บทที่ ๘
หกเดือนผ่านไป ชีวิตสมรสของดิฉันและกฤตเป็นชีวิตของคู่สมรสใหม่ซึ่งคงจะไม่ผิดแผกกับคู่อื่น ๆ นัก ในตอนต้น ๆ ก็มีการนำกันไปหาญาติผู้ใหญ่ ไป “ไหว้” ตามประเพณีเพียงสองสามท่าน และต่างคนต่างพากันไปทำความสนิทสนมกับเพื่อนของตน กฤตนับว่าเป็นคนมีเพื่อนน้อยกว่าดิฉัน คงเป็นเพราะว่าเรียนหนังสือต่างจังหวัด และเพื่อนเหล่านั้นห่างเหินกันไป เพื่อนของกฤตที่สนิทกันอยู่ เป็นคนที่ไปพบกันระหว่างไปศึกษาต่างประเทศ หรือได้มาร่วมงานกันภายหลังเป็นส่วนใหญ่ ดิฉันได้ชักพาไปให้สนิทกับเพื่อนที่เข้าชุดกันกับจันทร์ฉวี อินทิรา และเถลิง และชุดอื่น ๆ กฤตวางตนสนิทได้กับเพื่อนๆ เกือบทุกคน
ทางฝ่ายญาตินั้น เมื่อก่อนจะแต่งงาน คุณพ่อได้ “อบรม” น้ารื่นก่อนคนอื่น ซึ่งแม่ได้นำมาถ่ายทอดว่า บทที่หนึ่งคือขอร้องให้น้ารื่นเป็นผู้หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ด้วยคนหนึ่งในวันแต่งงาน
“เราต้องเปลี่ยนไปตามสมัยบ้าง รื่น พระพุทธเจ้าท่านยังสอนให้ประพฤติตามสัปปุริสธรรม อะไร ๆ แล้วแต่กาละเทศะและบริษัท รื่นจะกลัวคุณ ๆ ที่บ้านเราหาว่ารื่นมาทำตัวตีเสมอคุณ ๆ ที่บ้านนี้ ไม่ต้องกลัวไปถึงอย่างนั้น ระวังตัวเราไว้ไม่ให้ใครมาว่าได้ก็ดี แต่ตอนนี้มันเป็นตอนสำคัญของชีวิตลูกแก้ว คนค่อนขอดสองสามคนกับความรู้สึกของลูกแก้ว รื่นคิดดูไหนจะสำคัญกว่ากัน ลูกแก้วเขาต้องการให้น้ารื่นรดน้ำเขา เราก็รด เราก็รอให้บ้านโน้นเขาหมดก่อน แขกหมดก่อนแล้วรื่นก็เข้าไปรด อย่ายึดอะไรให้มันเกินไป มันจะเกินพระพุทธเจ้าไป”
ขณะที่คุณพ่อพูดกับน้ารื่น น้ำตาน้ารื่นไหลริน แม่ว่า “เป็นธรรมดา คนที่เรารัก เราก็อยากให้ดีที่สุด น้ารื่นเกิดมาในบ้านขุนนาง ปู่ย่าตายายรับใช้ขุนนาง มาเลี้ยงลูกแก้วเป็นเชื้อสายขุนนางก็พอใจน้ารื่น แต่นี่เราจะได้คนที่เป็นชาวไร่ชาวสวน พ่อแม่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน น้ารื่นก็เห็นว่าต่ำไปสำหรับลูกแก้ว ลูกแก้วก็ต้องทำความเข้าใจ อย่าเก็บไปน้อยใจไม่เป็นเรื่อง”
“ที่จริงลูกแก้วเข้าใจน้ารื่น” ดิฉันว่าแก่แม่ “อย่างน้อยก็มีหลักการอะไรดีกว่าคนที่คิดแต่เรื่องเงิน ถ้ากฤตมีเงินมากกว่านี้ เรื่องลุงเป็นเพียงกำนันผู้ใหญ่บ้านก็คงไม่มีปัญหาอะไร ทำไมคะ ถ้าเป็นเจ้าของห้างใหญ่ ๆ บริษัทอะไรต่ออะไร ดีกว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านยังไง”
“ต่างคนต่างก็ดูกันคนละทาง ลูก จะให้คนคิดเหมือนเราหมด โลกก็ไม่เป็นอย่างนี้ซี หนังสือพิมพ์เขายังมีคอลัมน์โลกที่เราเลือกไม่ได้” แม่ว่า
