บทที่ ๑๐

เหตุการณ์ดำเนินไปราบรื่นประมาณ ๑ เดือน ระหว่างนั้นมีเรื่องสนุกครึกครื้นกันในหมู่ญาติ คือเรื่องที่สามีของอากรรณอยากจะคืนดีกับอากรรณ ปรากฏว่าอาเธียร สามีอากรรณเป็นกรรมการบริหารโรงแรมใหม่ที่แม่ได้เข้าทำงาน และอาเธียรหาโอกาสพบแม่บ่อย ๆ และถามถึงอากรรณเกือบทุกครั้ง แล้วในที่สุดก็ออกปากวานแม่ให้สืบหรือสอบดูว่าอากรรณมีความรู้สึกอย่างไรต่ออาเธียร มีหวังไหมที่จะชักชวนให้ไปร่วมชีวิตกันอีกเป็นครั้งที่สอง

น้าๆ มีความเห็นร่วมกันกับคุณพ่อว่าน่าจะเลียบเคียงดู เพราะเมื่ออากรรณโกรธกับสามีนั้น อากรรณไม่ได้ให้เหตุผลอะไรแก่ญาติผู้ใหญ่ วันหนึ่งอากรรณก็นั่งรถเข้ามาในบ้านเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเพชรบุรี มีกระเป๋าใส่เสื้อผ้ามาด้วยสองสามใบ และบอกเป็นคำขาดว่า จะไม่กลับไปอยู่บ้านสามีอีก

บ้านที่ถนนเพชรบุรีนี้ น้าเรืองกับน้าโรจน์เรียกบ้านทนอยู่ มีลักษณะเดียวกับบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๖ อีกหลายบ้าน คือได้ย้ายจากละแวกที่เข้าใจว่ามีเสียงรบกวน มาอยู่ในที่สงบ ครั้นเวลาผ่านไป ความเจริญในทางการค้าของพระนครก็รุกเข้ามาอีก ก็ได้มีการขยับขยาย คือให้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อหารายได้ริมถนนใหญ่ ย้ายบ้านเข้าลึกไปในซอยที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นที่มีเสียงรบกวนจากยวดยานทุกชนิด แต่คุณย่าก็ไม่ยอมจะย้ายต่อไปอีกแล้ว คุณลุงกาจและคุณลุงกล้าได้ไปหาที่อยู่ใหม่ คนหนึ่งอยู่ในถนนสุขุมวิทในซอยที่ไม่ห่างกับบ้านเรานัก อีกคนหนึ่งไปอยู่ถนนเสนานิคม เมื่ออากรรณตัดสินใจกลับมาบ้าน คุณลุงทั้งสองเรียกว่าได้สนับสนุนโดยเร็ว เพราะเป็นความสะดวกของคุณลุงและคุณย่าที่ได้อากรรณกลับมาอยู่บ้าน จึงหาญาติที่รบเร้าให้อากรรณเปลี่ยนความคิดไม่ได้

อากรรณดำเนินชีวิตผิดไปจากญาติทางแม่มาก อากรรณไม่ได้ศึกษาหาวิชาชีพไว้ เพราะในสมัยที่อากรรณเป็นหญิงสาว ด้วยฐานะและรูปสมบัติ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าต้องแต่งงานได้ง่าย เป็นที่พอใจของทุกคนที่แวดล้อมอากรรณ ฝ่ายญาติของแม่ คุณลุงประจิตเป็นผู้นำในความคิดที่ว่า ผู้หญิงที่สามารถ ควรมีวิชาชีพไว้สำหรับการภายหน้า เมื่อมีคนถามคุณลุงซึ่งขณะนั้นเป็นคนหนุ่ม ว่าผู้หญิงไม่ควรเตรียมตัวเป็นแม่เรือนก่อนอื่นหรือ คุณลุงให้คำตอบว่า

“นี่ ดูนักโทษการเมืองเต็มคุกแน่น คนไหนเมียหากินได้ ผัวก็นอนตาหลับกว่าที่เมียหากินไม่ได้ เรียนวิชาไว้แล้วเสียหายยังไร ผู้ชายที่ไม่อยากได้เมียมีความรู้น่ะ มันผู้ชายไม่มีความคิด อยากได้หรือผู้ชายอย่างนั้น”

คุณตาเป็นผู้ที่เห็นโลกกว้างไกลกว่าคุณย่า เมื่อได้แต่งงานให้คุณป้าวรรณแสงไปได้สมแก่ฐานะแล้ว คุณตาก็ไม่ตั้งในความประมาท จึงสนับสนุนให้ลูกผู้หญิงศึกษาเพื่อหาวิชาไว้เลี้ยงตัวตามคำแนะนำของคุณลุงประจิต อากรรณได้แต่งงานไปตามฐานะเช่นเดียวกับคุณป้าวรรณแสง ผิดกันแต่ว่าความสำเร็จในชีวิตสมรสไม่เหมือนกัน ความขัดสนอย่างอื่นนั้นไม่มี แต่อากรรณขัดสนวิธีการใช้เวลาให้ผ่านไป อากรรณจึงต้องสมาคมกับเพื่อนที่มีฐานะคล้ายกับอากรรณทางการเงิน โดยใช้การเล่นไพ่เป็นการ “ฆ่าเวลา” เป็นส่วนใหญ่ อากรรณมักจะพูดว่า “สบายดี เล่นไพ่ลืมอะไรหมด”

