บทที่ ๗

รุ่งขึ้นจากวันที่ไปพบเพื่อน ๆ ขณะที่ดิฉันอยู่ในห้องทำงาน มีคนนำจดหมายด่วนลงทะเบียนมาให้เซ็นรับ ดิฉันแปลกใจมาก เมื่อเปิดออกดูเห็นเป็นลายมือกฤต เขียนข้อความว่า

“ลูกแก้วจ๋า สังเกตดูคุณพ่อคุณแม่ไม่รังเกียจ ควรจะจัดการต่อไปยังไงจ๊ะ ช่วยสงเคราะห์คนบ้านนอกด้วย ไม่กล้าพูดต่อหน้าลูกแก้ว รู้สึกกลัวอะไรไม่รู้

รักลูกแก้วจริง ๆ กระสับกระส่ายเต็มทีแล้ว

กฤต

ดิฉันปล่อยน้ำตาให้ไหลลงมาเป็นทางบนแก้มโดยไม่ต้องเช็ด เพราะอยู่คนเดียวไม่ต้องอายใคร รู้สึกว่าพอใจกับน้ำตานั้นอย่างประหลาด พลางก็ยิ้มกับลายมือนั้น ดิฉันลุกขึ้นไปหมุนโทรศัพท์ไปที่สำนักงานของกฤต บอกให้รู้ว่าได้รับจดหมายแล้ว และนัดให้ไปที่บ้านก่อนเวลาอาหารกลางวันที่บ้านในวันเสาร์

คืนนั้นเมื่อถึงเวลาคุณพ่อกับแม่เข้าห้องของท่านแล้ว ดิฉันก็ตามเข้าไปและส่งจดหมายกฤตให้ดู รู้สึกว่าหัวใจพองโตเมื่อเห็นแม่หัวเราะคิก และคุณพ่อหัวเราะในลำคอ

“คนหนึ่งก็อย่างหนึ่ง” คุณพ่อว่า “เออ ฉันบอกเธอเรื่องแต่งงานยังไงนะ ใจแก้ว”

“สมัยนี้เขาก็ว่าเชยที่สุด สมัยนั้นเขาว่าเปิ่น” แม่ตอบ แล้วหันมาพูดกับดิฉัน “ให้คุณพี่ประจิตนี่แหละมาบอก แล้วขอให้ช่วยเล้าโลม เอ้า จริง ๆ คุณพี่ประจิตใช้คำนี้จริง ๆ” แล้วแม่กับคุณพ่อก็หัวเราะกัน ต่อไปแทนที่จะให้ความสว่างในเรื่องของดิฉัน จนดิฉันถามขึ้นเสียงสั่น ๆ

“ลูกแก้วควรตอบเขาว่ายังไงจ๊ะ นัดให้เขามาฟังวันเสาร์”

“ให้เขามาฟังพ่อแม่ว่ายังไง หรือลูกแก้วจะว่ายังไง” คุณพ่อถาม

“ก็ให้ฟังคุณพ่อกับแม่จะแนะนำยังไงซิคะ” ดิฉันเรียนคุณพ่อ

“เฮ้อ” แม่ถอนใจยาว “นัดให้เขามาก็ดีแล้ว แล้วแม่จะปรึกษากับเขาเองเรื่องพิธีรีตรอง”

ดิฉันโผเข้าไปกอดคุณพ่อกับแม่ไว้ด้วยกัน น้ำตาไหลพรั่งพรู คุณพ่อเอามือลูบผมเบา ๆ แล้วแม่ก็เอาตัวไปกอดไว้ สักครู่หนึ่งจึงปล่อยออกแล้วว่า “วันนี้ไปนอนเสียก่อนไป๊ลูก”

ดิฉันไปห้องของดิฉัน อาบน้ำและแต่งตัวสำหรับเข้านอน แต่ไม่รู้สึกอยากนอน มีความกระวนกระวายไม่สงบ แล้วจึงนึกขึ้นมาถึงน้ารื่น คิดว่าดิฉันยังไม่เคยพูดกับน้ารื่นเรื่องที่จะแต่งงานกับกฤตเลย จู่ ๆ กฤตก็จะมาฟังคำตอบของคุณพ่อกับแม่ในวันเสาร์ น้ารื่นจะพอใจกับการแต่งงานหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าดิฉันไม่พูดอะไรกับน้ารื่นเลย ก็อาจทำให้น้อยใจ ด้วยเหตุที่จิตใจตื่นเต้นไม่อยากเข้านอนผสมกับความคิดนั้น ดิฉันจึงออกจากห้องไปหาน้ารื่น

