บทที่ ๒๓

กอนที่การุณจะแต่งกาย มีผู้เชิญให้กินอาหารมื้อสุดท้ายในเพศฆราวาส แต่การุณรับประทานได้ไม่กี่คำก็อิ่ม บอกว่าไม่รู้สึกหิว พอเจ้านาคพร้อมแล้ว ก็มีการเรียกร้องกันให้จัดขบวนเป็นหมวดหมู่ ใครจะลงเรือลำไหน ใครจะเชิญสิ่งของอะไร ลุงกรมานัดน้ารวงรัตน์ว่า เมื่อขึ้นไปถึงวัด เวลาที่ขบวนของนาคจะเวียนรอบพระอุโบสถ ขอให้น้ารวงรัตน์เป็นคนเชิญตลาปัตร เพราะเป็นความประสงค์ของนาค น้ารวงรัตน์พยายามวางสีหน้าให้ขรึมสมกับความสำคัญ มีเรือหางยาวมาเทียบท่าหน้าบ้านลุงกรรวมทั้งสิ้น ๔ ลำ ลุงกรกับภรรยานั่งกลางลำที่สอง พร้อมด้วยการุณ ลำหน้ามีเครื่องอัฐบริขาร และมีกิ่งไม้และผ้าแพรสีประดับเรือนั้นให้ดูครึกครื้น มีแตรวงบรรเลงไปด้วย พวกที่จะเล่น “เถิดเทิง” ได้ล่วงหน้าไปก่อน ต่อจากเรือของนาค ก็มีเรือเชิญเครื่องไทยทาน ลุงกรเห็นว่าห่อของที่น้ารื่นทำไปนั้น งดงามสมใจนาค จึงจัดผู้หญิงสาว ๆ ลูกของญาติและมิตรให้เชิญห่อของคนละห่อ นั่งไปในเรืออีกลำหนึ่งเป็นลำดับกัน กระทงหรือที่นั่งในเรือแถวหนึ่งมีคนถือของนั่งเป็นคู่ ๆ กันไป ต่อจากคนถือของถวายพระแล้วก็มีญาติมิตรต่อไปจนเต็มลำ ย่าพัดมากำกับไม่ให้คนลงเรือเต็มเกินไป และให้เรือแต่ละลำมีคนนั่งให้พอเหมาะกับขนาดและกำลังของเรือ ลำสุดท้ายของขบวนพิณพาทย์ และมีตัวละครแต่งตัวตามบทที่แสดงเมื่อคืนก่อนนั่งไปด้วย แม่ น้า และดิฉันไปเรือลำเดียวกับนาค นั่งอยู่ทางท้ายเรือ ไม่ทราบว่ากฤตลงเรือไปกับผู้ใด ลูกนั่งไปบนตักน้ารื่นดูไม่ตื่นเต้น ไม่ร้องไห้ มองดูทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเอาใจใส่ มือชี้โน้นนี่ ใช้คำพูดที่พูดได้ไม่กี่คำตลอดเวลา โดยมากเป็นคำถาม “นั่นไย ยาย นั่นไยน่ะ” น้ารื่นก็คอยบอกไปเท่าที่จะบอกได้ ดิฉันอยากจะเป็นผู้คุมขบวนนำนาคไปวัดแทนที่จะเข้าขบวนเสียเอง แต่ขบวนจะดูสวยงามหรือไม่งามเพียงใดก็ตาม แต่คนทั้งหมดนั้นมีความสำราญบานใจเป็นอย่างยิ่ง

นาคไปถึงวัดเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเหมาะสำหรับให้นาคบูชาพัทธสีมา แล้วขบวนเชิญเครื่องบริกขารและของถวายพระจะได้เวียนรอบโบสถ์สามรอบ มีเสียงโวยวายจากอาลำใยให้ลุงกรไปอุ้มบาตรและถือตาลปัตร์ตามธรรมเนียม แต่ลุงกรใคร่จะเดินคู่กับลุงกำนันเพื่อเอาใจ เพระในการบวชคราวนี้ลุงกรได้ยกให้พี่ชายเป็นเจ้าของนาค และใคร่จะยกย่องน้ารวงรัตน์เป็นพิเศษ จะให้ถือสิ่งสำคัญอย่างอื่นก็จะหนักไป จึงให้น้ารวงรัตน์ถือตาลปัตย์ แล้วจึงให้กฤตไปอุ้มบาตรเดินคู่กับน้ารวงรัตน์ ในบาตรมีบริขารชิ้นเล็ก ๆ เช่นมีดโกน หม้อกรองน้ำพร้อมสรรพ กฤตนั้นเป็นลูกผู้น้องของการุณ แต่ลุงกรว่ากฤตอายุมากกว่าและมีบุญคุณต่อการุณ ลุงกรจัดให้ตัวเองเชิญไตรของนาค ลุงกำนันเชิญไตรอุปัชฌาย์ พ่อกิจกับญาติผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งเชิญไตรของคู่สวด อาลำใยได้รับทราบจากน้ารวงรัตน์ว่าน้ารื่นเป็นต้นคิดการถวายพระอันดับ จึงเรียกร้องให้น้ารื่นไปถือของจากฝีมือน้ารื่นเองนำขบวนหญิงที่ถือของถวายต่าง ๆ ทำให้ดิฉันพ้นจากหน้าที่เข้าขบวน เพราะต้องอุ้มลูก ระหว่างที่ขบวนเวียนรอบพระอุโบสถ น้าโรจน์มากระซิบว่า

“มาทั้งทีเสียแรง ไม่ได้เห็นแม่แก้วเข้าขบวน”

“ได้เห็นน้ารื่นกับน้ารวงไม่ดีกว่ารึ” ดิฉันว่า ทำให้น้าโรจน์ยิ้มอย่างเบิกบาน

ระหว่างนั้นญาติและมิตรมาจากตำบลใกล้เคียง ด้วยเรือต่างชนิด บ้างก็พาย บ้างมาเรือแจว แต่ใช้เรือหางยาวเป็นส่วนใหญ่ มองดูหน้าลุงกำนันแล้ว ดิฉันพลอยปลาบปลื้มไปด้วย อาลำใยเล่าว่า ตลอดงานของการุณนี้ ลุงกำนันห้ามไม่ให้ใครออกชื่อหรือคำว่า สงกรานต์แม้คำว่าอเมริกา ก็ไม่ให้กล่าวเลย

นาคเข้าโบสถ์เรียบร้อยแล้วไม่กี่นาที เรือลำใหญ่ของอาเธียรก็พาคุณย่าและอากรรณมาถึงวัด กฤตบอกให้ลุงกรไปต้อนรับ แล้วกฤตหาที่ให้คุณย่าได้นั่งพิงฝาตอนกลาง ๆ ของโบสถ์ เพราะเป็นโบสถ์เล็กจุคนได้ประมาณ ๕๐ คน คนโดยมากนั่งที่ศาลานอกพระอุโบสถหรือตามต้นไม้ เด็ก ๆ ไปรุมล้อมน้ำอัดลม เสียงแตรวงบรรเลง เสียงพิณพาทย์ประโคมแข่งกันครึกครื้นไปทั่วบริเวณ และคงจะกึกก้องไปหลายคุ้งน้ำ

