บทที่ ๑๖

ดิฉันพยายามไม่คิด พยายามไม่รู้สึก พยายามปฏิบัติต่อกฤตเหมือนว่าไม่มีความระแวงสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย พยายามซ่อนกิริยาอาการไม่ให้คุณพ่อหรือแม่หรือน้ารื่นสงสัย แต่หลายครั้งดิฉันถูกน้ารื่นดุในเรื่องสติลอยเวลาอุ้มลูก บางคราวก็ส่งขวดน้ำให้ลูกดูดโดยไม่ตรงปาก น้ำกระฉอกออกเปียกสองแก้ม เปียกผ้าอ้อม น้ารื่นร้องว่า “เออ ไม่น่าเลย คุณลูกแก้วทำอะไรก็ละเอียดละออดี พอมาถึงเลี้ยงลูก ทำไมเป็นอย่างงี้ แล้วไม่ชอบให้ใครช่วยเสียด้วย”

ดิฉันเกิดความรู้สึกหวงลูกขึ้นมาก ถ้าอยู่บ้านดิฉันจะอุ้มชูอยู่เกือบตลอดเวลา เมื่อส่งให้คนอื่นก็ร้องหาเป็นเวลานาน จะล่ออย่างใดมักไม่สำเร็จ และมักรู้ว่าแม่อยู่บ้านหรือไปทำงานจะร้องอ้อนได้หรือไม่ ดิฉันมีความรู้สึกต่อลูกว่าเป็นสะพานอันเดียวที่จะเชื่อมดิฉันไว้กับกฤต แม้เราเลิกล้างกันไป ลูกก็จะได้เป็นเครื่องเตือนใจของดิฉันถึงความรัก ความหวังที่ดิฉันมีในตัวกฤต

มีเรื่องแทรกซึ่งน่าขัน แต่อารมณ์ดิฉันไม่ขัน จึงเห็นเป็นเรื่องเศร้า คือคุณป้าโกรธน้ารวงรัตน์จนกระทั่งรื้อรั้วบ้านที่กั้นอาณาเขต จากที่เป็นรั้วไม้โปร่งเตี้ยๆ แล้วก่อใหม่เป็นกำแพงสูง น้าเรืองบอกว่าสูงกว่ากำแพงเมืองลอนดอน และบอกคุณป้าว่า กำแพงบ้านคุณป้าทำให้บ้านคุณป้ามองดูเหมือนเรือนจำที่ถนนอุณากรรณ ซึ่งคุณป้าคงไม่พอใจ แต่ไม่แสดงความโกรธ แต่ครั้นน้าโรจน์ทักขึ้นวันหนึ่งว่าเหมือนกำแพงบ้านเศรษฐีรุ่นใหม่ คุณป้าจึงโกรธมาก

“อ้าว จริงๆ” น้าโรจน์ยิ่งอธิบายซ้ำ “พวกคนจีนเขาเคยอยู่เมืองคนแน่น ๆ กันมาหลายชั่วคน พอสร่างบ้านต้องสร้างกำแพงให้เป็นหลักฐาน แล้วดูคนจีนชั้นกลาง เขามีเงินเขาก็ซื้อที่ดินแปลงเล็กนิดเดียว แล้วปลูกบ้านเต็มแปลง เอาให้อัครฐานทีเดียว”

คุณป้าไม่เห็นขันด้วย “แกจะมาเยาะว่าฉันก่อกำแพงอวดมั่งอวดมีหรือไง” ท่านถาม

“ผมไม่เห็นจำเป็นต้องกั้นกำแพง” น้าโรจน์ว่า ใครๆ ก็รู้ว่าคุณพี่มั่งมี ดูที่นิ้วมือก็ตีราคาได้”

คุณป้ายิ่งโกรธมากขึ้น “แกรู้ไหมว่าทำไมฉันถึงต้องกั้นกำแพง”

“เห็นรวงเขาว่า หมาเขามันกระโดดข้ามรั้วเข้าไปทำต้นไม้คุณพี่เสีย แล้วคุณพี่ให้ขังหมา เขาก็ว่าเขาสงสารมัน ยังคิดอยู่ว่าจะทำยังไงก็พอดีคุณพี่สั่งรื้อรัวแล้วก่อกำแพง เขาก็เห็นว่าขบปัญหาได้ดี”

“รั้วไม่ใช่เตี้ยๆ มีอย่างรึหมาแม่รวงกระโดดข้ามได้” คุณป้าสบัดเสียง

“อ้าว คุณพี่ว่ารวงหัดหมาให้กระโดดเข้าบ้านคุณพี่รึ” น้าโรจน์พูดหน้าตาเฉย แต่ด้วยจงใจจะยั่วให้คุณป้าโกรธต่อไป

“ไม่ใช่หมาอย่างเดียว ฉันรำคาญคนด้วย” คุณป้าพูด พยายามบังคับน้ำเสียงและสีหน้า

“อ้าว แม่รวงทำอะไรให้คุณพี่รำคาญ” น้าโรจน์ถาม

“รำคาญหนุ่ม ๆ” คุณป้าว่าทำหน้าเฉยเหมือนน้าโรจน์ทำเมื่อกล่าวยั่ว

“โธ่ คุณพี่” ตอนนี้คุณพ่ออดอยู่ไม่ได้ “รวงเขาเป็นอาจารย์ลูกศิษย์เขาหนุ่มๆ เขาก็ไปมาหาสู่กันมั่ง”

“ไปมาหาสู่กันถึงสองยามแปดทุ่มเชียวเรอะ” คุณป้าถามทำหน้าเฉยอีก แต่เสียงสูงขึ้นทุกที

“อือ คุณพี่บอกเวลาให้ตรง ๆ อย่าใช้คำพังเพยจะดีกว่า” น้าโรจน์ทำเสียงเหมือนสั่งสอน ทำให้คุณป้าโกรธยิ่งขึ้นจนผิวหน้าเป็นสีชมภู

