บทที่ ๑๔

ครั้นถึงวันนัด กฤตก็ทำหน้าที่ขับรถให้คุณพ่อนั่งรถคันใหม่ของแม่ไปบ้านเชี่ยว พอไปถึงดิฉันก็เข้าใจทันที ทั้งที่แม่ไม่ได้บอกไว้ก่อน แม่ว่าไม่อยากบอกใครเพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลอะไรหรือไม่ ที่บ้านเชี่ยวนั้นอาทรยืนรออยู่ที่หน้าตึก ใกล้ตัวอาทรมีอาเธียรบิดาของเขายืนอยู่ด้วย

เมื่ออาเธียรเห็นแม่กับคุณพ่อ เขาก็รีบเดินเข้ามาทำความเคารพทันที “ผมมาดูที่ในซอยนี้ ได้ยินว่าพี่ใจแก้วจะมาที่บ้านเชี่ยว อาทรเขาเลยชวนผมให้มากับเขาด้วย หรือจะว่าที่ถูกผมเชิญตัวเอง”

เรื่องการที่อาเธียรมานั้น ไม่ต้องมีใครอธิบายก็ย่อมเดากันได้ว่าแม่นัดไว้ แต่แม่จะทำอย่างไรต่อไป จะให้อากรรณประดับมาพบกับอาเธียรหรือให้มาโดยอย่างไร

แต่พอจวนถึงเวลาอาหาร คนทุกคนอยู่ในตึก เตรียมพร้อมจะเข้านั่งโต๊ะ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งมาที่ประตูบ้านของเชี่ยวจึงวิ่งออกไปดู อีกไม่กี่นาทีรถนั้นก็เข้ามาในบ้าน มาจอดที่หน้าบันได แล้วอากรรณก็เปิดประตูรถ เชี่ยวเชิญให้เข้ามาในห้อง

อาเธียรลุกจากเก้าอี้ที่นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง อากรรณยังไม่สังเกตว่าอาเธียรอยู่ที่นั่นด้วย พูดกับเชี่ยวอย่างงง ๆ ว่า “กำลังจะกินอาหารกันอยู่ไม่ใช่เรอะ”

“เชิญคุณ เอ๋อ เชิญคุณด้วยซีครับ นั่นยังไง คุณ เอ๋อ คุณพ่อเกลา ผมเรียกคุณอาได้ไหมครับ ผมเป็นเพื่อนของลูกแก้ว” เชี่ยวพูดเป็นท่อน ๆ ด้วยไม่รู้จะทำอย่างไรดีไปกว่านั้น แล้วก็อธิบายให้ที่ประชุมฟัง “คุณ เอ๋อ คุณอาของลูกแก้วบอกว่า คุณแม่บอกว่าให้มาดูศาลพระภูมิฝีมือคุณพ่อเกลา แล้วก็ศักดิ์สิทธิ์ด้วย คุณอาเข้าใจว่าเป็นบ้านของคุณแม่ ผมก็เรียนว่าให้เข้ามา คุณแม่กับคุณพ่ออยู่ในนี้ ลูกแก้วกับกฤตด้วย กับเพื่อนอีกสองสามคน โปรดอย่ารังเกียจเลยครับ ถึงเวลาอาหารจะไม่รับเชิญ ผมก็เสียใจแย่”

คุณพ่อหัวเราะเบา ๆ ด้วยกลั้นไม่ได้ คุณพ่อเดาแผนของแม่ได้หมด พูดขึ้นว่า “บ้านนี้ฝีมือพี่เกลาทำจำไม่ได้หรือจ๊ะ สถาปนิกที่ไหนจะออกแบบอย่างนี้ ไม่มีห้องเลยมีแต่ฝา เพราะคนไทยเรามันต้องเปลี่ยนที่นั่งที่นอนไปตามแดดตามฤดู”

อากรรณนั่งลงด้วยถ้าไม่ถ้าไม่นั่งก็จะเก้อเขินยิ่งขึ้น ตอนนี้เห็นอาเธียรแล้ว อาเธียรพูดขึ้นเมื่อเชี่ยวทำท่าจะแนะนำ “ผมรู้จักกับคุณกรรณประดับดีแล้ว คุณเชี่ยว” แล้วพูดกับอากรรณ “มาดูที่ในซอยนี้เผอิญเชี่ยวเขาเห็นเขาเชิญให้มากินข้าวด้วย”

คุณพ่อหันไปทางอาทรแล้วพูดว่า “อาทร นี่กรรณประดับน้องสาวผม”

อากรรณขยับตัวจะลุกขึ้นจากที่นั่ง แต่เชี่ยวร้องว่า “คุณอาครับ ผมขอเชิญจริงๆ ครับ อย่าไปเลยครับ ผมเสียกำลังใจแย่ ศาลพระภูมิผมสวยจริง ๆ คุณอาหาดูที่อื่นไม่ได้ แล้วเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ก็จริงครับ ทั้งซอยนี่บนอะไรไม่เคยผิดหวังเลย”