ครั้นได้เวลา พระสงฆ์ก็เข้ามาในพระอุโบสถพร้อมกัน ล้วนครองผ้าเรียบร้อยเพราะเป็นพิธีกรรมสำคัญ ของสงฆ์ นาคการุณก็เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ แสดงความประสงค์ขอเข้าบรรพชา หรือที่เรียกกันว่า “ขอนิสัย” เมื่อเสร็จจากตอนนี้แล้ว ก็เป็นระยะที่อุปัชฌาย์กระซิบกระซาบพูดกับนาคอยู่หลายนาที ซึ่งตามศัพท์ของการอุปสมบทเรียกว่า “บอกนิสัย” คืออุปัชฌาย์แจ้งให้นาคทราบถึงชีวิตของพระภิกษุ ซึ่งผู้ขอบรรพชาจะต้องบำเพ็ญคงแต่บัดนั้นเป็นต้นไป ได้แก่การอยู่ง่ายกินง่าย อยู่ร่วมกันกับพระภิกษุองค์อื่น ๆ ในเวลาที่ควรอยู่ หาความสงัดวิเวกในเวลาที่ควรหา ตอนนี้เป็นเวลาที่ฆราวาสที่มาในงานบวชไม่มีอะไรจะทำ จึงมักคุยกันตามอัธยาศรัย เสียงของบางคนก็ดังขึ้นไปจนพระภิกษุบางองค์เหลียวมาดู คุณย่านั่งสำรวมอยู่ในที่ของท่าน ย่าพัดเข้ามานั่งใกล้แล้วชวนท่านคุยเรื่องการเดินทางว่ามีความสะดวกหรือต้องลำบากอย่างไร ระหว่างที่ย่าพัดกับคุณย่าปฏิสันถารกัน ก็มีเสียงคึกคักขึ้นหน้าโบสถ์ แล้วมีคนเข้ามาเรียกลุงกรกับลุงกำนัน บอกให้รู้ว่านายอำเภอมา ลุงทั้งสองจึงออกไปต้อนรับ และประมาณ ๕ นาทีต่อมาก็พานายอำเภอและข้าราชการอีกคนหนึ่ง ในเครื่องแบบตรวจราชการ มีเครื่องหมายแสดงว่าคนหนึ่งเป็นข้าราชการชั้นเอก อีกคนหนึ่งเป็นชั้นตรีเข้ามาในโบสถ์ ลุงกรเหลือบเห็นกฤตนั่งอยู่ใกล้ตัวดิฉัน ห่างจากคุณย่าไปไม่มากนัก ลุงกรบอกแก่นายอำเภอด้วยเสียงภูมิใจ “เอ้า กฤต มารู้จักกับท่านนายอำเภอคนใหม่เสียซิ หลานชายผมเขาทำงานที่ไหนนะ สำนักอะไร” กฤตทำความเคารพข้าราชการผู้มีวัยวุฒิสูงกว่า พลางก็บอกสถานที่ราชการ “ทีแรกผมอยู่สำนักนายก แต่จะย้ายไปประจำโครงการเงินกู้ เป็นเลขานุการของคุณวัชร ฉันพรรณสิริ แล้วครับ”

วันนั้นกฤตแต่งตัวลำลองแต่ว่าค่อนข้างสวย นุ่งกางเกงสีน้ำเงินแก่ และสรวมเสื้อผ้าออกสีน้ำเงินอ่อน ทำด้วยผ้าไหมไทย ปลายเอวรัดเข้ากับตัวอย่างเรียบร้อย เมื่อกฤตบอกหน้าที่ราชการของเขา แววตาของนายอำเภอก็เปลี่ยนจากเดิมเป็นความสนใจอย่างมากขึ้นมทันที ออกปากว่าว่า “อ้อ อย่างนั้นหรือครับ แล้วคุณเป็นญาติกับนาคหรือครับ” ลุงกรไม่เสียโอกาส บอกต่อไปทันที “เขาเป็นลูกนายกิจ น้องชายผม สวนองุ่นของนายกิจเขาอยู่ติดกับของพี่กำนัน”

กฤตแนะนำให้นายอำเภอรู้จักกับคุณย่าด้วยการบอกว่า “คุณย่าครับ นี่นายอำเภอคนใหม่ครับ” ขณะนั้นย่าพัดยกมือไหว้พร้อมกับนายอำเภอ นายอำเภอเห็นย่าพัดก็ไม่สนใจกับคุณย่าเลย รีบทักทายย่าพัดทันที “คุณนายพัดหรือครับ แหม ผมเกือบจำไม่ได้ แต่งตัวสวยเหลือเกินวันนี้” ดิฉันจึงสังเกตว่า ย่าพัดแต่งตัวสวยจริง ๆ และมีรสนิยมคล้ายคุณย่ามาก วันนั้นคุณย่านุ่งผ้าถุงทำด้วยผ้าไหมหางกะรอกสีนกพิราบ ซึ่งเป็นสีที่ท่านชอบมาก เสื้อของท่านกลัดกระดุมทำด้วยเงิน ท่านกลัดเข็มที่หน้าอกต่ำกว่าไหล่ลงมา เป็นเข็มลายช่อดอกไม้ประดับพลอยสีน้ำเงิน และสรวมแหวนประดับพลอยสีเดียวกัน ส่วนย่าพัดนุ่งผ้าไหมสีม่วงคล้ายเปลือกมังคุด เสื้อเป็นสีม่วงอ่อนเข้ากันได้ดีกับผ้านุ่ง กลัดกระดุมทำด้วยเข็มพวงอย่างเก่าซึ่งแม่ดิฉันชอบใจนัก ที่นิ้วนางข้างขวาย่าพัดก็มีแหวนหัวเป็นพลอยสีม่วงเข้ากันกับผ้านุ่ง กฤตรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่นายอำเภอไม่สนใจกับคุณย่าเลย จะทำอะไรต่อไปก็ไม่เหมาะ เขาจึงคลานถอยหลังกลับมานั่งใกล้ดิฉัน นายอำเภอก็สนทนากับย่าพัดต่อไปเรื่องการบูรณะวัดและการขยายโรงเรียนในวัดที่ปากคลองกาญจนา จนกระทั่งพระภิกษุองค์หนึ่ง ขยับออกมาจากกลุ่มเตรียมจะให้ศีลแก่นาค นายอำเภอเมื่อยมากขึ้น จึงขออนุญาตออกไปนั่งข้างนอกโบสถ์ ลุงกรพยักหน้าให้กฤตตามออกไปด้วย กฤตทำสีหน้าไม่เต็มใจ พร้อมกันนั้น น้าโรจน์เห็นได้โอกาสก็บอกให้กฤตพาน้าโรจน์ออกไปด้วย อากรรณก็ขอตามออกไปพร้อมกับน้าโรจน์ แต่น้ารวงรัตน์มีศรัทธามาก บอกว่าจะขอฟังนาคการุณขานนาคให้ตลอดไม่ยอมให้ความเมื่อยมาเป็นเครื่องกีดขวางเป็นอันขาด น้ารวงรัตน์กระซิบบอกแก่ดิฉันว่า

