แปลคำชี้แจงความในสามกรุง

น่า ๑ “ในเมื่อมีต้อดื้อ ปิดตา”

ควรจะเล่าไว้ให้ทราบกันเสียหน่อย เพื่อไม่ให้ผู้อ่านรุ่นหลังๆ เข้าใจผิด ข้าพเจ้าเริ่มแต่งสามกรุงเมื่อตาเป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง แพทย์ยังไม่ได้ช่วยให้ใช้จักษุได้ แต่แต่งจบเมื่อใช้แว่นตาได้ข้างหนึ่งแล้ว.

น่า ๑ “แต่งโคลงแต่งร่ายได้ ฤาไฉน เรานอ”

โคลงบาทนี้แสดงให้เห็นว่า เดิมตั้งใจจะแต่งหนังสือนี้เป็นลิลิต ซึ่งมีแต่โคลงกับร่าย แต่เมื่อแต่งไปได้หน่อยหนึ่งก็เปลี่ยนใจ เพราะตั้งโครงเนื้อเรื่องขึ้นไว้ใหญ่นัก แต่งร่ายท่อนยาวๆ ก็เบื่อ แต่งโคลงมากบทติดๆกันก็เบื่อ จึ่งยักกระสายไปต่างๆ

น่า ๒ “แถลงปางปวงดัสกร”

คำว่าดัสกรเป็นคำสํสกฤตแปลว่าโจร ว่าขโมย ภาษาบาลีมคธเป็นตกฺกโรหรือตักกร แปลเหมือนกับสํสกฤต แต่หนังสือไทยโดยมากใช้ดัสกรแปลว่าศัตรู.

ในที่นี้จะแปลว่ากระไรก็ตามใจผู้อ่าน ถูกความหมายของผู้แต่งทั้งสองอย่าง.

น่า ๒ “ยกเป็นกองเจารีย์”

กองเจารีย์แปลว่ากองโจร ที่ว่าพม่ายกมาปล้นตามหัวเมืองอยู่ช้านาน แลแม้เมื่อตีกรุงเก่าได้แล้วก็ยังประพฤติอย่างโจรอยู่นั้น นอกจากพระราชพงษาวดารเล่ม ๒ ยังควรอ่านเทียบในหนังสืออื่น ๆ คือพระราชวิจารณเป็นต้น.

น่า ๒ “พระราชาเอกทัศ”

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายของกรุงเก่าทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัติถวายพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชามหากษัตริย์บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศ์ เชษฐโลกานายกอุดม บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว พระนามนี้นอกจากในพระราชพงษาวดารแห่งเดียวก็ไม่เห็นใช้ในหนังสือไหน มักใช้ชื่อพระที่นั่งเป็นคำออกพระนามว่าขุนหลวงสุริยามรินทร์บ้าง ว่าพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์บ้าง ว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์บ้าง ใช้พระนามเดิมว่าพระเจ้าเอกทัศก็มาก ที่เรียกว่าขุนหลวงขี้เรื้อนก็มี ในสามกรุงนี้บางแห่งใช้ว่าสุริยามเรศ (สุริ อมร อีศ)

น่า ๒ “ดัสกรใช่ทัพกษัตร”

ทัพกษัตร์คือทัพซึ่งพระเจ้าแผ่นดินออกศึกเอง ศึกกษัตรจึ่งหมายความว่าศึกใหญ่อันเป็นสง่า เมื่อพระมหาอุปราชาหงษาวดีมารบกับพระนเรศวรคราวชนช้างก็เป็นทัพกษัตร แลเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยาตราทัพไปปราบพม่าในปักใต้ ก็เป็นทัพกษัตรอย่างเดียวกัน.

สงครามกรุงเก่าก่อนสมัยเตลงพ่ายเป็นศึกกษัตร ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น พระเจ้าหงษาลิ้นดำเป็นจอมทัพมาเอง แลคราวที่เสียกรุงในแผ่นดินพระมหินทร์ก็เสียแก่ทัพกษัตร.

แต่เมื่อไทยเสียกรุงครั้งอยุธยาวสานนั้น พระเจ้าอังวะใช้บ่าวมารบ แลพระเจ้าเอกทัศก็มิได้เสด็จออกศึกเลย.

น่า ๓ “สมัยเตลงพ่าย”

คำว่าเตลงพ่าย เป็นคำเอาอย่างชื่อลิลิตของสมเด็จพระปรมานุชิต ที่ใช้ว่าสมัยเตลงพ่ายในที่นี้หมายถึงสมัยที่กรุงศรีอยุธยาคืนสู่อิศรภาพ ด้วยอานุภาพแห่งอดีตมหาราชสองพระองค์ ซึ่งสรรเสริญพระเกียรติไว้ในโคลงตอนนี้.

พระนเรศวร เป็นมหาราชผู้ควรมีอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกพระคุณ แลในสมัยกรุงเก่าต่อจากรัชกาลของพระองค์มา ก็มีพระรูปหล่อด้วยทองสำฤทธิ์ประดิษฐานไว้ ณ โรงแสงใน แต่พระรูปนั้นสูญไปพร้อมกับอนุสาวรีย์อีกอย่างหนึ่งของพระองค์ คือกรุงศรีอยุธยาอิศระ ซึ่งอยู่มาจำเนียรกาลประมาณ ๑๘๓ ปีจึ่งเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย.

แต่อนุสาวรีย์พระนเรศวรยังมีอีกอย่างหนึ่งคือลิลิตเตลงพ่าย ซึ่งจะยืนยงไปกว่า ๑๘๓ ปี ตราบใดวรรณคดีไทยยังอยู่ ตราบนั้นอนุสาวรีย์พระนเรศวรชิ้นนั้นจะธำรงตลอดไป,

เตลง ชนเผ่าซึ่งไทยเรียกว่ามอญ ว่ารามัญ แลว่าเตลงนั้น นายอาร์. ฮัลลิเดย์ ผู้ทำดิกชันรีมอญอังกฤษ (A Mon-English Dictionary, by R. Halliday, author of “The Talaings”) กล่าวว่าเตลงเป็นคำซึ่งพม่าใช้เรียกมอญ แต่ฝรั่งรุ่นเก่าเรียกมอญว่า พีควน แปลว่าชาวกรุงพะโค เช่นใน พ.ศ. ๒๔๑๗ ดอกเตอร์แฮสเว็ลได้พิมพ์พจนานุกรมย่อขึ้นเล่มหนึ่ง เรียกว่าพจนานุกรมสั้นแห่งภาษาของชาวพะโค (A Vocabulary of the Peguan Language, by Dr. J.M. Haswell)

เมื่อข้าพเจ้าไปทางทเลจากปินังถึงย่างกุ้ง (พม่าเขียนรนกุน อ่านออกเสียงว่า หยั่นก่ง) พอเรือเทียบท่าก็มีข้าราชการฝรั่งขึ้นมารับหลายนาย นายหนึ่งคือสมุหเทศาภิบาลมณฑลพะโคผู้มีส่วนในการจัดรับรองด้วย คืนหนึ่งข้าพเจ้าได้รับเชิญไปกินอาหารเย็นที่สโมสรพะโค นึกสงสัยในเรื่องชื่อจึ่งถามว่า เหตุใดสโมสรใหญ่ของย่างกุ้งจึงชื่อสโมสรพะโค เขาตอบว่าพะโคเป็นชื่อมณฑล เมืองหลวงของมณฑลคือเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าด้วย เมืองพะโคเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลเท่านั้น.

เมืองพะโคใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ไม่ใช่เมืองใหญ่ พบฝรั่งผู้ว่าราชการเมืองกับฝรั่งอื่นๆ ประมาณ ๒๐ คน ดูเหมือนจะเป็นข้าราชการแทบทั้งนั้น ในเวลาที่ข้าพเจ้าพักอยู่ที่นั่นสองสามวัน คฤหบดีชาวเมืองมีงานรับรอง เชิญแขกเต็มบ้าน ดูเหมือนผู้มีหน้ามีตาในที่นั้นจะไปร่วมประชุมหมด ข้าพเจ้าได้จับกลุ่มกับเจ้าของบ้านแลแขกบางคน ถามเรื่องเผ่าพันธุ์ของเขา เขาว่าเขาเป็นเตลงทั้งนั้น ถามว่าเขาใช้ภาษาเตลงเป็นพื้นหรือ เขาว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดเตลง ใช้ภาษาพม่ากันหมด แต่เขาว่าในปักใต้ของประเทศพม่ายังพูดภาษาเตลงกันอยู่.

ที่เล่าเลื้อยเจื้อยมานี้ไม่เกี่ยวอะไรกับสามกรุง นอกจากคำว่าเตลง ซึ่งใช้บ้างในหนังสือนี้ แลในภาค ๑ โดยเฉพาะ.

คำว่าเตลงนี้ภาษาบาลีใช้ว่าตลังค เรียกประเทศเตลงว่าตลังครัฏฐ์ มีใช้ในมหาสมณศาสน์ถึงพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนเมื่อยังทรงพระผนวชอยู่.

น่า ๓ “เริงร่านชาญสมรสมัย สมรรถโน้น”

คำว่าสมร มีในภาคอธิบายพระนลคำฉันท์ของข้าพเจ้า ซึ่งพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แลในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการที่พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็แปลไว้อย่างเดียวกัน แต่ผู้อ่านโดยมากคงจะไม่มีพระนลคำฉันท์ แลปทานุกรมก็อาจอยู่ห่างมือ จึงแปลเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง.

คำว่าสมรที่เราใช้กันมีสองคำ ซึ่งความตรงกันข้ามคำที่ ๑ สมรแปลว่ารบ ว่าศึก ว่าสงคราม คำที่ ๒ สมรแปลว่ารัก ว่านึกถึง แลเป็นชื่อเรียกกามเทพ จึงเลยเรียกหญิงว่าสมรด้วย.

เราเขียนหนังสือไทยธรรมดาไม่มีจุดใต้ตัว ส คำว่า สฺมร กับสมร จึ่งปนกัน แต่ในความในโคลงย่อมบ่งอยู่แล้วว่าพูดถึงรักหรือรบ.

น่า ๓ “เวียงมอญนครม่านต้อง แตกสลาย”

ตรงนี้ถ้าเล่าพงษาวดารไว้เล็กน้อย ก็คงจะเข้าใจโคลงดีขึ้น ในสมัยที่ไทยสยามกับพม่ายังไม่เคยรบกันเลย แลก่อนที่รบกันครั้งแรกในแผ่นดินพระชัยราชา (พ.ศ.๒๐๘๑) นั้น ประเทศที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าพม่าแตกแยกกันเป็น ๔ รัฐ ซึ่งล้วนแต่มีกษัตร์ปกครอง คือ แปรรัฐ ๑ พะโครัฐ ๑ ตองอูรัฐ ๑ อังวะรัฐ ๑ ในตอนนั้นอังวะป้อแป้มาก.

พระเจ้าตะเบ็งเชเวตี้ได้เถลิงราชสมบัติตองอูประเทศพม่า ก่อนพระชัยราชาเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาประเทศสยามประมาณ ๔ ปี เจ้าแผ่นดินพม่าองค์นั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดตีเอาประเทศใกล้เคียงเป็นเมืองขึ้นให้หมด แลตีได้เมืองแปรในปีที่ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินนั้นแอง ต่อมาอีก ๔ ปีตะเบ็งเชเวตี้เริ่มตีพะโค ทำอยู่หลายปีจึ่งสำเร็จ แลเมื่อปราบเรียบร้อยแล้ว ก็ย้ายราชธานีจากตองอูมาตั้งอยู่ที่หงษาวดี จึ่งได้นามตามชื่อเมืองหลวงใหม่ว่าพระเจ้าหงษาวดี คนกล่าวกันว่าตะเบ็งเชฺวตี้ลิ้นดำจึ่งมีอานุภาพมาก เรียกกันว่าพระเจ้าหงษาลิ้นดำ เป็นผู้ริเริ่มมาตีกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ แต่ตีไม่ได้ในรัชกาลของตะเบ็งเชฺวตี้เอง กรุงไทยเสียแก่พม่าครั้งแรกในแผ่นดินพระเจ้าบุเรงนอง คือพระเจ้าหงษาวดีองค์ต่อมา.

พม่ากับไทยสยามกระทบกันครั้งแรก เมื่อพระเจ้าหงษาลิ้นดำตีพะโคเลยมาถึงเชียงกราน (ในมะละแหม่ง) ซึ่งในเวลานั้นขึ้นต่อสยาม พระชัยราชาทรงแขงศึก เสด็จยกทัพกษัตรไปรบ ตีพม่าแตกกลับไป จึ่งเกิดเป็นเสี้ยนหนามแก่กันมาแต่ครั้งนั้น.

เมื่อพระชัยราชาสวรรคตแล้ว แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทำเลอะเทอะอยู่ตั้งสามปี จึงถึงแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์ พระเจ้าหงษาลิ้นดำทราบข่าวยุ่งเหยิงในกรุงศรีอยุธยา ก็ยกทัพกษัตรมาตี ในเวลานั้นพระมหาจักรพรรดิครองราชสมบัติได้ประมาณ ๖ เดือนเท่านั้น กรุงไทยในขณะนั้นเห็นจะเพลียลงไปกว่าในแผ่นดินพระชัยราชา เพราะในตอนท้าวศรีสุดาจันทร์แลขุนวรวงษาชิราช ได้ประหารชีวิตแลลอบฆ่าคนสำคัญ ๆ ลงไปเสียมาก ปินโตว่าไม่มีขุนนางเก่าเหลือเลย (แต่ปินโตว่ากระไรต้องหารมากๆ) ครั้งพระมหาจักรพรรดินั้น ฝ่ายไทยเสียพระศรีสุริโยทัยแต่ไม่เสียกรุง ชรอยสามปีของท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงษาธิราชจะไม่นานพอที่จะผลาญกำลังของประเทศลงไปให้หมดสิ้นได้.

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองในแผ่นดินพระมหินทร์แลไทยได้กลับคืนสู่อิศรภาพในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา จนพระนเรศวรชนะศึกชนช้างแล้วไทยก็กลับเป็นฝ่ายรุก พระนเรศวรทรงยาตราทัพไปตีหงษาวดีได้ พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงหนีไปอาไศรยเมืองตองอู ไปถูกวางยาพิษปลงพระชนม์ที่นั่น ตั้งแต่นั้นมาหงษาวดีก็มิได้เป็นเมืองหลวงของพม่าอีกเลย.

โคลงในบทนี้ที่ว่า “เวียงมอญนครม่านต้อง แตกสลาย” นั้น ก็เพราะหงษาวดีเป็นเมืองมอญ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่า อนึ่งเมื่อหงษาวดีแตกแล้วก็มิได้เรียกเจ้าแผ่นดินพม่าว่าพระเจ้าหงษาวดีอีกเลย.

น่าจะกล่าวแถมในที่นี้สักหน่อยว่า เวียงกับวังนั้นก็คำเดียวกัน แต่เรามักใช้เวียงแปลว่าเมือง ใช้วังแปลว่าที่อยู่ของพระราชาหรือของเจ้า ในสามกรุงดูเหมือนจะใช้เวียงแปลว่าเมืองทุกแห่ง แลที่ใช้วังแลเวียงด้วยกันก็มี คือโคลงในน่า ๓๙ ว่า “วังทลายเวียงถล่มเที้ยน ถูกสลา ตันนอ.”

น่า ๓ “ปกราษฎร์ปราศภัยแผ้ว ผ่องเพี้ยงเวียงสวรรค์”

คำสํสกฤตว่า ราษฺฎร แปลว่าพลเมืองก็ได้ แปลว่าแว่นแคว้นก็ได้ หนังสือไทยแต่ก่อนใช้ราษฎรแปลว่าพลเมือง ถ้าใช้แปลว่าแว่นแคว้นก็เปลี่ยนตัวสกดเป็น ราษฐ์ เพื่อไม่ให้ปนกันยุ่ง ราษฐ์ก็คือรัฐนันเอง ในสามกรุงนี้ถ้าที่ไหนหมายความว่าพลเมืองก็ใช้ราษฎร ที่ไหนหมายความว่าแว่นแคว้นก็ใช้ราษฐ์ เช่นโคลงบาทหนึ่งว่า “ทวยราษฎร์ ปราศสำเนียง ในราษฐ์” เป็นต้น.

น่า ๓ “เอกาทศรถน้อง นเรศร”

พระนามพระราชาผู้เป็นน้องพระนเรศวรนี้ หนังสือไทยรุ่นเก่าเขียนเอกาทศรถบ้าง เขียนเอกาทศรฐบ้าง ถ สกด แปลว่ารถ ๑๑ คัน ฐ สกด แปลว่า ๑๑ แว่นแคว้น.

พระราชพงษาวดารฉบับหมอบรัดเล พิมพ์ จ.ศ. ๑๒๒๕ เล่ม ๑ น่า ๑๐ ๑๑ ๑๙ ใช้ ถ สกด แต่ในเล่มเดียวกันน่า ๑๐๙ เปลี่ยนไปเป็น ฐ สกด หนังสือที่หอพระสมุดพิมพ์ต่อ ๆ มาก็ใช้ ถ บ้าง ฐ บ้าง เห็นได้ในประชุมพงษาวดารภาค ๑ แลพระราชพงษาวดารที่เรียกฉบับพระราชหัตถ์เลขา เป็นต้น.

ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระจอมเกล้า ฯ ยังทรงพระผนวชอยู่นั้น ได้ทรงเขียนมหาสมณศาส์นไปถึงพระสงฆ์ในลังกาทวีป มึความตอนหนึ่ง ซึ่งทรงกล่าวย้อนไปในพระราชพงษาวดารดังนี้.

“โส มหาจกฺวตฺติโน ธีตุสามิกาย ชามาตา หุตฺวา นริสฺสฺจ เอกาทสรถฺจ....” (พระจอมเกล้า ฯ ทรงใช้ ถ สกด)

มีชื่อในวรรณคดีสํสกฤตชื่อหนึ่ง ซึ่งควรจะนำมาเทียบกับพระนามพระอนุชาของพระนเรศวร คือ ทศรถ ชนกของพระราม (แปลว่าสิบรถ) นามที่แปลว่าสิบรถนี้ เคยได้ฟังอธิบายเป็นสองนัย นัยหนึ่งว่าเป็นทหารรถมีฝีมือเข้มแขง ต้องมีรถถึงสิบคันจึ่งจะพอใช้ อีกนัยหนึ่งว่าอาจสู้รถอื่นได้สิบคัน.

มีคำในวรรณคดีสํสกฤตอีกคำหนึ่งว่ามหารถ แปลว่านักรบใหญ่ผู้สามารถสู้ทหารธนูได้ถึง ๑,๐๐๐ คน (อัปเต น่า ๘๕๔)

สามกรุงเขียนพระนามเอกาทศรถอย่างที่พระจอมเกล้าฯ ทรงเขียนในมหาสมณศาส์น.

น่า ๓ “เกียรติ์ปกาศราชสโหทร เทิดกว้าง”

สโหทร แล โสทร แปลว่าร่วมอุทร คือพี่น้องแม่เดียวกัน.

น่า ๔ “เชษฐอรินทรม์ปิ่นภพผู้ พิริยะ ยิ่งแฮ”

อรินฺทม แปลว่าผู้ข่มอริ หรือผู้ทรมานศัตรู มอเนียร์วิลเลียมส์แปลเป็นอังกฤษว่า Couqueror of his foe (Nal. Voc.)

น่า ๔ “ขนิษฐนาถประศาสน์รัฐแผ้ว แผ่ผา สุกเอย”

คำว่าประศาสน์ในที่นี้ใช้ตัวสกดอย่างที่สมเด็จพระมหาสมณ เจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงใช้ว่า รัฐประศาสน์ ในพระเทศนามงคลสูตรถวายในงานพระชนม์พรรษาทุกๆปี แปลตามปทานุกรมว่าการปกครองบ้านเมือง.

น่า ๕ “คุกคามโดยอหํภาพ”

อหํภาพแปลตามดิกชันรีสํสกฤตอังกฤษว่า pride, selfishness, megalomania คือความหยิ่ง ความยังตัวเพื่อตน ความคลั่งเป็นใหญ่.

น่า ๕ “เครื่องขุ่นเคืองหนามหน่าง”

หน่างแปลว่าอวน ว่าข่าย เป็นต้น.

น่า ๖ “เกิดเหตุราวมิคสัญญี”

มิคสัญญีคือเวลาที่มนุษย์เห็นกันเป็นสัตว์ร้าย ฆ่าฟันกันตาย.

น่า ๑๐ “หงษาชิหฺวาดำ คือพม่า ดอกเนอ”

ชิหฺวาเป็นคำสํสกฤตเหมือนกับชิวหาคือลิ้น พระเจ้าหงษาลิ้นดำคือตะเบ็งเชฺวตี้ผู้ริเริ่มสงครามพม่ากับไทย ดังกล่าวมาแล้ว

น่า ๑๑ “สมิงสุกี้มีเดชด้วย เป็นไทย ก่อนกมัง”

ในที่นี้อยากจะกล่าวถึง คำสร้อยโคลง สักหน่อย เพราะว่าถ้าพูดตามหลักที่นิยมกันมาแต่ก่อน แต่บัดนี้ผันแปรไป ก็เป็นสิ่งน่าสังเกตอยู่

ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ น่า ๑๔๗ ปีกุญ นพศก ๑๒๔๙ มีผู้เขียนว่าด้วย “คำสร้อยโคลง” ชี้แจงไว้ดังนี้

“คำสำหรับใช้เป็นปลายสร้อยโคลงทั้งปวง ข้าพเจ้าพิจารณาดูเห็นใช้คำต่างกันอยู่แต่ในคำเหล่านี้ คือ พ่อ แม่ พี่ เลย เทอญ นา นอ บารนี รา ฤา แล อา ฮา เอย เฮย แฮ ก็ดี รวม ๑๗ คำ คำสร้อยโคลงเฉพาะใช้ได้แต่คำใดคำหนึ่งใน ๑๗ คำนี้สืบมาแต่โบราณ เว้นแต่ที่บางคนไปยักใช้ขึ้นใหม่ตามอัตโนมัติ ดังเช่นว่า ฮอ ในโคลงฤาษีดัดตน ซึ่งเจ้าของประสงค์จะให้ดูเป็นเจ๊กเข้าเท่านั้น ผู้ใดแต่งโคลงถ้าเอา คำความ ไปใช้เป็นคำสร้อยก็มักถูกติเตียน จนเป็นชื่อเรียกโคลงชนิดนั้นว่าโคลง เจตะนัง (จำไม่ได้ว่าคำนี้มูลเดิมเกิดมาแต่อะไร)”

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ผู้ที่เขียนไว้ในวชิรญาณวิเศษตามข้างบนนี้คือใคร เพราะไม่ได้ลงชื่อไว้ แต่เห็นได้ว่าเป็นผู้มีความรู้แลช่างสังเกต ได้ชี้แจงถึงสามคอลัมน์ว่า คำสร้อยโคลงคำไหนใช้อย่างไร แต่จะนำมาทั้งหมดในที่นี้ก็ยาวนัก ถ้าท่านใคร่อ่านก็จงพลิกดูในวชิรญาณวิเศษเถิด ที่ข้าพเจ้านำมาแสดงหน่อยหนึ่งในที่นี้ก็เพื่อจะชี้ว่า โคลงของข้าพเจ้าบาทข้างบนนี้ที่ใช้คำสร้อยว่า กมัง นั้น เป็น “เจตนัง” แท้ เพราะนอกจากที่ไม่มีในจำนวน ๑๗ คำนั้นแล้ว ยังเป็น “คำความ” ด้วย คำเจตนังอื่นๆ ยังมีในสามกรุงอิก เช่น เนอ แล เวย เป็นต้น คำเหล่านี้ถ้าจะเปลี่ยนเป็นคำอื่นๆก็ไม่ยาก แล้วแต่ใจชอบของผู้แต่ง.

ข้าพเจ้าได้ลองเปิดดูพระลอตลอดทั้งเล่ม ใช้คำสร้อยโคลง ๘๓ คำ เตลงพ่ายใช้ ๘ คำ นิราศนรินทร์ใช้ ๑๐ คำ ไม่มีเจตนังเลย ในรัชกาลที่ ๖ แลที่ ๗ กวีที่ควรยกย่องว่าเป็นกวีใหญ่บางท่านใช้เจตนังบ่อยๆ ข้าพเจ้าจึ่งได้กล่าวในเบื้องต้นว่าหลักเดิมในเรื่องนี้เปลี่ยนไป แลที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า กมัง ในโคลงบาทนี้ ก็นับว่าเพิ่มความผันแปรเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง.

น่า ๑๑ “เจ็ดลวิตร์สถิตใน ถิ่นท้อง”

ลวิตร์แปลว่าเคียว ที่ว่ามอญมีเคียวอยู่ในท้องเจ็ดเล่มนั้น ไม่ใช่คำกล่าวของไทย เป็นคำพม่าว่ามอญ มังรายกยอฉวาเป็นผู้ว่า ดูหนังสือราชาธิราชซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นหัวน่าชำระคำแปลถวายพระพุทธยอดฟ้าตามพระราชโองการ (น่า ๔๑๕ ฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ร.ศ. ๑๒๑)

น่า ๑๑ “เสตแลสามตามสี แต่งแสร้ง”

เสตแปลว่าขาว สามแปลว่าดำ.

เห็นจะไม่ต้องเตือนผู้อ่านว่า คำว่า แล ต้องอ่านเป็นคำเบาจึงจะไม่ผิดเอก

น่า ๑๒ “ศรีสนม”

ตอนศรีสนมของพระเจ้าเอกทัศในสามกรุงนี้ เป็นเรื่องแซกทั้งสิ้น ต่อเมื่อไปถึงตอนที่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงใกล้พระราชวัง จึ่งกลับเข้ารอยพงษาวดารใหม่.

ศรีสนมในหนังสือนี้เป็นตัวสมมติ ไม่ใช่นางใดที่มีชื่อในพงษาวดารหรือในหนังสือไหน นิราศก็แต่งใหม่หมด ไม่ใช่ขุนหลวงสุริยามรินทร์ทรงแต่งไว้ เป็นแต่เพียงสมมติว่าทรงแต่งเท่านั้น ผู้อ่านอย่าพาซื่อหลงเชื่อไปว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของปัจฉิมกษัตร์ครองพระนครศรีอยุธยา.

น่า ๑๒ “นวลแน่งแต่งแง่พริ้ง เพราลักษณ์”

คำว่าแต่งแง่ไม่ใคร่พบในหนังสือรุ่นใหม่ๆ น่ากลัวจะไม่เข้าใจกันโดยมาก จึ่งใคร่นำตัวอย่างในหนังสือเก่าๆมาแสดงให้เห็นความหมายแห่งคำนั้น.

รัฐบาลตั้งกรรมการทำดิกชันรีไทยมานานแล้ว แต่เป็นงานใหญ่ ซึ่งกว่าจะทำเสร็จเป็นฉบับพิมพ์ออกมาก็เห็นจะอีกหลายปี เราท่านทั้งหลายคงจะยังต้องใช้ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการพิมพ์ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๗๐) กันไปอีกนาน ถ้าเบิดตำรานั้น น่า ๑๕๙ จะพบคำว่าแง่ แปลว่า มุม เหลี่ยม ชั้นเชิง อุบาย แยบคาย เป็นคำแปลถูกทุกคำ แต่แปลไว้ไม่สิ้นเชิง ไม่มีคำแปลที่เข้ากันได้กับ แต่งแง่ ตามตัวอย่างหนังสือเก่าๆที่นำมาแสดงต่อไปนี้

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ร่ายในเตลงพ่ายตอนที่ขึ้นต้นว่า “ปวงคเชนทรพยุหาบาตร์” (น่า ๒๖) มีในน่าต่อไปว่า “ล้วนคชบ้าบ่มมัน สรรพเครื่องคชศึก ดูอธึกเถือกเถกอง พลล้อมเชองกุญชร สวมอากรณ์แต่ง แผ่อาตม์โอ่โอฬาร ฯลฯ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถอยหลังไปรัชกาลที่ ๒ พระราชนิพนธ์บทลครอิเหนาตอนแห่ศพเมืองหมันหยามีว่า “พวกเมียขุนนางต่างแต่งแง่ ไปคอยดูอยู่ที่แคร่น่าโรงโขน”

สมัยกรุงศรีอยุธยา มหาชาติคำหลวงกัณฑ์ทศพร (น่า ๓) มีว่า “อันว่าพระสากยราชทงงหลาย ก็ใช้เด็กชายชาวเมืองหมู่บ่าว แลเด็กหญิงถ่าวชาววยงก็ดี อันกันมยงทักแท่ ให้แต่งแง่ดูงาม ตามถนนไปเป็นอาทิ แล ฯ”

สมัยกรุงศรีอยุธยา พระลอมีแต่งแง่ประมาณ ๑๐ แห่ง นำมาให้ดูเพียง ๒ แห่งดังนี้

พระลอน่า ๑๕๒ “แต่งแง่แผ่ตนถ้า สองพระธิดาจอมราช”

พระลอน่า ๒๒๔ ตอนชนนีของนางเพื่อนนางแพงกอดศพธิดาร้องไห้กลิ้งเกลือกพรรณนา “มิแต่งแง่ให้แม่ชม มิหวีผมให้แม่เชย มิเงยหน้าให้แม่จูบ”

สมัยกรงสุโขทัย ศิลาจารึกวัดตรีชุมมีคำว่า “แต่งแง่ลูกสาวสองค่นใสทองปลายแขน”

ศิลาจารึกแผ่นเดียวกันอีกแห่งหนึ่งมีว่า “แตงแง่เลงดู มีรูปงามแก่ตา โอยทานใหแก่ท่านผู้มาข่...”

