ภาคผนวก

สามกรุงนี้แต่งจบบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่แต่งจบนั้นพิมพ์ไว้ในน่าสุดท้าย เพื่อให้เป็นที่สังเกตว่าแต่งหยุดลงไปเมื่อไร เหตุที่เจาะจงจะให้ทราบวันที่แต่งจบก็เพราะว่า สามกรุงนี้ แม้จะเรียกว่าเพียงแต่เฉียดพงษาวดารไปก็จริง แต่ใจความส่วนมากก็เป็นเนื้อแท้ในพระราชพงษาวดาร กล่าวสังเขปตั้งแต่ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นลำดับมาจนสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะมีอนาคตต่อไปไม่มีสิ้นสุด จึ่งจำจะต้องชิงจบลงไปเสียที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ในตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ นี้ ดูเหมือนจะเห็นปลายทางแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้ามาบ้าง เมื่อสงครามสิ้นลงไปแล้ว ใครจะเป็นใครแลอะไรจะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะเดา จึ่งชิงจบลงเสีย แลเบิดปฤษณาไว้ให้พงษาวดารเป็นผู้ตอบในวันน่าต่อไป

การแต่งหนังสือนี้ผู้แต่งต้องการจะแต่งโคลง ไม่ใช่เรียบเรียงพงษาวดาร หากอาไศรยพงษาวดารเป็นเนื้อเรื่องอันชวนให้เพลินแต่งแลอาจจะเพลินอ่านด้วย ถ้าจะพูดเนื้อเรื่องในเวลาปัจจุบันเฉพาะบ้านเมืองเราไซร้ ภายหลังวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๗ มาไม่นานนัก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคมมีสองคน ก็ออกจากตำแหน่งไปคนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีก็เปลี่ยนตัว แลคำว่า “ผู้นำ” ก็หายไปจากคำกระจายเสียงวิทยุของราชการแลหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นต้น

ส่วน “ผู้นำ” ในยุโหรปนั้น มุสโซลินีตกแท่นไปจากกรุงโรมหลายเดือนแล้ว เวลานี้จไปนำใครอยู่ที่ไหนก็ไม่มีข่าวมาให้ทราบเลย ในวันที่เริ่มเขียนภาคผนวกนี้ (วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๗) “ผู้นำ” ของประเทศที่อยู่ในสงครามยุโหรปยังมีเหลืออยู่แต่ฮิตเล่อร์คนเดียว.

ภาคอธิบาย

ภาคผนวกนี้เป็นภาคอธิบาย ซึ่งจะว่าไม่จำเป็นก็ได้ เพราะผู้รู้ก็ย่อมจะรู้อยู่แล้ว ผู้เรียนถ้าไม่รู้ก็คงจะถามผู้รู้ ผู้ไม่อยากรู้ถึงจะเขียนไว้ให้ก็คงไม่อ่าน อันที่จริงกวีแต่ก่อนท่านแต่งหนังสือ เช่นพระลอและเตลงพ่ายเป็นต้น ท่านก็มิต้องเขียนคำอธิบายของท่าน ที่แท้การเขียนอธิบายก็คือรับเป็นสัตย์ว่า แต่โคลงไม่ได้ความแจ่มแจ้งจึ่งต้องแปลเป็นร้อยแก้วอีกชั้นหนึ่ง นับว่าเป็นตำหนิไม่น้อยอยู่ เมื่อนึกถอยหลังไปก็ดูเหมือนข้าพเจ้าแทบจะเป็นผู้แต่งคนแรกดอกกระมังที่เขียนอธิบายตนเอง คือพระนลคำฉันท์ซึ่งแต่งกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว เนื้อเรื่อง พระนลคำฉันท์ เป็นเรื่องอินเดียโบราณก่อนสมัยมหาภารตะ (มีผู้เก็บรวมเข้าไปในมหาภารตะภายหลัง) มีประเพณีครั้งโน้นแลศัพท์เก่าที่ควรชี้แจง จึ่งเลยแปลศัพท์อื่น ๆ ที่ไม่สู้จะคุ้นหูผู้อ่านเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้วนั้นด้วย แต่สามกรุงนี้มีฉันท์น้อย แต่งเป็นโคลงโดยมากไม่ต้องใช้คำยากหรือกล่าวถ้อยความที่เข้าใจยากกี่มากน้อย เหตุแห่งความจำเป็นที่จะแปลจึ่งหาใคร่จะมีไม่.

แต่เมื่อคำนึงไปอีกทางหนึ่ง สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งเตลงพ่ายไว้ถึงเวลานี้เพียง ๑๐๐ ปีเศษ ก็ดูเหมือนจะมีคำหลายคำซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้ว่าแปลว่ากระไรแน่ แม้จะเคยเห็นคำแปลของนักศัพท์บางคนบางศัพท์ก็ไม่วางใจลงไปว่า สมเด็จพระปรมานุชิตทรงหมายความเช่นนั้น จึ่งเกิดหนักใจขึ้นมาว่า ลูกหลานเหลนรุ่นต่อ ๆ ไปอาจไม่เข้าใจคำแลความหมายหลายแห่งในสามกรุงนี้ หนังสือที่อ่านไม่เข้าใจทันทีนั้น ถ้าผู้อ่านใคร่เข้าใจก็จะต้องมีผู้ชี้แจงใช้ฟัง เช่นครูสอนศิษย์ แต่ถ้าผู้ชี้แจงนึกหรือเข้าใจในเวลานานไปข้างน่า ผิดกับที่ข้าพเจ้าผู้แต่งนึกหรือหมายความในเวลาที่แต่งนี้ไซร้ คำชี้แจงก็อาจเฉไฉไป จึ่งชวนให้เห็นว่า ถ้าข้าพเจ้าเขียนชี้แจงไว้เสียเองแต่บัดนี้จะดีกว่า.

คำชี้แจงย่อมไม่จำเป็นแก่ผู้รู้ แลอาจเป็นเครื่องเบื่อ อนึ่งเมื่อจับเขียนชี้แจงเข้าแล้วก็อาจเลื้อยเจื้อยไปตามอารมณ์ในขณะที่เขียน จึ่งต้องขออภัยล่วงน่าไว้เสียก่อน.

การอ่าน

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรในแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ เป็นกวีซึ่งควรนับถือว่าอยู่ในชั้นเยี่ยมของไทย แม้โคลงที่ทรงพระนิพนธ์ไว้เหลืออยู่ในเวลานี้จะมีบางบทที่วิปลาศคลาดเคลื่อน เพราะคัดผิดกันมาทีละเล็กละน้อย หรือจะเป็นด้วยนิยมใช้ หรือไม่ใช้เอกโท ชนิดที่เรียวกเอกโทษโทโทษในสมัยของท่านจะผิดกับสมัยของเราก็ตาม แต่โคลงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ยังต้องนับว่ามีรศดีอยู่เสมอ.

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงแต่งโคลงสองบทในตอนจบกาพย์ห่อโคลงประพาศธารทองแดง ใจความว่า โคลงที่แต่งไว้อย่างดี ฝีมืออาลักษณ์ชุบตัวลงสมุดไว้อย่างงามนั้น ถ้าอ่านไม่เป็นก็เสียหมด โคลงสองบทนั้นหอพระสมุดวชิรญาณนำมาพิมพ์ไว้ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ มีหมายเหตุว่ามีผิดเอกโทอยู่หลายแห่ง เพราะพิมพ์ตามต้นฉบับที่มี หาได้เปลี่ยนแปลงประการใดไม่.

โคลงพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์สองบทนั้น คัดจากฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์มาไว้ให้เห็นดังนี้

๏ อักษรเรียบร้อยถ้อย คำเพราะ
ผู้รู้อ่านสารเสนาะ เรื่อยหรี้
บ่รู้อ่านไม่เหมาะ ตรงเทิ่ง ไปนา
ทำให้โคลงทั้งนี้ ชั่วช้าเสียไป ฯ
๏ อักษรสรรค์สร้างช่าง ชุบจาน
โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
ผู้รู้อ่านกลอนการ พาชื่น ใจนา
ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องเสียโคลง ฯ

การทำให้โคลงไพเราะหายไพเราะเพราะอ่านไม่เป็นนี้ จะขอชี้แจงขยายความให้เลอียดออกไปอีกหน่อย ยกตัวอย่างโคลงพระนิพนธ์กรมหลวงพิชิตปรีชากรบทหนึ่ง ในชุดที่เรียกว่าโคลงภาพพระราชพงษาวดาร แต่งถวายตามพระราชโองการรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ ดังนี้

๏ สยามรัฐพัฒนแผ่นพ้น สองครา นี้แล
หนึ่งเขตรนเรศรา ชะนี้
กับทั้งเทพมหา นคร เรานอ
สิทธิสุขสิทธิไชยชี้ เชิดอ้างปางสอง ฯ

โคลงบทนี้ถ้าอ่านไม่เป็นก็ดูเหมือนผิดเอกแห่งหนึ่งในบาทที่ ๓ ในสามกรุงมีโคลงหลายบาทซึ่งถ้าอ่านไม่เป็นก็ผิดเอกอย่างเดียวกัน.

ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งควรจะชี้ให้เห็นชัด แต่ถ้าจะอธิบายให้สั้นก็ต้องใช้ความเปรียบ การอ่านโคลงบางบทแลบางบาทเปรียบดังตีระนาด ถ้าไม่มีลูกเก็บก็เทิ่งๆ ไปหมด โคลงบาทหนึ่งๆมี ๗ หรือ ๙ คำ ถ้าอ่านห้วนๆ จำเพาะคำหนึ่ง ๆ ก็เหมือนตีระนาดไม่มีลูกเก็บ จะยกตัวอย่างให้เห็นดังนี้

๏ กรุงเทพมหานครนี้ นามรบิล
อมรรัตนโกสินทร์ ต่อสร้อย

โคลงสองบาทนี้ถ้าอ่านเทิ่ง ๆ ว่า กรุง เทบ มหา นคอน นี้ นาม รบิล อะมอน รัด โกสินทร์ ต่อสร้อย ก็คืออ่านไม่มีลูกเก็บ ชื่อพระนครนี้ใคร ๆ ก็อ่านถูกด้วยกันทั้งนัน จึ่งไม่จำเป็นจะต้องอธิบายว่าอ่านอย่างไรจึงจะมีลูกเก็บ.

แต่โคลงที่ต้องอ่านมีลูกเก็บนั้นไม่ใช่ทุกบาท โคลงบางบาทต้องอ่านห้วนๆ ทุกคำ มีลูกเก็บไม่ได้ เช่น ข่ายเขตุให้ไห้ เหือดแห้งแรงโรย ฯ

ควรจะกล่าวอีกข้อหนึ่ง เฉพาะโลงในสมุดเล่มนี้แลโคลงอื่นๆ ที่ข้าพเจ้าแต่ง ว่าทุกบาทมีวิธีอ่านที่ถูกตามตั้งใจของผู้แต่ง แต่จะชี้แจงให้เลอียดก็ยาวนัก ผู้อ่านที่รู้จักอ่านก็คงจะอ่านถูกอยู่เองแล้ว ถ้าอ่านไม่ถูกก็คงจะเทิ่ง ๆ ไปสักหน่อย.