“อยู่บ้านเรา รู้เมื่อไหร่ว่าชาวบ้านเขาทำอะไรกัน ยิ่งคุณพ่อบวชใคร ก็ตัดส่วนประกอบออกหมด เหลือแต่พิธีบวชแท้ ๆ ไม่เคยเห็นทำขวัญ ไม่เคยเห็นแห่กันสักคน”

“คืนนี้น้าอยู่ดูเขาฉลองพระกับลูกแก้วไหมล่ะ” ดิฉันชวน เพราะแม่ตัดสินให้ดิฉันลางานให้อยู่ช่วยการอุปสมบทให้ตลอด

“พรุ่งนี้มีสอนตอนเช้านี่นา ไม่งั้นน้าอยู่ซิ” น้ารวงรัตน์กระซิบตอบ

แม่ดูแลให้คุณย่าออกมาจากโบสถ์ แล้วพาไปลงเรือ กฤตแนะว่าให้พาอาพงศ์ไปด้วย และให้ไปพักที่บ้านย่าพัด มิฉะนั้นคุณย่าจะเหนื่อยเกินไป ย่าพัดเข้าใจสถานการณ์ดี ออกมาสั่งลูกสะใภ้ภรรยาอาพงศ์ให้กลับไปบ้าน เพื่อดูแลให้ความสะดวกสบายแก่คุณย่า แล้วย่าพัดก็เข้าไปกำกับการที่กุฏิ ที่พระการุณจะพำนักตลอดเวลาที่บวช เวลานั้นวัดว่างเพราะไม่ใช่ในพรรษา กฤตแนะต่อไปว่า ในเมื่อจะยังไม่มีงานอะไรอีกจนกว่าจะถึงเวลา ๑๗.๓๐ ญาติที่มาจากกรุงเทพฯ ให้ไปพักผ่อนที่บ้านย่าพัด รวมทั้งดิฉันกับลูก กฤตจะไปบ้านลุงกรเพื่อช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เป็นการแสดงความเพิกเฉย เพราะจะอยู่ที่บ้านจนเวลาค่ำ แล้วกฤตจะต้องลากลับกรุงเทพฯ จะอยู่ร่วมงานจนถึงวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งไม่ได้

