บทที่ ๑

ฉันได้พบกฤตนอกประเทศ บ้านเกิดเมืองนอน ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันรักเขาตั้งแต่แรกเห็น อย่างน้อยดิฉันถูกตาถูกใจกับชายหนุ่มร่างโปร่ง ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ชายไทย เดินเคียงกับฝรั่งไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนร่างเล็ก ผมไม่หยิกแต่ไม่ตรงและจะเรียกว่าหยักโศกก็ไม่ได้ ถ้าเรียกผมผู้ชายว่าสลวยได้ ก็เข้าอยู่ในลักษณะนั้น เขาไม่อาศัยน้ำมันให้ผมเกาะกันเรียบอยู่บนศรีษะ ปล่อยให้ปรกลงมาที่หน้าผากสองสามเส้น และคอยลูบปัดให้มันขึ้นไปรวมกันให้เรียบร้อยบนศรีษะ ซึ่งเป็นทีท่าที่ทำให้ดิฉันสนใจกับเขาตั้งแต่วินาทีแรกที่มีผู้แนะนำให้รู้จักกัน

ผู้ที่แนะนำเป็นญาติของดิฉัน มาดูงานการเกษตรในเรื่องผลิตผลจากนมโคที่ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นญาติที่ดิฉันนับถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เธอกล่าวว่า “นี่ ลูกแก้ว นี่กฤต นี่น้องผม นี่เพื่อนพี่”

ดิฉันกับกฤตยกมือขึ้นไหว้กันพร้อมกัน ดิฉันก็ถูกใจทันทีที่เขาไหว้อย่างคนที่ไหว้เป็น ผิวของเขาเปล่งปลั่ง เพราะได้อยู่มากับอากาศหนาว ผิวของดิฉันก็เปล่งปลั่งเพราะวัยและสุขภาพดี ต่างคนต่างมองด้วยความสนใจ เหมือนกับจะละสายตาจากหน้าของกันและกันไม่ได้ แววตาของเขาบอกความตื่นเต้น ไม่ใช่แววตาของชายหนุ่มที่มองเห็นหญิงสาวเป็นครั้งแรกอย่างธรรมดา

ดิฉันติดตามคุณลุง ประจิต ไปประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียในฐานะเลขานุการชั่วคราว ดิฉันทำงานในรัฐวิสาหกิจอันหนึ่ง เมื่อคุณลงพ้นจากราชการโดยครบเกษียณอายุ หลังจากที่ได้รับราชการในตำแหน่งเอกอัคราชทูตสองสามประเทศ แล้วท่านได้รับการชักชวนให้เป็นผู้อำนวยการองค์การศึกษาแห่งเอเซียใต้ และต้องเดินทางไปติดต่อขอความช่วยเหลือทางเงิน และทางวิชาการจากประเทศที่แสดงไมตรีจิตหลายแห่ง ท่านว่าท่านได้จากเมืองไทยไปนาน ไม่ทันทราบเรื่องเบ็ดเตล็ดของประเทศไทย อยากได้คนที่ไว้วางใจได้ไปด้วยเพื่อจะได้ไต่ถาม ที่รู้ภาษาอังกฤษพอใช้งานได้ และทำหน้าที่เลขานุการให้ท่านได้ คุณน้าคนหนึ่งก็เสนอชื่อดิฉัน ท่านก็ตกลงให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะท่านสนิทกับผู้บังคับบัญชาของดิฉัน พอจะออกปากขอความช่วยเหลือได้ ดิฉันจึงได้ไปพบกฤตที่นิวซีแลนด์ดังที่เล่าแล้ว

เขามากับญาติของดิฉัน พี่ประพฤติ ไปรับคุณลุงที่สนามบินเมืองโอคแลนด์ด้วยกันกับนักเรียนไทย และคนไทยที่อยู่ที่เมืองนั้นอีกสองสามคน ตามที่ทางสถานทูตที่กรุงเวลลิงตันนครหลวงของนิวซีแลนด์ขอแรงมา ด้วยเหตุว่าพี่ประพฤติเป็นหลานที่ไม่ใช่ญาติห่างไกลของคุณลุง และรู้จักธรรมเนียมและสถานที่ต่าง ๆ ของเมืองโอคแลนด์เป็นอันดี สถานทูตก็เบาใจและไม่ได้ห่วงคุณลุงเกินกว่าจำเป็น

