้เอง เขาทำงานอีคาเฟ่”
พัฒนะหาโอกาสนั่งใกล้และสนทนากับดิฉันก่อนที่เรือจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งธนบุรี เขาว่าแก่น้ารวงรัตน์ซึ่งนั่งเคียงดิฉัน “ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาเห่อมาตลาดน้ำกัน ผมไม่เห็นมีอะไรน่าดู คลองแน่นเหมือนเวลาจราจรติดขัดบนถนน”
“ดิฉันคนล้าสมัย ไม่เคยไปเลย ต้องขอตามเขามา” น้ารวงรัตน์ว่า แล้วหันไปพูดกับน้ารื่น “เอ้อ รื่นรู้จักกับคุณพัฒนะแล้วหรือยัง เคยมาเที่ยวบ้างหรือยัง รื่นน่ะ”
น้ารื่นยิ้มมองดูพัฒนะ น้ารื่นไม่เคยยกมือไหว้ผู้ใดที่อ่อนวัยกว่า นอกเสียจากว่าเป็นพระราชวงศ์หรือเนื่องด้วยพระราชวงศ์ พัฒนะยกมือขึ้นไหว้อย่างไม่เอาใจใส่ว่าเป็นใคร
“เคยมาแล้วกับคุณลูกแก้ว” น้ารื่นตอบ “คุณลูกแก้วก็ว่าไม่ชอบ”
ดิฉันสั่นหน้าให้สัญญาณน้ารื่นไม่ให้เล่าต่อไป ด้วยกลัวกฤตจะไม่สบายใจ คราวก่อนที่พาน้ารื่นมาพร้อมกับเพื่อนชาวต่างประเทศสองสามคน ดิฉันก็บ่นทำนองเดียวกับพัฒนะบ่นอยู่นี่
“ผมเคยมาเมื่อเด็ก ๆ ตอนนั้นซิครับ สนุกจริงๆ เรือเขามาขายของกันจริง ๆ เดี๋ยวนี้เขามาทำอะไรกันผมก็ไม่รู้ แล้วก็มีร้านขายอะไรสำหรับทูริสต์แท้ๆ ดูมันเป็นของปลอมไปก็ไม่รู้”
น้ารวงกับพัฒนะคุยกันเรื่องคุณและโทษของการมีนักท่องเที่ยว ดิฉันฟังบ้าง ใจไปอยู่ที่กฤตบ้าง เขากำลังชี้ชมบ้านเรือนริมคลองที่ผ่านไป แล้วไม่ช้าก็หันมาชวนให้ดิฉันไปร่วมคุยกับแขกชาวต่างประเทศด้วย
เรือแล่นเข้าคลองและไปจนถึงที่เรียกกันว่าตลาดน้ำใกล้วัดบางขุนไทร กฤตชวนให้แขกชาวต่างประเทศขึ้นบกไปชมสินค้าของร้านที่ตังขึ้นขายของให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ที่ร้านนั้น เขากำลังมีลูกแมวโคราชน่ารักคู่หนึ่ง ใส่กรงไว้ให้นักท่องเที่ยวดู ผู้หญิงอินเดียถามว่า “เอ๊ นั้นแมวเปอร์เชียรึ ทำไมขนสีน้ำเงิน”
กฤตหันมามองหน้าดิฉันขอความช่วยเหลือ ดิฉันหัวเราะบอกว่า “ไม่ใช่ แมวไทยชนิดหนึ่ง แมวโคราช ขนสีเทาอมน้ำเงินอย่างนี้เอง”
“ทำไมคุณลูกแก้วรู้เรื่องแมวดีกว่าผมล่ะ” กฤตทำเสียงแปลกใจมาก “ผมไปโคราชไม่รู้กี่หน ไม่เคยเห็นแมวอย่างงี้เลย”
“คุณอาจไม่ได้สังเกตก็ได้” ดิฉันว่าพลางยิ้มกับเขา “เวลามันอยู่ตามบ้าน มันอาจสกปรกจนไม่น่าดู”
ชายอเมริกันตื่นเต้นกับแมวมาก ถามว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน เจ้าของร้านบอกว่าไม่สามารถบอกได้ แมวที่อยู่ในกรงนั้นมีญาตินำมาให้ เป็นที่รักของลูกมาก ขายให้ใครไม่ได้
เมื่อชมสิ่งของพอสมควรแล้วก็พากันกลับมาลงเรือ ระหว่างทางออกจากคลองบางขุนไทรกลับออกไปแม่น้ำเจ้าพระยา เสมียนหญิงของกฤตก็นำอาหารเช้าบรรจุกล่องกระดาษมาแจก พร้อมด้วยกาแฟใส่ในถ้วยกระดาษคนละถ้วย ในกล่องนั้นมีขนมปังสอดไส้กรอกอันใหญ่พอประมาณ กล้วยหอมสองผล และขนมหวานหนึ่งชิ้น ทุกคนรับประทานอาหารโดยไม่ตั้งข้อสังเกตประการใด ดิฉันได้รับการอบรมให้เป็นคนไม่พิถีพิถันกับอาหารในเวลาเดินทาง ไม่ได้คิดไปในทางใด
ออกมาถึงแม่น้ำ ได้รับทราบจากผู้จัดการนำเที่ยวคือข้าราชการหญิงหรือเสมียนหญิงของกฤตว่า ต่อจากนั้นจะพาแขกไปชมโรงเก็บเรือกันยาของหลวง น้ารวงก็ยินดีอีก
“แหม ดีจริง ไม่เคยไปเหมือนกัน นี่ถ้าไม่ได้พึ่งบารมีฝรั่งกับแขกก็ไม่รู้ว่ากี่ปีจะได้มา หรืออาจไม่ได้มาเลยก็ได้”
“จริงนะครับ คนอยู่กับเมืองไหน ไม่ค่อยได้เห็นอะไรนักหรอกครับ” พัฒนะสนับสนุนน้ารวง
เรือเข้าคลองบางหลวง และไม่นานนักก็ไปถึงโรงเรือ กฤตขอร้องให้ดิฉันไปอธิบายเรื่องโขนเรือให้ชาวต่างประเทศฟัง เช่นเรือพาลี เรือสุครีพ หัวลิงที่เรือนั้นมีประวัติมาอย่างไร และหงษ์หมายถึงอะไร นาคหมายถึงอะไร น้ารวงรัตน์กับดิฉันก็ช่วยกันทำหน้าที่มรรคุเทศก์สมัครเล่นไปเท่าที่จะชี้แจงไปได้ กฤตแสดงความนิยมชมชื่นมาก
“นี่ถ้าคุณไม่มาด้วย ผมก็ขายหน้าแย่ อธิบายอะไรให้เขาฟังไม่ได้” เขาว่าแก่ดิฉัน
