บทที่ ๒๐

เด็กคนใช้พาเราเดินอ้อมสนามไปทางด้านตรงข้ามกับประตูบ้าน ไปตามถนนโรยกรวดกว้างพอรถวิ่งได้ ดิฉันหันมาดูรถยนตร์ แล้วถามเด็กนั้นว่า ควรเอารถไปด้วยหรือไม่

“เรือนคุณหญิงตรงนี้ไงคะ” เด็กพูดแล้วก็ชี้มือไปตรงหน้า และเห็นเรือนเล็กหลังหนึ่ง มีรั้วประกอบด้วยไม้พุ่มเตี้ย ๆ กั้นเป็นอาณาเขต แบ่งเป็นส่วนออกไปจากบ้านใหญ่ “คุณจ๋องใช่ไหมคะ”

“คุณช้องเพ็ชรน่ะ” ดิฉันบอกอย่างรำคาญ “ในบ้านนี้เรียกว่าอะไรกันน่ะ”

“ทีแรกก็เรียกคุณช้องเพ็ชรกันว่า คุณหญิง แล้วตั้งแต่คุณทรงเป็นคุณหญิง แล้วก็เลยไม่รู้จะเรียกคุณจ๋องว่าอะไร ยุ่งกันมาอย่างงี้แหละ” เด็กคนใช้ตอบอย่างรำคาญเหมือนกัน

เด็กชี้มือให้เราผ่านช่องในรั้วพุ่มไม้เข้าไป เดินไปสองสามก้าวจึงถึงบันไดเรือนเล็ก ขึ้นบันไดนั้นไปยังไม่พบผู้ใด ไม่มีสุนัขเห่าหรือเสียงคนพูดกัน ดิฉันมองเข้าไปในเรือนตามช่องโล่งที่อยู่ระหว่างห้องสองห้อง เมื่อหมดทางที่จะทำอย่างไรจึงใช้วิธีออกเสียง

“เอ้อ ใครอยู่บ้างคะ”

ไม่มีเสียงตอบ เพื่อนสองคนกับดิฉันยืนมองตากันพิศดูเรือนนั้นไปพลาง เป็นเรือนไม้อย่างดีอายุปานกันกับเรือนใหญ่ที่เราเพิ่งละมา ควรจะได้ทาสีและรับการซ่อมแซมให้น่าดูขึ้นเช่นเดียวกัน ยิ่งดูที่ขอเกี่ยวหน้าต่างซึ่งเปิดอยู่บานหนึ่ง ยิ่งเห็นถึงความไม่เอาใจใส่รักษา เพราะขอนั้นคงจะเป็นเหล็กอย่างดีมีอายุชรา จึงมีสนิมติดเกราะกรังและออกเป็นคราบเป็นบางตอน

เถลิงออกเสียงเรียก “หญิง หญิง เพื่อนมาหา”

เงียบอยู่อีกหลายวินาที แล้วจึงมีหญิงในปัจฉิมวัยแต่ไม่ดูชรามาปรากฏตัวขึ้น ดิฉันจำได้ทันทีว่าเป็นมารดาของช้องเพ็ชร จึงรีบยกมือขึ้นไหว้และทักด้วยเสียงค่อนข้างแหลม

“แน่ะ คุณป้า คุณป้าคะ ดิฉันเป็นเพื่อนของช้องเพ็ชร เป็นลูกแม่ใจแก้ว หลานอากรรณประดับ คุณป้าจำได้ไหมคะ”

“อ๋อ แม่คุณ” มารดาช้องเพ็ชรรับไหว้และทักทายต่อไป “เออ ไม่ได้พบนานเชียวนะ มีธุระอะไรหรือจ๊ะ”

เกิดปฏิญาณขึ้นฉับไวในสมอง ดิฉันตอบว่า “ดิฉันโทรศัพท์มาถามว่าช้องเพ็ชรไม่สบายใช่ไหม แล้วก็เลยนัดมาเยี่ยมเขาค่ะ”

ความประหลาดใจปรากฏในแววตาสตรีสูงวัยผู้นั้น ถามว่า “เขานัดให้คุณมารึ”

“ดิฉันโทรศัพท์มาค่ะ” ดิฉันตอบกำกวม ดิฉันแน่ใจว่าคนที่รับโทรศัพท์คงจะเป็นคนที่เรือนใหญ่ เกิดความอยากรู้เป็นอันมาก จึงขยับตัวออกเดิน “เขาอยู่ในห้องนี้ใช่ไหมคะ” แล้วก็เดินเข้าไปทางที่มารดาช้องเพ็ชรออกมา เดาเอาว่าห้องของช้องเพ็ชรจะต้องเป็นห้องที่หน้าต่างเปิดอยู่ทางด้านขวามือ ดิฉันพยักหน้าให้อินทิรากับเถลิงตามมาพลางแนะนำ “สองคนนี่ก็เพื่อนสนิทของช้องเพ็ชรค่ะ คนนั้นเถลิง นี่อินทิรา”