กวีวัจนไทย

ข้าพเจ้าไม่ทราบคำไทยแท้ (ถ้ามี) ที่จะใช้ได้ความตรงกันกับคำอังกฤษว่า โปเอ็ตรี (poetry) คำ สํสกฤต กาวฺย ซึ่งเราเขียนว่ากาพย์นั้น เราใช้เป็น คำเฉพาะ เพื่อเรียกกวีวัจนะประเภทหนึ่งของเรา คือ กาพย์ ๓ ชนิดที่เรียกกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง แลกาพย์สุรางคนางค์ เป็นต้น จะเอาคำว่ากาพย์มาใช้เป็น คำร่วม สำหรับเรียกกวีวัจนะทุกอย่างก็ขัดอยู่.

กวีวัจนะอังกฤษทุกชนิดมีบังคับคำหนักคำเบาที่เรียกว่าครุลหุ มีสัมผัสก็มี ไม่มีก็มี ชนิดที่ไม่มีสัมผัส ก็คือฉันท์ไม่มีคำคล้องนั่นเอง ข้าเจ้าเคยเอาสามก๊กตอนหนึ่งมาตัดและเติมคำเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ไม่มีสัมผัส ครั้นอ่านให้คนฟังในเวลาแสดงปาฐกถาก็ไม่มีใครรู้ว่าอ่านฉันท์ ต่อเมื่อบอกจึ่งรู้ ฉันท์ที่อ่านให้คนฟังไม่รู้ว่าฉันท์นั้นไม่ใช่ฉันท์ตามมติของเรา

ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวในที่อื่นหลายครั้งแล้วว่า สิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าโบเอ็ตรี (ซึ่งในที่นี้เรียกว่ากวีวัจนะ) นั้น ถ้าพูดในส่วนไทยก็ย่อมจะมีสัมผัสคล้องกันเป็นกลอนทั้งสิ้น หนังสือไหนไม่มีสัมผัสคล้องกันเป็นกลอน หนังสือนั้นก็มิใช่โปเอ็ตรีหรือกวีวัจนะไทย.

แต่ถ้าจะใช้ กลอน เป็น คำรวม สำหรับเรียกกวีวัจนะไทยทุกอย่างก็ขัดอีก เพราะเราใช้คำว่ากลอนเป็น คำเฉพาะ สำหรับเรียกกวีวัจนะไทยประเภทหนึ่งเสียแล้ว ในที่นี้จึ่งจำต้องใช้คำว่ากวีวัจนะเป็นคำรวมสำหรับเรียก โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ฯลฯ ทุกอย่าง.

กวีวัจนะของเราที่แต่งกันโดยมากมีห้าประเภท คือ ประเภทฉันท์ มีหลายสิบชนิดตามตำรา แต่ก็แต่งกันไม่มากชนิดนัก ประเภทโคลง มีสามชนิดคือ โคลง ๔ โคลง ๓ โคลง ๒ ซึ่งแต่ละชนิดจำแนกย่อยออกไปได้อีก ประเภทกลอน ซึ่งตามที่แต่งกันโดยมากควรแยกได้เป็น กลอน ๖ กลอน ๗ กลอน ๘ กลอน ๙ แลกลอนเสภา (กลอนชนิดหลังนี้เป็นกลอนยำใหญ่) ประเภทร่าย ซึ่งมีสองชนิด คือ ร่ายยาวแลร่ายสั้น (ถ้าใช้ว่าร่ายเฉยๆมักหมายความว่าร่ายสั้น) ประเภทกาพย์ มีสามชนิด ซึ่งระบุไว้ในเบื้องต้นแล้ว กับในหนังสือนี้มีกาพย์แบบใหม่ของข้าพเจ้าอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้มาก.

ผิดแบบแผน

การนำเอากวีวัจนะสองหรือกว่าสองประเภทมาแต่งด้วยกันนั้น มีแบบที่กวีท่านใช้กันมาแต่ก่อน เช่นกาพย์กับโคลงเรียกว่ากาพย์ห่อโคลง โคลงกับร่ายเรียกว่าลิลิต เป็นตัวอย่าง สามกรุงนี้มีหมดทั้งห้าประเภทแห่งกวีวัจนะ แต่เลือกชนิดตามใจชอบของผู้แต่ง ไม่มีชนิดที่ไม่ชอบแต่งหรือได้เคยแต่งไว้ที่อื่นมากแล้ว.

มีการไม่ทำตามแบบอีกอย่างหนึ่งในหนังสือนี้ ซึ่งผู้อ่านหลายคนคงจะสังเกตคือ ไม่ร้อยโคลง ที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ร้อยโคลง” นี้ กล่าวตามหนังสือฉันทลักษณ์อันเป็นตำราเรียนของกระทรวงธรรมการว่า คำสุดท้ายแห่งโคลงบทน่าคล้องกับคำที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือที่ ๓ ของวรรค ๑ แห่งบทต่อไป.

การไม่ร้อยโคลงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจเห็นเป็นข้อบกพร่อง แลอาจยกขึ้นเป็นตำหนิ แต่หนังสือนี้แต่งตามใจชอบของผู้แต่ง ไม่ชอบอย่างไรก็ไม่แต่งอย่างนั้น ไม่ใช่ไม่รู้หรือไม่สามารถจะแต่งตามแบบได้.

ตัวสกด

ก่อนที่จะชี้แจงวิธีใช้ตัวสกดการันต์ในหนังสือ น่าจะคำนึงหาเหตุผลย้อนหลังไปสักหน่อยว่า ทำไมคนจึ่งเขียนหนังสือ เหตุดั้งเดิมมีมาอย่างไร มนุษย์จึ่งบากบั่นมันสมองมาหลายสิบหรือหลายร้อยชั่วคน อุตส่าห์ออกแบบแลฝึกหัดเขียนอ่านกันขึ้นโดยความจำเป็นประการใด.

ปัญหานี้ตอบเต็มเล่มสมุดก็ได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญในตำนารความเจริญของมนุนษย์ ตั้งแต่เมื่อจวนจะเป็นลิงมาจนจวนจะเป็นเทวดาแล้ว ความเสื่อมก็กลับมีมาบ้าง เช่นเมื่อหนุมานได้เป็นเจ้าครองเมืองก็สวมมงกุฎขึ้นสถิตแท่นทำสง่า แต่มิช้าก็เอาตีนขึ้นเกาหัวตามสภาพของมัน ฉนี้เป็นต้น แต่แม้ความเสื่อมจะมีมาบางคาบบางครา เมื่อถึงคราวเปลี่ยนก็มักจะย้อนกลับไปเข้ารอยความเจริญเดินก้าวน่าไปอีก ธรรมดาของโลกย่อมมีสมบัติแลวิบัติหมุนเวียนกันไป ตำนารความเจริญของมนุษย์แม้ในส่วนหนังสือส่วนเดียวก็กลับไปกลับมายืดยาวนัก ในที่นี้จึ่งจะตอบปัญหาเลาๆ แต่พอควรเท่านั้น.

มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์อยู่รวมหมู่ เหมือน งัว ควาย แพะ แกะ ลิง ค่าง ช้าง ม้า เป็นต้น ซึ่งอยู่ด้วยกันเป็นฝูงเป็นโขลง หรืออย่างน้อยก็เป็นพวกสองสามตัว แลอาจทำสัญญาด้วยเสียงหรือด้วยกิริยาให้รู้ถึงกันได้ มนุษย์มีปัญญษพ้นระดับสัตว์ดิรัจฉาน แม้อยู่ไกลเกินที่จะส่งสัญญาถึงกันด้วยเสียงหรือโดยกิริยา ก็มีวิธีที่จะส่งเครื่องหมายให้รู้ถึงกันโดยประการอื่น ในสมัยดึกดำบรรพ์ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “ก่อนพงษาวดาร” นั้น มนุษย์ชาวเถื่อนมีสำนักนิ์อาไศรยอยู่ในที่ไม่มีสัตว์ร้าย ถ้าคนไหนเห็นสัตว์ร้ายหากินล่วงล้ำเข้าไป ก็ทำเครื่องหมายไว้ที่ก้อนหินหรือต้นไม้ริมทางไปมา คนอื่นไปเห็นเข้าก็ระวังตัวแลบอกกันต่อ ๆ ไป.

วีธีทำเครื่องหมายไว้ให้รู้ถึงกันนี้แหละ ครั้นนาน ๆ เข้าก็เกิดเป็นหนังสือ ซึ่งในชั้นต้นๆก็มีน้อยตัวพยัญชนะแลสระ แล้วจึ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าพูดเฉพาะหนังสือไทยไซร้ ไทยที่อยู่เป็นหมู่ชนป่าเถื่อนก็ยังไม่มีหนังสืออยู่จนบัดนี้ จำพวกที่ป่าเถื่อนน้อยหน่อยก็มีหนังสือ ๑๗ ตัว ๒๑ ตัว แลมากขึ้นไปตามระดับปัญญา.

ในสยามตั้งแต่ขุนรามกำแหงมา อักษรของเรามีพยัญชนะแลสระมากกว่าของชนเผ่าไทยอื่น ๆ ทั้งสิ้น แลบัดนี้ยังมีอักขรวิธีเลอียดยิ่งขึ้นไปกว่าที่ขุนรามกำแหงบัญญัติไว้อีกเล่า เราอาจจารึกความคิดของเราปัจจุบันลงในกระดาษได้ดีกว่า ที่จะเขียนได้ตามอักขนวิธีของขุนรามกำแหง แลอาจเขียนได้เร็วกว่า สมัยกรุงสุโขทัย ๗๐๐ ปีมาแล้ว ไม่จำต้องมีอักขรวิธีเลอียดยิ่งไปกว่าที่จารึกในแผ่นศิลา ท่านจึ่งออกแบบไว้แต่เพียงเท่านั้น.

เราพึงยกย่องบุคคลผู้ควรได้รับควมยกย่อง แลควรสรรเสริญว่า แม้เวลาจะล่วงมาแล้วหลายร้อยปี อักขรวิธีของขุนรามกำแหงก็ยังใช้ได้อยู่ ปรากฏว่าสูงกว่าระดับปัญญาไทยปัจจุบันไปเสียอีก เราได้แปลงรูปสระพยัญชนะของขุนราชกำแหงไปบ้าง เพื่อให้เขียนได้เร็วเข้า แลได้เปลี่ยนบางอย่างให้สดวกขึ้นกว่าอักขรวิธีครั้งกรุงสุโขทัย แต่ส่วนมากของท่านก็ยังอยู่.

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดมนุษย์จึงเขียนหนังสือนั้น ถ้าตอบอย่างสั้นที่สุดก็ว่า เขียนเพื่อบอก วิธีบอกอาจใช้ปากทำเสียงให้มีกระแสไปถึงหูผู้รับบอกก็ได้ แต่การบอก จากปากถึงหู นั้น จำต้องอยู่ในระยะที่เสียงไปถึงจึ่งจะบอกกันได้ การบอกโดยวิธีเขียนหนังสือก็คือบอก จากมือถึงตา เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้ปากแลหูเป็นเครื่องส่งแลเครื่องรับ แต่ใจความแลถ้อยคำที่นึกจะบอกก็ออกจากมันสมองผู้บอก ไปถึงมันสมองผู้รับบอกได้เหมือนกัน ซ้ำไปได้ไกลกว่า แลเก็บไว้ได้นานด้วย.