ต่อจากนั้น น้าโรจน์กับน้าเรืองก็ทำกิจ “อบรม” คุณป้า วันหนึ่งระหว่างที่คุณป้ามานังคุยกับคุณพ่อตามกิจวัตร ซึ่งคุณป้ามักยกขึ้นเป็นวิริยะที่ควรสรรเสริญอันหนึ่งของคุณป้าบ่อย ๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม น้าโรจน์ก็เข้ามาร่วมวงสนทนา ซึ่งไม่ใช่เป็นกิจวัตรของน้าโรจน์ ถ้าหากมีคุณป้าอยู่ น้าโรจน์มักจะมาสนทนาเป็นเพื่อนคุณพ่อในวันที่มีญาติอื่นมาเยี่ยม แต่ในวันนั้น น้าโรจน์มาร่วมโดยจงใจ น้าโรจน์หาโอกาสได้ก็กล่าว
“ลูกแก้วจะแต่งงานกับดอกเตอร์กฤตอะไรนี่ ผมว่าเราพวกผู้ใหญ่จะต้องเตรียม ๆ ใจไว้ให้ดีหน่อย”
“ฉันทำใจได้แล้ว คุณพ่อคุยเสมอว่าตั้งชื่อลูกไม่แพ้รัชกาลที่ ๕” คุณป้าว่า เสียงแข็งนิดหน่อย “ดูนิสัยใจคอแล้วถึงตั้ง ใจแก้วน่ะท่านรู้ว่าใจดี ท่านถึงตั้งชื่อให้เหมาะ ส่วนฉันน่ะ ท่านว่าจะเป็นคนรักตระกูล ท่านถึงตั้งตามชื่อคุณทวด แกสองคนน่ะ ท่านก็จะรุ่งเรือง ที่จริงท่านจะให้คนหนึ่งชื่อ รุ่งโรจน์ คนหนึ่งชื่อ รุ่งเรือง แล้วคุณลุงคุณพ่อพี่ประจิตว่า แล้วมันก็เหลือแต่ไอ้เรืองกับไอ้โรจน์ ไปรุ่งให้มันเสียเวลาทำไม ท่านเลยตั้งพยางเดียว”
“แล้วรวงรัตน์ล่ะ”" แม่อดไม่ได้ถามขึ้นด้วยความอยากรู้ “ฉันเคยนึกหลายหน ทำไมให้เป็นรวง”
“รวงก็คือพืชพันธุ์ ที่งอกออกมาจากกิ่งก้านดอกกอ” คุณพ่อช่วยอธิบาย
“คงอย่างนั้นแหละ” คุณป้าสนับสนุน
“ท่านอาจหมดปัญญาแล้วก็ได้ตอนแม่รวงต้องมีชื่อ” น้าโรจน์ว่า น้าโรจน์มักขัดแย้งความเห็นของคุณป้าเพื่อความสนุก
“แกก็เท่านั้นแหละ พอต้องการเงินละก็ “พ่อแม่พี่บ้าน้าอาก็สำคัญขึ้นมา” คุณป้าพูดพลางค้อนนิดหนึ่ง
“เอ สบประมาทกันนะครับพูดแบบนี้ น้าโรจน์พูดเฉย ๆ “แต่ก็อาจมีความจริงบ้าง แต่ผมใช้ดอกเบี้ยทุกบาทเลยนะไม่เคยบูดเบี้ยวเลยนะ” คุณป้าไม่ยอมให้น้า ๆ ผู้ชายคนไหนยืมเงินคุณป้าโดยไม่มีหนังสือสำคัญเลย และคิดดอกเบี้ยอย่างยุติธรรมตามราคาตลาด คุณป้าว่ามีผลให้ได้คืนเร็ว
คุณป้านิ่งไปครู่หนึ่งเพราะหาคำพูดต่อเรื่องไม่ถนัด น้าโรจน์จึงมีโอกาสพูดต่อไปตามที่ต้องการ
“ผมอยากคุยเรื่องหลานเขยคนใหม่ ผมว่าเราต้องนัดกันทำอะไรให้มันเข้าที เขาแปลกพวกแปลกพ้องเข้ามา คงมีอะไรที่เขาเคยชินที่เราไม่เคย ถึงพวกผู้ดี ๆ ด้วยกันก็ต่างบ้านต่างก็ถืออะไรกันมากบ้างน้อยบ้าง เราต้องทำลืม ๆ ให้เขาหน่อย อย่าให้เขาเอาไปด่าได้ว่าพลัดมาเข้าบ้านผู้ดีแล้วเขาเดือดร้อน สำหรับความสุขของหลานเรา”
