บทที่ ๒๑

เมื่อดิฉันพูดจบแล้ว ดิฉันลุกขึ้นจากที่นั่ง เดินออกไปจนถึงประตู แล้วจึงได้สติว่าดิฉันแสดงกิริยาที่จะต้องทำให้อาทรแปลว่าดิฉันโกรธเขาหรือไม่พอใจอะไรหนึ่ง แทนที่จะเป็นเพราะความกดดันภายใน ทำให้นั่งนิ่งอยู่ไม่ได้ ดิฉันรีบหันหลังกลับไปนั่งลงที่เก้าอี้ตัวเก่า และมองหน้าอาทรตามแบบที่ไม่มีคำอื่นจะบอกลักษณะได้ นอกจากจะใช้คำที่น้าผู้ชายสองคนใช้กันอยู่เสมอคือ “เขว่อว” เมื่อรำลึกขึ้นมาถึงอาการกิริยาแปลกประหลาดที่แสดงไป ก็เลยเกิดนึกสังเวชและขบขันเกือบจะหัวเราะคิกคักเหมือนเด็กวัยรุ่นออกมา พอดีอาทรพูด

“ผมว่าคุณมีอะไรในใจมานานแล้วใช่ไหม คุณลูกแก้ว พอผมถามถึงกฤต คุณถึงปล่อยเสียเป็นน้ำไหล”

“ขอประทานโทษนะค่ะ” ดิฉันรีบขออภัย “ลุกลี้ลุกลนอะไรไม่ทราบ ดิฉันรำคาญอะไรบางอย่างน่ะค่ะ ไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรหรอก ดิฉันเป็นคนแปลก ๆ อย่างนั้นเอง”

อาทรจ้องหน้าดิฉันอีกสักครู่หนึ่ง แล้วเขาจึงว่า “คุณอย่ากังวลต่อไปเลยนะ ผมว่าคุณกับกฤตคงไม่มีอะไรกันอีกหรอกเท่าที่ผมดูมา แล้วก็ถามเชี่ยว ถามพัฒนะ เห็นใครๆ ก็ว่ากฤตเขาเป็นคนดี แต่คุณอย่าไปเรียกร้องให้คนดีจนเกินมนุษย์ แต่ที่คุณพูดน่ะผมเห็นใจผมเข้าใจ” เขาช่างผิดไปจากอาทรที่ได้เคยรู้จักมาเสียนี่กะไร อะไรหนอที่ทำให้เขาดูมีความมั่นใจในตนเอง ดิฉันอดอยู่ไม่ได้ถามขึ้น

“คุณอาทรคะ ทำไมคุณถึงชอบทำเป็นคนไม่พูดไม่จาคะ บางเวลาคุณก็พูดได้ยาว ๆ นี่นา”

เป็นครั้งแรกที่อาทรหัวเราะ ถึงแม้จะไม่เป็นเสียงชื่นบานเหมือนคนทั่ว ๆ ไปที่ดิฉันเคยสมาคมด้วย แต่ก็ยังทำให้ใจดิฉันโปร่งอกอย่างประหลาด แววตาของเขาก็ไม่เหมือนที่ดิฉันเคยเห็น ดูเหมือนเขาจะตัดสินใจอะไรได้ มีแสงสว่างขึ้นในดวงหน้าของเขา และเสียงที่เขาตอบดิฉันก็เริ่มมีกังวาลแจ่มใส

“คุณน่าจะเข้าใจง่ายเหลือเกิน ชีวิตผมเหมือนคนอื่นเขาเสียเมื่อไหร่ ผมเกิดมารู้สึกว่าเป็นคนเกิน ตลอดเวลาที่พ่อผมอยู่กับคุณอากรรณของคุณ ผมถูกสอนให้สวดมนต์ภาวนาขออย่าให้คุณอาของคุณมีลูกผู้ชายออกมาเป็นอันขาด”

“แล้วคุณทำหรือเปล่าคะ” ดิฉันถามแซงขึ้นไปโดยระงับไม่ได้

คงเป็นพ่อผมดีพอใช้ ไม่ได้ทอดทิ้งผมเลย ไปหาผมตามเวลา ไม่เคยให้คอยเปล่า สนใจกับการเรียนกับความนึกคิดของเด็กผู้ชาย เด็กรุ่นหนุ่ม เงินทองไม่ขาดไม่เกิน อาศัยที่แม่ผมอยู่ในถ้อยในคำดีด้วย แต่คุณก็คงแลเห็นว่า ถึงพ่อจะดีกับผมอย่างไร ผมก็คงเป็นลูกซ่อน คุณก๋งต้องการหลานผู้ชาย แต่คุณพ่อก็พาไปหาไม่ได้ คุณย่าพยายามชดเชยให้ผมทางอื่น สัญญาว่าจะให้ไปเมืองนอกแน่ถ้าตั้งใจเรียน แม่ก็คอยอ้อนวอน เมืองฝรั่งนี่มันเหมือนเมืองแก้วเมืองทองของคนไทยนะ จะดีจะเลวก็ที่ได้ไปเมืองฝรั่งนี่แหละ”