“ขอตัดคำว่าแปดทุ่มออก เพราะไม่เคยถ่างตาอยู่ แต่สองยามน่ะแน่”

“ไอ้คนที่อยู่สองยามน่ะมันตาการุณ หรือไม่งั้นก็ตาการุณกับเพื่อน บางทีมันมาขอนอนค้าง มันเด็กบ้านนอกมาเยี่ยมกันแล้วก็นึกว่าจะมีที่อาศัยเหมือนบ้านนอก รวงเขาเคยบอกผมให้เป็นพยานเอาไว้” แล้วน้าโรจน์ก็หัวเราะ “ที่จริงคุณพี่รำคาญผมก็เห็นใจ แต่เราก็เห็นใจรวงเขาด้วย เขาไม่ใช่เด็กๆ แล้ว อย่าไปห่วงเขาเลย” แล้วน้าโรจน์เปลี่ยนเสียงให้อ่อนลง ทำให้ฟังว่าเห็นใจ “พี่แสงลองคิดดูให้ดีเถอะ เรารำคาญคนที่เรารักน่ะ ถ้าเป็นคนอื่น เราอาจดูสนุกไป แต่ว่าคนที่เรารัก เขามีชีวิตเป็นอีกแบบหนึ่ง เราแบบหนึ่ง ก็ต้องตัดใจไป”

คุณป้าหน้าชื่นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะน้าโรจน์เป็นน้องชายที่คุณป้ารักมาก แท้จริงแล้วคุณป้ารักน้องๆ ด้วยใจจริง แต่ความคิดเห็นไม่ทันกัน น้องๆ จึงมักไม่ค่อยอภัยให้คุณป้าเท่าที่ควร ในเรื่องนี้คุณพ่อคอยเป็นสื่อแปลสารให้เสมอๆ

ค่ำวันนั้น ดิฉันเล่าถึงการสนทนาระหว่างน้าๆกับคุณป้าให้กฤตฟัง ตั้งใจจะให้เขายินดีว่าการุณกับน้ารวงรัตน์มีความสนิทสนมกัน แต่เมื่อฟังจนจบแล้ว กฤตกล่าวว่า

“คุณป้าคงนึกว่า ลูกเขยคุณเกลานี่น่ารำคาญหลายอย่าง”

“ดิฉันเกิดน้อยใจขึ้นมาต่อคำพูดของกฤต “ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราเลย ถ้าไม่มีการุณ น้ารวงอาจมีลูกศิษย์แบบแปลกๆ ยิ่งกว่านี้ก็ได้ เดี๋ยวนี้นิสิตในมหาวิทยาลัยหาได้ทุกแบบ”

กฤตก้มหน้าแล้วเงยขึ้นพูด “ถ้าหากว่าเมื่อจะแต่งงาน กฤตหาเงินปลูกบ้านในแปลงนอกของแม่ได้ คงจะสบายกว่านี้ใช่ไหม”

“โธ่ กฤต” ดิฉันบังคับน้ำเสียงไม่ให้บอกความไม่พอใจไม่ได้ “การแต่งงานมันมีปัญหาทั้งนั้นแหละจ้ะ ไม่อะไรก็อะไรอย่างหนึ่งละ ปัญหาใหญ่ของลูกแก้วกฤตไม่คิดมั่งเรอะ มีพ่อพิการ แล้วเป็นลูกคนเดียว คุณพ่อดีใจยังไงที่เราอยู่ด้วย แล้วนี่อากรรณจะกลับไปดีกับอาเธียร ลูกแก้วก็ต้องทำหน้าที่แทนคุณพ่อบ้างสำหรับคุณย่า คุณลุงกาจกับคุณลุงกล้าสั่งว่า ให้หมั่นพาเหลนไปหา

กฤตนิ่งไป แล้วก็ประพฤติต่อกันไปตามเคยโดยไม่ค่อยมีความดูดดื่มอย่างที่เคย ดิฉันพยายามระงับใจทุกคราว ความน้อยใจว่า โธเอ๋ย ลูกยังไม่ถึง ๖ เดือน พ่อแม่ก็จืดจางกันแล้ว ทำให้ดิฉันต้องข่มใจไม่ให้น้ำตาไหลพราก ดิฉันจะไม่ทำให้ความจืดจางกลายเป็นความแตกร้าว จะยึดชีวิตสมรสไปให้ยาวที่สุดเพื่อลูก แม้ว่าจะเป็นชีวิตที่ขาดความชุ่มชื่นดังที่คาดหวังไว้

อีกประมาณสองเดือนนับจากวันที่อาเธียรทำบุญที่บ้านเก่า ดังที่เล่าแล้ว วันหนึ่งดิฉันได้รับโทรศัพท์จากเถลิง เขาพูดมาว่า “นี่ลูกแก้ว เที่ยงนี้มีนัดกับใครไหม เรามาทำธุระแถวถนนสีลม ประเดี๋ยวจะไปรับกินข้าวกลางวันหน่อยได้ไหม” ดิฉันรับด้วยความยินดี จวนเที่ยงเถลิงก็ไปหาที่สำนักงาน ดิฉันกับเขาไปหาภัตตาคารอาหารจีนราคาไม่แพงหาที่นั่งได้พอคุยกันได้สดวก

รับประทานบะหมี่เป็ดย่างกันคนละชาม จวนจะอิ่มแล้วเถลิงก็พูด “เออ ลูกแก้ว เล่าให้ฟังมั่งซิ งานการ ลูกเต้า”

“เออ ลูกเราจะชื่อตัว ก ได้แล้วละ กลายเป็นว่าวันจันทร์ ไม่ใช่วันอังคาร เลยต้องชื่อตัว ก ด้วยซ้ำไป”