เมื่อแม่หารือคุณพ่อแล้ว แม่ก็ได้รับฉันทะให้เป็นคนเลียบเคียงถามว่าอากรรณค่อยคลายความโกรธเคืองสามีแล้วหรือยัง ดิฉันพลอยตื่นเต้นไปด้วย เอาใจใส่ว่าแม่ได้รับความสำเร็จแค่ไหนเกือบทุกระยะ จนกระทั่งเข้าเขตเดือนพฤภาคม มีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ได้รับแขกจากคลองกาญจนาอีก คืออาลำใยนั่นเอง

วันนั้นดิฉันกลับมาถึงบ้านช้ากว่าแม่ เมื่อเข้าบ้านเห็นอาลำใยนั่งพูดอยู่กับแม่ที่ระเบียงด้านหน้า รู้สึกใจคอไม่ค่อยสบาย เมื่อได้เข้าไปปฏิสันถารกันแล้ว ก็สังเกตว่า คราวนี้อาลำใยก้าวหน้าในเชิงสังคมขึ้น คือกับกฤตกับดิฉันว่า

“วันนี้มาหาคุณกฤตกับคุณแก้ว ไม่ใช่ธุระของตัวเอง ธุระของลุงการเขา”

“ยงเป็นยังไงมั่ง” กฤตถาม

“สอบเข้าอะไรไม่ได้สักอย่าง ไอ้ลูกคนนี้ไม่ได้อย่างใจ” อาลำใยว่า “ลูกลุงการเขาไม่ได้มากวดวิชาวิเชอเขากลับสอบได้ เขาเป็นครูอยู่นครไชยศรี เขามาสอบเรียนต่อแล้วเข้าได้ เขาให้มาบอกคุณแก้ว เขาจะขอให้ลูกมาอยู่ที่นี่ เขาว่าทีลูกฉันให้อยู่ได้ ลูกเขาก็ต้องให้อยู่ได้”

ดิฉันพยายามไม่ก้มหน้าและไม่สบตาผู้ใด มองหน้าอาลำใยเฉยอยู่ กฤตทำท่าอึกอัดเห็นได้ชัด

“แม่ว่าไงครับ” กฤตถาม “นี่ไม่ใช่บ้านผม”

แม่พยายามซ่อนลมหายใจที่ผ่อนออกมายาวกว่าปรกติ “บ้านของแม่ก็เหมือนบ้านของแก้ว บ้านของลูกแก้วก็เหมือนบ้านของกฤต” แม่ตอบในที่สุด

“ฉันว่าแล้วเห็นไหม” อาลำใยเสียงใสด้วยชัยชนะ “พ่อของกฤตน่ะ ตัวดี หาว่าฉันสาระแนมั่งอะไรมั่ง ฉันรับประกันมาว่าให้ฉันมาเถอะ คุณนายท่านใจดีจะตาย ฉันรู้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นท่าน”

จากสำนวนของอาลำใย ดิฉันแน่ใจว่ายงไม่ได้เล่าเรื่องที่ยงขัดใจให้มารดาฟัง กฤตถามอาลำใยต่อไป

“ลูกของลุงการคนไหน”

“นี่แล้ คนมาได้ดิบได้ดี พี่น้องเขาว่าจะจำใครได้” อาลำใยพูดอย่างอารมณ์ดี “ก็คนรอง คนพี่เป็นผู้หญิง เขาชื่ออะไรเพราะ กัลยาณีหรืออะไรยังงั้น เรียกกันว่านังกัน นังกัน เขาแต่งงานไปแล้ว ลูกสองคนแล้ว เจ้าคนนี้เขาเป็นครู สัก ๔-๕ ปีได้แล้วกระมั้ง”

กฤตรีบขัด “ไม่ค่อยได้อยู่ที่บ้านเวลาฉันไปใช่ไหมล่ะ” กฤตคงไม่ต้องการให้ญาติต่อว่าเรื่องจำใครไม่ได้

“ตอนนี้กระทรวงเขาให้เรียนต่อถ้าสอบได้ ถ้าเรียนจบตอนนี้ เขาจะได้เงินเดือนขึ้นตั้งหลายขั้น” อาลำใยเล่า “พี่น้องกันมันก็เห็นกันยามยาก ใช่ไหมคะ คุณนาย”

แม่พยายามยิ้มกับดิฉัน ดิฉันก็พยายามยิ้มตอบ อาลำใยจึงนัดหมาย “กลางเดือนพฤษภานี่แหละค่ะ เขาจะต้องมาเข้าเรียน ฉันจะพาเขามามะรืนนี้วันอาทิตย์นะคะ หรือวันเสาร์ถ้าเขามาทัน ฉันมาทีไรก็มีคนฝากซื้อไอ้โน้นไอ้นี่ หอบไม่หวัดไม่ไหวค่ะ” อาลำใยพูดเรื่องธุระจบแล้ว จาระนัยของกำนัลที่นำมาด้วย มีส้มและลูกตาลสด เล่าถึงญาติและมิตรที่คลองกาญจนาว่ามีความเห็นอย่างไรต่อกฤตและตัวดิฉัน ล้วนไปในทางดีตามความเข้าใจของอาลำใยแล้ว ไม่ช้าก็ลาไป เพราะจะต้องรีบกลับไปให้ทันเวลาของรถประจำทาง