พี่ประพฤติพาคุณลุงกับดิฉัน ไปพักอยู่ที่โรงแรมอันหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเห็นมีโรงแรมไหนคล้ายคลึงอีกเลย ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ โรงแรมนี้มีห้องให้คนพักได้เป็นจำนวน ๘ ห้อง เท่านั้น อยู่ใกล้ศูนย์กลางนครใหญ่แห่งนั้น แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงแรม เหมือนอยู่ชนบท เพราะมีบริเวณที่ดินแวดล้อมซึ่งยังมีลักษณะเหมือนป่าดั้งเดิมของนิวซีแลนด์ มีถนนเล็กๆ ซึ่งเป็นถนนส่วนตัวของโรงแรมแยกจากถนนใหญ่ลงไปถึงระดับต่ำประมาณ ๕ เมตร จึงถึงโรงแรมหลังน้อยนั้น ซึ่งเดิมเป็นบ้านส่วนตัวของเอกชน โรงแรมนี้มีลักษณะเฉพาะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อนั่งอยู่ในห้องรับประทานอาหาร ซึ่งตั้งโต๊ะไว้ทั้งหมด ๕ โต๊ะ หรือที่ห้องนั่งเล่นใกล้กันนั้น จะมองเห็นอ่าวเวิ้งว้าง และตรงข้ามจะเห็นภูเขาไฟเก่าเป็นเทือกเขาไม่สูงนัก เจ้าของโรงแรมเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องพัก ยกกระเป๋า เดินโต๊ะ และภรรยาเป็นผู้ประกอบอาหารในครัว นอกจากนั้น เจ้าของโรงแรมยังมีอาชีพข้างเคียงอาชีพหลัก คือเป็นครูสอนเปียโน

เมื่อดิฉันแสดงความแปลกใจ พี่ประพฤติก็ว่า “พรรณอย่างนี้จะพบได้ในประเทศนี้เท่านั้น ถ้าใครสงสัยว่าประชาธิปไตยมีได้จริงไหม ขอให้มาดูที่นี่ การถือผิวก็เรียกได้ว่าไม่มีเลย”

กฤตมองดูพี่ประพฤติคล้ายจะค้าน แต่นิ่งไว้ สายตาของเขามาจับที่หน้าของดิฉันแทนหน้าพี่ประพฤติ

ค่ำวันนั้น คณะที่ไปถึงเมืองโอคแลนด์ กินอาหารค่ำที่โรงแรมนั้น ร่วมกับพี่ประพฤติ กฤต กับนักเรียนไทยรุ่นเด็กอีกคนหนึ่ง คุณลุงเป็นคนชอบคนวัยต่าง ๆ ชอบคุยและชอบฟัง จึงชวนคนต่างวัยให้กินอาหารร่วมกับท่านเพื่อจะได้ซักถามถึงสภาพในประเทศนั้นไว้ให้มากที่สุดที่จะหาโอกาสได้

“คนที่นี่” พี่ประพฤติเล่าให้คุณลุงฟัง “ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก แต่ถือความสุภาพเอาการอยู่ ช่างชมคนต่างชาติเป็นที่หนึ่ง แต่ผมว่าจะเบากว่าอเมริกัน”

“ผมว่าอเมริกันชอบคนหน้าใหม่ ๆ คนที่นี่ออกจะอารี แต่สนิทที่ละน้อย ในเรื่องนี้ดูเหมือนจะดีกว่าอเมริกัน แต่ว่ามันเหงา อาชญากรรมก็ไม่ค่อยมี อะไร ๆ ตื่นเต้นไม่คอยมีเสียเลย แต่เรื่องผิว ผมว่าเห็นจะดีกว่าที่อื่นเป็นแน่” กฤตบรรยายเสริม

“คุณกฤตมาทำอะไรที่นี่” คุณลุงถาม ซึ่งถูกใจดิฉันนี่กะไรเลย ดิฉันอยากรู้เรื่องผู้ชายคนนี้มากเสียจริง ๆ จนจับได้ว่าออกจะผิดปกติของตัวเอง

“ผมมาดูเศรษฐกิจของประเทศเล็ก ๆ เพื่อจะเปรียบเทียบกับประเทศใหญ่” กฤตตอบ “ผมไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อเมริกา รู้สึกว่าจะเอาอะไรเปรียบกับประเทศไทยไม่ได้เลย”

“คุณไปดูประเทศกำลังพัฒนาบ้างหรือเปล่า” คุณลุงถาม

“ก็เรียกว่าไปเหมือนกันครับ” กฤตตอบสั้น ๆ

“ที่ไหนบ้าง” คุณลุงถาม

“ผมไปพม่า อินเดีย อินโดเนเซีย” กฤตตอบ

ดิฉันแปลไปในทางดี เขาไม่ใช่คนชอบอวด ไม่ชอบคุย ที่จริงเขาได้เห็นโลกมาพอใช้ทีเดียว

“เวลาคุณจะไปดูงานอย่างนี้ คุณเตรียมใจเตรียมกายอย่างไร” คุณลุงทดสอบแบบวิธีทูต แทนที่จะถามว่ามีวิธีการตระเตรียมการไปดูงานอย่างไรบ้าง

เขายิ้ม ทั้งดวงหน้าเขามีเสน่ห์น่าดู “ผมต้องอ่านหนังสือเรื่องประเทศนั้นให้มาก ๆ ก่อน คุยกับใคร ๆ ที่เขาเคยไปมาก่อน แล้วก็สืบหาคนที่เราอาจไปทำความรู้จัก จะได้คุยกันถึงเรื่องที่หาอ่านในหนังสือไม่ได้”

