ไทยสี่ก๊ก
เจ้าพิศณุโลก
ร่าย๏ เจ้าพระยาพิศณุโลก คนึงโฉลกบ้านเมือง (นามเดิม “เรือง” เลื่องนาม) คิดเห็นตามโอกาศ ว่าวาศนามาดล จึ่งเชิญตนเชิดตั้ง โดดเด่นเป็นใหญ่ครั้ง เมื่อไร้ไอศวรรย์ เดิมแล ฯ
โคลง ๒๏ ธนบุรินทร์ปิ่นเผ้า | ปรารภพิศณุโลกเจ้า |
จัดสู้ดูแรง ฯ |
โคลง ๔๏ เมืองเหนือน่าศึกต้อง | กำบัง บรแฮ |
ปล่อยแต่โดยลำพัง | ไป่ได้ |
เมาตัวมะมัวลัง | เลล่อ ภัยเฮย |
จำจะต้องตีให้ | นอบน้อมยอมตาม ฯ |
๏ ดำรัศจัดทัพพร้อม | เพรียงพหล |
พระเสด็จจากกรุงธน | ถิ่นใต้ |
มากหมู่พยูห์พล | พรรลึก |
เจ้าพิศณุโลกให้ | ออกสู้ดูแรง ฯ |
๏ ไป่ทันจะหั่นห้ำ | หาญณรงค์ |
ปืนริปูจู่จง | จวบไท้ |
ถูกเหมาะเฉพาะชงฆ์ | จอมราชย์ |
ไม่มากแต่หากให้ | ท่านต้องคืนนคร ฯ |
๏ เจ้าพิศณุโลกปลื้ม | ปรีดี |
นึกว่าบารมีมี | ช่อช้วย |
กอบการอภิเศกศรี | เสวตรฉัตร |
งานเสร็จเจ็ดวันม้วย | จึ่งน้องครองเมือง ฯ |
(ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๒๓๑๑)
๏ ชาวพิศณุโลกแพ้ | ภายหลัง |
เมื่อพระฝางร้างรัง | รบรื้อ |
แตกพ่ายกจายพัง | เกจิงเพิด |
ศึกอลัชชีดื้อ | เด็จได้ชัยฉวาง ฯ |
เจ้าพิมาย
ร่าย๏ เจ้าพิมายเป็นเจ้า เผ่าผ่านเผ้าบรมโกษฐ ไม่ช่วงโชติวาศนา สมญาพระองค์เจ้าแขก แปลกที่แพ้ทุกที ทรงอิสสรียศักดิ์สม กรมหมื่นเทพพิพิธ จิตอาภัพอัประโยชน์ หทัยเป็นโทษแก่เธอ เหตุเผอเรอรวนเร เหหวนหันปั่นป่วน อ่วนอิหลักอิเหลื่อ ไม่เชื่อองค์เธอเอง เกรงพลาดโน่นผิดนั่น ทำใจมั่นไม่เป็น พึ่งความเห็นคนอื่น ดื่นด้วยคำปฤกษา ฉงนนักหนาไหนดี มีแต่ความน่วมเนี่ยม ไม่เสงี่ยมสง่าอ่าศักดิ์ ประจักษ์ว่าจิตผิดเค้า ที่จะควรเป็นเจ้า แผ่นพื้นภูสยาม ฯ
โคลง ๔๏ สมัยเสมอมีโรคร้าย | สำแลง |
เศิกศัตรูหลู่แรง | รบเร้า |
ผิวราชปราศคมแขง | ขันคิด |
โสตถิ์บ่มีมีเศร้า | โศกก้ำกำศรวญ ฯ |
๏ เจ้าพิมายใช่ผู้ | แขงขยัน |
อกอ่อนหย่อนปัญญา | ยิ่งล้น |
ครองราษฐ์อาจเป็นอัน | ตรายรอบ รัฐแล |
เหตุเพราะจิตอิดอ้น | อัดอั้นตันสมอง ฯ |