(ในภาคอธิบายแห่งสมุดประชุมศิลาจารึกภาค ๑ มีแปลแต่งแง่ไว้ว่าแต่งตัว)

ข้าพเจ้ากังวลคำว่าแง่จนเก็บตัวอย่างที่ใช้ในหนังสือเก่าหลายรุ่นมาแสดงไว้ดังข้างบนนี้ ก็เพราะย้อนไปนึกถึงปาฐกถาเรื่องนิราศนรินทร์ ซึ่งข้าพเจ้าให้ที่สามัคยาจารย์สมาคมกว่าสิบปีมาแล้ว ครั้งนั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำว่าแผ่แง่ในโคลงที่ขึ้นบาทต้นว่า “ชาวแพแผ่แง่ค้า ขายของ” แต่มาพิจารณาในบัดนี้ ถ้าแง่แปลว่าตัวไซร้ คำว่า แต่งแง่แผ่ตน ในพระลอ แล แต่งแง่แผ่อาตม์ ในเตลงพ่าย ก็แปลว่าแต่งตัวแสดงตน แล แผ่แง่ ในนิราศนรินทร์ก็อย่างเดียวกับแผ่ตนในพระลอ แลแผ่อาตม์ในเตลงพ่ายนั้นเอง.

น่า๑๓ “ย่างยาตร์บ่ายบาทเมื้อ ม่งไท้มณเฑียร”

คำว่าเมื้อแปลว่ากลับ แต่เดี๋ยวนี้มักใช้แปลว่าไป หนังสือ “คำฤษฎี” แปลเมื้อว่ากลับ แต่แถมวา “นักรู้ที่ใช้เมื้อแปลว่าไปก็มี”

ในสามกรุงนี้ใช้เมื้อแปลว่าไปอย่าง “นักรู้” โดยมาก แต่บางแห่งก็ใช้แปลว่ากลับตามความหมายเดิม.

น่า๑๓ “สมเด็จสุริยามรินทร์ เลื่องหล้า”

พระธินั่งสุริยามรินทร์เป็นคำใช้เรียกแทนพระนามพระเจ้าเอกทัศ ดังได้ชี้แจงไว้ในเบื้องต้นนั้นแล้ว.

น่า ๑๓ “นงลักษณ์ภักตร์เพียงอินทุ์ เอมจิต”

อินทุแปลว่าจันทร์ แต่ปทานุกรมเป็นหนังสือมีประโยชน์นัก แต่บางทีก็ผิดบ้าง ในที่นี้จำต้องบอกไว้ว่าอินทุคือพระจันทร์ มิฉนั้นถ้าผู้อ่านเข้าใจว่าพระอินทร์ก็จะพิศวงว่า เหตุไฉนจึงเทียบหน้านางกับพระอินทร์ ซึ่งถ้านึกถึงเรื่องที่ถูกฤษีสาปจนมีรอยทั่วตัวก็ทุเรศมาก.

น่า ๑๓ “เจ้าอยุธย์สุดสวาดิเจ้า จอมสาว นี้นา”

นามกรุงว่าอยุธยาแต่ก่อนเคยเขียนอยุธยา ถ้าใช้ว่าอยุทธย์เช่นในโคลงบาทนี้ก็มีตัวการันต์ซ้อน ๒ ตัว ดูยาวนัก จึงขอตัดตัว ท เสียตัวหนึ่ง แลตัดตลอดเล่ม.

น่า ๑๔ “ยั่วให้เจรจา รักแล ฯ”

ภาษิตฝรั่งมีว่า “Talking of love is making it”

น่า ๑๖ “พักผ่อนหย่อนกังวล เวี่ยต้อง”

เวี่ยในที่นี้แปลว่าคล้อง

น่า ๑๖ “สดับประเลงเพลงร้อง ซึ่งข้าขับถวาย ฯ”

เชกสเปียร์ว่าไว้ในบทลคร “คืนที่สิบสอง” ว่า “Music be the food of love.”

น่า ๑๖ “สู่สวรรค์กับข้าปักษาทิตย์”

ที่เรียกพญาครุธว่าปักษาทิตย์คืออาทิตย์ปีกนี้ แม้พญานกตัวนั้นจะมิใช่เผ่าพันธ์ของนางอทิติก็จริง แต่อ้างได้ตามหลักในมหาภารตว่า พญาครุธนั้นสงเคราะห์เข้าเป็นเทพดาจำพวกอาทิตย์ด้วย (The MBh 1666 2603)

น่า ๑๖ “สิงสถิตเป็นถนิมสิมพลี”

สิมพลีคือต้นงิ้วซึ่งเป็นที่อยู่ของพญาครุธ ต้นงิ้วมีสองหรือสามชนิด ชนิดที่เรียกสิมพลีมีปุยเหมือนสำลี องกฤษเรียก silk cotton แปลว่าฝ่ายไหม.

น่า ๑๗ “๏ คำขับศัพท์ใช้ว่า เยาวมาลย์ นั้นเนอ
ไปเฉียดพงษาวดาร เด็จกล้า
ควรขับศัพท์สังวาลย์ เวียนเวี่ย
ธรรมธิเบศร์พี่ข้า แต่งเกี้ยวกากี ฯ”

โคลงบทนี้เป็นปฤษณาแก่ผู้ไม่เคยอ่านพงษาวดารหรืออ่านแล้วไม่ได้จำไว้ จึงน่าจะแปลไว้สักหน่อย วรรค ๖ แห่งคำขับของศรีสนมว่า “มั่นสมัคเยาวมาลย์สมานจิต” มีคำ เยาวมาลย์ ที่ถูกท้วงว่าควรแก้เป็น สังวาลย์ จึ่งจะชอบ.

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ พระเชษฐาของขุนหลวงสุริยามรินทร์ ได้เป็นกรมพระราชวังบวร คือตำแหน่งรัชทายาทของขุนหลวงบรมโกษฐ์ แต่ลอบลักเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระชายาองค์หนึ่งของพระบิดา ครั้นความลับแพร่งพรายออกมาจนทราบถึงขุนหลวงบรมโกษฐ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนจนสิ้นชีพไปทั้งสององค์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เอาเรื่องกากี (นิทานชาดก) มาแต่งเป็นกาพย์กับโคลง ดังที่รู้จักกันอยู่โดยมากแล้ว.

น่า ๑๗ “นางในหทัยดุจ เดียวหมด”

โคลงบาทนี้ถ้าแยกคำไม่ถูกก็เสียความ ต้องแยกว่า นางใน หทัย ดุจ เดียว หมด (แปลว่าหทัยของนางในทั้งหลายเหมือนกันหมด)

เห็นจะควรแปลไว้เสียด้วยว่า คำว่า นางใน เป็นคำเรียกสตรีในราชนิเวศน์ คือเจ้าจอมหม่อมห้ามหรือพระสนมกำนัลของพระเจ้าแผ่นดิน.

น่า ๑๙ “พระธินั่งศรีสมรรถชัย เชิดก้ำ”

เรือศรีสมรรถชัยกับเรือไกรสรมุขเป็นเรือพระที่นั่งสองลำคู่กัน มีมาแต่ครั้งกรุงเก่าช้านาน เมื่อลำเก่าผุพังไปก็สร้างใหม่ใช้ชื่อเก่า จึงมีเรือชื่อนั้นเสมอ.

สมัยกรุงเก่ามีพิธีแข่งเรือในเดือน ๑๑ คือน่าน้ำ มีงานตลอดวัน ดูเป็นพิธีใหญ่ “มีโหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำมโหรธึก อินทเภรี ดนตรี ตอนเช้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระมาลาสุกหร่ำสภักชมภู พระอรรคมเหษีทรงพระสุพรรณมาลา ฯ” เข้าใจว่าเสด็จลงตำหนักท่าน้ำทั้งสามเวลา ในลำน้ำคงจะเอิกเกริกคับคั่งด้วยเรือข้าราชการแลราษฎร มีแข่งเรือหลายคู่.

แต่การแข่งเรือเที่ยวสำคัญที่เป็นพระราชพิธีในวันนั้นก็คือ การแข่งเรือศรีสมรรถชัยกับเรือไกรสรมุข เรือศรีสมรรถชัยเป็นเรือพระราชา เรือไกรสรมุขเป็นเรือพระอรรคมเหษี แข่งกันเพื่อเสี่ยงทายให้รู้ความร้อนเย็นของบ้านเมือง ถ้าเรือพระอรรคมเหษีชนะ ทำนายว่า “ข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชา” ถ้าเรือพระราชาชนะทำนายว่า “จะมียุค”

พิธีแข่งเรือพระที่นั่งประจำปีนี้ มีโคลงครั้งกรุงเก่าบทหนึ่ง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นฝีปากศรีปราชญ์ ดังนี้

๏ โคลงสองธกล่าวอ้าง หญิงชาย
คือสมรรถชัยพาย เฟื่องฟื้น
สรมุขวิ่งวางสาย ชลเชี่ยว
สองอาจแขงขมังขึ้น แข่งให้กันเสมอ ฯ”

สังเกตใจความในโคลงบทนี้ ทำให้นึกว่าการแข่งเรือเห็นจะเสมอกันทุกปี เพราะถ้าเรือพระอรรคมเหษีแพ้ ราษฎรก็จะหวั่นอกตกใจเกรง “จะมียุค” อาจเป็นเหตุให้ว้าวุ่นกันไปได้ ถ้าเรือพระอรรคมเหษีชนะ แลถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยเกเร ก็อาจทรงพระพิโรธ เป็นเรื่องยุ่งกันอีกประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าการเสี่ยงทายได้ความว่า ข้าวจะเหลือเกลือจะอิ่มสุขเกษมเปรมประชา แต่ภายหลังไม่เป็นไปเช่นกล่าวไซร้ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งการเสี่ยงทายก็จะเสื่อม เพราะฉนั้นให้เป็นกลางๆ คือไม่แพ้ชนะกันทุกปีเห็นจะดีกว่า.

น่า ๒๑ “พระคุณบุณยโศลกแปล้ ปราศเปรียบ”

คำว่า บุณยโศลก เป็นคำสํสกฤต แปลเป็นอังกฤษว่า celebrated in sacred songs คือบุคคลผู้ได้มีกวีแต่งคาถาบุญเป็นลำนำสวดสรรเสริญแล้ว เป็นคำเรียกพระราชาผู้ทรงนามเลื่องลือในอินเดียบุราณ คือพระนล แลพระยุธิษฐิรเป็นต้น.

น่า ๒๔ “เจ้าเป็นชายชาญสกาบาศกะ”

บาศก คือลูกเต๋า หรือทีเรียกทับศัพท์ว่าลูกบาศก์.

น่า ๒๔ “ถือว่าดีดูดู๋มาดูหมิ่น”

กลอนขับของศรีสนมตอนนี้ เลียนกาพย์เพลงยาวของสตรีครั้งกรุงเก่าคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครทราบชื่อ แต่ฝีปากดีท่องจำกันได้อยู่จนบัดนี้ ข้าพเจ้านำมาไว้ตามที่ข้าพเจ้าจำได้ดังต่อไปนี้

๏ ยลสารอักษรแสดง สดับเดือดระคายคำ
คิด ๆ บ่เกรงกรรม จะเพิดพ้อให้สาสม ฯ
๏ ดูดู๋มาดูหมิ่น ชล่าลิ้นเฉลยลม
น้ำคำดังกฤชคม สักแสนคดที่รำพรรณ ฯ
๏ เดือนดาวแผ่นดินดอน ชโลทรพนาวัน
ยังรู้ประมาณคัณ นโยชน์นับบ่ยากใจ ฯ
๏ จิตชายในสากล สุดจะยลจะหยั่งไกล
ดังผลเสดาไพร รศหวานบ่ห่อนเป็น ฯ
๏ ยากไร้ประสงค์ทรัพย์ เที่ยวเซอะซบบ่คิดเห็น
แม้สมดังจิตเจร จาออกทนงองค์ ฯ
๏ เราไซร์มิใช่เยาว์ ย่อมรักเผ่าสงวนพงษ์
ใช่กาสกุลหงษ์ บ่เกลือกตมให้มัวหมอง ฯ

กาพย์เพลงยาวข้างบนนี้ เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าท่องจำได้แทบทุกคน แต่เมื่อขอให้จดมาให้ก็เพี้ยนกันไกล ๆ บางคนจดคำตอบของชายมาให้ด้วย คำตอบของชายนั้นฝีปากก็พอทัดเทียมกัน จนบางคนเห็นว่าคนๆ เดียวกันแต่งทั้งสองฝ่าย แต่ข้าพเจ้าเห็นผีปากหญิงดีกว่า ในที่นี้จะคัดมาไว้หมดก็มากนัก ถ้าใครอยากอ่านให้ตลอดก็จงดูหนังสือวชิรญาณวิเศษ (สัปดาหะ) เล่ม ๓ น่า ๑๖๓ แลน่า ๒๐๔ ซึ่งเพี้ยงกันกับที่เพื่อนข้าพเจ้าจดมาให้หลายแห่ง ข้าพเจ้าว่าที่ข้าพเจ้าจำได้นี้ไพเราะกว่าอย่างอื่น.

เมื่อข้าพเจ้าพูดกับเพื่อนชายคนหนึ่งถึงเรื่องกาพย์เพลงยาวของกุลสตรีครั้งกรุงเก่าผู้เลื่องเกียรติ์แต่ไม่ลือนามคนนั้น เขาก็ว่า ถ้าพบสตรีผู้แต่งกาพย์นี้ เขาก็จะต้องรีบหนีออกให้ห่าง ไม่กล้าสู้หน้า เพราะกลัวฝีปาก แต่งสู้แกไม่ไหว.

ที่เขาเล่าเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องก่อนเกิดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่เล่า ไม่เกี่ยวกับสามกรุง แต่เป็นเรื่องขบขันดีก็นำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้.

เรื่องนั้นว่า ในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายต่างกรมพระองค์หนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นหญิงสาวทรงรูปลักษณ์เป็นที่ต้องพระหฤทัย จึ่งทรงแต่งเพลงยาวไปเกี้ยว ไม่ทรงทราบว่า เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้าฯ) ทรงติดพันกับแม่คนนั้นอยู่แล้ว ฝ่ายแม่สวยเมื่อได้รับเพลงยาวของเจ้าต่างกรม ก็ส่งถวายเจ้าฟ้าน้อยทอดพระเนตร เวลานั้นสุนทรภู่พะพิงอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จึ่งทรงใช้ให้แต่งเพลงยาวตอบเจ้าต่างกรมเหมือนว่าแม่สวยแต่งเอง ครั้นแม่สวยได้รับร่างของสุนทรภู่ก็คัดส่งไปถวายเจ้าต่างกรม เจ้าต่างกรมได้รับก็เห็นจะทรงยินดี เพราะถ้าหญิงไม่เล่นด้วยก็คงไม่ตอบเพลงยาว แต่ครั้นทรงเปิดผนึกออกอ่าน ก็พบคารมกลอนเฉียบแหลมเผ็ดร้อนที่สุด เลยทรงครั่นคร้ามไม่กล้าพยายามกับแม่สวยคนนั้นต่อไป.

สุนทรภู่เปรื่องในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๓ เกรงพระราชอาญา หนีเข้าวัดบวชเป็นภิกษุอยู่คราวหนึ่ง เมื่อสึกแล้วไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งเวลานั้นประทัยอยู่ที่พระราชวังเดิม ที่หอนั่งหลังใหญ่ของทวดข้าพเจ้า ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงเจ้าฟ้าน้อยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ มีฝาเฟี้ยมจีนกั้นที่เฉลียงด้านกว้างเป็นห้องๆ หนึ่ง ซึ่งญาติของเข้าพเจ้าที่บ้านนั้นบอกว่าเป็นห้องสุนทรภู่ แลนายพัดบุตรสุนทรภู่อยู่ต่อมา.

เรื่อสุนทรภู่อยู่กับพระปิ่นเกล้าฯ นี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นในหนังสือไหน จึงเขียนไว้ในหนังสือนี้.

สุนทรภู่น่าจะอยู่ในสวรรค์ชั้นกวี เว้นแต่สุราจะตัดสิทธิไม่ให้ไปสุรโลก.

น่า ๒๔ “สกุลหงษ์ใช่กาผกากัญจน์”

คำขับของศรีสนมทีว่า นางกากียกยอตนเองว่าเกิดในสกุลหงษ์ ไม่ใช่กานี้ เป็นแต่เพียงจะเลียนคำของกุลสตรีครั้งกรุงเก่าผู้เลืองชื่อแต่ไม่ลือนาม เป็นการยกย่องนางกากีเกินชื่อ เพราะคำว่ากากีก็แปลว่ากาตัวเมียนั่นเอง.

น่า ๒๕ “เจ้าวิมานศาลฺมลินยินสนอง”

ศาลฺมลิน เป็นคำ สํสกฤต แปลว่า ต้นงิ้ว ฝ้าย ไหม คือสิมพลี.

น่า ๒๖ “จะพาน้องถาบถาปักษาไศรย”

ปักษาไศรยคืออาไศรยปีก ในที่นี้หมายความว่าใช้ปีกบินไป.

น่า ๒๖ “ชาริณีนางงิ้ว เงื่อนนั้นหรรษา”

ชาริณีแปลว่าหญิงมีชู้ นางงิ้วคือนางแห่งต้นงิ้ว ไม่ใช่นางลครจีน.

น่า๒๘ “๏ เชิญดูตูค่าเหล้น โคลงโลด โผนเทอญ
ยกค่อยอประโยชน์ เค่าเหยี้ยง
เอกโทษท่อยโทโทษ เทียบใฮ่ เห็นฮา
แปรแซร่งแปลงถูกเถี้ยง ท่วนถี้ดีแสดง ฯ”

โคลงบทนี้เอกโทษโทโทษทั้งบท คำเอกเป็นเอกโทษทั้งเจ็ดคำ คำโทเป็นโทโทษทั้งสี่คำ โคลงทั้งบทไม่มีคำเอกหรือโทที่ไม่เป็นโทษเลย.

ที่เรียกว่าเอกโทษโทโทษนี้ ควรชี้แจงสักหน่อยว่าย่อมเป็นไปตามเวลาอย่างหนึ่ง ตามความเห็นส่วนตัวบุคคลอย่างหนึ่ง.

ที่ว่าตามเวลาคือความนิยมในสมัยหนึ่ง ๆ ซึ่งเมื่อนานเข้าก็เปลี่ยนไป ครั้งกรุงเก่าดูเหมือนจะเคร่งน้อยกว่ากรุงเทพมหานคร แม้สมัยกรุงเทพมหานครด้วยกันก็ดูเหมือนเดี๋ยวนี้จะเคร่งกว่ารัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ข้าพเจ้าลองสอบถอยหลังไปเพียงเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์แลนรินทร์อิน เห็นสมัยเก่าหลวมกว่า ใช้คำเอกโทษโทโทษซึ่งรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช้ เป็นต้น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเขียนว่า

“๏ เครื่องสูงเคียงขู้เรียบ เรียงไสว (คู่)
เขนพระขรรค์เดิรใน รวางเขรื้อง” (เครื่อง)
“๏ เห็นฝ้ายแดงดอกต้น โกงเกง
คนึงพ่าสีแดงเอง อีกเหล้า (ผ้า เล่า)
น้องห่มอ่าโถงเถง นวยนาด
ติดขลิบใหญ่ไหมเข้า คั่นผุ้งแกมทองฯ” (พุ่ง)

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงใช้คำโทษหลายคำ ซึ่งไม่พบในนิราศนรินทร์ เช่น คึ่น (ขึ้น) ผุ้ม (พุ่ม) เป็นต้น คงจะเป็นด้วยความนิยมในแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ กับในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าต่างกัน.

ส่วนนรินทร์อินนั้นเล่า ก็ใช้คำเอกคำโทหลายคำ ซึ่งในปัจจุบันเราถือว่าเป็นเอกโทษโทโทษ เช่น

“เหียนฤหายหอบแหน้น อกค้างคายคืน ฯ” (แน่น)
“ภุชเคนทรสำราญ แหล่งเหล้น” (เล่น)
“พรายมณีเมขลนาง ล่อไหล้” (ไล่)

ส่วนที่กล่าวมาข้างบนว่า แล้วแต่ความเห็นบุคคลอีกชั้นหนึ่งนั้น ยกตัวอย่างคำว่า ฟ่าย ฝ้าย ซึ่งตามปรกติข้าพเจ้าใช้ ฟ่าย แต่คนอื่นๆ มักใช้ ฝ้าย ข้าพเจ้าเห็นว่าถูกทั้งสองอย่าง จะใช้อย่างไหนก็ไม่เป็นเอกโทษโทโทษ แต่อาจมีผู้อื่นที่เห็นไม่เหมือนกับข้าพเจ้า มีคำอื่นๆเช่น คั่น ขั้น คยั่น ขยั้น มั่น หมั้น เป็นต้น ซึ่งใช้อย่างไหนก็ได้ โคลงในสามกรุงนี้ผู้แต่งถือว่าไม่มีเอกโทษโทโทษเลย เว้นบทเดียวซึ่งบอกไว้แล้วว่าเป็นโคลงเอกโทษโทโทษทั้งบท.

น่า ๒๙ “เอกเจ็ดโทสี่ต้อง ตามตำ ราแฮ”
โคลงแบบ แยบคายคำ คิดเค้า”

โคลงชนิดที่ตำราเรียกว่า โคลงแบบ คือโคลงซึ่งมีคำเอกเจ็ดคำ คำโทสี่คำ บริบูรณ์พอดี ไม่มีคำเอกหรือคำโทอีกเลย แลไม่มีคำตายใช้แทนเอกในที่ทั้งเจ็ดแห่งนั้น โคลงเอกโทษโทโทษก่อนบทนี้เป็นโคลงแบบ เพราะมีไม้เอกจำเพาะเจ็ด ไม้โทจำเพาะสี่เท่านั้น แลไม่มีคำตายแทนเอกเลย.

น่า ๓๐ “จำเรียงเสียงมูละเห่ ข้าลวะเห่เหเห่มา”

มูลเห่ แล ช้าลวะเห่ เป็นชื่อทำนองเห่.

น่า ๓๐ “ไตรตรึกนึกนามปลา นึกโปร่ง”

ปลาที่ออกชื่อในกาพย์นี้ นอกจากปลาโลมาผู้หนุนธรณีชนิดหนึ่ง กับมังกรชนิดหนึ่ง ก็เป็นปลาตามตำรา มีชื่อลตินทั้งนั้น ไม่ใช่แกล้งคิดขึ้น.

น่า ๓๑ “ลิ้นหมาชิหฺวาศวัน ใช่ลิ้นสวรรค์อย่าหวั่นนึก”

ชิหฺวาคือชิวหา แปลว่าลิ้น ศวันเป็นคำสํสกฤตคำหนึ่งซึ่งแปลว่าหมา.

เราเคยเข้าใจกันว่าปลาลิ้นหมาร้องได้ เสียงมันร้องอยู่ใต้เรือหนวกหูนัก แต่อันที่จริงในกายปลาลิ้นหมาไม่มีเครื่องที่จะใช้ทำเสียง ปลาที่เราได้ยินเสียงร้องเป็นปลาชนิดอื่น ซึ่งเมื่อจับขึ้นมาไว้ในอ่างก็ร้องในอ่าง เมื่อจับตัวมันขึ้นมาบีบให้ถูที่ก็มีเสียงออกมา (ดูปาฐกถาว่าด้วยปลาลิ้นหมาที่สยามสมาคม Dr. H.M. Smith’s Lecture on “The so-called musical sole of Siam” in the Journal of the Siam Society, Natural History Supplement, Vol. VII No. I June 1917)

น่า ๓๒ “โอ้ว่าปลาหมาแหงน โศกสุดแสนสงสารศวัน”

ปลาหมาแหงนคือปลาจารเม็ด ในหนังสือสัตวาภิธานของพระยาศรีสุนทร (น้อย) มีกล่าวถึงปลาชนิดนี้ว่า เรียกว่าปลาหมาแหงนเพราะมันอร่อย คนกินหมด ไม่ทิ้งให้หมากินเลย หมาแหงนคอยเปล่า.

น่า ๓๔ “๏ สลัดได สลัดด้วยเหตุ ดังฤา
เห็นจะหนามตำมือ แม่นแล้ว
สลัดไดใช่อื่นคือ สลัดหัตถ์”

ไดแปลว่ามือ แต่ที่ว่าสลัดไดอาจแปลว่าสลัดมือนี้เป็นคำว่าเล่น อย่าเข้าใจเอาเป็นจริงเป็นจัง.

น่า ๓๔ “เกษาประบ่าสมัย นี้หมด”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเข้าใจกันว่าหญิงไว้ผมประบ่าอย่างน้อยก็ชาววัง ดังกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ว่า

“คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร”

น่า ๓๔ “๏ ไม้ ต้อง นึกแบบต้อง นวลสตัน
(แต่มิใช่คำฉัน ชักชี้
โบราณท่านกล่าวกัน มาก่อน)
ล้วงควักน่าจั๊กจี้ จาบจ้วงทรวงนาง ฯ”

คำว่า “ฉัน” ในบาท ๒ คือผู้แต่งสามกรุง ไม่ใช่คำที่สมมติวาพระเจ้าเอกทัศทรงกล่าว จึ่งใส่วงเล็บไว้ไห้เห็น.

ต้นไม้ที่เรียก ต้อง หรือ มะต้อง คือต้นสะท้อนนี้ นิราศเดินดงมักเทียบกับความแตะต้อง โคลงบางแห่งก็กล่าวเลี่ยง ๆ ไม่ระบุว่าแตะต้องตรงไหน บางแห่งก็ไม่มีตะขิดตะขวง เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้

โคลงโบราณชุดหนึ่งเรียกว่าโคลงสังวาศ กล่าวเปรียบดังนี้

“๏ นางแย้มเหมือนแม่แย้ม ยินดี
ต้องดุจได้เทพี่ พี่ต้อง”

เตลงพ่ายว่าออกมาตรงๆ ว่า

“๏ เล็บมือนางนี้หนึ่ง นขา นางฤา
ต้องดั่งต้องบุษบา นิ่มน้อง”

น่า ๓๕ “เหวยๆ เฮ้ยสี่เท้า คชาธาร”

ที่เรียกว่าสี่เท้าช้างนี้คือนายทหารที่มีผีมือสี่คน เรียกว่า จัตุลังคบาท มีน่าที่รักษาเท้าช้างพระที่นั่งทั้งสี่ข้าง ไม่ให้ฝ่ายปฏิปักษ์จู่เข้าฟันด้วยง้าวหรือทำร้ายอย่างอื่น เมื่อพระราชาทรงช้างออกศึก น่าที่รักษาเท้าช้างพระที่นั่งย่อมจะสำคัญนัก จัตุลังคบาทจึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ใกล้ชิดที่สุด.

เมื่อพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชาหงษาวดี สี่เท้าพระคชาธาร คือเจ้ากรมพระตำรวจสี่คน หรือที่เรียกสี่ตำรวจ คือพระมหามนตรีหนึ่ง พระมหาเทพหนึ่ง หลวงพิเรนทรเทพหนึ่ง หลวงอินทรเทพหนึ่ง ส่วนสี่เท้าช้างพระที่นั่งพระเอกาทศรถนั้นคือสี่ตำรวจวังน่า หลวงพรหมธิบาลหนึ่ง หลวงอินทรธิบาลหนึ่ง ขุนพรหมสุรินทร์หนึ่ง ขุนอินทรรักษาหนึ่ง.

คำว่า ตำรวจ ในสมัยก่อนแปลว่าพลช้าง เป็นคำชุดเดียวกับ พลพ่าห์ ซึ่งแปลว่าพลม้า.

น่า ๓๖ “๏ มังกรเป็นชื่อใช้ เชิงแฝง ด้วยนา
ขึ้นเย่าเราขยะแขยง โยคเปลี้ย
ยักย้ายอุบายแปลง นามเปลี่ยน
ชื่อที่จริงคือ เหี้ย โหดร้ายมลายสิน ฯ”

คติไทยเก่าถือกันมาจนบัดนี้ว่า เหี้ยขึ้นบ้านเป็นอัปมงคลใหญ่ มันขึ้นบ้านใครก็พยายามปัดป้องอัปมงคล โดยวิธีที่เรียกมันว่ามังกร คงจะทำให้เสียวไส้น้อยลง หรือมิฉนั้นยอให้ถูกใจมันเพื่อให้มันถอยอัปมงคลไปเสีย.

อัปมงคลใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือแร้งเกาะหลังคาเรือนหรือเข้าบ้าน ถ้าจะให้คลายอัปมงคลก็ต้องเรียกมันว่าพญาหงษ์ ต้องกล่าวสรรเสริญแลจุดธูปเทียนบูชา.

น่า ๓๘ “นึกเห็นเช่นวิหค ตุรไก่”

ภาษายุโหรปโดยมากเรียกไก่งวงว่าตุรกี ไม่แน่ว่าเหตุใด นกชนิดนั้นเป็นชาวทวีปอเมริกา ไม่มีในประเทศตุรกีมาก่อน ได้มีผู้นำมาเลี้ยงในยุโหรปแลเอเซียเมื่อไม่ถึง ๕๐๐ ปีมานี้ ที่เรียกว่าตุรกีอาจเป็นด้วยเสียงร้องของมันคล้าย ตุรฺก ตุรฺก หรือมิฉนั้นบนหัวมันมีหงอนแดงเหมือนหมวกตุรกี (fez) ซึ่งแต่ก่อนชาวชาวประเทศนั้นย่อมสวมประจำหัวทุกคน แต่ในปัจจุบันเลิกใช้เสียแล้ว ใช้หมวกฝรั่งแทน.

ภาษาไทยแต่ก่อนเรียกตุรกีว่าตุรไก่ ตุรกีปัจจุบันเรียกชื่อประเทศของตนว่า Turkiye อังกฤษเก่าเรียกว่า Turkey ก็มี Turkeye ก็มี Turky ก็มี.

น่า ๓๘ “๏ เป็ดพราหมณ์ นามหนึ่งนั้น จักรวาก”

สัตว์มีปีกซึ่งภาษาบาลีมคธเรียกว่า จักกวักก สํสกฤตเรียกว่า จักรวาก ไทยเรียกนกจากพรากนั้น ภาษาอังกฤษเรียก Brahminy duck บ้าง เรียก ruddy goose บ้าง ในโคลงบทนี้จึ่งว่ามันเป็นนก เป็นเป็ด เป็นห่าน พร้อมอยู่ในตัว.