“แกหมายถึงฉันใช่ไหม” คุณป้าถาม แววตาไม่ค่อยเป็นมิตรกับน้าโรจน์นัก “แกจะว่าฉันเจ้ายศเจ้าศักดิ์คนเดียวในบรรดาพวกเรา พวกแกประชาธิปไตยกันเต็มที ให้มันจริงนะ”
“ที่จริงไอ้ประชาธิปไตยนี่ เราอ้างมันไปอย่างนั้นเอง” น้าโรจน์ว่า “วันเวลามันเปลี่ยนไป สมมูติว่าไม่เปลี่ยนการปกครอง ก็คงมีพระยาใหม่ ๆ หรือเจ้าพระยาใหม่ ๆ เกิดขึ้น หม่อมอะไร ท่านผู้หญิงอะไร กะโปงบานไปซื้อปาเอามะพร้าวมาแกงกะเกือก็มีมาแล้ว”
“สมัยนี้มันมีอะไรที่มันซ่อน ๆ แอบ ๆ อยู่” คุณพ่อพูดขึ้นมา “ที่โรจน์ว่าอ้างประชาธิปไตยก็จริง แต่การปกครองมันก็มีส่วนเร่งขึ้น แล้วก็มีเรื่องคนรวยขึ้นหลังสงคราม กับคนที่ไปเล่าเรียนได้ปริญญาสูง ๆ อย่างกฤต หนุ่ม ๆ สาว ๆ เขาไปเมืองอเมริกาเมืองยุโรป เขาก็เสรีภาพขึ้นสมองกันมา เราเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นฝ่ายทน เพราะจะเกณฑ์ให้เด็กทนไม่ได้ ฝ่ายเด็กเขาไม่รู้ว่าเรารำคาญอะไร หรือนิยมชมชอบอะไรเพราะอะไร คนไม่รู้อดีตจะให้เข้าใจปัจจุบันแท้ ๆ ก็ไม่ค่อยได้ แล้วก็รู้อนาคตก็ไม่ได้
“แล้วเขามีการแข็งขืนคนแก่เป็นหลักการเสียด้วยนะ” น้าโรจน์ว่า “เรื่องนี้ผมเคยคุย ๆ กับคนหนุ่ม ๆ เขาดู อย่างผมนี่เขาถือว่าแก่ หัวเก่า แต่เอาเถอะ เรื่องพวกนี้ยังไม่ใช่ปัญหาในบ้าน ปัญหาของเราผมเป็นห่วงลูกแก้ว อย่าให้เขาอ้างว่าทนผู้ใหญ่ของลูกแก้วไม่ได้เป็นดี”
“เอาเถอะ ฉันจะมาให้เขาทนน้อยที่สุด” คุณป้าว่า
“นั่นซีครับ” น้าโรจน์ร้องเบา ๆ “ถ้าทำอย่างนั้นละก็ เขาก็ต้องมีความรู้สึกแน่ ผมหมายความว่า มันเข้ามาเป็นลูกหลานแล้วก็ต้องถือเป็นลูกหลาน คนรุ่นใหม่นี่มันดูอะไรไม่ค่อยออกหรอก พี่แสง เราสุภาพกับเขาก็พอแล้วเขาไม่คอยจ้องดูว่าเราจะพูดคำเล็กคำน้อยอย่างไร โดยเฉพาะผู้ชาย ผมยังคิดว่าโบราณท่านทำถูกที่ให้ผู้ชายอยู่บ้านผู้หญิง คนไทยเราเรื่องชีวิตครอบครัว ผมว่าฉลาดรู้ทันธรรมชาติมนุษย์ดีมาก”
“ผมมาเป็นเขยอยู่ในวงนี้ก็สบายดี” คุณพ่อว่า “แล้วสะใภ้ละ เขามีเรื่องหนักใจอะไรไหม”
“เขามันเป็นญาติ เป็นเพื่อนรู้จักกันมาตั้งแต่พ่อแต่แม่ มันไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีก็ไม่รู้จะโทษอะไร แต่ลูกเขยคุณเกลานี่ พ่อแม่เขาออกจะรู้สึกอยู่ว่าเขาเป็นชาวไร่ชาวสวน ระวังๆ ไว้แหละเป็นดี” น้าโรจน์สรุป
เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว กฤตกับดิฉันก็ทำตามที่นิยมกัน คือไปพักผ่อนตามลำพังที่บ้านพักเล็ก ๆ หลังหนึ่งของคุณลุงประจิตที่ชะอำ ได้รับความรื่นรมย์สมกับที่ได้ใฝ่ฝันไว้ กฤตกับดิฉันมีนิสัยต้องกันหลายอย่าง เป็นต้นว่า ดิฉันชอบมองดูใบไม้ไหวเมื่อต้องลม รู้สึกว่าเป็นสิ่งสวยงามที่สุดอันหนึ่งในธรรมชาติ ดูเหมือนของมีชีวิตกำลังได้รับความสุข กฤตก็ชอบตรงกัน ดิฉันชอบแสงเดือนในเวลาหัวค่ำในคืนข้างขึ้นอ่อน ๆ กฤตก็ชอบเหมือนดิฉันอีก เราเดินเล่นกันชายหาดในเวลาที่ท้องฟ้ามีดาวระยิบระยับ มีอารมณ์สอคคล้องกัน เวลาเช้าดิฉันชอบลงไปเล่นน้ำทะเลเวลาที่มีคลื่นแต่เพียงน้อย ๆ น้ำใสสะอาด ชอบมองดูคลื่นในเวลาเย็น ยอดคลื่นถูกแสงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าไปแล้วกระทบทำให้ดูเป็นสีชมภูเรื่อ ๆ ชอบฟังเสียงนกสองสามตัวมาร้องปลุกให้เราตื่นขึ้น แล้วสองวันสุดท้าย เราก็ทำตามคำแนะนำของแม่ ว่าให้แวะที่ตำบลคลองกาญจนา ค้างที่บ้านของกฤต ๒ คืน ทำความรู้จักกับญาติของกฤตเกือบตลอดลำคลองนั้น ซึ่งโดยมากทำสวนส้มและสวนองุ่น ที่ยังทำนาก็มีอยู่อีกมาก ดิฉันได้ไปเยี่ยมบ้านย่าพัด และได้ทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีของอาพงศ์ซึ่งพิการด้วยโรคเดียวกับคุณพ่อ แต่อาพงศ์ลูกชายย่าพัดพอเดินไปได้ช้า ๆ ด้วยอาศัยไม้ยันรักแร้ทั้งสองข้าง ที่ดิฉันแปลกใจมากก็คืออาพงศ์มีภรรยาหลังจากที่พิการแล้ว เป็นลูกชาวบ้านหน้าตาบอกความใจดี แต่เกือบไม่มีความรู้เลย อาพงศ์เผอิญเป็นคนฉลาดชอบอ่านหนังสือ สนใจกับข่าวสารการเมืองทุกชนิด ได้ตั้งใจจะบวชเป็นพระภิกษุประกอบประโยชน์ทางศาสนา “ขั้นธรรมดานะหลาน ไม่ถึงเอาขั้นนิพพาน ขั้นช่วยชาวบ้านแถวนี้” แต่เมื่อได้กลายเป็นคนพิการไป อาพงศ์ก็รับเอาวิบากกรรมได้ดี ไม่ตีโพยตีพาย ช่วยมารดาดูแลทรัพย์สมบัติเท่าที่จะทำได้ เช่นทำบัญชีเก็บค่าเช่านา เช่าสวน ดอกเบี้ยเล็กๆ น้อย ๆ เจรจากับคนที่มาติดต่อ และถ้าหากเกิดความคิด ก็เขียนบทความสั้น ๆ ไปให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกันนำลงให้บ้าง
ลุงกำนัน ที่มีชื่อตัวว่า การ เป็นคนน่าสนใจอีกคนหนึ่ง วิธีพูดจาเข้ากันกับที่ว่า “เสียงดังฟังชัด” ความเห็นของลุงกำนันเป็นความเห็นที่ใครจะคัดค้านไม่ได้ แต่เมื่อได้ต่อต้านความเห็นที่ผิดไปจากของตนไปชั่วคราวแล้วลุงกำนันก็ค่อยๆปรับความคิดของตนเองให้เปลี่ยนแปลงไปให้เกิดประโยชน์ได้ พ่อกิจบอกว่า
“พี่น่ะ ใครขัดไม่ได้ แกต้องดันทุลังของแกไปก่อน แล้วไป ๆ ก็อ่อนลง”
“ต้องมีฝ่ายค้านสำรองไว้เรื่อยซีนะคะ” ดิฉันกล่าวเชิงถาม
“ก็ไม่ค่อยมีใครกล้านัก เพราะเสียงแกดัง แต่ว่าเคราะห์ดีมีอาพัด อาพัดแกมีวิธีพูดของแก ไป ๆ แล้วก็มักเหได้ แต่พวกน้อง ๆ ต้องนิ่งไว้ก่อน ไม่งั้นพ่อเอาเปิง”