“ถูกผิดไม่รับรองนะคะ ไม่มีใครอัดเสียงไว้ใช่ไหม” ดิฉันรีบออกตัว
น้ารื่นออกสนุกสนานไปด้วย ซักถามน้ารวงรัตน์เรื่องเรือพระที่นั่งต่อไป น้ารวงต้องบอกว่า ไปถึงบ้านแล้วจึงค่อยถาม เอาความรู้จากแม่หรือคุณป้าเพิ่มเติม เพราะน้ารวงก็ไม่ค่อยแม่นยำเรื่องตำนานต่าง ๆ นัก
เมื่อออกจากคลองถึงแม่น้ำอีกครั้งหนึ่งนี้ เวลาล่วงไปจนถึงประมาณ ๑๐ นาฬิกา วันนั้นฝนไม่ตก ลมพัดมาบ้างแต่แดดกล้า ท้องฟ้าโปร่งเกือบไม่มีเมฆเลย น้ารวงซึ่งเป็นคนชอบดื่มน้ำ จึงเอ่ยขอน้ำรับประทาน
“ขอโทษเถิดนะ คุณกฤต ที่จริงเพิ่งได้กาแฟมาเมื่อกี้นี้เอง แต่มันกระหายน้ำเก่งเสียจริง ๆ” น้ารวงกล่าวขออภัย
กฤตไปถามหาน้ำ หรือเครื่องดื่มอย่างหนึ่งอย่างใด ปรากฏว่ามีแต่เบียร์มาให้ชาวต่างประเทศ ๖ ขวด นอกนั้นไม่ได้เตรียมเครื่องดื่มอย่างอื่นมา
น้ารวงไม่รบกวนต่อไป เพื่อจะไม่ทำให้ฝ่ายเตรียมรับรองต่องกระดาก หรือกล่าวหาว่าน้ารวงบำเพ็ญตนเป็นคนช่างรบเร้าเอาแต่ใจ เรือแล่นขึ้นไปทางเหนืออีกประมาณครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าผู้โดยสารเรือนั้นต่างก็กระหายน้ำกันเกือบทุกคน จนกระทั่งเรือไปถึงหน้าเมืองนนทบุรี ฝ่ายที่เตรียมการรับรองบอกให้เรือจอด น้ารวงกระซิบว่า “เออ เขาคงจะหยุดให้เราหาน้ำกิน เห็นจะต้องล่อน้ำขวด ถึงเกลียดก็ยังดีกว่าไม่ได้กินน้ำ”
ครั้นเรือจอดแล้ว ข้าราชการหญิงที่เป็นคนเตรียมการเที่ยวคนหนึ่งก็มาเชิญให้ชาวต่างประเทศขึ้นจากเรือเพื่อจะให้ไปชมการปั้นหม้อ ชาวต่างประเทศและกฤตก็เดินตามไป พัฒนะร้องออกมาว่า “ให้แขกอินเดียไปดูปั้นหม้อทำไมโว้ย กฤต บ้านมันดูกันเบื่อตายแล้ว”
กฤตหันมาดุพัฒนะ น้ารวงก็ลงนั่งยังที่ในเรือ พัฒนะลงนั่งเช่นเดียวกับน้ารวง ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจ เหลือบตาดูผู้นำเที่ยว เห็นซุบซิบกันอยู่อย่างมีกังวล แล้วน้ารวงตัดสินใจขึ้นจากเรือและออกเดินไปโดยไม่รอและไม่ชวนผู้ใด
ตรงที่เรือจอดนั้นมีบันไดขึ้นจากน้ำแคบๆ แล้วมีสะพานทอดลงมา มีขนาดแคบเท่าบันได ดิฉันเป็นห่วงน้ารื่นว่าไม่รู้จะพูดกับพัฒนะอย่างไร หรือพัฒนะอาจไม่พูดด้วยตามที่ควร และห่วงว่าน้ารื่นจะคอยมองอยู่ว่าดิฉันไม่อยากคลาดจากกฤต จึงนั่งอยู่ที่เดิม ไม่นานนักน้ารวงก็กลับมายังเรือ มีคนแบกลังไม้ ในลังมีขวดน้ำอัดลม น้ารวงร้องบอกลงมาก่อนที่ตัวจะเดินมาถึงเรือ
“ใครอยากกินน้ำ รีบรับน้ำอัดลมไปคนละขวด คนขายเขาไม่ยอมให้เอาขวดของเขาไป”
ครั้นตัวน้ารวงลงมาถึงเรือ ก็ยื่นขวด ๆ หนึ่งให้น้ารื่น เป็นขวดใหญ่ชนิดที่ใช้บรรจุน้ำหวานหรือแม่โขง “กลัวน้ารื่นจะกินน้ำอัดลมไม่ได้ เลยขอน้ำชาเย็นมาให้ เขาไม่ยอมให้ใส่แก้วน้ำมา ไม่มีใครจะเอามาแล้วกลับไปได้ เลยขอยืมขวดเปล่าเขามาใบหนึ่ง ประเดี๋ยวคนที่แบกลังมานี้เขาจะเอาขึ้นไปพร้อมกัน”
ดิฉันเกิดอยากดื่มน้ำที่ไม่มีรสหวาน มองดูปริมาณน้ำในขวดของน้ารื่น เห็นว่ามากพอที่จะขอแบ่งได้ จึงเอ่ยปากขอ น้ารื่นส่งขวดให้ดิฉันดื่มก่อน ดิฉันเห็นขวดน้ำอัดลมที่พัฒนะดื่มไปหมดอย่างรวดเร็ว จึงนำไปล้างในห้องสุขา แล้วแบ่งน้ำชาแช่น้ำแข็งจากขวดของน้ารื่นมาครึ่งหนึ่ง น้ารื่นดื่มที่ดิฉันเหลือไว้ในขวดใหญ่นั้นจนเกลี้ยงด้วยความกระหาย ระหว่างนั้นน้ารวงมัวไปทำหน้าที่คนอารี เชื้อเชิญให้คนที่อยู่ในเรือดื่มน้ำอัดลม เมื่อทุกคนได้น้ำอัดลมแล้ว น้ารวงจึงหันมาหาน้ารื่น
“แหม น้ารื่นดื่มน้ำชาหมดขวดใหญ่นั่นเชียวเรอะ” น้ารวงทักขึ้นอย่างผิดหวัง
“คุณลูกแก้วขอแบ่งไปค่ะ” น้ารื่นบอก ทันใดนั้นเสียงเครื่องยนต์ของเรือก็ดังขึ้น ผู้ที่นำน้ำอัดลมมาเร่งขอขวดจากผู้ที่ดื่มอยู่ น้ารวงร้องขึ้น “แหม นึกจะกินน้ำจืดๆ สักหน่อย ต้องเอานำส้มมิรินดาแทนแล้ว” แล้วน้ารวงก็รับน้ำส้มขวดหนึ่ง มาดื่มจากขวดที่คนที่แบกมาเปิดให้ ระหว่างนั้นแขกชาวต่างประเทศกับกฤตและข้าราชการประจำแผนกของกฤตก็เดินมาลงเรือ น้ารวงช่วยคนที่แบกขวดน้ำอัดลมมาดูแลว่าได้รับขวดกลับไปตามจำนวนถูกต้องแล้ว คนๆ นั้นก็แบกลังกลับไป