“เอ๊ะ ทำไมเปลี่ยนวันได้ยังงั้นล่ะ” เถลิงถามอย่างอยากรู้จริงๆ

“เด็กนี่มันเกิดตีห้า วันนั้นทำไมดูสว่าง เลยคิดกันว่าวันอังคาร แต่ท่านพระครูที่บ้านกฤตท่านว่าเป็นวันจันทร์ เลยจะตั้งชื่อกันละ ยังไม่รู้ว่าจะ ก อะไร คุณพ่อว่าให้ชื่อเก้าไปก่อนจนกว่าจะคิดอะไรได้ดีกว่า”

“เออ แล้วการงานกฤตเขาเป็นยังไง”

“ก็อย่างเดิม” ดิฉันตอบ “ตัวละจะเป็นหัวหน้าแผนกแล้วไม่ใช่เรอะ เรื่องจะไปเมืองนอกยังเงียบอยู่เรอะ”

“ช่างมันเถอะ” เขาตอบ “แล้วไงอีกล่ะ เรื่องของลูกแก้วมีอะไรอีก”

“มีเรื่องอากรรณจะกลับดีกับอาเธียร” ดิฉันพูดเรื่อยๆ “จะสนใจไหมก็ไม่รู้”

“เออ แล้วคุณนั่นล่ะคุณอาทร เขาพอใจไหม”

“ฮื้อ เขาจะเกี่ยวอะไร” แล้วคิดขึ้นมาได้ “เออ จริงนะ ไม่เคยมีใครคิดถึงอาทรเลย แต่เขาคงไม่เป็นยังงั้นหรอก พ่อยังหนุ่มแค่นี้ ถึงไม่แต่งกับเมียเก่าก็ต้องแต่งกับใครคนหนึ่งละ”

“เขาไม่เคยพูดอะไรกับลูกแก้วรึ” เถลิงถาม

“ฉันไม่เห็นอาทรแกพูดอะไรกับใครเลย” ดิฉันพูดพลางหัวเราะ

“ทำไมต้องหัวเราะ” เถลิงถามเป็นจริงเป็นจัง

“ก็จะหัวเราะ หรือใครจะทำไม” ดิฉันเย้าเขา

“หัวเราะทำไม พอพูดถึงอาทร” เขาถามอีก

“เออ ก็แกไม่พูดไม่จา เคยพบแกแล้วไม่ใช่เรอะ ทำไมเกิดมาสนใจกับอาทร ไปชอบแฟนคนเดียวกันเข้าหรือไง”

“จริงๆ น่า อาทรนี่แกไม่พูดไม่จากับลูกแก้วเรอะ”

“นี่ นายเหลิง รับมาเสียดี ๆ นายถูกแม่หวีกับแม่อี๊ดใช้ให้มาสืบอะไรใช่ไหม เล่าไปนะ ถ้าเล่าดี ๆ ตรง ๆ ก็จะได้ฟังอะไรตรงๆ ดีๆ ถ้าไม่บอกดีๆ ก็จะไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย”

“เขากำชับมาว่าอย่าให้ลูกแก้วรู้ว่าเขาถาม ให้เป็นเราถามเอง” เถลิงทำหน้าตื่นนิดหน่อย

“พุทโธ่เอ๊ย บอกแม่สองคนนั้นถี่เถอะ จะใช้ทูตทั้งที ให้มีบุคคลัญญุตามั่งเถอะ ใช้มาได้ คนแบบนี้”

“เขาบอกตัวตรงๆ แล้ว ตัวต้องบอกเขาตรง ๆ มั่งนะ” เถลิงวิงวอน

“จะให้บอกเรื่องอะไรล่ะ”

“ก็เรื่องอาทรนี่ไง”

“ตายจริง จะเล่าอะไรล่ะเรื่องอาทร” ดิฉันหมดปัญญาจริงๆ

“โธ่ ก็เขาลือกันทั้งเมือง ลูกแก้วจะไม่รู้เชียวเรอะ” เถลิงทำเสียงพ้อ

เขาลือว่าอาทรเป็นอะไรกับฉันงั้นเรอะ” ดิฉันเบิกตาโตขึ้นถาม

“ไม่ช่าย เขาลือกัน ไม่ลือละ จันทร์ฉวีกับอี๊ดเขารู้แน่อาทรน่ะคุณย่าเขาจะให้แต่งงานกับคุณหญิง แต่อาทรบอกว่าไม่เอา เขารักคนอื่นเสียแล้ว ถึงยังไงเขาก็ไม่แต่งงาน มีคนสันนิษฐานกันหลายคนว่าอาทรรักลูกแก้ว รอให้ลูกแก้วเลิกกับกฤตเสียก่อน”

“แล้วฉันจะเลิกกับกฤตเรื่องอะไร” ดิฉันถามเสียงสั่น

“ก็เรื่องคุณหญิงน่ะซี หรือว่าไม่รู้อะไรเลยอีก มันจะเกินไปหน่อยละ”

ดิฉันอยากร้องไห้และอยากหัวเราะเถลิงด้วย “นายเหลิง ทำไมตัวไม่ขอแต่งงานกับเราเสียนะ จะได้ไม่ต้องมานั่งพูดกันยุ่งยากอย่างนี้” ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันมีเพื่อนน่าเอ็นดูด้วยใจจริง

ดิฉันเห็นสีหน้าเถลิงเปลี่ยนไปประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วกลับเป็นปรกติ “ที่จริงนะ เราเคยคิดเหมือนกัน แต่นึกถึงความจนเลยเลิกคิด คงไม่มีใครพอใจแน่ ถ้าอย่างเราแต่งกับลูกแก้ว คงมีปมด้อยตายเลย”

“เรอะ” ดิฉันตกใจคำพูดของเถลิง “จริงเรอะ ถ้าเหลิงมีเงินก็จะขอแต่งงานกับลูกแก้ว”

“คงเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ไอ้เรื่องสมมุติกันนี่มันไม่แน่” เถลิงพูดอย่างมีความคิด “แต่คนบางคนมันคิดหน้าคิดหลัง เราแต่งงานเข้าไปเป็นลูกจ๊อกในบ้านเขา มันจะเป็นสุขยังไง แล้วเราจะเรียกร้องให้ผู้หญิงเขามาอยู่หอพักกับเรางั้นเรอะ นั่นมันเรื่องอ่านเล่นหรอก”

