บทที่ ๑๑

วันคืนล่วงไปสองสามเดือนแล้ว ว่างกายของดิฉันเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดว่ามีชีวิตใหม่ก่อขึ้นอยู่ในตัว น้าโรจน์ออกปากว่า “ลูกแก้วนี่ท้องสวย เขาว่าจะเป็นลูกผู้หญิงนะ” ถูกแม่ขัดคอว่า “อ่านหนังสืออีเหนาน่ะ ท้องลูกผู้ชายก็ยิ่งผุดผาดผิวผ่องละอององค์ ดังอนงค์นางฟ้ากระยาหงัน” น้าโรจน์โต้ว่า “นี่ความคิดชาวบ้านครับ ไม่ใช่ความคิดกวี” ญาติที่คลองกาญจนาเห็นด้วยกับน้าโรจน์ ดิฉันได้ออกไปเยี่ยมพ่อกิจ พ่อกิจดีใจและไม่ซ่อนเร้นความยินดี “เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ช่างเถอะลูก ให้มันดี อย่าทำให้เราเจ็บใจก็แล้วกัน” ญาติทางนั้นยังเสียใจเรื่องลูกชาย ลุงกำนันไม่ยอมกลับประเทศกันไม่หายลุงกำนันว่า “มันดูถูก ถ้าเราเป็นขุนนางในกรุง ไม่ใช่ชาวบ้านนอก มันก็คงอยากพาเมียมาอวด” กฤตต้องโต้ว่า ลูกชายคนที่มี “เกียรติ” เขาก็ไม่กลับบ้านเมืองกันก็มีมากขึ้น ย่าพัดบอกว่า “ไปถือสาหาความไม่ได้ประโยชน์ พระท่านว่า “บุญทำกรรมแต่ง” ลุงกำนันว่า “กรรมของพ่อมัน บาปของมันแต่ง” เป็นอันยุติข้อพิพาทไปชั่วคราว

การุณอยู่ที่บ้านอย่างสงบในระยะนั้น วิธีของการุณคือหลีกเลี่ยงการถือวิสาสะกับคนในบ้าน แม้กับน้ารวงรัตน์ที่แสดงความสนใจ เชิญไปกินของว่างและชวนสนทนา น้าเรืองว่า “คนหนุ่ม ๆ มันอย่างงั้นเอง ถึงอยู่บ้านตัวเองก็อยากออกนอกบ้านเรื่อย” ครั้งหนึ่งคุณป้าทำให้ดิฉันเคืองมาก คุณป้าพูดแก่คุณพ่อต่อหน้าดิฉัน “เขาว่าอยู่บ้านท่านอย่าดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” คุณพ่อคิดไว รีบแก้ทันที “ต่องค่อยๆไปครับ เรื่องอย่างนี้แหละให้คนหนุ่ม ๆ ที่กำลังเรียนวิชา เข้าใจเร็วไม่ได้ สมัยนี้เขาไม่ได้เรียนกันแต่เฉพาะวิชาในห้องเรียน ยังมีงานสโมสร มีอะไรอีกหลายอย่าง”

เรื่องของอากรรณประดับกับอาเธียร กำลังน่าเอาใจใส่ บางครั้งที่มีคนพยายามเลียบเคียง อากรรณก็แสดงท่าทีไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดที่จะกลับไปคืนดีกับสามี แต่แล้วบางคราว อากรรณก็มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง ถึงกับกล่าวว่า “ฉันไม่เชื่อใจไอ้เจ๊กคนนี้เลย” ทั้งน้าเรืองและน้าโรจน์ว่าเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าอากรรณไม่มีปฏิกิริยาเลยนั่นแหละจึงจะถือว่าสิ้นหวัง แต่ฝ่ายที่ใคร่สนับสนุนอากรรณให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ก็ยังไม่ค่อยกล้าส่งเสริมการกระทำอย่างใด เพราะยังไม่มั่นใจในความตั้งใจของฝ่ายอาเธียร

ในระยะนี้ ดิฉันกับกฤตได้พบกับอาทรบ่อยๆ เนื่องจากกฤตไปที่บ้านของเชี่ยว และรับเป็นผู้ติดต่อระหว่างเชี่ยวกับกับคุณพ่อตามที่พัฒนะแนะ พัฒนะก็กำลังปลูกบ้านใหม่ อยู่ทางเหนือของสะพานกรุงธน ทางฝั่งจังหวัดธนบุรี เป็นบ้านในสวนหลังเล็ก ๆ เขาบอกว่าบ้านของเขาไม่ต้องรบกวนสถาปนิก “คิดได้อะไรก็บอกช่างแกไป ปลูกแล้วไม่ดีก็รื้อก็ได้ กระเบื้องกระดาษทั้งนั้น”