เมื่อคุณย่ากับน้า ๆ กลับไปหมดแล้ว ดิฉันฝากลูกให้อยู่กับน้ารื่นที่บ้านย่าพัดแล้วก็ไปในงานสวดเย็นที่บ้านลุงกร ซึ่งมีพระบวชใหม่มานั่งสวดอยู่หลายแถว กฤตชมพระน้องชายว่าอุตส่าห์ท่องจำบทสวดมาได้พอสมควร เห็นขยับปากไปได้กับพระองค์อื่นหลายตอน ลุงกรชื่นชมมาก เมื่อพระไปแล้ว มีการเลี้ยงอาหารญาติมิตรกันเป็นงานใหญ่อีกมื้อหนึ่ง ซึ่งกินเวลาไปจนถึงกลางคืน ตอนดึกก็เลี้ยงกันอีก ดิฉันเอาเปรียบน้ารื่นให้ดูแลลูกต่อไป เพราะสนใจกับนักศึกษาเพื่อนพระการุณจำนวนหนึ่ง ซึ่งอุตส่าห์ฝึกซ้อมเสภารำ “ประยุกต์” มาฉลองพระ นักศึกษาแสดงเรื่อง พระยากงพระยาพาน แต่งบทเสภาขึ้นใหม่ มีการขับร้องสลับ มีตัวออกมารำเป็นตอน ๆ พิณพาทย์ตำบลนั้นก็รับเพลงง่าย ๆ ที่นักศึกษาฝึกหัดกันมาร้องได้ กฤตจึงอยู่ดูการแสดงของนักศึกษาจนถึงเวลา ๒๑ นาฬิกากว่า แล้วจึงลากลับกรุงเทพ ฯ ดิฉันดูการแสดงของนักศึกษาแล้วก็ลาไปบ้านย่าพัด ย่าพัดก็ขอตัวกลับมาบ้านด้วย เพราะรุ่งเช้าก็มีการเลี้ยงพระเช้ากันอีก การแสดงอื่น ๆ ดำเนินไปจนเวลา ๒ นาฬิกา เป็นอย่างน้อย มีทั้งนักร้องลูกทุ่ง และดนตรีที่เรียกกันว่า ชาโดว์ คอมโบ ด้วย ย่าพัดกลับมาบ้านแล้วก็บ่นให้อาพงศ์ฟัง

“มันเอากะแช่มาเลี้ยงกันที่บ้านนังลำไย กำนันต้องทำเป็นไม่รู้ ห้ามมันไม่ได้หรอก ไอ้พวกนี้” หมายถึงชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งถือโอกาสสนุกกันเต็มที่ตามความนิยมของพวกเขา

รุ่งขึ้นเมื่อเลี้ยงพระเช้าแล้ว ดิฉันจึงลากลับ ลุงกรพร่ำชอบใจในการที่การุณได้อาศัยที่บ้านทำให้ได้เรียนดี ไม่ถูกเพื่อนหนุ่ม ๆ ยั่วเย้าให้เที่ยวเตร่มากเกินไป จนกระทั่งมีสติคิดบวชให้ลุงกำนันมีความยินดี หายโกรธลูกหลานอื่น ๆ ไม่ต้องรับโทษไปเพราะลูกชายที่ทำให้ผิดหวังเป็นต้นเหตุ กลับมาถึงบ้านแล้วก็พูดคุยกันด้วยความชื่นบานถึงงานอุปสมบทที่ได้ไปร่วมมา น้าโรจน์ก็พร่ำเหมือนกัน พูดกับน้ารวงรัตน์และน้าเรืองในเรื่องที่ไม่เห็นชาวชนบท “เขว่อว” ไม่ทำให้เกิดความตะขิดตะขวงเหมือนพวกที่มีตำแหน่งต่างๆ ในราชการ ซึ่งน้าโรจน์ไม่เข้าใจตัวเองว่าเหตุใดจึงมีอคติเช่นนั้น

คุณพ่อดูเหมือนจะชื่นชมความสำเร็จของนารื่นมากกว่าสิ่งใด กฤตเป็นห่วงคุณย่า ถามแม่ว่าท่านเห็นนายอำเภอทำท่าไม่เคารพท่านหรือไม่ แม่ว่าคุณย่าชื่นชมในการกุศล และชื่นชมที่อาเธียรและอากรรณพยายามหาเรือหารถให้ท่านไปมาสะดวกสบาย ไม่ได้สังเกตกริยาของนายอำเภอเลย

ดิฉันจึงยินดีร่วมกับความชื่นชมของญาติ ลืมความกังวลที่มีมาเป็นเวลานานไป จนเวลาล่วงไปประมาณสองเดือน วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากพัฒนะ บอกมาว่าเชี่ยวเชิญให้ไปกินอาหารที่บ้าน กฤตติดตามคุณลุงวัชรไปต่างจังหวัด และต่างประเทศตลอดเวลา ดิฉันจึงดีใจที่จะได้พบเพื่อน ๆ พัฒนะบอกมาว่า จันทร์ฉวียินยอมให้เขาเป็นผู้รับไปบ้านเชี่ยวและส่งกลับบ้าน และกำชับว่า