มารดาช้องเพ็ชรเดินตามเราสามคนมายังห้องซึ่งประตูเปิดอยู่ ไม่ขัดขวางประการใด แต่สีหน้าแปลกใจยังไม่หมดไป ดิฉันเข้าประตูห้อง ก็เห็นช้องเพ็ชรนอนอยู่บนเตียง ในห้องนั้นมีการตกแต่งน่าดูพอใช้ ม่านหน้าต่างสีชมภู โต๊ะเครื่องแป้งมีผ้าปูเป็นสีเดียวกับม่าน มือะไรที่แปลกตาแต่ดิฉันยังจับไม่ได้ เมื่อเข้าไปถึงตัวคนไข้ซึ่งหลับตาและหายใจเบา ๆ อยู่ จึงระลึกขึ้นได้ว่า เตียงของช้องเพ็ชรเป็นเตียงอย่างสมัยเก่าซึ่งคนรุ่นเดียวกันไม่ใช้แล้ว คือกางมุ้งสีขาวเนื้อละเอียด ซึ่งดิฉันนึกชอบ ไม่มีลวดตาข่ายกรุหน้าต่างเหมือนบ้านสมัยใหม่ ทำให้ลมเข้าได้มาก ในห้องนั้นจึงเย็นสบายกว่าห้องนอนอื่น ๆ ในเวลาบ่ายเช่นนั้น

ช้องเพ็ชรลืมตาขึ้น เมื่อเห็นเราทั้งสามก็สะดุ้งจนเห็นชัด ร้องขึ้นว่า “ลูกแก้ว”

ดิฉันวางตัวเป็นเพื่อนสนิทอย่างที่เราเคยได้เป็นกันมาหลายปี ดิฉันเข้าไปนั่งบนเตียง จับแขนของช้องเพ็ชรแล้วพูด “นี่ มีไข้มากไหม ทำไมไม่มีใครรู้เลยว่าเธอเป็นอะไร ได้ยินว่าไม่สบายมาหลายวันแล้วเรอะ”

ช้องเพ็ชรทำท่าอย่างคนเวียนศีร์ษะ หลับตาแล้วลืมขึ้นใหม่ แล้วฝืนยิ้มส่ายหน้าไปมา “ไม่ได้เป็นอะไร ไม่สบายมาสองสามวัน กินอาหารไม่ค่อยได้เลยเพลียเท่านั้นเอง”

อินทิราเข้าไปยืนใกล้เตียง “นายเหลิงเรามาเยี่ยมด้วย จะให้เขาเข้ามาได้ไหม”

แววตาของช้องเพ็ชรบอกความไม่สบาย หลับตาลงและส่ายหน้าเบา ๆ ไปมา อินทิราออกไปบอกเถลิงซึ่งยืนคอยอยู่หน้าประตูด้วยความมีมรรยาทว่าอย่าเพ่อเข้ามา ดิฉันไม่ได้ยินว่าเถลิงว่าอย่างไร แล้วได้ยินเสียงคนลงบันไดไป อีกไม่ช้ามารดาช้องเพ็ชรก็นำน้ำเย็นใส่ถ้วยแก้ววางในถาดเงินอย่างดีเข้ามารับรอง

“พ่อคนผู้ชายแกไปแล้วเรอะ” ท่านถาม

“ดิฉันบอกเขาว่าช้องเพ็ชรดูเหมือนจะกำลังไม่สบาย เขาคงไปรอที่รถ” อินทิราบอก

ดิฉันคิดว่าจะหาความรู้เรื่องภายในครอบครัวช้องเพ็ชรพอให้เกิดความสว่าง ดิฉันไม่เคยทราบมาเลยว่ามารดาของเขาภรรยาหลวง ดิฉันเคยพบช้องเพ็ชรพร้อมกับบิดาของเขา คุณพระธาณินทร์สวามิภักดิ์ และพี่น้องลูก ๆ ของบิดา ก็ไม่เคยเห็นพี่น้องคนใดแสดงต่อช้องเพ็ชรในฐานะเป็นลูกภรรยาน้อยเลย

“คุณป้ามาอยู่เรือนเล็กนี่สบายดีนะคะ” ดิฉันกล่าวแก่มารดาช้องเพ็ชร “ดิฉันชอบจังเรือนอย่างเก่า ไม่กรุมุ้งลวด แต่บ้านดิฉันเล็กมาก แล้วแม่ว่าซักมุ้งไม่ไหว หาคนใช้ไม่ได้แล้วสมัยนี้”

“นี่ฉันซักเองนี่” มารดาช้องเพ็ชรกล่าว “ฉันก็ไม่ชอบอยู่ไอ้ห้องสมัยใหม่ อุดอู้ยังไงไม่รู้ นอกจากจะติดเครื่องเย็นเหมือนคุณพระกับคุณทรงเขา ลูกหญิงเขาก็อยากให้ทำห้องอย่างนั้น แต่ฉันก็ยังไม่อยากเสียเงิน ไหนจะเสียค่าติดตั้งเกือบหมื่น ห้องขนาดนี้แล้วค่าไฟไม่ไหว แล้วคุณพระน่ะ ถ้าไม่สมัยเจี๊ยบเขาก็โปราณเอาเลย เขาว่าเขาไม่ชอบไอ้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ”