“นั่งลงเถอะน่า กรรณ” คุณพ่อช่วยชักชวน “ดูศาลพระภูมิเสียก่อน กินข้าวแล้วออกไปดูกัน พี่ก็ไม่เคยเห็นตั้งแต่มาไว้ที่บ้านนี้ ของเขาสวยจริง ๆ พี่เป็นคนออกแบบ”

ความซื่อของเชี่ยวกับคำชักชวนของคุณพ่อคงจะทำให้อากรรณรู้สึกว่า ถ้าอากรรณเกี่ยงต่อไป ก็จะยิ่งเกิดความเก้อเขินกลายเป็นขบขันขึ้นในตัวอากรรณเอง อากรรณจึงนั่งลงและการกินอาหารก็เริ่ม แต่ขณะนั้นมีรถยนต์ขับเข้ามาในบ้านอีกคันหนึ่ง รถนั้นหยุดใกล้ตึก อีกสองนาทีต่อมาก่อนที่เชี่ยวจะลุกขึ้นไปถึงประตูเพื่อดูว่าแขกคือใคร ช้องเพ็ชรก็เข้าประตูมา

“อ้อ คุณพ่อคุณแม่ เอ๊อะ คุณน้าเธียรด้วย” ช้องเพ็ชรไหว้และทักพลางตั้งข้อสังเกต “นึกว่านายเชี่ยวมีใครแวะเข้ามาสนุกมั่ง”

เชี่ยวทำหน้าที่เจ้าของบ้าน เชื้อเชิญแขกที่มาใหม่ร่วมกินอาหาร ซึ่งช้องเพ็ชรก็เข้าร่วมด้วยอย่างเบิกบาน การสนทนาดำเนินไปอย่างปรกติ น่าสนใจสำหรับทุกคน อาเธียรกับช้องเพ็ชร พัฒนะกับกฤตเป็นผู้มีบทบาทให้เกิดความครึกครื้น นอกนั้นก็ผสมให้เป็นที่น่าฟังของทุกคน อาทรเกือบไม่พูดเลยตามธรรมดาของเขา และอากรรณก็ไม่พูดอะไร นอกจากเมื่อถูกคุณพ่อหรือแม่ถาม อากรรณจึงตอบโต้โดยรักษามารยาทและบรรยากาศไม่ให้ผิดปรกติ

ตอนหนึ่งเชี่ยวทำให้ทุกคนหัวเราะโดยไม่จงใจ “ใครสังเกตไหม ลูกแก้วเรียก อากรรณ อาเธียร แล้วก็อาทร เจ้าทรเลยเป็นญาติชั้นเดียวกันไปคุณน้าเธียร”

ดิฉันชำเลืองดูหน้าอาทร เห็นเขาไม่ยิ้มเลย วางหน้าเหมือนคำพูดของเพื่อนไม่เกี่ยวเนื่องกับตัวเลย ข้างฝ่ายอาเธียรหัวเราะมากกว่าที่ควรไปนิด อากรรณยิ้มอย่างที่เรียกว่า “ขื่นๆ” แต่แม่พยายามสบตาอากรรณไม่ให้แสดงกิริยาไม่พอใจ

ในที่สุดก็รับประทานอาหารสิ้นสุดลงเรียบร้อย แล้วเชี่ยวกับพัฒนะและกฤตพยุงคุณพ่อไปดูศาลพระภูมิ แม่จัดพานดอกไม้มาบูชา และชี้ให้อากรรณดูด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งดิฉันไม่แน่ใจว่าแม่แสร้งทำหรือแม่รักฝีมือของนายเฉลียวผู้เป็นช่างไม้ฝีมือประณีตและความคิดของคุณพ่อด้วยใจจริง

เสร็จชมศาลพระภูมิแล้ว ก็มานั่งคุยกันต่อไป คุณพ่อไม่ค่อยอยากกลับบ้านเพราะนานครั้งจะได้ออกไปบ้านอื่น แม่เข้าใจดี และถือว่าเชี่ยวได้รับความช่วยเหลือของคุณพ่อ ออกแบบบ้านและหาช่างที่ไว้ใจได้มาทำบ้านให้ถูกใจ ก็ฉวยโอกาสใช้บ้านเชี่ยวและโอกาสที่พาคุณพ่อออกไปเที่ยวนอกบ้าน พัฒนะนั้นดูเหมือนจะเคยชินกับการใช้บ้านเชี่ยวเป็นที่พักผ่อนในวันว่างงาน ก็ไม่มีทีท่าว่าเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายการรับแขก อากรรณเป็นคนบอกว่าลาก่อนคนอื่น พูดแก่เชี่ยวว่า

“ขอบคุณ คุณเชี่ยว พี่ใจแก้วพูดคลุมเครือ เข้าใจว่าเป็นบ้านใหม่ของพี่ใจแก้วปลูกขึ้น เพราะเคยรู้ว่ามีที่อยู่ในซอยอะไรในสุขุมวิทนี่ แหม บอกเสียแจ่มแจ้ง” พูดแล้วก็ชำเลืองค้อนแม่นิดหนึ่ง แสดงว่ารู้ท่าว่าแม่ตั้งใจจะให้มาพบกับอาเธียร