เมื่ออาลำใยออกประตูบ้านไปแล้ว กฤตก็ถามแม่ “จะทำยังไงครับ ผมหมดปัญญา บ้านอย่างนี้สำหรับคนบ้านผมเขาก็เห็นว่าใหญ่โตมาก เขากลางมุ้งนอนกันเป็นสิบ ๆ คนก็ได้ ถ้าผมอยู่คนเดียว ผมก็ไม่รังเกียจญาติพี่น้อง นี่ผมอยู่กับเมียกับคุณพ่อกับแม่”

“แม่ว่าความเคยชินคนละอย่าง พูดกันไม่เข้าใจหรอก” แม่พูดเสียงปลอบ “เราก็ทำใจเสียก็แล้วกัน แม่จะให้เขาทำกำแพงห้องที่ให้ยงอยู่เสียให้เรียบร้อย ติดไฟติดฟืนเสีย เพราะคนนี้แกเห็นจะต้องอยู่สองสามปี”

รุ่งขึ้นแม่ก็ออกคำสั่งตามความตั้งใจ เรียกช่างคนจีนที่แม่รู้จักให้มารื้อที่กั้นห้องเดิม ซึ่งเป็นไม้ระแนงขัดเป็นลายคล้ายที่เรียกว่าประแจจีน เพราะจุดประสงค์จะใช้เก็บของขนาดใหญ่ ๆ ที่มีราคา แต่ยังไม่ทันนำของเข้าไปเก็บก็เปลี่ยนไปเป็นห้องรับแขกคลองกาญจนา เย็นวันหนึ่งก่อนที่จะถึงวันเสาร์ ขณะที่ช่างคนจีนกำลังก่อสร้างเรียงแผ่นอิฐ น้าเรืองเดินมาที่เรือนของแม่ แล้วก็ถามขึ้นต่อหน้ากฤต

“นั่นก่อสร้างอะไรกันอีกนั่น”

“กั้นห้องให้ลูกของลุงการ จะต้องมาเรียนหนังสือใกล้ๆ นี่เอง ที่วิทยาลัยครูที่ตรงนี้ ซอยถัดไปนี้” แม่ตอบเรียบๆ

“อ้อ” น้าเรืองอุทานพยางค์เดียวอย่างเรียบๆ แต่เป็นพยางค์ที่มีความหมายไปไกล ซึ่งคนฉลาดอย่างกฤตไม่ต้องการให้ใครช่วยตีความ

ก่อนหน้าวันที่น้าเรืองจะมาทักเรื่องการก่อสร้าง คือหลังจากวันที่แม่ให้ช่างมาวัดห้อง ดิฉันได้ตัดสินใจว่า การที่ดิฉันจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อ และแม่พูดจากับน้ารื่นเรื่องญาติของกฤตตลอดไปนั้น น้ารื่นก็จะต้องเกิดความรู้สึกไม่ดีนักเป็นแน่ ดิฉันจึงหาโอกาสไปที่ห้องของน้ารื่นและเปิดการเจรจา

“น้ารื่นจ๊ะ น้ารื่นคงเห็นใจลูกแก้วกับกฤตนะ เรื่องการมีญาติจากบ้านนอกมาอยู่ด้วยนี่ กฤตเขาก็ไม่พอใจเลย แต่ลุงการพ่อของเด็กคนที่จะมาอยู่นี่ แกมีบุญคุณช่วยเหลือกฤตตั้งแต่เรื่องเล่าเรียนมาจนแต่งงาน แกก็ช่วยเหลืออีก ชาวบ้านนอกเขามองดูบ้านเราเขาก็เห็นใหญ่โต ขอมาพักอาศัยเราไม่ให้อยู่ มันก็เหมือนกฤตอกตัญญู ลูกแก้วก็เกรงใจน้ารื่นเหลือเกิน”

น้ารื่นทำกิริยาเหมือนกลืนอะไรลงไปในคอ แล้วก็พูดเสียงต่ำ “น้ารื่นก็เห็นใจคุณลูกแก้ว แต่ว่ามาอยู่ละก็สั่งสอนกันเสียมั่งก็ดี ไปดูหนังสือคุณพ่อในตู้ในห้องรับแขกซิ สมุดที่มีรูปภาพสัตว์สวยๆ ปกสีเหลืองๆ น่ะ”

ดิฉันนั่งพูดกับน้ารื่นอีกพอสมควร แล้วก็ไปที่ตู้หนังสือ เข้าใจว่าคงเป็นนิตยสารของสมาคมภูมิศาสตร์ ที่น้ารื่นพูดถึง ชื่อภาษาอังกฤษว่า แนชะเน็ลจอร์แกรฟิกแมกาซีน ดิฉันหยิบทั้งตั้งออกมาพลิกดู เห็นมีรอยตัดด้วยกรรไกรทำให้ขาดไปหลายหน้า ดิฉันจึงเอาหนังสือไปให้กฤตตู

“กฤตจ๋า นี่ต้องเป็นฝีมือตายง เห็นน้ารื่นว่า ถ้ามีเด็กมาอยู่ใหม่ ให้สอนอะไรๆเสีย” แล้วดิฉันก็ส่งหนังสือให้กฤตดู กฤตจ้องดูหนังสือ ดิฉันอดไว้ไม่ได้จึงถามขึ้น “ทำไมยงทำแบบนี้จ๊ะ ไม่เข้าใจเลย”

