- คำนำ
- ๗๑. ประกาศว่าด้วยตราประจำหมายประกาศ
- ๗๒. ประกาศว่าด้วยผู้ที่จะรับทำภาษีอากรต่างๆ ให้ทำเรื่องราวยื่นตามกรม
- ๗๓. ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้
- ๗๔ ประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศสอังกฤษและอเมริกัน ที่มาอยู่ในเมืองไทย
- ๗๕ ประกาศเตือนให้ราษฎรซื้อข้าว เพราะจะเปิดให้จำหน่ายออกนอกประเทศ
- ๗๖ ประกาศเรียกอากรมะพร้าว ๓ ต้นสลึง
- ๗๗ ประกาศอนุญาตให้ชาวกรุงฯ รับจ้างฝรั่ง
- ๗๘ ประกาศห้ามไม่ให้คนตื่นข่าวเรื่องเรือรบไปมา
- ๗๙ ประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำและลดค่านาคู่โค
- ๘๐ ประกาศพิกัดอากรค่าน้ำ
- ๘๑. ประกาศเตือนสติผู้ซื้อข้าวขายข้าว
- ๘๒. ประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ ๑)
- ๘๓ ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เปนเชื้อเพลิง และให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน
- ๘๔ ประกาศเรื่องให้หนังสือคุ้มภาษีอากรโดยพลการ
- ๘๕ ประกาศกำหนดเวลาถวายฎีกา
- ๘๖ พระบรมราโชวาทพระราชทานรางวัลเพิ่มเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
- ๘๗ พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอฯ
- ๘๘ ประกาศห้ามไม่ให้ใช้คำบางคำกราบบังคมทูล ฯ
- ๘๙ ประกาศสงกรานต์ปีมะเสงนพศก
- ๙๐ ประกาศตักเตือนเรื่องซื้อข้าวขายข้าวในปีมะเสง
- ๙๑ ประกาศอนุญาตให้คนในบังคับสยามรับทำงานของกงสุลอังกฤษได้
- ๙๒ ประกาศกำหนดอำนาจเจ้าบ้าน และเจ้าพนักงานในการจับกุม
- ๙๓ ประกาศห้ามไม่ให้เอาทองเหรียญเงินเหรียญแต่งตัวให้เด็กและอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๔ ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๙๕ ประกาศเรื่องความทาสลูกหนี้และภรรยาหนีไปอยู่วังเจ้าบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์สูง
- ๙๖ ประกาศให้ใช้เงินเหรียญครั้งที่ ๒
- ๙๗ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน
- ๙๘ ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๙ ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์สามเณรเที่ยวแตร่ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๑๐๐ ประกาศการรักษาพระนคร คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทเลตวันออก
- ๑๐๑ ประกาศให้ผู้ที่ไปราชการหัวเมืองและต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลโดยตรง
๘๓ ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เปนเชื้อเพลิง และให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน
(วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ๑ ปีมะโรงอัฐศก)
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและราษฎรทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า บัดนี้ได้ทราบข่าวคนนอกประเทศและคนนอกกรุงฯ เปนลาวและเขมรและชาวหัวเมืองดอนใช้น้ำบ่ออื่นๆ หลายพวก ย่อมติเตียนว่าชาวกรุงเทพฯ นี้ทำสมมมนักลงในแม่น้ำลำคลอง ด้วยทิ้งซากศพสัตว์ตายให้ลอยไปๆ มาๆ น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็ใช้กินและอาบน้ำอยู่เปนนิจเปนน่ารังเกียจเสียเกียรติยศพระมหานคร
เพราะเหตุฉนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดฯ สั่งสอนเตือนสติมาว่า แต่นี้ไปห้ามมิให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งทิ้งสุนักข์ตายแมวตายและซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในแม่น้ำและคลองใหญ่น้อยทั้งปวงเปนอันขาด ขอให้คิดอ่านใช้สอยจ้างวานใครๆ เอาไปทิ้งเสียที่ป่าช้าดังซากศพคนนั้นเถิด ถ้าบ้านเรือนอยู่ที่ริมน้ำจะเอาไปป่าช้ายาก ก็ให้ฝังเสียในดินในโคลนให้ลับลี้ไปอย่าให้ลอยไปลอยมาในน้ำได้ และการซึ่งทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในน้ำให้ลอยขึ้นลอยลงอยู่ดังนี้ คิดดูโดยเลอียดก็เห็นเปนที่รังเกียจแก่คนที่ได้อาศรัยใช้น้ำอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน พระสงฆ์สามเณรเปนพระสมณะชาวนอกกรุงเทพฯ คือเมืองลาวและหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง และชาวราษฎรชาวนอกกรุงฯ เมื่อมีเหตุต้องลงมายังกรุงเทพฯ นี้แล้วก็รังเกียจติเตียนว่า เพราะต้องใช้น้ำไม่สอาดจึงเปนโรคต่างๆ ไม่เปนสุขเหมือนอยู่นอกกรุงฯ ถึงคนนอกประเทศ คือ ฝรั่ง อังกฤษ จีน แขก ทั้งปวง ซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ก็ติเตียนดังนั้นอยู่โดยมาก เพราะฉนั้นขอท่านทั้งปวงจงพร้อมใจกันคิดเห็นลงใจ ว่าท่านทั้งปวงชาวกรุงฯ กับคนนอกกรุงฯ นอกประเทศก็เปนมนุษย์ด้วยกัน ควรจะมีกรุณาแก่กัน ขอเสียอย่าทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในน้ำ ทำให้น้ำเปนที่รังเกียจแก่มนุษย์เหมือนกันเลย แต่นี้ไปถ้าผู้ใดไม่ฟังพระบรมราโชวาทเตือนสติมาดังนี้แล้ว ยังขืนทำมักง่ายอยู่ดังเก่าก็จะให้นายอำเภอสืบชาวบ้านใกล้เคียงเปนพยาน ชำระเอาตัวผู้ไม่เอื้อเฟื้อมักง่ายทำให้โสโครกนั้นมาตระเวนประกาศห้ามผู้อื่นต่อไป.