เมื่อทุกคนลงมาอยู่ในเรือแล้ว เรือก็หันออกจากท่าแล้วก็แล่นขึ้นไปทางเหนือน้ำ น้ารวงร้องถาม
“นี่เราจะไปไหนกันอีกคะ คุณกฤต”
กฤตหันไปถามข้าราชการสตรีอีกต่อหนึ่ง แล้วตอบ “ไปวัดไผ่ล้อมครับ”
เรือแล่นไปตามที่ผู้จัดวางแผนไว้ อากาศร้อนขึ้นทุกที ถึงแม้จะมีลดพัดมา แต่ความชื้นในอากาศของเดือนมิถุนายนก้หนักมาก และแสงแดดกล้าในวันนั้น หลังคาเรือซึ่งเป็นขนาดเล็กไม่สูงนักอีกทั้งความร้อนยังสะท้อนขึ้นมาจากผิวน้ำ เวลาใกล้เที่ยงเข้าไปทุกที น้ารวงกระซิบว่า “ทำไมจะพบก๋วยเตี๋ยวเรือนะ อยากกินน้ำแล้วยังชักจะหิวด้วย”
“คล้ายกับฝ่ายจัดการจะได้ยินคำพูดของน้ารวง เสมียนหญิงของกฤตเดินมาถาม “หิวหรือยังคะ ถ้าหิวจะรับประทานอาหารกลางวันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่ต้องรอให้ถึงวัด นายท้ายเขาว่าต้องอีกชั่วโมง”
พัฒนะพยักหน้ารับเชิญ “ดีเหมือนกันครับ เที่ยวเรือมักหิวเก่ง”
เสมียนหญิงนำกล่องอาหารมาแจก ภายในนั้นมีไก่อบชิ้นหนึ่ง แซนด์วิชหมูแฮม ขนมปังก้อนกลม ๆ หนึ่งก้อน ขนมหวานชิ้นหนึ่ง เงาะสองสามผลและกล้วยหอมใบหนึ่ง
“ฉลาด” พัฒนะชม “เลี้ยงฝรั่งละก็ จำไว้เถอะ ให้กินกล้วยเข้าไว้ อิ่มดีด้วย แล้วถูก แล้วฝรั่งชอบอกชอบใจ อย่าไปเลี้ยงผลไม้ดี ๆ แพงเปล่า ๆ”
กฤตหันมายิ้ม แขกที่เป็นคนไทยก็ยิ้มเห็นด้วยกับพัฒนะแต่ไม่กล่าวอย่างไร เมื่อแจกกล่องอาหารทั่วแล้ว เสมียนหญิงก็นำถาดมีส้มผลเล็ก ๆ เต็มถาดนั้นออกมาแจก และบอกด้วยว่า “กาแฟไม่มีเสียแล้วนะคะ มีแต่น้ำส้มมิรินดากับโคล่าที่เมืองนนท์”
“ไป ๆ ก็คงหาเรือกาแฟได้” น้ารวงรัตน์แสดงความหวัง พลางเปิดกล่องอาหารและหยิบของรับประทาน
คนอื่นทำตาม เมื่อกินอาหารพอแล้ว ก็ดื่มน้ำอัดลม บางคนก็รับประทานส้มแทน เรือแล่นไป แทนที่จะนั่งชมฝั่งแม่น้ำหรือดูชีวิตบนพื้นน้ำ ทุกคนนอกจากชาวต่างประเทศดูเหมือนจะมุ่งหาเรือกาแฟ แต่เผอิญวันนั้น เรือที่ต้องการก็ไม่ผ่านมา เรือยิ่งแล่นไป เวลาเลยเที่ยง อากาศยิ่งร้อนขึ้น และความกระหายน้ำของทุกคนก็เพิ่มขึ้น น้ารื่นไม่พูดอย่างไรทั้งสิ้น ไม่แสดงอะไรในสีหน้าให้รู้ว่ากำลังรู้สึกหรือคิดอย่างไร น้ารวงรัตน์หยิบส้มมาปอกและรับประทานอีกสองสามผล กว่าเรือจะไปถึงที่มุ่งหมายก็กินเวลากว่าชั่วโมง แดดร้อนจัด และลมหยุดชั่วคราว มองหาเรือกาแฟกันยิ่งกว่าผู้แสวงบุญแสวงหาพระสมณะ แต่ไม่มีมาเลย กฤตทำหน้าที่เจ้าภาพ พาแขกขึ้นบกไปดูนก แต่เท่าที่มองขึ้นไป ไม่แลเห็นนกกี่ตัว มีบินไปมาอยู่ประมาณ ๕ หรือ ๖ ตัว
“เอ” น้ารวงร้องขึ้นอีก “นี่หรือที่ว่านกมาอาศัย ทำไมมันไปไหนกันหมด ไปหากินหรือยังไง”
ดิฉันเบื่อการนั่งอยู่กับที่ จึงชวนน้ารื่นให้เดินขึ้นไปบนวัด น้ารวงกับพัฒนะก็เดินขึ้นไปด้วยกัน
เดินขึ้นไปตามสะพานที่ทอดลงมา ผ่านศาลาเล็ก ผ่านทางเดินขึ้นไปจนถึงบริเวณวัด เดินเข้าไปในที่ร่มรื่นภายใต้สาขาของไม้ใหญ่ น้ารวงรัตน์เห็นนกตัวหนึ่งก็นับ และบอกให้น้ารื่นช่วยนับ เมื่อเดินไปจนถึงวิหารเล็ก ๆ หลังหนึ่งลึกเข้าไปใน บริเวณวัด แลไปไม่เห็นต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ อีกแล้ว ต่างคนต่างก็ปรึกษากันว่าเหตุใดจึงได้พบนกรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ ตัวเท่านั้น บางคนเห็นนกขณะที่บินจากไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเพียง ๓ ตัวเท่านั้น
เมื่อพักผ่อนคุยกันแก้รำคาญ แล้วก็เดินกลับมาลงเรือ ชาวต่างประเทศทุกคนมีเหงื่อไหลโทรม เสมียนหญิงของกฤตเปิดเบียร์มาเลี้ยง แต่เบียร์มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง เมื่อจับถ้วยแก้วที่บรรจุมาก็รู้สึกว่าอุ่นที่มือ ชาวต่างประเทศดื่มเบียร์แล้วก็รู้สึกร้อนเพิ่มขึ้น น้ารวงและดิฉันหาหนังสือพิมพ์ที่ใครคนหนึ่งนำไปด้วยมาโบกลมให้ แต่เขาก็เกรงใจบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง
ระหว่างที่เรือแล่นกลับลงมาตามน้ำ ผู้โดยสารนั้นก็ดื่มน้ำอัดลมกันคนละอย่างน้อย ๒ ขวด น้ารวงแอบเอามือลูบท้องหลายครั้ง แต่แล้วมีลมพัดมาทำให้เย็นขึ้น ผู้ที่ไปเที่ยวไม่สนทนากันมากนัก ดิฉันพยายามคุยกับหญิงชาวต่างประเทศสองคนให้ออกรสเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดเรือก็พาเรามาถึงท่าที่ธนาคารแห่งชาติ ซึ่งเราได้ให้รถไปรอรับแล้วก็ลาแยกย้ายกันไป
“เออ ดี ได้ไปเที่ยวอย่างนี้ก็ได้พบอะไรแปลกๆ ดี” น้ารวงว่าทันทีที่รถเคลื่อนออกจากที่ “อยากรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ลงเรือไม่มีน้ำกินนี่ไม่ได้นึกฝันไว้เลย คงลืมกระติกน้ำแข็งไว้ที่ไหนเป็นแน่ แม่สาว ๆ พวกนั้นของคุณกฤต”
เมื่อกลับมาถึงบ้าน น้ารวงรัตน์ก็เล่าให้แม่และคุณพ่อฟังอย่างสนุกขบขันถึงความกระวนกระวายของตัวเอง แม่กล่าว
“ดีแล้ว ให้รู้จักอดทนเสียบ้าง แล้วนกมันหายไปไหนหมดล่ะ”
“พวกนี้อ่อนภูมิศาสตร์มาก” คุณพ่อพูดขึ้นพลางหัวเราะหึๆ “นี่มันหน้าร้อนในซีกโลกเหนือ นกมันก็อยู่ประเทศที่อากาศสบาย มันจะอุตส่าห์มาอยู่เมืองไทยหน้าฝนทำไมกัน”
“อ้อ นกนี่มันมาเป็นหน้าๆ ใช่ไหมล่ะ” แม่ร้องขึ้น
“นกมันลงหน้าหนาว ทางเมืองจีนเมืองไซบีเรียหนาวจัด มันก็อพยพมาประเทศร้อน” คุณพ่อบอกพลางหัวเราะอีก “ว่าแต่ไอ้การไม่มีน้ำเลี้ยงแขกนี่ รื่นขันไหม” คุณพ่อถามภายหลังที่น้ารื่นละไปจากวงสนทนาแล้ว
“เออ ว่าไง ลูกแก้ว ไม่เห็นพอยังไงนี่” น้ารวงหันมาหารือดิฉัน “แต่สองคนน้าหลานนี่ยังดี ได้แย่งน้ำชาใส่น้ำแข็งของฉันไปกิน”
รุ่งขึ้น น้ารวงกลับจากทำงานแล้วก็ตรงมาที่เรือนคุณพ่อ และรายงานว่า “แหม เป็นแขกคุณกฤตที่ต้องจารึกไว้เป็นประวัติการณ์ ตลอดวันวิ่งเข้าห้องน้ำ เมื่อวานล่อน้ำมิรินดากับแฟนต้ากับไบเลย์เข้าไปสักครึ่งโหล แล้วส้มอีกสัก ๑๐ ลูก ไม่ค่อยหวานเสียด้วย ส้มหน้านี้”
วันรุ่งขึ้น ระหว่างที่กำลังทำงาน ดิฉันอดใจอยู่ไม่ได้ ลุกขึ้นไปโทรศัพท์ขอพูดกับกฤตที่ที่ทำงานของเขา แต่มีผู้บอกว่า กฤตไม่สบาย ไม่ได้มาทำงาน
ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจตลอดวัน ทั้งที่บอกแก่ตัวเองว่าไม่มีเหตุผลที่จะวิตก ดิฉันเริ่มเชื่อว่าดิฉันได้รักกฤตเข้าไปแล้ว จนเกือบจะห้ามใจไม่ได้ แต่ก็มิได้ยอมให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะต้องอับอายตนเอง แต่ใจนั้นอยากจะไปหาเขาที่บ้านถามถึงอาการ แล้วจึงคิดขึ้นมาได้ว่า เขาไม่เคยบอกเลยว่าเขามีที่พักชนิดใด ที่ไหน ในพระนคร
แล้วก็ปรากฏว่า ความวิตกของดิฉันเหลวไหลไร้สาระจริง ๆ วันต่อจากนั้น ดิฉันก็ได้ฟังเสียงของกฤตทางโทรศัพท์ เขาถามว่า ถ้าเขาจะไปรับดิฉันจากที่ทำงาน แล้วเลยไปบ้านดิฉันด้วยกันจะได้ไหม
“ผมต้องไปขอโทษคุณน้าคุณสองคน” กฤตว่า “ตัวผมเองท้องเดินไปสามวัน คุณเป็นไงบ้าง”
ดิฉันอดหัวเราะไม่ได้ ทำเสียงคิกไปในโทรศัพท์ กฤตพูดว่า “คุณขันเรอะ เออ ดี ที่จริงมันก็น่าขัน แต่ผมคงท้องไม่ค่อยดีอยู่แล้ว มีอะไรจะเล่าให้ฟังอีก”
ดิฉันตอบไปด้วยความยินดีว่าดิฉันจะรอ ทั้งดิฉันและเขาไม่มีรถยนต์ ดิฉันกับแม่ผลัดกันใช้รถคันเดียวกัน เท่าที่สังเกตถ้าไม่จำเป็นจริงๆ กฤตมักจะใช้รถประจำทาง
ดิฉันโทรศัพท์ไปที่บ้าน บอกน้ารื่นให้หาของรับประทานไว้ให้ ซึ่งน้ารื่นทำให้พ่อแม่ลูกอยู่แล้วเป็นปรกติ เพียงแต่ให้เพิ่มปริมาณ ถ้ามีแขกมา น้าๆ หรือบางทีคุณป้าก็มักจะมาร่วมสนุกด้วย ความคิดอย่างฝรั่งว่า แขกของใคร เพื่อนของใครก็ของคนนั้นยังไม่เกิดในหมู่ญาติของแม่
สำนักงานของดิฉันอยู่ถนนสาธร ที่ทำงานของกฤตอยู่ในเขตทำเนียบรัฐบาล ดิฉันจึงต้องรอนานพอสมควรกว่ากฤตจะไปด้วยรถแท็กซี ตามปรกติดิฉันเลิกงานช้ากว่ากฤต และวันนั้นเขาก็ออกจากที่ทำงานเร็วกว่าเวลาปรกติ ในที่สุดเราจึงไปถึงบ้านที่ในซอยแยกจากถนนอโศกประมาณเมื่อใกล้ค่ำ การที่กฤตจำเป็นต้องไปถึงบ้านดิฉันเวลาใกล้ค่ำนี้ เป็นข้อสำหรับยกขึ้นให้แม่เชิญเขารับประทานอาหารที่บ้านได้บ่อย ๆ ในวันนั้นเอง คุณป้าวรรณแสงก็ได้มาให้ความเห็นไว้แก่คุณพ่อก่อนแม่กลับจากทำงาน เพราะงานของแม่ไม่ขึ้นกับเวลาที่แน่นอน บางวันแม่จึงไปรับดิฉัน บางวันแม่ให้ดิฉันขับรถและไม่ใช้แท็กซี่