“ดิฉันว่าเรารับเอาความเป็นจริงดีกว่า” ดิฉันกล่าว “เมืองฝรั่งมันมีดีจริงตรงที่ว่า เราต้องไปเอาใจใส่กับความรู้เราอยู่เมืองไทย ต่อให้เราเป็นคนดีประเสริฐยังไง เราก็วนเวียนอยู่แค่นั้นเอง เราจะอยู่ในโลกโดยอาศัยความดีเท่านั้นไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ด้วย คนมีความรู้ได้เปรียบคน ยิ่งดีแล้วไม่มีความรู้ยิ่งเสียเปรียบ ดิฉันไม่เห็นว่าคนที่อยากไปเอาความรู้เป็นคนไม่ดี แต่เห่อไปเพราะโก้ก็ เขว่อว คุณรู้ศัพท์ของน้าเรื่องน้าโรจน์แล้วใช่ไหมคะ”

“เราควรจัดการให้เมืองเราเป็นเมืองความรู้เสียมั่งซี” อาทรว่า เขาทำตาลอย ๆ คล้ายไม่อยากต่อการสนทนาเรื่องนี้

“ก็อย่างนั้นซีคะ” แล้วดิฉันเปลี่ยนเรื่องกลับเข้าหาตัวเขา “คุณเล่าต่อไปซี คุณย่าทำยังไงอีกมั่ง ขอโทษนะคะ ดิฉันอยากรู้จริง ๆค่ะ ไม่ใช่อยากสอดแทรกเข้าไปในชีวิตคุณ แต่อยากเข้าใจ”

“ก็ผมก็โตขึ้นเป็นคนไม่ค่อยเต็มบาทนัก อย่างที่คุณว่า” อาทรตอบ คราวนี้เขายิ้มน้อย ๆ สีหน้าปราศจากความหม่นหมอง “ที่จริงพ่อผมก็ดี แม่ก็ดี คุณย่าก็ดี แล้วที่จริงคุณอาคุณก็โกรธคุณพ่อเพราะเธอเป็นคนดี เธอว่าเธอเกลียดผู้ชายอายลูก พ่อผมถึงโกรธนัก ใคร ๆ คิดว่าคุณกรรณโกรธคุณพ่อ แต่ที่จริงคุณพ่อโกรธว่าคุณกรรณเป็นเมียแล้วประมาทผัว คุณย่าพลอยเข้าด้วย คุณกรรณก็มีอคติ หาว่าแม่ผัวจะข่มลูกสะใภ้แบบจีน แต่ที่จริงคุณย่าผมท่านทำแบบไทยแท้ๆ ทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องช่วยซ่อนช่วยเลี้ยงผม ผมว่าพวกไทยๆ จีนๆ นี่ยุ่งพิลึก

“พัฒนะเขาว่าพวกลูกท่านหลานเธอเท่านั้นที่ยุ่ง พวกชาวบ้านเขาไม่ยุ่ง”

“ก็อาจจะจริง ลองคิดถึงชาวคลองกาญจนาอย่างพวกกฤต เขาคงมีลูกซ่อนไม่ได้ คงรู้กันทั่วตำบล” พูดจบแล้วอาทรก็หัวเราะเบาๆ

ดิฉันรำลึกขึ้นมาถึงเพื่อน จึงถาม “คุณอาทรคะ ดิฉันสงสารช้องเพ็ชรทั้งที่หมั่นไส้ คุณไม่คิดจะช่วยเขามั่งหรือคะ”

“ฮึ” อาทรหัวเราะในคอ “คุณกำลังจะไปทางไหนนี่”

“เปล่าค่ะ ไม่ได้ตั้งใจจะชวนให้คุณแต่งงานกับเขา นั่นมันแล้วแต่วาสนา”

“เห็นจะจริง” อาทรพูดสั้นอย่างที่ชอบทำอีก แล้วทันใดนั้น คล้ายกับว่าเขาเกิดความรู้สึกผลักดันแรงอย่างที่ได้เกิดแก่ดิฉันเมื่อครู่ก่อน เขาก็ลุกขึ้นจากโต๊ะ ดิฉันก็คิดขึ้นมาได้ว่าดิฉันไม่ได้บอกทางบ้านไว้ว่าจะกลับบ้านค่ำ จึงลุกขึ้นบ้าง อาทรจึงเดินไปชำระเงินค่าขนมและน้ำชา แล้วเราก็ลาไป

