บทที่ ๒

ดิฉันจำได้ว่า ในพระราชนิพนธ์เรื่องหลวิชัยกับคาวี มีตอนหนึ่งที่หลวิชัยกล่าวแก่คาวีว่า “โบราณว่าคชสารและงูเห่า ข้าเก่าเมียรักอย่าวางจิต” ในกรณีน้ารื่นซึ่งนับได้ว่าเป็นข้าเก่าในตระกูลคุณพ่อ ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าสมควรได้รับความไว้วางใจทุกประการ เมื่อฝ่ายผู้ใหญ่ของคุณพ่อและแม่ได้ทำความตกลงกันว่า จะมีการแต่งงานให้คุณพ่อและแม่เป็นที่แน่นอนแล้ว แม่ได้รับทราบว่า น้ารื่นจะมาอยู่ด้วยกับคุณพ่อ ญาติข้างแม่ได้มีการ “อภิปราย” กันนานพอสมควร

คุณป้า วรรณแสง อายุสูงกว่าคุณแม่ ๕ ปี ได้แต่งงานก่อนคุณแม่ประมาณ ๑๒ ปี เพราะคุณป้าแต่งงานภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากได้ออกจากโรงเรียน และคุณแม่แต่งงานหลังจากที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยหลายปี กล่าวในที่ประชุมญาติว่า

“ใจแก้วจะทำใจพระ ปล่อยให้คุณเกลาเอาน้องสาวร่วมนมมาอยู่ด้วย อายุอานามก็คราวเดียวกับตัว อย่าว่าไม่เตือนนะ อาบน้ำร้อนมาก่อน”

“พี่แสงละก็” น้าโรจน์ ซึ่งเป็นน้องรองลงไปจากแม่ พ้อขึ้นเป็นการท้วง “คู่หมั้นเขาไว้ใจกัน จะมาทำให้เขาระแวงกันเปล่า ๆ”

“ฉันว่าใครไม่ระแวงผู้ชายไว้ ก็ต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าไปตาม ๆ กัน” คุณป้ายืนยันความเห็นของคุณป้า

“อยากรู้ว่าถ้าพี่ใจแก้วจะไม่ให้เขามา จะบอกคุณเกลาว่ายังไง” น้าเรืองน้องชายรองจากน้าโรจน์ลงไปถาม

“ถ้าเวลานี้พูดกันเพียงเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ก็อย่าหวังจะพูดอะไรกันเมื่อแต่งงานกันแล้วเลย” คุณป้าบอกทรรศนะต่อไป

แม่เล่าว่า แม่ไม่แลเห็นทางที่จะขัดขวาง ทั้งที่แม่ก็ไม่ค่อยยินดีกับการมีน้องสาวร่วมนมของสามีอยู่ร่วมเรือนนัก แต่น้ารื่นเป็นผู้ตัดสิน ระหว่างที่การเจรจานัดหมายรายละเอียดของการแต่งงานดำเนินไป วันหนึ่งแม่ไปที่บ้านคุณพ่อ พบน้ารื่นตามเคย เพราะน้ารื่นมักจะเป็นผู้นำเครื่องดื่มหรือเครื่องขบเคี้ยวต่าง ๆ มาให้แม่ น้ารื่นก็แถลง

“คุณคะ ใครๆ เขาว่าดิฉันไม่ควรไปอยู่กับคุณเกลา คุณหญิงท่านก็ว่า ไม่รู้จะตามเขาไปทำไม บ้านของตัวมีเกิดจะไม่อยู่ แต่ดิฉันว่าดิฉันไปอยู่กับคุณได้ คุณเป็นนายดิฉันได้”

แม่แลไปสบตาคุณพ่อ เห็นว่าในดวงตามีแววขบขันและความกลัวระคนกัน แม่ถามด้วยความขลาดว่า “เป็นไงเป็นนายได้”