“คนทำงานอีคาเฟ่ก็ยังคิดปลูกบ้านจริงๆ จังๆ ไม่ได้หรือคะ” ดิฉันถามโดยซื่อ

“แล้วกัน ใครบอกว่าไม่ปลูกจริงจัง คุณลูกแก้ว” พัฒนะร้องค้านขึ้นมา “แล้วคุณคิดเลขดู คนทำงานอีคาเฟ่เงินเดือนเท่าไหร่ ค่าปลูกบ้านหลังหนึ่งเงินเท่าไหร่ ค่าที่ดินเท่าไหร่ นี่ผมซื้อได้ถูกเพราะเพื่อนมันผ่อนส่งแล้วมันเคว้งเลยขายต่อให้ผม แล้วคนทำงานอีคาเฟ่มันนี่ต้องขี่รถยนต์ ค่ามีรถยนต์เดือนหนึ่ง ๆ เท่าไหร่ พวกเราลองคิดบัญชีกันดูบ้างก็จะดีนะ ผมว่าฝัน ๆ กันว่าคนนั้นรวยคนนี้จนด้วยกันทั้งนั้น” แล้วเราหันไปว่ากฤต “ไอ้พวกดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์และหัวดี เสนอความเห็นฟุ้งกระเป๋าตัวเองตบแล้วไม่รู้มีเท่าไหร่หรอก มันเอาออกจากกระเป๋านั้นมาใส่กระเป๋านี้ให้ยุ่งไปหมด”

กฤตหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเวลา พัฒนะออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพัฒนะพูดจาอย่างยิ้มแย้ม น่าฟังและน่าดูไปด้วย ซึ่งผิดกันกับอาทรมาก ดิฉันพยายามศึกษาอุปนิสัยของอาทร และนำไปอภิปรายกับน้ารวงรัตน์หลายครั้ง “แกจะมีปมด้อยเรื่องกำเนิดของแกหรือไงคะ ทำไมแกพูดน้อยเหลือเกิน”

อาทรนั่งฟั่งเพื่อนฝูงคุยกันเป็นเวลาชั่วโมงหนึ่งหรือชั่วโมงครึ่งโดยมีส่วนร่วมในการสนทนาประมาณ ๓ ประโยค แต่ไม่ร่าเริงเลยสักครั้งเดียว แต่จะว่าเป็นคนสงบราบรื่นก็ได้ เมื่อดิฉันปรารภกับแม่เรื่องนี้ เพื่อว่าจะดูลู่ทางเพื่อให้อากรรณคืนดีกับอาเธียร แม่จึงได้ให้ดิฉันชักชวนให้กฤตกับดิฉันจึงหาโอาสชวนพัฒนะ อาทร และ เชี่ยว มากินอาหารที่บ้าน และดิฉันคิดขึ้นมาถึงเพื่อน ๆ ร่วมโรงเรียนของดิฉัน จึงชวนจันทร์ฉวี อินทิราและเถลิงมาด้วย

ก่อนจะถึงเวลาแขกมาถึงในเวลาสายของวันอาทิตย์ ก็มีเสียงโวยนายในครัวของแม่ ออกจะเป็นเสียงผิดธรรมดา แม่จึงเข้าไปฟังเหตุการณ์ ก็ได้ทราบจากลูกจ้างซักฟอกคนใหม่ว่าเสื้อเชิร์ตของกฤตหายไป โดยสุพินลูกจ้างซักฟอกยืนยันว่า “ตากไว้ที่ราวข้างห้องป้ารื่น ตากไว้เมื่อบ่ายวานนี้ ฝนมักตกลงมาหน่อยตอนเช้า เห็นมันหมาดหมาดก็เลยตากเสียอีกหน่อย ตอนค่ำลืมเก็บไป”

