กลอน ๘๏ แถลงปางกรุงเก่าเข้าตาร้าย |
ม่านขยายทางขยับทัพขยัน |
ทั้งไพร่นายฝ่ายเราไม่เท่าทัน |
มิอาจยันยืนสู้พบูเงย |
ใกล้อยุธยาวสานกาลวิโยค |
ถึงโฉลกจักล่มปากหล่มเผย |
อาธิปัตย์ขัติยวงษ์จะลงเอย |
ใครไม่เคยคิดเห็นถึงเช่นนั้น ฯ |
๏ เมื่อพระยาตากสินผินหน้าสู้ |
ฝ่ายศัตรูคักคึกศึกคับขัน |
ข้างฝ่ายกรุงยุ่งเหยิงเชิงโรมรัน |
มัวแต่บัญชาเลอะแฉะเฉอะชี้ |
จะรบสู้อยู่ด้วยก็ม้วยเปล่า |
คงต้องเต้าตามเนื่องไปเมืองผี |
ถ้าพร้อมกันบรรลัยใครจะมี |
สืบเสรีนำน่าประชาไทย |
จำจะหลีกปลีกลี้หาที่หลบ |
คอยเมื่อพบโชคน่าจึ่งมาใหม่ |
มีความรู้คู่ตัวจะกลัวไย |
คงจะได้โอกาสในชาตินี้ ฯ |
ผละจากกรุง
ร่ายยาว๏ แถลงสมัยใกล้อวสาน รัชกาลพระเจ้าเอกทัศ ฉัตรบดินทร์ปิ่นอยุธยา คราววาศนาชนมายุ จักบรรลุขัยด้วยภัยไพริน พระยาตากสินสิ้นหวัง ที่จะช่วยประทังราชาธิปัตย์ แห่งปัจฉิมกษัตร์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง จำปลดบ่วงห่วงใย มุ่งภักตร์ไปตามยถากรรม ถ้าบุญอุปถัมภ์ก็จะได้เชิดหน้า ณ คราหลัง สะสมกำลังเชื้อแถวทแกล้วทหาร กู้แก้แผ่ตำนารสยามราชอาณาจักร คืนสู่อิศรศักดิ์ประสิทธิผล ยื่นยงคงทนไปชั่วกาลนาน เทพเจ้าจงบันดาลให้สมหวัง ดังหฤทัยนี้เทอญ ฯ
๏ เมื่อได้ปลงใจโดยนัยฉนั้น ครั้น ณ วันเสาร์ขึ้นสี่ค่ำเดือนยี่ปีจออัฐศก พระยาตากยกบริวาร จำนวนประมาณกึ่งพัน หมดด้วยกันมีปืนกระบอกเดียว แต่เชี่ยวเชิงยุทธ์ด้วยอาวุธสั้น โจนจ้วงทลวงฟันผ่าวงริปู ฝ่ายศัตรูติดตามประจัญ ไปทันกันเมื่อเวลารุ่ง ได้รบพุ่งเป็นสามารถ ไทยองอาจต่อต้าน ฆ่าฟันม่านย่อยยับ พม่าแตกกลับเตลิดไป ฯ
๏ พระยาตากคระไลณไพรพนานต์ ถึงตำบลบ้านพรานนก ฟกกำลังพลไพร่ จึงสั่งให้หยุดพัก มิช้าก็ประจักษ์ปัจจามิตร เดินสวนทิศทางป่า จำนวนกว่าสองพันคน มีพลม้าสามสิบอัศว์ ก้าวสกัดทางกลางไพร พลไทยลาดเสบียงเลี้ยงกัน พม่าเข้าประจัญจักจับ ไทยหนีกลับบอกนาย ว่าริปูมากมายมาใกล้จะถึง จึงพระยาตากบัญชาสั่ง ให้แยกกำลังเป็นสองปีก หลีกเข้าสองข้างทาง ตัวท่านอยู่กลางโจนขึ้นม้า ออกประทะน่าไพรี เพื่อให้โยธีสองซีก แยกเข้าตีปีกพม่าณครานั้น ฯ
โคลง ๒๏ พระยาตากออกต้าน |
ไป่สทกอกสท้าน |
สี่ม้าตามหลัง ท่านนา ฯ |
|
๏ ห้าไทยใจกาจกล้า |
หกต่อหนึ่งหนักหน้า |
มากน้อยไม่หนี มันนอ ฯ |
|
๏ บุญเด่นเห็นถนัดแท้ |
สามสิบม้าพม่าแพ้ |
แก่ห้าม้าไทย ฯ |
|
๏ ม้าม่านพลุกพล่านทิ้ง |
หัวขาดตัวขาดกลิ้ง |
เกลื่อนข้างทางดง ฯ |
|
๏ เหลือตายแตกพ่ายเข้า |
ประทะพวกพลเดินเท้า |
ยิ่งซ้ำระส่ำระสาย ฯ |
|
ร่าย๏ ขณะนั้นไทยเดินเท้า แยกกันเข้าสองผีก ตีสองปีกปฏิปักษ์ ซึ่งราวสักสองพัน ม่านมิทันรู้ตัว มัวพะวงด้านน่า มิรู้ว่าไทยมวญ มีจำนวนมากน้อย อลหม่านปมม่านด้อย แตกลี้หนีกจัด กจายแฮ ฯ
๏ ปางปวงไทยในลแวก แปลกหฤทัยที่ไทย มีชัยแก่ปฏิปักษ์ หักพม่ารามัญ ฆ่าฟันตายก่ายกอง ได้เข้าของมากมาย นายเป็นบุรุษอัศจรรย์ อันวาศนาบารมี ข่มไพรีม่านมอญ บรไม่ต้านทานศักดิ์ เห็นประจักษ์ว่าผู้ จักก่อกู้อิศระ แห่งสยามะมณฑล จึ่งปวงชนสามิภักดิ์ สมัคเข้าร่วมรับใช้ คชอัศว์จัดมาให้ ต่อสู้ดัสกร ฯ
กาพย์ธนัญชยางค์ ๓๒๏ เดินพลในพน ผ่านตามตำบล สะสมผู้คน ฝึกปรนสั่งสอน อาวุธยุทธการ อาหารหาบคอน เลียบป่าฝ่าดอน ไปยังฝั่งชล ฯ
๏ ข้ามฟากนที ปราจิณบุรี ดำเนินโยธี จรลีตามหน ชายศรีมหาโพธ โปรดให้พักพล ไม่ช้ามีคน รีบไปรายงานฯ
๏ ว่าพม่าข้าศึก โยธาคณาณึก ทางบกทางทึก คักคึกแถวธาร เสียงคนโห่ร้อง เสียงฆ้องหม่องขาน คาดได้ไม่นาน คงข้ามตามทัน ฯ
๏ เวลามีน้อย กำลังยังด้อย แต่ใจใช่จ้อย ไม่ถอยหนีมัน ท่านใส่หาบคอน รีบจรอารัญ พลรบครบครัน ซุ่มสองข้างทาง ฯ
๏ ท่านเองนำพล ประมาณร้อยคน ไม่ยอมจำนน ต่อสู้อยู่กลาง ม่านบุกรุกรบ ไทยตลบกีดกาง สู้พลางหนีพลาง ล่อให้ไล่ตาม ฯ
โคลง ๒๏ ทัพพม่าเสียท่าด้วย |
นึกว่าไทยใจย้วย |
จักย้ำทำลาย ฯ |
|
๏ ท่ามทางหว่างป่าหญ้า |
ม่านรุกไล่บุกบ้า |
บุ่มเก้กังตาม ฯ |