“ดิฉันว่าคุณเป็นผู้ดี เหมือนคุณเกลา คุณเล่าเรียนมา ก็ต้องไปเป็นครูบาอาจารย์ ใครจะทำงานบ้านให้คุณ คุณหญิงท่านก็มีลูกของท่านตั้งหลายคน จะมีใครมาเห็นแก่ดิฉันสักกี่คน คุณกล้าเธอก็ไม่ค่อยห่วงใครแม้แต่นมเธอยังไม่ค่อยห่วง เวลาเจ็บเวลาตายก็คุณเกลาทุกอย่าง ดิฉันเลือกคุณเกลาเป็นที่พึ่งดีกว่า พี่ชายของดิฉันเองเขาก็สบายไปแล้ว ลูกเมียเขาก็มี บุญของดิฉันแล้วที่คุณเกลาจะแต่งงานกับคุณ”

แม่แข็งใจพูด “เธอก็เหมือนน้องร่วมนมของฉันอีกคนก็แล้วกัน”

“อูย คุณไม่ต้องสมัยใหม่กับดิฉันหรอกค่ะ เธอแธอะไรกัน พูดกับอิฉันรื่นงั้นรื่นงี้ก็พอแล้ว ดิฉันเคยอยู่บ้านผู้ดี ไม่ใช่แม่พวกมะพร้าวตื่นดก” น้ารื่นเริ่มอบรม

น้ารื่นได้รับการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์หญิง ถ้ากระทรวงศึกษาธิการในสมัยที่น้ารื่นกำลังเป็นหญิงสาวไม่ใช้คำเช่นนั้น น้ารื่นก็จะได้เรียนต่อขึ้นไป เผอิญชั้นมัธยมแปดเวลานั้นเรียกว่ามัธยมบริบูรณ์ชาย คุณย่าจึงให้น้ารื่นออกจากโรงเรียน ระหว่างนั้นคุณพ่อก็ยังไม่มีความรู้จัดเจนกับชีวิต เมื่อคุณย่าให้น้ารื่นอยู่บ้าน ช่วยการงานในบ้านท่าน ก็เป็นที่พอใจของทุกคนรวมทั้งตัวน้ารื่นเอง เพราะเป็นผู้หญิง มิได้คิดจะหาวิชาชีพไว้ ฝ่ายแม่การที่ไปเข้ามหาวิทยาลัย เป็นกรณีพิเศษถือโดยความเห็นของคุณลุงประจิต ซึ่งเป็นคนมีความคิดนึกแปลกจากคนอื่นๆ ซึ่งไม่มีญาติเห็นด้วยนัก แต่เป็นสมัยที่หญิงสาวฐานะเดียวกับคุณแม่เริ่มนิยม จึงไม่มีผู้ใดท้วงติงแข็งแรง แม่ไปเข้ามหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลส่วนตัวของแม่ คือลุงจรัลเป็นนิสิตอยู่ ท่านผู้นี้เป็นญาติหนุ่มซึ่งเริ่มมีความสัมพันธ์พิเศษกับแม่ แม่ได้รู้จักกับคุณพ่อในมหาวิทยาลัย ระหว่างที่คุณพ่อเป็นนิสิตในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลายปีก่อนที่จะคิดมาถึงการร่วมชีวิตกัน

คุณพ่อเคยพูดถึงน้ารื่นว่า “น่าเสียดาย คนหัวสมองอย่างรื่น ถ้าได้เรียนเป็นครูหรือพยาบาลก็จะไปไกล เกิดเร็วไปไม่กี่ปีเลย น้องๆ เขาก็ได้เรียนมีอาชีพกันไปตามๆ กัน”

“ถ้าได้เรียนมากกว่านี้ก็จะดีหลายอย่าง” น้ารวงรัตน์ออกความเห็นต่อ “จะได้เปลี่ยนสมองง่ายกว่านี้ ไม่ยึดแน่วแน่ว่าในประเทศสยามไทยเรานี้ ตระกูลกอกรีเป็นที่หนึ่งรองจากพระราชวงศ์จักรี แล้วลองลงมาก็ตระกูลฉันพรรณศิริ”