“คุณเกลา” คุณป้าเอ่ยขึ้น เมื่อได้ทราบจากคุณพ่อว่าดิฉันจะพากฤตไปที่บ้านในวันนั้น คุณป้าไปเป็นเพื่อนคุณกับคุณพ่อในเวลาบ่ายเมื่อแดดร่ม และคุณพ่อออกมาดูแลสวนดอกไม้ที่หน้าตึกบ่อยๆ คุณป้ากับคุณพ่ออาจเรียกได้ว่าสนิทกันมาก เพราะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่าญาติอื่นๆ โดยมากคุณป้าเป็นฝ่ายพูด คุณพ่อเป็นฝ่ายฟัง
ในโอกาสนี้คุณป้าพูดต่อไป “ดอกเตอร์กฤตนี่ ดูๆ ไปเหมือนใจแก้วเขาจะสนับสนุนให้ติดต่อกับลูกแก้วไปเรื่อยๆ คุณเกลาคิดยังไง”
“สมัยนี้ ลูกเขาโตแล้ว เขาทำมาหากินได้แล้ว เราจะไปทำอะไรกับเขาได้ครับ คุณพี่” คุณพ่อแบ่งรับแบ่งสู้
“ก็ถ้าเราไม่พอใจ เราก็เฉย ๆ ไม่ได้เรอะ แทนที่จะสนับสนุน ชวนกินข้าว ชวนมาบ้านบ่อยๆ” คุณป้าว่า
“ผมว่าใจแก้วเขาทำตามมารยาทเท่านั้น” คุณพ่อผ่อนปรนต่อไป
“ไม่ใช่ แล้วตัวคุณเกลาล่ะ ไม่เอาใจใส่เลยงั้นเรอะ” คุณป้าไม่ยอมถอยง่าย ๆ
“ผมก็ยังไม่ทราบว่าจะคิดยังไง เท่าที่พบเห็น กิริยามารยาทเขาก็ดี พูดจาก็ดี แล้วเขาทำงานราชการตำแหน่งแห่งที่ก็ดี มีทางจะก้าวหน้าไปได้ไกล”
“มันพอเรอะ” คุณป้าพูดเสียงอ่อนด้วยความหวังดี “เงินเดือนราชการเดี๋ยวนี้มันพอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเรอะ”
“ก็ถ้าเขาชอบกัน ก็ให้เขาช่วยกันหา” คุณพ่อตอบสั้นๆ
“เดี๋ยวคุณเกลาจะว่าฉันยุ่งนะ” คุณป้าออกตัวนิดพอเป็นมารยาท “ฉันขอบอกว่ายุ่งจริงๆ อย่างน้อยมันต้องมีบ้าน แล้วก็ใช้จ่ายเงินเดือน ถ้าไม่มีบ้านจะทำยังไง หรือจะคิดเลี้ยงลูกเขย”
“ผมว่าถึงเวลาค่อยคิด” คุณพ่อว่า
“เอ ถึงเวลาน่ะเมื่อไหร่ เผื่อแก้ไขไม่ได้แล้วจะทำยังไง เราจะพอใจไม่พอใจ น่าจะให้ลูกรู้เสีย”
“ไม่ใช่ ผมหมายถึงเวลาที่จะต้องคิดเรื่องบ้านเรื่องช่อง ตอนนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแน่นอน เรื่องพอใจไม่พอใจ ผมไม่กล้าหรอก เรื่องนี้ไม่เห็นจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์เลย”
“แปลว่าคุณเกลาเอาตามสมัยใหม่ อยู่กันไม่ได้ก็เลิกกัน อย่างนั้นใช่ไหม”
“ผมว่าสมัยไหนก็เหมือนกัน คนไทยเรานี่ บ้านผมก็มียายกรรณ แต่งแล้วก็กลับมาอยู่บ้านเมื่อไม่ชอบใจทางโน้นขึ้น คุณอาผมก็มีคนหนึ่ง บ้านฉัพพรรณสิรินี่ก็มีคุณป้าหรือคุณอาคนนึง ไม่ใช่เรอะครับ”
“สมัยก่อนน่ะ มันทนจนไม่ไหวถึงจะกลับบ้าน” คุณป้าแย้ง “ไม่ใช่ทะเลาะกันสองสามหนก็บอกเลิกกันเหมือนเดี๋ยวนี้ ลูกๆ ฉันไม่ยอมหรอก ฉันบอกว่าให้ดูให้ดีที่สุดทีเดียว เราดูด้วย เขาก็ไม่ขัดข้อง พออกพอใจกัน แต่เสร็จแล้วต้องอดทน อย่ามาเอะอะขนของกลับบ้าน ฉันไม่เอาด้วย”
คุณพ่อเล่าภายหลังว่า คุณพ่อคิดว่าจะถามคุณป้าว่าวิธีไม่เอาของคุณป้านั้นเป็นอย่างไร แต่ดิฉันกับกฤตเข้าประตูบ้านมา คุณพ่อจึงเหความสนใจไปทางลูกสาวและผู้ที่อาจจะเป็นลูกเขย กฤตเข้าไปทำความเคารพตามธรรมเนียม เวลากฤตเข้าหาผู้ใหญ่ ดิฉันพอใจมาก ท่วงทีวาจา และเนื้อเรื่องที่พูดแสดงถึงความเอาใจใส่ มีความเกรงโดยไม่สะทกสะท้านแต่ประการใด คุณพ่อตอบคำถามกฤตเกี่ยวกับสุขภาพของท่านไม่กี่ประโยค น้าโรจน์กับน้ารวงรัตน์ก็เข้ามาร่วมการสนทนา
กฤตหันมาพูดกับน้ารวงรัตน์ทันที “ผมจะมาขอแก้ตัวครับ บอกกับลูกแก้วมาแล้ว” เป็นครั้งแรกที่เขาเรียกชื่อดิฉันเฉยๆ ต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ “เรื่องไม่มีน้ำดื่มในเรือนี่ต้องเป็นบทเรียนไปตลอดชีวิต ผมกินส้มเข้าไปจนทำงานไม่ได้สองวัน พูดจบแล้วเขากับน้ารวงก็หัวเราะกันอย่างถูกใจ
“เออ ลูกแก้ว” น้ารวงเรียก “นี่ พระพี่เลี้ยงของหล่อนว่ายังไงมั่ง ต่อจากวันนั้น”