อากรรณเดินออกไปจากห้อง อาเธียรรีบเดินตามออกไปถึงรถ อาทรมองตามไปสีหน้าเฉย ช้องเพ็ชรมองตามไปด้วย แล้วหันมาสบตากฤตแล้วยิ้มคล้ายกับว่าเขามีความเข้าใจกันอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดิฉันหมกมุ่นกับการเลี้ยงลูกกับการทำงาน ซึ่งดิฉันต้องตั้งใจทำให้ดีเป็นพิเศษ เพราะการทำงานในรัฐวิสาหกิจไม่เหมือนกับทำราชการ ในเมื่อดิฉันมีห่วงเรื่องลูก บางคืนถูกลูกกวน นอนไม่อิ่มเช่นเคย เมื่อมาทำงานก็มักจะทำอะไรช้าหรือผิดพลาด ดิฉันจึงเพ่งเล็งระมัดระวังเพื่อมิให้ใครตำหนิได้ โดยเฉพาะผู้อำนวยการเป็นเพื่อนกับคุณลุงประจิต ดิฉันไม่ต้องการให้คนเข้าใจว่าดิฉันพึ่งญาติ ไม่ได้พึ่งความสามารถของตัวเอง เวลาล่วงไปจากวันที่อากรรณไปพบกับอาเธียรได้ หลายเดือน ระหว่างนั้นอาเธียรดูเหมือนจะหาโอกาสติดต่อได้สะดวกขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยแม่เป็นสะพาน แม่คอยบอกให้อาเธียรรู้ว่าอากรรณจะต้องไปในงานไหน วันเกิดญาติคนใด แต่งงานญาติผู้น้อยคนนั้นคนนี้ มีการสวดอภิธรรมศพนั้นศพนี้ แล้วอาเธียรก็หาทางไปในงานนั้นเพื่อจะได้พบกับอากรรณ ญาติทางแม่ก็เอาใจใส่ มีเรื่องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องนี้ ดิฉันเพลินไปกับภาวะแวดล้อมจนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งดูโทรทัศน์อย่างไม่ค่อยเอาใจใส่นักอยู่ด้วยกันในห้องทางด้านตึกของเรา กฤตซึ่งอ่านหนังสืออยู่ด้วย ฟังข่าวจากโทรศัพท์ด้วย ก็วางหนังสือลง แล้วพูดกับดิฉัน

“ลูกแก้ว ไม่ได้ตั้งใจดูโทรทัศน์นักไม่ใช่เรอะ” ครั้นดิฉันย้ายที่นั่งมาใกล้ตัวเขา เขาก็เอื้อมมือมาดึงตัวเข้าไปกอดแล้ว พูดเหมือนเป็นเรื่องที่เราอาจพูดกันทุกวัน “ถ้าหาเงินได้แสนนึง กฤตก็ออกจากราชการได้”

ดิฉันรู้สึกเสียว ๆ ในใจ แต่พูดน้ำเสียงเหมือนคนพูดเล่น “ก็ไม่ต้องหา เพราะกฤตก็ไม่ออกจากราชการ”

“แต่ว่าถ้าไม่ได้ตอนนี้ก็ชวด” กฤตพูดน้ำเสียงปร่าไปเล็กน้อย ดิฉันเริ่มจับได้ว่ามีความผิดปรกติไปบ้าง “กฤตหางานทำกับบริษัทได้แล้ว เงินเดือนหมื่นกว่า แต่ต้องเอางินใช้รัฐบาล”

ดิฉันเอี้ยวตัวออกจากวงแขนเขา และเงยหน้าขึ้นดูดวงตาเขา “กฤตพูดเล่นหรือพูดจริงนี่”

“ได้งานแล้วจริงๆ แต่กฤตยังไม่กล้ารับ เพราะไม่แน่ว่าจะหาเงินได้ไหม ลูกแก้วช่วยหาสักห้าหมื่นได้ไหม แล้วกฤตจะให้พ่อช่วยสักห้าหมื่น ของกฤตพอมีอยู่บ้าง”

“คิดยังไงขึ้นมาจ๊ะ” ดิฉันถาม เสียววาบในทรวงอก

“โธ่ ทำราชการอยู่อย่างงี้เมื่อไหร่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้” กฤตพูดเสียงอ่อน

“กฤตจะตั้งตัวให้เป็นยังไงขึ้นมาอีก” ตอนนี้เสียงของดิฉันเริ่มแข็ง

“ลูกแก้ว นึกแล้วว่าลูกแก้วคงไม่เห็นด้านของกฤตเท่าไหร่ กฤตพูดเสียงแข็งขึ้นเช่นกัน ลูกแก้วอยู่บ้านกับพ่อกับแม่ ญาติของลูกแก้วล้อมรอบ แล้วกฤตมีอะไร”