กฤตหยักหน้า “กฤตเข้าใจ” เขาตอบเสียงไม่ถึงเศร้าแต่มีสำเนียงคล้ายๆ กัน “เด็กที่ไม่เคยเห็นอะไรแล้วมาได้เห็น มันเกิดอยากได้ มันไม่เคยมีใครสอน ไม่มีใครนึกจะสอน กฤตก็เคย ไปอยู่โรงเรียนบาดหลวงใหม่ ๆ ไปตัดรูปจากหนังสือในห้องสมุด ถูกบาดหลวงตีเสียแทบแย่ ยังโกรธมากตอนนั้นว่าทำไมทารุณกันอย่างนั้น”

“เออ นึกไปไม่ถึงเลย” ดิฉันพูดออกไปตามใจจริง

“การอบรม สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่น้อยคนจะเข้าใจ” กฤตพูดแล้วถอนใจ “เพราะยังงั้นผมถึงหนักใจเรื่องญาติจะมาขออาศัย ชีวิตในกรุงกับบ้านนอกมันไม่เหมือนกัน”

ถึงวันอาทิตย์ อาลำใยก็นำเด็กชายหนุ่มหน้าตาคล้ายกับกฤตมาก มาที่บ้านเป็นลูกชายคนกลางของลุงการ หรือลุงผู้ใหญ่ ตามที่ญาติเรียกกัน เขาชื่อ การุณ ได้เรียนจบชั้นประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง ตามที่ทางราชการกระทรวงศึกษาธิการเรียก ซึ่งในหมู่ญาติของดิฉันได้ยินเป็นครั้งแรก ได้เรียนจบมา ๒ ปีแล้ว บัดนี้อายุ ๑๙ ปี ได้ขอร้องให้ทางราชการอนุญาตให้สอบเข้าวิทยาลัยชั้นสูงสำหรับครู เรียกว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา และได้สอบเข้าเรียนได้ตามที่ต้องการ การุณเป็นชายหนุ่มหน้าตาคมสัน รูปร่างดี แต่งกายสะอาด มีข้อเสียอยู่อย่างเดียว ระหว่างที่พูดกัน ด้วยความกระดากก็จะประสานนิ้วมือและดัดนิ้ว จนเกิดเป็นเสียงดัง เพลาะ ที่ข้อกระดูก

เมื่อแม่ได้ดูแลให้ที่อยู่ของการุณมีสิ่งจำเป็นเท่าที่นึกออกหมดแล้ว ก็นัดหมายเรื่องการกินอาหาร แม่บอกว่าจะกินในครัวตามความสะดวกก็ได้ หรือจะกินกับป้ารื่นก็ได้ หรือถ้าคิดอยากพูดคุย จะมากินข้าวมื้อค่ำด้วยกันพร้อมกับคุณพ่อและแม่ที่ระเบียงหน้าตึกก็ได้

ถึงวันเปิดเรียนการุณก็ไป และกลับมาก็เล่าให้กฤตฟังว่า ได้ไปรับการปฐมนิเทศ ดิฉันนึกถึงที่ปรึกษาคนสำคัญคือน้ารวงรัตน์ จึงไปหาที่ตึกของน้า

ที่อยู่ของน้ารวงรัตน์เป็นตึกเล็ก ปลูกสำหรับอยู่คนเดียว จึงมีที่ว่างในอาณาเขตมากกว่าบ้านของพี่น้องอื่นบริเวณติดกับที่ของน้าเรือง คั่นระหว่างน้าเรืองกับที่ของคุณป้า ซึ่งกว้างขวางที่สุดในบรรดาพี่น้อง เพราะสามีของคุณป้ามีทรัพย์ คุณตาจึงต้องให้ที่ดินให้สมกับฐานะของฝ่ายชาย ดิฉันไปถึงบ้านก็พบน้ารวงรัตน์กำลังหมุนเครื่องโทรทัศน์จะดูรายการเด็ก ดิฉันเข้าไปขัด

“วันนี้เป็นวันที่ปรึกษาให้ลูกแก้วเถอะน้า อยากมาถามว่าเราจะปฐมนิเทศญาติชาวชนบทกันได้อย่างไรบ้าง”

พอดิฉันพูดจบก็หันมาได้ยินคำพูดของน้าเรือง ซึ่งตามดิฉันเข้ามา “อะไรนะแปลว่าอะไร”

“แยกศัพท์เอาเองมั่งซี” น้ารวงรัตน์ว่า “ปฐมแปลว่าอะไร นิเทศ แปลว่าอะไรล่ะ”

“ขุนนิเทศราชกิจ เออ เราเคยรู้จักแกเมื่อเล็กๆ แกเป็นเลขานุการคุณพ่อ ชื่อแกแปลว่าอะไรก็ไม่เคยถาม”

“แปลว่า ชี้แจง” น้ารวงบอกด้วยเสียงแสดงว่าน้าเรืองไม่ค่อยมีความรู้อะไรนัก

“อ้อ ศัพท์พวกครูเขาใช้อะไรคนที่ไม่เข้าใจกันอย่างนี้เหรอ” น้าเรืองย้อนถาม มิน่าล่ะ คนสมัยนี้มันถึงพูดไม่รู้เรื่อง ได้เสมียนมาเข้าใหม่คนนึง ๆ แทบจะกะอัก”

“ลูกแก้วกำลังจะปรึกษาน้าเรื่องญาติคลองกาญจนา” ดิฉันบอก “วันนี้แกไปวิทยาลัยของแกมา แล้วแกว่าแกไปรับการปฐมนิเทศ แปลว่าเขาคงบอกเล่าเก้าสิบว่ามาเข้าโรงเรียนนี้ต้องทำอะไรบ้าง ไม่ไห้ทำอะไรบ้าง ทีนี้แกมาอยู่กับเรา จะปฐมนิเทศอะไรแกได้บ้าง”