“อยากให้เปลี่ยนว่า ฉันพรรณศิริเป็นที่หนึ่งบ้างยังงั้นรึ” คุณพ่อเย้า

“งั้นซี” น้ารวงพยักหน้าเย้าต่อไป

เมื่อน้ารื่นมาอยู่บ้านใหม่ ซึ่งเป็นเรือนหอของคุณพ่อและแม่ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินที่คุณตายกให้แม่ และแวดล้อมด้วยเรือนหอของลูกชายหญิงของคุณตาที่ร่วมท้องกับแม่ น้ารื่นไม่มีความประหม่าเลย และวางตัวเป็นสมาชิกในครอบครัวของทั้งสองตระกูลโดยสบายผ่องใส ปราศจากความตะขิดตะขวง ทั้งนี้โดยน้ารื่นทำให้เป็นที่เข้าใจแก่คนในครอบครัวที่แวดล้อมนั้นว่า น้ารื่นไม่อยู่ในฐานะลูกจ้าง ไม่อยู่ในฐานะ “ลูกหลาน” ของ “ท่าน” หรืออีกนัยหนึ่ง นอกเสียจากญาติแท้ ๆ ของแม่แล้ว น้ารื่นก็เป็นที่หนึ่งในหมู่คนทั้งหลายบนพื้นที่ดินนั้น

แม่ชมน้ารื่นอยู่เสมอว่าเป็นบุคคลหายากคนหนึ่ง “น้ารื่นน่ะเป็นคนขี้หวง ถ้าแต่งงานก็คงขี้หึง แต่แม่ว่าไม่ขี้อิจฉาเลย เป็นคนรู้จักหาความสุข”

“คนขี้อิจฉานี่เป็นเพราะปมด้อยใช่ใหม พี่ใจ” น้ารวงรัตน์ถาม

“อ้าว เธอเป็นนักจิตวิทยา ทำไมมาถามฉัน” แม่ประท้วง

“ไม่รู้ซี ตำรากับมนุษย์ที่เราพบไม่เห็นมันเข้ากันกี่มากน้อย” น้ารวงกล่าวอย่างปรับทุกข์ “พระพี่เลี้ยงโรยรื่นนี่ ฉันว่าแกผิดปรกตินะ คนอะไรไม่มีปมด้อยเลย”

“ก็ไม่เห็นมีเหตุอะไรจะทำให้แกมีปมด้อยนี่ แต่เขาว่าปมด้อยกับปมเขื่องมันอันเดียวกันไม่ใช่เรอะ” แม่ถามขึ้นเมื่อได้ตอบไปแล้ว

“ปมอะไรแกก็ไม่มี แกมีของแกอย่างเดียวมั่นคง พระเจ้าองค์ที่หนึ่งคือคุณเกลา แล้วก็มีพระภควดี คือพี่ใจแล้วก็มีแม่เทพธิดาของแก คือแม่ลูกแก้ว เหมือนพราหมณ์นับถือพระอิศวร มีตัวพระศิวะ แล้วก็พระอุมา แล้วก็พระคเณส” น้ารวงรัตน์พรรณนาคุณสมบัติของน้ารื่น

เมื่อใครเอ่ยถึงน้ารื่นกับคุณพ่อ แม่จะมีสีหน้าเปลี่ยนไปเสมอ “ก็พวกเดียวกับพ่อสิทธิ์ของเรา พวกลูกๆ คุณพ่อก็เป็นที่หนึ่ง แล้วตัวพ่อสิทธิ์ก็เป็นที่หนึ่งด้วย เพราะพ่อสิทธิ์เกิดในบ้านคุณพ่อ” แม่กล่าวถึงน้องร่วมเต้าของแม่เอง ซึ่งดิฉันเรียกน้าสิทธิ์ด้วยอีกคนหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่เล่าว่า เมื่อเริ่มหัดพูด มีบุคคลที่ฉันต้องเรียก น้า จำนวนมาก ดิฉันจึงเอาคำ น้า นำหน้าชื่อทุกชื่อ เป็นต้นว่า น้าพ่อ น้าแม่ แมว และสุนัข ดิฉันก็เรียกว่า น้าไอ้แด่น น้าไอ้โป้ง