เมื่อแรกน้ารื่นมาอยู่ที่บ้านใหม่ ๆ แม่จัดให้น้ารื่นอยู่ห้องด้านหลังตึกเล็กของแม่ ซึ่งได้จงใจจัดไว้ให้ แต่ปรากฏว่าห้องนั้นถูกตึกของเพื่อนบ้านซึ่งปลูกขึ้นภายหลังบังลม กลายเป็นห้องที่ร้อนอบอ้าวในบางเดือน น้ารื่นค่อย ๆ ย้ายห้องของตัวเองลงไป “ห้องใต้ถุน” ซึ่งเดิมเป็นห้องใช้เก็บของ แม่จึงดัดแปลงให้ห้องข้างล่างกลายเป็นห้องนอนอย่างสมบูรณ์ และใช้ห้องหลังตึกเป็นห้องเก็บของ

ห้องของน้ารื่นมักมีลมพัดเย็นรื่นสมชื่อกับเจ้าของห้อง โดยเฉพาะน้ารื่นมักจะนั่งเย็บผ้าหรืออ่านหนังสือ หรือฟังวิทยุอยู่หน้าห้องจนถึงเวลาเข้านอน นอกจากจะถูกแม่เรียกให้ไปช่วยปรนนิบัติคุณพ่อ หรือน้ารวงให้คนมาเรียกไปช่วยเหลือน้ารวงทำงานเล็ก ๆ น้อยๆ และชวนน้ารื่นคุยเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานกับไมตรีจิต ซึ่งน้าเรืองกับน้าโรจน์ เรียกว่า ความช่วยเหลือแลกเปลี่ยนพลังงานทางจิตภาพและกายภาพ” เป็นการล้อศัพท์วิชาการของน้ารวงรัตน์

คืนนั้นดิฉันทราบแล้วว่าน้ารื่นนั่งฟังวิทยุอยู่หน้าห้อง เมื่อไปถึงก็เข้าไปนั่งบนม้าสามขาตัวหนึ่ง ซึ่งน้ารื่นมักใช้เป็นที่วางเท้าเพื่อแก้เมื่อย แต่ไม่รู้จะเริ่มการสนทนาอย่างไร รู้สึกกระดากมาก จนกระทั่งน้ารื่นถามขึ้น

“วันนี้ไม่ง่วงหรือคุณลูกแก้ว ป่านนี้มักเข้านอนแล้ว”

“น้ารื่น” ดิฉันพูดออกไปโดยไม่ได้ยั้งสติ “น้ารื่นน่าจะเลิกเรียกคุณลูกแก้ว คุณลูกแก้วได้แล้วนะ ชื่อของลูกแก้วเฉย ๆ ก็เพราะดีออก”

“อื๊อ” น้ารื่นอุทานอย่างไม่พอใจ “ไอ้เรื่องพรรณอย่างงี้ น้ารื่นโบราณ อย่ามายุ่งเลย เคยเกิดมาโตมายังงั้นเคยปากยังไงก็เรียกอย่างงั้น ไม่เหมือนคนสมัยใหม่ เปลี่ยนเป็นโน่นเป็นนี่ คุณย่านะท่านเรียกคุณปู่ว่าคุณ จนสิ้นบุญไปแล้ว ท่านก็ยังเรียกอยู่ยังงั้นไม่เปลี่ยน”

“จริงนะ เรื่องนี้คนสมัยนี้กับสมัยเก่าไม่เหมือนกันจริงแหละ” ดิฉันกล่าวไปโดยที่ไม่มีอะไรจะกล่าว ลืมวิธีการที่คิดขึ้นมาไว้ในการจะบอกข่าวที่อยากบอก

“เออ” น้ารื่นเอยขึ้น “ได้ยินว่าคุณอาทรเป็นลูกเลี้ยงคุณกรรณรึ”

“ไม่ได้ซีน้ารื่น” ดิฉันค้าน “ก็อากรรณเลิกกับพ่อเขาแล้วนี่”

“เอาละ” น้ารื่นยอม “จริงนา อุปทานหรือยังไงก็ไม่รู้ น้ารื่นคิดเรื่อยว่าเหมือนใครนา”