ร่าย๏ ปางพระเจ้ากรุงธน ตรัสทราบยุบลบอกมา ว่ามองญาแพ้พ่าย จากค่ายโพธิ์สามต้น พ้นภัยมรณ์ตอนหนึ่ง ไปพึ่งเจ้าพิมาย ไท้ธระคายเคืองใจ ว่าเป็นไทยด้วยกัน สำคัญผิดคิดว่า พม่าเป็นมิตรคบ ยอมให้หลบหลีกอยู่ นำศึกสู่ตนเอง ไม่กริ่งเกรงเบื้องน่า ชล่าน้ำจิตผิดหนัก เมื่อประจักษ์เช่นนี้ พึงรีบรี้พลปราบ ให้ราบคาบเด็ดขาด จงพระราชวรินทร์ โยธินทร์เชษฐภาดา กับพระมหามนตรี ยกไปตีด้านหนึ่ง ซึ่งเขาคงออกรบ ตูจักตลบอีกด้าน เจ้าพิมายต่อต้าน จักแพ้ภัยตน ฯ
๏ เจ้าพิมายทราบข่าว ผ่าวหฤทัยไฟลน จัดขุนพลสองทัพ รับปราณึกศึกสท้าน แต่มิอาจต่อต้าน แตกแพ้พังสลาย ฯ
(ปีชวดสัมฤทธิศก ๒๓๑๑)
โคลง ๒๏ บุญโหดอัประโยชน์แท้ | ทำไฉนไป่แก้ |
กลับให้มีบุญ ได้เลย ฯ |
เจ้านคร
ร่าย๏ เจ้านครศรีธรรมราช เถลิงอำนาจฝ่ายใต้ ได้ทราบว่าเสียกรุง ว่างผู้ผดุงไทยราษฐ์ เกิดขัดขาดขุ่นเคือง ในบ้านเมืองทั่วไป ไหนอันตรายภายนอก ไหนเปิกปอกภายใน ต่างตัวใครตัวมัน บุคคลอันวาศนา สบเวลามาถึง ไป่พึงทิ้งโอกาศ รวมอำนาจในตน เพื่อถกลศักดิ์ไว้ เป็นหลักในปักใต้ แต่งตั้งตนตาม ควรแฮ ฯ
โคลง ๔๏ ทวยไทยทุกท้องที่ | สถลชล |
จำจะต้องชุมพล | พรักพร้อม |
ใครเด่นจะเป็นคน | ครองทั่ว |
แล้วแต่วาศนาห้อม | ห่อให้ไทยเห็น ฯ |
ร่าย๏ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระดำริห์จักเหนี่ยว ให้เป็นเอี่ยวเดียวกัน เพื่อสัมพันธ์พลไทย แต่ทรงชัยระแวงว่า ขอมชล่าเริงอยู่ อาจมาจู่โจมตี จึงมีราชโองการ ให้ยอดทหารชาญชัย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา คุมโยธาเกรียงไกร ไปทำการด้านเขมร ฯ
๏ อนึ่ง ภูเบนทร์บัญชา ส่งโยธาทัพหนึ่ง ซึ่งจอมพลสมญา เจ้าพระยาจักรีแขก แยกไปทำปักใต้ ให้ตีศรีธรรมราช เขาพลั้งพลาดไพรี ถูกตีแตกแหลกยับ พวกนายทัพทูลฟ้อง ร้องว่าจักรีแขก แตกสมัคภักดี ไม่มีใจทำศึก ท้าวธตรึกไตรเหตุ ทรงเห็นเลศเหลวไหล ไหนจะทำสำเร็จ จำต้องเสด็จไปเอง เพื่อยำเกรงพระเดช เหตุฉนี้จึ่งไท้ มีพระโองการให้ จัดพร้อมเพรียงพยูห์ ฯ
๏ ศุภฤกษ์เบิกทัพหลวง ทุกกระทรวงแสนยา เสด็จยาตราชลจร เจ้านครศรีธรรมราช เกรงอำนาจภูมี หนีราชภัยไปพลัน ท่านตามทันจับได้ แต่โปรดยกโทษให้ เหตุเกื้อการุญ
(ปีฉลูเอกศก ๒๓๑๒)
เจ้าพระฝาง
กลอนเสภา๏ ครานี้จะกล่าวบทถึง | เถรหนึ่งฐานะเจ้าพระฝาง |
ไม่ใช่พระไม่ใช่เจ้าเข้าระวาง | ตัวอย่างผิดแลกแปลกกฎเกณฑ์ |
เคยเป็นบรรพชิตจิตเลื่อมใส | เด็กผู้ใหญ่ศรัทธาขรัวตาเถร |