แม่ให้ระงับเรื่องราวไว้พิจารณากันภายหลัง เพราะจวนเวลาจะต้องรับแขกแล้ว อีกสักครู่แขกก็มา วันนั้นเราตั้งใจจะให้เป็นวันที่แม่จะศึกษาลักษณะนิสัยของอาทร ซึ่งจะต้องเข้ามาพัวพันกับชีวิตของอากรรณ ถ้าหากมีการคืนดีระหว่างอากรรณกับสามี และแม่ก็จะมีความรับผิดชอบอยู่ด้วย แต่การสนทนากลายเป็นเรื่องการตั้งศาลพระภูมิ มีโอกาสถามอาทรเพียงเล็กน้อย

เชี่ยวตั้งต้นเรื่องศาลพระภูมิขึ้นว่า “ทำไงครับ คุณพ่อ คุณน้าผมคนที่เป็นนายทุนให้ผมได้ปลูกบ้านเกิดยื่นคำขาดว่า ถ้าผมไม่ตั้งศาลพระภูมิก็จะไม่เกี่ยวข้องกับบ้านของผมทั้งสิ้น ซึ่งหลว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยสำหรับช่วงยืมต่อไป”

“เออ ก็ตั้งเสียก็หมดเรื่อง” คุณพ่อตัดสินง่าย ๆ

“ทีนี้นายพัฒนะมันเที่ยวท้าผมไว้ แล้วผมก็ท้ามันว่าบ้านผมจะไม่ตั้งศาลพระภูมิ ผมก็เกลียดจังเลย จะทำยังไง”

“ก็ชั่งนำหนักเอาซิ ระหว่างดอกเบี้ยกับการแพ้นายพัฒนะ คุณพ่อว่า

“มันไม่ใช่เท่านั้นครับ มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกแปลก ๆ ตั้งผมก็เกลียด พอตั้งแล้วผมจะไปรื้อ ผมก็กลัว”

คุณพ่อหัวเราะ “เอางี้ไหมล่ะ คิดว่าเป็นการส่งเสริมศิลปะกับประเพณี ที่บ้านนี้ก็คิดนยังงั้น ทั้งคุณพ่อของใจแก้วกับคุณพ่อผมไม่เชื่อถืออะไรนัก แต่ว่าปู่ย่าตายายทำมาแล้วมันทำให้คนที่เขามาอยู่กับเราที่เขายังเชื่อถืออยู่ใจสบาย เราก็ทำไป”

"ศิลปะอะไรกันครับ” เชี่ยวแย้ง “ผมเกลียดไอ้ซิเมนต์ก่อแล้วก็เสียบยอดปราสาทแทบกระอัก”

“เอ้า จะหาศาลพระภูมิฝีมือสวย ๆ ให้เอาไหมล่ะ มีคนเป็นช่างทำไม้ฝีมือดี ให้เขาทำด้วยไม้เป็นเรือนเล็กๆ สวยๆ แต่ส้องให้เขาให้คุ้มสักหน่อย มันต้องเสียเวลามากพอใช้”

“สักเท่าไหร่ครับ ถ้าคิดมาก ๆ เหมือนจิตกรสมัยใหม่ผมก็แย่เหมือนกัน” เชี่ยวถามและปรารภ

“เอ้อ ไอ้ภาพจิตกรจิตกรรมสมัยใหม่นี่แลว้า แกต้องเสียเงินซื้อเป็นพัน ๆ ติดผนังห้อง” พัฒนะขัดขึ้นมา มันกำลังเข้าสมัย ใครไม่มีก็เป็นคนรสนิยมต่ำ”

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน เชี่ยวพูดเสียงอ่อน ๆ “ไอ้รูปเขียนผมก็ชอบ, ผมเที่ยวซื้อไอ้ที่พอซื้อได้ แต่ศาลพระภูมินี่ต้องรีบตั้ง ต้องตั้งก่อนทำบุญขึ้นบ้านใหม่ไม่ใช่เหรอ เห็นคุณน้ามาเร่ง”

“เอ๊อ ลำบาก” แม่เอ่ยปาก “ว่าไง คุณอาทร คุณมีบ้านจะยกศาลพระภูมิไหม”

“ยังไม่เคยคิดไปถึงปลูกบ้านเลยครับ” อาทรตอบ

“บ้านเวลานี้อยู่ที่ไหนคะ” แม่ถามต่อไป

“อยู่บ้านของคุณย่าครับ อยู่ใกล้นี่เอง ท่านปลูกให้เขาเช่า เดี่ยวนี้ท่านให้ผมอยู่”