“อาทรกับกฤต น้ารื่นว่าใครหน้าตาดีกว่ากัน” ดิฉันพยายามดึงเข้าหาเรื่อง

“ก็พอ ๆ กัน” น้ารื่นว่า แต่คุณอาทรน่ะแกไม่ค่อยยิ้มค่อยแย้ม เฉยเกินไป คุณกฤตแกช่างพูดช่างคุยหน่อย”

“น้ารื่นจ้ะ” ดิฉันรวบรวมกำลังทั้งหมด “ น้ารื่นคงไม่รังเกียจกฤตใช่ไหมจ๊ะ” ดิฉันทำเสียงให้อ่อนที่สุดเพื่อหักห้ามความรู้สึกอยากร้องไห้ ซึ่งดิฉันก็ไม่เข้าใจตนเองดีนัก

น้ารื่นนิ่งไปนาน ดูเหมือนจะรวบรวมกำลังใจเท่าดิฉัน “เขาขอแต่งงานกับคุณลูกแก้วรึ”

“เขาจะมาปรึกษาแม่แล้ว” ดิฉันบอก เสียงเริ่มเครือ

“แล้วใจเราล่ะ” น้ารื่นถาม

ดิฉันคิดเลือกคำพูดอยู่นานพอสมควร “ใจของลูกแก้วก็อยากให้เขามาขอ รู้สึกว่าจะนานมาแล้ว”

น้ารื่นลอบถอนใจ “ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่มีปัญหาอะไร คุณพ่อคุณแม่เป็นคนสมัยใหม่ เรื่องนี้ตามใจลูก”

ดิฉันดึงมือน้ารื่นข้างหนึ่งมาแนบไว้กับทรวงอก “ลูกแก้วไม่ได้ทำให้น้ารื่นผิดหวังอะไรมากนะจ๊ะ” เวลาดิฉันฉอเลาะน้ารื่น ดิฉันมักพูดลงประโยคด้วยจ๊ะ จ๋า แทน คะ ขา อย่างหลังนี้แม่หัดให้ใช้ เพื่อว่าน้ารื่นจะได้ไม่อยู่ในฐานะพี่เลี้ยงลูกจ้าง

น้ารื่นปล่อยให้ดิฉันกุมมือไว้ ซ่อนสีหน้าเศร้าไว้ไม่ได้ ดิฉันนึกคำพูดขึ้นมาได้ “ของพรรณนี้มันสุดแต่วาสนาใช่ไหมจ๊ะ น้า”

น้ารื่นไม่ค่อยแสดงความรู้สึกด้วยกิริยาต่อดิฉันบ่อยนัก แต่ในค่ำวันนั้น เมื่อดิฉันกล่าวคำนั้นออกไป น้ารื่นก็ดึงตัวดิฉันเข้าไปนั่งบนตักน้ารื่น จับศีรษะดิฉันไว้ซบกับทรวงอกและก้มหน้าของน้ารื่นมาซบอยู่กับศีร์ษะของดิฉัน

นิ่งกันอยู่ ทั้งสองคนด้วยความกระดากที่จะกล่าววาจา แล้วดิฉันข่มความกระดาก พูดออกมาได้ว่า

“ถึงลูกแก้วจะแต่งงาน จะต้องเป็นอะไรของใคร สำหรับน้ารื่น เราก็เป็นน้ารื่นกับลูกแก้วเสมอไป” ที่จริงดิฉันรู้ว่าในใจของน้ารื่นยังมีถ้อยคำที่อยากกล่าวแก่ดิฉันอีกมาก แต่น้ารื่นไม่กล่าว ค่อย ๆ จูบที่ผมแล้วก็คลายแขนออกจากที่กอดตัวของดิฉันไว้ ดิฉันกลับมานั่งที่เดิม นิ่งต่อไปอีกครู่หนึ่งแล้วก็บอกลาไปนอน

เช้าวันเสาร์ กฤตก็มายังบ้านดิฉันเวลาสาย ดิฉันพากฤตไปนั่งที่ระเบียงหน้าตึก คุยกับคุณพ่อไม่ช้าแม่ก็มาสมทบ ดิฉันหาโอกาสหลีกไป ปล่อยให้เขาได้พูดกับคุณพ่อและแม่ตามลำพัง

เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ดิฉันไปเตือนให้ไปที่โต๊ะ มีเวลากระซิบถามกฤตว่าได้พูดกันว่าอย่างไรบ้าง กฤตก็มีโอกาสกระซิบบอกว่า แม่และคุณพ่อแนะนำว่า ให้พ่อของเขาหรือญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งคนใดมาหา เพื่อจะได้ปรึกษากันต่อไป

อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมา ในเวลาสายของวันอาทิตย์ กฤตก็พาญาติผู้ใหญ่ของเขามาที่บ้าน คือพ่อของเขาและย่าพัด ปรากฏว่าพ่อกฤตได้วิงวอนให้อาพัดมาเป็นเพื่อน เมื่อกฤตได้แนะนำให้บิดาและญาติผู้ใหญ่รู้จักกับคุณพ่อแล้ว ทั้งกฤตและดิฉันก็เลี่ยงไปคุยกันใต้ถุนเรือนบริเวณหน้าห้องน้ารื่น พ่อและย่าพัดของกฤตเจรจาอยู่กับคุณพ่อและแม่ประมาณครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ พอถึงเวลาอาหารกลางวันก็ลาไปพร้อมกับกฤต คุณพ่อและแม่ชวนให้อยู่ร่วมรับประทานอาหาร แต่ฝ่ายแขกปฏิเสธ

พอมีโอกาสดิฉันก็ถามแม่ว่าเจรจากันว่าอย่างไร แม่เล่าให้ฟัง

“ย่าพัดนี่ต้องชมว่าแกแต่งเนื้อแต่งตัวเก่งนะ” แม่เริ่ม “เสื้อเรียบ ๆ ผ่าอกกลัดเข็มกลัดพวง สังเกตไหม เข็มพวงนี้สมัยแม่เป็นเด็ก เป็นแฟชั่นของรุ่นคุณย่า เขาใช้กลัดแพรสะพายหรือกลัดเสื้อก็มี นี่แกเอามาทำเหมือนกระดุม เก๋ดี แม่จะต้องไปดูซิ คุณย่ายังมีอยู่บ้างไหม เผื่อจะขอมาสักชุด นุ่งผ้าสีทองคร่ำ ๆ เสื้อสีเนื้อเช้ากันดีทีเดียวแหละ คุณพ่อยังชมว่าท่าทางเข้าที”

“ย่าพัดเป็นคนเจรจาหรือพ่อของกฤตจ๊ะ” ดิฉันถาม

“ทั้งสองคนแหละ แม่คิดอยากให้เขาพูดอย่างทองประศรีขอนางพิมพ์ แต่ไม่มีอะไรเหมือนเลย” แม่พูดอย่างร่าเริง ทำให้ดิฉันรู้สึกเบิกบาน แล้วแม่ก็ว่ากลอนจากเสภาขุนช้างขุนแผน “จะมาขอฟักแฟงแตงน้ำเต้า ของออเจ้าไปปลูกใน ไร่ข้า ทั้งอัตคัดขัดสนจนเงินตรา จะมาขายออแก้วไว้ช่วงใช้ แต่ไม่ยังงั้นเลย ตัวพ่อนะดูเหมือนจะหนักใจมาก ดูเขาไม่ค่อยเต็มใจจะขอลูกสาวเรานะ”

“อ้อ” ดิฉันอุทาน ทำเสียงแปลกด้วยความประหลาดใจ

“เขาพูดจามีเหตุผลดี” แม่ค่อย ๆ เล่าอย่างตรึกตรอง “เขาว่าไอ้ลูกชาวสวนชาวไร่ จะมาขอสู่ลูกหลานขุนนางนี่มันยังไงกัน เขาไม่เข้าใจว่าเราจะไม่รังเกียจจริงหรือ แกพูดออกมาอย่างตรง ๆ แม่พอใจจริง ๆ”

“เขามั่นหมายลูกสาวชาวสามพราน เจ้าของสวนองุ่นสวนส้มที่ไหนไว้ให้ลูกชายของเขาแล้วหรือไง” ดิฉันถามด้วยน้ำเสียงไม่มั่นคง

“ดูเหมือนจะเปล่า” แม่ตอบอย่างตรึกตรองต่อไป “เขาว่าสมัยใหม่นี่เขาไม่เข้าใจ เขาว่าเขาเตือนลูกเขาแล้ว ลูกเขาก็ยืนยันว่าฝ่ายเราอยากให้เขามาเจรจา”