“แล้วเหมือนกันไหม” น้ารวงย้อนถามแม่ “พ่อสิทธิ์น่ะ ปมหรือไม่ปมไม่ทราบ แต่เอาเปรียบคนทุกคน แต่พระพี่เลี้ยงของพี่ใจนี่ แกเป็นคนมีประโยชน์ แล้วดูแกก็มีความสุขด้วย”

“ก็เอาตามจิตวิทยา คนมีประโยชน์ก็มักเป็นคนมีความสุข ใช่ไหมล่ะ” แม่ถาม

“พี่สาวใหญ่ของเราล่ะ ก็มีประโยชน์กะใครต่อใคร มีสามี มีลูก มีทุกอย่างที่มนุษย์ธรรมดาๆ จะมีได้ ยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งอย่างเก่าอย่างใหม่ แต่ดูไม่เห็นมีความสุขนี่” น้ารวงกล่าวถึงคุณป้าวรรณแสง พี่สาวใหญ่ร่วมมารดา

เมื่อดิฉันเริ่มหัดพูด แม่สอนให้เรียกน้ารื่นว่า อารื่น แต่น้ารื่นอบรมแม่ว่า “อาไร้ มาให้คุณลูกแก้วเรียกอา เดี๋ยวคุณหญิงท่านได้ยินเข้า ท่านจะว่าดิฉันมาปั้นหน้าเป็นน้องสาวคุณเกลาอยู่ที่นี่ ที่บ้านโน้น ถ้าไม่ใช่เชื้อสายแท้ ๆ ท่านไม่ให้นับเป็นญาติข้างพ่อหรอกค่ะ อย่างแม่ดิฉัน ลูก ๆ คุณเกล้าก็เรียกยาย ไม่เรียกย่า” คุณเกล้าคือพี่ชายของคุณพ่อ

“งั้นก็เรียกน้า” แม่รีบตัดสินโดยเร็ว แม่เคยพูดเสมอว่าแม่ไม่เคยชนะน้ารื่นเลย “เหมือนอย่างลูกๆ ของแม่นมฉัน”

แม่นมของแม่นั้นแท้จริงเป็นแม่นมของคุณลุงคนหนึ่ง เดิมเป็นคนฐานะดี แต่ภายหลังกลับยากจนลงจึงกลับมาเป็นพี่เลี้ยงแม่ ดิฉันเรียกยาย ยายเป็นแม่ของน้าสิทธิ์ที่ได้กล่าวถึงแล้ว น้าสิทธิ์ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตฉันนัก ได้ยินแต่แม่และน้ารวงพูดถึงบ่อย ๆ ว่าเป็นคนทำราชการ มีฐานะค่อนข้างดี อยู่ต่างจังหวัด แต่ชอบรบกวนมารดาให้ส่งเงินไปช่วยเหลือด้วยความเคยตัว ยายก็ไม่ค่อยมาเกี่ยวข้องกับแม่และญาติตระกูลฉันพรรณศิรินัก ตั้งแต่ดิฉันจำความได้ ก็เห็นยายไปปลูกเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี มีลูกผู้หญิงซึ่งดิฉันเรียก น้าฉวี มารับเงินจากแม่และน้ารวงรัตน์ไปส่งให้ทุกเดือน แม่ออกไปเยี่ยมประมาณปีละครั้ง น้ารื่นไปด้วยทุกครั้ง ไปไต่ถามถึงนิสัยต่างๆ ของแม่เมื่อเด็ก ๆ เพื่อจะเทียบว่าดิฉันเหมือนแม่หรือคุณพ่อ หรือผสมลักษณะนิสัยขึ้นใหม่ประการใด ดิฉันถูกล้อเลียนในเรื่องว่าติดน้ารื่น เชื่อฟังน้ารื่นมากเกินไปจากญาติ ทั้งที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันตลอดมา และไม่เคยเดือดร้อนรำคาญ จนกระทั่งถึงเวลาที่ดิฉันอยากแต่งงานกับกฤต