“ไม่เห็นว่ายังไงค่ะ หลานยังอยากให้ว่าอะไรไปเสียรู้แล้วรู้รอด ไอ้เรื่องไม่ว่าอะไรนี่มันผิดลักษณะยังไงไม่รู้”
“น้ารื่นนี่ ใครขาดประสิทธิภาพเป็นทนไม่ไหวเชียวหรือครับ” กฤตถาม
“ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพ” น้ารวงชี้แจง “เรื่องตลกอะไร ๆ เข้ากันได้หมด อยู่ด้วยกันรักใคร่กันดี แต่พอถึงเรื่องตลก อะไรที่เราว่าตลก รื่นไม่เห็นด้วย”
“เอาเถอะครับ ผมขอแก้ตัว วันเสาร์นี้ผมขอพาไปเที่ยวไร่เที่ยวสวนบ้านผมที่สามพราน คุณโรจน์ไปได้ไหมครับ เสียอย่างเดียว อย่าเอาอะไรกับเรือนักนะครับ ต้องใช้เรือหางยาวธรรมดา ๆ แต่ไม่ถึงกะเมื่อยนัก นั่งสักครึ่งชั่วโมงเท่านั้น”
“ไร่อะไรคะ” น้ารวงถาม
“สวนองุ่นก็มี ไร่ส้มก็มี นาก็มี ตาลก็มี แต่ว่าไปพอสบายๆ ไปแต่สวนองุ่นกับสวนส้มก็แล้วกันนะครับ” กฤตตอบ
เมื่อได้นัดแนะกันตามสมควรแล้ว น้ารวงกับน้าโรจน์กลับไปที่อยู่ กฤตอยู่รับประทานอาหารค่ำ แล้วก็ลาไปอย่างที่เคยปฏิบัติ
ครั้นถึงวันเสาร์ เราก็ไปลงเรือตามที่กฤตนัด คณะของบ้านดิฉันมี แม่ น้ารวง น้ารื่น น้าเรือง เพราะน้าโรจน์ขอร้องแกมบังคับให้ไปแทน และตัวดิฉัน ขึ้นรถของน้าเรืองไปสมทบกับกฤตที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี แล้วก็แบ่งกันใช้พาหนะ คือกฤตกับดิฉันไปรถของเพื่อนกฤตคนหนึ่งชื่อพัฒนะกับอีกคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกันแล้วแต่เผิน ๆ ชื่ออาทร น้าเรืองมองดูหนุ่มหน้าใหม่ทั้งสองด้วยสายตาแสดงความสนใจ น่ารวงรัตน์จะให้น้ารื่นนั่งไปในรถกับดิฉัน แต่น้าเรืองกะเกณฑ์ให้ตัวน้ารวงนั้นเองนั่งรถไปกับดิฉันกับเพื่อนของกฤต
ระหว่างที่นั่งรถไปด้วยกัน พัฒนะเป็นคนคุย อาทรทำหน้าที่คนขับและพูดน้อยที่สุด พัฒนะซักถามกฤตถึงประเพณีบางอย่างในละแวกบ้านของเขา ซึ่งถูกใจดิฉันมาก
“บ้านลื้อนี่ เขาถืออะไร ไม่ถืออะไรกันมั่ง บอกอั๊วไว้มั่ง บางทีเราคิดไม่ถึงเลย มันกลายเป็นเรื่องขึ้นมาได้ บ้านนอกไทยเรานี่”
“หนอยแน่ พ่อคนเมืองหลวง” กฤตว่า “ถามอั๊วมันจะได้เรื่องอะไร อั๊วอยู่มา อั๊วก็ไม่ได้สังเกตน่ะซี” กฤตตอบ
“ลื้อเคยถูกดุเรื่องอะไรมั่งล่ะ เมื่อเด็กๆ” พัฒนะถามอย่างฉลาด
“วะ เมื่อเด็กๆ ก็ถูกดุเรื่องซนซี เป็นต้นว่า เล่นน้ำเล่นน้ำไม่รู้จักขึ้น ตั้งแต่อั๊วเป็นเด็กกับเดี๋ยวนี้ ตำบลบ้านอั๊วเมื่ออั๊วเด็กๆ กับเดี๋ยวนี้มันเป็นคนละประเทศ พ่ออั๊วพูดอะไรบางอย่างที่อั๊วยังตกใจ ไม่นึกว่าจะพูด”
“เรื่องประชาธิปไตย เข้าใจกันว่ายังไงไหม” พัฒนะถาม
“เอ อั๊วว่าพ่ออั๊วรู้ดีกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนอีก” กฤตตอบ
“เออ ลองให้ตัวอย่างซิ อั๊วจะไปถามเอาตรงๆ ถ้ามันจะไม่ได้การ”
กฤตตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบ “เอ้า ลองตัวอย่างนี้เป็นไง พ่ออั๊วมีคนเคยเป็นลูกจ้างช่วยทำงานมาตั้งแต่ปู่ของเขา แล้วพ่อของเขาก็เป็นเพื่อนบวชสำนักเดียวกัน อุปัชฌาย์เดียวกัน ตัวเองน่าเข้าใจหรือเปล่าว่าอุปัชฌาย์เป็นยังไง” กฤตหันมาดูหน้าเพื่อนแล้วหัวเราะ “ลูกชายก็มารับจ้างทำสวนองุ่น แล้วพอมันสอบชั้น มศ. ๓ จบมันอยากไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พ่อเขาไม่อยากให้ไป พ่ออั๊วว่าต้องให้มันไป สมัยนี้ประชาธิปไตย เผื่อมันจะไปเรียนรัฐศาสตน์ได้เหมือนอั๊ว ทำไมจะไม่ให้มันไป”
“เท่านั้นไม่ได้หมายความว่าเข้าใจประชาธิปไตย” พัฒนะค้าน “แปลว่าพ่อลื้อเป็นคนเห็นใจคนเท่านั้น”
“ไหนแก่ว่าไปซิ ทำยังไงถึงจะแสดงว่าเข้าใจประชาธิประไตย” กฤตถาม
“ไปเลือกตั้งไหม” พัฒนะถาม
“ไปซิวะ ไปทุกนัดไม่มีขาด ไม่ว่าเขาเลือกอะไรกันพ่ออั๊วไปหมด” กฤตตอบอย่างภูมิใจ
“พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว หวังให้ผู้แทนทำอะไรให้” พัฒนะซัก
“พ่ออั๊วหวังมากอยู่อย่างหนึ่ง หวังให้เขาลอกคลอง แต่ว่าแปลกแฮะ เขาจะลอกจริงๆ แต่กลายเป็นทางอำเภอคิดจะลอก”