“คุณกลับจากเมืองนอกได้กี่ปีแล้วนี่” แม่ซัก

“สักสามปีแล้วครับ” อาทรตอบคำถามทั้งหมดนี้ด้วยสีหน้าเฉยๆ ในแววตาของเขาไม่มีอะไรจะให้ทายความรู้สึกได้ จนกระทั่งดิฉันเกือบจะตัดสินว่า เขาเป็นคนมีใจราบเรียบ ไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องใดในชีวิต เขาทำงานในกระทรวงการคลัง วันหนึ่ง ๆ ชีวิตเขาล่วงไปด้วยการอ่านตัวเลข ไม่ค่อยมีเรื่องวุ่นวนของชีวิตมนุษย์มากระทบนัก

แม่ยังสนใจต่อไป “เออแล้วที่บ้านที่อยู่นั้นมีศาลพระภูมิไหม”

“มีครับ มีทั้งที่บูชาแบบจีนด้วย” อาทรให้ความรู้โดยไม่ตอบคำถามตรง ๆ เป็นครั้งแรก ทำให้แม่ชักจะมีกำลังใจซักต่อไป

“อ้อ แล้วคุณทำยังไงกับที่บูชาแบบจีน”

“ผมก็เฉย ๆ มีคนใช้เป็นคนจีน เห็นเขาเอาธูปมาจุดมาดูแล แต่บ้าน อื้อ ที่บ้านคุณปู่คุณย่า ถึงตรุษจีนก็ไหว้เจ้า ถึงตรุษไทยก็ทำบุญ”

คุณปู่ไม่ขอให้คุณอยู่บ้านท่านหรอกรึ ตามธรรมเนียมลูกผู้ชายเขาก็อยู่กับครอบครัวใหญ่ไมใช่รึ” แม่ซักต่อ

“ครอบครัวผมปน ๆ กันครับ ไทย ๆ จีน ๆ เวลาตายยังฝังฮวงซุ้ย” อาทรตอบหน้าเฉย ๆ ต่อไป

“ก็เพราะมีฮวงซุ้ยสำหรับฝัง” คุณพ่อสรุป “คุณอาทรนี่เป็นลูกคุณเธียรไม่ใช่เรอะ” ตั้งแต่รู้จักกันมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีใครเอ่ยถึงญาติผู้ใหญ่ของอาทร

อาทรนิ่งเฉย เหมือนว่าไม่ต้องการคำตอบ คุณพ่อรู้สึกเก้อจึงพูดต่อไป “คุณรู้รึเปล่า แต่ก่อนพ่อคุณกับผมนับว่าเป็นญาติสนิท เป็นน้องเขยผม”

“ครับ” อาทรตอบอย่างสั้นอีก

คุณพ่อคงกลัวแม่จะตั้งข้อซักเกินไป จึงเสไปหาเรื่องศาลพระภูมิอีก “ตกลงไหมล่ะ คุณเชี่ยว ถ้าตกลงจะให้เขาทำศาลพระภูมิด้วยไม้สวย ๆ ผมจะสั่งให้นายเฉลียวแกคงดีใจมาก”

“อย่าลืมนะกฤต เรื่องพิธีสงฆ์ต้องมอบให้ลื้อ สักเมื่อไหร่จะได้ศาลพระภูมิครับ”

“จะรีบบอกเขาเร็วที่สุด” คุณพ่อตอบ

“อย่าเกรงใจนายเชี่ยวนักนะครับ” พัฒนะว่า “เสี่ยลุงเสี่ยน้าเขามี ทำบ่นไปยังงั้นเอง”

“ว่าแต่แม่บ้านเถอะ มีบ้านแล้วไม่มีแม่บ้านจะเหงานะ” กฤตเอ่ยขึ้นบ้าง

“มีหวังน่า” เชี่ยวพูดเป็นกลาง

“อาทรล่ะ” พัฒนะเย้าเพื่อนอีกคนหนึ่ง

“ผมรึ ผมยังรออยู่” อาทรตอบ ทำให้คนฟังแปลกใจกันทุกคน

“รออะไร รอเทวดาอุ้มสมรึคะ” แม่ถาม

“ผมรอได้ครับ” อาทรตอบหน้าเฉย ๆ อีก ทุกคนทำสีหน้าแปลกใจ แต่อาทรคงสีหน้าเฉย

คุณพ่อชักการสนทนาเข้าไปหาการก่อสร้างและการงานทั่วไป เพื่อน ๆ ของดิฉันเริ่มคลายความสนใจ ดิฉันจึงชวนลงไปในสวน อาทรเดินตามมาด้วย แล้วอีกสักครู่เชี่ยวก็ตามมาบ้าง ดิฉันกลัวจะเป็นการทิ้งผู้ใหญ่ จึงต้องชวนกันกลับไปนั่งที่เดิม อีกไม่นานเพื่อน ๆ ดิฉันสามคนบอกลา กฤตต้องไปส่งจันทร์ฉวี การเลี้ยงและสนทนาก็จบลง