อีกสามวันต่อจากวันนั้น อินทิราโทรศัพท์มาที่บ้านเวลาค่ำ น้ำเสียงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น “ลูกแก้ว เห็นข่าวสังคมไหม” แล้วเขาก็บอกชื่อหนังสือพิมพ์ที่เขาได้อ่าน เมื่อดิฉันบอกว่าไม่ได้เห็นเขาก็พูดมา “เดี๋ยวๆ ฉันต้องอ่านให้เธอฟัง เงียบไปสักครู่แล้วเขาก็อ่าน “ได้ยินซุบซิบมานาน แต่ดูเหมือนจะยืนยันได้แล้ว คุณหญิงจะหาเจ้าคุณได้ เจ้าคุณนี่ไม่ใช่เจ้าชีวิตแต่เป็นลูกเสี่ยเจ้าของโรงแรม”

ดิฉันรู้สึกร้อนและหนาวเย็นวูบวาบ กล่าวไปแก่อินทิราว่า “อย่าเพ่อไปเชื่อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บางทีก็แก้กันหน้าตาเฉย”

แต่อีกสองวันต่อมา พัฒนะก็โทรศัพท์มาบอกข่าว “นี่ คุณลูกแก้ว เตรียมของขวัญได้แล้ว นายอาทรเขาตัดสินใจแล้ว คุณย่าจะกองทุนให้คิดทั้งเงินสดเงินแห้งสองล้าน แต่ว่าผมมีเรื่องจะเล่า ไปกินข้าวด้วยกันนะ”

ดิฉันไปกินข้าวสองคนกับพัฒนะที่ร้านอาหารจีน ที่พัฒนะบอกว่าคงจะไม่พบพวกที่เรามักไปกินข้าวด้วยกัน เมื่อกินอาหารไปพอสมควรแล้ว พัฒนะก็เล่า “คุณรู้ไหม คุณหญิงของเจ้าอาทร อ้อ เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ เขาเรียกนายทรเจ้าคุณนะ คุณหญิงนี่น่ะ เจ้าหล่อนยอมแต่งงานกับเจ้าอาทรเพราะเจ้าอาทรจะใช้หนี้ให้แก่แม่ตัวเองตั้งสองสามแสน”

“อาทรเขาเล่าให้คุณรุ รู้กันได้ยังไง ของพรรณอย่างนี้” ดิฉันปราม

“ก็เจ้าเชี่ยวละซิ คุณน้าเขาเกี่ยวดองกับพ่อนายอาทร เอ ผมแปลกใจ ผมไม่เห็นท่าทางนายอาทรมันรักคุณหญิงช้องเพ็ชรนี่เลย”

ดิฉันไม่กล้าสู้ตาพัฒนะ จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตอบตัวเองไม่ได้ “ดิฉันว่าผู้ชาย ถ้าได้เข้าใกล้ช้องเพ็ชร ไม่วันหนึ่งก็วันใดละ ต้องตกหลุมเสน่ห์เข้าไปมั่ง นี่ผู้ใหญ่ชักนำ คุณอาทรก็ไม่ใช่อิฐไม่ใช่ปูนนี่คะ”

“ผมเคยถามเขาตอนมีข่าวลือใหม่ๆ เขาบอกว่าคุณย่าต้องการให้เขามีเมียผู้ดี ต้องมีเลือดเนื้อขุนนาง ยิ่งแท้ไม่ใช่ขุนนางจีนยิ่งดี เขาบอกผมว่า เขาไม่ชอบผู้ดีแบบช้องเพ็ชร เขาเคยเห็นผู้ดีแท้เสียแล้ว ผู้ดีเก๊ ๆ เสียคะแนนหมด”

ดิฉันตอบเท่าที่จะนึกออก อะไรทำให้ดิฉันมีความเชื่ออยู่ลึก ๆ ในใจก็ไม่ทราบว่า อาทรแต่งงานกับช้องเพ็ชรเพราะดิฉันเข้าไปเกี่ยวพันอยู่ด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นผู้ดีแท้หรือผู้ดีเก๊ เกี่ยวกับความรู้สึกที่ดิฉันไม่เข้าใจของอาทรที่มีต่อดิฉัน ซึ่งดิฉันจะฝันเอาตามคำลือที่เข้าหูก็ได้