“ที่จริงดูเศรษฐกิจไม่น่าจะลำบากเท่าไร ไม่เหมือนดูงานอย่างเกษตร” พี่ประพฤติว่า

“เห็นจะไม่มีอะไรยากเท่าการศึกษา” คุณลุงออกความเห็น “ถ้าไปดูแต่โรงเรียน แต่มหาวิทยาลัย ก็คาดการผิดหมด ผมเคยผิดมาแล้ว นานปีถึงเข้าใจว่า จะรู้เรื่องการศึกษาของเมืองไหน ต้องรู้อะไร ๆ มาก่อนหลายอย่างว่าไง” ท่านหันมาสนใจกับดิฉัน “บอกน้าเขาซี ให้เขามาบ้าง คราวนี้ชวนแล้วไม่มา บ้านเมืองเขาน่าดูเบารึ”

“คุณลงหาทุนให้คุณน้าซิคะ อะไรก็ไม่สำคัญเท่าธนบัตร” ดิฉันว่า

พอดีมีคนมาเรียกไปนั่งโต๊ะอาหาร พี่ประพฤติบอกกล่าว “ทีนี่ใครกินเนื้อแกะไม่เป็นก็อย่าคิดเรื่องกินอร่อยเลย แต่ร้านอาหารจีนที่พอจะกินได้มีอยู่ ๒ ร้าน นอกนั้นต้องฝีมือผม”

“จะแสดงฝีมือให้ดูบ้าง” คุณลุงพูดอย่างสนุก “กลัวจะถูกเชิญไปไหนต่อไหนเท่านั้น”

เราเข้าไปนั่งรับประทานอาหารค่ำ คุณลุงคุยซักถามเรื่องของบ้านเมืองต่อไป กฤตชำเลืองมาทางดิฉันบ่อย ๆ สบตากันเพราะดิฉันก็ชำเลืองดูหน้าเขาบ่อย ๆ เช่นเดียวกัน ในวันนั้นพี่ประพฤติเป็นคนคุยมากกว่าผู้อื่น เพราะตัวเขามีเรื่องจะไต่ถามคุณลุง และคุณลุงก็ต้องการนัดแนะวันเวลาที่จะไปพบคนสำคัญคนนั้นคนนี่ที่นั่นที่นี่มากเท่ากับเขา

“คุณลุงคิดถูกสำหรับจิตวิทยาของคนเมืองนี้” พี่ประพฤติออกความเห็น “ถ้าคุณลุงตรงไปเวลลิงตันแทนที่จะมาศึกษาอะไร ๆ ที่โอคแลนด์ เขาอาจว่าเราตรงมาเพื่อขอเงิน แต่นี่คุณลุงมาก่อนวันนัดสองสามวัน แล้วมาดูสิ่งที่เขาภาคภูมิใจของเขาทางเหนือนี่ เขาก็ชอบใจ มีใจเป็นมิตรมากกว่า แล้วเรื่องการศึกษา คนประเทศนี้เอาใจใส่ไม่เหมือนคนที่อื่น หรือคุณกฤตว่าไง”

“ผมก็ว่าเขาดีมาก แล้วคนออสเตรเลียคนหนึ่ง เป็นคนสำคัญของรัฐอะไรรัฐหนึ่ง เขามาดูการศึกษาที่นี่ เขาก็ว่าที่นิวซีแลนด์นี้ดีมาก”

“คำว่าการศึกษาดีมากนี่แปลได้หลายอย่างเหลือเกิน” คุณลุงว่า “หาโรงเรียนเข้าง่ายก็ว่าดีมาก มีชื่อเสียงไปทั่วโลกก็ว่าดีมาก แล้วก็อะไรต่ออะไรอีก ต่างคนต่างก็ว่าไปตามความคิดเห็นของตัว ที่นี่ดีทางไหน” ท่านหยุดหัวเราะนิดหนึ่งแล้วเสริม “อย่าว่าคนแก่ลองปัญญาคนหนุ่มเลยนะคุณ ถามด้วยความอยากรู้จริง ๆ”

“คุณลุงไม่ต้องห่วงนายกฤต เขาชอบให้คนลองปัญญาเขา” พี่ประพฤติบอกสรรพคุณของเพื่อนขึ้นมา

ดิฉันชายตาดูหน้าเขาขณะที่เขาตอบ “คือยังงี้ครับ ที่ผมว่าดีน่ะ เขาทำอะไรตามความจำเป็นในประเทศของเขา ไม่เอาอย่างอังกฤษหรืออเมริกาหรือใคร ในโรงเรียนมัธยมของเขา เด็กจะเลือกเรียนไปทางเกษตรหรือพาณิชย์ หรือทางอุตสาหกรรมก็ได้นะครับ ผมเพิ่งกลับจากทางเหนือของเกาะเหนือนี้ บางโรงเรียนเลือกเรียนได้ตั้ง ๘ สาย ในโรงเรียนเดียวกันมีเด็กมาวรีอยู่ด้วยแยะ มีเด็กหูหนวกเรียนกับเด็กหูดีด้วยคนหนึ่ง แล้วประชาชนใกล้ชิดกับโรงเรียน ทุกโรงเรียนมีกรรมการควบคุม เลือกเอามาจากผู้ปกครองของนักเรียนนั่นเอง”