“ฮือ พ่อคนก่อนนี้เป็นไงบ้างล่ะ” น้ารวงถาม

“คนใหม่นี่มันเป็นผู้ใหญ่กว่าหน่อยไม่ใช่รึ” น้าเรืองถาม “มันคงไม่เขว่อวมากนัก หรือจะมากกว่า เอ จริงซิ สมัยนี้กับสมัยเราคนมันไม่เหมือนกัน”

“มันไม่ใช่สมัยอย่างเดียวซิน้า มันหลายอย่างไม่เหมือนกัน” แล้วดิฉันเล่าเรื่องที่ยงตัดรูปภาพจากหนังสือให้น้าทั้งสองฟัง และเล่าเรื่องที่กฤตเล่าถึงตัวเขาให้ฟังด้วย

“อือ มันผิดกันอย่างงั้นเทียวเรอะ” น้าเรืองทำเสียงไม่เชื่อ อย่างเราไม่เคยนึกเคยฝันเรื่องจะไปตัดหนังสือของใครเลยวะ ซนประสิทธิเม ทั้งน้ากับน้าโรจน์ ถูกเฆี่ยนเป็นกิจวัตรเลย”

“น้าเคยถูกเฆี่ยนเรื่องอะไรมั่งคะ” ดิฉันเกิดอยากรู้

“เรื่องรังแกน้องผู้หญิง นั่นเรื่องที่หนึ่งย่ะ” น้ารวงชิงตอบ “เออ แล้วเคยถูกเฆี่ยนเรื่องรังแกลูกคนใช้”

“เรื่องหลังนี่ถูกหนเดียวเข็ดหลาบไปเลย” น้าเรืองสนับสนุน “แหม คุณพ่อโกรธราวกับจะฆ่าเสียแน่ เฆี่ยนเสียเลือดออกไหลเป็นทาง คุณแม่ร้องไห้ใหญ่ จะพาลเอาอียายเพียนแม่ไอ้เด็กพร คุณพ่อรู้เท่ากำราบไว้ล่วงหน้าว่าใครทำอะไรไอ้พรเป็นได้โดนดี คุณแม่เลยเงียบไปอีกคน”

“ป่าเถื่อนทั้งนั้นละ ฟังไปเถอะ” น้ารวงว่า “ตัดรูปกับรังแกบ่าว ไหนจะบาร์เบเรียนกว่ากัน”

“เรื่องรังแกมันคงเป็นกันทั้งนั้น ทั้งชาวบ้านนอกชาวกรุง ไม่ว่าไพร่ไม่ว่าผู้ดีนะ” น้าเรืองแก้

“ทีนี้เราจะไปปฐมนิเทศว่าอย่าตัดรูปจากหนังสือมันจะได้หรือคะ” ดิฉันถาม

“เอาแกมาคุยกับน้าก็แล้วกัน ชวนแกมาบอกว่าเราเป็นครูด้วยกัน อยากรู้จักคุ้นเคยไว้ แล้วคุยๆไปมันนึกออกเอง” ดิฉันดีใจมาเล่าให้กฤตฟัง กฤตพูดว่า “กฤตนี่เป็นตัวนิวแซนสำหรับลูกแก้วจังนะ”

ดิฉันลุกขึ้นไปนั่งบนตักกฤตแล้วปิดปากกฤตไว้

ดิฉันดูแลให้การุณได้กินอยู่ไม่ติดขัด และถามน้ารื่นถึงปัญหาฝ่ายน้ารื่น ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง ตั้งใจว่าในวันเสาร์อาทิตย์นั้น จะจัดการให้การุณทำความรู้จักกับน้ารวงรัตน์ เพื่อจะได้มีผู้ที่การุณรู้สึกว่าเป็นพวกพ้องเดียวกันสักคนหนึ่ง แต่พอวันเสาร์เช้า เมื่อกฤตกับดิฉันรับประทานอาหารแล้ว เวลาจวนจะสาย ก็ได้ยินเสียงนายหล่อ คนสวนของน้าเรืองยืนพูดอยู่กับคุณพ่อที่หน้าตึก

“เห็นรอยเท้ามันถนัดเลยครับ มันปีนขึ้นตรงเสาไฟฟ้า แล้วก็ข้ามขอบประตูเข้ามา มันใส่รองเท้าแปลกที่ผมเคยนอนไวนี่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย”

“อะไรกันจ๊ะ นายหล่อ” ดิฉันถามไปเรื่อยๆ

“คนปีนประตูเข้าเมื่อคืนนี้ครับ เอ ตั้งแต่อยู่มาก็ไม่เคยเลย ไอ้เทาของคุณผู้ชายก็ไม่เห่า ไม่มีเสียงกะโตกกะตากเลย”

“เอ้า ดูซี มีอะไรหายไปบ้าง” คุณพ่อบอกคนรับใช้ “ไปถามกันให้ทั่ว ในห้องรับแขกก็ไม่เห็นมีร่องรอยอะไร โทรทัศน์ก็อยู่ดี เสื้อผ้าของใครตากทิ้งเอาไว้มั่งหรือเปล่า”