“ทำไมพ่อลื้อถึงจะให้ผู้แทนลอกคลอง ผู้แทนต้องไปออกกฎหมายในสภา ไม่ใช่ลอกคลอง” พัฒนะขัดต่อไป
“ไว้ลื้อพบก็ถามก็แล้วกัน” กฤตตัดความ
“แต่ฉันยังติดใจที่คุณกฤตว่า คุณพ่อคุณกฤตเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน” น้ารวงทักขึ้น
“ผมว่าบางคนนะครับ ไม่ใช่ทุกคน อย่างคุณน้า ผมอาจไม่ได้เอาเข้าสารบบด้วย” กฤตแก้
“ไม่ใช่ ฉันสงสัยว่าคุณกฤตถืออะไรเป็นเกณฑ์ต่างหาก” น้ารวงซัก
“ดิฉันเข้าสมทบซักกับน้ารวง กฤตจึงออกจะตกอยู่ในที่ลำบาก แต่เมื่อโต้เถียงกันพอสมควรแล้ว เขาก็สรุปว่า
“ผมว่า อาจารย์ของเรากับชาวบ้าน เห็นจะเข้าใจประชาธิปไตยเท่า ๆ กันแหละครับ คือเราถือเอาว่า ถ้ามีการบริหารประเทศดี เราก็ว่าดี แต่ที่จะคิดไปถึง อาจเป็นประชาธิปไตย แต่บริหารเละเทะ หรือบริหารดีโดยไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ แม้ในมหาวิทยาลัยผมก็ไม่เคยได้ยินพูดกัน”
“ถ้างั้นแกถอนคำพูดตอนแรกแกเสียนะ” พัฒนะไม่ยอมสงบศึกง่ายๆ “ทีแรกลื้อตั้งต้นว่า พ่อลื้อเข้าใจประชาธิปไตยดีกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน”
“ถอนก็ได้” กฤตผ่อนปรน ทำให้ดิฉันแปลกใจมาก และหมายเหตุแล้ว เขาเป็นคนพูดอะไรแล้วถอนง่ายๆ อย่างนั้นหรือ หรือว่าเขาเกรงใจน้ารวงขึ้นมา และคิดว่าได้พูดอะไรแรงเกินไป
การสนทนาเปลี่ยนเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ จนกระทั่งรถไปถึงที่ว่าการอำเภอสามพราน จากนั้นเราก็พากันไปลงเรือซึ่งญาติของกฤตคนหนึ่งได้จัดมาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เป็นเรือหางยาวที่วิ่งรับส่งคนโดยสารในแม่น้ำนครไชยศรีและตามลำคลอง ญาติของกฤตเป็นเจ้าของเรือนั้นชื่อ นายสมพร เรือของเขาเป็นเรือเรือขนาดใหญ่ มีประทุนทำให้ผู้โดยสารได้รับการคุ้มกันจากแสงแดดซึ่งขณะนี้เริ่มร้อนจัด น้ารวงมองลงไปในเรือจากท่าที่ลาดลงไปจากริมตลิ่ง แล้วก็หัวเราะอย่างถูกใจ
“แหม นี่คุณกฤตจะประชดกันหรือยังไง ดู๊ มีน้ำไว้ให้เป็นตอนๆไป ไม่ให้ใครมีโอกาสกระหายเป็นอันขาด”
“เรื่องรับแขกต้องยกให้พี่สมพรครับ” กฤตชมญาติ เป็นการเอาใจและถ่อมตัวไปด้วย “ตอนนี้มันก็สายแล้วบางคนก็หิว พี่พรเขาถึงมีทั้งข้าวหลาม ทั้งองุ่น ทั้งน้ำไว้เลี้ยงในเรือ”
“ผมจะเอาไอ้พวกน้ำขวดๆมาให้ แต่เห็นกฤตสั่งไว้ว่าอย่าให้ขาดน้ำฝนกับน้ำแข็ง” เจ้าของเรืออายุคราวเดียวกันกับกฤตอธิบาย
พวกเราพากันลงเรือ พอเราได้ที่นั่งเป็นที่พอใจกันแล้ว นายสมพรก็ออกเรือ ทำหน้าที่นายท้ายด้วยตัวเองมีเด็กผู้ชายอายุประมาณ ๑๓ ปีคนหนึ่งช่วยดูแลหัวเรือ เรือออกจากท่าหน้าที่ว่าการอำเภอ แล่นขึ้นไปเหนือน้ำ ไม่ถึง ๔๐ นาทีก็เลี้ยวเข้าคลองใหญ่ ทางขวามือ มีชื่อว่าคลองจินดา เรือแล่นต่อไปอีกประมาณ ๒๐ นาทีก็ถึงคลองแยกขวาอีก มีป้ายทำด้วไม้ด้วยฝีมือเรียบร้อยบอกชื่อคลองว่า คลองกาญจนา เรือเลี้ยวเข้าคลองนี้ พร้อมกับนายสมพรพูดขึ้น
“นี่แหละ ถึงบ้านพวกเราแล้ว”
“คลองนี้ชื่อเพราะจริงนะคะ เป็นคลองเก่าคลองใหม่อย่างไรนะ คุณกฤต” แม่ถาม
กฤตหัวเราะ “คลองนี้เมื่อผมเล็กๆ ชื่อคลอง แม่ก่าน พอผมโตขึ้นทำไมเปลี่ยนชื่อไปได้ไม่ทราบ” กฤตตอบ
“ก็ลุงกำนันแกขอให้ท่านพระครูตั้งชื่อให้ล่ะซิ” นายสมพรอธิบาย “แม่ก่านเป็นใครที่ไหน ไม่มีใครรู้ถามใครว่ามีย่ามียายชื่ออย่างงี้กันมั่งไหม ก็ไม่มีใครบอก คลองนี้พวกเราอยู่กันตลอดคลอง ช่วยกันลอกกันขุดกันมาตั้งแต่ปู่แต่ทวด ลุงกำนันแกเลยว่า เปลี่ยนให้เพราะๆหน่อย ท่านพระครูท่านว่า ให้ชื่ออย่างงี้และดี คล้ายของเก่าด้วย แล้วก็แปลว่าทอง แล้วตั้งแต่นั้น พวกเราก็รวยขึ้นจริงๆเสียด้วย”
“พี่สมพรพูดว่ารวยมันจะเกินไปมั้ง” กฤตทัก “เรียกว่าทำมาค้าขายดีขึ้นเป็นไง”
“พุทโธ่” พัฒนะอุทานอย่างไม่พอใจ “ไอ้เรากำลังอยากจะถามว่า ไอ้ความรู้สึกรวยรู้สึกจนของเขามันเป็นยังไง”