เพื่อเป็นมารยาท ดิฉันโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีต่ออาทร และเขียนจดหมายสั้น ๆ ไปถึงช้องเพ็ชร อาทรตอบขอบใจทางโทรศัพท์เหมือนกับว่าดิฉันแสดงความยินดี ที่เขาได้เงินเดือนขึ้นเดือนหนึ่งหรือโชคลาภทำนองนั้น ช้องเพ็ชรไม่ตอบ และไม่ทำความพยายามติดต่อกับดิฉันทางหนึ่งทางใด อินทิราแปลกใจเดาไปต่างๆ “เขาก็ไม่เคยเป็นคนเห็นเพื่อนไม่มีราคาค่างวดอะไร เคยเอาใจใส่กับพวกเราดี คราวนี้ไม่สนใจกับใครสักคน ฉันสงสัยว่าจะถูกอะไรบังคับให้แต่งงานกับอาทร เขาคงไม่ชอบใจกระมัง”

หลังจากที่อาทรกับช้องเพ็ชรหมั้นกันเป็นทางการได้ประมาณ ๑๐ วัน ดิฉันได้รับจดหมายจากกฤ๖ กฤตไปถึงคานาดาแล้ว และเขียนจดหมายมาจากเมืองออตตาวา ในจดหมายนั้น กฤตเขียนมาว่า

“... ได้ข่าวว่าอาทรจะแต่งงานกับช้องเพ็ชรแน่แล้ว อาทรเขาบอกมาเอง วันที่กฤตเขียนจดหมายฉบับนี้เป็นวันที่เขาจะทำพิธีหมั้นตามที่เขาบอกมา น้ำเสียงของอาทรเหมือนจะทำกิจการใหญ่ เขาบอกว่าเขาตัดสินใจเพราะคิดว่าดีแก่ทุกฝ่าย เขาขอความร่วมมือจากเพื่อนทุกคน คงจะเป็นงานใหญ่ของเขาจริง กฤตเอาใจช่วยเขา และเชื่อว่าลูกแก้วก็คงเอาใจช่วยให้ชีวิตของคนคู่นี้เป็นชีวิตที่สุขสมบูรณ์ ลูกแก้วจ๊ะ กฤตกลับไปบ้านคราวนี้ ก็จะต้องทำงานกับคุณลุงวัชรไปอีกนาน ท่านว่างานนี้สำคัญมาก กฤตเสียดายงานเก่าตอนที่จะไม่ได้ทำแล้วนี่เอง กฤตอยากบอกว่ากฤตต้องการกำลังใจจากลูกแก้วมาก คุณลุงวัชรกับกฤตต้องเหนื่อยจริง ๆ ไม่ค่อยมีเวลาคิดถึงคนทางบ้าน ถ้ากฤตเขียนจดหมายห่างไป ขอให้เห็นใจด้วย” เขาเล่าเรื่องการเดินทางและเรื่องงานที่ทำอีกเล็กน้อย ไม่กล่าวถึงช้องเพ็ชรกับอาทรอีก ดิฉันเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้กับจดหมายฉบับอื่นของเขา

งานแต่งงานช้องเพ็ชรกับอาทรทำอย่างปรกติสำหรับคนในครอบครัวของเขา มีการรดน้ำและเลี้ยงอาหารที่บ้านคุณพระเพราะบริเวณบ้านใหญ่ เวลากลางคืนเมื่อตกแต่งแล้วดูงดงามภูมิฐาน คุณพระทาสีเรือนใหม่ทั้งเรือนใหญ่และเรือนบริวารซึ่งมีอยู่สองสามหลังในบริเวณบ้าน ใช้สีเขียวเทาๆซึ่งเป็นสีเดิม ทำให้บ้านดูขรึมสมกับที่เป็นบ้านขุนนางเก่า ที่สนามตั้งกระโจมรับแขก มีดอกไม้สดปนกับดอกไม้แห้งอย่างมีศิลปะประดับทั้งในเรือนและนอกเรือน มีดอกไม้แขวนดอกไม้แจกัน ดอกไม้ติดตามต้นตามกระถาง อินทิราซึ่งไปในงานเลี้ยงตอนค่ำเมื่อบ้านสว่างไสวด้วยไฟฟ้าหลายพันแรงเทียนกระซิบกับดิฉันว่า “อือ บ้าน หรือคนก็คงเหมือนกัน กลางคืนกับกลางวันนี่มันผิดกันได้ถึงอย่างงี้เชียวนะ”

ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ช้องเพ็ชรไม่แต่งกายในงานเลี้ยงแต่งงานให้เด่นแปลก เหมือนอย่างที่ชอบทำเสมอมา ช้องเพ็ชรแต่งชุดผ้าไหมไทยยกดิ้นทองอย่างเรียบๆ เวลารดน้ำไม่นุ่งผ้าจีบรัดเข็มขัด ไม่ทำผมให้มีทรงแปลกล้ำหรือนำสมัย เวลาเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งมีทั้งอาหารจีน ไทย และ ฝรั่ง ช้องเพ็ชรสรวมเสื้อราตรีทำด้วยแพรสีชมภูอ่อน มีแถบรัดเอวเป็นสีชมภูแก่ขึ้นเล็กน้อย ผูกเป็นโบว์ใหญ่อยู่กลางตัว และปล่อยชายยาวเลยหัวเข่า ปักลูกปัดแก้วและไข่มุกเม็ดเล็กๆ ส่องแสงระยิบระยับที่หน้าอกและที่แถบรัดเอว ช้องเพ็ชรประดับอาภรณ์ชั้นเดียว คือสร้อยเพ็ชรสายเล็ก ๆ สามสาย เรียงรอบคออันระหง ขับดวงหน้าและเรือนร่างของช้องเพ็ชรให้ดูสวยซึ้งยิ่งกว่าที่เคยสดุดตาคนมาสมัยเมื่อยังเป็นสาวทรงเสน่ห์ไร้คู่อยู่ในสังคม

ในวันแต่งงานของช้องเพ็ชรกับอาทร กฤตกลับมาจากต่างประเทศแล้ว แต่ไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะต้องออกไปส่งงานที่ยังค้างอยู่ในต่างจังหวัด ก่อนที่จะได้ย้ายตำแหน่งไปทำงานกับคุณลุงวัชรโดยเด็ดขาด

ประมาณสักหนึ่งเดือน หลังจากที่กฤตกลับมาจากต่างประเทศ วันหนึ่งเป็นวันหยุดราชการ แต่กฤตไม่อยู่บ้าน พ่อกิจกับลุงกรและการุณก็เดินเข้าบ้านมา การุณเพิ่งสอบเสร็จใหม่ๆ กลับไปบ้านไม่ถึงสัปดาห์ก็พาญาติผู้ใหญ่ทั้งสองมาแจ้งว่าเขาจะอุปสมบทภายในสองสัปดาห์หน้า จึงต้องพาลุงกับอามาช่วยกันซื้อของ และความประสงค์ที่มาที่บ้านในวันนั้นก็เพื่อจะได้ลาตามประเพณี

ลุงกรชื่นชมกับการที่การุณตัดสินใจเป็นอันมาก “การุณบวชนี้จะได้กุศลหลายอย่าง เจ้าคนเล็กของพี่กำนันกำลังจะจบม.ศ. ๓ ที่โรงเรียนบาดหลวงที่บ้านโป่ง ลุงกำนันจะไม่ให้เรียนต่อ บอกว่าให้เรียนมากแล้วมันอกตัญญู เห็นฝรั่งดีกว่าปู่ย่าตายาย พอรู้ว่าการุณจะบวช ก็ดีอกดีใจได้แรงอาพัดพูดจาด้วยอีกนิดหน่อย แล้วเด็กมันก็สัญญิงสัญญา ว่าจะไม่เป็นอย่างพี่ชายใหญ่เป็นอันขาด เลยตกปากตกคำว่าจะให้เรียนต่อ แต่จะไม่เอาเงินของตัวเองส่งนอกเป็นอันขาด”

“ถ้ารู้ว่ากฤตจะใช้หนี้หลวงแล้วไปทำงานกับฝรั่ง ลุงกำนันคงไม่ดูหน้าพ่อ” พ่อกิจบอกดิฉัน แล้วก็รำลึกขึ้นมาดังๆ “เอ เขาปิดเมียหรือเปล่า ถ้าเขาปิดอย่าให้เขารู้ว่าพ่อบอกนะ เดี๋ยวนี้ก็เงียบไปไม่มาเซ้าซี้แล้ว”

“คนหนุ่ม ๆ เดี๋ยวนี้มันเอาจริง” ลุงกรว่า “ได้แค่นี้จะเอาแค่โน้น ไม่นึกถึงพี่ป้าน้าอา ไม่นึกถึงไอ้พี่ๆ น้องๆ ที่ลืมหน้าอ้าปากไม่ได้ตั้งโหลตั้งร้อย คงจะไปโดใครเขาหนุนมายังไงละมัง อย่างเราเป็นหนี้หลวง หลวงให้ทำราชการก็หน้าเป็นเหมไปเท่านั้น”

“จริงหรือคะ อย่างคุณกรนี่ ถ้าได้ทำราชการ จะถือเป็นเรื่องดี เป็นมงคลอะไรอย่างนั้นหรือคะ” แม่ถาม