น่า ๔๑ “พังงาสง่าเหลือ งามเลิศ”

พังงาแปลว่านางงาม เหมือนกับพงา โคลงนี้ว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินประพาศทางบก ใครจะเข้าใจว่าพังงาคือไม้ถือหางเสือเรือก็ไม่ได้ แต่ก็น่าจะเตือนไว้ว่าไม่ใช่ช้างตัวเมียมีงาดอก ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจผิดก็ขออภัย ข้าพเจ้ายังนึกขยาดพวกที่เข้าใจว่า มารคเป็นคำอังกฤษ (mark) แลนึกว่าทานแปลว่ากิน.

น่า ๔๑ “บุบผชาติช่างฉลาดแสร้ง แปรงผจง กมังแม่”

ที่เขียนว่าแปรงข้างบนนี้คือแปรงระบายสี ไม่ใช่แปลง ขอบอกไว้เพราะเกรงจะมีผู้ “ช่วย” แก้ในภายน่า.

น่า ๔๒ “สยามวิเชียรฉันท์”

ฉันท์ชนิดนี้เป็นแบบของข้าพเจ้า เอาอย่างมาจากฉันท์อังกฤษ บันทัดละ ๘ พยางค์ ลหุกับครุสลับกันตลอด มีสัมผัสเรียกว่าสัมผัสล้อม (quatrain of four-foot iambic with enclosing rhymes) แต่ข้าพเจ้าเติมสัมผัสร้อยบทน่าให้คล้องกับบทหลัง เพื่อให้ถูกหูไทยเข้าอีกหน่อย.

ฉันท์ของข้าพเจ้าคล้ายกับที่ให้ชื่อว่าสยามวิเชียรนี้ มีอีกสองชนิด ชนิดหนึ่งมีสัมผัสเพียงเท่ากับแบบอังกฤษ ไม่ร้อยบทน่าให้คล้องกับบทหลัง ให้ชื่อว่าสยามรัตนฉันท์ อีกชนิดหนึ่งร้อยบทน่ากับบทหลังแล้วเพิ่มสัมผัสเข้าไปอีก จนเหมือนกับกลอน ๘ แต่เป็นกลอน ๘ ซึ่งมีลหุครุสลับกันทั้งวรรค.

ข้าพเจ้าได้เล่ากำเนิดแห่งฉันท์ทั้งสามชนิดนี้ไว้ในหนังสือของข้าพเจ้า เรียกว่า “กลอนแลนักกลอน” แต่หนังสือนั้นพิมพ์เพียง ๕๐๐ ฉบับหลายปีแล้ว เวลานี้ไม่แพร่หลาย จึ่งขอฝากฉันท์แบบใหม่ทั้งสามชนิดนี้ไว้ในสามกรุงอิกแห่งหนึ่ง

น่า ๔๔ “ปางพระยาตากสินยินคาดโทษ”

ในตอนนั้น พระยาตากได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยำกำแพงเพ็ชร์แล้ว แต่ขานพระนามกันโดยมากมาจนบัดนี้ว่าพระยาตาก เจ้าตาก และพระเจ้าตาก นามพระยากำแพงเพ็ชร์มีแต่ในหนังสือสองสามแห่ง ไม่มีใครเรียก ในสามกรุงนี้ ถ้าออกพระนามว่าพระยากำแพงเพ็ชร์ก็แทบจะไม่มีใครรู้ว่าใคร.

น่า ๔๕ “มิใช่เชื้อชาติพม่าชาตรี”

คำข้างบนนี้คัดมาจากพระราชพงษาวาดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่ว่า เมื่อมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ของพม่าตายลงที่ค่ายสีกุกแล้ว นายทัพนายกองพม่าก็ประชุมกันเลือกแม่ทัพใหม่ บางคนเห็นว่าตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ควรได้แก่เนเมียวสีหบดี แต่บางคนไม่เห็นด้วย ในที่สุดตกลงพร้อมกันว่า “เนเมียวมหาเสนาบดีนั้นมีสติปัญญาแลฝีมือเข้มแข็งก็จริง แต่ทว่า มิใช่เชื้อชาติพม่าชาตรี ฝ่ายบิดาเป็นพม่ามารดาเป็นลาว ซึ่งจะเป็นใหญ่กว่าเราทั้งหลายอันเป็นสกุลพม่านั้นไม่ควร” (แต่เนเมียวก็เป็นแม่ทัพใหญ่จนได้)

คำว่าชาตรีที่ใช้ดังข้างบนนี้น่าสังเกตนักหนาอยู่.

(แม่ทัพพม่า ซึ่งในสามกรุงเรียกว่าเนเมียวสีหบดีนั้น หนังสือรุ่นเก่าเรียกว่าเนเมียวเสนาบดี)

น่า ๔๗ “ศรีสรรเพ็ชร์ปฏิมาค่าสำคัญ เอาไฟสุมให้สุวรรณไหลลงมา”

พระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพ็ชญ์นี้ พระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างในปีกุญเอกศก พ.ศ. ๒๐๒๒ แรกหล่อเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีเดียวกันนั้นทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์.

ปีเถาะเบ็ญจศก พ.ศ. ๒๐๒๖ ฉลองพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระพุทธรูปองค์นั้นสูงตั้งแต่พระบาทถึงพระรัศมี ๘ วา พระภักตร์ยาว ๔ ศอก กว้าง ๓ ศอก พระอุระกว้าง ๑๑ ศอก ทองหล่อหนัก ๕๓,๐๐๐ ชั่ง ทองคำหุ้มทั้งพระองค์หน้ก ๒๘๖ ชั่ง ข้างน่าทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ข้างหลังทองเนื้อหกน้ำสองขา.

เมื่อพม่าสุมไฟเอาทองหุ้มพระศรีสรรเพ็ชญ์ไปหมดแล้ว องค์พระก็ชำรุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้เชิญมากรุงเทพมหานคร แต่ก็เหลือที่จะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีได้ จึงมีพระราชปุจฉาถามพระสงฆ์ว่า จะหลอมหล่อใหม่ได้ฤาไม่ พระเถรานุเถระประชุมกันถวายพระพรตอบว่าไม่ควร จึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์หุ้มพระศรีสรรเพ็ชญ์ไว้ที่วัดพระเชตุพน.

น่า ๔๘ “๏ เก้าปีเอกทัศได้ ครองดิน”

พระเจ้าเอกทัศได้เถลิงราชสมบัตเมื่อปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๒๑ เสียกรุงแลเสียพระชนม์ในปีกุญ นพศก จ.ศ. ๑๑๒๙.

น่า ๕๘ “คำซินแสหมอดูเป็นครูทาย แม้เจ้านายรุนเก่าก็เล่ากัน”

กลอนข้างบนนี้ข้าพเจ้าแต่งแล้วหลายเดือน จึงได้พบหนังสือเล่าเรื่องเดียวกันในสมุดไทยเล่มหนึ่ง ของหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถในกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร เป็นสมุดขาวกระดาดข่อยเขียนหมึกจีน ท่านปิยเป็นนักเลงเล่นหนังสือเก่า เก็บสมุดไทยรวมไว้มาก.

สมุดไทยเล่มที่ข้าพเจ้าพบเรื่องซินแสหมอดูนี้ หลังปกเขียนว่า “หนังสือบรรพบุรุศย์ ๑๒๔๙” ตัวเลขเข้าใจว่าจุลศักราชปีที่คัดหนังสือลงสมุดเล่มนั้น (รัชกาลที่ ๕) แต่หนังสือนั้นเรียบเรียงเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ยังมีชีวิตอยู่ สมเด็จเจ้าพระยาองค์นั้นถึงพิราลัยในต้นรัชกาลที่ ๔ ท่านรับพระราชทานสุพรรณบัตรเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ มรณในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ จึงควรเข้าใจว่าหนังสือบรรพบุรุศษ์นี้เริ่มเรียบเรียงก่อนหรือระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ กับ ๒๓๙๘.

ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านปิยภักดิใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้พิมพ์หนังสือนี้แจก แต่เปลี่ยนเรียกชื่อว่า “อภินิหารบรรพบุรุษ” ข้าพเจ้าได้รับแจกคราวนั้น แลนำใจความในสมุดบางตอนไปอ้างในหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนใน พ.ศ. ๒๔๗๔ (คำนำบทลครเรียงเทพวิไลย) แต่ภายหลังลืมสนิท จนได้พบต้นฉบับสมุดไทยครั้งนี้.

ในฉบับสมุดไทยมีเรื่องซินแสหมอดู อย่างเดียวกับใจความในโคลงสามกรุง ซึ่งข้าพเจ้าแต่งตามที่ได้ยินผู้ใหญ่เล่าด้วยวาจามานานแล้ว แปลกกันแต่พลความซึ่งข้าพเจ้าแซกเข้าไปบ้าง ดังผู้อ่านย่อมสังเกตได้อยู่แล้ว ในส่วนที่ว่าเจ้านายเคยทรงเล่ากันนั้น ข้าพเจ้าหมายความเพียงเจ้านายผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์แต่ใน “หนังสือบรรพบุรุศย์” อ้างไปไกลมาก ดังคัดมาไว้ต่อไปนี้ (ใช้ตัวสกดตามฉบับสมุดไทย)

“ข้อความอันนี้ท่านทั้งสองพระองค์ (คือพระองค์กรุงธนแลพระพุทธยอดฟ้า) ก็ได้ทรงมนสิการสืบต่อมา เมื่อใดว่างราชการแล้วก็ทรงเล่าให้พระเจ้าลูกเธอแลพระราชวงษานุวงศ์ฟังเนืองๆ ทราบด้วยกันมาก อนึ่ง ท่านซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงร้อยกรองเรื่องอภินิหารนี้ท่านรับสั่งเล่าว่า เมื่อวันท่านทรงผนวชเณรนั้น พระเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่าให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช แลเจ้าเวียงจัน์ฟังในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะก็ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ ที่ทรงเล่ายืดยาวมาก ได้ยินกันมาทั้งพระสงฆ์แลข้าราชการที่เฝ้าอยู่ในพระอุโบสถนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีตัวอยู่มาก เป็นต้นว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ แลท่านผู้อื่นก็มากด้วยกัน”

ที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแลเจ้าเวียงจันทน์ฟัง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาสดาราม เมื่อวันซึ่งท่านผู้ทรงเรียบเรียงทรงผนวชเณรนั้น เจ้าเวียงจันทน์เข้ามา เฝ้า ครั้งหลังในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ในปีระกาสัปตศก พ.ศ. ๒๓๖๘ สอบพระชนมายุเจ้านายที่ถึงกำหนดทรงผนวชเณรในปีนั้น วังหลวงมีกรมหลวงวรศักดาภิศาลพระองค์ ๑ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์ ๑ พระองค์ลักขณานุคุณพระองค์ ๑ วังน่ามีกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์พระองค์ ๑ (กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ แลพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระชนมายุยังไม่มาก)

กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณทรงใส่พระทัยมากในเรื่องหนังสือ เข้าใจกันว่าทรงเรียบเรียงหนังสือชนิดนี้ไว้ก็มี แต่เมื่อเจ้าเวียงจันทน์มาเฝ้าใน พ.ศ. ๒๓๖๘ นั้น กรมหลวงบดินทร์ยังไม่ประสูติ “หนังสือบรรพบุรุศย์” นี้ กรมหลวงบดินทร์อาจได้ทรงชำระ แลโปรดให้ขึ้นสมุดไว้ในรัชกาลที่ ๕ ตามเค้าที่เจ้านายพระองค์อื่นทรงเรียบเรียงไว้ก่อนก็เป็นได้ แต่นอกจากที่สอบศักราชดังข้างบนนี้แล้ว ก็ไม่มีทางอื่นที่จะเดา.

น่า ๖๐ “สะสมกำลังเชื้อแถวทแกล้วทหาร”

คำว่าทแกล้วทหารเป็นคำถูกรังเกียจ เหตุตำหนิคือว่าศัพท์ ทหาร มาจากทหาร คำบาฬีแปลว่าหนุ่ม ไม่ควรแยกตัว ท ในคำว่าทหารไปควบกับคำว่าแกล้วซึ่งเป็นคำไทย.

ท่านอาจารย์น้อยแต่งกลอนไว้ว่า “คำทหารก็เป็นคำมาคะธะ ทะระหะที่ท่านแปลว่าคนหนุ่ม” ข้าพเจ้าเคยเรียนเช่นนี้เมื่อเป็นนักเรียน แต่มาบัดนี้เกิดสงสัยว่า ทำไมจะแปลทหารว่าหนุ่ม คนหนุ่มไม่ได้เป็นทหารก็มี คนแก่จะเป็นทหารก็มี ดูน่าพิศวงนัก ท่านที่รู้ภาษาสํสกฤตแลบาฬีโปรดช่วยค้นดูว่าเขาใช้ ทหร เป็นคำเรียกทหารบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีก็น่านึกว่าคำว่าทหารอาจเป็นคำไทยเราเอง หรือถ้ามาจากภาษาอื่นก็ไม่ใช่ ทหร ดอกกระมัง ที่กล่าวนี้เป็นแต่เพียงพิศวง ไม่ยืนยันว่ากระไร เพราะท่านสอนกันมาแต่โบราณ ดังที่ท่านอาจารย์น้อยแต่งเป็นกลอนไว้นั้น.

พระลอแลเตลงพ่ายใช้ ทแกล้ว ทกล้า ทห้าว ทหาร บ่อยๆ เช่นตัวอย่างดังนี้.

พระลอ .(น่า ๓) “โยธาเดียรดาษหล้า หมู่ ทกล้าทหาร

เตลงพ่าย (น่า ๒๔) “ปักเสวตรฉัตรฉานฉาย คลายคชบาทยาตรา คลี่พยุหคลาคลาศแคล้ว คล้ายคล้ายนายทแกล้ว ย่างเยื้องธงทอง แลนา ฯ”

เตลงพ่าย (น่า ๓๔) “ด่วนเดอรโดยโขลนทวาร พวกพลหาญแห่หน้า ล้วนทแกล้วทกล้า กลาดกลุ้มเกลื่อนสถล มารคนา ฯ”

เตลงพ่าย (น่า ๑๔๓) “แสนเศิกขามทุกด้าว ดูทหารทห้าว เห่อมเสียม้เสียมแสยง ยิ่งนา ฯ”

น่า ๖๒ กาพย์ธนัญชยางค์ ๓๒

กาพย์ชนิดนี้ข้าพเจ้าออกแบบให้ใช้เป็นคำอธิบายภาพเรื่อง “ศรีธนญชัย” ที่พิมพ์สัปดาหะละชุด ในหนังสือพิมพ์ “ประมวญสาร” กาพย์อย่างใหม่นี้ก็คือกาย์สุรางคณางค์ ๒๘ แบบเก่านั้นเอง แต่เติมอีก ๔ คำแลเพิ่มสัมผัสเข้าอีก รูปภาพที่พิมพ์ใน “ประมวญสาร” นั้น ภาพหนึ่งมีที่สำหรับคำอธิบายเพียงบันทัดเดียว ยาวเพียง ๔ นิ้วครึ่ง จึ่งต้องใช้กลอนชนิดที่จุความได้มากในที่น้อย แลเมื่อแยกบทหนึ่งเป็นสองบันทัด ก็ให้บันทัดยาวเท่ากัน กาพย์ธนัญชยางค์ได้กำเนิดด้วยประการฉนี้

น่า ๖๓ “สมญาว่าผู้นำ คนชนิด ไหนนอ”

ในกาลก่อนตั้งแต่ไหน ๆ มา คำไทยว่า ผู้นำ เป็นคำธรรมดา ไม่ต้องแปลหรือชี้แจงว่ากระไร แต่ในสมัยที่แต่งสามกรุงนี้ คำว่าผู้นำมีความหมายอย่างใหม่ตามที่เกิดใช้กันขึ้นในยุโหรป แปลว่าดิกเตเตอร์หรือ จอมบงการ ผู้ธำรงอำนาจสิทธิ์ขาด ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ในประเทศของตน แต่ไม่ทำตรงๆ เช่นพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าชีวิตจิตสันดาลในสมัยก่อน ๆ ระบอบผู้นำอย่างใหม่อ้างว่า มีสภาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย แต่บังคับข่มขู่ให้สภาออกกฎหมายหรืออนุมัติกฎหมายอย่างไรๆ ก็ได้ เมื่อกฎหมายออกแล้ว ผู้นำจะปฏิบัติขัดขืนประการใดๆ ก็ได้ จะทำอะไรโดยไม่มีกฎหมายก็ได้ ผู้นำชนิดนี้เมื่อมีอำนาจเต็มที่ในประเทศของตัวแล้ว ก็แผ่อภินิหารไปถึงประเทศอื่นๆ ที่ตกสู่อำนาจด้วยความข่มขู่ หรือด้วยอาวุธ หรือด้วยล่อลวงว่าจะให้นั่นให้นี่เป็นเครื่องตอบแทนความภักดีเป็นต้น ในอิตาลี มุสโซลินีใช้ศัพท์เรียกตนเองว่า “ดูเฉ” (Duce) มาจากคำลตินแปลว่าผู้นำ ในเยอรมนี ฮิตเลอร์ใช้ศัพท์ว่า “เฟอห์เรอร์” (Fuhrer) แปลว่าผู้นำเหมือนกัน

เจ้าตากที่เรียกว่าผู้นำในโคลงตอนนี้ ไม่ใช่ผู้นำชนิดที่ดูเฉๆ หรือฟุ้งเฟ้อเร่อร่า ท่านเองไม่โกง ไม่กล่าวโป้ปด ไม่ปล่อยให้พวกพ้องของท่านกอบการทุจริต ไม่ตั้งวงไพบูลย์หรือยอมให้ใครตั้งโดยอาไศรยอำนาจของท่าน เป็นผู้นำคนละชนิดกับที่เกิดขึ้นในโลก ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

น่า ๖๔ “ขู่ตคอกหอกปลายปืน เป็นปตัก”

หอกปลายปืนเห็นจะยังไม่มีในเมืองไทย หรือเมืองพม่าสมัยกรุงธนบุรี ที่นำมาใช้ในที่นี้หมายความเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะสมัยไหน ในปัจจุบันมักจะใช้คำว่าหอกปลายปืนแปลว่ากำลังทัพ เช่นที่มุสโซลินีกล่าวอวดหรือขู่เมื่อก่อนนำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่าอิตาลีมีหอกปลายปืนเจ็ดล้านเล่มเป็นต้น.

น่า ๖๔ “ในเมื่อถูกเบื่อน้ำ ใจไทย”

ที่ว่าน้ำใจถูกวางยาเบื่อนี้ เอาอย่างมาจากโวหารอังกฤษ แปลว่าถูกย้อมน้ำใจ ชักนำสั่งสอนให้เห็นวิปริตไปต่างๆ.

น่า ๖๕ “บำบัดอัตตเหตุอัน เอือมจิต”

อัตตเหตุแปลตามปทานุกรมว่าเห็นแต่แก่ตัว อัตตหิตใช้ต่อไปข้างน่า แปลว่าประโยชน์ส่วนตัว.

น่า ๖๗ โคลงดั้น “ปัญญาเดินตรอก”

น่า ๖๘ “ปัญญาออกถนน”

โคลงดั้นแฝดนี้แต่งทีหลังโคลงดั้นอื่นๆ ในหนังสือนี้ได้ลองเพิ่มสัมผัสจัตวาทัณฑีเข้าไปอีกชั้นหนึ่งนอกตำรา ฟังไม่ขัด มีเสียอยู่ก็แต่ที่ทำให้แต่งยากขึ้น.

นักเลงโคลงมักจะเห็นกันว่าโคลงดั้นแต่งยาก เพราะบังคับโทคู่ในบาทท้ายอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งแม้คำส่งท้ายบทจะลดโทลงไปก็จริง แต่ตัดคำออกไป ๒ คำ ทำให้ลำบากขึ้นอีกหน่อย เพราะ ๗ คำย่อมจุความได้น้อยกว่า ๙ คำ.

การเพิ่มจัตวาทัณฑี หรือตรีพิธพรรณเข้ากับสัมผัสโคลงดั้นธรรมดาอีกชั้นหนึ่งนั้น ยากกว่าร้อยโคลง เพราะจำกัดไม่ให้ใช้คำเอกคำโทเป็นคำร้อย แต่ก็ไม่ยากขึ้นอีกกี่มากน้อย ถึงกระนั้นก็เห็นจะไม่คุ้มลำบากดอกกระมัง.

น่า ๗๐ “ยิ่งเมื่อตสิณาพาครรไล”

ตสิณาคือความใคร่ อย่างเดียวกับตันหา.

น่า ๗๔ “ปิ่นประยุทธ์กุฑย์แย้ง แย่งเข้าเผาผลาญ ฯ”

กุฑย์แปลว่ากำแพง.

น่า ๗๕ “สัญจารบ่ทานแรง บุญท่าน”

สัญจารแปลว่าถนนหนทาง ว่าทางเข้าออก ว่า ประตู ในเรื่องพระนลมีแห่งหนึ่งว่าสัญจารเตี้ย พระนลเดินเข้าออกมันก็ยืดขึ้นให้เดินตามสบาย ไม่ให้ต้องก้ม ครั้นเดินเลยไปแล้วมันก็หดกลับลงไปอย่างเก่า ทั้งนี้เพราะพระอินทร์ให้พรพระนลว่าให้เดินงาม.

น่า ๗๖ “ถวายแด่ผู้จมูบดี”

จมูแปลว่ากองทัพ จมูบดีแปลว่าแม่ทัพ ศัพท์จมูนี้ข้าพเจ้าไม่เคยพบในหนังสือไทย เป็นคำกทัดรัดดี จึ่งขอนำมาไว้ในวรรณคดี.

น่า ๗๗ “หินดั่งรูปสิงห์จริง จัดตั้ง”

ที่แหลมสิงห์ปากอ่าวจันทบุรีมีหินขาวก้อนหนึ่ง อยู่น่าเขาที่ยื่นออกมาเป็นแหลม หินใหญ่ก้อนนั้นให้ชื่อแก่แหลม เพราะมีรูปคล้ายสิงโตหมอบ ดูจากเรือในทเลเห็นขาวโพลนอยู่ หินก้อนอื่น ๆ ดำทั้งนั้น แต่สิงห์ศิลาขาวตัวนั้นถ้าดูไม่เป็นก็ไม่เห็น.

ในหนังสือเรียกว่า พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศจันทบุรี ซึ่งพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงไว้ใน จ.ศ. ๑๒๓๘ ได้ทรงเขียนไว้ว่า

“อนึ่ง แต่ก่อนเราได้หนังสือของท่านเล็กเล่มหนึ่งเป็นของหมอเฮ้าส์ให้ ในหนังสือนั้นเขาว่าด้วยเรื่องเมืองจันทบุรี พูดถึงแหลมสิงห์ว่ารูปเหมือนสิงห์ เขียนรูปไว้ในสมุดดูเป็นรูปสิงห์โตทีเดยว เรามาคราวก่อนก็เที่ยวหา มาคราวนี้ก็หาอีกไม่เห็นมี พวกเราพากันลงเอาว่า หนังสือนั้นเห็นเป็นแต่จะแต่งให้เพราะๆ แลให้อัศจรรย์ แต่มาวันนี้เราจึงได้เห็นจริงว่าหนังสือนั้นเขาไม่ได้ปดเลย เมื่อแลหาแหลมสิงห์แต่ก่อน ๆ นั้นเราจะไปหาเอาที่เขาใหญ่ จะให้เป็นตัวสิงห์ให้ได้ จึงไม่เห็น ที่จริงนั้นศิลาขาวที่ตรงปลายแหลมยื่นออกไปพ้นเขาแหลมสิงห์นั้น รูปร่างคล้ายสิงโตจีนที่หมอบๆพอดูได้ว่าเป็นรูปสิงห์ มีหน้าตาเข้าทีอยู่”

พระราชนิพนธ์ข้างบนนี้ทรงในปีชวด จ.ศ. ๑๒๓๘ ตรงกับ ร.ศ. ๙๕ ในเวลานั้นสิงโตหินขาวยังอยู่เต็มทั้งตัว

น่า ๗๗ “(น่าชังฝรั่งเศษยิง หัวแตก
เมื่อยึดจันทบูรครั้ง ศกร้อยสิบสอง) ฯ”

โคลงสองบาทในวงเล็บนี้ เป็นคำกล่าวของผู้แต่งในเวลาที่แต่ง พูดย้อนกลับไปถึง ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศษตั้งวิวาทกับไทย ส่งเรือรบยิงบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วถอยออกไปอยู่ที่เกาะสีชัง ประกาศล้อมปากอ่าวสยามไว้ ต่อนั้นได้ส่งกองทหารไปตั้งยึดจันทบุรี มีเรือรบไปอยู่ด้วย เรือรบฝรั่งเศษลองปืนใหญ่ยิงหัวสิงห์แตกเสียโฉมดังที่เห็นอยู่บัดนี้.

น่า ๗๗ “เต่งตั้งดุจดังเดาะ ดูเด่น”

เดาะแปลว่านม เป็นคำเขมรซึ่งใช้บ่อยในโคลง

น่า ๗๙ “เปี่ยมประถิติ์จิตเร้า เรืองกี้กวีการ ฯ”

ประถิติ์ อังกฤษแปลว่า celebrity, fame คือเกียรติ์กระเดื่อง ชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นต้น.

น่า ๗๙ “อ่าวแม่รำพึงเร้า เรื่องเครี้ยวเดียวกัน ฯ”

เครี้ยวในที่นี้ใช้แทนเครียว คือคราว.

น่า ๗๙ “เปลี่ยนแอ่งเป็นอ่าวได้ ชื่อดั้งเดิมแสดง ฯ”

อ่าวแม่รำพึงคืออ่าวระยอง ซึ่งขึ้นชือว่าคลื่นลมจัดนัก.

น่า ๘๐ “เห็นดั่งทำนายใน อดีตโน้น”

มีคำทำนายเก่าไม่ทราบว่ามีมาแต่ครั้งใดว่า สมมุกจะเป็นป่า ศรีราชาจะเป็นฝั่ง สีชังจะเป็นท่าเรือจอด.

ถ้าฟังตามคำทำนายนี้ไซร้ ในเวลาที่ทำนายนั้นสมมุกยังมิได้เป็นป่า ศรีราชายังมิได้เป็นฝั่ง สีชังยังมิได้เป็นท่าเรือจอด ควรเข้าใจว่าตั้งแต่นั้นมาแผ่นดินแลทเลได้เปลี่ยนไปมาก เพราะดินงอกแลน้ำทเลกัดฝั่งเข้าไปเป็นต้น.

น่า ๘๐ “เดิมว่าเป็นเกาะโล้น เลื่อมพร้อยพรายแสง”

ได้ยินว่าเป็นคำซึ่งคนในท้องที่บอกเล่ากันต่อ ๆ มาว่าสมมุกนั้นเดิมเป็นเกาะหิน ไม่มีต้นไม้เลย หินมีสีต่าง ๆ ถูกแสงแดดส่องดูแต่ไกลเห็นเป็นเลื่อมเหมือนหอยมุก.

น่า ๘๑ “เนาประนังตั้งร้อย แล่นตา”

เนา เป็นคำสํสกฤตแปลว่าเรือ เหมือนคำบาลีว่านาวา ต่อไปหนังสือนี้จะใช้ เนา คำสํสกฤตแปลว่า เรือ อีกหลายแห่ง แลใช้ เนา คำไทยแปลว่า อยู่ หลายแห่งเหมือนกัน ความหมายทั้งสองอย่างนี้ย่อมสังเกตได้ตามเอกเทศว่าหมายอย่างไร.

น่า ๘๒ “เป็นคนเกิดหมูนภูลนค”

ไทยพูดกันว่าเกิดหมูนภูลเขา นคแปลว่าภูเขา.

น่า ๘๓ “ทองอินแนวที่ห้า ใจบ่กล้าจำกล้า รบสู้ซังตาย ฯ”

คำว่า แนวที่ห้า ผู้อ่านในสมัยที่แต่งโคลงนี้คงจะเข้าใจทุกคน แต่ต่อไปภายน่าไม่แน่ แลอาจมีน้อยคนที่ทราบที่มาแห่งคำๆ นี้.

ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เกิดสงครามภายในขึ้นในประเทศสเปน คู่สงครามคือรัฐบาล ในเวลานั้นซึ่งถือคติ “ฝ่ายซ้าย” ฝ่ายหนึ่ง นายพลฟรังโคกับพรรคพวกซึ่งถือคติ “ฝ่ายขวา” ฝ่ายหนึ่ง ครั้งหนึ่งแม่ทัพฝ่ายขวาแต่งทัพให้เดินเข้าตีเมือง ๆ หนึ่งเป็นสี่แนว มีผู้กล่าวแก่แม่ทัพถึงยุทธวิธีที่แยกกันเข้าตีถึงสี่ทาง แม่ทัพตอบว่า ถึงเข้าตีทุกทิศก็ไม่ไว้ใจว่าจะสำเร็จ ที่จะเอาชนะได้แน่ก็ด้วยแนวที่ห้าซึ่งจัดไว้พร้อมแล้ว ที่ว่าแนวที่ห้านั้นคือไส้ศึก.

คำว่าแนวที่ห้าติดอยู่ในคำพูดทั่วไปแต่นั้นมา ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใช้คำนี้กันมาก.

น่า ๘๓ “บูติ์กระหลบอบอ้าว อัตแสร้วนาสา”

ปูติ แปลว่าเน่า ทีใช้บูติ์ในโคลงนี้ไม่คิดจะให้เป็นที่เข้าใจว่า บูด คำไทยมาจากศัพท์นี้.

น่า ๘๔ “จู่จะโหมโจมให้ มรั่มม์ร้ายมลายลาญ ฯ”

ภาษาบาลีเรียกพม่าว่ามรัมม ดูมหาสมณศาสน พรราชนิพนธ์พระจอมเกล้า ฯ ที่อ้างมาแล้วในเบื้องต้น ตอนที่กล่าวถึงพระนามเอกาทศรถ.