ลุงกำนันกับญาติผู้ใหญ่ของกฤตนั้น ดิฉันได้ “ไหว้” ตามประเพณีตั้งแต่วันแต่งงาน ไม่ได้รอไว้สัปดาห์หนึ่งหรือมากกว่านั้นเหมือนญาติผู้ใหญ่ฝ่ายดิฉัน ลุงกำนันได้รับไหว้กฤตกับดิฉันด้วยเงินสองชั่ง เป็นธนบัตรใบใหม่ ๆ สอดในซองกระดาษขาวมีตัวอักษรเขียนบนซองว่า “เงินรับไหว้เจ้าบ่าวเจ้าสาว” ซึ่งเมื่อน้าเรืองเห็นก็กล่าวว่า “นี่ ชาวบ้านน่ะเขาดีอย่างนี้ ให้ก็ให้กัน ไม่ต้องเสียเวลาห่อกระดาษสีกระดาษสา ติดริบิ้นโค้งไปโค้งมาให้เสียเวลา”
ลุงกำนันดูออกจะถูกใจดิฉันมาก รุ่งขึ้นจากวันที่กฤตกับดิฉันไปถึง พ่อกิจได้นิมนต์พระมาเลี้ยงที่บ้าน ๕ องค์เป็นการแสดงความยินดี แล้วก็บอกกล่าวให้ญาติมาร่วมกันทำบุญและกินอาหาร ลุงกำนันมาตามคำเชิญ ญาติที่มาเกือบทุกคนถามว่า มีการเลี้ยงพระเนื่องในโอกาสอะไร พ่อกิจตอบว่า “อาพัดว่า เวลาเรายินดี ก็ทำบุญ ใครจะมาว่า” แล้วอาพัดก็ชี้แจงต่อไป “ฉันได้หลานสะใภ้ฉันดีใจ ฉันก็ให้พ่อกิจเขาทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านเขาให้มันสมกับที่ดีใจ ใครจะห้ามว่าไงหรือจ๊ะ” ญาติทั้งหลายก็พากันเห็นตามว่าเป็นโอกาสอันสมควร อาลำใยว่า
“ฉันละดีใจ๊ ยิ่งได้ทำบุญยิ่งดีใจ บ้านเรามันคับแคบ ไม่งั้นจะทำมันให้ทุก ๓ วัน นี่ได้แต่ใส่บาตร”
กฤตบอกแก่ดิฉันโดยเฉพาะว่า “อาพัดฉลาดยังงี้เสมอ ถ้าจะเชิญมากินเลี้ยงกันกลางวัน ไม่มีใครเขาทำกันหรอก ถ้าไม่ทำบุญจะไปบอกให้ใครเขามาดูลูกแก้วกันยังไง เดี๋ยวได้มากระเย้อกะแหย่ง มาทำบุญอย่างงี้ก็มากันได้ทั้งลำคลอง”
“ลูกแก้วไม่ได้แกล้งทำเลยนะ รู้สึกรักอาพัดจริง ๆ” ดิฉันบอกแก่สามีของดิฉัน
ดิฉันสุขกายสบายใจตลอดเวลาที่อยู่ที่บ้านของกฤต มีความรำคาญซึ่งทนได้ไม่ยากนักอยู่อย่างเดียว คือตั้งแต่จำความได้ดิฉันไม่ยอมให้ใครตัดชื่อลงเลย ญาติของดิฉันก็มักไม่ทำ เพราะชื่อคล้ายแม่ แต่ระหว่างญาติของกฤต นอกจากญาติเด็ก ๆ ก็ต้องทนให้เรียก แม่แก้ว กันทั่วไป มีญาติคนหนึ่งเป็นครูโรงเรียนประจำตำบลเรียก คุณแก้ว และมีย่าพัด ซึ่งออกจะเป็นคนยกเว้นทุกกรณี ย่าพัดคนเดียวเรียก แม่ลูกแก้ว เต็มชื่อเสมอ
เมื่อดิฉันกลับมาบ้าน ก็เล่าถึงข้อสังเกตต่าง ๆ ให้ญาติของดิฉันฟัง ดิฉันออกจะขัดใจมากเมื่อน้าเรืองเรียกดิฉันแม่แก้วตามญาติที่คลองกาญจนาบ้าง ดิฉันขึ้นเสียงเอา
“น้าเรืองคะ การที่ลูกแก้วแต่งงานกับกฤตนี่ น้าเรืองเห็นเป็นตลกหรือคะ”
“เบา ๆ จ้ะ แม่แก้ว อะไร ๆ ก็ไม่ว่า ขออย่าลืมอารมณ์ขัน มันจะทำให้ทุกคนมีชีวิตได้เป็นสุขกว่าอย่างอื่น” น้าเรืองว่า