“ไอ้เป็นมงคลน่ะเป็นแน่ละครับ” ลุงกรตอบ “แต่อย่างผมนี่ทำงานหลวงไม่ได้หรอกครับ มันคนไม่เคยเคยมีนาย ที่เหมือนกับนายก็พี่กำนันแหละ นายอำเภอน่ะแกอยู่ไกล นาน ๆ จะมีนโยบายอะไรไปเล่าแจ้งแถลงไข เราก็บอกกล่าวลูกบ้านไป บ้านผมมันก็คนรู้จักกันทั้งนั้น ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ ขโมยขะโจนมันก็ต้องมีมั่ง พอมันทำมาหาได้ ขายข้าวได้ ขายส้มได้ มันจะไปขโมยทำไม ไอ้คนพาลจริงๆ มันไม่อยู่ถิ่นหรอกครับ ถ้าอยู่ถิ่นน่ะมันนักเลงใหญ่ แต่ถิ่นผมไม่มี ใครจะใหญ่แปลกเข้ามาไม่ได้หรอกครับ พวกผมมันไม่เคยยอมใคร คิดไปก็เห็นใจพี่กำนัน แกก็น่าโกรธเจ้าสงกรานต์”

“พี่สงกรานต์เขาว่า วิชาที่เขาเรียน ถ้ามาอยู่เมืองไทย ก็ไม่มีทางก้าวหน้าทางวิชาการ ไอ้ก้าวหน้าทางวิชาการกับการก้าวหนาอย่างอื่น มันผิดกันอย่างไร ก็ไม่มีใครจะไปอธิบายกับลุงกำนันให้เข้าใจ นึกจะให้พี่กฤตไปช่วยอธิบายสักหน่อย ถ้าลุงกำนันรู้ว่าพี่กฤตเคยคิดจะไปทำงานกับฝรั่งก็คงโกรธไปอีก” การุณพูดอย่างปรับทกข์

ดิฉันนั่งฟังพลางก็คิดปัญหาต่อไปยืดยาวตามเคย แล้วได้ยินแม่พูด “แล้วจะให้ดิฉันช่วยเหลืออะไรได้มั่งล่ะคะ”

“ผมจะให้แม่แก้วเขาช่วยจัดหาของแปลกๆ ถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวดกับพระอันดับ ๒๕ องค์ ไปนิมนต์มารวม ๓ วัด ต้องหาที่แปลก ๆ ที่ตำบลนั้นเขายังไม่เคยถวายกัน แล้วห่อหุ้มให้มันสวย ๆ ด้วยการุณเขาอยากได้อย่างนั้น เขาว่าเสียแรงมาอยู่กับคุณพี่คุณน้าที่บ้านนี้แล้ว ต้องทำให้สดุดตาคนหน่อย”

แม่รับรองว่าจะช่วยเหลือได้โดยง่าย และนัดแนะเรื่องการขนส่งของ และการจัดพาหนะให้ผู้ที่จะไปร่วมกุศลได้ไปให้สะดวกพอสมควร “คุณพ่อแม่แก้วน่ะผมเห็นใจ ไม่รบกวนท่านหรอกครับ แต่คุณน่ะผมอยากให้ไปเป็นกำลังใจการุณเขานะครับ” ลุงกรพูด สังเกตน้ำเสียงและแววตาก็รู้ว่าจริงใจโดยแท้ “แล้วก็คุณน้าอาจารย์ คนนี้การุณเขาว่าจะต้องมาอ้อนวอนให้ไปให้ได้ เขาว่ามีบุญคุณกับเขามาก”

ผมขอให้ได้บวชวันอาทิตย์ เพราะผมจะให้คุณน้าอาจารย์ไปด้วยให้ได้” การุณกล่าว เขาไม่หักนิ้วมือเวลากระดากแล้ว แต่มักหัวเราะกลั้วคำพูดไปด้วย แล้วคุณอากรรณผมอยากลาท่านด้วย ผมเกิดคิดเรื่องบวชขึ้นมาวันที่ผมไปช่วยพี่กฤตทำงานที่บ้านคุณอาเธียร ผมถึงไปปรึกษาย่าพัดว่าจะบวชก่อนทำงานดีหรือว่ารอให้ได้งานแล้วลาบวชดี ย่าพัดว่ารอไปไม่ดี เผื่อมีอะไรมาขัดข้องจะไม่ได้บวช แล้วย่ามาชักชวนให้บวชเสียตอนโรงเรียนปิดนี่ ทีแรกผมก็ยังห่วงเรียนภาคฤดูร้อน ผมขาดไป ๔ หน่วยกิต แต่แล้วย่าพัดก็มาพูดอีกเรื่องลุงกำนันโกรธลูกทั่วไปหมด ไม่อยากให้ใครได้เล่าเรียนให้สูง ๆ ต่อไป ถ้าผมบวชก็จะทำให้ลุงกำนันหายโกรธไปได้มั่ง จะได้กุศลหลายต่อ”