แม่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะช่วยเหลืออาเธียรกับอากรรณประดับสักแค่ไหน จากการวิสาสะกับอาทรในวันนั้น ไม่ทำให้แลเห็นชีวิตในครอบครัวของอาเธียรเท่าใด แม่ได้แต่บอกว่าจะต้องเลียบเคียงหาข้อเท็จจริงให้มากขึ้น แล้วจึงจะตัดสินว่าส่งเสริมความคิดของอาเธียรหรือไม่

อีกสองวันต่อจากการเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อน ๆ ก็มีคดีในบ้านเกิดขึ้นอีก คราวนี้ออกจะหนักใจยิ่งกว่าคราวที่แล้ว การุณมาบอกกฤตว่า สุพินคนซักผ้าหาว่าการุณเป็นขโมย “ยายสุพินดูถูกผมเหลือเกิน” การุณลงนั่งเรียบร้อยแล้วพูดเสียงลั่น “ผมเอาเสื้อพี่กฤตไปใส่ แล้วผมก็ซักให้แล้วก็เอาคืนไปให้เขา เขาบอกว่าทำไมขโมยไป”

“เออ” กฤตถอนใจยาว “ก็เราไม่ได้ขโมย เราเอามาคืน เขาจะว่าขโมยได้ยังไง”

“ก็นั่นซิครับ” การุณว่า “ทำไมเขาถึงพูดยังงั้น เผื่อผมอดโมโหไม่ได้ ใช้ไม้ใช้มือเข้ามั่งก็จะร้อนใจพี่กฤต”

ดิฉันอยากถามว่าการุณคิดอย่างไรจึงมาเอาเสื้อของกฤตไปใส่ แต่ระงับไว้ แล้วเห็นกฤตนั่งงงอยู่ไม่พูดอะไรกับญาติอีกต่อไป จึงต้องเป็นผู้พูด

“พี่ว่าสุพินคงไม่มีเจตนาจะล่วงเกินการุณหรอก แต่อาจใช้ถ้อยคำผิดไป แล้วพี่จะเรียกมาตักเตือน”

“ผมขอบอกพี่ตรง ๆ นะครับ” การุณพูดภายหลังที่ได้อิดเอื้อนอยู่เป็นครู่ใหญ่ “ที่จริงผมไม่ได้ เอ้อ ไม่อยากจะมารบกวนพี่กฤตเลย บ้านนี้มีก็ไม่ใช่บ้านของพี่กฤตเอง แต่ผม เอ้อ ผมก็ ก็ พ่อก็ว่าผมจองหอง จะต้องให้พ่อหมดเปลืองละ อะไรละ ที่จริง ผมก็อยากอยู่หอพัก”

“แต่” กฤตตั้งคำค้านขึ้นมา แล้วก็กลับนิ่งไป “แต่คุณพ่อคุณแม่ของพี่ลูกแก้วก็ได้หมดเปลืองไปพอใช้ในการที่การุณมาอยู่ ไม่ถูกใจอะไรนิดหน่อย การุณก็จะฉวยโอกาสไปมันก็ไม่ค่อยดีเหมือนกัน”

การุณนิ่งไปอีกครู่ใหญ่ แล้วก็พูด “คนบ้านนี้ เขาก็ไม่ค่อยชอบผมนัก”

“พี่ว่าการุณรู้สึกไปเอง” ดิฉันรีบประท้วง “เขาไม่มีเรื่องจะชอบหรือไม่ชอบ การุณเป็นญาติของพี่ คนในบ้านนี้ไม่ใช่เป็นเจ้าของบ้านนี้”

“ป้ารื่นล่ะ ป้ารื่นเป็นอะไร” การุณถาม ริมผีปากสั่นนิด ๆ พอสังเกตได้

“ทำไม ป้ารื่นเป็นยังไง” ดิฉันถามสวนขึ้นไปทันที เสียงสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว

“ผมรู้” การุณว่า “ป้ารื่นคนหนึ่งละไม่ชอบผม”

“ทำไม ป้ารื่นแสดงออกมายังไง” ดิฉันถามด้วยความเคืองและความอยากรู้

“ผมบอกไม่ถูก แต่ผมรู้” การุณว่า

กฤตลุกขึ้นเดินไปมาสองสามก้าวแล้วลงนั่ง “นี่ การุณ” เขาพูดแก่ญาติ “พี่เสียใจถ้ามีอะไรในบ้านนี้ทำให้การุณไม่สบายใจ แต่การุณต้องคิดถึงพี่มั่ง ต้องคิดอย่างผู้ใหญ่ พี่เคยอยู่วัด อยู่โรงเรียนประจำ ถ้าเราอยากสบายใจตามใจเรา เราต้องอยู่บ้านของเราเอง เราไปอยู่ที่อื่น มันต้องมีอะไรที่ไม่ถูกใจเราบ้าง ช่วยไม่ได้ พี่ไปอยู่เมืองนอกพี่ก็ไม่สบายหลายอย่าง พี่อยู่ในบ้านนี้ ไม่ใช่บ้านพี่เอง พีก็ต้องอดทนอะไรบ้างเหมือนกัน แต่เมื่อการุณมาอยู่แล้ว จะมาขอย้ายไปเพราะไม่ถูกใจ พี่ว่าพ่อของการุณเองก็คงไม่เห็นด้วย”

การุณเม้มริมผีปากไว้ แววตาแสดงความไม่พอใจ แต่ไม่กล่าวอย่างไรต่อไป ดิฉันจึงปลอบ “การุณ ไปพักผ่อนเสียเถอะ เรื่องสุพินพี่จะจัดการให้”

ดิฉันห่วงความรู้สึกของกฤต ไม่ค่อยสบายใจที่ได้ยินนว่าเขาต้องอดทนในการที่อยู่บ้านของบิดามารดาของภรรยา เมื่อการุณไปแล้ว ดิฉันก็เข้าไปแสดงความอ่อนโยนในฐานะคนรักกัน กฤตก็ตอบสนอง และในคืนนั้นเราก็หาโอกาสลืมญาติพี่น้องได้ชั่วคราว ระหว่างที่เราจำได้แต่เฉพาะว่าเรามีเพียงสองคนเท่านั้นที่ร่วมกายร่วมใจกัน

ครั้นรุ่งขึ้นเช้า ดิฉันแต่งตัวเรียบร้อยและเตรียมจะไปขึ้นรถไปทำงาน ก็ได้ยินเสียงคนทะเลาะกันอยู่ข้าง ๆ รถ ซึ่งจอดไว้ใต้ถุนเรือนอีกด้านหนึ่งจากห้องของดิฉัน คือบริเวณใกล้ห้องของน้ารื่น ได้ยินเสียงสุพินชัดขึ้นเมื่อสุพินขึ้นเสียงดัง

“อย่ามาทำเป็นนายเลย ฉันไม่ต้องการนายหลายคนนักหรอก”

“ไม่ต้องการเป็นนายแก” เสียงผู้ชายตอบ ดิฉันจำได้ว่าเป็นเสียงการุณ “แต่แกจะมาว่าฉันตามใจ ตามนิสัยไพร่ ๆ ของแกไม่ได้”

“แหม พ่อผู้ดี ใหญ่จริงนะ เป็นถึงลูกผู้ใหญ่บ้าน” เสียงสุพินเยาะเย้ย “ลูกหลานพระยายังไม่มาพูดกับฉันยังงี้เลย”

“ฉันไม่ต้องการทะเลาะกับแกนะ ฉันให้แกถอนคำพูดที่ว่าฉันเป็นขโมยเท่านั้น” การุณโต้ น้ำเสียงขุ่นเคืองมาก

“ถอนคำ ถอนยังไง ถอนคำ เคยได้ยินแต่เขาถอนต้นหมากรากไม้ ถอนคำไม่เคยได้ยิน” เสียงสุพินเยาะเย้ย โต้ตอบมาอย่างไม่เกรง