“เห็นจะยอมเห็นกับคุณได้ว่าดี อีตอนประชาชนเป็นเจ้าของโรงเรียน แล้วเด็กเลือกเรียนตามทางที่จะทำมาหากิน” คุณลุงว่า “แต่นี่แน่ะ เรื่องเอาอย่างใคร ไม่เอาอย่างใครน่ะผมจะบอกให้ คนไม่มีปมด้อยเขาไม่ต้องคอยเอาอย่างใครหรอก คนไทยเราน่ะเก้าสิบเปอร์เซนต์เป็นคนมีปมด้อย ฮึว่าไงประพฤติ”

“คุณลุงเอาแรงจริง” พี่ประพฤติว่า ไม่สะดุ้งสะเทือนกับข้อกล่าวหา แต่ดิฉันสังเกตว่ากฤตเปลี่ยนสีหน้า ดูมีความตระหนกมากพอใช้

“แรงไปเหรอ” คุณลุงถามพลางหัวเราะน้อย ๆ อย่างรื่นเริง “เราว่าสักกี่เปอร์เซนต์ละ”

“ผมมันคนเลี้ยงวัวเลี้ยงหมู กฤตก็นักเศรษฐกิจ ว่าไงดอกเตอร์ มีสถิติคนมีปมด้อยไหม” พี่ประพฤติถามเพื่อน “ผมชักสนใจ ทำไมท่านว่าคนไทยมีปมด้อยเก้าสิบเปอร์เซนต์” เขาจ้องหน้าถามคุณลุงด้วยความอยากรู้

“เปอร์เซนต์น่ะเป็นอุปมาเท่านั้น เหมือนเขากล่าวถึงนางอัปสรเป็นโกฏ ๆ นั่นแหละ แต่ว่าจริงนา คนไม่มีปมด้อยจะต้องคอยเอาอย่างเขาทำไม คนเราสองคนยังไม่เหมือนกัน แม้แต่เสื้อเชิร์ตก็ยังใส่ของกันไม่ได้ แล้วเรื่องการศึกษาจะไปเอาอย่างกันอย่างไงได้”

“นึกไปก็แปลก ในโลกนี้ ประเทศที่เขายกย่องกันเป็นประเทศเล็ก ๆ ทั้งนั้น” กฤตตั้งข้อสังเกต

“ประเทศเล็กมันก็ดูแลให้ดีได้ง่าย มันเห็นภาพทั้งประเทศง่าย ประเทศยิ่งใหญ่ ไอ้ที่จะหลงหูหลงตามันก็มาก” คุณลงว่า

การสนทนาดำเนินต่อไปในทำนองนี้ ดิฉันสังเกตว่ากฤตเป็นคนกล้าที่จะให้เหตุผลต่าง ๆ ตามความคิดนึกของตน แต่นั่นไม่แปลกอย่างไร เพราะเขาเป็นคนได้เล่าเรียน แต่ที่ดิฉันสังเกตว่าเขาออกจะพิเศษกว่าคนอื่น ก็ในข้อที่ว่าดูเหมือนเขาจะคุยกับคนต่างวัยเช่นคุณลุงได้อย่างเพลิดเพลิน

วันรุ่งขึ้นคุณลุงไปเยี่ยมวิทยาลัยครู อยู่นอกเมืองไปไม่ไกลนัก ดิฉันต้องติดตามท่านไปด้วย เมื่อกลับมาเป็นเวลากินอาหารกลางวันพอดี พบกฤตรออยู่ที่โรงแรมที่พัก ดิฉันตั้งคำถามในใจว่า นี่เป็นการถือโอกาสให้คุณลุงเลี้ยงอาหารมื้อหนึ่งหรืออย่างไรหนอ แต่พี่ประพฤติเข้ามาบอกดิฉันภายในสองสามนาทีว่า พี่ประพฤตินัดให้เขามาเป็นเพื่อนดิฉัน

“ตาเวย์เพื่อนพี่ แกเป็นคนรวย เอาใจใส่กับเมืองไทยแล้วก็อยากช่วยเหลือ พี่จัดให้แกเลี้ยงอาหารกลางวันวันนี้ แกเป็นคนใจดีมาก แต่ใจลอย ไม่ถามว่าจะต้องเชิญใครมั่ง แกเชิญพี่กับคุณลุง แล้วบอกว่าแกจะมีแขกอีกสี่คน พี่จะไปบอกว่ามีน้องมาด้วยอีกคนก็รู้สึกยังไงก็ไม่รู้ บังเอิญกฤตเขาอยู่ที่นั่นตอนพูดโทรศัพท์ เขาเลยบอกว่าเขาจะมาพาแก้วไปกินข้าวเจ๊ก ไม่อร่อยอะไรนัก นึกว่าไปลอง ๆ ดูก็แล้วกัน

“หวังว่าคุณจะไม่รังเกียจ” กฤตกล่าวตามมารยาท “ถ้าคุณจะรับประทานที่โฮเต็ลนี่ ผมก็รับที่นี่”