ครั้นโชคมาชตาโยนก็โอนเอน | เป็นเถนทุราจารพาลเสเพล |
คราวกรุงยุ่งยับอับวาศนา | อยุธยาธิปตัยก็ไขว้เขว |
สังฆราชเมืองสวางค์ต่างทำเล | สมคเนน่าที่เป็นผีบุญ |
ครองไตรยสีแดงแผลงนักหนา | สถาปนาตนเผ่นขึ้นเป็นขุน |
สาวกฉกฉวยร่ำรวยทุน | เจ้าประคุณพระฝางวางตำรา |
จัดวงไพบูลย์ภูลโภค | ใช้โฉลกอำนาจวาศนา |
ฉาว ๆ ป่าวประโยชน์โฆษณา | จูงใจไพร่ฟ้าประชากร |
อ้างเหตุบ้านเมืองเคืองเข็ญ | เป็นทางวาจาอุทาหรณ์ |
พูดอะไรพูดได้ไม่อาวรณ์ | ราษฎรโง่เง่าเหมือนเต่าปลา |
ห่มจีวรสบงเหมือนทรงศีล | แต่ป่ายปีนไปปราศสาสนา |
ฆ่ามนุษย์รบพุ่งมุ่งจินดา | อทินนาทายีไม่มีอาย |
เสพย์สตรีมีรศไม่หมดรัก | เยื้องยักแยบอย่างทางฉิบหาย |
เป็นพระปลอมเจ้าปลอมจอมอุบาย | อันผายแผ่ตนเพื่อผลพาล |
โฆษณาจูงใจได้ทุกสิ่ง | เหล่าหญิงยอมกายถวายท่าน |
พวกถูกปล้นไม่ชอบระบอบการ | แต่ทัดทานไม่ไหวจำใจยอม |
ผูกขาดค้าขายถ่ายทรัพย์สูญ | ไปเข้าวงไพบูลย์โดยลม่อม |
ปวงราษฎร์ปราศฤทธิ์ต้องอิดออม | อำนาจย่อมอยู่ในมือผู้ถือปืน |
เทศน์ให้คนสมัคทาง รักชาติ | รักจนขาดลมหายใจอย่าใฝ่ฝืน |
บ้านเมืองคับขันต้องยันยืน | ชีวิตยื่นให้ชาติปราศกีดกาง |
เข้าเงินเรี่ยไรไม่รู้เบื่อ | ต้องเชื่อ ผู้นำ ทำต่างต่าง |
ไม่ให้ทำไม่ทำอย่าอำพราง | ทุกอย่างไว้ใจในผู้นำ |
จะนำไปทางไหนไม่ต้องบอก | แซกซอกไม่หยุดมุดให้หนำ |
แม้ลำบากยากแค้นแสนระกำ | ก็ต้องทำ เพื่อชาติ ปราศจำนรรจ์ |
ฉันเป็นผู้นำชาติอาจนำให้ | ทั้งชาติได้ประจักษ์ศักดิ์สุขสันต์ |
ฉันนี่แหละเป็นผู้รู้เท่าทัน | เพราะเหตุว่าชาตินั้นคือฉันเอง |
ท่านรักชาติแม้จะม้วยต้องช่วยชาติ | ไม่บังอาจพูดโป้งทำโฉงเฉง |
ฉันคือชาติ ๆ คือฉันหันตามเพลง | จงยำเยงจอมโยธีผู้มีปืน ฯ |
กลอน ๘๏ เจ้าพระฝางวางกายเป็นนายใหญ่ | ไม่มีใครเทียมทัดจะขัดขืน |
กองทัพเถนเจนยุทธไม่หยุดยืน | อำนาจฟื้นฟูระบอบปราศขอบคัน |
ได้ท่วงทีตีพิศณุโลก | ประสบโชคเฉิดฉายที่หมายมั่น |
กำเริบจิตติดใจชัยอนันต์ | จะเลื่อนคั่นยศศักดิ์หนักขึ้นไป |
เมื่อทราบว่ากรุงธนพหลแกล้ว | ไปตีพิศณุโลกแล้วก็ไม่ได้ |
ต้องถอยทัพกลับล่าปราชัย | ขรัวเถนใคร่ลองผจญธนบุรี |
จึงจัดกองตระเวรเที่ยวเพ่นพ่าน | ณ แดนด่านแถวถลชลวิถี |