พอเข้าเดือนที่เจ็ดของชีวิตสมรส ดิฉันก็รู้สึกว่ามีอาการผิดปรกติเกิดขึ้นในร่างกาย เมื่อไปหาแพทย์ก็ได้รับคำยืนยันว่า เลือดของ กอกรี ผสมกับ มีนา กำลังก่อกายกระจ้อยร่อยขึ้นแล้ว กฤตตื่นเต้นมาก ใฝ่ฝันให้เป็นลูกผู้ชาย แต่แม่เตือนว่า วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญถึงขั้นที่พ่อแม่จะกำหนดเพศของลูกได้ ขอให้ยินดีรับเอาตามบุญเก่ากรรมเก่า
ระยะนั้นเองคุณลุงประจิตก็ขอยืมตัวดิฉันให้ติดตามท่านไปประชุมที่ไต้หวัน ท่านมาพูดกับกฤตอย่างเกรงใจ
“เลขาของลุงเขาป่วย มีอยู่แต่ฟิลิปปินส์ที่ทำงานในสำนักงานที่พอจะเอาไปด้วยได้ แต่ลุงกับแกไม่ค่อยกินเส้นกันเรื่องภาษาอังกฤษ แกนึกว่าแกเก่งกว่าลุง แก้ไอ้นั่นไอ้นี่ คราวนี้ต้องไปพูดเรื่องที่ออกจะจั๊กกะจี้กัน ลุงประสาทชักจะไม่ดีเลย อยากขอลูกแก้วไปเป็นเพื่อนลุง เห็นใจว่ายังไม่ทันเบื่อหน้ากัน แต่ก็ดีนะ จากกันแล้วตอนกลับมาออกรสขึ้นไปอีก”
กฤตอิดออดไม่เต็มใจให้ดิฉันไป แต่ดิฉันเห็นว่าคุณลุงประจิตเคยมีบุญคุณต่อแม่และน้า ๆ หลายเรื่อง การจากกันเพียง ๕-๖ วันกฤตไม่น่าจะทำให้สำคัญเกินไป
“ลูกแก้วจะเขียนถึงกฤตทุกวัน อย่าเป็นห่วงนักเลย”
ระหว่างที่อยู่ทีเมืองไท้เผ เมืองหลวงของสาธารณจีนหรือใต้หวัน ดิฉันได้พบกับเพื่อนเก่าคือ ช้องเพ็ชร ผู้ซึ่งจันทร์ฉวีเรียกว่า คุณหญิงท่าน การที่เพื่อนบางคนเรียกช้องเพ็ชรเช่นนั้น ก็เพราะว่าช้องเพ็ชรมีชื่อเรียกเล่นในหมู่ญาติว่า หญิง และญาติได้ปล่อยให้ช้องเพ็ชรใช้เป็นสรรพนามสำคัญตัวเองจนติดปากมาจนโต ซึ่งก่อความรำคาญแก่คนที่สมาคมกับพระราชวงศ์ เพราะเป็นสรรพนามของหม่อมเจ้าหญิง ภายหลังใช้มาถึงหม่อมราชวงศ์หญิง หลายคนพากันเห็นว่าไม่เป็นการสมควรสำหรับคนที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์จะทำเทียม ญาติของดิฉันก็รำคาญกัน แม้น้ารวงซึ่งเป็นคนหัวใหม่ก็เคยปรารภ
“ถ้าเป็นคนธรรมด๊าธรรมดาเขาทำไปโดยไม่รู้ น้าก็มักไม่รู้สึกอะไร ของพรรณอย่างนี้ แต่คนมีเชื้อมีแถวทำนี่ทนไม่ค่อยได้ยังไงไม่รู้”
เพื่อน ๆ โดยมากซึ่งไม่รู้ถึงประเพณีเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็เรียกช้องเพ็ชรตามที่เจ้าตัวเรียกตัวเอง คือเรียกเป็นชื่อเล่นว่าหญิง เพื่อนดิฉันคนหนึ่งเป็นหม่อมราชวงศ์ เคยใช้สรรพนามว่า หญิง เมื่อได้เข้าพวกคบเข้าชุดกับช้องเพ็ชรก็เปลี่ยน บอกให้เพื่อน ๆ เรียกชื่อเล่นเป็นอย่างอื่น ช้องเพ็ชรดูเหมือนไม่เคยสังเกต จันทร์ฉวีนั้นยืนยันว่าช้องเพ็ชรทำโดยจงใจ แต่ดิฉันเห็นว่าไม่ใช่เหตุสำคัญจนถึงจะคบกันไม่ได้ โดยเฉพาะช้องเพ็ชร์เป็นคนน่าสนใจหลายอย่าง