ข้าพเจ้าเคยซักล่ามพม่าแลให้เขาออกเสียงให้ฟัง เขาว่าพม่าเรียกตนว่ามรัมมะ ออกเสียงเหมือนสกดตัว ม แต่เมื่อเขียนเป็นหนังสือใช้สกดตัว .น เป็นมรันมะ (ฝรั่งเอาตัวหนังสือพม่ามาเขียน Maranma) ล่ามชี้แจงว่าอักขรวิธีพม่าไม่ใช้ ม เป็นตัวสกด ใช้ น แทน เช่นคำว่า สาม (สยาม) เขาก็เขียน สาน ฝรั่งจึ่งเอาอย่างมาเขียน Shan.

ที่เขียนข้างบนนี้ข้าพเจ้ากล่าวตามปากคำที่ได้ยินมา ตนเองไม่รู้ภาษาหรือหนังสือพม่า เคยมีสมุดซึ่งน่าจะสอบได้ก็ไหม้เสียหมดแล้ว.

น่า ๘๖ “สมคเนเสนาคไท้ ภูธร”

เสนาคแปลว่าผู้นำทัพ ว่าแม่ทัพ เป็นคำกทัดรัดอีกคำหนึ่ง ซึ่งขอนำมาไว้ในวรรณคดีไทย.

น่า ๙๐ “๏ ธุรภารการก่อสร้าง อุตสาห์
เพียงจะมีมากมา นะนั้น
แรงขาดปราศทุนกา ระสฤษดิ์ ได้ฤๅ
คนก็ยับทรัพย์อั้น สุดเอื้อมเอือมกมล ฯ”

โคลงบทนี้ไม่มีคำยากเลย แต่ระแวงไปว่าผู้อ่านบางคนอาจไม่นึกเอาเศรษฐกิจมาปะปนกับกวีวัจนะ ซึ่งไกลกันนัก จึ่งขอแปลโคลงเป็นร้อยแก้วว่า การก่อให้เกิดอุตสาหกรรม (industry) ขึ้นในบ้านเมืองนั้น หากจะมีมานะพากเพียรเพียงใด ถ้าไม่มีแรงงาน (labour) แลไม่มีทุน (capital) เพียงพอไซร้ จะทำให้ลุล่วงไปไฉนได้ ในเวลาที่คนก็ยับทรัพย์ก็อั้นเช่นนี้ ความสำเร็จก็สุดเอื้อม จึ่งเอือมใจนัก.

น่า ๙๑ “ตรัสทราบภาพตกใต้ ต่ำต้อยร้อยปการ ฯ”

พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ น่า ๓๕๗ มีว่า “ก็ทรงพระวิจารณ์ด้วยพระปรีชาญาณ ตรัสทราบเหตุว่า........” (มีหมายเหตุไว้ใต้คำว่า ตรัสทราบ ว่า เดิมว่า ทรงทราบ)

หนังสือเก่าใช้ ตรัส เช่นนี้มีมาก เช่น

มหาชาติคำหลวงน่า ๓๔ ว่า “สมเด็จพระมหาสตว ตรัสทอดพระนัยเนตร เห็นพราหมณ์.........”

พระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ต้นฉบับสมุดดำตัวรง ว่าเป็นฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า มีความตอนที่ใกล้เสียกรุงในแผ่นดินพระมหินทร์ดังนี้

“พระเจ้าหงษามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี แลเมื่อเศิกหงษาเข้าล้อมพระนครศรีอยุทธยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน แลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหินทราธิราช ตรัสมินำพา การเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้น ตรัสเอาพระไทยใส่ แลเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราช ตรัสรู้ ว่า พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น ก็มิไว้พระไทย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม”

คำว่าตรัสคำเดียวกันยังมีแปลว่าพูดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังสือเก่าบางทีก็เขียน.ตรัศ ในสามกรุงนี้บางแห่งจะต้องใช้ว่า ตรัสเห็น ตรัสทราบ ฯลฯ เพื่อสดวกแก่การร้อยกรอง เพราะฉนั้นในที่ใดคำนั้นแปลว่าพูดก็จะเขียน ตรัศ ให้เห็นชัดว่าแปลกกว่า ตรัส ซึ่งแปลว่าทรง เป็นการใช้ตัว สกดตามชอบใจของผู้แต่ง แลตามเคล็ดในการผันแปรตัวสกดให้เห็นทันทีว่าหมายความต่างกัน.

น่า ๙๒ “ทุกข์ระทมปมด้อย ปุ่มด้วนควรไฉน ฯ”

ข้าพเจ้าผูกศัพท์ว่า ปมด้อย ขึ้นเป็นคำแปลคำอังกฤษว่า interiority complex แลได้อธิบายความหมายเลา ๆ พิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” ภายหลังนั้นมาพราหมณ์สันยาสีชื่อ สวามิ สัตยานันท ปุริ ได้แต่งหนังสือภาษาไทยเล่มหนึ่งเรียกชื่อสมุด “ปมด้อย” อธิบายความหมายไว้อย่างเลอียด เป็นสมุดกว่า ๓๐๐ น่า ผู้ใคร่ทราบควรอ่านหนังสือนั้น.

น่า ๙๓ “สัจวัจน์ประศัสติ์ประ เสริฐสุด”

ประศัสติ์ แปลว่า ความยกย่อง ว่าความสรรเสริญ (praise, eulogy, laudation.)

น่า ๙๔ “๏ หาที่ที่อื่นสร้าง ดีกว่าซ่อมกรุงร้าง ซึ่งไร้ชัยเฉลิม ฯ”

มีความข้อหนึ่งซึ่งไม่สู้จะเกี่ยวกับโคลงบทนี้ แต่น่าจะนำมากล่าวไว้สักหน่อย เพราะในปัจจุบัน (แลในเวลาที่แต่งสามกรุงนี้โดยเฉพาะ) มักเข้าใจกันว่าเป็นประเพณีเมื่อเปลี่ยนราชวงษ์ใหม่ หรือเมื่อผู้เถลิงอำนาจคิดจะประดิษฐานราชวงษ์ใหม่ ก็สร้างพระนครใหม่ ชี้ตัวอย่างพระเจ้ากรุงธนบุรีย้ายเมืองหลวงมาจากกรงศรีอยุธยา แลพระพุทธยอดฟ้าสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้น,

อันที่จริงการสร้างพระนครใหม่ย่อมจะมีเหตุอื่น ไม่ใช่สักแต่ว่าเริ่มราชวงษ์ใหม่ หรือเมื่อผู้มีอำนาจขึ้นหยกๆ คิดจะยกตนเองขึ้นเป็นราชวงษ์ใหม่แทนราชวงษ์เก่า ๆ ข้อนี้ดูถอยหลังไปเพียงกรุงศรีอยุธยาก็เห็นเสียแล้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนราชวงษ์หลายครั้ง แต่ก็มิได้สร้างนครใหม่.

พระรามาธิบดี (อู่ทอง) ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเพราะต้องอพยพหนีห่า คือโรคระบาด ซึ่งไม่มีทางแก้หรือป้องกันในสมัยโน้นไม่ว่าในทวีปไหน มีแต่ว่าเมื่อหนักมาก็ต้องหนีเท่านั้น

อนึ่ง กรุงอู่ทองเป็นที่มีน้ำน้อย พลเมืองยิ่งเพิ่มมากขึ้น ความอัตคัดน้ำก็ยิ่งมีมา การเลือกที่สร้างเมืองหลวงอันเป็นแหล่งกลางของประเทศนั้น คนแต่ก่อนท่านย่อมหาที่ใกล้ลำน้ำใหญ่ ถึงใกล้ทเลยิ่งดี ถ้าไม่ขัดเรื่องน้ำจืด ไม่มีใครจะหนีลำน้ำใหญ่ไปสร้างเมืองหลวงในที่กันดารไม่มีน้ำ นำใช่แต่จำเป็นสำหรับกินแลอาบเท่านั้น ยังต้องอาไศรยเพื่อคมนาคมแลการเพาะปลูกด้วย หนองโสนในสมัยโน้นเป็นชัยภูมิ์อันเหมาะ แต่ถึงกระนั้นพระเจ้าอู่ทองยังไปทรงตั้งอยู่ถึงสามปีจึ่งสร้างพระนคร หาใช่ทรงเลือกอย่างบุ่มบ่ามไม่.

กรุงศรีอยุธยาอยู่มา ๔๑๗ ปี ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองมาถึงพระเจ้าเอกทัศ จึ่งถูกพม่าเผาแลกำลายเสียจนไม่เป็นชิ้น พระเจ้าตากสินทรงสร้างกำลังตีพม่าแตกไปจากค่ายโพธิ์สามต้นในประมาณปีหนึ่ง จำเป็นต้องมีพระนครหลวงเป็นที่มั่น ถ้าจะสร้างกรุงใหม่บนซากกรุงเก่าไซร้ ถ้าพูดในส่วนแรงทรัพย์แลแรงคนที่จะทรงทำได้ในขณะนั้น ก็เสมอกับสร้างกระท่อมขึ้นในป่าช้ากากอิฐกากปูน จะต้อนราษฎรจากท้องที่อื่น ๆ ให้ไปปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่แทนราษฎรที่ตายที่ถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า แลที่แตกหนีกระจัดกระจายไปจากกรุงก็ไม่ได้ ทั้งนี้ยังมิได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เลย.

การที่พระเจ้าตากสินทรงเลือกธนบุรีนั้น เป็นการเลือกดีนัก เพราะเป็นที่มีลำน้ำใช้ได้สดวก ใกล้ทเลแต่ไม่ใกล้เกินไป แลนาน ๆ จะมีน้ำท่วมมาก ๆ สักคราวหนึ่ง อนึ่ง ธนบุรีเป็นที่ประชุมชนมานาน จะมีลักษณะดีชั่วอย่างไรก็ทราบกันหมด หาใช่หลับพระเนตรเลือกไม่.

เมื่อสิ้นสมัยธนบุรีแล้ว พระพุทธยอดฟ้าทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร ก็คือเลือกท้องที่ริมแม่น้ำใหญ่ไม่ไกลทเล ซึ่งพระเจ้าธนบุรีทรงเลือกไว้นั้นเอง ในทางยุทธศาสตร์ พระพุทธยอดฟ้าอาจทรงพระราชดำริห์อย่างไร ก็มีสันนิษฐานไว้ในหนังสืออื่นแล้ว.

ผู้อ่านบางคนอาจไม่ทราบว่า พระเจ้าธนบุรีได้ทรงสร้างราชมณเฑียรแต่เพียงพอดีพอร้าย ไม่มีปราสาท เป็นต้น ในตอนที่เปลี่ยนแผ่นดินนั้นศึกพม่าระงับไปหลายปี พระพุทธยอดฟ้ามีโอกาสจะสร้างพระนครได้เต็มที่ ถ้าทรงสร้างซ้ำลงที่ธนบุรี เนื้อที่ก็แคบ จะต้องรื้อตึกรามของพระเจ้าธนบุรีลง เป็นการทำลายโดยใช่เหตุ อนึ่ง ในสมัยกรุงธนบุรีที่ประชุมชนค้าขายส่วนมากอยู่ฝั่งตวันออกแห่งแม่น้ำ ที่สร้างพระบรมมหาราชวังเดี๋ยวนี้ก็คือสำเพ็งครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปอยู่ใต้น้ำ คือสำเพ็งปัจจุบัน.

ดังนี้ทั้งสามกรุง คือกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี แลกรุงรัตนโกสินทร ได้สร้างขึ้นด้วยเหตุอื่นเป็นใหญ่ มิใช่เป็นด้วยประดิษฐานพระราชวงษ์ใหม่ดังที่บางคนนึกในสมัยนี้

น่า ๙๗ “พระราชวรินทร์วา รณศึก”

พระราชวรินทร์คือพระพุทธยอดฟ้า ในตอนนั้นทรงบรรดาศักดิ์ขุนนางตำแหน่งนี้ วารณแปลว่าเครื่องขัดขวางกั้นกาง เป็นต้น.

น่า ๙๗ “พระมหามนตรี ที่ตั้ง”

พระมหามนตรีในตอนนั้น คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท.

น่า ๙๗ “เด่นระดับบรรพบุญ บ่มสร้วย”

บรรพแปลว่าคั่น แต่ไทยมักใช้แปลว่าก่อน ในโคลงบาทนี้จะแปลบรรพว่าคั่นหรือว่าก่อนก็ตามใจผู้อ่าน.

น่า ๑๐๓ “ให้ยอดทหารชาญชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา คุมโยธาเกรียงไกร”

ในตอนนี้พระพุทธยอดฟ้าเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นพระยาอนุชิตราชา.

น่า ๑๐๓ “ซึ่งจอมพลสมญา เจ้าพระยาจักรีแขก แยกไปทำปักใต้”

ในพระราชพงษาวดารตอนนี้ ใครขึ้นชื่อว่าแขกก็รบแพ้ร่ำไป น่าเห็นประหลาดนักหนา ที่พูนี้พูดตามตัวหนังสือในพงษาวดาร

น่า ๑๐๙ “พระมหามนตรี เกียรติ์ฟุ้ง”

ศึกพม่าที่บางกุ้งในปีกุญ ๒๓๑๐ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยังเป็นพระมหามนตรี.

น่า ๑๐๙ “เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณวาธิราช ทรงอำนาจปราศเปลือง”

ระหว่างศึกหม่าทีบางกุ้งในปีกุญ กับที่สวรรคโลกในปีขาล กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเลื่อนบรรดาศักดิ์ตั้งแต่พระมหามนตรีเป็นคั่น ๆ ขึ้นไป จนถึงเจ้าพระยาครองเมืองใหญ่น่าศึก.

น่า ๑๑๒ “โปรดให้สองภาดา เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์เรืองฤทธิ์”

เจ้าพระยาจักรีในตอนตีเชียงใหม่ครั้งหลัง คือพระพุทธยอดฟ้า ทรงบรรดาศักดิ์นั้นตั้งแต่นี้ไปจนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก.

น่า ๑๑๔ “ตั้งค่ายใหญ่ค่ายราม”

รามแปลว่าขนาดกลาง (ศิลาจารึกขุนรามกำแหง)

น่า ๑๑๕ “พลพ่าห์พาข่าวห้อ ไปถวาย”

“พลพ่าห์คือพลม้า คำนี้เป็นคำเรียกพลเหล่าม้ามาเก่า เป็นศัพท์ชุดเดียวกับที่เรียกพลเหล่าช้างว่าตำรวจ.

พาหเป็นคำสํสกฤตคำหนึ่งซึ่งแปลว่าม้า ภาษาบาลีก็เหมือนกัน ศัพท์แปลว่าม้าในสองภาษานั้นมีหลายคำ คำหนึ่งคือพาห.

น่า ๑๑๕ “น้องฤพี่กูผี้ ว่ารู้ฤๅถาม ฯ”

ในโคลงบาทนี้คำว่า ผี้ว่ารู้ฤๅถาม เป็นคำเอาอย่างมาจากพระล (น่า ๑๘๕) คือโคลงบาทส่งที่ว่า “ถามว่าบ่รู้ผี้ ว่ารู้ฤๅถามฯ” ความว่า ที่ถามก็เพราะไม่รู้ ถ้ารู้ก็ไม่ถาม.0

ผี้ว่า แล ผี้ว ใช้อย่างเดียวกับ ผิว แล ผิว่า (คือถ้าว่า) เตลงพ่ายใช้ ผี้ แทน ผิ หลายแห่ง เช่น (น่า ๗๙)

“๏ เหตุนี้ผี้วเช้าชั่ว ฉุกเข็ญ
เกิดเมื่อยามเย็นดี ดอกไท้”

น่า ๑๒๒ “จำจะบอกหย่ารบนัดพบพอ ที่จะขอเห็นหน้าเสนานี”

เสนานีแปลว่าแม่ทัพ เป็นคำกทัดรัดอีกคำหนึ่ง.

น่า ๑๒๓ “๏ วันนัดจัดพยุหเยื้อง โยธี
เจ้าพระยาจักรี ขี่ม้า
กั้นสัประทนสี แดงเด่น
เสวตร์ดุรงค์หย่งหน้า ย่างน้อยลอยสนาม ฯ

โคลงบทนี้คำในบาท ๒ แล บาท ๓ ต่อกันที่ว่า “เจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากั้นสัประทน เป็นคำคัดมาตามตัวหนังสือในพระราชพงษาวดาร (ทั้งฉบับพระราชหัตถ์เลขาแลฉบับหมอบรัดเล.)

ที่ว่ากั้นสัประทนแดง ก็เพราะสัประทนแพรแดงเป็นเครื่องยศพระราชทานเมื่อเป็นเจ้าพระยา ที่ว่าทรงม้าขาวนั้นเป็นคำที่เล่ากันมา แลมีในหนังสือ “บรรพบุรุศย์” ด้วย.

น่า ๑๒๓ “ต้านกับตูผู้เถ้า เท่าผู้ทุรชัย”

ทุรชัยแปลว่าผู้อื่นเอาชนะได้ยาก ฝรั่งแปลบางทีถึงว่า inviincible คือไม่มีใครอาจเอาชนะได้.

น่า ๑๒๓ “ส่อตระศักศักดิ์กษัตร สืบเชื้อ”

ตระศักแปลว่างาม ตำราศัพท์อ้างตัวอย่างที่ใช้ในหนังสือเก่าว่า “ดุจศรีหะตระศัก”

น่า ๑๒๗ “ข่าย ณ เขือเหนือใต้ ต่อป้องปีกกาฯ”

เขือแปลว่าสอง ปทานุกรมไม่มีคำแปลคำนี้ หนังสือ “คำฤษฎี” แปลเขือว่า “ลาวว่าสอง นักรู้ที่ใช้ว่าเจ้าก็มี”

น่า ๑๓๒ “พะม่าว่าพม่าแพ้ แก่ไทย
ไทยว่าไทยปราชัย โชคแปล้
สงครามสนามไหน คราวก่อน หลังฤๅ
ต่างฝ่ายต่างพ่ายเพ้ พูดพ้องคำกัน ฯ”

ในการรบใหญ่อยู่ถึง ๑๐ เดือนคราวนั้น เมื่อเสร็จกันแล้ว ไทยก็ว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้ พงษาวดารพม่าก็ว่าอแซหวุ่นกี้มาติเมืองไทยครั้งนั้นแพ้ยับเยินกลับไป พาเอารี้พลมาตายเสียนักหนา ตัวอแซหวุ่นกี้เองก็เพียงแต่เอาตัวรอดกลับไปได้เท่านั้น.

ที่อแซหวุ่นกี้ย่อยยับกลับไปครั้งนั้น ก็เพราะว่าเมื่ออแซหวุ่นกี้ตีได้พิศณุโลกแต่เปลือกเมืองแล้ว ฝ่ายไทยก็ยังคุมกันเป็นกองทัพอยู่ อแซหวุ่นกี้ต้องถอยทัพกลับไปในขณะที่เสบียงกำลังบกพร่อง ต้องหากินไปตามทาง ถ้าเดินทัพทางเดียว ก็ลาดหาอาหารตามท้องที่ให้พอเลี้ยงคนมาก ๆ ไม่ได้ จึ่งต้องแยกเดินหลายทาง แต่กระนั้นก็อดอยากล้มตายเสียมาก มิหนำซ้ำถูกโรคภัยผลาญตามทางอีกเล่า ครั้นทัพพม่ากองย่อย ๆ เหล่านั้นถูกไทยดักรบแลตามตี ก็แตกกระจัดกระจายไม่เป็นส่ำ กลับไปถึงบ้านเมืองของตนได้บ้างก็ไม่เป็นกระบวนทัพ พงษาวดารพม่าจึงว่า ที่อแซหวุ่นกี้มาตีเมืองไทยครั้งนั้นแพ้ย่อยยับกลับไปไม่ได้อะไรเลย.

น่า ๑๓๓ “ดำรัศจัดทัพค้า ศึกล้างนางรอง ฯ”

ข้าพเจ้าใช้คำว่าค้าศึกในที่นี้แปลว่าไปทำศึก คำว่าค้าแปลว่าไป เป็นคำไทยเดิม ไทยบางจำพวกยังใช้คำนั้นอยู่จนเวลานี้ ไม่มีคำว่า ไป ข้าพเจ้าได้อธิบายคำว่า ค้า คา กา แปลว่า ไป ในปาฐกถาประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว.

ในเตลงพ่ายมีตัวอย่างคำนี้ในโคลงบาทที่ว่า

“แนะที่ควรเสด็จค้า เศอกไซร้ไกลกรุงฯ”

คำว่าค้าเศอกนั้น สมเด็จพระปรมานุชิตจะได้ทรงหมายว่าไปทำศึกหรือซื้อขายศึก ก็แล้วแต่ผู้อ่านในปัจจุบันจะเดาพระมติของท่าน แต่ในสามกรุงนี้ข้าพเจ้าใช้ค้าศึก หมายความว่าไปทำศึก เหมือนดังใช้แต่งแง่ หมายความว่าแต่งตัวฉนั้น.

น่า ๑๓๕ “๏ งามสมสมเด็จเจ้า พระยา
มหากระษัตริย์ศึกนา มไท้
เศิกศักดิ์อัครฐานา ดิเรกรุ่ง เรืองเฮย
เครื่องยศทุกอย่างได้ ดั่งเจ้าต่างกรม ฯ”

ที่ว่าพระเจ้ากรุงธนทรงเลื่อนเจ้าพระยาจักรี เป็นสมเด็จเจ้าพระยากระษัตริย์ศึกนี้ กล่าวตามพระราชพงษาวดารฉบับหมอบรัดเล แลหนังสืออื่น ๆ เช่น พระราชวิจารณ์ อันเป็นพระราชนิพนธ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น พระราชพงษาวดารฉบับพันจันท์ น่า ๘๓ ใช้คำว่า “พระราชทานเจ้าพระยาจักรี ให้เป็นสมเด็จพระเจ้ากษัตริย์ศึก” แลน่า ๘๘ ว่า “พระเจ้ากษัตริย์ศึกเป็นจอมทัพหลวง”

แต่พระราชพงษาวดาร ที่เรียกวาฉบับพระราชหัตถ์เลขากล่าวเพี้ยนกันไปกับฉบับอื่น ๆ เพราะไม่มีคำว่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตอยู่.

สามกรุงใช้คำว่า สมเด็จเจ้าพระยา ดังที่ใช้กันตามหลักฐานตลอดมาจนรัชกาลที่ ๔ คำสมเด็จพึ่งจะมาหลุดไปใน “ฉบับพระราชหัตถเลขา” เล่ม ๒ ซึ่งพิมพ์ในรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๗๕) เหตุที่สมกับจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยานั้นมีอย่างน้อย ๒ อย่าง อย่างหนึ่งทรงศักดินา ๓๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งไม่ใช่ศักดินาเจ้าพระยา (เจ้าพระยาเพียง ๑๐,๐๐๐ ไร่) อีกอย่างหนึ่งเครื่องยศที่ทรงรับพระราชทานคราวนั้น ไกลกับเครื่องยศเจ้าพระยามาก แลไกลกับเครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยาอื่น ๆ ดังจะนำพิมพ์ไว้ต่อไปนี้

ก่อนเวลาที่ข้าพเจ้าเขียนนี้ระหว่างปีหนึ่งกับสองปี ได้มีโจษกันแพร่หลายในกรุงเทพว่า จะมีสมเด็จเจ้าพระยา มีผู้ไปสืบที่กรมคลังว่า เครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยามีอะไรบ้าง ผู้ที่ไปถามเป็นผู้ที่เจ้าพนักงานจำเป็นจะต้องตอบ แต่สมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้ายถึงพิราลัยกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว เจ้าพนักงานไม่ทราบ แลชรอยจะเป็นคนใหม่ไม่รู้จักเปิดตำรา จึ่งต้องออกเที่ยวตามเจ้าพนักงานคลังเก่าที่ปลดชรานานแล้วไปถาม ผู้ปลดชราบอกหรือค้นตำราให้ดู ก็เป็นอันได้รายชื่อเครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยาไปแจ้งแก่ผู้ถามอันเจ้าพนักงานไม่ตอบไม่ได้.

ในที่นี้จะคัดรายชื่อเครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ๓ องค์มาพิมพ์ไว้ เมื่อใครอยากรู้ในภายน่าจะได้ไม่ต้องวิ่งสืบให้ประเจิดประเจ้อ สมเด็จเจ้าพระยาทั้งสามนั้นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ รายชื่อเครื่องยศของท่านทั้งสามนี้ ข้าพเจ้าได้มาจากอธิบดีกรมพระคลังในรัชกาลที่ ๖ คัดตามบาญชีในกรมนั้น ซึ่งอาจค้นยากในเวลาต่อไป.

เครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ดังนี้

๑. มาลาเครื่องทอง

๒. เสื้อทรงประพาศ

๓. ดาบฝักทอง

๔. พานหมากทองคำเครื่องในพร้อม เครื่องในลงยาปากแลเชิง

๕. คนโททองคำ

๖. กระโถนทองคำ

๗. หีบไม้แดงลงยา (คือหีบหมากทองคำลงยา)

๘. ที่ชาทองคำ

เครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยาตามบาญชีข้างบนนี้ ก็เหมือนกับเครื่องยศเจ้าพระยานั่นเอง แปลกแต่เครื่องในพานหมาก (หมายเลข ๔) เปลี่ยนเป็นปากแลเชิงลงยา กับเพิ่มที่ชาทองคำ มีถาด ปั้น จานรองปั้น” จุ๋น ถ้วย สำรับหนึ่ง (หมายเลข ๘)

เครื่องยศสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกดังนี้ (ตัวสกดตามต้นฉบับ)

๑. กระบี่ฝักทองคำ ซ่นรูปศีศะนาคราช

๒. พานหมากหลังเจียดทองคำ จำหลักลายกุดั่นสรรพางค์

๓. เต้าน้ำทองคำมีพานรอง

๔. พานรองร่วมทองคำ

๕. กระโถนทองคำ

๖. โต๊ะเงินท้าวช้างคาวหวานคู่หนึ่ง

๗. ถมปักปูมดอกใหญ่ลายนาคราชก้านแย่ง มีรูปเทพนมภกหนึ่ง

๘. ประคำทองคำสายหนึ่ง

๙. แหวนนพเก้า

๑๐. เสื้อทรงประภาษเข้มขาบ

๑๑. มาลาเส้นสเทิน

๑๒. เสื้อสนอบเข้มขาบ

๑๓ กลดคันยาวมีระบายสองชั้นยอดปิดทองคำเปลว

๑๔. เสลี่ยงงา

๑๕. แคร่กันยามีพนัก

๑๖. ทวนภู่แดงคู่หนึ่ง

๑๗. ของ้าวช้างกัลเม็ด

๑๘. กั้นหยั่นปักกรีฝักเงินก้าไหล่ทอง

๑๙. ดาบญี่ปุ่นฝักนาก

๒๐. ปืนท้ายช้างสองบอก

๒๑. หอก

๒๒. ง้าว

๒๓. กูบช้างสีน่าลงรักเขียนลายทองดาวกระจาย

๒๔. เรือกันยาพนักปักทอง

๒๕. เรือขมวดยา

๒๖. เรือปากปลากันเชียง สำหรับเป็นเรือนำออกนอกพระนครคู่หนึ่ง

๒๗. ธิวแพรสีต่างๆ สำหรับตามหลังเสลี่ยง ๑๒๕ ธิว

น่า ๑๓๗ “เรือปราพาศดอกสร้อย”

เรือประพาศคือเรือสักรวา

น่า ๑๔๒ “ภาษิตสองพันปี กล่าวไว้”

ภาษิตที่กล่าวไว้ประมาณสองพันปีมาแล้วนี้ คือคำกล่าวในภาษาลตินว่า Delirant reges plectuntur Achivi (Horace) แปลเป็นอังกฤษว่า Kings go mad, the Greeks suffer ความหมายแห่งภาษิตดังที่ว่าไว้ในโคลงประเทศใดเจ้าแผ่นดินเป็นบ้า ราษฎรก็ได้ทุกข์.

น่า ๑๔๕ “รีบเต้าตามทาง นาทย์นา ฯ”

ทางนาทย์แปลว่าทางแม่น้ำ นาทย์มาจากศัพท์นที คือแม่น้ำ ไม่ใช่ นาท ที่แปลว่าเสียง.

น่า ๑๔๖ “เอหิ ภิกขุ เหมาะ มาแม่น”

เมื่อพระเจ้ากรุงธนทรงบอกแพ้แก่พระยาสรรค์แล้ว เขาเขาก็เชิญให้ทรงผนวช ท่านทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า “เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว” หมายถึงคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อทรงรับผู้ขอผนวชเข้าเป็นภิกขุ.

น่า ๑๔๘ “พระยาสรรค์รู้เยี่ยง สั่งเตรียมประโคม”

ประโคมเวลาพระองค์เจ้าประสูติตามประเพณี.

น่า ๑๔๘ “มันสุดชาติแล้ว”

คำนี้ว่าเป็นคำตรัศของพระเจ้ากรุงธน เมื่อมีผู้ไปทูลว่าพระยาสรรค์สั่งให้เตรียมประโคมประสูติพระเจ้าลูกเธอ.

น่า ๑๕๓ “ว่าประจุออกเถิดไท้”

คำนี้ว่าเป็นคำที่เจ้ารามลักษณ์แวะเข้าไปร้องทูลเชิญให้ลาสิกขาบทออกรบแก้เผ็ด เมื่อพระสงฆ์สึกจากสมณเพศ คำแต่ก่อนใช้ว่าประจุออก เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินใครใช้คำนี้.