“เขาหนักใจยังไง” ดิฉันถาม เปลี่ยนจากความเบิกบานเป็นความหวาดหวั่น

แม่หัวเราะเบา ๆ “อย่าเพ่อตกใจไปลูก” แม่ว่า “สองคนกับคุณพ่อ แม่พยายามเดาว่าแกอยากจะพูดอะไร แล้วไม่กล้าพูดออกมามั่ง คุณพ่อเดาว่า เขาไม่เข้าใจคนอย่างเรา พ่อกิจนะแกพูดซ้ำๆ หลายหนว่า บ้านเรือนจะเอาอย่างไรกัน เขาไม่เข้าใจที่เราว่าเราไม่เรียกร้องอะไร ขอให้ได้อยู่กินกันเรียบร้อยพอสมควร แกเลยนิ่งไปแล้วก็ว่า จะไปปรึกษาญาติพี่น้องดู แล้วก็ว่าถ้าท่านกรุณาลูกผม ก็ขอความกรุณามันต่อไป ตอนจะลาอาพัดพูดว่า ท่านอย่าไปเหมาว่าพ่อกิจรังเกียจลูกท่านนะคะ อาพัดนี่แม่ว่า ถ้าแกสมัครผู้แทน แกคงมีคนเลือกเยอะในตำบลคลองกาญจนา” แล้วแม่ก็หัวเราะ

ดิฉันรู้สึกน้อยใจหน่อยๆ ที่แม่เห็นเรื่องความรักของดิฉันกับกฤตมีอะไรน่าหัวเราะอยู่หลายอย่าง แม่คงไม่ตระหนกตกใจเลยถ้ากฤตเขาเลิกรักดิฉัน ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงสำหรับดิฉัน พอคิดน้อยใจขึ้นมาก็เลยหมดอยากที่จะซักไซ้แม่ และรอคอยโอกาสที่จะพบกับกฤตและซักถามความรู้สึกของญาติฝ่ายเขาต่อไป

ค่ำวันนั้นน้ารวงก็มาหาที่ห้องของดิฉัน พอดิฉันพาน้ารวงเข้าไปนั่งในห้องเรียบร้อย น้ารวงก็ว่า

“มาถามข่าว ได้ยินว่ามีการมาติดต่อทาบทาม หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม”

“ฟังจากแม่คล้ายจะเป็นว่า เขาไม่ค่อยเต็มใจได้สะใภ้กอกรีนะน้ารวง” ดิฉันว่าไปด้วยความน้อยใจเกิดขึ้นมา

“เรอะ” น้ารวงทำตาโต “เอ ชักจะเข้าที น่าจะให้พระพี่เลี้ยงรู้บ้าง จะได้ฟังว่าอย่างไง”

ดิฉันเกือบสะบัดหน้า นี่เองนะที่เขาว่ามีช่องระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัย “น้ารวง ลูกแก้วไม่ใช่ตัวประชากรสำหรับน้ารวงทำการศึกษาสาเหตุมูลเหตุอะไรนะ”

“พุทโธ่ น้าไม่ได้คิดอย่างงั้นหรอกนะ” น้ารวงแก้ “น้าคิดแต่ว่า ยังมีอะไรไม่เข้าใจกันอยู่ เรื่องพรรณงี้มันสำคัญที่เจ้าตัว ที่ลูกแก้วกับกฤตหรอกน่ะ”

“หวังว่าเวลาคุณป้ามาถาม แม่จะไม่พูดอะไรให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปอีก”

“เออคนกำลังรักนี่ช่างใจหิ้วใจแขวนไปหมดนะ” น้ารวงว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ก่อนเถอะน่ะ”

แล้วก็เป็นอย่างฉันตั้งข้อสังเกตไว้ ปลายสัปดาห์นั้น คุณป้าไปเที่ยวนอกกรุงเทพ ฯ แต่พอถึงวันอังคาร ดิฉันกลับจากทำงานก็พบคุณพ่อนั่งพูดอยู่กับคุณป้า ดิฉันอดใจไว้ไม่ได้ ต้องเข้าไปฟังว่าคุณป้าจะออกความคิดเห็นอย่างไรเรื่องดิฉัน ได้ยินประโยคของคุณป้าพูดแก่คุณพ่อ

“ระวังนะ” คนพูดไม่รู้เรื่องกัน จะกลายเป็นว่าของเรามีอะไรเสียหายอยากยกให้ดอกเตอร์เต็มแก่”