คุณลุงประจิตได้เข้าพักในโรงแรมที่โอ่อ่าที่สุดในเมืองไท้เผ ซึ่งพ่อค้าจีนที่มีอาชีพในประเทศไทยมีส่วนเป็นเจ้าของ และได้เชิญให้ท่านไปใช้โรงแรมนั้น ช้องเพ็ชรก็พักอยู่ที่โรงแรมเดียวกันนั้นด้วย แต่ที่ดิฉันพบช้องเพ็ชรหาใช่ที่โรงแรม ไปพบกันที่พิพิธภัณฑ์อันโอฬารพันลึกของนครนั้น
ที่ดิฉันใช้คำแปลกสำหรับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้ ก็เพราะอยากหาคำที่ให้เหมาะแก่ความรู้สึกของดิฉันต่อสถานที่แห่งนั้นแต่หาไม่ได้ คิดได้คำที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่พิเศษเท่านั้นเอง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้ มีอาคารไม่กว้างใหญ่ไพศาลนักเทียบกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของประเทศทั้งหลาย แต่ดิฉันหลงใหลสิ่งของที่เขาแสดงในที่นั้น จนกระทั่งคุณลุงประจิตล้อว่า ให้ขออนุญาตอยู่ต่อไปจนกว่ากฤตจะไปรับตัวกลับกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์สถานนี้อยู่ไกลออกไปนอกเมือง แต่ดิฉันพยายามหารถนั่งไปชมศิลปวัตถุที่นั้นได้ถึง ๓ ครั้งระหว่างการประชุม ๖ วันที่กรุงไท้เผ ดิฉันกำลังยืนจับตาจ้องมองหยกสลักเป็นรูปต้นผักกาดเขียวผ่าซีก ชมสีเขียวอ่อนเขียวแก่สีขาวแกมเขียวและขาวบริสุทธิ์ในเนื้อหยก ซึ่งช่างได้บรรจงสลักให้สีนั้น ๆ อยู่ในที่ที่ควรเห็นควรชม จนกระทั่งหยกชิ้นนั้นดูประหนึ่งเป็นต้นผักกาดที่มีชีวิตราวกับว่าใบและช่อผักนั้นจะไหวตัวเรียกให้คนชม และผักช่อนั้นจะส่งกลิ่นหอมสดเรียกความรักความใคร่จากผู้ที่ได้เห็น
ดิฉันกำลังยืนเพลินเหมือนถูกสะกด ก็มีมือหนึ่งมาบีบต้นแขนเบาๆ ดิฉันสะดุ้งสุดตัว เกือบร้องออกมาด้วยเสียงดัง ก็ได้ยินชื่อดิฉัน “ลูกแก้วนั่นเอง ดูท่ายืนแล้วจำได้ไม่ผิด”
“ว้าย ช้องเพ็ชร” ดิฉันอุทาน “ไปเที่ยวท่องที่ไหนมาบ้าง ดู มาพบกันที่นี่ได้ ไม่ได้พบกันเป็นเวลาเท่าไหร่แล้ว”
“หญิงติดตามข่าวลูกแก้วทุกก้าวเลยจ้ะ” ช้องเพ็ชรว่า
“เลอะ มีข่าวอะไรนาติดตามมั่ง” ดิฉันถาม
“ทำไก๋นะ” ช้องเพ็ชรว่า “ก็เรื่องดอกเตอร์ลูกทุ่งของเธอมันน่าสนใจน้อยไปเมื่อไหร่”
ดิฉันหัวเราะด้วยความพอใจ “เธอมาทำอะไรที่นี่นะ มากับใคร”
“เธอคิดว่าหญิงมากับใครล่ะ ถูกเก็บมาเหลอ”
“บ้านะ ถามจริง ๆ”
“คุณอาโพยมกำลังย้ายกลับจากญี่ปุ่น หญิงไม่เคยมาเมืองไทเปเลย เลยขอให้พามา”
“เธอไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกับคุณอาโพยมนานเลอะ”
“ไป ๆ มา ๆ คุณอาโพยมอยู่ที่ญี่ปุ่น ๓ ปี หญิงไปๆ มาๆ อยู่หลายหนตอนหลังนี่ ไปฮอโนลูลู ไปอาลาสกาด้วย เที่ยวใหญ่เลย”
“น่าอิจฉาจัง” ดิฉันพูดด้วยใจจริง
“หญิงอิจฉาลูกแก้ว อยากแต่งงานกับดอกเตอร์ลูกทุ่งมั่ง”
“ก็ดอกเตอร์ที่ไม่ใช่ลูกทุ่งตามอยู่เป็นแถว” ดิฉันว่า
“ไป ๆ แล้วก็หมดความสนใจ ขยับปากก็รู้เสียแล้วว่าจะพูดอะไร”
ขณะนั้นดิฉันรำลึกขึ้นมาได้ว่าถึงเวลาดิฉันต้องกลับไปช่วยคุณลุงทำงาน ต้องชวนช้องเพ็ชรกลับเข้าเมือง โดยแถมว่า “คืนนี้กินข้าวที่ไหน อยู่โรงแรมอะไร”
“อยู่ที่เดียวกับลูกแก้วนั่นแหละ” ช้องเพ็ชรตอบ “ไปกินที่ไหนก็ไป ที่โรงแรมไม่อยากกินเบื่อ”
“วันนี้คุณลุงดูเหมือนว่าง ไม่มีงานเลี้ยง ถ้าท่านว่าง ท่านชอบไปตามร้านเล็ก ๆ เบื่อโรงแรมเหมือนกัน”
ดิฉันกลับเข้าเมืองด้วยรถคันเดียวกับช้องเพ็ชร ช้องเพ็ชรถามถึงเพื่อน ๆ ทุกคนที่เป็นชุดเดียวกันรวมทั้งเถลิงซึ่งถึงแม้จะคบกับจันทร์ฉวี แต่ก็พบกับช้องเพ็ชรบ้านเพื่อนร่วมชั้นในมหาวิทยาลัยตามโอกาส
“นายเหลิงไม่อกหักเรอะ” ช้องเพ็ชรถาม
“เขาจะหักเรื่องอะไร เพื่อนๆ ช่วยจับคู่ให้ยังงั้นเอง” ดิฉันว่า
“เหลิงมันกลัวคุณป้า คุณน้าๆ ของลูกแก้วนะ ไม่งั้นมันก็คงขยับดูมั่ง” ช้องเพ็ชรแสดงความเห็น “แต่นี่มันเห็นว่ามันไม่มีทาง มันก็เลยทำตัวแค่เพื่อน”
“พวกเรามันช่างหูทิพย์ตาทิพย์ รู้ไปหมดนะ”
“ดอกเตอร์ของเธอนี่คงจะอรรคฐานพอใช้นะ ไม่งั้นไม่กล้าเข้าไปจดหรอก คุณป้าหญิงของเธอน่ะใคร ๆ เขาก็รู้กันว่าท่านต้องเรียกเป็นหลักๆ เชียวละ”
ดิฉันเริ่มรำคาญ เลยชวนคุยเรื่องญี่ปุ่น ช้องเพ็ชรเป็นคนคุยได้ทุกเรื่อง เมื่อถูกถามเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการเจ้าหล่อนก็สนทนาอย่างน่าสนใจและให้ความรู้ได้
คืนนั้นคุณลงประจิตชวนพวกที่ไปร่วมประชุมด้วยกันบางคนไปเลี้ยงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งท่านรู้จักว่าพ่อครัวมีฝีมือและทำอาหารแบบเซี่ยงไฮ้ มีรสจัดถูกปากคนไทย ดิฉันชวนช้องเพ็ชรกับญาติที่มากับเขาไปด้วย คุณลุงพอใจกับช้องเพ็ชรมาก เพราะท่านชอบคนสวยโดยเฉพาะถ้าเป็นคนกล้า คุยสนุก เมื่อกลับจากกินอาหาร ช้องเพ็ชรยังได้ช่วยตรวจเอกสารและร่างสุนทรพจน์ที่คุณลุงจะต้องกล่าวในพิธีปิดประชุมด้วย ในวันต่อมา ดิฉันกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับคณะที่ไปประชุม แต่ช้องเพ็ชรเลยไปเที่ยวฮ่องกงอีกแล้วจึงจะกลับกรุงเทพฯ