สมัยนี้เรามีเครื่องพูดไปได้ไกล คือโทรศัพท์มีสายแลไม่มีสาย จึงจะใคร่นำมาเปรียบว่า ฉันใดเครื่องโทรศัพท์ไม่ดีฟังไม่ชัด ฉันนั้นหนังสือไม่ดีเข้าใจยาก ถ้าข้อที่จะบอกเป็นใจความสขุมอันต้องผจงถ้อยคำ ก็จะไมเข้าใจกัน ความมุ่งหมายที่จะบอกก็เหลวละลายไปหมด เหตุที่เขียนเพื่อบอกนั้น ถ้าเขียนไปแล้วอ่านไม่เข้าใจก็เป็นอันไม่ได้บอกหรือบอกไม่รู้ จำนงในการเขียนหนังสือนั้นก็หามีผลสมหมายไม่.

ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉนี้ เราไทยสยามจึ่งมีตัวหนังสือไว้มาก เพื่อยักย้ายตัวสกดการันต์ไปโดยปรารถนาว่า เมื่อบอกแล้วก็ให้รู้จนได้ เราต้องการให้ผู้อ่านรู้ทันทีที่เห็นหนังสือ ให้เข้าใจชัด ไม่ให้ต้องชงัก ไม่ให้ต้องพิศวงว่าเราบอกว่ากระไรแน่ เราจึ่งเขียน นาด นาถ นาท นาทย์ เขียน วัน รรรณ วัณ หรือถ้าเขียนควบคำก็เขียนว่า วรรณคดี วันนี้ วัณโรค เป็นต้น ล้วนแต่จะให้ผู้อ่านประจักษ์ความหมายในขณะเดียวกับที่สายตาประสบตัวหนังสือในน่ากระดาด ไม่ให้ฉงนได้เลย.

ข้อที่ว่าให้เข้าใจทันทีแลไม่ให้เข้าใจผิดนี้สำคัญนัก เพราะถ้ามิฉนั้นเหตุดั้งเดิมที่มนุษย์เขียนหนังสือ คือ เพื่อบอก แลเหตุแห่งการบอก คือ เพื่อให้รู้ นั้นก็เลื่อนลอยไปหมด.

การคัดตัวหนังสือไทยสยามลงไปทั้งพยัญชนะและสระรวมถึง ๑๘ ตัวในสมัย “วรรนกัม” แล “วรรนคดี” (พ.ศ ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๗) ทำให้รศแห่งกวีวัจนะไทยเสื่อมลงไป อย่างน้อยก็กวีวัจนะของข้าพเจ้า ดังจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ในสมัย “ส่งเสิมวัธนธัมภาสาไทย” มีสมุดเล่มหนึ่งออกมาเป็นทางราชการ เรียกว่า “พจนานุกรมตัวสกดแบบใหม่” (พิมพ์ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕) มีประกาศลงนาม “นายกรัถมนตรี” ว่า

“คณะรัถมนตรีได้พิจารนาหลักที่คนะกัมการส่งเสริมวัธนธัมภาสาไทยเสนอมา . . . . . . . . มีความเห็นชอบด้วย จึ่งลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้สระแลพยัญชนะไนภาสาไทยดั่งกล่าวนี้ ตั้งแต่วันที่ประกาสนี้เป็นต้นไป”

ในที่นี้จะยกตัวอย่างโคลงของข้าพเจ้าในสามกรุงนี้สองสามแห่ง ซึ่งถ้าพูดตามคำสั่งประกาศิตของรัฐบาลที่อ้างข้างบนนี้ ก็จะต้องแก้ตัวสกด เป็นต้นว่า

โคลงบทหนึ่ง (น่า ๘๙) ส่งบาทท้ายว่า

“ข่ายเขทเหตุให้ไห้ เหือดแห้งโรยรา ฯ”

คำว่า เหตุให้ห้ ถ้าต้องเขียนว่า เหตุไห้ไห้;

โคลงอีกบทหนึ่ง (น่า ๙๑) ส่งว่า

“ตรัสทราบภาพตกใต้ ต่ำต้อยร้อยปการ ฯ”

คำว่า ตรัสทราบ ถ้าต้องเขียนว่า ตรัสซาบ, คำว่า ต่ำใต้ ถ้าต้องเขียนว่า ต่ำไต้.;

อีกบทหนึ่ง (น่า ๑๕ ) ทรามเชย ถ้าต้องเขียนว่า ซามเชย;

อีกแห่งหนึ่ง (น่า ๑๔๖) กล่าวถึง สังฆราช ถ้าต้องเขียน. สังคราช;

โคลงบทหนึ่งมีคำว่า ปิ่นรัฐ ถ้าต้องเขียนว่า ปิ่นรัถ ไซร้

รศแห่งโคลงทุกบทที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ก็เฝื่อนฝาดไปหมด แม้การแต่งสามกรุงจะเป็นเครื่องเพลิดเพลินแก่ผู้แต่งสักปานใด ข้าพเจ้าก็เห็นจะไม่แต่ง ยิ่งฉันท์ยิ่งเลิกสนิท.

เมื่อได้กล่าวอารัมภกถาดังนี้แล้ว ก็จะได้กล่าวถึงวิธีใช้ตัวสกดการันต์ในหนังสือนี้ต่อไป.

สามกรุงพิมพ์ครั้งที่ ๑ นี้ ใช้ตัวสกดการันต์คำหลายคำผิดกับที่ใช้กันโดยมากในเวลานี้ แม้คำ ๆ เดียวกันบางแห่งก็เขียนอย่างหนึ่ง แห่งอื่นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ยืนอยู่อย่างเดียว ดูราวกับมิวเซียมตัวสกดซึ่งแปลกเยี่ยงนักอยู่.

ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ที่อื่นนานแล้วว่า ความเปลี่ยนแห่งตัวสกดการันต์อันผันแปรไปตามกาลตามสมัยนั้นเป็นสิ่งควรสังเกต จึงได้คิดในตอนแรกว่า หนังสือนี้จะใช้ตัวสกดการันต์ตามสมัยในพงษาวดารที่นำมาเป็นเนื้อเรื่อง ภาค ๑ ใช้ตามวิธีตัวสกดที่สังเกตได้ว่าใช้ตั้งแต่แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐมาจนปลายแผ่นดินขุนหลวงสุริยามรินทร์ ภาค ๒ ใช้ตามสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งยังไม่เปลี่ยนไปจากตอนปลายกรุงเก่า ภาค ๓ รัชกาลที่ ๑ ก็ยังคงอยู่ตามเดิมเป็นส่วนมาก แต่ในรัชกาลต่อ ฯ มามีเปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๖ แต่ครั้นมาถึงเวลาปัจจุบันอันเป็นสมัย วรรนกัม แล วรรนคดี ความผันแปรมีมามากมาย มิหนำซ้ำเปลี่ยนกลับไปกลับมาจนพ้นวิสัยที่จะตามให้ทันได้ ดังนี้ความคิดที่นึกไว้เป็นเงา ๆ ว่า จะลองใช้หนังสือนี้เป็นทำนองตำนารตัวสกดการันต์ก็เป็นอันต้องเลิกไปในเกือบจะทันที ต้องเปลี่ยนเป็นเขียนตามใจชอบของผู้แต่ง ซึ่งอาจผิดกับใจชอบของผู้อ่านไม่น้อยคน จึงควรชี้แจงไว้ว่าการใช้ตัวสกดการันต์อย่างลักลั่นในหนังสือนี้มีเหตุอย่างไร.

การชี้แจงเช่นนี้ถ้าเลอียดนักก็จะฟุ่มเฟือย เปรียบดังที่ว่าต้นไม้บังไม่ให้เห็นป่า จึงจะกล่าวย่อ ๆ ตามลำดับเลขแต่พอควร ถ้าที่ใดควรยกตัวอย่างจึงจะยืดออกไปอีกหน่อย.

(๑) การใช้ตัวสกดการันต์ในหนังสือนี้ ใช้ตามใจชอบของผู้แต่งในเวลาที่แต่ง.

(๒) คำ ๆ เดียวกันที่ใช้ตัวสกดไม่อยู่ร่องอยู่รอยนั้น ถือว่าถูกทุกอย่าง ใช้อย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้.

(๓) คำบางคำเปลี่ยนตัวสกดการันต์ เพื่อจะแยกความหมายให้ผิดกัน เช่น ราษฎร์ กับ ราษฐ์ เป็นต้น ในหนังสือนี้ใช้ ราษฎร์ แปลว่า พลเมือง ใช้ราษฐ์ แปลว่าแว่นแคว้น (ศัพท์เดิมว่า ราษฎร แปลว่า พลเมืองก็ได้ แปลว่าแว่นแคว้นก็ได้)

(๔) บางศัพท์เปลี่ยนวิธีเขียน เพื่อให้รูปคำเหมาะกับตำแหน่งในโลง เช่น พญา กับ พระยา ใช้หมายความเหมือนกัน แต่ พญา ใช้เป็นคำพยางค์เดียวหรือใช้ในที่ต้องการจะให้สั้น พระยา ใช้เป็นคำสองพยางค์หรือในที่ซึ่งถึงจะยาวหน่อยก็ไม่เป็นไร ตัวอย่างทิใช้แยกกันคือ

“๏ ไม่มีใครต่อต้าน พญาสรรค์
พวกพระยาสรรค์พลัน พรักพร้อม”

คำ พญา แล พระยา ที่ยักย้ายวิธีเขียนโดยเหตุข้อ ๔ นี้ ในร่ายไม่สำคัญจึ่งไม่สู้เคร่งในส่วนนั้น.

(๕) คำบางคำยักย้ายตัวสกดไปเพื่อ รศคำ ต้องอ่านให้ถูกจึ่งจะได้รศ ที่ไหนควรอ่านมีลูกเก็บ ถ้าอ่านไม่มีลูกเก็บก็ “ตรงเทิ่ง” ศัพท์ อรรค กับ อัคร มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ อรรค อ่านมีลูกเก็บก็ได้ ในที่ไม่ต้องการลูกเก็บไม่มีลูกเก็บก็ได้ ส่วน อัคร นั้น ถ้าใช้ที่ไหนก็ต้องอ่านมีลูกเก็บเสมอ แลตัว ร ที่ควบอยู่กับตัว ค ทำให้เสียงนุ่มหูกว่า ค ตัวเดียว.

(๖) คำบางคำเลือกตัวสกดอย่างสั้น เช่น กษัตร กษัตริย กระษัตริย ในหนังสือนี้ใช้ กษัตร เป็นปรกติ แต่อย่างอื่นก็ใช้ในที่บางแห่ง.

(๗) มีอย่างหนึ่งซึ่งควรบอกไว้ ในเรืองเครื่องหมายการันต์และวิสัญชนี

เครื่องหมายการันต์ในหนังสือนี้ ใช้ไม่เต็มที่ดังทีjใช้กันโดยมาก เพราะไม่ชอบรก ผู้อ่านอาจสังเกตเอาเองได้ว่า ตรงไหนควรอ่านห้วนหรือมีลูกเก็บ แต่คำบางคำบางแห่งจำต้องใช้การันต์ เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย ไม่ให้พยัญชนะตัวท้ายแห่งคำน่าปนกับพยัญชนะตัวต้นแห่งคำหลัง : วิสัญชนีอีกอย่างหนึ่งก็ใช้น้อย เพื่อให้สั้นแลไม่ให้รกเช่นเดียวกัน แต่บางศัพท์ที่ไม่น่าจะใช้วิสัญชนีก็ใช้เพื่อจะเน้นคำ เช่นในน่า ๕๐ คำว่า ปฏิปักษ์ เขียน ปะฏิปักษ์ :-

“๏ ว่ายิ่งโรมรันกันไป ยิ่งเปิดทางภัย
ให้ปะฏิปักษ์หักโหม ฯ”  

(๘) สรุปรวมความในเรื่องตัวสกดการันต์นี้ว่า เมื่อผู้อ่านทราบเลศของผู้แต่งแล้ว ก็ให้เข้าใจใจความในโคลงทันที อนุโลมตามหลักที่ชี้แจงในเบื้องต้นว่า .ทำไมมนุษย์จึงเขียนหนังสือ.

(๙) ควรจะกล่าวเป็นข้อสุดท้ายว่า การใช้ตัวสกดการันต์แปลกเยี่ยงในหนังสือนี้ มิใช่พยายามจะให้เป็นแบบอย่าง.

เมื่อได้ชี้แจงตามลำดับเลขข้างบนนี้แล้ว ก็จะกล่าวต่อไปในเรื่องตัวสกดคำบางคำที่ใช้ในหนังสือนี้ ซึ่งควรจะกล่าวซ้ำอีกทีหนึ่งว่าใช้ตามใจชอบของผู้แต่ง

ในคำนำหนังสือปกีรณำพจนาดถ์ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร ) ซึ่งราชบัณฑิตยสภาจัดให้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ มีคำชี้แจงของข้าพเจ้าเรือ่งตัวสกดการันต์คำหลายคำคือ ครุธ สาน หงษ์ พระธินั่ง เป็นตัวอย่าง ผู้อ่านสามกรุงอาจมีหลายคนซึ่งใคร่เห็นคำนำที่พิมพ์ครั้งนั้น ข้าพเจ้าจึงจะย่อคำของตนเองที่เขียนไว้เกือบ ๑๕ ปีแล้วมาพิมพ์ซ้ำไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง.

(คัดย่อมาจากคำนำหนังสือปกีรณำพจนาดถ์ พิมพ์ครั้งที่ ๒)

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อข้าพเจ้าเตรียมปาฐกถาว่าด้วยความขยายตัวแห่งภาษานั้น ได้เปิดดูหนังสือปกีรณำพจนาดถ์เพื่อจะสอบความรู้บางข้อ แลได้คิดในเวลานั้นว่า หนังสือเล่มนี้ควรพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นหนังสือมีประโยชน์หลายทาง เช่นที่จะได้กล่าวต่อไปในคำนำนี้เป็นต้น การพิมพ์หนังสือปกิรณำพจนาดถ์ครั้งแรกนั้น ถ้าจะนับปีมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ ๕๐ ปีแล้ว เวลานี้หายาก นักเรียนรุ่นใหม่มีน้อยคนจะรู้จัก แต่ถ้าใครเป็นนักเรียนใส่ใจในเรื่องหนังสือแลภาษาไทยจริง ๆ ถ้าไม่รู้จักหนังสือนี้ก็บกพร่องไป จึ่งเห็นควรนำมาพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รู้ถึงผู้เรียนรุ่นใหม่ๆ ผู้สนใจไตร่ตรองในเรื่องภาษาของเรา ไม่ใช่สนใจแต่เพียงว่าจะเขียน ครุธ หรือ ครุฑ จึ่งจะต้องตามที่ถือกันว่าถูกในสมัยนี้เท่านั้น ย่อมสนใจไปถึงความเปลี่ยนแห่งวิธีเขียนคำนั้น ๆ อันเป็นไปตามคราวที่มีคนฉลาดหรือคนโง่มาทำให้เป็นไปนั้นด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ข้าพเจ้าได้ชำระนิราศพระประธม พระนิพนธ์ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท นิราศนั้นราชบัณฑิตยสภาได้นำออกพิมพ์ในปีเดียวกัน มีคำนำของข้าพเจ้าซึ่งขอคัดมากล่าวในที่นี้หน่อยหนึ่งว่า :-

“ความเปลี่ยนแห่งตัวสกด ซึ่งเดินเป็นหลั่นแต่โบราณมาจนปัจจุบันนั้น เป็นของผู้ศึกษาพึงสังเกต เพราะฉนั้นเมื่อได้ต้นฉบับที่เรียบร้อยถูกต้องตามวิธี ซึ่งผู้มีความรู้เขียนกันในกรุงเทพเมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ก็ควรพิมพ์ไว้ให้เห็นเป็นเครื่องเทียบกับวีธีตัวสกดในสมัยนี้”

การพิมพ์หนังสือปกีรณำพจนาดถ์ครั้งนี้ ก็ได้สั่งให้พิมพ์เหมือนกับฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๒๒ (ปีที่ ๑๒ แห่งรัชกาลที่ ๕) โดยความประสงค์อย่างเดียวกับที่กล่าวใน พ..ศ. ๒๔๖๙ คือเป็นเครื่องประกอบการศึกษาตำนารตัวสกดให้เห็นวิธีซึ่งผู้มีความรู้ใช้ในสมัย ๕๐ ปีมาแล้ว.

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ผู้แต่งหนังสือปกิรณำพจนาดถ์นี้ เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทยในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ตลอดมาราวครึ่งรัชกาล เป็นศาลฎีกาในเรืองหนังสือไทย เมื่อตัดสินว่ากระไรก็เป็นคำตัดสินสุดท้าย ใครจะโต้แย้งว่ากระไรอีกก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนรุ่นใหญ่ ไม่ต้องเรียนภาษาไทยในโรงเรียนแล้ว เคยได้ยินผู้คัดค้านตัวสกดแลการันต์คำบางคำที่อาจารย์น้อยใช้ เป็นต้นว่าคำที่เคยเขียนกันว่า วงษ์ นั้น ตั้งแต่แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้ามาจนแผ่นดินพระจุลจอมเกล้านั้น ผู้ค้านชี้ว่าภาษาบาลีเป็น วํโส ภาษาสํสกฤตเป็น วํศ ไทยใช้ ษ การันต์โดยหลักอะไร ควรต้องเขียน วงส์ ตามหลักภาษาบาลี หรือเขียน วงศ์ ตามหลักภาษาสํสกฤตจึ่งจะชอบ ตำหนินี้อาจารย์น้อยจะได้ตอบว่ากระไร หรือไม่ได้ตอบว่ากระไรเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้านึกว่าถ้าตอบก็คงจะตอบเป็นใจความว่า คำในภาษาบาลีว่า วํโส ก็ทราบแล้ว คำสํสกฤตว่า วํศ ก็ทราบแล้วเหมือนกัน เหตุที่เขียน วงษ์ ใช้ ษ การันต์ก็เพราะท่านใช้เช่นนี้กันมาช้านาน แลเหตุที่ท่านใช้กันมาเช่นนั้น ก็เพราะอักขรวิธีเดิมของไทยใช้ ษ ตัวเดียวเป็นตัวการันต์ ตัว ส กับ ศ ไม่ใช้เป็นตัวการันต์เลย คำในภาษาเดิมจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อเราเอามาใช้ในภาษาไทย ถ้ามี ศ หรือ ส อยู่ท้ายก็ต้องเปลี่ยนเป็น ษ อันเป็นตัวเดียวในสามสอที่เราใช้เป็นตัวการันต์.

ถ้าถามว่า เหตุใดผู้บัญญัติอักขรวิธีไทยสมัยหนึ่งในอดีตจึ่งบัญญัติเช่นนั้น ก็พอจะเดาตอบได้ แต่ไม่มีหลักในหนังสือที่จะอ้าง เพราะไม่เคยเห็นท่านอธิบายไว้ที่ไหนว่าเหตุใดจึงวางแบบเช่นนั้น ข้อที่ท่านบัญญัติอะไรแล้วก็ใช้สอนกันโดยมิได้เขียนลงไว้เป็นตำรานี่แหละทำให้เกิดยุ่ง คนชั้นหลังนานๆมาไม่ทราบหลักที่ท่านวางไว้ ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมิได้คำนึงถึงเหตุ อันเป็นสิ่งที่ไม่รู้จึ่งนำมาคำนึงไม่ได้ คติที่ว่าสิ่งใดเราไม่รู้ สิ่งนั้นเป็นอวิชชานั้นเป็นคติที่พาเข้ารกบ่อยๆ

ในที่นี้เมื่อกำลังพูดถึงอักขรวิธีเก่าของไทยสมัยหนึ่ง ก็จะขอนำตัวอย่างคำมาแสดงอีกคำหนึ่ง เพราะได้ใช้คำนี้มาในเบื้องต้นแล้ว คำนั้นคือ ครุธ ซึ่งแต่ก่อนใช้ ธ สกดมาจนรัชกาลที่ ๕ แต่เดี๋ยวนี้เขียน ครุฑ ใช้ ฑ สกดตามรูปสํสกฤต เหตุที่ใช้ ธ สกด ครุธ นั้น เพราะอักขรวิธีเก่าของเราไม่ใช้ ฑ เป็นตัวสกด แม้ที่ใช้เป็นตัวสกดควบเช่น วุฑฒิ แล วัฑฒนะ ก็มักจะตัดตัวกลางออกเสีย เหลือแต่ วุฒิ วัฒนะ เท่านั้น.

จะย้อนไปยกตัวอย่างความเปลี่ยนแห่งคำไทยอีกสองสามคำ เป็นความเห็นของข้าพเจ้า ซึ่งอาจสกิดใจชวนให้ผู้อ่านคิดต่อไป.

ถ้าท่านลองอ่าน “พระสมุดพระราชกำหนดบทพระไอยการ” รัชกาลที่ ๑ ที่เรียกกันสามัญว่ากฎหมายตราสามดวง ท่านจะพบคำ ๆ หนึ่งซึ่งท่านคงจะสังเกตทันที คือคำว่า สาน (ซึ่งเดี๋ยวนี้เราเขียนว่า ศาล) เขียน ส สระอา น สกดตลอดไปทุกเล่มสมุด จะว่าอาลักษณ์เผลอไม่ได้ ถ้าคำไทยว่า สาน เป็นคำเดียวกับคำสํสกฤตว่า ศาลา ไซร้ เหตุไฉนอาลักษณ์ลูกขุนแลราชบัณฑิตพร้อมกันถึง ๑๑ คนจะไม่รู้ แลเมื่อรู้แล้วจะเขียนว่า “ลูกขุน ณ สานหลวง ลูกขุน ณ ศาลา” กระไรได้ ในส่วนข้าพเจ้าเอง เมื่อเกิดสกิดใจขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็เลยนึกแน่เอาทีเดียวว่า คำว่าสานไม่ใช่คำแขกมาจากคำว่าศาลา ดีร้ายจะเป็นคำไทยเก่าซึ่งเราลืมกันเสียแล้ว แลพึ่งลืมกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต่อรัชกาลพระพุทธยอดฟ้ามา.

เมื่อนึกแน่ขึ้นมาเช่นนี้แล้วก็ลองค้นในภาษาไทยต่างที่อยู่นอกสยาม ไทยหลายจำพวกเล่านั้นมีหนังสือของตนเองบ้าง ไม่มีหนังสือแต่หากฝรั่งเก็บคำมาเขียนไว้บ้าง พบคำว่า ฉาน สาน แปลว่าเรือน จึ่งชวนเข้าใจว่าสานหลวงก็คือเรือนหลวง สานเจ้าก็คือเรือนเจ้านั่นเอง.

ถ้าท่านอ่านกฎหมายฉบับตราสามดวงดังที่ว่ามาไซร้ คำอีกคำหนึ่งที่ท่านเห็นแปลกตาแลนึกว่าผิดก็คือคำว่า พระธินั่ง ครั้นท่านพลิกอ่านต่อ ๆ ไปอีกก็พบพระธินั่งทุกที ทำให้สงสัยว่า ถ้าคำนั้นคือพระที่นั่งไซร้ อาลักษณ์ ลูกขุน ราชบัณฑิต ๑๑ คนจะพิโยกพิเกนเขียนว่าพระธินั่งทำไมเล่า เมื่ออ่านไปพบคำ “หอหลวงข้างที่” เขาก็ไม่เขียนว่า ข้างธิ แปลกอยู่ก็แต่ พระธินั่งเท่านั้น.

พ้นรัชกาลที่ ๑ มา ข้าพเจ้าค้นในกฎหมายรัชกาลที่ ๒ ก็พบพระธินั่งเหมือนกัน ค้นหนังสือรัชกาลที่ ๓ พบตำราพิชัยสงครามฉบับหลวง ก็ใช้คำว่าพระธินั่ง ค้นกฎหมายรัชกาลที่ ๔ พบพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้พายเรือตัดกระบวนแห่ก็พบพระธินั่ง ดังนี้

“ศุภมัศดุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก................พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระธินั่งอมรินทรวินิจฉัย................ถ้าเสด็จประทับอยู่ในพระอารามฤๅที่ใดๆไกลเรือพระธินั่ง...”

(กฎหมายรัชกาลที่ ๔ ฉบับนี้ ได้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ในรัชกาลที่ ๕ แต่เปลี่ยน พระธินั่ง เป็น พระที่นั่ง)

หนังสือตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๔ ซึ่งอ้างข้างบนนี้ล้วนเป็นสมุดไทยฉบับหลวง ซึ่งข้าพเจ้าค้นพบเองในหอพระสมุดวชิรญาณ.

เมื่อตรองต่อไปอีกก็เห็นว่า ทำไมจะเรียกเรือนพระเจ้าแผ่นดินว่า พระที่นั่ง ทำไมไม่เรียกว่าพระที่นอนหรือพระที่อยู่.

เหตุ (๑) ทำไมจะว่าเรือนเป็นที่สำหรับนั่งเท่านั้นเอง (๒) ทำไมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนจึ่งเขียน ธิ ถ้าหมายความว่า ที่ สองอย่างนี้ทำให้เห็นว่า ธินั่ง ไม่ใช่ ที่นั่ง เห็นจะเป็นคำไทยเก่าอีกคำหนึ่ง คนแต่ก่อนท่านอุส่าห์เขียน ธิ เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่คำเดียวกับ ที่ แลท่านมิได้ตั้งใจจะให้แปล ธิ ว่า ทรง หรือให้แปลธินั่งว่าทรงนั่งเป็นแน่.

(คัดย่อมาจากคำนำหนังสือปกีรณำพจนาดถ์หมดเพียงนี้)

เห่เรือ

ข้าพเจ้าเขียนคำว่า พระธินั่ง ครั้งแรกในเห่เรือ ซึ่งแต่งใน พ.ศ. ๒๔๗๔ นับมาถึงเดี๋ยวนี้ ๑๓ ปี แต่แม้เพียง ๑๓ ปีก็มีความหลงลืมปรากฏในหนังสืออื่นบ้างแล้ว ข้าพเจ้าจึ่งจะใคร่เล่าไว้ในที่นี้เพื่อกันความเข้าใจผิดในภายน่า.

ความหลงลืมนั้นพิมพ์ไว้ในหนังสือ“วรรนคดีสาร”ของ“สมาคมวรรนคดีแห่งประเทสไทย” อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการจัดบำรุง “วัธนธัมภาสาไทย” ตั้งสำนักงานอยู่ที่ “สภาวัธนธัมแห่งชาติ”

หนังสือพิมพ์ “วรรนคดีสาร” กล่าวแห่งหนึ่งว่า กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์แต่งบทเห่เรือถวายในงานบรมราชาภิเศกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ถูก ข้าพเจ้าได้แต่งบทเห่เรือจริง ถวายพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจริง แต่หาใช่ถวายในงานบรมราชาภิเศกไม่ ใจความในบทเห่แสดงว่ายอพระเกียรติ์พระพุทธยอดฟ้ากว่าครึ่ง นอกจากนั้นก็กล่าวเป็นกลาง ๆ มีถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินอยู่ข้างท้ายแต่พองาม ผู้อ่านที่ไม่ลืมคงจะเห็นว่าการแต่งสรรเสริญพระคุณพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๑ มากถึงเพียงนั้น หาใช่แต่งสำหรับงานบรมราชาภิเศกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๗ ไม่ ในที่นี้จะนำเรื่องมาเล่าสู่กันฟังบ้าง เห็นว่าไม่เป็นการติเตียนบุคคลใดให้ถึงแก่เสียหาย เพราะเป็นการนานพ้นสมัยมาแล้ว จนดูเหมือนจะไม่รู้ว่าใครเป็นใครในเวลานี้.

สพานพระพุทธยอดฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมฟากพระนครให้เดินติดต่อทางบกได้กับฟากธนบุรี เป็นสิ่งสาธารณประโยชน์ซึ่งสร้างไว้เป็นที่ระลึกวันครบรอบปีที่ ๑๕๐ ตั้งแต่วันที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึกยกทัพกลับจากเมืองเขมรมาถึงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงรับเชิญครองราชสมบัติประดิษฐานพระราชวงษ์จักรี แลภายหลังทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอนุสสาวรีย์ของพระองค์สืบมา พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๗ ในพระราชวงษ์ทรงเปิดสพานเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคถึงเชิงสพานฝั่งตวันออก ทรงเปิดพระบรมรูปพระพุทธยอดฟ้า แลประกาศเปิดสพานเป็นทางสัญจนแล้วก็แห่เสด็จข้ามสพานไปถึงฝั่งตวันตก เสด็จลงเรือพระที่นั่งแห่พยุหยาตราชลมารคคืนสู่พระราชวัง.

ก่อนเปิดสพานพระพุทธยอดฟ้าหลายเดือน มีงานพระราชทานเลี้ยงใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นงานแต่งตัวเต็มยศ ประทับเสวยในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยกับเจ้านายพร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือนแลราชทูตต่างประเทศ เมื่อเสวยแล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับเจ้านายคนอื่น ๆ รับพระราชทานกาแฟแลสูบบุหรี่อยู่ข้างล่างคอยเสด็จพระราชดำเนินลงทักทายปฏิสันถารภายหลัง.

ควรอธิบายไว้อีกหน่อยว่า ตามประเพณีราชสำนักสยามในเวลานั้น แลในราชสำนักอื่น ๆ ในต่างประเทศทั่วไป แขกที่รับพระราชทานเชิญถ้าไม่ใช่เจ้านายในพระราชวงษ์ ก็ต้องคอยอยู่ที่ห้องเสวย หรือใกล้ห้องเสวย เจ้านายในพระราชวงษ์แยกไปคอยอยู่อีกแห่งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกก็เสด็จผ่านห้องที่เจ้านายคอยอยู่ (คืนนั้นคือพระที่นั่งไพศาล) ทรงหยุดตรัสกับเจ้านายครู่หนึ่ง ระหว่างนั้นเจ้าพนักงานราชสำนัก เชิญแขกอื่นให้เข้ายืนประจำที่ที่โต๊ะ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงก็ประทับโต๊ะที่เสวยทีเดียว เจ้านายก็ตามเสด็จออกมาเข้าทรงนั่งตามที่ซึ่งทุกพระองค์ย่อมทราบอยู่แล้ว จึ่งไม่มีขวักไขว่ ดังนี้เจ้าแผ่นดินจึ่งยังมิได้ทรงปฏิสันถารกับแขกที่รับพระราชทานเลี้ยง จนเสวยเสร็จเสด็จขึ้นแล้วเสด็จลงอีกครั้งหนึ่ง.

ในคืนที่เล่านั้น เมื่อเสร็จเสวยแลรับพระราชทานเลี้ยงในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว ข้าพเจ้าก็ตามเสด็จกลับขึ้นบนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ รับกาแฟจากมหาดเล็กผู้ปฏิบัติแล้วก็ยืนคอยอยู่ครู่หนึ่ง จนพระเจ้าอยู่หัวแลพระราชวงษ์ผู้ใหญ่จุดพระโอสถ (คือบุหรี่) แล้วข้าพเจ้าจึงเข้าไปเลือกบุหรี่ที่โต๊ะตั้งพานพระโอสถ ถอยออกไปยืนจุดอยู่ผู้เดียวในที่ไม่ถูกพัดลม พอเงยหน้าขึ้นก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรงมาที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ มีเสนาบดีทหารเรืองพ่วงท้ายตามเสด็จมาด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า เสนาบดีทหารเรือกราบบังคมทูลเสนอว่า วันเปิดสพานพระพุทธยอดฟ้าควรจะมีบทเห่เรือใหม่ แต่พิเศษสำหรับเห่ในกระบวนพยุหยาตรากลับจากทรงเปิดสพาน ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย จึงพระราชทานมอบให้ข้าพเจ้าแต่งถวายใหม่.

ข้าพเจ้ารับพระราชโองการคืนนั้นแล้ว ก็แต่งบทเห่เรือใหม่ให้เสร็จเนิ่นพอที่พลพายจะท่องจำขึ้นใจ แลซ้อมเห่ให้คล่องก่อนวันงาน เมื่อแต่งเสร็จแล้วพิมพ์เป็นเล่มสมุด ๑๕๐ เล่ม เป็นหนังสือส่วนตัวของข้าพเจ้าทูลเกล้า ฯ ถวาย อีกสองสามวันเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงอ่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการเขียนบอกมาถึงข้าพเจ้า แลให้พระราชทานฉบับพิมพ์ของข้าพเจ้าไปที่กระทรวงทหารเรือ เจ้าน่าที่ในกระทรวงนั้นก็พาต้นเสียงมามอบให้ข้าพเจ้า เพื่อนัดซ้อมเห่ให้ข้าพเจ้าฟังที่ราชบัณฑิตยสภาแลที่บ้านสำหรับจะนำไปสอนพลพายต่อไป.

ต่อมาอีกหลายสัปดาหะ เจ้าน่าที่มาบอกข้าพเจ้าว่าได้เตรียมเรืออนันตนาคราชไว้เป็นเรือลำทรง แต่ข้าพเจ้าแต่งบทเห่ว่าทรงเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงษ์ ขอใช้แก้บทเห่เปลี่ยนชื่อเรือเสียให้ถูก ข้าพเจ้าว่าแต่งบทไว้แล้วว่าทรงเรือศรีสุพรรณหงษ์ ก็จัดเรือนั้นเป็นลำทรงซี ได้แต่งบทเห่ก่อนจัดเรือเป็นนาน เหตุใดจึจึ่งเลือกเรือผิดลำเล่า เขาอึกอักว่าเรืออนันตนาคราชได้ซ่อมเสร็จแล้ว ถ้าเปลี่ยนเป็นเรือศรีสุพรรณหงษ์ก็จะต้องยาแลซ่อมกันใหม่อีกลำหนึ่ง ข้าพเจ้าว่าจงกลับไปรีบยาแลซ่อมใหม่อีกลำหนึ่งเถิด ชื่อเรือศรีสุพรรษหงษ์แต่งบทได้ไพเราะ จะใช้เรือซึ่งชื่อไม่เข้ากับบทไพเราะกระไรได้ ที่จะให้แก้นั้นข้าพเจ้าแก้ไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศว่าดีแล้ว ถ้าแก้ก็จะต้องทูลเกล้า ฯ ถวายร่างที่ขอพระราชทานแก้ใหม่ตามระเบียบราชการ ย่อมจะเป็นการกราบบังคมทูลฟ้องไปในตัว ที่นำมาเล่าเล่นนี้ เสนาบดีทหารเรือเห็นจะไม่ทรงทราบ แลข้าพเจ้าก็หาได้เล่าถวายไม่ วันแห่นั้นเรือศรีสุพรรณหงษ์เป็นลำทรงจริงดังคำเห่.