ดิฉันรู้สึกกลิ่นฉุนขึ้นจมูก เดินเข้าไปนั่งใกล้โดยไม่พูดว่าอย่างไร ทำท่ารอคอยให้การสนทนาดำเนินต่อไป คุณพ่อเป็นคนสังเกตสีหน้าคนเก่งมาก โดยเฉพาะหน้าดิฉัน ท่านพูดขึ้นเรียบ ๆ ตามปรกติของท่าน

“พ่อกำลังเล่าเรื่องที่พ่อของกฤตเขามาหาพ่อเรื่องลูกแก้วให้คุณป้าฟัง”

“จะว่ายุ่งก็ตามเถอะ” คุณป้าว่า “ลูกหลานเราอดห่วงไม่ได้ ชื่อเสียงของตระกูลก็อดห่วงไม่ได้ จริงไหมคุณเกลา ฉันมันอดไม่ได้จริง ๆ เรื่องจะถือว่าไม่ใช่ธุระของพี่ป้าน้าอาแล้ว ตัวของใครก็ตัวของใคร เวลาเดือดร้อนไม่เห็นตัวของใคร เคยเห็นมานัก เพียงแต่พ่อโรจน์พ่อเรืองนี่ก็เถอะ เวลาเขาจะทำอะไร จะทักจะถามเขาก็ว่าเรื่องของเขา แต่เวลาเดือดร้อนดูเป็นเรื่องรวม จริงไหม คุณเกลา”

“ที่คุณพี่ว่าก็มีส่วนจริง” คุณพ่อประนีประนอมตามเคย “แต่สมัยนี้ผมว่าใครเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเตรียมๆ ไว้ เวลาที่เราจะแนะนำเขา เขาก็ว่าเป็นเรื่องของเขา แต่เวลาเขาต้องการความช่วยเหลือ มันก็ต้องช่วยเหลือ ชีวิตกำลังเข้าระยะเปลี่ยนแปลง อะไร ๆ ยังไม่เข้าที่”

“ฉันเป็นห่วงเรื่องที่อยู่ ฉันเคยเตือนคุณเกลาแล้ว โบราณท่านไม่ใช่คิดอย่างไม่มีเหตุผล ไอ้ที่เขากองทุนกองสิน ก็เพราะเขาคิดถึงวันหน้า ถ้าปล่อยหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็มีวันนี้พรุ่งนี้เท่านั้น”

เรื่องที่อยู่ก็เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นจริง ดังที่คุณป้าว่า แล้วก็พาดพิงไปถึงสมบัติของคุณป้าด้วย ขณะนั้นกฤตอาศัยอยู่ในบ้านเช่าร่วมกันกับเพื่อนชายโสดสองคน เมื่อจะมีครอบครัวก็ต้องขยับขยายเป็นธรรมดา แม่บอกว่าถ้าจะไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ แม่ก็จะให้ที่ดินแปลงเล็กแปลงหนึ่ง อยู่ในซอยเดียวกันนั้นเองซึ่งแม่ได้เก็บออมเงินไว้จนซื้อได้ แต่ฝ่ายกฤตก็ต้องออกเงินก่อสร้างบ้าน แต่ถ้าจะอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกัน คุณพ่อกับแม่ก็ไม่รังเกียจ ถ้าหากดิฉันและกฤตไม่รังเกียจ แต่พ่อกฤตก็มาแจ้งว่า ได้ลงทุนซื้อสวนองุ่นใกล้บริเวณบ้านของตัวจากพี่ชาย หรือลุงกำนันไปไม่นานนั้นเอง แม้จะเต็มใจขายเพื่อจะช่วยการแต่งงานลูกชาย ก็คงหาคนซื้อไม่ได้

“ดอกจะเห็นกับพี่กำนันเสียแล้ว ว่ามีลูกไอ้ที่เรียกว่าได้ดีนี่มันเดือดร้อนยังไง ถ้าให้ลูกอยู่กับบ้านไม่มาเป็นขุนนาง ยากดีมีจนมันก็อยู่ด้วยกันได้ นี่จะเกณฑ์ให้สะใภ้เขามาอยู่กับเรายังไง แล้วจะให้เจ้ากฤตมันกลับมาแต่งงานอยู่บ้านก็ไม่ได้อีก” เป็นคำปรารภของบิดาซึ่งกฤตนำมาเล่าให้ดิฉันฟัง