“คุณลุงท่านไม่ชอบห้องมุ้งลวดหรือคะ?” ดิฉันถาม

“ไม่อยากไปขออะไรเขามากกว่า” มารดาช้องเพ็ชรตอบ “ฉันมีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ฉันหย่ากับเขาเรียบร้อยนี่จ๊ะ เดี๋ยวนี้แม่ทรงเขาได้รับตราคุณหญิงแล้ว”

“อ้อ คุณป้าเลิกกับคุณลุงแล้วหรือคะ” ดิฉันถามต่อไป

“ไม่ได้อยู่ด้วยกันมาตั้ง ๑๐ ปีกว่าแล้ว” ท่านตอบโดยไม่มีอารมณ์อะไรเลย “ขี้เกียจ คุณพระท่านอยากเข้าวัง อยากไปสถานทูตกับแม่ทรง ก็มากีดอยู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน ฉันก็เลยคิดว่าไม่ให้ได้ประโยชน์อะไร เลยหลีกทางเสียเลย มีคนตั้งแยะไม่รู้ว่าแม่ทรงไม่ได้เป็นเมียแต่งของคุณพระ เพราะฉันไม่ได้ไปไหนกับคุณพระมา วุ้ย สิบกว่าปีจนจำไม่ได้แล้ว เรื่องมันเก่าแก่แล้ว”

“ทำไมดิฉันไม่เคยรู้จักกับคุณอาทรงล่ะคะ หรือเห็นจะต้องเรียกคุณป้ากระมัง คงแก่กว่าคุณพ่อ”

“ขอโทษ คุณพ่อเธอน่ะใครล่ะ” มารดาช้องเพ็ชรถาม

“คุณเกลาค่ะ เกลา กอกรี คุณย่าดิฉันคุณหญิงปรุงค่ะ คุณอาดิฉัน กรรณประดับ แต่งงานกับอาเธียร ลูกเจ้าคุณเกษมสามารถไงคะ”

“เออ จริงซี เจ้าคุณเกษมกับคุณพระก็นับเป็นญาติกันนี่” สตรีมีวัยวุฒิซึ่งดิฉันยังไม่รู้จักชื่อพูดต่อไป ท่านนั่งบนเก้าอี้ซึ่งมีอยู่ตัวเดียวในห้องนอนของลูกสาว และอยากจะพูดคุยด้วย เพราะท่านเล่าต่อไปโดยไม่รั้งรอ “คุณหญิงปรุงฉันจำท่านได้ ตอนคุณเธียรแต่งงานฉันก็ไป แต่ฉันไม่ค่อยได้ไปไหน เห็นคุณพระเขาอยากให้แม่ทรงไป เราก็ขี้เกียจ ฉันเป็นคนอย่างงั้นละ ไม่รู้จักสู้รบตบมือ ลูกหญิงเขาว่าเสมอว่าคนอย่างฉันมีแต่จะเสียเปรียบ”

ดิฉันหันไปดูช้องเพ็ชร เห็นหันหน้าหนีเข้าฝา ไม่พูดว่าอย่างไร จับตัวดูก็ไม่มีไอของไข้ ดิฉันจึงถาม

“ช้องเพ็ชรเป็นอะไรคะ คุณป้าให้หมอมาดูหรือเปล่า”

“เขาไปหามาแล้ว เมื่อก่อนเที่ยงนี่เองเขาก็ไปมา กลับมาแล้วก็บอกว่ากินอะไรไม่เข้า ชอบแต่จะนอนอย่างงี้”

“หญิง ทำไมเธอกลายเป็นคนยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ไปล่ะ” อินทิราพูดบ้าง เพราะคงจะอัดใจหลายอย่าง “การเจ็บไข้มันต้องต่อสู้เหมือนกัน” แล้วหันไปทางมารดา “แล้วยาล่ะคะ แล้วเขากินไหมคะ”

“ไม่เห็นมียาอะไร ถามเขาก็บอกว่าไม่เป็นอะไร” ท่านตอบ

“เขาเป็นมากี่วันคะ” อินทิราถาม

“เป็นๆ หายๆ” มารดาช้องเพ็ชรตอบ “เดี๋ยวก็เป็นอย่างงี้อยู่สองสามวัน แล้วก็เห็นออกไปไหน ๆ สองสามวัน อยู่บ้านละก็นอนเป็นส่วนใหญ่”

อินทิรากับดิฉันสองคนช่วยกันปลอบถามช้องเพ็ชร แต่คนไข้ก็ไม่แสดงว่าสนใจกับการที่เราไปเยี่ยม จนจับได้ว่าอยากให้แขกไปเสียจากตนเร็ว ๆ ช้องเพ็ชรตอบคำถามเพียงคำสองคำ แล้วก็หลับตา กลืนน้ำลาย ดิฉันว่าเขามีท่าผะอืดผะอม ดิฉันออกความเห็นแก่มารดาของเขาว่าดูเหมือนจะเป็นโรคกระเพาะ แต่ช้องเพ็ชรไม่แสดงว่าเห็นด้วยหรืออยากปฏิเสธ เมื่อได้นั่งอยู่ในห้องฐานะผู้เยี่ยมไข้ประมาณ ๒๐ นาฑีแล้ว อินทิรากับดิฉันจึงอำลา มารดาช้องเพ็ชรออกมาส่งถึงบันไดเรือน เราสองคนก็เดินไปขึ้นรถ ดิฉันพาเพื่อนสองคนไปส่งที่ขึ้นรถประจำทางที่สะดวกที่สุด แล้วก็ลาจากกันไป โดยกำชับให้นัดวันพบกันอีกโดยไม่เนิ่นนาน