“ขโมยปีนประตูใส่เกือก เพิ่งจะเคยพบ เดี๋ยวนี้มันเหลือเกิน มันเข้ากลียุคเข้าทุกที” นายหล่อบ่น ประตูที่กล่าวนี้เป็นประตูรั้วชั้นนอก ซึ่งกั้นเขตบ้านของน้าเรืองและน้ารวงรัตน์กับบ้านเราเรารวมกัน ก่อนนายหล่อจะเข้านอน แกจะปิดประตูซึ่งเป็นโครงเหล็กเข้าด้วยกัน แล้วเอาโซ่คล้องไว้ข้างในและใส่กุญแจดอกใหญ่อย่างเก่า เพราะเพื่อนบ้านเคยถูกขโมยเลื่อยกุญแจจากข้างนอก แล้วเปิดประตูออกได้ ข้างในประตูใหญ่นี้มีประตูเล็ก ซึ่งมีกุญแจไขได้อีก เมื่อคนในบ้านมีธุระประการใด จำเป็นต้องกลับบ้านดึก ต่างก็ใช้กุญแจคนละดอก ไขประตูเล็กเข้ามา ทำดังนี้ก็เพื่อให้เกิดความลำบากเพิ่มขึ้นแก่ผู้ที่จะเข้ามาในบ้านโดยไม่สุจริต ถ้าขโมยจะเข้ามาจริงๆแล้ว ก็มีทางจะตัดช่องกุญแจหรือเจาะประตูใหญ่ หรือทำอะไรได้หลายอย่าง

คนรับใช้เข้ามารายงานคุณพ่อว่า ได้ไถ่ถามทั่วกันแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าอะไรหายไป และไม่มีร่องรอยว่ามีขโมยล่วงล้ำเข้าเข้ามายังเขตของเรา

ตอนเช้าวันนั้น การสนทนาของคนในบ้านก็คือปีนประตูเข้าบ้าน แล้วไม่ทิ้งร่องรอยอย่างใดไว้แม้สิ่งของก็ไม่หาย เป็นความครึกครื้นอย่างหนึ่งของคนในบ้านทั้ง ๓ บ้าน เพราะขาดสิ่งที่ทำความตื่นเต้นมานาน จนกระทั่งจวนเวลาอาหารกลางวัน ซึ่งกฤตกับดิฉันจะไปกินนอกบ้านที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ดิฉันกำลังแต่งตัวอยู่ ก็ได้ยินเสียงเคาะประตู ดิฉันเปิดประตูออกมาพบน้ารื่นยืนอยู่ที่ระเบียง น้ารื่นพยักหน้าพูดเสียงธรรมดา

“แต่งตัวให้เสร็จก่อนเถอะ ไม่รีบร้อน เสร็จแล้วไปที่ห้องน้ารื่นหน่อย”

ดิฉันแต่งตัวเสร็จแล้ว ก็บอกกฤตว่าให้เป็นคนเอารถออกจากโรง ดิฉันไปที่ห้องน้ารื่น เข้าไปในห้องน้ารื่นกำลังทำธุระเก็บสิ่งของเล็กน้อยเข้าที่ เห็นดิฉันก็ลงนั่งบนเตียงและว่าด้วยสีหน้าเฉย

“คนที่ปีนประตูน่ะไม่ใช่ขโมยหรอก ตาการุณนั่นแหล”

“อึ๊” ดิฉันทำเสียงไม่เชื่อ

แกมาบอกกับน้าเอง เพื่อนพาไปเลี้ยง แล้วแกกลับมาดึก เห็นประตูปิด ไม่รู้จะทำยังไง เลยปีนเข้ามา”

ดิฉันถอนใจ “ตาย เดี๋ยว ต้องบอกพี่เขาให้เขาพูดกัน” ดิฉันว่าแล้วก็ต้องละจากน้ารื่น รีบไปหาคุณพ่อบอกให้คุณพ่อทราบเพียงประโยคเดียว แล้วก็จ้องดูหน้าคุณพ่อด้วยความหนักใจ

คุณพ่อถอนใจ แล้วก็พูดอย่างเดียวกับดิฉัน “พูดกับพี่เขาให้เขาพูดกันก็แล้วกัน”

ดิฉันจำเป็นต้องรีบไปให้ทันนัด และไม่ต้องการให้กฤตเก็บความหนักใจไปบ้านเพื่อน จึงยังไม่บอกกฤตเราอยู่ที่บ้านเพื่อนหลายชั่วโมง เมื่อออกจากบ้านเขาเป็นเวลาบ่ายมากเกือบสี่โมงแล้ว ดิฉันปล่อยให้กฤตขับรถตามสบาย จนกระทั่งจวนถึงบ้าน จึงเล่าให้ฟังโดยไม่ทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป

“เอ้อ” กฤตถอนใจยาว “น้าเรืองว่ายังไงมั่ง ประตูเขาเสียหายไปหรือเปล่า”

“คงไม่เสียอะไรมั้ง” ดิฉันคาดคะเน “เราต้องอธิบายอะไรหลายอย่าง แต่แกก็เคยเป็นครู ทำไมของพรรณอย่างงี้น่าจะรู้”

“ก็ดีที่มันบอก” กฤตว่า “เรื่องนี้จะมีอะไรอีกคิดไม่ออกเลย”

ครั้นกลับมาถึงที่อยู่แล้ว พบว่าแม่ได้กลับมาจากโรงแรม เพราะแม่กลับบ้านแต่วันบ้าง ค่ำบ้างแล้วแต่งานมีมากมีน้อย ดิฉันเข้าไปหาแม่ แม่ก็แจ้งว่าคุณพ่อได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังแล้ว