“ทำไมจ๊ะ กฤตจะต้องมีอะไร” ดิฉันย้อนถาม “ก็ที่อยู่ของเรานี่กฤตก็มีส่วนสร้างด้วย แล้วเราก็พอหาเลี้ยงกันได้”

“ลูกแก้วอย่าลืมว่าเราไม่ใช่จะมีลูกเพียงคนเดียวนี่”

“ถึงมีกี่คนเราก็ไม่น่าจะเดือดร้อน” ดิฉันค้าน

“ลูกแก้วน่ะซีไม่เดือดร้อน แล้วกฤตล่ะ กฤตต้องอยู่ในภาวะอย่างนี้เรื่อยไป อาศัยพ่อตาแม่ยายอยู่เรื่อยไป”

ดิฉันคงใช้สติปัญญาไม่ค่อยได้ เพราะเกิดความน้อยใจกดดันในทรวงอกขึ้นมาเสียแล้ว “กฤตจะไปหาพ่อตาแม่ยายที่ไหนอีก คุณพ่อแสนจะรักกฤต ไม่ได้เห็นกฤตเป็นคนอื่นเลย”

“แต่คนที่เขาเห็นกฤตเป็นคนอื่นก็มี” กฤตว่า

“ใคร” เสียงของดิฉันแข็งขึ้นมาทันที เพราะคิดไปถึงน้ารื่น

“กฤตยังไม่ต้องออกเสียงอะไร ลูกแก้วก็ทำเสียงให้รู้แล้วว่า กฤตจะออกชื่อใครอีกไม่ได้” สามีฉันพูดเสียงค่อนข้างขมขื่น

ดิฉันซุกศีร์ษะเข้าไประหว่างท้องของกฤตและซอกขาของเขา “กฤตจ๋า นี่เรากำลังทะเลาะกันเรอะ”

เขาเรียกสติได้เช่นเดียวกัน เขาประคองศีร์ษะของดิฉันขึ้นแล้วก็วางไว้บนขาข้างหนึ่งของเขาซึ่งเขาพาดอยู่บนระหว่างเก้าอี้กับเตียงนอน เขาพูดเสียงอ่อน “ทำไมลูกแก้วอยากให้กฤตอยู่ในราชการ เพราะอยากให้เป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวงใส่สะพายงั้นหรือจ๊ะ”

ดิฉันกลับมีความโกรธขึ้นมาในใจอีก ดิฉันโกรธความไม่เข้าใจของสามี เขาเป็นชายที่ดิฉันรัก เขาไม่น่าจะรู้จักดิฉันอย่างผิวเผินอย่างนั้นเลย

“ราวกับวิเศษนักนี่ อธิบดี ปลัดกระทรวงสมัยนี้”

“ไม่เหมือนสมัยคุณปู่คุณตาของลูกแก้วงั้นซี” เขาว่า

ถึงตรงนี้ใจดิฉันเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ ได้สติพยายามบังคับตัวเต็มที่ กล่าวว่า “กฤตจำ กฤตมีอะไรในใจ กฤตไม่ชอบนาย หรือมีหลักการขัดแย้งอะไร ทำไมไม่เห็นเคยปรับทุกข์อะไรกันเลย ปุบปับก็มาบอกว่าจะออกจากราชการ”

“ลูกแก้วทำไมไม่ทำราชการ ไปทำงานรัฐวิสาหกิจทำไม” เขาตั้งคำถามบ้าง

“ถ้าเป็นไปได้นะ” ดิฉันตอบเขาทำเสียงให้ละมุนละม่อมขึ้น ลูกแก้วจะอยู่บ้าน ลูกแก้วอยากอยู่บ้านดูแลคุณพ่อ คุณพ่อเหงา ได้แต่หนังสือเป็นเพื่อน แล้วยังมีลูกก็ยิ่งอยากอยู่มากขึ้นไปอีก”

“แล้วทำไมถึงทำไม่ได้” กฤตถาม มองข้ามศีร์ษะดิฉันไปเพราะคงไม่อยากจ้องตาดิฉัน หรือไม่อยากเห็นหน้า

“เพราะต้องการเงิน เพราะแม่หาคนเดียวไม่พอ คุณพ่อพิการ หารายได้ได้น้อย” ดิฉันพยายามตอบ รู้สึกอยากร้องไห้เสียแล้ว

“แปลว่าลูกหลานขุนนางเดี๋ยวนี้ก็ต้องการเงินใช่ไหม” เขาถาม

“ถูกแล้ว ใคร ๆ ก็ต้องการเงินมากกว่าแต่ก่อน” ดิฉันตอบ แล้วดิฉันก็คงใช้วิธีพูดที่ไม่เหมาะอีก เพราะอดที่จะพูดตรง ๆ ไม่ได้ “แต่ว่าลูกแก้วเป็นอิสสระ ลูกแก้วไม่ได้เป็นหนี้ใคร กฤตไม่เป็นอิสสระ กฤตเป็นหนี้คนไทย”