“ไม่จริงน่า ถ้ารักจริงละก็ ไม่คิดถึงเรื่องอะไรต่ออะไรหรอก”

“ต้องเสียสตินิดหน่อย” เถลิงว่า “หรือไม่ก็บุพเพสันนิวาส แต่มีน้อย”

ดิฉันระลึกถึงคำสองคำของเถลิง ลูกจ๊อก กับ ปมด้อย ญาติดิฉันทำให้กฤตเป็นลูกจ๊อกหรือ กฤตมีปมด้อยหรือ

แล้วเพื่อจะให้เถลิงไม่ต้องกังวลไต่ถาม และดิฉันต้องมีทุกขเวทนาตอบเขาทีละข้อ ดิฉันก็เล่าให้เขาฟังตามที่ดิฉันคิดว่าดิฉันทราบ

“ตัวไปได้ยินมาว่ากฤตเขาไปเที่ยวกับช้องเพ็ชรบ่อยๆ งั้นเรอะ” ดิฉันถามเขาก่อน แล้วว่าต่อไป “ลูกแก้วก็คิดว่าเขาคงไปพบกัน แต่เดาไม่ถูกว่าที่ไหน นาน ๆ กฤตถึงจะกลับบ้านผิดเวลา แต่ถ้าเขาจะใช้ความพยายามถึงกับไปต่างจังหวัดด้วยกันละก็น่าชมเขาละ เพราะกฤตมีราชการออกไปชนบทบ้าง ไปเมืองนั้นเมืองนี้อยู่บ่อยเหมือนกัน แต่ฉันไม่เคยวาดภาพไปถึงช้องเพ็ชรตามกฤตไปนอกกรุงเทพฯ”

“แม่หวีหรือหรือแม่อี๊ดเขาไปรู้มาจากไหนก็ไม่รู้ เขาว่าทางบ้านช้องเพ็ชรก็อยากได้อาทร ยังมีคุณอาหรือคุณน้าอะไรของช้องเพ็ชรว่า ถ้าช้องเพ็ชรอยากได้ใคร จะหลุดไปได้อย่างไร แต่ช้องเพ็ชรมัวไปหลงคนที่มักใหญ่ใฝ่สูงจะใช้ช้องเพ็ชรเป็นสะพานเสีย คนทึ่มๆ อย่างอาทรก็จะชวดไป น่าเสียดาย”

“พี่น้องน้าอาอะไรเหล่านี้ เลิกยุ่งกับใครเขาเสียทีก็จะดี” ดิฉันพูดอย่างไม่สบายอารมณ์ เกิดความระแวงขึ้นมาอย่างมากว่ากฤตกับช้องเพ็ชรอาจนัดพบกันนอกเมืองหลวง

ดิฉันกลับมาสำนักงานด้วยสมองที่ไม่มีสมรรถภาพเลย ความรู้สึกในหัวเหมือนใครเขาทุบจนน่วม แต่ใช้กำลังบังคับตัวเต็มที่ให้ตั้งใจทำงาน ได้ผลเป็นบางเวลา ผิดพลาดไปบ้าง เขียนจดหมายผิดๆ ถูกๆ ต้องร่างใหม่พิมพ์ใหม่หลายครั้ง จนถึงเวลาเลิกงาน ดีใจที่จะได้กลับบ้านยิ่งกว่าที่เคย

วันนั้นลูกเป็นไข้ ตัวร้อนจัดและไอถี่ น้ารื่นโทษสุพินว่าพาไปตากแดด สุพินก็ไม่ยอมรับผิด กลับเถียงกับน้ารื่น ดิฉันใจสั่นและอยากร้องไห้ ต้องหาวิธีระงับคือไปคุยกับคุณพ่อ ถามท่านเรื่องเก่าๆ ของคุณปู่คุณย่า และให้ท่านเล่าเรื่องเมื่อครั้งท่านเป็นเด็กและเป็นหนุ่ม ซึ่งมักทำให้คุณพ่อคุยได้นานกว่าเรื่องอื่น

ดิฉันมีนิสัยชอบฟังมากกว่าแม่ ดังนั้นถ้าวันไหนคุณพ่ออ่านหนังสือที่ท่านพอใจ ท่านมักจะถ่ายทอดให้ดิฉันฟัง บางวันน้ารวงรัตน์ก็มาฟังด้วย น้ารวงว่าคุณพ่อ คือ รีดเดอร์สไดเจสต์ ของน้ารวง บางครั้งน้าเรืองและน้าโรจน์ก็มาร่วมคุยด้วย ดิฉันคิดว่าน้าๆ กับพ่อแม่ดิฉันนั้นเป็นญาติที่มีใจต่อกันสนิทจริงๆ แล้วคิดขึ้นมาว่า การที่เราสนิทกันเป็นปึกแผ่นนี้เองกระมังที่ทำให้กฤตรู้สึกตัวว่ามีความสำคัญน้อยไป “แต่กฤตจ๋า ถ้ากฤตไปอยู่ในหมู่ญาติของช้องเพ็ชร กฤตจะไม่รู้สึกว่ากฤตเป็นคนสำคัญขึ้นกว่านี้หรอก กฤตจะยิ่งรู้สึกว่าตัวไม่ร่ำรวย ยิ่งจะรู้สึกว่าหาเงินไม่ทันความต้องการยิ่งกว่านี้”

ดิฉันตั้งใจว่า จะไม่คิดระแวงกฤตไปเสียทุกอิริยาบถ คนเราจะแกล้งทำกิริยาอาการไม่ได้ ต้องแกล้งที่ใจ แล้วใจจะสั่งให้ทำกิริยาอาการที่เราอยากแสดง ดิฉันท่องไว้เช่นนั้น แต่เอาใจใส่วิธีที่กฤตเล่าถึงการเดินทางไปต่างจังหวัดให้ฟังยิ่งขึ้น ตั้งใจสังเกตว่าเขาจะเล่ากิจการของเขาตลอดทั้งวันว่าทำอะไรบ้าง เว้นตรงไหนบ้าง ครั้งหนึ่งดิฉันถาม