|
๏ ไทยซุ่มรุมขนาบข้าง |
สูจุ่งรู้รศบ้าง |
ว่าแพ้เป็นไฉน ฯ |
|
๏ ริปูลู่ฤทธิ์ร้าย |
อลหม่านม่านแตกพ่าย |
ตเพิดแพ้แก่ไทย ฯ |
|
๏ อุดตลุดอาวุธทิ้ง |
ทางเถื่อนเกลื่อนศพกลิ้ง |
กล่นพื้นพงพนานต์ ฯ |
|
๏ แก้เผ็ดเด็จเดี่ยวแท้ |
ฝ่ายจมูผู้แพ้ |
ไม่กล้ามากวน อีกเลย ฯ |
|
๏ สลัดม่านหลุดผ่านได้ |
ท่านรีบรวมไทยให้ |
พรักพร้อมในครา น่านา ฯ |
|
ผู้นำ
โคลง ๔๏ ใคร ๆ ใคร่ซอกข้อ |
ซอนคำ บ้างเอย |
เค้าเคล็ดเท็จจริงอำ |
อัตถ์อ้าง |
สมญาว่า “ผู้นำ” |
คนชนิด ไหนนอ |
ชี้เช่นเป็นนายห้าง |
แห่งบ้านเมืองตน ฯ |
๏ ในเมื่อประเทศพ้อง |
ภัยพาล |
บ้านแตกสาแหรกลาญ |
หลุดด้วน |
ยุบยับอัปปมาณมาน |
มัวมืด |
ว้าวุ่นชุลมุนม้วน |
มอดม้วยซวยโซม ฯ |
๏ ในเมื่ออริกล้า |
มากลืน |
ยึดประเทศเขตยืน |
อยู่ยั้ง |
ขู่ตคอกหอกปลายปืน |
เป็นปตัก |
อำนาจบาศใหญ่กั้ง |
เกียจก้าวร้าวฉาน ฯ |
๏ ในเมื่อแร้นแค้นคับ |
ใจคน |
แทบมิธำรงตน |
อยู่ได้ |
จักเกลือกจะเสือกสน |
แสนขัด |
การอยู่การกินใกล้ |
กับเหี้ยเดียรฉาน ฯ |
๏ ในเมื่อถูกเบื่อน้ำ |
ใจไทย |
ในเมื่อเหื่อไหลไคล |
หยดย้อย |
ในเมื่อถูกเถือไถ |
ทุกขณะ |
ในเมื่อเหลือที่ถ้อย |
ถ่วงถ้วนทวนแถลง ฯ |
๏ ยุคเข็ญเห็นแน่แท้ |
มรไทย |
จำจะต้องมีใคร |
สักผู้ |
ซึ่งปวงประชาใจ |
จงรัก |
ยอมเชื่อยอมฟังรู้ |
ว่าไร้ใจโกง ฯ |
๏ ผู้นำจำต้องเฟื่อง |
ฟูบปัญ ญาแฮ |
ใครชั่วใครดีทัน |
เท่ารู้ |
บำบัดอัตตเหตุอัน |
เอือมจิต |
รู้รมัดตัดโลภผู้ |
พวกพ้องของตน ฯ |
๏ บุรุษดุจกล่าวนี้ |
นามนิน นาทนา |
คือพระยาตากสิน |
สุดกล้า |
เที่ยงตรงธจงจินต์ |
จักก่อ |
กู้สยามยามว้า |
เหว่คว้างกลางหน ฯ |
สร้างกำลัง
กลอน ๘๏ ปางพระยาตากสินโยธินทร์เลิศ |
วิชัยเชิดชื่อเนื่องแต่เบื้องต้น |
เมื่อตีฝ่าที่ล้อมพรักพร้อมพล |
จำนวนคนห้าร้อยน้อยอาวุธ |
นิกายไทยใจป้ำอำมหิต |
แม้ถูกติดตามอยู่ไม่รู้หยุด |
ก็เหิ่มหาญร่านเริงเชิงประยุทธ์ |
พม่ารุดมาอีกก็ฉีกยับ |
ในที่สุดศัตรูไม่สู้หน้า |
ไม่กลับมาเสี่ยงโชคให้โขกสับ |
เมื่อมารุกทุกทีถูกตีพับ |
ต้องระงับคิดตามด้วยขามฤทธิ์ ฯ |
๏ ท่านเกลี้ยกล่อมตะล่อมไทยให้คิดสู้ |
กว่าศัตรูทั้งหมดจะปลดปลิด |
ปลูกจำนงปลงใจในความคิด |
จะกู้อิศรภาพในคาบนี้ |
ถ้าใช้หวานไม่ได้ท่านใช้ขม |
ข่มอารมณ์ลู่ลีบดังบีบบี้ |
ใครร่วมจิตคิดสู้กู้ธานี |
ไม่อวดดีพองขนเพื่อตนเอง |
ท่านก็ส่งเสริมใจมิให้ออก |
ไปนอกคอกคิดการพาลโฉงเฉง |
เมื่อเห็นความเที่ยงธรรมก็ยำเยง |
ไม่ครื้นเครงบ่ายเบี่ยงให้เพลี่ยงพล้ำ |
ชนที่ท่านผ่านไปในแลวก |
เหมือนหญ้าแพรกชื่นชลด้วยฝนฉ่ำ |
ปลื้มกมลล้นเหลือเชื่อผู้นำ |
ทวีกำลังทรัพย์สัพพาวุธ |
ถ้าเนเมียวเดี่ยวเด็จไม่เข็ดขาม |
มาติดตามทั้งทัพคงรับหยุด |
เพราะเราร่วมใจกันไม่หวั่นยุทธ์ |
มีบุรุษกาจกล้าเป็นนายก ฯ |
๏ ท่านบำรุงบำรามตามท้องถิ่น |
เรืองระบิลผู้นำทั้งน้ำบก |
จำพวกพาลพากันสั่นสทก |
ต่างระหกระเหินลี้หลบหนีเร้น |
เหลือแต่พวกร่วมจิตคิดก่อกู้ |
ปราบศัตรูกองกรรมกระทำเข็ญ |
แม้ในคราวแตกฉานซ่านกระเซ็น |
ไม่ยอมเป็นคนไทยไร้เสรี |
ประชาชาวอยุธยาถูกพร่าพล่าน |
เที่ยวหลบม่านซุกซ่อนซอกซอนหนี |
ได้ทราบข่าวผู้นำส่ำเสนี |
บารมีมากมุ่งจะจุงไทย |
ก็เกิดมีความหวังฉมังคิด |
ว่าเห็นทิศเที่ยงแท้จะแก้ไข |
ร่วมจำนงจงรักรู้จักใจ |
ถึงถิ่นฐานบ้านไกลก็ไปรวม |
ต้องเดินทางหว่างป่าฝ่าดงรก |
เจ็บหัวอกกรมเกรียมเที่ยวเตี้ยมต้วม |
บ้างโซเซเตร่เต้าจนเท้าบวม |
ถึงกายน่วมก็หทัยไม่จำนน |
จะยากแค้นแสนเข็ญเห็นแต่ทุกข์ |
ก็บั่นบุกแถวเถินเนินสถล |
จำนงทุ่งมุ่งธารผ่านเมืองชล |
มั่นกมลหมายสู่ท่านผู้นำ ฯ |
๏ ท่านใช้เมืองระยองเป็นท้องที่ |
ชุมโยธีหมวดกองให้ชองช่ำ |
ม้าทหารสารศึกฝึกประจำ |
จัดกระทำทุกนัยมิไว้วาง ฯ |
๏ แต่เมืองจันทบุรียังมีอยู่ |
ซึ่งอวดรู้นอกรีดทำกีดขวาง |
หัวหรือก้อยถ้อยคำก็อำพราง |
จะร่วมทางหรือไฉนไม่จำแนง |