“นี่ ลูกแก้ว เจ้าเชี่ยวมันหาโอกาสเชิญอินทิราพร้อมกับจันทร์ฉวี ถ้าลูกแก้วไม่ไปก็เก้อหมด”

เมื่อไปถึงบ้านเชี่ยวก่อนเวลาอาหารกลางวันพอสมควร ได้พบเพื่อนที่เคยคุยล้อเลียนกันหลายคน ก็พูดคุยกันเบิกบาน อินทิราให้ดิฉันแล่าถึงการบวชนาค ให้เล่าว่ากฤตแสดงความรู้สึกอย่างไร การุณทำทีท่าอาการอย่างไร สองคนมีปฏิกิริยาต่อวัฒนธรรมชาวบ้าน ซึ่งเขากำลังละทิ้งมาทีละน้อยอย่างไร

ดิฉันเล่าอย่างสนุกสนาน จันทร์ฉวีเอ่ยปากว่า “ที่ลูกแก้วไปเห็นนี่ ไม่ใช่ขนานแท้และดั้งเดิม ฉันเคยเห็นเขาเอาที่นอนหมอนมุ้งของพระบวชใหม่มาเข้าขบวนเดินครบเชียวจ้ะ”

ระหว่างนั้นมีคนมาถามถึงช้องเพ็ชรกับอาทร “เออ เชี่ยวชวนเขาหรือเปล่า”

“ตอนนี้ช้องเพ็ชรเขาไปไหน รูปร่างเขาไม่สวย แล้วเดือนหน้าเขาจะไปยี่ปุ่น”

“อ้าว กลับมาจาาฮันนีมูนได้ไม่กี่มากน้อยเลย จะไปอีกแล้วรึ” ใครคนหนึ่งถาม “แล้วอาทรจะลางานไปด้วยได้รึ”

“ไม่ค่อยได้พบนายอาทรเหมือนกัน” เชี่ยวว่า “ตั้งแต่เขาแต่งงาน เขาบำเพ็ญตนเป็นนักท่องเที่ยว หรือไม่งั้นก็ฤษี วันหยุดไม่ค่อยอยู่บ้านเลยทั้งสองคนผัวเมีย วันธรรมดาเราก็ลืมเขาไป แล้วถ้าเผอิญพบกับเขาที่ไหนชวนเขามาบ้าน เขาก็ว่าติดโน่นติดนี่ แล้วมันทำหน้ายังไงบอกไม่ถูก เลยคิดว่าเขาไม่อยากให้ใครรบกวนชีวิตบ่าวสาวเขา เขายังฮันนีมูนกันไม่จบ ก็แล้วแต่เขา”

ชีวิตดิฉันดำเนินเรียบ ๆ ต่อไป หมกมุ่นกับงานและลูก และค่อย ๆ ชินกับการอยู่บ้านโดยไม่มีกฤตเดือนหนึ่ง ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๓-๔ วัน อีกสองเดือนกว่า ๆ จากที่ไปบ้านเชี่ยวครั้งสุดท้าย เขาก็ชวนให้ไปบ้านอีก ขอให้แม่ไปด้วย มีชาวต่างประเทศสนใจในการช่างไม้ประณีตอยากจะติดต่อกับนายเฉลียวที่ทำศาลพระภูมิให้เขา วันนั้นน้ารื่นไม่สบาย สุพินลาไปบ้าน เชี่ยวขอร้องว่าอย่าปฏิเสธ ให้เอาลูกไปด้วย เพราะกลัวอินทิราและจันทร์ฉวีจะปฏิเสธบ้างถ้าดิฉันไม่ไป เขารับรองว่าเมื่อไปพบเพื่อน ๆ ดิฉันก็จะไม่ต้องกังวลกับลูก จะมีคนช่วยชี้ชวนให้ลูกสนุกได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดิฉันฟังเสียงเชี่ยวว่าต้องการให้ดิฉันรับเชิญอย่างจริงจัง อยากรู้ว่าเขาให้ความสนใจกับจันทร์ฉวีหรืออินทิรามากกว่ากัน จึงพาลูกไปด้วยตามที่เขาขอร้อง