น่า ๑๕๓ “ตรัศแก่โอรสน้อย เนาขนอง ท่านนา”

ราชบุตรน้อย ที่อยู่กับพระเจ้ากรุงธนในอุโบสถวัดแจ้งในขณะนั้นคือเจ้าทัศพงษ์ โอรสเจ้าจอมมารดาฉิมธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระพุทธยอดฟ้าพระราชทานยศให้เจ้าทัศพงษ์ เป็นพระพงษ์นรินทร์ (พระ เป็นคำบรรดาศักดิ์ เรียกเจ้าราชนิกูล บางทีเรียก เจ้า ในรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเรียกว่า หม่อม)

เวลาที่กล่าวในโคลงบทนี้ พระพงษ์นรินทร์อายุ ๑๒ ขวบ คำที่เจ้ารามลักษณ์ไปร้องทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวช กับคำที่ตรัสตอบเจ้ารามลักษณ์ อีกทั้งคำที่ตรัศแก่พระพงษ์นรินทร์นั้น พระพงษ์นรินทร์เล่าภายหลังคุณปลัดเสงี่ยม ธิดาพระพงษ์นรินทร์เล่าต่อมา (ดูพระราชวิจารณ์)

น่า ๑๕๖ “เสียแรงแข่งคณามิตร เม็งม่าน”

คณามิตรคือคณะอมิตร นัยหนึ่งเหล่าศัตรู

น่า ๑๕๖ “ ร่วมราษฐ์ปราศทุกข์ถ้วน ทุกท้องทำเล ฯ”

คำว่าราษฐ์ไม่มีในปทานุกรม แต่หนังสือไทยใช้มาก แลมีในราชทินนาม เช่น เจ้าบุรีเนาวราษฐ์ (เจ้าเชียงใหม่) พระยาบุรีเนาวราษฐ์ ตำแหน่งปลัดกรมพระมงกุฎเกล้า ฯ เมือยังทรงกรมในตำแหน่งรัชทายาท แลพระเทียรฆราษฐ์ เป็นต้น.

คำว่าราษฐ์นี้ คือคำเดียวกับรัฏฐ์ที่มาจากภาษาบาลี แลคำเดียวกับราษฎร์ที่มาจากภาษาสํสกฤต คำว่าราษฎรนั้นแปลว่าแว่นแคว้นก็ได้ แปลว่าชาวแว่นแคว้นก็ได้ ไทยเราใช้คำราษฎรแปลว่าชาวแว่นแคว้น เมื่อใช้หมายความว่าแว่นแคว้นก็เปลี่ยนตัวสกดเป็นราษฐ์ เพื่อให้แปลกกัน แลให้เข้าใจทันที แลในสามกรุงก็ใช้เช่นนั้น.

คำชี้แจงนี้ดูเหมือนจะซ้ำกับที่กล่าวไว้ในแห่งอื่นแห่งภาคผนวกนี้.

น่า ๑๕๘ “ผาดผุดดุจดังผู้ ผ่านฟ้ามาดิน ฯ”

ผ่านฟ้า ผู้แปลๆ ว่าผู้ครองฟ้าคือพระอินทร์

น่า ๑๕๙ “กูบสี่น่ายรรยง”

กูบสี่น่าเป็นกูบพระราชทานเมื่อเป็นสมเด็จเจ้าพระยา รูปภาพพระราชพงษาวดารเขียนในรัชกาลที่ ๕ เขียนช้างพระที่นั่งครั้งนั้น เป็นช้างพลายผูกกูบสี่น่า ซึ่งย่อมจะเป็นสง่าในการเดินทัพ อันที่จริงพระราชพงษาวดารมิได้ระบุว่า ทรงช้างพลายหรือพังเทพลีลา แลผูกกูบชนิดใด.

น่า ๑๖๐ “ฝ่ายหลวงสรวิชิต นามหน”

หลวงสรวิชิต (หน) ได้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีในรัชกาลที่ ๑ มักเรียกกันว่าเจ้าพระยาพระคลังหน ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ ท่านผู้นี้เป็นกวีผู้ควรเป็นที่นับถือและเลื่องชื่อในทางร้อยแก้วด้วย มีเรื่องเจ้าพระยาพระคลังหนเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าต่อๆ กันมา ไม่จำเป็นจะจริงทั้งหมดแต่อาจมีเค้า เป็นเรื่องเกล็ดอันไม่เกี่ยวกับสามกรุง แต่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้

วันหนึ่งพระพุทธยอดฟ้า มีพระราชดำรัศให้เจ้าพระยาพระคลังหนร่างสารตราฉบับหนึ่ง เจ้าพระยาพระคลังหนรับรับสั่งไปลืมเสีย ต่อมาอีกสองสามวันตรัศเตือนว่าโปรดให้ร่างสารตราจนป่านนี้ยังไม่แล้วอีกหรือ เจ้าพระยาพระคลังหนตกใจลนลานหยิบสมุดออกพลิกอ่านร่างถวาย ตรัศว่าดีแล้ว แต่จะต้องแก้สักแห่งสองแห่ง ยื่นพระหัตถ์รับสมุดเปล่าทั้งเล่ม ไม่มีตัวหนังสือเลย ทรงเอาสมุดฟาดศีศะเจ้าพระยาพระคลังหน ตรัศว่าให้ไปเขียนมาใหม่ให้เหมือนกับที่อ่านปากเปล่าถวาย ถ้าไม่เหมือนจะลงพระราชอาญา เจ้าพระยาพระคลังหนกลับไปเขียนร่างสารตราลงในสมุดเล่มเดียวกันกลับเข้าไปอ่านถวาย ทรงฟังตลอดแล้วตรัศว่าเหมือนกันกับที่อ่านถวายปากเปล่า เป็นอันว่าแก้ตัวพ้นโทษได้.

เจ้าพระยาพระคลังหนไม่มีบุตรรับราชการเป็นขุนนาง ไม่มีนามสกุลสืบเชื้อฝ่ายชายที่ทราบกันในเวลานี้ แต่มีธิดาชื่อนิ่มรับราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ ๒ เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้ามั่ง กรมสมเด็จพระเดชาดิศรผู้เป็นต้นสกุลเดชาติวงศ์.

น่า ๑๖๓ “ธรรมมณฑิรท่านสร้าง ไพศาล”

อยากจะเตือนผู้อ่านให้แน่ไว้สักหน่อยว่า โคลงบาทนี้ต้องอ่านธรรมมณฑิรว่า ธรรมะมณฑิระ แต่อ่านสำเนียงประหลังเบาที่สุด.

น่า ๑๖๓ “ทองใหญ่ทองน้อยทั้ง ฉบับตู้ครูเดิม ฯ”

พระไตรยปิฎกจานบนใบลานที่สร้างครั้งนั้น ฉบับสำคัญเรียกว่าฉบับทองใหญ่ อีกฉบับหนึ่งเป็นรอง เรียกว่าฉบับทองน้อย ส่วนฉบับที่ทำขึ้นเป็นร่างก่อนจานลงฉบับทองนั้นเรียกกันว่าฉบับครูหรือฉบับครูเดิม เคยเก็บในตู้กำมลอในหอมณเฑียรธรรม ฉบับทองใหญ่แลฉบับทองน้อยเก็บในตู้มุก ตู้เหล่านั้นยกออกจากหอมณเฑียรธรรมไม่ได้ คับประตู.

ที่กล่าวนี้ตลอดเวลาที่การรักษาหอมณเฑียรธรรม แลหนังสือในหอเป็นน่าที่ของราชบัณฑิต ราชบัณฑิตเป็นพวกบาเรียญที่ลาสมณเพศแล้วรับราชการเป็นขุนนางเวลาสอบไล่พระปริยัติธรรม ราชบัณฑิตมีน่าที่เป็นผู้เปิดคัมภีร์ที่ใช้ในเวลาสอบ ในรัชกาลที่ ๕ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์เป็นอธิบดีกรมราชบัณฑิต ขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นแล้ว หอมณเฑียรธรรมขึ้นอยู่กับสภานั้นมาจนยุบสภา.

น่า ๑๖๔ “ต้องประมวลกฎหมาย แม่นไว้”

คำว่า ประมวลกฎหมาย ยังไม่ได้ใช้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เป็นคำใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงจัดให้ทำโค้ดกฎหมายใหม่ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ คำว่าประมวลก็คือประมูล ทรงเปลี่ยนมูลเป็นมวล เพื่อจะใช้เป็นคำพิเศษใช้แปลคำอังกฤษว่า โค้ด (มูลแปลว่าราก ว่าเค้า ว่าที่ตั้งเป็นต้น) ประมวลคำใหม่นี้ต่างกับประมวญคำเก่าซึ่งแปลว่ารวม.

น่า ๑๖๔ “ตราสามอร่ามลาย ทุกเล่ม”

กฎหมายที่รวบรวมในรัชกาลพระพุทธยอดฟ้านั้น มีตราชาด ๓ ดวงประทับทุกเล่ม จึงเรียกกันว่ากฎหมายฉบับตรา ๓ ดวง.

น่า ๑๖๖ แต่งตามคำปฤกษา ลูกขุน ณ ศาลา ณ สานหลวง”

คำปฤกษาของลูกขุน ณ ศาลาลูกขุน ณ สานหลวงครั้งนั้น นอกจากมีใจความน่ารู้ในพงษาวดาร ยังแสดงสำนวนขบวนความอันน่าสังเกต จึ่งนำมาพิมพ์ไว้ในที่นี้

“วัน ๑ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก พระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกท้องพระโรง เสด็จเหนือจัตุรมุขสิงหาษสุริยาพิมานในพระราชมณเฑียรสถาน.

“มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุระสิงหนาทดำรัศเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสถิตยในพระราชศิริสวัสดิปราบฎาสวรรยาภิเศก ถวัลยราชไอสูริยสมบัติเสร็จราชการแล้ว แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินทำการสงครามมีความชอบมาแต่หลังนั้น จะควรบำเหน็จความชอบประการใด อนึ่ง ขนบบูระราชประเพณีแต่ก่อน หัวเมืองเอกโทตรีจัตวาฝ่ายเหนือขึ้นแก่สมุหนายก ฝ่ายหัวเมืองเอกโทตรีจัตวาปากใต้ขึ้นแก่สมุหพระกระลาโหม แลว่าสมุทพระกระลาโหมแต่ก่อนเป็นโทษ จึงยกหัวเมืองปากใต้มาขึ้นแก่กรมท่า ก็ล่วงโทษล่วงกษัตราธิราชเนิ่นนานมาแล้ว ครั้งนี้สมุหพระกระลาโหมมีความชอบ ฝ่ายกรมท่าก็มีความชอบ และขอแบ่งหัวเมืองปากใต้ให้ขึ้นกระลาโหมบ้าง คงอยู่กรมท่าบ้าง แลที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนั้นหามีตำแหน่งใดว่ากล่าวไม่ จะยกตำแหน่งที่ทุกขราษฎรให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชตั้งแต่งว่ากล่าวจะเป็นประการใด ให้ลูกขุน ณ ศาลา ณ ศาลหลวงปฤกษาให้แจ้ง.

“ข้าพระพุทธเจ้าพระยาพิพัฒนโกษา พระยาราชภักดี พระยาราชสุภาวดี พระยามหาอำมาตย พระยาสุรเสนา ลูกขุน ณ ศาลา ๕ คน พระครูมหิธร พระครูพิเชฐ พระครูพิราม ขุนหลวงพระไกรศรี น ลูกขุน ณ ศาลหลวง ๔ คน รวม ๙ คน ขอพระราชทานปฤกษาด้วยเกล้า ฯ พร้อมกันว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเมืองนครราชสีมาได้โดยเสด็จการพระราชสงครามหลายครั้ง แลครั้งนี้รู้ว่าพระนครธนบุรีเป็นจุลาจลก็องอาจรีบเสด็จลงมาถึงพระนครธนบุรีก่อนเสด็จ ครั้นอยู่มา ณ วัน ๓ เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ ปีขาน จัตวาศก อ้าย...... อ้าย...... อ้าย...... กับข้าราชการคบคิดกันจู่โจมตีพระเจ้าหลานเธอแล้วจุดไฟในที่ข้าศึกภายเดียว หากสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเข้มแขงชำนิชำนาญในการณรงค์ แล้วเดชะพระเดชพระเดชานุภาพบารมีสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวปกเกล้า ฯ จึ่งต่อรบสู้อ้าย...... แต่เวลาติี ๑๐ ทุ่ม จนรุ่งจนบ่าย ๒ โมงเศส พวกอ้าย...... แตกพ่าย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ สามารถเอาไชยชำนะไว้ได้ แล้วจับได้อ้าย...... แลพวกอ้าย...... เป็นอันมาก ขอพระราชทานตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ให้เป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศ ให้มีพระเฉลี่ยงเครื่องสูงสามชั้นคันประดับมุข เรือดั้งแห่คู่หนึ่ง ตามตำแหน่งพระราชนัดามีความชอบ”

(เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศทรงรับกรมแล้ว ภายหลังพระพุทธยอดฟ้ามีพระราชดำรัศว่ายังไม่พอแก่ความชอบที่ได้ช่วยบ้านเมือง จึงทรงสถาปนาให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข คือกรมพระราชวังหลัง)

“อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าหลานเธอสามพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่ง รวม ๔ พระองค์นั้น ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามมาแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ได้ไปปราบนานาประเทศทุกครั้งมีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอให้เป็นกรมหลวงธิเบศบดินทร กรมหลวงนรินทรรณเรศ กกรมหลวงเทพหริรักษ (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเปน) กรมหลวงจักรเจษฎา พระราชทานเครื่องยศสำหรับขัติยราชตระกูลพระราชนัดามีความชอบ.

“อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ประถมยังทรงพระเยาวอยู่ แลทรงพระอุสาหโดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามมีความชอบ ขอพระราชทานตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชทานเครื่องสำหรับพระราชโอรสผู้มีความชอบ.

“อนึ่ง นายสนเป็นข้าใต้ลอองธุลีฯ มีความอุสาหจงรักภักดิีทำราชการช้านานจนเสร็จงาน การพระราชสงครามแห่งใดก็ได้โดยเสด็จ ฯ ทำราชการฉลองพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณทุกครั้ง มิได้เว้นว่าง ก็ได้ราชการไม่มีสิ่งเคืองใต้ลอองธุลี ฯ แต่ครั้งหนึ่งก็หามิได้ มีความชอบมาก จะให้ไปผ่านไปครองเมืองอันใหญ่ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะไกลใต้ลอองธุลี ฯ นัก ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ว่าที่สมุหนายกทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ใกล้ใต้ลอองธุลีฯ ให้มิีสัตโทนคนใช้เฉลี่ยงคานหามเครื่องอุปโภคบริโภคตามอย่างสมุหนายกแต่ก่อน.

(ท่านผู้ที่ได้เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกนี้ ในแผ่นดินพระเจ้าธนบุรีเป็นพระอักขรสุนทรเสมียนตรามหาดไทย พึงสังเกตว่าคำปฤกษาลูกขุนครั้งนี้เรียกว่านายสน ไม่ออกชื่อว่าพระอักขรสุนทร จะว่าบรรดาศักดิเก่าเลิกหมดก็ไม่ได้ เพราะคนอื่น ๆ ก็ออกชื่อบรรดาศักดิเดิมแทบทั้งนั้น)

“อนึ่ง พระยาเพชรบุูลยสัตยซื่อ สู้เสี่ยงชีวิตทำราชการงานสงครามในใต้ลอองธุลี ฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าแต่เดิมมาความชอบมาก แล้วก็เป็นบุตรพระยากระลาโหมแต่ก่อน ขอพระราชทานตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา พระราชทานเครื่องยศให้มีสัตโทนคนใช้เฉลี่ยงคานหามเครื่องอุปโภคบริโภคตามอย่างสมุหพระกระลาโหมแต่ก่อน ซึ่งเมืองปากใต้ขึ้นแก่กระลาโหมยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น บัดนี้กระลาโหมมีความชอบ ขอพระราชทานแบ่งหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตวันตกซึ่งขึ้นกรมท่ากรมมหาดไทย ยกมาขึ้นกรมพระกระลาโหม เมืองกรมท่าเมืองนครศรีธรรมราช ๑ เมืองสงขลา ๑ เมืองพัทลุง ๑ เมืองถลาง ๑ เมืองไชยา ๑ เมืองประทิว ๑ เมืองชุมภร ๑ เมืองคลองวาน ๑ เมืองกุย ๑ เมืองปราน ๑ เมืองนาวศรี ๑ เมืองอำมฤท ๑ รวม ๑๒ เมือง เมืองมหาดไทยเมืองเพชบุรี ๑ รวมเป็น ๑๓ เมือง ให้คงขึ้นอยู่กรมท่า เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมืองสาครบุรี ๑ เมืองชล ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองบางละมุง ๑ เมืองจันทบูลย์ ๑ เมืองกราด ๑ รวม ๘ เมือง เมืองขึ้นมหาดไทยยกมาขึ้นกรมท่า เมืองสมุทสงคราม ๑ รวมเป็น ๙ หัวเมือง ให้ยกเอาเมืองกาญจนบุรี เมืองไชยโยค ซึ่งขึ้นกรมท่าเมืองฉเชิงเซาซึ่งขึ้นกรมพระกระลาโหม พระราชทานให้ไปขึ้นมหาดไทย ให้ทำราชการให้เสมอกันจึงควรด้วยยศถาศักดิ แล้วจะได้ราชการสดวกให้เจ้าเมืองกรมการทำตามรับสั่งนี้จงทุกประการ.

“อนึ่ง หลวงรองเมืองจงรักษภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลี ฯ ได้โดยเสด็จ ฯ ทำการสงครามหลายครั้งมีความชอบ ทั้งเป็นคนเก่ารู้ขนบราชการในกรมพระนครบาล ขอพระราชทานตั้งให้เป็นพระยายมราช พระราชทานเครื่องยศ ให้เฉลี่ยงคานหามสัตโทนคนใช้โดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง พระยาธรรมานั้นได้โดยเสด็จ ฯ ทำการสงครามแต่เดิมมาแล้วก็สัตยซื่อสุจริตมั่นคงต่อใต้ลอองธุลี ฯ มีความชอบมาก ครั้นจะยกไปเป็นกรมอื่นนั้นไม่ได้ ด้วยพระยาธรรมารู้ขนบราชการชัดเจนในกรมวังอยู่แล้ว ขอพระราชทานให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา ให้มีเฉลี่ยงคานหามสัตโทนคนใช้โดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง นายปิ่นข้าหลวงเดิมได้โดยเสด็จ ฯ ทำการสงครามมาหลายครั้ง ต้องสาตราวุธข้าศึก แล้วครั้งนี้คิดอ่านสื่อสวนชวนนายทับนายกองอานาประชาราษฎร มาตีเอาพระนครธนบุรีได้ มีความชอบมากขอพระราชทานตั้งให้เป็นพระยาพลเทพ พระราชทานเครื่องยศให้ม่ีเฉลี่ยงคานหามสัตโทนคนใช้ตามถานาศักดิ.

“อนึ่ง หลวงสรวิชิตจงรักษภักดีสัตย์ซื่อ หมายอยู่เป็นข้าใต้ลอองธุลี ฯ มาช้านาน แล้วก็ได้โดยเสด็จ ฯ การสงคราม มาแต่ก่อน แลครั้งนี้ได้ทำราชการด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษเทเวศจนสำเร็จราชการ แล้วได้แต่งคนเอากิจราชการหนักเบาในเมืองธนบุรีออกไปแจ้งใต้ลอองธุลี ฯ ถึงด่านพระจาฤกนั้นมีความชอบมาก ขอพระราชทานเอาหลวงสรวิชิตเป็นพระยาพระคลัง พระราชทานเครื่องยศให้มีเฉลี่ยงคานหามคนใช้โดยถานาศักดิ.

(จัตุสดมภ์ตำแหน่งคลังคนแรกในรัชกาลที่ ๑ คือเจ้าพระยาพระคลังสนซึ่งเป็นพระยาพิพัฒโกษาครั้งกรุงธน หลวงสรวิชิต หน ได้เป็นพระยาพิพัฒโกษาแทน ต่อเมื่อโปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลัง สน ไปเป็นตำแหน่งอื่นแล้ว จึ่งเลื่อนพระยาพิพัฒโกษา หน ขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ทั้งนี้ควรสันนิษฐานว่าบางตำแหน่งก็มิได้ทรงตั้งตามคำปฤกษา)

“อนึ่ง นายบุญนาก หลวงสุระ หลวงฉะนะ เป็นข้าใต้ลอองธุลี ฯ มาแต่เดิม แล้วได้โดยเสด็จ ฯ ทำราชการสงครามเข้มแข็ง แล้วก็เป็นนายทัพนายกอง หลวงสุระ หลวงฉะนะ ต้องสาตราวุธข้าศึกคนละครั้งสองครั้งบ้าง ครั้งนี้เล่าก็คิดอ่านป่าว ร้องทุกขราษฎรมาตีพระนครธนบุรีมีความชอบ ขอพระราชทานตั้งให้นายบุญนากเป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต รักษากรุง ฯ ให้หลวงฉะนะเป็นพระยาสรรคบุรี หลวงสุระเป็นพระยาศรีราชเดโช พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง นายแสงมีความจงรักษภักดีต่อใต้ลอองธุลี ฯ ได้ทุูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือลับให้ทรงพระราชดำริหรักษาพระองค์รู้กิจการ แล้วตัวก็ฝ่ามาให้ใช้สอยกรากกรำทำราชการอยู่ในใต้ลอองธุลี ฯ หาได้รักกายรักชีวิตของตนไม่ มีความชอบ ขอพระราชทานตั้งให้นายแสงเป็นพระยาทิพโกษา พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง นายหงเสมียนเป็นคนเก่า สัจซื่อสุจริต ได้ทำราชการมาแต่เดิม แล้วรู้ขนบราชการใช้สอยสิ่งใด้ได้ดั่งพระไทย มีความชอบมาก ขอพระราชทานให้นายหงเป็นพระยาพิพิธไอสุรยจางวางชาวที่ ขอให้มีเฉลี่ยงคานหามแลเครื่องอุปโภค พระราชทานเกดจุ้ย ให้เป็นภรรยาพระยาพิพิธไอสุรย.

“อนึ่ง ขุนโลกทีป กาไชโยค ๒ คน จงรักษภักดี ชำระพระชันษาทูลเกล้า ฯ ถวายทำนายถูกต้องแต่เดิมจนเสร็จฯ ขึ้นปราบฎาภิเศก มีความชอบ ขอพระราชทานตั้งขุนโลกทีปเปนพระโหราธิบดี กาไชโยคเปนขุนโลกทีป ให้พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง หลวงพิเรนทร หลวงภักดีภูธร หลวงภักดีสงคราม หลวงสัจจา หลวงไชยณรงค เป็นข้าใต้ลอองธุลี ฯ แต่เดิมมา ได้โดยเสด็จการสงครามเข้มแขง เป็นนายทัพนายกองต้องสาตราวุธข้าศึกแทบบันดาตายคนละครั้งหนึ่งสองครั้ง ได้ราชการมีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้เป็นอาษาหกเหล่า ให้หลวงพิเรนทรเปนพระยาท้ายน้ำ หลวงภักดีภูธรเปนพระยารามกำแหง หลวงภักดีสงครามเปนพระยาพิไชยรณฤทธิ หลวงสัจจาเป็นพระยาวิชิตณรงค หลวงพิไชยณรงคเป็นพระยาพิไชยสงคราม พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง นายบุญนาก ๑ หลวงกลาง ๑ ขุนป้องพลขันธ์ ๑ นายทองอยู่ช่างทอง ๑ ขุนกลาง ๑ ขุนจุ้ย ๑ ขุนยกรบัตร ๑ ขุนอิน ๑ หลวงชำนิ ๑ นายตรีเสมียน ๑ นายบุญจัน ๑ นายทองศุก ๑ หลวงพลเผ่นทยาน ๑ นายปานเสมียน ๑ นายทองกอง ๑ นายทองดี ๑ หมื่นศรีเสนา ๑ หลวงราม ๑ หมื่นไชยเสนี ๑ นายสาเสมียน ๑ นายสุดใจ ๑ นายบุญเมือง ๑ หลวงวัง ๑ หลวงมหาพิไชย ๑ ขุนสิทธิรักษ ๑ หมื่นสนิท ๑ รองจ่า ๑ นายสุด ๑ นายสม ๑ นายมูน ๑ รวม ๓๐ คน ทำราชการมาช้านาน ได้โดยเสด็จ ฯ การสงครามไปปราบอริราชข้าศึกนานานุประเทศมีไชยชำนะหลายครั้ง มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้นายบุญนากเป็นพระยาอุทัยธรรม หลวงกลางเป็นพระยาราชสงคราม ขุนป้องพลขันธเปนพระยาจุลาราชมนตรี ขุนกลางเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ ขุนจุ้ยเป็นพระยาอนุชิตราชา ขุนยกรบัตรเป็นพระยารักษมณเฑียร หลวงอินเป็นพระยาเพชรพิไชย หมื่นชำนิเป็นพระศรีเสาวภาหะ นายตรีเสมียนเป็นพระยาศรีพิพัฒน นายบุญจันเป็นพระยาวิชิตภักดีจางคลังในซ้าย หลวงพลเผ่นทยานเป็นพระยาพิพิธเดชะ นายปานเสมียนเปนพระเทพวรชุน นายทองกองเปนพระสมบัติธิบาล นายทองศุกเปนพระเสนาพิมุข นายทองดีเปนจมื่นศรีเสาวรักษ หมื่นศรีเสนาเป็นจมื่นไวรวรนารถ หลวงรามเป็นพระกำแหง หมื่นไชยเสนีเป็นหลวงราชนิกูล นายสาเสมียนเป็นพระรองเมือง นายสุดใจเป็นพระพิเรณเทพ นายบุญเมืองเป็นพระมหาเทพ หลวงวังเป็นพระจันทาทิต หลวงมหาพิไชยเป็นพระจ่าแสน ขุนสิทธิรักษเป็นหลวงเทพสมบัติ หมื่นสนิทเป็นหลวงราชวงษา รองจ่าเปนหลวงอินทรมนตรี นายสุดเป็นหมื่นทิพรักษา นายสมเป็นหมื่นราชาบาล นายมูนเป็นหมื่นราชามาตย์ หมื่นสนิทเป็นพระมหามนตรี ให้พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ.

“อนึ่ง พระพิมาย หลวงนรา พระราชบุรี พระวิเชียร หลวงพลพูล หลวงพิทักษเสน่หา หลวงสิทธิสงคราม หลวงเมือง นายเสม หลวงศรีสงคราม ขุนศรีภักดี พระไชยบาดาร หลวงไชยณรงค ขุนวิเสศ หมื่นวิเสศ หลวงณรงค์ หลวงเทียม ขุนเพ่ง ขุนเทพอาญา หลวงปลัด เมืองพิมมาย หลวงนา ขุนด่าน เป็นข้าใต้ลอองธุลี ฯ แต่เดิมมา ได้โดยเสด็จ ฯ การสงครามรบพุ่งข้าศึก ได้ราชการหลายครั้งมีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้พระพิมายเป็นพระยานครราชสีมา หลวงนราเป็นพระยาพิศณุโลกย พระวิเชียรเป็นพระยาโศกโขไทย หลวงพลพูลเป็นพระยาเพชบุรี หลวงพิทักษเสน่หาเป็นพระยานนทบุรี หลวงสิทธิสงครามเป็นพระยาประจิณบุรี หลวงเมืองเป็นพระวิไชย นายเสมเป็นพระยาสมุทรสงคราม หลวงศรีสงครามเป็นพระพรหมบุรี ขุนศรีภักดีเป็นพระอินทบุรี พระไชยบาดารเป็นพระยาอ่างทอง หลวงไชยณรงคเปนพระนครสวรรค์ ขุนวิเสศเป็นพระไชยนาท หมื่นวิเสศเป็นพระกาญจนบุรี หลวงณรงคเป็นพระอุไทยธานี หลวงเทียมเป็นพระนครไชยศรี ขุนแพ่งเป็นพระไชยบาดาร ขุนเทพอาญาเปนพระพิชบูลย หลวงปลัดเมืองพิมายเป็นพระพิมาย หลวงนาเป็นพระยาวิจิตร ขุนด่านเป็นพระสวรรคโลกย พระราชบุรีเลื่อนที่เป็นเจ้าพระยาราชบุรี พระราชทานเครื่องยศตามถานศักดิ.

“อนึ่ง นายสังจงรักษภักดีต่อใต้ลอองธุลี ฯ กระตึงกระแตง คุมพัคพวกช่วยรบพุ่งด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศ สำเร็จราชการเอาชีวิตแลกความชอบ ขอพระราชทานตั้งให้เปนพระเทพสุภาวดีเจ้ากรม พระราชทานเครื่องยศตามถานาศักดิ.

“อนึ่ง พระยาจักรโตโหนได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการสงครามมาก็หลายครั้ง แล้วก็สัตยซื่อมั่นคงจงรักษภักดีต่อใต้ลอองธุลีฯ แล้วราชการครั้งนี้พระยาจักรโตโหนก็ซื่อตรงหาเอาใจแปรผันไม่ ขอพระราชทานตั้งให้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักติ แล้วให้ยกเอาที่ตำแหน่งทุกขราษฎรทุกหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือมาขึ้นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ได้ตั้งแต่งว่ากล่าวสืบไป ขอให้มีเฉลี่ยงคานหามสัตโทนคนใช้ตามตำแหน่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ขอเดชะ”

(สำเนาคำปฤกษาของลูกขุนณสานหลวงแลลูกขุนณศาลาในรัชกาลที่ ๑ ตามข้างบนนี้คัดจากหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ แผ่น ๓ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุญ นพศก ๑๒๔๙ เข้าใจว่าจะได้เปลี่ยนตัวสกดแปลกไปจากฉบับเดิมหลายแห่ง)

น่า ๑๖๖ “มหาเสนา (ปลี) กลาโหม”

ท่านผู้นี้เป็นบุตรเจ้าพระยากลาโหม ในแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ซึ่งเรียกกันสามัญว่ากลาโหมคลองแกลบ มหาเสนา (ปลี) ไม่มีบุตรหลาน แต่มีน้องชายชื่อคุ้ม เป็นพระยาสุรเสนา เรียกกันว่าสุรเสนาแขนทิ้ง บิดาพระราชรองเมืองทองดี ที่กล่าวนี้กล่าวตามหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเคยพิมพ์รวมกันเป็นเล่มสมุดแล้ว แต่สมุดนั้นจะหายากเข้าทุกที จึ่งเก็บใจความมาไว้บ้างในที่นี้ เผื่อผู้อ่านสามกรุงจะอยากทราบว่าใครเป็นใคร.