“เพราะอย่างนั้นถึงได้อยากได้เงินชำระหนี้ เจ็บใจว่าหาเองไม่ได้ ต้องเที่ยวขอความช่วยเหลือคนอื่น”

“หนี้อย่างของกฤตใช้กันด้วยเงินไม่ได้ ดิฉันพูดด้วยน้ำเสียงชัดเจน “หนี้ของกฤตมาจากใคร มาจากญาติพี่น้องของกฤตเอง ชาวสวนชาวไร่ที่หาเงินให้รัฐบาล เอาเงินมาให้คนอย่างกฤตไปเล่าเรียน ไม่ใช่สำหรับมาหาเงินให้คุ้ม แต่สำหรับมาทำงานให้คุ้ม”

กฤตนิ่ง นิ่งไปนาน ดิฉันเงยหน้าขึ้นจ้องเขา เขาลุกขึ้นเดินหนีไปจากที่นั่ง แล้วเข้าไปในห้องน้ำ ดิฉันรออยู่รู้สึกเหมือนหลายปี แล้วเขาก็ออกมาจากห้องน้ำ เขาเดินตรงขึ้นเตียงนอน ดับไฟฟ้าที่หัวนอนของเขาแล้วก็หลับตา ไม่พูดอะไรอีกเลย

ดิฉันตามไปนั่งบนเตียงข้างตัวเขา เอาหน้าแนบลงไปที่หน้าเขา “กฤตจ๋า กฤตโกรธรึจ๊ะ”

เขาหลับตานิ่งไม่ตอบ ดิฉันวิงวอนต่อไป คงจะไม่ถูกทางที่ควรทำ “กฤตจ๋าเรารักกัน เราพูดกันตามความจริง กฤตจะโกรธความจริงไม่ได้นะจ๊ะ”

“รู้แล้ว” ภายหลังที่หลับตานิ่งอยู่นานแล้วกฤตจึงตอบ “รู้แล้วว่าลูกแก้วมีความคิดเห็นอย่างไร จะไม่รบกวนอีก”

ดิฉันงุนงงไป แปลกใจในคำตอบของกฤตอย่างเหลือเกิน นี่หรือผู้ชายที่ดิฉันรัก ที่ดิฉันบูชา ที่ดิฉันภาคภูมิใจ ดิฉันปั้นรูปเทพเจ้าขึ้นมาองค์หนึ่งโดยไม่มีองค์เทพเจ้านั้นอยู่ที่ไหนอย่างนั้นรึ

ดิฉันไปลงนอนบนเตียงของดิฉัน ซึ่งตั้งห่างจากของกฤตพอระยะยื่นมือไปจับตัวกันได้ ดิฉันมองตรงขึ้นไปที่เพดาน แล้วก็กลับมองลงมายังร่างของกฤต เห็นเขานอนหันหลังให้ดิฉัน ดิฉันเริ่มใช้ความคิด คิด ๆๆ เรารักกัน เป็นผัวเมียกันก็ต้องเตือนกัน เมียไม่เตือนผัวใครเล่าเขาจะเตือน พ่อแม่เขาหรือ แม่เขาไม่มี พ่อเขาจะเข้าใจสักแค่ไหน พ่ออาจบอกว่าตามใจลูก เมื่อเป็นหนี้หลวง เรามีกำลังหาให้ท่านได้ ก็ให้ท่านเสีย ระยะนั้นพ่อของกฤตอาจได้เงินจากสวนองุ่นที่ซื้อจากพี่ชายมาจุนเจือ เงินห้าหมื่นเขาคงหาให้กันได้ และทางฝ่ายดิฉันเงินห้าหมื่นก็คงหาได้ถ้าใช้ความพยายาม แม่เก็บออมเงินไว้เวลานาน ทั้งแม่และคุณพ่อใช้อย่างประหยัด มีทางที่จะเอาทรัพย์สมบัติชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปประกันธนาคาร เบิกเงินเกินบัญชีมาห้าหมื่น หรือถ้าหากแม่หาไม่ได้ครบ น้ารวงรัตน์ก็คงหาสมทบได้ น้ารวงรัตน์อาจมีเงินสดอยู่ในมือห้าหมื่นสบาย ๆ อาจไม่ต้องไปรบกวนใครอื่นอีกก็ได้ และถ้ากฤตได้เงินเดือนเดือนละหมื่นกว่าบาทจากบริษัทของชาวต่างประเทศ การใช้หนี้หนึ่งแสนบาทก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวล

แต่อะไรหนอ อะไรทำให้กฤตต้องการเงิน อะไรทำให้กฤตทิ้งงานที่กฤตเอาใจใส่ศึกษา ความรู้สำหรับไปทำงานในบริษัทให้ชาวต่างประเทศนั้นกฤตมีแน่ แต่ความรู้เรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งกฤตมีและคนอื่นมีไม่เท่ามีไม่ดี ซึ่งกฤตน่าจะภูมิใจ น่าจะอยากให้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่กสิกรแก่ประชาชนทั่วประเทศ อะไรทำให้กฤตผลักไส ไม่อยากใช้ให้เป็นไปเช่นนั้น กฤตลำบากใจเรื่องอะไร เรื่องที่ต้องอยู่กับพ่อตาแม่ยาย นั่นเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะชาวสวนในภาคกลาง พี่น้องของกฤตหลายคนก็ทำเช่นนั้น กฤตไม่เคยมีท่าทางเก้อเขินลำบากใจเมื่อพบกับญาติคนใดคนหนึ่งเลย ดิฉันคิด ๆๆ คิดแล้วก็น้อยใจ เสียใจ แต่ระวังไม่ให้ถึงกับแค้น ดิฉันหมายเหตุว่าจะต้องไปปรึกษาน้ารวงรัตน์ก่อนที่จะบอกให้แม่ทราบ

ดิฉันหลับไปเพราะวัยและสุขภาพที่ดี เวลารุ่งเช้าเมื่อลืมตาขึ้นรับแสงตะวัน กฤตกับกับดิฉันเคยชมเชยกัน บางวันก็เพียงแต่ภายนอก บางวันก็ภายในด้วย เช้าวันนั้น ดิฉันมองไปเห็นร่างกายอันหนุ่มแน่นได้สัดส่วนของกฤตก็เกิดความปรารถนา อยากให้เขาชมเชยทั้งภายนอกและภายใน แต่แล้วก็ระลึกขึ้นมาได้ถึงเรื่องที่ขัดแย้งกัน ดิฉันก็เกิดความละอายและความมานะ ดิฉันจะไม่ง้อขอสิ่งนี้จากผู้ชาย แก้วเกลา กอกรี ไม่จำเป็นต้องง้อขอสิ่งนี้ แก้วเกลา กอกรี จะต้องอยู่ได้ โดยไม่ต้องเป็นฝ่ายง้อขอสิ่งนี้จากผู้ชายแม้คนที่เป็นคู่สมรส แม้คนที่เป็นพ่อของลูก

ดิฉันลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวสำหรับจะไปทำงาน รับประทานอาหารเช้าด้วยกันกับกฤตอย่างธรรมดา ดิฉันพูดคุยอย่างธรรมดา และกฤตก็ตอบอย่างธรรมดา แต่ไม่ได้คุยเรื่องที่สำคัญแสดงความคิดความเห็นประการใด ระหว่างนั่งรถไปเกือบจะไม่ได้พูดกันเลย แต่นั่นไม่ผิดธรรมดา เพราะกฤตเพ่งเล็งมากเวลาขับรถ ดิฉันทำงานในวันนั้นไม่ค่อยได้ดีนัก บอกแก่ตนเองว่าไม่ให้วิตกกังวล แต่ความกังวลก็เข้ามารบกวนเป็นระยะ ๆ แล้วในที่สุดก็ถึงเวลาเลิกงาน วันนั้นแม่มารับกลับบ้าน กฤตมีประชุม ดิฉันยินดีที่จะหาโอกาสพูดกับน้ารวงรัตน์

กลับถึงบ้าน ทำธุระกับลูกแล้ว ดิฉันก็เดินลงมาทางระเบียงหน้า ซึ่งเป็นทางที่มองเห็นห้องของน้ารื่นและที่จอดรถได้ถนัด ในเวลาบ่ายถ้าไม่มีแขกมา บางคราวน้ารื่นก็นั่งเย็บผ้าหรือจัดดอกไม้บูชาพระอยู่หน้าห้อง เพราะได้รับลมดีกว่าที่อื่น วันนั้นน้ารื่นนั่งเย็บผ้าอยู่ ดิฉันเดินเข้าไปหา เห็นน้ารื่นซ่อมเสื้อเชิร์ตสีเทาอ่อนซึ่งไม่ใช่ของกฤต และไม่ใช่ของคุณพ่อ จึงถามน้ารื่นว่าซ่อมเสื้อของใคร

“ของการุณเขา” น้ารื่นตอบ “เดี๋ยวนี้มีเสื้อขาดหรือกระดุมหายไป นิดๆ หน่อยๆ แกมาวานน้าช่วยซ่อม”

ดิฉันหมายเหตุว่าน้ารื่นเปลี่ยนจาก นายการุณ เป็น การุณ เฉยๆ ไม่ทราบว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ ดิฉันพูดต่อไป “แกเป็นไง ไม่ได้เอาใจใส่กับแกเสียนาน ตั้งแต่ยุ่งกับลูก” หลายเดือนที่แล้วที่กฤตและดิฉันไม่ได้ห่วงใยการุณ อีกทั้งการุณก็ไม่ได้ก่อปัญหาอะไรขึ้น โดยมากการุณอยู่บ้านก็แต่เวลานอนหรือดูหนังสือ วันหยุดก็เกือบไม่ได้เห็นการุณเลย จนเคยชินกันไป

“แกก็เรื่อย ๆ รู้สึกว่าแกเข้าใจอะไร ๆ ดีขึ้น เดี๋ยวนี้แกไปคุยกับคุณรวงรัตน์บ่อย ๆ แล้วชอบมาคยกับน้าด้วย”