“แม่ว่าอย่าทำเรื่องให้ใหญ่เกินไป” แม่เตือนสติ “เราหากุญแจให้แกก็หมดเรื่อง แต่แม่ต้องไปขอโทษน้าเรืองเขาเสียหน่อย”

“น้าเรืองคงว่าลูกเขยแม่แสนจะนิวแซน” กฤตพูดอย่างไม่สบายใจ “ให้ผมไปพูดกับน้าเรืองไม่ดีหรือ ผมจะพูดกับการุณเสียก่อน” ดิฉันสนทนากันแม่อีกสองสามนาที แล้วกฤตกับดิฉันก็ไปที่ห้องของตัว กฤตลงไปหาการุณเมื่อได้เปลี่ยนเสื้อผ้าให้สบายแล้ว ปรากฏว่าการุณไม่อยู่ กฤตกลับไปบอกดิฉันแล้วก็ว่าจะต้องไปหาน้าเรืองเสียก่อน

ดิฉันเกิดความคิดไวขึ้นมา รีบไปเรียกน้ารวงรัตน์ให้ไปหาน้าเรืองด้วยกัน โดยเฉพาะภรรยาน้าเรืองเกรงใจน้ารวงรัตน์มาก เพราะเคยเป็นเพื่อนนักเรียนกันมา น้ารวงรัตน์รู้ว่ามีคนปีนประตูแล้ว เพราะโจษจรรย์กันไปทั่วบ้านทุกบ้าน น้ารวงรัตน์เข้าใจดีโดยไม่ต้องให้ดิฉันอธิบายอะไร กฤตเข้าไปหาน้าเรืองก่อน ดิฉันกับน้ารวงรัตน์ตามติดกันเข้าไป

พอกฤตพูดจบ น้าเรืองก็สวนขึ้นทันที “อือ ครูบ้านนอกนี่มันเขว่อวกันได้แค่นี้เชียวเรอะนี่”

“เอาอีกละ” น้ารวงดุขึ้นมาทันควัน “ราวกับเราไม่เคยยังงั้นแหละ”

“ไอ้เราทำยังงี้ มันตอนเราเป็นนักเรียนนี่นา” น้าเรืองเถียง ไม่แสดงความโกรธเคืองแต่ขบขันซึ่งดูเหมือนจะยิ่งกว่าความโกรธ

“ไหน ว่ามาซิ ถ้าเป็นเรา เราจะทำยังไง” น้ารวงว่า

“ไม่ได้ว่าผิดร้ายอะไรนี่นา” น้าเรืองพูดหัวเราะ ๆ “สีมันกะเทาะไปนิดหน่อย อย่าไปดูมันเสียก็หมดเรื่อง” แล้วน้าเรืองคงคิดเกรงใจกฤตขึ้นมา หันมาพูดว่า “ไม่เป็นไร กฤต น้าจะให้ทำกุญแจให้มันเสีย เด็กมันคงหมดปัญหา จะเรียกร้องใครก็ไม่รู้” แล้วน้าเรืองก็สนทนาเรื่องอื่นต่อไป แล้วกฤตก็ลากลับที่อยู่ แต่พอกฤตลุกไปแล้วดิฉันกำลังพูดกับภรรยาน้าเรืองเรื่องกับข้าวอย่างหนึ่ง น้าเรืองก็พูดกับน้ารวงรัตน์ว่า “ทำไมมันปัญญาอ่อนจนไม่เห็นกระดิ่งไฟฟ้านะ”

“ก็มันเกรงใจซิ กดกระดิ่งก็ต้องปลุกใครใช่ไหมล่ะ” น้ารวงแก้แทน

“อีตอนนั้นแหละ มันเขว่อว” น้าเรืองว่า

“ศัพท์นี้เก่าเต็มทีแล้ว” น้ารวงสบัดหน้าว่าพี่ชาย

“ไมใช้ที่อื่นนอกจากวงใน” น้าเรืองตอบ “ไม่อธิบายความหมายให้ใคร ใครไม่รู้ก็ดี ใครรู้ก็ดี” แล้วน้าเรืองก็ลุกไปทำธุระอย่างอื่นต่อไป ดิฉันก็ชวนน้ารวงไปที่ตึกของแม่

“น้ารวงต้องทำอย่างไงอีกอย่าง ลูกแก้วขอร้อง กฤตรู้สึกยุ่งยากใจเอามากๆเชียวแหละ” ดิฉันว่าน้ารวงรัตน์

“เป็นธรรมดาน่า คนมากก็เรื่องมาก ฝรั่งมันถึงอยู่กับพ่อแม่ลูก แต่ฝรั่งก็ไม่สบายกว่าเรา เจ็บไข้เหงาแทบตาย แล้วเป็นคนแก่อยู่เมืองฝรั่ง น้าว่าแย่”

ดิฉันรู้ว่ากฤตรอให้การุณกลับสำหรับจะได้พูดจาชี้แจงเสียให้หมดกังวลไป ดิฉันจึงเตือนว่า อย่าทำให้แกเกิดตระหนกตกใจเกินกว่าเหตุ เลยเวลาอาหารค่ำแล้ว การุณจึงกลับบ้าน ดิฉันสังน้ารื่นไว้ให้มาบอก กฤตจึงลงไปหาที่ห้องของการุณ ดิฉันนอนที่เก้าอี้ยาวในห้องดูโทรทัศน์ไปโดยไม่เอาใจใส่นัก เมื่อกฤตกลับมาดิฉันก็ถามว่า

“เป็นไง กฤตชี้แจงว่ายังไง แล้วการุณแกว่ายังไง”