น่า ๑๖๖ “พระอักขรสุนทร (เดิมนามกรนายสน) ถกลยศเจ้าพระยา รัตนาพิพิธ”

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เป็นต้นสกุลสนธิรัตน.

น่า ๑๖๖ “หนึ่งธรรมา (บุญรอด) ผู้เยี่ยมยอดปรีชา”

ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุลบุณยรัตพันธ์.

น่า ๑๖๖ “นายบุนนากแม่ลา เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต”

นายบุนนากบ้านแม่ลา ที่ทรงตั้งเป็นเจ้าพระยาไชยวิชิตในรัชกาลที่ ๑ นี้ ไม่ปรากฏบุตรหลานฝ่ายชาย จึงเข้าใจว่าไม่มีนามสกุลสืบเหล่ากอมาจนเวลานี้ แต่ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) ว่านายบุนนากแม่ลามีธิดาชื่อพึ่ง เป็นภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ เป็นมารดาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)

น่า ๑๖๖ “มหาโยธาเป็นใหญ่ แก่นายไพรรามัญ”

ทรงตั้งพระยาเจ่งเป็นพระยามหาโยธาก่อน แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาภายหลัง เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นต้นสกุลคชเสนี.

น่า ๑๖๖ “ขจรพระเกียรติ์ตรัจเตร็จ”

คำว่าตรัจเตร็จนี้ข้าพเจ้าไม่เคยฟังครูบอก หรือเคยเห็นในตำราศัพท์เลย เป็นคำใช้บ่อยในอิเหนารามเกียรติ์ เช่นในตอนแต่งองค์ทรงเครื่องแลในตอนชมรถ เป็นต้น เป็นคำสำหรับรับสัมผัสกับเพ็ชร์แลเก็จ หากไม่รู้แน่ว่าแปลว่ากระไรก็เดาใจความได้.

น่า ๑๖๘ “ฝ่ายมลาวประเทศ”

คำว่ามลาวประเทศนี้ ใช้ตามศัพท์ในพระราชพงษาวดาร.

น่า ๑๖๘ “ฝ่ายเจ้าบุญสาร ถูกโถมโหมหาญ”

เจ้าบุญสารคือเจ้าครองเวียงจันทน์ เป็นชนกของเจ้านันทเสนซึ่งกล่าวภายหลัง.

น่า ๑๖๙ “พระเจ้าร่มขาว ก้าวร้าวเต็มที”

พระเจ้าร่มขาว เป็นนามเรียกเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบาง คำว่าร่มขาวตรงกับเสวตรฉัตร ฉัตรแปลว่าร่ม.

น่า ๑๖๙ “เมืองขึ้นสองเมือง เป็นเครื่องบูชา อำนาจพะม่า ในคราเดียวกัน”

ทั้งหลวงพระบางแลเวียงจันทน์ตกไปอยู่ใต้อำนาจพม่าพร้อมกันในครั้งนั้น.

น่า ๑๗๖ “ประหารสุโภโอหัง”

พญาสุโภ คือผู้ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการอยูที่เวียงจันทน์.

น่า ๑๗๙ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ครองประเทศกัมพุช”

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์คนนั้นนามเดิม แบน เป็นต้นสกุลอภัยวงศ์.

น่า ๑๘๐ “ศึกห้าด้าน”

ที่เรียกว่าศึกห้าด้านในสามกรุงนี้ เพราะพม่ายกมาห้าทาง บางทีเรียกในหนังสือว่าศึกลาดหญ้า เพราะรบใหญ่ที่ตำบลนั้น อันที่จริงเมื่อไทยชนะที่ลาดหญ้าแล้ว ยังต้องเสด็จพระราชดำเนินแยกกันไปปราบพม่าทั้งในปักใต้แลฝ่ายเหนือ ดังแจ้งอยู่ต่อไปในหนังสือนี้.

น่า ๑๘๒ “ไป่ประมาทสงคราม เคร่ารู้”

เคร่าแปลว่ารอ ว่าคอย.

น่า ๑๘๒ “ใช้มอญไปสืบด้าว ดลังคะ”

คำว่าตลังครัฎฐ คือแว่นแคว้นเตลงใช้ในมหาสมณศาสนถึงพระสงฆ์ในเกาะลังกาที่ได้อ้างมาแล้ว.

น่า ๑๘๓ “เราฝ่ายอยู่สายใน สืบเนื่อง กันนา”

ที่เรียกว่าสายในนี้เป็นหลักสำคัญในพิชัยสงครามของโลกแต่โบราณ จอมทัพฝรั่งตั้งแต่อาเล็กซานเดอร์มาจนเฟร็ดเดอริคเป็นต้น มักจะเอาชนะได้ด้วยใช้สายใน คือรวมกำลังทุ่มเทเอาศัตรูด้านหนึ่งสำเร็จแล้ว จึงหันไปทำเช่นเดียวกันด้านอื่นต่อไป, ต่อสมัยพระพุทธยอดฟ้ามานโปเลียนก็ใช้การเดินทัพสายในเอาชนะได้มาก.

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ทัพเยอรมันใช้กลยุทธสายในมีชัยตะพัดไป ต่อเมื่อพวกสายนอกสะสมกำลังได้มากกว่า แลช่วยกันล้อมรบรอบด้าน ฝ่ายสายในจึ่งเสียเปรียบ ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า พม่าเป็นสายนอกไม่สามารถจะเอาชนะสายในได้ เมื่อทัพหลวงแตกแล้วทัพอื่น ๆ อีกสี่ด้านก็แพ้ไปทีละรายๆ

น่า ๑๘๕ “ยมราชธรรมา มุ่งก้าว”

นามเจ้าพระยาผู้เป็นแม่ทัพสองนายนี้อ่านว่า ยมมะราชธอระมา ราชทินนามเจ้าพระยาธรรมานั้น แต่ก่อนท่านออกเสียงว่า ธอระมา คนไม่รู้จึ่งว่า ธันมา.

แต่มีตัวอย่างตรงกันข้าม เช่นหลวงธรรมาภิมนท์ เรียกกันว่า ธันมาภิมนท์ ไม่ใช้ ธอระมาภิมนท์.

น่า ๑๘๗ “ศพเกลือนเถื่อนทุ่งบ้าง จับได้ในสนาม ฯ”

มีกล่าวไว้ในหนังสือฝรั่งว่า การรบครั้งนั้นไทยจับเชลยได้มาก.

น่า ๑๘๙ “ดำแคงแรงลั่นก้อง กาลวิง”

ดำแคง แปลว่าสนั่น กาลวิง ที่ใช้ในโคลงบาทนี้ แปลว่าครั้ง ว่าเมื่อ ว่าคืน ในสมุดคำแปลศัพท์ของข้าพเจ้าจดไว้ด้วยลายมือตนเองกว่า ๒๐ ปีมาแล้วว่าแปลเช่นนี้ แต่ได้มาจากไหนก็อ้างไม่ได้ จะสอบค้นเวลานี้หนังสือของข้าพเจ้าก็ไหม้เสียแล้วทั้งห้องสมุด.

น่า ๑๘๙ “ศาตรว์เสียสินาดทั้ง เสียทหาร”

ศาตฺรว แปลว่าฝ่ายข้าศึก มาจากคำว่าศัตรู.

น่า ๑๙๐ “ขุนเณรนามเจ้าหนุ่ม นายกอง”)

พระองค์เจ้าขุนเณรองค์นี้ว่ากันว่าร่วมพระชนก แต่ต่างชนนีกรมพระราชวังหลัง จึ่งมิได้เป็นเจ้าฟ้า.

น่า ๑๙๑ “เหล่าทวิษหลายทวาร”

ทวิษแปลว่าข้าศึก ว่าศัตรู ว่าคนเกลียดกัน.

น่า ๑๙๒ “เรือพิมานเมืองอินทร์ เอิกอ้าง”

เรือชื่อพิมานอินทร์เป็นเรือลำที่เชิญพระชัยนำน่าเรือพระที่นั่งเรือลำทรง คือเรือชื่อบุษบกพิศาล ซึ่งออกนามในบาท ๔ แห่งโคลงบทเดียวกัน.

น่า ๑๙๒ “เนาขนานน่านน้ำท่อง ชลธี

แนวขนัดอัดแอมี มากห้อม”

ขอเตือนอีกทีว่า เนา แปลว่า เรือ เป็นคำสํสกฤตตรงกับนาวา.

น่า ๑๙๒ “วันละวันปันถะ เถิบใกล้”

ปันถะแปลว่าทาง.

น่า ๑๙๒ “ถึงท่าประชาปะ ประจักษ์”

ประชาปะ แปลว่าผู้เลี้ยงประชา ในทีนี้คือพระเจ้าแผ่นดิน.

น่า ๑๙๘ “ครืนๆ ปืนลูกไม้เร็งหมาย”

เร็ง แปลว่า เร็ว ว่าถี่.

น่า ๒๐๓ “สำเร็จศึกสองด้าน ปักใต้ฝ่ายเหนือ เหลือนา ฯ”

ศึกสองด้านที่สำเร็จไปในตอนนั้น คือทัพหลวงของพม่าที่มาทางลาดหญ้าด้านหนึ่ง ทัพที่มาทางด่านเจ้าขว้าวด้านหนึ่ง ที่ว่ายังเหลืออีกสามด้าน คือที่มาทางปักใต้ด้านหนึ่ง ฝ่ายเหนือสองด้าน.

น่า ๒๐๕ “ทัพหลวงล่วงสู่คาม ข้าวตอก”

บางข้าวตอกแขวงเมืองพิจิตร.

น่า ๒๐๕ “พญาอุทัยธรรมแกล้ว กาจกล้าราวี ฯ”

พระอุทัยธรรมในตอนศึกห้าด้านนั้น คือเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก) ผู้เป็นต้นสกุลบุนนาค.

น่า ๒๐๖ “สมทบทัพเจ้าพระยา มหาเสนานามยง”

เจ้าพระยามหาเสนาในตอนศึกห้าด้านนั้น คือเจ้าพระยามหาเสนาปลิี.

น่า ๒๐๖ “พระยากาวิละห้าว หาญศึก”

ต้นสกุล ณ เชียงใหม่.

น่า ๒๑๑ “พระธินั่งสำเภาทอง รถท้าย”

เรือลำนั้นเรียกว่าเรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ ใช้ทั้งใบทั้งแจว เมื่อออกที่กว้างมีลมก็แล่นใบ ถ้าไม่มีลมหรือลำน้ำแคบก็แจว ดูเหมือนเคยเห็นในหนังสีือว่า ๔๐ แจว แต่จำไม่ถนัด เรือพระที่นั่งลำนี้เป็นเรือวังหลวง พอสร้างเสร็จก็พระราชทานให้วังน่าทรงใช้ในงานราชสงครามปักใต้คราวนั้น.

น่า ๒๑๑ “มากหมู่หยูห์เนา เนืองขนัด”

ขอเตือนซ้ำอีกครั้งว่า เนา แปลว่า เรือ.

น่า ๒๑๒ “ธำมรงค์ทรงสิบนิ้ว พระหัตถ์”

ข้าพเจ้าเคยสวมแหวน ๘ นิ้ว พร้อมกัน เมื่อโสกันต์เป็นต้น ดูเต็มเพียบอยู่แล้ว ถ้าสวมนิ้วหัวแม่มืออีกสองวงจะเป็นอย่างไรไม่เคย แต่ในเวลาพิธีพระเจ้าแผ่นดินแต่งพระองค์เสด็จออกศึกเช่นที่กล่าวนี้ ทรงแหวน ๑๐ นิ้วพระหัตถ์จริง ๆ คือพระธำมรงค์ ๙ วง ฝังพลอย ๙ อย่าง อย่างละวง วงที่ ๑๐ ฝังพลอยทั้งเก้ารวมอยู่ในวงเดียวคือที่เรียกว่าแหวนนพเก้า พระธำมรงค์นพเจ้าที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงวันนั้นเรียกว่าพระธำมรงค์ออกศึก เข้าใจว่าจะทรงติดพระหัตถ์อยู่วงเดียว นอกนั้นทรงอยู่จนสิ้นเวลาพิธีแล้วก็ถอด

น่า ๒๑๒ “บังคมบรมรา ชาเชษฐ์”

ในพระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเขียนไว้ว่า ทรงกราบพระพุทธรูปแล้วก็ถวายบังคมพระบรมเชษฐา จึ่งเข้าใจกันว่าพระพุทธยอดฟ้าคงจะได้เสด็จไปส่งพระราชอนุชาที่วังน่า.

น่า ๒๑๖ “พำนักนิ์ในปักษ์สยาม ยุคกี้”

พึงสังเกตคำว่าปักษ์ ในที่นี้มี ษ การันต์ แปลว่าปีก ความในโคลงบาทนี้ว่า แต่ก่อนอยู่ในร่มปีกแห่งสยาม ในหนังสือนี้เมื่อเขียนว่าปักใต้ก็ไม่มี ษ การันต์ เป็นวิธีเขียนตามใจชอบของผู้แต่ง.

น่า ๒๒๑ “ดังกลอนพระจักริศ ทรงลิขิตไว้ว่า”

กลอนที่อ้างนี้คือนิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า.

น่า ๒๒๔ “เปรียบประพลพระภุม เพ่งเต้า”

พระภุมคือ พระอังคาร ผู้เป็นเจ้าแห่งสงคราม เป็นแม่ทัพฝ่ายเทวดา อีกนามหนึ่งว่าสกันท อีกนามหนึ่งว่ากุมาร ไทยเรียกพระขันธกุมาร.

น่า ๒๒๔ “เปรียบพระภูผู้เจ้า แห่งห่องเวหาฯ”

ปฺรภู ฝรั่งแปลว่า lord, ruler, prince, (Cappeller) คือผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ที่ว่าเข้าแห่งห้องเวหานั้นคือพระอินทร์ ผู้เป็นราชาแห่งสวรรค์.

น่า ๒๒๕ “พลสยามตามติดใกล้ จวนจับจอมทัพได้”

พงษาวดารพม่าว่า พม่าแพ้คราวท่าดินแดงนั้นแตกยับเยินถูกฆ่าฟันล้มตายก่ายกอง ไทยจับเชลยได้มาก แม้ตัวจอมทัพก็เกือบถูกจับได้ในสนาม หนังสือฝรั่งก็มีกล่าวเช่นนี้.

น่า ๒๓๐ “๏ คำเก่าเล่าถ่องถ้อย ทำนาย
พรานมล่านผลาญหงษ์มลาย ชีพแล้ว
เสือมาฆ่าพรานตาย ตามตก ไปเฮย
ใครพยัคฆ์ใครพยาธแคล้ว คลาศบ้างทางไหนฯ”

ก่อนที่จะกล่าวใจความแห่งโคลงบทนี้ ควรจะแปลศัพท์แปลกตา ๒ ศัพท์ก่อน คือ มล่าน ใช้อย่างเดียวกับมลาน แปลว่าลนลานเป็นต้น อีกศัพท์หนึ่งคือ พฺยาธ แปลว่าพราน.

เรื่องคำทำนายเก่าตามความในโคลงบทนี้ มีในกลอนพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงชี้แจงไว้ในพระราชวิจารณ์ใจความว่า ในเมืองพม่ามีคำทำนายโบราณกล่าวเป็นคำเปรียบไว้ว่า หงษ์ลงกินน้ำในหนอง พรานไปพบเข้าก็ยิงหงษ์ตาย เสือไปพบพรานเข้าก็ฆ่าพรานตายอีกชั้นหนึ่ง.

คติโบราณถือว่า หงษ์ลงที่ไหนก็ย่อมเป็นมงคลแก่ท้องที่นั้น ครั้นหงษ์ลงกินน้ำในหนอง ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของท้องที่ก็สร้างเมืองขึ้นในที่ใกล้ คือกรุงหงษาวดี ครั้นพรานไปพบหงษ์เข้า พรานก็ยิงหงษ์ตาย พรานได้แก่พม่าซึ่งตีเอาหงษาวดีเป็นเมืองขึ้น มอญหงษาวดีสิ้นอิศระเปรียบดังหงษ์ถูกฆ่า เพียงนี้ถือกันว่าเหตุการเป็นไปตรงตามคำทำนาย ยังแต่ภาคสุดท้าย คือเสือจะกัดพรานอีกชั้นหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อกรมพระราชวังบวรทรงพระราชนิพนธ์กลอนนั้น ยังไม่มีใครปราบประเทศพม่าดังเสือฆ่าพราน จึงทรงกล่าวในกลอนว่าไทยจะเป็นตำแหน่งเสือ เพอินพม่าขนานพระนามเมื่อเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ครองพิศณุโลกว่าพระยาเสือด้วย อันที่จริงประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น นอกจากสยามแล้วก็ไม่มีท่วงทีว่าใครอาจมีกำลังทำลายอำนาจพม่าได้ พม่ายกทัพหลวงมาปราชัยแก่ไทยเป็นครั้งใหญ่ ๆ ถึงสองครั้งติด ๆ กัน จนเป็นโอกาสที่ไทยจะไปทำบ้างแล้ว แต่ไทยไปตีพม่าในรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่สำเร็จ จึ่งไม่ได้ตำแหน่งเสือผู้ฆ่าพราน.

ตอนปลายรัชกาลพระพุทธเลิศหล้า พม่าเกิดวิวาทกันขึ้นกับอังกฤษในอินเดีย ขุนนางอังกฤษเจ้าเมืองบังกะหล่า (เบ็งคอล) ส่งทัพฝรั่งมาตีได้เมืองย่างกุ้งแลพม่าภาคใต้ แลต่อนั้นก็มีเรื่องกันมา จนในที่สุดพม่าตกเป็นของอังกฤษในสังกัดอินเดียหมดทั้งประเทศ พระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์สุดท้ายต้องเสด็จไปถูกกักอยู่ในอินเดียจนสิ้นพระชนมายุ.

ที่พม่าทำศึกแพ้จนในที่สุดเสียประเทศนั้น แพ้แก่กองทัพอินเดียของอังกฤษ เราจะว่าเสือที่กัดพรานตามคำทำนายเก่าคือเสืออินเดียก็พอจะได้ อินเดียมีเสือมากกว่าประเทศไหน ๆ จนสมมติกันว่าเสือเป็นสัตว์เครื่องหมายของอินเดีย เหมือนที่สมมติว่าช้างเผือกเป็นสัตว์เครื่องหมายของสยามฉนั้น เสือในอินเดียชนิดที่เรียกว่า เสือบังกล่า (อังกฤษเรียก Bengal tiger) ขึ้นชื่อลือนามว่าใหญ่แลร้ายยิ่งกว่าเสือไหนๆ ทั้งสิ้น เคยเห็นในกรงมันก็เสือโคร่งนี่เอง แต่ใหญ่นัก.

โดยประการที่กล่าวมาฉนี้ ถ้ากล่าวว่าเสืออังกฤษในอินเดียเป็นผู้กัดพรานตามคำทำนายเก่าก็พอฟังได้ คำพยากรณ์โบราณไม่ทำนายมาไกลจนถึงตอนที่เสือถูกลิงต้อนออกไปจากพม่า แล้วกลับมาใหม่.

น่า ๒๓๑ “ใจมิวางทางหมั้น ไม่ไว้ใจคน ฯ”

ภาษิตไทยเก่าว่า ไม่ไว้ใจทางไม่วางใจคน หรือ อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน.

น่า ๒๓๒ “จากสิงคโปร์ธา นีใหม่”

เมืองสิงคโปร์ (สิงหปุร) ไทยเคยเรียกเมืองใหม่ เมืองบีนังไทยเรียกเกาะหมาก.

น่า ๒๓๒ “พระอาสาธนเอื้อ อาจิณ”

โคลงบาทนี้แยกคำเป็น พระ อา สาธน เอื้อ อาจิณ ถ้าแยกคำไม่ถูกก็ไม่ได้ความ ศัพท์ สาธน ปทานุกรมแปลไว้ว่า การแสดง การพิสูจน์ การตกลง การตัดสิน.

น่า ๒๓๒ “เมื่อพระอาองค์สร้วย เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ ฯ”

มีคำกล่าวว่า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระรูปงามนัก.

น่า ๒๓๕ “ศึกญวนกวนอีกด้าน สิงหเสนาคต้าน ต่อไว้ไกลกรุง ฯ”

เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ต้นสกุลสิงหเสนี.

น่า ๒๓๗ “จารึกศึกษาผล เผยผริต”

ศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนนั้น ควรเทียบได้กับการตีพิมพ์ตำราให้แพร่หลาย คือตำราสรรพคุณยาแลตำราวรรณคดีเป็นต้น ในเวลานั้นการตีพิมพ์ยังไม่มี จะนำตำราออกให้คนรู้กันมาก ๆ ก็มีแต่จารึกลงไว้ในแผ่นศิลา แลแสดงไว้ในที่เปิดเผย ซึ่งใครจะไปดูก็ได้.

น่า ๒๓๘ “๏ ทรงเชลงเตลงพ่ายเร้า รึงใจ
ผู้สดับจับหฤทัย ผู้ทุก
คำหอมกล่อมกลอนไพ เราะโสตร
ยังไมมีใครสู้ แต่นั้นนานมา ฯ”

สมเด็จพระปรมานุชิตทรงพระนิพนธ์ลิลิตเตลงพ่ายไว้ นับถึงเวลาที่แต่งโคลงข้างบนนี้กว่า ๑๐๐ ปี.

น่า ๒๓๘ “๏ ใคร่กล่าวสาวเรื่องย้อน ถอยหลัง หน่อยรา
พระพุทธยอดฟ้ายัง ใช่เจ้า
บ่าวสาวกล่าวปลูกฝัง ฝั่งใฝ่ ฝาแฮ
นรีรัตน์ขัติเยศเข้า คู่ห้องสองสม ฯ”

มีเรื่องเล่าตามที่ได้ยินผู้ใหญ่กล่าวสืบต่อกันมาว่า ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ มีข้าหลวงเที่ยวไปตามหัวเมืองแลตำบลใหญ่ ๆ สืบหาธิดาของผู้มีเทือกเถาอันดีกอบด้วยรูปลักษณอันงาม จดชื่อส่งเข้าไปถวายพระเจ้าแผ่นดินว่าสมควรแก่ตำแหน่งพระสนม ถ้าพูดตามประเพณี บิดามารดาก็ต้องส่งลูกสาวเข้าไปถวาย หากจะมีชายอื่นกล่าวสู่ขอไว้ก็ต้องระงับ เพราะเกรงพระราชอาญาเสมอกับว่านางนั้นขึ้นทะเบียนที่เป็นนางในเสียแล้ว พูดตามปรกติบิดามารดาโดยมากก็คงจะยินดีที่บุตรมีโอกาศจะได้สู่ฐานะอันสูง เป็นเกียรติ์แก่พ่อแม่พี่น้องแลตำบลบ้านช่องตนสืบไป

แต่พระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทร (พระนามเดิมนาก) ไม่ยินดีที่จะถวายบุตรีเป็นพระสนมของพระเจ้าเอกทัศ ครั้นทราบว่าธิดาถูกจดนามส่งไปยังกรุง ก็รีบไปปฤกษาหลวงพินิจอักษรเสมียนตรามหาดไทย (บุตรพระยาราชนิกุลปลัดทูลฉลอง ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช) หลวงพินิจอักษรเห็นว่าทางแก้มีทางเดียว คือให้รีบแต่งงานเสียกับบุตรชายคนใหญ่ของหลวงพินิจอักษรเอง พระชนกชนนีเห็นชอบ พระพุทธยอดฟ้ากับสมเด็จพระอมรินทรจึ่งได้ทรงแต่งงานกัน แต่ก่อนที่จะแต่งนั้นผู้ใหญ่ในสกุลได้นำความขึ้นทูลพระเจ้าเอกทัศ พระเจ้าเอกทัศพระราชทานอนุมัติ และพระราชทานพรให้อยู่กินด้วยกันเป็นสุขสวัสดี.

เรื่องที่เล่านี้ไม่เคยเห็นในหนังสือ แต่คนรุ่นเก่าเล่ากันแพร่หลาย เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าถามสอบในพวกญาติราชนิกูลบางช้างที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า ก็ว่าเคยได้ยินเช่นเดียวกัน ตามที่เล่าข้างบนนี้อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่คงจะมีเค้ามูลบ้าง มิใช่เรื่องชนิดที่ไม่อาจเป็นไปได้ ประเพณีเสาะหาลูกสาวผู้มีสกุลแลมีกำลังเป็นปึกแผ่น เข้าไปเป็นพระสนมนางในนั้น ใช่จะมีแต่ในประเทศนี้ ในประเทศอื่น ๆ ก็ย่อมจะมีทั่วไป ที่กล่าวบ่อย ๆ ในหนังสือก็คือประเทศจีน เช่นเรื่องนางเต๊กเชยกิม ซึ่งภายหลังเป็นนางเต๊กไทเฮา ผู้เป็นอาของเต๊กเซ็งในเรื่องบ้วนฮวยเหลาเป็นต้น ในหนังสือเรื่อง “นางฮองไทเฮา” ซึ่งข้าพเจ้าเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ตามเล่าความในหนังสือฝรั่ง ซึ่งราชทูตอิตาเลียนผู้เคยประจำอยู่ในกรุงปักกิ่งเขียนไว้แลยืนยันว่าเป็นความจริง ก็มีเรื่องที่ธิดาของนายทหารธงรับเลือกจากบ้านนอกเขาไปเป็นพระสนม ภายหลังได้เป็นฮองไทเฮาตำแหน่งมเหสีซ้าย เมื่อสิ้นชนมายุราชสามีแล้ว มเหสีซ้ายก็รวบอำนาจเข้าไว้ด้วยความอุดหนุนของกองทหารธงผู้จงรัก ตั้งเจ้าชายผู้เยาว์ไวเป็นเจ้าแผ่นดินหุ่น นางฮองไทเฮามีอำนาจบังคับสิทธิ์ขาดทั่วประเทศ ดังปรากฏในพงษาวดารจีนแลในหนังสือของเข้าพเจ้านั้นแล้ว.

ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินเก็บรวมพระสนมจากท้องที่ต่างๆ แลจากสกุลที่มีกำลังเป็นปึกแผ่นนั้น ก็คือวิธีใช้สตรีเป็นสายโยงให้พ่อแม่พี่น้องแลชาวตำบลซึ่งเป็นที่มาของนางจงรักต่อพระราชา เป็นประเพณีมีมาแต่โบราณทุกประเทศในทวีปนี้ ในอินเดียพระเจ้าอักบาร์จักรพรรดิราชยอดเยี่ยมในพงษาวดารของประเทศนั้น มีมเหสีแลชายามาจากสกุลแลประชุมชนที่เป็นปึกแผ่นทุกชาติทุกสาสนาในแว่นแคว้นของพระองค์ ซึ่งครอบทั่วไปในอินเดีย.

น่า ๒๓๘ “เจ้าจอมแว่นผู้พระ สนมเอก”

เจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาแว่น หรือแหว่น ซึ่งเรียกกันว่าคุณเสือ เป็นหม่อมมาตั้งแต่เมื่อพระพุทธยอดฟ้ายังเป็นเจ้าคุณ เห็นจะได้เมื่อเสด็จไปทัพ มีเรื่องเล่ากันถึงเจ้าจอมตัวโปรดนี้มาก เช่นครั้งกรุงธนบุรี จีนคนหนึ่งนำฉากไปให้เจ้าคุณ หม่อมแว่นจะเข้าไปเรียนก็ไม่ทราบชื่อจีนคนนั้น จะถามก็เกรงใจ จึ่งพูดอ้อมค้อมเพื่อจะทราบชื่อ พระพุทธเลิศหล้ายังทรงพระเยาว์วิ่งเล่นอยู่ที่นอกชานน่าหอนั่ง ทรงได้ยินหม่อมแว่นพูดอ้อมค้อมก็ตรัสว่า “พี่แว่นพูดมากถลากไถล ไปเรียนเจ้าคุณเถิดว่าจีนกุนเขาเอามาให้” คำนี้เล่ากันเป็นพยานว่า ทรงเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ว่าเป็นชิ้นแรกที่จำกันได้ว่าตรัสเป็นกลอน.

จีนกุนได้เป็นพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี ในรัชกาลที่ ๑ ได้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง คนเรียกกันในครั้งนั้นว่าท่านท่าเรือจ้าง ในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เป็นต้นสกุลรัตนกุล

เมื่อพระพุทธยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว คนในวัง แลเห็นจะคนทั่วไปด้วย เรียกเจ้าจอมมารดาแว่นว่าคุณเสือ เห็นจะเป็นด้วยท่านดุแหวดอกกระมัง.

ข้าพเจ้ารู้จักคุณเสืออีกคนหนึ่งเมื่อข้าพเจ้ายังเด็ก คือเจ้าจอมมารดาส่าน ยายร่วมบิดามารดากับยายตัวของข้าพเจ้า คุณเสือคนหลังนี้ท่านเอ็ดใครเอ็ดได้ คนกลัวหมด แต่ก็ไม่เห็นท่านเฆี่ยนตีใครเลย ท่านเคยว่า “องค์ชายนี่อย่างไร เขากลัวยายกันทั้งวัง นี่ทำไมไม่กลัว” ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินว่าใครเกลียดท่าน เพราะอันที่จริงท่านใจดี ถึงจะเอ็ดใครเขาก็ให้อภัย เจ้าจอมมารดาแว่นเห็นจะเป็นคุณเสือชนิดนี้ ถ้าดุก็คงจะเป็นแต่เพียงแหวหวาด้วยวาจาเท่านั้นเอง ที่น่าเห็นว่าเป็นคนดีก็เพราะท่านจงรักต่อพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นที่สุด เป็นผู้ปฏิบัติในเวลาทรงพระชราอยู่จนสิ้นรัชกาล เมื่อทรงสร้างพระโกษฐ์ทองใหญ่ไว้สำหรับพระองค์นั้น ครั้นสร้างเสร็จแล้วก็โปรดให้ยกเข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาล ทอดพระเนตรแล้วมิตรัสให้ยกไปเก็บเข้าคลัง ให้ตั้งไว้บนพระที่นั่งหลายวัน คุณเสือไม่สบายใจเห็นเป็นลางก็ทูลวิงวอนว่าเป็นอัปมงคลให้ยกไปเสีย ตรัสตอบว่า กูทำสำหรับใส่ตัวกูเองจะเป็นอัปมงคลทำไม .แต่ก็โปรดใช้ยกพระโกษฐ์ไป.