ระหว่างที่นั่งในรถ อินทิราเล่าให้เถลิงฟังถึงการสนทนาระหว่างดิฉันกับมารดาช้องเพ็ชร เถลิงไม่กล่าวอย่างไร เมื่อกลับไปถึงบ้าน ดิฉันก็เล่าเรื่องให้แม่ฟัง แม่ก็ไม่ให้ความสว่าง บอกว่าไม่ได้ติดต่อกับคุณพระธาณินทร์มาเกือบสิบปีแล้ว และไม่ค่อยได้เอาใจใส่กับชีวิตภายในครอบครัวที่ไม่ต้องช่วยเหลือหรือที่ต้องรบกวนกัน ดิฉันใคร่จะถามคุณป้าวรรณแสง อยากรู้ชื่อของมารดาช้องเพ็ชรและชื่อของมารดาเลี้ยง ครั้นแล้วก็รำลึกขึ้นได้ถึงเชี่ยว ดิฉันจึงโทรศัพท์ไปที่บ้านของน้าของเขา เพราะที่บ้านเชี่ยวยังติดโทรศัพท์ไม่ได้ สั่งให้คนที่บ้านนั้นบอกให้เชี่ยวโทรศัพท์มาถึงดิฉัน กว่าจะได้รับโทรศัพท์จากเชี่ยวก็ล่วงเลยไปถึงวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า ดิฉันกำลังจะต้องไปทำงาน จึงขอร้องให้เขานัดไปกินอาหารกลางวันด้วยกัน เชี่ยวบ่นออดแอดเพราะที่ทำงานอยู่คนละทิศกับของดิฉัน ใครคนหนึ่งต้องรีบออกจากสำนักงานแล้วก็จะต้องรีบกลับ แต่แล้วเขาก็ยอมนัดพบกับดิฉันที่ห้องน้ำชาเอราวัณ

ครั้นดิฉันไปถึงสถานที่นัดพบตามเวลา แทนที่จะพบเชี่ยว ก็ได้พบอาทรรออยู่ อาทรบอกดิฉันทันทีว่าเชี่ยวมีราชการด่วน เขาต้องทำงานจนเสร็จแล้วจึงจะออกมากินอาหารได้ แต่เผอิญอาทรโทรศัพท์ไปถึงเขาด้วยธุระอย่างหนึ่ง เชี่ยวจึงขอให้อาทรมาแทนตัวเขา

ดิฉันคิดว่าอาทรอาจรู้เรื่องของช้องเพ็ชรมากพอสมควร จึงทำเป็นยินดี กล่าวว่า “เอาเถอะค่ะได้พบคุณอาทรก็ดี ดิฉันน่ะเกรงใจจะเที่ยวชวนใครเรื่อยๆ ไป แต่มันเหงาจริงๆ” อาทรลอบมองดิฉันตั้งแต่ปลายผมจนปลายคาง อย่างที่ดิฉันจับได้ชัด ดิฉันทำเป็นไม่สังเกต ชวนเขาคุยต่อไป

“กฤตเขาเขียนจดหมาย หรือส่งไปรษณียบัตรถึงเพื่อนๆ มั่งไหมคะ”

“ผมเคยได้การ์ดใบเดียว” อาทรตอบระหว่างที่กำลังคิดเลือกอาหารกันอยู่

ดิฉันสั่งอาหารแล้วก็ไม่รีรอ ถามอาทรเรื่องที่อยากรู้ทีเดียว “นี่ คุณอาทร คุณรู้จักกับที่บ้านช้องเพ็ชรดีสักแค่ไหน รู้เรื่องภายในของเขาบ้างไหม”

“ภายในแค่ไหน” อาทรย้อนถาม อยู่ด้วยกันสองคน ดูเขามีบุคคลิกลักษณะแปลกตา ไม่เหมือนที่เคยพบกันพร้อมด้วยเพื่อนๆ อื่น ๆ

“เช่นเรื่องคุณแม่เขา แล้วก็คุณหญิงรับตราของคุณพระคุณพ่อเขา”

อาทรหัวเราะหึ ๆ “เอาไปแต่งนวนิยายเขาคงว่าไม่ใช่เรื่องจริง ทีแรกคุณแม่ช้องเพ็ชรเป็นเมียหลวง อยู่ไปๆ ดูเหมือนเดี๋ยวนี้เป็นเมียน้อย”