“ผมว่าผมไม่น่าจะแต่งงานกับลูกแก้วเสียแล้ว” กฤตพูดอย่างท้อถอย

แต่คุณพ่อออกความเห็นว่า ถ้ากฤตไม่ขัดข้องแล้ว คุณพ่อจะพูดกับคุณป้า ขอให้กฤตซื้อที่ดินติดกับตึกของแม่ จากที่ซึ่งคุณป้าเป็นเจ้าของประมาณสัก ๒๐ ตารางวา คุณพ่อจะออกแบบให้เป็นที่อยู่ มีห้องชุดซึ่งเราเรียกกันว่า แฟลต หรือตามอเมริกันว่า อะปาร์ตเมนต์ ยื่นออกเป็นปีกของคุณพ่อและแม่ ให้กฤตออกเงินเท่าที่ออกได้ไปก่อน แล้วค่อยผ่อนใช้คุณพ่อภายหลังก็ได้

“สมัยนี้มันสมัยบินก่อนจ่ายทีหลัง จะต้องผ่อนเงินค่าเรือนหอให้พ่อตา มันก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าไม่นึกว่าเสียหาย”

คุณป้าว่า “ถ้าจะขอซื้อที่ดินของคุณป้าที่ตรงนั้น โดยให้ผู้ซื้อเป็นแม่ คุณป้าก็จะยอมให้โดยไม่เต็มใจ แต่โดย “เสียคุณเกลาไม่ได้” แต่ถ้าจะให้กฤตมีกรรมสิทธิ์ร่วมแล้ว คุณป้าก็จะไม่ขายให้ คุณป้าว่า

“ที่จริงขายให้แล้ว คุณเกลากับใจแก้วเขาจะเอาไปยกให้ใคร อย่าว่าแต่ลูกเขย เราก็ไปทำอะไรไม่ได้ แต่ปราม ๆ ไว้ ดีกว่าให้หลานซัดเซพเนจรไปเช่าบ้านเช่าวัดอยู่ที่ไหน”

ในที่สุดเรื่องที่อยู่เป็นอันตกลงกัเได้ ดิฉันบอกกฤตว่า ถ้ากฤตอดทนรำคาญไม่ได้เพียงเรื่องต่อรองกันเรื่องที่อยู่ ก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะแต่งงานกัน เพราะชีวิตดิฉันจะต้องพัวพันอยู่กับญาติ หลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในเมื่อคุณพ่อเป็นคนพิการ และเราก็ไม่ได้ร่ำรวยถึงขั้นอรรคฐานเพียงแต่พอมีพอใช้ การอาศัยกันในวงญาติก็เป็นความจำเป็นอันหนึ่งในชีวิตของคนไทย ยิ่งในปัจจุบัน ภรรยาต้องได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายตามความต้องการของคู่สมรส เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ดิฉันต้องทำงาน ญาติก็ต้องอาศัยกันในเวลาที่ลูกจ้างขาดไปบ้าง ในเวลาเจ็บไข้บ้าง ลุงผู้ใหญ่บ้านได้เข้ามามีบทบาทบ้าง

“เอาเงินข้าไปก่อนเถอะ กิจ ลูกหลานได้ดีมันกลายเป็นเรื่องร้อนใจ ทำให้เขาดูถูกเรา ชาวบ้านนี้เขาจะได้เห็นว่าพวกเราก็พอลืมหน้าอ้าปากหรอกน่ะ นี่ถ้าพี่กำนันแกไม่โกรธลูกชายแก ขี้คร้านจะดีอกดีใจ เขาอยู่ตึกในกรุง เราก็อยู่ตึกตามประสาบ้านนอก” ลุงกร ผู้ใหญ่บ้านได้เข้ามาทำความรู้จักกับคุณพ่อและแม่ระหว่างการเจรจา และศึกษาสถานการณ์อย่างคนฉลาดพอใช้ เมื่อได้เจรจาตกลงกันแล้ว คุณพ่อจึงขอซื้อที่ดินจากคุณป้าตามที่วางแผนไว้ โดยคุณป้าขอแถมเงื่อนไข คือคุณป้าจะต้องซื้อที่ดินแปลงนอกที่แม่ซื้อไว้ มีเนื้อที่ ๖๐ ตารางวา เพราะคุณป้ากำลังคิดจะปลูกเรือนหอให้ลูกสาวคนเล็ก ด้วยเหตุว่าระหว่างการเจรจาเรื่องการแต่งงานของดิฉัน ลูกคนเล็กของคุณป้าก็มีชายหนุ่มที่มีทรัพย์พอที่จะทำตามเงื่อนไขของประเพณี ซึ่งคุณป้ายืนยันว่าต้องยึดไม่เปลี่ยน คือฝ่ายหญิงให้ที่ดิน ฝ่ายชายก่อสร้างเรือนหอ แล้วต้องใส่ชื่อฝ่ายหญิงเป็นเจ้าของบ้าน นอกนั้นคุณป้าไม่เรียกอะไรเพิ่มเติม