ดิฉันหมายเหตุคำที่เขาใช้ “รับ” เป็นคำที่คนในครอบครัวดิฉันไม่ใช้กัน เมื่อจะพูดกับคนอื่นที่จะถือประเพณีก็ใช้คำ “รับประทาน” เต็มคำ ถ้ามิฉะนั้นเราก็ใช้ “กิน”

“ดิฉันอยากไปกินข้าวเจ๊ก” ดิฉันรีบบอก

มื้อกลางวันที่ร้านอาหารจีนในเมืองโอคแลนด์ เป็นอาหารมื้อแรกที่กฤตกับดิฉันกินร่วมกัน เฉพาะสองคน ดิฉันพยายามให้เขาคุยเล่าเรื่องตัวของเขาเองมากที่สุก แต่เขาก็พยายามให้ดิฉันพูดเรื่องตัวเองเช่นเดียวกัน การสนทนาจึงเป็นการแลกเปลี่ยนประวัติของกันและกัน เริ่มด้วยชื่อของดิฉัน

“ผมได้ยินพี่พฤติเรียกคุณว่า แก้ว แก้ว ผมควรจะเรียกคุณแก้ว อย่างนั้นหรือ หรือคุณมีชื่ออะไรที่ควรผมควรเรียก” กฤตถามระหว่างที่นั่งไปในรถยนตร์ขนาดเล็กของเพื่อนที่เขาขอยืมมา

“ดิฉันอายจังค่ะ เวลาถูกถามเรื่องชื่อ” ดิฉันตอบ เป็นการเรียกร้องความสนใจของเขา เพราะดิฉันอยากบอกเขาเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวให้เร็วที่สุด “ดิฉันอายทั้งชื่อเรียกเล่นกับชื่อจริง”

“รึครับ ผมอาจชอบมากก็ได้ นามสกุลผมก็แปลกหน่อย แต่ผมไม่รู้สึกอายเลยครับ” เขาว่า

“รึคะ ดิฉันเลียนย้อนโดยไม่ตั้งใจ “นามสกุลอะไรคะ”

“ผมถามคุณก่อนนะครับ” เขาพูดเชิงสัพยอก ซึ่งถูกใจดิฉันมาก “แต่ผมจะยอมเสียเปรียบ ผมนามสกุล มีนา ไม่ได้แปลว่า ปลา หรือเกี่ยวกับเดือนมีนานะครับ แปลตรง ๆ มี นา ผมเคยคิดเสมอว่าผมต้องพยายามเป็นเจ้าของนาไว้อย่างน้อยแปลงหนึ่งเสมอไป ไม่ยังงั้นก็จะผิดจากนามสกุล”

“ตาย ดิฉันชอบจัง” ดิฉันพูดโดยจริงใจ “ดิฉันชอบอะไรง่าย ๆ แต่ว่าเมื่อตะกี้คุณไม่ได้ถามนามสกุลดิฉันนะคะ คุณถามแต่ชื่อเล่นกับชื่อจริง”

“คุณนามสกุลเดียวกับพี่พฤติหรือครับ” เขาถามอย่างสุภาพ

“เปล่าค่ะ” ดิฉันตอบ “นามสกุลดิฉันก็พิสดารอีกล่ะค่ะ เขาบ่นกันทั้งนั้น นามสกุลดิฉัน กอกรี คุณคิดว่าคุณจะสกดถูกไหมค่ะ”

“ผมจะลองพยายามดู” เขาพูดพลางหัวเราะเบา ๆ อย่างรื่นเริง “ผมเอาตรง ๆ นะครับ กอ ออ กอ รอ สระอี ไม่รู้จะออกไปทางไหนนี่ครับ”

“ตาย คุณเป็นคนแรกที่สกดถูกโดยไม่เคยเห็นตัวหนังสือ ไม่งั้นคนที่ได้ยินครั้งแรก มักทำอะไรแปลก เช่นเอา ต สกด เหมือนกับดิฉันออกเสียง ตร ควบไม่เป็นอย่างคนโบราณอย่างนั้นแหละ”

“โอ ผมยินดีจริง นาน ๆ ผมจะทำอะไรถูกตามอย่างใจอยากสักที” เขาพูดอย่างรื่นเริงต่อไป แล้วมาถึงหัวเลี้ยวถนนที่ต้องระวังยวดยาน เขาเอาใจใส่ในการขับรถ จึงหยุดการสนทนา ครั้นได้นั่งในร้านอาหารเรียบร้อย สั่งอาหารที่ทำง่ายๆ มาคนละจานแล้ว เขาจึงเตือนขึ้น

“นี่ผมยังไม่ทราบชื่อจริงชื่อเล่นของคุณนะครับ”

“เราเป็นคนสมัยใหม่แท้นะคะ ดิฉันว่า “ถ้าเป็นสมัยคุณแม่ คงรู้จักกันแต่ชื่อนานกว่าจะได้มากินข้าวด้วยกันสองคนอย่างนี้” แล้วดิฉันรีบต่อก่อนที่เขาจะหันเหความสนใจไปเสีย “ชื่อเล่นของดิฉัน เรียกกันในพวกญาติผู้ใหญ่เรียกว่า ลูกแก้วค่ะ ดิฉันชอบให้คนรู้จักเรียกให้เต็มสองพยาค์ง พี่ประพฤติเป็นคนขี้เกียจ แต่ก่อนเคยเรียก น้องแก้ว เดี๋ยวนี้ทำไมมาตัดเหลือพยางค์เดียวไม่ทราบ”