“อ้าว เรื่องราวเป็นไงมาไงล่ะคะ” ดิฉันถามเรื่อยๆ แบบสนุกกับการซุบซิบ

“คุณป้าปอง หรือที่ถูกคุณย่ากระมัง” อาทรเริ่มเล่า “ผมก็ไม่ค่อยได้ไปนับญาติกับใครนัก ทีแรกเป็นเมียแต่ง แล้วยังไงไม่รู้ กลายเป็นคุณพระไปไหนมาไหนกับคุณป้าทรง แล้วยังไงก็ไม่รู้คุณป้าปองไปอยู่ที่เรือนเล็ก คุณป้าทรงครอบครองบ้าน แล้วเดี๋ยวนี้เป็นคุณหญิงไปแล้ว”

“นั่นซี เราไปเชยยุ่งกันใหญ่” ดิฉันเล่าให้อาทรฟังตามเหตุการที่ได้ไปเห็นมา

อาทรนิ่งฟังอย่างสงบ เขาทำท่าตรึกตรองจนดิฉันถาม “คุณอาทรรู้หรือเปล่าว่าช้องเพ็ชรเขาไม่สบาย”

“ทราบเหมือนกัน” เขาตอบ

“แล้วจะไปเยี่ยมเขาไหม”

เขานิ่งไปอีกครู่ใหญ่ แล้วตอบ “เขาออกจากบ้านได้เป็นครั้งคราว ไม่รู้ว่าตอนไหนเขาไม่สบาย ตอนไหนเขาไปไหนๆได้ไม่เป็นไรหรอก คุณไปเยี่ยมแสดงน้ำใจก็ดีแล้ว เขาไม่ได้เป็นอะไรมากแน่”

เราสนทนาเรื่องอื่นต่อไป ดิฉันซักชื่อคุณแม่ของช้องเพ็ชร และมารดาเลี้ยงซึ่งเป็นน้าของช้องเพ็ชร ได้ความเพิ่มว่าเป็นญาติกันกับคุณพ่อช้องเพ็ชร และได้รับความอุปถัมภ์มาจากคุณพระทั้งสองคน แล้วก็ไม่ได้ความรู้อะไรอีก เมื่อรับประทานอาหารแล้ว สั่งถึงเพื่อนที่เคยร่วมสนุกกันแล้วก็ลาแยกกันไป ดิฉันกลับบ้านวันนั้นก็นำเรื่องไปเล่าให้น้ารวงรัตน์ฟัง เล่าถึงเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับตัวดิฉันกับอาทรและอาทรกับช้องเพ็ชรด้วย น้ารวงรัตน์ว่า

“โธ่ จะสืบของพรรณอย่างนี้ง่ายนิดเดียว เรามีขุมทรัพย์อยู่ใกล้ ๆ”

“คุณป้าหรือคะ” ดิฉันถาม น้ารวงรัตน์พยักหน้า แล้วก็นัดว่า “พรุ่งนี้จะหาคำตอบให้ได้หมด อย่างช้าก็มรืนนี้ น้าก็สนใจเหมือนกัน ช้องเพ็ชรนี่แกมีอะไรที่น้าเห็นไม่เหมือนผู้หญิงทั่ว ๆ ไปมานานแล้ว แกสวยผาดโผด แต่ทำไมไม่ได้แต่งงานเสียที อายุก็เท่าๆ กับลูกแก้ว ตอนนี้ก็เข้าระยะสาวแก่แล้ว ยังไม่ถึงขั้นเลิกหวังอย่างน้าเท่านั้น”

“เอ ถึงขั้นเลิกหวังนี่อายุเท่าไหร่คะ”

“เห็นจะเป็นคน ๆ กระมัง น้าดูเหมือนเลิกคิดมานานแล้ว หรือจะพูดให้ถูกลืมคิดไปหรือไงก็ไม่รู้ ชอบแต่จะอยู่ในบ้านของตัวเองเสียแหละมาก น้าโรจน์เขาว่าเป็นสาวเทื้อมาแต่กำเนิด บอร์นโอลด์เมด” น้ารวงอธิบายศัพท์เป็นภาษาอังกฤษตามธรรมเนียมของคนไทยสมัยนี้

สองวันต่อมา น้ารวงก็เดินมาหาที่เรือน พบดิฉันนั่งคุยอยู่กับคุณพ่อ ก็เข้ามาบอกว่า “น้าไปสืบได้เรื่องหมดแล้ว”

“คงจะเรื่องพระธาณินทร์ละ” คุณพ่อว่า “จริงๆ นะ พี่ยังอดอยากรู้ไปด้วยไม่ได้เลย คุณพระนี่ท่านเคยทำงานกับคุณพ่ออยู่พักหนึ่งก่อนเปลี่ยนการปกครอง”

“แม่ช้องเพ็ชรน่ะ” น้ารวงเริ่มเล่า “ชื่อปองทรัพย์ มีน้องสาวชื่อ ทรงสิน ทีแรกคุณปองแต่งงานกับคุณพระตั้งแต่ยังหนุ่มๆ สองคนนี้เป็นคนมีทรัพย์มาก่อน แต่พ่อแม่ไม่ค่อยมีการศึกษาอะไร เป็นญาติกันห่าง ๆ ต้องอาศัยทางบ้านคุณพระดูแลเรื่องทรัพย์สมบัติกับอะไรต่ออะไร ก็เลยแต่งงานกับคุณพระ แล้วพ่อแม่ตายหมด น้องสาวก็มาอยู่ด้วย ก็เรื่องเก่า คุณพระก็ต้องยกย่องน้องเมียแบบเก่า”