ก่อนวันแห่ประมาณ ๑๕ วัน หัวน่าพนักงานผู้กำกับการซ้อมกระบวนแห่ไปหาข้าพเจ้าที่ราชบัณฑิตยสภาบอกว่า เมื่อวานนี้ได้ซ้อมกระบวนแห่ตลอดทาง มีเห่เต็มที่ แต่เมื่อเรือพระที่นั่งออกพายตั้งแต่พลับพลาริมสพานพระพุทธยอดฟ้าไปได้ประมาณครึ่งทาง จึ่งจะถึงท่าราชวรดิฐ บทเห่ก็หมดเสียแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าแต่งเพิ่มขึ้นราวเท่าตัวจึงจะพอ ข้าพเจ้าว่าแต่งให้เป็นกองแล้ว ถ้าแต่งเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจะมีเวลาซ้อมหรือ เพียงที่แต่งไปให้เท่านี้ก็ดูมากนักอยู่ เพราะทางก็ไม่ไกล ถ้าไม่พก็เห่ให้ช้าลง ถ้าช้าลงแล้วยังไม่พอก็จงทวนข้างปลายอีกเที่ยวหนึ่ง หรือจะเอาบทเก่ามาเพิ่มก็ตามใจ แต่ที่จะให้แต่งอีกนั้นไม่แต่ง ช้าเกินไปเสียแล้ว.

ครั้นถึงวันแห่เข้าจริง ออกเรือพระที่นั่งเริ่มเห่ตั้งแต่ต้นไปได้ประมาณครึ่งเดียวก็ถึงท่าราชวรดิฐ ครึ่งท้ายแห่งบทเห่ไม่ได้เห่ ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อวันแห่นั้นน้ำขึ้น เมื่อซ้อมนั้นน้ำลง.

เคล็ดของกวี

ในบทเห่เรือที่เล่านี้มีคำว่า พระธินั่ง ใช้ตัวหนังสืออย่างที่ไม่ได้ใช้กันมานานแล้ว ในที่นี้จะขอชี้แจงเคล็ดในการร้อยกรอง เพื่อจะให้รู้สึกกันทั่ว ๆ ไปว่า กวีวัจนะจะยืนตัวสกดให้คร่ำเคร่งอยู่ตามแบบที่ใช้กันในเวลาที่แต่งนั้นหาได้ไม่ การบังคับตัวสกดและวิธีเขียนนั้นจะบังคับใครได้บ้างก็ตาม แต่บังคับกวีไม่ได้ ถ้าผู้ทรงศักดานุภาพในสมัยไหนตัดเสรีของกวีเสีย ในเรื่องตัวสกดก็ดี ในเรื่องถ้อยคำที่ใช้ก็ดี กวีวัจนะในสมัยนั้นก็เสื่อมโซมลงไป.

บทเห่เรือครั้งนั้นข้าพเจ้าแต่งขึ้นต้นเป็นโคลงว่า:-

๏ งามผงาดราชพ่าห์เพี้ยง พรหมทรง
พระธินั่งศรีสุพรรณหงษ์ รเห็จห้วง
หงษ์ทองล่องลอยลง รองบาท พระฤา
กลอนเกริ่นเพลินพายจ้วง พากย์แจ้วจำเรียง ถวายแล ฯ

บทเห่นั้นโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานแจกทั่วไปในวันงาน คงจะมีเหลือกระจายอยู่แม้ในสมัยนี้ ให้ผู้อ่านสอบความที่ข้าพเจ้าจะกล่าวนี้ได้ การใช้ตัวสกดในสมัยนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดเป็นระเบียบไว้ว่า บรรดาหนังสือราชการให้ใช้ตัวสถดตามปทานุกรมของกระทรวงธรรมการทั้งสิ้น ระเบียบนี้มิได้บังคับไปถึงหนังสืออื่น ๆ ที่มิใช่หนังสือราชการ ใครจะชอบใช้ตัวสกดการันต์อย่างไรก็มีเสรีที่จะใช้ได้ การแต่งบทเห่เรือครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าแต่งส่วนตัว ไม่ใช่ในน่าที่ราชการ ร่างบทเห่ที่ข้าพเจ้าพิมพ์ถวาย ๑๕๐ เล่มก็เป็นหนังสือส่วนตัว จึงพิมพ์ ธินั่ง ดังที่ร่างไว้ แต่ฉบับที่พระราชทานแจกในวันงานเป็นหนังสือราชการ ถ้าพิมพ์ตัวสกดการันต์ตามร่างของข้าพเจ้า ไม่ถูกกับปทานุกรมก็ผิดพระราชกำหนด จึ่งต้องมีจดหมายจากราชบัณฑิตยสภาไปถึงราชเลขาธิการ ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุมัติพิมพ์ตัวสกดการันต์ตามเคล็ดในเชิงกวีของข้าพเจ้าผู้แต่ง พระบรมราชานุมัตินั้นเป็นอันพระราชทาน แลบทเห่เรือที่พระราชทานแจกในวันงานจึงพิมพ์ใช้ตัวสกดการันต์ตามร่างของข้าพเจ้า ถ้าท่านมีบทเห่เรือที่พระราชทานแจกครั้งนั้นท่านจะเห็นตัวสกดโคลงบทนำดังที่แสดงไว้ข้างบนนี้.

ที่นำเรื่องมาเล่านี้ เพื่อจะพาไปถึงเหตุที่ทำไห้พิโยกพิเกนในครั้งนั้น เคล็ดของผู้แต่งคือว่า ธินั่งกับที่นั่งผิดกัน เพราะ ธิ เป็นเสียงลหุ ที่ เป็นเสียงครุ โคลงบทนั้นบาทที่สองมีเจ็ดคำคือ พระ คำหนึ่ง ธินั่ง คำหนึ่ง ศรี คำหนึ่ง สุพรรณ คำหนึ่ง หงษ์ คำหนึ่ง รเห็จ คำหนึ่ง ห้วง คำหนึ่ง.

คำ ธินั่ง สุพรรณ รเห็จ สามคำนี้ แต่ละคำมีสองพยางค์ก็จริง แต่พยางค์แรกเป็นเสียงลหุ อ่านสองพยางค์ควบกันเป็นคำเดียวก็ฟังไม่เย็น คำสามคำนั้นถ้าแต่ละคำพยางค์แรกเป็นเสียงครุเหมือนพยางค์ที่สอง โคลงบาทนั้นก็จะเย็นที่สุด.

ข้อที่กล่าวนี้ผู้อ่านพึงสังเกตว่ากินความไปถึงกลอนหลายอย่าง ซึ่งในหนังสือนี้แยกเป็นกลอน ๖ กลอน ๗ กลอน ๘ กลอน ๙ ด้วย.

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องที่นำมาแต่งสามกรุงนี้ยืนเค้าตามพงษาวดาร แต่มีแซมโน่นแซกนี่ เพื่อนโอกาศที่จะแต่งให้วิตถารออกไป ให้มีรศหลายอย่าง ผู้ทราบพงษาวดาร ย่อมทราบแล้วว่าตรงไหนเป็นเรื่องจริง ตรงไหนเป็นเรื่องแซก แต่ผู้อ่านที่ไม่เคยรู้เลยก็คงจะมีบ้าง จึ่งมีความเห็นผู้อื่นแสดงแก่ข้าพเจ้าว่า ถ้าที่ไหนเป็นเรื่องแซกแท้ ๆ ก็ควรบอกไว้ให้ชัดในภาคผนวก อย่าให้โอกาศให้ผู้อ่านบางคนพาซื่อเชื่อว่าเป็นจริงในพงษาวดารได้ เป็นต้นว่ากล่าวเสียให้ชัดแจ้ง ไม่ให้เป็นที่สงสัยเลยว่าตอน “ศรีสนม” เป็นเรื่องแซกทั้งสิ้น ไม่ปรากฏในพระราชพงษาวดารหรือในหนังสือไหนว่ามีสตรีใดเช่นศรีสนม ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าเอกทัศทรงแต่งนิราศหรือกวีวัจนะชนิดใดไว้เลย.

สามกรุงภาค ๑ กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาตอนที่จะเสียแก่พม่าข้าศึก เป็นเวลาเพียงสองปี มีเรื่องที่จะนำมาแต่งโคลงได้น้อย จึ่งมีเรื่องแซกมาก.

ภาค ๒ กรุงธนบุรี มีใจความซึ่งเก็บมาแต่งได้มาก หากจะมีแซกโน่นแซมนี่เป็นแห่ง ๆ ซึ่งไม่มีในพงษาวดารก็มีในหนังสืออื่นๆ ที่อ้างได้ เช่นเรื่องนางยมโดยก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นนิทานประจำท้องที่อันเล่าสืบกันมาแต่โบราณ เมื่อแต่งโคลงระยะทางทเลแถบนั้นก็เป็นเรื่องซึ่งน่าจะเก็บมาประติดประต่อให้กวีวัจนะมีรศแปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง.

ภาค ๓ ถ้ากล่าวส่วนเนื้อเรื่องก็เป็นพงษาวดารแท้ หรือมิฉนั้นก็มีในหนังสืออื่น หรือทราบโดยความบอกเล่าซึ่งผู้แต่งได้ยินมาเมื่อถึงสมัยปัจจุบันก็เป็นข้อความที่ผู้แต่งทราบเอง. แต่มีตบแต่งประดับประดาบ้างตามลักษณะการแต่งหนังสือชนิดนี้.

ตั้งแต่ภาค ๑ ไปตลอดภาค ๓ มีบุคคลสมมติในสามกรุงนี้แต่ “ศรีสนม” คนเดียว เป็นนางเอกอันไม่มีตัวในพงษาวดาร.

เตลงพ่าย

ข้าพเจ้าเคยได้ยินกวีรุ่นผู้ใหญ่ (กรมพระนราธิปประพันธพงศ์) สรรเสริญเตลงพ่ายของสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ทรงเลือกตอนเหมาะที่สุดในพระราชพงษาวดาร ลิลิตของท่านจึ่งไพเราะพร้อมด้วยรศทุกอย่าง นอกจากตอนศึกชนช้างครั้งนั้นแล้ว ใครจะหยิบยกเอาพระราชพงษาวดารตอนไหนมาแต่งบ้างก็ไม่อาจเท่าเทียมได้เลย ที่ว่าเตลงพ่ายมีรศทุกอย่างนั้น ท่านชี้ตัวอย่างเป็นต้นว่ามีส่วนที่แสดงความเป็นสง่าผ่าเผยของพระเจ้าแผ่นดิน มีโอวาทของพระมหากษัตรประทานแก่โอรสผู้จะออกศึก มีบ่งถึงราชประเพณีบางประการ มีการร่ำลานางแลนิราศเดินคงคร่ำครวญตามทาง มีการจัดทัพแลเดินทัพ มีการแสดงกลยุทธแลเชิญชวนให้ชนช้าง มีการแสดงขัติยมานะของผู้ไม่เต็มใจจะต่อสู้ตัวต่อตัว มียุทธหัตถี มีคำสรรเสริญเกียรติพระราชาธิบดี มียกย่องทางธรรม เหล่านี้ แต่ละอย่างมีรศต่างกันทั้งนั้น.