“ลูกฉันแต่งงานไป ผู้ชายก็เตรียมแหวนไว้ สมัยนี้เขาต้องใช้แหวน ไม่ใช้ทอง แล้วก็เตรียมเงินไว้สร้างเรือนหอ ฉันไม่เรียกร้อง เขาต้องคิดหามาหมั้นเอง ไม่งั้นเขาต้องอายเพื่อนฝูงกันไป แค่เรื่องบ้านนี่ไม่ได้ เผื่อวันหน้า วันหลังใครจะไปรู้ ดูยายกรรณ แต่งงานไปกับเจ๊กเศรษฐีแล้วยังไง เลิกกันแล้วมีอะไรติดตัว”

ในที่สุดการก่อสร้างเรือนหอของดิฉันกับกฤตก็ได้ลงมือและดำเนินไปตามที่คุณพ่อเสนอ มีห้องเพียง ๓ ห้อง ห้องนอนซึ่งมีห้องน้ำอยู่ด้วย ซึ่งคุณพ่อออกแบบให้ราคาถูกก็จริง แต่ความสะดวกสบายที่สุดที่จะเป็นไปได้ คุณพ่อว่าควรยอมเสียเงินเท่าที่จะมีเสียได้ เพราะนานไปจะมีความสำคัญในชีวิตขึ้นทุกที นอกจากห้องนอน ก็มีห้องเก็บของ ซึ่งแม่ยึดถือว่าต้องให้มี เพื่อความสะดวกของชีวิตต่อไปอีกเหมือนกัน มีห้องนั่งเล่นเปิดออกสู่ระเบียงทิศเหนือ ซึ่งไม่ค่อยถูกหลักการก่อสร้างนัก แต่ว่าดีกว่าไม่มีเลย เมื่อสร้างปีกตึกซึ่งจะใช้เป็นห้องหอของดิฉันนี้ ห้องของคุณพ่อและแม่ก็กลายเป็นห้องรื่นร่มโดยไม่มีไอแดดทิศตะวันออกในเวลาเช้า เรื่องการรับแขกนั้นแม่ว่ามีที่ถมไป อาจใช้ห้องรับแขกของคุณพ่อและแม่ก็ได้ หรือจะใช้ระเบียงด้านไหนก็ได้ หรือจะลงไปในสวนซึ่งเป็นสมบัติกลางของญาติทุกคนได้

งานแต่งงานของผมเป็นไปอย่างธรรมดา ไม่หรูหรานัก ไม่เงียบเชียบปรกติ การเลี้ยงอาหารในเวลาค่ำ มีเพื่อนฝูงมาร่วมพอครึกครื้น แต่ประหยัดเพราะเลี้ยงอาหารไทย ซึ่งได้อาศัยแรงงานจากญาติทั้งที่บ้านคุณย่าและบ้านคุณป้า อีกทั้งคุณลุงคนใหญ่ซึ่งมีคนรับใช้เป็นจำนวนมากอยู่ในบ้าน เป็นเวลาที่ทั้งตัวดิฉัน และกฤตและญาติทั้งหลายถือว่าเป็นวันมงคล เพราะมีความรื่นเริงบันเทิงใจพร้อมมูลวันหนึ่ง คุณลุงประจิตเป็นผู้ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ ท่านก็กล่าวท้าวความถึงการที่ท่านพาดิฉันไปพบกับกฤตที่นิวซีแลนด์ และว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบแทนเจ้าบ่าว ถ้าหากทำหน้าที่บกพร่องไปทางหนึ่งทางใด เป็นการแซกความคิดตลกอย่างธรรมดา ซึ่งน้าเรืองมากระซิบแก่ดิฉันว่า

“นี่ไม่เห็นคุณหญิงท่าน เขาไม่ได้รับเชิญหรือไง เสียแรงฉันทำใจมาว่าจะประพฤติตัวดีที่สุดในวันมงคลของตัว”

“เขาไปเที่ยวรอบโลกครั้งที่สาม” ดิฉันบอก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