พระยาจันทบุรีไม่ดีแน่ |
พูดผันแปรกลับกลายน่าหน่ายแหนง |
ดูท่วงทีกิริยาน่าระแวง |
ว่าแก่งแย่งถือดีมีอาวุธ |
ออกอุบายถ่ายเททำเล่ห์ล่อ |
เปรียบดังตอปักไว้ให้สดุด |
อัตตเหตุทำให้ใจชำรุด |
ไม่เข้าชุดคิดช่วยเป็นหน่วยเดียว |
จึ่งเกิดเหตุกันเองจนเครงครื้น |
ต้องใช้ปืนปรามปราบน่าหลาบเสียว |
พื้นพยศหมดท่าจะยาเยียว |
ให้กลมเกลียวต่อสู้ศัตรูไทย ฯ |
ปัญญาเดินตรอก๏ เดินตรอกคือคอกกั้น |
ปัญญา |
จำกัดสายตาคน |
แค่ใกล้ |
ขวาซ้ายส่ายนัยนา |
นึกแคบ |
เหตุบ่เห็นกว้างได้ |
ดั่งแด ฯ |
ปัญญาออกถนน๏ จากตรอกออกไกว่กว้าง |
ทางถนน |
ย่อมเห็นหนแล |
ห่างสล้าง |
ปัญญาจะพาดล |
แดนสว่าง |
เหตุที่เห็นได้กว้าง |
แกว่งตา ฯ |
ผู้ว่าราชการจันทบุรี
กลอน ๗๏ มาจะกล่าวบทถึง |
พระยาจันทบุรีเป็นใหญ่ |
ทราบข่าวเจ้าตากจากกรุงไกร |
มีชัยแก่พม่ารามัญ |
กำลังสั่งสมบ่มกำลัง |
จักตั้งเป็นใหญ่ในเขตขัณฑ์ |
อันเขากับเราพอเท่าทัน |
ควรน้อมยอมกันด้วยอันใด |
เขาทำโอหังตั้งแว่นแคว้น |
เราแค่นเข้าหาหาได้ไม่ |
มักใหญ่ใฝ่สูงจูงตนไป |
เหตุไฉนจึงด่วนมากวนเรา |
เมืองใครใครอยู่อู่ใครนอน |
เที่ยวทำรานรอนทำไมเล่า |
ควรคิดควรทำตามลำเนา |
ถ้าเข้าข่มเหงไม่เกรงกัน |
เวรคงลงทัณฑ์ในวันน่า |
บารมีใครกล้าปัญญามั่น |
ในคราวยุคเข็ญเห็นสำคัญ |
เดินมรรคาไหนตามใจตน ฯ |
๏ พระยาจันทบุรีเช่นนี้นึก |
ไม่ระลึกความร้ายอาจบ้ายผล |
ในส่วนควรมุ่งบำรุงพล |
ต้านต่อปรชนผู้หยาบช้า |
อันสามัคคีก็ดีอยู่ |
ถ้ามีตัวกูเป็นหัวน่า |
อัตตหิตคิดไว้แต่ไหนมา |
ใคร่หาช่องทางสร้างฐานะ |
เป็นใหญ่ในสยามยามยงยศ |
ปรากฏเปรื่องกิตติ์อิศระ |
กู้ไทยให้คืนยืนภาวะ |
ดังพระนเรศวรม้วนแผ่นดิน |
คือองค์อวตารผลาญไพรี |
หงษาวดีแด่ว ๆ ดิ้น |
งามสมสมญาสยามินทร์ |
ชนยินย่อมพรั่นหวาดหวั่นฤทธิ์ ฯ |
๏ ฝันเห็นเป็นเค้าเบาแผ่วแผ่ว |
นัยแนวเลือน ๆ ฟั่นเฟือนจิต |
ลืมนึกล่วงน่าว่าความคิด |
อาจผิดอาจพลาดปราศปัญญา |
ความจริงกับฝันแปลกกันนัก |
ชอบจักคิดทั้งหลังแลน่า |
แง่เสียแง่ได้ใฝ่จินดา |
เทียบเคียงดูว่าเป็นฉันใด |
ปัญญามาเพิ่มเติมสติ |
ตรองตริรอบคอบในกรอบใหญ่ |
พังเพยภาษิตสกิดไว้ |
ว่าใครรู้ตัวไม่มัวงม |
เดินดุ่มงุ่มง่ามด้วยความเหม่อ |
เผอเรอนัยนามองหน้าก้ม |
คนนั้นครรไลคงไม่ล้ม |
เหตุเพราะอารมณ์ไม่งมงาย |
จันทบุรินทร์หมิ่นเหม่อเผลอไผล |
ฝันใฝ่งงงวยด้วยกระหาย |
ใคร่มีบุญเลิศประเสริฐชาย |
เป็นนายบ้านเมืองรุ่งเรืองตน ฯ |
๏ แต่เราพึงตรึกระลึกไว้ |
ว่าจันทบูรไกลในทางถล |
มีทเลอยู่ขวางในทางชล |
ไม่มีเรือยนต์กลนาวา |
ทางบกไม่มีรถเร็วรี่ |
ทางฟ้าไม่มีเรือเวหา |
ยากนักจักคล่องครองปัญญา |
เชิงชั้นบรรดาความเป็นไป |
สิ่งใดใกล้ตัวจึ่งรั่วรู้ |
สิ่งไกลไม่สู้จะรู้ได้ |
ยิ่งเมื่อตสิณาพาครรไล |
ด้วยความมักใหญ่จูงใจนำ |
ก็ดังคางคกกระลาวน |
ชื่นชลเปี่ยมปริ่มเอิบอิ่มหนำ |
ทนงบ้าว่าเราเป็นเจ้าน้ำ |
ใหญ่ล้ำชลาลัยในโลกนี้ |
ไม่รู้สู่รู้ดังปู่ปราชญ์ |
ไม่ฉลาดทำชล่าดังบ้าจี้ |
อันความรู้น้อยถ่อยวาที |
ย่อมมีอันตรายมากมายนัก ฯ |
โคลง ๒๏ สยามตวันออกใต้ |
สองพยัคฆ์ไม่ได้ |
จักต้องลดลง หนึ่งนา ฯ |
|
๏ เสือจะต้องอยู่ถ้ำ |
คงจะกัดฟัดขย้ำ |
ยุทธ์ยื้อแย่งคู หาเฮย ฯ |
|
ตีจันทบุรี
โคลง ๒๏ เจ้าตากตั้งทัพใกล้ |
มีประสาทสั่งให้ |
เรียกพร้อมปฤกษา ฯ |
|
ร่าย๏ พระเชียงเงินยอดทหาร หลวงชำนาญไพรสณฑ์ อีกคนชายชาตรี นายบุญมีมหาดเล็ก หนึ่งชายเหล็กแรงยอด นายบุญรอดแขนอ่อน ชายกระฉ่อนนามไกร ขุนอภัยภักดี พิพิธวาทีอีกขุน คนคู่บุญภูวนัย หลวงพิชัยอาสา พรหมเสนาอีกหลวง แรงทลวงเริงฉกาจ ราชเสนหาหลวงหนึ่ง ซึ่งศัตรูเกรงขาม นักองค์รามเชี่ยวชาย นายทองดีนายแสง ล้วนเข้มแข็งรณรงค์ ทรงปรึกษากลศึก อันคักคึกคาบนี้ เห็นไฉนให้ชี้ ช่องเข้าเอาชัย ฯ
คำตรัศ๏ จันทบุรีนี้ใช่ |
ชำฉา |
ทีท่าปราการปรา |
กฎกร้าว |
ค่ายคูประตูธา |
นีมั่น คงนอ |
ฤาจะหลุบฟุบร้าว |
ฟาดล้มจมเลน ฯ |
คำทูล๏ กำแพงแขงเข้มค่าย |
คูเพ็ชร์ ก็ดี |
เวียงทวารบานเก็จ |
กาจล้น |
ข้าบาทมิคลาศเสด็จ |
แสดงเดช |
นำจมูจู่ปล้น |
ป่ายเข้าเอาเมือง ฯ |
คำตรัศ๏ กำลังยังน้อยกว่า |
กำลัง เขาเนอ |
เขามากฝากกายยัง |
ย่านป้อม |
ไม่ออกนอกกำบัง |
มารบ เราเลย |
เราจะบุกรุกล้อม |
รบเร้าเขาไฉน ฯ |
คำทูล๏ ฝ่ายมากหากไม่สู้ |
จำนวน น้อยนา |
เราก็แผ่แหอวน |
ข่ายข้อง |
ล้อมไว้เมื่อใดจวน |
จักอด |
เห็นตระหนักจักต้อง |
ตกเตี้ยเพลียพลำ ฯ |
คำตรัศ๏ สมมติฝ่ายมากเมี้ยน |
มัวขลาด |
น้อยทนงองอาจ |
อาจล้อม |
แต่เราเสบียงขาด |
แคลนอยู่ |
เขาอิ่มเราอดอ้อม |
โอบได้ไฉนหนอ ฯ |
คำทูล๏ ลำเลียงเรายากด้วย |
ทางไกล |
แต่ก็มีพอใน |
ขณะนี้ |
ข้าบาทคาดชิงชัย |
เชิงลอบ ทลวงแฮ |
อยู่ ๆ จู่เข้าขยี้ |
ข่มขยุ้มรุนแรง ฯ |
โคลง ๒๏ ถูกหฤทัยท่านแท้ |
ฟังมติตริแก้ |
คิดคั้นปัญหา ฯ |
|
คำตรัศ๏ ความคิดชนิดนั้นสิ |
ตูแสวง |
เที่ยงหทัยไป่แคลง |
เคลือบท้อ |
เช่นนี้มิเสียแรง |
มาร่วม กันนอ |
กลั่นฉกาจปราศข้อ |
ขยาดขยั้นสั่นแสยง ฯ |
๏ เราน้อยเขามากด้วย |
กำลัง |
เขาอยู่ในกำบัง |
เบี่ยงด้อม |
เราเกลี้ยงเสบียงดัง |
เราคาด |
เขาจะออกนอกป้อม |
ป่ายต้อนตีเรา ฯ |
๏ เราใช่ไป่รู้เล่ห์ |
กลไพ รีเลย |
ใช่จะโง่งมใน |
เงื่อนนี้ |
เชิงเขาจะเอาชัย |
เห็นชัด |
เราก็แก่นใช่กพี้ |
แห่งไม้ไพศาล ฯ |
๏ แม่ทัพตรับทราบซึ้ง |
กลศึก |
ซึ่งอริตริลึก |
เลศแล้ |
ทุกนัยหทัยนึก |
ทางแน่ |
แท้ถ่องตรองกลแก้ |
กลับได้ชัยเฉลิม ฯ |
๏ บ้านเมืองเมลืองรูปเค้า |
เราคิด |
จักประสานศานติ์สฤษดิ์ |
เลิศแผ้ว |
เราสุดสุจริตจิต |
ผจงเจตน์ |
น้อมประณามสานแก้ว |
สัตย์กล้าอาไศรย ฯ |
๏ สุรเทพเสพย์สัตย์แจ้ง |
จริงนัย ฉนั้นแน |
แจ่มประจักษ์ว่าใคร |
คาบนี้ |
เป็นผู้จะกู้ไอ |
ศวรส่วน สยามแฮ |
ย่อมจะคุ้มครองชี้ |
ช่องเอื้อเอาภาร ฯ |
๏ วางใจในส่วนนี้ |
จงสนิท เถิดนอ |
ชัยโชคโยคเกณฑ์สถิต |
ที่แล้ว |
เชื่อตนเชื่อผลผริต |
พลีสัตย์ |
มั่นหทัยไม่แคล้ว |
คลาศคล้อยลอยลม ฯ |
๏ พิเคราะห์เฉพาะหน้า |
ในครา นี้นา |
ถึงดิถีดีปรา |
กฎแจ้ง |
ก่อนตรู่จะจู่รา |
วีป่าย |
ปิ่นประยุทธ์กุฑย์แย้ง |
แย่งเข้าเผาผลาญ ฯ |
๏ สั่งกันพลันทราบเค้า |
ในคืน นี้เทอญ |
กองฉกรรจ์ยันยืน |
อยู่พร้อม |
เหล่าราบดาบหอกปืน |
เป็นหมวด |
คราฤกษ์เกริกเข้าห้อม |
โห่เร้าเอาชัย ฯ |
๏ อาหารวารน่ามื้อ |
สายัณห์ นี้แน |
เตรียมแต่ยังวันวัน |
เถิดน้อ |
มื้อนี้จะกินกัน |
ที่นี่ |
อิ่มเสร็จสั่งต่อยหม้อ |
พรุ่งมื้อในเมือง ฯ |
ร่าย๏ เหล่านายทัพนายกอง ฟังทำนองกลยุทธ สุดยินดีทุกตน รีบสั่งพลบ่มิหึง จึ่งเหล่าทหารหาญศึก รู้ตื้นลึกหนาบาง ต่างคนวางหฤทัย ในบุรุษผู้นำ ต่างกระทำตามสั่ง คำดำรัศบ่มิแคล้ว โภชนกิจสำฤทธิ์แล้ว ต่อยหม้อรอเวลาแฮ ฯ
โคลง ๒๏ เพียบพยูห์อยู่พร้อม |
หมวดหมู่สู่ที่ด้อม |
จิตจ้องจักโจม ฯ |
|
๏ ซุ่มสนิทมิดเม้น |
อกไขว่หฤทัยเต้น |
มืดตื้อมือคัน ฯ |
|
ร่าย๏ เวลานาฬิกาสาม ได้ฤกษ์งามยามดี นายโยธีพร้อมสรรพ ขับทหารไทยจีน เข้าป่ายปีนกำแพง ทั้งด้านแวงด้านฉวาง วางมณฑกนกสับ ชาวเมืองรับรบสู้ ผู้คนตายก่ายกอง แต่กระดองแห่งเมือง แม้หนุนเนืองเข้าตี ก็ไม่มีบุบฉลาย นายเร่งไพร่ไล่เข้า บั่นบุกรุกโรมเร้า ยิ่งล้มตายลง ฯ
โคลง ๔๏ ปิ่นทัพขับคชค้ำ |
คำแหง หาญเฮย |
ชนทวารดาลแสดง |
เดชเจ้า |
สัญจารบ่ทานแรง |
บุญท่าน |
พลนิกายป่ายเข้า |
เข่นจ้วงทลวงโจม ฯ |
๏ จันทบุรีตีได้เมื่อ |
ตอนสาง |
โดยวิถีที่วาง |
เงื่อนไว้ |
ไม่ราบจะปราบทาง |
ไทยสงบ ได้ฤๅ |
ใครมิทานท่านได้ |
เหตุด้วยบารมี ฯ |
ร่ายยาว๏ ฝ่ายพหลพลไพร่ในกองทัพ ดาบหอกกลอกกลับคะลิงชิงชัย ครั้นเข้าเมืองได้ก็มิรีรอ รีบหาหม้อหุงข้าว กินมื้อเช้าในเมือง เครื่องคาวมากสมมาน เครื่องหวานมากสมหมาย ณ มื้อนั้น ฯ
๏ ส่วนหญิงชายชาวเมือง ผู้มิได้เกี่ยวเนื่องในการศึก รู้สำนึกว่าจันทบุรี แม้มิได้มีม่านไปรานรอน แม้มิได้มีมอญไปรอนรบ ก็สยองสยบอยู่มิเว้นวาร เห็นว่าใกล้กาลที่อิศระ จะถึงมรณะลงไปด้วยกัน ประเทศเขตขัณฑ์ถึงคราวพินาศ เสรีแห่งชาติถึงคราวพิบัติ เว้นแต่จะเกิดกษัตร์ผู้นำส่ำประชา เปล่งประคุณบุญวาศนามหาเดช กลับนำประเทศสู่ราชาธิปตัย ให้ไทยเป็นไทยดังอภิธัยแห่งชาติ บำราศริปูอยู่ยงธำรงมั่นนิรันดร ฯ
๏ ฉนี้ชนนิกรชาวจันทบุรี แลท้องที่ทั่วไปในอาณาเขต สังเกตเดชาภินิหาร บุญญาธิการหลายหลาก แห่งเจ้าตากผู้นำพล บอกยุบลกันต่อ ๆ ไป เกิดเลื่อมใสในพระองค์ ปลงใจสมัคภักดี ต่อภูมีผู้นำ กำลังทรัพย์กำลังกาย ถวายแด่ผู้จมูบดี พลีต่อชาติซึ่งถูกบีฑา ต่อสาสนาซึ่งถูกพาธะ ต่อราชะผู้ทรงคุณวิเศษ อาจนำประเทศสู่สุขารมณ์ อุดมสวัสดิวัฒนาการ เป็นรมยสถานธำรงเสถียร ด้วยความเพ่งเพียรแห่งกษัตร์ ณ บัดนั้น ฯ
ชุมพล
โคลง ๒๏ ปิ่นณรงค์ทรงเดชได้ |
ที่มั่นคั่นหนึ่งไว้ |
คิดแก้เผ็ดไพ รีแฮ ฯ |
|
๏ ฝึกปรนพลเพียบพื้น |
จิตประจักษ์จักฟื้น |
เกียรติ์แคว้นแดนสยาม ฯ |
|
๏ เดือน ๗ ถึง ๑๑ ได้ |
ดังประสาทสั่งให้ |
ซักซ้อมพร้อมเพรียง ฯ |
|
๏ มรสุมชุมทัพแกล้ว |
หมดฤดูคลื่นแล้ว |
จึ่งย้ายยาตรา พลแฮ ฯ |
|
๏ ร้อยลำเรือรบล้วน |
อาวุธยุทธภัณฑ์ถ้วน |
ถี่แท้ทุกลำ ฯ |
|
โคลง ๔๏ ออกจากปากอ่าวเลี้ยว |
แหลมสิงห์ |
หินดั่งรูปสิงห์จริง |
จัดตั้ง |
(น่าชังฝรั่งเศษยิง |
หัวแตก |
เมื่อยึดจันทบูรครั้ง |
ศกร้อยสิบสอง ฯ) |
๏ นมสาว จาวเจิดนั้น |
นามเกาะ |
โผล่สมุทสุดเหมาะ |
มารคนี้ |
เต่งตั้งดุจดังเดาะ |
ดูเด่น |
สืบเรื่องเนื่องนานกี้ |
เก่าล้ำตำนาร ฯ |
๏ เรื่องราวชาวถิ่นนี้ |
นานนาม |
ม่องล่าย นายอ่าวสยาม |
ย่านใกล้ |
ยมโดย ธิดางาม |
พะงารุ่น |
สองบ่าวกล่าวขอให้ |
เลือกข้างทางไหน ฯ |
๏ กงจีน ศีลสัตย์น้อย |
นักหนา |
หน้ามืดพืชเสน่หา |
เหิ่มห้าว |
กลั่นพลกล่นเภตรา |
มาเกลื่อน |
กั้นหยั่นเกาทัณฑ์ง้าว |
เงือดเงื้อเหลือหลาย ฯ |
๏ เจ้าลาย ชายหนุ่มผู้ |
พงษ์ไทย |
สู่พ่อขอสายใจ |
เจิดแก้ว |
ม่องล่ายบ่หน่ายใน |
เธอหนุ่ม นั้นนา |
คำสัตย์มัดมั่นแล้ว |
เลิกย้อนถอนไฉน ฯ |
๏ รักสัตย์ชัดว่าต้อง |
รบศึก |
อันจะโหมโครมครึก |
ครั่นครื้น |
ไทยล่มจักถล่มลึก |
เลนหล่ม |
เมืองจะเป็นเมืองขึ้น |
บีบคั้นมันเคย ฯ |
๏ ทางสัตย์ทางศึกทั้ง |
สองทาง |
ดวจดังสองเขากวาง |
ไกว่ย้าย |
เบี่ยงบ่ายอุบายวาง |
วาระ ไฉนนอ |
จึงจะเลิกเศิกร้าย |
สัตย์ไซร้ไป่เสีย ฯ |
๏ ยมโดยโบยอุระไห้ |
ราวหัก |
สัตย์บ่มีมีศักดิ์ |
ไป่ได้ |
ไทยจิตทุจริตจัก |
จมดิ่ง |
จำจะคิดปลิดให้ |
เหตุร้ายสลายไป ฯ |
๏ โฉมฉายหมายม้วยเมื่อ |
มีเข็ญ ฉนี้นา |
ชนกระลึกนึกเห็น |
ชอบด้วย |
สองซีกฉีกนงเพ็ญ |
โยนสมุท |
เกิดเกาะสองเดาะสร้อย |
ห่อห้มนมนาง ฯ |
๏ มอดม้วยช่วยชาติได้ |
ยมโดย เจ้าเอย |
ความชอบกอบกองโกย |
ก่อกว้าง |
ปราณร้างแต่นางโปรย |
ประโยชน์ |
สองอนุสสรณ์สร้าง |
สืบเจ้าเยาวมาลย์ ฯ |
๏ นารีมีมากหน้า |
เมืองไหน บ้างนอ |
ที่จะเด็จเดี่ยวใจ |
ดั่งเจ้า |
ชีพม้วยช่วยชนไทย |
ทั้งแหล่ง |
เปี่ยมประถิติ์จิตเร้า |
เรื่องกี้กวีการ ฯ |
๏ เรือแล่นแม่นทิศท้อง |
ชลธี |
ผ่านเกาะเดาะดรุณี |
เนิ่นเศร้า |
ดำนารบุราณมี |
มาเนื่อง |
อ่าวแม่รำพึง เร้า |
เรื่องเครี้ยวเดียวกัน ฯ |
๏ นางรำพึง ผู้แม่ |
ยมโดย |
รันทดพจนะโหย |
เหี่ยวไห้ |
น้ำตาพร่าพรายโรย |
ลงแอ่ง เล็กเอย |
เปลี่ยนแอ่งเป็นอ่าวได้ |
ชื่อดั้งเดิมแสดง ฯ |
๏ ลัดเกาะเลาะหลีกคุ้ง |
ชลาลัย |
เห็นดั่งทำนายใน |
อดีตโน้น |
“สมมุกจะเป็นไพร” |
พงพฤกษ์ |
เดิมว่าเป็นเกาะโล้น |
เลื่อมพร้อยพรายแสง ฯ |
๏ โบราณท่านบอกไว้ |
เวลา โน้นนา |
“ศรีมหาราชา |
ฝั่งน้ำ” |
สีชังดั่งคำพยา |
กรณ์เก่า |
“เป็นท่าเรือจอด” ง้ำ |
แง่กั้งบังลม ฯ |
โคลง ๒๏ เรือทรงองค์อิศระไท |
ทอดสมอรอให้ |
พรักพร้อมลำกัน ฯ |
|
๏ ชุมทัพนับถี่ถ้วน |
ที่เกาะสีชังล้วน |
เลิศแกล้วการรณ ฯ |
|
๏ นายไพร่ใจกาจกล้า |
คอยจะใคร่ไล่คว้า |
จิกเกล้าเหล่าอสูร ฯ |
|
๏ ได้ฤกษ์เบิกทัพท้าว |
เพียบพหลพลห้าว |
มุ่งหน้ามาเหนือ ฯ |
|
โคลงดั้น๏ น้ำนิลดิ้นโดดเร้า |
วาริธิ์ |
ละลอกหัวขาวกราว |
เกลื่อนสล้าง |
หลั่น ๆ กระชั้นชิด |
ฉานฉ่า |
ลมระเบงเคว้งคว้าง |
คระวี ฯ |
๏ ชลนิธิ์อิศระแท้ |
ถ่องถนัด |
พระสมุทมีเสรี |
เรี่ยวล้ำ |
ครั่นครืนคลื่นเครงซัด |
ซ่าซ่า |
ใครปลิดฤทธิ์น้ำได้ |
ดั่งฤๅ ฯ |
๏ พลพยูห์หมู่ใหญ่ครั้ง |
คราวไหน บ้างนอ |
เกลื่อนชลาลัยลือ |
เลื่องถ้อย |
ไวว่องล่องลมใน |
แนวน่าน นี้นา |
เนาประนังตั้งร้อย |
แล่นดา ฯ |
๏ เรือรบเรือไล่แกล้ว |
การรบ |
สง่าสุดยุทธนาวา |
แหวกเต้า |
ควณคิดทิศอรณพ |
แนวมุ่ง |
ปากอ่าวแม่น้ำเจ้า |
พระยา ฯ |
เจ้าทองอิน
กลอน ๖๏ มาจะกล่าวบทถึง |
ทองอินกายไทยใจพม่า |
เป็นคนแคบสั้นปัญญา |
โอกาศวาศนาครานั้น |
เห็นขี้ว่าดีกว่าไส้ |
น้ำใจเติบโตโมหันธ์ |
หมายกำอำนาจราชทัณฑ์ |
กำเริบเสิบสันแสนร้าย |
เข้าช่วยศัตรูขู่ข่ม |
ได้สบอารมณ์สมหมาย |
พะม่ามอบให้เป็นนาย |
รักษาป้อมค่ายเมืองธน |
ช่วยม่านผลาญไทยให้ท้อ |
กอบก่อวาศนาหาผล |
สมส่ำกำไรใส่ตน |
เป็นคนเกิดหมูนภูลนค |
ท่านว่าถ้าเถรไม่ดี |
ทั้งปวงหลวงชีสกปรก |
เหตุเพราะหัวหน้าลามก |
นายกนำแถวแนวโกง |
ร่วมวงไพบูลย์ภูลสิน |
เปือกปนมลทินทั้งโขลง |
สายใยเยื้องยักชักโยง |
ร่วมโขยงขยอกกินสินทรัพย์ |
รับมอบอาญาน่าที่ |
จู้จี้เหยกโหยกโขกสับ |
เกะกะกระทำสำทับ |
ยุบยับราษฎรร้อนลาญ |
เหลิงเจิ้งในใจไม่รู้ |
ว่าอาจมีผู้อาจหาญ |
กำหราบพะม่าสามานย์ |
ไทยพาลพวกมันพลันมรณ์ ฯ |
๏ เจ้าตากจากจันทบุรี |
ทองอินไม่มีสังหรณ์ |
ไม่มีเทพดาอาทร |
ไม่นึกอาวรณ์ร้อนใจ |
ครั้นทราบข่าวศึกฮึกหาญ |
ดังหนึ่งพระกาลมาใกล้ |
รีบรัดจัดกันทันใด |
หวั่นไหวอกเต้นเขม่นตา |
ได้เคยเชี่ยวชาญการรณ |
กับคนง่อยเปลี้ยเสียขา |
ศึกมีกำลังวังชา |
ครั้งนี้เห็นน่าหวั่นนัก |
เห็นลางข้างร้ายตายแน่ |
จงผีพ่อแม่แผ่ศักดิ์ |
เม็ตตาอารักข์ลูกรัก |
ไก่หมูตูจักสังเวย |
ม้าใช้ไปแจ้งยุบล |
ค่ายโพธิ์สามต้นเร็วเหวย |
คราวนี้ศึกกล้ากว่าเคย |
อย่าเฉยมาช่วยด้วยเทอญ |
พวกเราเข้าใจให้แน่ |
ถ้าไม่คิดแก้แต่เนิ่น |
ไพบูลย์จักพับยับเยิน |
รหกรเหินยากจนข้นแค้น |
อุตส่าห์คิดคดทดโท่ |
จนได้ใหญ่โตหนาแน่น |
คราวนี้อำนาจขาดแคลน |
ถ้าแล่นหนีเขาเข้าดง |
ไพร่เมืองเคืองขุ่นฉุนโกรธ |
คงโลดไล่รีบถีบส่ง |
จักตาย ๆ ไปใจปลง |
กอดวงไพบูลย์สูญปราณ ฯ |
โคลง ๒๏ ทองอินแนวที่ห้า |
ใจบ่กล้าจำกล้า |
รบสู้ซังตาย ฯ |
|
๏ พลไพร่ไล่เร่งต้อน |
เปรียบดั่งหญ้ามาป้อน |
ปากห้าวแห่งปืน ฯ |
|
ร่าย๏ ปางโยธินทร์ปิ่นทัพ สั่งสรรพพหลพลหาญ ทยานเร่งเร้าเอาชัย ฝ่ายมอญไทยในธน ต่างเถลือกถลนหลบหลีก ปลีกจากตรอกออกทุ่ง ไม่รบพุ่งต่อต้าน ด้านนี้ผันนั้นผิน ศพทองอินบ่มิหึง ก็ถึงแดนป่าช้า ฟ้าเป็นเฝือกเกลือกกลิ้ง หมาแย่งแร้งกาทึ้ง ปราศผู้สงสาร ฯ
โคลง ๔๏ ความเหม็นหมาเน่าแม้ |
เหม็นนัก |
เอียนสอึกลึกกระอัก |
อกร้าว |
ทิ่มถูกจมูกหมัก |
หมมกลิ่น |
บูติ์กระหลบอบอ้าว |
อัดแสร้วนาสา ฯ |
๏ หมาเหม็นไม่มากแม้น |
นามเหม็น |
เน่ามนุศย์สุดเข็น |
โขดขั้น |
ฉินชื่อระบือเห็น |
หนถ่อย |
หน่ายเน่าเราพึงขยั้น |
ขยาดคร้ามนามเหม็น ฯ |
โคลง ๒๏ ปัจจนึกศึกไก่แจ้ |
ครีพหักดักแด้ |
จักสู้อูไฉน ฯ |
|
โคลง ๔๏ ทองอินสิ้นชีพแล้ว |
ทรงรุด |
รีบมุ่งกรุงอยุธยา |
ย่านใกล้ |
ด่วนไปมิได้หยุด |
พักพวก พลเลย |
จู่จะโหมโจมให้ |
มรั่มม์ร้ายมลายลาญ ฯ |
สมิงพ่าย
กลอน ๖๏ มาจะกล่าวบทไป |
ถึงพระนายกองของม่าน |
ผู้นามสุกี้มีภาร |
เป็นจอมบงการอยุธยา |
มอญขาวข่าวระบือมือหนัก |
อิ่มนักอำนาจวาศนา |
ทราบศัพท์ทัพใหญ่ไทยมา |
ด่านน่าผิดคาดขาดแคลน |
ตกใจนักหนาหน้าเสีย |
ลูกเมียเป็นบ่วงห่วงแหน |
เมียดังมหิษีศรีแดน |
ลูกแม้นเจ้าฟ้าอ่ายศ |
แม้เราพลาดพลั้งครั้งนี้ |
ป่นปี้โภคทรัพย์ยับหมด |