“เวลากฤตออกต่างจังหวัด พอว่างราชการเย็นๆ กฤตชอบทำอะไร”

“โดยมากก็หาทางทำความคุ้นเคยกับข้าราชการที่จังหวัดนั้น” กฤตตอบน้ำเสียงเรียบๆ “ไปสโมสรกับเขาเล่นไพ่บ้าง บิลเลียดบ้าง บางทีก็ออกเดินเล่นคนเดียวก็มีเหมือนกัน”

“พบข้าราชการผู้หญิงมั่งไหม เพื่อนๆ ของลูกแก้วเขาเป็นครูอยู่ต่างจังหวัดหลายคน พบมั่งไหม ลูกแก้วก็ไม่ดี ไม่ได้จำไว้ว่าใครไปอยู่ที่ไหน ว่าง ๆ ต้องถามเพื่อน ๆ ด้วยกันดู เผื่อจะได้มารู้จักกับคุณกฤตมั่ง”

วันหนึ่งกฤตเอยขึ้นมา “ถ้ากฤตต้องออกไปต่างจังหวัดเลย ลูกแก้วก็ต้องอยู่ทำงานในพระนครซี ใช่ไหม”

“ตาย มีใครเขาบอกเรอะ” ดิฉันใจหายทันที “สมัยนี้หาคนเดียวคงไม่ไหว ถ้าทิ้งงานไปจะหาใหม่ได้อีกหรือ กฤตพยายามอย่าไปรับหน้าที่นั่นเลย”

“ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงหน้าที่ เห็นแก่ความสะดวกสบายของตัวเองเท่านั้นเรอะ” กฤตถามน้ำเสียงเปร่าๆ

ดิฉันรวบรวมสติเต็มที่ ตอบน้ำเสียงราบเรียบไม่ให้มีอารมณ์เจือปน “ถ้าจำเป็นต้องใช้กฤต ใช้ใครไม่เหมาะไม่ดีเท่า ราชการจะเสียประโยชน์ จำเป็นต้องแยกกันอยู่ ก็ต้องทนเออา เขาทำกันถมไป”

“แต่ลูกแก้วไม่ยอมออกจากงาน” กฤตพูดเชิงถาม

“ยังไม่ถึงเวลาใช่ไหมจ๊ะ หรือว่าผู้บังคับบัญชาทาบทามกฤต”

“มีเสียงมาเหมือนกัน” กฤตตอบเสียงเบา เขาคงมีอารมณ์ซึ่งเขาพยายามบังคับไว้เหมือนกัน “ถึงอยากฟังความคิดลูกแก้วไว้”

ดิฉันปล่อยเวลาให้ผ่านไปอีก ไม่แลเห็นทางว่าจะทำอย่างไรดีไปกว่านั้น ต่อจากที่ดิฉันสนทนากับกฤตที่เล่าไว้นั้น ประจวบกับเป็นเวลาที่การสร้างบ้านใหม่ของอาเธียรกำลังดำเนินไปรวดเร็ว อาทรมาที่บ้านบ่อยๆ เขาบอกว่าอาเธียรใช้ให้มาคอยรายงานต่อคุณพ่อ คุณพ่อก็เพลิดเพลินเมื่อมีคนมาหาและพูดเรื่องการก่อสร้าง อากรรณเตรียมหาเครื่องเรือนสำหรับบ้านใหม่ หาเสื้อผ้าสำหรับจะไปเที่ยวรอบโลกเมื่อถึงโอกาส กลับมาเมื่อบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีงานขึ้นบ้านใหม่กันอีก ลูกดิฉันกำลังช่างเล่น เริ่มจะรู้จักชื่อคนทั้งบ้าน และเริ่มพูดได้บ้าง ครั้งหนึ่งอาทรมาหาคุณพ่อนั่งสนทนากันอยู่ที่สนามที่สำราญของคุณพ่อ ลูกชายเห็นเขาแต่ข้างหลัง ก็วิ่งไปหา นั่งลงกับพื้นสนาม จับชายกางเกงดึงไปมาแล้วเรียก “ป้อ ป้อ” อาทรหันมาเห็น ผิวหน้าของเขาเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดจนดูเป็นสีเขียว ทำให้ดิฉันใจหายวาบ นึกถามในใจว่าคำเล่าลือที่ดิฉันว่าเหลวไหลนั้นจะมีมูลความจริงได้หรือไม่

ดิฉันเริ่มทำตามคำแนะนำของคุณลุงสองคนในการพาเหลนไปหาคุณทวด คือคุณแม่ของคุณพ่อ ดิฉันอยากหาความสุขให้คนให้มากที่สุด ระหว่างที่ใจดิฉันไม่เป็นสุข เมื่อได้ยินเรื่องที่เคยทำให้เกิดความขบขัน ดิฉันก็ไม่เห็นขบขัน จัดเข้าเป็นเรื่องเศร้าไปทุกอย่าง วันหนึ่งน้าเรืองมานั่งคุยกับคุณพ่อ แล้วก็เล่าว่า

“นี่ คุณเกลา น้องเขยคุณเกลาน่ะ พ่อเข้าก็เป็นพระยานะ แต่ว่าอาๆ เขาก็คืออาซิ้มเราดีๆ นี่เอง ไม่แปลกจากคุณน้าของนายเชี่ยวเท่าไหร่”

“ทำไม” คุณพ่อถามเตรียมพร้อมที่จะหัวเราะขบขัน เพราะถ้าไม่ใช่เรื่องที่มีปมขำขัน น้าเรืองมักไม่นำมาเล่า