วันนั้นกฤตอยู่ในพระนคร เขาจึงเป็นคนขับรถพาแม่กับดิฉันไปบ้านเชี่ยว ไปถึงก่อนคนอื่น ๆ เชี่ยวออกมาต้อนรับ และให้เด็กหญิงคนใช้ล่อให้ลูกออกไปเดินเล่นหลังบ้านซึ่งยังเป็นที่ว่าง ไม่รกนัก มีลูกกบมาว่ายเหวกอยู่ในบ่อน้ำน้อยที่เกิดขึ้นจากฝนที่ลงมาเมื่อสองสามคืนก่อน เชี่ยวแนะนำให้แม่รู้จักเพื่อนชาวต่างประเทศ และนัดวันที่จะไปพบนายเฉลียว ระหว่างที่ดิฉันยืนอยู่คนเดียวหน้าบันไดตึก อากรรณเดินเข้ามาทางหลังบ้าน อุ้มเด็กคนหนึ่งอายุระหว่าง ๓ กับ ๔ เดือน พอดิฉันเห็นเด็กคนนั้นก็ใจหายวาบ ร้องถามว่า

“อากรรณคะ นั่นอากรรณอุ้มลูกใคร”

อากรรณจับศรีษะเด็กซบลงบนบ่าอากรรณด้วยความรักอย่างซาบซึ้ง “หลานย่าฉันซิจ๊ะ”

“ลูกใครคะ” ดิฉันถามซ้ำ

“ลูกพ่อทรละซี” อากรรณตอบ ทันใดนั้นอาทรก็เดินเข้าบ้านเชี่ยวมาจากด้านหลังทางเดียวกับอากรรณ เขาเข้ามารับเด็กไปจากอากรรณเหมือนกับว่าเขาหวงเด็กนั้นนัก และภายในเวลานาทีนั้นเอง คนใช้ของเชี่ยวก็พาลูกของดิฉันเข้ามา ดิฉันรับลูกมาจากเด็กคนใช้ แล้วก็หน้าลูกซบไว้กับบ่าของดิฉัน ตาของอาทรสบตาของดิฉัน อากรรณดูเหมือนจะไม่สังเกตว่ามีอะไรผิดปรกติเกิดขึ้นอาทรหันหน้าลูกเขามาทางดิฉันและพูดว่า

“ไง ลูกพ่อ รู้จักธุหรือยัง หัดไว้ซิ” แล้วเขาจับมือลูกเขาพนมไหว้

ขณะนั้นเองกฤตก็เดินมา อาทรทำเหมือนจะพาลูกออกไปจากบ้านเชี่ยว แต่อากรรณดึงเด็กนั้นมาจากอาทร เมื่อเห็นกฤตอากรรณก็หันหน้าเด็กเข้าไปหา พลางถาม “เอ้า ไหว้เสีย นี่จะเป็นลุงหรืออา”

ลูกของดิฉันเมื่อเห็นกฤตก็โผเข้าไปหา “พ่อ พ่อมาแล้ว” กฤตรับลูกไปจากดิฉัน แต่หน้าของกฤตเมื่อเห็นเด็กที่อากรรณบอกให้ไหว้นั้นแปลี่ยนไปเป็นสีแดงแล้วกลับซีด ดิฉันรีบดูหน้าอาทร แววตาเขาเปลี่ยนไปจากความตื่นเต้นเป็นเด็ดเดี่ยว

“ให้เป็นอาเท่านั้นละ ต้องนับกันให้ถูกต้อง ลื้อเป็นอาเขย จะมาเป็นลุงไม่ได้”

กฤตเอาร่างของลูกดิฉันประทับเข้ากับอกของเขา เขาไม่มองตาอาทร ขยับตัวไปทางที่ไม่ต้องสบตาผู้ใด ดิฉันเห็นที่มุมปากของเขาสั่นนิด ๆ แล้วเขาก็วางลูกลงบนพื้นดิน แต่ลูกไม่ยอม กลับเอามือโอบคอและโหนตัวขึ้นใหม่พอดีกับอากรรณหันตัวมาจ้องดูเด็กทั้งสองคน แล้วก็อุทานขึ้น

“เอ๊อ หลานย่ากับหลานยายนี่ยังไงมันเหมือนกันหว่า” อากรรณหัวเราะชอบใจ “ดู๋ ใครๆชอบหัวเราะเยาะฉันกันนักว่าเห่อหลานย่า นี่ เก้า เก้าเหมือนยายกรรณใช่ไหม แล้วอาเต๊า อาเต๊าก็เหมือนย่านะ ดูซี”