น้ารื่นเป็นคนยึดถือประเพณีเก่าหลายอย่าง ด้วยเหตุว่าได้รับการอบรมจากคุณย่า ผู้ซึ่งน้ารื่นเรียกว่า คุณหญิงท่าน หรือ คุณหญิงที่บ้านโน้น น้ารื่นจึงไม่เคยพูดถึงเรื่องการแต่งงานกับดิฉันเลย ครั้งใดน้า ๆ ผู้ชายมาหยอกล้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นน้าเรืองถามว่า “นี่ ลูกแก้ว วันนั้นคนที่เขามาส่งแก เขาเป็นแฟนของแกเรอะ” น้ารื่นจะถอนใจเสียงดังด้วยความไม่พอใจ ถ้าใครมาพูดตลกไปในทางหยาบโลนให้ดิฉันได้ยิน น้ารื่นจะแสดงความโกรธเคืองจนดิฉันทราบว่าคำพูดนั้นหยาบโลน ซึ่งถ้าหากน้ารื่นจะไม่แสดง ดิฉันก็อาจไม่มีทราบเลย

ดิฉันเคยถามน้ารื่นว่าทำไมน้ารื่นต้องแสดงกิริยาให้เห็นเป็นที่ทราบว่าน้ารื่นโกรธ น้ารื่นตอบว่า “คนอย่างนี้มันกิเลสหยาบ ขนาดที่น้ารื่นแสดงน่ะ ยังผู้ดีเกินไปเสียอีก จะด่ามันก็กระดากปากเราเอง คุณพ่อน่ะนะ ไม่เคยพูดคำหยาบเลย แม่แกอวดของแกเสมอ นอกนั้นคุณๆผู้ชายอื่นๆอดไม่ได้กันทั้งนั้น”

ดิฉันเคยถามคุณพ่อ “คุณพ่อคะ ทำไมผู้ชายถึงต้องชอบพูดโลนด้วยคะ?”

“ลูกแก้วไปได้ยินใครพูดโลนให้ฟังที่ไหนล่ะ” คุณพ่อย้อนถาม

“วันนั้นเพื่อน ๆ น้าโรจน์น้าเรืองเขาคุยกัน น้ารื่นกระชากมือลูกแก้วกลับมาเรือนเลย”

“ถ้าน้ารื่นไม่กระชากมือมา ลูกแก้วจะรู้ไหมว่าเขาพูดโลน” คุณพ่อถาม

“รู้สึกว่าสงสัย เพราะเสียงหัวเราะแปลก” ดิฉันตอบ เวลานั้นดิฉันอายุประมาณ ๑๒ ขวบ

คุณพ่อนิ่งคิดแล้วก็จนต่อคำตอบ ได้แต่ว่า “คนไม่เหมือนกันลูก”

ก่อนดิฉันเข้ามหาวิทยาลัย คุณแม่ก็อบรม “ลูกแก้วไปเข้ามหาวิทยาลัยละก็ จะได้พบชีวิตของคนไทยแท้นะ เวลาเราอยู่โรงเรียนมัธยม เราพบแต่คนที่พ่อแม่เรารู้จักมักคุ้น ครูบาอาจารย์ก็ดูแลถนอมกล่อมเกลี้ยง แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยตัวใครก็ตัวมัน ใครเคยมาอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น นิสิตชายก็ปล่อยตามธรรมชาติของตัวได้ ไม่ต้องเกรงใคร เขาพูดจากันประสาผู้ชายเราต้องทนได้ ไม่งั้นจะถูกว่าหัวสูง ผู้ดีตีนแดง”

“ตัวเองเคยดูถูกมาเรอะ” คุณพ่อถามพลางหัวเราะ “แล้วทำตัวยังไง”