อนึ่งธรรมเนียมคนชาวไทยทั้งปวง มักเปนคนตระหนี่เหนียวแน่นหวงทรัพย์ของตนไม่อยากให้ทั่วไปแก่ผู้อื่น แม้นถึงจะเปนคนมีทรัพย์มากพอจะก่อตึกอยู่ได้ก็เสียดายทรัพย์กลัวจะหมดจะเปลืองไป ทำแต่เรือนฝาจาก ฝาแตะ ฝากระดานที่เปนเชื้อเพลิง แล้วมักทอดเตาไฟใกล้ฝาใกล้กองฟืน จะระวังรักษาอยู่เปนนิจก็ไม่ได้ ด้วยมีธุระกังวลอื่นๆ มาก และด้วยความประมาทเลินเล่อไป เพลิงจึงติดขึ้นไหม้บ่อยๆ เปนการเดือดร้อน บัดนี้ทรงพระมหากรุณาโปรดฯ จะให้ราษฎรมีความสุข ไม่ต้องเสียทรัพย์เพราะเกิดเพลิงบางทีกระจัดกระจายไปด้วยรื้อขนปะปนคนอื่นหยิบคว้า และต้องลงทุนทำเรือนขึ้นใหม่บ่อยๆ นั้นเลย จึงได้ทรงพระกรุณาสั่งสอนให้ทอดเตาไฟเสียอย่างใหม่จะมิให้ไหม้บ้านเรือน ตั้งแต่นี้สืบไปให้คนที่เปนผู้ใหญ่ในบ้านเรือนของตนๆ ทอดเตาเพลิงเสียใหม่ เอาใจใส่ตรวจตราดูแลระวังในที่อย่าให้ทอดเตาก่อเตาใกล้ฝาที่รุงรัง ให้ทอดก่อเตาเพลิงใหม่ที่ไม่เปนเชื้อเพลิง คือทำด้วยอิฐด้วยปูนหรือดินเหมือนอย่างเตาที่ก่อไว้เปนตัวอย่างที่ท้องสนามหลวงริมโรงคู่ต้นทางใหญ่นั้น ฤๅเปนคนยากจนจะก่อดังนั้นมิได้ จะทอดเตาเพลิงอยู่อย่างเก่า ก็ให้เอาดินโคลนกับแกลบกับทรายประสมกันเข้าแล้วบวกฝาทาฝาที่ใกล้เตาเพลิงเสียให้ดี แล้วให้กองฟืนที่จะหุงข้าวให้ห่างๆ เตา อย่าให้เปนเชื้อเพลิงได้ และให้หมั่นระวังเอาใจใส่ในเรื่องที่จะเกิดเพลิงไหม้ให้มากอย่าประมาทเลย จะให้กรมพระนครบาลตรวจค้นดูทุกบ้านเรือนในพระนคร ถ้าเรือนใดไม่จัดแจงที่เตาเพลิงด้วยอิฐปูนและดินให้ห่างขืนทำรุงรัง จะให้ไล่เสียจากที่อยู่ เอาที่ให้คนที่รู้ระวังอยู่ต่อไป.
อนึ่งทรงพระราชวิตกอยู่ด้วยเรื่องโจรผู้ร้ายมีเนืองๆ มาต้องชำระในโรงศาล ก็มีเรื่องราวว่าผู้ร้ายเอาบันไดพาดขึ้นมาตัดฝาคัดลิ่มคัดสลักผลักหน้าต่างลักเอาสิ่งของทองเงินไป เมื่อเกิดความขึ้นที่ใดๆ ก็ยืนอยู่อย่างเดียว ทรงพระมหากรุณาแก่ราษฎรทั้งปวงจะให้หลีกเลี่ยงให้พ้นโจรภัย จึงได้ทรงสั่งสอนเตือนสติ ให้ทำลิ่มสลักประตูหน้าต่างให้หนีอย่างที่โจรผู้ร้ายจะรู้ง่าย ให้ทำเปนกระบวนช่างที่คนฉลาดคิดทำอย่างไรๆ ตามสติปัญญาของคนนั้นๆ คือว่าจะใส่ลิ่มข้างบนข้างล่าง ลิ่มขวางฤๅอย่างไรๆ ก็ตามแต่จะเห็นควร ให้ยักย้ายจัดแจงเสียบ้างให้แน่นหนา อย่าให้โจรผู้ร้ายเข้าไปลักเอาสิ่งของทองเงินไปได้ง่ายๆ ให้ราษฎรทั้งปวงคิดถึงพระเดชพระคุณที่ทรงสั่งสอนมานี้แล้ว จงคิดอ่านจัดแจงให้ถูกต้องตามพระกระแสจงทุกประการ จะได้มีสุขสวัสดิเจริญสิ้นกาลนาน.
ประกาศมาณวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก