สงครามพม่า
ค่ายบางกุ้ง
ร่าย๏ แถลงณรงค์ทรงศักดิ์ รบปฏิปักษ์ภายนอก อันตะคอกจักข่ม บ่มกรรมเวรแก่กัน เมื่อจอมขัณฑ์มรัมมเขต ตระหนักเหตุว่าไทย ไอศวรรย์ฟื้นขึ้นใหม่ ใช่การใหญ่แต่เตือน ให้มาเยือนดูที จึ่งมีราชโองการ ให้ทวยหาญเหล่าหลาย เจ้าเมืองทวายแม่ทัพ ยกมาสดับข่าวคราว สาวถึงตัวผู้เติบ กำเริบต่อม่านเจ้า ทัพพม่าจึ่งเข้า สู่แคว้นแดนเรา อีกแล ฯ
โคลง ๔๏ ไทยธนกล่นกลั่นกล้า | ราวี |
พระมหามนตรี | เกียรติ์ฟุ้ง |
ทัพน่าประดาตี | ทัพพม่า |
ม่านพ่ายค่ายบางกุ้ง | กลับลี้หนีสลาย ฯ |
(ปีกุญนพศก ๒๓๑๐)
สวรรคโลก
ร่าย๏ ปีหนูสู่ปีขาล ว่างราชการศึกพม่า กว่ายุทธ์ม่านจักมี เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณวาธิราช ทรงอำนาจปราศเปลือง ครองเมืองพิศณุโลก โชคกำลังมลังเมลือง ม่าน ณ เมืองเชียงใหม่ ใคร่จะมาลองโบย โดยคำสั่งอังวะ จึ่งโปมะยุง่วน ด่วนทัพมาราวี เจ้าพญาสีห์ออกสู้ ม่านบ่ทานท่านผู้ ฤทธิ์ร้ายแรงรณ ฯ
โคลง ๔๏ ธนบดินทร์ยินข่าวข้า | ศึกเหนือ |
เสด็จทัพหลวงทางเรือ | เร่งเต้า |
แต่ว่าพระยาเสือ | ทำเสร็จ |
รบบ่ร้อนถึงเจ้า | ทัพไท้ไป่ทัน ฯ |
(ปีขาลโทศก ๒๓๑๓)
เชียงใหม่ครั้งแรก
ร่าย๏ นฤบดีมีดำริห์ ว่าพม่าริศึกใหม่ ไตร่ตรองความตามการณ์ ม่านเหิมหาญเหตุว่า มีแนวน่าเชียงใหม่ ไต่ทางทัพได้ดี จึงภูมีดำรัศ ให้จัดพหลโยธี เจ้าพญาสุรสีห์ทัพน่า ร่าเริงใจไทยปวง เสด็จทัพหลวงบ่มิช้า เดียรดาษพลกาจกล้า สู่ด้าวเชียงอินทร์ ฯ
โคลง ๔๏ ค่ายพม่าทัพน่าเจ้า | พญาสีห์ |
ตีฉฉานม่านหนี | มุดหน้า |
สมเด็จนฤบดี | ทรงเดช |
ดำรัศล้อมทัพข้า | ศึกไว้ในเวียง ฯ |
๏ คืนเดียวตีไป่ได้ | โดยพลัน |
ตรัศว่าไม่ทำมัน | เที่ยวนี้ |
ไทยกลับม่านขยับขยัน | ขยายติด ตามแฮ |
กลับแตกแหลกป่นปี้ | ไปต้านทานไทย ฯ |
(ปีขาลต่อกับเถาะ ๒๓๑๓-๒๓๑๔)
เมืองพิชัยสองครั้ง
ร่าย๏ ปีเถาะม่านอยู่โยง ปีมโรงม่านมุ โปสุพลาแม่ทัพ กลับใคร่ลองฤทธิ์ไทย เมืองพิชัยตั้งรับ บอกขอทัพพิศณุโลก ว่าม่านชโงกมาเยือน เตือนประยุทธ์รุทร์ร้า ฝ่ายพิชัยไม่กล้า ออกง้างกลางแปลง ฯ
โคลง ๔๏ พญาสีห์มีจิตปลื้ม | เปรมมาน |
ยกพยูห์จู่ทยาน | ยุทธ์แก้ |
ศัตรูบ่อยู่ทาน | แรงท่าน |
ถูกปตักดักแด้ | เดชด้วนซวนโซม ฯ |
(ปีมโรง ๒๓๑๕)
ร่าย๏ โปสุพลาไม่เข็ด หมายบำเหน็จความชอบ ลอบเข้ามาปีมเส็ง ฝ่ายไทยเล็งรู้ที ดักตีตายก่ายกอง รบขนาดสองแนวโกรก พลพิศณุโลกเหิมหาญ พลพิชัยชาญเชิงยุทธ รุดเข้ารบเข้ารุก บุกสบั้นหั่นห้ำ ยิงแย่งแทงถีบซ้ำ ขับข้าศึกกเจิง กจายแฮ ฯ
โคลง ๔๏ ทัพเหนือในคาบนั้น | แขงนัก |
พญาพิชัยดาบหัก | เดชห้าว |
เจ้าพญาสุรสีห์ศักดิ์ | สุรสิทธิ์ |
โปสุพลาก้าว | กลับหน้าหาหลัง ฯ |
(ปีมเส็ง ๒๓๑๖)
เชียงใหม่ครั้งหลัง
ร่าย๏ โปสุพลานายใหญ่ อยู่เชียงใหม่อักอ่วน โปมยุง่วนนายรอง ไม่ปรองดองใจกัน ฝ่ายจอมขัณฑ์สยามเขต ตรัสทราบเลศอังวะ ว่าเตรียมระรานเรา เราพึงเอาเปรียบก่อน ผ่อนกำลังมันลง ภูวนัยทรงดำรัศ ให้จัดเตรียมโยธี รีบไปตีเชียงใหม่ ไม่ให้ไต่ทางทัพ ขยับลงมาอีกได้ โปรดให้สองภาดา เจ้าพระยาจักรี เจ้าพญาสุรสีห์เรืองฤทธิ์ ไปประชิดเชียงอินทร์ ฯ
๏ ส่วนจอมนรินทร์ปิ่นรัฐ โปรดให้จัดทัพหลวง ทุกกระทรวงเตรียมเสร็จ เสด็จยาตราพลากร เดชขจรจบหล้า อาจจะล่มข่มข้า ศึกซ้ำทำสนอง ฯ
๏ ไตร่ตรองคลองรณรงค์ ทรงระแวงวิถี พระเจดีย์สามองค์ คงจะเป็นทางหนึ่ง ซึ่งพม่าเดินทัพ เพื่อบังคับสองด้าน ต้องเตรียมด้านไว้ก่อน ผ่อนกำลังคอยรับ จุ่งสองทัพพี่น้อง เพ่งพหลพลจ้อง จวบด้าวเชียงอินทร์ ก่อนเทอญ ฯ
โคลง ๔๏ ทัพหลวงประทับยั้ง | ยังขนอง |
ทัพน่าเจ้าพญาสอง | พี่น้อง |
รุกรบตลบลอง | แรงม่าน |
ถับถโถมโจมจ้อง | จู่เข้าเอาชัย ฯ |
๏ ทัพพม่ามาจักรั้ง | ลำปาง |
แต่สดับศัพท์หมาง | หมดแกล้ว |
ข่าวด่วนที่สวนทาง | ไปบอก |
ไทยยึดลำปางแล้ว | ฤกษ์ม้วยมาเมียง ฯ |
๏ สุพลาล่าลี้รีบ | เร็วกลับ |
กรุงกษัตร์ตรัศให้ทัพ | เถิบเต้า |
ทัพน่าประดาขับ | ตามติด |
ตีค่ายลำพูนเข้า | ก่อนไท้เสด็จถึง ฯ |
ร่าย๏ จอมโยธีทัพน่า โบยพม่าแหลกหนี ท่านตามตีต่อติด จนประชิดเชียงใหม่ ตั้งค่ายใหญ่ค่ายราม รวมสามสิบสี่ค่าย ร่ายปีกกาหากัน สรรพาวุธยุทธยง พม่าตั้งวงค่ายรับ ทัพพี่น้องสององค์ ดูมั่นคงคึกคัก ฯ
๏ ฝ่ายทรงศักดิ์จอมธน ยินยุบลด้านขนอง ว่ากองทัพพม่า ฆ่าฟันเม็งผู้ขบถ มอญกระถดถอยมา สู่อาณาเขตสยาม ม่านติดตามเข้ามา ทางยาตราโยธี ด้านเจดีย์สามองค์ ปิ่นณรงค์จอมสยาม เห็นจริงตามตรึกไว้ ทำให้ห่วงด้านหลัง แต่กำลังได้เปรียบ จวนจักเหยียบเชียงใหม่ จำฝักใฝ่บ่ายเบี่ยง เสี่ยงวาศนาบารมี จึ่งภูบดียาตรา ตั้งพลับพลาที่ใกล้ คอยสดับทัพไท้ พี่น้องสององค์ ฯ
โคลง ๒๏ หนักฤทัยท่านแท้ | กาลกระชั้นมั่นแม้ |
ว่าช้าเสียเชิง ศึกนอ ฯ | |
๏ จวนแจแน่นักไสร้ | จึ่งท่านใช้ม้าใช้ |
วิ่งย้อนสื่อข่าว ถวายแฮ ฯ |
โคลง ๔๏ พลพ่าห์พาข่าวห้อ | ไปถวาย |
เจ้าพระยาเชษฐ์ชาย | เชิดกล้า |
ตีม่านประหารภาย | ตวันออก |
แตกกระจายพ่ายว้า | วุ่นทิ้งสิงคลี ฯ |
๏ อีกคนพลพ่าห์เข้า | ข่าวถวาย |
เจ้าพระยากนิษฐ์นาย | ทัพแกล้ว |
ตีม่านอีกด้านวาย | ลงวอด |
ทุกหมู่อยู่มือแล้ว | มอดล้มซมซาน ฯ |
๏ ตบพระเพลาท่านปลื้ม | เปรมหทัย |
พี่กับน้องสองใน | คาบนี้ |
ใครดีกว่ากันใคร | จักตัด สินเวย |
น้องฤพี่กูผี้ | ว่ารู้ฤๅถาม ฯ |
ร่าย๏ โปสุพลาอักอ่วน โปมยุง่วนอึดอัด เห็นถนัดแน่แท้ ว่าจักแพ้ไพรี คิดหนีเอาตัวรอด ให้ปลอดภัยไว้ก่อน ผ่อนชีวิตยืดไว้ นึกฉนี้จึ่งได้ เลี่ยงลี้หนีไป ฯ
โคลง ๔๏ สมถวิลปิ่นราชย์ไท้ | จอมธรา |
เสด็จพยุหยาตรา | เหยียบพื้น |
ยั้งยับประทับธา | นีใหม่ น้อยนอ |
ห่วงวิปักษ์จักฟื้น | ศึกด้านทวารหลัง ฯ |
๏ ผจงจัดนวรัฐให้ | คืนดี |
เจ้าพระยาจักรี | อยู่ยั้ง |
อาณาประชาชี | ชวนชัก |
ห้าแห่งแหล่งนครตั้ง | ใหม่หม้าสามคี ฯ |
๏ ลำพูนแพร่น่านทั้ง | ลำปาง |
เชียงใหม่ไทยภาคกลาง | ย่านใต้ |
กอเหล่าเผ่าพงษ์พาง | โลหิต เดียวแฮ |
ท่านจัดรวมรัฐได้ | ดั่งนี้ดีเหลือ ฯ |
(ปีมเมีย ฉศก ๒๓๑๗)
ค่ายบางแก้ว
ร่าย๏ มอญเอาใจออกหาก จากพม่าสามานย์ จึ่งภูบาลมรัมมะ มีพระราชบัญชา ให้โยธามาปราบ ฝ่ายมอญหลาบฤทธิ์พม่า จึ่งล่าสู่แดนสยาม ม่านติดตามเข้ามา ไทยธราธิบดินทร์ ตรัศทราบรบิลไพรี มาวิถีเมืองตาก ไม่ผิดจากทรงคิด อนึ่งอมิตรคงมี ด้านเจดีย์สามองค์ ท้าวธจึงทรงดำรัศ ให้ไปขัดตาทัพ รับไว้ทั้งสองทาง พลางเสด็จคืนนคร ข่าวดัสกรคอยสดับ ฯ
๏ ทัพไทยรับรบม่าน ทางด่านแม่ละเมา เอาชัยได้โดยสดวก แต่พวกรับไพรี ด้านเจดีย์สามองค์ รณรงค์ลงพลั้งพลาด พญายมราชนำยุทธ์ (เป็นบุตรจักรีแขก) ถูกตีแตกต้องล่า หนีจากท่าดินแดง แขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อนฤบดีทราบศัพท์ จึ่งจัดทัพไปดัก เจ้ารามลักษณ์ทัพนุ้ย พระองค์เจ้าจุ้ยทัพเขื่อง ให้เนื่องกันออกไป อนึ่งภูวนัยโองการ เรียกทวยหาญฝ่ายเหนือ ให้เร่งเรือลงมา สั่งนาวารีบรุด ไม่ให้หยุดขึ้นบ้าน เร่งสู่ด้านสงคราม หนุนเนื่องตามกันไป ครั้นภูวนัยสั่งเสร็จ จึงเสด็จคุมทัพหลวง รวมพลปวงเก้าพัน ล้วนยงยันยืนยุทธ์ ศัสตราวุธพร้อมสรรพ ฯ
๏ ฝ่ายกองทัพปฏิปักษ์ ประจักษ์กำลังทัพไทย ลองชิงชัยไม่ชนะ หย่อนวิริยะอ่อนแอ้ว ติดข่ายค่ายบางแก้ว จิตท้อรอปรา ชัยแฮ ฯ
โคลง ๔๏ กรุงกษัตร์ตรัศทราบเค้า | เศิกขาม |
สั่งทัพขยับคุกค่าม | รอบข้าง |
พลม่านพลุกพล่านตาม | ท้องถิ่น |
ไทยเที่ยวตีที่กว้าง | ไล่เข้าเล้าขัง ฯ |
๏ ตรัสว่าพม่าขัดแค้น | อาหาร |
หิวระโหยโรยลาญ | เรื่องเศร้า |
หวนไห้ใคร่ขอทาน | สักอิ่ม |
เราจึ่งค่อยเอาข้าว | ล่อให้มันมา ฯ |
๏ ตรัศสั่งตั้งค่ายล้อม | ไพรี |
เจ้าพระยาจักรี | กลับแล้ว |
ตรัศมอบกอบการตี | ต่อติด |
ม่านพ่ายค่ายบางแก้ว | นอบน้อมยอมตน ฯ |
(ปีมเมีย ฉศก ๒๓๑๗)
ศึกอแซหวุ่นกี้
ร่าย๏ ปางพระเจ้ามังระ อังวะบดีมีเดช ตรัสทราบเหตุเมืองไทย กรุงธนไอศวรรย์รัฐ เจ้าตากกษัตร์เกรียงไกร จึ่งจอมไผทมรัมมะ ร้อนอุระรุ่มเร้า เกรงจะก่อต่อเค้า เครื่องร้อนในภาย น่านา ฯ
๏ ขณะนั้นมอญกำเริบ ตั้งตนเอิบอิศระ องค์อังวะเดือดแด สั่งอแซหวุ่นกี้ จงขยี้มวญเม็ง ตามตาเต็งโทษทัณฑ์ สมที่มันกลอกกลับ จึงแม่ทัพผู้เถ้า รับสั่งเจ้าอังวะ ไปเมาะตะมะปราบมอญ ดังภูธรปรารถนา ให้โยธาติดตาม เม็งซึ่งขามฤทธิ์ม่าน พล่านเข้ามาแดนไทย ฯ
๏ ฝ่ายภูวนัยจอมธน จัดพหลหลายทัพ ออกต่อรับรบศึก ครั่นครื้นคึกคักคลุก ม่านถูกรุกหลายด้าน จนเมื่อม้านฤทธิ์แล้ว ติดข่ายค่ายบางแก้ว ถูกเค้นเป็นเชลย ฯ
โคลง ๔๏ เหลือตายแตกพ่ายลี้ | ฤาแล หลังเลย |
แจ้งแก่แม่ทัพอแซ | หวุ่นกี้ |
ข่าวคราวกล่าวตามกระแส | การศึก |
ถูกแถกแหลกป่นปี้ | ป่วนปิ้มปลายปราณ ฯ |
๏ แม่ทัพสดับข่าวแพ้ | ไพรี |
ทูลพะม่าภูมี | มนัสข้น |
เหตุผลยุบลที | ฆะข่าว |
ราวเรื่องแต่เบื้องต้น | ตราบท้ายรายงาน ฯ |
๏ ตรัศสั่งแม่ทัพเถ้า | ตีไทย |
สูอย่าลดละใน | รัฐนั้น |
กูเห็นจะเป็นภัย | ภายน่า |
จำจะบุกรุกรั้น | รบเร้าเอาชัย ฯ |
กลอน ๘๏ ปางอแซหวุ่นกี้มีเดชะ | รับรับสั่งมังระนราไศรย |
นึกเป็นห่วงท่วงทีจะตีไทย | ซึ่งเกรียงไกรกว่าเก่าตามเค้าการ |
หากจะใช้กองโจรเที่ยวโผนเผ่น | ก็ไม่เห็นหนักแน่นเป็นแก่นสาร |
ไทยมิใช่อยุธยาคราบุราณ | รัชกาลเอกทัศฉัตรธำรง |
ทั้งแม่ทัพนายกองก็คล่องแคล่ว | ไม่ดักแด้วเหลวลุ่ยดังผุยผง |
รู้ท่วงทีเอาเปรียบรู้เหยียบตรง | แหล่งซึ่งม่งหมายว่าจะราวี |
ถ้าใช้ยุทธวิธีสิบปีแล้ว | เห็นจะแคล้วคลาศหมายหลายวิถี |
อันเยี่ยงแยบแบบลบองสองร้อยปี | พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง |
จัดกำลังตั้งมั่นด้านพายัพ | แล้วเดินทัพทางใต้ได้คล่องคล่อง |
วิถีนี้วิธีหนึ่งอันพึงลอง | เห็นจะต้องตามหลักตระหนักนัย |
จึ่งสั่งโปสุพลาว่าให้ด่วน | ไปกับโปมยุง่วนตีเชียงใหม่ |
ทั้งสองโปพร้อมกันรีบครรไล | จะชิงชัยแก้ชื่อให้ลือชา ฯ |
๏ ปางพระจอมธนบุรีมีดำรัศ | ให้เร่งจัดกองทัพรับพม่า |
ทั้งทัพน่าทัพขนองสองภาดา | เจ้าพระยาสุรสีห์โยธีนำ |
เจ้าพระยาจักรีโยธีหนุน | สองเจ้าคุณร่วมกำลังหวังขยำ |
แต่สองโปหนีไปไม่ให้ทำ | เห็นไม่จำเป็นว่าจะฆ่าตัว ฯ |
โคลง ๒๏ ปางอแซหวุ่นกี้ | ไป่ทราบสองโปลี้ |
รีบเต้ามาตาม ฯ | |
๏ พลหลามสามหมื่นห้า | พรรคพหลกล่นกล้า |
ยกเข้าทางเมือง ตากแฮ ฯ | |
๏ จับเชลยสืบให้ | ทราบเรื่องเมืองเหนือได้ |
ดั่งเค้าคำถาม ฯ | |
๏ พระยาเสืออยู่ยั้ง | พิศณุโลกฤาตั้ง |
อยู่แคว้นแดนใด ฯ | |
๏ เชลยกลัวตัวสั่นเทิ้ม | หวั่นอกเหื่อตกเยิ้ม |
ตอบถ้อยคำถาม ฯ | |
๏ พญาเสือไม่อยู่ถ้ำ | ไปจะบั่นหั่นห้ำ |
ศึกเบื้องเมืองเชียง ใหม่นา ฯ | |
๏ แม่ทัพพม่าว่าคร้าน | ที่จะไปปล้นบ้าน |
ซึ่งเจ้าของไป อื่นเอย ฯ | |
๏ ทนงฤทธิ์คิดเช่นนี้ | จึ่งอแซหวุ่นกี้ |
ยับยั้งยังสุโข ทัยแฮ ฯ |
ร่าย๏ ฝ่ายเจ้าพญาจักรี เจ้าพญาสุรสีห์เรืองเดช ทราบเหตุการด้านขนอง สองจึงปฤกษากัน พลันเลิกทัพกลับใต้ ไม่อาจวางใจได้ จักต้องครองทาง ไว้แฮ ฯ
โคลง ๔๏ ปฤกษาว่าคาบนี้ | คับขัน |
เราบ่แรงโรมรัน | ชล่าได้ |
เห็นพ้องจะป้องกัน | พิศณุโลก |
คอยเมื่อทัพกรุงใกล้ | จึ่งกล้ากลางแปลง ฯ |
กลอน ๘๏ ปางอแซหวุ่นกี้โยธีม่าน | ดำเนินผ่านพหลหมายหลายวิถี |
เข้าตั้งค่ายรายไว้ใกล้ธานี | เจ้าพระยาสุรสีห์ออกลองรบ |
แต่ม่านมากนักหนากล้าไม่ไหว | เข้ารุกไล่โอบอ้อมล้อมตลบ |
ถ้าขืนสู้กลางแปลงแรงกระทบ | เห็นจะพบความแพ้แน่ฉนี้ |
จึ่งถอยเข้าหาเมืองเป็นเครื่องกั้น | ค่ายประตูคูคั่นทุกน่าที่ |
แต่พี่น้องสององค์ทรงฤทธี | ออกต่อตีนอกเมืองเนือง ๆ ไป |
รบบางคราวม่านพ่ายเข้าค่ายหนี | แต่บางทีไทยแพ้แปรไม่ไหว |
ต้องล่าทัพกลับเมืองเคืองหทัย | ผลัดมีชัยผลัดแพ้แก่ศัตรู ฯ |
๏ ฝ่ายอแซหวุ่นกี้สีห์พม่า | เห็นน้ำใจไทยกล้าหนักหนาอยู่ |
น้อยกว่าเราหลายส่วนควรคุดคู้ | แต่ต่อสู้สามารถปราศย่อท้อ |
ใครเป็นแม่ทัพใหญ่ใคร่รู้จัก | มีตระหนักข่าวมาว่าหนุ่มก้อ |
จำจะบอกหย่ารบนัดพบพอ | ที่จะขอเห็นหน้าเสนานี ฯ |
โคลง ๒๏ โดยหทัยนัยฉนี้ | จึ่งอแซหวุ่นกี้ |
สั่งให้ไปขอ ฯ | |
๏ หย่ารบวันหนึ่งด้วย | ใคร่พบแม่ทัพสร้วย |
เพื่อรู้จักตัว | กันนอ ฯ |
โคลง ๔๏ วันนัดจัดพยุหเยื้อง | โยธี |
เจ้าพระยาจักรี | ขี่ม้า |
กั้นสัประทนสี | แดงเด่น |
เสวตร์ดุรงค์หย่งหน้า | ย่างน้อยลอยสนาม ฯ |
๏ อแซหวุ่นกี้เฒ่า | จอมทัพ |
แสะสง่าพาหนขับ | ขี่เต้า |
กั้นร่มระย้ายับ | ยองยาบ |
แผ่อาตม์ยาตร์ย่างเข้า | ขอบข้างทางสนาม ฯ |
๏ เพ่งภักตร์ชักม้านิ่ง | คนึงเมิล ท่านนา |
บุญจะนำจำเริญ | เลิศหล้า |
ปราโมทย์โอษฐ์สรรเสริญ | ศุภลักษณ์ |
ไพเราะเหมาะหมดหม้า | ใหม่ถ้อยทางแถลง ฯ |
อแซหวุ่นกี้ว่า๏ อ้าท่านสราญสริรแผ้ว | พรรลึก |
เจ้าพระยากษัตรศึก | ศักดิ์เจ้า |
ใครเล่าจะเดานึก | ความหนุ่ม |
ต้านกับตูผู้เฒ่า | เท่าผู้ทุรชัย ฯ |
๏ ท่านเอยเผยเดชได้ | ดลฉัตร เฉิดเทอญ |
ส่อตระศักศักดิ์กษัตร | สืบเชื้อ |
ทนุล้อมถนอมรัฐ | ถนิมโลก |
เปล่งประคุณบุญเกื้อ | เกียรติ์ซร้องฉลองเฉลิม ฯ |
ร่าย๏ สุดสรรเสริญเยิรยุ สดุดิพจน์หมดกระแส จึ่งอแซหวุ่นกี้ ชี้สั่งให้นำของ อานม้าทองคำฉาย กับอีกหลายสิ่งอัน เป็นของขวัญให้แก่ แม่ทัพไทยฤทธี เจ้าพระยาจักรีรับไว้ ส่งเครื่องตอบแทนให้ เสร็จแล้วกลับคืน เมืองนา ฯ
๏ เจ้าพระยาจักรี เจ้าพญาสุรสีห์ทั้งสอง ทราบทำนองศึกเติบ ปราศความเคลิบเคลิ้มใจ รีบบอกไปทูลความ แด่สยามภูมินทร์ ตามรบิลแห่งศึก พลางตรึกตรองถ่องแท้ คงจะมีทีแก้ เมื่อไท้เสด็จถึง ฯ
กลอน ๘๏ ปางพระจอมธนบุรีวีรราช | ทราบขนาดสงครามความแขงขึง |
แน่ตระหนักหฤทัยนัยคนึง | ถ้วนทุกสิ่งตรัศสั่งบ่รั้งรอ |
เป็นห่วงทางหลายเส้นเช่นวิถี | พระเจดีย์สามองค์ตรงประต่อ |
จึงทรงแบ่งทัพย่อยไปคอยพอ | ที่จะรอรบม่านในด้านนั้น |
ทอนกำลังลงไปมิใช่เล่น | แต่จำเป็นขัดทัพทางคับขัน |
ดำริห์รอบกรอบศึกสำนึกอัน | ตรายชั้นชิงชัยมิใช่น้อย |
พม่ามาเพียงไหนไปเพียงนั้น | ต้องโรมรันตีต่อไม่ท้อถอย |
เหล่าริปูจู่กล้ามาทยอย | ศึกบ่อยๆบากบั่นผจัญรับ |
กลศึกตรึกตรองทำนองยุทธ | จำจะรุดรีบไปเร่งไล่ขับ |
จึงภูมีดำรัศสั่งจัดทัพ | ทรงบังคับแสนยาพลากร |
หมื่นสองพันพร้อมสรรพเป็นทัพหลวง | ทุกถบวงห้าวหาญชาญสมร |
เดือนยี่แรมสิบเอ็ดเสด็จจร | ถึงนครสวรรค์ทรงบัญชา |
ให้แบ่งพลสามพันตั้งมั่นไว้ | รวังรไวกีดกางขวางพม่า |
มิให้ตัดทางเสบียงลำเลียงมา | ณ โยธาทัพหลวงช่วงณรงค์ |
ด้วยทรงทราบปัญหาว่าครานี้ | สำคัญที่อาหารการขนส่ง |
ม่านมิได้เชียงใหม่ดังใจจง | ฉนั้นคงอักอ่วนส่วนเสบียง |
ข้างฝ่ายพิศณุโลกโชคลำบาก | ถ้าอดอยากการยุทธ์ก็สุดเสี่ยง |
ม่านมาอ้อมล้อมขวางทางลำเลียง | เห็นแท้เที่ยงว่าร้ายหลายประการ |
ถ้าไทยตัดลำเลียงพะม่าได้ | ม่านก็ต้องปราชัยไปทุกด้าน |
ฝ่ายเราอยู่ที่มั่นถ้ากันดาร | ทางอาหารขัดข้องก็ต้องแพ้ |
ใครจะอดก่อนใครในครั้งนี้ | ปัญหามีกวดขันฉนั้นแน่ |
สิ้นเสบียงเลี้ยงเลือดต้องเดือดแด | ยังมีแต่สริรร่างจะร้างปราณ ฯ |
๏ กลศึกตรึกตรองเห็นถ่องแท้ | จึงทรงแก้กันข่ายอุบายม่าน |
จัดสำเร็จเสด็จต่อบ่รอนาน | ถึงทวารชลมารคคือปากพิง |
อันมีคลองเชื่อมสองนทีให้ | ไปมาได้สดวกดีเป็นที่ยิ่ง |
ตำแหน่งน้ำสำคัญอันต้องชิง | เป็นที่สิงทัพหลวงส่งช่วงพล |
โปรดให้ตั้งห้าค่ายรายแม่น้ำ | ทั้งให้ทำลายทางสร้างถนน |
รักษาฝั่งนทีวิถีชล | เพื่อให้ขนส่งง่ายถ่ายเสบียง |
พิศณุโลกโชคร้ายคงหายอด | ทรหดต่อสู้ไม่รู้เลี่ยง |
กำหนดการขึ้นลงส่งลำเลียง | มิให้เพลี่ยงพล้ำสู้สัตรูพาล ฯ |
๏ ฝ่ายแม่ทัพม่านผู้รู้สังเกต | สืบทราบเลศทัพหลวงท่วงทีหาญ |
ถ้าแม้มัวนิ่งอยู่ดูอาการ | คงต้องต้านน่าหลังทั้งสองทาง |
จำจะชิงเอาชัยเข้าไว้ก่อน | เพื่อให้หย่อนแรงไทยลงไปบ้าง |
กลศึกลึกซึ้งคนึงพลาง | กำหนดวางคำสั่งประนังรบ ฯ |
โคลง ๒๏ เสือแก่อแซหวุ่นกี้ | เบี่ยงอุบายบ่ายฉนี้ |
บัดฉนั้นพลันทำ ฯ | |
๏ หลายแฉกแยกทัพให้ | ชิดค่ายข้างฝ่ายใต้ |
ใฝ่ต้อนตีไทย ฯ |
โคลง ๔๏ นฤบดินทร์ยินข่าวข้า | ศึกแขง |
ตั้งค่ายรายเรียงแรง | เรี่ยวล้ำ |
ท่วงทีบ่มีแคลง | ใจท่าน |
จักไล่ไทยริมน้ำ | ลบล้างทางเสบียง ฯ |
๏ ค่าย ๓ ถึง ๑ ต้อง | ต่อรณ |
ไทยทรหดอดทน | ทุกด้าน |
กรุงกษัตร์ตรัศให้พล | เกณฑ์หัด |
ปืนใหญ่ไปยิงต้าน | แย่งต้อนบรถลา ฯ |
๏ ทรงคาดว่าพม่าต้อง | ตีอีก |
จึ่งเสด็จนำอณีก | น่าสู้ |
ม่านร้ายอุบายหลีก | มาค่ำ |
นึกว่าไทยไม่รู้ | ไม่รู้ใจไทย ฯ |
๏ ปืนใหญ่ไทยกึกก้อง | กำเรียง |
ยิงกระหน่ำสำเนียง | สนั่นฟ้า |
พลปืนยั่งยืนเคียง | ปืนพ่น เพลิงแฮ |
อริบ่อยู่สู้หน้า | ส่ายหน้าปราชัย ฯ |
ร่าย๏ ตีค่ายไทยไม่แตก กองแยกพม่าล่ากลับ แม่ทัพสดับรายงาน หยั่งเห็นการคาบนี้ จึ่งอแซหวุ่นกี้ เรียกร้องกองหนุน อีกนา ฯ
โคลง ๔๏ จอมธนยลม่านท้อ | ถอยถลา |
ทรงคเนเวลา | ว่านี้ |
โอกาศพิฆาตฐา | นะทัพ |
แห่งอแซหวุ่นกี้ | เฒ่าผู้นำพล ฯ |
๏ โองการเคลื่อนค่ายเข้า | คูชิด |
ฟากตวันออกทิศ | ที่ใกล้ |
สามด้านประสานติด | กันตลอด |
ข่าย ณ เขือเหนือใต้ | ต่อป้องปีกกา ฯ |
๏ ม่านแย่งแห่งหนึ่งได้ | ไทยหนี |
เจ้าพระยาสุรสีห์ | ออกแก้ |
รบเองคระเครงตี | ตอบต่อ |
ม่านพ่ายทิ้งค่ายแพ้ | ท่านตั้งดังเดิม ฯ |
๏ สองฝ่ายหมายมุ่งเข้า | คามคุก |
ใครจะบุกไป่บุก | บั่นได้ |
หลายนับผลัดโรมรุก | รอนรับ |
แต่บ่หั่นกันให้ | เลือดแห้งแรงโรย ฯ |
๏ มากมายฝ่ายม่านเมื้อ | มาหนุน |
มุดแมกแหวกคามคุณฑ์ | คาดแค้น |
ฝ่ายไทยมิใคร่หมุน | ตัวรอบ |
น้อยนักจักตัดเส้น | ศึกได้ไฉนหนอ ฯ |
๏ ม่านท่องท้องที่เร้า | หลายเฉียง |
เที่ยวทลายสายเสบียง | บั่นสบั้น |
ฝ่ายไทยมิใคร่เพียง | พออิ่ม |
ปฏิปักษ์หักที่นั้น | ที่นี้ตีทาง ฯ |
๏ จอมไทยไตรตรึกข้อ | คับขัน |
หากจะแบ่งแรงยัน | ยึดเสี้ยน |
ไหนเล่าจะเบาบัน | เทาท่วง ทีแฮ |
เรามิควรป้วนเปี้ยน | ป่วนพว้าพวังหลัง ฯ |
๏ ปฤกษาเสนาคผู้ | พาหา ท่านเฮย |
ขืนอยู่สู้ ณ สถา | นะนี้ |