“เดี๋ยวนี้ท่านสุภาพสตรีไทยท่านก็ทำอย่างท่านเลดี้ฝรั่งยังไงล่ะ” น้าเรืองเล่า “ท่านก็ไปตามโรงพยาบาลไปพับผ้าพันแผลอะไรพวกนี้แหละ เมียผมเขาก็มักไปด้วย เขามักไปกับอาคนเล็กของคุณเธียรนั่นละ ชื่อระยับหรือทองระย้าคนไหนผมจำไม่ได้ เมื่อวานซืนนี้ เขาก็โทรศัพท์ไปนัดว่าจะให้เขาไปรับไหม หรือใครจะมารับใครอะไรอย่างนั้น คุณอานั่นตอบมาว่า คราวนี้ไม่ไปโรงพยาบาล เพราะอาทิตย์นี้จะไปรอบโลกอีก ครั้งที่ห้าแล้วนะฉันน่ะ ยังไม่รู้จักเบื่อ เมื่อไหร่คุณจะไปมั่งสักทีละ” เล่าแล้วน้าเรืองก็หัวเราะต่อไปด้วยความเบิกบาน คุณพ่อก็หัวเราะสนุกไปด้วย แต่ดิฉันยิ้มไม่ออก คิดถึงคำพูดของกฤตว่า อากรรณกลับไปหาอาเธียรก็เพราะเงินของอาเธียร แล้วดิฉันก็คิดวาดภาพสีหน้าอาทรเมื่อเขาหันหน้ามาเห็นลูกชายดิฉันเข้าไปหาและเรียกเขา นึกว่าเป็นพ่อของตัว ถ้าดิฉันไม่รักกฤต ดิฉันมองหาคนรวย ดิฉันก็อาจได้พบอาทร เพราะถึงแม้ว่าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ดิฉันได้รู้จักกับอาทร เพราะเขาเป็นเพื่อนของพัฒนะ เพื่อนของกฤตอีกต่อหนึ่ง แต่ถ้าดิฉันไม่รีบร้อนไปมอบหัวใจให้กฤตเสียก่อน ดิฉันคงได้พบกับอาทร เพราะเมื่ออาเธียรกลับมาติดต่อกับอากรรณประดับ ดิฉันก็จะรู้จักกับอาทรจนได้ และอากรรณก็ได้บอกไว้ว่า ครอบครัวของอาเธียรนั้น ชอบหาสะใภ้ตามตระกูลขุนนาง ดิฉันคิดเพลิน ไม่หัวเราะไปกับน้าเรืองกับคุณพ่อ จนน้าเรืองสังเกตและพูดขึ้น

“เด็กรุ่นนี้มันไม่เห็นขันเหมือนเราหรอก คุณเกลา ลูกแก้วไม่เห็นขันใช่ไหม ของอย่างนี้ได้ยินจนเคยชิน”

“ไม่รู้จักตัวคุณอาระยับระย้าอะไรนั่น ไม่เห็นภาพอาจไม่ค่อยขันเท่าน้าเรือง เพราะน้าเรืองคงได้ยินเสียงนึกเห็นท่าทางไปด้วย” ดิฉันแก้ไปเท่าที่จะนึกออก

วันหนึ่งในระยะนี้ ดิฉันได้รับโทรศัพท์ที่สำนักงาน เมื่อได้ยินเสียงคนพูดมาตามสาย ดิฉันใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จนต้องว่าตัวเองว่าเป็นคนไร้เหตุผล เสียงนั้นคือเสียงของช้องเพ็ชร นัดให้ดิฉันไปพบรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ ดิฉันถามว่ามีเพื่อนคนไหนมาด้วยบ้าง ช้องเพ็ชรบอกว่ามีตัวคนเดียว ดิฉันเดาไปในทางที่ไม่เป็นมงคลตามปกติของจิตใจเวลานั้น ว่าเขาคงต้องอยากพูดเรื่องกฤต ดิฉันไปตามนัด พบช้องเพ็ชรยืนคอยอยู่ใกล้ประตู ตรงกลางห้องโถงกว้างใกล้บันไดที่จะลงไปสู่ห้องนั่งเล่น ช้องเพ็ชรแต่งกายด้วยกางเกงขายาวบานปลายล้ำสมัย สีพื้นของเสื้อและกางเกงเป็นสีม่วง ดอกเป็นสีเหลืองรูปเป็นใบไม้ช่อใหญ่ สีเหลืองอ่อนและสดและเรืองแสงเป็นทอง พอสลัว ๆ สลับซับซ้อนกัน เข้ากับสีที่โรงแรมใช้เป็นสีตกแต่งทั่วไป เห็นชัดว่าช้องเพ็ชรได้จงใจเลือกสีเสื้อผ้าให้เหมาะแก่สถานที่ เมื่อเห็นดิฉันลงจากรถแท็กซี่ที่หน้าประตูกระจก ก็เยื้องกรายออกมาพบกันที่ประตูพอดี ช้องเพ็ชรมีสีหน้าตามธรรมดาของเขา คือยิ้มน้อยๆ แสดงความสนใจกับผู้ที่ได้พบ ประหนึ่งว่าคน ๆ นั้นเป็นคนสำคัญที่สุด เขาพยักหน้าพาดิฉันเดินลงบันไดแล้วเลี้ยวไปยังห้องอาหารชั้นล่าง ห้องอาหารนั้นออกแบบให้มีช่วงมีตอน ตั้งที่นั่งให้ผู้มารับประทานอาหารพูดคุยกันได้เป็นส่วนเป็นสัด ขณะเดียวกันก็อาจสนุกมองเห็นคนอื่น ๆ ไปได้ด้วย

ช้องเพ็ชรกับดิฉันเลือกที่นั่งได้ที่เหมาะใจแล้วก็เริ่มสั่งอาหาร ระหว่างที่รออยู่ดิฉันแสร้งถามว่า

“หมู่นี้รู้อยู่ ไม่ค่อยเดินทางไปประเทศนั้นประเทศนี้รึ”