การยกย่องโดยนัยที่ท่านกล่าวฉนี้ ชวนให้นึกเทียบกับคำที่เช็ลลีย์(Shelly) เขียนในจดหมายถึงไบรอน (Byron) ผู้แต่ง “ดอน ยวน” (Don Juan) สรรเสริญหนังสือนั้นว่า:-

“This poem carries with it at once the stamp of originality and defiance of imitation. Nothing has ever been written like it in English, nor, if I may venture to prephesy, will there be, unless carrying upon it the mark of a secondary and borrowed light.”

มีข้อหนึ่งที่น่ากล่าวในการเทียบคำสรรเสริญสองรายข้างบนนี้ว่า ไบรอน (Byron 1788-1824) เช็ลลีย์ (Shelley 1792-1822) กีตส์ (Keats 1795-1821) สามคนนี้เป็นกวีชั้นเยี่ยมของอังกฤษรุ่นเดียวกัน เรียกว่า Group of three ยังนับถือกันว่าประเสริฐอยู่จนวันนี้ สมเด็จพระปรมานุชิตประสูติใน พ.ศ. ๒๓๓๓ (1790) รุ่นเดียวกัยกวีใหญ่ของอังกฤษสามคนนั้น.

กลับไปกล่าวถึงเตลงพ่าย แลถ้าจะกล่าวแยกเนื้อความออกเป็นตอนๆ ไซร้ ตอนสาวสนมคือตามนิราศเป็นตอนยาวที่สุด มีโคลงสี่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์แห่งโคลงสี่ทั้งหมด มีโคลงสองกับโคลงสาม ๒๕ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เราท่านที่จำเตลงพ่ายได้ คงจะจำตอนนิราศได้เป็นส่วนมาก ตอนอื่นๆ ที่จำได้ก็คงจะน้อยบทกว่าตอนนิราศ ดังนี้ถ้าไม่มีสาวสนมแลนิราศไซว์ หากเตลงพ่ายจะเป็นกวีวัจนะอย่างเอกอยู่ ขนาดแห่งหนังสือก็จะลดลง ท่านแลข้าพเจ้าก็จะจำเตลงพ่ายได้ขึ้นใจน้อยกว่าที่จำได้.

บุคคลที่เป็นใหญ่อยู่ในตอนศึกยุทธหัตถีมีสามองค์ คือพระนเรศวร พระเอกาทศรถ แลพระมหาอุปราชา ในสามองค์นั้นถ้าจะสมมติให้ใครเป็นผู้ครวญถึงหญิง ลห้อยลเหี่ยตั้งแต่เมื่อร่ำลาตลอดไปจนเวลาเดินดง พระมหาอุปราชาก็จะต้องรับตำแหน่งสมมติ กวีไทยคงจะไม่ถวายตำแหน่งห่วงสตรีแก่พระนเรศวรหรือพระเอกาทศรถเป็นอันขาด พระมหาอุปราชาจะมีชายากี่องค์ มีสนมกี่คนก็ไม่ปรากฏ จึ่งต้องสมมติสาวสนมขึ้นสำหรับให้พระมหาอุปราชาครวญถึง แลเพื่อจะได้มีตอนนิราศ มิให้ขาดรศสำคัญแห่งกวีวัจนะไป พระมหาอุปราชาคงจะมีสนมไม่น้อยคน แลถ้าเข้าใจว่าคนหนึ่งเป็นตัวโปรดก็คงไม่ผิด.

นางในนิราศ

ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่กล่าวซ้ำคำของตนเองที่เขียนไว้ในหนังสืออื่นเกือบ ๒๐ ปีแล้วในเรื่องหนังสือนิราศว่า การแต่งนิราศมักจะเดินความทำนองเดียวกันทั้งนั้น ขึ้นต้นปรารภการเดินทางไกล แล้วกล่าวลห้อยลเหี่ยถึงเมีย บางคนแสดงวิตกว่าเมียอยู่ข้างหลังจะไม่รักษาสัตย์ต่อผัว ที่กล่าวเช่นนี้ถ้าคิดดูตามความเห็นธรรมดาในสมัยนี้ก็ดูเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรง แต่อันที่จริงแต่ก่อนเขาไม่ถือ หรือเป็นข้อที่ให้อภัยแก่ผู้แต่งนิราศ เพราะการกล่าวเป็นห่วงเมียว่าเกรงชายอื่นจะมาลอบเป็นชู้นั้น เป็นวิธียกยอความงามเลิศลอยอันเป็นที่ต้องตาชายทั้งหลาย ใครเห็นก็ต้องอยากได้ เหมือนถ้ากล่าวเป็นห่วงเพ็ชร์ว่ากลัวถูกขโมย ก็หาเป็นการดูหมิ่นเพ็ชร์ไม่ ที่พูดเช่นนี้ฟังดูก็เหมือนหาว่าหญิงไม่ใช่คน แต่ถ้าจะพูดตามทางที่เขาแต่ง หญิงก็ไม่ใช่คนจริง ๆ เขาแต่งประสงค์จะเชิดความงามให้เด่น แลความงามนั้นเป็นคุณนาม ถึงจะมีในตัวมนุษย์ก็หาใช่มนุษย์ไม่ ตามนัยเช่นนี้ อาจกล่าวต่อไปได้อีกคั่นหนึ่งว่า เมียที่กล่าวในนิราศไม่จำเป็นจะต้องมีตัวมีตน เป็นแต่เพียงความคิด เป็นเครื่องนึกขึ้นสำหรับช่วยให้แต่งโคลงไพเราะเท่านั้น เมียจริง ๆ อาจเป็นคนแก่หรือเป็นหญิงปราศจากความงาม ซึ่งถ้านึกถึงก็ไม่เป็นเครื่องนำปัญญาให้โคลงไพเราะเกิดขึ้นได้ ผู้แต่งนิราศบางคนเมื่อไปจากบ้านนั้นเมียไปด้วยหรือแต่งนิราศเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ที่นำมากล่าวนี้เพื่อแสดงว่าเมียในนิราศเป็น ความคิด เท่านั้น ไม่ใช่ คน เลย.

รศแห่งโคลง

ที่ใช้คำว่ารศในเบื้องต้นเมื่อกล่าวถึงเตลงพ่ายนั้น คำว่ารศเป็นคำกว้าง อาจชี้แจงได้หลายนัย ในที่นี้จะกล่าวจำแนกกว้างๆ แต่เพียงสองประเภท ซึ่งอาจจำแนกย่อยออกไปได้อีก แต่จะยืดยาดนัก จึ่งจะแนะแต่เพียงที่เป็นแนวให้คิดต่อไป.

ถ้าจะพูดในส่วนที่รู้สึกด้วยลิ้น ท่านว่ากันมาแต่โบราณว่ารศมี ๖ อย่าง ฝาด ขม หวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ของกินโดยมากมีรศ ๒ อย่าง ๓ อย่างคลุกเคล้ากัน ธรรมชาติปรุงไว้ก็มี คนปรุงก็มี ผลไม้ชนิดเดียวกันบางต้นก็หวาน บางต้นก็เปรี้ยว บางต้นก็ฝาด สเดาบางต้นก็ขมมาก บางต้นก็ขมน้อย พริกก็เผ็ดไม่เท่ากัน ร่วนรศที่คนปรุงนั้นอาจอ่อนรศนั้นแก่รศนี้ แม่ครัวบางคนทำของกินบางอย่างไม่เหมือนกับใคร จนผู้กินจำฝีมือได้ แต่การจำได้นั้นอาจจำได้ว่าไม่ใช่ฝีมือแม่ครัวคนเดียวกันก็ได้.

ที่ใช้ว่ารศแห่งกวีวัจนะนี้ใช้เป็นความเปรียบ เพราะเป็นรศซึ่งยินด้วยหูรู้ด้วยตา ไม่ใช่รู้ด้วยลิ้น ถ้าพูดจำกัดแต่โคลงอย่างเดียว ผู้อ่านย่อมทราบอยู่แล้วว่ารศแห่งโคลงโลกนิติ์ โคลงรามเกียรติ์ โคลงภาพพระราชพงษาวดาร โคลงฝีพระโอษฐ์กรมหมืนศรีสุเรนทร์ ฝีพระโอษฐสมเด็จพระปรมานุชิต โคลงฝีปากสุนทรภู่ เหล่านี้มีรศผิดกันทั้งนั้น ถ้าพูดเพียงโคลงที่เลียนแบบใจความทำนองเดียวกัน เดินรูปคล้ายๆ กัน คือโคลงนิราศ และระบุแต่เพียงที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงยกย่องไว้ในพระนิพนธ์ของท่านไซร้ กำศรวญทวาทศมาศ นิราศของพระพิพิธสาลี นิราศพระยาตรัง นิราศนรินทร์เหล่านี้ รศก็แปลกกันตามฝีปากบุคคลทุกราย.

รศแห่งโคลงอาจจำแนกได้เป็นสองอย่าง คือ รศคำ แล รศความ จะลองชี้แจงตามมติของข้าพเจ้า ยกตัวอย่างเฉพาะโคลงประเภทเดียว แต่ก็กินความไปถึงกวีวัจนะประเภทอื่นๆ ด้วย.

โคลงที่เรียกว่าไพเราะโดย รศคำ คือโคลงที่ผจงร้อยกรองถ้อยคำอย่างเสนาะเพราะพริ้ง เป็นเครื่องเพลินใจแก่ผู้อ่านผู้ยิน ทำให้เกิดปรีดาปราโมทย์ มีโอชะเปรียบเช่นอาหารซึ่งช่างวิเศษปรุงขึ้นอย่างประณีต อาหารชนิดเดียวกันถ้าผู้ปรุงปรุงไม่เป็นก็ไม่อร่อย โคลงใดไม่มีรศชนิดนี้ (รศคำ) ก็มักทำให้เกิดเบื่อหน่าย เพราะความจืดความเฝื่อน แลความน่ารำคาญอื่นๆ.

โคลงที่เรียกว่าดีโดย รศความ คือโคลงที่ยกเอาใจความน่าฟังมาแต่ง อาจเป็นเใจความดีทั้งเรื่อง ทั้งตอน ทั้งบท หรือแต่เพียงบาทเดียวก็ได้ รศความดีอาจสกิดใจผู้อ่านให้คิด ให้นึกชม ให้เห็นจริงตามที่แสดงให้นับถือวาจาที่กล่าวโคลงใดไม่มีรศชนิดนี้ (รศความ) ก็มักจะขึ้นไม่พ้นยอดหญ้า มีใจความดาดๆ หรือดังที่ฝรั่งเรียกว่าแบนๆ (platitude) ถ้าจะเปรียบก็ดุจดูไปในตากาด ไม่มีอันใดเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใจเลย.

แต่โลงที่แต่งดีโดยรศความนั้น บางทีก็เอาอย่างมาจากโคลงชนิดเดียวกันซึ่งผู้อื่นแต่งไว้ก่อน แลซึ่งรู้จักกันจนคุ้นหูคุ้นตาผู้อ่าน เช่นโคลงนิราศแต่งใหม่ซึ่งเลียนแบบโคลงนิราศแต่งเก่าเป็นต้น โคลงซึ่งเอาอย่างรศความของผู้อื่นอันรู้จักกันทั่ว ๆ ไปแล้วนั้น ไม่เป็นที่สรรเสริญ ถ้าไม่มีรศคำช่วยประทังไว้ก็มักจะไม่คุ้มค่าแต่ง.