“อ้อ แล้วอย่างผมควรเรียกว่า คุณลูกแก้วงั้นรึครับ ไม่ใช่สำหรับคุณพ่อคุณแม่โดยเฉพาะ” เขาถาม

“ดีกว่า คุณแก้ว คนชื่อแก้ว ๆ กันแยะ บางทีไม่รู้ว่าแก้วไหน ใช่ไหมคะ ไม่เหมือนชื่ออย่างคุณ แจ่มไปเลยนะคะ”

“พวกผมชื่อตัว ก กันทั้งนั้นเลย” เขาบอกเล่าอย่างแแจ่มใส ทำให้ดิฉันลำเอียงเข้ากับตัวเองว่าเขาชอบดิฉันเท่ากับดิฉันชอบเขา ขณะเดียวกันดิฉันก็มีความกระดากเวลาเขามองดูดิฉันอย่างที่ดิฉันไม่เคยมีต่อชายอื่น เขาชี้แจงต่อไป “พ่อผมชื่อ กิจ ลุงผมชื่อ การ ลุงอีกคนหนึ่งชื่อ กร”

“ก็เหมือนพวกคุณพ่อดิฉันซีคะ ดิฉันสนอง “คุณพ่อดิฉันชื่อ เกลา ปู่ชื่อ กอ ทวดขึ้นไปอีก ชื่อ กรี เวลาสมัยตั้งนามสกุลเจ้านายท่านเลยตั้งให้เป็น กอกรี ท่านถามว่าเอาง่ายๆ อย่างนี้ไหม. คุณปู่ก็ว่าดี เลยมีนามสกุลพิลึกนะคะ”

“ผมว่าเก๋ดี” เขาว่า “แต่ขอประทานโทษ คุณยังไม่ได้ให้ผมรู้ชื่อจริงของคุณเลย”

“ชื่อจริงไม่มีใครเรียกเลยค่ะ พิลึกเหมือนกัน” ดิฉันเล่าต่อ “อ๊ายอายเวลาใครถาม” แล้วดิฉันก็บอกเขาด้วยเสียงที่ดิฉันคิดว่าปร่า ทุกครั้งที่บอกชื่อแก่ใคร

“เอ ผมก็ว่าเก๋ดีละครับ แต่เรียกยากจริง แก้วเกลา ความหมายก็ดีนี่ครับ เพชรเจียรนัย ใช่ไหม หรือว่าผมเชย”

“ดิฉันไม่ชอบเลยค่ะ ถูกเพื่อนนักเรียนล้อเมื่อเด็ก ๆ เป็นคำน่าเกลียด แต่ที่จริง มันก็ไม่สำคัญอะไรนะคะ เราไปเอาใจใส่กับมันมากเกินไป” ดิฉันคุยด้วยความเบิกบานจริง ๆ แล้วพอมีโอกาสดิฉันก็ถามเขาถึงตัวเขา ทำให้เขาเล่า

“ผมเมื่อเล็กๆ เป็นเด็กวัด ท่านพระครูท่านสอนหนังสือจนอ่านออกคล่องแล้วถึงไปโรงเรียน ครูเลยเห็นเป็นคนเก่ง เลยสนับสนุนให้พ่อส่งเข้าเรียนในกรุง มาอยู่วัดอีกแหละครับ แล้วกลับไปเข้าโรงเรียนประจำที่บ้านโป่ง เรียนกับพระเหมือนกันแต่ศาสนาคริสตัง แล้วมาอยู่วัดในกรุงอีก ตอนเรียนชั้นเตรียม แล้วถึงได้ไปเข้ามหาวิทยาลัย ลุงเป็นกำนัน อยากมีหลานเป็นนายอำเภอสักคน ก็เลยให้เข้ารัฐศาสตร์ แล้วโชคดีได้ทุนเรียนต่อ จนกระทั่งได้ไปอเมริกา ลุงยังเสียดายที่ไม่ได้เป็นนายอำเภอ ต้องอาศัยท่านพระครู คนใหม่ครับ คนที่สอนหนังสือเมื่อเด็ก ๆ ท่านไปเป็นสมภารทางภาคอิสาน คนไทยเราในชนบทนี่ไม่ว่าอะไรก็ต้องอาศัยพระนะครับ”

“ขอประทานโทษ ชนบทแค่ไหนคะ” ดิฉันถาม

“แค่สามพรานนี่เอง เดี๋ยวนี้จากกรุงเทพ ฯ ไปรถไม่นานก็ถึง ลงเรือไปอีกหน่อยเดียว แต่ใกล้หรือไกลก็ไม่สำคัญผมไปดูงานหลายจังหวัด ชีวิตคล้าย ๆ กัน ผิดกันแต่รายปลีกย่อย ไม่ว่าที่ไหนพระเป็นพี่เลี้ยงทุกอย่าง”