“ฉันมันลูกศิษย์พ่อเรืองพ่อโรจน์ พอจะรู้เค้าอะไร ๆ บ้าง” แม่ตอบ “อาจารย์ก็มีนะ ไม่ใช่แต่เพื่อนนิสิตหรอก ท่านจะลองเราหรือไงไม่รู้ ท่านชอบพูดคำโลน ๆ แล้วก็วางหน้าเฉย”

“แล้วพวกเธอหัวเราะกันคิกคักไหม” คุณพ่อถาม

“อุ๊ย ถามไม่เข้าเรื่อง ใครเขาจะไปหัวเราะ เราก็ตีหน้าเฉยตามท่านไปซิ แต่เพื่อนบางคนเขาโกรธ แล้วเกลียดท่านก็มี”

“เออ มันเป็นยังไงขึ้นมา”

“บ้านเมืองมันก็เปลี่ยนไปมั่งซี” คุณพ่อว่า “ผู้ชายเดี๋ยวนี้มันหายเห่อผู้หญิงแล้ว แต่ก่อนนี้มันตื่น”

“หมายความว่ายังไง หายเห่อหายตื่น” แม่ยังไม่เข้าใจ

“สมัยเราน่ะ มันไม่รู้จะคุยกับผู้หญิง ไม่รู้จะสนทนากับเขาว่ายังไง” คุณพ่ออธิบาย “มีพวกหนึ่งกลัวถูกว่าเจ้าชู้ก็เลยไม่เข้าหาผู้หญิงเลย ไม่งั้นเรามิลุ้นกันตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยเรอะ เธอกับฉันน่ะ นี่กว่าจะมาสนิทสนมกันได้ก็เกือบแก่แล้ว ตอนฉันอยู่มหาวิทยาลัยกลัวผู้หญิงเป็นบ้าเลย หลบท่าเดียว ทีนี้ไอ้พวกทะลึ่ง มันไม่รู้จะให้ผู้หญิงเขาสนใจกับมันยังไง มันก็ต้องทำตลกบ้าๆบ้าง ทำกรุ้มกริ่มบ้าง”

คุณพ่อกับแม่คุยกันเรื่องมหาวิทยาลัยสมัยท่านทั้งสองไปอีกนาน เพราะเป็นเรื่องที่ให้ความสุขแก่ท่าน โดยเฉพาะคุณพ่อ ดิฉันจึงเลี่ยงออกไป พบน้ารื่นยืนอยู่หลังตู้สำหรับเก็บเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ อยู่ในระยะใกล้พอที่จะได้ยินการสนทนา

“คุณลูกแก้วคบกับเพื่อนชายในมหาวิทยาลัยแล้วเป็นไง” น้ารื่นถามทันที มือทำงานต่อไปกับการถ่ายน้ำผลไม้ซึ่งน้ารื่นทำเองลงในขวดสำหรับจะนำไปไว้ในตู้เย็น

“ก็ไม่เป็นไงนี่ น้ารื่น” ดิฉันตอบ “แม่เคยบอกว่าจะได้ยินคำพูดโลน ๆ อย่างที่น้ารื่นไม่ชอบให้ได้ยินน่ะ แต่ไม่เห็นมีเลย”

“นี่ น้ารื่นจะว่าอะไรให้ฟังนะ” น้ารื่นวางมือจากงานแล้วเงยหน้าขึ้นกล่าว “สมัยนี้ก็ดูจำเป็น ไอ้การไปเรียนหนังสือกับผู้ชาย น้ารื่นน่ะไม่ชอบเลย เป็นพวกหัวโบราณ อยากให้เหมือนคุณ ๆ ที่บ้านโน้น แต่เดี๋ยวนี้ถึงรุ่นหลังนี่ก็ไปเข้ามหาวิทยาลัย เข้าโรงเรียนกับเด็กผู้ชายกันแล้ว แต่ว่า จะคบกับใคร ดูให้ดี ๆ นะ น้ารื่นเป็นฮ้วงเป็นห่วง”