ที่จำแนกรศแห่งโคลงออกเป็นรศคำแลรศความนี้ ถ้ายกตัวอย่างให้ฟังก็คงจะทำให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้น เป็นต้นโคลงว่า:-

๏ แก้วเกาะกิ่งแก้วก่อง กานน
เสียงพูดภาษาคน คล่องแจ้ว
โผผินโบกบินบน ไปบอก หน่อยรา
ข่าวส่งตรงสู่แก้ว เนตรผู้ตูถวิล ฯ

โคลงบทนี้ข้าพเจ้าเห็นไพเราะ เรียกได้ว่ารศคำดี ไม่มีเฝื่อนฝาดตรงไหนที่ข้าพเจ้านึกเห็นในขณะนี้.

แต่ถ้าพูดโดยขบวนความ โคลงบทนี้กระเดียดไปข้างจืด มีใหม่อยู่แต่เพียงที่ใช้คำว่า “แก้ว” สามครั้งแปลได้สามอย่าง คือนกแก้ว ต้นแก้ว แลแก้วตา นิราศชมดงท่านเขียนกันมามากแล้วว่า นกชนิดไหนจับไม้ชนิดไหน แลใช้นกชนิดที่พูดสำเนียงคนได้ให้เป็นทูตไปส่งข่าวแก่เมีย โคลงข้างบนนี้ก็เลียนแบบเก่ามาว่าเช่นเดียวกัน ไม่มีความคิดอันใดที่แสดงภูมิปัญญาของผู้แต่งเอง ต้องนับว่าแบน ๆ จืด ๆ ไม่ดีโดยรศความ.

บันทึก เพื่อช่วยไม่ให้ผู้อ่านบางคนหลงเที่ยวค้นโคลงเก่าๆ ว่าข้าพเจ้าเจาะจงเอาโคลงของใครมากล่าวตำหนิ ขอบอกเสียในที่นี้ว่าโคลงข้างบนนี้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นเอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นใจความที่กล่าว ไม่ใช่ติเตียนกวีอื่นดอก.

ศัพท์

คำต่าง ๆ ที่ใช้ในหนังสือนี้ บางคำก็ไม่ค่อยมีในหนังสือร้อยแก้วที่เขียนกันตามปรกติ แต่ก็มีในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการแทบจะทั้งนั้น ถ้าไม่มีก็มักจะมาจากภาษาบาลีหรือสํสกฤตซึ่งผู้ไม่รู้อาจถามผู้รู้ได้ หรือถ้าเป็นคำที่ข้าพเจ้าคิดใช้ขึ้นเอง รูปของศัพท์หรือใจความในโคลงก็คงจะส่อให้เข้าใจได้.

แต่มีผู้ชี้ให้เห็นว่า ศัพท์ที่แปลกตาไปหน่อยหนึ่งนั้น ถ้าผู้อ่านไม่รู้ก็มักจะผ่านไป น้อยคนจะหยิบปทานุกรมมาค้น แลอาจไม่มีผู้รู้อยู่ใกล้ที่จะถามได้ ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจข้อความหรือถ้อยคำในโคลงไซร้ รศแห่งกวีวัจนะจะซาบซึ้งลงไปก็ไม่ได้ อนึ่ง คำแลใจความที่เป็นความรู้หญ้าปากคอกวันนี้ อาจเป็นของยากซึ่งคนไม่เข้าใจในวันน่า ชี้เช่นโคลงยวนพ่ายแต่งครั้งกรุงเก่าก่อนเสียกรุงนาน เราชาวกรุงรัตนโกสินทร์สมัยนี้มีน้อยคนนักที่จะอ่านเข้าใจตลอด.

การขีดเส้นว่าคำแลความเพียงไหนควรแปลแลชี้แจงไว้ เพียงไหนไม่จำเป็นนั้นขีดยาก ถ้าพูดตามที่เห็นว่าถูกก็ควรคเนความรู้ของผู้อ่านทั่วไปในสมัยที่แต่งนี้เป็นเกณฑ์ แต่การคเนเช่นนั้นก็ยาก ดังจะชักตัวอย่างมาให้เห็นสักคำสองคำดังต่อไปนี้.

ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาหะออกใหม่เรียกว่า “ประมวญมารค” เพราะสำนักงานแลโรงพิมพ์ตั้งอยู่ทีถนนประมวญ ผู้ตั้งชื่อหนังสือพิมพ์ไม่ได้เฉลียวเลยว่าจะมีใครไม่เข้าใจชื่อนั้น แต่เมื่อหนังสือออกไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงโจษกันแพร่หลายถึงหนังสือพิมพ์ประมวญม้าก เพราะเข้าใจว่ามารคเป็นคำอังกฤษ (mark) ตั้งแต่นั้นมาจนเวลานี้ก็ ๑๐ ปีแล้ว คนที่นึกว่ามารคคือม้ากอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ที่แท้เมื่อไม่ถึงเดือนมานี้เอง ยังมีผู้มาพูดถึงหนังสือประมวญม้ากที่บ้านข้าพเจ้าอยู่ ในที่นี้จึงขอถือโอกาศขี้แจงว่า ศัพท์ว่าชลมารคที่ใช้ในภาคผนวกนี้ ตอนที่เล่าถึงแห่ทางน้ำในวันเปิดสพานพระพุทธยอดฟ้านั้น ชลมารคแปลว่าทางน้ำ คู่กับสถลมารคแปลว่าทางบก มารคเป็นคำซึ่งไทยใช้กันมาแต่โบราณแปลว่าทาง ไม่ใช่ม้าคคำอังกฤษดอก.

อนึ่งในสมัยนี้คนเป็นอันมากเข้าใจว่าทางแปลว่ากิน เมื่อพูดถึงกินข้าวก็ว่าทานข้าวเป็นต้น ถ้าพูดถึง กินใจ กินแหนง ก็จะต้องว่า ทานใจ ทานแหนง ดอกกระมัง.

พวกที่ใช้แลเข้าใจว่าทานแปลว่ากินนี้ ถ้าเพอินไปพลิกดูลิลิตพยุหยาตรา ซึ่งสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแต่งยอพระเกียรติ์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พบโคลงบทหนึ่งเริ่มบาทต้นว่า

“๏ แปดปางอุโบสถไท้ ท่านทาน”

ก็คงจะเข้าใจว่าพระนั่งเกล้า ฯ เสวยข้าวทั้งแปดวันอุโบสถ เมื่อได้ยินว่าพระเวสสันดรอวยลูกเป็นทานแก่ชูชก, ก็อาจเข้าใจอ่าใช้กัณหาชาลีแก่ชูชกให้เอาไปกินดอกกระมัง.

ที่สมเด็จพระปรมานุชิตทรงไว้ว่าแปดอุโบสถนั้น ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ จึงถามผู้รู้ให้ช่วยค้นสอบให้ เขาไม่เข้าใจทันที แต่เขียนชี้แจงมาให้ภายหลังดังต่อไปนี้

“๏ แปดปางอุโบสถไท้ ท่านทาน”

หมายความว่า ทรงบริจาคทานในวันอุโบสถทั้งแปด.

วันอุโบสถตามที่พระโบราณาจารย์กำหนดเดือนหนึ่งมี ๘ วัน คือวันห้าค่ำ แปดค่ำ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ ข้างขึ้นสี่ ข้างแรมสี่ รวมแปดวัน หลักฐานที่ว่านี้มีปรากฏในมงคลทีปนี หรือในอุโบสถสีลกถาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ อนึ่ง คำว่าอุโบสถนั้นหมายความ ๒ นัย นักหนึ่งหมายถึงสังฆกรรมที่พระภิกษุประชุมกันทำปักษ์ละครั้ง อีกนัยหนึ่งหมายถึงอุโบสถสีล ที่ฆราวาสรักษาในวันที่พระโบราณาจารย์กำหนดไว้ เดือนหนึ่งแปดครั้ง (แต่ในปัจจุบันลดเหลือเดือนละสี่ครั้ง คือวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ)

ความระแวงอย่างแปลก ๆ เช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้ภาคผนวกนี้มีคำแปลแลคำชี้แจงมากมายเกินไปก็เป็นได้.

หนังสือที่นำมาอ้าง

พระลอ ฉบับโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณทรงบัญชาการ พิมพ์โดยพระบรมราชโองการพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นเล่มที่ ๑ ในชุดซึ่งกล่าวตามคำนำว่า “โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ทำสมุดนี้เป็นเล่มเล็กๆ เพื่อจะได้ติดไปในกระเป๋าเสื้อ หรือหีบผ้าหีบหมาก.”

พระลอพิมพ์ครั้งแรกนี้มิได้บอกศักราชไว้ว่าพิมพ์เมื่อไร แต่กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณทรงรับเลื่อนกรมเป็นกรมขุนบดินทรพศาลโสภณ ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ จึ่งกำหนดได้ว่าหนังสือได้พิมพ์ก่อนปีนั้น.

เตลงพ่าย พิมพ์ที่โรงพิมพ์เดียวกัน เป็นเล่มที่ ๒ ในชุด ไม่บอกศักราช แต่พิมพ์ก่อน พ.ศ. ๒๔๑๙ เหมือนกัน.

เตลงพ่ายพิมพ์ครั้งนั้น เรียกได้ว่า พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงชำระ เพราะมีพิมพ์ไว้ในแจ้งความดังนี้:-

“ด้วยหนังสือลิลิตเตลงพ่ายนี้ เป็นของพระเจ้าไอยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรศ ทรงไว้แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของนานแล้ว ไม่ใคร่จะมีผู้ลอกผู้อ่านก็สาบสูญไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ไปตามที่วัดพระเชตุพน แต่ฉบับนั้นขาดบ้าง ผิด ๆ เพี้ยน ๆ ก็มาก จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้คัดลงไว้ในสมุดหอหลวง ครั้นในครั้งนี้จะตีพิมพ์สมุดเล่มนี้ ได้เที่ยวหายืมแบบตามวัดตามบ้านก็ไม่ได้ตลอด ได้เป็นครึ่งหนึ่งบ้างค่อนบ้าง จึงต้องเอาฉบับหลวงกับฉบับที่ยืมได้นั้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขภอให้เรียบร้อยไปได้ เมื่อเรียงได้แท่นหนึ่งก็ต้องทูลเกล้าฯ ถวายทรงแก้ทุกครั้ง ถ้าเนื้อความแลกลอนอักษรแห่งใดวิปลาดผิดแบบเดิมของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตไปบ้าง ก็ขออย่าให้ท่านทั้งปวงติเตียนให้มากเลย เพราะเป็นแต่ทรงคเนแก้ไขให้ติดต่อกันเข้าได้เท่านั้น.

(ลงพระนามย่อ) ก ม อ ษ ส”

ในภาคผนวกแห่งสามกรุงนี้ ถ้าอ้างพระลอเตลงพ่ายแห่งใด ก็อ้างฉบับโรงพิมพ์หลวงทั้งสองฉบับนี้.

นอกจากพระลอเตลงพ่าย (ซึ่งพิมพ์ต่อมาหลายครั้งแลถูกแก้ตัวสกดก็มาก) ถ้าภาคผนวกนี้อ้างหนังสืออื่นก็เป็นหนังสือที่เคยพิมพ์ครั้งเดียว ถ้าที่ไหนสงสัยจึ่งบอกชื่อโรงพิมพ์แลปีไว้ในที่ซึ่งอ้างนั้น.

ปทานุกรม ของกระทรวงธรรมการที่อ้างในหนังสือนี้คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเพียงเวลานี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