“คุณอาครับ” อาทรเรียกอากรรณเสียงปร่าๆ ดูเหมือนเขาเพิ่งหัดเรียกคุณอา “ผมยอมให้เหมือนครับ ลูกผมยิ่งเหมือนคุณย่ายิ่งดีคุณปู่จะได้รักมาก ๆ”

“คุณปู่น้ะอย่าไปเอาเรื่องเขานักเลย” อากรรณรับหลานย่ามาอุ้มซบกับอกอีก “นะ อาเต๊า เรามารักกันสองคนดีกว่า รักกับย่าดีที่สุด ย่าไม่เคยหลงรักใคร จะหลงรักอาเต๊าสักคน เสียอย่างเดียวเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงก็จะดี แต่ว่า สมัยนี้ผู้หญิงผู้ชายก็ชักจะเหมือนกัน ไม่รู้ละ ย่าจะหลงรักอาเต๊าไปก่อนก็แล้วกันนะ” แล้วอากรรณหันมาพูดกับดิฉัน “ลองได้อยู่ใกล้ ๆ มันสักสามสี่วันซี ใครจะไม่หลงมัน ปู่มีหน้ามาบอกว่าพ่อมันช่างเล่นแต่เล็ก ๆ เท่านี้ละ”

แขกทะยอยกันเข้าบ้านมา พัฒนะพาจันทร์ฉวีมาอีกครั้งหนึ่ง เชี่ยววิ่งจากแขกชาวต่างประเทศมารับรองจันทร์ฉวี พัฒนะเห็นอาทรก็ทัก

“วันนี้มาด้วยเชียวเรอะ ถามเชี่ยวเขาหลายทีแล้วถึงลื้อ เขาว่าเดี๋ยวนี้ลื้อชอบทำตัวเป็นพ่อบ้านตัวอย่างอยู่บ้านดูต้นไม้เลี้ยงลูก เขาเลยไม่กล้าชวนมาเฮฮาไร้สาระ”

“วันนี้มาแล้วอย่าเพิ่งรีบไปนะ” เชี่ยวพูด แล้วหันมาเห็นอากรรณ “เอ้า คุณน้าอยู่นี่ ผมไม่ยักเห็น”

“มีอะไรกันเรอะ” อากรรณถาม “น้ามาดูที่ใกล้ ๆ นี้ คุณแม่กงจื้อท่านจะเปลี่ยนบ้านเช่าเป็นแฟลต อาทรเขาเกรงใจเขาให้นำมาช่วยออกความเห็นด้วย น้าเดินผ่านประตูบ้าน เห็นแว่บๆ ว่าพี่ใจแก้ว เลยเข้ามาดู จะอวดหลานย่าเสียหน่อย ไปอุ้มติดมือมาจากบ้านเขา ไม่เห็นมันวันหนึ่งก็ไม่ได้

“ไว้วันอื่นเถอะ” อาทรตอบเรียบ ๆ “วันนี้พาอาเต๊ามาด้วย คุณอากรรณท่านตั้งชื่อมัน” เขาบอกแก่คนที่นั่งฟังอยู่ทั่ว ๆ ไป “ต้องพามันกลับไปแล้ว ถึงเวลากินนม เดี๋ยวมันเอะอะ”

“ไปเถอะ” อากรรณบอกอาทร “พบพี่ใจแก้วเสียแล้วก็ไป ไม่ได้บอกใครไว้ที่บ้าน พออาทรไปหาก็รีบมารับเจ้านี่มาสวยหายไปตั้งสองวันไม่ได้พบย่า”

ระหว่างการเลี้ยงอาหารว่างวันนั้น ดิฉันพยายามไม่ให้ใครจับพิรุธได้เลย กฤตก็เช่นกัน ทั้งกฤตและดิฉัน พูดคุยกับเพื่อนอย่างปรกติ แต่พอแขกชาวต่างประเทศลาไปแล้ว อินทิราก็หาโอกาสหลีกคนมาเดินอยู่กับดิฉันโดยเฉพาะ

“นี่ ลูกแก้ว เด็กคนนั้นตัวว่าอายุเท่าไหร่” อินทิราถาม

“เอ ไม่รู้” ดิฉันกล่าวพลางใจก็เริ่มเต้นเร็ว

“ดูหน้าตาท่าทางเด็กแล้วลองบวกลบคูณหารกับวันที่ช้องเพ็ชรแต่งงานกับอาทร ฉันว่าเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ลงกัน”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