ดิฉันเคยมีโอกาสคุยกับน้ารื่น และถามเอาความคิดน้ารื่นในเรื่องการคบหาเพื่อนผู้ชาย

“เออ” ดิฉันถามขึ้นวันหนึ่งระหว่างที่น้ารื่นนั่งเสียบดอกมะลิเข้ากับเลียวไม้ที่น้ารื่นได้เกลามาเป็นอันดี เพื่อประกอบขึ้นเป็นพุ่มเล็กสำหรับบูชาพระ และซึ่งน้ารื่นชอบให้ดิฉันร่วมมือด้วย “น้ารื่นเคยคิดแล้วยังว่าวันหนึ่งลูกแก้วต้องแต่งงาน”

“คิดซี คิดทุกวัน” น้ารื่นตอบหนักแน่น

แล้วน้ารื่นอยากให้ได้คนยังไง” ดิฉันถาม

“ก็อยากให้ได้คนอย่างคุณพ่อซิ” น้ารื่นตอบทันที

“คนอย่างคุณพ่อน้ารื่นว่าหาได้อีกเรอะ เห็นน้ารวงแล้วน้าโรจน์น้าเรืองด้วย เขาว่ามีคนเดียว” ดิฉันพูดทีเล่นทีจริง

“คุณเกลาน่ะน่าสงสาร อาภัพมาแต่เด็ก” น้ารื่นเล่าชีวิตคุณพ่อให้ฟังเป็นครั้งแรก “ทั้งเจ้าคุณคุณหญิงท่านไม่ค่อยรัก อะไรก็คุณเกล้า แล้วก็คุณกาจ คุณพ่อน่ะเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยพูดค่อยจา คุณเกล้าน่ะกล้าสมชื่อ ขี่ม้าก็เก่ง เรียนหนังสือก็เก่ง พอโตหน่อยก็ได้ไปเมืองนอก แล้วคุณกรรณก็เป็นลูกผู้หญิงคนเดียว แล้วคุณเกลายังมาพิการอีก หาอย่างคุณพ่อไม่ได้ก็ให้ใกล้ ๆ เข้าไปก็แล้วกัน”

“แล้วน้ารื่นเองล่ะคะ” ดิฉันถาม “คุณพ่อเคยเล่าว่ามีคนเขามาขอ คุณย่าท่านเขาก็จะจัดการให้ แล้วน้ารื่นไม่ตกลง” ดิฉันถามเฉียง ๆ ไปเพราะอยากฟังจากปากน้ารื่นเองให้เข้าใจความรู้สึกของน้ารื่น ว่าน้ารื่นมีความรู้สึกต่อคุณพ่ออย่างไร

“เฮ้อ” น้ารื่นพูดหัวเราะ ๆ “น้ามันหัวสูงเสียแล้ว ไม่ใช่ไปดูถูกดูหมิ่นเขาหรอก คนนั้นเวลานี้เขาก็มั่งมี เมียเขาก็มีรถยนต์ขี่ แต่มันไม่ถูกตา ตอนเขามาขอ คุณหญิงท่านว่า แกน่ะฉันไม่ห่วงอะไร ห่วงแต่ว่าแกจะไปสอนเขา สอนแม่ผัว เรามันเก็บปากเก็บคำไม่ได้เสียเลย ฉันเลี้ยงแกปล่อยมากเกินไป เจ้าคุณท่านก็ดูชอบผู้หญิงจัดจ้าน แกสงบปากคำได้ แกก็จะมีความสุข น้ารื่นก็รู้ว่าน้ารื่นทำไม่ได้ เพราะน้ารื่นเคยทะเลาะกับคนทั้งบ้าน”