“เออ ต้องถือว่าแกดีขึ้นจริงๆ ที่จริงกฤตกับลูกแก้วไม่ควรละเลยแกอย่างงี้ น่าจะเรียกแกไปคุยด้วย เรียกให้แกกินอะไรด้วยมั่ง ทีหลังน้ารื่นช่วยเตือนลูกแก้วด้วย”

น้ารื่นพยักหน้านิดหนึ่งแล้วเย็บผ้าต่อไป ดิฉันเดินเลยไปถึงบ้านน้ารวงรัตน์

ดิฉันไม่อยากพูดเรื่องกฤตให้เป็นเรื่องใหญ่โตเกินเหตุ จึงใช้การุณเป็นต้นทางสนทนา

“นี่น้าคะ เดี่ยวนี้น้ารื่นเรียกการุณเฉย ๆ ไม่เรียกนายการุณนะ น้าว่ามันดีขึ้นหรือไง”

“น้าเป็นคนแนะเองแหละ” น้ารวงพูดหัวเราะอย่างธรรมดาของการคุยที่สบอารมณ์ “น้าบอกว่าสมัยนี้ การเรียกกันเฉย ๆ น่ะ เขาถือว่าสนิทกันตามธรรมเนียมฝรั่ง เขายังบอกว่าลูกแก้วเคยบอกให้เลิกเรียกคุณ เขายังขวาง”

ดิฉันหัวเราะไปด้วยกับน้ารวง “เราก็ไม่พยายามเปลี่ยนหัวคนที่เปลี่ยนไม่ได้” ดิฉันพูดหัวเราะเช่นเดียวกัน “แล้วเห็นนั่งเย็บเสื้อตาการุณ บอกว่าถ้าเสื้อขาดมาวานให้เย็บ”

“ฝีมือน้าเหมือนกัน” น้ารวงอวด “ขอพูดหน่อยเถอะนะ น้าเห็นว่าคุณพี่หนุ่ม คุณพี่สะใภ้สาว เขาก็ไม่ค่อยเหลียวแลไอ้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งมาอาศัยบ้านเขา น้าก็เลยไปชวนแกมา ถามเรื่องหลักสูตรแกบ้าง ถามอะไรต่ออะไร น้าบอกว่าที่วิทยาลัยของแกเขาก็ทำการวิจัยต่าง ๆ อธิบายให้แกฟังว่าวิจัยเป็นยังไง แล้วก็ว่าคณะของน้าในมหาวิทยาลัยก็ทำการวิจัย แกก็เลยค่อย ๆ เชื่อง น้าชวนให้แกชวนเพื่อนมา แล้วชวนพระพี่เลี้ยงมาช่วยหาของกิน เด็กจากบ้านนอกเข้ามาอยู่ในกรุงนี้มันว้าเหว่เหมือนกันรู้ไหม”

“จริง กฤตกับลูกแก้วบกพร่องมากตอนนี้” ดิฉันรับ “ตั้งแต่มีลูก มันใจจดใจจ่อ งานกับลูกสองอย่างเอาเวลาไปหมด หรือที่ถูกเอาความสนใจไปหมด แต่ลูกแก้วไม่ได้ทอดทิ้งคุณพ่อนะ”

“คนอย่างพี่เกลานี่ ถ้าไม่พิการ จะมีความคิดบริสุทธิ์ผุดผ่องได้เหมือนที่เป็นอยู่ไหมนะ” น่ารวงปรารภขึ้นมา

“ยั้นเรอะ น้า ถ้าคนไม่พิการมักมีความคิดไม่บริสุทธิ์ เรอะ”

“ไม่ช่าย แต่คนพิการน่ะ ความยั่วยุที่จะให้ทำอะไรผิดๆ อย่างผู้ชายอื่นๆ ไม่ค่อยมี” น้ารวงอธิบาย “ผู้ชายดีๆ ผู้ชายธรรมดาน่ะ บางทีตัวไม่ตั้งใจจะทำอะไรบ้า ๆ บางทีเพื่อนมาชวนไป หรือผู้หญิงเข้ามาถึงตัวก็มี ก็อย่างรื่นน้าเห็นแล้วบางทีก็สงสารแก ชีวิตแกก็ผูกอยู่ที่พี่เกลา แล้วก็ลูกแก้ว แกเป็นคนฉลาด รู้จักรักษาตัว แกก็ไม่หาเรื่องกับพี่ใจแก้ว บังเอิญก็ได้พี่ใจแก้วมาเป็นสะใภ้ พี่ใจแก้วเป็นคนใจดีจริงๆ แต่ถึงอย่างงั้นเถอะ ถ้าคุณเกลาไม่พิการ จะอดใจมาได้ไหม”

“ผู้ชายที่ไม่พิการนี่ ผู้หญิงบางทีก็เข้าถึงตัวหรือน้า”