แตลงตลบรบสู้จะดูดี | ถ้าได้ทีนั่งแท่นเจ้าแผ่นดิน ฯ |
ฝ่ายธนบุรี
สยามวิเชียรฉันท์๏ ณ เมื่อนรินทะปิ่นนิกร
สดับยุบล ณ ธนบุรี
พระฝางกำเริบกระเถิบวิถี
อุบายจะคิดประชิดนคร ฯ
๏ อลัชชีหรือจะถืออำนาจ
มิคิดคระแลงแสยงสยอน
ผิมาณรงค์ก็คงจะมรณ์
ประหนึ่งแมลงบ่แหยงขยาด ฯ
๏ พระภูวนัยหทัยะหมาย
จะโจมประยุทธ์บ่หยุดพิฆาต
พระฝางไฉนจะไม่พินาศ
ละเลิงณรงค์ก็คงละลาย ฯ
ร่าย๏ ตรัศสั่งส่วนทัพบก ให้ยกไปสองกอง สองแม่ทัพองอาจ พญายมราชบุญมา พญาพิชัยราชาอีกหนึ่ง ซึ่งโปรดให้คุมพล คนละห้าพันชาย สองนายเตรียมพร้อมสรรพ ฯ
๏ ส่วนอีกทัพทางชล จำนวนพลหมื่นสอง จัดเป็นกองทัพหลวง ทุกถบวงพรักพร้อม เกณฑ์หัดจัดฝึกซ้อม ท่าเบื้องบาทบงสุ์ ฯ
มาลินีฉันท์๏ พยุหหนทาง | บกแลน้ำวาง |
ขบวนทัพ ฯ | |
๏ สมุหนิกรซ้อนซับ | ฤทธิเริงรับ |
บ่หลีกรณ ฯ | |
๏ ประดุจอมรเหิรหน | ทุกประเภทพล |
ประภาพภูล ฯ | |
๏ สมุทิตพลไพบูลย์ | จึ่งนเรสูร |
เสด็จจร ฯ |
กลอน ๗๏ ครานั้นเถนะเจ้าพระฝาง | ทราบทางทัพธนเกลื่อนกล่นหลาย |
กำลังหลั่งหลากดูมากมาย | ยืดยาวข่าวร้ายตายหละตู |
ทำมาก็มากถึงเพียงนี้ | ร้ายดีทำนองจะต้องสู้ |
วาศนามากน้อยก็คอยดู | หดหู่ไม่ได้ในครั้งนี้ ฯ |
๏ เรียกนายโยธาเข้ามาสั่ง | หลวงโกษา (ยัง) เจ้าน่าที่ |
ที่พิศณุโลกธานี | เมืองสวางคบุรีหน้าที่ตู ฯ |
๏ สยามบดีตีพิศณุโลก | ทรงโชงกเงาเงื้อมเอื้อมก่อนตรู่ |
คืนเดียวเข้าได้เชิดชัยชู | รู้ถึงพระฝางอ้างว้างใจ |
ทัพธนทางบกยกไปถึง | จึ่งตีเมืองสวางค์จากทางใต้ |
พระฝางใจลีบรีบหนีไป | เลื่องชื่อลือชัยในครั้งนั้น ฯ |
(ปีขาลโทศก ๒๓๑๓)
โคลง ๒๏ บุญท่านตระหง่านฟ้า | สมถวิลปิ่นหล้า |
โอบอ้วมรวมสยาม | ได้เอย ฯ |
โคลง ๔๏ อยุธยาเยินยับแล้ว | รังไฉน เล่านอ |
แม้กจัดกจายไทย | ทั่วหล้า |
จักกอบจะก่อไอ | ศวรสฤษดิ์ ได้ฤา |
หากว่าแฉกแยกห้า | ย่อมห้ามความเจริญ ฯ |
๏ ก๊กหนึ่งปราบสี่ได้ | ดังหมาย |
เป็นเอี่ยวเดียวดุจกาย | หนึ่งกร้าว |
อาจสู้ริปูภาย | นอกโน่น โน้นนา |
เอกฉัตรตัดเรื่องร้าว | เรื่องร้ายมลายขวัญ ฯ |
๏ จอมธนถกลเกียรติ์กล้า | การีย์ |
รวมสยามยามมี | โรคร้าย |
ศึกมาจะยายี | ยับย่อย ไปเอย |
มวญอมิตรฤทธิ์หม้าย | มุ่งรื้อฤาสม ฯ |