แม่ให้ดิฉันไปโทรศัพท์ถามอากรรณว่าเวลาไหนจะสะดวกสำหรับที่การุณจะไปลาบวช ดิฉันโทรศัพท์ไปแล้วก็ทราบว่า วันนั้นอากรรณไปหาคุณย่า และจะไม่กลับจนถึงเวลาเย็น ซึ่งจะไม่สะดวกสำหรับการุณ เพราะเขาอยากจะกลับไปสามพรานในวันนั้น เพราะได้นัดอุปัชฌาย์ไว้ การุณทำท่าผิดหวังมาก คุณพ่อจึงแนะว่า

“ก็ง่ายนิดเดียว ลูกแก้วก็พาเหลนไปหาคุณทวด เอาการุณไปด้วย ไปพบอากรรณเขาที่นั่นก็ได้ เรื่องบุญกุศลไม่ต้องเอายศเอาศักดิ์ จะต้องไปลาเฉพาะที่บ้านเขาเมื่อไหร่”

ทุกคนเห็นดีด้วย ดิฉันจึงชวนน้ารื่นให้ไปด้วยกัน แล้วพาการุณขึ้นรถไปบ้านคุณย่า ภายหลังที่ได้โทรศัพท์ไปนัดกับอากรรณที่บ้านคุณย่าเรียบร้อยแล้ว

เมื่อดิฉันไปถึงบ้านคุณย่า อากรรณรีบลงมาต้อนรับ “แหม อาดีใจจัง เชื่อไหม ทำไมไม่เคยมีใครลาบวชอาเลย หรือเคยก็นานเต็มทีแล้ว เดี๋ยวนี้เรื่องการทำบุญสุนทานนี่อาสนใจมาก ถ้าจะกำลังแก่”

คุณพ่อสั่งว่าให้การุณลาคุณย่าด้วยเพื่อเป็นมารยาท เพราะการลาบวชก็เป็นการบอกกล่าวกุศลอันหนึ่ง ไม่ถือเป็นการรบกวนหรือละลาบละล้วงอย่างใด

คุณย่าก็ยินดีมากเมื่อดิฉันพาการุณเข้าไปหาและบอกว่าเป็นลูกของลุงของกฤต และเป็นคนแรกในรุ่นลูกหลานชั้นเดียวกับกฤตในตระกูลนั้นที่จะอุปสมบท เพราะกฤตติดราชการเสียไม่ได้บวช และพี่ชายลูกของลุงกำนันไปอยู่สหรัฐฯเสียไม่กลับมาทำงานในเมืองไทย

“จิตใจเป็นยังไง้ ไอ้คนไปหลงเมืองฝรั่ง, ไม่กลับมาบ้านช่อง” คุณย่าปรารภอย่างรำคาญ “เห็นมีกันมากขึ้นทุกวัน ลูก ๆ คนที่เรารู้จัก ๆ หรือว่าห้ามปรามกันไม่ได้แล้ว”

“สมัยนี้ไปไกลหูไกลตา มันก็ห้ามอะไรกันไม่ได้ทั้งนั้นแหละค่ะ ทั้งเรื่องแต่งการแต่งงาน” อากรรณช่วยอธิบาย “แต่ก่อนนี้ ฝรั่งเขารังเกียจคนผิวเหลือง เดี๋ยวนี้เขาเห็นแก่วิชา พวกเราก็เลยว่าเป็นเกียรติยศสูงที่เขาให้เราทำงานกับเขา”

“ตกลงพ่อแม่ต่อไปนี่ก็ได้แต่ใจหิ้วใจแขวนกันไปอย่างนั่นซิ” คุณย่ารำพัน “จะว่าอะไรกันไม่ได้ลูกหลานกี่คนๆ แล้วไม่ส่งไปก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าไม่ให้เขาได้วิชาทันเพื่อน”

“โลกมันเปลี่ยนไปนี่คะ คุณแม่” อากรรณปลอบต่อไป “แต่คนหนุ่ม ๆ ก็ยังรักจะบวช ฝรั่งก็เข้ามาบวชเมืองไทย มีพระฝรั่งตั้งหลายองค์ไงคะ ก็แลกเปลี่ยนกันไป เดี๋ยวนี้โลกมันแคบนี่คะ”