“จริงเสียด้วยนา รายไหนรายนั้น เรื่องน้องเมียอยู่กับพี่เขยนี่” คุณพ่อเสริม

น้ารวงรัตน์หัวเราะออกมาดังๆ คุณพ่อเลยตีหน้าเก้อๆ แล้วน้ารวงรัตน์ เล่าต่อไป

“คุณปองทรัพย์นั้น คุณพี่วรรณแสงว่าไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว เงินทองก็ดูแลไม่เป็น รักลูกกลัวลูกทั้งผู้หญิงผู้ชาย แต่ผู้ชายเขาไปทำงานอยู่เมืองนอกก็หมดปัญหาไป ช้องเพ็ชรพี่แสงไม่ค่อยได้รู้จัก ได้ยินแต่ว่าเที่ยวเก่ง ควงกับคนนั้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่กล้าถามถึง ๕-๖ ปีมาแล้ว คุณพระก็เอาคุณทรงไปไหนมาไหนด้วย แล้วได้โอกาสตอนคุณปองไปมีหนี้สิน คุณพระจึงขอให้ถอนทะเบียนสมรส แล้วจดทะเบียนกับคุณทรง แล้วให้อยู่เรือนเล็กซึ่งดูเหมือนคุณพระตั้งใจให้ลูกชายอยู่ ช้องเพ็ชรคงจะไม่ถูกกับแม่เลี้ยง พี่แสงว่าคุณทรงมักพูดถึงช้องเพ็ชรอย่างประ มาทหน้าว่าคงจะไม่ได้แต่งงานกับคนดี ๆ พ่อแม่เขาคงไม่ต้องการให้ลูกชายเขา ถึงได้ต้องไปโน่นมานี่อยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้เที่ยวหาคนที่อยู่ห่างตาของพ่อแม่”

คุณพ่อถอนใจใหญ่ “วันนึง ๆ คนเรานินทากันวันจะกี่เรื่องนะ มีใครทำสถิติไว้บ้าง”

“โธ่ ลูกแก้วไม่ได้ตั้งใจจะนินทาเพื่อนเลยค่ะ” ดิฉันรีบชี้แจง เพราะรู้ว่าคุณพ่อไม่ค่อยชอบการสนทนาแบบนั้น “แต่มันไม่เข้ากับรูปรอยของช้องเพ็ชรเลย พบเขาที่ไหนเขาเป็นคนเด่นที่สุดในงานเสมอ”

“พี่แสงเล่าอะไรที่น่าสนใจอีกอย่าง” น้ารวงรัตน์ว่า “น้าชมแกว่าสามารถจริงๆ พี่แสงว่าคุณทรงว่า ช้องเพ็ชรเอาเครื่องเพ็ชรแท้ ๆ ของแม่กับที่พ่อให้ไปเปลี่ยนเป็นของเก๊ เช่นเปลี่ยนเพ็ชรเป็นพลอย เปลี่ยนทองแท้เป็นทองกาไหล่สำหรับจะได้ใส่หลาย ๆ ชุด ใครไม่รู้จะได้ว่ามีเครื่องเพ็ชรแยะๆ”

“พ่อก็ไม่เคยเอาใจใส่กับแกเลย” คุณพ่อว่า "แล้วคุณพระธาณินทร์เป็นยังไงก็ไม่ได้เอาใจใส่ รู้แต่ว่าเขาเกี่ยวดองกับบ้านนายเธียรเท่านั้น แล้วก็ได้ยินว่ารวย”

“พี่แสงว่าคุณพระเป็นคนใจอ่อน ปล่อยให้คุณปองเป็นเมียหลวงต่อไปก็คงหมด เพราะนอกจากจะเก็บเงินไม่เป็นแล้วตามใจลูกเป็นเทวดาแล้ว ยังชอบทำอวดฉลาด ขายสวนไปซื้อนา ขายนาไปซื้อตึก ขายตึกไปลงทุนกับคนนั้นคนนี้ ทำการค้าไอ้โน่นไอ้นี่ ทำหน้าใหญ่ให้คนกู้ยืมเงินแล้วก็สูญ” น้ารวงรัตน์เล่าต่อ

ดิฉันใจหดหู่ นึกเห็นภาพช้องเพ็ชรนอนผอืดผอมไม่อยากดูหน้าเพื่อน คิดสงสารและเห็นใจ แล้วหวนคิดถึงกิริยาวาจาที่แสดงต่อดิฉัน ช้องเพ็ชรวางตัวเป็นคนสำคัญ อาจจะหางานเงินเดือนแพง ๆ ให้ใครก็ได้ แล้วก็เกิดความงุนงง แล้วคิดขึ้นมาถึงอาทร เขารังเกียจช้องเพ็ชรเพราะประวัติของมารดา หรือไม่ชอบตัวช้องเพ็ชรเอง คิดเพลินจนน้ารวงรัตน์ตั้งข้อสังเกต “เบื่อเรื่องซุบซิบนินทาแล้วใช่ไหม ลูกแก้วนี่ คุณเกลาฝึกหัดมาจนเกือบจะไม่เป็นผู้หญิงในสังคมไปแล้ว”