“พูดกับมันไม่ถูก” กฤตตอบพลางถอนใจ “ได้บอกมันว่าทีหลังอย่าทำ ให้มันกดกริ่งเรียกคน แล้วก็เลยให้กุญแจมันไว้ แล้วคอยเตือนให้ทำใหม่ให้ตัวเราด้วย พอจะอธิบายเกิดความรู้สึกตามประสาบ้านนอกขึ้นมาว่า ปีนประตูเข้าบ้านที่เราอยู่ กับการเรียกให้เขาเปิดรับนี่ การปีนมันก็เป็นการสะดวกกว่าจริงๆ” แล้วกฤตหัวเราะครึ่งขันครึ่งกังวล

“เออ ตามบ้านนอก ไปปีนประตู เผื่อทางในบ้านเขานึกว่าขโมย เขาไม่ยิงเอามั่งเหรอ” ดิฉันถาม

“ก็จริง” กฤตรับอย่างตรึกตรอง “แต่ว่าถ้าไม่อยู่ในถิ่นนักเลง ก็คิดไปไม่ถึง”

ดิฉันชอบพยายามเข้าใจชีวิต ใช้เวลาคิดค้นนานพอดู ว่าการปีนเข้าประตูบ้านของเราเอง ถ้าหากว่าไม่ทำสีกระเทาะนั้นเป็นความผิดอย่างไร ก็จะหาคำตอบไม่ได้ ไปถามน้ารวง น้ารวงก็คิดหาคำตอบไม่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากว่าเป็นสิ่งที่พวกเราไม่กระทำกัน นานต่อมา ได้เคยเอาเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกับคุณพ่ออีก และเล่าว่าน้ารวงรัตน์ก็ตอบไม่ได้ คุณพ่อจึงตอบให้

“เหมือนเราเห็นอะไรวางบนเก้าอี้แล้วเรารำคาญยังงั้นแหละ ถ้าเราไปวางระเบียบอะไรเสียแล้ว ใครไปขืนระเบียบก็เกิดความรู้สึกขัดแย้ง ที่จริงของวางบนเก้าอี้มันก็วางได้เท่ากับโต๊ะ แล้วคนทั่วๆไปเขาก็ใช้วางกันแต่มีคนเจ้าระเบียบถึงจะรำคาญ”

“ยังไม่แลเห็นว่ามันโยงถึงการปีนประตู” แม่พูดโดยยังไม่เข้าใจดี

“อ้าว ก็เรารำคาญคนปีนประตู ก็เพราะเรามีประตูไว้ปิดไว้เปิด ที่จริงบ้านของเราเอง เราจะมีประตูแล้วเราไม่เปิดมันก็ไม่เสียหายอะไร ชาวบ้านน่ะเขาทำอะไรตามความจริง เราน่ะทำตามสมมุติ”

“แล้วชาวบ้านเขามีประตูกันไว้ทำไม” แม่ซักต่อไป

“เขามีรั้วไว้บอกอาณาเขตบ้าน หรืออาณาเขตไร่ มีประตูไว้เพื่อสะดวกไม่ต้องปีนรั้ว แต่ถ้าปีนสะดวกกว่าเขาก็เปิดเขาก็ปีน ที่นี้เราไปสมมุติว่ามีรั้วมีประตูแล้วปีนไม่ได้ ชาวบ้านเขาไม่สมมุติอย่างนั้น”

ฝ่ายข้างกฤตมีประสบการณ์ที่เขาไม่ได้คาดอีก คือเมื่อถึงวันศุกร์ปลายสัปดาห์ที่มีเรื่องตื่นเต้นนั้น น้ารื่นมาบอกว่าการุณสั่งไว้ว่าจะไปบ้าน น้ารื่นได้เตือนให้รอจนกระทั่งกฤตกลับบ้านแล้วจึงลา แล้วให้ไปวันเสาร์ การุณตอบง่ายๆ ว่า “ไม่ต้อง” แล้วก็แต่งตัวออกจากบ้านไปมีถุงใบหนึ่งถือไปในมือ กฤตวิตกว่าการุณจะไปเล่าเรื่องที่เกิดให้เป็นสาเหตุผิดใจกันระหว่างญาติ จึงออกไปบ้านวันเสาร์ เขาไม่ให้ดิฉันไปด้วย เพราะเขาคิดว่าเขาจะเจรจากับญาติได้ตาม “ภาษา”ของเขาเมื่อไม่มีดิฉันอยู่ด้วย เขาค้างอยู่คืนหนึ่ง กลับในวันอาทิตย์และมาเล่าอย่างขันระคนรำคาญและเคืองด้วยว่า

“เราไปถึงกลายเป็นทนายแก้ต่างเจ้าการุณไป การุณไปเล่าว่าถูกคนในบ้านนี้เขาหาว่าปีนประตู เป็นขโมยเลยถูกลุงการกับพ่อของเรา รุมกันด่าหาว่าไปทำความเดือดร้อน พ่อก็ด่าอาลำใย อาลำใยก็เลยหาว่าพ่อตื่นยศลูกสะใภ้ ลุงการก็ว่าจะมารับการุณไปบ้าน เราเลยต้องไปแก้ความเข้าใจเป็นการใหญ่ว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร พอเขารู้ว่าเป็นการุณเขาก็หายข้องใจกัน เพียงแต่ต้องไปบอกน้าเรืองเพราะทำสีเขากะเทาะไปเท่านั้น”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