คุณย่าสนใจตำบลบ้านของการุณ ซักถามถึงอาชีพของคนที่นั่น เรื่องความสงบสุขความเจริญในด้านต่างๆ อากรรณจึงพูดขึ้นเป็นการเอาใจ

“คุณแม่อยากไปวันบวชมั่งไหมละคะ ถ้าคุณแม่อยากไป ลูกจะลองให้คณเธียรเขาหาเรือดี ๆ สบาย ๆ ให้ ดูเหมือนเขาจะติดต่อค้าขายกับใครแถวนครไชยศรีอยู่ แม่น้ำเดียวกันใช่ไหมเธอ” อากรรณถามการุณ

“มาถึงกันได้ครับ แต่อ้อมหน่อยนะครับ” การุณบอก

“เออ ไว้ถามเขาดูก่อน”

คุยกับคุณย่าอีกสักครู่ใหญ่แล้ว ดิฉันก็ลาท่าน ให้น้ารื่นอยู่ที่บ้านเดิมของน้ารื่นกับลูกของดิฉันเพื่อเป็นเพื่อนคุณย่า และเป็นที่พอใจของอากรรณด้วย เพราะอากรรณหาเรื่องคุยหรือทำความเพลิดเพลินให้คุณย่าได้ยากเหมือนกัน ดิฉันพาการุณกลับมาบ้าน กฤตกลับมาแล้วนั่งปรึกษาเรื่องการจัดซื้อของและเรื่องเรือที่จะไปบวชการุณอยู่กับบิดาและลุง

อีกไม่กี่นาทีต่อมา พ่อกิจกับลุงกรและการุณก็ลาไป พ่อให้กฤตพาการุณไปลาคุณป้าด้วย เพื่อเป็นมารยาท ถึงแม้ว่าคุณป้าจะไม่เคยเอาใจใส่กับการุณนัก เมื่อญาติผู้ใหญ่ลาไปแล้ว โดยกฤตพาไปส่งที่ป้ายรถประจำทาง คุณพ่อจึงรำลึกขึ้นมา

“คุณใจแก้วน่ะ รับปากรับคำกับเขาว่าจะซื้อของถวายพระแปลก ๆ ให้เขาน่ะ รู้หรือว่าไอ้แปลกน่ะมันยังไงถึงจะแปลก แล้วแปลกยังไงมันจึงจะถูกใจเขา”

แม่หัวเราะคิกออกมา “จริงนะฉันก็รีบรับสำหรับไม่ให้เสียน้ำใจ ที่จริงจะทำอะไรให้เปลกมันต้องรู้ว่า ไอ้ที่เขาเคยทำน่ะมันยังไง”

ครั้นกฤตกลับมาจากส่งญาติผู้ใหญ่ขึ้นรถประจำทางไปแล้ว ญาติทางภรรยาก็พร้อมใจกันหารือกฤต ว่าตามปรกตินั้นชาวคลองกาญจนาเขาใช้ของชนิดใดถวายพระ และตบแต่งห่อหุ้มประดับให้งดงามกันอย่างไร

“อะไรๆ เอาเข้ากระบวนแห่หมดแหละ” กฤตตอบ

เห็นเขาเดินกันเป็นขบวนยาว การุณเขาจะบวชที่วัดใหญ่ ไม่ใช่วัดที่ปากคลองบ้านเรา มิต้องเอาลงเรือแห่กันหรือนี่”

“เออ ไม่ไถ่ไม่ถามเสียให้ถี่ถ้วน” คุณพ่อตำหนิ

“ก็คนถี่ถ้วนทำไมไม่ช่วยถามล่ะ” แม่ทำเสียงแสนงอนเอากับคุณพ่อ “ออกจากบ้านเขาต้องมาลงเรืออีกต่อหนึ่งใช่ไหม”

ลูกเขยกับพ่อตาแม่ยาย นั่งปรึกษากันไปมาวนเวียนเหมือนพายเรือในอ่าง ไม่ได้ข้อตกลงอะไรเพิ่มขึ้น จนถึงเวลาเย็น อากรรณก็พาลูกชายกับน้ารื่นมาส่งที่บ้าน และส่งข่าวด้วยความยินดีว่า

“กงจื๊อเขาว่าเขาหาเรือยนตร์สบายพอที่คุณแม่จะไปด้วยได้ แหมดีอกดีใจใหญ่”

“เรือรูปร่างเป็นไงครับ” กฤตถาม “เผื่อจะช่วยลำเลียงของได้มั่ง คงโดนขอให้เข้ากระบวนแห่ด้วยแน่ ถึงลุงกรไม่ขอ อาลำใยก็คงจัดการให้ใครขอ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