“เปล่า ไม่ใช่จะอวดมั่งมีอะไรหรอก” นายสมพรพูดพลางหัวเราะ “จะพูดอวดกฤตเขา ว่าถึงไอ้พวกเราไม่ไปเป็นขุนนางเหมือนเขา แต่มันก็ไม่ใช่จะอดอยากอะไรนักหนา ไอ้เด็กๆเดี๋ยวนี้ มันช่างอยากจะเข้ากรุงเป็นขุนนางกันเสียจริง เผอิญกฤตเขาก็ได้ดิบได้ดี มันก็เลยจะเอาอย่างกันหมด”
“นี่มาถึงปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเข้าโดยไม่รู้ตัวแล้ว” น้าเรืองร้องขึ้นด้วยน้ำเสียงค่อนข้างจะตื่นเต้น “เด็กฉลาดนี่จะเก็บไว้ตามบ้านเดิม หรือจะฉุดเข้ากรุง”
พัฒนะกับน้าเรืองและน้ารวงเข้าร่วมกันพูดเรื่องนี้ ทั้งที่เสียงเครื่องยนตร์สนั่นกลบเสียงของตัว แม่ส่ายหน้าให้สัญญาณว่าแม่ไม่ได้ยิน “และไม่อยากร่วมสนทนา” ดิฉันคอยเหลือบดูสีหน้ากฤต อยากทราบว่าเขามีปฏิกิริยาอย่างไร ดิฉันเหลือบไปดูน้ารื่นเมื่อคิดถึงขึ้นมาว่าดิฉันไม่แสดงความห่วงใยเลยตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงกว่ามานี้ประสบกับสายตาน้ารื่นกำลังพิศดูสีหน้าของกฤตอย่างตรึกตรอง
ภายในเวลาประมาณ ๑๕ นาทีจากที่เรือเล่นเข้ามาจากปากคลองแยก นายสมพรก็เหหัวเข้าไปยังลานบนตลิ่ง ที่ตรงชายน้ำมีก้อนหินก้อนโตบ้างเล็กบ้างเรียงซับซ้อนกัน แต่เป็นระเบียบ เห็นได้ว่ามือมนุษย์ได้นำมาจัดให้ป้องกันกระแสน้ำไม่ให้เซาะฝั่ง เมื่อมองเลยตลิ่งขึ้นไป เห็นอาคารสร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบคุณภาพอย่างกลาง สีเหลืองมีขอบสีน้ำเงิน บอกลักษณะว่าเพิ่งสร้างมาได้ภายในไม่ถึง ๑๐ ปีนี้ เยื้องกับอาคารมีโบสถ์ สัณฐานและการตบแต่งเหมือนโบสถ์ตามวัดนอกพระนครในจังหวัดภาคกลางทั่วๆ ไป แต่น้าเรืองเอ่ยถึงอาคาร
“คุณพ่อผมสอนไว้ว่า ไปตำบลไหนให้ดูโบสถ์วิหารกับการเปรียญ ถ้าโบสถ์สวย แปลว่าราษฎรกำลังรวย ถ้าวิหารดี แปลว่าราษฎรกับพระรู้จักกันดี ถ้ามีศาลาการเปรียญดีอีกด้วย แปลว่าสมภารที่นั่นเป็นหลักเป็นฐาน ราษฎรเชื่อถือ มีกิจมีการที่วัดกันมาก”
“สมัยนี้ต้องดูอีก ๒ อย่างครับ” กฤตบอกพลางช่วยลำเลียงขวดน้ำและกระติกน้ำแข็งขึ้นจากเรือ ต้องดูว่าวัดมีโรงเรียนประชาบาลในวัดอีกด้วยหรือเปล่า แล้วก็ดูว่ามีสถานีอนามัยอยู่ใกล้ๆ หรือภายในบริเวณวัดเองด้วยหรือเปล่า
“เห็นจะจริง น้าเรืองรับ ไม่ได้ออกหัวเมืองเสียนานแล้ว แต่ชาวบ้านที่นี่กำลังเศรษฐกิจดีแน่”
“คุณย่าผมเป็นหัวหน้าเรี่ยไรทั้งโบสถ์ทั้งการเปรียญ” กฤตบอกต่อไป พลางช่วยให้ทุกคนขึ้นจากเรือโดยไม่ลำบากนัก “พี่สมพร ไม่เอาเรือเข้าคลองเล็กเข้าไปอีกรึ” เขาหันไปถามเจ้าของเรือ
“แกกำลังจะช่วยกันออกเงินช่วยโรงเรียนด้วยอีกนา” นายสมพรว่า “ระวังเถอะ ถ้าพบเป็นโดนแน่มาเที่ยวนี้”
“นักสังคมสงเคราะห์ชนบทนี่มีวิธีหาเงินอย่างไรบ้างคะ” น้ารวงถาม พลางช่วยยกขวดน้ำ กระบอกข้าวหลามที่ยังไม่มีใครเปิดขึ้นกินบ้าง ถุงและตระกร้าบางชิ้นบางอัน ขณะเดียวกับที่ทั้งคณะออกเดินเข้าไปจากชายน้ำขึ้นไปทางบก กฤตหันมาถามญาติ “พี่สมพรจะจอดเรือคอยที่นี่หรือไง” เมื่อได้รับคำตอบว่า “แล้วจะเข้าไปรับข้างใน” แล้ว กฤตก็ออกเดินนำออกไปทางหลังวัด เข้าไปถึงทางเดินทำด้วยดินทุบเรียบกว้างพอคนเดินหลีกกันได้สะดวก ทางเดินนั้นขนานไปกับคูเล็กๆข้างหนึ่ง อีกขึ้างหนึ่งเป็นรั้วประกอบด้วยต้นพู่ระหง กำลังใบหนาแน่น มองทะลุเข้าไปไม่ได้ และมีดอกสีแดงห้อยลงมาเป็นระยะๆ เกสรยาวเต็มไปด้วยละอองเรณูสีเหลืองอ่อน ทำให้แลเห็นว่าต้นไม้นั้นมีชื่อสมกับลักษณะของดอกจริงๆ
แดดร้อนจัดพอประมาณ เพราะมีเมฆก้อนใหญ่ๆ มาช่วยคุ้มครองความร้อนไว้เป็นครั้งคราว และมีลมของฤดูฝนพัดมาเฉื่อยฉิว น้ารวงบ่นว่ากระหายน้ำ ดิฉันรู้ว่าจงใจจะลองความสามารถกฤต ทันทีที่ได้ยิน กฤตก็หยุด เปิดกระติกน้ำแข็งอย่างว่องไว แล้วก็รินนำจากขวดลงในกระบอกพลาสติก และส่งให้น้ารวง
“น้ารื่นล่ะครับ กระหายน้ำไหม” เขาหันไปถาม
“เดินไปอีกสักกี่มะน้อยคะ” น้ารื่นถาม สายตาที่มองดูกฤตเปลี่ยนจากมองอย่างสนใจตามที่เคยเป็นสายตาที่มีไมตรีจิต