“หมู่นี้มีเรื่องชวนอยู่ในกรุงเทพ ฯ” ช้องเพ็ชรพูด นัยน์ตาเป็นประกาย ซึ่งดิฉันอ่านไม่ออกว่าแสดงความรู้สึกอันใดแน่ “นี่แน่ะ ลูกแก้ว” เขาเรียกชื่อดิฉันแล้วทำเสียงพูดอย่างคนสนิทกัน “เรามีเรื่องต้องปรึกษาตัว”

ดิฉันเข็นยิ้มออกมา “เรื่องแฟนคนใหม่เรอะ”

เขาทำศีรษะเป็นทีรับ “จะว่างั้นก็ได้”

ดิฉันเกิดความคิดที่จะรุกแทนที่จะรับ “เออ ได้ยิน ว่าทางผู้ใหญ่ทั้งสองทางอยากให้เธอแต่งงานกับอาทร”

ช้องเพ็ชรทำริมฝีปากเชิด “ตัวว่าไงล่ะ”

“ฉันไม่รู้จะว่าไง เธอว่าไงล่ะ” ดิฉันถาม

“ฮือ ค่าตัวสองล้าน ไม่เลวนะ” ช้องเพ็ชรพูดทีเล่นทีจริง

“อย่างนี้ปรึกษากันไม่ได้หรอก พูดกันเป็นล้านๆ ละก็” ดิฉันรู้สึกสบายใจที่จะพูดโดยไม่ต้องแสร้งทำ

“หมายความว่าเธอสูงกว่าเงิน เพราะเธอเป็นลูกหลานกอกรี”

“อือ พูดราวกับฉันเป็นน้ารื่น” ดิฉันว่าพลางหัวเราะ ด้วยนึกขันจริง ๆ “เธอว่ายังมีเหลืออยู่เหรอในเมืองไทย เราเป็นพวกอะไรต่อพวกอะไร เธอเคยคิดว่าเธอเป็น ราณินทร์ สวามีภักดิ์บ้างไหม”

“นานๆ ทีก็คิด” ช้องเพ็ชรตอบ “คิดว่าเราเป็นลูกคุณพ่อ คิดว่าเราเป็นหลานคุณปู่ ไม่ออกมาเป็นภาษาอย่างนี้ แต่ก็ถือตัวเหมือนกัน”

ดิฉันนึกชมความฉลาดของช้องเพ็ชร เขาช่างแยกแยะความรู้สึกได้ไม่เลวเลย “พรรณอย่างนั้นอาจเป็นกันทุกคน แต่เรื่องเงินไม่เกี่ยวกับว่าเป็นลูกใครหลานใคร คนไม่เคยมีก็คิดอย่างไม่เคยมี เคยมีก็คิดอย่างคนเคยมี เปรียบกันง่ายๆ แค่คุณป้าวรรณแสงกับแม่ก็เห็นชัด แม่คิดอะไรก็คิดไปในทางประหยัด คุณป้าคิดไปในทางให้งอกเงย งอกเงยแล้วก็ลงทุนต่อไปให้งอกเงยอีก”

“เธอลืมไปว่าคุณแม่เธอน่ะ คิดถึงในทางประหยัด แต่ก็คิดพอใจกับฐานะของท่านแล้ว ท่านไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร” ช้องเพ็ชรพูดอย่างคนมีความรู้อีก

“นั่นซี น้าเรืองกับน้าโรจน์พูดเสมอ ว่าอะไรๆ ก็ไม่สำคัญเท่าธรรมะ คงลำบากกะลูกเมียพิลึก”

“เธอหมายความว่ายังไง ธรรมะ” ช้องเพ็ชรถาม

คราวนี้ในแววตามีเยาะนิดหน่อย

“ธรรมะก็ความคิดน่ะซี” ดิฉันตอบง่ายๆ “อย่างคุณพ่อก็ทำตัวให้ไม่จู้จี้ ใครทำอะไรให้ผิดบ้างถูกบ้าง คุณพ่อก็ทำเป็นเรื่องเล็ก ไม่บ่นไม่โวยวายให้ต้องรำคาญกันทั้งบ้าน”

“ก็คุณพ่อเธอมีน้าอะไร น้ารื่นของเธอ แสนจะสวามิภักดิ์ยิ่งกว่าคุณพระธานินทร์” ช้องเพ็ชรพูดทำเสียงขบขัน

“ก็นั่นแหละ ก็เป็นบุญของพวกเราที่มีน้ารื่น แล้วก็เป็นบุญของน้ารื่นที่คุณพ่อเป็นคนอย่างคุณพ่อ ดิฉันชักจะพอใจพูดเรื่องที่ชื่นชมได้ “แล้วก็บุญอีกอย่างที่แม่ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่บางคนก็ช่วยจะทำเสียด้วยซ็ำ”

“ทีนี้เธอเคยคิดบ้างไหมว่าคนบางคนเขาไม่มีความแน่ใจ ไม่มีความมั่นคง เขาต้องการความก้าวหน้า ซึ่งเธอไม่รู้สึกว่าเธอขาด เพราะเธอเคยอยู่ในวงของเธอ ไม่เคยออกไปนอกวง”

“เธอเคยเหลอ” ดิฉันถามด้วยความแปลกใจ

“บ่อยไป อย่างเธอพูดถึงการแต่งงานกับอาทร ฉันก็คิดว่า เรามีอะไรไปให้พอเทียบกับสองล้านของเขา” ช้องเพ็ชรตอบ

“ใครจะให้อาทรถึงสองล้านนะ” ดิฉันเกิดอยากรู้ขึ้นมา “คุณย่าเขาเรอะ แล้วเขาจะเอาอะไรจากเรา”

“ฉันก็แปลกใจเหมือนกัน” ช้องเพชรตอบ “ฉันได้ยินจากคุณแม่ว่าเขามาทาบทาม ย่าเขาน่ะ แต่ยังไม่ได้เจรจากันไปถึงไหน แล้วสองล้านก็ไม่รู้ว่าอะไรมั่ง จะชั่งน้ำหนักตัวนายอาทร แล้วตีราคาเทียบกับเงินหรือทองหรือนากหรือยังไง ยังไม่รู้เหมือนกัน”