คุณเสือเป็นคนได้รับพระราชทานอภัย ทูลอะไรทูลได้ จึงมีเรื่องที่เล่าในโคลงบทนี้แลอีก ๓ บทต่อไป.

วันหนึ่งพระพุทธยอดฟ้า ทรงแสดงพระอาการว่าสบายพระราชหฤทัย ตรัสแลทรงพระสรวลอย่างสนุกสนาน คุณเสือเห็นเป็นโอกาศคีก็เข้าไปใกล้พระองค์ทูลว่า “ขุนหลวงเจ้าขา ดีฉันจะทูลความสักเรื่องหนึ่ง แต่ขุนหลวงอย่าทรงกริ้วหนา”

ตรัสตอบว่า “จะพูดอะไรก็พูดไปเถิด ไม่กริ้วดอก”

คุณเสือทูลว่า “ถ้าอย่างนั้นขุนหลวงสบถให้ดีฉันเสียก่อน ดีฉันถึงจะทูล”

ตรัสว่า “อีอัปรี บ้านเมืองลาวของมึงเคยให้เจ้าชีวิตจิตสันดานสบถหรือ กูไม่สบถ พูดไปเถิด กูไม่โกรธดอก”

คุณเสือกระเถิบเข้าไปกระซิบทูลว่า เดี๋ยวนี้แม่รอดท้องได้ ๔ เดือน”

ทรงอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วตรัสถามว่า “ท้องกับใคร”

คุณเสือทูลว่า “จะมีกะใครเสียอีกเล่า ก็พอโฉมเอกของขุนหลวงน่ะซิ”

พระพุทธยอดฟ้ากริ้วนิ่ง ๆ อยู่หลายวัน ไม่มีใครทราบว่าจะอย่างไรกันแน่ พากันเกรงพระราชอาญาแทนเจ้าฟ้าสององค์ไปตามกัน คุณเสือร้อนใจจึ่งหาโอกาศเข้าไปทูลถามว่า ราชทารกในพระครรภ์จะเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่ เมื่อตรัสตอบว่าเจ้าฟ้าก็โล่งใจไปตามกัน ในที่สุดกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าไปขอพระราชทานโทษแทนพระหลานทั้งสองพระองค์.

น่า ๒๓๙ “ทรงราชอิสสริยถกล เกียรติ์ฟ้า”

โคลงบาทนี้ความไม่สู้ชัด คุณเสือทูลถามว่าราชทารกในพระครรภ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ (แม่รอด) จะทรงอิสสริยเกียรติ์เป็นเจ้าฟ้าหรือมิใช่

น่า ๒๓๙ “๏ กาละพระนั่งเกล้า สวรรค์คต
จึ่งอมาตย์มนตรีหมด มากถ้วน
เชิญองค์พระทรงพรต สมณราช
เถลิงรัฐสืบกษัตริย์ล้วน เลิศสร้างทางเกษม ฯ”

ในตอนเปลี่ยนแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ กับรัชกาลที่ ๔ หนังสือพิมพ์เมืองสิงคโปร์ ได้ลงพิมพ์ข่าวพระจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ (พ.ศ. ๒๓๙๔ ค.ศ. ๑๘๕๑) ราชบัณฑิตยสภาได้สำเนามาจากลอนดอนใน พ.ศ. ๒๔๗๔ วานหม่อมเจ้าพรพิมลรรณ รัชนี แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ราชบัณฑิตยสภานำทั้งภาษาเดิมแลภาษาไทยพิมพ์ไว้ด้วยกันทั้งสองภาษาในเดือนธันวาคม ๒๔๗๔ ใจความที่พิมพ์ในเมืองสิงคโปร์ในครั้งนั้น รับกับใจความในโคลงที่แต่งคราวนี้ จึ่งนำมาพิมพ์ไว้ต่อไปนี้ หนังสือพิมพ์เมืองสิงคโปร์ที่มีในสมัยนั้น คือ “สิงคโปร์ฟรีเพร็ส” แล “สเตรตสไทมส์” เป็นต้น.

Newspaper Cutting

in 1851

By the Siamese brig Ariel, which arrived here on the 30th ult., accounts have been received of the death of the King of Siam, in the 63rd. year of his age, reports of which event reached this (port) sometime ago. The late King was an illegitimate child of the previous monarch, but being much older than the two legitimate sons, and having much experience in state affairs, he was able to bring about his elevation to the throne in 1824 on the death of his father. The eldest of the two Princes mentioned above, Prince T.Y. Chaufa Mongkut, has now been raised to the throne. On the death of his father this prince entered the priesthood, and has since devoted himself to the cultivation of religion and literature, in both of which he has distinguished himself. His knowledge of the Pali or sacred Ianguage is profound, and he has studied various foreign languages with success, amongst others Latin and English, the last of whieh he speaks and writes with facility.

The younger brother of the King, Prince T. Momfanoi, has been raised to the office of Wang Na or Sub-King. This prince is also a person of much enlightenment, and is well acquainted with our language, He is thus described by Mr, Roberts in the account of his Embassy to Siam in 1833:- “Joined to a Playful disposition, he possesses considerable abilities; he is a friend to the mechanic arts, and to the sciences; and very friendly disposed, as well as his elder brother, towards foreigners.”

The advent of these princes to power in Siam has long been looked forward to in Europe, as promising the commencement of a new and brighter era for their country. They have long been qualifying themselves for their present high positions, by study and communication with such intelligent Europeans and Americans as have resorted to their country. The King’s views in relation to commercial intercourse with foreign nations are liberal and enlightened and we may therefore expect them to be given practical effect to in such a manner, that while foreign commerce will be fostered and greatly extended, the industry and resources of the country will receive the development of which they are capable to a very great extent, but which has been wholly checked of late years, To the recent visit of Sir James Brooke, and the intercourse which he held with the present King and his Ministers, we may also in some measure ascribe the early resolution which has been taken to introduce important changes in the internal management of the country, as well as in regard to the intercourse with foreign nations, many of the reforms said to be contemplated having been embraced in the papers which he submitted to the Siamese Government. The. new monarch is a man of liberal sentiments, and far in advance of the generality of his countrymen, but perhaps he might not have at once arrived at such decided and clear views of what is required for the advancement of the best interests of his kingdom, without the recent communication held with the British Envoy. That the views of Sir James Brooke in regard to Siamese affairs were appreciated and acquiesced in by the present King and his Ministers is best testified by the very general wish which is stated to prevail at the Siamese Court that Sir James should renew his visit to Bangkok at as early a period as possible.

All the advices from Siam by this opportunity are unanimous in describing the promising aspect of affairs. In one letter we read “we think the present sovereign will make great improvements in the country, will be very liberal to foreigners and their trade, will promote agriculture and make great reforms in the government. All people in Siam are quite pleased with him and his liberal government.

His Majesty has given permission to the French Missionaries, who were obliged to leave Siam some time ago, to return, so that toleration in matters of religion would also seem to be one of his virtues. This is the more gratifying. As from the high ecclesiastical rank his Majesty previously held, it might have been expected that he would view the professors and missionaries of other religions with dislike or at least suspicion.

The Coronation of the King took place on the 15th May last, and was celebrated with great magnificence. The usual processions took place and the king distributed gold and silver coins which had been struck for the occasion. The Europeans were invited to witness the ceremony and met with a gracious reception. A dinner was provided for them in the European style and presents were afterwards distributed amongst them, consisting of gold and silver flowers, and gold and silver coins of the new issue.

Two vessels were to leave soon for Singapore, by which we may hope to have further news from Siam. Two vessels were also fitting out for China, to convey the intelligence of His Majesty’s accession to the throne of Siam.

คำแปลข่าวในหนังสือพิมพ์สิงคโปร์

พ.ศ. ๒๓๔๔

เรือใบไทยชื่อ เอเรียล ซึ่งมาถึงเมื่อวันที่ ๓๐ เดือนก่อน ได้นำข้อความเลอียดมาให้ทราบเรื่องพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ ๖๓ ปี ข่าวนั้นได้ทราบมาถึงเมืองนี้ก่อนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินผู้สวรรคตนั้นเป็นพระราชโอรสนอกวิวาหะของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนขึ้นไป แต่โดยเหตุที่พระชนมพรรษาแก่กว่าพระราชโอรสในวิวาหะ ๒ พระองค์ แลโดยเหตุที่เคยทรงชำนาญราชการแผ่นดินมามาก จึ่งสามารถทรงดำเนินการให้พระองค์เอง ได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อคฤศต์ศักราช ๑๘๒๔ (พ.ศ. ๒๓๖๗) เมื่อสมเด็จพระชนกนาถเสด็จสวรรคต ในบัดนี้เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ใน ๒ พระองค์ซึ่งกล่าวมาข้างต้น คือ ท. ญ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ทรงรับยกขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อสมเด็จพระชนกนาถเสด็จสวรรคต แล้วเจ้าชายพระองค์นี้ก็ออกทรงพระผนวช แลตั้งแต่นั้นมาก็สนพระหทัยในการศึกษาสาสนาแลวิชาหนังสือ อันเป็นความรู้ ๒ แผนก ซึ่งได้ทรงรับความยกย่อง ความรู้ภาษาบาลีคือภาษาซึ่งนับถือในสาสนานั้น พระองค์ทรงทราบลึกซึ้ง ทั้งได้ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศหลายภาษาจนสำเร็จ ภาษาเหล่านั้นมีภาษาลตินแลภาษาอังกฤษ เป็นต้น ภาษาที่ออกชื่อข้างท้ายนั้นตรัสแลทรงเขียนได้อย่างคล่อง.

พระราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน คือเจ้าชาย ท. หม่อมฟ้าน้อย ได้ทรงรับยกขึ้นเป็นวังน่า คือพระเจ้าแผ่นดินรอง เจ้าชายพระองค์นี้เป็นผู้มีปัญญาสว่างมาก แลทรงคุ้นกับภาษาของเราเป็นอย่างดี มิศเตอร์โรเบิตส์ ครั้งเป็นทูตเข้าไปในประเทศสยามเมื่อคฤศต์ศักราช ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๗๖) ได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ดังนี้ “มีพระนิสัยโปรดการสนุกเฮฮา ประกอบกับมีความสามารถเป็นอันมาก ทรงเป็นเพื่อนกับวิชาเครื่องกลแลวิทยาศาสตร์ และมีพระหทัยไมตรีกับชาวต่างประเทศเช่นเดียวกับพระเชษฐา”

ในยุโหรปได้ตั้งตาคอยมานานแล้ว อยากให้เจ้าชายทั้ง ๒ นี้ขึ้นทรงอำนาจในประเทศสยาม เพราะจะเป็นที่ควรหมายได้ว่าบ้านเมืองจะเริ่มเข้าสู่สมัยอันรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน เจ้าชายทั้ง ๒ พระองค์นี้ได้เตรียมพระองค์มานานแล้ว เพื่อให้สมแก่ฐานะสูงที่ทรงรับอยู่ในเวลานี้ คือทรงศึกษาแลติดต่อกับชาวยุโหรปแลอเมริกันผู้มีปัญญาซึ่งเข้าไปในเมืองของพระองค์ ในเรื่องการค้าขายกับคนต่างประเทศนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงมีความเห็นกว้างขวาง กอบด้วยปัญญาสว่าง แลเราควรหวังได้ว่าความเห็นนั้น ๆ คงจะได้ปฏิบัติตามโดยประการ ซึ่งทำให้การค้าขายต่างประเทศได้รับอุดหนุนแลขยายให้กว้างออกไป แต่การบำรุงอุตสาหกรรมแลทรัพย์ในพื้นเมือง อันถูกกีดขวางจนดำเนินไปไม่ได้เลยในปีที่แล้ว ๆ มานี้ ก็คงจะทรงจัดให้เจริญไปในเวลาเดียวกันด้วย การที่เซอร์เยมส์บรุกได้เข้าไปเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ แลการที่ท่านผู้นั้นได้มีความติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันกับพวกเสนาบดีนั้น เราควรอ้างได้บ้างว่า เป็นเหตุให้ปลงใจกันโดยเร็วว่า จะจัดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ๆ ในเรื่องราชการภายในบ้านเมือง กับทั้งการเกี่ยวพันกับชาติต่างประเทศด้วย ทั้งนี้เพราะราชการใหม่ ๆ หลายอย่างซึ่งมีข่าวว่าจะจัดเปลี่ยนแปลงนั้น มีแนะนำไว้ในหนังสือซึ่งเซอร์เยมส์บรุกได้เสนอต่อรัฐบาลสยามแล้ว พระเจ้าแผ่นดินใหม่เป็นผู้มีความคิดความเห็นกว้าง ทรงเห็นไกลกว่าชาวประเทศเดียวกับพระองค์ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ามิได้ทรงติดต่อกับทูตอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ พระดำริห์อันเด็ดขาดแลแจ่มแจ้งว่า สิ่งใดบ้างจะต้องจัดเพื่อประโยชน์อันดียิ่งของบ้านเมืองนั้น บางทีจะยังไม่ตกลงพระหทัยได้โดยเร็ว การที่ความเห็นของเซอร์เยมส์บรุกในเรื่องราชการเมืองไทยเป็นที่พอใจ แลได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าแผ่นดินเดี๋ยวนี้ แลพวกเสนาบดีนั้น มีพยานให้เห็นได้ โดยข้อที่กล่าวกันว่า ในราชสำนักไทยอยากให้เซอร์เยมส์กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งโดยเร็วที่สุดที่จะมาได้.

ข่าวทั้งสิ้นที่ได้รับจากประเทศสยามโดยโอกาศนี้ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันในการบรรยายว่า ท่วงทีของการทั้งหลายจะเป็นไปในทางดี จดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเราได้อ่านมีความว่า “เราคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันจะจัดการในบ้านเมืองให้ดีขึ้นมาก คงจะมีพระหทัยเอื้อเฟื้อแก่ชาวต่างประเทศแลการค้าขาย คงจะทรงบำรุงการเพาะปลูก แลเปลี่ยนแปลงราชการในรัฐบาลเป็นอย่างดี ประชาชนในประเทศสยามต่างยินดีต่อพระเจ้าแผ่นดินแลรัฐบาล อันมีแนวความคิดกว้างขวางของพระองค์”

พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานอนุญาตแก่มิชันนารีฝรั่งเศษผู้ต้องออกไปจากประเทศสยามนานแล้วให้กลับมา เหตุนั้นการให้อภัยแก่สาสนาอื่นคงจะเป็นคุณธรรมอันหนึ่งของพระองค์ เมื่อรำลึกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เคยทรงสมณศักดิ์สูง ก็น่านึกว่าคงจะทรงแลดูสาสนาอื่น แลผู้สอนสาสนาอื่นด้วยความไม่พอพระราชหฤทัย หรืออย่างน้อยก็ด้วยความสงสัย ที่ไม่เป็นเช่นนั้นจึงเป็นเครื่องน่าปลื้มใจยิ่งขึ้น.

การบรมราชาภิเศกของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ได้ทำเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ที่แล้วมา มีการฉลองอย่างโอฬาริก แลได้มีแห่ดังที่เคยมี แลพระเจ้าแผ่นดินทรงแจกเงินตราทำด้วยทองคำแลเงิน ซึ่งทำขึ้นสำหรับงาน ชาวยุโหรปได้รับเชิญไปในงานพิธีนั้น แลได้รับความต้อนรับอย่างอ่อนโยน ทั้งได้รับเลี้ยงอาหารเย็นตามแบบยุโหรป ภายหลังได้มีของแจกแก่ทุกๆคนที่รับพระราชทานเลี้ยง ของแจกนั้นคือดอกไม้ทองแลเงิน กับเงินตราทำด้วยทองคำแลเงินในรัชกาลใหม่.

ในเร็วๆ นี้จะมีกำปั่นออกมาสิงคโปร์อีก ๒ ลำ เราจึ่งหวังว่าจะได้รับข่าวเลอียดยิ่งขึ้นจากประเทศสยาม อนึ่งทราบว่าได้จัดเตรียมเรืออีก ๒ ลำ เพื่อจะพาข่าวไปเมืองจีนให้ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบันได้เสด็จขึ้นเถลิงพระราชบัลลังก์ในประเทศสยาม.

(ผู้แปลได้บันทึกอธิบายชื่อแลความบางแห่งไว้ดังนี้

“เอเรียล” เรือลำนี้ต่อที่จันทบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ หลวงนายสิทธิ ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ เป็นผู้ต่อ.

“พระราชโอรสนอกวิวาหะ” ฝรั่งใช้คำเช่นนี้หมายความว่า พระราชชนนีมิใช่พระมเหสี.

“พระราชโอรสในวิวาหะ” คือว่าเป็นพระราชโอรสเกิดแต่พระมเหสี.

“ก็ออกทรงพระผนวช” อันทีจริงได้ทรงพระผนวชก่อนสวรรคต แต่ฝรั่งสิงคโปร์ทราบผิดไป.

“ท. หม่อมฟ้าน้อย” ทูลกระหม่อมฟ้าน้อยคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

“ดอกไม้เงินแลทอง” ดอกพิกุลเงินพิกุลทอง)

น่า ๒๔๐ “ลมโลกโบกร้ายสู่ อาสยา นี้นอ”

อาสยา คือ Asia เขียน Si เป็น สฺย อย่างเดียวกับเขียน สยามว่า Siam.

ชื่อฝรั่งอื่นๆ ในสามกรุงนี้จะเขียนให้คงที่อยู่ตามแบบใดไม่ได้ ต้องยักย้ายไปตามแต่จะสดวกแก่การแต่ง.

น่า ๒๔๑ “ฝรั่งโลภโอบมือคว้า ไขว่แคว้นแสนเข็ญฯ”

ในสมัยนั้นชาวยุโหรปหลายประเทศ มีกลอุบายเรียกว่า colonial aggrandisement คือตะครุบเอาเมืองขึ้นตะพัดไป.

น่า ๒๔๓ “สยาม ญี่ปุ่น จีน เลี่ยงปราธีนอยู่ได้”

ปราธีนแปลว่าอิงอยู่กับผู้อื่น หรืออาไศรยผู้อื่น ฝรั่งแปลว่า dependence คือความต้องพึ่งผู้อื่น หรือธำรงอยู่ใต้ความเป็นใหญ่ของผู้อื่น.

น่า ๒๔๔ “๏ กีฬาม้าช้างจัด เจนมวญ”
ตะบองกระบี่คลี่รำทวน ท่านพร้อม”

ประเพณีเจ้านายแต่ก่อน เมื่อเจริญพระชนมพรรษาพอควรแล้ว ก็ต้องทรงเรียนวิชาม้าช้างแลวิชาอาวุธต่างๆ อันควรแก่กษัตร์.

น่า ๒๔๔ “แสนย์สถลยลแยบด้าว ตวันตก”

คำว่า ด้านตวันตกที่ใช้ในโคลงบาทนี้ ไม่ใช่ตวันตกของสยามคือพมา หมายความว่าตวันตกของโลก ในสมัยโบราณเราดูไปในทิศตวันตก เห็นประเทศใหญ่คือ พม่า ในรัชกาลที่ ๔ เราดูแผนที่พ้นไปอีกไกลถึงยุโหรป ไม่ใช่เพียงพม่า ซึ่งในรัชกาลที่ ๔ ได้ตกอับไปแล้ว.

พระปิ่นเกล้า ฯ ทรงจัดกองทหารปืนใหญ่อย่างฝรั่งเริ่มแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้วทรงจัดทหารเหล่าอื่นต่อ ๆ มา ในรัชกาลที่ ๔ อยา่งขึงขัง ราชทูตอเมริกันที่มาเซ็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในรัชกาลที่ ๔ เขียนได้ว่า

Friday, May 2, 1850. Left in the same order as yesterday for the Second King’s palace; had a salute of twenty-one guns. His soldiers were in much better order than the First King’s. Some dressed in the European style, preceded us as a bodyguard and were the best drilled troops I ever saw. The field pieces in firing the salute were beautifully served.

...

At 5 p.m went to the Second King with Mr. Mattoon… I found matting spread for me to walk on from the outer gate of the palace up to what the King calls his English House. I was most kindly received by the King, who speaks excellent English, showed me a great many books, prints, arms, chemicals, etc. etc...

The complete Journal of Townsend Harris.

บันทึก พิธีที่ราชทูตเชิญราชสาส์นหรือสาส์นตราตั้งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน และได้รับการต้อนรับด้วยการยิงสลุต ๒๑ นัด ให้เป็นเกียรติยศนั้น เป็นประเพณีที่สมัยก่อนปฏิบัติกันทุกประเทศ จะเห็นได้ใน “นิราศลอนดอน” ของหม่อมราโชทัย ดังต่อไปนี้

“สี่โมงเศษจึงได้เชิญพระราชสาร พระผู้ผ่านภพแผ่นแดนสยาม
พร้อมคณาข้าหลวงทั้งปวงตาม ก็แลหลามจากกำปั่นแล้วครรไล
แอดมิรัลนายทหารชาญสมุท ฤทธิรุทฦๅเลืองกระเดื่องไหว
ส่งให้ยิงสลุตธงพระทรงไชย ผู้บำรุงกรุงไทยทั้งสององค์
ทหารรับจับเชือกกระชากปราด พอนกฉาดปืนลั่นควันขมง
ยี่สิบเอ็ดเสร็จถ้วนจำนวนตรง คำนับธงแทนนาถบาทยุคล
น่า ๒๔๔ “แถบนี้บ่มีใคร มีเช่น นั้นเลย
ญี่ปุ่นมาขอซื้อ แตไท้ไป่ขาย”

ที่ใช้ว่าประเทศแถบนี้หมายความว่า พม่า ญวน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งยังเป็นอิศระอยู่พร้อมหน้าในสมัยนั้น.

เรือรบที่ญี่ปุ่นมาขอซื้อในรัชกาลที่ ๔ คือ เรือหาญหักศัตรูลำหนึ่ง เรือต่อสู้ไพรีลำหนึ่ง ในเวลานั้นญี่ปุ่นกำลังมีสงครามภายในต่อสู้กันเอง ฝ่ายหนึ่งอยากจะได้เรือรบใช้จักรไปใช้ปราบอีกฝ่ายหนึ่งในทเลหว่างเกาะ ซึ่งเรียก Inland Sea.

เรือหาญหักศัตรูอย่มาจนรัชกาลที่ ๕ แลไดยิงเรือของฝรั่งเศษจมลำหนึ่งเมื่อครั้ง ร.ศ..๑๑๒ เรือฝรั่งเศษลำนั้นชื่อเรือ “G.B. Say” เป็นเรือค้าขายรับน่าที่นำร่องพากระบวนเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา,

น่า ๒๔๕ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ รับพระราชทานมาลา ของ

พระบิดานามประทิ่น”

พระมาลาที่พระราชทานนั้น ไม่เคยได้ยินว่าองค์ไหน น่าสันนิษฐานว่าคือพระมาลาสักหลาดเฟ้ลต์ มีเกี้ยวยอดวงมาลา แลยี่ก่าทองคำลงยาราชาวดี องค์เดียวกันหรือคล้ายกันกับที่กรมพระราชวังบวร บวรวิชัยชาญทรงถ่ายรูปเมื่ออุปราชาภิเศก ข้าพเจ้าได้เคยเห็นพระรูปพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาทรงมาลาแบบเดียวกัน ซึ่งพระจอมเกล้า ฯ พระราชทาน พระบรมรูปองค์แรกที่พระจอมเกล้าฯ ทรงฉาย ครั้งแรกที่เสวยราชย์ก็ทรงพระมาลาแบบนี้.

น่า ๒๔๖ “เจ้าพญาสง่ายศผู้ ยงพงษ์”

เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ภายหลัง สกุลบุนนาคตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาถึงรัชกาลที่ ๗ ได้เป็นเจ้าพระยา ๗ คน ได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ๓ องค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ มีฐานะสูงกว่าบิดาแลอาของท่าน เพราะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน.

น่า ๒๔๖ “สมเญศศรีสุริยวงษ์ ว่องกล้า”

ศัพท์เช่นสมเญศ (ชื่อ) นาเรศ (นาง) เยาวเรศ (นาง) พนาเวศ (ป่า) ธาเรศ (ลำน้ำ) เหล่านี้รูปชอบกล สามกรุงที่แต่งมาเพียงนี้ยังไม่ค่อยได้ใช้ แต่ท่านใช้กันมากในวรรณคดี จึ่งน่าจะพิเคราะห์ดูสักหน่อย ศัพท์รูปนี้มักจะเข้าใจกันว่า อิศ สนธิกับคำอิื่น เช่น อมร กับ อีศ เป็น อมเรศ, ราม กับ อีศ เป็น ราเมศ (แปลว่า พระอีศวร) เป็นต้น.

แต่ อีศ จะสนธิกับคำไหนจึ่งจะเป็น นาเรศ เยาวเรศ พนาเวศ ได้เล่า เพื่อจะให้เห็นว่าท่านใช้ศัพท์รูปนี้กันอย่างไรในวรรณคดีชั้นเยี่ยมของเรา ขอนำตัวอย่างจากเตลงพ่ายมาไว้ให้เห็นดังต่อไปนี้.

“จึ่งพระปิ่นปัฐพี ยาตรโยธีไปยุทธ เหยียบกัมพุชประเทศ ถึงปราชเยศแล้วเสร็จ” (น่า ๖)

“ธก็เอื้อนสารเสาวพจน์ แด่เอารสยศเยศ” (น่า ๑๒)

“กรรนฉิ่งทองเถือกเนตร บงงพระสูริเยศ ยรรยง” (น่า ๒๕)

“เสด็จพ้นทวาเรศข้าม คูเวียง” (น่า ๓๔)

“ถวิลถึงองค์อรรคเรศ ยามดุริเยศ จำเรียง” (น่า ๔๘)

“ชมพนมพนาเวศห้วย เหวหิน” (น่า ๔๙)

“ทุกสถานธาเรศแม้น แมนผจง ไว้ฤๅ” (น่า ๔๙) เราไม่ควรนึกว่า สมเด็จพระปรมานุชิตไม่ทรงทราบว่าเอา ปราชย เข้าสนธิกับ อีศ เป็น ปราชเยศ แปลว่าแพ้ไม่ได้ ไม่ควรนึกว่าท่านไม่ทรงทราบว่าเอา ยศ สนธิกับ อีศ เป็น ยศเยศ ไม่ได้เอา อรรค เข้าสนธิกับ อีศ เป็น อรรคเรศ ไม่ได้ เราควรนึกต่อไปว่าถ้าท่านทรงทราบไซร้ ท่านจะทรงใช้ศัพท์เหล่านั้น ด้วยเหตุอื่นอันไม่เกี่ยวเนื่องกับ อีศ เลยดอกกระมัง อนึ่ง เมื่อท่านทรงแต่งว่า “แม้ดวงกมลาศได้ มาดล” นั้น ท่านไม่ได้นึกว่า กมล สนธิกับ อีศ เป้น กมลาศ เป็นแน่ เหตุฉนี้เราควรนึกว่าท่านทรงใช้ศัพท์เหล่านั้นด้วยเหตุอื่น ไม่ใช่เหตุที่เอา อีศ สนธิกับคำอื่น

ก็เหตุใดเล่าที่ท่านทรงใช้ ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินใครสอนหรือบอก แต่นึกว่าคงจะเป็นด้วยศัพท์เหล่านั้นใช้กันมานานแล้วด้วยความรับรองทั่วไป ที่กล่าวนี้เป็นเพียงสันนิษฐาน ไม่ใช่ความรู้อันแน่นอน.

น่า ๒๔๙ “ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย”

โคลงบทนี้เป็นพระราชนิพนธ์พระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงแต่งแลเขียนพระราชทานในสมุดของกรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา กรมขุนพิทยลาภทรงเขียนเล่าไว้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์เขียนเป็นตัวหมึกลงไปทีเดียว ไม่ได้ทรงร่างเสียก่อน.

น่า ๒๕๓ “ผู้เที่ยวเยียวใช่ผู้ ดูเป็น”

เยียวแปลว่าถ้า ว่าแม้.

น่า ๒๕๓ “ทรงภาษาอังกฤษ ปลิดมาแปลเป็นไทย ไขเรื่องรามายัณตลอดทุกกัณฑ์ที่มี”

รามายณะ แขกมักเรียกห้วน ๆ ว่ารามายัณ ในเวลานี้มีคำแปลจากภาษาสํสกฤตเป็นอังกฤษอย่างเลอียดที่สุด แลมีผู้เก็บเนื้อเรื่องมาแต่งสังเขปหลายราย แต่ในสมัยที่กรมพระราชวังบวรทรงแปลเป็นไทยนั้น รามายณะภาษาอังกฤษมีแต่ที่มิศเตอร์กริฟฟิธแต่งเป็นฉันท์เรียกว่า Griffith’s Ramayan เป็นสมุดเล่มเขื่อง.

น่า ๒๕๓ “ส่วนการกวีนั้นเล่า ชนรุ่นเก่ารู้กัน ว่าคำฉันท์ยาวเฟื่อง มีสองเรื่องที่ไท้ ทรงพระนิพนธ์ไว้ เทิดแท้ทางกวีฯ”

ฉันท์สองเรืื่องที่กรมพระราชวังบวรทรงไว้นั้น เรื่องแรกคือนิราศนครศรีธรรมราชซึ่งทรงแต่งเมื่อพระชนมายุ ๒๒ ปี เรื่องที่ ๒ คืออิเหนาคำฉันท์ตอนเข้าห้องจินตหรา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนไว้ในคำนำฉันท์เข้าห้องจินตหรา ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าฉายรัศมีหิรัญยพรรณว่า กรมพระราชวังบวรทรงแต่งเมื่อพระชนม์ยังไม่ถึง ๓๐ พรรษา ก่อนอุปราชาภิเศก,

น่า ๒๕๕ “เราไทยในแหล่งนี้ ลำเนา รัฐนา
อ่อนหัดปรัชญาเยาว์ แยบย้อม”

ศัพท์ว่า ปรัชญา ที่ใช้ในสามกรุงนี้เป็นคำสํสกฤต แปลว่าปัญญาเท่านั้นเอง ภาษาไทยทางราชการบัญญัติให้ปรัชญาแปลว่า philosophy แต่การบังคับให้คำสํสกฤตมีความหมายผิดไป หรือแคบเข้า หรือกว้างออกไปกว่าที่วรรณคดีไทยเคยใช้แลเคยเข้าใจกันมา หรือกว่าความหมายของเจ้าของภาษานั้น หากจะไม่เป็นการลำบากแก่กวีผู้ไม่ฟังบังคับ ก็ลำบากแก่ผู้อ่านที่ต้องการจะทราบความหมายของกวี.