“คุณเคยบวชแล้วยังคะ” ดิฉันถาม พลางกินอาหารอย่างอร่อยที่สุด ดูเหมือนไม่เคยอร่อยเท่ามื้อนั้นเลย ทั้งที่อาหารจีนของร้านนั้นค่อนข้างจะด้อยคุณภาพ

“รู้สึกจะบาปหนาหรืออย่างไงไม่รู้ครับ ตั้งใจจะบวชแล้วไม่ได้บวชสักที บังเอิญเกิดได้ทุนไปต่างประเทศตอนที่จะบวช หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องออกต่างจังหวัด หรือต้องเข้าไปประชุมอะไร เตรียมงานให้นาย แต่คงจะได้บวชวันหนึ่ง”

ต่อจากวันนั้นมา กฤตกับดิฉันก็พบกันบ่อย ๆ เมื่อถึงเวลาคุณลุงออกจากโอคแลนด์ไปเวลลิงตัน กฤตก็ไปด้วย พี่ประพฤติต้องอยู่ดูงานทางเกาะเหนือ ไปเกาะใต้ด้วยกันกับคุณลุงไม่ได้ กฤตเสร็จธุระของเขาแล้ว แต่ใคร่จะได้ชมภูมิประเทศของเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ซึ่งอยู่ในเขตอากาศเย็นเหมือนยุโรป และมีพรรณไม้แปลก ๆ เขาจึงกำหนดการกลับประเทศไทยให้ยืดออกไปประมาณ ๑ สัปดาห์ ระหว่างเวลาประมาณ ๑๐ วันที่ดิฉันพบกับกฤต ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วในหมู่คนที่พบกับเราบ่อย ๆ ว่ากฤตมีความรู้สึกต่อดิฉันเป็นพิเศษ กว่าเพื่อนผู้หญิงอย่างธรรมดา ดิฉันเขียนจดหมายบอกเล่าไปให้แม่ทราบ และเพื่อจะลองว่ากฤตจะคลายความเอาใจใส่กับดิฉันหรือไม่ ดิฉันฝากของชิ้นเล็ก ๆ บรรจุหีบห่อเรียบร้อยไปให้แม่ บอกแก่กฤตว่า เมื่อถึงกรุงเทพแล้วเขาจะไปรษณีย์ไปก็ได้ หรือจะนำไปให้เองที่บ้านก็ได้ ก่อนที่แม่จะได้พบกฤต ดิฉันก็ได้รับจดหมายจากแม่ มีความว่า

“ลูกแก้วของแม่

แม่ได้รับจดหมายของลูกที่ฝากมากับตานิด (นักเรียนไทยคนหนึ่ง ซึ่งคุ้นเคยกับแม่) เล่าถึงพระเอกที่ลูกได้พบที่นิวซีแลนด์ แม่เห็นด้วยกับลูกว่าคนที่มีความสามารถความพยายาม เป็นลูกคนธรรมดาสามัญ ได้ปีนป่ายขึ้นมาจนถึงได้ปริญญาเอกเป็น ดอกเตอร์ เป็นคนน่าสนใจ น่าชมเชย แต่แม่ว่าลูกรอไว้สักหน่อย อย่าเพ่อใจเร็วนัก ที่จริงทั้งพ่อกับแม่ ไม่ใช่คนถือชาติถือตระกูลอะไรรุนแรง เท่าที่ฟังลูกเล่าถึงดอกเตอร์คนนี้ ก็ดูเป็นคนมีมารยาท มีการศึกษา แต่ว่าถึงอย่างไรก็อย่าเพ่อตัดสินใจเรื่องอย่างนี้เร็วไป ผู้หญิงเรามีแต่ทางเสียเปรียบมากนัก ลูกอาจจะเถียงว่าที่ดูกันนานแล้วไม่ยืดก็มี แม่ก็ว่าจริง เรื่องแต่งงานนี่มันก็ขึ้นอยู่กับโชคชาตามาก ถึงพ่อกับแม่ก็ไม่น่าจะแต่งงานกัน และไม่น่าจะอยู่กันมาได้อย่างนี้ แต่แม่ว่าดูไว้ให้ดีเป็นทางเดียวของเรา เมื่อผิดพลาดไป เราจะได้พูดได้ว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว คนที่มีชาติมีตระกูลคล้ายคลึงกันอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็มี คนต่างชาติต่างภาษารักกันดูดดื่มก็มาก แต่ก็นั่นแหละ แม่ก็ได้แต่เตือนว่าให้ดูให้ดี ๆ แต่แม่ก็แน่ใจว่าลูกก็คงคิดแล้วเหมือนกัน คนที่เป็นแม่มันก็อดห่วงไม่ได้เป็นธรรมดาไปอย่างนั้นเอง......”