ดิฉันกำลังคิดว่า เขาจะพาเรื่องเข้าหากฤตอย่างไร ก็พอดีช้องเพ็ชรเอ่ยขึ้น “ฉันต้องการจะบอกอะไรกับเธออย่างหนึ่งเราก็เป็นเพื่อนกันมานาน”

ดิฉันเริ่มใจเต้น ถามด้วยน้ำเสียงที่ต้องบังคับเต็ธมที่ไม่ให้สั่น “อะไรน่ะ”

“กฤต” ช้องเพ็ชรบอกแล้วก็นิ่งไป ทำให้ดิฉันใจเต้นแรงยิ่งขึ้น

“เป็นไง”

“ฉันหางานที่บริษัทสยามไฟแนนซ์ให้เขาได้แล้ว เขาบอกให้ฉันพูดกับเธอ ช่างอยู่ในถ้อยในคำอะไรอย่างนั้น” ช้องเพ็ชรพูดแววตาเป็นประกายเหมือนเมื่อแรกพบกัน

“ให้ไปทำอะไร” ดิฉันถามเพราะเสียงเริ่มจะสั่น คิดหาคำพูดดีกว่านั้นไม่ได้

เขาต้องการคนที่รู้จักเศรษฐกิจของเมืองไทยดี รู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เขาจะให้ตำแหน่งอะไรฉันไม่รู้ รู้แต่ว่าเงินเดือนเริ่มเข้าก็เหยียบหมื่น”

“เท่านั้นเองรึ” ดิฉันถามเหมือนคนไม่มีวิญญาณ “ทำไมเขาให้เธอมาบอกฉัน”

“เขาว่าเขาเคยบอกเธอหนหนึ่งแล้ว เรื่องที่เขาจะออกจากราชการ แต่เธอมีอุคมคติสูงส่ง ต้องการให้เขาทำงานเพื่อประชาชนชาวไทย”

“เป็นสำนวนของเขารึ” ดิฉันถาม รู้สึกตัวว่าริมฝีปากสั่นนิดๆ แล้ว แล้วเพื่อไม่ให้ช้องเพ็ชรคิดว่า ดิฉันหึงหวง ซึ่งถ้าเชื่อจันทร์ฉวี ช้องเพ็ชรอาจได้รับความพอใจ ดิฉันจึงถามต่อไป เหมือนกับว่าไม่เอาใจใส่เรื่องนั้นมากนัก “เออ เขาขอให้เธอช่วยหางานให้เขารึ”

“เอ ฉันลืมไปแล้วว่าเขาขอหรือเปล่า แต่ฉันอยากช่วยเขาเท่านั้นละมากกว่าอย่างอื่น เห็นมีงานดีๆ ที่ไหนฉันก็บอกเพื่อนฝูง”

“งานนี้ดีกว่าที่กฤตทำอยู่เวลานี้อย่างไร”

“เงินเดือนเท่าตัว” ช้องเพ็ชรพูดพลางหัวเราะเหมือนกับดิฉันเป็นคนปัญญาอ่อน

“นอกจากเงินเดือนสูงกว่าแล้ว มีอะไรอีกบ้าง พูดกันอย่างนักธุรกิจ” ดิฉันซัก

“อ๋อ” ภาษีต้องเสียแน่ แต่ว่ามีทางหาความรู้ใหม่ๆ ทันสมัยอยู่เรื่อย ไม่เรื้อรังไปทำเหมือนราชการ”

“อือ ฉันว่ากฤตได้รู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เขาเดินทางเกือบทั่วประเทศ รู้อะไรเรื่องเศรษฐกิจเมืองไทยดูเหมือนจะมากทีเดียวแหละ เพราะหน้าที่ของเขานี่”

“เธออยากเอาเขาไว้ในบ้านของเธอ อยู่ในระบบของเธอ ไม่ต้องให้เขาได้ไปไหน” ช้องเพ็ชรพูดเชิงถาม

“ถ้าไปทำงานกับบริษัท จะได้ออกจากระบบของฉันงั้นเรอะ เขาอยากออกไปไหน”

“อ้าว เธอสามีภรรยากัน เธอก็ถามเขาซิ”

“ก็เขาให้เธอเข้ามาพูดกับฉันแทนเขาไม่ใช่เรอะ ฉันวานเธอถามให้ฉันบ้างไม่ได้เรอะ เธอเป็นเพื่อนฉันมาก่อนที่เธอจะเป็นเพื่อนกฤตนี่นะ” ระหว่างที่พูดตัวดิฉันเริ่มสั่นไปทั่ว จนไม่กล้ายกถ้วยน้ำขึ้นดื่มเพราะกลัวว่าช้องเพ็ชรจะเห็นมือสั่น

“ฉันเดาให้เธอฟังเอาไหมล่ะ กฤตสนใจกับงานนี้ แต่เขาเกรงใจเธอ” ช้องเพ็ชรพูดพลางเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้ทำท่าสบาย

“นั่นไม่ใช่คำตอบ เธอว่ากฤตได้งานชิ้นนี้จะดีกว่าทำราชการอย่างเดี๋ยวนี้ ฉันอยากรู้ว่าถ้ากฤตได้งานนี้เขาจะได้อะไรอีกบ้างนอกจากเงินเดือนแพงขึ้น เธอว่าเขาจะได้ออกจากระบบ ฉันอยากรู้ว่าเขาจะออกไปเข้าระบบไหน ออกจากอันหนึ่ง มันก็ต้องเข้าอีกอันหนึ่งละ”

“โธ่ ลูกแก้ว ผู้ชายคนไหนเขาจะอยากอยู่เป็นเขยอยู่ในหมู่ญาติของภรรยาล้อมรอบไปหมด”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