“น้ารื่นมาอยู่ที่นี่ ลูกแก้วไม่เคยเห็นทะเลาะกับใคร” ดิฉันว่า

“ก็ที่นี่บ้านผู้ดีนี่” น้ารื่นว่า “คุณหญิงวรรณแสง เอ๊อ รำคาญปาก เคยเรียกคุณใหญ่ คุณใหญ่ โก้กว่าเป็นกอง ทำไมเกิดชอบให้ใคร ๆ เรียกคุณหญิง คุณหญิงใคร ๆ ก็เป็นได้ เขาสำหรับให้คนรู้จักใหม่ ๆ เรียก คนเก่าเขาก็เรียกตามเก่า คุณหญิงป้าคุณลูกแก้วนี่น่ะ เธอก็แปลกอยู่เหมือนกัน แต่เธอเป็นผู้ดี เธอรู้จักถือตัว เธอก็รู้ว่าทำยังไงคนอย่างน้ารื่นถึงจะนับถือ ทำยังไงน้ารื่นจะดูถูก เธอก็ไม่มายุ่งกับน้ารื่น คุณโรจน์คุณเรืองก็เป็นผู้ชายแบบเดียวกับคุณกาจ คุณแม่หรือก็ใจแก้วแท้ ๆ เลย แล้วคุณน้ารวงรัตน์ก็สมัยใหม่ ประชาธิปไตยจนออก ๆ จะเกิน ๆ ไป น้ารื่นก็ไม่รู้จะทะเละกับใคร พวกคนใช้ น้ารื่นไปทะเลาะด้วยไม่ได้”

“แล้วเวลาอยู่บ้านโน้น น้ารื่นทะเลาะกับใครล่ะ” ดิฉันถาม

“ตอนเด็ก ๆ” น้ารื่นพูดเหมือนคนลำลึกถึงความสุขในอดีต “ทะเลาะมันทั้งนั้นเลย ตั้งแต่คุณเกล้า คุณกาจ ไปถึงพวกลูก ๆ คนในบ้าน แล้วพวกคนใช้ของคุณหญิงท่าน พวกทนายของเจ้าคุณ แล้วก็เมียเจ้าคุณ”

คุณป้าวรรณแสง ตามที่น้ารื่นว่า คงจะเข้าข่ายคนแปลกจริงๆ คุณป้าเป็นคนห่วงใยแทนแม่อยู่เสมอเกี่ยวกับคุณพ่อและน้ารื่น คุณป้าเคยยืนยันกับแม่ว่า

“โธ่ทำซื่อจนเซ่อไปได้ แม่รื่นน่ะแกรักคุณเกลา แกรักเป็นชีวิตจิตใจของแก คุณเกลาเวลานี้ก็ยังระงับใจได้ แต่วันหนึ่งใครจะไปรู้”

แม่ก็เคยพูดกับน้ารวงเรื่องนี้ในทำนองคล้าย ๆ กัน “รำคาญพี่แสงจะตาย ทำไมจะต้องตั้งหน้าตั้งตาดูเรื่องคุณเกลากับแม่รื่นเสียจริง ๆ จะให้ฉันทำยังไงอยากจะรู้”

น้ารวงรัตน์ถามแม่ “ตัวพี่ใจเองว่าไงล่ะ ถ้ามันเกิดขึ้นวันหนึ่ง พี่ใจจะทำยังไง”

“ดูคุณเกลาแล้วพี่ก็ว่ากรุณารื่นด้วยความสุจริตใจ ข้างรื่นน่ะรักคุณเกลาแน่ แต่ความรักของผู้หญิงมันก็หลายอย่าง พี่ว่าแกวิเศษที่แกรักลูกแก้วเป็นแก้วตาของแกจริง ๆแต่ไอ้เรื่องที่เรากลัวมันจะเกิด ถ้ามันเกิด มันจะเป็นยังไง ก็เห็นจะต้องว่ากันทีหลัง ถ้ามัวเป็นห่วงว่าจะเกิด ก็ไม่เห็นทางจะป้องกันอะไรทั้งนั้น”

ตั้งแต่คุณพ่อกลายเป็นคนพิการ ขาเสียทั้งสองข้างแล้ว ปัญหาระหว่างคุณพ่อกับน้ารื่นก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