ต่อจากนั้นแม่ก็ส่งข่าวเกี่ยวกับญาติพี่น้อง ที่วิสาสะกันอยู่เป็นปรกติ เมื่อกฤติออกเดินทางจากนิวซีแลนด์ไปแล้ว ดิฉันต้องรับว่าดิฉันคลายความสนใจกับการงานของคุณลุงไปมาก ใจเร่งให้ถึงกำหนดวันกลับไปประเทศไทย กลับบ้านเพื่อจะพบกฤ๖ และเพื่อว่าจะได้รู้ว่าความสัมพันธ์ระว่างเขากับดิฉันจะยั่งยืน คงรูป อยู่แค่เพื่อนที่ถูกใจกันมาก หรือจะแปรรูปไปประการใด

ในตอนนี้ ดิฉันว่าควรจะเล่าถึงครอบครัววงศ์ตระกูลของดิฉันให้พอเป็นที่เข้าใจไว้ ที่แม่กล่าวว่า แม่และคุณพ่อไม่ใช่คนถือชาติถือตระกูลรุนแรงนั้นเป็นความจริง แต่ก็เป็นที่ตระหนักดีในวงญาติมิตรว่า ญาติทั้งฝ่ายแม่และคุณพ่อสำนึกด้วยความภูมิใจว่า ทั้งสองตระกูลเป็นตระกุลที่มีส่วนสัมพันธ์กับประวัติของชาติไทยอยู่บ้างถึงแม้จะไม่ใช่ราชตระกูล หรือเคยมีอำนาจในแผ่นดินเทียบกับตระกูลใหญ่ ๆ ที่มีบรรพบุรุษเป็นเจ้าพระยา อรรคมหาเสนาบดี แต่เกือบทุกชั่วคนมีคนสำคัญพอสมควรในราชการของพระมหากษัตริย์ เช่นคุณทวดปู่ของคุณพ่อ ที่มีชื่อตัวว่า กรี ก็ได้รับราชการสงครามในรัชกาลที่ ๓ มาถึงคุณปู่ที่ชื่อ กอ ก็เป็นนักเรียนยุโรปรุ่นแรก ๆ ในรัชกาลที่ ๕ และได้รับราชการมีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๖ มาจนถึงรัชกาลที่ ๗ ข้างฝ่ายแม่นั้น ตระกูลของแม่ก็มีประวัติคล้ายคลึงกับคุณพ่อ แต่ที่สำคัญนั้นคือ ตั้งแต่คุณทวด คุณตา และคุณลุงรุ่นใหญ่ ใกล้ชิดกับเจ้านายในพระราชวงศ์มาทุกรัชกาล เรื่องนี้ย่อมเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกในตระกูล แต่ตั้งแต่แม่ไปจนถึงน้า ๆ รุ่นเล็กที่ร่วมท้องเดียวกัน เติบโตในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการปกครอง จึงมีความคิดนึกไม่เป็นเส้นแนวแน่นเหนียวนัก ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด ครั้นมาถึงคนรุ่นลูกพี่ลูกน้องของดิฉัน บางคนมีพ่อแม่ที่เคร่งครัดกับประเพณีมาก ก็มีปฏิกิริยาไม่ชอบสิ่งใดที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณี บางคนก็ถือเคร่งครัดตามบิดามารดา ส่วนตัวดิฉันมีสภาพพิเศษไปจากญาติด้วยเหตุหลายประการ เหตุที่หนึ่งก็คือ คุณป้า แม่ และน้า ๆ ต่างก็เป็นคนมีอุปนิสัยเป็นของตน ไม่ค่อยคล้อยตามความเห็นของกันและกัน และเหตุอีกอันหนึ่งที่สำคัญมากในชีวิตของดิฉัน ซึ่งดิฉันเข้าใจว่ามีส่วนหล่อหลอมความคิดนึกและบุคคลิกภาพมากที่สุดก็คือ คุณพ่อเป็นไข้ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า โปลิโอ และได้เสียขาทั้งสองข้างไป ไม่สามารถใช้ได้เลยเมื่อดิฉันอายุได้ ๑๐ ขวบ

ก่อนที่จะเล่าเรื่องอื่นต่อไป ดิฉันคิดว่าควรกล่าวถึงในตอนนี้ว่า เมื่อดิฉันเดินทางกลับจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียมากับคุณลุง ถึงเมืองสิงคโปร์ มีจดหมายของแม่รออยู่สถานทูตฉบับหนึ่ง มีข้อความสำคัญในนั้นว่า

“พระเอกของลูกได้นำของที่ลูกฝากมาให้แม่ กับน้ารวงแล้ว... คราวก่อนแม่ไม่ได้เตือนเรื่อง พระพี่เลี้ยงรื่นโรย คราวนี้ต้องเล่ามา แม่ลองชิมลางว่าจะมีความเห็นกับดอกเตอร์ลูกทุ่งของลูกอย่างไร เจ้าหล่อนถามถึงนามสกลทีเดียว พอแม่บอกว่า มีนา ก็ถามว่า แปลว่าอะไร แม่บอกว่า ปลา เจ้าหล่อนว่า ฟังดูก็ไม่เลวเป็นลูกเต้าเหล่าใคร แม่บอกว่าพ่อเขาดูเหมือนจะเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยอยู่นครชัยศรี แม่เล่ามาเพื่อว่าลูกจะได้เตรียมยุทธวิธีไว้ น่ากลัวว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของลูก...”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