“ไม่ถึงกับอย่างนั้นหรอกค่ะ” ดิฉันรีบแก้ “เป็นแต่นึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง เขาไม่ชอบช้องเพ็ชรเลย มีแต่เรื่องขอดข้อนต่าง ๆ ถ้ารู้ความจริงในบ้านคงสมน้ำหน้า แต่ลูกแก้วไม่สมน้ำหน้าเลย ช้องเพ็ชรไม่เคยแสดงอะไรที่เป็นการดูถูกเพื่อน เป็นแต่ทำอย่างที่เราเรียกว่า เบ่ง มังคะ”

“น้าก็หวังดีกับแก อยากให้แกแต่งงานกับผู้ชายที่เขารักแกจริง ๆ ดูเหมือนแกก็มีความสามารถนะ ไม่งั้นจะมีคุณอาคนนั้น คุณลุงคนนี้ชวนไปอยู่ประเทศนั้นประเทศนี้ด้วยกันตั้งหลาย ๆ หนเรอะ คงได้พึ่งแกยังไงมั่งหรอกน่ะ อย่างน้อยแกคงรับแขกเก่ง”

เป็นคราวเคราะห์ดีของช้องเพ็ชรที่อินทิรามีราชการชุก ไม่มีโอกาสพบกับดิฉันเป็นเวลานาน ดิฉันก็ไม่พยายามติดต่อกับอินทิราเพราะไม่อยากเล่าความในของช้องเพ็ชรให้ฟัง เถลิงไม่ติดใจ เขากำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่างประเทศ แต่ประมาณ ๕ วันต่อจากที่ดิฉันทราบเรื่องราวจากน้ารวงรัตน์ ก็ได้ความแปลกใจมาก อาทรโทรศัพท์ไปที่ที่ทำงาน ขอพบดิฉันหลังเวลาเลิกงานที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งที่ถนนเพลินจิตร เป็นที่เงียบไม่พลุกพล่าน ดิฉันไม่เคยไปมาก่อนเลย อาทรบอกสถานที่ทางโทรศัพท์แจ่มจ้างและเกือบจะวิงวอนให้ไปพบให้ได้ ดิฉันจึงไปตามความประสงค์ของเขา

อาทรพาดิฉันไปนั่งที่โต๊ะหนึ่งไกลจากคนอื่นๆ ในร้านนั้น ซึ่งก็มีลูกค้าจำนวนน้อย แต่มีขนมอร่อย และน้ำชาอย่างดี เขาไม่เสียเวลาอารัมภบท พอเริ่มการสนทนาไปไม่กี่มากน้อยก็บอกธุระเขาต้องการเจรจา

“คุณลูกแก้ว ผมว่าคุณเป็นคนญาติมาก แล้วก็คงมิตรมาก เรื่องซุบซิบนินทาในสังคมคงไม่ลอดหูคุณไปได้นาน” เขาเริ่ม “คุณคงได้ยินว่าผมจะหมั้นกับช้องเพ็ชร แล้วก็คงได้ยินคนเขาล้อกันว่าผมรักคุณ”

ดิฉันเกือบสำลักน้ำชา เหลือบตาขึ้นมองหน้าเขา มีเสียงที่ไม่เป็นเสียงกระทบหูดิฉันว่า “ผู้ชายคนนี้รักเรา ผู้ชายคนนี้รักเรา เป็นไปได้หรือ เป็นไปได้หรือ” แล้วดิฉันก็ตัดสินใจรวดเร็ว ตอบเขาสั้นที่สุดอย่างที่เขาเคยปฏิบัติต่อดิฉัน

“ทราบค่ะ”

“คุณรู้สึกยังไง” อาทรถาม น้ำเสียงเขาราบเรียบไม่มีประหม่าเลย จนดิฉันเกือบแสดงความพิศวงออกไปซึ่งๆหน้า

“ดิฉันอยากทราบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หมายถึงเรื่องหลัง” ดิฉันตอบเสียงไม่ค่อยชัดเจน

“คุณว่าอาจเป็นจริงได้ไหม” เขาถาม

“มันไม่น่า ใช่ไหมคะ” ดิฉันหาคำพูดไม่ได้

“เพราะเมื่อผมได้รู้จักกับคุณน่ะ คุณรักกฤตใช่ไหม”

“ก็อย่างนั้นใช่ไหมล่ะคะ”

“กฤตนี่ คุณรักเขามากแค่ไหน” เขาจับตาดูหน้าดิฉันเหมือนจะส่องให้ทะลุเข้าไปในใจให้ได้

“ทำไมล่ะคะ ก็ผู้หญิงทุกคนก็รักสามีมากที่สุดซิคะ” เสียงดิฉันเริ่มกระเส่า เลือดวิ่งขึ้นลงในร่างกายจนเกิดความชาในสมอง

“ไม่เหมือนทุกคน บางคนรักตราบเท่าที่สามีดีกับตัว บางคนรักเรื่อยไปดีเลวอย่างไรก็รัก อภัยให้ได้ทุกอย่าง อย่างกฤตนี่ มีอะไรที่คุณจะอภัยให้ได้หรืออภัยให้ไม่ได้มั่ง”