ลำเลียงเลี่ยงปัจจา | มิตรไม่ พ้นเลย |
ควรขยับทัพผี้ | ว่าช้าปราชัย ฯ |
๏ เสนานีพี่น้อง | หนักจิต |
สิ้นเสบียงเบี่ยงบิด | บ่ได้ |
ยากจักรักษาพิศ | ณุโลก |
แม้ว่าล่าสู่ใต้ | ก็ต้องตามกัน ฯ |
๏ ชักช้าชล่าได้ | ฉันใด เล่าเอย |
เมื่อเสบียงเสี่ยงภัย | เพียบแปล้ |
ทัพหลวงทลายใน | แนวรบ |
สยามจะเยินเกินแก้ | กลับกู้ชูไฉน ฯ |
๏ ทัพธนถอยล่าแล้ว | ในรา ตรีเฮย |
จึงทัพสองเจ้าพญา | ยกเต้า |
พลเมืองเนื่องกันมา | เกือบหมด |
ตีผ่านแนวม่านเข้า | เขตเบื้องเพ็ชรบูรณ์ ฯ |
ร่าย๏ ปางอแซหวุ่นกี้ ศึกเพียงนี้สำเร็จ เดี่ยวเด็จดังปรารถนา จึงยาตราเหยียบเมือง เกิดขุ่นเคืองนัยนา พบแต่ธานีเปล่า เย่าบ่มีผู้คน ปราศพืชผลอาหาร ยุ้งฉางลาญแหลกหมด ความอดอยากมากล้ำ เสบียงทัพกลับยิ่งซ้ำ ลดน้อยถอยลง ฯ
โคลง ๔๏ เห็นนัยไทยทิ้งเปลือก | ธานี |
มีแต่แกลบไม่มี | เมล็ดข้าว |
สักโสดประโยชน์ดี | ดูปราศ |
คิดยิ่งคิดผิดเค้า | เผ็ดแค้นแสนสา ฯ |
ร่าย๏ ฝ่ายข้างกรุงอังวะ เจ้ามังระสวรรค์คต ราชโอรสครองราชย์ หวาดขบถบีฑา จึ่งบัญชาเรียกทัพ ให้เร่งกลับจากสยาม ตามดำรัศบัดนี้ จึ่งอแซหวุ่นกี้ รุ่มร้อนอ่อนอก นักเอย ฯ
โคลง ๔๏ อแซหวุ่นกี้วุ่น | วายใจ |
ถอยทัพกลับไฉนใน | ขณะนี้ |
ตรึกตรองจะท่องไพร | ทางแพรก ใดแฮ |
พลั้งพลาดอาจป่นปี้ | เปี่ยมแท้ทางมรณ์ ฯ |
๏ มากคนไม่มากข้าว | พอควร |
เสบียงขาดอาจเรรวน | ร่ำร้อง |
อ่อนแอจะแปรปรวน | ปั่นปลุก |
กองทัพเดินด้วยท้อง | ใช่เท้าเดาจร ฯ |
๏ ถอยทัพกลับเที่ยวนี้ | ในแดน ไร้นอ |
อัตะคัดขัดแคลน | คลาศเค้า |
บ่ายเบี่ยงเสบียงแสน | ลำบาก |
คนมากไม่มากข้าว | มากข้อเคืองเข็ญ ฯ |
๏ จำเป็นเห็นถ่องแท้ | ทางการ |
แยกทัพเที่ยวรังควาน | ถิ่นท้อง |
ลาดหากระยาหาร | ทุกแห่ง |
แผ่กระจายข่ายข้อง | ไขว่คว้าหากิน ฯ |
๏ หลายแฉกแยกย้ายย่อม | ยวนภัย |
อาจจะถูกทัพไทย | ทุ่มท่าย |
สองทางกระจ่างใน | แนวคิด |
ตายเพราะรบไป่ร้าย | เปรียบร้ายตายหัว ฯ |
โคลง ๒๏ ไตรตรึกนึกแน่ฉนี้ | จึ่งอแซหวุ่นกี้ |
แยกย้ายหลายทัพ | กลับแฮ ฯ |
โคลง ๔๏ จอมไทยได้ข่าวข้า | ศึกถอย |
สั่งทัพขับตามรอย | ม่านลี้ |
รีบรัดสกัดคอย | ตีขนาบ |
ทัพอแซหวุ่นกี้ | กจัดซ้ายกจายขวา ฯ |
(ปีวอก ๒๓๑๙)
ร่าย๏ ศึกพม่ากับไทย ในครั้งนั้นหลากนัก ไม่ตระหนักแน่แท้ ใครพ่ายเป็นฝ่ายแพ้ กึ่งก้ำกันอยู่ นะเอย ฯ
โคลง ๔๏ พม่าว่าพะม่าแพ้ | แก่ไทย |
ไทยว่าไทยปราชัย | โชคแปล้ |
สงครามสนามไหน | กาลก่อน หลังฤๅ |
ต่างฝ่ายต่างพ่ายแพ้ | พูดพ้องคำกัน ฯ |