เคยเคลียเมียน้อยช้อยชด |
สวยสดสาวๆพราวพรรณ |
ใครเล่าเขาจักรักเลี้ยง |
ดังเยี่ยงกูเคยเชยขวัญ |
เมียหลวงหึงบ้างช่างมัน |
รังเกียจเดียดฉันกันไย |
ครั้งนี้ไทยกล้ามากวน |
ควรหรือลบหลู่กูได้ |
แม่นมั่นสัญชาติคนไทย |
กตัญญูที่ไหนไม่มี |
กูช่วยให้เป็นเมืองขึ้น |
กลับมึนเมาสัตติ์บัดสี |
ไม่มีน้ำใจไยดี |
ไมตรีพระเจ้าอังวะ |
ร่วมวงไพบูลย์กับม่าน |
เป็นการแผ่ศักดิ์ทักษะ |
สมบูรณ์พูลเกษมเปรมะ |
ทุกขณะเรียบราษฎ์ปราศเร้า |
กูทำบุญคุณนักหนา |
กลับเป็นบูชาโทษเล่า |
ดีไม่ว่าดีมีเดา |
เป็นเงาความคิดผิดพลั้ง ฯ |
กลอน ๗๏ เสตเตลงเกรงกริ่งนิ่งรำลึก |
คักคึกข่าวทัพดูคับขัน |
จักเตรียมค่ายใหญ่ก็ไม่ทัน |
จำกั้นกีดขวางหนทางยุทธิ์ |
ตั้งขัดตาทัพรับไว้ก่อน |
เพื่อผ่อนเวลาให้ช้าสุด |
จวนตัวกลัวว่าศัตราวุธ |
หวุดหวิดหมดหวังในครั้งนี้ ฯ |
๏ เรียกตัวมองญาบัญชาให้ |
คุมไทยอาศาม้าหัตถี |
ส่งมอญไปด้วยช่วยราวี |
คอยตีให้ยับทัพริปู ฯ |
๏ กล่าวฝ่ายมองญาออกน่าศึก |
ตอนดึกอกเสียวใจเหี่ยวหู่ |
พวกไทยอาศามากับกู |
ใจทู่ได้ทีรีบลี้ลับ |
เล็ดลอดไปเข้ากับเจ้าตาก |
หน้ากากสวมใส่ใจสับปลับ |
ฝ่ายพวกมอญเล่าเราบังคับ |
ให้คอยกำกับไพร่พลไทย |
บัตซบหลบหน้าหาไม่เห็น |
ดังเต่าเน่าเหม็นอยู่ที่ไหน |
กูอยู่คนเดียวเปลี่ยวหัวใจ |
หนีไปดีกว่าถูกฆ่าตาย ฯ |
โคลง ๒๏ ปางองค์ทรงเดชผู้ |
จิตประจักษ์จักกู้ |
เกียรติ์ด้าวแดนไทย ฯ |
|
๏ สองวารท่านรุกร้น |
ตีค่ายโพธิสามต้น |
เสร็จได้ดังจิน ตนานา ฯ |
|
๏ มอนขาวทะท่าวดิ้น |
เจ็ดลวิตร์ปลิดสิ้น |
ชีพลี้หนีสูญ ฯ |
|
โคลง ๔๏ สมคเนเสนาคไท้ |
ภูธร |
ปราบประมวญมอญมรณ์ |
ม่านม้วย |
ปรากฏดุจปลดขอน |
ทับอก |
เหวี่ยงวิปักษ์หักด้วย |
เดชกล้าบารมี ฯ |
๏ เทศใดทัพต่างด้าว |
ดูแคลน |
มาสู่อยู่ยึดแดน |
เดชกร้าว |
เทศนั้นสบั้นแบน |
บั่นสิทธิ์ |
ดวจดั่งราหูห้าว |
ห่อห้มอมจันทร์ ฯ |
โคลง ๔๏ สินทรัพย์ยับย่อยด้วย |
เดชะ |
แห่งริปูผู้คละ |
คลุกเคล้า |
ยุบยับอัปปมาณมะ |
โนเทวศ |
สรรพโศกโรครึงเร้า |
รุ่มร้ายหลายเหลือ ฯ |
๏ ตราบใดไป่ขับข้า |
ศึกคึก |
ทิ้งถ่วงห้วงทเลลึก |
ลับลี้ |
ตราบนั้นจะบันทึก |
ความถ่อย ไว้แฮ |
สู่สิทธิ์อิศระกี้ |
ก่อนได้ไฉนเหนอ ฯ |
๏ ปิ่นณรงค์จงจิตตั้ง |
จักตอบ |
โต้ริปูกู้ขอบ |
เขตกว้าง |
ทรงฤทธิ์คิดรอบคอบ |
ครัดเคร่ง |
ใช่หทัยไขว่คว้าง |
ขวักเคว้งเครงครืน ฯ |
ทำแต่ในปีเดียว |
เสร็จได้ |
ม่านมาจะยาเยียว |
อำนาจ อีกนอ |
แต่บ่ทานท่านได้ |
ถูกต้อนตีตาม ฯ |
ร่าย๏ เสร็จปราบพม่ารามัญ อันดุจโรคสึงทรวง ตรัสทราบปวงทุกข์เข็ญ อันเป็นไปในด้าว ซึ่งม่านห้าวเม็งเหี้ยม เสี้ยมให้รทมกรมกรอม ลอมปอมทั่วท้องถิ่น จึ่งปิ่นเผ้าเจ้าชีพ รีบจัดสรรบันเทา ให้เบาทุกข์ทกผู้ สืบส่อทางก่อกู้ สุดแท้แต่ควร ฯ
โคลง ๔๏ ทรงธรรมรำลึกไท้ |
ธรณินทร์ |
เอกทัศขัติยนรินทร์ |
เรื่องเศร้า |
พระศพพระภูมินทร์ |
เชิญสู่ |
เมรุถวายเพลิงเจ้า |
ภพผู้บุญกษัย ฯ |
๏ หลายองค์วงษ์ราชบ้าน |
พลูหลวง |
ตกยากตรากตรำทรวง |
โศกสอื้น |
ทรงธรรมอุปถัมภ์ปวง |
ประจักษ์ |
ทุกพระองค์ทรงฟื้น |
สุขบ้างทางควร ฯ |
๏ ราษฎรข่อนแค้นขาด |
อาหาร |
โหยเหี่ยวเที่ยวขอทาน |
ทุกข์กล้ำ |
โซเซดุจเวตาล |
ตฤบเลือด |
ภัยรบภัยโรคซ้ำ |
แสบไส้ภัยหิว ฯ |
๏ ตรัศให้หาข้าวแจก |
กันกิน |
ใช้ง่ายจ่ายทรัพย์สิน |
เที่ยวซื้อ |
คนจนกล่นเกลื่อนเดิน |
ดูเทวศ |
แต่ละมื้อละมื้อ |
มากหน้ามาเนือง ฯ |
๏ วัดวาอาวาศบ้าน |
เรือนคน |
แทบมิยั้งยังตน |
อยู่ได้ |
ป่นปรักหักพังจน |
จวนหมด |
จักซ่อมจะแซมให้ |
ค่อยฟื้นคืนไฉน ฯ |
๏ เจ็บหนักจักหน่วงน้ำ |
เนตรไฉน ได้นอ |
ภัยพาธยิ่งพยาธิ์ใน |
น่าไข้ |
สังเวชประเทศไทย |
เทียมทาส |
ข่ายเขทเหตุให้ไห้ |
เหือดแห้งแรงโรย ฯ |
โคลง ๒๏ ปิ่นณรงค์ทรงขับช้าง |
ทอดพระเนตรเวียงร้าง |
อีกทั้งวังโรย ฯ |
|
๏ ทรากตึกนึกน่าแค้น |
อิฐห์หักกากปูนแม้น |
ป่าช้าแห่งความ งามแฮ ฯ |