น่า ๒๕๗ “อัลปนาธิปัตย์ แกล้ว กำเรียง”

ข้าพเจ้าลองหยิบดิกชันรี อังกฤษ สํสกฤตมาพลิกดูว่าจะมีคำสํสกฤตแปล โอลิกากีย์ oligarchy คำอังกฤษหรือไม่ เขาให้ศัพท์ว่า อลฺปชนาธิปตฺยํ คืออำนาจปกครองของคนจำนวนน้อย เป็นคำยาวหน่อย แต่เมื่อคุ้นปากเข้าก็พอไปได้ จึงนำมาใช้ในหนเดียวในหนังสือนี้ จึงไม่เปลี่ยน.

ศัพท์อังกฤษว่า โอลิกากีย์ oligarchy แปลว่าระบอบปกครองบ้านเมือง ซึ่งความสิทธิ์ขาดตกอยู่กับคนจำนวนน้อย แต่ถ้าคนจำนวนน้อยได้รับความนิยมชมชื่นของคนทั่วไป ว่าปกครองด้วยความสามารถแลโดยยุติธรรมไซร้ การปกครองก็เปลี่ยนศัพท์เรียกว่า aristocracy อันมิใช่คำพึงรังเกียจ ต่อเมื่อการปกครองถูกตำหนิทั่ว ๆ ไป จึ่งจะเรียกว่า โอลิกากีย์ ดังนี้รัฐบาลซึ่งทรงเป็นโอลิกากีย์ ไม่ใช้คำนั้นเรียกตัวเอง มักจะแฝงหาคำอื่นมาใช้.

ข้าพเจ้าพลิกดิกชันรีเล่มเดียวกันหาคำอีกคำหนึ่ง คือ ดิกเตเตอร์ชิป dictatorship ว่า เขาจะให้คำสํสกฤตว่ากระไร พบศัพท์เขาใช้ไว้ว่า เอกาธิปตฺยํ แปลว่าอำนาจปกครองสิทธิ์ขาดตกอยู่กับคน ๆ เดียว จึ่งเก็บมาใช้ในโคลงบทต่อลงไป แลมีคำอังกฤษดิกเตเตอร์ชิปอยู่ในโคลงอีกบทหนึ่งด้วย.

อันที่จริงระบอบที่อำนาจสิทธิ์ขาดตกอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินพระองคเดียวก็นักเนื่องเข้าว่าเป็นเอกาธิปัตย์ แต่มีศัพท์ราชาธิปัตย์อยู่อีกศัพท์หนึ่ง ซึ่งแปลว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นดิกเตเตอร์ก็ได้ ว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นกษัตรรัฐธรรมนูญก็ได้ ในโคลงนี้ผู้แต่งใช้เอกาธิปัตย์ หมายความว่าดิกเตเตอร์ชิป.

ศัพท์สองศัพท์คือ อลฺปชนาธิปตฺยํ แล เอกาธิปตฺยํ ซึ่งนำมาจากดิกชันรีสํสกฤตนี้ ควรสังเกตว่าเจ้าของภาษาเขาใช้ อาธิปตฺยํ (หรืออาธิปัตย์) มาใช้ อาธิปเตยฺยํ หรืออาธิปตัย เช่นที่ไทยมักใช้ในคำว่าประชาธิปตัย.

น่า ๒๕๙ “แห่พระบรมศหเจ้า จอมจักร”

การแห่พระบรมศพพระจุลจอมเกล้า ฯ จากพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังสวนดุสิต มาสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังคืนนั้น ผู้ที่ตามมาในกระบวนน้อยคนจะลืม แต่ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว ผู้ไม่ได้เห็นหรือเกิดไม่ทัน อาจนึกว่าโคลงเหล่านี้แต่งประดิษฐประดอยเพื่อความไพเราะ ไม่ใช่บรรยายความจริง จึ่งขอแปลชี้แจงใจความในโคลงให้มากไว้หน่อยเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า ถ้าท่านอ่านแล้วนึกเห็นภาพก็เป็นภาพความจริงอันน่าพิศวง ไม่ใช่ภาพที่แสร้งแต่งขึ้น.

น่า ๒๕๙ “เปิงพรวดพรวด ๆ ซร้อง ศัพท์ซ้ำกำศรวญ”

กลองเปิงพรวดคือกลองชนะ เป็นคำสามัญเรียกตามเสียงกลอง.

น่า ๒๕๙ “พระโกษฐโรจนรัตน์ ไรแอร่ม”

ไรแปลว่าทองคำ (อุไรแปลว่าทองคำเนื้อสูง)

น่า ๒๕๙ “ยังบ่เคยมีครั้ง อื่นให้โครเห็น”

ที่ว่ายังไม่เคยมีครั้งอื่นให้ใครได้เห็นนี้ ก็เพราะว่าพระจุลจอมเกล้า ฯ สวรรคตที่พระราชวังสวนดุสิต ต้องแห่พระบรมศพจากพระที่นั่งอัมพรสถาน มาสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพอยู่จนถวายพระเพลิง พระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตไกลจากที่ประดิษฐานพระบรมศพถึงเพียงนั้นไม่เคยมี อนึ่ง การแห่ครั้งนั้นไม่เหมือนแห่สู่พระเมรุ ซึ่งเป็นทางใกล้ พระบรมศพทรงมหาพิชัยราชรถเคลื่อนที่ไปช้าๆ เวลากลางวัน ผิดกับพระยานมาศโถงปักเสวตฉัตร คนหามเดินก้าวเต็มฝีก้าวไปเวลากลางคือ (หยุดเปลี่ยนคนหามตามทางเป็นระยะไป) อนึ่งพระบรมศพซึ่งเชิญออกแห่ให้ชาวกรุงได้ถวายบังคมตั้งแต่แรกสวรรคตนั้นไม่เคยมี

น่า ๒๖๐ “ธูปเทียนดอกไม้เนื่อง แนวถนน
สองฟากมากฝูงคน ร่ำไห้
ยามค่ำชอ่ำฝน ฟ้ามืด
แลบ่เห็นตัวได้ สลับเพี้ยงเสียงครวญฯ”

โคลงบทนี้เป็นคำไทยล้วน (เว้นแต่ธูป) แต่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมอีกสักหน่อยเป็นการเล่ามากกว่าการแปล คืนนั้นนอกประตูรั้วเหล็กบริเวณพระราชวัง มีราษฎรหญิงชายนั่งเรียงรายสองข้างถนนราชดำเนิน จุดธูปเทียนบูชาพระบรมศพเห็นแสงไฟเป็นแถวไป เห็นตัวคนตะคุ่ม ๆ หรือไม่เห็นเลย ได้ยินแต่เสียงร้องไห้ระงมไป.

ควรจะชี้แจงอีกหน่อยว่า เหตุที่ถนนมืดนั้นเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าตลอดทาง ที่ต้องตัดก็เพราะสายไฟฟ้าขึงข้ามถนน พระยานมาศทรงพระโกษฐ์แลเสวตฉัตรลอดไม่ได้ วันนั้นฝนตั้งมาแต่ยังไม่ทันค่ำ.

ขออาไศรยน่ากระดาดเล่าในที่นี้เพิ่มออกไปอีกหน่อยว่า ถนนราชดำเนินนั้นพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างคล้ายถนนชนิดเดียวกันกับที่เคยทอดพระเนตรเห็นในมหานครในยุโหรป โปรดให้ปลูกต้นไม้สองข้างอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า avenue แลโปรดให้ตัดแต่งเรียบอยู่เสมอ (ต้นไม้เหล่านั้นได้ตัดลงเสียเมื่อสวรรคตแล้วกว่า ๓๐ ปี)

ในคืนต่อจากวันสวรรคตนั้น แห่พระบรมศพตามถนนราชดำเนินหว่างต้นไม้สองข้างทาง พระบรมโกษฐทรงพระยานมาศสามคานแบกบนบ่าคน ๓๒ คน เสวตฉัตร ๙ ชั้นเด่นอยู่เหนือพระบรมโกษฐ พระบรมโกษฐทองคำแต่งด้วยพุ่ม ข่ายรย้า แลกระจัง รอบสเอว เครื่องแต่งทั้งสามอย่างนั้นทำด้วยดิ้นเงิน ซึ่งเมื่อต้องแสงสว่างก็มีประกายเหมือนเพ็ชร์ เสวตฉัตรผ้าขาวขลิบด้วยทองแผ่ลวดทั้ง ๙ ชั้น ยอดแลด้ามปิดทอง พระยานมาศปิดทองล่องชาด.

โคลงต่อนี้ไปพยายามจะให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพซึ่งผู้แต่งเห็นด้วยตาหลายสิบปีมาแล้ว อนึ่งควรจะกล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในกระบวนแห่ครั้งนั้นเห็นไม่เหมือนกันทุกคน เพราะกระบวนยาวมาก แล้วแต่อยู่ใกล้หรือไกลพระบรมโกษฐ ผู้แต่งโคลงเหล่านี้อยู่หลังพระยานมาศ ประมาณเห็นจะ ๓๐ วา

น่า ๒๖๐ “เมฆมิดปิดดารก เดือนลบ”

ดารกแปลว่าดาว.

น่า ๒๖๐ “เทียนส่องแซงสองข้าง คู่ริ้วทิวขบวน”

มีคนถือเทียนเดินเป็นแถวสองข้างกระบวนแห่ แต่พอลมฝนพัดมาเทียนก็ดับหมด.

น่า ๒๖๐ “ยังมิถึงครึ่งหน เหือดอ้าว”

เมื่อแรกออกเดินกระบวนเป็นเวลาพยับฝน อากาศร้อนอ้าว คนเดินในกระบวนแต่งเต็มยศทั้งนั้น ใครสวมเสื้อสักหลาดก็เหื่อชุ่ม แต่เดินออกมาได้ไม่นานนัก ลมฝนก็พัดมา ตั้งแต่พัดฉิว ๆ ไปจนเกือบจะเป็นพายุ คนที่เดินในกระบวนนึกว่าอีกประเดี๋ยวก็จะเปียกโชก.

น่า ๒๖๐ “เมื่อขบวนจวนเข้าราช ดำเนิน ในนา”

ถนนราชดำเนินมีสามตอน เรียกว่าราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินใน.

น่า ๒๖๑ “มาช่วยอำนวยกี รณเกล้า”

กิรณแปลว่าแสง.

น่า ๒๖๑ “อจิรประภาอากาศก้อง ก่องจรัส”

อจิรประภาคือฟ้าแลบ ผู้แต่งเดินอยู่หลังพระยานมาศ เมื่อฟ้าแลบก็เห็นพระโกษฐ์แลเสวตฉัตรชัดยิ่งกว่าที่มนุษย์จะฉายไฟ (flash light) ให้เห็นได้.

น่า ๒๖๒ “ฝนดั่งฝนสั่งฟ้า ส่งรัชกาลที่ห้า เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์”

ที่เรียกว่าฝนสั่งฟ้าคือฝนตกใหญ่ปลายฤดู เมื่อตกแล้วก็มักจะไม่ตกอีกไปจนฤดูฝนน่า.

คำว่า เมื้อ ในที่นี้ใช้ตามความหมายเดิม คือแปลว่ากลับ ถ้าจะแปลว่าไปตามที่มักจะใช้กันเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่แปลว่ากลับได้ความดีกว่าแปลว่าไป.

ก่อนที่จะปิดฉากอธิบายเรื่องแห่พระบรมศพ ขอนำเอาคำพูดของข้าพเจ้าหกหรือเจ็ดปีมาแล้ว มาประกอบกับที่เขียนไว้ข้างบนนี้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะให้เห็นชัดยิ่งขึ้น คำพูดนั้นเป็นคำที่ข้าพเจ้าเล่าให้สโมสรโรตรี (Bangkok Rotary Club) ฟังเรื่องเดียวกัน คำพูดนี้ข้าพเจ้าพบเมื่อแต่งโคลงเสร็จไปแล้วเกือบปี ลืมหมดแล้วว่าพูดไว้ว่ากระไร แต่ใจความคงจะฝังอยู่ในใจ โคลงภาษาไทยจึ่งออกมาคล้ายกับคำร้อยแก้วภาษาอังกฤษ ซึ่งคัดตัดตอนมาดังนี้

King Chulalongkorn died in 1910; to be exact,on 23rd. October at 12. 45 p.m. By 2 o’ clock the next afternoon we were gathered in full dress at the Dusit Park Palace, where the King died, and in the evening his remains were borne in procession to the Grand Palace, there to be set up in state, The golden urn (covered with unalloyed gold) was borne on a gilded palanquin over which was set up the white nine-tiered State Umbrella, reaching to the tree-tops on the Rajadamnern Avenue. Apart from the soldiery in the procession, the cortege was preceded, flanked and followed by men in ancient costumes carrying the regalia and other marks of Kingship, which I do not need to describe to a local audience like yourselves.

The new King walked behind the remains of his father; after the King came the princes, nobles and officials trailing away I do not know how far behind.

The procession started from the Dusit Park Palace about dusk. Before it had gone far, the night became very dark, except for the torches and candles which were carried in the procession. The electric wires, which were strung across the road had to be cut all the way to allow the cortege to pass. By the time the procession had gone perhaps half-way it is difficult to remember details after all these years, with no record to consult-as I say, the procession had gone perhaps half-way when thunder began to peal and lightning to play, not much at first, but increasing as we proceeded. The minute guns began to boom as soon at the procession started: louder and louder became the thunder, and more and more violent the lightning. We had been in fall dress the early afternoon and now expected to be drenched the next minute; it would not be drizzling rain after such commotion in the sky. You could not move fast in such a procession. Now and again it slowed down to a stop, changed the bearers and moved on again, In that way we proceeded along the whole route, and it was half-past-ten by the time the procession reached the Grand Palace, many hours from the time of its start. Thunder and lighting continued all this time, becoming more violent as we approached the Grand Palace. Now please try to imagine the impressiveness of the whole phenomenon. Flashes of lightning, almost intermitten, played on the procession, with the golden Urn set up on a gilded palanquin, and surmounted by the nine-tiered Umbrella, which was pure white fringed with gold. Imagine the regalia and other marks of Siamese Kingship being carried roundabout the palanquin, and the men, from the new King downwards, marching silently except for the thunder sounds and of the distant guns and the mournful pipes and drums. The military bands played the Dead March or something else in the distant part of the procession, I suppose, but we who were near the King did not hear them. Imagine all that I have described, the cortege moving first in darkness and then in more and more brilliant flashes of lightning. The thunder out-thundered the guns, and the lightning outshone any light on earth.

For us in the. procession it was a very long march, and many an elderly man had to drop out on the way. But we were still dry; not a drop of rain all the way. But a few minutes after the procession had reached the Palace, and after the Kings’ remains had been moved in, there came a downpour, a regular deluge. It was a long day, the day which witnessed the passing of a great King.

น่า ๒๖๓ “เก้าพระองค์เจ้าฟ้า เฟื่องฟุ้งจรุงใจ”

เจ้าในราชวงษ์ต่างประเทศที่เสด็จมาช่วยงานบรมราชาภิเศกครั้งนั้น คือเจ้าฝรั่งเสด็จจากยุโหรป ๙ องค์ชายหญิง เจ้าชายญี่ปุ่นองค์หนึ่ง เจ้าชายฝรั่งองค์หนึ่งไม่ใช่ชั้นเจ้าฟ้า นอกจากนั้เจ้าฟ้าทุกองค์.

นอกจากเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์นั้น ยังมีผู้แทนประมุขของประเทศที่ไม่มีมหากษัตร เช่น ส.ป.ร. อเมริกาแลฝรั่งเศษเป็นต้น ส่วนประเทศที่มีมหากษัตรแต่ไม่มีเจ้านายในพระราชวงษ์เสด็จมา ก็ตั้งข้าราชการมาร่วมสมาคมทุกประเทศที่มีไมตรีกับเรา.

น่า ๒๖๓ “บังคับการศึกษา” “ปลูกสหกรณ์เผยแผ่” “วางบัญญัตินามสกุล”

ราชการที่จัดในรัชกาลที่ ๖ เห็นได้ในบัดนี้ว่ามีสามอย่างที่น้อมนำไปในทางตระเตรียมสำหรับประชาธิปัตย์ในภายน่า คือบังคับศึกษาอย่างหนึ่ง จัดสหกรณ์อย่างหนึ่ง บัญญัติการใช้นามสกุลอย่างหนึ่ง.

การบังคับศึกษานั้น ใครจะได้กราบบังคมทูลและขึ้นก่อนหรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าทราบว่าได้ทรงเตือนเจ้ากระทรวงหลายครั้งว่า เมื่อไรจะถวายร่างพระราชบัญญัติ เจ้ากระทรวงต้องส่งร่างเที่ยวหารือกับกระทรวงอื่น ๆ ที่งานจะคาบเกี่ยวถึงกัน กว่าจะถวายร่างได้ก็นับเวลาเป็นปี จึงไม่ทันพระราชหฤทัย.

การสหกรณ์เป็นงานซึ่งผู้อื่นกราบบังคมทูลเสนอความคิดขึ้นก่อน มีข้าราชการผู้ใหญ่บางคนระแวงว่าจะเปิดทางประชาธิปัตย์เร็วเกินไป แต่พระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุมัติทันที ไม่ทรงลังเลเลย.

การบัญญัติให้มีนามสกุลเป็นพระราชดำริห์ของพระองค์ ไม่มีใครกราบบังคมทูลเสนอขึ้นก่อน ผู้อ่านสามกรุงในเวลานี้ย่อมจะเห็นประโยชน์ของนามสกุลทั่วกันแล้ว แต่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นความบกพร่องของการไม่มีนามสกุล ในประเทศที่เริ่มประชาธิปัตย์ ดังจะนำมาเล่าให้เห็นตัวอย่างจริงๆ ไม่ใช่สมมติขึ้น.

ข้าพเจ้าไปเมืองพม่าในปีแรกที่มีสภาผู้แทนราษฎร ไปถึงย่างกุ้งเพอินวันเดียวกับวันเลือก ขึ้นจากเรือขับรถไปตามถนนเห็นคนเกลื่อนกลาด มีมุงกันเป็นแห่ง ๆ ที่โรงตำรวจมีคนอยู่ในที่คุมขังมาก ถามเขาว่าวันนี้มีงานอะไรกัน เขาว่าเป็นวันเลือกตั้งครั้งแรกของพม่า.

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล คือบ้านแลสำนักนิ์งานของผู้สำเร็จราชการ รายงานแลข่าวต่าง ๆ มีรวมไปที่นั่น ซึ่งเขาเล่าแลโจษกันในเวลากินอาหาร ข้อหนึ่งที่ข้าพเจ้าสังเกตทันทีก็คือว่า มีความลำบากในเรื่องทเบียนราษฎรผู้ลงคแนน เพราะพม่าไม่มีนามสกุล ชื่อตัวก็ซ้ำกันมาก ท่วงทีเลือกตั้งใหญ่ ๆ มีคนชื่อซ้ำกันหลายสิบคนก็มี ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ความข้อนี้เมื่อข้าพเจ้าไปในตำบลอื่นๆ เขาก็เล่าเช่นเดียวกัน.

น่า ๒๖๔ “ราวเมื่อสามสิบปี โน่นนั้น”

สงครามใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ถึง ๑๙๑๘ เรียกกันว่ามหาสงคราม (Great War) บ้าง เรียกว่าสงครามโลก (World War) บ้าง สงครามครั้งนั้นทหารตายทั้งสองฝ่ายรวม ๑๐ ล้าน ๕ แสนคน ทหารบาดเจ็บต่างหาก พลเรือนเจ็บแลตายต่างหาก.

น่า ๒๖๕ “ชนสลาฟคาบก่อนตั้ง สองพัน ปีเฮย”

ชนเผ่าสลาฟ (Slav) ในปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย บัลกาเรีย ยูโกสลาเวีย เช้กโกสโลวาเกีย แลโปแลนด์ เป็นต้น แลอยู่ในประเทศเยอรมันก็มีบ้าง.

เข้าใจกันว่าเมื่อ ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว ชนเผ่าสลาฟตั้งภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่ารัสเซียกลางภาคใต้ แต่เขยิบท้องที่หากินเข้ามาทางตวันตกแห่งยุโหรปหลายคราว เรียกว่าเป็นคลื่นๆ ชนอื่นๆ คือเผ่าเยอรมันโดยเฉพาะได้ช่วยกันยันไว้ จึ่งเกิดรังเกียจเผ่ากันขึ้น.

น่า ๒๖๕ “เกิดเป็น ปมเผ่า เหี้ยม หิงสา”

เหี้ยม แปลว่าเหตุ.

ข้าพเจ้าใช้คำว่าปมด้อย ตรงกับคำอังกฤษว่า inferiority complex มานานแล้ว ดูก็เข้าใจกันดี แลได้ยินใช้กันมาก ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า ปมเผ่า ขึ้นใหม่อีกคำหนึ่ง ตรงกับคำอังกฤษว่า racial complex เป็นคำแปลตรงตามศัพท์ ใจความก็คือเผ่าต่อเผ่าเกิดถือเขาถือเรา รังเกียจเดียดฉันกันขึ้น.

น่า ๒๖๕ “บ้านอยู่อู่นอนเหล้า แหล่งด้าวราวแดน”

เหล้าในที่นี้ใช้อย่างเดียวกับเหล้า แปลว่าแผ่นดิน เตลงพ่ายใช้คำนี้หลายแห่ง เช่น “ดาลตระดกเดชลี้ ประลาศเหล้าเหล่งสถาน”

น่า ๒๖๕ “เปลี่ยนเป็น ปมชาติ ชั้น หนึ่งอีก”

เมื่อได้ใช้ ปมเผ่า เป็นคำแปล racial complex แล้ว ก็เลยใช้ ปมชาติ แทน nationalism เสียทีเดียว เผ่าอาจมีหลายชาติ แลชาติอาจมีหลายเผ่า เผ่าชนที่ไม่มีชาติก็มี.

น่า ๒๖๖ “เพียรเพิ่มดุลย์อำนาจ เนิ่นไว้”

ดุลย์อำนาจคือ Balance of Power นัยหนึ่งการถ่วงกำลังกัน ถ้าฝ่ายไหนเข้มแข็งสงครามหรือมีพรรคพวกมากขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องขวนขวายเพิ่มความสามารถทำศึก หรือหาพวกเข้าฝักเข้าฝ่ายกันเพื่อมิให้ด้อยกำลัง การถ่วงดุลย์อำนาจจึงเป็นอุบายสำคัญของโลกในสมัยนั้น.

ศัพท์ Balance of Power (ดุลย์อำนาจ) นี้ ใช้มาตั้งแต่ครั้งเซอร์โรเบิตวอลโปล์ (คำพูดใน ค.ศ. ๑๗๔๑) ไม่ใช่ศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่ คำๆ นี้แต่ก่อนแปลว่าแบ่งแยกประเทศให้เท่าๆ กัน อย่าให้ประเทศไหนข่มประเทศอื่นๆ ได้ ต่อมาถึงสมัยที่ปราบนโปเลียนลงไปแล้ว (ค.ศ. ๑๘๑๕) ยุโหรปพยายามจะจัดแบ่งประเทศให้ขนาดเท่า ๆ กัน ให้มีพลเมืองเท่าๆ กัน ไม่คำนึงถึงภูมิศาสตร์แลเผ่าคน จึ่งเป็นไปไม่ได้

ในสมัยต่อมาอีก ๑๐๐ ปี คือก่อนมหาสงคราม ๑๙๑๔-๑๘ คำว่าดุลย์อำนาจหมายถึงหนังสือสัญญาสหายศึก ยุโหรปแยกกันเป็นสอง “ค่าย” ดังกล่าวในโคลงบทต่อไป.

น่า ๒๖๖ “รัสเซียร่วมอังกฤษ ฝรั่งเศษ”

สัญญาสหายศึก ๓ ประเทศ ฝ่ายหนึ่งคืออังกฤษ ฝรั่งเศษ รัสเซีย เรียกว่า Triple Entente.

น่า ๒๖๖ “อิตลิย์ออสเตรียเข้า ร่วมข้างเยอรมัน”

สัญญาสหายศึกอีกฝ่ายหนึ่ง คือ อิตาลี ออสเตรีย เยอรมัน เรียกว่า Triple Alliance.

น่า ๒๖๗ “จำเป็นเห็นแน่แท้ ทางยุทธ

ที่จะมีทัพสมุท มากไว้”

พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ ราชาธิราชเยอรมันมีพระราชดำรัส (speech) เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ มีความตอนหนึ่งว่า “Germany’s greatness makes it impossible for her to be without the ocean; but the ocean also proves that even in the distance, and on its further side, without Germany and the German Emperor, no great decision dare henceforth be taken”

น่า ๒๖๗ “ตบมือแม้ตบข้าง เดียวได”

ได แปลว่ามือ.

น่า ๒๖๘ “สงครามเป็นเครื่องค้า ของกษัตร์”

ไตรเด็นจินตกวีอังกฤษ (poet Laureate) เขียนไว้ประมาณ ๒๕๐ ปีแล้วว่า “War is the trade of Kings.”

ถ้าพูดถึงคำว่า กษัตร ไซร้ คำนั้นก็แปลว่านักรบอยู่ในตัวแล้ว.

น่า ๒๖๘ “คำนึงนเรศร อยุธเยศ
ใฝ่ยุทธญี่ปุ่นข้าม ทัพท้องทเลจีน”

จดหมายเหตุจีนโบราณ ซึ่งราชบัณฑิตยสภาจัดใช้แปลเป็นไทยพิมพ์ไว้ในชุมนุมพงษาวดาร มีความตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งเมื่อจีนกับญี่ปุ่นทำสงครามกัน สมเด็จพระนเรศวรเจ้ากรุงศรีอยุธยา มีพระราชสาส์นไปถึงกรุงจีนว่า จะส่งกองทัพไปช่วยจีนรบญี่ปุ่น จีนตอบมาว่าไม่ต้องก็ได้ ที่จีนตอบปัดมาเช่นนี้ มิศเตอร์วู๊ดว่าเป็นด้วยฤษยาของอุปราชกวางตุ้งแลกวางซี (“A History of Siam”, by W.A.R. Wood)

น่า ๒๗๐ “ในเมื่อการยุทธยัง ยุ่งยื้อ”

สยามเข้าสงครามครั้งนั้น ในขณะที่สองฝ่ายทำศึกยังก้ำกึ่งกันอยู่ มิใช่เข้ากับฝ่ายชนะเมื่อเห็นแล้วว่าจะชนะ พอสยามเข้าสงครามได้หน่อยหนึ่ง ทัพเยอรมันก็ตีทลวงแนวฝรั่งเศษอังกฤษเข้าไปจนเปรียบดังเคาะอยู่นอกประตูปารีศ แลฝั่งทเลฝรั่งเศษที่ตรงข้ามกับเกาะอังกฤษก็เปิดทางโล่ง เป็นเวลาน่ากลัวมาก แต่กว่าไทยจะตระเตรียมพร้อมในกรุงเทพ ฯ แลส่งกองทัพข้ามทะเลไปถึงยุโหรป ก็พอกระแสสงครามเปลี่ยน เราจึ่งได้เข้ากระบวนศึกฝ่ายชนะด้วย.

น่า ๒๗๐ “พอเกิดการแซกซ้อน เมื่อร้อยห้าสิบ ปีเอย”

การแซกซ้อนนั้นเกิดเมื่อร้อยห้าสิบกับเศษไม่ถึงสองเดือน จากวันประดิษฐานพระราชวงษ์จักรี.

น่า ๒๗๑ “เก้าปีพระปกเกล้า ครองดิน”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สละราชสมบัติเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗.

น่า ๒๓๒ “อลักเอลื่อเชื่อสันติสัญ ญาสงบ”

สันติสัญญา คือหนังสือสัญญาเลิกสงครามคืนเข้าสู่ความสงบ เรียกว่า Peace Treaty หนังสือสัญญานั้นกำหนดไว้เป็นข้อๆ ว่าฝ่ายไหนจะต้องปฏิบัติอย่างไรไปชั่วกาลนาน แต่หนังสือสัญญาย่อมเขียนไว้ในแผ่นกระดาษ ถ้าฝ่ายไหนไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หรือกลับเสียก็ดี แผ่นกระดาษนั้นก็กลายเป็น “เศษกระดาษ” (a scrap of paper) ดังที่พระราชาธิราชเยอรมันทรงเรียกเมื่อเริ่มมหาสงครามครั้งโน้น หรือที่บางทีเรียกในปัจจุบันว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑.

น่า ๒๗๓ “เก้าปี “ดีหนึ่ง” ได้ ครองดิน”

รัฐบาล “ดีหนึ่ง” เริ่มปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ญี่ปุ่นเข้าเมืองเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยกทัพขึ้นบกที่ปตานี สงขลา เกาะหลัก นครศรีธรรมราช บางป เป็นต้น บางแห่งไทยต่อสู้ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่า จะต้านทานจนเลือดหยดสุดท้าย บางแห่งไม่ทันรู้ตัวไม่มีต่อสู้เลย ส่วนทางบกนั้นญี่ปุ่นยกทัพขบวนใหญ่เข้ามาจากอินโดจีนถึงกรุงเทพฯ โดยไม่มีต่อต้านตามทาง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