“พุทโธ่ พูดเป็นเด็ก ๆ ไปได้ ทำไมจะไม่เข้าถึง เออ เรื่องตาการุณนะ น้าต้องใช้ศิลปะมากพอใช้นะ รื่นเขาว่าเขาไม่ได้รังเกียจ แต่มันตะขิดตะขวงใจ จะยอมให้เป็นนายก็ยอมไม่ได้ จะทำให้เป็นคนในบ้านธรรมดาก็นึกถึงคุณเกลากับพี่ใจแก้วจะว่าดูถูกลูกเขย”

“ลูกแก้วก็รู้มาแล้วว่าคงมีปัญหาบ้าง แต่คงไม่เกินความสามารถที่จะช่วยกันขบ” ดิฉันพูดไปแล้วก็ใจหาย คิดถึงปัญหาที่เกิดใหม่ จะมีใครช่วยดิฉันขบได้หรือ จึงถามถึงการุณต่อไป

“น้าคุยกับการุณแล้วเคยถามแกไหมว่าแกคิดจะกลับไปสอนหนังสือบ้านนอกอีกไหม หรืออยากอยู่ในกรุงต่อไป”

“ฟังเสียงแกก็ว่าแกจะกลับไปโรงเรียนเดิม” น้ารวงรัตน์ตอบ “หรืออย่างน้อยต้องไปอยู่จังหวัดนั้น แต่เขากำลังโอนย้ายโรงเรียนกัน แกจะไปขึ้นกับส่วนจังหวัด ไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ก็เลยไม่รู้ว่าจะยังไงแน่ แต่แกเป็นเด็กฉลาดนะ ทีแรกแกไม่เข้าใจฐานะของน้ารื่น น้าต้องสาธยายเปรียบเทียบไปถึงจะเด็ด บุเรงนองกับมังตราอะไรให้ยุ่งไป ว่าคนร่วมแม่นมกันเขาถือเหมือนพี่น้องกันอะไรไปโน่น ไม่งั้นแกไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง” น้ารวงหยุดไปครู่หนึ่งแล้วว่า “แปลกนะ เรานึกว่าคนอย่างเราจะถือชั้นวรรณะมากกว่าคนอื่น แต่เทียบกันแล้วคนอย่างการุณ แกก็ถือว่าลูกจ้างของแกเป็นบ่าวแก เออ ประชาธิปไตยมันจะไปได้แค่ไหนกัน”

ดิฉันถอนใจแล้วก็เลยเล่า “น้ารวง กฤตเขาอยากออกจากราชการไปทำงานบริษัทฝรั่ง น้ามีความเห็นว่ายังไง”

น้ารวงนิ่งไปครู่หนึ่ง “เอาแล้วเรอะ ไป ๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น อดไม่ได้กระมัง เห็นเพื่อน ๆ เขาขี่รถโก้ๆกัน”

“เท่านั้นเองหรือคนเรา” ดิฉันพูด บังคับเสียงไม่ให้กระเส่าเกือบไม่ได้

“แล้วยังไง ใช้หนี้รัฐบาลเขาหมดแล้วเรอะ”

“เขาว่าเป็นหนี้อยู่อีกแสนกว่า ๆ เท่านั้น” ดิฉันตอบโดยบังคับเสียงได้ “เมื่อเขาไปครั้งแรกเงินเดือนเขายังน้อย ไปคราวหลังสองปีครึ่ง เขามาทำงานได้เกือบ ๔ ปีแล้ว เหลืออยู่อีกไม่กี่มากน้อยหรอก”

“แล้วลูกแก้วไม่อยากให้เขาออกงั้นเรอะ”

“ลูกแก้วไม่เคยคิดไว้เลยว่าเขาจะอยากออก เขาขึ้นมามีวิชาถึงแค่นี้แล้วก็เพราะรัฐบาลเราหาทุนให้คนทุกชั้นเสมอกัน จะผิดกันบ้างก็แต่ที่จนเหลือจน นั่นประเทศไหนๆ ก็ยังทำอะไรให้ไม่ค่อยได้ เขาน่าจะคิดว่าถ้าทิ้งราชการกันเสียหมด จะหาใครทำราชการแล้วช่วยคนที่อยู่ห่างไกลโอกาสอย่างเขา เขาเคยคุยกับน้าโรจน์น้าเรือง ก็เคยพูดทำนองนี้”

น้ารวงรัตน์นิ่งอาการตรึกตรอง ดิฉันจึงเล่าการสนทนาระหว่างดิฉันกับกฤต และขอความเห็นน้าว่า จะนำเรื่องไปปรึกษาคุณพ่อกับแม่อย่างไร

“อือ โบราณว่าเรื่องผัวเรื่องเมียเรื่องพี่เรื่องน้อง อย่าไปยุ่งกับเขา” น้ารวงรำพึงดังๆ

“ถ้าเป็นน้า น้าจะทำยังไง”

น้ารวงนิ่งไปอีก แล้วจึงตอบ “ถ้าเป็นน้า เห็นจะเฉย ๆ ไว้ก่อนกระมัง ดูซิว่าตั้งใจจริงแค่ไหน”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