|
๏ ปราสาทเคยผงาดฟ้า |
ยอดเยี่ยมเอี่ยมโอ่อ้า |
ฟุบเฟี้ยมเทียมธุลี ฯ |
|
๏ พระสถูปพุทธรูปล้วน |
หล่นสลายปลายด้วน |
แม่นแม้นมารทำ ฯ |
|
โคลง ๔๏ เอือมจิตอิดอกอ้า |
อึดอัด นักเอย |
เจตน์จะทำจำจัด |
จุ่งได้ |
ความคิดจะผิดพลัด |
พลาดมุ่ง หมายฤา |
ฤๅกุศลดลให้ |
เฟื่องฟื้นคืนคง ฯ |
๏ วังเวียงเพียงป่าหญ้า |
เยิงยล |
แทบบ่มีที่พล |
พักได้ |
ควบคุมประชุมคน |
คับแคบ |
เมื่อศัตรูสู่ใกล้ |
เศิกกล้ามากวน ฯ |
๏ ปราภพรบพ่ายแพ้ |
เพียงไหน |
จึ่งจะพอแก้ไข |
คิดสร้าง |
อิฐปูนก็สูญไป |
เป็นฝุ่น |
คนก็ยับทรัพย์ร้าง |
สุดรั้งดังถวิล ฯ |
๏ ความจนกล่นเกลื่อนทั้ง |
ธานี |
หากจะโอบอารี |
หล่อเลี้ยง |
จักฟื้นจะคืนดี |
โดยเลศ ใดฤๅ |
คนก็ยับทรัพย์เกลี้ยง |
กลับกู้ชูไฉน ฯ |
๏ สมบัติขัติยผู้ |
ผดุงขัณฑ์ |
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ |
คู่แคว้น |
ฉัตรตั้งตั่งไอศวรรย์ |
เสวยราชย์ |
คนก็ยับทรัพย์แร้น |
สุดหล้าหาไหน ฯ |
๏ จักซ่อมจะสร้างราช |
ธานี นี้นา |
ให้สู่คู่คืนดี |
ดั่งโน้น |
ค่ายคูประตูตี |
ต่อรบ ได้ฤๅ |
คนก็ยับทรัพย์โล้น |
ยากแล้แลเห็น ฯ |
๏ ธุรภารการก่อสร้าง |
อุตสาห์ |
เพียงจะมีมากมา |
นะนั้น |
แรงขาดปราศจากทุนกา |
ระสฤษดิ์ ได้ฤๅ |
คนก็ยับทรัพย์อั้น |
สุดเอื้อมเอือมกมล ฯ |
โคลง ๒๏ ภูธรอ่อนอุรไท้ |
ตรัสทราบภาพตกใต้ |
ต่ำต้อยร้อยปการ ฯ |
|
๏ หน่วงหนักหักจิตท้อ |
จักหย่อนยอมอ่อนข้อ |
ที่ข้องหมองใจ ไยแล ฯ |
|
๏ ผู้ยอมแพ้ย่อมแพ้ |
ผู้กระป้อกระแป้ |
ไป่รู้สัมฤทธิ์ ได้เลย ฯ |
|
โคลง ๔๏ กูเอยเคยคิดกู้ |
กรุงไกร |
สืบสิทธิ์อิศรไทย |
เทียบฟ้า |
ในฉนำกระทำไป |
สำเร็จ |
สร้างทัพขับพม่าข้า |
ศึกให้ไปหาย ฯ |
๏ ส่ำกุศลผลที่ได้ |
บำเพ็ญ มานา |
ชี้ช่วยอวยอรรถเห็น |
เหตุตั้ง |
ใช่คิดอัตตหิตเป็น |
ประโยชน์ ตนเลย |
ทวยเทพเสพย์สัตย์ทั้ง |
ถิ่นนี้มีพยาน ฯ |
๏ บุพกรรมนำเนื่องได้ |
โดยหวัง |
จนประสบผลดัง |
นี่แล้ว |
บุพกรรมจะนำยัง |
ที่มุ่ง .หมายนอ |
รังสฤษดิ์อิศรแพร้ว |
เพริศเพี้ยงเวียงอินทร์ ฯ |
๏ เกียรติ์ไทยไปปราศแล้ว |
ในขณะ นี้นา |
คงจะมีวีระ |
เริ่มกู้ |
ชายใดจะไกรกระ |
เดื่องเดช |
อาจจะเป็นตูผู้ |
เทพเจ้าเอาภาร ฯ |
๏ ทำมาก็มากแม้น |
มโนหวัง |
ท้อหทัยไยยัง |
อยู่น้อย |
รบสู้ริปูพัง |
แพ้เพิด แล้วแฮ |
ทุกข์ระทมปมด้อย |
ปุ่มด้วนควรไฉน ฯ |
โคลง ๒๏ ภูวนัยใฝ่จิตแก้ |
หทัยที่ท้อที่แท้ |
ที่ท้นจนมุม ฯ |
|
๏ รุมอุระจะสร้าง |
เวียงซึ่งรกซึ่งร้าง |
ซึ่งไร้ไอศวรรย์ ฯ |
|
๏ ตวันหับดับเดชแล้ว |
พระเสด็จสู่แท่นแก้ว |
ที่กั้งบังบรร ทมแฮ ฯ |
|
พระสุบิน
โคลง ๔๏ เทวัญสรรเสกให้ |
ฝันเห็น |
ปราสาทราชฐานเย็น |
อยู่ยั้ง |
ภาพกรุงรุ่งเรืองเป็น |
ปรกติ |
ทุกสิ่งยิ่งกว่าครั้ง |
เมื่อบ้านเมืองดี ฯ |
๏ งวยงงทรงหยุดยั้ง |
ยืนยล |
พิศยิ่งพิศวงจน |
จิตไท้ |
เวียงล่มถล่มทน |
ทุกข์ทับ |
ไฉนจึ่งดีฉนี้ได้ |
เนื่องด้วยอันใด ฯ |
๏ ดูเพลินเดินพิศพร้อม |
เพรียงไพ บูลยแฮ |
แปลกบ่มีคนใน |
ที่นั้น |
จักไถ่จะถามใคร |
บ่หอน เห็นเลย |
ทรงสกดอดอั้น |
อัดไว้ในทรวงฯ |
๏ ขณะนั้นอดีตราชเจ้า |
จอมไทย |
ผู้ผดุงกรุงไกร |
ก่อนกี้ |
เสด็จแสดงพระองค์ใน |
นิมิต นั้นนา |
เปล่งประวัจน์ชัดชี้ |
ช่องเชื้อชัยเฉลย ฯ |
๏ อ้าองค์ทรงเดชด้วย |
เดชะ |
แห่งสยามเทวะ |
แว่นฟ้า |
สัจวัจน์ประศัสติ์ประ |
เสริฐสุด |
จุ่งสฤษดิ์กฤตย์กล้า |
เกริกด้าวดาวดึงษ์ ฯ |
๏ ทรงฤทธิ์คิดสืบเส้น |
ไอศวรรย์ |
สร้างนครอมรอัน |
อมิตรคร้าม |
ที่นี่บ่ดีทัน |
เทียมที่ อื่นเลย |
จงอย่าอยู่ตูห้าม |
เหตุเอื้ออารี ฯ |
๏ อดีตราชประสาทสิ้น |
สุรศัพท์ |
พลันพระกายหายวับ |
แวบฟื้น |
หลากสุดประดุจลับ |
แลปิด |
หมดนิมิตนิทร์ฟื้น |
ใฝ่ข้อความฝัน ฯ |
โคลง ๒๏ ภูธรนอนนึกเน้น |
แนวคิดอันมิดเม้น |
ที่ไท้ใฝ่ฝัน ฯ |
|
๏ หาที่ที่อื่นสร้าง |
ดีกว่าซ่อมกรุงร้าง |
ซึ่งไร้ชัยเฉลิม ฯ |
|