“คุณอาทรคะ ดิฉันดูกิริยาอาการของคุณ ดูเหมือนอยากรู้ความจริงที่สำคัญใช่ไหมคะ”

“แน่นอน เท่าที่ผมพูดกับคุณมาถึงนี่ คุณน่าจะเข้าใจอะไรดีแล้ว คงไม่ใช่อยากคุยเล่นสนุกๆ เป็นแน่” เขายังจ้องหน้าดิฉันไม่ละสายตาไป

“ถ้าดิฉันพูดความจริง คุณจะว่าดิฉันบ้าไหมนะ” ดิฉันปรารภ

“ผมอยากรู้ความจริง ขอความกรุณาเถอะ” เสียงของเขาเริ่มเปลี่ยน ดวงหน้าของเขาแสดงความสะเทือนอารมณ์ ขอบตามีสีประหลาด จนดิฉันต้องเมินหนี แล้วดิฉันก็ทำตามที่ได้รับการอบรมมา หรือจะเป็นเพราะอุปนิสัยเป็นเช่นนั้น คือรีบพูดความจริงตามความคิดนึกของตน

“กฤตนี่นะคะ ดิฉันรักเขาไม่ใช่เพราะรูปร่างถูกนัยน์ตา มารยาทดีอย่างเดียว ดิฉันมีความหวังจากเขามาก ดิฉันคิดว่าเขาเป็นผู้ชายคนหนึ่งในสมัยนี้ที่น่าจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ คนไม่ค่อยคิดกันแต่ดิฉันคิด ลูกหลานกำนันในชนบทคนหนึ่ง ฉลาดเรียนหนังสือดี แต่ถ้าไม่มีคนแนะดีๆ จะได้เล่าเรียนได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยรึคะ แล้วถ้าบ้านเมืองเราไม่สนับสนุนคนทุกชั้นให้ได้รับการศึกษาจนสุดที่เขาจะไปได้ กฤตจะเป็นคนมีความรู้อย่างนี้หรือ ถูกละมีคนจนๆ กว่ากฤตที่ฉลาดกว่ากฤต แล้วก็ไม่ได้ทุนไปศึกษาอย่างกฤต คงมีอีกมากในเมืองไทย แต่ดิฉันไม่บ้าอุคมคติถึงแค่นั้น ดิฉันว่าเราให้โอกาสคนมากทีเดียว แล้วกฤตเป็นคนทำงานเป็นด้วย ไม่ใช่ฉลาดแต่การเรียนเอาปริญญามา กฤตเอาใจใส่กับชีวิตของคนในบ้านในเมือง พบกันตั้งแต่แรกรู้จักกันที่นิวซีแลนด์ ดิฉันก็เห็นว่า คนอย่างนี้สำคัญสำหรับบ้านเมืองเรา เพราะยังงั้น ถ้ากฤตทำอะไรที่ผิดหวัง ดิฉันอาจหมดความสุขตลอดชีวิตทีเดียว แต่ดิฉันก็มีลูกถ้าหากกฤตไม่เป็นไปอย่างที่ดิฉันหวัง ดิฉันก็จะรักเขาเหมือนผู้หญิงอื่น ๆ รักสามี ไม่ภาคภูมิใจ ไม่นับถือ ดิฉันกลัวที่สุดกลัวดิฉันจะเลิกรักกฤตมากกว่ากฤตเลิกรักดิฉัน คุณคงว่าคุณกำลังพูดกับคนบ้าแล้ว แต่ดิฉันก็ช่วยไม่ได้ ดิฉันว่าบ้าอย่างนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าดิฉันจะไม่ตรอมใจถ้ากฤตไปรักผู้หญิงอื่น ดิฉันคงเศร้ามาก แต่ดิฉันก็จะเศร้าเกือบเท่า ๆ กันถ้ากฤตไม่เป็นอย่างที่ดิฉันหวัง แต่ว่านั่นแหละค่ะ ยังไม่ถึงเวลาก็พูดไปได้ ไม่รู้เหมือนกันแรงหึงกับแรงสร้างวิมาน สร้างรูปนิมิตไหนจะมีกำลังกว่ากัน รู้แต่ว่าถ้าผิดหวังไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร ก็คงตรอมใจไปพักหนึ่งล่ะค่ะ อ้อ ยังมีบ้ายิ่งกว่านั้นไปอีก” ดิฉันรีบพูดเสียให้หมดข้อความ เพราะความคิดนึกท่วมท้นอยู่ในใจมาแรมเดือน มีคนตั้งใจฟังก็เหมือนมีคนเบิดประตูน้ำให้ไหลพลังออกมา “ดิฉันบ้าพอทีจะคิดว่า ถ้ากฤตไปรักผู้หญิงอื่น กฤตจะเป็นคนที่ดิฉันอยากให้เป็นยากกว่าถ้าเขามีภรรยาอย่างดิฉัน แล้วเวลานี้ดิฉันว่ากฤตกำลังอยากให้ตัวเป็นอย่างที่ดิฉันหวัง”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