มีเสียงอีกเสียงหนึ่งดังขึ้น ดิฉันจำได้ว่าคือเสียงน้ารื่น “นี่ สุพิน เราลดราวาศอกเสียมั่งเถอะ นายการุณเขาเป็นญาติของคุณกฤต คุณเกลาเป็นนายฉัน คุณ ๆ บ้านนี้ฉันนับถือเป็นเจ้าขุนมูลนายฉัน เราจะมาขึ้นเสียงเถียงทะเลาะกันอย่างนี้ไม่สมควร ไม่พอใจอะไรก็บอกกล่าวผู้ใหญ่ให้ท่านตัดสิน หรือไม่งั้นก็ทำหูไปนาตาไปไร่ อย่าให้เรื่องมันยืดยาวไปเลย”

ดิฉันเห็นกฤตเดินลงบันไดหน้าเรือน ดิฉันรีบเดินเครื่องยนต์แล้วเร่งน้ำมันให้เสียงสนั่น แล้วก็เคลื่อนรถออกไปให้ไกลที่สุดจากที่จอดรถ แล้วก็เร่งน้ำมันต่อ พร้อมกันนั้นก็เปิดประตูพยักหน้าให้กฤตขึ้นรถ แล้วก็ขับรถออกจากบ้านโดยไม่รั้งรอ

“รถเป็นอะไรไปรึ” กฤตถาม

“ไม่รู้ซี น้ำมันมันเดินไม่สะดวกหรือยังไงก็ไม่รู้” ดิฉันตอบแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาขับรถอย่างทะมัดทะแมง ทั้งที่ใจเต้นแรง

เมื่อกลับมาจากทำงาน ดิฉันจำใจต้องนำเรื่องการทะเลาะกันระหว่างการุณกับสุพินไปเล่าให้แม่ฟัง ทั้งกฤตกับดิฉันไม่สบายใจกันไปคนละทาง กฤตทราบเรื่องจากที่ดิฉันเล่าให้ฟัง ซึ่งดิฉันได้กล่อมเกลาให้หายความรุนแรงไปเกือบหมด แต่ดิฉันได้ยินเสียงและถ้อยคำ และห่วงสุพิน เพราะได้อยู่กันมาเกือบ ๑๐ ปี สุพินได้ถูกน้ารื่นอบรมจนเป็นคนรู้ระเบียบต่าง ๆ ในบ้าน แต่สุพินก็ยังควบคุมตัวไม่ได้ดีในเมื่อถูกผู้ใดยุให้เกิดโทสะ สุพินอาจไม่พอใจที่จะถูกตักเตือน แล้วก็ลาออกไป ดิฉันก็จะลำบากกายลำบากใจ โดยเฉพาะได้หวังว่าจะให้สุพินดูแลลูกที่กำลังจะเกิดมา มิฉะนั้นภาระทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่น้ารื่น การหาคนรับใช้ในบ้านใหม่นั้นเป็นสิ่งที่เจ้าบ้านทุกคนไม่ปรารถนา เมื่อแม่ฟังเรื่องจากดิฉันแล้ว ก็เรียกน้ารื่นไปไต่ถาม น้ารื่นก็บอกว่าสุพินได้ก้าวร้าวการุณจริงด้วยความโกรธที่ทำให้สุพินเป็นทุกข์ว่าของหายไป แม่จึงเรียกสุพินไปตักเตือนอย่างละมุนละม่อม

“เราอยู่ด้วยกันมานานแล้วนะ สุพิน คุณผู้ชายก็ต้องอาศัยสุพินมาก หนักเบาหน่อยก็ต้องมีน้ำอดน้ำทน” แม่กล่าว

“นั่นซีคะ อยู่กันมานานแล้ว เพิ่งจะมีคนใหม่เข้ามาหาเรื่อง” สุพินในทำนองย้อน

“ที่จริงเขาเอามาคืน เราก็ไม่ควรว่าเขาขโมย แต่เอาเถอะ เราพูด ๆ ไปด้วยความหมั่นไส้ ทีหลังระวังก็แล้วกัน” แม่ปลอบและสอนต่อไป

“ถ้าจะให้ขอโทษละก็ ดิฉันไม่ยอมหรอก” สุพินยืนยัน

“เขาบอกแต่ให้ถอนคำต่างหาก” ดิฉันรีบแซงขึ้น “ถอนคำก็คือว่า พูดเสียใหม่ว่า ไม่ได้ตั้งใจว่าเขาขโมย”

“อยู่ ๆ ก็มาเอาไปเฉย ๆ พิลึกละ” สุพินยังแสดงความไม่พอใจต่อไป

“เห็นใจคนหนุ่ม ๆ มั่งเถอะ สุพิน” ดิฉันวิงวอน “นึกว่าเห็นแก่ฉัน แล้วนึกถึงว่าคุณกฤตจะต้องลำบากใจ เขาเป็นคนอื่นมา มาอยู่กับเรายังไม่คุ้นกันเท่าไหร่ ประเดี๋ยวจะเป็นว่าพวกเราดูถูกเขาว่าเป็นคนบ้านนอก” ดิฉันตัดสินใจพูดกับสุพิน เพราะคิดว่าในที่สุดก็จะต้องพูดความจริงกันวันหนึ่ง

แม่ไม่ค่อยสบายใจเมื่อได้ยินคำพูดของดิฉัน แต่ก็ไม่รู้จะแก้ไปทางใด ดิฉันจึงพูดต่อ “ถ้าเขาไม่ว่าอะไรอีก เราก็อย่าไปรื้อฟื้นขึ้นมา ถ้าเขาพูดเรื่องถอนคำ เราก็บอกว่า ที่จริงเขาเอามาส่ง เขาก็ไม่ใช่ขโมย เท่านั้นเอง ที่จริงการที่เขาเอามาส่ง ก็ทำให้เราหายข้องใจ หมดความรับผิดชอบของสุพินไป

“แล้วเผื่อทำยังงี้อีกจะว่าไงคะ” สุพินตั้งปัญหา

“ไว้ให้พี่เขาสอนกันเองก็แล้วกัน” ดิฉันบอก

“น่าสงสารคุณลูกแก้ว” สุพินว่าแล้วก็ลุกขึ้นไป ด้วยท่วงทีเท่ากับคำว่า สะบัดก้น

ดิฉันเกือบตะโกนไล่สุพินออกจากบ้าน แต่ระงับไว้ด้วยความเคยชินกับการอบรมของแม่ ไม่ให้พูดเวลาโกรธ แม่พูดขึ้น “พี่แสงว่าแม่เลี้ยงคนให้เสียนี่เห็นจะจริง”

ดิฉันแนะกฤตว่า อย่าให้เรียกการุณมาว่ากล่าวในเรื่องที่เป็นปากเสียงกับสุพิน ให้รอโอกาสที่เหมาะ แล้วอยากเข้าใจจึงถาม “ทำไมการุณแกถึงมาเอาเสื้อของกฤตไปใส่หน้าเฉยตาเฉย แล้วแกก็มาบอกเหมือนกับไม่มีเรื่องราวอะไร”

“พี่น้องบ้านนอกมันเคยชินกันอย่างงี้แหละ” กฤตตอบเสียงอ่อย ๆ “ของใคร ๆ ไม่รู้ละ ถ้าใช้ได้ก็เอาไปใช้ บอกกันทีหลังก็ได้ กลัวจะไปฉวยของคุณพ่อเข้าวันหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าบอกก็คงโกรธ คนหนุ่ม ๆ นี่มันไม่ค่อยมีเหตุผล”

“เป็นหนุ่มแต่ตัว ความคิดไม่หนุ่มตาม ใช่ไหม” ดิฉันถาม ตามทฤษฎีของน้ารวงรัตน์

“ก็ยังงั้นละ” กฤตรับเสียงอ่อยเช่นเดิม

“กฤตลองคิดไว้ซิ ไอ้ประเพณีชาวบ้านกับชาวเมืองต่างกันยังไง ๆ บ้าง เผื่อเราจะได้คิดไว้ป้องกันไว้บ้าง คุณพ่อกับแม่ลูกแก้วน่ะรับรองว่าเข้าใจ แต่คนในบ้านมีหลายคน ต่างคนต่างก็ถือกันตามความเคยชิน”

“บอกแล้วไงว่าอยู่เฉย ๆ คิดไม่ออก” กฤตตอบ

วันเสาร์หลังจากนั้น กฤตต้องออกไปสดับตรับฟังเหตุการณ์ที่บ้านคลองกาญจนาอีก เผื่อว่าการุณจะไปเล่าให้ลุงการเกิดโทสะขึ้นมา หรือญาติพากันเข้าใจผิด แต่เสาร์อาทิตย์นั้น การุณไม่ได้กลับไปบ้าน เพราะมีกิจกรรมของวิทยาลัย กิจกรรมวิทยาลัยนี้ได้อนุเคราะห์ให้เหตุการณ์ภายในบ้านที่ซอยอโศกราบรื่นไปได้พอประมาณ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